fbpx
วิกิพีเดีย

พันธุศาสตร์

สำหรับบทนำของท่านหัวข้อนี้ที่ใช้ศัพท์เทคนิคน้อยกว่า ดู บทนำพันธุศาสตร์

พันธุศาสตร์ (อังกฤษ: genetics) เป็นอีกสาขาหนึ่งของชีววิทยา ศึกษาเกี่ยวกับยีน การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม และความหลากหลายทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต

ดีเอ็นเอเป็นโมเลกุลพื้นฐานของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ดีเอ็นเอแต่ละสายประกอบขึ้นจากสายโซ่นิวคลีโอไทด์จับคู่กันรอบกึ่งกลางกลายเป็นโครงสร้างที่ดูเหมือนบันไดซึ่งบิดเป็นเกลียว

พันธุศาสตร์ว่าด้วยโครงสร้างเชิงโมเลกุลและหน้าที่ของยีน พฤติกรรมของยีนในบริบทของเซลล์สิ่งมีชีวิต (เช่น ความเด่นและอีพิเจเนติกส์) แบบแผนของการถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นสู่รุ่น การกระจายของยีน ความแตกต่างทางพันธุกรรมและการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมในประชากรของสิ่งมีชีวิต (เช่นการศึกษาหาความสัมพันธ์ของยีนตลอดทั่วทั้งจีโนม) เมื่อถือว่ายีนเป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด พันธุศาสตร์จึงเป็นวิชาที่นำไปใช้ได้กับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งไวรัส แบคทีเรีย พืช สัตว์ และมนุษย์ (เวชพันธุศาสตร์)

ได้มีการสังเกตมาแต่โบราณแล้วว่าสิ่งมีชีวิตมีการถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นความรู้ที่มนุษย์ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ด้วยวิธีการคัดเลือกพันธุ์ อย่างไรก็ดี ความรู้พันธุศาสตร์สมัยใหม่ที่ว่าด้วยการพยายามทำความเข้าใจกระบวนการการถ่ายทอดลักษณะเช่นนี้เพิ่งเริ่มต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเกรเกอร์ เมนเดล แม้เขาไม่สามารถศึกษาเจาะลึกไปถึงกระบวนการทางกายภาพของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม แต่ก็ค้นพบว่าลักษณะที่ถ่ายทอดนั้นมีแบบแผนจำเพาะ กำหนดได้ด้วยหน่วยพันธุกรรม ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า ยีน

ยีนคือส่วนหนึ่งของสายดีเอ็นเอซึ่งเป็นโมเลกุลที่ประกอบด้วยนิวคลีโอไทด์สี่ชนิดเชื่อมต่อกันเป็นสายยาว ลำดับนิวคลีโอไทด์สี่ชนิดนี้คือข้อมูลทางพันธุกรรมที่ถูกเก็บและมีการถ่ายทอดในสิ่งมีชีวิต ดีเอ็นเอตามธรรมชาติอยู่ในรูปเกลียวคู่ โดยนิวคลีโอไทด์บนแต่ละสายจะเป็นคู่สมซึ่งกันและกันกับนิวคลีโอไทด์บนสายดีเอ็นเออีกสายหนึ่ง แต่ละสายทำหน้าที่เป็นแม่แบบในการสร้างสายคู่ขึ้นมาได้ใหม่ นี่คือกระบวนการทางกายภาพที่ทำให้ยีนสามารถจำลองตัวเอง และถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกได้

ลำดับของนิวคลีโอไทด์ในยีนจะถูกแปลออกมาเป็นสายของกรดอะมิโน ประกอบกันเป็นโปรตีน ซึ่งลำดับของกรดอะมิโนที่มาประกอบกันเป็นโปรตีนนั้นถ่ายทอดออกมาจากลำดับของนิวคลีโอไทด์บนดีเอ็นเอ ความสัมพันธ์ระหว่างลำดับของนิวคลีโอไทด์และลำดับของกรดอะมิโนนี้เรียกว่ารหัสพันธุกรรม กรดอะมิโนแต่ละชนิดที่ประกอบขึ้นมาเป็นโปรตีนช่วยกำหนดว่าสายโซ่ของกรดอะมิโนนั้นจะพับม้วนเกิดเป็นโครงสร้างสามมิติอย่างไร โครงสร้างสามมิตินี้กำหนดหน้าที่ของโปรตีนนั้น ๆ ซึ่งโปรตีนมีหน้าที่ในกระบวนการเกือบทั้งหมดของเซลล์สิ่งมีชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับดีเอ็นเอในยีนยีนหนึ่ง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลำดับกรดอะมิโนในโปรตีน เปลี่ยนโครงสร้างโปรตีน เปลี่ยนการทำหน้าที่ของโปรตีน ซึ่งอาจส่งผลต่อเซลล์และสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ได้อย่างมาก

แม้พันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตจะมีบทบาทมากในการกำหนดลักษณะและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต แต่ผลสุดท้ายแล้วตัวตนของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ เป็นผลที่ได้จากการผสมผสานกันระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ประสบ ตัวอย่างเช่น ขนาดของสิ่งมีชีวิตไม่ได้ถูกกำหนดโดยยีนเพียงอย่างเดียว แต่ได้รับผลจากอาหารและสุขภาพของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ด้วย เป็นต้น

ยีน

ในปัจจุบัน นิยามของยีนหรือหน่วยพันธุกรรม คือส่วนหนึ่ง (หรือ ลำดับ) ของ DNA ที่สามารถถูกถอดรหัสออกมาเป็นชุดของกระบวนการหรือคำสั่งการทำงานของเซลล์ได้ (เช่น กระบวนการเพื่อ "สร้างโมเลกุลเมลานิน" เป็นต้น) อาจสามารถเปรียบ "ยีน" หนึ่ง ๆ ได้กับ "คำ" หนึ่ง ๆ ในภาษา โดยนิวคลีโอไทด์แต่ละตัวที่ประกอบขึ้นมาเป็นยีน เปรียบได้กับ "ตัวอักษร" ที่ประกอบขึ้นมาเป็น "คำ"

ประวัติศาสตร์

 
เกรเกอร์ เมนเดล

แม้ความรู้ทางพันธุศาสตร์จะมีที่มาจากการประยุกต์ทฤษฎีของเกรเกอร์ เมนเดลในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ทฤษฎีว่าด้วยการถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นมีมาก่อนยุคของเมนเดล ทฤษฎีที่เป็นที่นิยมก่อนยุคของเมนเดลคือแนวคิดการถ่ายทอดลักษณะแบบผสม ที่เชื่อว่าลักษณะของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ เป็นการผสมกันระหว่างลักษณะของพ่อและแม่ แต่งานของเมนเดลพิสูจน์ว่าทฤษฎีนี้ไม่เป็นจริง โดยแสดงให้เห็นว่าการถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดจากการประกอบกันของยีนที่แยกกันมากกว่าจะเป็นการหลอมรวมกัน อีกทฤษฎีหนึ่งที่มีผู้สนับสนุนพอสมควรคือทฤษฎีการถ่ายทอดลักษณะที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตจะได้รับการถ่ายทอดลักษณะที่ผ่านการฝึกฝนขึ้นในรุ่นพ่อแม่ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่าทฤษฎีนี้ (ซึ่งมักมีผู้นำไปใช้ร่วมกับทฤษฎีวิวัฒนาการของลามาร์ค) ผิด ประสบการณ์หรือสิ่งที่ได้จากการฝึกฝนของสิ่งมีชีวิตรุ่นหนึ่งไม่ส่งผลต่อยีนและไม่มีการถ่ายทอดไปยังอีกรุ่นหนึ่ง อีกทฤษฎีหนึ่งคือทฤษฎีตัวกำเนิดมีทั่วทุกส่วนของชาร์ลส์ ดาร์วิน (ซึ่งเป็นการผสมแนวคิดการถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นสู่รุ่นและการได้รับลักษณะขึ้นมาใหม่) และทฤษฎีฉบับปรับปรุงของฟรานซิส กาลตันทั้งในแง่ของอนุภาคเจมมูล (gemmule) และการถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิต

พันธุศาสตร์เมนเดลและพันธุศาสตร์คลาสสิก

พันธุศาสตร์ยุคใหม่มีที่มาจากงานของเกรเกอร์ โยฮัน เมนเดล บาทหลวงออกัสตินและนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอร์มัน-เช็ค บทความงานวิจัยของเขา "Versuche über Pflanzenhybriden" ("การทดลองในพืชพันธุ์ผสม") ซึ่งนำเสนอต่อ Naturforschender Verein (สมาคมงานวิจัยธรรมชาติ) ที่เบอร์โนใน ค.ศ. 1865 ได้ติดตามการถ่ายทอดลักษณะบางอย่างในต้นถั่วและอธิบายการถ่ายทอดนี้ในเชิงคณิตศาสตร์ แม้งานของเมนเดลจะพบแบบแผนการถ่ายทอดในลักษณะเพียงอย่างของต้นถั่วเท่านั้นก็ตาม แต่ก็บ่งชี้ว่าลักษณะต่าง ๆ นั้นมีการส่งต่อจริงและไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่ และแบบแผนของการถ่ายทอดของลักษณะหลาย ๆ อย่างก็สามารถอธิบายได้ด้วยกฎและสัดส่วนง่าย ๆ

งานของเมนเดลไม่ได้รับความสนใจมากนักกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1890 หลังเมนเดลเสียชีวิตไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นได้ศึกษาเรื่องเดียวกันและได้ค้นพบสิ่งที่เมนเดลเคยค้นพบมาก่อนแล้ว วิลเลียม เบทสันเป็นผู้เสนองานของเมนเดลและได้เสนอคำว่า genetics ขึ้นใน ค.ศ. 1905 (ส่วนคำคุณศัพท์ genetic ซึ่งมาจากคำกรีกว่า genesis—γένεσις, หมายถึง "จุดกำเนิด" นั้นมีใช้ก่อน genetics ซึ่งเป็นคำนาม และมีการนำมาใช้ในแวดวงชีววิทยาตั้งแต่ ค.ศ. 1860) และได้นำคำนี้ไปใช้ในความหมายว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตในบทเสนอต่อที่ประชุม Third International Conference on Plant Hybridization (การประชุมนานาชาติว่าด้วยการผสมพันธุ์พืชครั้งที่ 3) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1906

หลังจากการค้นพบซ้ำงานของเมนเดล นักวิทยาศาสตร์หลายคนได้พยายามค้นหาว่าโมเลกุลใดในเซลล์ที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดลักษณะเช่นนี้ ใน ค.ศ. 1910 โธมัส ฮันท์ มอร์แกนเสนอว่ายีนนั้นอยู่บนโครโมโซม ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาการกลายพันธุ์ของลักษณะตาสีขาวซึ่งมีการถ่ายทอดแบบสัมพันธ์กับเพศในแมลงวันผลไม้ ต่อมา ค.ศ. 1913 อัลเฟรด สตูร์เทแวนท์ซึ่งเป็นนักเรียนของมอร์แกนได้อาศัยปรากฏการณ์ความเชื่อมโยงของพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่ายีนเรียงตัวกันเป็นเส้นบนโครโมโซม

 
มอร์แกนสังเกตการถ่ายทอดลักษณะการกลายพันธุ์ที่เชื่อมโยงกับเพศซึ่งทำให้แมลงวัน Drosophila มีตาเป็นสีขาว ทำให้สามารถตั้งสมมติฐานได้ว่ายีนอยู่บนโครโมโซม

อณูพันธุศาสตร์

แม้จะทราบแล้วว่ายีนอยู่บนโครโมโซม แต่โครโมโซมก็ประกอบจากโปรตีนและดีเอ็นเอ นักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่ทราบว่าส่วนประกอบใดกันแน่บนโครโมโซมที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดลักษณะ จน ค.ศ. 1928 เฟรเดอริค กริฟฟิธจึงพบปรากฏการณ์การแปลงพันธุ์ซึ่งแบคทีเรียที่ตายแล้วสามารถส่งสารพันธุกรรมเพื่อแปลงพันธุ์แบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ จากนั้น ค.ศ. 1944 ออสวอลด์ ธีโอดอร์ เอเวอรี, โคลิน แมคลีออด และแมคลิน แมคคาร์ที พบว่าโมเลกุลที่ทำให้เกิดการแปลงพันธุ์คือดีเอ็นเอ การทดลองเฮอร์ชีย์-เชสใน ค.ศ. 1952 ก็แสดงให้เห็นว่าดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมของไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในแบคทีเรีย เป็นหลักฐานอีกอย่างที่สนับสนุนว่าดีเอ็นเอเป็นโมเลกุลที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดลักษณะ

เจมส์ ดี. วัตสัน และฟรานซิส คริก ค้นพบโครงสร้างของดีเอ็นเอใน ค.ศ. 1953 โดยใช้งานเอกซเรย์ผลิกศาสตร์ของโรซาลินด์ แฟรงคลินและมอริซ วิลคินส์ซึ่งบ่งชี้ว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นเกลียว ทั้งสองเสนอว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นเกลียวคู่ มีสายดีเอ็นเอสองสาย นิวคลีโอไทด์บนแต่ละสายชี้เข้าหากัน และตรงกันกับนิวคลีโอไทด์ที่เป็นคู่กันบนอีกสายหนึ่ง ทำให้มีลักษณะคล้ายบันไดที่บิดเป็นเกลียว โครงสร้างนี้แสดงให้เห็นว่ามีข้อมูลพันธุกรรมอยู่ในรูปของลำดับนิวคลีโอไทด์บนสายดีเอ็นเอแต่ละสาย และยังบ่งชี้ว่าดีเอ็นเอน่าจะมีวิธีจำลองตัวเองที่เรียบง่าย คือหากแต่ละสายแยกออกจากกัน ก็สามารถสร้างสายคู่กันได้ใหม่จากลำดับนิวคลีโอไทด์บนสายนั้น ๆ เอง

แม้โครงสร้างของดีเอ็นเอจะทำให้รู้ถึงกลไกการถ่ายทอดลักษณะ แต่วิธีที่ดีเอ็นเอส่งผลต่อการทำงานของเซลล์นั้นก็ยังไม่เป็นที่ทราบ หลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจว่าดีเอ็นเอควบคุมการผลิตโปรตีนได้อย่างไร ต่อมาจึงค้นพบว่าเซลล์ใช้ดีเอ็นเอเป็นแบบพิมพ์สำหรับสร้างเมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ (โมเลกุลที่ประกอบจากนิวคลีโอไทด์ คล้ายดีเอ็นเอ) ที่ตรงกัน จากนั้นลำดับนิวคลีโอไทด์บนอาร์เอ็นเอจะถูกใช้สร้างลำดับกรดอะมิโน ซึ่งจะประกอบเป็นโปรตีน ลักษณะการแปลรหัสระหว่างนิวคลีโอไทด์ไปเป็นกรดอะมิโนนี้เรียกว่ารหัสพันธุกรรม

การมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทางโมเลกุลของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมทำให้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดได้อีกเป็นจำนวนมาก การค้นพบที่สำคัญครั้งหนึ่งคือการพบวิธีการหาลำดับดีเอ็นเอด้วยการใช้ลำดับหยุดของสายดีเอ็นเอโดยเฟรเดอริก แซงเกอร์เมื่อ ค.ศ. 1977 ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถอ่านลำดับนิวคลีโอไทด์บนโมเลกุลดีเอ็นเอได้ จากนั้น ค.ศ. 1983 แครี แบงคส์ มุลลิส ได้พัฒนาปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรสทำให้สามารถแยกและเพิ่มจำนวนบริเวณหนึ่ง ๆ ของดีเอ็นเอจากสารผสมได้ เทคนิคเหล่านี้รวมถึงเทคนิคอื่น ๆ ถูกพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นโครงการจีโนมมนุษย์และโครงการเอกชนของเซเลราจีโนมิกส์ทำให้สามารถหาลำดับจีโนมมนุษย์ทั้งหมดได้สำเร็จใน ค.ศ. 2003

รูปแบบของการถ่ายทอดลักษณะ

การถ่ายทอดแบบแยกส่วนและกฎของเมนเดล

ดูบทความหลักที่: พันธุศาสตร์ของเมนเดล
 
ตารางแสดงการผสมพันธุ์ระหว่างต้นถั่วสองต้นที่มีดอกเป็นสีม่วงแบบเฮเทอโรไซกัส แสดงให้เห็นการถ่ายทอดลักษณะการมีดอกสีม่วง (B) และสีขาว (b)

ในระดับพื้นฐานนั้นการถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิตเกิดจากลักษณะซึ่งมีการแยกเป็นส่วนชัดเจน เรียกว่ายีน เกรเกอร์ เมนเดลที่ศึกษาการแบ่งแยกลักษณะต่าง ๆ ของต้นถั่ว เป็นผู้คนพบลักษณะซึ่งมีการถ่ายทอดนี้เป็นคนแรก เช่นในการศึกษาลักษณะการถ่ายทอดสีของดอกถั่ว เมนเดลสังเกตว่าดอกของถั่วแต่ละต้นมีสีขาวหรือม่วง แต่ไม่มีดอกที่มีสีที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองสีนี้ ลักษณะที่แตกต่างกันชัดเจนของยีนเดียวกันนี้เรียกว่าอัลลีล

ในกรณีต้นถั่วซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครโมโซมสองชุด แต่ละยีนของต้นถั่วจะมีสองอัลลีล ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากต้นถั่วพ่อแม่ สิ่งมีชีวิตหลายชนิดรวมทั้งมนุษย์ก็มีแบบแผนการถ่ายทอดลักษณะในรูปแบบนี้เช่นกัน สิ่งมีชีวิตที่มีโครโมโซมสองชุด ซึ่งทั้งสองอัลลีลในยีนเดียวกันนั้นเหมือนกันเรียกว่าเป็นฮอโมไซกัสหรือเป็นพันธุ์แท้ที่โลคัสของยีนนั้น ในขณะที่สิ่งมีชีวิตที่ในยีนเดียวกันมีอัลลีลสองแบบไม่เหมือนกัน เรียกว่าเป็นเฮเทอโรไซกัสหรือเป็นพันธุ์ทาง

อัลลีลที่สิ่งมีชีวิตได้รับมานั้นเรียกว่าจีโนไทป์หรือรูปแบบพันธุกรรม ส่วนลักษณะที่สังเกตได้นั้นเรียกว่าฟีโนไทป์หรือรูปแบบปรากฏ เมื่อสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ มีความเป็นเฮเทอโรไซกัสในยีนหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วอัลลีลอันหนึ่งในนั้นจะเป็นลักษณะเด่นซึ่งจะแสดงออกมาเป็นฟีโนไทป์ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ในขณะที่อีกอัลลีลหนึ่งจะเป็นลักษณะด้อยซึ่งถูกบดบังไว้ไม่แสดงออก บางอัลลีลมีลักษณะเด่นแบบไม่สมบูรณ์ โดยจะแสดงออกเป็นฟีโนไทป์ที่มีลักษณะผสมกัน หรือมีความเป็นลักษณะเด่นร่วมกันโดยทั้งสองอัลลีลสามารถแสดงออกพร้อมกันได้

เมื่อสิ่งมีชีวิตมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ลูกจะได้รับอัลลีลจากพ่อและแม่ต้น/ตัวละหนึ่งอัลลีลแบบสุ่ม ลักษณะการถ่ายทอดและการแยกเป็นส่วนชัดของอัลลีลเช่นนี้รวมเรียกว่ากฎข้อแรกของเมนเดลหรือกฎการแยกเป็นส่วนชัด

สัญลักษณ์และการบันทึกข้อมูล

 
แผนภาพพงศาวลีสามารถใช้ในการแสดงแบบแผนการถ่ายทอดลักษณะของโรคทางพันธุกรรมได้

นักพันธุศาสตร์ใช้สัญลักษณ์และแผนผังต่าง ๆ ในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทอดลักษณะ ยีนต่าง ๆ มักถูกแทนที่ด้วยตัวอักษรไม่กี่ตัว และมักใช้เครื่องหมาย "+" ในการแสดงว่ายีนนั้น ๆ เป็นยีนปกติตามธรรมชาติซึ่งไม่มีการกลายพันธุ์ เรียกว่าเป็นพันธุ์ป่า

ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผสมพันธุ์และการสืบทอดเผ่าพันธุ์ (โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับกฎของเมนเดล) มักเรียกรุ่นพ่อแม่ว่าเป็นรุ่น "P" (parent) และรุ่นลูกเรียกว่ารุ่น "F1" (first filial) เมื่อรุ่น F1 มีลูกอีกก็จะเรียกว่ารุ่น "F2" (second filial) แผนผังในการทำนายผลที่เกิดจากการผสมพันธุ์ที่ใช้บ่อยชนิดหนึ่งคือตารางพันเน็ต

นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ นักพันธุศาสตร์มักใช้แผนภาพเพ็ดดีกรีในการอธิบายการถ่ายทอดลักษณะที่เป็นโรคนั้น ๆ โดยแสดงให้เห็นการถ่ายทอดลักษณะของความเป็นโรคในครอบครัว

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างยีน

 
ความสูงของมนุษย์นั้นเป็นลักษณะที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างยีนหลายตัว ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 1889 ของฟรานซิส กาลตันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสูงของลูกกับความสูงเฉลี่ยของพ่อแม่ ซึ่งแม้ค่าความสูงจะมีความสัมพันธ์กัน แต่ก็ยังมีความแปรปรวนอยู่ แสดงว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความสูงของมนุษย์

สิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ มียีนหลายพันยีน และสำหรับสิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศนั้น ยีนเหล่านี้สามารถมีการจัดเรียงโดยไม่ขึ้นต่อกันได้ หมายความว่าการถ่ายทอดอัลลีลลักษณะสีเขียวหรือสีเหลืองของเมล็ดถั่วจะไม่สัมพันธ์กันกับการถ่ายทอดลักษณะสีม่วงหรือสีขาวของดอกถั่ว ปรากฏการณ์นี้เรียกว่ากฎข้อที่สองของเมนเดลหรือกฎการจัดเรียงอย่างอิสระ นั่นคือแต่ละอัลลีลของแต่ละยีนสามารถเกิดมีการสับเปลี่ยนระหว่างพ่อแม่ได้เพื่อให้มีทายาทที่มีส่วนผสมของลักษณะหลาย ๆ แบบ (แต่บางยีนก็ไม่ได้มีการจัดเรียงอย่างอิสระ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงทางพันธุกรรม ซึ่งจะกล่าวต่อไป)

บางครั้งลักษณะหนึ่ง ๆ อาจมียีนที่ทำหน้าที่กำหนดลักษณะนั้น ๆ หลายตัว เช่นที่พบในดอกบลูอายแมรี่ (Omphalodes verna) ซึ่งมียีนที่มีอัลลีลซึ่งกำหนดสีของดอกเป็นสีฟ้าหรือสีม่วง กับอีกยีนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่กำหนดว่าดอกจะมีสีหรือเป็นสีขาว หากพืชต้นหนึ่งมีอัลลีลซึ่งกำหนดให้มีสีขาวอยู่สองอัลลีล ดอกไม้ก็จะมีสีขาว ไม่ว่าจะมีการถ่ายทอดการกำหนดสีมาเป็นสีม่วงหรือสีฟ้าก็ตาม ปฏิกิริยาระหว่างยีนเช่นนี้เรียกว่าการข่มข้ามคู่ ซึ่งยีนที่สองนั้นมีการข่มยีนแรกแบบข้ามคู่

ลักษณะถ่ายทอดหลายอย่างไม่ได้มีลักษณะแยกกันชัดเจนเหมือนการมีดอกสีขาวหรือม่วง แต่มีความผสมกลมกลืนต่อเนื่องกันไปเช่นความสูงหรือสีผิวของมนุษย์ ลักษณะถ่ายทอดเช่นนี้เรียกว่าลักษณะถ่ายทอดเชิงปริมาณ เป็นผลที่เกิดจากการควบคุมของยีนหลายตัว ผลของยีนเหล่านี้ปรับเปลี่ยนไปมากหรือน้อยด้วยปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ระดับที่ผลของยีนมีต่อการเกิดเป็นลักษณะนั้นเรียกว่าอัตราพันธุกรรม ซึ่งเป็นค่าสัมพัทธ์ โดยในสภาพที่สิ่งแวดล้อมมีความหลากหลายมาก ยีนก็จะมีความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะน้อยลงไป ตัวอย่างเช่นความสูงของมนุษย์มีความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะอยู่ที่ 89% สำหรับในสหรัฐอเมริกา แต่ในไนจีเรียซึ่งประชากรมีการเข้าถึงอาหารและบริการสาธารณสุขแตกต่างกันมากนั้น ความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะความสูงของยีนอยู่ที่เพียง 62% เท่านั้น

พื้นฐานทางโมเลกุลของการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ดีเอ็นเอและโครโมโซม

ดูบทความหลักที่: ดีเอ็นเอ และ โครโมโซม
 
โครงสร้างของโมเลกุลดีเอ็นเอ เบสแต่ละคู่จับกันด้วยการสร้างพันธะไฮโดรเจนระหว่างสายดีเอ็นเอทั้งสองสาย

โมเลกุลที่เป็นพื้นฐานของยีนคือกรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก หรือดีเอ็นเอ ประกอบขึ้นจากสายโซ่ของนิวคลีโอไทด์สี่ชนิด ได้แก่อะดีนีน (A), ไซโตซีน (C), กวานีน (G) และไทมีน (T) ข้อมูลทางพันธุกรรมอยู่ในลำดับของนิวคลีโอไทด์เหล่านี้ ส่วนยีนนั้นก็ประกอบจากลำดับนิวคลีโอไทด์และเรียงต่อกันไปในสายดีเอ็นเอ ยกเว้นเฉพาะไวรัสซึ่งบางชนิดใช้อาร์เอ็นเอที่คล้ายดีเอ็นเอมากเป็นสารพันธุกรรมแทนดีเอ็นเอ

โดยปกติดีเอ็นเอมีลักษณะเป็นเกลียวคู่ นิวคลีโอไทด์แต่ละตัวในสายดีเอ็นเอมีคู่จับเฉพาะตัวในสายดีเอ็นเออีกสาย โดย A จับคู่กับ T และ C จับคู่กับ G ดังนั้นในดีเอ็นเอสายหนึ่ง ๆ จะมีข้อมูลครบถ้วน ซ้ำซ้อนกับสายที่คู่กัน โครงสร้างเช่นนี้เป็นพื้นฐานทางกายภาพของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม โดยการถ่ายแบบดีเอ็นเอจะเป็นการทำซ้ำข้อมูลทางพันธุกรรมโดยแบ่งสายดีเอ็นเอทั้งสองสายออกจากกัน ซึ่งแต่ละสายจะเป็นแม่พิมพ์สำหรับสร้างสายคู่ขึ้นใหม่

ยีนจัดเรียงตัวเป็นเส้นตรงตามสายลำดับคู่เบสดีเอ็นเอ โดยในแบคทีเรียดีเอ็นเอเหล่านี้จะเรียงตัวเป็นวงกลมเรียกว่าจีโนฟอร์ ขณะที่ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตยูคารีโอต (รวมถึงพืชและสัตว์) จะเรียงตัวเป็นเส้นตรงหลายอันเรียกว่าโครโมโซม สายดีเอ็นเอเหล่านี้ส่วนใหญ่จะยาวมาก ตัวอย่างเช่นโครโมโซมที่ยาวที่สุดของมนุษย์มีความยาวประมาณ 247 ล้านคู่เบส ดีเอ็นเอในโครโมโซมจะจับกับโปรตีนโครงร่างซึ่งจัดระเบียบและควบคุมการแสดงออกของดีเอ็นเอให้เกิดเป็นรูปร่างที่เรียกว่าโครมาติน ในเซลล์ยูคารีโอตนั้นโครมาตินมักประกอบด้วยนิวคลีโอโซม โดยส่วนของดีเอ็นเอจะพันล้อมโปรตีนฮิสโตน สารพันธุกรรมที่มีการถ่ายทอดทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต (โดยทั่วไปคือลำดับดีเอ็นเอทั้งหมดในทุกโครโมโซม) เรียกรวมว่าจีโนม

ขณะที่สิ่งมีชีวิตบางชนิดมีโครโมโซมชุดเดียว สัตว์และพืชส่วนใหญ่มีโครโมโซมสองชุด ทุกโครโมโซมจะมีคู่ และยีนทุกยีนมีสองชุด อัลลีลทั้งสองของยีนหนึ่ง ๆ จะอยู่บนโลคัสเดียวกันของฮอมอโลกัสโครโมโซม แต่ละอัลลีลได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อหรือแม่

 
แผนภาพของวอลเธอร์ เฟลมมิง เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1882 แสดงการแบ่งเซลล์ของเซลล์ยูคาริโอต มีการเพิ่มจำนวนซ้ำ การจับตัวแน่น และการเรียงตัวของโครโมโซม ทำให้เมื่อเซลล์มีการแบ่งตัว สำเนาของโครโมโซมจะแยกกันไปในเซลล์ลูกที่ได้จากการแบ่งตัว

สิ่งมีชีวิตหลายชนิดมีโครโมโซมเพศ ทำหน้าที่พิเศษในการกำหนดเพศของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดมีโครโมโซมวายซึ่งมียีนที่กระตุ้นการเจริญของลักษณะเพศชาย การวิวัฒนาการทำให้โครโมโซมนี้สูญเสียโครงสร้างและยีนไปมาก ในขณะที่โครโมโซมเอกซ์มีขนาดคล้ายคลึงกับโครโมโซมอื่น ๆ และมียีนอยู่มากไม่ต่างกัน โครโมโซมเอกซ์และวายซึ่งต่างกันมากนี้จะจับคู่กันก่อนที่เซลล์จะมีการแบ่งตัว

การสืบพันธุ์

เมื่อเซลล์มีการแบ่งตัว จีโนมทั้งหมดจะถูกคัดลอกและแบ่งให้เซลล์ลูกทั้งสองเซลล์ละหนึ่งจีโนม กระบวนการนี้เรียกว่าไมโทซิส ซึ่งเป็นการสืบพันธุ์แบบง่ายที่สุดและเป็นพื้นฐานของการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ซึ่งพบได้ทั้งในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวและหลายเซลล์ ทำให้ได้ทายาทซึ่งได้รับจีโนมมาจากรุ่นก่อนเพียงตัวเดียว ทายาทของการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะมีพันธุกรรมเหมือนรุ่นก่อนทุกประการ และอาจเรียกว่าโคลน

สิ่งมีชีวิตยูคาริโอตมักอาศัยการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเพื่อให้ได้ทายาทที่มีพันธุกรรมผสมกันจากพ่อแม่ กระบวนการนี้ในสิ่งมีชีวิตที่มีโครโมโซมหนึ่งชุดและที่มีโครโมโซมสองชุดมีความแตกต่างกัน โดยเซลล์ซึ่งมีโครโมโซมชุดเดียวจะรวมกันและนำสารพันธุกรรมมารวมกันได้เป็นเซลล์ซึ่งมีโครโมโซมสองชุด ส่วนสิ่งมีชีวิตที่มีโครโมโซมสองชุดจะสร้างเซลล์ซึ่งมีโครโมโซมชุดเดียวโดยการแบ่งตัวเป็นสองเซลล์โดยไม่มีการทำซ้ำชุดดีเอ็นเอ เพื่อสร้างเซลล์ลูกที่ได้รับโครโมโซมจากพ่อแม่ต้น/ตัวละหนึ่งโครโมโซมแบบสุ่ม ส่วนใหญ่ของวงจรชีวิตสัตว์และพืชส่วนมากมีเซลล์ที่มีโครโมโซมสองชุด โดยมีช่วงชีวิตที่เป็นเซลล์ที่มีโครโมโซมชุดเดียวเฉพาะเซลล์สืบพันธุ์อย่างสเปิร์มและไข่เท่านั้น

แบคทีเรียบางชนิดมีวิธีทำให้ได้รูปแบบพันธุกรรมใหม่โดยไม่ใช้การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศอย่างเซลล์ที่มีโครโมโซมชุดเดียวหรือสองชุดที่กล่าวมาข้างต้น แต่ใช้วิธีการจับคู่เพื่อส่งชิ้นส่วนวงกลมดีเอ็นเอขนาดเล็กไปให้แบคทีเรียอีกตัวหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถรับเอาชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่ลอยอยู่ในสิ่งแวดล้อมเข้ามาในจีโนมของตัวเองได้ กระบวนการนี้เรียกว่าการแปลงพันธุ์ กระบวนการเช่นนี้ทำให้เกิดการถ่ายทอดยีนในแนวราบ ซึ่งเป็นการส่งชิ้นส่วนของข้อมูลพันธุกรรมระหว่างสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธุ์หรือมีความเกี่ยวข้องกัน

การรวมใหม่และการเชื่อมโยง

 
ภาพวาด ค.ศ. 1916 ของโทมัส ฮันท์ มอร์แกน แสดงถึงการไขว้เปลี่ยนระหว่างโครโมโซม

การที่สิ่งมีชีวิตมีโครโมโซมสองชุดทำให้มีโอกาสเกิดการแยกคู่ยีนอย่างอิสระระหว่างการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ทำให้มีการรวมยีนขึ้นเป็นรูปแบบใหม่ ตามทฤษฎีแล้วยีนของโครโมโซมเดียวกันนั้นไม่อาจมารวมใหม่กันได้หากไม่มีกระบวนการการไขว้เปลี่ยนระหว่างโครโมโซม ซึ่งระหว่างการไขว้เปลี่ยนนี้โครโมโซมจะมีการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนของดีเอ็นเอซึ่งกันและกัน ทำให้มีการสับเปลี่ยนอัลลีลระหว่างโครโมโซม โดยการไขว้เปลี่ยนของโครโมโซมนี้ส่วนใหญ่เกิดระหว่างการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสเพื่อให้ได้เซลล์ลูกซึ่งมีโครโมโซมหนึ่งชุด

ความน่าจะเป็นที่จะเกิดมีการไขว้เปลี่ยนของโครโมโซมระหว่างจุดสองจุดบนโครโมโซมสัมพันธ์กับระยะทางระหว่างสองจุดนั้น กล่าวคือเมื่อยีนบนจุดสองจุดอยู่ห่างกันระดับหนึ่ง โอกาสของการไขว้เปลี่ยนจะมากจนถือได้ว่าการถ่ายทอดยีนนั้นไม่มีความสัมพันธ์กันหรือมีโอกาสถูกถ่ายทอดไปด้วยกันน้อยมาก ส่วนยีนที่อยู่ใกล้กันนั้นมีโอกาสเกิดการไขว้เปลี่ยนต่ำ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าความเชื่อมโยงของพันธุกรรม อัลลีลของยีนทั้งสองมีโอกาสสูงที่จะถูกถ่ายทอดไปด้วยกัน ปริมาณของความเชื่อมโยงกันระหว่างยีนชุดหนึ่งสามารถนำมาสร้างเป็นแผนที่เชิงเส้นของความเชื่อมโยงซึ่งอธิบายการจัดเรียงตัวของยีนคร่าว ๆ บนโครโมโซมได้

การแสดงออกของยีน

รหัสพันธุกรรม

ดูบทความหลักที่: รหัสพันธุกรรม
 
รหัสพันธุกรรม: รหัสจากดีเอ็นเอจะถูกถอดออกมาเป็นโปรตีนผ่านเอ็มอาร์เอ็นเอด้วยรหัสชุดสาม

ยีนส่วนใหญ่ทำงานโดยการแสดงออกผ่านการผลิตโปรตีนซึ่งเป็นโมเลกุลที่ซับซ้อนและทำหน้าที่ส่วนใหญ่ในเซลล์ โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโนที่ต่อกันเป็นสายโซ่ ซึ่งลำดับกรดอะมิโนนี้ถูกกำหนดโดยลำดับดีเอ็นเอบนยีนที่สร้างโปรตีนนั้น ๆ ออกมาผ่านตัวกลางอาร์เอ็นเอ กระบวนการเริ่มจากการสร้างโมเลกุลอาร์เอ็นเอที่มีลำดับเบสตรงกันกับลำดับดีเอ็นเอในยีน กระบวนนี้เรียกว่าการถอดรหัส

โมเลกุลอาร์เอ็นเอนำรหัส (เอ็มอาร์เอ็นเอ) นี้จะถูกใช้สร้างลำดับกรดอะมิโอที่ตรงกันผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการแปลรหัส ซึ่งนิวคลีโอไทด์ชุดละ 3 ตัวเรียกว่าโคดอนจะตรงกันกับกรดอะมิโนชนิดใดชนิดหนึ่งในยี่สิบชนิดและคำสั่งปิดท้ายลำดับกรดอะมิโน ความตรงกันนี้เรียกว่ารหัสพันธุกรรม ข้อมูลจะถูกส่งต่อในทิศทางเดียว จากลำดับนิวคลีโอไทด์ไปเป็นลำดับกรดอะมิโนของโปรีน แต่ไม่มีการส่งข้อมูลจากโปรตีนกลับมาเป็นลำดับดีเอ็นเอ กระบวนการนี้ฟรานซิส คริกเรียกว่า ความเชื่อหลักของอณูชีววิทยา

 
กรดอะมิโนที่เปลี่ยนไปเพียงตัวเดียวทำให้ฮีโมโกลบินสร้างตัวเป็นเส้นใยขึ้นได้

ลำดับกรดอะมิโนที่ได้จะถูกสร้างเป็นโครงสร้างสามมิติของโปรตีน ซึ่งโครงสร้างที่เป็นสามมิตินี้จะมีความสัมพันธ์กับหน้าที่ของโปรตีนนั้น ๆ โปรตีนบางชนิดเป็นโมเลกุลที่มีโครงสร้างเรียบง่าย เช่น เส้นใยที่สร้างจากโปรตีนคอลลาเจน โปรตีนสามารถจับกับโปรตีนอื่นและโมเลกุลอย่างง่ายอื่น ๆ ได้ บางชนิดทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ซึ่งมีส่วนในปฏิกิริยาเคมีในโมเลกุลที่ไปจับโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโปรตีนเอง โครงสร้างของโปรตีนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นโปรตีนฮีโมโกลบินในรูปแบบต่าง ๆ กันจะมีรูปร่างที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย เพื่อช่วยในการจับยึด ขนส่ง และปล่อยโมเลกุลออกซิเจนในเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

การเปลี่ยนไปของนิวคลีโอไทด์เพียงตัวเดียวในดีเอ็นเอสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลำดับกรดอะมิโนในโปรตีนได้ จากการที่โครงสร้างโปรตีนนั้นเกิดจากลำดับกรดอะมิโน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของลำดับกรดอะมิโนบางแบบอาจเปลี่ยนคุณสมบัติของโปรตีนนั้น ๆ ได้ อาจโดยการทำให้โครงสร้างสูญเสียความเสถียรไปไม่สามารถคงรูปอยู่ได้ หรือเปลี่ยนพื้นผิวของโปรตีนทำให้มีปฏิกิริยากับโปรตีนหรือโมเลกุลอื่นเปลี่ยนแปลงไป เช่น โรคเลือดจางแบบมีเม็ดเลือดแดงรูปเคียวเป็นโรคพันธุกรรมชนิดหนึ่งในมนุษย์ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเบสคู่เดียวในบริเวณที่มีการถอดรหัสออกมาเป็นเบตาโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนตัวหนึ่งจนสมบัติทางกายภาพของฮีโมโกลบินเปลี่ยนแปลงไป ฮีโมโกลบินในผู้ป่วยโรคนี้จะจับกันเอง ก่อตัวเป็นเส้นใย ทำให้เม็ดเลือดแดงที่มีโปรตีนที่ผิดปกตินี้มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปมีรูปร่างคล้ายเคียว เม็ดเลือดแดงที่มีรูปร่างเปลี่ยนไปนี้ไหลผ่านหลอดเลือดได้ไม่ดีเท่าเม็ดเลือดแดงปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดการอุดตันหรือแตกสลาย เกิดเป็นอาการที่สัมพันธ์กับโรคดังกล่าว

ยีนบางตัวถอดรหัสออกมาเป็นอาร์เอ็นเอแต่ไม่มีการแปลรหัสออกมาเป็นโปรตีน อาร์เอ็นเอเหล่านี้เรียกว่าน็อน-โคดดิ้ง อาร์เอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอที่ไม่มีการอ่านรหัส อาร์เอ็นเอเหล่านี้บางครั้งจะจัดรูปร่างตัวเองเป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่สำคัญในเซลล์ เช่น อาร์เอ็นเอไรโบโซม และอาร์เอ็นเอถ่ายโอน นอกจากนี้อาร์เอ็นเอยังอาจมีหน้าที่ในการควบคุมการแสดงออกทางพันธุกรรมโดยปฏิกิริยาจับตัวผสมกับอาร์เอ็นเออื่น ๆ เช่น ไมโครอาร์เอ็นเอ

ธรรมชาติและการเลี้ยงดู

 
แมวไทยมีการกลายพันธุ์แบบตอบสนองต่ออุณหภูมิซึ่งส่งผลต่อการสร้างเม็ดสี

แม้ข้อมูลการทำหน้าที่ของส่วนประกอบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตจะถูกบรรจุอยู่ในยีน สิ่งแวดล้อมก็ยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดลักษณะที่แสดงออกเป็นผลสุดท้าย ปรากฏการณ์เช่นนี้มักถูกเรียกชื่อว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและการเลี้ยงดู (อังกฤษ: nature versus nurture) ลักษณะปรากฏของสิ่งมีชีวิตขึ้นกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่นการกลายพันธุ์ที่ขึ้นกับอุณหภูมิ บ่อยครั้งที่การมีกรดอะมิโนเปลี่ยนไปหนึ่งตำแหน่งไม่ได้เปลี่ยนหน้าที่ของโปรตีน แต่ทำให้โปรตีนนั้นขาดความเสถียร ในภาวะที่มีอุณหภูมิสูง โมเลกุลมีพลังงานมาก ทำให้เคลื่อนที่เร็ว ชนกันบ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้โปรตีนสูญเสียโครงสร้างและไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ โดยในภาวะที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าโครงสร้างของโปรตีนจะเสถียรและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ การกลายพันธุ์เช่นนี้พบได้ในการเกิดสีของแมวไทย ซึ่งมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นในเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสี โดยจะทำให้โปรตีนนี้ไม่เสถียรและทำหน้าที่ไม่ได้ในภาวะที่มีอุณหภูมิสูง ในขณะที่โปรตีนนี้ยังทำหน้าที่ได้ปกติในบริเวณร่างกายของแมวส่วนที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า เช่น ขา หู หาง และใบหน้า ทำให้แมวไทยมีร่างกายบางส่วนเป็นสีดำและบางส่วนเป็นสีขาวดังที่เห็น

สิ่งแวดล้อมยังมีบทบาทมากในการเกิดผลของโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์อย่างฟีนิลคีโตนูเรีย ซึ่งการกลายพันธุ์ที่เกิดในผู้ป่วยจะทำให้ไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีนได้ ทำให้เกิดการสะสมของสารตัวกลางซึ่งเป็นพิษ เกิดเป็นอาการต่าง ๆ ที่พบในผู้ป่วย เช่นสติปัญญาพัฒนาช้า หรือชักได้ หากผู้ป่วยโรคนี้ไม่กินอาหารที่มีกรดอะมิโนนี้ ก็จะไม่มีอาการใด ๆ

วิธีการหนึ่งที่เป็นที่นิยมในการศึกษาว่าธรรมชาติและการเลี้ยงดูมีผลมากน้อยเพียงใดคือการศึกษาในแฝดเหมือนและแฝดต่าง ทั้งนี้แฝดเหมือนนั้นเกิดมาจากเซลล์ตัวอ่อนแรกเริ่มอันเดียวกัน จึงมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ ในขณะที่แฝดต่างนั้นมีพันธุกรรมแตกต่างกัน เหมือนกับพี่น้องธรรมดาทั่วไป การเปรียบเทียบว่าแฝดแต่ละคู่มีการเกิดโรคหนึ่ง ๆ หรือไม่อย่างไร จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสรุปได้ว่าธรรมชาติหรือการเลี้ยงดูมีผลมากน้อยกว่ากันอย่างไร ตัวอย่างหนึ่งที่ใช้วิธีการศึกษาในลักษณะนี้ซึ่งมีชื่อเสียงมากคือการศึกษาในแฝดสี่จีเนน ซึ่งเป็นแฝดเหมือนสี่คน ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคจิตเภททั้งหมด

การควบคุมการแสดงออกของยีน

สิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ อาจมียีนหลายพันยีน แต่ไม่ได้แสดงออกทั้งหมดพร้อม ๆ กัน ยีนแต่ละยีนจะแสดงออกก็ต่อเมื่อกำลังมีการถอดรหัสเป็นเอ็มอาร์เอ็นเอเท่านั้น โดยมีกระบวนการในเซลล์ที่ควบคุมการแสดงออกของยีนอยู่หลายวิธีเพื่อให้มีการผลิตโปรตีนเมื่อเซลล์ต้องการใช้โปรตีนนั้น ๆ เท่านั้น ปัจจัยการถอดรหัสหรือทรานสคริปชันแฟคเตอร์เป็นโปรตีนควบคุมซึ่งจับกับตำแหน่งเริ่มต้นของยีน ทำหน้าที่กระตุ้นหรือยับยั้งการถอดรหัสยีนนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในจีโนมของ Escherichia coli มียีนจำนวนหนึ่งซึ่งจำเป็นในการสังเคราะห์กรดอะมิโนทริปโตเฟน แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีทริปโตเฟนเพียงพออยู่แล้ว ยีนซึ่งช่วยในการสังเคราะห์ทริปโตเฟนนี้ก็ไม่มีความจำเป็น การมีทริปโตเฟนจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ของยีนโดยตรงโดยโมเลกุลของทริปโตเฟนจะจับกับทริปโตเฟนรีเพรสเซอร์ซึ่งเป็นปัจจัยการถอดรหัสตัวหนึ่ง ทำให้โครงสร้างของรีเพรสเซอร์แปลี่ยนแปลงไปจนไปจับกับยีน ยับยั้งการถอดรหัสและการแสดงออกของยีนนั้น ๆ ถือเป็นการควบคุมโดยการป้อนกลับทางลบของกระบวนการสังเคราะห์กรดอะมิโนทริปโตเฟน

 
ปัจจัยการถอดรหัสจับกับดีเอ็นเอ ส่งผลต่อการถอดรหัสของยีนนั้น ๆ

ความแตกต่างในการแสดงออกของยีนนั้นเห็นได้ชัดเจนในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ซึ่งทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ มีจีโนมที่เหมือนกันแต่ตัวเซลล์กลับมีโครงสร้างและหน้าที่ที่แตกต่างกันเนื่องจากมีการแสดงออกของยีนคนละชุดกัน เซลล์ทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์มาจากเซลล์ตั้งต้นเพียงเซลล์เดียวซึ่งเจริญเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ หลากหลายตามการตอบสนองต่อสัญญาณภายในเซลล์และค่อย ๆ สร้างรูปแบบการควบคุมการแสดงออกของยีนที่แตกต่างกันเพื่อให้มีหน้าที่ของเซลล์ต่าง ๆ กัน ทั้งนี้ไม่มียีนเดี่ยว ๆ ยีนใดยีนหนึ่งที่รับผิดชอบการเจริญเป็นโครงสร้างของเซลล์ของสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ แต่เป็นรูปแบบที่เกิดจากปฏิกิริยาอันซับซ้อนของเซลล์และยีนจำนวนมาก

ในเซลล์ยูคาริโอตจะมีความพิเศษของโครงสร้างโครมาตินซึ่งมีส่วนในการควบคุมการถอดรหัสยีน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอและโครมาตินที่อยู่ในภาวะเสถียรและสามารถถ่ายทอดไปยังเซลล์ลูกได้ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าการควบคุมแบบอีพิเจเนติกส์ (เหนือพันธุกรรม) เพราะเป็นการควบคุมที่อยู่นอกเหนือลำดับดีเอ็นเอและสามารถถ่ายทอดจากเซลล์รุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากลักษณะเหนือพันธุกรรมเช่นนี้เองทำให้เซลล์ต่างชนิดกันที่เพาะเลี้ยงในอาหารเพาะเลี้ยงสามารถคงคุณสมบัติที่แตกต่างกันเอาไว้ได้ แม้ลักษณะเหนือพันธุกรรมเช่นนี้มักมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงของการเจริญ แต่ลักษณะบางอย่างเช่นปรากฏการณ์การกลายพันธุ์ข้างเคียงก็มีการถ่ายทอดข้ามรุ่นได้และถือเป็นข้อยกเว้นของกฎทั่วไปที่มีอยู่ไม่มากนักในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของดีเอ็นเอ

การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม

การกลายพันธุ์

ดูบทความหลักที่: การกลายพันธุ์
 
การทำซ้ำของยีนทำให้เกิดความเหลือเฟือขึ้นมาได้ โดยยีนอันหนึ่งอาจกลายพันธุ์จนสูญเสียหน้าที่ไปได้ โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตนั้น

ระหว่างการถ่ายแบบดีเอ็นเอนั้นอาจเกิดความผิดพลาดระหว่างการต่อสายดีเอ็นเอสายที่สอง ความผิดพลาดนี้เรียกว่าการกลายพันธุ์ โดยปกติแล้วอัตราการเกิดความผิดพลาดนั้นมีต่ำมากที่ประมาณ 1 ครั้งในทุก ๆ 10-100 ล้านเบส เนื่องจากในเอนไซม์ดีเอ็นเอโพลีเมอเรสที่ทำหน้าที่ในกระบวนการถ่ายแบบดีเอ็นเอนั้นมีกระบวนการตรวจทานอยู่ หากไม่มีกระบวนการตรวจทานนี้อัตราการเกิดความผิดพลาดอาจเพิ่มขึ้นเป็นพันเท่า (ดังนั้นไวรัสซึ่งใช้เอนไซม์ดีเอ็นเอหรืออาร์เอ็นเอโพลีเมอเรสที่ไม่มีการตรวจทานจึงเกิดการกลายพันธุ์ได้มาก) สิ่งใดที่เพิ่มอัตราการเกิดความผิดพลาดในการถ่ายแบบดีเอ็นเอเรียกว่าสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งสารเคมีที่เป็นสารก่อกลายพันธุ์จะทำให้การถ่ายแบบดีเอ็นเอมีความผิดพลาดมากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการรบกวนโครงสร้างของการจับคู่เบส ในขณะที่รังสีอัลตราไวโอเลตนั้นก่อการกลายพันธุ์โดยการทำลายโครงสร้างดีเอ็นเอโดยตรง ในธรรมชาติก็มีสารเคมีทำลายโครงสร้างดีเอ็นเออยู่เนือง ๆ แต่เซลล์มีกลไกซ่อมแซมดีเอ็นเออยู่ซึ่งซ่อมแซมดีเอ็นเอที่จับคู่ผิดและสายแตกได้ อย่างไรก็ดีกระบวนการซ่อมแซมเหล่านี้บางครั้งก็ยังไม่สามารถคืนลำดับดีเอ็นเอให้เหมือนเดิมได้

ในสิ่งมีชีวิตที่อาศัยการไขว้เปลี่ยนของโครโมโซมเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนดีเอ็นเอและยีนใหม่นั้น ความผิดพลาดในกระบวนการนี้ระหว่างการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสก็สามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ ความผิดพลาดในการซ้อนทับกันของโครโมโซมนั้นมักเกิดในตำแหน่งที่มีลำดับสารพันธุกรรมคล้ายคลึงกัน ทำให้โครโมโซมที่ซ้อนทับกันนั้นมีการจัดเรียงที่ผิดไป ดังนั้นบางบริเวณของจีโนมจึงมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์มากกว่าบริเวณอื่น ความผิดพลาดเหล่านี้มักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างลำดับดีเอ็นเอที่มีขนาดใหญ่ เช่น การทำซ้ำ การพลิกกลับ หรือการหลุดหาย ของบริเวณใดบริเวณหนึ่งทั้งบริเวณ หรือเกิดการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนทั้งชิ้นของโครโมโซมคนละตัว (เรียกว่า การสับเปลี่ยน)

การคัดเลือกโดยธรรมชาติและวิวัฒนาการ

การกลายพันธุ์ทำให้สิ่งมีชีวิตมีจีโนไทป์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้บางครั้งทำให้ฟีโนไทป์เปลี่ยนแปลงไปด้วย การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่มีผลเพียงเล็กน้อยต่อฟีโนไทป์ สุขภาพ และความสามารถในการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต การกลายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นส่วนใหญ่ทำให้มีผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดผลดี การศึกษาวิจัยครั้งหนึ่งทำกับแมลงวัน Drosophila melanogaster เสนอว่าหากการกลายพันธุ์นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่สร้างจากยีนนั้น ๆ การกลายพันธุ์เช่นนี้ 70% จะเป็นผลเสีย ส่วนที่เหลืออาจมีผลดีเล็กน้อยหรือไม่มีผลใด ๆ

 
แผนภูมิวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตยูคาริโอต เปรียบเทียบจากลำดับยีนที่สมกัน

วิชาพันธุศาสตร์ประชากรนั้นศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายของความแตกต่างทางพันธุกรรมในประชากรและการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายนี้เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนใหญ่แล้วการที่ความถี่ของอัลลีลในประชากรเปลี่ยนไปนั้นเกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่มีอัลลีลหนึ่งมีโอกาสรอดชีวิตและสืบทอดเผ่าพันธุ์มากกว่าสิ่งมีชีวิตที่มีอัลลีลอื่น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของความถี่ของอัลลีลอื่นอีก เช่น ความไม่แน่นอนทางพันธุกรรม การคัดเลือกโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และการย้ายถิ่น

จีโนมของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ อาจเปลี่ยนไปได้มากเมื่อผ่านไปหลายรุ่น ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าวิวัฒนาการ การคัดเลือกการกลายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตสปีชีส์หนึ่ง ๆ วิวัฒนาการไปจนมีความสามารถในการอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เรียกว่าการปรับตัว สปีชีส์ใหม่เกิดจากกระบวนการการเกิดสายพันธุ์ใหม่ ส่วนใหญ่มักเป็นผลจากการแบ่งแยกจากภูมิศาสตร์ที่ทำให้ประชากรของสิ่งมีชีวิตเดียวกันไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนยีนซึ่งกันและกัน โดยวิชาที่นำเอาหลักการทางพันธุศาสตร์มาใช้ในการศึกษาชีววิทยาประชากรและวิวัฒนาการเรียกว่าการสังเคราะห์วิวัฒนาการสมัยใหม่

การเปรียบเทียบยีนที่เหมือนกันในจีโนมของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันอาจช่วยให้ผู้วิจัยสามารถคำนวณระยะห่างของการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้ และอาจคำนวณได้ว่าสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เริ่มมีสายวิวัฒนาการแยกออกจากกันเมื่อไร (เรียกว่านาฬิกาโมเลกุล) โดยทั่วไปมักถือว่าการเปรียบเทียบลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นสามารถยืนยันการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดได้น่าเชื่อถือกว่าการเปรียบเทียบลักษณะปรากฏของสิ่งมีชีวิต ระยะห่างของการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะสามารถนำมาสร้างเป็นแผนภูมิต้นไม้วิวัฒนาการซึ่งแสดงให้เห็นถึงบรรพบุรุษร่วมของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดและการแตกออกเป็นสปีชีส์ต่าง ๆ อย่างไรก็ดีการเปรียบเทียบนี้จะไม่แสดงให้เห็นถึงการถ่ายสารพันธุกรรมระหว่างสิ่งมีชีวิตคนละชนิดกันได้ (เรียกว่าการถ่ายทอดยีนในแนวราบ พบบ่อยในแบคทีเรีย)

เทคโนโลยีและการศึกษาวิจัย

สิ่งมีชีวิตต้นแบบ

 
แมลงวันผลไม้ (Drosophila melanogaster) เป็นสิ่งมีชีวิตต้นแบบที่เป็นที่นิยมในการศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์

แม้ในช่วงแรกเริ่มนั้นนักพันธุศาสตร์จะทำการศึกษาวิจัยในสิ่งมีชีวิตหลายชนิด แต่ต่อมาความรู้ความเข้าใจในพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตบางชนิดก็มีการต่อยอดมากขึ้น ทำให้มีการศึกษาวิจัยในสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เป็นจำนวนมาก เมื่อมีจำนวนผลการศึกษาวิจัยในสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเป็นจำนวนมาก นักวิจัยรุ่นใหม่จึงนิยมทำการศึกษาวิจัยต่อยอดในสิ่งมีชีวิตนั้น จนมีสิ่งมีชีวิตต้นแบบเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นพื้นฐานของการศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์ในที่สุด หัวข้อที่เป็นที่นิยมในการทำการศึกษาวิจัยกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบ ได้แก่ การศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมการแสดงออกของยีนและบทบาทของยีนในการเกิดรูปร่างและการเกิดมะเร็ง เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดเป็นที่นิยมศึกษาวิจัยมากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นสาเหตุหนึ่งคือความสะดวก การที่สิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ มีระยะเวลาในการสืบทอดเผ่าพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่นสั้น และสามารถมีกระบวนการแทรกแซงทางพันธุกรรมได้ง่าย ทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นเป็นที่นิยมใช้เป็นเครื่องมือศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์ สิ่งมีชีวิตต้นแบบที่เป็นที่นิยมใช้แพร่หลายเช่น แบคทีเรีย Escherichia coli, พืช Arabidopsis thaliana, ยีสต์ขนมปัง Saccharomyces cerevisiae, หนอน Caenorhabditis elegans, แมลงวันผลไม้ Drosophila melanogaster, และหนู Mus musculus เป็นต้น

การแพทย์

เวชพันธุศาสตร์เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างทางพันธุกรรมกับสุขภาพและโรคของมนุษย์ ในการหายีนที่อาจทำให้เกิดโรค ผู้วิจัยจะใช้หลักของการเชื่อมโยงทางพันธุกรรมและแผนภาพพงศาวลีในการหาตำแหน่งบนจีโนมที่สัมพันธ์กับโรค ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรค ในการศึกษาวิจัยระดับประชากร ผู้วิจัยสามารถใช้หลักการสุ่มแบบเมนเดลในการหาตำแหน่งบนจีโนมที่สัมพันธ์กับโรคได้ ซึ่งจะเห็นประโยชน์ชัดเจนในโรคที่มียีนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถระบุยีนเดี่ยว ๆ ที่ก่อโรคได้ เมื่อพบยีนที่อาจเป็นยีนก่อโรคแล้ว จะมีการศึกษาวิจัยต่อกับยีนที่คล้ายกันในสิ่งมีชีวิตต้นแบบ นอกจากการศึกษาเกี่ยวกับโรคพันธุกรรมแล้ว ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับเภสัชพันธุศาสตร์ซึ่งศึกษาว่าลักษณะทางพันธุกรรมส่งผลต่อการตอบสนองต่อยาอย่างไร ทั้งนี้เป็นผลจากการที่เทคโนโลยีในการศึกษารูปแบบพันธุกรรมนั้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับมะเร็งมากขึ้น ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่าแต่ละคนได้รับถ่ายทอดโอกาสที่จะเกิดมะเร็งมาไม่เท่ากัน และมะเร็งเองก็เป็นโรคที่พันธุกรรมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากโรคหนึ่ง การจะเกิดมีมะเร็งขึ้นในร่างกายได้นั้นต้องมีเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นสอดคล้องกัน โดยเมื่อเซลล์มีการแบ่งตัว ก็มีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น แม้การกลายพันธุ์เหล่านี้จะไม่ได้รับการถ่ายทอดไปยังรุ่นถัดไปแต่ก็อาจทำให้เซลล์ที่กลายพันธุ์มีการทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้ บางครั้งอาจทำให้เซลล์ที่กลายพันธุ์มีการแบ่งตัวมากเกินปกติ ซึ่งในร่างกายจะมีกลไกที่คอยหยุดกระบวนการเช่นนี้อยู่โดยการส่งสัญญาณไปยังเซลล์ที่แบ่งตัวมากเกินปกติให้กระตุ้นกระบวนการทำลายตัวเอง แต่บางครั้งก็มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นที่ตำแหน่งอื่นที่ทำให้เซลล์นั้น ๆ ไม่ตอบสนองต่อสัญญาณนี้ กระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติจะดำเนินไปตลอดเวลาทำให้การกลายพันธุ์สะสมในเซลล์บางเซลล์ ตามด้วยการแบ่งตัวมากผิดปกติอย่างควบคุมไม่ได้ และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะแบ่งตัวเพิ่มกลายเป็นเนื้องอกมะเร็งและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายในที่สุด

วิธีการศึกษาวิจัย

นักวิจัยสามารถดัดแปลงดีเอ็นเอได้ในห้องปฏิบัติการ โดยอาจใช้เอนไซม์ตัดจำเพาะในการตัดชิ้นส่วนดีเอ็นเอในตำแหน่งลำดับซึ่งมีความจำเพาะ ทำให้สามารถสร้างชิ้นส่วนของดีเอ็นเอซึ่งสามารถคาดเดาได้ว่าจะมีลำดับเป็นอย่างไร ชิ้นส่วนของดีเอ็นเอนี้สามารถทำให้มองเห็นได้ด้วยตาผ่านกระบวนการแยกทางไฟฟ้าโดยใช้เจล ซึ่งจะแยกชิ้นส่วนดีเอ็นเอต่าง ๆ ออกจากกันตามความยาวของชิ้นส่วนแต่ละชิ้น

ชิ้นส่วนดีเอ็นเอสามารถนำมาต่อกันได้ด้วยเอนไซม์ต่อเชื่อม และจากการที่นักวิจัยสามารถนำชิ้นส่วนดีเอ็นเอจากหลาย ๆ แหล่งที่นำมาต่อเข้าด้วยกันนั้น ทำให้สามารถสร้างดีเอ็นเอลูกผสมขึ้นมาได้ ซึ่งมีความสำคัญกับการตัดต่อพันธุกรรม นอกจากจะใช้ในการสร้างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว ยังเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างพลาสมิด (ดีเอ็นเอรูปวงกลมขนาดเล็ก ๆ ที่มียีนจำนวนไม่มาก) นักวิจัยสามารถใส่พลาสมิดที่สร้างขึ้นเข้าไปในแบคทีเรีย และเพาะพันธุ์เพิ่มจำนวนโคลนของแบคทีเรียที่มีพลาสมิดนี้อยู่ ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่ใส่ไว้นี้ได้ด้วยกระบวนการนี้ซึ่งเรียกว่าการโคลนเชิงโมเลกุล

 
โคโลนีของ E. coli บนจานเพาะเชื้อวุ้นเอการ์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการโคลนสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการโคลนโมเลกุล

นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอผ่านกระบวนการปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) ได้ด้วย โดยสามารถเพิ่มจำนวนเฉพาะบริเวณหนึ่ง ๆ ของดีเอ็นเอได้ในอัตราก้าวหน้าแบบเอกซ์โพเนนเชียล ซึ่งจากที่ PCR สามารถเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอจากตัวอย่างที่อาจมีปริมาณน้อยมาก ๆ ได้นี้เอง ทำให้มักถูกใช้ในการตรวจหาว่าตัวอย่างที่สนใจนั้นมีลำดับดีเอ็นเอหนึ่ง ๆ ที่ต้องการหรือไม่

การหาลำดับดีเอ็นเอและจีโนมิกส์

การหาลำดับดีเอ็นเอเป็นเทคโนโลยีซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่สุดในการศึกษาพันธุศาสตร์ เปิดโอกาสให้ผู้วิจัยสามารถหาลำดับของนิวคลีโอไทด์ในสายดีเอ็นเอได้ เทคนิคนี้พัฒนาขึ้นใน ค.ศ. 1977 โดยเฟรเดอริก เซงเกอร์และคณะ ปัจจุบันเทคนิคการหาลำดับดีเอ็นเอโดยใช้การหยุดการต่อโซ่ได้กลายเป็นเทคนิคที่ใช้กันทั่วไปในการหาลำดับดีเอ็นเอ ด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้นักวิจัยสามารถค้นพบพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับโรคในมนุษย์มาแล้วมากมาย

เมื่อเทคนิคในการหาลำดับดีเอ็นเอมีค่าใช้จ่ายลดลงเรื่อย ๆ จึงมีการหาลำดับดีเอ็นเอทั้งจีโนมของสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ชนิด โดยใช้คอมพิวเตอร์รวบรวมลำดับดีเอ็นเอจากสายสั้น ๆ หลาย ๆ สาย ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่าการประกอบจีโนม ต่อมาจึงมีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการหาจีโนมมนุษย์ จนโครงการจีโนมมนุษย์สำเร็จใน ค.ศ. 2003 เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างการหาลำดับดีเอ็นเอปริมาณมากทำให้ค่าใช้จ่ายในการหาลำดับดีเอ็นเอลดลงไปอีก โดยมีผู้วิจัยพยายามพัฒนาให้การหาจีโนมมนุษย์มีค่าใช้จ่ายลดลงในระดับหลักพันดอลลาร์สหรัฐ

จากการที่มีข้อมูลลำดับพันธุกรรมปริมาณมากจึงเริ่มมีการพัฒนาศาสตร์ใหม่อย่างจีโนมิกส์ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการค้นหาและวิเคราะห์รูปแบบที่มีอยู่ในจีโนมของสิ่งมีชีวิต โดยเป็นแขนงวิชาย่อยของชีวสารสนเทศ ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางชีววิทยาปริมาณมหาศาลได้

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Lamarck, J-B (2008). In Encyclopædia Britannica. Retrieved from Encyclopædia Britannica Online on 16 March 2008.
  2. Peter J. Bowler, The Mendelian Revolution: The Emergency of Hereditarian Concepts in Modern Science and Society (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1989) : chapters 2 & 3.
  3. Blumberg, Roger B. "Mendel's Paper in English".
  4. genetics, n., Oxford English Dictionary, 3rd ed.
  5. Bateson W. "Letter from William Bateson to Alan Sedgwick in 1905". The John Innes Centre. สืบค้นเมื่อ 15 March 2008.
  6. genetic, adj., Oxford English Dictionary, 3rd ed.
  7. Bateson, W (1907). "The Progress of Genetic Research". ใน Wilks, W (บ.ก.). Report of the Third 1906 International Conference on Genetics: Hybridization (the cross-breeding of genera or species), the cross-breeding of varieties, and general plant breeding. London: Royal Horticultural Society.
  8. Moore, John A. (1983). "Thomas Hunt Morgan—The Geneticist". Integrative and Comparative Biology. 23: 855. doi:10.1093/icb/23.4.855.
  9. Sturtevant AH (1913). "The linear arrangement of six sex-linked factors in Drosophila, as shown by their mode of association" (PDF). Journal of Experimental Biology. 14: 43–59.
  10. Avery, OT; MacLeod, CM; McCarty, M (1944). "STUDIES ON THE CHEMICAL NATURE OF THE SUBSTANCE INDUCING TRANSFORMATION OF PNEUMOCOCCAL TYPES : INDUCTION OF TRANSFORMATION BY A DESOXYRIBONUCLEIC ACID FRACTION ISOLATED FROM PNEUMOCOCCUS TYPE III". The Journal of experimental medicine. 79 (2): 137–58. doi:10.1084/jem.79.2.137. PMC 2135445. PMID 19871359. Reprint: Avery, OT; Macleod, CM; Mccarty, M (1979). "Studies on the chemical nature of the substance inducing transformation of pneumococcal types. Inductions of transformation by a desoxyribonucleic acid fraction isolated from pneumococcus type III". The Journal of experimental medicine. 149 (2): 297–326. doi:10.1084/jem.149.2.297. PMC 2184805. PMID 33226.
  11. Hershey, AD; Chase, M (1952). "Independent functions of viral protein and nucleic acid in growth of bacteriophage". The Journal of general physiology. 36 (1): 39–56. doi:10.1085/jgp.36.1.39. PMC 2147348. PMID 12981234.
  12. Judson, Horace (1979). The Eighth Day of Creation: Makers of the Revolution in Biology. Cold Spring Harbor Laboratory Press. pp. 51–169. ISBN 0-87969-477-7. Unknown parameter |middle= ignored (help)
  13. Watson, J. D.; Crick, FH (1953). "Molecular Structure of Nucleic Acids: A Structure for Deoxyribose Nucleic Acid" (PDF). Nature. 171 (4356): 737–8. doi:10.1038/171737a0. PMID 13054692.
  14. Watson, J. D.; Crick, FH (1953). "Genetical Implications of the Structure of Deoxyribonucleic Acid" (PDF). Nature. 171 (4361): 964–7. doi:10.1038/171964b0. PMID 13063483.
  15. Sanger, F; Nicklen, S; Coulson, AR (1977). "DNA sequencing with chain-terminating inhibitors". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 74 (12): 5463–7. doi:10.1073/pnas.74.12.5463. PMC 431765. PMID 271968.
  16. Saiki, RK; Scharf, S; Faloona, F; Mullis, KB; Horn, GT; Erlich, HA; Arnheim, N (1985). "Enzymatic amplification of beta-globin genomic sequences and restriction site analysis for diagnosis of sickle cell anemia". Science. 230 (4732): 1350–4. doi:10.1126/science.2999980. PMID 2999980.
  17. "Human Genome Project Information". Human Genome Project. สืบค้นเมื่อ 15 March 2008.
  18. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Patterns of Inheritance: Introduction". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  19. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Mendel's experiments". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  20. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Mendelian genetics in eukaryotic life cycles". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  21. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Interactions between the alleles of one gene". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  22. Cheney, Richard W. "Genetic Notation". สืบค้นเมื่อ 18 March 2008.
  23. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Human Genetics". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  24. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Gene interaction and modified dihybrid ratios". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  25. Mayeux, R (2005). "Mapping the new frontier: complex genetic disorders". The Journal of clinical investigation. 115 (6): 1404–7. doi:10.1172/JCI25421. PMC 1137013. PMID 15931374.
  26. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Quantifying heritability". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  27. Luke, A; Guo, X; Adeyemo, AA; Wilks, R; Forrester, T; Lowe W, W; Comuzzie, AG; Martin, LJ; Zhu, X (2001). "Heritability of obesity-related traits among Nigerians, Jamaicans and US black people". International journal of obesity and related metabolic disorders. 25 (7): 1034–41. doi:10.1038/sj.ijo.0801650. PMID 11443503.
  28. Pearson, H (2006). "Genetics: what is a gene?". Nature. 441 (7092): 398–401. doi:10.1038/441398a. PMID 16724031.
  29. Prescott, L (1993). Microbiology. Wm. C. Brown Publishers. ISBN 0-697-01372-3.
  30. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Mechanism of DNA Replication". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  31. Gregory, SG; Barlow, KF; Mclay, KE; Kaul, R; Swarbreck, D; Dunham, A; Scott, CE; Howe, KL; Woodfine, K (2006). "The DNA sequence and biological annotation of human chromosome 1". Nature. 441 (7091): 315–21. doi:10.1038/nature04727. PMID 16710414.
  32. Alberts et al. (2002), II.4. DNA and chromosomes: Chromosomal DNA and Its Packaging in the Chromatin Fiber
  33. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Sex chromosomes and sex-linked inheritance". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  34. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Nature of crossing-over". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  35. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Linkage maps". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  36. Berg JM, Tymoczko JL, Stryer L, Clarke ND (2002). "I. 5. DNA, RNA, and the Flow of Genetic Information: Amino Acids Are Encoded by Groups of Three Bases Starting from a Fixed Point". Biochemistry (5th ed.). New York: W. H. Freeman and Company.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  37. Crick, F (1970). "Central dogma of molecular biology" (PDF). Nature. 227 (5258): 561–3. doi:10.1038/227561a0. PMID 4913914.
  38. Alberts et al. (2002), I.3. Proteins: The Shape and Structure of Proteins
  39. Alberts et al. (2002), I.3. Proteins: Protein Function
  40. "How Does Sickle Cell Cause Disease?". Brigham and Women's Hospital: Information Center for Sickle Cell and Thalassemic Disorders. 11 April 2002. สืบค้นเมื่อ 23 July 2007.
  41. Imes, DL; Geary, LA; Grahn, RA; Lyons, LA (2006). "Albinism in the domestic cat (Felis catus) is associated with a tyrosinase (TYR) mutation". Animal genetics. 37 (2): 175–8. doi:10.1111/j.1365-2052.2005.01409.x. PMC 1464423. PMID 16573534.
  42. "MedlinePlus: Phenylketonuria". NIH: National Library of Medicine. สืบค้นเมื่อ 15 March 2008.
  43. Rosenthal, David (1964). The Genain quadruplets; a case study and theoretical analysis of heredity and environment in schizophrenia. New York: Basic Books. ISBN B0000CM68F Check |isbn= value: invalid character (help). line feed character in |title= at position 24 (help)
  44. Brivanlou, AH; Darnell Je, JE (2002). "Signal transduction and the control of gene expression". Science. 295 (5556): 813–8. doi:10.1126/science.1066355. PMID 11823631.
  45. Alberts et al. (2002), II.3. Control of Gene Expression – The Tryptophan Repressor Is a Simple Switch That Turns Genes On and Off in Bacteria
  46. Jaenisch, R; Bird, A (2003). "Epigenetic regulation of gene expression: how the genome integrates intrinsic and environmental signals". Nature genetics. 33 Suppl: 245–54. doi:10.1038/ng1089. PMID 12610534.
  47. Chandler, VL (2007). "Paramutation: from maize to mice". Cell. 128 (4): 641–5. doi:10.1016/j.cell.2007.02.007. PMID 17320501.
  48. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Spontaneous mutations". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  49. Freisinger, E; Grollman, AP; Miller, H; Kisker, C (2004). "Lesion (in) tolerance reveals insights into DNA replication fidelity". The EMBO journal. 23 (7): 1494–505. doi:10.1038/sj.emboj.7600158. PMC 391067. PMID 15057282.
  50. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Induced mutations". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  51. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Chromosome Mutation I: Changes in Chromosome Structure: Introduction". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  52. Sawyer, SA; Parsch, J; Zhang, Z; Hartl, DL (2007). "Prevalence of positive selection among nearly neutral amino acid replacements in Drosophila". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 104 (16): 6504–10. doi:10.1073/pnas.0701572104. PMC 1871816. PMID 17409186.
  53. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Variation and its modulation". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  54. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Selection". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  55. Griffiths, William M.; Miller, Jeffrey H.; Suzuki, David T.; Lewontin, Richard C.; Gelbart, บ.ก. (2000). "Random events". An Introduction to Genetic Analysis (7th ed.). New York: W. H. Freeman. ISBN 0-7167-3520-2. More than one of |editor1-first= และ |editor-first= specified (help)
  56. Darwin, Charles (1859). On the Origin of Species (1st ed.). London: John Murray. p. 1. ISBN 0-8014-1319-2.. Related earlier ideas were acknowledged in Darwin, Charles (1861). On the Origin of Species (3rd ed.). London: John Murray. xiii. ISBN 0-8014-1319-2.
  57. Gavrilets, S (2003). "Perspective: models of speciation: what have we learned in 40 years?". Evolution; international journal of organic evolution. 57 (10): 2197–215. doi:10.1554/02-727. PMID 14628909.
  58. Wolf, YI; Rogozin, IB; Grishin, NV; Koonin, EV (2002). "Genome trees and the tree of life". Trends in genetics. 18 (9): 472–9. doi:10.1016/S0168-9525 (02) 02744-0 Check |doi= value (help). PMID 12175808.
  59. "The Use of Model Organisms in Instruction". University of Wisconsin: Wisconsin Outreach Research Modules. สืบค้นเมื่อ 15 March 2008.
  60. "NCBI: Genes and Disease". NIH: National Center for Biotechnology Information. สืบค้นเมื่อ 15 March 2008.
  61. Davey Smith, G; Ebrahim, S (2003). "'Mendelian randomization': can genetic epidemiology contribute to understanding environmental determinants of disease?". International journal of epidemiology. 32 (1): 1–22. doi:10.1093/ije/dyg070. PMID 12689998.
  62. "Pharmacogenetics Fact Sheet". NIH: National Institute of General Medical Sciences. สืบค้นเมื่อ 15 March 2008.
  63. Frank, SA (2004). "Genetic predisposition to cancer - insights from population genetics". Nature reviews. Genetics. 5 (10): 764–72. doi:10.1038/nrg1450. PMID 15510167.
  64. Strachan T, Read AP (1999). Human Molecular Genetics 2 (second ed.). John Wiley & Sons Inc.Chapter 18: Cancer Genetics
  65. Lodish et al. (2000), Chapter 7: 7.1. DNA Cloning with Plasmid Vectors
  66. Lodish et al. (2000), Chapter 7: 7.7. Polymerase Chain Reaction: An Alternative to Cloning
  67. Brown TA (2002). "Section 2, Chapter 6: 6.1. The Methodology for DNA Sequencing". Genomes 2 (2nd ed.). Oxford: Bios. ISBN 1-85996-228-9.
  68. Brown (2002), Section 2, Chapter 6: 6.2. Assembly of a Contiguous DNA Sequence
  69. Service, RF (2006). "Gene sequencing. The race for the $1000 genome". Science. 311 (5767): 1544–6. doi:10.1126/science.311.5767.1544. PMID 16543431.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • พันธุศาสตร์ ที่เว็บไซต์ Curlie
  • พันธุศาสตร์ ...ศาสตร์แห่งชีวิต ไทยกู๊ดวิลดอตคอม

นธ, ศาสตร, สำหร, บบทนำของท, านห, วข, อน, ใช, พท, เทคน, คน, อยกว, บทนำ, งกฤษ, genetics, เป, นอ, กสาขาหน, งของช, วว, ทยา, กษาเก, ยวก, บย, การถ, ายทอดล, กษณะทางพ, นธ, กรรม, และความหลากหลายทางพ, นธ, กรรมของส, งม, ตด, เอ, นเอเป, นโมเลก, ลพ, นฐานของการถ, ายทอดล, กษณ. sahrbbthnakhxngthanhwkhxnithiichsphthethkhnikhnxykwa du bthnaphnthusastr phnthusastr xngkvs genetics epnxiksakhahnungkhxngchiwwithya suksaekiywkbyin karthaythxdlksnathangphnthukrrm aelakhwamhlakhlaythangphnthukrrmkhxngsingmichiwitdiexnexepnomelkulphunthankhxngkarthaythxdlksnathangphnthukrrm diexnexaetlasayprakxbkhuncaksayosniwkhlioxithdcbkhuknrxbkungklangklayepnokhrngsrangthiduehmuxnbnidsungbidepnekliyw phnthusastrwadwyokhrngsrangechingomelkulaelahnathikhxngyin phvtikrrmkhxngyininbribthkhxngesllsingmichiwit echn khwamednaelaxiphiecentiks aebbaephnkhxngkarthaythxdlksnacakrunsurun karkracaykhxngyin khwamaetktangthangphnthukrrmaelakarepliynaeplngkhxngphnthukrrminprachakrkhxngsingmichiwit echnkarsuksahakhwamsmphnthkhxngyintlxdthwthngcionm emuxthuxwayinepnphunthankhxngsingmichiwitthnghmd phnthusastrcungepnwichathinaipichidkbsingmichiwitthukchnid thngiwrs aebkhthieriy phuch stw aelamnusy ewchphnthusastr idmikarsngektmaaetobranaelwwasingmichiwitmikarthaythxdlksnacakrunsurun sungepnkhwamruthimnusyichinkarprbprungphnthuphuchaelastwdwywithikarkhdeluxkphnthu xyangirkdi khwamruphnthusastrsmyihmthiwadwykarphyayamthakhwamekhaickrabwnkarkarthaythxdlksnaechnniephingerimtninkhriststwrrsthi 19 odyekrekxr emnedl aemekhaimsamarthsuksaecaalukipthungkrabwnkarthangkayphaphkhxngkarthaythxdlksnathangphnthukrrm aetkkhnphbwalksnathithaythxdnnmiaebbaephncaephaa kahndiddwyhnwyphnthukrrm sungtxmathukeriykwa yinyinkhuxswnhnungkhxngsaydiexnexsungepnomelkulthiprakxbdwyniwkhlioxithdsichnidechuxmtxknepnsayyaw ladbniwkhlioxithdsichnidnikhuxkhxmulthangphnthukrrmthithukekbaelamikarthaythxdinsingmichiwit diexnextamthrrmchatixyuinrupekliywkhu odyniwkhlioxithdbnaetlasaycaepnkhusmsungknaelaknkbniwkhlioxithdbnsaydiexnexxiksayhnung aetlasaythahnathiepnaemaebbinkarsrangsaykhukhunmaidihm nikhuxkrabwnkarthangkayphaphthithaihyinsamarthcalxngtwexng aelathaythxdipyngrunlukidladbkhxngniwkhlioxithdinyincathukaeplxxkmaepnsaykhxngkrdxamion prakxbknepnoprtin sungladbkhxngkrdxamionthimaprakxbknepnoprtinnnthaythxdxxkmacakladbkhxngniwkhlioxithdbndiexnex khwamsmphnthrahwangladbkhxngniwkhlioxithdaelaladbkhxngkrdxamionnieriykwarhsphnthukrrm krdxamionaetlachnidthiprakxbkhunmaepnoprtinchwykahndwasayoskhxngkrdxamionnncaphbmwnekidepnokhrngsrangsammitixyangir okhrngsrangsammitinikahndhnathikhxngoprtinnn sungoprtinmihnathiinkrabwnkarekuxbthnghmdkhxngesllsingmichiwit karepliynaeplngthiekidkbdiexnexinyinyinhnung xacthaihekidkarepliynaeplngladbkrdxamioninoprtin epliynokhrngsrangoprtin epliynkarthahnathikhxngoprtin sungxacsngphltxesllaelasingmichiwitnn idxyangmakaemphnthukrrmkhxngsingmichiwitcamibthbathmakinkarkahndlksnaaelaphvtikrrmkhxngsingmichiwit aetphlsudthayaelwtwtnkhxngsingmichiwithnung epnphlthiidcakkarphsmphsanknrahwangphnthukrrmaelasingaewdlxmthisingmichiwitnn prasb twxyangechn khnadkhxngsingmichiwitimidthukkahndodyyinephiyngxyangediyw aetidrbphlcakxaharaelasukhphaphkhxngsingmichiwitnn dwy epntn enuxha 1 yin 2 prawtisastr 2 1 phnthusastremnedlaelaphnthusastrkhlassik 2 2 xnuphnthusastr 3 rupaebbkhxngkarthaythxdlksna 3 1 karthaythxdaebbaeykswnaelakdkhxngemnedl 3 2 sylksnaelakarbnthukkhxmul 3 3 ptismphnthrahwangyin 4 phunthanthangomelkulkhxngkarthaythxdthangphnthukrrm 4 1 diexnexaelaokhromosm 4 2 karsubphnthu 4 3 karrwmihmaelakarechuxmoyng 5 karaesdngxxkkhxngyin 5 1 rhsphnthukrrm 5 2 thrrmchatiaelakareliyngdu 5 3 karkhwbkhumkaraesdngxxkkhxngyin 6 karepliynaeplngthangphnthukrrm 6 1 karklayphnthu 6 2 karkhdeluxkodythrrmchatiaelawiwthnakar 7 ethkhonolyiaelakarsuksawicy 7 1 singmichiwittnaebb 7 2 karaephthy 7 3 withikarsuksawicy 7 4 karhaladbdiexnexaelacionmiks 8 duephim 9 xangxing 10 aehlngkhxmulxunyin aekikhinpccubn niyamkhxngyinhruxhnwyphnthukrrm khuxswnhnung hrux ladb khxng DNA thisamarththukthxdrhsxxkmaepnchudkhxngkrabwnkarhruxkhasngkarthangankhxngesllid echn krabwnkarephux srangomelkulemlanin epntn xacsamarthepriyb yin hnung idkb kha hnung inphasa odyniwkhlioxithdaetlatwthiprakxbkhunmaepnyin epriybidkb twxksr thiprakxbkhunmaepn kha prawtisastr aekikh ekrekxr emnedl aemkhwamruthangphnthusastrcamithimacakkarprayuktthvsdikhxngekrekxr emnedlinchwngklangkhriststwrrsthi 19 aetthvsdiwadwykarthaythxdlksnakhxngsingmichiwitnnmimakxnyukhkhxngemnedl thvsdithiepnthiniymkxnyukhkhxngemnedlkhuxaenwkhidkarthaythxdlksnaaebbphsm thiechuxwalksnakhxngsingmichiwithnung epnkarphsmknrahwanglksnakhxngphxaelaaem aetngankhxngemnedlphisucnwathvsdiniimepncring odyaesdngihehnwakarthaythxdlksnakhxngsingmichiwitnnekidcakkarprakxbknkhxngyinthiaeykknmakkwacaepnkarhlxmrwmkn xikthvsdihnungthimiphusnbsnunphxsmkhwrkhuxthvsdikarthaythxdlksnathiekidkhunphayhlng sungechuxwasingmichiwitcaidrbkarthaythxdlksnathiphankarfukfnkhuninrunphxaem pccubnepnthithrabknaelwwathvsdini sungmkmiphunaipichrwmkbthvsdiwiwthnakarkhxnglamarkh phid prasbkarnhruxsingthiidcakkarfukfnkhxngsingmichiwitrunhnungimsngphltxyinaelaimmikarthaythxdipyngxikrunhnung 1 xikthvsdihnungkhuxthvsditwkaenidmithwthukswnkhxngcharls darwin sungepnkarphsmaenwkhidkarthaythxdlksnacakrunsurunaelakaridrblksnakhunmaihm aelathvsdichbbprbprungkhxngfransis kaltnthnginaengkhxngxnuphakhecmmul gemmule aelakarthaythxdlksnakhxngsingmichiwit 2 phnthusastremnedlaelaphnthusastrkhlassik aekikh phnthusastryukhihmmithimacakngankhxngekrekxr oyhn emnedl bathhlwngxxkstinaelankwithyasastrchaweyxrmn echkh bthkhwamnganwicykhxngekha Versuche uber Pflanzenhybriden karthdlxnginphuchphnthuphsm sungnaesnxtx Naturforschender Verein smakhmnganwicythrrmchati thiebxronin kh s 1865 idtidtamkarthaythxdlksnabangxyangintnthwaelaxthibaykarthaythxdniinechingkhnitsastr 3 aemngankhxngemnedlcaphbaebbaephnkarthaythxdinlksnaephiyngxyangkhxngtnthwethannktam aetkbngchiwalksnatang nnmikarsngtxcringaelaimidekidkhunmaihm aelaaebbaephnkhxngkarthaythxdkhxnglksnahlay xyangksamarthxthibayiddwykdaelasdswnngay ngankhxngemnedlimidrbkhwamsnicmaknkkrathngkhristthswrrs 1890 hlngemnedlesiychiwitipaelw nkwithyasastrthanxunidsuksaeruxngediywknaelaidkhnphbsingthiemnedlekhykhnphbmakxnaelw wileliym ebthsnepnphuesnxngankhxngemnedlaelaidesnxkhawa genetics khunin kh s 1905 4 5 swnkhakhunsphth genetic sungmacakkhakrikwa genesis genesis hmaythung cudkaenid nnmiichkxn genetics sungepnkhanam aelamikarnamaichinaewdwngchiwwithyatngaet kh s 1860 6 aelaidnakhaniipichinkhwamhmaywaepnkarsuksaekiywkbkarthaythxdlksnakhxngsingmichiwitinbthesnxtxthiprachum Third International Conference on Plant Hybridization karprachumnanachatiwadwykarphsmphnthuphuchkhrngthi 3 inkrunglxndxn praethsxngkvs emux kh s 1906 7 hlngcakkarkhnphbsangankhxngemnedl nkwithyasastrhlaykhnidphyayamkhnhawaomelkulidinesllthithaihekidkarthaythxdlksnaechnni in kh s 1910 othms hnth mxraeknesnxwayinnnxyubnokhromosm sungepnkhxsrupthiidcakkarsuksakarklayphnthukhxnglksnatasikhawsungmikarthaythxdaebbsmphnthkbephsinaemlngwnphlim 8 txma kh s 1913 xlefrd sturethaewnthsungepnnkeriynkhxngmxraeknidxasypraktkarnkhwamechuxmoyngkhxngphnthukrrmaesdngihehnwayineriyngtwknepnesnbnokhromosm 9 mxraeknsngektkarthaythxdlksnakarklayphnthuthiechuxmoyngkbephssungthaihaemlngwn Drosophila mitaepnsikhaw thaihsamarthtngsmmtithanidwayinxyubnokhromosm xnuphnthusastr aekikh aemcathrabaelwwayinxyubnokhromosm aetokhromosmkprakxbcakoprtinaeladiexnex nkwithyasastrcungyngimthrabwaswnprakxbidknaenbnokhromosmthithaihekidkarthaythxdlksna cn kh s 1928 efredxrikh kriffithcungphbpraktkarnkaraeplngphnthusungaebkhthieriythitayaelwsamarthsngsarphnthukrrmephuxaeplngphnthuaebkhthieriythiyngmichiwitxyuid caknn kh s 1944 xxswxld thioxdxr exewxri okhlin aemkhlixxd aelaaemkhlin aemkhkharthi phbwaomelkulthithaihekidkaraeplngphnthukhuxdiexnex 10 karthdlxngehxrchiy echsin kh s 1952 kaesdngihehnwadiexnexepnsarphnthukrrmkhxngiwrsthithaihekidkartidechuxinaebkhthieriy epnhlkthanxikxyangthisnbsnunwadiexnexepnomelkulthithaihekidkarthaythxdlksna 11 ecms di wtsn aelafransis khrik khnphbokhrngsrangkhxngdiexnexin kh s 1953 odyichnganexkseryphliksastrkhxngorsalind aefrngkhlinaelamxris wilkhinssungbngchiwadiexnexmiokhrngsrangepnekliyw 12 13 thngsxngesnxwadiexnexmiokhrngsrangepnekliywkhu misaydiexnexsxngsay niwkhlioxithdbnaetlasaychiekhahakn aelatrngknkbniwkhlioxithdthiepnkhuknbnxiksayhnung thaihmilksnakhlaybnidthibidepnekliyw 14 okhrngsrangniaesdngihehnwamikhxmulphnthukrrmxyuinrupkhxngladbniwkhlioxithdbnsaydiexnexaetlasay aelayngbngchiwadiexnexnacamiwithicalxngtwexngthieriybngay khuxhakaetlasayaeykxxkcakkn ksamarthsrangsaykhuknidihmcakladbniwkhlioxithdbnsaynn exngaemokhrngsrangkhxngdiexnexcathaihruthungklikkarthaythxdlksna aetwithithidiexnexsngphltxkarthangankhxngesllnnkyngimepnthithrab hlngcaknnnkwithyasastrphyayamthakhwamekhaicwadiexnexkhwbkhumkarphlitoprtinidxyangir txmacungkhnphbwaesllichdiexnexepnaebbphimphsahrbsrangemsesnecxrxarexnex omelkulthiprakxbcakniwkhlioxithd khlaydiexnex thitrngkn caknnladbniwkhlioxithdbnxarexnexcathukichsrangladbkrdxamion sungcaprakxbepnoprtin lksnakaraeplrhsrahwangniwkhlioxithdipepnkrdxamionnieriykwarhsphnthukrrmkarmikhwamekhaicekiywkbhlkkarthangomelkulkhxngkarthaythxdlksnathangphnthukrrmthaihmikarsuksawicytxyxdidxikepncanwnmak karkhnphbthisakhykhrnghnungkhuxkarphbwithikarhaladbdiexnexdwykarichladbhyudkhxngsaydiexnexodyefredxrik aesngekxremux kh s 1977 sungthaihnkwithyasastrsamarthxanladbniwkhlioxithdbnomelkuldiexnexid 15 caknn kh s 1983 aekhri aebngkhs mullis idphthnaptikiriyalukosphxliemxersthaihsamarthaeykaelaephimcanwnbriewnhnung khxngdiexnexcaksarphsmid 16 ethkhnikhehlanirwmthungethkhnikhxun thukphthnatxyxdcnekidepnokhrngkarcionmmnusyaelaokhrngkarexkchnkhxngeselracionmiksthaihsamarthhaladbcionmmnusythnghmdidsaercin kh s 2003 17 rupaebbkhxngkarthaythxdlksna aekikhkarthaythxdaebbaeykswnaelakdkhxngemnedl aekikh dubthkhwamhlkthi phnthusastrkhxngemnedl tarangaesdngkarphsmphnthurahwangtnthwsxngtnthimidxkepnsimwngaebbehethxorisks aesdngihehnkarthaythxdlksnakarmidxksimwng B aelasikhaw b inradbphunthannnkarthaythxdlksnakhxngsingmichiwitekidcaklksnasungmikaraeykepnswnchdecn eriykwayin 18 ekrekxr emnedlthisuksakaraebngaeyklksnatang khxngtnthw epnphukhnphblksnasungmikarthaythxdniepnkhnaerk 3 19 echninkarsuksalksnakarthaythxdsikhxngdxkthw emnedlsngektwadxkkhxngthwaetlatnmisikhawhruxmwng aetimmidxkthimisithixyutrngklangrahwangsxngsini lksnathiaetktangknchdecnkhxngyinediywknnieriykwaxllilinkrnitnthwsungepnsingmichiwitthimiokhromosmsxngchud aetlayinkhxngtnthwcamisxngxllil thiidrbkarthaythxdmacaktnthwphxaem 20 singmichiwithlaychnidrwmthngmnusykmiaebbaephnkarthaythxdlksnainrupaebbniechnkn singmichiwitthimiokhromosmsxngchud sungthngsxngxllilinyinediywknnnehmuxnkneriykwaepnhxomiskshruxepnphnthuaeththiolkhskhxngyinnn inkhnathisingmichiwitthiinyinediywknmixllilsxngaebbimehmuxnkn eriykwaepnehethxoriskshruxepnphnthuthangxllilthisingmichiwitidrbmanneriykwacionithphruxrupaebbphnthukrrm swnlksnathisngektidnneriykwafionithphruxrupaebbprakt emuxsingmichiwithnung mikhwamepnehethxorisksinyinhnung swnihyaelwxllilxnhnunginnncaepnlksnaednsungcaaesdngxxkmaepnfionithpkhxngsingmichiwitnn inkhnathixikxllilhnungcaepnlksnadxysungthukbdbngiwimaesdngxxk bangxllilmilksnaednaebbimsmburn odycaaesdngxxkepnfionithpthimilksnaphsmkn hruxmikhwamepnlksnaednrwmknodythngsxngxllilsamarthaesdngxxkphrxmknid 21 emuxsingmichiwitmikarsubphnthuaebbxasyephs lukcaidrbxllilcakphxaelaaemtn twlahnungxllilaebbsum lksnakarthaythxdaelakaraeykepnswnchdkhxngxllilechnnirwmeriykwakdkhxaerkkhxngemnedlhruxkdkaraeykepnswnchd sylksnaelakarbnthukkhxmul aekikh aephnphaphphngsawlisamarthichinkaraesdngaebbaephnkarthaythxdlksnakhxngorkhthangphnthukrrmid nkphnthusastrichsylksnaelaaephnphngtang inkarbnthukkhxmulekiywkbkarthaythxdlksna yintang mkthukaethnthidwytwxksrimkitw aelamkichekhruxnghmay inkaraesdngwayinnn epnyinpktitamthrrmchatisungimmikarklayphnthu eriykwaepnphnthupa 22 inkarsuksawicythiekiywkhxngkbkarphsmphnthuaelakarsubthxdephaphnthu odyechphaaemuxekiywkhxngkbkdkhxngemnedl mkeriykrunphxaemwaepnrun P parent aelarunlukeriykwarun F1 first filial emuxrun F1 milukxikkcaeriykwarun F2 second filial aephnphnginkarthanayphlthiekidcakkarphsmphnthuthiichbxychnidhnungkhuxtarangphnentnxkcakniinkarsuksawicythiekiywkhxngkborkhthangphnthukrrminmnusy nkphnthusastrmkichaephnphaphephddikriinkarxthibaykarthaythxdlksnathiepnorkhnn 23 odyaesdngihehnkarthaythxdlksnakhxngkhwamepnorkhinkhrxbkhrw ptismphnthrahwangyin aekikh khwamsungkhxngmnusynnepnlksnathiekidcakptismphnththisbsxnrahwangyinhlaytw khxmulemux kh s 1889 khxngfransis kaltnaesdngihehnthungkhwamsmphnthrahwangkhwamsungkhxnglukkbkhwamsungechliykhxngphxaem sungaemkhakhwamsungcamikhwamsmphnthkn aetkyngmikhwamaeprprwnxyu aesdngwasingaewdlxmepnpccysakhypccyhnungthikahndkhwamsungkhxngmnusy singmichiwithnung miyinhlayphnyin aelasahrbsingmichiwitthimikarsubphnthuaebbxasyephsnn yinehlanisamarthmikarcderiyngodyimkhuntxknid hmaykhwamwakarthaythxdxllillksnasiekhiywhruxsiehluxngkhxngemldthwcaimsmphnthknkbkarthaythxdlksnasimwnghruxsikhawkhxngdxkthw praktkarnnieriykwakdkhxthisxngkhxngemnedlhruxkdkarcderiyngxyangxisra nnkhuxaetlaxllilkhxngaetlayinsamarthekidmikarsbepliynrahwangphxaemidephuxihmithayaththimiswnphsmkhxnglksnahlay aebb aetbangyinkimidmikarcderiyngxyangxisra enuxngcakmikarechuxmoyngthangphnthukrrm sungcaklawtxip bangkhrnglksnahnung xacmiyinthithahnathikahndlksnann hlaytw echnthiphbindxkbluxayaemri Omphalodes verna sungmiyinthimixllilsungkahndsikhxngdxkepnsifahruxsimwng kbxikyinhnungsungmihnathikahndwadxkcamisihruxepnsikhaw hakphuchtnhnungmixllilsungkahndihmisikhawxyusxngxllil dxkimkcamisikhaw imwacamikarthaythxdkarkahndsimaepnsimwnghruxsifaktam ptikiriyarahwangyinechnnieriykwakarkhmkhamkhu sungyinthisxngnnmikarkhmyinaerkaebbkhamkhu 24 lksnathaythxdhlayxyangimidmilksnaaeykknchdecnehmuxnkarmidxksikhawhruxmwng aetmikhwamphsmklmkluntxenuxngknipechnkhwamsunghruxsiphiwkhxngmnusy lksnathaythxdechnnieriykwalksnathaythxdechingpriman epnphlthiekidcakkarkhwbkhumkhxngyinhlaytw 25 phlkhxngyinehlaniprbepliynipmakhruxnxydwypccycaksingaewdlxm radbthiphlkhxngyinmitxkarekidepnlksnanneriykwaxtraphnthukrrm 26 sungepnkhasmphthth odyinsphaphthisingaewdlxmmikhwamhlakhlaymak yinkcamikhwamsamarthinkarthaythxdlksnanxylngip twxyangechnkhwamsungkhxngmnusymikhwamsamarthinkarthaythxdlksnaxyuthi 89 sahrbinshrthxemrika aetinincieriysungprachakrmikarekhathungxaharaelabrikarsatharnsukhaetktangknmaknn khwamsamarthinkarthaythxdlksnakhwamsungkhxngyinxyuthiephiyng 62 ethann 27 phunthanthangomelkulkhxngkarthaythxdthangphnthukrrm aekikhdiexnexaelaokhromosm aekikh dubthkhwamhlkthi diexnex aela okhromosm okhrngsrangkhxngomelkuldiexnex ebsaetlakhucbkndwykarsrangphnthaihodrecnrahwangsaydiexnexthngsxngsay omelkulthiepnphunthankhxngyinkhuxkrddixxksiirobniwkhlixik hruxdiexnex prakxbkhuncaksayoskhxngniwkhlioxithdsichnid idaekxadinin A isotsin C kwanin G aelaithmin T khxmulthangphnthukrrmxyuinladbkhxngniwkhlioxithdehlani swnyinnnkprakxbcakladbniwkhlioxithdaelaeriyngtxknipinsaydiexnex 28 ykewnechphaaiwrssungbangchnidichxarexnexthikhlaydiexnexmakepnsarphnthukrrmaethndiexnex 29 odypktidiexnexmilksnaepnekliywkhu niwkhlioxithdaetlatwinsaydiexnexmikhucbechphaatwinsaydiexnexxiksay ody A cbkhukb T aela C cbkhukb G dngnnindiexnexsayhnung camikhxmulkhrbthwn sasxnkbsaythikhukn okhrngsrangechnniepnphunthanthangkayphaphkhxngkarthaythxdlksnathangphnthukrrm odykarthayaebbdiexnexcaepnkarthasakhxmulthangphnthukrrmodyaebngsaydiexnexthngsxngsayxxkcakkn sungaetlasaycaepnaemphimphsahrbsrangsaykhukhunihm 30 yincderiyngtwepnesntrngtamsayladbkhuebsdiexnex odyinaebkhthieriydiexnexehlanicaeriyngtwepnwngklmeriykwacionfxr khnathidiexnexkhxngsingmichiwityukharioxt rwmthungphuchaelastw caeriyngtwepnesntrnghlayxneriykwaokhromosm saydiexnexehlaniswnihycayawmak twxyangechnokhromosmthiyawthisudkhxngmnusymikhwamyawpraman 247 lankhuebs 31 diexnexinokhromosmcacbkboprtinokhrngrangsungcdraebiybaelakhwbkhumkaraesdngxxkkhxngdiexnexihekidepnruprangthieriykwaokhrmatin inesllyukharioxtnnokhrmatinmkprakxbdwyniwkhlioxosm odyswnkhxngdiexnexcaphnlxmoprtinhisotn 32 sarphnthukrrmthimikarthaythxdthnghmdkhxngsingmichiwit odythwipkhuxladbdiexnexthnghmdinthukokhromosm eriykrwmwacionmkhnathisingmichiwitbangchnidmiokhromosmchudediyw stwaelaphuchswnihymiokhromosmsxngchud thukokhromosmcamikhu aelayinthukyinmisxngchud 20 xllilthngsxngkhxngyinhnung caxyubnolkhsediywknkhxnghxmxolksokhromosm aetlaxllilidrbkarthaythxdmacakphxhruxaem aephnphaphkhxngwxlethxr eflmming ekhiynkhunemux kh s 1882 aesdngkaraebngesllkhxngesllyukharioxt mikarephimcanwnsa karcbtwaenn aelakareriyngtwkhxngokhromosm thaihemuxesllmikaraebngtw saenakhxngokhromosmcaaeykknipineslllukthiidcakkaraebngtw singmichiwithlaychnidmiokhromosmephs thahnathiphiessinkarkahndephskhxngsingmichiwitnn 33 inmnusyaelastweliynglukdwynmhlaychnidmiokhromosmwaysungmiyinthikratunkarecriykhxnglksnaephschay karwiwthnakarthaihokhromosmnisuyesiyokhrngsrangaelayinipmak inkhnathiokhromosmexksmikhnadkhlaykhlungkbokhromosmxun aelamiyinxyumakimtangkn okhromosmexksaelawaysungtangknmaknicacbkhuknkxnthiesllcamikaraebngtw karsubphnthu aekikh dubthkhwamhlkthi karsubphnthuaebbxasyephs aela karsubphnthuaebbimxasyephs emuxesllmikaraebngtw cionmthnghmdcathukkhdlxkaelaaebngiheslllukthngsxngeslllahnungcionm krabwnkarnieriykwaimothsis sungepnkarsubphnthuaebbngaythisudaelaepnphunthankhxngkarsubphnthuaebbimxasyephs sungphbidthnginsingmichiwitesllediywaelahlayesll thaihidthayathsungidrbcionmmacakrunkxnephiyngtwediyw thayathkhxngkarsubphnthuaebbimxasyephscamiphnthukrrmehmuxnrunkxnthukprakar aelaxaceriykwaokhlnsingmichiwityukharioxtmkxasykarsubphnthuaebbxasyephsephuxihidthayaththimiphnthukrrmphsmkncakphxaem krabwnkarniinsingmichiwitthimiokhromosmhnungchudaelathimiokhromosmsxngchudmikhwamaetktangkn odyesllsungmiokhromosmchudediywcarwmknaelanasarphnthukrrmmarwmknidepnesllsungmiokhromosmsxngchud swnsingmichiwitthimiokhromosmsxngchudcasrangesllsungmiokhromosmchudediywodykaraebngtwepnsxngesllodyimmikarthasachuddiexnex ephuxsrangeslllukthiidrbokhromosmcakphxaemtn twlahnungokhromosmaebbsum swnihykhxngwngcrchiwitstwaelaphuchswnmakmiesllthimiokhromosmsxngchud odymichwngchiwitthiepnesllthimiokhromosmchudediywechphaaesllsubphnthuxyangsepirmaelaikhethannaebkhthieriybangchnidmiwithithaihidrupaebbphnthukrrmihmodyimichkarsubphnthuaebbxasyephsxyangesllthimiokhromosmchudediywhruxsxngchudthiklawmakhangtn aetichwithikarcbkhuephuxsngchinswnwngklmdiexnexkhnadelkipihaebkhthieriyxiktwhnung nxkcakniyngsamarthrbexachinswndiexnexthilxyxyuinsingaewdlxmekhamaincionmkhxngtwexngid krabwnkarnieriykwakaraeplngphnthu krabwnkarechnnithaihekidkarthaythxdyininaenwrab sungepnkarsngchinswnkhxngkhxmulphnthukrrmrahwangsingmichiwitthiimidmiptismphnthuhruxmikhwamekiywkhxngkn karrwmihmaelakarechuxmoyng aekikh dubthkhwamhlkthi karikhwepliynkhxngokhromosm aela khwamechuxmoyngkhxngphnthukrrm phaphwad kh s 1916 khxngothms hnth mxraekn aesdngthungkarikhwepliynrahwangokhromosm karthisingmichiwitmiokhromosmsxngchudthaihmioxkasekidkaraeykkhuyinxyangxisrarahwangkarsubphnthuaebbxasyephs thaihmikarrwmyinkhunepnrupaebbihm tamthvsdiaelwyinkhxngokhromosmediywknnnimxacmarwmihmknidhakimmikrabwnkarkarikhwepliynrahwangokhromosm sungrahwangkarikhwepliynniokhromosmcamikaraelkepliynchinswnkhxngdiexnexsungknaelakn thaihmikarsbepliynxllilrahwangokhromosm 34 odykarikhwepliynkhxngokhromosmniswnihyekidrahwangkaraebngesllaebbimoxsisephuxihidesllluksungmiokhromosmhnungchudkhwamnacaepnthicaekidmikarikhwepliynkhxngokhromosmrahwangcudsxngcudbnokhromosmsmphnthkbrayathangrahwangsxngcudnn klawkhuxemuxyinbncudsxngcudxyuhangknradbhnung oxkaskhxngkarikhwepliyncamakcnthuxidwakarthaythxdyinnnimmikhwamsmphnthknhruxmioxkasthukthaythxdipdwyknnxymak swnyinthixyuiklknnnmioxkasekidkarikhwepliynta lksnaechnnieriykwakhwamechuxmoyngkhxngphnthukrrm xllilkhxngyinthngsxngmioxkassungthicathukthaythxdipdwykn primankhxngkhwamechuxmoyngknrahwangyinchudhnungsamarthnamasrangepnaephnthiechingesnkhxngkhwamechuxmoyngsungxthibaykarcderiyngtwkhxngyinkhraw bnokhromosmid 35 karaesdngxxkkhxngyin aekikhrhsphnthukrrm aekikh dubthkhwamhlkthi rhsphnthukrrm rhsphnthukrrm rhscakdiexnexcathukthxdxxkmaepnoprtinphanexmxarexnexdwyrhschudsam yinswnihythanganodykaraesdngxxkphankarphlitoprtinsungepnomelkulthisbsxnaelathahnathiswnihyinesll oprtinprakxbdwykrdxamionthitxknepnsayos sungladbkrdxamionnithukkahndodyladbdiexnexbnyinthisrangoprtinnn xxkmaphantwklangxarexnex krabwnkarerimcakkarsrangomelkulxarexnexthimiladbebstrngknkbladbdiexnexinyin krabwnnieriykwakarthxdrhsomelkulxarexnexnarhs exmxarexnex nicathukichsrangladbkrdxamioxthitrngknphankrabwnkarthieriykwakaraeplrhs sungniwkhlioxithdchudla 3 tweriykwaokhdxncatrngknkbkrdxamionchnididchnidhnunginyisibchnidaelakhasngpidthayladbkrdxamion khwamtrngknnieriykwarhsphnthukrrm 36 khxmulcathuksngtxinthisthangediyw cakladbniwkhlioxithdipepnladbkrdxamionkhxngoprin aetimmikarsngkhxmulcakoprtinklbmaepnladbdiexnex krabwnkarnifransis khrikeriykwa khwamechuxhlkkhxngxnuchiwwithya 37 krdxamionthiepliynipephiyngtwediywthaihhiomoklbinsrangtwepnesniykhunid ladbkrdxamionthiidcathuksrangepnokhrngsrangsammitikhxngoprtin sungokhrngsrangthiepnsammitinicamikhwamsmphnthkbhnathikhxngoprtinnn 38 39 oprtinbangchnidepnomelkulthimiokhrngsrangeriybngay echn esniythisrangcakoprtinkhxllaecn oprtinsamarthcbkboprtinxunaelaomelkulxyangngayxun id bangchnidthahnathiepnexnismsungmiswninptikiriyaekhmiinomelkulthiipcbodyimmikarepliynaeplngokhrngsrangkhxngoprtinexng okhrngsrangkhxngoprtinnnmikarepliynaeplngid echnoprtinhiomoklbininrupaebbtang kncamiruprangthiepliynipelknxy ephuxchwyinkarcbyud khnsng aelaplxyomelkulxxksiecnineluxdkhxngstweliynglukdwynmkarepliynipkhxngniwkhlioxithdephiyngtwediywindiexnexsamarththaihekidkarepliynaeplngkhxngladbkrdxamioninoprtinid cakkarthiokhrngsrangoprtinnnekidcakladbkrdxamion dngnnkarepliynaeplngkhxngladbkrdxamionbangaebbxacepliynkhunsmbtikhxngoprtinnn id xacodykarthaihokhrngsrangsuyesiykhwamesthiyripimsamarthkhngrupxyuid hruxepliynphunphiwkhxngoprtinthaihmiptikiriyakboprtinhruxomelkulxunepliynaeplngip echn orkheluxdcangaebbmiemdeluxdaedngrupekhiywepnorkhphnthukrrmchnidhnunginmnusysungekidcakkarepliynaeplngkhxngebskhuediywinbriewnthimikarthxdrhsxxkmaepnebtaoklbinsungepnswnprakxbkhxnghiomoklbin thaihmikarepliynaeplngkhxngkrdxamiontwhnungcnsmbtithangkayphaphkhxnghiomoklbinepliynaeplngip 40 hiomoklbininphupwyorkhnicacbknexng kxtwepnesniy thaihemdeluxdaedngthimioprtinthiphidpktinimiruprangepliynaeplngipmiruprangkhlayekhiyw emdeluxdaedngthimiruprangepliynipniihlphanhlxdeluxdidimdiethaemdeluxdaedngpkti thaihmioxkasekidkarxudtnhruxaetkslay ekidepnxakarthismphnthkborkhdngklawyinbangtwthxdrhsxxkmaepnxarexnexaetimmikaraeplrhsxxkmaepnoprtin xarexnexehlanieriykwanxn okhdding xarexnex hruxxarexnexthiimmikarxanrhs xarexnexehlanibangkhrngcacdruprangtwexngepnokhrngsrangthithahnathisakhyinesll echn xarexnexirobosm aelaxarexnexthayoxn nxkcaknixarexnexyngxacmihnathiinkarkhwbkhumkaraesdngxxkthangphnthukrrmodyptikiriyacbtwphsmkbxarexnexxun echn imokhrxarexnex thrrmchatiaelakareliyngdu aekikh aemwithymikarklayphnthuaebbtxbsnxngtxxunhphumisungsngphltxkarsrangemdsi aemkhxmulkarthahnathikhxngswnprakxbtang khxngsingmichiwitcathukbrrcuxyuinyin singaewdlxmkyngmibthbathsakhyinkarthaihekidlksnathiaesdngxxkepnphlsudthay praktkarnechnnimkthukeriykchuxwaptismphnthrahwangthrrmchatiaelakareliyngdu xngkvs nature versus nurture lksnapraktkhxngsingmichiwitkhunkbptismphnthrahwangphnthukrrmaelasingaewdlxm twxyangechnkarklayphnthuthikhunkbxunhphumi bxykhrngthikarmikrdxamionepliyniphnungtaaehnngimidepliynhnathikhxngoprtin aetthaihoprtinnnkhadkhwamesthiyr inphawathimixunhphumisung omelkulmiphlngnganmak thaihekhluxnthierw chnknbxykhrngmakkhun thaihoprtinsuyesiyokhrngsrangaelaimsamarththahnathitampktiid odyinphawathimixunhphumitakwaokhrngsrangkhxngoprtincaesthiyraelasamarththahnathiidtampkti karklayphnthuechnniphbidinkarekidsikhxngaemwithy sungmikarklayphnthuekidkhuninexnismthithahnathisrangemdsi odycathaihoprtinniimesthiyraelathahnathiimidinphawathimixunhphumisung 41 inkhnathioprtinniyngthahnathiidpktiinbriewnrangkaykhxngaemwswnthimixunhphumitakwa echn kha hu hang aelaibhna thaihaemwithymirangkaybangswnepnsidaaelabangswnepnsikhawdngthiehnsingaewdlxmyngmibthbathmakinkarekidphlkhxngorkhthangphnthukrrminmnusyxyangfinilkhiotnueriy 42 sungkarklayphnthuthiekidinphupwycathaihimsamarthyxyslaykrdxamionfinilxalaninid thaihekidkarsasmkhxngsartwklangsungepnphis ekidepnxakartang thiphbinphupwy echnstipyyaphthnacha hruxchkid hakphupwyorkhniimkinxaharthimikrdxamionni kcaimmixakarid withikarhnungthiepnthiniyminkarsuksawathrrmchatiaelakareliyngdumiphlmaknxyephiyngidkhuxkarsuksainaefdehmuxnaelaaefdtang thngniaefdehmuxnnnekidmacakeslltwxxnaerkerimxnediywkn cungmilksnathangphnthukrrmehmuxnknthukprakar inkhnathiaefdtangnnmiphnthukrrmaetktangkn ehmuxnkbphinxngthrrmdathwip karepriybethiybwaaefdaetlakhumikarekidorkhhnung hruximxyangir cathaihnkwithyasastrsamarthsrupidwathrrmchatihruxkareliyngdumiphlmaknxykwaknxyangir twxyanghnungthiichwithikarsuksainlksnanisungmichuxesiyngmakkhuxkarsuksainaefdsicienn sungepnaefdehmuxnsikhn idrbkarwinicchyepnorkhcitephththnghmd 43 karkhwbkhumkaraesdngxxkkhxngyin aekikh dubthkhwamhlkthi karkhwbkhumkaraesdngxxkkhxngyin singmichiwithnung xacmiyinhlayphnyin aetimidaesdngxxkthnghmdphrxm kn yinaetlayincaaesdngxxkktxemuxkalngmikarthxdrhsepnexmxarexnexethann odymikrabwnkarinesllthikhwbkhumkaraesdngxxkkhxngyinxyuhlaywithiephuxihmikarphlitoprtinemuxeslltxngkarichoprtinnn ethann pccykarthxdrhshruxthranskhripchnaefkhetxrepnoprtinkhwbkhumsungcbkbtaaehnngerimtnkhxngyin thahnathikratunhruxybyngkarthxdrhsyinnn 44 twxyangechn incionmkhxng Escherichia coli miyincanwnhnungsungcaepninkarsngekhraahkrdxamionthripotefn aetinsphaphaewdlxmthimithripotefnephiyngphxxyuaelw yinsungchwyinkarsngekhraahthripotefnnikimmikhwamcaepn karmithripotefncasngphltxkarthahnathikhxngyinodytrngodyomelkulkhxngthripotefncacbkbthripotefnriephrsesxrsungepnpccykarthxdrhstwhnung thaihokhrngsrangkhxngriephrsesxraepliynaeplngipcnipcbkbyin ybyngkarthxdrhsaelakaraesdngxxkkhxngyinnn thuxepnkarkhwbkhumodykarpxnklbthanglbkhxngkrabwnkarsngekhraahkrdxamionthripotefn 45 pccykarthxdrhscbkbdiexnex sngphltxkarthxdrhskhxngyinnn khwamaetktanginkaraesdngxxkkhxngyinnnehnidchdecninsingmichiwithlayesll sungthukesllkhxngsingmichiwitnn micionmthiehmuxnknaettwesllklbmiokhrngsrangaelahnathithiaetktangknenuxngcakmikaraesdngxxkkhxngyinkhnlachudkn esllthukesllkhxngsingmichiwithlayesllmacakeslltngtnephiyngesllediywsungecriyepnesllchnidtang hlakhlaytamkartxbsnxngtxsyyanphayinesllaelakhxy srangrupaebbkarkhwbkhumkaraesdngxxkkhxngyinthiaetktangknephuxihmihnathikhxngeslltang kn thngniimmiyinediyw yinidyinhnungthirbphidchxbkarecriyepnokhrngsrangkhxngesllkhxngsingmichiwithlayesll aetepnrupaebbthiekidcakptikiriyaxnsbsxnkhxngesllaelayincanwnmakinesllyukharioxtcamikhwamphiesskhxngokhrngsrangokhrmatinsungmiswninkarkhwbkhumkarthxdrhsyin sungswnihyxasykarepliynaeplngkhxngdiexnexaelaokhrmatinthixyuinphawaesthiyraelasamarththaythxdipyngeslllukid 46 lksnaechnnieriykwakarkhwbkhumaebbxiphiecentiks ehnuxphnthukrrm ephraaepnkarkhwbkhumthixyunxkehnuxladbdiexnexaelasamarththaythxdcakesllrunhnungipsuxikrunhnung caklksnaehnuxphnthukrrmechnniexngthaiheslltangchnidknthiephaaeliynginxaharephaaeliyngsamarthkhngkhunsmbtithiaetktangknexaiwid aemlksnaehnuxphnthukrrmechnnimkmikarepliynaeplngipinaetlachwngkhxngkarecriy aetlksnabangxyangechnpraktkarnkarklayphnthukhangekhiyngkmikarthaythxdkhamrunidaelathuxepnkhxykewnkhxngkdthwipthimixyuimmaknkinkarthaythxdlksnathangphnthukrrmkhxngdiexnex 47 karepliynaeplngthangphnthukrrm aekikhkarklayphnthu aekikh dubthkhwamhlkthi karklayphnthu karthasakhxngyinthaihekidkhwamehluxefuxkhunmaid odyyinxnhnungxacklayphnthucnsuyesiyhnathiipid odyimthaihekidxntraykbsingmichiwitnn rahwangkarthayaebbdiexnexnnxacekidkhwamphidphladrahwangkartxsaydiexnexsaythisxng khwamphidphladnieriykwakarklayphnthu odypktiaelwxtrakarekidkhwamphidphladnnmitamakthipraman 1 khrnginthuk 10 100 lanebs enuxngcakinexnismdiexnexophliemxersthithahnathiinkrabwnkarthayaebbdiexnexnnmikrabwnkartrwcthanxyu 48 49 hakimmikrabwnkartrwcthannixtrakarekidkhwamphidphladxacephimkhunepnphnetha dngnniwrssungichexnismdiexnexhruxxarexnexophliemxersthiimmikartrwcthancungekidkarklayphnthuidmak singidthiephimxtrakarekidkhwamphidphladinkarthayaebbdiexnexeriykwasarkxklayphnthu sungsarekhmithiepnsarkxklayphnthucathaihkarthayaebbdiexnexmikhwamphidphladmakkhun swnihyekidcakkarrbkwnokhrngsrangkhxngkarcbkhuebs inkhnathirngsixltraiwoxeltnnkxkarklayphnthuodykarthalayokhrngsrangdiexnexodytrng 50 inthrrmchatikmisarekhmithalayokhrngsrangdiexnexxyuenuxng aetesllmikliksxmaesmdiexnexxyusungsxmaesmdiexnexthicbkhuphidaelasayaetkid xyangirkdikrabwnkarsxmaesmehlanibangkhrngkyngimsamarthkhunladbdiexnexihehmuxnedimidinsingmichiwitthixasykarikhwepliynkhxngokhromosmephuxihmikaraelkepliyndiexnexaelayinihmnn khwamphidphladinkrabwnkarnirahwangkaraebngesllaebbimoxsisksamarththaihekidkarklayphnthuid 51 khwamphidphladinkarsxnthbknkhxngokhromosmnnmkekidintaaehnngthimiladbsarphnthukrrmkhlaykhlungkn thaihokhromosmthisxnthbknnnmikarcderiyngthiphidip dngnnbangbriewnkhxngcionmcungmioxkasekidkarklayphnthumakkwabriewnxun khwamphidphladehlanimkthaihekidkarepliynaeplngokhrngsrangladbdiexnexthimikhnadihy echn karthasa karphlikklb hruxkarhludhay khxngbriewnidbriewnhnungthngbriewn hruxekidkaraelkepliynchinswnthngchinkhxngokhromosmkhnlatw eriykwa karsbepliyn karkhdeluxkodythrrmchatiaelawiwthnakar aekikh dubthkhwamhlkthi wiwthnakar aela karkhdeluxkodythrrmchati karklayphnthuthaihsingmichiwitmicionithpepliynaeplngip sungkarepliynaeplngnibangkhrngthaihfionithpepliynaeplngipdwy karklayphnthuswnihymiphlephiyngelknxytxfionithp sukhphaph aelakhwamsamarthinkarsubthxdephaphnthukhxngsingmichiwit karklayphnthuthithaihekidkarepliynaeplngnnswnihythaihmiphlesiytxsingmichiwit aetbangkhrngkxacthaihekidphldi karsuksawicykhrnghnungthakbaemlngwn Drosophila melanogaster esnxwahakkarklayphnthunnthaihekidkarepliynaeplngkhxngoprtinthisrangcakyinnn karklayphnthuechnni 70 caepnphlesiy swnthiehluxxacmiphldielknxyhruximmiphlid 52 aephnphumiwiwthnakarkhxngsingmichiwityukharioxt epriybethiybcakladbyinthismkn wichaphnthusastrprachakrnnsuksaekiywkbkhwamhlakhlaykhxngkhwamaetktangthangphnthukrrminprachakraelakarepliynaeplngkhxngkhwamhlakhlayniemuxewlaphanip 53 swnihyaelwkarthikhwamthikhxngxllilinprachakrepliynipnnekidcakkarkhdeluxkodythrrmchati sungsingmichiwitthimixllilhnungmioxkasrxdchiwitaelasubthxdephaphnthumakkwasingmichiwitthimixllilxun 54 nxkcakni yngmipccythisngphltxkarepliynaeplngkhxngkhwamthikhxngxllilxunxik echn khwamimaennxnthangphnthukrrm karkhdeluxkodyimepniptamthrrmchati aelakaryaythin 55 cionmkhxngsingmichiwithnung xacepliynipidmakemuxphaniphlayrun thaihekidsingthieriykwawiwthnakar karkhdeluxkkarklayphnthuthiepnpraoychnsamarththaihsingmichiwitspichishnung wiwthnakaripcnmikhwamsamarthinkarxyurxdinsingaewdlxmdikhun eriykwakarprbtw 56 spichisihmekidcakkrabwnkarkarekidsayphnthuihm swnihymkepnphlcakkaraebngaeykcakphumisastrthithaihprachakrkhxngsingmichiwitediywknimmioxkasaelkepliynyinsungknaelakn 57 odywichathinaexahlkkarthangphnthusastrmaichinkarsuksachiwwithyaprachakraelawiwthnakareriykwakarsngekhraahwiwthnakarsmyihmkarepriybethiybyinthiehmuxnknincionmkhxngsingmichiwittangchnidknxacchwyihphuwicysamarthkhanwnrayahangkhxngkarwiwthnakarkhxngsingmichiwitid aelaxackhanwnidwasingmichiwitnn erimmisaywiwthnakaraeykxxkcakknemuxir eriykwanalikaomelkul 58 odythwipmkthuxwakarepriybethiyblksnathangphnthukrrmkhxngsingmichiwitnnsamarthyunynkarmikhwamsmphnthiklchididnaechuxthuxkwakarepriybethiyblksnapraktkhxngsingmichiwit rayahangkhxngkarwiwthnakarkhxngsingmichiwitaetlachnidcasamarthnamasrangepnaephnphumitnimwiwthnakarsungaesdngihehnthungbrrphburusrwmkhxngsingmichiwitaetlachnidaelakaraetkxxkepnspichistang xyangirkdikarepriybethiybnicaimaesdngihehnthungkarthaysarphnthukrrmrahwangsingmichiwitkhnlachnidknid eriykwakarthaythxdyininaenwrab phbbxyinaebkhthieriy ethkhonolyiaelakarsuksawicy aekikhsingmichiwittnaebb aekikh aemlngwnphlim Drosophila melanogaster epnsingmichiwittnaebbthiepnthiniyminkarsuksawicythangphnthusastr aeminchwngaerkerimnnnkphnthusastrcathakarsuksawicyinsingmichiwithlaychnid aettxmakhwamrukhwamekhaicinphnthukrrmkhxngsingmichiwitbangchnidkmikartxyxdmakkhun thaihmikarsuksawicyinsingmichiwitnn epncanwnmak emuxmicanwnphlkarsuksawicyinsingmichiwitchnidhnungepncanwnmak nkwicyrunihmcungniymthakarsuksawicytxyxdinsingmichiwitnn cnmisingmichiwittnaebbephiyngimkichnidthiepnphunthankhxngkarsuksawicythangphnthusastrinthisud 59 hwkhxthiepnthiniyminkarthakarsuksawicykbsingmichiwittnaebb idaek karsuksaekiywkbkarkhwbkhumkaraesdngxxkkhxngyinaelabthbathkhxngyininkarekidruprangaelakarekidmaerng epntnsaehtuthithaihsingmichiwitbangchnidepnthiniymsuksawicymakkwasingmichiwitxunsaehtuhnungkhuxkhwamsadwk karthisingmichiwithnung mirayaewlainkarsubthxdephaphnthucakrunsurunsn aelasamarthmikrabwnkaraethrkaesngthangphnthukrrmidngay thaihsingmichiwitnnepnthiniymichepnekhruxngmuxsuksawicythangphnthusastr singmichiwittnaebbthiepnthiniymichaephrhlayechn aebkhthieriy Escherichia coli phuch Arabidopsis thaliana yistkhnmpng Saccharomyces cerevisiae hnxn Caenorhabditis elegans aemlngwnphlim Drosophila melanogaster aelahnu Mus musculus epntn karaephthy aekikh ewchphnthusastrepnkarsuksakhwamsmphnthrahwangkhwamaetktangthangphnthukrrmkbsukhphaphaelaorkhkhxngmnusy 60 inkarhayinthixacthaihekidorkh phuwicycaichhlkkhxngkarechuxmoyngthangphnthukrrmaelaaephnphaphphngsawliinkarhataaehnngbncionmthismphnthkborkh sungxacepnsaehtukhxngorkh inkarsuksawicyradbprachakr phuwicysamarthichhlkkarsumaebbemnedlinkarhataaehnngbncionmthismphnthkborkhid sungcaehnpraoychnchdecninorkhthimiyinthiekiywkhxngcanwnmak sungimsamarthrabuyinediyw thikxorkhid 61 emuxphbyinthixacepnyinkxorkhaelw camikarsuksawicytxkbyinthikhlaykninsingmichiwittnaebb nxkcakkarsuksaekiywkborkhphnthukrrmaelw yngmikarsuksaekiywkbephschphnthusastrsungsuksawalksnathangphnthukrrmsngphltxkartxbsnxngtxyaxyangir thngniepnphlcakkarthiethkhonolyiinkarsuksarupaebbphnthukrrmnnekhathungidngaykhun 62 nxkcakniyngmikarphthnakhwamekhaicekiywkbkhwamsmphnthrahwangphnthukrrmkbmaerngmakkhun pccubnepnthithrabknwaaetlakhnidrbthaythxdoxkasthicaekidmaerngmaimethakn 63 aelamaerngexngkepnorkhthiphnthukrrmekhamamiswnekiywkhxngmakorkhhnung 64 karcaekidmimaerngkhuninrangkayidnntxngmiehtukarnhlay xyangekidkhunsxdkhlxngkn odyemuxesllmikaraebngtw kmioxkasthicaekidkarklayphnthukhun aemkarklayphnthuehlanicaimidrbkarthaythxdipyngrunthdipaetkxacthaihesllthiklayphnthumikarthahnathiepliynaeplngipid bangkhrngxacthaihesllthiklayphnthumikaraebngtwmakekinpkti sunginrangkaycamiklikthikhxyhyudkrabwnkarechnnixyuodykarsngsyyanipyngesllthiaebngtwmakekinpktiihkratunkrabwnkarthalaytwexng aetbangkhrngkmikarklayphnthuekidkhunthitaaehnngxunthithaihesllnn imtxbsnxngtxsyyanni krabwnkarkhdeluxktamthrrmchaticadaeniniptlxdewlathaihkarklayphnthusasminesllbangesll tamdwykaraebngtwmakphidpktixyangkhwbkhumimid aelaklayepnesllmaerng sungcaaebngtwephimklayepnenuxngxkmaerngaelaaephrkracayipyngswnxun khxngrangkayinthisud withikarsuksawicy aekikh nkwicysamarthddaeplngdiexnexidinhxngptibtikar odyxacichexnismtdcaephaainkartdchinswndiexnexintaaehnngladbsungmikhwamcaephaa thaihsamarthsrangchinswnkhxngdiexnexsungsamarthkhadedaidwacamiladbepnxyangir 65 chinswnkhxngdiexnexnisamarththaihmxngehniddwytaphankrabwnkaraeykthangiffaodyichecl sungcaaeykchinswndiexnextang xxkcakkntamkhwamyawkhxngchinswnaetlachinchinswndiexnexsamarthnamatxkniddwyexnismtxechuxm aelacakkarthinkwicysamarthnachinswndiexnexcakhlay aehlngthinamatxekhadwyknnn thaihsamarthsrangdiexnexlukphsmkhunmaid sungmikhwamsakhykbkartdtxphnthukrrm nxkcakcaichinkarsrangsingmichiwitddaeplngphnthukrrmaelw yngepnkhntxnsakhyinkarsrangphlasmid diexnexrupwngklmkhnadelk thimiyincanwnimmak nkwicysamarthisphlasmidthisrangkhunekhaipinaebkhthieriy aelaephaaphnthuephimcanwnokhlnkhxngaebkhthieriythimiphlasmidnixyu thaihsamarthephimcanwnchinswndiexnexthiisiwniiddwykrabwnkarnisungeriykwakarokhlnechingomelkul okholnikhxng E coli bncanephaaechuxwunexkar epntwxyanghnungkhxngkarokhlnsingmichiwitesllediyw sungepnkhntxnhnungkhxngkarokhlnomelkul nxkcakniyngsamarthephimcanwndiexnexphankrabwnkarptikiriyalukosphxliemxers PCR iddwy 66 odysamarthephimcanwnechphaabriewnhnung khxngdiexnexidinxtrakawhnaaebbexksophennechiyl sungcakthi PCR samarthephimcanwndiexnexcaktwxyangthixacmiprimannxymak idniexng thaihmkthukichinkartrwchawatwxyangthisnicnnmiladbdiexnexhnung thitxngkarhruxim karhaladbdiexnexaelacionmiks aekikh karhaladbdiexnexepnethkhonolyisungepnhnunginrakthansakhythisudinkarsuksaphnthusastr epidoxkasihphuwicysamarthhaladbkhxngniwkhlioxithdinsaydiexnexid ethkhnikhniphthnakhunin kh s 1977 odyefredxrik esngekxraelakhna pccubnethkhnikhkarhaladbdiexnexodyichkarhyudkartxosidklayepnethkhnikhthiichknthwipinkarhaladbdiexnex 67 dwyethkhonolyinithaihnkwicysamarthkhnphbphnthukrrmthismphnthkborkhinmnusymaaelwmakmayemuxethkhnikhinkarhaladbdiexnexmikhaichcayldlngeruxy cungmikarhaladbdiexnexthngcionmkhxngsingmichiwithlay chnid odyichkhxmphiwetxrrwbrwmladbdiexnexcaksaysn hlay say sungepnkrabwnkarthieriykwakarprakxbcionm 68 txmacungmikarnaethkhonolyiehlanimaichinkarhacionmmnusy cnokhrngkarcionmmnusysaercin kh s 2003 17 ethkhonolyiihm xyangkarhaladbdiexnexprimanmakthaihkhaichcayinkarhaladbdiexnexldlngipxik odymiphuwicyphyayamphthnaihkarhacionmmnusymikhaichcayldlnginradbhlkphndxllarshrth 69 cakkarthimikhxmulladbphnthukrrmprimanmakcungerimmikarphthnasastrihmxyangcionmikssungichkhxmphiwetxrinkarkhnhaaelawiekhraahrupaebbthimixyuincionmkhxngsingmichiwit odyepnaekhnngwichayxykhxngchiwsarsneths sungichkhxmphiwetxraelakhnitsastrinkarwiekhraahkhxmulthangchiwwithyaprimanmhasalidduephim aekikhchiwekhmi xnuchiwwithya lksnathangphnthukrrmxangxing aekikh Lamarck J B 2008 In Encyclopaedia Britannica Retrieved from Encyclopaedia Britannica Online on 16 March 2008 Peter J Bowler The Mendelian Revolution The Emergency of Hereditarian Concepts in Modern Science and Society Baltimore Johns Hopkins University Press 1989 chapters 2 amp 3 3 0 3 1 Blumberg Roger B Mendel s Paper in English genetics n Oxford English Dictionary 3rd ed Bateson W Letter from William Bateson to Alan Sedgwick in 1905 The John Innes Centre subkhnemux 15 March 2008 genetic adj Oxford English Dictionary 3rd ed Bateson W 1907 The Progress of Genetic Research in Wilks W b k Report of the Third 1906 International Conference on Genetics Hybridization the cross breeding of genera or species the cross breeding of varieties and general plant breeding London Royal Horticultural Society Moore John A 1983 Thomas Hunt Morgan The Geneticist Integrative and Comparative Biology 23 855 doi 10 1093 icb 23 4 855 Sturtevant AH 1913 The linear arrangement of six sex linked factors in Drosophila as shown by their mode of association PDF Journal of Experimental Biology 14 43 59 Avery OT MacLeod CM McCarty M 1944 STUDIES ON THE CHEMICAL NATURE OF THE SUBSTANCE INDUCING TRANSFORMATION OF PNEUMOCOCCAL TYPES INDUCTION OF TRANSFORMATION BY A DESOXYRIBONUCLEIC ACID FRACTION ISOLATED FROM PNEUMOCOCCUS TYPE III The Journal of experimental medicine 79 2 137 58 doi 10 1084 jem 79 2 137 PMC 2135445 PMID 19871359 Reprint Avery OT Macleod CM Mccarty M 1979 Studies on the chemical nature of the substance inducing transformation of pneumococcal types Inductions of transformation by a desoxyribonucleic acid fraction isolated from pneumococcus type III The Journal of experimental medicine 149 2 297 326 doi 10 1084 jem 149 2 297 PMC 2184805 PMID 33226 Hershey AD Chase M 1952 Independent functions of viral protein and nucleic acid in growth of bacteriophage The Journal of general physiology 36 1 39 56 doi 10 1085 jgp 36 1 39 PMC 2147348 PMID 12981234 Judson Horace 1979 The Eighth Day of Creation Makers of the Revolution in Biology Cold Spring Harbor Laboratory Press pp 51 169 ISBN 0 87969 477 7 Unknown parameter middle ignored help Watson J D Crick FH 1953 Molecular Structure of Nucleic Acids A Structure for Deoxyribose Nucleic Acid PDF Nature 171 4356 737 8 doi 10 1038 171737a0 PMID 13054692 Watson J D Crick FH 1953 Genetical Implications of the Structure of Deoxyribonucleic Acid PDF Nature 171 4361 964 7 doi 10 1038 171964b0 PMID 13063483 Sanger F Nicklen S Coulson AR 1977 DNA sequencing with chain terminating inhibitors Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 74 12 5463 7 doi 10 1073 pnas 74 12 5463 PMC 431765 PMID 271968 Saiki RK Scharf S Faloona F Mullis KB Horn GT Erlich HA Arnheim N 1985 Enzymatic amplification of beta globin genomic sequences and restriction site analysis for diagnosis of sickle cell anemia Science 230 4732 1350 4 doi 10 1126 science 2999980 PMID 2999980 17 0 17 1 Human Genome Project Information Human Genome Project subkhnemux 15 March 2008 Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Patterns of Inheritance Introduction An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Mendel s experiments An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help 20 0 20 1 Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Mendelian genetics in eukaryotic life cycles An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Interactions between the alleles of one gene An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Cheney Richard W Genetic Notation subkhnemux 18 March 2008 Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Human Genetics An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Gene interaction and modified dihybrid ratios An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Mayeux R 2005 Mapping the new frontier complex genetic disorders The Journal of clinical investigation 115 6 1404 7 doi 10 1172 JCI25421 PMC 1137013 PMID 15931374 Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Quantifying heritability An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Luke A Guo X Adeyemo AA Wilks R Forrester T Lowe W W Comuzzie AG Martin LJ Zhu X 2001 Heritability of obesity related traits among Nigerians Jamaicans and US black people International journal of obesity and related metabolic disorders 25 7 1034 41 doi 10 1038 sj ijo 0801650 PMID 11443503 Pearson H 2006 Genetics what is a gene Nature 441 7092 398 401 doi 10 1038 441398a PMID 16724031 Prescott L 1993 Microbiology Wm C Brown Publishers ISBN 0 697 01372 3 Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Mechanism of DNA Replication An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Gregory SG Barlow KF Mclay KE Kaul R Swarbreck D Dunham A Scott CE Howe KL Woodfine K 2006 The DNA sequence and biological annotation of human chromosome 1 Nature 441 7091 315 21 doi 10 1038 nature04727 PMID 16710414 Alberts et al 2002 II 4 DNA and chromosomes Chromosomal DNA and Its Packaging in the Chromatin Fiber Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Sex chromosomes and sex linked inheritance An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Nature of crossing over An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Linkage maps An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Berg JM Tymoczko JL Stryer L Clarke ND 2002 I 5 DNA RNA and the Flow of Genetic Information Amino Acids Are Encoded by Groups of Three Bases Starting from a Fixed Point Biochemistry 5th ed New York W H Freeman and Company CS1 maint multiple names authors list link Crick F 1970 Central dogma of molecular biology PDF Nature 227 5258 561 3 doi 10 1038 227561a0 PMID 4913914 Alberts et al 2002 I 3 Proteins The Shape and Structure of Proteins Alberts et al 2002 I 3 Proteins Protein Function How Does Sickle Cell Cause Disease Brigham and Women s Hospital Information Center for Sickle Cell and Thalassemic Disorders 11 April 2002 subkhnemux 23 July 2007 Imes DL Geary LA Grahn RA Lyons LA 2006 Albinism in the domestic cat Felis catus is associated with a tyrosinase TYR mutation Animal genetics 37 2 175 8 doi 10 1111 j 1365 2052 2005 01409 x PMC 1464423 PMID 16573534 MedlinePlus Phenylketonuria NIH National Library of Medicine subkhnemux 15 March 2008 Rosenthal David 1964 The Genain quadruplets a case study and theoretical analysis of heredity and environment in schizophrenia New York Basic Books ISBN B0000CM68FCheck isbn value invalid character help line feed character in title at position 24 help Brivanlou AH Darnell Je JE 2002 Signal transduction and the control of gene expression Science 295 5556 813 8 doi 10 1126 science 1066355 PMID 11823631 Alberts et al 2002 II 3 Control of Gene Expression The Tryptophan Repressor Is a Simple Switch That Turns Genes On and Off in Bacteria Jaenisch R Bird A 2003 Epigenetic regulation of gene expression how the genome integrates intrinsic and environmental signals Nature genetics 33 Suppl 245 54 doi 10 1038 ng1089 PMID 12610534 Chandler VL 2007 Paramutation from maize to mice Cell 128 4 641 5 doi 10 1016 j cell 2007 02 007 PMID 17320501 Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Spontaneous mutations An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Freisinger E Grollman AP Miller H Kisker C 2004 Lesion in tolerance reveals insights into DNA replication fidelity The EMBO journal 23 7 1494 505 doi 10 1038 sj emboj 7600158 PMC 391067 PMID 15057282 Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Induced mutations An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Chromosome Mutation I Changes in Chromosome Structure Introduction An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Sawyer SA Parsch J Zhang Z Hartl DL 2007 Prevalence of positive selection among nearly neutral amino acid replacements in Drosophila Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 104 16 6504 10 doi 10 1073 pnas 0701572104 PMC 1871816 PMID 17409186 Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Variation and its modulation An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Selection An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Griffiths William M Miller Jeffrey H Suzuki David T Lewontin Richard C Gelbart b k 2000 Random events An Introduction to Genetic Analysis 7th ed New York W H Freeman ISBN 0 7167 3520 2 More than one of editor1 first aela editor first specified help Darwin Charles 1859 On the Origin of Species 1st ed London John Murray p 1 ISBN 0 8014 1319 2 Related earlier ideas were acknowledged in Darwin Charles 1861 On the Origin of Species 3rd ed London John Murray xiii ISBN 0 8014 1319 2 Gavrilets S 2003 Perspective models of speciation what have we learned in 40 years Evolution international journal of organic evolution 57 10 2197 215 doi 10 1554 02 727 PMID 14628909 Wolf YI Rogozin IB Grishin NV Koonin EV 2002 Genome trees and the tree of life Trends in genetics 18 9 472 9 doi 10 1016 S0168 9525 02 02744 0 Check doi value help PMID 12175808 The Use of Model Organisms in Instruction University of Wisconsin Wisconsin Outreach Research Modules subkhnemux 15 March 2008 NCBI Genes and Disease NIH National Center for Biotechnology Information subkhnemux 15 March 2008 Davey Smith G Ebrahim S 2003 Mendelian randomization can genetic epidemiology contribute to understanding environmental determinants of disease International journal of epidemiology 32 1 1 22 doi 10 1093 ije dyg070 PMID 12689998 Pharmacogenetics Fact Sheet NIH National Institute of General Medical Sciences subkhnemux 15 March 2008 Frank SA 2004 Genetic predisposition to cancer insights from population genetics Nature reviews Genetics 5 10 764 72 doi 10 1038 nrg1450 PMID 15510167 Strachan T Read AP 1999 Human Molecular Genetics 2 second ed John Wiley amp Sons Inc Chapter 18 Cancer Genetics Lodish et al 2000 Chapter 7 7 1 DNA Cloning with Plasmid Vectors Lodish et al 2000 Chapter 7 7 7 Polymerase Chain Reaction An Alternative to Cloning Brown TA 2002 Section 2 Chapter 6 6 1 The Methodology for DNA Sequencing Genomes 2 2nd ed Oxford Bios ISBN 1 85996 228 9 Brown 2002 Section 2 Chapter 6 6 2 Assembly of a Contiguous DNA Sequence Service RF 2006 Gene sequencing The race for the 1000 genome Science 311 5767 1544 6 doi 10 1126 science 311 5767 1544 PMID 16543431 aehlngkhxmulxun aekikhphnthusastr thiewbist Curlie phnthusastr sastraehngchiwit ithykudwildxtkhxmekhathungcak https th wikipedia org w index php title phnthusastr amp oldid 9442123, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม