fbpx
วิกิพีเดีย

ภาษาสเปน

ภาษาสเปน (español) หรือ ภาษากัสติยา (castellano) เป็นภาษาในกลุ่มภาษาโรมานซ์ หนึ่งในภาษาทางการ 6 ภาษาขององค์การสหประชาชาติ และภาษาที่มีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากที่สุดในโลกเป็นอันดับสองรองจากภาษาจีนกลาง รวมทั้งยังเป็นภาษาราชการขององค์การระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญอีกหลายองค์การอีกด้วย เช่น สหภาพยุโรป สหภาพแอฟริกา องค์การรัฐอเมริกา องค์การรัฐไอบีเรียอเมริกา ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ และสหภาพชาติอเมริกาใต้ เป็นต้น

ภาษาสเปน/ภาษากัสติยา
español/castellano
ออกเสียง[espaˈɲol]/
[kasteˈʎano], [kasteˈɟ͡ʝano]
ภูมิภาคอาร์เจนตินา, เบลีซ, โบลิเวีย, ชิลี, โคลอมเบีย, คอสตาริกา, คิวบา, เอกวาดอร์, เอลซัลวาดอร์, สเปน, ยิบรอลตาร์ (อังกฤษ), กัวเตมาลา, อิเควทอเรียลกินี, ฮอนดูรัส, เม็กซิโก, นิการากัว, ปานามา, ปารากวัย, เปรู, ปวยร์โตรีโก (สหรัฐฯ), สาธารณรัฐโดมินิกัน, อุรุกวัย และเวเนซุเอลา

ในกลุ่มคนส่วนน้อย:

อันดอร์รา, แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, ฟิลิปปินส์, โมร็อกโก, เวสเทิร์นสะฮารา และในหมู่ผู้อพยพลี้ภัยชาวเวสเทิร์นสะฮาราในแอลจีเรีย
จำนวนผู้พูดผู้พูดเป็นภาษาที่หนึ่ง: 329 ล้านคน
ผู้พูดเป็นภาษาที่หนึ่งหรือสอง: 500 ล้านคน  (ไม่พบวันที่)
ตระกูลภาษา
อินโด-ยูโรเปียน
  • อิตาลิก
    • โรมานซ์
      • โรมานซ์ตะวันตก
        • โรมานซ์ไอบีเรีย
          • ไอบีเรียตะวันตก
            • ภาษาสเปน/ภาษากัสติยา
รูปแบบก่อนหน้า
ภาษาสเปนเก่า
  • ภาษาสเปน/ภาษากัสติยา
ระบบการเขียนอักษรละติน (ชุดตัวอักษรสเปน)
อักษรเบรลล์สเปน
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการ
ผู้วางระเบียบสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปน (ราชบัณฑิตยสถานสเปนและบัณฑิตยสถานภาษาสเปนในประเทศอื่น ๆ อีก 21 ประเทศ)
รหัสภาษา
ISO 639-1es
ISO 639-2spa
ISO 639-3spa
Linguasphere51-AAA-b
สัญลักษณ์สี:
  ประเทศหรือดินแดนที่ภาษาสเปนมีสถานะทางการ
  รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ประชากรมากกว่าร้อยละ 25 ใช้ภาษาสเปน
  รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ประชากรร้อยละ 10-20 ใช้ภาษาสเปน
  รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ประชากรร้อยละ 5-9.9 ใช้ภาษาสเปน

มีผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่หนึ่งและภาษาที่สองเป็นจำนวนระหว่าง 450-500 ล้านคน โดยเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้พูดภาษานี้มากที่สุด นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังเป็นภาษาที่มีผู้เรียนมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากภาษาอังกฤษ มีผู้เรียนภาษานี้อย่างน้อย 17.8 ล้านคน ขณะที่แหล่งข้อมูลบางแห่งกล่าวว่า มีผู้เรียนภาษานี้กว่า 46 ล้านคนกระจายอยู่ใน 90 ประเทศ

ภาษาสเปนมีต้นกำเนิดจากภาษาละตินชาวบ้านที่พัฒนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 (เช่นเดียวกับภาษาอื่นในกลุ่มภาษาโรมานซ์) หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายลง ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิต่างแยกไปอยู่ใต้การปกครองของชนกลุ่มต่าง ๆ กัน ภาษานี้จึงถูกตัดขาดออกจากภาษาถิ่นของภาษาละตินในดินแดนอื่น ๆ และมีวิวัฒนาการอย่างช้า ๆ จนเกิดเป็นภาษาละตินใหม่ต่างหากอีกภาษาหนึ่ง แต่เนื่องจากได้รับการเผยแพร่ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้เป็นเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ภาษาสเปนจึงกลายเป็นภาษาละตินใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน

ชื่อภาษาและที่มา

ชาวสเปนมักเรียกภาษาของตนว่า ภาษาสเปน (español) เมื่อนำภาษานี้ไปเปรียบเทียบกับภาษาของชาติอื่น เช่น ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ แต่จะเรียกว่า ภาษากัสติยา (castellano) [= ภาษาของแคว้นกัสติยา] เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาษาในประเทศสเปนภาษาอื่น ๆ (เช่น ภาษากาลิเซีย ภาษาบาสก์ และภาษากาตาลา) หรือแม้กระทั่งการนำไปเทียบกับบรรดาภาษาพื้นเมืองของประเทศในลาตินอเมริกาบางประเทศ ด้วยวิธีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ค.ศ. 1978 จึงใช้คำว่า "ภาษากัสติยา" (castellano) เพื่อนิยามภาษาราชการของประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับ "ภาษาของสเปนภาษาอื่น ๆ" (las demás lenguas españolas) ตามมาตรา 3 ดังนี้

El castellano es la lengua española oficial del Estado. (…) Las demás lenguas españolas serán también oficiales en las respectivas Comunidades Autónomas…
ภาษากัสติยาเป็นภาษาสเปนทางการของทั้งรัฐ (…) ภาษาสเปนภาษาอื่น ๆ จะมีสถานะทางการเช่นกันในแคว้นปกครองตนเองตามลำดับ (ต่อไปนี้…)

นักนิรุกติศาสตร์บางคนใช้ชื่อ "Castilian" เมื่อกล่าวถึงภาษาที่ใช้กันในภูมิภาคกัสติยาสมัยกลางเท่านั้น โดยเห็นว่า "Spanish" ควรนำมาใช้เรียกภาษานี้ในสมัยใหม่จะดีกว่า ภาษาถิ่นย่อยของภาษาสเปนที่พูดกันทางตอนเหนือของแคว้นกัสติยาในปัจจุบันเอง บางครั้งก็ยังเรียกว่า "Castilian" ภาษาถิ่นนี้แตกต่างจากภาษาถิ่นในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศสเปน (เช่นในแคว้นอันดาลูซิอาหรือกรุงมาดริดเป็นต้น) โดยในประเทศสเปนถือว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษาสเปนมาตรฐานอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม คำ castellano ยังใช้กันเป็นวงกว้างเพื่อเรียกภาษาสเปนทั้งหมดในลาตินอเมริกา เนื่องจากผู้พูดภาษาสเปนบางคนจัดว่า castellano เป็นคำกลาง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองหรือลัทธิใด (เหมือนกับ "Spanish" ในฐานะคำหนึ่งของภาษาอังกฤษ) ชาวลาตินอเมริกาจึงมักใช้คำนี้ในการแบ่งแยกความหลากหลายของภาษาสเปนในแบบของพวกเขาว่า ไม่เหมือนกันกับความหลากหลายของภาษาสเปนที่ใช้กันในประเทศสเปนเอง

คำว่า español ที่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงรูปตามกฎทางไวยากรณ์และสัทวิทยา (การศึกษาเกี่ยวกับเสียงในภาษา) ของแต่ภาษาเพื่อใช้เรียกชาวสเปนและภาษาของพวกเขานั้น มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า "ฮิสปานิโอลุส" (Hispaniolus) [= ชาวฮิสปาเนียน้อย] รูปคำดังกล่าวได้วิวัฒนาการมาเป็น Spaniolus (ในช่วงเวลานั้น ตัว H ในภาษาละตินจะหายไปในการสนทนาปกติ คำนี้จึงออกเสียงว่า "อิสปานิโอลู" [ispa'niolu]) และสระ [i] (ใช้ในภาษาพูดของละตินเพื่อความรื่นหู) ก็ถูกเปิดเป็นสระ [e] จึงทำให้คำนี้มีรูปเขียนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ประวัติ

 
ส่วนหนึ่งของเอกสารจากจดหมายเหตุบัลปูเอสตา เขียนโดยใช้อักษรวิซิกอท

ชาวโรมันจากคาบสมุทรอิตาลีได้นำภาษาละตินเข้ามาใช้บนคาบสมุทรไอบีเรียนับตั้งแต่สมัยสงครามพิวนิกครั้งที่ 2 เมื่อ 218 ปีก่อนคริสต์ศักราช ภาษานี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ ภาษาเคลติเบเรียน ภาษาบาสก์ และภาษาโบราณอื่น ๆ บนคาบสมุทร เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5 การติดต่อระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ในจักรวรรดิจึงถูกตัดขาดออกจากกัน ส่งผลให้อิทธิพลของภาษาละตินชั้นสูงที่มีต่อชาวบ้านทั่วไปค่อย ๆ ลดลง จนเหลือเพียงภาษาละตินสามัญซึ่งเป็นภาษาพูดเท่านั้นที่ทหารและชาวบ้านทั่วไปยังคงใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่

ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชาวมัวร์จากแอฟริกาเหนือได้เข้ารุกรานและครอบครองคาบสมุทรไอบีเรียต่อจากชาววิซิกอท การทำสงครามเพื่อผนวกและยึดดินแดนคืนจึงดำเนินไปอย่างยาวนาน พื้นที่บนคาบสมุทรจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยปริยาย ในเขตอัลอันดะลุสใช้ภาษาอาหรับและภาษาเบอร์เบอร์ แต่ก็มีผู้ใช้ภาษาโมซาราบิก (เป็นภาษาโรมานซ์ภาษาหนึ่ง แต่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับ) อยู่ด้วย ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือที่ยังคงเป็นเขตอิทธิพลของชาวคริสต์นั้น ภาษาพูดละตินในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้มีพัฒนาการทางโครงสร้างที่แตกต่างจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มกลายเป็นภาษาถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกาตาลา, นาวาร์-อารากอน, กัสติยา, อัสตูร์-เลออน หรือกาลิเซีย-โปรตุเกส โดยภาษาเหล่านี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่า "โรมานซ์"

 
การขยายตัวของภาษากัสติยาบนคาบสมุทรไอบีเรีย

ภาษาโรมานซ์กัสติยาซึ่งเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของภาษาสเปนนั้นถือกำเนิดจากภาษาละตินสามัญที่ใช้กันในแถบทิวเขากันตาเบรีย (พื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดอาลาบา, กันตาเบรีย, บูร์โกส, โซเรีย และลาริโอฆา ทางตอนเหนือของสเปนปัจจุบัน ขณะนั้นเป็นเขตของแคว้นกัสติยา) โดยรับอิทธิพลบางอย่างจากภาษาบาสก์และภาษาของชาววิซิกอท หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดมีชื่อว่า จดหมายเหตุบัลปูเอสตา (Cartularios de Valpuesta) พบที่โบสถ์แห่งหนึ่งในจังหวัดบูร์โกส เป็นเอกสารที่บันทึกลักษณะและศัพท์ของภาษาโรมานซ์ (ที่จะพัฒนามาเป็นภาษากัสติยา) ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 ไว้

ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ได้เกิดกระบวนการกลมกลืนและปรับระดับทางภาษาขึ้นระหว่างภาษาโรมานซ์ที่ใช้กันในตอนกลางของคาบสมุทร ได้แก่ อัสตูร์-เลออน, กัสติยา และนาวาร์-อารากอน นำไปสู่การก่อรูปแบบของภาษาที่ผู้คนบนคาบสมุทรนี้จะใช้ร่วมกันต่อไป นั่นคือ ภาษาสเปน อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานที่มีมาแต่เดิมว่า ภาษาสเปนพัฒนามาจากภาษากัสติยาเป็นหลักและอาจจะได้รับอิทธิพลจากภาษาข้างเคียงมาบ้างเท่านั้น

เมื่อการพิชิตดินแดนคืนจากชาวมุสลิม (ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8) มีความคืบหน้าไปมากในยุคกลางตอนปลาย ภาษาโรมานซ์ต่าง ๆ จากทางเหนือก็ถูกนำลงมาเผยแพร่ทางตอนกลางและตอนล่างของคาบสมุทรไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะภาษากัสติยาซึ่งเข้าไปแทนที่หรือส่งอิทธิพลต่อภาษาในท้องถิ่นต่าง ๆ และในขณะเดียวกันก็ได้ยืมศัพท์เป็นจำนวนมากจากภาษาอาหรับ และจากภาษาโมซาราบิกของชาวคริสต์และชาวยิวที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวมัวร์ด้วย (แต่ภาษาเหล่านี้ได้สูญไปจากคาบสมุทรไอบีเรียตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16)

 
หน้าปกตำราไวยากรณ์ของอันโตนิโอ เด เนบริฆา

ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 อาณาจักรกัสติยาได้กลายเป็นผู้นำทางการเมืองและวัฒนธรรมเหนืออาณาจักรอื่น ๆ บนคาบสมุทร สถานการณ์นี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการวางมาตรฐานภาษากัสติยาเป็นภาษาเขียนอีกทางหนึ่ง เห็นได้ชัดในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระองค์ทรงรวบรวมนักเขียนและปราชญ์จากเมืองต่าง ๆ มาประชุมกันในราชสำนักเพื่อเขียนและแปลเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ และกฎหมาย โดยผลงานต่าง ๆ ได้รับการบันทึกลงเป็นภาษากัสติยาแทนภาษาละติน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เหล่านั้นได้มากขึ้น

ต่อมาในปี ค.ศ. 1492 เอลิโอ อันโตนิโอ เด เนบริฆา ได้แต่งตำราอธิบายโครงสร้าง คำศัพท์ และวิธีการสอนภาษากัสติยาที่เมืองซาลามังกา มีชื่อว่า ไวยากรณ์ภาษากัสติยา (Gramática de la Lengua Castellana) นับว่าเป็นตำราไวยากรณ์ภาษาแรกในยุโรป เกร็ดที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งมีอยู่ว่า เมื่อเนบรีคาเสนอตำราดังกล่าวแด่สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 พระองค์มีพระราชดำรัสถามว่าผลงานชิ้นนี้มีประโยชน์อย่างไร เขาได้ทูลตอบว่า ภาษาถือเป็นเครื่องมือของจักรวรรดิ

ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเสียงขนานใหญ่ในภาษาสเปนเช่นเดียวกับภาษาอื่นในกลุ่มโรมานซ์ กล่าวคือ เสียงพยัญชนะบางเสียงได้สูญหายไป มีเสียงพยัญชนะใหม่ปรากฏขึ้น ส่วนเสียงพยัญชนะเสียดแทรกที่มีฐานอยู่ที่ปุ่มเหงือก ฟัน และเพดานแข็ง (ส่วนหน้า) บางเสียงได้ถูกกลืนเข้ากับเสียงอื่น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นผลให้ภาษาสเปนมีระบบเสียงพยัญชนะใกล้เคียงกับที่ปรากฏในปัจจุบัน

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นักสำรวจและนักล่าอาณานิคมได้นำภาษาสเปนเข้าไปเผยแพร่และใช้ในดินแดนทวีปอเมริกาและสแปนิชอีสต์อินดีสอย่างต่อเนื่องนานนับร้อยปี จนภาษานี้ได้กลายเป็นหนึ่งในภาษาหลักที่ใช้ผู้คนในทวีปดังกล่าวใช้สื่อสารกันมาจนถึงทุกวันนี้ และในเวลาต่อมา ภาษาสเปนก็ถูกนำไปใช้เป็นครั้งแรกในอิเควทอเรียลกินี เวสเทิร์นสะฮารา รวมไปถึงพื้นที่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปนมาก่อนเลย เช่น ในย่านสแปนิชฮาร์เล็มของนครนิวยอร์ก

ปัจจุบันภาษาสเปนที่ใช้กันในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกมีความหลากหลายอย่างมากทั้งในด้านการออกเสียงและด้านคำศัพท์ แม้ว่าจะมีโครงสร้างหลักร่วมกันเป็นภาษาละตินก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการติดต่อกับภาษาพื้นเมืองของแต่ละท้องที่เป็นเวลานาน เช่น ภาษาไอมารา, ชิบชา, กวารานี, มาปูเช, มายา, นาวัตล์, เกชัว, ตาอีโน และตากาล็อก ทำให้ผู้ใช้ภาษาสเปนมีแนวโน้มที่จะรับเอาชุดความคิดและลักษณะที่ปรากฏในภาษาเหล่านั้นเข้ามาใช้ โดยเฉพาะคำศัพท์ ซึ่งหลายครั้งไม่เพียงมีอิทธิพลต่อภาษาสเปนในพื้นที่ที่สัมผัสภาษานั้นโดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งอิทธิพลต่อวงคำศัพท์ภาษาสเปนทั่วโลกด้วย

ลักษณะเฉพาะ

สิ่งบ่งชี้ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของภาษาสเปนก็คือ การเปลี่ยนเสียงสระเดี่ยวที่มาจากภาษาละติน ได้แก่ สระ ‹e› และสระ ‹o› ให้กลายเป็นเสียงสระประสมสองเสียง (diphthong) คือสระ ‹ie› และสระ ‹ue› ตามลำดับเมื่อสระทั้งสองอยู่ในตำแหน่งที่ลงเสียงหนักภายในคำ การกลายเสียงที่คล้ายกันนี้ยังสามารถพบได้ในภาษาโรมานซ์อื่น ๆ แต่สำหรับภาษาสเปน ลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ลักษณะแปลกอีกอย่างหนึ่งของภาษาสเปนยุคแรกที่ไม่พบในภาษาอื่นที่พัฒนามาจากภาษาละติน (ยกเว้นภาษาถิ่นแกสกันของภาษาอุตซิตา ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาษาทั้งสองได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาสก์ซึ่งเป็นภาษาพื้นเดิมและมีเขตผู้ใช้ภาษาอยู่ติดต่อกัน) คือการกลายรูปพยัญชนะจาก ‹f› ต้นคำ เป็น ‹h› เมื่อใดก็ตามที่ ‹f› ตัวนั้นนำหน้าสระเดี่ยวที่จะไม่พัฒนามาเป็นสระประสมในภาษาสเปน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ละติน fīlium > อิตาลี figlio; โปรตุเกส filho; ฝรั่งเศส fils; อุตซิตา filh (แต่ แกสกัน hilh); สเปน hijo (แต่ ลาดิโน fijo) ‘ลูกชาย’
  • ละติน fābulārī > ลาดิโน favlar; โปรตุเกส falar; สเปน hablar ‘พูด’
  • แต่ ละติน focum > อิตาลี fuoco; โปรตุเกส fogo; สเปน/ลาดิโน fuego ‘ไฟ’

พยัญชนะควบกล้ำบางตัวในภาษาละติน เช่น ‹cl›, ‹fl›, ‹pl›, ‹ct› เมื่อมีวิวัฒนาการไปเป็นส่วนหนึ่งของภาษาต่าง ๆ ในกลุ่มโรมานซ์ยังเกิดผลแตกต่างกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ในภาษาเหล่านี้ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ละติน clāmāre, flammam (รูปกรรม), plēnum > ลาดิโน lyamar, flama, pleno; สเปน llamar, llama, lleno (แต่ภาษาสเปนก็มีรูป clamar, flama, pleno ด้วย); โปรตุเกส chamar, chama, cheio
  • ละติน octō (รูปกรรม), noctem, multum > ลาดิโน ocho, noche, muncho; สเปน ocho, noche, mucho; โปรตุเกส oito, noite, muito; กาลิเซีย oito, noite, moito

การจำแนกและภาษาร่วมตระกูล

ภาษาสเปนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาษาอื่น ๆ ในกลุ่มไอบีเรียตะวันตก ได้แก่ ภาษาอัสตูเรียส ภาษากาลิเซีย ภาษาลาดิโน ภาษาอัสตูเรียส-เลออน และภาษาโปรตุเกส ส่วนภาษากาตาลาแม้จะมีเขตผู้ใช้ภาษาอยู่ในประเทศสเปน แต่เนื่องจากเป็นภาษาในกลุ่มไอบีเรียตะวันออกและแสดงลักษณะหลายประการของกลุ่มภาษาโรมานซ์กอล จึงมีความใกล้เคียงกับภาษาอุตซิตามากกว่ากับภาษาสเปน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือมากกว่าที่ภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกสใกล้เคียงกันเสียอีก

ภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกสมีระบบไวยากรณ์และคำศัพท์คล้ายคลึงกัน และยังมีประวัติความเป็นมาร่วมกันในด้านอิทธิพลจากภาษาอาหรับในยุคที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรไอบีเรียตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวมุสลิมอีกด้วย โดยความใกล้เคียงของศัพท์ของภาษาทั้งสองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 89

ภาษาลาดิโน

ดูบทความหลักที่: ภาษาลาดิโน

ภาษาลาดิโน (Ladino) เป็นภาษายิว-สเปน (Judaeo-Spanish) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาสเปนโบราณและมีความใกล้เคียงกับภาษาสเปนสมัยใหม่มากกว่าภาษาอื่น ผู้พูดภาษานี้เป็นผู้ที่สืบทอดเชื้อสายมาจากชาวยิวเซฟาร์ดี (Sephardic Jews) ที่ถูกขับไล่ออกไปจากสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทุกวันนี้ผู้พูดภาษาลาดิโนแทบจะเหลือเพียงชาวยิวเซฟาร์ดีที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศตุรกี กรีซ คาบสมุทรบอลข่าน และลาตินอเมริกา ภาษานี้ไม่มีคำศัพท์อเมริกันพื้นเมืองซึ่งส่งอิทธิพลต่อภาษาสเปนในสมัยที่สเปนยังมีอาณานิคมที่ทวีปนั้นและยังรักษาคำศัพท์โบราณที่สูญหายไปแล้วจากภาษาสเปนมาตรฐาน อย่างไรก็ตามในภาษานี้ยังปรากฏคำศัพท์ที่ไม่พบในภาษากัสติยามาตรฐาน ได้แก่ คำศัพท์จากภาษาฮีบรู ภาษาตุรกี และจากภาษาอื่น ๆ ในที่ที่ชาวยิวเซฟาร์ดีเข้าไปตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่ด้วย

ภาษาลาดิโนอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญสิ้นไป เพราะผู้ใช้ภาษานี้ในปัจจุบันเป็นผู้สูงอายุซึ่งไม่ได้ถ่ายทอดภาษานี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน ส่วนชุมชนเซฟาร์ดีในลาตินอเมริกา ความเสี่ยงที่จะภาษานี้จะสูญไปยังมีเหตุผลมาจากการถูกกลืนเข้ากับภาษาสเปนสมัยใหม่อีกด้วย

ภาษาถิ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาลาดิโนคือภาษาฮาเกเตีย (Haketia) ซึ่งเป็นภาษายิว-สเปนทางภาคเหนือของประเทศโมร็อกโก ภาษานี้ก็มีแนวโน้มที่จะถูกกลืนเข้ากับภาษาสเปนสมัยใหม่เช่นกันในสมัยที่สเปนเข้าครอบครองบริเวณดังกล่าว

การเปรียบเทียบคำศัพท์

ภาษาสเปนและภาษาอิตาลีมีระบบสัทวิทยา (เสียงในภาษา) ที่คล้ายคลึงกันมากและไม่มีความแตกต่างกันนักในระบบไวยากรณ์ อีกทั้งในปัจจุบันภาษาที่สองยังมีความใกล้เคียงของศัพท์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 82 ดังนั้น ผู้ใช้ภาษาสเปนและผู้ใช้ภาษาอิตาลีจึงสามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ในระดับที่ต่างกันออกไป ความใกล้เคียงของศัพท์ระหว่างภาษาสเปนกับภาษาโปรตุเกสนั้นอยู่ที่ร้อยละ 89 แต่ความไม่แน่นอนของกฎการออกเสียงในภาษาโปรตุเกสทำให้ผู้ใช้ภาษาสเปนเข้าใจภาษานี้ได้น้อยกว่าที่เข้าใจภาษาอิตาลี ส่วนความเข้าใจกันได้ระหว่างภาษาสเปนกับภาษาฝรั่งเศสและภาษาโรมาเนียมีน้อยกว่า (มีความใกล้เคียงของศัพท์อยู่ที่ร้อยละ 75 และร้อยละ 71 ตามลำดับ) ความเข้าใจภาษาสเปนของผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสที่ไม่เคยเรียนภาษาสเปนมาก่อนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 45 อย่างไรก็ตาม ระบบการเขียนที่มีลักษณะร่วมกันของภาษาในกลุ่มโรมานซ์ทำให้ผู้ใช้ภาษาของแต่ละภาษาในกลุ่มนี้นิยมสื่อสารกับผู้ใช้ภาษาอื่น ๆ (ในกลุ่มเดียวกัน) ด้วยการอ่านเอาความมากกว่าการใช้คำพูดสนทนา

ละติน สเปน โปรตุเกส กาตาลา อิตาลี ฝรั่งเศส โรมาเนีย ความหมาย
nōs nosotros nós¹ nosaltres noi² nous³ noi พวกเรา
frātrem germānum
("พี่ชาย, น้องชายแท้")
hermano irmão germà fratello frère frate พี่ชาย, น้องชาย
diēs Martis (ภาษาชั้นสูง)

fēria tertia (ภาษาพระ)

martes terça-feira dimarts martedì mardi marți วันอังคาร
cantiō, canticum canción canção cançó canzone chanson cântec เพลง
magis หรือ plūs más
(คำโบราณ: plus)
mais
(คำโบราณ: chus)
més
(คำโบราณ: pus)
più plus mai มากกว่า, อีก
manum sinistram mano izquierda

หรือ (mano siniestra)

mão esquerda
(คำโบราณ: sẽestra)
mà esquerra mano sinistra main gauche mâna stângă มือซ้าย
nihil หรือ nūllam rem nātam
("ไม่มีอะไรเกิดขึ้น")
nada nada
(คำโบราณ: rem)
res niente/nulla rien/nul nimic ไม่มีอะไร


1. หรือ nós outros ในภาษาโปรตุเกสสมัยใหม่ (ยุคต้น)
2. noi altri ในภาษาถิ่นใต้ของอิตาลี
3. หรือ nous autres

ความแพร่หลายในพื้นที่ต่าง ๆ

ดูบทความหลักที่: ความแพร่หลายของภาษาสเปน

ทุกวันนี้ ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการภาษาหนึ่งของประเทศสเปน เกือบทุกประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมทั้งประเทศอิเควทอเรียลกินีในทวีปแอฟริกาด้วย สรุปแล้วมี 20 ประเทศกับอีก 1 ดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษานี้เป็นภาษาหลัก ซึ่งเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในภูมิภาคฮิสแปนิกอเมริกา ปัจจุบันประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้ภาษาสเปนมากที่สุดในโลก คิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของจำนวนผู้ใช้ภาษาสเปนทั้งหมดบนโลก

จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในปี ค.ศ. 2007 ปรากฏว่าภาษาสเปนเป็นภาษาที่ใช้กันในอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับที่สามรองจากภาษาอังกฤษและภาษาจีน

ประเทศที่มีจำนวนผู้พูดภาษาสเปนมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก
ประเทศ จำนวนประชากร จำนวนผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาแม่ จำนวนผู้พูดสองภาษาและผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่สอง (ในประเทศที่ใช้ภาษานี้เป็นภาษาทางการ) หรือจำนวนผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาต่างประเทศ (ในประเทศที่ไม่ใช้ภาษานี้เป็นภาษาทางการ) จำนวนผู้พูดภาษาสเปนคิดเป็นร้อยละของจำนวนประชากรทั้งประเทศ จำนวนผู้พูดภาษาสเปนรวมทั้งหมด
   เม็กซิโก 112,336,538 104,135,971 6,515,519 98.5% 110,651,490
   สหรัฐ 307,006,550 35,468,501 14,531,499 16.3% 50,000,000
   สเปน 47,150,819 41,964,229 4,620,780 98.8% 46,585,009
   โคลอมเบีย 46,240,000 45,740,000 130,080 99.2% 45,870,080
   อาร์เจนตินา 40,900,496 36,333,605 4,321,488 99.4% 40,655,093

ระบบการเขียน

ตัวอักษร

 
ตัวอักษรเอเญบนแป้นพิมพ์ภาษาสเปน

ภาษาสเปนใช้อักษรละตินในการเขียนเช่นเดียวกับภาษาส่วนใหญ่ในยุโรป แต่จะมีอักขระเพิ่มขึ้นมาหนึ่งตัวคือ ñ หรือเรียกว่า "เอเญ" นอกจากนี้ยังมีทวิอักษร ch "เช" และ ‹ll› "เอเย" โดยถือว่าทั้งสองเป็นตัวอักษรในชุดตัวอักษรสเปนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1803 เนื่องจากใช้แทนเสียงที่ไม่ใช่เสียงเดียวกับเสียงตัวอักษรที่ประกอบขึ้นเป็นตัวมันเอง กล่าวคือ ‹ñ› แทนหน่วยเสียง /ɲ/, ‹ch› แทนหน่วยเสียง /t͡ʃ/ และ ‹ll› แทนหน่วยเสียง /ʎ/ หรือ /ɟ͡ʝ/ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ทวิอักษร rr "เอเรโดเบล" หรือเรียกอย่างง่ายว่า "เอร์เร" (คนละตัวกับ ‹r› "เอเร") จะแทนหน่วยเสียงต่างหากเช่นกันคือ /r/ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นตัวอักษรต่างหากเหมือน ‹ch› และ ‹ll›

ในการประชุมครั้งที่ 10 ของสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมาดริดเมื่อปี ค.ศ. 1994 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการใช้ชุดตัวอักษรละตินแบบสากลตามที่องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรร้องขอ ส่งผลให้ทวิอักษร ‹ch› และ ‹ll› ไม่ถือเป็นตัวอักษรโดด ๆ แต่ถือเป็นพยัญชนะซ้อน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นและการเรียงลำดับคำในพจนานุกรม คำต่าง ๆ ที่ขึ้นต้นด้วย ‹ch› จึงถูกนำไปจัดเรียงอยู่ระหว่างคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹ce› และ ‹ci› แทน ต่างจากเดิมที่ถูกจัดไว้ต่อจากคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹cz› ส่วนคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹ll› ก็ถูกจัดอยู่ระหว่างคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹li› และ ‹lo› เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปครั้งนั้นมีผลเฉพาะต่อการเรียงลำดับคำตามตัวอักษรเท่านั้น ไม่มีผลต่อชุดตัวอักษรสเปนซึ่งทวิอักษร ‹ch› และ ‹ll› ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในนั้นอยู่ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2010 หนังสือคู่มืออักขรวิธีภาษาสเปน (Ortografía de la lengua española) ซึ่งจัดทำโดยราชบัณฑิตยสถานสเปนร่วมกับสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนได้ตัด ‹ch› และ ‹ll› ออกจากชุดตัวอักษรอย่างสมบูรณ์

ดังนั้น ชุดตัวอักษรสเปนในปัจจุบันจึงประกอบด้วยตัวอักษร 27 ตัว ได้แก่

a, b, c, d, e, f, g, h, i, j, k, l, m, n, ñ, o, p, q, r, s, t, u, v, w, x, y, z

เครื่องหมายอื่น ๆ

คำสเปนแท้จะมีการลงน้ำหนักที่พยางค์ก่อนพยางค์สุดท้ายของคำ หากคำนั้นลงท้ายด้วยสระ (ไม่รวม ‹y›) หรือลงท้ายด้วยพยัญชนะ ‹n› หรือ ‹s› นอกนั้นจะลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย แต่ถ้าตำแหน่งที่ลงน้ำหนักในคำไม่เป็นไปตามกฎดังกล่าว สระในพยางค์ที่ถูกเน้นก็จะมีเครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัด (acute accent) กำกับไว้ข้างบน เช่น gina, cimo, jamón, tailandés และ árbol แต่เครื่องหมายลงน้ำหนักมักจะถูกละบ่อยครั้งเมื่อสระที่มันกำกับเสียงหนักอยู่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ (ในยุคแรก ๆ คอมพิวเตอร์บางเครื่องสามารถพิมพ์ได้เฉพาะตัวพิมพ์เล็กที่มีเครื่องหมายนี้กำกับเท่านั้น) ซึ่งราชบัณฑิตยสถานสเปนก็แนะนำไม่ให้ทำเช่นนั้น

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัดเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างคำพ้องเสียง เช่น ระหว่าง el (คำกำกับนามเพศชาย ชี้เฉพาะ) กับ él (‘เขา’ สรรพนามบุรุษที่ 3 เอกพจน์ รูปประธาน) หรือระหว่าง te (‘เธอ’ สรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ รูปกรรม) de (‘แห่ง’ หรือ ‘จาก’) และ se (สรรพนามสะท้อน) กับ (‘น้ำชา’) (‘ให้’) และ (‘ฉันรู้’ หรือ ‘จงเป็น...’)

ในภาษาสเปน จะมีการลงน้ำหนักสรรพนามคำถามต่าง ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น qué (‘อะไร’), cuál (‘อันไหน’), dónde (‘ที่ไหน’), quién (‘ใคร’) ทั้งที่อยู่ในประโยคคำถามตรง (direct questions) และประโยคคำถามอ้อม (indirect questions) ส่วนคำระบุเฉพาะ (demonstratives) เช่น ése, éste, aquél และอื่น ๆ จะลงน้ำหนักเมื่อใช้เป็นสรรพนาม

คำสันธาน o (‘หรือ’) แต่เดิมจะเขียนโดยใส่เครื่องหมายลงน้ำหนักเมื่ออยู่ระหว่างจำนวนที่เป็นตัวเลข เพื่อไม่ให้สับสนกับเลขศูนย์ เช่น 10 ó 20 จะอ่านว่า diez o veinte (‘10 หรือ 20’) ไม่ใช่ diez mil veinte (‘10,020’) จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2010 ราชบัณฑิตยสถานสเปนและสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนได้กำหนดว่าไม่ต้องใส่เครื่องหมายลงน้ำหนักบนคำสันธานนี้แล้ว เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่พยางค์ที่ลงน้ำหนักในประโยค และในทางปฏิบัติก็ไม่พบว่าเกิดความเข้าใจสับสนระหว่างตัว o กับเลขศูนย์ในบริบทนี้แต่อย่างใด

ในบางกรณี เมื่อตัวอักษร ‹u› อยู่ระหว่างพยัญชนะ ‹g› กับสระหน้า (‹e, i›) จะต้องใส่เครื่องหมายเสริมสัทอักษรกำกับเป็น ‹ü› เพื่อบอกว่าเราต้องออกเสียง u ตัวนี้ด้วย (ปกติตัว ‹u› จะทำหน้าที่กันไม่ให้ ‹g› ที่จะประกอบขึ้นเป็นพยางค์กับสระ ‹e› หรือ ‹i› ออกเสียงเป็น /x/ เราจึงไม่ออกเสียงสระ ‹u› ในตำแหน่งนี้) เช่น cigüeña (‘นกกระสา’) จะออกเสียงว่า /θiˈɡweɲa/ [ซี.กฺเว.ญา] แต่ถ้าสะกดว่า *cigueña จะต้องออกเสียงเป็น /θiˈɡeɲa/ [ซี.เก.ญา] นอกจากนี้ เรายังอาจพบเครื่องหมายเสริมสัทอักษรดังกล่าวบนสระ ‹i› และ ‹u› ได้ในกวีนิพนธ์ต่าง ๆ เนื่องจากผู้แต่งต้องการแยกสระประสม (ซึ่งปกตินับเป็นหนึ่งพยางค์) ออกเป็นสองพยางค์ เพื่อให้มีจำนวนพยางค์ในวรรคตรงตามที่ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ บังคับไว้พอดี เช่น ruido มีสองพยางค์คือ rui-do [รุยโด] แต่ ruïdo มีสามพยางค์คือ ru-ï-do [รูอีโด]

อีกประการหนึ่ง การเขียนประโยคคำถามจะขึ้นต้นด้วยปรัศนีหัวกลับ ‹¿› ส่วนประโยคอุทานก็จะขึ้นต้นด้วยอัศเจรีย์หัวกลับ ‹¡› เครื่องหมายพิเศษสองตัวนี้ช่วยให้เราอ่านประโยคคำถามและประโยคอุทาน (ซึ่งจะแสดงออกให้ทราบได้ด้วยการใช้ทำนองเสียงแบบต่าง ๆ เมื่อสนทนาเท่านั้น) ได้ง่ายขึ้น โดยเราจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่าประโยคยาว ๆ ที่อ่านอยู่เป็นประโยคแบบใด (บอกเล่า คำถาม หรืออุทาน) ในภาษาอื่นไม่จำเป็นต้องใช้ ‹¿› และ ‹¡› เนื่องจากมีระบบวากยสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความกำกวมในการอ่าน เพราะโดยทั่วไปแล้ว การสร้างประโยคบอกเล่ามักจะนำประธานมาไว้ต้นประโยคแล้วจึงตามด้วยกริยา เราจะย้ายกริยามาไว้ต้นประโยคแล้วตามด้วยประธานก็ต่อเมื่อทำเป็นประโยคคำถาม แต่ในภาษาสเปน เราสามารถเรียงลำดับโดยให้กริยามาก่อนประธานได้เป็นปกติ ไม่ว่าในประโยคบอกเล่าหรือประโยคคำถาม และมักจะละประธานออกไปด้วย (เช่น Is he coming tomorrow?, Vient-il demain?, Kommt er morgen? และ ¿Viene mañana?)

สัทวิทยา

การออกเสียงคำส่วนใหญ่ในภาษาสเปนจะสามารถทราบได้จากตัวสะกดอยู่แล้ว เนื่องจากพยัญชนะ/สระหนึ่งตัวส่วนใหญ่จะแทนเสียงเพียงเสียงเดียว ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในตำแหน่งใดหรือกับพยัญชนะ/สระใดก็ตาม ยกเว้นบางหน่วยเสียง (phoneme) ที่หากปรากฏในตำแหน่งที่ต่างกันจะมีเสียงแปร (allophone) เกิดขึ้น ซึ่งยังมีลักษณะการออกเสียงใกล้เคียงกับหน่วยเสียงหลัก แต่นอกจากเสียงสระและพยัญชนะแล้ว การลงน้ำหนักพยางค์ (accentuation) และการใช้ทำนองเสียง (intonation) แบบต่าง ๆ ให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการออกเสียงเพื่อสื่อสาร ในภาษาสเปนมีจำนวนคำที่ต้องลงน้ำหนักที่พยางค์รองสุดท้ายมากที่สุด รองลงมาเป็นคำที่ต้องลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้ายและคำที่ต้องลงน้ำหนักที่พยางค์ที่สาม (นับจากพยางค์สุดท้าย) ตามลำดับ

ลักษณะเฉพาะตัวทางสัทวิทยาของภาษาสเปนที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาษาละตินได้แก่ การกลายเสียงพยัญชนะไม่ก้องระหว่างสระเป็นเสียงก้อง (เช่น ละติน ta > สเปน vida; ละติน lupus > สเปน lobo; ละติน lacus > สเปน lago), การกลายเสียงสระเดี่ยว e และ o ในพยางค์เน้นเป็นสระประสม (เช่น ละติน terra > สเปน tierra; ละติน novus > สเปน nuevo) และการกลายเสียงพยัญชนะที่ซ้ำเสียงกันต่อเนื่องเป็นเสียงพยัญชนะเพดานแข็ง (เช่น ละติน annus > สเปน año /ˈaɲo/; ละติน caballus > สเปน caballo /kaˈbaʎo/) เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางเสียงทำนองนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกันในภาษากลุ่มโรมานซ์ภาษาอื่น ๆ หลังจากการสถาปนาราชบัณฑิตยสถานสเปนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระบบการเขียนของภาษาสเปนจึงได้รับการดัดแปลงให้ง่ายขึ้นโดยอิงรูปแบบทางสัทศาสตร์เป็นหลัก

เสียงสระ

หน่วยเสียงสระสเปน    

ประเภท สระหน้า สระ
กลางลิ้น
สระหลัง
สระลิ้นยกสูง (ปิด)    /i/
      /u/
สระลิ้นระดับกลาง       /e/   /o/
สระลิ้นลดต่ำ (เปิด)
     /a/

ภาษาสเปนมีหน่วยเสียงสระ 5 หน่วยเสียง ได้แก่ /i/, /u/, /e/, /o/ และ /a/ สระทุกตัวสามารถปรากฏทั้งในตำแหน่งที่รับและไม่ได้รับการลงเสียงหนักในพยางค์ โดยปกติเสียงสระ /e/ และ /o/ เป็นสระลิ้นระดับกลาง (mid vowel) กล่าวคือ ลิ้นไม่ยกสูงขึ้นไปใกล้เพดานปากและไม่ลดต่ำลงจนห่างจากเพดานปากมากเกินไป แต่ในการออกเสียงจริง บางครั้งลิ้นอาจลดต่ำลงอีกจากตำแหน่งปกติจนทำให้สระทั้งสองเกือบกลายเป็นสระ [ɛ] [เอะ+แอะ] และ [ɔ] [เอาะ] ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสระรวมทั้งพยัญชนะที่นำหน้าและ/หรือตามหลังมันในคำต่าง ๆ แต่เราไม่ถือว่าเสียงสระเหล่านี้เป็นหน่วยเสียงหลักต่างหากในภาษาสเปน เนื่องจากไม่ทำให้ความหมายของคำแตกต่างไปจากหน่วยเสียงสระเดิม นั่นหมายความว่าเสียงเหล่านี้ยังคงเป็นเสียงย่อย (allophone) ของหน่วยเสียง /e/ และ /o/ ตามลำดับ ต่างจากภาษาพี่น้องอย่างกาตาลา โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอิตาลีที่มี /ɛ/ และ /ɔ/ เป็นหน่วยเสียงเอกเทศ เพราะทั้งหมดมีความสำคัญต่อการจำแนกความหมายของคำ

เสียงพยัญชนะ

ปัจจุบันระบบเสียงในหลายสำเนียงของภาษาสเปนประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะอย่างน้อย 17 หน่วยเสียง ได้แก่ /m, n, ɲ, p, b, , , k, ɡ, t͡ʃ, ɟ͡ʝ, f, s, x, ɾ, r, l/ แต่ในแถบเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้จะปรากฏหน่วยเสียง /ʎ/ เพิ่มขึ้นเป็น 18 หน่วยเสียง และในหลายพื้นที่ของประเทศสเปนจะปรากฏหน่วยเสียง /ʎ/ และ /θ/ เพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 19 หน่วยเสียง รายการหน่วยเสียงพยัญชนะสเปนในตารางข้างล่างนี้แสดงหน่วยเสียงที่ปรากฏเฉพาะในสำเนียงดังกล่าวไว้ด้วยโดยมีเครื่องหมายดอกจันกำกับอยู่ ตัวสัทอักษรที่ปรากฏในวงเล็บคือเสียงย่อยที่สำคัญ ส่วนตัวสัทอักษรที่ปรากฏเป็นคู่ในช่องเดียวกันแสดงว่า ทั้งสองมีตำแหน่งเกิดเสียงและลักษณะการออกเสียงร่วมกัน แต่ตัวซ้ายจะเป็นเสียงไม่ก้อง ตัวขวาจะเป็นเสียงก้อง

หน่วยเสียงพยัญชนะสเปน
ริมฝีปาก ริมฝีปาก
กับฟัน
ลิ้น
ระหว่างฟัน
ฟัน ปุ่มเหงือก เพดานแข็ง เพดานอ่อน
เสียงนาสิก m     n      ɲ      (ŋ)    
เสียงกัก p      b t̪       d̪ k      ɡ
เสียงกักเสียดแทรก t͡ʃ      ɟ͡ʝ
เสียงเสียดแทรก f         θ*       s              x
เสียงเปิด (β̞)     (ð̞)    ( ʝ̞ )     (ɣ̞)    
เสียงลิ้นกระทบ ɾ      
เสียงรัว r      
เสียงข้างลิ้น l       ʎ*    

การลงน้ำหนักพยางค์

ภาษาสเปนเป็นภาษาหนึ่งที่มีการลงน้ำหนักพยางค์และการใช้ทำนองเสียง ในคำสเปนส่วนใหญ่ น้ำหนักจะตกอยู่ที่พยางค์ใดพยางค์หนึ่งในสามพยางค์สุดท้ายของคำ แต่มีข้อยกเว้นคืออาจจะตกที่พยางค์ที่สี่หรือห้านับจากพยางค์สุดท้ายซึ่งเป็นกรณีพบไม่บ่อยนัก โดยแนวโน้มในการลงน้ำหนักพยางค์ของคำสเปนมีดังต่อไปนี้ (ลงน้ำหนักที่พยางค์ที่เป็นตัวหนา)

  • คำที่ลงน้ำหนักที่พยางค์รองสุดท้าย ได้แก่ คำที่ลงท้ายด้วยสระหรือพยัญชนะ ‹n› และ ‹s› เช่น copa, cine, todo, luchan, gracias เป็นต้น ทั้งนี้ ยกเว้นในกรณีที่ ‹s› มีพยัญชนะอื่นนำหน้าอยู่ คำนั้นจะลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย
  • คำที่ลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย ได้แก่ คำที่ลงท้ายด้วยพยัญชนะตัวอื่น ๆ นอกเหนือจาก ‹n› และ ‹s› เช่น Madrid, igual, llamar, virrey, veraz เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงคำที่ลงท้ายด้วย ‹s› แต่มีพยัญชนะอื่นนำหน้า ‹s› ตัวนั้นอยู่ด้วย เช่น robots, zigzags เป็นต้น

คำที่มีการลงน้ำหนักที่พยางค์อื่น ๆ นอกเหนือจากสองพยางค์สุดท้าย หรือมีการลงน้ำหนักที่พยางค์ใดพยางค์หนึ่งในสองพยางค์นี้แต่ไม่เป็นไปตามกฎข้างบน จะมีเครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัด (acute accent) กำกับไว้บนสระของพยางค์นั้น เช่น ca, clímax, bil, fórceps, razón, quey, veintitrés, bado เป็นต้น

  • คำที่ลงน้ำหนักที่พยางค์ที่สามจากท้ายคำ เช่น game, rrafo, helicóptero เป็นต้น
  • คำที่ลงน้ำหนักที่พยางค์ที่สี่หรือห้าจากท้ายคำ มักจะเป็นคำที่ในรูปประโยคคำสั่ง (imperative) หรือรูปกริยาเป็นนาม (gerund) ที่สร้างขึ้นโดยนำรูปติด (clitic) ซึ่งเป็นสรรพนามกรรมตรงและกรรมรองมาต่อท้ายรูปกริยาแท้โดยไม่เว้นวรรค แต่ตำแหน่งลงเสียงหนักจะอยู่ในคำกริยาเหมือนเดิม ไม่เลื่อนไปอยู่ที่กรรมตรงหรือกรรมรองไม่ว่าจะลงท้ายด้วยสระหรือพยัญชนะตัวใดก็ตาม เช่น metelo, guardándoselos, llévesemela เป็นต้น หรือเกิดกับคำกริยาวิเศษณ์บางคำที่สร้างขึ้นโดยใช้หน่วยคำเติมหลัง -mente ต่อท้ายคำคุณศัพท์ที่มีตำแหน่งลงเสียงหนักผิดปกติอยู่แล้ว เช่น dicil > dicilmente, pido > pidamente เป็นต้น

นอกจากข้อยกเว้นต่าง ๆ ของแนวโน้มในการลงน้ำหนักพยางค์แล้ว ยังมีคู่เทียบเสียง (minimal pair) อีกเป็นจำนวนมากที่มีความแตกต่างกันในเรื่องการลงน้ำหนักพยางค์เท่านั้น เช่น bana (‘ผ้าปูที่นอน’) และ sabana (‘ทุ่งหญ้าสะวันนา’) หรือ mite (‘เขตแดน’), limite (‘[ที่] เขา/เธอจำกัด’) และ limi (‘ฉันจำกัด’) เป็นต้น

ไวยากรณ์

 
ตัวอย่างการสร้างคำนามโดยใช้หน่วยคำสองชนิด คือ หน่วยคำรากศัพท์และหน่วยคำผัน (สีของโบแสดงเพศของแมว โดยสีฟ้าคือเพศผู้ และสีชมพูคือเพศเมีย)

ภาษาสเปนจะจัดอยู่ในกลุ่มภาษาวิภัตติปัจจัย (inflected language) กล่าวคือ ในการสร้างประโยคหนึ่ง ๆ จะนิยมใช้การผันคำเพื่อบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่าง ๆ ภายในประโยคนั้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะใช้การผันคำซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของภาษากลุ่มนี้แล้ว ในภาษาสเปนยังมีการใช้คำบุพบทซึ่งเป็นคำนามธรรมที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปได้เพื่อบ่งชี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวอีกด้วย และเนื่องจากภาษานี้มีระบบการจำแนกรูปกรรมของสกรรมกริยา (ซึ่งจะใช้รูปการกกรรม) ให้แตกต่างจากรูปประธานทั้งของสกรรมกริยาและของอกรรมกริยา (ซึ่งจะใช้รูปการกประธานทั้งคู่) จึงจัดเป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษากรรมการก (nominative–accusative language) เช่นเดียวกับภาษาส่วนใหญ่ของตระกูลอินโด-ยุโรเปียน

ระบบหน่วยคำ

การผันคำ

ตามที่กล่าวแล้วว่าภาษาสเปนเป็นภาษาวิภัตติปัจจัย คำต่าง ๆ ในภาษานี้จึงประกอบขึ้นจากการเพิ่มหน่วยคำวิภัตติปัจจัยหรือหน่วยคำผัน (inflectional morpheme) เข้าไปที่รากศัพท์ (root) [หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหน่วยศัพท์ (lexeme)] หน่วยคำผันเป็นหน่วยคำที่ทำหน้าที่แสดงลักษณะทางไวยากรณ์ของรากศัพท์เท่านั้น ไม่ทำให้ความหมายของรากศัพท์เปลี่ยนไป โดยหน่วยคำผันสำหรับการกระจายคำกริยา ได้แก่ หน่วยคำที่แสดงมาลา (mood) กาล (tense) วาจก (voice) การณ์ลักษณะ (aspect) บุรุษ (person) และพจน์ (number) เป็นต้น และหน่วยคำผันสำหรับการผันคำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ และตัวกำหนด (determiner) ได้แก่ หน่วยคำที่แสดงเพศ (gender) และพจน์ เป็นต้น

จากภาพทางขวามือ รากศัพท์ gat- ซึ่งมีความหมายว่าแมว เมื่อเติมหน่วยคำผันต่อท้าย รากศัพท์นี้จึงมีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงแปลว่าแมวเช่นเดิม ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น หน่วยคำผันเหล่านั้นได้แก่ -o (หน่วยคำแสดงเพศชาย), -a (หน่วยคำแสดงเพศหญิง), -s (หน่วยคำแสดงพหูพจน์) และ (หน่วยคำแสดงเอกพจน์ ซึ่งแม้เราจะมองไม่เห็นแต่ก็ถือว่ามีส่วนในการแสดงความหมาย)

ชนิดของคำในภาษาสเปนที่มีรูปผันหลากหลาย ได้แก่ สรรพนามและกริยา

สรรพนาม

สรรพนามสำคัญในภาษาสเปน ได้แก่ yo (ฉัน), (เธอ), usted (คุณ), él (เขา), ella (หล่อน), ello (มัน/สิ่งนั้น), nosotros (พวกเรา), vosotros (พวกเธอ), ustedes (พวกคุณ), ellos (พวกเขา), ellas (พวกหล่อน), esto (สิ่งนี้), eso (สิ่งนั้น), aquello (สิ่งโน้น) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า สรรพนามหลายตัวมีพิสัยในการใช้งานค่อนข้างแตกต่างจากสรรพนามในภาษาอังกฤษ โดยปกติแล้วบุรุษสรรพนามจะถูกละไปเนื่องจากรูปการผันของคำกริยาที่แตกต่างกันสามารถบอกให้ทราบได้อยู่แล้วว่ากำลังสื่อถึงประธานตัวใด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราพบบุรุษสรรพนามตัวใดก็ตามปรากฏในภาษาเขียนหรือแม้กระทั่งในภาษาพูด ส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้ส่งสารต้องการเน้นสรรพนามตัวนั้นหรือกันไม่ให้ผู้รับสารสับสนจากรูปผันกริยาที่ซ้ำกันในบางกรณี

บุรุษสรรพนามสเปนผันตามพจน์ บุรุษ และการกต่าง ๆ
พจน์
(Número)
บุรุษ
(Persona)
การก (Caso)
ประธาน (กรรตุการก) / เรียกขาน (สัมโพธนาการก)
(nominativo / vocativo)
กรรมตรง (กรรมการก)
(acusativo)
กรรมรอง (สัมปทานการก)
(dativo)
กรรมของคำบุพบท (อธิกรณการก, หลังคำบุพบท)
(preposicional)
ผู้ร่วม (หลัง con (กับ)) (con + สรรพนาม)
(comitativo)
เอกพจน์ ที่ 1yomeme conmigo (con + mí)
ที่ 2tú (tuteo)tete ticontigo (con + ti)
vos (voseo)te/os/voste/os/vos voscon vos
ที่ 3él, ella, ello, usted*se, lo, lale sí**, él, ella, ellocon él/ella/usted*, consigo** (con + sí)
พหูพจน์ (พวก..., ...ทั้งหลาย) ที่ 1nosotros, nosotrasnosnos nosotros, nosotrascon nosotros/nosotras
ที่ 2vosotros, vosotras***os/vosos/vos vosotros, vosotras***con vosotros/vosotras***
ที่ 3ellos, ellas, ustedes*se, los, lasles sí, ellos, ellascon ellos/ellas/ustedes*
หมายเหตุ

*รูปย่อของสรรพนาม usted คือ Ud., Vd., U. หรือ V. ส่วนรูปย่อของสรรพนาม ustedes คือ Uds. หรือ Vds. ทั้งหมดต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เสมอ

**สรรพนาม ในการกกรรมของบุพบทเป็นสรรพนามสะท้อน (reflexive pronoun) เสมอ แต่จะมีรูปไม่สอดคล้องกับรูปสรรพนามเดียวกันในการกประธาน กล่าวคือ ประธาน él mismo, ella misma และ ellos mismos ("ตัวเขาเอง", "ตัวเธอเอง", "ตัวพวกเขาเอง") เมื่อตามหลังบุพบท en, para เป็นต้น ก็จะเปลี่ยนรูปเป็น en sí, para sí ยกเว้นตามหลังบุพบท con จะเปลี่ยนรูปเป็น consigo (ไม่เกี่ยวข้องกับการกผู้ร่วม)

***สรรพนาม vosotros/-as ("พวกเธอ") มีที่ใช้เฉพาะในประเทศสเปนเท่านั้น ส่วนในทวีปอเมริกา รวมทั้งบางส่วนของแคว้นอันดาลูซิอาและหมู่เกาะคะแนรีจะใช้สรรพนาม ustedes ทั้งในความหมายว่า "พวกคุณ" และ "พวกเธอ"

กริยา

การใช้คำกริยาสเปนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุดเรื่องหนึ่งของไวยากรณ์สเปน ระบบกริยาจะแบ่งออกเป็น 14 กาลแตกต่างกัน (กาลในที่นี้เป็นคำรวมหมายถึงทั้งกาลและมาลา) ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อยได้แก่ กาลเดี่ยว (simple tense) 7 กาล และกาลประสมหรือกาลสมบูรณ์ (compound tense; perfect tense) 7 กาล โดยในกาลประสมจำเป็นต้องใช้คำกริยาช่วย haber ร่วมกับรูปกริยาขยายแบบอดีต (past participle)

กริยาสเปนจะผันไปในหมวดหมู่ต่าง ๆ ซึ่งแบ่งตามลักษณะการแสดงเนื้อความของตัวกริยาเอง หมวดหมู่เหล่านั้นเรียกว่ามาลา ในภาษาสเปนได้แก่ นิเทศมาลาหรือมาลาบอกเล่า (indicative), ปริกัลปมาลาหรือสมมุติมาลา (subjunctive) และอาณัติมาลาหรือมาลาคำสั่ง (imperative) ส่วนรูปกริยาไม่ระบุประธาน (formas no personales) ที่ตำราไวยากรณ์เก่าจัดเป็นอีกมาลาหนึ่งนั้นประกอบด้วยรูปกริยาไม่แท้ 3 รูป ซึ่งกริยาทุกตัวจะมีรูปกริยาเหล่านี้ ได้แก่ รูปกริยากลาง (infinitive), รูปกริยาเป็นนาม (gerund) และรูปกริยาขยายแบบอดีต (past participle) รูปกริยาไม่แท้ตัวหลังสุดนี้สามารถผันตามเพศและพจน์ของคำนามได้เหมือนกับคำคุณศัพท์ ดังนั้นมันจึงมีรูปผันที่เป็นไปได้อีก 4 รูป คือ เพศชาย เอกพจน์, เพศหญิง เอกพจน์, เพศชาย พหูพจน์ และเพศหญิง พหูพจน์ นอกจากนี้ยังมีรูปผันอีกรูปหนึ่งที่เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า รูปกริยาขยายแบบปัจจุบัน (present participle) แต่โดยทั่วไปจะถือว่ารูปนี้เป็นคำคุณศัพท์ที่ถูกแปลงมาจากคำกริยามากกว่าจะเป็นรูปหนึ่งของคำกริยา

กริยาจำนวนมากที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นกริยาที่ผันแบบผิดปกติ ส่วนกริยาที่เหลือจะจัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสามกลุ่มซึ่งมีรูปกริยากลางลงท้ายด้วย -ar, -er และ -ir ตามลำดับ ทั้งนี้ กริยาในแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบการผันแบบเดียวกัน กริยาที่ลงท้ายด้วย -ar เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุด และกริยาที่เกิดขึ้นใหม่ในภาษาสเปนก็มักจะมีส่วนท้ายเป็น -ar ด้วย ส่วนกลุ่มกริยาที่ลงท้ายด้วย -er และ -ir จะมีคำกริยาในกลุ่มของตัวเองน้อยกว่าและการผันกริยามักจะมีลักษณะผิดปกติมากกว่ากริยาในกลุ่มที่ลงท้ายด้วย -ar

ในมาลาบอกเล่าจะมีกาลทั้งหมด 7 กาลซึ่งพอจะเทียบกับกาลที่มีอยู่ในภาษาอังกฤษได้บ้างไม่มากก็น้อย เช่น ปัจจุบันกาล (I walk, I do walk), อดีตกาล (-ed หรือ did), กาลไม่สมบูรณ์ (was, were, หรือ used to), กาลสมบูรณ์ (I have _____), อนาคตกาล (will) และประโยคเงื่อนไข (would) เป็นต้น สิ่งที่ยากก็คือ แต่ละกาลจะมีรูปผันกริยาที่แตกต่างกันไปตามประธาน ซึ่งไวยากรณ์ภาษาอังกฤษจะง่ายกว่าในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น กริยา eat เมื่อผันตามปัจจุบันกาลจะมีรูปที่เป็นไปได้อยู่ 2 รูป นั่นคือ eat และ eats ขณะที่ภาษาสเปน กริยา comer ("กิน") ในกาลเดียวกันจะมีรูปผันที่เป็นไปได้ถึง 6 รูป


ส่วนเติมข้างท้ายของกริยาในมาลาและกาลต่าง ๆ
มาลาบอกเล่า
(MODO INDICATIVO)
ปัจจุบันกาล
(Presente)
อดีตกาลสมบูรณ์ (กาลเดี่ยว)
(Pretérito perfecto simple)
อดีตกาลไม่สมบูรณ์
(Pretérito imperfecto)
อนาคตกาล (กาลเดี่ยว)
(Futuro simple)
ประโยคเงื่อนไข (เดี่ยว)
(Condicional simple)
กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3
‑o ‑o ‑o ‑é ‑í ‑í ‑aba ‑ía ‑ía ‑aré ‑eré ‑iré ‑aría ‑ería ‑iría
‑as ‑ás ‑es ‑és ‑es ‑ís ‑aste ‑iste ‑iste ‑abas ‑ías ‑ías ‑arás ‑erás ‑irás ‑arías ‑erías ‑irías
‑a ‑e ‑e ‑ó ‑ió ‑ió ‑aba ‑ía ‑ía ‑ará ‑erá ‑irá ‑aría ‑ería ‑iría
‑amos ‑emos ‑imos ‑amos ‑imos ‑imos ‑ábamos ‑íamos ‑íamos ‑aremos ‑eremos ‑iremos ‑aríamos ‑eríamos ‑iríamos
‑áis ‑éis ‑ís ‑asteis ‑isteis ‑isteis ‑abais ‑íais ‑íais ‑aréis ‑eréis ‑iréis ‑aríais ‑eríais ‑iríais
‑an ‑en ‑en ‑aron ‑ieron ‑ieron ‑aban ‑ían ‑ían ‑arán ‑erán ‑irán ‑arían ‑erían ‑irían
สมมุติมาลา
(MODO SUBJUNTIVO)
มาลาคำสั่ง
(MODO IMPERATIVO)
ปัจจุบันกาล
(Presente)
อดีตกาลไม่สมบูรณ์
แบบที่ 1
(Pretérito imperfecto I)
อดีตกาลไม่สมบูรณ์
แบบที่ 2
(Pretérito imperfecto II)
อนาคตกาล (กาลเดี่ยว)
(Futuro simple)
คำสั่งให้ทำ
(Imperativo positivo)
กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3
‑e ‑a ‑a ‑ara ‑iera ‑iera ‑ase ‑iese ‑iese ‑are ‑iere ‑iere
‑es ‑as ‑as ‑aras ‑ieras ‑ieras ‑ases ‑ieses ‑ieses ‑ares ‑ieres ‑ieres ‑a ‑á ‑e ‑é ‑e ‑í
‑e ‑a ‑a ‑ara ‑iera ‑iera ‑ase ‑iese ‑iese ‑are ‑iere ‑iere ‑e ‑a ‑a
‑emos ‑amos ‑amos ‑áramos ‑iéramos ‑iéramos ‑ásemos ‑iésemos ‑iésemos ‑áremos ‑iéremos ‑iéremos ‑emos ‑amos ‑amos
‑éis ‑áis ‑áis ‑arais ‑ierais ‑ierais ‑aseis ‑ieseis ‑ieseis ‑areis ‑iereis ‑iereis ‑ad ‑ed ‑id
‑en ‑an ‑an ‑aran ‑ieran ‑ieran ‑asen ‑iesen ‑iesen ‑aren ‑ieren ‑ieren ‑en ‑an ‑an
รูปกริยาที่ไม่ระบุประธาน
(FORMAS NO PERSONALES)
* การใช้กาลประสม จำเป็นต้องผันคำกริยาช่วย haber ไปตามช่วงเวลา (ปัจจุบัน อดีต หรืออนาคต) ก่อน แล้วจึงตามด้วยรูปกริยาขยายแบบอดีต (participio pasado)
* -ante และ -iente ในวงเล็บเป็นส่วนเติมท้ายของรูปที่เรียกว่า "กริยาขยายแบบปัจจุบัน" (participio de presente) ในภาษาละติน รูปกริยาขยายชนิดนี้ยังคงมีค่าความหมายที่แสดงการกระทำจึงจัดเป็นรูปหนึ่งของคำกริยา แต่สำหรับภาษาสเปนสมัยใหม่ รูปนี้ถือเป็นคำคุณศัพท์เนื่องจากสูญเสียค่าความหมายเช่นนั้นไปแล้ว
รูปกริยากลาง
(Infinitivo)
รูปกริยาขยาย
(Participio)
รูปกริยาเป็นนาม
(Gerundio)
กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3 กลุ่ม 1 กลุ่ม 2 กลุ่ม 3
‑ar ‑er ‑ir ‑ado/a
(-ante)
‑ido/a
(-iente)
‑ido/a
(-iente)
‑ando ‑iendo ‑iendo

วากยสัมพันธ์

ลักษณะทางวากยสัมพันธ์ของภาษาสเปนโดยรวมเป็นแบบประธาน-กริยา-กรรม มีโครงสร้างแตกกิ่งไปทางขวา มีการใช้คำบุพบท ในประโยคหนึ่ง ๆ มักจะวางคำคุณศัพท์ไว้หลังคำนาม (แต่ไม่เสมอไป) นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังเป็นภาษาละสรรพนาม (pro-drop language) กล่าวคือสามารถละประธานของประโยคได้เมื่อไม่จำเป็นทั้งในการสนทนาและการเขียน

คำศัพท์

ตัวอย่างคำสเปนที่มาจากภาษาอาหรับ
คำสเปน คำอาหรับ ความหมาย
aceite azzayt น้ำมัน
aceituna zaytūnah มะกอก
alcalde qāḍī ("ผู้พิพากษา") นายกเทศมนตรี
alcohol kuḥl แอลกอฮอล์
aldea ḍay‘ah หมู่บ้าน
almohada miẖaddah หมอน
alquiler kirā' การเช่า
asesino ḥaššāšīn
("คนติดกัญชา")
ผู้ลอบสังหาร
azafrán za‘farān หญ้าฝรั่น
espinaca isbānaẖ ผักโขม
hasta ḥattá จนกระทั่ง
jazmín yāsamīn มะลิ
marfil ‘aẓm alfíl งาช้าง
rehén rihān ตัวประกัน, เชลย
zanahoria safunnárya แครอต

คำศัพท์ภาษาสเปนที่ใช้ในชีวิตประจำวันประมาณร้อยละ 94 มีที่มาจากภาษาละติน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติและไม่น่าแปลกใจเนื่องจากภาษานี้เป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาโรมานซ์ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับภาษาอื่น ภาษาสเปนยังมีคำยืมจากภาษาของชนชาติต่าง ๆ ที่ผู้ใช้ภาษาสเปนและบรรพบุรุษของผู้ใช้ภาษาสเปนได้เข้าไปมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วยอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลากว่าพันปี

ในภาษาสเปน ปรากฏคำศัพท์จำนวนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาของกลุ่มคนสมัยก่อนโรมันบนคาบสมุทรไอบีเรีย (ภาษาไอบีเรีย, บาสก์, เคลต์ หรือตาร์เตสโซส) เช่น gordo ("อ้วน"), izquierdo ("ซ้าย"), nava ("ที่ราบลุ่มระหว่างภูเขา"), conejo ("กระต่าย")

ภาษาของชาววิซิกอท (ชนเผ่าเยอรมันที่ปกครองคาบสมุทรไอบีเรียต่อจากจักรวรรดิโรมัน) ก็มีอิทธิพลต่อคลังคำศัพท์ภาษาสเปนอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างได้แก่ ชื่อแรกเกิดทางศาสนาคริสต์ เช่น Enrique, Gonzalo, Rodrigo เป็นต้น นามสกุลที่มาจากชื่อเหล่านั้น คือ Enríquez, González
และ Rodríguez คำศัพท์บางคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น brotar ("งอก/ออกดอก"), ganar ("ชนะ"), ganso ("ห่าน"), ropa ("เสื้อผ้า") คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการทหาร เช่น yelmo ("หมวกเหล็กที่ใส่กับชุดเกราะ"), espía ("สายลับ"), guerra ("สงคราม") เป็นต้น รวมทั้งหน่วยคำเติมหลัง -engo เช่นในคำว่า realengo ("ของรัฐ") เป็นต้น

นอกจากนี้ การครอบครองคาบสมุทรไอบีเรียเป็นเวลาเกือบ 800 ปีของชาวมุสลิมยังเปิดโอกาสให้ภาษาสเปนรับคำศัพท์จำนวนมากจากภาษาอาหรับเข้ามาใช้ โดยเฉพาะคำที่ขึ้นต้นด้วย al- แม้กระทั่งหน่วยคำเติมหลัง ที่ใช้แสดงสัญชาติของประเทศหรือดินแดนบางแห่งก็มีที่มาจากภาษานี้เช่นกัน ตัวอย่างได้แก่ ceutí ("ชาวเซวตา"), iraquí ("ชาวอิรัก"), israelí ("ชาวอิสราเอล") เป็นต้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เริ่มมีการยืมคำศัพท์ในแวดวงศิลปะจากภาษาอิตาลีมาใช้ในภาษาสเปน รวมทั้งมีการยืมคำศัพท์จากภาษาชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาอีกด้วย เช่น ภาษานาวัตล์ ภาษาอาราวัก และภาษาเกชัว เป็นต้น ซึ่งส่วนมากเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับพืช ประเพณี หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับดินแดนนั้น ได้แก่ batata ("มันเทศ"), papa ("มันฝรั่ง"), yuca ("มันสำปะหลัง"), cacique ("ผู้มีอำนาจในท้องถิ่น"), huracán ("เฮอร์ริเคน"), cacao ("โกโก้"), chocolate ("ช็อกโกแลต") เป็นต้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เริ่มมีความนิยมในการใช้ศัพท์สูงและสำนวนโวหารที่มีความหมายและโครงสร้างไวยากรณ์ซับซ้อน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากงานเขียนในรูปแบบดังกล่าวของลุยส์ เด กองโกรา กวียุคบารอกของสเปน จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงมีการยืมคำศัพท์จากภาษาฝรั่งเศสมาใช้ โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น การทำอาหาร และการปกครองของชนชั้นขุนนาง เช่น pantalón ("กางเกงขายาว"), puré ("ซุปเคี่ยวเปื่อยแล้วกรอง"), tisú ("ผ้าเส้นทองหรือเงิน"), menú ("รายการอาหาร"), maniquí ("หุ่น"), restorán/restaurante ("ภัตตาคาร"), buró ("โต๊ะทำงาน/คณะกรรมการบริหาร"), carné ("บัตรประจำตัว"), gala ("ชุดหรูหรา"), bricolaje ("งานช่างในบ้านที่ทำได้ด้วยตัวเอง") เป็นต้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังคงมีการนำคำศัพท์ใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในภาษาสเปนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคำศัพท์จากภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน แต่ก็มีคำศัพท์จากภาษาอิตาลีเข้ามาอีกครั้งเช่นกันในสาขาการทำอาหารและการดนตรี (โดยเฉพาะการแสดงอุปรากร) เช่น batuta ("ไม้บาตอง"), soprano ("โซปราโน"), piano เป็นต้น และตั้งแต่เริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา คลังคำศัพท์ของภาษาสเปนได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษอย่างมากในทุกสาขา โดยเฉพาะด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดนตรี และการกีฬา เช่น marketing, quasar, Internet, software, rock, reggae, set, penalti, fútbol, windsurf เป็นต้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ราชบัณฑิตยสถานสเปนได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำยืมและคำทับศัพท์โดยใช้ตัวสะกดตามภาษาต้นฉบับ แต่กำหนดให้ใช้คำแปลตรงตัวของคำที่ยืมมานั้น หรือใช้ตัวสะกดที่สอดคล้องกับอักขรวิธีดั้งเดิมของภาษาสเปนและยังออกเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียงในภาษาต้นฉบับแทน เช่น zum แทน zoom, correo electrónico แทน e-mail, fútbol แทน football, escáner แทน scanner, mercadotecnia แทน marketing เป็นต้น แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นส่วนใหญ่จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากสังคม แต่บางคำที่เคยเสนอให้ใช้ เช่น "cadi" แทน caddie, "best-séller" แทน best seller, "yaz" แทน jazz เป็นต้น กลับไม่ได้รับการยอมรับและหายไปจากพจนานุกรมในที่สุด

โดยทั่วไปในปัจจุบัน ภาษาสเปนในทวีปอเมริกา (โดยเฉพาะประเทศเม็กซิโก) มักมีการยืมคำศัพท์หรือรูปแบบโครงสร้างของคำศัพท์และสำนวนต่าง ๆ มาจากภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ภาษาสเปนในประเทศสเปน จะนิยมโครงสร้างคำศัพท์จากภาษาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศสมากกว่า ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ภาษาสเปนบนคาบสมุทรไอบีเรียจะเรียกคอมพิวเตอร์ว่า ordenador โดยยืมรูปคำ ordinateur จากภาษาฝรั่งเศสมาปรับใช้ ตรงข้ามกับผู้ใช้ภาษาสเปนในทวีปอเมริกา กล่าวคือ จะใช้คำว่า computadora หรือ computador ซึ่งเป็นการดัดแปลงรูปคำของคำว่า computer นั่นเอง

การแปร

สัทวิทยา

ภาษาสเปนที่ใช้ในภาคเหนือและภาคกลางของประเทศสเปนประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะ 19 ตัว (ตามที่กล่าวไปแล้ว) แต่ภาษาสเปนที่ใช้ในประเทศอื่น ๆ จะมีหน่วยเสียงพยัญชนะเพียง 17 หน่วยเสียง และบางแห่งมี 18 หน่วยเสียง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยเสียงแปรอีกเป็นจำนวนมาก ความแตกต่างที่สำคัญในด้านสัทวิทยาระหว่างภาษาสเปนในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากความแตกต่างเรื่องเสียงพยัญชนะนั้นมีดังต่อไปนี้

  • การแทนที่เสียง [θ] ด้วยเสียง [s] ในประเทศสเปน (ยกเว้นหมู่เกาะคะแนรีและแคว้นอันดาลูซิอา) จะแยกความแตกต่างระหว่างเสียง [θ] (เขียนแทนด้วย ‹z› หรือ ‹c› เมื่ออยู่หน้า ‹e› และ ‹i›) กับเสียง [s] เช่น casa (‘บ้าน’) ออกเสียง [ˈkäsä], caza (‘การล่าสัตว์’) ออกเสียง [ˈkäθä] ขณะที่ในหมู่เกาะคะแนรี แคว้นอันดาลูซิอา และทวีปอเมริกาจะไม่มีความแตกต่างดังกล่าว เช่น casa และ caza จะออกเสียงว่า [ˈkäsä] ทั้งคู่
  • การออกเสียง /s/ โดยใช้ฐานกรณ์ที่แตกต่างกัน ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาและภาคใต้ของประเทศสเปน หน่วยเสียงพยัญชนะ /s/ จะเป็นเสียงจากฐานปุ่มเหงือกกับปลายลิ้น (lamino-alveolar) [s̻] ขณะที่ในภาคเหนือและภาคกลางของสเปนรวมทั้งแถบเทือกเขาแอนดีสในโคลอมเบีย เปรู และโบลิเวีย /s/ จะเป็นเสียงจากฐานปุ่มเหงือกกับปลายสุดลิ้น (apico-alveolar) [s̺]
  • การสูญเสียง /s/ ท้ายพยางค์ การไม่ออกเสียง /s/ ท้ายพยางค์ (คล้ายกับกระบวนการที่เกิดกับภาษาฝรั่งเศสในยุคกลาง) เป็นปรากฏการณ์ที่พบทั่วไปในพื้นที่ราบแทบทุกแห่งของประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา พื้นที่ที่ไม่เกิดปรากฏการณ์นี้ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก (ยกเว้นพื้นที่ชายฝั่งทะเลแคริบเบียนบางแห่ง) ภาคเหนือของสเปน (แต่เริ่มจะพบมากขึ้นแล้ว) และบริเวณแนวเทือกเขาแอนดีส (โดยเฉพาะในโคลอมเบีย เอกวาดอร์ แถบชายฝั่งของเปรู และโบลิเวีย)
  • การแทนเสียง [ʎ] ด้วยเสียง [ʝ] หรือ [ɟʝ] เดิม ‹ll› ออกเสียงเป็น [ʎ] แต่ปัจจุบันเสียงนี้ถูกกลืนเข้ากับเสียงของ ‹y› กล่าวคือ พยัญชนะทั้งสองตัวจะออกเสียงเดียวกันเป็น [ʝ ~ ɟʝ] ทำให้เกิดความสับสนระหว่างการใช้พยัญชนะทั้งสองตัวนี้ เช่น คำว่า yendo บางครั้งมีผู้สะกดผิดเป็น *llendo เป็นต้น ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า "เยอิสโม" (yeísmo) เกิดในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกที่ใช้ภาษาสเปน ยกเว้นในพื้นที่บางแห่งของทวีปอเมริกาซึ่งใช้ภาษานี้ร่วมกับภาษาอื่นที่มีการแยกความแตกต่างทางเสียงระหว่างพยัญชนะสองตัวนี้ เช่น พื้นที่สองภาษาอย่างเขตภาษาสเปน-เกชัวหรือเขตภาษาสเปน-กวารานีในประเทศโบลิเวียและปารากวัย เป็นต้น รวมทั้งในพื้นที่หลายแห่งของสเปนซึ่งยังคงมีการแยกความแตกต่างของเสียงพยัญชนะทั้งสองตัวอยู่ แต่ก็เริ่มลดลงแล้ว
  • หน่วยเสียงสระที่เกิดจากการสูญเสียง /s/ ท้ายพยางค์ ทางภาคใต้ของประเทศสเปน โดยเฉพาะในแคว้นมูร์เซียและภาคตะวันออกของแคว้นอันดาลูซิอา เสียงพยัญชนะ /s/ ที่อยู่ท้ายคำจะออกเสียงเบาลงเป็น [h] หรืออาจไม่ออกเสียงเลย ดังนั้น ในการออกเสียงสระที่ปรากฏหน้าหน่วยเสียงพยัญชนะนี้ ระดับของลิ้นจึงลดต่ำลงจากตำแหน่งปกติ เกิดเป็นเสียงสระเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิม 5 ตัวในภาษาสเปนถิ่นเหนือ ดังต่อไปนี้
/as/ > [æ̞] เช่น más [mæ̞] (‘อีก’)
/es/ > [ɛ] เช่น mes [mɛ] (‘เดือน’)
/is/ > [i̞] เช่น mis [mi̞] (‘ของฉัน พหูพจน์’)
/os/ > [ɔ] เช่น tos [tɔ] (‘ไอ’)
/us/ > [u̞] เช่น tus [tu̞] (‘ของเธอ พหูพจน์’)

ไวยากรณ์

การใช้สรรพนาม vos

 
การใช้ vos กับกริยา pedir (‘สั่ง’) บนป้ายโฆษณา
ในเอลซัลวาดอร์
 
การใช้ vos กับกริยา querer (‘ต้องการ’) และ venir (‘มา’) บนป้ายโฆษณาในอาร์เจนตินา

ภาษาสเปนมีสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ 3 ตัว ได้แก่ usted, และอีกตัวหนึ่งซึ่งใช้กันแพร่หลายในทวีปอเมริกา คือ vos โดยทั่วไปนั้น และ vos เป็นสรรพนามที่ไม่เป็นทางการ (‘เธอ’) คือผู้พูดจะใช้กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว ส่วน usted (‘คุณ, ท่าน’) เป็นสรรพนามที่ถือว่าเป็นทางการในทุกแห่ง โดยใช้ในทำนองแสดงความนับถือเมื่อพูดกับคนที่มีอายุมากกว่าหรือคนที่ไม่สนิท

โบเซโอ (voseo) หมายถึงการใช้ vos เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์แทน นอกจากนี้ยังมีความหมายครอบคลุมถึงการใช้รูปผันกริยาของ vos กับสรรพนาม ในการกประธานอีกด้วย เช่น ภาษาสเปนในประเทศชิลี เป็นต้น

รูปกรรมตามหลังบุพบทของสรรพนาม คือ ti จะถูกแทนที่ด้วย vos เช่นกัน กล่าวคือ vos จะเป็นได้ทั้งรูปประธานและรูปกรรมตามหลังบุพบท ดังนั้น para ti (‘เพื่อเธอ’) จึงกลายเป็น para vos ส่วนรูปประสมบุพบท-สรรพนามอย่าง contigo (‘กับเธอ’) จะกลายเป็น con vos แต่รูปกรรมตรงและกรรมรอง te ยังคงรูปเดิม ไม่เหมือนกรณี vosotros (‘พวกเธอ’) ที่ใช้รูปกรรมตรงและกรรมรอง os นอกจากนี้ รูปสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของของ vos ก็ใช้รูปเดียวกับ คือ ‹tu(s), tuyo(s) และ tuya(s)› แทนที่จะใช้ร่วมกับ vosotros เป็น ‹vuestro(s) และ vuestra(s)

ตารางข้างล่างนี้แสดงการเปรียบเทียบรูปคำกริยาหลายตัวที่ผันกับประธาน และประธาน vos ส่วนแถวสุดท้ายคือรูปคำกริยาที่ผันกับประธาน vosotros ซึ่งเป็นรูปสรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์ที่ปัจจุบันใช้ในประเทศสเปนเท่านั้น รูปผันที่มีเครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัดกำกับอยู่ (คือรูปผันของ vos และ vosotros) และรูปกริยากลาง เมื่อออกเสียงจะลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย ส่วนรูปผันของกริยากับประธาน จะลงน้ำหนักที่พยางค์รองสุดท้าย

รูปกริยากลาง ความหมาย Vos
(ทั่วไป)
Vos
(เวเนซุเอลา)
Vos/Tú
(ชิลี)
Vosotros
  hablar ‘พูด’ hablas hablás habláis hablái habláis
  comer ‘กิน’ comes comés coméis comís coméis
  poder ‘สามารถ’ puedes podés podéis podís podéis
  vivir ‘อยู่อาศัย’ vives vivís vivís vivís vivís
  ser ‘เป็น, อยู่’ eres sos sois soi/erís sois
  haber ‘มี’ has has/habés habéis habís/hai habéis
  venir ‘มา’ vienes venís venís venís venís

รูปผันกริยาทั่วไปของประธาน vos หมายถึงรูปผันที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปและใช้กันในหลายประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย พื้นที่หลายแห่งในโบลิเวีย เอกวาดอร์ โคลอมเบีย อเมริกากลาง ไปจนถึงรัฐทางภาคใต้ของเม็กซิโก

ในทางกลับกัน ภาษาสเปนที่ใช้กันในรัฐซูเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่รอบทะเลสาบมาราไกโบทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวเนซุเอลา มีลักษณะเด่นคือ ในการผันกริยากับประธาน vos จะยังคงรักษารูปผันที่มีมาแต่เดิมเอาไว้ ซึ่งรูปผันดังกล่าวในปัจจุบันยังคงใช้ผันกับประธาน vosotros ในประเทศสเปน

รูปผันกริยาของประธาน vos ในภาษาสเปนของประเทศชิลียังมีความแตกต่างออกไปอีก กล่าวคือ แทนที่จะตัด -i- ออกจากรูปสระประสม -áis (และ -ois) ที่อยู่ท้ายคำเหมือนกับการผันทั่วไป แต่กลับตัดตัว -s ท้ายคำออกไปแทน (เช่น vos/tú soi/erís, vos/tú estái) และในกรณีที่รูปผัน
นั้นลงท้ายด้วย -ís จะยังคงตัว -s ไว้เหมือนเดิม (เช่น comís, podís, vivís, erís, venís) โดยที่พยัญชนะ ‹s› จะไม่ถูกละไปเสียทีเดียวในการออกเสียง แต่จะได้ยินเป็นเสียง [h]

เป็นที่น่าสังเกตว่า ลักษณะของโบเซโอสำหรับภาษาสเปนในประเทศชิลีจะเป็นการใช้ประธาน ตามด้วยรูปผันกริยาของ vos (voseo verbal) เช่น  sabís มากกว่าจะใช้ประธาน vos ตามด้วยรูปผันกริยาของ vos (voseo pronominal) เช่น vos sabís ทั้งนี้เนื่องจากโบเซโอในลักษณะหลังจะปรากฏในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการอย่างมากและอาจถือว่าหยาบคายได้ในบางกรณี

 
ความนิยมในการใช้สรรพนาม vos ในประเทศต่าง ๆ
สีน้ำเงินเข้ม: ประเทศที่ใช้ vos ทั้งในการพูดและเขียน
สีน้ำเงิน: ประเทศที่ใช้ vos เป็นหลักเช่นกัน แต่ไม่เข้มข้นเท่าในพื้นที่สีน้ำเงินเข้ม
สีเขียว: ประเทศที่มีการใช้ vos มากน้อยแล้วแต่ท้องถิ่น
สีฟ้า: ประเทศที่มีการใช้ vos น้อยมาก
สีแดง: ประเทศที่ไม่ปรากฏการใช้ vos
ความแพร่หลายในลาตินอเมริกา

สรรพนาม vos ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ อย่างกว้างขวางในภาษาสเปนสำเนียงริโอเดลาปลาตา (ประเทศอาร์เจนตินาและอุรุกวัย) ในปารากวัย กัวเตมาลา นิการากัว และคอสตาริกา ผู้คนในโบลิเวีย ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ก็ใช้สรรพนามตัวนี้ในชีวิตประจำวันเช่นกัน แต่ในสามประเทศนี้ สื่อยังคงนิยมใช้สรรพนาม

โดยทั่วไป vos จะไม่ใช้ในงานเขียนที่เป็นทางการ (ยกเว้นในอาร์เจนตินาและอุรุกวัย) ในเอลซัลวาดอร์ การ์ตูนในหนังสือพิมพ์มักจะใช้สรรพนาม vos โดยแทบจะไม่พบการใช้สรรพนามตัวนี้ในบทความอื่นเลย นอกจากในข้อความที่ผู้เขียนยกมากล่าวอ้าง (quotation) แต่สื่อต่าง ๆ (โดยเฉพาะป้ายประกาศและสื่อโฆษณา) เริ่มหันมาใช้สรรพนามตัวนี้แทนที่ มากขึ้นในอเมริกากลาง เช่น นิการากัวและฮอนดูรัส ส่วนอาร์เจนตินาและอุรุกวัยยังใช้ vos เป็นรูปสรรพนามมาตรฐานในสื่อโทรทัศน์อีกด้วย

ในประเทศโบลิเวีย ภาคเหนือและภาคใต้ของเปรู เอกวาดอร์ พื้นที่บางแห่งแถบเทือกเขาแอนดีสในเวเนซุเอลา พื้นที่ส่วนใหญ่ของโคลอมเบีย และภาคตะวันออกของคิวบา ถือว่า เป็นรูปสรรพนามที่ใช้ในภาษาระดับทางการ โดย vos จะเป็นรูปสรรพนามที่ผู้คนทั่วไปใช้กันมากกว่า ส่วนในประเทศชิลี รัฐซูเลียของเวเนซุเอลา ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของโคลอมเบีย อเมริกากลาง ไปจนถึงรัฐตาบัสโกและรัฐเชียปัสทางภาคใต้ของเม็กซิโก จะใช้สรรพนาม ในระดับกึ่งทางการ และใช้สรรพนาม vos ในระดับกันเอง

อย่างไรก็ตาม ในลาตินอเมริกาก็ยังมีพื้นที่ที่ใช้สรรพนาม ในฐานะสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์เป็นหลักอยู่เช่นกัน ได้แก่ ประเทศคิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน ปวยร์โตรีโก พื้นที่เกือบทั้งหมดของเม็กซิโกและปานามา พื้นที่ส่วนใหญ่ของเปรูและเวเนซุเอลา และชายฝั่งทะเลแคริบเบียนของโคลอมเบีย

การใช้สรรพนาม ustedes

ในภาษาสเปนยังมีความแตกต่างในเรื่องการใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์ ในลาตินอเมริกามีสรรพนามดังกล่าวเพียงรูปเดียวที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ustedes ซึ่งใช้ทั้งในเชิงทางการและไม่ทางการ (= ‘พวกคุณหรือพวกเธอ’) ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่บางครั้งอาจพบ vosotros (= ‘พวกเธอ’) ในบทร้อยกรองหรือวรรณกรรมที่ใช้สำนวนโวหารต่าง ๆ เช่นกัน

ในสเปน การใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์จะแบ่งออกเป็น ustedes (ทางการ) และ vosotros (กันเอง) โดยสรรพนาม vosotros เป็นรูปพหูพจน์ของสรรพนาม นั่นเอง แต่ในทวีปอเมริกา รวมทั้งบางเมืองทางภาคใต้ของสเปน (เช่น กาดิซหรือเซบิยา) และหมู่เกาะคะแนรี สรรพนาม vosotros จะถูกแทนด้วย ustedes เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ ustedes ในความหมายว่า ‘พวกเธอ’ ทางภาคใต้ของสเปนนั้นไม่เป็นไปตามกฎการผันกริยา (ซึ่งแสดงความสอดคล้องระหว่างสรรพนามกับกริยา) เช่น ขณะที่ประโยค ustedes van (‘พวกคุณไป’) ใช้รูปผันกริยาสำหรับประธานสรรพนามบุรุษที่ 3 พหูพจน์ (เป็นกฎการผันกริยาตามปกติ) แต่ในเมืองกาดิซและเซบิยาเมื่อพูดว่า ‘พวกเธอไป’ จะใช้ ustedes vais ซึ่งเป็นรูปผันกริยาที่ตามกฎแล้วจะใช้กับ vosotros เท่านั้น ส่วนในหมู่เกาะคะแนรี การผันกริยาจะเป็นไปตามปกติคือ ustedes van ไม่ว่าจะหมายถึง ‘พวกเธอไป’ หรือ ‘พวกคุณไป’

คำศัพท์

มีคำภาษาสเปนเป็นจำนวนมากที่มีความหมายและรูปแบบการใช้แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ผู้พูดภาษาสเปนส่วนใหญ่จะรู้จักคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันในรูปเขียนอื่น แม้จะเป็นคำที่ไม่ได้ใช้กันทั่วไปก็ตาม แต่ชาวสเปนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจการใช้คำที่มีรูปเขียนเดียวกันในความหมายอื่น ๆ ของผู้พูดภาษาสเปนในทวีปอเมริกา เช่น คำว่า mantequilla, aguacate และ albaricoque ในประเทศสเปน (แปลว่า ‘เนย’, ‘อะโวคาโด’ และ ‘แอพริคอต’ ตามลำดับ) มีความหมายตรงกับคำว่า manteca, palta และ damasco ในประเทศอาร์เจนตินา ชิลี เปรู ปารากวัย และอุรุกวัย คำที่ใช้กันตามปกติในสเปนอย่าง coger (‘เก็บ, หยิบ’) และ concha (‘เปลือกหอย’) กลายเป็นคำที่มีความหมายหยาบโลนในลาตินอเมริกา เพราะที่นั่น coger จะหมายถึง ‘มีเพศสัมพันธ์’ ส่วน concha หมายถึง ‘อวัยวะเพศหญิง’

ตัวอย่างอื่น ๆ ได้แก่ คำว่า ตาโก taco ซึ่งมีความหมายหนึ่งแปลว่า ‘คำสบถ’ ในสเปน แต่ทั่วโลกรู้จักคำนี้ในฐานะชื่ออาหารเม็กซิโกชนิดหนึ่ง คำว่า pinche ซึ่งในปวยร์โตรีโกแปลว่า ‘กิ๊บติดผม’ ถือเป็นคำไม่สุภาพในเม็กซิโก (ความหมายทำนองเดียวกับ ‘damn’ ในภาษาอังกฤษ) ส่วนในเอลซัลวาดอร์ นิการากัว และคอสตาริกาแปลว่า ‘ขี้เหนียว’ คำว่า coche ซึ่งในสเปนหมายถึง ‘รถยนต์’ นั้น ในกัวเตมาลาจะหมายถึง ‘หมู’ หรือ ‘สกปรก’ ขณะที่ carro ซึ่งหมายถึง ‘รถยนต์’ ในลาตินอเมริกาบางประเทศ กลับหมายถึง ‘เกวียน’ ในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสเปน และคำว่า papaya ซึ่งโดยทั่วไปแปลว่า ‘มะละกอ’ แต่ในคิวบา คำนี้เป็นสแลงแปลว่า ‘ช่องคลอด’ ดังนั้นเมื่อต้องการจะพูดถึงผลไม้จริง ๆ ชาวคิวบาจะเรียกว่า frutabomba

นอกจากนี้ วัยรุ่นในประเทศที่พูดภาษาสเปนก็มีคำสแลงสำหรับใช้เรียกเพื่อนสนิท (ในทำนองเดียวกับที่วัยรุ่นอเมริกันนิยมใช้คำว่า ‘dude’) แต่คำที่ใช้เรียกนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ เช่น güey, mano, หรือ carnal ในเม็กซิโก, cuate ในกัวเตมาลาและฮอนดูรัส, mae ในคอสตาริกา, tío ในสเปน, tipo ในโคลอมเบีย, huevón ในชิลี และ chabón ในอาร์เจนตินา คำเหล่านี้จะใช้ในวงจำกัดกับเพื่อนที่สนิทจริง ๆ เท่านั้น เพราะค่อนข้างหยาบคายและบางคำมีความหมายดั้งเดิมในเชิงดูหมิ่น

หน่วยงานควบคุมการใช้ภาษา

ราชบัณฑิตยสถานสเปน (Real Academia Española) ร่วมกับบัณฑิตยสถานภาษาสเปนในชาติที่ใช้ภาษานี้เป็นหลักอีก 21 แห่ง (รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา) ใช้อำนาจที่มีในการสร้างมาตรฐานทางภาษาผ่านสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งพจนานุกรม ตำราไวยากรณ์ และหลักเกณฑ์การใช้ภาษา เนื่องจากอิทธิพลดังกล่าวประกอบกับเหตุผลทางสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ จึงทำให้ภาษาสเปนมาตรฐาน (Standard Spanish; Neutral Spanish) ได้รับการยอมรับอย่างเป็นวงกว้างทั้งในการผลิตงานวรรณกรรม บทความวิชาการ และสื่อหลายแขนง

เกร็ดความรู้

  • ในภาษาเขียนสเปน สระที่พบบ่อยที่สุดคือ e ส่วนพยัญชนะที่พบบ่อยที่สุด คือ s
  • ตำราไวยากรณ์ภาษาปัจจุบันเล่มแรกของยุโรปคือตำราไวยากรณ์สเปน เขียนโดยเอเลียว อันโตเนียว เด เนบรีคา เมื่อปี ค.ศ. 1492
  • คำที่ยาวที่สุดในภาษาสเปน ได้แก่ "esternocleidooccipitomastoideo" (ชื่อกล้ามเนื้อคอด้านหลัง), "anticonstitucionalmente" (อย่างไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ), "electroencefalografista" (ผู้เชี่ยวชาญการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง) และ "otorrinolaringológicamente (ในทางโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา)"
  • คำในภาษาสเปนที่ปรากฏสระครบทุกตัวภายในคำ ได้แก่ "arquitecto" (สถาปนิก), "eucalipto" (ยูคาลิปตัส), "murciélago" (ค้างคาว), "abuelito" (คุณปู่/คุณตา), "orquídea" (กล้วยไม้) และ "alucinógeno" (สารก่อประสาทหลอน) รวมทั้งชื่อเฉพาะอีกสี่ชื่อ ได้แก่ "Aurelio" (เอาเรเลียว), "Aureliano" (เอาเรเลียโน), "Eustaquio" (เออุสตากีโอ) และ "Venustiano" (เบนุสเตียโน)

การเรียนการสอนภาษาสเปนในประเทศไทย

ปัจจุบันเริ่มมีการเรียนการสอนภาษาสเปนแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งในระดับอุดมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา

  • ระดับอุดมศึกษาเปิดสอนเป็นวิชาเอกที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเปิดเป็นวิชาโทและเลือกเสรีที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

- ระดับมัธยมศึกษาเช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนสตรีวิทยา, โรงเรียนสตรีวิทยา 2, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2, โรงเรียนโพธิสารพิทยากร, โรงเรียนพรมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี, โรงเรียนอนุกูลนารี, โรงเรียนสตรีศึกษา, โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน, โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร, โรงเรียนพะเยาพิทยาคม, โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์, โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช, โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ฯลฯ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Argentina.gov.ar. Acerca de la Argentina: Idioma. (สเปน)
  2. GovernmentOfBelize.gov.bz. Languages. (อังกฤษ)
  3. TurismoBolivia.bo. Idiomas en Bolivia. (สเปน)
  4. Servicio Nacional de Turismo. Población e idioma en Chile. (สเปน)
  5. Artículo 10.º de la Constitución política de Colombia (1991): «El castellano es el idioma oficial de Colombia. Las lenguas y dialectos de los grupos étnicos son también oficiales en sus territorios. La enseñanza que se imparta en las comunidades con tradiciones lingüísticas propias será bilingüe».(สเปน)
  6. VisitCostaRica.com. Idioma oficial de Costa Rica. (สเปน)
  7. Portal Cuba. Constitución de la República de Cuba, artículo 2.º: «El nombre del Estado cubano es República de Cuba, el idioma oficial es el español y su capital es la ciudad de La Habana». (สเปน)
  8. Espanol.Guinea-Equatorial.com. País y Clima. (สเปน)
  9. Constitución de Guinea Ecuatorial (de 1995), artículo 4.º: «La lengua oficial de la República de Guinea Ecuatorial es el español. Se reconoce las lenguas aborígenes como integrantes de la cultura nacional». (สเปน)
  10. Ethnologue.com. Spanish. A language of Spain. (อังกฤษ)
  11. de 2006 Statistique Canada. (ฝรั่งเศส)
  12. 2006 American Community Survey. (อังกฤษ)
  13. Instituto Cervantes. (สเปน)
  14. Spanish language total. Ethnologue. Retrieved 14 August 2009.
  15. Demografía de la lengua española (p. 38).
  16. Acta Internacional de la Lengua Española. IV Acta Internacional de la Lengua Española, Un idioma vivo para el mundo. (สเปน)
  17. krysstal.com / elpais.com / 5th International Congress on Spanish Language (la-moncloa.es) / toplanguagecommunity.co.uk / uis.edu / Antonio Molina, director of the Instituto Cervantes in 2006 (terranoticias.es, elmundo.es) / Luis María Anson of the Real Academia Española (elcultural.es) / International Congress about Spanish, 2008 / Mario Melgar of the México University (lllf.uam.es), / Enrique Díaz de Liaño Argüelles, director of Celer Solutions multilingual translation network (elintercultural.net) / Feu Rosa - Spanish in Mercosur (congresosdelalengua.es) / elpais.com / eumed.net / efeamerica.com / babel-linguistics.com.
  18. Protocol on amendments to the constitutive act of the African Union. (อังกฤษ)
  19. Las Naciones Unidas. Carta de las Naciones Unidas: Artículo 111 (สเปน)
  20. Ethnologue.com, 1999, Top 100 Languages by Population. (อังกฤษ)
  21. CIA - The World Factbook. Field Listing - Languages. (อังกฤษ) (ดูข้อมูลที่ World)
  22. EUR-Lex. Tratado de Lisboa, Artículo 7. (สเปน)
  23. Union Africaine. Protocole sur les Amendements a l´Acte Constitutif de l´Union Africaine, Article 11 Langues officielles. (ฝรั่งเศส)
  24. Organization of American States. Carta de la Organización de los Estados Americanos: Capítulo XXI Ratificación y Vigencia, Artículo 139. (สเปน)
  25. Organización de Estados Iberoamericanos para la Educación, la Ciencia y la Cultura. Estatutos de la Organización de Estados Iberoamericanos para la Educación, la Ciencia y la Cultura: Capítulo I Naturaleza y Fines, Artículo 1. (สเปน)
  26. El Secretariado del Tratado de Libre Comercio de América del Norte. Capítulo XXII del TLCAN, Artículo 2206. (สเปน)
  27. Ministério das Relações Exteriores. Tratado Constitutivo da União de Nações Sul-Americanas, Artigo Transitório. (โปรตุเกส) (สเปน) (อังกฤษ) (ดัตช์)
  28. El País. El español es el segundo idioma que más se estudia en el mundo, según el Instituto Cervantes. (สเปน)
  29. Terra. La presencia del español en la Comunidad Europea y la expansión en Asia, retos inmediatos del Instituto Cervantes. (สเปน)
  30. Junta de Castilla y León. Plan del Español para Extranjeros 2005/2009. (สเปน)
  31. Fundéu BBVA. Carmen Caffarel valora la influencia del español, que en el 2050 hablarán 600 millones. (สเปน)
  32. CincoDías.com. El español es un buen negocio. (สเปน)
  33. Universpain. ¿Por qué es importante aprender el español?. (สเปน)
  34. Rafael Cano (coord.). Historia de la lengua española Barcelona: Ariel Lingüística, 2005.
  35. Penny, Ralph. A History of the Spanish Language. Cambridge: Cambridge University Press, 1991, p. 5 (อังกฤษ)
  36. 20 minutos - Descubren que las palabras más antiguas escritas en Español son del siglo IX
  37. Fernández-Ordóñez, Inés. Los orígenes de la dialectología hispánica y Ramón Menéndez Pidal. (สเปน)
  38. Cano Aguilar, Rafael. El español a través de los tiempos. 4ª ed. Madrid: ARCO/LIBROS, S.L., 1999, p. 63. (สเปน)
  39. Obediente Sosa, Enrique. Biografía de una lengua. Nacimiento, desarrollo y expansión del español. Mérida, Venezuela: Universidad de Los Andes, 2007, pp. 244-248. ISBN 978-980-11-1026-2 (สเปน)
  40. "Spanish Language Facts". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ 2010-11-06.
  41. Crow, John A. (2005). Spain: the root and the flower. University of California Press. p. 151. ISBN 9780520244962.
  42. Klein-Andreu, Flora. Spanish through Time. An Introduction. Munich: LINCOM GmbH, 2010, p. 19. (อังกฤษ)
  43. "Spanish Language History". Today Translations. สืบค้นเมื่อ 2007-10-01.
  44. "Internet World Users by Language". Miniwatts Marketing Group. 2008. (อังกฤษ)
  45. "UN 2009 estimate" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
  46. จากหนังสือบริตานิกาแห่งปี พ.ศ. 2546-2552 es:Anexo:Hablantes de español como lengua materna en el 2003 (según el Britannica Book). แหล่งอ้างอิงถูกใช้โดยสารานุกรมบริตานิกา (Ethnologue -14th edition, Joshua Project 2000 —People’s List, U.S. Census Bureau.)
  47. eurobarometer (2006), es:Anexo:Hablantes de español en la U.E. según el Eurobarómetro (2006) สำหรับประเทศในทวีปยุโรป
  48. นักเรียนภาษาสเปนสำหรับประเทศนอกทวีปยุโรป ดู Instituto Cervantes 06-07 (ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ปรากฏชัดเจนเกี่ยวกับผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่สอง นอกเหนือจากประเทศยุโรปและลาตินอเมริกา)
  49. Demografía de la lengua española (หน้า 28) สำหรับประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการ
  50. CONAPO (2010).
  51. cia.gov: มีผู้ใช้ภาษาสเปนร้อยละ 92.7
  52. จำนวนประชากรปี ค.ศ. 2009 จาก U.S. Population in 1990, 2000, and 2009, U.S. Census Bureau
  53. ผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกาอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป (US Census Bureau 2009)
  54. Academia Norteamericana de la Lengua Española: elcastellano.org, José Ma. Ansón: noticias elcastellano.org, Jorge Ramos Avalos: univision.com, Elbio Rodríguez Barilari: congresosdelalengua.es , III Acta Internacional de la Lengua Española, nytimes.com
  55. มีประชากรผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกาทั้งหมด 50,477,594 คนจากประชากรอเมริกันทั้งหมดกว่า 308 ล้านคน (ข้อมูลจาก สำนักงานสำมะโนประชากร ค.ศ. 2010) ประชากรผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกาที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไปจำนวน 35,468,501 คนใช้ภาษาสเปนในครอบครัว ดังนั้นจึงน่าจะยังมีผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่สองในระดับต่าง ๆ กันอีกประมาณ 15 ล้านคน นอกจากนี้ มีผู้เรียนภาษาสเปน 6 (cervantes.es) หรือ 7.8 (fundacionsiglo.com) ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนมากไม่ใช่ผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกา และยังมีผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกาซึ่งอพยพเข้าสหรัฐอเมริกาโดยผิดกฎหมายอีก 9 ล้านคน บางส่วนตกสำรวจสำมะโนประชากร (impre.com).
  56. "INE Datos básicos ... acceso directo (1/1/2010)". Ine.es. 2001-05-28. สืบค้นเมื่อ 2011-02-05.
  57. ร้อยละ 89.0 พูดภาษาสเปนเป็นภาษาแรก (eurobarometer (2006))
  58. "DANE". DANE. สืบค้นเมื่อ 2010-09-01.
  59. มีประชากร 500,000 คนใช้ภาษาพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ (Ethnologue)
  60. "SINTITUL-7" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2011-02-05.
  61. มีประชากรอีก 4,566,891 คนที่พูดภาษาอื่นเป็นภาษาแม่ (ภาษาหลัก ๆ ได้แก่ ภาษาอิตาลี 1,500,000 คน, ภาษาอาหรับ 1,000,000 คน, ภาษาเกชัว 855,000 คน, ภาษาเยอรมัน 400,000 คน, ภาษากวารานีปารากวัย 200,000 คน, ภาษายิดดิชตะวันออก 200,000 คน): Ethnologue.
  62. Diccionario panhispánico de dudas. ch. (สเปน)
  63. Diccionario panhispánico de dudas. ll. (สเปน)
  64. Explanation at http://www.spanishpronto.com/ (อังกฤษ) (สเปน)
  65. Exclusión de los dígrafos ch y ll del abecedario. (สเปน)
  66. Real Academia Española y Asociación de Academias de la Lengua Española. Ortografía de la lengua española. Madrid: Espasa Libros, 2010, p. 63. (สเปน)
  67. Real Academia Española. Ortografía de la lengua española. 1999. (สเปน)
  68. Real Academia Española y Asociación de Academias de la Lengua Española. Ortografía de la lengua española. Madrid: Espasa Libros, 2010, p. 448. (สเปน)
  69. Gómez Torrego, Leonardo. Las normas académicas: últimos cambios. Madrid: Ediciones SM, 2011, pág 62. (สเปน)
  70. Martínez-Celdrán, Eugenio; Fernández-Planas, Ana Ma.; and Carrera-Sabaté, Josefina. "Castilian Spanish." Journal of the International Phonetic Association 33, 2 (2003): 257, doi: 10.1017/S0025100303001373 (อังกฤษ)
  71. Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 298. (สเปน)
  72. Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 296. (สเปน)
  73. Martínez-Celdrán, Eugenio; Fernández-Planas, Ana Ma.; and Carrera-Sabaté, Josefina. "Castilian Spanish." Journal of the International Phonetic Association 33, 2 (2003): 256, doi: 10.1017/S0025100303001373 (อังกฤษ)
  74. Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 89. (สเปน)
  75. Fougeron, Cecile, and Smith, Caroline L. "French." Journal of the International Phonetic Association 23, 2 (1993): 73.
  76. Rogers, Derek, and d'Arcangeli, Luciana. "Italian." Journal of the International Phonetic Association 34, 1 (2004): 119, doi: 10.1017/S0025100304001628 (อังกฤษ)
  77. Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 81.(สเปน)
  78. Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 75.(สเปน)
  79. Martínez-Celdrán, Eugenio; Fernández-Planas, Ana Ma.; and Carrera-Sabaté, Josefina. "Castilian Spanish." Journal of the International Phonetic Association 33, 2 (2003): 255, doi: 10.1017/S0025100303001373 (อังกฤษ)
  80. Diccionario panhispánico de dudas. acento. (สเปน)
  81. Kattán-Ibarra, Juan, and Pountain, Christopher J. Modern Spanish Grammar: A Practical Guide. 2nd ed. London: Routledge, 2003, p.7. (อังกฤษ)
  82. Diccionario panhispánico de dudas. tilde 2. (สเปน)
  83. Kattán-Ibarra, Juan, and Pountain, Christopher J. Modern Spanish Grammar: A Practical Guide. 2nd ed. London: Routledge, 2003, p.8. (อังกฤษ)
  84. Colegio de México, 2006, Diccionario del español usual en México, ISBN 968-12-0704-1 (สเปน)
  85. Diccionario panhispánico de dudas. usted. (สเปน)
  86. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. aceite. (สเปน)
  87. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. aceituna. (สเปน)
  88. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. alcalde. (สเปน)
  89. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. alcohol. (สเปน)
  90. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. aldea. (สเปน)
  91. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. almohada. (สเปน)
  92. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. alquiler. (สเปน)
  93. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. asesino. (สเปน)
  94. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. azafrán. (สเปน)
  95. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. espinaca. (สเปน)
  96. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. hasta. (สเปน)
  97. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. jazmín. (สเปน)
  98. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. marfil. (สเปน)
  99. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. rehén. (สเปน)
  100. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. zanahoria. (สเปน)
  101. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. izquierdo. (สเปน)
  102. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. nava. (สเปน)
  103. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. conejo. (สเปน)
  104. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. brotar. (สเปน)
  105. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. ganar. (สเปน)
  106. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. ganso. (สเปน)
  107. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. ropa. (สเปน)
  108. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. yelmo. (สเปน)
  109. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. espía. (สเปน)
  110. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. guerra. (สเปน)
  111. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. batata. (สเปน)
  112. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. papa. (สเปน)
  113. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. yuca. (สเปน)
  114. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. cacique. (สเปน)
  115. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. huracán. (สเปน)
  116. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. cacao. (สเปน)
  117. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. pantalón. (สเปน)
  118. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. puré. (สเปน)
  119. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. tisú. (สเปน)
  120. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. menú. (สเปน)
  121. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. maniquí. (สเปน)
  122. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. restorán. (สเปน)
  123. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. buró. (สเปน)
  124. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. carné. (สเปน)
  125. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. gala. (สเปน)
  126. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. bricolaje. (สเปน)
  127. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. batuta. (สเปน)
  128. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. soprano. (สเปน)
  129. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. piano. (สเปน)
  130. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. pianoforte. (สเปน)
  131. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. marketing. (สเปน)
  132. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. quasar. (สเปน)
  133. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. Internet. (สเปน)
  134. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. software. (สเปน)
  135. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. rock. (สเปน)
  136. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. reggae. (สเปน)
  137. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. set. (สเปน)
  138. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. penalti. (สเปน)
  139. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. fútbol. (สเปน)
  140. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. windsurf. (สเปน)
  141. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. zum. (สเปน)
  142. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. correo. (สเปน)
  143. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. escáner. (สเปน)
  144. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. mercadotecnia. (สเปน)
  145. Academia Colombiana de la Lengua, por Cleóbulo Sabogal Cárdenas. Extranjerismos en el Diccionario de la Lengua Española. (สเปน)
  146. Academia Dominicana de la Lengua. JUGAR - (HACER) SEGUIMIENTO - ROL. (สเปน)
  147. Nibert, Holly et al. "Área 1: Fonología y fonética." in Spanish Dialectology. (สเปน)
  148. Nibert, Holly et al. "Área 5: Fonología y fonética." in Spanish Dialectology. (สเปน)
  149. Nibert, Holly et al. "Área 4: Fonología y fonética." in Spanish Dialectology. (สเปน)
  150. Nibert, Holly et al. "Área 6: Fonología y fonética." in Spanish Dialectology. (สเปน)
  151. Nibert, Holly et al. "Área 3: Fonología y fonética." in Spanish Dialectology. (สเปน)
  152. Nibert, Holly et al. "Área 2: Fonología y fonética." in Spanish Dialectology. (สเปน)
  153. Lloret, Maria-Rosa (2007), "On the Nature of Vowel Harmony: Spreading with a Purpose", in Bisetto, Antonietta; Barbieri, Francesco, Proceedings of the XXXIII Incontro di Grammatica Generativa, pp. 24-25.
  154. Miranda, Stewart (1999). The Spanish Language Today. Routledge. p. 125. ISBN 041514258X. (อังกฤษ)
  155. Lipski, John M. (1994). Latin American Spanish. Essex, England: Longman Group Limited, 201-202. (อังกฤษ)
  156. Diccionario panhispánico de dudas. voseo.
  157. WordReference.com. manteca. (อังกฤษ)
  158. Diccionario de la Lengua Española del Real Academia Española. palta. (สเปน)
  159. WordReference.com. damasco. (อังกฤษ)
  160. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. coger. (สเปน)
  161. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. concha. (สเปน)
  162. WordReference.com. taco. (อังกฤษ)
  163. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. pinche. (สเปน)
  164. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. coche. (สเปน)
  165. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. carro. (สเปน)
  166. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. papaya. (สเปน)
  167. 3 Guys From Miami. Fruta Bomba (อังกฤษ)
  168. Urban Diccionary. carnal. (อังกฤษ)
  169. Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. cuate. (สเปน)
  170. Diccionario Tico, asi hablamos en Costa Rica. mae. (สเปน)
  171. Diccionario de Modismos Chilenos. huevón. (สเปน)
  172. Fletcher Pratt, Secret and Urgent: the Story of Codes and Ciphers Blue Ribbon Books, 1939, pp. 254-255. (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิตำรา มีคู่มือ ตำรา หรือวิธีการเกี่ยวกับ:
ภาษาสเปน
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในภาษาสเปน
  • ข้อมูลภาษาสเปนจาก Ethnologue (อังกฤษ)
  • พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานสเปน (สเปน)
  • Spanish phrasebook ใน Wikivoyage (อังกฤษ)
  • หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ภาษาสเปน เรื่อง A First Spanish Reader (สเปน)
  • เว็บไซต์ทางการของ ¡Colorin Colorado! (อังกฤษ) (สเปน)
  • Spanish – BBC Languages (อังกฤษ)
  • ฝึกภาษาสเปน (อังกฤษ)
  • เรียนภาษาสเปน (อังกฤษ)
  • ช่วยเหลือเกี่ยวกับภาษาสเปน (อังกฤษ)
  • เรียนไวยากรณ์สเปนออนไลน์ (อังกฤษ)

ภาษาสเปน, español, หร, ภาษาก, สต, ยา, castellano, เป, นภาษาในกล, มภาษาโรมานซ, หน, งในภาษาทางการ, ภาษาขององค, การสหประชาชาต, และภาษาท, ดเป, นภาษาแม, มากท, ดในโลกเป, นอ, นด, บสองรองจากภาษาจ, นกลาง, รวมท, งย, งเป, นภาษาราชการขององค, การระหว, างประเทศทางเศรษฐก, จแ. phasasepn espanol hrux phasakstiya castellano epnphasainklumphasaormans hnunginphasathangkar 6 phasakhxngxngkhkarshprachachati 19 aelaphasathimiphuphudepnphasaaemmakthisudinolkepnxndbsxngrxngcakphasacinklang 20 21 rwmthngyngepnphasarachkarkhxngxngkhkarrahwangpraethsthangesrsthkicaelakaremuxngthisakhyxikhlayxngkhkarxikdwy echn shphaphyuorp 22 shphaphaexfrika 23 xngkhkarrthxemrika 24 xngkhkarrthixbieriyxemrika 25 khxtklngkarkhaesrixemrikaehnux 26 aelashphaphchatixemrikait 27 epntnphasasepn phasakstiyaespanol castellanoxxkesiyng espaˈɲol kasteˈʎano kasteˈɟ ʝano phumiphakhxarecntina 1 eblis 2 obliewiy 3 chili 4 okhlxmebiy 5 khxstarika 6 khiwba 7 exkwadxr exlslwadxr sepn yibrxltar xngkvs kwetmala xiekhwthxeriylkini 8 9 hxndurs emksiok nikarakw panama parakwy epru pwyrotriok shrth satharnrthodminikn xurukwy aelaewensuexlainklumkhnswnnxy xndxrra 10 aekhnada 11 shrthxemrika 12 filippins omrxkok ewsethirnsahara 13 aelainhmuphuxphyphliphychawewsethirnsaharainaexlcieriycanwnphuphudphuphudepnphasathihnung 329 lankhn 14 15 phuphudepnphasathihnunghruxsxng 500 lankhn 16 17 imphbwnthi trakulphasaxinod yuorepiyn xitalikormansormanstawntkormansixbieriyixbieriytawntkphasasepn phasakstiyarupaebbkxnhnaphasasepneka phasasepn phasakstiyarabbkarekhiynxksrlatin chudtwxksrsepn xksrebrllsepnsthanphaphthangkarphasathangkar20 praethskb 1 dinaedn odynitiny obliewiy okhlxmebiy khxstarika khiwba exkwadxr exlslwadxr xiekhwthxeriylkini kwetmala hxndurs panama parakwy epru pwyrotriok shrthxemrika sepn ewensuexlaodyphvtiny xarecntina chili satharnrthodminikn emksiok nikarakw xurukwyxngkhkrrahwangpraethstang xngkhkrinthwipaexfrika 1 shphaphaexfrika 18 xngkhkrinthwipxemrika 4 xngkhkarrthxemrika tladrwmxemrikaittxnlang prachakhmaexndis shphaphchatixemrikait xngkhkrinthwipyuorp 3 shphaphyuorp sankngantarwcyuorp shphaphyuorptawntk xngkhkrrahwangpraeths 6 shprachachati xngkhkartarwcsakl sunysuxxisra smakhmephuxkarphthnahxsmudaehngchatiixbieriyxemrika shphaphlatin fifaphuwangraebiybsmakhmbnthitysthanphasasepn rachbnthitysthansepnaelabnthitysthanphasasepninpraethsxun xik 21 praeths rhsphasaISO 639 1esISO 639 2spaISO 639 3spaLinguasphere51 AAA bsylksnsi praethshruxdinaednthiphasasepnmisthanathangkar rthinshrthxemrikathiprachakrmakkwarxyla 25 ichphasasepn rthinshrthxemrikathiprachakrrxyla 10 20 ichphasasepn rthinshrthxemrikathiprachakrrxyla 5 9 9 ichphasasepnmiphuphudphasasepnepnphasathihnungaelaphasathisxngepncanwnrahwang 450 500 lankhn 16 28 29 odyemksiokepnpraethsthimicanwnphuphudphasanimakthisud nxkcakni phasasepnyngepnphasathimiphueriynmakepnxndbthi 2 khxngolkrxngcakphasaxngkvs 28 miphueriynphasanixyangnxy 17 8 lankhn 30 31 32 khnathiaehlngkhxmulbangaehngklawwa miphueriynphasanikwa 46 lankhnkracayxyuin 90 praeths 33 phasasepnmitnkaenidcakphasalatinchawbanthiphthnamatngaetkhriststwrrsthi 3 echnediywkbphasaxuninklumphasaormans hlngcakckrwrrdiormnlmslaylng dinaednthiekhyepnswnhnungkhxngckrwrrditangaeykipxyuitkarpkkhrxngkhxngchnklumtang kn phasanicungthuktdkhadxxkcakphasathinkhxngphasalatinindinaednxun aelamiwiwthnakarxyangcha cnekidepnphasalatinihmtanghakxikphasahnung aetenuxngcakidrbkarephyaephrthnginthwipxemrikaehnuxaelathwipxemrikaitepnewlathitxenuxngyawnan phasasepncungklayepnphasalatinihmthiichknaephrhlaymakthisudinpccubn enuxha 1 chuxphasaaelathima 2 prawti 2 1 lksnaechphaa 3 karcaaenkaelaphasarwmtrakul 3 1 phasaladion 3 2 karepriybethiybkhasphth 4 khwamaephrhlayinphunthitang 5 rabbkarekhiyn 5 1 twxksr 5 2 ekhruxnghmayxun 6 sthwithya 6 1 esiyngsra 6 2 esiyngphyychna 6 3 karlngnahnkphyangkh 7 iwyakrn 7 1 rabbhnwykha 7 1 1 karphnkha 7 1 1 1 srrphnam 7 1 1 2 kriya 7 2 wakysmphnth 8 khasphth 9 karaepr 9 1 sthwithya 9 2 iwyakrn 9 2 1 karichsrrphnam vos 9 2 1 1 khwamaephrhlayinlatinxemrika 9 2 2 karichsrrphnam ustedes 9 3 khasphth 9 4 hnwyngankhwbkhumkarichphasa 10 ekrdkhwamru 11 kareriynkarsxnphasasepninpraethsithy 12 duephim 13 xangxing 14 aehlngkhxmulxunchuxphasaaelathima aekikhchawsepnmkeriykphasakhxngtnwa phasasepn espanol emuxnaphasaniipepriybethiybkbphasakhxngchatixun echn phasafrngessaelaphasaxngkvs aetcaeriykwa phasakstiya castellano phasakhxngaekhwnkstiya emuxnaipepriybethiybkbphasainpraethssepnphasaxun echn phasakaliesiy phasabask aelaphasakatala hruxaemkrathngkarnaipethiybkbbrrdaphasaphunemuxngkhxngpraethsinlatinxemrikabangpraeths dwywithini rththrrmnuyaehngrachxanackrsepn kh s 1978 cungichkhawa phasakstiya castellano ephuxniyamphasarachkarkhxngpraeths sungtrngkhamkb phasakhxngsepnphasaxun las demas lenguas espanolas tammatra 3 dngni El castellano es la lengua espanola oficial del Estado Las demas lenguas espanolas seran tambien oficiales en las respectivas Comunidades Autonomas phasakstiyaepnphasasepnthangkarkhxngthngrth phasasepnphasaxun camisthanathangkarechnkninaekhwnpkkhrxngtnexngtamladb txipni nkniruktisastrbangkhnichchux Castilian emuxklawthungphasathiichkninphumiphakhkstiyasmyklangethann odyehnwa Spanish khwrnamaicheriykphasaniinsmyihmcadikwa phasathinyxykhxngphasasepnthiphudknthangtxnehnuxkhxngaekhwnkstiyainpccubnexng bangkhrngkyngeriykwa Castilian phasathinniaetktangcakphasathininphumiphakhxun khxngpraethssepn echninaekhwnxndalusixahruxkrungmadridepntn odyinpraethssepnthuxwaepnphasaediywkbphasasepnmatrthanxyangepnthangkarxyangirktam kha castellano yngichknepnwngkwangephuxeriykphasasepnthnghmdinlatinxemrika enuxngcakphuphudphasasepnbangkhncdwa castellano epnkhaklang thiimekiywkhxngechuxmoyngkbkaremuxnghruxlththiid ehmuxnkb Spanish inthanakhahnungkhxngphasaxngkvs chawlatinxemrikacungmkichkhaniinkaraebngaeykkhwamhlakhlaykhxngphasasepninaebbkhxngphwkekhawa imehmuxnknkbkhwamhlakhlaykhxngphasasepnthiichkninpraethssepnexngkhawa espanol thithuknamaepliynaeplngruptamkdthangiwyakrnaelasthwithya karsuksaekiywkbesiynginphasa khxngaetphasaephuxicheriykchawsepnaelaphasakhxngphwkekhann miraksphthmacakkhainphasalatinwa hispanioxlus Hispaniolus chawhispaeniynxy rupkhadngklawidwiwthnakarmaepn Spaniolus inchwngewlann tw H inphasalatincahayipinkarsnthnapkti khanicungxxkesiyngwa xispanioxlu ispa niolu aelasra i ichinphasaphudkhxnglatinephuxkhwamrunhu kthukepidepnsra e cungthaihkhanimirupekhiynxyangthiehninpccubn 34 prawti aekikh swnhnungkhxngexksarcakcdhmayehtublpuexsta ekhiynodyichxksrwisikxth chawormncakkhabsmuthrxitaliidnaphasalatinekhamaichbnkhabsmuthrixbieriynbtngaetsmysngkhramphiwnikkhrngthi 2 emux 218 pikxnkhristskrach 35 phasaniidrbxiththiphlcakphasakhxngchnphunemuxngthixasyxyukxnaelw idaek phasaekhltieberiyn phasabask aelaphasaobranxun bnkhabsmuthr emuxckrwrrdiormnlmslaylnginkhriststwrrsthi 5 kartidtxrahwangphumiphakhtang inckrwrrdicungthuktdkhadxxkcakkn sngphlihxiththiphlkhxngphasalatinchnsungthimitxchawbanthwipkhxy ldlng cnehluxephiyngphasalatinsamysungepnphasaphudethannthithharaelachawbanthwipyngkhngichsuxsarinchiwitpracawnxyuinkhriststwrrsthi 8 chawmwrcakaexfrikaehnuxidekharukranaelakhrxbkhrxngkhabsmuthrixbieriytxcakchawwisikxth karthasngkhramephuxphnwkaelayuddinaednkhuncungdaeninipxyangyawnan phunthibnkhabsmuthrcungthukaebngxxkepnsxngswnodypriyay inekhtxlxndalusichphasaxahrbaelaphasaebxrebxr aetkmiphuichphasaomsarabik epnphasaormansphasahnung aetidrbxiththiphlcakphasaxahrb xyudwy swnphunthithangtxnehnuxthiyngkhngepnekhtxiththiphlkhxngchawkhristnn phasaphudlatininthxngthintang idmiphthnakarthangokhrngsrangthiaetktangcakknmakkhuneruxy aelaerimklayepnphasathinthimilksnaechphaa imwacaepnkatala nawar xarakxn kstiya xstur elxxn hruxkaliesiy oprtueks odyphasaehlanimichuxeriykodyrwmwa ormans karkhyaytwkhxngphasakstiyabnkhabsmuthrixbieriy phasaormanskstiyasungepnhnunginbrrphburuskhxngphasasepnnnthuxkaenidcakphasalatinsamythiichkninaethbthiwekhakntaebriy phunthikhabekiywrahwangcnghwdxalaba kntaebriy buroks oseriy aelalarioxkha thangtxnehnuxkhxngsepnpccubn khnannepnekhtkhxngaekhwnkstiya odyrbxiththiphlbangxyangcakphasabaskaelaphasakhxngchawwisikxth hlkthanthiepnlaylksnxksrekaaekthisudmichuxwa cdhmayehtublpuexsta Cartularios de Valpuesta phbthiobsthaehnghnungincnghwdburoks epnexksarthibnthuklksnaaelasphthkhxngphasaormans thicaphthnamaepnphasakstiya inrawkhriststwrrsthi 9 iw 36 tngaetplaykhriststwrrsthi 11 epntnma idekidkrabwnkarklmklunaelaprbradbthangphasakhunrahwangphasaormansthiichknintxnklangkhxngkhabsmuthr idaek xstur elxxn kstiya aelanawar xarakxn naipsukarkxrupaebbkhxngphasathiphukhnbnkhabsmuthrnicaichrwmkntxip nnkhux phasasepn 37 xyangirktam yngmiphuehndwykbkhxsnnisthanthimimaaetedimwa phasasepnphthnamacakphasakstiyaepnhlkaelaxaccaidrbxiththiphlcakphasakhangekhiyngmabangethann 37 emuxkarphichitdinaednkhuncakchawmuslim thierimmatngaettnkhriststwrrsthi 8 mikhwamkhubhnaipmakinyukhklangtxnplay phasaormanstang cakthangehnuxkthuknalngmaephyaephrthangtxnklangaelatxnlangkhxngkhabsmuthripphrxm kn odyechphaaphasakstiyasungekhaipaethnthihruxsngxiththiphltxphasainthxngthintang aelainkhnaediywknkidyumsphthepncanwnmakcakphasaxahrb aelacakphasaomsarabikkhxngchawkhristaelachawyiwthiekhyxyuphayitkarpkkhrxngkhxngchawmwrdwy aetphasaehlaniidsuyipcakkhabsmuthrixbieriytngaetplaykhriststwrrsthi 16 hnapktaraiwyakrnkhxngxnotniox ed enbrikha inkhriststwrrsthi 12 aela 13 xanackrkstiyaidklayepnphunathangkaremuxngaelawthnthrrmehnuxxanackrxun bnkhabsmuthr sthankarnnichwykratunihekidkarwangmatrthanphasakstiyaepnphasaekhiynxikthanghnung 38 ehnidchdinrchsmykhxngphraecaxlfxnosthi 10 phraxngkhthrngrwbrwmnkekhiynaelaprachycakemuxngtang maprachumkninrachsankephuxekhiynaelaaeplexksarthiekiywkbprawtisastr darasastr aelakdhmay odyphlngantang idrbkarbnthuklngepnphasakstiyaaethnphasalatin ephuxihprachachnthwipsamarthekhathungaelaichpraoychncakxngkhkhwamruehlannidmakkhun 39 txmainpi kh s 1492 exliox xnotniox ed enbrikha idaetngtaraxthibayokhrngsrang khasphth aelawithikarsxnphasakstiyathiemuxngsalamngka michuxwa iwyakrnphasakstiya Gramatica de la Lengua Castellana nbwaepntaraiwyakrnphasaaerkinyuorp 40 ekrdthimichuxesiyngeruxnghnungmixyuwa emuxenbrikhaesnxtaradngklawaedsmedcphrarachininathxisaeblthi 1 phraxngkhmiphrarachdarsthamwaphlnganchinnimipraoychnxyangir ekhaidthultxbwa phasathuxepnekhruxngmuxkhxngckrwrrdi 41 rahwangplaykhriststwrrsthi 15 cnthungplaykhriststwrrsthi 17 idekidkrabwnkarepliynaeplngthangesiyngkhnanihyinphasasepnechnediywkbphasaxuninklumormans klawkhux esiyngphyychnabangesiyngidsuyhayip miesiyngphyychnaihmpraktkhun swnesiyngphyychnaesiydaethrkthimithanxyuthipumehnguxk fn aelaephdanaekhng swnhna bangesiyngidthukklunekhakbesiyngxun karepliynaeplngehlaniepnphlihphasasepnmirabbesiyngphyychnaiklekhiyngkbthipraktinpccubntngaetkhriststwrrsthi 16 nksarwcaelanklaxananikhmidnaphasasepnekhaipephyaephraelaichindinaednthwipxemrikaaelasaepnichxistxindisxyangtxenuxngnannbrxypi cnphasaniidklayepnhnunginphasahlkthiichphukhninthwipdngklawichsuxsarknmacnthungthukwnni aelainewlatxma phasasepnkthuknaipichepnkhrngaerkinxiekhwthxeriylkini ewsethirnsahara rwmipthungphunthihlayaehnginshrthxemrikasungimekhyepnswnhnungkhxngckrwrrdisepnmakxnely echn inyansaepnichharelmkhxngnkhrniwyxrkpccubnphasasepnthiichkninphumiphakhtang khxngolkmikhwamhlakhlayxyangmakthngindankarxxkesiyngaeladankhasphth aemwacamiokhrngsranghlkrwmknepnphasalatinktam swnhnungepnphlmacakkartidtxkbphasaphunemuxngkhxngaetlathxngthiepnewlanan echn phasaixmara chibcha kwarani mapuech maya nawtl ekchw taxion aelatakalxk thaihphuichphasasepnmiaenwonmthicarbexachudkhwamkhidaelalksnathipraktinphasaehlannekhamaich odyechphaakhasphth sunghlaykhrngimephiyngmixiththiphltxphasasepninphunthithismphsphasannodytrngethann aetyngsngxiththiphltxwngkhasphthphasasepnthwolkdwy lksnaechphaa aekikh singbngchilksnaechphaaxyanghnungkhxngphasasepnkkhux karepliynesiyngsraediywthimacakphasalatin idaek sra e aelasra o ihklayepnesiyngsraprasmsxngesiyng diphthong khuxsra ie aelasra ue tamladbemuxsrathngsxngxyuintaaehnngthilngesiynghnkphayinkha karklayesiyngthikhlayknniyngsamarthphbidinphasaormansxun aetsahrbphasasepn lksnaehlanimikhwamsakhyepnphiess dngtwxyangtxipni latin petra gt sepn piedra xitali pietra frngess pierre ormaeniy piatrǎ oprtueks kaliesiy pedra katala pedra kxnhin latin moritur gt sepn muere xitali muore frngess meurt muert ormaeniy moare oprtueks kaliesiy morre katala mor ekhatay lksnaaeplkxikxyanghnungkhxngphasasepnyukhaerkthiimphbinphasaxunthiphthnamacakphasalatin ykewnphasathinaeksknkhxngphasaxutsita sungepnipidwaphasathngsxngidrbxiththiphlmacakphasabasksungepnphasaphunedimaelamiekhtphuichphasaxyutidtxkn 42 khuxkarklayrupphyychnacak f tnkha epn h emuxidktamthi f twnnnahnasraediywthicaimphthnamaepnsraprasminphasasepn dngtwxyangtxipni latin filium gt xitali figlio oprtueks filho frngess fils xutsita filh aet aekskn hilhrhs oci eluxnradbepnrhs oc sepn hijo aet ladion fijo lukchay latin fabulari gt ladion favlar oprtueks falar sepn hablar phud aet latin focum gt xitali fuoco oprtueks fogo sepn ladion fuego if phyychnakhwbklabangtwinphasalatin echn cl fl pl ct emuxmiwiwthnakaripepnswnhnungkhxngphasatang inklumormansyngekidphlaetktangknxyangepnexklksninphasaehlanidwy dngtwxyangtxipni latin clamare flammam rupkrrm plenum gt ladion lyamar flama pleno sepn llamar llama lleno aetphasasepnkmirup clamar flama pleno dwy oprtueks chamar chama cheio latin octō rupkrrm noctem multum gt ladion ocho noche muncho sepn ocho noche mucho oprtueks oito noite muito kaliesiy oito noite moitokarcaaenkaelaphasarwmtrakul aekikhphasasepnmikhwamsmphnthxyangiklchidkbphasaxun inklumixbieriytawntk idaek phasaxstueriys phasakaliesiy phasaladion phasaxstueriys elxxn aelaphasaoprtueks swnphasakatalaaemcamiekhtphuichphasaxyuinpraethssepn aetenuxngcakepnphasainklumixbieriytawnxxkaelaaesdnglksnahlayprakarkhxngklumphasaormanskxl cungmikhwamiklekhiyngkbphasaxutsitamakkwakbphasasepn hruxklawxikxyanghnungkkhuxmakkwathiphasasepnaelaphasaoprtueksiklekhiyngknesiyxikphasasepnaelaphasaoprtueksmirabbiwyakrnaelakhasphthkhlaykhlungkn aelayngmiprawtikhwamepnmarwmknindanxiththiphlcakphasaxahrbinyukhthiphunthiswnihykhxngkhabsmuthrixbieriytkxyuphayitxanacpkkhrxngkhxngchawmuslimxikdwy odykhwamiklekhiyngkhxngsphthkhxngphasathngsxngxyuthipramanrxyla 89 10 phasaladion aekikh dubthkhwamhlkthi phasaladion phasaladion Ladino epnphasayiw sepn Judaeo Spanish thiidrbxiththiphlmacakphasasepnobranaelamikhwamiklekhiyngkbphasasepnsmyihmmakkwaphasaxun phuphudphasaniepnphuthisubthxdechuxsaymacakchawyiwesfardi Sephardic Jews thithukkhbilxxkipcaksepninkhriststwrrsthi 15 thukwnniphuphudphasaladionaethbcaehluxephiyngchawyiwesfardithitngrkrakxyuinpraethsturki kris khabsmuthrbxlkhan aelalatinxemrika phasaniimmikhasphthxemriknphunemuxngsungsngxiththiphltxphasasepninsmythisepnyngmixananikhmthithwipnnaelayngrksakhasphthobranthisuyhayipaelwcakphasasepnmatrthan xyangirktaminphasaniyngpraktkhasphththiimphbinphasakstiyamatrthan idaek khasphthcakphasahibru phasaturki aelacakphasaxun inthithichawyiwesfardiekhaiptngthinthanpapnxyudwyphasaladionxyuinphawaesiyngtxkarsuysinip ephraaphuichphasaniinpccubnepnphusungxayusungimidthaythxdphasaniipsurunlukhlan swnchumchnesfardiinlatinxemrika khwamesiyngthicaphasanicasuyipyngmiehtuphlmacakkarthukklunekhakbphasasepnsmyihmxikdwyphasathinthimikhwamekiywkhxngkbphasaladionkhuxphasahaeketiy Haketia sungepnphasayiw sepnthangphakhehnuxkhxngpraethsomrxkok phasanikmiaenwonmthicathukklunekhakbphasasepnsmyihmechnkninsmythisepnekhakhrxbkhrxngbriewndngklaw karepriybethiybkhasphth aekikh phasasepnaelaphasaxitalimirabbsthwithya esiynginphasa thikhlaykhlungknmakaelaimmikhwamaetktangknnkinrabbiwyakrn xikthnginpccubnphasathisxngyngmikhwamiklekhiyngkhxngsphthxyuthipramanrxyla 82 10 dngnn phuichphasasepnaelaphuichphasaxitalicungsamarthsuxsarknekhaicidinradbthitangknxxkip khwamiklekhiyngkhxngsphthrahwangphasasepnkbphasaoprtueksnnxyuthirxyla 89 aetkhwamimaennxnkhxngkdkarxxkesiynginphasaoprtueksthaihphuichphasasepnekhaicphasaniidnxykwathiekhaicphasaxitali swnkhwamekhaicknidrahwangphasasepnkbphasafrngessaelaphasaormaeniyminxykwa mikhwamiklekhiyngkhxngsphthxyuthirxyla 75 aelarxyla 71 10 tamladb khwamekhaicphasasepnkhxngphuichphasafrngessthiimekhyeriynphasasepnmakxnxyuthipramanrxyla 45 xyangirktam rabbkarekhiynthimilksnarwmknkhxngphasainklumormansthaihphuichphasakhxngaetlaphasainklumniniymsuxsarkbphuichphasaxun inklumediywkn dwykarxanexakhwammakkwakarichkhaphudsnthna latin sepn oprtueks katala xitali frngess ormaeniy khwamhmaynōs nosotros nos nosaltres noi nous noi phwkerafratrem germanum phichay nxngchayaeth hermano irmao germa fratello frere frate phichay nxngchaydies Martis phasachnsung feria tertia phasaphra martes terca feira dimarts martedi mardi marți wnxngkharcantiō canticum cancion cancao canco canzone chanson cantec ephlngmagis hrux plus mas khaobran plus mais khaobran chus mes khaobran pus piu plus mai makkwa xikmanum sinistram mano izquierda hrux mano siniestra mao esquerda khaobran sẽestra ma esquerra mano sinistra main gauche mana stangă muxsaynihil hrux nullam rem natam immixairekidkhun nada nada khaobran rem res niente nulla rien nul nimic immixair 1 hrux nos outros inphasaoprtuekssmyihm yukhtn 2 noi altri inphasathinitkhxngxitali 3 hrux nous autreskhwamaephrhlayinphunthitang aekikhdubthkhwamhlkthi khwamaephrhlaykhxngphasasepn thukwnni phasasepnepnphasarachkarphasahnungkhxngpraethssepn ekuxbthukpraethsinphumiphakhlatinxemrika rwmthngpraethsxiekhwthxeriylkiniinthwipaexfrikadwy srupaelwmi 20 praethskbxik 1 dinaednthimiprachakrswnihyichphasaniepnphasahlk sungekuxbthnghmdtngxyuinphumiphakhhisaepnikxemrika pccubnpraethsemksiokepnpraethsthimicanwnphuichphasasepnmakthisudinolk 43 khidepnekuxbhnunginsamkhxngcanwnphuichphasasepnthnghmdbnolk 43 caksthitikarichxinethxrentthwolkinpi kh s 2007 praktwaphasasepnepnphasathiichkninxinethxrentmakepnxndbthisamrxngcakphasaxngkvsaelaphasacin 44 praethsthimicanwnphuphudphasasepnmakthisud 5 xndbaerkkhxngolk praeths canwnprachakr 45 canwnphuphudphasasepnepnphasaaem 46 canwnphuphudsxngphasaaelaphuphudphasasepnepnphasathisxng inpraethsthiichphasaniepnphasathangkar 47 hruxcanwnphuphudphasasepnepnphasatangpraeths inpraethsthiimichphasaniepnphasathangkar 48 canwnphuphudphasasepnkhidepnrxylakhxngcanwnprachakrthngpraeths 49 canwnphuphudphasasepnrwmthnghmd emksiok 112 336 538 50 104 135 971 51 6 515 519 98 5 49 110 651 490 shrth 307 006 550 52 35 468 501 53 14 531 499 16 3 50 000 000 54 55 sepn 47 150 819 56 41 964 229 57 4 620 780 98 8 49 46 585 009 okhlxmebiy 46 240 000 58 45 740 000 59 130 080 99 2 49 45 870 080 xarecntina 40 900 496 60 36 333 605 61 4 321 488 99 4 49 40 655 093rabbkarekhiyn aekikhtwxksr aekikh twxksrexeybnaepnphimphphasasepn phasasepnichxksrlatininkarekhiynechnediywkbphasaswnihyinyuorp aetcamixkkhraephimkhunmahnungtwkhux n hruxeriykwa exey nxkcakniyngmithwixksr ch ech aela ll exey odythuxwathngsxngepntwxksrinchudtwxksrsepnxyangepnthangkartngaetpi kh s 1803 62 63 enuxngcakichaethnesiyngthiimichesiyngediywkbesiyngtwxksrthiprakxbkhunepntwmnexng klawkhux n aethnhnwyesiyng ɲ ch aethnhnwyesiyng t ʃ aela ll aethnhnwyesiyng ʎ hrux ɟ ʝ tamladb xyangirktam aemthwixksr rr exerodebl hruxeriykxyangngaywa exrer khnlatwkb r exer caaethnhnwyesiyngtanghakechnknkhux r aetkimthuxwaepntwxksrtanghakehmuxn ch aela ll inkarprachumkhrngthi 10 khxngsmakhmbnthitysthanphasasepnsungcdkhunthikrungmadridemuxpi kh s 1994 thiprachummimtiehnchxbinhlkkarichchudtwxksrlatinaebbsakltamthixngkhkrrahwangpraethshlayxngkhkrrxngkhx sngphlihthwixksr ch aela ll imthuxepntwxksrodd aetthuxepnphyychnasxn ephuxihngaytxkarsubkhnaelakareriyngladbkhainphcnanukrm khatang thikhuntndwy ch cungthuknaipcderiyngxyurahwangkhathikhuntndwy ce aela ci aethn tangcakedimthithukcdiwtxcakkhathikhuntndwy cz swnkhathikhuntndwy ll kthukcdxyurahwangkhathikhuntndwy li aela lo echnkn xyangirktam karptirupkhrngnnmiphlechphaatxkareriyngladbkhatamtwxksrethann immiphltxchudtwxksrsepnsungthwixksr ch aela ll yngkhngepnswnhnunginnnxyu 64 cnkrathnginpi kh s 2010 hnngsuxkhumuxxkkhrwithiphasasepn Ortografia de la lengua espanola sungcdthaodyrachbnthitysthansepnrwmkbsmakhmbnthitysthanphasasepnidtd ch aela ll xxkcakchudtwxksrxyangsmburn 65 dngnn chudtwxksrsepninpccubncungprakxbdwytwxksr 27 tw 66 idaek a b c d e f g h i j k l m n n o p q r s t u v w x y z dd dd dd dd dd dd dd ekhruxnghmayxun aekikh khasepnaethcamikarlngnahnkthiphyangkhkxnphyangkhsudthaykhxngkha hakkhannlngthaydwysra imrwm y hruxlngthaydwyphyychna n hrux s nxknncalngnahnkthiphyangkhsudthay aetthataaehnngthilngnahnkinkhaimepniptamkddngklaw srainphyangkhthithukennkcamiekhruxnghmaylngnahnkednchd acute accent kakbiwkhangbn echn pagina decimo jamon tailandes aela arbol aetekhruxnghmaylngnahnkmkcathuklabxykhrngemuxsrathimnkakbesiynghnkxyuepntwphimphihy inyukhaerk khxmphiwetxrbangekhruxngsamarthphimphidechphaatwphimphelkthimiekhruxnghmaynikakbethann sungrachbnthitysthansepnkaenanaimihthaechnnn 67 68 nxkcakni yngmikarichekhruxnghmaylngnahnkednchdephuxaeykkhwamaetktangrahwangkhaphxngesiyng echn rahwang el khakakbnamephschay chiechphaa kb el ekha srrphnamburusthi 3 exkphcn rupprathan hruxrahwang te ethx srrphnamburusthi 2 exkphcn rupkrrm de aehng hrux cak aela se srrphnamsathxn kb te nacha de ih aela se chnru hrux cngepn inphasasepn camikarlngnahnksrrphnamkhathamtang echnkn imwacaepn que xair cual xnihn donde thiihn quien ikhr thngthixyuinpraoykhkhathamtrng direct questions aelapraoykhkhathamxxm indirect questions swnkharabuechphaa demonstratives echn ese este aquel aelaxun calngnahnkemuxichepnsrrphnamkhasnthan o hrux aetedimcaekhiynodyisekhruxnghmaylngnahnkemuxxyurahwangcanwnthiepntwelkh ephuximihsbsnkbelkhsuny echn 10 o 20 caxanwa diez o veinte 10 hrux 20 imich diez mil veinte 10 020 cnkrathnginpi kh s 2010 rachbnthitysthansepnaelasmakhmbnthitysthanphasasepnidkahndwaimtxngisekhruxnghmaylngnahnkbnkhasnthanniaelw enuxngcakehnwaimichphyangkhthilngnahnkinpraoykh aelainthangptibtikimphbwaekidkhwamekhaicsbsnrahwangtw o kbelkhsunyinbribthniaetxyangid 69 inbangkrni emuxtwxksr u xyurahwangphyychna g kbsrahna e i catxngisekhruxnghmayesrimsthxksrkakbepn u ephuxbxkwaeratxngxxkesiyng u twnidwy pktitw u cathahnathiknimih g thicaprakxbkhunepnphyangkhkbsra e hrux i xxkesiyngepn x eracungimxxkesiyngsra u intaaehnngni echn ciguena nkkrasa caxxkesiyngwa 8iˈɡweɲa si k ew ya aetthasakdwa ciguena catxngxxkesiyngepn 8iˈɡeɲa si ek ya nxkcakni erayngxacphbekhruxnghmayesrimsthxksrdngklawbnsra i aela u idinkwiniphnthtang enuxngcakphuaetngtxngkaraeyksraprasm sungpktinbepnhnungphyangkh xxkepnsxngphyangkh ephuxihmicanwnphyangkhinwrrkhtrngtamthichnthlksnkhxngkhapraphnthchnidnn bngkhbiwphxdi echn ruido misxngphyangkhkhux rui do ruyod aet ruido misamphyangkhkhux ru i do ruxiod xikprakarhnung karekhiynpraoykhkhathamcakhuntndwyprsnihwklb swnpraoykhxuthankcakhuntndwyxsecriyhwklb ekhruxnghmayphiesssxngtwnichwyiheraxanpraoykhkhathamaelapraoykhxuthan sungcaaesdngxxkihthrabiddwykarichthanxngesiyngaebbtang emuxsnthnaethann idngaykhun odyeracathrabidtngaetaerkwapraoykhyaw thixanxyuepnpraoykhaebbid bxkela khatham hruxxuthan inphasaxunimcaepntxngich aela enuxngcakmirabbwakysmphnththiimkxihekidkhwamkakwminkarxan ephraaodythwipaelw karsrangpraoykhbxkelamkcanaprathanmaiwtnpraoykhaelwcungtamdwykriya eracayaykriyamaiwtnpraoykhaelwtamdwyprathanktxemuxthaepnpraoykhkhatham aetinphasasepn erasamartheriyngladbodyihkriyamakxnprathanidepnpkti imwainpraoykhbxkelahruxpraoykhkhatham aelamkcalaprathanxxkipdwy echn Is he coming tomorrow Vient il demain Kommt er morgen aela Viene manana sthwithya aekikhkarxxkesiyngkhaswnihyinphasasepncasamarththrabidcaktwsakdxyuaelw enuxngcakphyychna srahnungtwswnihycaaethnesiyngephiyngesiyngediyw imwacapraktxyuintaaehnngidhruxkbphyychna sraidktam ykewnbanghnwyesiyng phoneme thihakpraktintaaehnngthitangkncamiesiyngaepr allophone ekidkhun sungyngmilksnakarxxkesiyngiklekhiyngkbhnwyesiynghlk aetnxkcakesiyngsraaelaphyychnaaelw karlngnahnkphyangkh accentuation aelakarichthanxngesiyng intonation aebbtang ihehmaasmkepnsingcaepntxkarxxkesiyngephuxsuxsar inphasasepnmicanwnkhathitxnglngnahnkthiphyangkhrxngsudthaymakthisud 70 rxnglngmaepnkhathitxnglngnahnkthiphyangkhsudthayaelakhathitxnglngnahnkthiphyangkhthisam nbcakphyangkhsudthay tamladblksnaechphaatwthangsthwithyakhxngphasasepnthiepliynaeplngipcakphasalatinidaek karklayesiyngphyychnaimkxngrahwangsraepnesiyngkxng 71 echn latin vita gt sepn vida latin lupus gt sepn lobo latin lacus gt sepn lago karklayesiyngsraediyw e aela o inphyangkhennepnsraprasm 72 echn latin terra gt sepn tierra latin novus gt sepn nuevo aelakarklayesiyngphyychnathisaesiyngkntxenuxngepnesiyngphyychnaephdanaekhng 71 echn latin annus gt sepn ano ˈaɲo latin caballus gt sepn caballo kaˈbaʎo epntn karepliynaeplngthangesiyngthanxngnikekidkhunechnkninphasaklumormansphasaxun hlngcakkarsthapnarachbnthitysthansepnkhuninkhriststwrrsthi 18 rabbkarekhiynkhxngphasasepncungidrbkarddaeplngihngaykhunodyxingrupaebbthangsthsastrepnhlk esiyngsra aekikh hnwyesiyngsrasepn 73 praephth srahna sraklanglin srahlngsralinyksung pid i u sralinradbklang e o sralinldta epid a phasasepnmihnwyesiyngsra 5 hnwyesiyng idaek i u e o aela a srathuktwsamarthpraktthngintaaehnngthirbaelaimidrbkarlngesiynghnkinphyangkh 73 odypktiesiyngsra e aela o epnsralinradbklang mid vowel klawkhux linimyksungkhunipiklephdanpakaelaimldtalngcnhangcakephdanpakmakekinip aetinkarxxkesiyngcring bangkhrnglinxacldtalngxikcaktaaehnngpkticnthaihsrathngsxngekuxbklayepnsra ɛ exa aexa aela ɔ exaa thngnikhunxyukbtaaehnngkhxngsrarwmthngphyychnathinahnaaela hruxtamhlngmninkhatang 74 aeteraimthuxwaesiyngsraehlaniepnhnwyesiynghlktanghakinphasasepn enuxngcakimthaihkhwamhmaykhxngkhaaetktangipcakhnwyesiyngsraedim nnhmaykhwamwaesiyngehlaniyngkhngepnesiyngyxy allophone khxnghnwyesiyng e aela o tamladb tangcakphasaphinxngxyangkatala oprtueks frngess aelaxitalithimi ɛ aela ɔ epnhnwyesiyngexkeths 74 75 76 ephraathnghmdmikhwamsakhytxkarcaaenkkhwamhmaykhxngkha esiyngphyychna aekikh pccubnrabbesiynginhlaysaeniyngkhxngphasasepnprakxbdwyhnwyesiyngphyychnaxyangnxy 17 hnwyesiyng idaek m n ɲ p b t d k ɡ t ʃ ɟ ʝ f s x ɾ r l aetinaethbethuxkekhaaexndisinthwipxemrikaitcaprakthnwyesiyng ʎ 77 ephimkhunepn 18 hnwyesiyng aelainhlayphunthikhxngpraethssepncaprakthnwyesiyng ʎ aela 8 77 78 ephimkhunxikrwmepn 19 hnwyesiyng raykarhnwyesiyngphyychnasepnintarangkhanglangniaesdnghnwyesiyngthipraktechphaainsaeniyngdngklawiwdwyodymiekhruxnghmaydxkcnkakbxyu twsthxksrthipraktinwngelbkhuxesiyngyxythisakhy swntwsthxksrthipraktepnkhuinchxngediywknaesdngwa thngsxngmitaaehnngekidesiyngaelalksnakarxxkesiyngrwmkn aettwsaycaepnesiyngimkxng twkhwacaepnesiyngkxng hnwyesiyngphyychnasepn 79 rimfipak rimfipakkbfn linrahwangfn fn pumehnguxk ephdanaekhng ephdanxxnesiyngnasik m n ɲ ŋ esiyngkk p b t d k ɡesiyngkkesiydaethrk t ʃ ɟ ʝesiyngesiydaethrk f 8 s xesiyngepid b d ʝ ɣ esiynglinkrathb ɾ esiyngrw r esiyngkhanglin l ʎ karlngnahnkphyangkh aekikh phasasepnepnphasahnungthimikarlngnahnkphyangkhaelakarichthanxngesiyng inkhasepnswnihy nahnkcatkxyuthiphyangkhidphyangkhhnunginsamphyangkhsudthaykhxngkha aetmikhxykewnkhuxxaccatkthiphyangkhthisihruxhanbcakphyangkhsudthaysungepnkrniphbimbxynk odyaenwonminkarlngnahnkphyangkhkhxngkhasepnmidngtxipni 80 lngnahnkthiphyangkhthiepntwhna khathilngnahnkthiphyangkhrxngsudthay idaek khathilngthaydwysrahruxphyychna n aela s 81 echn copa cine todo luchan gracias epntn thngni ykewninkrnithi s miphyychnaxunnahnaxyu khanncalngnahnkthiphyangkhsudthay 82 khathilngnahnkthiphyangkhsudthay idaek khathilngthaydwyphyychnatwxun nxkehnuxcak n aela s 81 echn Madrid igual llamar virrey veraz epntn nxkcakniyngrwmthungkhathilngthaydwy s aetmiphyychnaxunnahna s twnnxyudwy echn robots zigzags epntn 82 khathimikarlngnahnkthiphyangkhxun nxkehnuxcaksxngphyangkhsudthay hruxmikarlngnahnkthiphyangkhidphyangkhhnunginsxngphyangkhniaetimepniptamkdkhangbn camiekhruxnghmaylngnahnkednchd acute accent kakbiwbnsrakhxngphyangkhnn 83 echn cafe climax debil forceps razon yoquey veintitres sabado epntn khathilngnahnkthiphyangkhthisamcakthaykha echn digame parrafo helicoptero epntnkhathilngnahnkthiphyangkhthisihruxhacakthaykha mkcaepnkhathiinruppraoykhkhasng imperative hruxrupkriyaepnnam gerund thisrangkhunodynaruptid clitic sungepnsrrphnamkrrmtrngaelakrrmrxngmatxthayrupkriyaaethodyimewnwrrkh aettaaehnnglngesiynghnkcaxyuinkhakriyaehmuxnedim imeluxnipxyuthikrrmtrnghruxkrrmrxngimwacalngthaydwysrahruxphyychnatwidktam echn cometelo guardandoselos llevesemela epntn hruxekidkbkhakriyawiessnbangkhathisrangkhunodyichhnwykhaetimhlng mente txthaykhakhunsphththimitaaehnnglngesiynghnkphidpktixyuaelw echn dificil gt dificilmente rapido gt rapidamente epntnnxkcakkhxykewntang khxngaenwonminkarlngnahnkphyangkhaelw yngmikhuethiybesiyng minimal pair xikepncanwnmakthimikhwamaetktangknineruxngkarlngnahnkphyangkhethann echn sabana phaputhinxn aela sabana thunghyasawnna hrux limite ekhtaedn limite thi ekha ethxcakd aela limite chncakd epntniwyakrn aekikh twxyangkarsrangkhanamodyichhnwykhasxngchnid khux hnwykharaksphthaelahnwykhaphn sikhxngobaesdngephskhxngaemw odysifakhuxephsphu aelasichmphukhuxephsemiy phasasepncacdxyuinklumphasawiphttipccy inflected language klawkhux inkarsrangpraoykhhnung caniymichkarphnkhaephuxbngchikhwamsmphnthrahwanghnwytang phayinpraoykhnnxyangirktam nxkcakcaichkarphnkhasungepnlksnasakhykhxngphasaklumniaelw inphasasepnyngmikarichkhabuphbthsungepnkhanamthrrmthithahnathiepntwechuxmaelaimsamarthepliynaeplngrupidephuxbngchikhwamsmphnthdngklawxikdwy aelaenuxngcakphasanimirabbkarcaaenkrupkrrmkhxngskrrmkriya sungcaichrupkarkkrrm ihaetktangcakrupprathanthngkhxngskrrmkriyaaelakhxngxkrrmkriya sungcaichrupkarkprathanthngkhu cungcdepnphasahnunginklumphasakrrmkark nominative accusative language echnediywkbphasaswnihykhxngtrakulxinod yuorepiyn rabbhnwykha aekikh karphnkha aekikh tamthiklawaelwwaphasasepnepnphasawiphttipccy khatang inphasanicungprakxbkhuncakkarephimhnwykhawiphttipccyhruxhnwykhaphn inflectional morpheme ekhaipthiraksphth root hruxeriykxikxyanghnungwahnwysphth lexeme hnwykhaphnepnhnwykhathithahnathiaesdnglksnathangiwyakrnkhxngraksphthethann imthaihkhwamhmaykhxngraksphthepliynip odyhnwykhaphnsahrbkarkracaykhakriya idaek hnwykhathiaesdngmala mood kal tense wack voice karnlksna aspect burus person aelaphcn number epntn aelahnwykhaphnsahrbkarphnkhanam khasrrphnam khakhunsphth aelatwkahnd determiner idaek hnwykhathiaesdngephs gender aelaphcn epntncakphaphthangkhwamux raksphth gat sungmikhwamhmaywaaemw emuxetimhnwykhaphntxthay raksphthnicungmikhwamhmaychdecnyingkhun aetkyngkhngaeplwaaemwechnedim imepliynepnxyangxun hnwykhaphnehlannidaek o hnwykhaaesdngephschay a hnwykhaaesdngephshying s hnwykhaaesdngphhuphcn aela O hnwykhaaesdngexkphcn sungaemeracamxngimehnaetkthuxwamiswninkaraesdngkhwamhmay chnidkhxngkhainphasasepnthimirupphnhlakhlay idaek srrphnamaelakriya srrphnam aekikh srrphnamsakhyinphasasepn idaek yo chn tu ethx usted khun el ekha ella hlxn ello mn singnn nosotros phwkera vosotros phwkethx ustedes phwkkhun ellos phwkekha ellas phwkhlxn esto singni eso singnn aquello singonn epntn caehnidwa srrphnamhlaytwmiphisyinkarichngankhxnkhangaetktangcaksrrphnaminphasaxngkvs odypktiaelwburussrrphnamcathuklaipenuxngcakrupkarphnkhxngkhakriyathiaetktangknsamarthbxkihthrabidxyuaelwwakalngsuxthungprathantwid aetkimicheruxngaeplkhakeraphbburussrrphnamtwidktampraktinphasaekhiynhruxaemkrathnginphasaphud swnihyepnephraaphusngsartxngkarennsrrphnamtwnnhruxknimihphurbsarsbsncakrupphnkriyathisakninbangkrni burussrrphnamsepnphntamphcn burus aelakarktang phcn Numero burus Persona kark Caso prathan krrtukark eriykkhan smophthnakark nominativo vocativo krrmtrng krrmkark acusativo krrmrxng smpthankark dativo krrmkhxngkhabuphbth xthikrnkark hlngkhabuphbth preposicional phurwm hlng con kb con srrphnam comitativo exkphcn thi 1yomeme miconmigo con mi thi 2tu tuteo tete ticontigo con ti vos voseo te os voste os vos voscon vosthi 3el ella ello usted se lo lale si el ella ellocon el ella usted consigo con si phhuphcn phwk thnghlay thi 1nosotros nosotrasnosnos nosotros nosotrascon nosotros nosotrasthi 2vosotros vosotras os vosos vos vosotros vosotras con vosotros vosotras thi 3ellos ellas ustedes se los lasles si ellos ellascon ellos ellas ustedes hmayehtu rupyxkhxngsrrphnam usted khux Ud Vd U hrux V swnrupyxkhxngsrrphnam ustedes khux Uds hrux Vds thnghmdtxngkhuntndwytwxksrphimphihyesmx srrphnam si inkarkkrrmkhxngbuphbthepnsrrphnamsathxn reflexive pronoun esmx aetcamirupimsxdkhlxngkbrupsrrphnamediywkninkarkprathan klawkhux prathan el mismo ella misma aela ellos mismos twekhaexng twethxexng twphwkekhaexng emuxtamhlngbuphbth en para epntn kcaepliynrupepn en si para si ykewntamhlngbuphbth con caepliynrupepn consigo imekiywkhxngkbkarkphurwm srrphnam vosotros as phwkethx mithiichechphaainpraethssepnethann swninthwipxemrika rwmthngbangswnkhxngaekhwnxndalusixaaelahmuekaakhaaenricaichsrrphnam ustedes thnginkhwamhmaywa phwkkhun aela phwkethx 84 85 kriya aekikh karichkhakriyasepnepneruxngthisbsxnthisuderuxnghnungkhxngiwyakrnsepn rabbkriyacaaebngxxkepn 14 kalaetktangkn kalinthiniepnkharwmhmaythungthngkalaelamala sungyngaebngxxkepnsxngklumyxyidaek kalediyw simple tense 7 kal aelakalprasmhruxkalsmburn compound tense perfect tense 7 kal odyinkalprasmcaepntxngichkhakriyachwy haber rwmkbrupkriyakhyayaebbxdit past participle kriyasepncaphnipinhmwdhmutang sungaebngtamlksnakaraesdngenuxkhwamkhxngtwkriyaexng hmwdhmuehlanneriykwamala inphasasepnidaek niethsmalahruxmalabxkela indicative priklpmalahruxsmmutimala subjunctive aelaxantimalahruxmalakhasng imperative swnrupkriyaimrabuprathan formas no personales thitaraiwyakrnekacdepnxikmalahnungnnprakxbdwyrupkriyaimaeth 3 rup sungkriyathuktwcamirupkriyaehlani idaek rupkriyaklang infinitive rupkriyaepnnam gerund aelarupkriyakhyayaebbxdit past participle rupkriyaimaethtwhlngsudnisamarthphntamephsaelaphcnkhxngkhanamidehmuxnkbkhakhunsphth dngnnmncungmirupphnthiepnipidxik 4 rup khux ephschay exkphcn ephshying exkphcn ephschay phhuphcn aelaephshying phhuphcn nxkcakniyngmirupphnxikruphnungthieriykknmatngaetxditwa rupkriyakhyayaebbpccubn present participle aetodythwipcathuxwarupniepnkhakhunsphththithukaeplngmacakkhakriyamakkwacaepnruphnungkhxngkhakriyakriyacanwnmakthiichinchiwitpracawnepnkriyathiphnaebbphidpkti swnkriyathiehluxcacdxyuinklumidklumhnunginsamklumsungmirupkriyaklanglngthaydwy ar er aela ir tamladb thngni kriyainaetlaklumcamirupaebbkarphnaebbediywkn kriyathilngthaydwy ar epnrupaebbthiphbidmakthisud aelakriyathiekidkhunihminphasasepnkmkcamiswnthayepn ar dwy swnklumkriyathilngthaydwy er aela ir camikhakriyainklumkhxngtwexngnxykwaaelakarphnkriyamkcamilksnaphidpktimakkwakriyainklumthilngthaydwy arinmalabxkelacamikalthnghmd 7 kalsungphxcaethiybkbkalthimixyuinphasaxngkvsidbangimmakknxy echn pccubnkal I walk I do walk xditkal ed hrux did kalimsmburn was were hrux used to kalsmburn I have xnakhtkal will aelapraoykhenguxnikh would epntn singthiyakkkhux aetlakalcamirupphnkriyathiaetktangkniptamprathan sungiwyakrnphasaxngkvscangaykwaineruxngni yktwxyangechn kriya eat emuxphntampccubnkalcamirupthiepnipidxyu 2 rup nnkhux eat aela eats khnathiphasasepn kriya comer kin inkalediywkncamirupphnthiepnipidthung 6 rup swnetimkhangthaykhxngkriyainmalaaelakaltang malabxkela MODO INDICATIVO pccubnkal Presente xditkalsmburn kalediyw Preterito perfecto simple xditkalimsmburn Preterito imperfecto xnakhtkal kalediyw Futuro simple praoykhenguxnikh ediyw Condicional simple klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 o o o e i i aba ia ia are ere ire aria eria iria as as es es es is aste iste iste abas ias ias aras eras iras arias erias irias a e e o io io aba ia ia ara era ira aria eria iria amos emos imos amos imos imos abamos iamos iamos aremos eremos iremos ariamos eriamos iriamos ais eis is asteis isteis isteis abais iais iais areis ereis ireis ariais eriais iriais an en en aron ieron ieron aban ian ian aran eran iran arian erian iriansmmutimala MODO SUBJUNTIVO malakhasng MODO IMPERATIVO pccubnkal Presente xditkalimsmburnaebbthi 1 Preterito imperfecto I xditkalimsmburnaebbthi 2 Preterito imperfecto II xnakhtkal kalediyw Futuro simple khasngihtha Imperativo positivo klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 e a a ara iera iera ase iese iese are iere iere es as as aras ieras ieras ases ieses ieses ares ieres ieres a a e e e i e a a ara iera iera ase iese iese are iere iere e a a emos amos amos aramos ieramos ieramos asemos iesemos iesemos aremos ieremos ieremos emos amos amos eis ais ais arais ierais ierais aseis ieseis ieseis areis iereis iereis ad ed id en an an aran ieran ieran asen iesen iesen aren ieren ieren en an anrupkriyathiimrabuprathan FORMAS NO PERSONALES karichkalprasm caepntxngphnkhakriyachwy haber iptamchwngewla pccubn xdit hruxxnakht kxn aelwcungtamdwyrupkriyakhyayaebbxdit participio pasado ante aela iente inwngelbepnswnetimthaykhxngrupthieriykwa kriyakhyayaebbpccubn participio de presente inphasalatin rupkriyakhyaychnidniyngkhngmikhakhwamhmaythiaesdngkarkrathacungcdepnruphnungkhxngkhakriya aetsahrbphasasepnsmyihm rupnithuxepnkhakhunsphthenuxngcaksuyesiykhakhwamhmayechnnnipaelwrupkriyaklang Infinitivo rupkriyakhyay Participio rupkriyaepnnam Gerundio klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 klum 1 klum 2 klum 3 ar er ir ado a ante ido a iente ido a iente ando iendo iendo wakysmphnth aekikh lksnathangwakysmphnthkhxngphasasepnodyrwmepnaebbprathan kriya krrm miokhrngsrangaetkkingipthangkhwa mikarichkhabuphbth inpraoykhhnung mkcawangkhakhunsphthiwhlngkhanam aetimesmxip nxkcakni phasasepnyngepnphasalasrrphnam pro drop language klawkhuxsamarthlaprathankhxngpraoykhidemuximcaepnthnginkarsnthnaaelakarekhiynkhasphth aekikhtwxyangkhasepnthimacakphasaxahrb khasepn khaxahrb khwamhmayaceite azzayt 86 namnaceituna zaytunah 87 makxkalcalde qaḍi phuphiphaksa 88 naykethsmntrialcohol kuḥl 89 aexlkxhxlaldea ḍay ah 90 hmubanalmohada miẖaddah 91 hmxnalquiler kira 92 karechaasesino ḥassasin khntidkycha 93 phulxbsngharazafran za faran 94 hyafrnespinaca isbanaẖ 95 phkokhmhasta ḥatta 96 cnkrathngjazmin yasamin 97 malimarfil aẓm alfil 98 ngachangrehen rihan 99 twprakn echlyzanahoria safunnarya 100 aekhrxtkhasphthphasasepnthiichinchiwitpracawnpramanrxyla 94 mithimacakphasalatin sungkthuxepneruxngpktiaelaimnaaeplkicenuxngcakphasaniepnphasahnunginklumphasaormans xyangirktam echnediywkbphasaxun phasasepnyngmikhayumcakphasakhxngchnchatitang thiphuichphasasepnaelabrrphburuskhxngphuichphasasepnidekhaipmikhwamsmphnthekiywkhxngdwyxyangiklchidtlxdrayaewlakwaphnpiinphasasepn praktkhasphthcanwnhnungthiidrbxiththiphlmacakphasakhxngklumkhnsmykxnormnbnkhabsmuthrixbieriy phasaixbieriy bask ekhlt hruxtaretsoss echn gordo xwn izquierdo say 101 nava thirablumrahwangphuekha 102 conejo kratay 103 phasakhxngchawwisikxth chnephaeyxrmnthipkkhrxngkhabsmuthrixbieriytxcakckrwrrdiormn kmixiththiphltxkhlngkhasphthphasasepnxyuimnxy twxyangidaek chuxaerkekidthangsasnakhrist echn Enrique Gonzalo Rodrigo epntn namskulthimacakchuxehlann khux Enriquez Gonzalez aela Rodriguez khasphthbangkhathiichinchiwitpracawn echn brotar ngxk xxkdxk 104 ganar chna 105 ganso han 106 ropa esuxpha 107 khasphththiekiywkhxngkbkarthhar echn yelmo hmwkehlkthiiskbchudekraa 108 espia saylb 109 guerra sngkhram 110 epntn rwmthnghnwykhaetimhlng engo echninkhawa realengo khxngrth epntnnxkcakni karkhrxbkhrxngkhabsmuthrixbieriyepnewlaekuxb 800 pikhxngchawmuslimyngepidoxkasihphasasepnrbkhasphthcanwnmakcakphasaxahrbekhamaich odyechphaakhathikhuntndwy al aemkrathnghnwykhaetimhlng i thiichaesdngsychatikhxngpraethshruxdinaednbangaehngkmithimacakphasaniechnkn twxyangidaek ceuti chaweswta iraqui chawxirk israeli chawxisraexl epntninkhriststwrrsthi 16 erimmikaryumkhasphthinaewdwngsilpacakphasaxitalimaichinphasasepn rwmthngmikaryumkhasphthcakphasachnphunemuxnginthwipxemrikaxikdwy echn phasanawtl phasaxarawk aelaphasaekchw epntn sungswnmakepnkhathiekiywkhxngkbphuch praephni hruxpraktkarnthrrmchatithiekidkhunkbdinaednnn idaek batata mneths 111 papa mnfrng 112 yuca mnsapahlng 113 cacique phumixanacinthxngthin 114 huracan ehxrriekhn 115 cacao okok 116 chocolate chxkokaelt epntninkhriststwrrsthi 17 erimmikhwamniyminkarichsphthsungaelasanwnowharthimikhwamhmayaelaokhrngsrangiwyakrnsbsxn enuxngcakidrbxiththiphlcaknganekhiyninrupaebbdngklawkhxngluys ed kxngokra kwiyukhbarxkkhxngsepn cnkrathngkhriststwrrsthi 18 cungmikaryumkhasphthcakphasafrngessmaich odyechphaakhathiekiywkhxngkbaefchn karthaxahar aelakarpkkhrxngkhxngchnchnkhunnang echn pantalon kangekngkhayaw 117 pure supekhiywepuxyaelwkrxng 118 tisu phaesnthxnghruxengin 119 menu raykarxahar 120 maniqui hun 121 restoran restaurante phttakhar 122 buro otathangan khnakrrmkarbrihar 123 carne btrpracatw 124 gala chudhruhra 125 bricolaje nganchanginbanthithaiddwytwexng 126 epntninkhriststwrrsthi 19 yngkhngmikarnakhasphthihm ekhamaichinphasasepnephimkhun odyechphaakhasphthcakphasaxngkvsaelaphasaeyxrmn aetkmikhasphthcakphasaxitaliekhamaxikkhrngechnkninsakhakarthaxaharaelakardntri odyechphaakaraesdngxuprakr echn batuta imbatxng 127 soprano ospraon 128 piano 129 130 epntn aelatngaeterimkhriststwrrsthi 20 epntnma khlngkhasphthkhxngphasasepnidrbxiththiphlcakphasaxngkvsxyangmakinthuksakha odyechphaadanthurkic withyasastr ethkhonolyi dntri aelakarkila echn marketing 131 quasar 132 Internet 133 software 134 rock 135 reggae 136 set 137 penalti 138 futbol 139 windsurf 140 epntninchwngimkipithiphanmani rachbnthitysthansepnidphyayamhlikeliyngkarichkhayumaelakhathbsphthodyichtwsakdtamphasatnchbb aetkahndihichkhaaepltrngtwkhxngkhathiyummann hruxichtwsakdthisxdkhlxngkbxkkhrwithidngedimkhxngphasasepnaelayngxxkesiyngidiklekhiyngkbesiynginphasatnchbbaethn echn zum aethn zoom 141 correo electronico aethn e mail 142 futbol aethn football 139 escaner aethn scanner 143 mercadotecnia aethn marketing 144 epntn aemwakhxesnxdngklawnnswnihycaidrbkartxbrbxyangdicaksngkhm aetbangkhathiekhyesnxihich echn cadi aethn caddie best seller aethn best seller yaz aethn jazz epntn klbimidrbkaryxmrbaelahayipcakphcnanukrminthisud 145 146 odythwipinpccubn phasasepninthwipxemrika odyechphaapraethsemksiok mkmikaryumkhasphthhruxrupaebbokhrngsrangkhxngkhasphthaelasanwntang macakphasaxngkvsekhamaich enuxngcakmikhwamsmphnthxyangiklchidkbshrthxemrika inkhnathiphasasepninpraethssepn caniymokhrngsrangkhasphthcakphasakhxngpraethsephuxnbanxyangfrngessmakkwa twxyangechn phuichphasasepnbnkhabsmuthrixbieriycaeriykkhxmphiwetxrwa ordenador odyyumrupkha ordinateur cakphasafrngessmaprbich trngkhamkbphuichphasasepninthwipxemrika klawkhux caichkhawa computadora hrux computador sungepnkarddaeplngrupkhakhxngkhawa computer nnexngkaraepr aekikhsthwithya aekikh phasasepnthiichinphakhehnuxaelaphakhklangkhxngpraethssepnprakxbdwyhnwyesiyngphyychna 19 tw tamthiklawipaelw aetphasasepnthiichinpraethsxun camihnwyesiyngphyychnaephiyng 17 hnwyesiyng aelabangaehngmi 18 hnwyesiyng nxkcakniyngprakxbdwyesiyngaeprxikepncanwnmak khwamaetktangthisakhyindansthwithyarahwangphasasepninphumiphakhtang sungswnihymacakkhwamaetktangeruxngesiyngphyychnannmidngtxipni karaethnesiyng m hrux n thayphyangkhdwyesiyng ŋ inphasasepnmatrthankhxngpraethssepn xarecntina okhlxmebiy aelaemksiok phyychna n thayphyangkhcaxxkesiyngepnesiyngnasik pumehnguxk n 147 148 echn pan xxkesiyng pn pan bien xxkesiyng ebiyn bj ẽ n epntn aetinsaeniyngxun caxxkesiyngepnesiyngnasik ephdanxxn ŋ dngnnkhawa pan cungxxkesiyngepn png paŋ aela bien xxkesiyngepn ebiyng bj ẽ ŋ karxxkesiyng n thayphyangkhepnesiyngephdanxxnniphbidthwipinphunthihlayswnkhxngsepn kaliesiy elxxn xstueriys phumiphakhmuresiy exsetrmadura aelaxndalusixa aelayngepnlksnaednkhxngphasasepninhlayphunthikhxngthwipxemrika tngaetphumiphakhaekhribebiynthnghmd xemrikaklang phunthichayfngkhxngokhlxmebiy ewensuexla phunthiswnihykhxngexkwadxr epru ipcnthungphakhehnuxkhxngchili nxkcakniinexkwadxr epru ewensuexla ykewnaethbethuxkekhaaexndis aelasatharnrthodminikn imwa n hrux m thixyuthayphyangkhaela hruxnahnaphyychnatwxuncaxxkesiyngepn ŋ echnkn dngnnkhawa ambientacion cungxxkesiyng xngebiyngtasiyxng aŋbj ẽ ŋtaˈsjo ŋ inphunthidngklawkaraethnthiesiyng 8 dwyesiyng s inpraethssepn ykewnhmuekaakhaaenriaelaaekhwnxndalusixa caaeykkhwamaetktangrahwangesiyng 8 ekhiynaethndwy z hrux c emuxxyuhna e aela i kbesiyng s echn casa ban xxkesiyng ˈkasa caza karlastw xxkesiyng ˈka8a khnathiinhmuekaakhaaenri aekhwnxndalusixa aelathwipxemrikacaimmikhwamaetktangdngklaw echn casa aela caza caxxkesiyngwa ˈkasa thngkhukarxxkesiyng s odyichthankrnthiaetktangkn inphunthiswnihykhxngthwipxemrikaaelaphakhitkhxngpraethssepn hnwyesiyngphyychna s caepnesiyngcakthanpumehnguxkkbplaylin lamino alveolar s khnathiinphakhehnuxaelaphakhklangkhxngsepnrwmthngaethbethuxkekhaaexndisinokhlxmebiy epru aelaobliewiy s caepnesiyngcakthanpumehnguxkkbplaysudlin apico alveolar s 149 150 karsuyesiyng s thayphyangkh karimxxkesiyng s thayphyangkh khlaykbkrabwnkarthiekidkbphasafrngessinyukhklang epnpraktkarnthiphbthwipinphunthirabaethbthukaehngkhxngpraethsinphumiphakhlatinxemrika phunthithiimekidpraktkarnniidaek praethsemksiok ykewnphunthichayfngthaelaekhribebiynbangaehng phakhehnuxkhxngsepn aeterimcaphbmakkhunaelw aelabriewnaenwethuxkekhaaexndis odyechphaainokhlxmebiy exkwadxr aethbchayfngkhxngepru aelaobliewiy karaethnesiyng x dwyesiyng h c hrux x inxdit j aela g emuxxyuhna e aela i ekhyichepnrupphyychnaaethnesiyngesiydaethrk hlngpumehnguxk imkxng ʃ cnthungkhriststwrrsthi 15 emuxchawsepnklumaerkmathungolkihm taaehnngekidesiyngphyychnaesiyngnicungerimepliyncakpumehnguxk ephdanaekhngipsuephdanxxnepnesiyng x xyangirktam insaeniyngthangphakhitkhxngpraethsrwmthngsaeniyngaekhribebiyn sungidrbxiththiphlcakphutngthinthanthimacakphakhitkhxngsepn hnwyesiyng ʃ imidmiwiwthnakarepnesiyng x aetklbmiwiwthnakaripepnesiyngesiydaethrk esnesiyng imkxng h aethn thukwnnikarxxkesiyng j aela g emuxxyuhna e aela i epn h thuxepnmatrthansahrbphasasepninphumiphakhaekhribebiyn 151 khiwba satharnrthodminikn aelapwyrotriok echnediywkbbnaephndinihykhxngewensuexla 149 okhlxmebiy 149 xemrikaklang 152 ipcnthungaethbchayfngthaelaekhribebiynkhxngemksiok 147 aetinswnxun khxngthwipxemrikacaphbkarxxkesiyngepn x makkwa nxkcakni inphunthiswnihykhxngxarecntina briewnaemnalaplata aelachili karxxkesiyng x caeluxntaaehnngipkhanghnacnklayepnesiyngephdanaekhng c esiyngediywkbesiyng ch cakkhawa ich inphasaeyxrmn emuxesiyngnixyuhnasralinswnhna i e echn gente ˈc ẽ nte jinete ciˈnete epntn insepn karxxkesiyng h caphbidthwipinhmuekaakhaaenriaelaphakhtawntkkhxngaekhwnxndalusixa swninphunthixun khxngpraeths caphbkarxxkesiyng x slbkbkarxxkesiyngesiydaethrk linik imkxng x inbangtaaehnngphayinkhakaraethnesiyng ʎ dwyesiyng ʝ hrux ɟʝ edim ll xxkesiyngepn ʎ aetpccubnesiyngnithukklunekhakbesiyngkhxng y klawkhux phyychnathngsxngtwcaxxkesiyngediywknepn ʝ ɟʝ thaihekidkhwamsbsnrahwangkarichphyychnathngsxngtwni echn khawa yendo bangkhrngmiphusakdphidepn llendo epntn praktkarnnieriykwa eyxisom yeismo ekidinphunthiswnihykhxngolkthiichphasasepn ykewninphunthibangaehngkhxngthwipxemrikasungichphasanirwmkbphasaxunthimikaraeykkhwamaetktangthangesiyngrahwangphyychnasxngtwni echn phunthisxngphasaxyangekhtphasasepn ekchwhruxekhtphasasepn kwaraniinpraethsobliewiyaelaparakwy epntn rwmthnginphunthihlayaehngkhxngsepnsungyngkhngmikaraeykkhwamaetktangkhxngesiyngphyychnathngsxngtwxyu aetkerimldlngaelwkaraethnesiyng ʎ dwyesiyng dʒ ʒ hrux ʃ hnwyesiyng ʎ ʝ sungekidcakpraktkarneyxisomyngxxkesiyngidxikhlayaebbnxkcak ʝ hrux ɟʝ echn inpraethsemksiokodythwipxxkesiyngniepn dʒ ehmuxnesiyngkhxng j inphasaxngkvs swninphunthibriewnaemnalaplatakhxngxarecntinaaelaxurukwycaxxkesiyngepnesiyngesiydaethrk hlngpumehnguxk kxng ʒ 148 hruxesiyngesiydaethrk hlngpumehnguxk imkxng ʃ praktkarneyxisominphunthinicungmichuxeriykxikchuxhnungwa echxisom zeismo seismo hnwyesiyngsrathiekidcakkarsuyesiyng s thayphyangkh thangphakhitkhxngpraethssepn odyechphaainaekhwnmuresiyaelaphakhtawnxxkkhxngaekhwnxndalusixa esiyngphyychna s thixyuthaykhacaxxkesiyngebalngepn h hruxxacimxxkesiyngely dngnn inkarxxkesiyngsrathiprakthnahnwyesiyngphyychnani radbkhxnglincungldtalngcaktaaehnngpkti 153 ekidepnesiyngsraephimkhuncakthimixyuedim 5 twinphasasepnthinehnux dngtxipni as gt ae echn mas mae xik es gt ɛ echn mes mɛ eduxn is gt i echn mis mi khxngchn phhuphcn os gt ɔ echn tos tɔ ix us gt u echn tus tu khxngethx phhuphcn dd dd dd dd dd dd iwyakrn aekikh karichsrrphnam vos aekikh karich vos kbkriya pedir sng bnpayokhsnainexlslwadxr karich vos kbkriya querer txngkar aela venir ma bnpayokhsnainxarecntina phasasepnmisrrphnamburusthi 2 exkphcn 3 tw idaek usted tu aelaxiktwhnungsungichknaephrhlayinthwipxemrika khux vos odythwipnn tu aela vos epnsrrphnamthiimepnthangkar ethx khuxphuphudcaichkbephuxnhruxkhninkhrxbkhrw swn usted khun than epnsrrphnamthithuxwaepnthangkarinthukaehng odyichinthanxngaesdngkhwamnbthuxemuxphudkbkhnthimixayumakkwahruxkhnthiimsnithobesox voseo hmaythungkarich vos epnsrrphnamburusthi 2 exkphcnaethn tu nxkcakniyngmikhwamhmaykhrxbkhlumthungkarichrupphnkriyakhxng vos kbsrrphnam tu inkarkprathanxikdwy 154 echn phasasepninpraethschili 155 epntnrupkrrmtamhlngbuphbthkhxngsrrphnam tu khux ti cathukaethnthidwy vos echnkn klawkhux vos caepnidthngrupprathanaelarupkrrmtamhlngbuphbth dngnn para ti ephuxethx cungklayepn para vos swnrupprasmbuphbth srrphnamxyang contigo kbethx caklayepn con vos aetrupkrrmtrngaelakrrmrxng te yngkhngrupedim imehmuxnkrni vosotros phwkethx thiichrupkrrmtrngaelakrrmrxng os nxkcakni rupsrrphnamaesdngkhwamepnecakhxngkhxng vos kichrupediywkb tu khux tu s tuyo s aela tuya s aethnthicaichrwmkb vosotros epn vuestro s aela vuestra s tarangkhanglangniaesdngkarepriybethiybrupkhakriyahlaytwthiphnkbprathan tu aelaprathan vos swnaethwsudthaykhuxrupkhakriyathiphnkbprathan vosotros sungepnrupsrrphnamburusthi 2 phhuphcnthipccubnichinpraethssepnethann rupphnthimiekhruxnghmaylngnahnkednchdkakbxyu khuxrupphnkhxng vos aela vosotros aelarupkriyaklang emuxxxkesiyngcalngnahnkthiphyangkhsudthay swnrupphnkhxngkriyakbprathan tu calngnahnkthiphyangkhrxngsudthay rupkriyaklang khwamhmay Tu Vos thwip Vos ewensuexla Vos Tu chili Vosotros hablar phud hablas hablas hablais hablai hablais comer kin comes comes comeis comis comeis poder samarth puedes podes podeis podis podeis vivir xyuxasy vives vivis vivis vivis vivis ser epn xyu eres sos sois soi eris sois haber mi has has habes habeis habis hai habeis venir ma vienes venis venis venis venisrupphnkriyathwipkhxngprathan vos hmaythungrupphnthiidrbkaryxmrbodythwipaelaichkninhlaypraeths idaek xarecntina xurukwy parakwy phunthihlayaehnginobliewiy exkwadxr okhlxmebiy xemrikaklang ipcnthungrththangphakhitkhxngemksiokinthangklbkn phasasepnthiichkninrthsueliy sungepnphunthirxbthaelsabmaraikobthangphakhtawntkechiyngehnuxkhxngpraethsewensuexla milksnaednkhux inkarphnkriyakbprathan vos cayngkhngrksarupphnthimimaaetedimexaiw sungrupphndngklawinpccubnyngkhngichphnkbprathan vosotros inpraethssepnrupphnkriyakhxngprathan vos inphasasepnkhxngpraethschiliyngmikhwamaetktangxxkipxik klawkhux aethnthicatd i xxkcakrupsraprasm ais aela ois thixyuthaykhaehmuxnkbkarphnthwip aetklbtdtw s thaykhaxxkipaethn echn vos tu soi eris vos tu estai aelainkrnithirupphnnnlngthaydwy is cayngkhngtw s iwehmuxnedim echn comis podis vivis eris venis odythiphyychna s caimthuklaipesiythiediywinkarxxkesiyng aetcaidyinepnesiyng h 156 epnthinasngektwa lksnakhxngobesoxsahrbphasasepninpraethschilicaepnkarichprathan tu tamdwyrupphnkriyakhxng vos voseo verbal 156 echn tu sabis makkwacaichprathan vos tamdwyrupphnkriyakhxng vos voseo pronominal echn vos sabis thngnienuxngcakobesoxinlksnahlngcapraktinsthankarnthiimepnthangkarxyangmakaelaxacthuxwahyabkhayidinbangkrni 156 khwamniyminkarichsrrphnam vos inpraethstang sinaenginekhm praethsthiich vos thnginkarphudaelaekhiyn sinaengin praethsthiich vos epnhlkechnkn aetimekhmkhnethainphunthisinaenginekhmsiekhiyw praethsthimikarich vos maknxyaelwaetthxngthinsifa praethsthimikarich vos nxymaksiaedng praethsthiimpraktkarich vos khwamaephrhlayinlatinxemrika aekikh srrphnam vos ichepnsrrphnamburusthi 2 exkphcn xyangkwangkhwanginphasasepnsaeniyngrioxedlaplata praethsxarecntinaaelaxurukwy inparakwy kwetmala nikarakw aelakhxstarika phukhninobliewiy hxndurs aelaexlslwadxrkichsrrphnamtwniinchiwitpracawnechnkn aetinsampraethsni suxyngkhngniymichsrrphnam tuodythwip vos caimichinnganekhiynthiepnthangkar ykewninxarecntinaaelaxurukwy inexlslwadxr kartuninhnngsuxphimphmkcaichsrrphnam vos odyaethbcaimphbkarichsrrphnamtwniinbthkhwamxunely nxkcakinkhxkhwamthiphuekhiynykmaklawxang quotation aetsuxtang odyechphaapayprakasaelasuxokhsna erimhnmaichsrrphnamtwniaethnthi tu makkhuninxemrikaklang echn nikarakwaelahxndurs swnxarecntinaaelaxurukwyyngich vos epnrupsrrphnammatrthaninsuxothrthsnxikdwyinpraethsobliewiy phakhehnuxaelaphakhitkhxngepru exkwadxr phunthibangaehngaethbethuxkekhaaexndisinewensuexla phunthiswnihykhxngokhlxmebiy aelaphakhtawnxxkkhxngkhiwba thuxwa tu epnrupsrrphnamthiichinphasaradbthangkar ody vos caepnrupsrrphnamthiphukhnthwipichknmakkwa 156 swninpraethschili rthsueliykhxngewensuexla chayfngmhasmuthraepsifikkhxngokhlxmebiy xemrikaklang ipcnthungrthtabsokaelarthechiypsthangphakhitkhxngemksiok caichsrrphnam tu inradbkungthangkar aelaichsrrphnam vos inradbknexng 156 xyangirktam inlatinxemrikakyngmiphunthithiichsrrphnam tu inthanasrrphnamburusthi 2 exkphcnepnhlkxyuechnkn idaek praethskhiwba satharnrthodminikn pwyrotriok phunthiekuxbthnghmdkhxngemksiokaelapanama phunthiswnihykhxngepruaelaewensuexla aelachayfngthaelaekhribebiynkhxngokhlxmebiy 156 karichsrrphnam ustedes aekikh inphasasepnyngmikhwamaetktangineruxngkarichsrrphnamburusthi 2 phhuphcn inlatinxemrikamisrrphnamdngklawephiyngrupediywthiichinchiwitpracawn khux ustedes sungichthnginechingthangkaraelaimthangkar phwkkhunhruxphwkethx khunxyukbsthankarn aetbangkhrngxacphb vosotros phwkethx inbthrxykrxnghruxwrrnkrrmthiichsanwnowhartang echnkninsepn karichsrrphnamburusthi 2 phhuphcncaaebngxxkepn ustedes thangkar aela vosotros knexng odysrrphnam vosotros epnrupphhuphcnkhxngsrrphnam tu nnexng aetinthwipxemrika rwmthngbangemuxngthangphakhitkhxngsepn echn kadishruxesbiya aelahmuekaakhaaenri srrphnam vosotros cathukaethndwy ustedes epnthinasngektwakarich ustedes inkhwamhmaywa phwkethx thangphakhitkhxngsepnnnimepniptamkdkarphnkriya sungaesdngkhwamsxdkhlxngrahwangsrrphnamkbkriya echn khnathipraoykh ustedes van phwkkhunip ichrupphnkriyasahrbprathansrrphnamburusthi 3 phhuphcn epnkdkarphnkriyatampkti aetinemuxngkadisaelaesbiyaemuxphudwa phwkethxip caich ustedes vais sungepnrupphnkriyathitamkdaelwcaichkb vosotros ethann swninhmuekaakhaaenri karphnkriyacaepniptampktikhux ustedes van imwacahmaythung phwkethxip hrux phwkkhunip khasphth aekikh mikhaphasasepnepncanwnmakthimikhwamhmayaelarupaebbkarichaetktangkniptamaetlapraeths phuphudphasasepnswnihycaruckkhathimikhwamhmayxyangediywkninrupekhiynxun aemcaepnkhathiimidichknthwipktam aetchawsepnswnihymkimekhaickarichkhathimirupekhiynediywkninkhwamhmayxun khxngphuphudphasasepninthwipxemrika echn khawa mantequilla aguacate aela albaricoque inpraethssepn aeplwa eny xaowkhaod aela aexphrikhxt tamladb mikhwamhmaytrngkbkhawa manteca palta aela damasco inpraethsxarecntina chili epru parakwy aelaxurukwy 157 158 159 khathiichkntampktiinsepnxyang coger ekb hyib aela concha epluxkhxy klayepnkhathimikhwamhmayhyabolninlatinxemrika ephraathinn coger cahmaythung miephssmphnth 160 swn concha hmaythung xwywaephshying 161 twxyangxun idaek khawa taok taco sungmikhwamhmayhnungaeplwa khasbth insepn 162 aetthwolkruckkhaniinthanachuxxaharemksiokchnidhnung khawa pinche sunginpwyrotriokaeplwa kibtidphm thuxepnkhaimsuphaphinemksiok khwamhmaythanxngediywkb damn inphasaxngkvs swninexlslwadxr nikarakw aelakhxstarikaaeplwa khiehniyw 163 khawa coche sunginsepnhmaythung rthynt nn inkwetmalacahmaythung hmu hrux skprk 164 khnathi carro sunghmaythung rthynt inlatinxemrikabangpraeths 165 klbhmaythung ekwiyn inpraethsxun rwmthngsepn aelakhawa papaya sungodythwipaeplwa malakx aetinkhiwba khaniepnsaelngaeplwa chxngkhlxd 166 dngnnemuxtxngkarcaphudthungphlimcring chawkhiwbacaeriykwa frutabomba 167 nxkcakni wyruninpraethsthiphudphasasepnkmikhasaelngsahrbicheriykephuxnsnith inthanxngediywkbthiwyrunxemriknniymichkhawa dude aetkhathiicheriyknnaetktangknxxkipinaetlapraeths echn guey mano hrux carnal inemksiok 168 cuate inkwetmalaaelahxndurs 169 mae inkhxstarika 170 tio insepn tipo inokhlxmebiy huevon inchili 171 aela chabon inxarecntina khaehlanicaichinwngcakdkbephuxnthisnithcring ethann ephraakhxnkhanghyabkhayaelabangkhamikhwamhmaydngediminechingduhmin hnwyngankhwbkhumkarichphasa aekikh rachbnthitysthansepn Real Academia Espanola rwmkbbnthitysthanphasasepninchatithiichphasaniepnhlkxik 21 aehng rwmthnginshrthxemrika ichxanacthimiinkarsrangmatrthanthangphasaphansingphimphtang thngphcnanukrm taraiwyakrn aelahlkeknthkarichphasa enuxngcakxiththiphldngklawprakxbkbehtuphlthangsngkhmwithyaaelaprawtisastr cungthaihphasasepnmatrthan Standard Spanish Neutral Spanish idrbkaryxmrbxyangepnwngkwangthnginkarphlitnganwrrnkrrm bthkhwamwichakar aelasuxhlayaekhnngekrdkhwamru aekikhinphasaekhiynsepn srathiphbbxythisudkhux e 172 swnphyychnathiphbbxythisud khux s 172 taraiwyakrnphasapccubnelmaerkkhxngyuorpkhuxtaraiwyakrnsepn ekhiynodyexeliyw xnoteniyw ed enbrikha emuxpi kh s 1492 khathiyawthisudinphasasepn idaek esternocleidooccipitomastoideo chuxklamenuxkhxdanhlng anticonstitucionalmente xyangimepniptambthbyytikhxngrththrrmnuy electroencefalografista phuechiywchaykarbnthukkhluniffasmxng aela otorrinolaringologicamente inthangost nasik laringswithya khainphasasepnthipraktsrakhrbthuktwphayinkha idaek arquitecto sthapnik eucalipto yukhalipts murcielago khangkhaw abuelito khunpu khunta orquidea klwyim aela alucinogeno sarkxprasathhlxn rwmthngchuxechphaaxiksichux idaek Aurelio exaereliyw Aureliano exaereliyon Eustaquio exxustakiox aela Venustiano ebnusetiyon kareriynkarsxnphasasepninpraethsithy aekikhpccubnerimmikareriynkarsxnphasasepnaephrhlaymakkhuninpraethsithy thnginradbxudmsuksaaelaradbmthymsuksa radbxudmsuksaepidsxnepnwichaexkthikhnaxksrsastr culalngkrnmhawithyaly khnasilpsastr mhawithyalythrrmsastr khnamnusysastr mhawithyalyramkhaaehng aelakhnamnusysastraelasngkhmsastr mhawithyalykhxnaekn aelaepidepnwichaothaelaeluxkesrithikhnamnusysastr mhawithyalyekstrsastr khnamnusysastr mhawithyalyechiyngihm khnamnusysastr mhawithyalynerswr withyalynanachati mhawithyalymhidl aelasankwichasilpsastr mhawithyalyaemfahlwng radbmthymsuksaechn orngeriynetriymxudmsuksa orngeriynstriwithya orngeriynstriwithya 2 orngeriynbdinthredcha singh singhesni 2 orngeriynophthisarphithyakr orngeriynphrmanusrn cnghwdephchrburi orngeriynxnukulnari orngeriynstrisuksa orngeriynkhxnaeknwithyayn orngeriynpthumethphwithyakhar orngeriynphaeyaphithyakhm orngeriynkalsinthuphithyasrrph orngeriynebycamamharach orngeriynwdekhmaphirtaram lduephim aekikhkarekhiynkhathbsphthphasasepn xksrlatin phasalatin phasaklumormansxangxing aekikh Argentina gov ar Acerca de la Argentina Idioma sepn GovernmentOfBelize gov bz Languages xngkvs TurismoBolivia bo Idiomas en Bolivia sepn Servicio Nacional de Turismo Poblacion e idioma en Chile sepn Articulo 10 º de la Constitucion politica de Colombia 1991 El castellano es el idioma oficial de Colombia Las lenguas y dialectos de los grupos etnicos son tambien oficiales en sus territorios La ensenanza que se imparta en las comunidades con tradiciones linguisticas propias sera bilingue sepn VisitCostaRica com Idioma oficial de Costa Rica sepn Portal Cuba Constitucion de la Republica de Cuba articulo 2 º El nombre del Estado cubano es Republica de Cuba el idioma oficial es el espanol y su capital es la ciudad de La Habana sepn Espanol Guinea Equatorial com Pais y Clima sepn Constitucion de Guinea Ecuatorial de 1995 articulo 4 º La lengua oficial de la Republica de Guinea Ecuatorial es el espanol Se reconoce las lenguas aborigenes como integrantes de la cultura nacional sepn 10 0 10 1 10 2 10 3 Ethnologue com Spanish A language of Spain xngkvs de 2006 Statistique Canada frngess 2006 American Community Survey xngkvs Instituto Cervantes sepn Spanish language total Ethnologue Retrieved 14 August 2009 Demografia de la lengua espanola p 38 16 0 16 1 Acta Internacional de la Lengua Espanola IV Acta Internacional de la Lengua Espanola Un idioma vivo para el mundo sepn krysstal com elpais com 5th International Congress on Spanish Language la moncloa es toplanguagecommunity co uk uis edu Antonio Molina director of the Instituto Cervantes in 2006 terranoticias es elmundo es Luis Maria Anson of the Real Academia Espanola elcultural es International Congress about Spanish 2008 Mario Melgar of the Mexico University lllf uam es Enrique Diaz de Liano Arguelles director of Celer Solutions multilingual translation network elintercultural net Feu Rosa Spanish in Mercosur congresosdelalengua es elpais com eumed net efeamerica com babel linguistics com Protocol on amendments to the constitutive act of the African Union xngkvs Las Naciones Unidas Carta de las Naciones Unidas Articulo 111 sepn Ethnologue com 1999 Top 100 Languages by Population xngkvs CIA The World Factbook Field Listing Languages xngkvs dukhxmulthi World EUR Lex Tratado de Lisboa Articulo 7 sepn Union Africaine Protocole sur les Amendements a l Acte Constitutif de l Union Africaine Article 11 Langues officielles frngess Organization of American States Carta de la Organizacion de los Estados Americanos Capitulo XXI Ratificacion y Vigencia Articulo 139 sepn Organizacion de Estados Iberoamericanos para la Educacion la Ciencia y la Cultura Estatutos de la Organizacion de Estados Iberoamericanos para la Educacion la Ciencia y la Cultura Capitulo I Naturaleza y Fines Articulo 1 sepn El Secretariado del Tratado de Libre Comercio de America del Norte Capitulo XXII del TLCAN Articulo 2206 sepn Ministerio das Relacoes Exteriores Tratado Constitutivo da Uniao de Nacoes Sul Americanas Artigo Transitorio oprtueks sepn xngkvs dtch 28 0 28 1 El Pais El espanol es el segundo idioma que mas se estudia en el mundo segun el Instituto Cervantes sepn Terra La presencia del espanol en la Comunidad Europea y la expansion en Asia retos inmediatos del Instituto Cervantes sepn Junta de Castilla y Leon Plan del Espanol para Extranjeros 2005 2009 sepn Fundeu BBVA Carmen Caffarel valora la influencia del espanol que en el 2050 hablaran 600 millones sepn CincoDias com El espanol es un buen negocio sepn Universpain Por que es importante aprender el espanol sepn Rafael Cano coord Historia de la lengua espanola Barcelona Ariel Linguistica 2005 Penny Ralph A History of the Spanish Language Cambridge Cambridge University Press 1991 p 5 xngkvs 20 minutos Descubren que las palabras mas antiguas escritas en Espanol son del siglo IX 37 0 37 1 Fernandez Ordonez Ines Los origenes de la dialectologia hispanica y Ramon Menendez Pidal sepn Cano Aguilar Rafael El espanol a traves de los tiempos 4ª ed Madrid ARCO LIBROS S L 1999 p 63 sepn Obediente Sosa Enrique Biografia de una lengua Nacimiento desarrollo y expansion del espanol Merida Venezuela Universidad de Los Andes 2007 pp 244 248 ISBN 978 980 11 1026 2 sepn Spanish Language Facts Encyclopedia com subkhnemux 2010 11 06 Crow John A 2005 Spain the root and the flower University of California Press p 151 ISBN 9780520244962 Klein Andreu Flora Spanish through Time An Introduction Munich LINCOM GmbH 2010 p 19 xngkvs 43 0 43 1 Spanish Language History Today Translations subkhnemux 2007 10 01 Internet World Users by Language Miniwatts Marketing Group 2008 xngkvs UN 2009 estimate PDF subkhnemux 2010 04 21 cakhnngsuxbritanikaaehngpi ph s 2546 2552 es Anexo Hablantes de espanol como lengua materna en el 2003 segun el Britannica Book aehlngxangxingthukichodysaranukrmbritanika Ethnologue 14th edition Joshua Project 2000 People s List U S Census Bureau eurobarometer 2006 es Anexo Hablantes de espanol en la U E segun el Eurobarometro 2006 sahrbpraethsinthwipyuorp nkeriynphasasepnsahrbpraethsnxkthwipyuorp du Instituto Cervantes 06 07 immiaehlngxangxingthipraktchdecnekiywkbphuphudphasasepnepnphasathisxng nxkehnuxcakpraethsyuorpaelalatinxemrika 49 0 49 1 49 2 49 3 49 4 Demografia de la lengua espanola hna 28 sahrbpraethsthiichphasasepnepnphasathangkar CONAPO 2010 cia gov miphuichphasasepnrxyla 92 7 canwnprachakrpi kh s 2009 cak U S Population in 1990 2000 and 2009 U S Census Bureau phusubechuxsaycakchawlatinxemrikaxayutngaet 5 pikhunip US Census Bureau 2009 Academia Norteamericana de la Lengua Espanola elcastellano org Jose Ma Anson noticias elcastellano org Jorge Ramos Avalos univision com Elbio Rodriguez Barilari congresosdelalengua es III Acta Internacional de la Lengua Espanola nytimes com miprachakrphusubechuxsaycakchawlatinxemrikathnghmd 50 477 594 khncakprachakrxemriknthnghmdkwa 308 lankhn khxmulcak sankngansamaonprachakr kh s 2010 prachakrphusubechuxsaycakchawlatinxemrikathimixayumakkwa 5 pikhunipcanwn 35 468 501 khnichphasasepninkhrxbkhrw dngnncungnacayngmiphuphudphasasepnepnphasathisxnginradbtang knxikpraman 15 lankhn nxkcakni miphueriynphasasepn 6 cervantes es hrux 7 8 fundacionsiglo com lankhninshrthxemrika sungswnmakimichphusubechuxsaycakchawlatinxemrika aelayngmiphusubechuxsaycakchawlatinxemrikasungxphyphekhashrthxemrikaodyphidkdhmayxik 9 lankhn bangswntksarwcsamaonprachakr impre com INE Datos basicos acceso directo 1 1 2010 Ine es 2001 05 28 subkhnemux 2011 02 05 rxyla 89 0 phudphasasepnepnphasaaerk eurobarometer 2006 DANE DANE subkhnemux 2010 09 01 miprachakr 500 000 khnichphasaphunemuxngklumtang Ethnologue SINTITUL 7 PDF subkhnemux 2011 02 05 miprachakrxik 4 566 891 khnthiphudphasaxunepnphasaaem phasahlk idaek phasaxitali 1 500 000 khn phasaxahrb 1 000 000 khn phasaekchw 855 000 khn phasaeyxrmn 400 000 khn phasakwaraniparakwy 200 000 khn phasayiddichtawnxxk 200 000 khn Ethnologue Diccionario panhispanico de dudas ch sepn Diccionario panhispanico de dudas ll sepn Explanation at http www spanishpronto com xngkvs sepn Exclusion de los digrafos ch y ll del abecedario sepn Real Academia Espanola y Asociacion de Academias de la Lengua Espanola Ortografia de la lengua espanola Madrid Espasa Libros 2010 p 63 sepn Real Academia Espanola Ortografia de la lengua espanola 1999 sepn Real Academia Espanola y Asociacion de Academias de la Lengua Espanola Ortografia de la lengua espanola Madrid Espasa Libros 2010 p 448 sepn Gomez Torrego Leonardo Las normas academicas ultimos cambios Madrid Ediciones SM 2011 pag 62 sepn Martinez Celdran Eugenio Fernandez Planas Ana Ma and Carrera Sabate Josefina Castilian Spanish Journal of the International Phonetic Association 33 2 2003 257 doi 10 1017 S0025100303001373 xngkvs 71 0 71 1 Hualde Jose Ignacio Olarrea Antxon y Escobar Anna Maria Introduccion a la linguistica hispanica Cambridge Cambridge University Press 2001 pag 298 sepn Hualde Jose Ignacio Olarrea Antxon y Escobar Anna Maria Introduccion a la linguistica hispanica Cambridge Cambridge University Press 2001 pag 296 sepn 73 0 73 1 Martinez Celdran Eugenio Fernandez Planas Ana Ma and Carrera Sabate Josefina Castilian Spanish Journal of the International Phonetic Association 33 2 2003 256 doi 10 1017 S0025100303001373 xngkvs 74 0 74 1 Hualde Jose Ignacio Olarrea Antxon y Escobar Anna Maria Introduccion a la linguistica hispanica Cambridge Cambridge University Press 2001 pag 89 sepn Fougeron Cecile and Smith Caroline L French Journal of the International Phonetic Association 23 2 1993 73 Rogers Derek and d Arcangeli Luciana Italian Journal of the International Phonetic Association 34 1 2004 119 doi 10 1017 S0025100304001628 xngkvs 77 0 77 1 Hualde Jose Ignacio Olarrea Antxon y Escobar Anna Maria Introduccion a la linguistica hispanica Cambridge Cambridge University Press 2001 pag 81 sepn Hualde Jose Ignacio Olarrea Antxon y Escobar Anna Maria Introduccion a la linguistica hispanica Cambridge Cambridge University Press 2001 pag 75 sepn Martinez Celdran Eugenio Fernandez Planas Ana Ma and Carrera Sabate Josefina Castilian Spanish Journal of the International Phonetic Association 33 2 2003 255 doi 10 1017 S0025100303001373 xngkvs Diccionario panhispanico de dudas acento sepn 81 0 81 1 Kattan Ibarra Juan and Pountain Christopher J Modern Spanish Grammar A Practical Guide 2nd ed London Routledge 2003 p 7 xngkvs 82 0 82 1 Diccionario panhispanico de dudas tilde 2 sepn Kattan Ibarra Juan and Pountain Christopher J Modern Spanish Grammar A Practical Guide 2nd ed London Routledge 2003 p 8 xngkvs Colegio de Mexico 2006 Diccionario del espanol usual en Mexico ISBN 968 12 0704 1 sepn Diccionario panhispanico de dudas usted sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola aceite sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola aceituna sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola alcalde sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola alcohol sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola aldea sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola almohada sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola alquiler sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola asesino sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola azafran sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola espinaca sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola hasta sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola jazmin sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola marfil sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola rehen sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola zanahoria sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola izquierdo sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola nava sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola conejo sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola brotar sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola ganar sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola ganso sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola ropa sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola yelmo sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola espia sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola guerra sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola batata sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola papa sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola yuca sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola cacique sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola huracan sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola cacao sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola pantalon sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola pure sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola tisu sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola menu sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola maniqui sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola restoran sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola buro sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola carne sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola gala sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola bricolaje sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola batuta sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola soprano sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola piano sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola pianoforte sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola marketing sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola quasar sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola Internet sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola software sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola rock sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola reggae sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola set sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola penalti sepn 139 0 139 1 Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola futbol sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola windsurf sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola zum sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola correo sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola escaner sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola mercadotecnia sepn Academia Colombiana de la Lengua por Cleobulo Sabogal Cardenas Extranjerismos en el Diccionario de la Lengua Espanola sepn Academia Dominicana de la Lengua JUGAR HACER SEGUIMIENTO ROL sepn 147 0 147 1 Nibert Holly et al Area 1 Fonologia y fonetica in Spanish Dialectology sepn 148 0 148 1 Nibert Holly et al Area 5 Fonologia y fonetica in Spanish Dialectology sepn 149 0 149 1 149 2 Nibert Holly et al Area 4 Fonologia y fonetica in Spanish Dialectology sepn Nibert Holly et al Area 6 Fonologia y fonetica in Spanish Dialectology sepn Nibert Holly et al Area 3 Fonologia y fonetica in Spanish Dialectology sepn Nibert Holly et al Area 2 Fonologia y fonetica in Spanish Dialectology sepn Lloret Maria Rosa 2007 On the Nature of Vowel Harmony Spreading with a Purpose in Bisetto Antonietta Barbieri Francesco Proceedings of the XXXIII Incontro di Grammatica Generativa pp 24 25 Miranda Stewart 1999 The Spanish Language Today Routledge p 125 ISBN 041514258X xngkvs Lipski John M 1994 Latin American Spanish Essex England Longman Group Limited 201 202 xngkvs 156 0 156 1 156 2 156 3 156 4 156 5 Diccionario panhispanico de dudas voseo WordReference com manteca xngkvs Diccionario de la Lengua Espanola del Real Academia Espanola palta sepn WordReference com damasco xngkvs Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola coger sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola concha sepn WordReference com taco xngkvs Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola pinche sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola coche sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola carro sepn Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola papaya sepn 3 Guys From Miami Fruta Bomba xngkvs Urban Diccionary carnal xngkvs Diccionario de la Lengua Espanola de la Real Academia Espanola cuate sepn Diccionario Tico asi hablamos en Costa Rica mae sepn Diccionario de Modismos Chilenos huevon sepn 172 0 172 1 Fletcher Pratt Secret and Urgent the Story of Codes and Ciphers Blue Ribbon Books 1939 pp 254 255 xngkvs aehlngkhxmulxun aekikh wikitara mikhumux tara hruxwithikarekiywkb phasasepn wikiphiediy saranukrmesri inphasasepn khxmulphasasepncak Ethnologue xngkvs phcnanukrmkhxngrachbnthitysthansepn sepn Spanish phrasebook in Wikivoyage xngkvs hnngsuxxielkthrxniksphasasepn eruxng A First Spanish Reader sepn ewbistthangkarkhxng Colorin Colorado xngkvs sepn Spanish BBC Languages xngkvs fukphasasepn xngkvs eriynphasasepn xngkvs chwyehluxekiywkbphasasepn xngkvs eriyniwyakrnsepnxxniln xngkvs ekhathungcak https th wikipedia org w index php title phasasepn amp oldid 9487925, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม