fbpx
วิกิพีเดีย

สงครามกลางเมืองอังกฤษ

สงครามกลางเมืองอังกฤษ (อังกฤษ: English Civil War; ค.ศ. 1642 ถึงปี ค.ศ. 1651) เป็นสงครามกลางเมืองของอังกฤษ, สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ที่ต่อเนื่องกันหลายครั้งระหว่างฝ่ายรัฐสภา และฝ่ายกษัตริย์นิยม สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1 เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1642 ถึงปี ค.ศ. 1646; ครั้งที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ. 1648 ถึงปี ค.ศ. 1649 เป็นสงครามของความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ฝ่ายหนึ่งและผู้สนับสนุนรัฐสภายาวอีกฝ่ายหนึ่ง ขณะที่ครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1649 ถึงปี ค.ศ. 1651 เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และผู้สนับสนุนรัฐสภารัมพ์อีกฝ่ายหนึ่ง สงครามกลางเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาที่ยุทธการวูสเตอร์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1651

สงครามกลางเมืองอังกฤษ
เป็นส่วนหนึ่งของ สงครามสามอาณาจักร

ชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาในยุทธการที่เนสบีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1645 เป็นจุดเปลี่ยนในการสู้รบของฝ่ายรัฐสภาต่อฝ่ายนิยมกษัตริย์
วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1642 – 3 กันยายน ค.ศ.1651
สถานที่ ราชอาณาจักรอังกฤษ, ราชอาณาจักรสกอตแลนด์, ราชอาณาจักรไอร์แลนด์ และดินแดนอาณานิคม
ผลลัพธ์ ฝ่ายรัฐสภาชนะ
คู่ขัดแย้ง
ฝ่ายนิยมกษัตริย์
- แควาเลียร์ - สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ 
ฝ่ายรัฐสภา
- เครือจักรภพแห่งอังกฤษ - หัวเกรียน 
ผู้บัญชาการหรือผู้นำ
กำลังพลสูญเสีย
50,700 เสียชีวิต

83,467 ถูกจับกุม

34,130 เสียชีวิต

32,823 ถูกจับกุม

ตายโดยไม่เข้าร่วมรบ 127,000 คน (รวมประชาชนอีก 40,000 คน)
“หนูเห็นพ่อครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?” โดย วิลเลียม เฟรดเดอริค ยีมส์ (William Frederick Yeames) เป็นภาพรัฐสภาถามลูกชายของฝ่ายนิยมกษัตริย์ระหว่างสงครามกลางเมือง

ผลของสงครามกลางเมืองครั้งที่สองนำไปสู่การปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1, การลี้ภัยของพระราชโอรสพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และการเปลี่ยนระบบการปกครองของอังกฤษจากระบอบพระมหากษัตริย์ไปเป็นระบบเครือจักรภพแห่งอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ. 1649 ถึงปี ค.ศ. 1653 และต่อจากนั้นไปเป็นระบบรัฐผู้พิทักษ์ภายใต้การนำของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ระหว่างปี ค.ศ. 1653 ถึงปี ค.ศ. 1659 เอกสิทธิ์ในการนับถือคริสต์ศาสนาของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ในอังกฤษสิ้นสุดลงด้วยการรวม การปกครองโดยโปรเตสแตนต์ (Protestant Ascendancy) ในไอร์แลนด์ ในด้านรัฐธรรมนูญสงครามครั้งนี้เป็นการวางรากฐานว่าการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำได้โดยมิได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่อันที่จริงแล้วปรัชญานี้ก็มิได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังจนกระทั่งถึงสมัยการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปลายคริสต์ศตวรรษ

ความหมาย

คำว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” ในภาษาอังกฤษมักจะใช้เป็นคำเอกพจน์แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะยังโต้แย้งกันว่าเป็นสงครามสองหรือสามสงคราม สงครามนี้เป็นสงครามของอังกฤษแต่ความขัดแย้งตั้งแต่เริ่มแรกก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสกอตแลนด์และไอร์แลนด์ (ดู สงครามสามอาณาจักร)

สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งนี้ต่างกับสงครามกลางเมืองอังกฤษของอังกฤษอื่นๆ ตรงที่มิใช่เพียงแต่จะเป็นสงครามที่แก่งแย่งระหว่างผู้นำที่แท้จริงของประเทศ แต่ยังเป็นสงครามที่คำนึงถึงการเลือกระบบการปกครองของบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ นักประวัติศาสตร์บางคนจัดสงครามกลางเมืองอังกฤษว่าเป็น “การปฏิวัติอังกฤษ” งานเขียนเช่นสารานุกรมบริตานิกา ฉบับ ค.ศ. 1911 กล่าวถึงสงครามกลางเมืองอังกฤษว่าเป็น “การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่” นักประวัติศาสตร์ลัทธิมาร์กซเช่นคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ (Christopher Hill) มักจะนิยมใช้คำว่า “การปฏิวัติอังกฤษ” (English Revolution) แทนการใช้คำว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” ในการกล่าวถึงสงครามครั้งนี้

สาเหตุ

ปรัชญาการปกครองของพระเจ้าชาลส์

 
“พระเจ้าชาลส์ที่ 1” โดยแอนโทนี แวน ไดค์

สงครามกลางเมืองอังกฤษเริ่มขึ้นเพียงสี่สิบปีหลังจากการสวรรคตของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ในปี ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1625 อังกฤษและสกอตแลนด์อยู่ในความสงบทั้งทางการภายในและความสัมพันธ์ระหว่างของทั้งสองราชอาณาจักร พระเจ้าชาลส์มีพระราชประสงค์ที่จะรวมราชอาณาจักรอังกฤษ, ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์เข้าเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์) แต่ฝ่ายรัฐสภามีความเคลือบแคลงใจถึงพระราชประสงค์ที่ว่านี้ เพราะการก่อตั้งราชอาณาจักรใหม่อาจจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมและประเพณีโบราณของอังกฤษที่เคยปฏิบัติกันมา และเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องมือในการค้ำจุนรากฐานการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์มาจนถึงเวลานั้น นอกจากนั้นเมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงครองราชย์ภายใต้ปรัชญาเดียวกันกับพระราชบิดาที่ครั้งหนึ่งตรัสบรรยายตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่าเป็นการเป็น “เทพน้อยๆ บนโลกมนุษย์” (little Gods on Earth) พระเจ้าชาลส์ทรงมีความเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากพระเจ้าให้ปกครองอาณาจักรภายใต้กฎ “เทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์” (Divine Right of Kings) ปรัชญาของพระองค์ก็ยิ่งทำให้รัฐสภาเพิ่มความหวั่นระแวงต่อนโยบายของพระองค์มากยิ่งขึ้น

ในการปกครองพระเจ้าชาลส์ทรงเรียกร้องความจงรักภักดีจากผู้อยู่ใต้การปกครองโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นการแลกเปลี่ยนกับ “การปกครองอย่างยุติธรรม” พระองค์ทรงเห็นว่าการขัดแย้งกับพระองค์เป็นการกระทำที่หยามพระองค์ ความขัดแย้งหรือความเคลือบแคลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างพระเจ้าชาลส์และรัฐสภาแห่งอังกฤษเป็นผลที่ทำให้ความสัมพันธ์ในที่สุดก็แตกหักลงและนำไปสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด

รัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ

ก่อนที่จะเกิดการต่อสู้กันรัฐสภาแห่งอังกฤษมิได้มีบทบาทในระบบการปกครองของอังกฤษเท่าใดนัก รัฐสภาเป็นแต่เพียงคณะผู้ถวายคำแนะนำต่อและเป็นเครื่องมือของพระมหากษัตริย์เท่านั้น—พระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ์ที่จะเรียกประชุมหรือยุบรัฐสภาเมื่อใดก็ได้ตามแต่พระราชประสงค์ การที่เรียกประชุมส่วนใหญ่ก็เป็นการเรียกเข้ามาเพื่อให้ช่วยหาเงินทุนเข้าพระคลัง เพราะรัฐสภาโดยสมาชิกผู้เป็นผู้นำท้องถิ่น (gentry) มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บภาษี พระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องพึ่งบุคคลเหล่านี้ในการทำให้การเก็บภาษีเป็นการราบรื่นโดยไม่มีปัญหาใดใด ถ้าผู้นำท้องถิ่นปฏิเสธที่จะเก็บภาษีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่มีเครื่องมืออื่นใดในการบังคับการเก็บภาษี แม้ว่ารัฐสภาจะอนุญาตให้ผู้แทนของผู้นำท้องถิ่นประชุมและส่งนโยบายเสนอไปยังพระมหากษัตริย์ในรูปของร่างพระราชบัญญัติ แต่ผู้แทนเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการบังคับให้พระมหากษัตริย์ปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไป—รัฐสภาอาจจะมีอำนาจในการบังคับพระมหากษัตริย์อยู่บ้างโดยการไม่ยอมร่วมมือในการเก็บภาษีหาเงินให้พระมหากษัตริย์ตามที่ทรงต้องการ แต่ถ้าทำเช่นนั้นพระองค์ก็อาจจะตัดสินใจยุบสภา

รัฐสภากับคำร้องสิทธิ

 
พระราชินีเฮนเรียตตา มาเรีย โดยปีเตอร์ เลลีย์ (Peter Lely), ค.ศ. 1660

เหตุการณ์แรกที่ทำให้รัฐสภาเป็นเริ่มเป็นกังวลคือการเสกสมรสระหว่างพระเจ้าชาลส์ที่ 1 กับเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียแห่งบูร์บองผู้เป็นเจ้าหญิงโรมันคาทอลิกจากฝรั่งเศส การเสกสมรสเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1625 ไม่นานหลังจากที่พระเจ้าชาลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ การเสกสมรสของพระองค์ทำให้อาจจะเกิดปัญหาในเรื่องพระราชโอรสที่จะเป็นรัชทายาทที่อาจจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างโรมันคาทอลิก ซึ่งทำให้เป็นที่หวั่นกลัวของชาวอังกฤษผู้เป็นโปรเตสแตนต์

นอกจากนั้นพระเจ้าชาลส์ยังมีพระราชประสงค์ที่จะเข้าเกี่ยวข้องในความขัดแย้งในยุโรปที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้ความยุ่งเหยิงของสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618-ค.ศ. 1648) การเข้าร่วมการสงครามหมายถึงการใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาล วิธีที่พระเจ้าชาลส์จะทรงสามารถหาทุนในการทำสงครามได้ก็โดยการขึ้นภาษีที่ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา แต่แทนที่รัฐสภากลับจำกัดสิทธิในการเก็บภาษีตันภาษีปอนด์ที่แต่เดิมเป็นสิทธิส่วนพระองค์ที่ทรงเรียกเก็บได้ตลอดพระชนม์ชีพ รัฐสภาจำกัดให้ทรงเก็บได้เพียงปีเดียว ถ้าจะเก็บในปีต่อไปพระองค์ก็ต้องมาต่อรองขออนุมัติจากรัฐสภาเป็นปีๆ ไป ซึ่งเป็นผลทำให้พระองค์ทรงมีปัญหาทางการเงินหนักยิ่งขึ้น

แต่ปัญหาการขาดทุนทรัพย์ก็มิได้ทำให้พระเจ้าชาลส์หยุดยั้งการเข้าเกี่ยวข้องในการสงคราม ทรงตัดสินพระทัยส่งกองกำลังไปช่วยอูว์เกอโนที่ถูกล้อมอยู่ที่ลารอแชล โดยมีจอร์จ วิลเลียรส์ ดยุคแห่งบัคคิงแฮมที่ 1ข้าราชสำนักคนโปรดไปเป็นแม่ทัพ แต่ก็เป็นการทัพที่ล้มเหลว รัฐสภาที่เป็นปรปักษ์ต่อดยุคแห่งบัคคิงแฮมอยู่แล้วเรียกร้องให้ปลดดยุคแห่งบัคคิงแฮมออกจากตำแหน่ง พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงยอมและทรงโต้ตอบด้วยการยุบรัฐสภา การกระทำครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นการช่วยดยุคแห่งบัคคิงแฮมแต่ก็เป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐสภามากยิ่งขึ้น

หลังจากที่ทรงยุบรัฐสภาแล้ว และไม่ทรงสามารถหาเงินโดยไม่มีรัฐสภาช่วยแล้วพระเจ้าชาลส์ก็ทรงตั้งรัฐสภาใหม่ในปี ค.ศ. 1628 ที่รวมทั้งโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แต่รัฐสภาใหม่ยื่นคำร้องขอสิทธิฟ้องร้องรัฐ ซึ่งในที่สุดพระองค์ก็ทรงยอมรับเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้ทุนทรัพย์จากการที่รัฐสภาช่วยเก็บภาษีให้พระองค์

สมัยการปกครองส่วนพระองค์ของพระเจ้าชาลส์

 
อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอด

หลังจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ทรงเลี่ยงการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นเวลากว่าสิบปีซึ่งเป็นสมัยที่เรียกว่า “สิบเอ็ดปีแห่งความกดขี่” (Eleven Years' Tyranny) ในช่วงเวลานี้พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงสามารถหาเงินได้ง่ายๆ โดยปราศจากรัฐสภา แต่ก็ทรงหันไปหาวิธีอื่นในการหาเงินเข้าท้องพระคลัง เช่นการนำกฎหมายโบราณออกมารื้อฟื้นใช้ในการเรียกค่าปรับจากขุนนางผู้มิได้เข้าร่วมในพิธีราชาภิเษกของพระองค์ก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นก็ยังทรงพยายามโดยการเก็บภาษีเรือที่เรียกร้องเก็บภาษีจากแคว้นต่างๆ ที่ไม่อยู่ติดทะเลสำหรับราชนาวีอังกฤษ บางคนก็ต่อต้านไม่ยอมจ่ายภาษีที่ว่าเพราะถือว่าเป็นภาษีที่ผิดกฎหมายแต่ก็ไปแพ้ในศาลซึ่งก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเพิ่มความไม่พอใจในวิธีการปกครองของพระองค์มากยิ่งขึ้น

ระหว่างการเก็บภาษีแล้ว ใน “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” พระเจ้าชาลส์ก็ยังทรงก่อให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา โดยการที่มีพระประสงค์ที่จะแยกนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ให้ใกลจากลัทธิคาลวินมากขึ้น ไปทางที่ใช้ระบอบประเพณีทางศาสนาเช่นที่ใกล้เคียงกับธรรมเนียมโบราณมากขึ้นกว่าที่ปฏิบัติกันในลัทธิคาลวิน พระประสงค์นี้ได้รับการสนับสนุนโดยอัครบาทหลวงวิลเลียม ลอดที่ปรึกษาทางการเมืองส่วนพระองค์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยพระเจ้าชาลส์เองให้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ในปี ค.ศ.1633 และทรงริเริ่มการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เป็นการพยายามเพิ่มอำนาจให้แก่นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์มากขึ้น อัครบาทหลวงลอดพยายามทำให้สถาบันศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยการปลดนักบวชที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายและปิดองค์การต่างๆ ของกลุ่มเพียวริตัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการต่อต้านนโยบายการปฏิรูปศาสนาของประชาชนทั้งในราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรสกอตแลนด์ พระราชนโยบายของพระองค์เป็นนโยบายที่ค้านกับปรัชญาของลัทธิคาลวินที่ต้องการให้นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ทำพิธีศาสนาเช่นที่ระบุไว้ใน “หนังสือสวดมนต์สามัญ” (Book of Common Prayer) นอกไปจากนั้นอัครบาทหลวงลอดก็ยังนิยมคริสต์ศาสนปรัชญาของลัทธิอาร์มิเนียนนิสม์ (Arminianism) ของจาโคบัส อาร์มิเนียส (Jacobus Arminius) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ผู้เคร่งครัดในลัทธิคาลวินิสม์ถือว่าแทบจะเป็นปรัชญาของ “โรมันคาทอลิก”

เพื่อจะเป็นควบคุมผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอดตั้งระบบศาลที่เป็นที่น่ายำเกรงขึ้นสองศาล “Court of High Commission” และ “ศาลโถงดาว” (Court of Star Chamber) เพื่อใช้ในการลงโทษผู้ที่ไม่ยอมรับการปฏิรูป ศาลแรกมีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาให้การที่ทำความเสียหายต่อตนเองได้ ศาลหลังมีอำนาจออกบทลงโทษใดๆ ก็ได้รวมทั้งการทรมานยกเว้นแต่เพียงการประหารชีวิตเท่านั้น

อำนาจเหนือกฎหมายของ “ศาลโถงดาว” ในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์เป็นอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจใดๆ ที่เคยใช้กันมาก่อนในรัชสมัยของพระองค์ ภายในรัชสมัยของพระองค์ผู้ถูกกล่าวหามักจะถูกลากตัวขึ้นศาลโดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ และไม่มีสิทธิในการคัดค้านข้อกล่าวหาใดๆ ทั้งสิ้นด้วย นอกจากนั้นคำสารภาพที่ได้มาก็มักจะได้มาจากการทรมาน

การก่อความไม่สงบในสกอตแลนด์

ดูบทความหลักที่: สงครามบาทหลวง

สมัยการปกครองส่วนพระองค์” มายุติลงเมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงพยายามนำนโยบายทางศาสนาที่บังคับใช้ในอังกฤษไปใช้ในสกอตแลนด์ แม้ว่านิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์จะมีนโยบายเป็นของตนเอง แต่พระเจ้าชาลส์มีพระราชประสงค์ที่จะให้การปฏิบัติทางศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วทั้งเกาะอังกฤษที่รวมทั้งสกอตแลนด์ โดยการเสนอการใช้หนังสือสวดมนต์สามัญในสกอตแลนด์ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1637 แต่ทางสกอตแลนด์ประท้วงอย่างรุนแรงจนเกิดการจลาจลในเอดินบะระห์ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1638 ทางสกอตแลนด์ก็ยื่นการประท้วงอย่างเป็นทางการในพันธสัญญาแห่งชาติ (National Covenant) ซึ่งเป็นเอกสารที่ประท้วงข้อเสนอต่างๆ ของพระเจ้าชาลส์ที่ยังมิได้รับการทดสอบโดยรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์และสภาทั่วไปของศาสนาของสกอตแลนด์ก่อนที่จะนำมาปฏิบัติ

ไม่นานหลังจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ทรงยกถอนการบังคับใช้หนังสือสวดมนต์สามัญในสกอตแลนด์และทรงเรียกประชุมสภาทั่วไปของนิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์ที่กลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1638 สภาทั่วไปที่มีอิทธิพลจากมติมหาชนไม่ยอมรับหนังสือสวดมนต์และประกาศว่าเป็นการผิดกฎหมายและไล่บาทหลวงออกจากการร่วมประชุม พระเจ้าชาลส์ทรงเรียกร้องให้สภาทั่วไปถอนการกระทำแต่สภาทั่วไปไม่ยอม ทั้งสองฝ่ายต่างจึงเริ่มรวบรวมกองทหารสำหรับการสงครามที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้น

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1639 พระเจ้าชาลส์ทรงนำกองทัพขึ้นไปยังเขตแดนสกอตแลน์เพื่อจะไปปราบความไม่สงบที่เรียกว่าสงครามบาทหลวง แต่ก็เป็นการสู้รบที่ไม่ทราบว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ชนะอย่างเป็นที่แน่นอน ในที่สุดพระองค์ก็ยอมรับข้อเสนอยุติการศึกจากฝ่ายสกอตแลนด์—สัญญาสงบศึกเบริค (Pacification of Berwick) แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเมื่อสงครามบาทหลวงครั้งที่สองเริ่มขึ้นในฤดูร้อนของปีต่อมาในปี ค.ศ. 1640 ครั้งนี้ฝ่ายสกอตแลนด์ได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าชาลส์และยึดนิวคาสเซิลอัพพอนไทน์ ในที่สุดพระเจ้าชาลส์ก็ทรงยอมตกลงที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการศาสนาในสกอตแลนด์ นอกจากนั้นก็ยังทรงต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝ่ายสกอตแลนด์ด้วย

เรียกประชุมรัฐสภา

ก่อนหน้าที่จะเข้าสงครามกับสกอตแลนด์พระเจ้าชาลส์ทรงมีความรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องปราบปรามความไม่สงบในสกอตแลนด์แต่ไม่ทรงมีงบประมาณพอ พระองค์จึงทรงพยายามหาทุนโดยการเรียกประชุมรัฐสภาใหม่ที่เพิ่งได้รับเลือกในปี ค.ศ. 1640 แต่ฝ่ายเสียงข้างมากของรัฐสภานำโดยจอห์น พิม (John Pym) ถือโอกาสในการยื่นข้อร้องทุกข์ที่มีต่อระบบการใช้อำนาจในทางที่ผิดของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่าง “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” ที่ผ่านมาและแสดงการต่อต้านพระราชนโยบายในการรุกรานสกอตแลนด์ของพระองค์ พระเจ้าชาลส์ทรงเห็นว่าการกระทำของรัฐสภาเป็นการกระทำที่ “Lèse majesté” (หยามอำนาจของพระมหากษัตริย์) พระองค์จึงมีพระราชโองการให้ยุบรัฐสภาหลังจากได้รับการเรียกเข้าประชุมเพียงสามอาทิตย์ รัฐสภานี้จึงเรียกกันว่า “รัฐสภาสั้น

เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา พระเจ้าชาลส์ก็เสด็จไปโจมตีสกอตแลนด์อีกครั้งซึ่งเป็นการละเมิดสัญญาสงบศึกเบอร์วิค และทรงได้รับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน สกอตแลนด์ถือโอกาสรุกรานอังกฤษและเข้ายึดนอร์ทธัมเบอร์แลนด์และเดอแรม.

ขณะเดียวกันทอมัส เวนท์เวิร์ธ หัวหน้าที่ปรึกษาของพระเจ้าชาลส์ ผู้เป็นผู้ปกครองไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1632 ก็ไปตกลงกับผู้นำท้องถิ่นโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์ว่าจะให้เสรีภาพทางศาสนาเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสียภาษีใหม่ที่เวนท์เวิร์ธนำกลับมาถวายพระเจ้าชาลส์

ในปี ค.ศ. 1639 พระเจ้าชาลส์ทรงเรียกเวนท์เวิร์ธกลับอังกฤษ และทรงแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดในปี ค.ศ. 1640 โดยทรงหวังที่จะให้เวนท์เวิร์ธไปทำอย่างเดียวกันนั้นกับสกอตแลนด์ แต่ครั้งนี้เวนท์เวิร์ธไม่ประสบความสำเร็จ และทหารอังกฤษต้องถอยหนีหลังจากเผชิญหน้ากับสกอตแลนด์เป็นหนที่สองในปี ค.ศ. 1640 ทางเหนือของอังกฤษเกือบทั้งหมดจึงถูกยึดโดยสกอตแลนด์ พระเจ้าชาลส์ทรงถูกบังคับให้จ่ายค่าชดใช้สงครามเป็นจำนวน £850 ต่อวันในการหยุดยั้งจ้างไม่ให้สกอตแลนด์เดินทัพต่อไปในอังกฤษ

สถานะการณ์ครั้งนี้ยิ่งทำให้พระเจ้าชาลส์ทรงประสบปัญหาทางการเงินหนักกว่าครั้งใดใด ในฐานะพระมหากษัตริย์ของสกอตแลนด์พระองค์ทรงต้องมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าบำรุงกองทัพสกอตแลนด์ในอังกฤษ และในฐานะพระมหากษัตริย์ของอังกฤษพระองค์ทรงต้องมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าบำรุงกองทัพอังกฤษในการป้องกันอังกฤษเองด้วย เพื่อหาทุนทรัพย์เพื่อใช้จ่ายในค่าบำรุงรักษากองทัพต่างๆ พระองค์จึงต้องเรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1640

รัฐสภายาว

 
การประชุมของรัฐสภายาว
ดูบทความหลักที่: รัฐสภายาว

รัฐสภาใหม่ที่เรียกเข้ามายิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาลส์หนักยิ่งขึ้นกว่ารัฐสภาเดิม ที่เริ่มโดยการยื่นคำร้องทุกข์ต่อการปกครองของพระองค์และรัฐบาลของพระองค์อันไม่เป็นธรรม โดยมีพิมและจอห์น แฮมพ์เด็น (John Hampden) เป็นผู้นำ นอกจากนั้นรัฐสภาก็ยังดำเนินการปฏิรูปต่างๆ เช่นผ่านพระราชบัญญัติว่ารัฐสภาต้องประชุมอย่างน้อยสามปีต่อครั้งโดยไม่ต้องได้รับการเรียกจากพระมหากษัตริย์ กฎหมายอื่นที่ผ่านก็ได้แก่การระบุว่าพระมหากษัตริย์ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และรัฐสภามีอำนาจเหนือองคมนตรีของพระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระมหากษัตริย์ไม่สามารถยุบรัฐสภาได้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากตัวรัฐสภาเอง รัฐสภานี้จึงเรียกกันว่า “รัฐสภายาว” แต่รัฐสภาก็พยายามเลี่ยงข้อขัดแย้งกับพระเจ้าชาลส์โดยการให้สมาชิกลงนามใน “ปฏิญาณความภักดี” ต่อพระองค์

เมื่อต้นปี ค.ศ. 1641 รัฐสภาก็สั่งจับทอมัส เวนท์เวิร์ธ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดและส่งไปขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอนในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน จอห์น พิมอ้างว่าการเตรียมพร้อมของเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดในการรณรงค์ในการต่อต้านผู้รุกรานอังกฤษอันที่จริงแล้วเป็นการเตรียมตัวต่อต้านอังกฤษเอง แต่สภาสามัญชนก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาได้ จอห์น พิมและเฮนรี เวน (ผู้พ่อ) (Henry Vane the Elder) จึงหันไปใช้พระราชบัญญัติริบทรัพย์ (Bill of Attainder) ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดโดยไม่ต้องพิสูจน์ในศาลแต่โดยการอนุมัติจากพระมหากษัตริย์ แต่พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงยอมอนุมัติ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดกลัวว่าสงครามจะเกิดขึ้นก็เขียนจดหมายไปถึงพระเจ้าชาลส์ให้ทรงพิจารณาใหม่ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดจึงถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1641.

แต่แทนที่การเสียสละของเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดจะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากสงคราม กลับกลายเป็นเหตุที่นำมาซึ่งสงคราม ภายในไม่กี่เดือนหลังจากนั้นกลุ่มโรมันคาทอลิกไอร์แลนด์ผู้ที่กลัวอำนาจของโปรเตสแตนต์ที่เพิ่มมากขึ้นก็เริ่มสงครามก่อนในการปฏิวัติไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 ในขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่าพระเจ้าชาลส์ทรงสนับสนุนฝ่ายโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์ สมาชิกสภาสามัญชนที่เป็นเพียวริตันก็เริ่มแสดงความหวาดหวั่นต่อการกระทำของพระเจ้าชาลส์

สถานะการณ์ระหว่างพระเจ้าชาลส์กับรัฐสภาก็เลวร้ายขึ้นทุกวัน จนในที่สุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1642 พระเจ้าชาลส์พร้อมกับกองทหารราว 400 คนก็บุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อที่จะพยายามจับตัวสมาชิกห้าคนของรัฐสภาในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน แต่ผู้ถูกกล่าวหารู้ตัวเสียก่อนและหลบหนีไปทันก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาถึง ยกเว้น โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่มิได้หนีไปกับผู้อื่น พระเจ้าชาลส์จึงตรัสถามประธานสภา วิลเลียม เล็นทาลล์ (William Lenthall) ว่าสมาชิกสภาหลบหนีกันไปไหนหมดซึ่งเล็นทาลล์ให้คำตอบที่เป็นที่รู้จักกันว่า “May it please your Majesty, I have neither eyes to see nor tongue to speak in this place but as the House is pleased to direct me, whose servant I am here.” ซึ่งเท่ากับว่าเล็นทาลล์ประกาศตนเป็นผู้รับใช้รัฐสภาแทนที่จะเป็นผู้รับใช้พระมหากษัตริย์

ความกดขี่ในท้องถิ่น

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1642 เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดความแตกแยกกันในทางความเห็น ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาลส์ก็เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเช่นการบังคับเก็บค่าธรรมเนียมในการระบายน้ำในบริเวณเดอะเฟ็นส์ (The Fens) ซึ่งมีผลต่อประชากรเป็นจำนวนมากหลังจากที่ทรงให้สัญญาการระบายน้ำต่อผู้รับเหมา ซึ่งเป็นผลทำให้ประชากรทางตะวันออกจำนวนมากไปเข้าข้างฝ่ายรัฐสภา เช่น เอ็ดเวิร์ด มองตากิว เอิร์ลแห่งแมนเชสเตอร์ที่ 2 และโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ก็มีเช่น โรเบิร์ต เบอร์ตี เอิร์ลแห่งลินซีย์ที่ 1 (Robert Bertie, 1st Earl of Lindsey) ผู้เสียชีวิตในการต่อสู้ในฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ยุทธการเอ็ดจฮิลล์

สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1

 
แผนที่ของดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายกษัตริย์นิยม (แดง) และฝ่ายรัฐสภา (เขียว), ค.ศ. 1642 — ค.ศ. 1645

เมื่อต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1642 ไม่กี่วันหลังจากที่พระเจ้าชาลส์ทรงบุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อจะจับกุมสมาชิกห้าคนในสภาสามัญชนแต่ไม่สำเร็จ พระองค์ก็ไม่ทรงมีความรู้สึกปลอดภัยที่จะประทับในลอนดอนอยู่ต่อไป พระองค์จึงเสด็จหนีออกจากลอนดอน แต่ระหว่างนั้นจนตลอดหน้าร้อนก็ยังมีการต่อรองระหว่างรัฐสภายาวกับพระองค์เพื่อหาทางประนีประนอมแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด บ้านเมืองในขณะนั้นก็แตกแยกกันเป็นฝักฝ่าย เช่นเมืองพอร์ทสมัธภายใต้การนำของเซอร์จอร์จ กอริง ลอร์ดกอริงประกาศเข้าข้างพระเจ้าชาลส์ แต่เมื่อทรงพยายามรวบรวมอาวุธจากคิงสตันอัพพอนฮัลล์ (Kingston upon Hull) ที่เป็นคลังอาวุธที่ใช้ในการรณรงค์ต่อต้านสกอตแลนด์ก่อนหน้านั้น เซอร์จอห์น ฮ็อทแฮม บารอนเน็ทที่ 1 ข้าหลวงฝ่ายทหารที่ไดัรับแต่งตั้งโดยรัฐสภาในเดือนมกราคมก็ไม่ยอมให้พระเจ้าชาลส์เข้าเมือง พระองค์ก็เสด็จกลับมาพร้อมกับกองทหารเพิ่มเติมแต่ก็ไม่ทรงสามารถเข้าเมืองฮัลล์ได้ (การล้อมเมืองฮัลล์ (Siege of Hull (1642)) พระเจ้าชาลส์จึงทรงออกหมายจับฮ็อทแฮมในข้อหากบฏแต่ก็ไม่ทรงสามารถบังคับใช้ได้ ตลอดหน้าร้อนความตึงเครียดก็เพิ่มมากระหว่างพระเจ้าชาลส์และรัฐสภาก็เพิ่มมากขึ้นทุกที และการปะทะกันกระเส็นกระสายก็เริ่มเกิดขึ้นทั่วไปแต่การเสียชีวิตเกิดขึ้นที่ครั้งแรกแมนเชสเตอร์

เมื่อความขัดแย้งเริ่มขึ้นบรรยากาศส่วนใหญ่ทั่วๆ ไปในประเทศก็เป็นกลาง แม้ว่าราชนาวีอังกฤษและเมืองใหญ่จะมีแนวโน้มที่จะเข้าข้างรัฐสภาก็ตาม ส่วนการสนับสนุนของพระเจ้าชาลส์ส่วนใหญ่มาจากชุมชนในชนบท นักประวัติศาสตร์ประมาณว่าทั้งสองฝ่ายขณะนั้นมีกองกำลังรวมกันเพียงประมาณ 15,000 คน แต่เมื่อสงครามขยายตัวเพิ่มขึ้น ความกระทบกระเทือนก็มีผลต่อสังคมทุกระดับ ชุมชนบางชุมชนก็พยายามรักษาตัวเป็นกลาง บ้างก็ก่อตั้งกองคลับเม็น (Clubmen) เพื่อป้องกันชุมชนในท้องถิ่นจากการเอาประโยชน์จากกองทหารของทั้งฝ่ายนิยมกษัตริย์และฝ่ายรัฐสภา แต่ส่วนใหญ่พบว่าไม่สามารถต่อต้านกำลังของทั้งสองฝ่ายได้

หลังจากความล้มเหลวที่ฮัลล์แล้วพระเจ้าชาลส์ก็เสด็จต่อไปยังน็อตติงแฮมและทรง “ยกธง” (raise the royal standard) หรือประกาศสงครามต่อฝ่ายรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1642 ในขณะนั้นทรงมีกองทหาม้าราว 2,000 คนและทหารราบยอร์คเชอร์อีกบ้าง ในการรวบรวมกองพลพระองค์ทรงรื้อฟื้นกฎหมายโบราณที่เรียกว่า “พระราชกฤษฎีการะดมไพร่พล” ที่เป็นพระราชกฤษฎีกาที่มอบอำนาจให้พระเจ้าแผ่นดินในการมีสิทธิเรียกเกณฑ์ทหารในการทำสงครามได้ ผู้สนับสนุนพระองค์ก็เริ่มรวบรวมกองทัพที่มีจำนวนมากขึ้นในอาณาบริเวณที่ทรง “ยกธง” หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงย้ายไปทางตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มด้วยสตาฟฟอร์ด (Stafford) และต่อมาไปยังชรูสบรี (Shrewsbury) เพราะทรงได้รับการสนับสนุนอย่างแน่นหนาในบริเวณหุบเขาเซเวิร์นและทางตอนเหนือของเวลส์ ขณะที่เสด็จผ่านเวลลิงตันในชร็อพเชอร์พระองค์ก็มีพระราชประกาศเจตนาที่มารู้จักกันว่า “พระราชประกาศเวลลิงตัน” (Wellington Declaration) ซึ่งเป็นการทรงแถลงอุดมการณ์ว่าในการต่อสู้ครั้งนี้พระองค์จะทรงพิทักษ์ “ศาสนาโปรเตสแตนต์, กฎหมายอังกฤษ และเสรีภาพของรัฐสภา”

ในขณะเดียวกันทางฝ่ายรัฐสภาก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยระหว่างก่อนหน้าที่จะเกิดสงคราม โดยสร้างเสริมเมืองที่เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ และในเมืองเหล่านั้นก็แต่งตั้งผู้สนับสนุนนโยบายของฝ่ายรัฐสภาเป็นผู้บริหาร ภายในวันที่ 9 มิถุนายนทางฝ่ายรัฐสภาก็สามารถรวบรวมกำลังพลอาสาสมัครได้ถึง 10,000 คนและแต่งตั้งให้โรเบิร์ต เดเวอโรซ์ เอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชา สามวันต่อมา “Lords Lieutenant” ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภาใช้อำนาจที่ได้รับจากกฤษฎีการะดมทหารอาสาสมัคร ในการเกณฑ์ทหารเข้าร่วมในกองทัพของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์

สองอาทิตย์หลังจากที่พระเจ้าชาลส์ก็ทรงประกาศสงครามที่น็อตติงแฮม เอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ก็นำกองทัพขึ้นไปยังนอร์ทแธมตัน (Northampton) โดยได้ผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นระหว่างทาง (รวมทั้งกองทหารม้าจากเคมบริดจ์เชอร์ที่รวบรวมและบังคับบัญชาโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์) ภายในกลางเดือนกันยายนกองกำลังของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 25, 200 คนโดยเป็นทหารราบเสีย 21,000 คนและทหารม้าอีก 4200 คน เมื่อวันที่ 14 กันยายนเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ก็ย้ายกองทัพไปโคเวนทริและต่อไปยังทางเหนือของค็อตสวอลด์ส (Cotswolds) จุดที่เป็นที่ตั้งทัพเป็นตำแหน่งที่อยู่ระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมด้านหนึ่งและลอนดอนอีกด้านหนึ่ง

ขณะนั้นกองทหารของทั้งสองฝ่ายก็มีจำนวนรวมกันเป็นหมื่นและมีวูสเตอร์เชอร์เท่านั้นที่ขวางกลางระหว่างสองกองทัพ ซึ่งทำให้ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงในการประจันหน้ากันได้ การต่อสู้ครั้งแรกของสงครามกลางเมืองเริ่มด้วยกองทหารม้าหนึ่งพันคนนำโดยเจ้าชายรูเปิร์ตแห่งไรน์พระนัดดาของพระเจ้าชาลส์จากเยอรมนีเป็นฝ่ายจู่โจมและได้รับชัยชนะต่อกองทหารม้าของฝ่ายรัฐสภาภายใต้การนำของนายพันจอห์น บราวน์ในยุทธการเพาวิคบริดจ์ที่สะพานข้ามแม่น้ำทีม (River Teme) ไม่ไกลจากวูสเตอร์

หลังจากนั้นเจ้าชายรูเปิร์ตก็ถอยกลับไปชรูสบรี ที่ชรูสบรีสภาสงครามโต้แย้งกันถึงนโยบายสองนโยบายในการที่จะดำเนินการสงครามต่อไป นโยบายแรกคือการเดินทัพเข้าหาที่ตั้งใหม่ของกองทัพของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ใกล้วูสเตอร์ นโยบายคือเลี่ยงการประจันหน้ากับเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์และพยายามเดินทัพไปทางที่เปิดโล่งไปยังลอนดอน สภาตัดสินใจเดินทัพไปลอนดอนแต่มิได้พยายามเลี่ยงการต่อสู้ เพราะผู้นำทหารฝ่ายพระเจ้าชาลส์ต้องการจะประจันหน้าในการต่อนสู้กับเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ก่อนที่กองทัพของเอสเซ็กซ์จะแข็งตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีสาเหตุมาจากความกระหายสงครามของทั้งสองฝ่ายซึ่งทำให้การตัดสินยิ่งยากยิ่งขึ้น ซึ่งเอ็ดเวิร์ด ไฮด์ เอิร์ลแห่งแคลเร็นดอนที่ 1 กล่าวว่า: “เป็นการถูกต้องในการตัดสินใจที่จะเดินทัพต่อไปยังลอนดอนเพราะเป็นที่แน่นอนว่าเอสเซ็กซ์จะต้องพยายามเข้าขัดขวาง” กองทัพของพระเจ้าชาลส์จึงเริ่มเดินทัพไปยังลอนดอนเมื่อวันที่ 12 ตุลคมสองวันล่วงหน้ากองทัพของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ โดยเดินทางไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็ได้ผลเพราะเป็นการบังคับให้เอสเซ็กซ์ต้องเคลื่อนทัพมาขัดขวาง

สงครามอย่างเป็นทางการ (Pitched battle) เริ่มต่อสู้กันเป็นครั้งแรกในยุทธการเอ็ดจฮิลล์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1642 ครั้งนี้ไม่มีใครแพ้ใครชนะแต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างตนว่าเป็นผู้ชนะ การปะทะกันครั้งที่สองเกิดขึ้นที่ยุทธการเทอแนมกรีน ครั้งนี้พระเจ้าชาลส์ทรงถูกบังคับให้ถอยไปยังเมืองออกซฟอร์ด ซึ่งกลายเป็นที่ตั้งมั่นของพระองค์จนสงครามยุติลง

ในปี ค.ศ. 1643 กองทัพฝ่ายกษัตริย์นิยมได้รับชัยชนะที่ยุทธการแอดวาลตันมัวร์ และได้อำนาจในการควบคุมบริเวณยอร์เชอร์เกือบทั้งหมด ทางมิดแลนด์สกองทัพฝ่ายรัฐสภานำโดยเซอร์จอห์น เจลล์ บารอนเน็ตที่ 1 เข้าล้อมและยึดเมืองลิชฟิลด์ (Lichfield) ได้ หลังจากการเสียชีวิตของผู้นำคนเดิม ลอร์ดบรุ้ค กองนี้ต่อมาสมทบกับเซอร์จอห์น เบรเรตันในการต่อสู้ในยุทธการฮอพตันฮีธที่ไม่มีผู้ใดแพ้ผู้ใดชนะเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1643 ที่เอิร์ลแห่งนอร์ทแธมตันแม่ทัพฝ่ายกษัตริย์นิยมเสียชีวิต ต่อมาในการต่อสู้ทางตะวันตกฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ได้รับชัยชนะในยุทธการแลนสดาวน์และยุทธการราวนด์เวย์ดาวน์ เจ้าชายรูเปิร์ตทรงยึดบริสตอล ในปีเดียวกันโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ก็ก่อตั้งกองทหารม้า “Ironside” ซึ่งเป็นกองทหารที่มีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นผู้นำทางการทหารของครอมเวลล์ และเป็นการทำให้ไดัรับชัยชนะในยุทธการเกนสบะระห์ในเดือนกรกฎาคม

โดยทั่วไปแล้วครึ่งแรกของสงครามฝ่ายกษัตริย์นิยมเป็นฝ่ายได้เปรียบ จุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1643 เมื่อกองทัพของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ได้รับชัยชนะในยุทธการนิวบรีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1643 ที่ทำให้สามารถกลับเข้ากรุงลอนดอนได้ นอกจากนั้นทางฝ่ายรัฐสภาก็ยังได้รับชัยชนะในยุทธการวินซบีย์ทำให้มีอำนาจในการควบคุมลิงคอล์น ในการพยายามเพิ่มจำนวนทหารในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐสภาพระเจ้าชาลส์ก็ทรงหันไปต่อรองการยุติสงครามในไอร์แลนด์เพื่อจะได้นำกำลังทหารกลับมาต่อสู้ในอังกฤษ ขณะที่ทางฝ่ายรัฐสภาไปหาทางตกลงกับสกอตแลนด์ในการขอความช่วยเหลือ

เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากสกอตแลนด์ รัฐสภาก็ได้รับชัยชนะในยุทธการมารสตันมัวร์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1644 ซึ่งทำให้มีอำนาจควบคุมในบริเวณยอร์คและทางเหนือของอังกฤษ การเป็นผู้นำในการสู้รบของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ในยุทธการต่างๆ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการเป็นทั้งผู้นำทั้งในทางการทหารและทางการเมือง แต่การพ่ายแพ้ของฝ่ายรัฐสภาที่ยุทธการลอสวิเธล (Battle of Lostwithiel) ในคอร์นวอลล์เป็นการพ่ายแพ้ที่ทางฝ่ายรัฐสภาได้รับความเสียหายอย่างหนักในการต่อสู้ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ การประจันหน้าต่อมาที่ยุทธการนิวบรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1644 แม้ว่าจะไม่มีผลแน่นอนทางการรณรงค์แต่ทางด้านการยุทธศาสตร์ฝ่ายรัฐสภาเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ในปี ค.ศ. 1645 รัฐสภามุ่งมั่นที่จะต่อสู้จนกว่าสงครามจะยุติโดยพยายามปรับปรุงกองทัพโดยการผ่านกฤษฎีกาห้ามตนเอง (Self-denying Ordinance) ซึ่งเป็นกฤษฎีกาที่ระบุห้ามสมาชิกของรัฐสภาในการมีหน้าที่เป็นผู้นำทางการทหารและจัดระบบการทหารขึ้นใหม่ในรูปของกองทัพตัวแบบใหม่ภายใต้การนำของทอมัส แฟร์แฟ็กซ์ ลอร์ดแฟร์แฟ็กซ์แห่งคาเมรอนที่ 3 โดยมี โอลิเวอร์ ครอมเวลล์เป็นผู้ช่วยและเป็น Lieutenant General ของกองทหารม้า ในยุทธการเนสบีย์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนและยุทธการแลงพอร์ตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมฝ่ายรัฐสภาก็ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อกองทัพของพระเจ้าชาลส์

พระเจ้าชาลส์ทรงพยายามที่จะรื้อฟื้นผู้สนับสนุนของพระองค์ในบริเวณมิดแลนด์ส และทรงเริ่มสร้างบริเวณสนับสนุนระหว่างออกซฟอร์ดและนิวอาร์คออนเทร้นต์ในน็อตติงแฮมพ์เชอร์ ทรงยึดเลสเตอร์ที่อยู่ระหว่างทั้งสองเมืองแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เมื่อไม่ทรงมีโอกาสสร้างเสริมกำลังให้แข็งแกร่งขึ้น พระองค์ก็ทรงหันไปพึ่งกองทัพสกอตแลนด์ที่เซาท์เวลล์ในน็อตติงแฮมพ์เชอร์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1

ทางฝ่ายที่สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ก็มีความเชื่อว่าจุดประสงค์ในการต่อสู้ก็เพื่อเป็นการอนุรักษ์สถาบันรัฐบาลในสถาบันศาสนาและราชอาณาจักรตามที่เคยเป็นมา ส่วนฝ่ายรัฐสภาก็เชื่อว่าการจับอาวุธขึ้นก็เพื่อเป็นการทำให้เกิดความสมดุลของรัฐบาลในสถาบันศาสนาและราชอาณาจักรที่เกิดจากการใช้อำนาจในทางที่ผิดของพระเจ้าชาลส์และผู้เกี่ยวข้องในระหว่างสิบเอ็ดปีของสมัยการปกครองส่วนพระองค์ ทัศนคติของสมาชิกรัฐสภามีตั้งแต่ผู้สนับสนุนพระเจ้าชาลส์อย่างเต็มที่ไปจนถึงผู้มีความคิดเห็นรุนแรงที่ต้องการปฏิรูปเพื่อเสรีภาพทางศาสนา และผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการกระจายอำนาจทางการเมืองระดับชาติ

สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2

ดูบทความหลักที่: สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2

พระเจ้าชาลส์ทรงฉวยโอกาสขณะที่ความสนใจในตัวพระองค์หันเหไปทางอื่น โดยทรงไปเจรจาต่อรองตกลงกับฝ่ายสกอตแลนด์โดยทรงสัญญาว่าจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการปฏิรูปศาสนาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1647 แม้ว่าขณะนั้นจะยังคงทรงเป็นนักโทษอยู่แต่ข้อตกลงนี้เป็นการนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งที่ 2

การก่อความไม่สงบโดยฝ่ายกษัตริย์นิยมเริ่มเกิดขึ้นโดยทั่วไปอีกครั้งในอังกฤษและการรุกรานโดยสกอตแลนด์ก็เริ่มขึ้นในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1648 กองกำลังของฝ่ายรัฐสภา สามารถกำหราบความไม่สงบเล็กๆ น้อยๆ ในอังกฤษได้เกือบทั้งหมดแต่ความไม่สงบในเค้นท์, เอสเซ็กซ์, คัมเบอร์แลนด์, การปฏิวัติในเวลส์ และการรุกรานของสกอตแลนด์เป็นการต่อสู้แบบประจันหน้าและเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อกว่า

ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1648 ทหารฝ่ายรัฐสภาที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างในเวลส์ก็เปลี่ยนข้างไปเป็นฝ่ายพระเจ้าชาลส์ แต่นายพันทอมัส ฮอร์ตันก็สามารถกำหราบได้ในยุทธการเซนต์เฟกันส์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม หลังจากนั้นผู้นำของฝ่ายปฏิวัติก็วางอาวุธเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมหลังจากเพมโบรคถูกล้อม (siege of Pembroke) อยู่สองเดือน ต่อมาทอมัส แฟร์แฟ็กซ์ก็ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายกษัตริย์นิยมในเค้นท์ในยุทธการเมดสตันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน หลังจากได้รับชัยชนะที่เมดสตันและเค้นท์แล้วลอร์ดแฟร์แฟ็กซ์ก็หันทัพขึ้นเหนือเพื่อไปปราบเอสเซ็กซ์ ที่เริ่มแข็งตัวขึ้นภายใต้การนำของเซอร์ชาลส์ ลูคัส (Charles Lucas) แม้ว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย แต่ลอร์ดแฟร์แฟ็กซ์ก็สามารถขับฝ่ายฝ่ายกษัตริย์นิยมถอยเข้าไปในเมืองโคลเชสเตอร์ แต่การโจมตีโคลเชสเตอร์ครั้งแรกได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากชาวเมือง จนแฟร์แฟ็กซ์ต้องตั้งหลักล้อมเมืองโคลเชสเตอร์อยู่สิบเอ็ดอาทิตย์ก่อนที่จะฝ่ายนิยมกษัตริย์จะยอมแพ้

ทางด้านเหนือของอังกฤษ นายพลจอห์น แลมเบิร์ตได้รับความสำเร็จในการต่อสู้กับฝ่ายกษัตริย์นิยมที่แข็งตัวขึ้น — ศึกที่ใหญ่ที่สุดเป็นการต่อสู้กับเซอร์มาร์มาดยุค แลงเดลในคัมเบอร์แลนด์ เจมส์ แฮมมิลตัน ดยุคแห่งแฮมมิลตันที่ 1 ผู้นำฝ่ายสกอตแลนด์เดินทัพไปทางตะวันตกยังคาร์ไลล์ ในการสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยมโดยการรุกรานจากสกอตแลนด์ ฝ่ายรัฐสภาภายใต้การนำของครอมเวลล์ประจันหน้ากับกองทัพสกอตแลนด์ในยุทธการเพรสตันระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม ถึงวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1648 ยุทธการส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่วอลตัน-เลอ-เดลใกล้เพรสตันในแลงคาสเชอร์ ผลของยุทธการก็คือครอมเวลล์ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายสกอตแลนด์ที่นำโดยเจมส์ แฮมมิลตัน ชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาครั้งนี้เป็นการยุติสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2

หลังสงครามกลางเมืองครั้งที่ 1 ฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ร่วมในสงครามเกือบทั้งหมดได้รับการอภัยโทษโดยมีเงื่อนไขว่าห้ามถืออาวุธในการต่อต้านฝ่ายรัฐสภาหลังจากนั้น ผู้มีศักดิ์ศรีฝ่ายกษัตริย์นิยมเช่นเจคอป แอสต์ลีย์ บารอนแอสต์ลีย์แห่งเรดดิงที่ 1 ไม่ยอมเสียคำพูดโดยการไม่ร่วมในสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ฉะนั้นฝ่ายรัฐสภาผู้ได้รับชัยชนะในสงครามครั้งที่ 2 จึงมิได้แสดงความปราณีต่อผู้ลุกขึ้นจับอาวุธเป็นครั้งที่สอง ค่ำวันที่โคลเชสเตอร์ยอมแพ้ฝ่ายรัฐสภาก็ประหารชีวิตเซอร์ชาลส์ ลูคัสและเซอร์จอร์จ ลิสเซิล (George Lisle) ผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐสภาตัดสินลงโทษผู้นำการต่อสู้ในเวลส์ที่รวมทั้งนายพลโรว์แลนด์ ลาฟาร์น (Rowland Laugharne), นายพันจอห์น พอยเยอร์ (John Poyer) และนายพันไรซ์ เพาเวล (Rice Powel) โดยการประหารชีวิต แต่อันที่จริงแล้วก็สังหารพอยเยอร์เพียงคนเดียวเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1649 โดยการเลือกจากสามคน ในบรรดาผู้นำที่เป็นขุนนางคนสำคัญๆ ของฝ่ายกษัตริย์ห้าคนที่ตกไปอยู่ในเงื้อมือของฝ่ายรัฐสภาสามคน เจมส์ แฮมมิลตัน ดยุคแห่งแฮมมิลตันที่ 1, เฮนรี ริช เอิร์ลแห่งฮอลแลนด์ที่ 1 และอาร์เธอร์ เคเพลล์ บารอนคาเพลล์แห่งแฮดแฮมที่ 1 ถูกประหารชีวิตโดยการตัดหัวที่เวสต์มินสเตอร์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม

การไต่สวนพระเจ้าชาลส์ในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน

การทรยศของพระเจ้าชาลส์ในการก่อสงครามกลางเมืองสองครั้งทำให้ฝ่ายรัฐสภาต้องโต้แย้งกันว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะให้พระองค์ทรงปกครองประเทศต่อไป ผู้ที่ยังคงสนับสนุนพระองค์ก็ยังคงพยายามเจรจาต่อรองกับพระองค์

ความไม่พอใจที่รัฐสภาบางส่วนยังคงสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ทำให้กองทหารกลุ่มหนึ่งที่นำโดยทอมัส ไพรด์ (Thomas Pride) บุกเข้ายึดรัฐสภา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1648 เพื่อจับตัวสมาชิกสภา 45 คนและกันอีก 146 คนออกจากห้องประชุม และอนุญาตให้เพียง 75 คนที่สนับสนุนการกำจัดพระเจ้าชาลส์ที่กองทหารเป็นผู้เลือกให้คงทำหน้าที่สมาชิกต่อไป รัฐสภาที่เหลือเรียกว่ารัฐสภารัมพ์ได้รับคำสั่งให้ก่อตั้ง “ศาลยุติธรรมสูงสุดในการพิจารณาคดีพระเจ้าชาลส์ที่ 1” ในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน การกระทำครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันว่า “การยึดรัฐสภาของไพรด์

เมื่อการพิจารณาคดีสิ้นสุดลงก็มีคณะกรรมการผู้พิพากษา 59 คนก็ตัดสินว่าพระเจ้าชาลส์ทรงมีความผิดในข้อหากบฏต่อแผ่นดินเพราะทรงเป็นผู้ “กดขี่, ทรยศ, ฆาตกรรม และเป็นศัตรูต่อประชาชน” การปลงพระชนม์ด้วยการตัดพระเศียรเกิดขึ้นหน้าตึกเลี้ยงรับรองของพระราชวังไวท์ฮอลล์ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 (หลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์ ในปี ค.ศ. 1660, พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็ทรงประหารชีวิตคณะกรรมการผู้พิพากษาบางคนที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ยังไม่มีโอกาสหลบหนีไปต่างประเทศ หรือไม่ก็จำขังตลอดชีพ

สงครามกลางเมืองครั้งที่ 3

ดูบทความหลักที่: สงครามกลางเมืองครั้งที่ 3

ไอร์แลนด์

 
นายพลโรเบิร์ต เบลค
ดูเพิ่มเติมที่: ชัยชนะของครอมเวลล์ต่อไอร์แลนด์

ไอร์แลนด์มีสงครามติดต่อกันมาตั้งแต่การปฏิวัติไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1641 โดยมี สหพันธ์ไอร์แลนด์ (Confederate Ireland) เป็นผู้มีอำนาจควบคุมไอร์แลนด์เกือบทั้งหมด แต่อำนาจของกองทัพฝ่ายรัฐสภาของอังกฤษก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน หลังจากที่พระเจ้าชาลส์ทรงถูกจับได้ในปี ค.ศ. 1648 แล้วฝ่ายสหพันธ์ก็ลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับฝ่ายกษัตริย์นิยมอังกฤษ กองกำลังร่วมระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมอังกฤษและฝ่ายสหพันธ์ไอร์แลนด์ภายใต้การนำของเจมส์ บัตเลอร์ ดยุคแห่งออร์มอนด์ที่ 1 (James Butler, 1st Duke of Ormonde) พยายามที่จะกำจัดกองทัพฝ่ายรัฐสภาของอังกฤษที่ยึดดับลินอยู่ แต่ฝ่ายรัฐสภาก็ดึงการต่อสู้ไปที่ยุทธการรัธไมน์ส (Battle of Rathmines) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1649 อดีตสมาชิกรัฐสภานายพลโรเบิร์ต เบลค (Robert Blake) หยุดยั้งกองทัพเรือของเจ้าชายรูเปิร์ตที่คินสเซล แต่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ขึ้นฝั่งได้ที่ดับลิน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1649 พร้อมกับกองทัพที่นำมาปราบฝ่ายพันธมิตรของกษัตริย์นิยมอังกฤษและสหพันธ์ไอร์แลนด์

การกำหราบฝ่ายกษัตริย์นิยมในไอร์แลนด์ของครอมเวลล์ในไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1649 มีผลกระทบกระเทือนต่อชาวไอร์แลนด์อยู่เป็นระยะเวลานาน หลังจากได้รับชัยชนะจากการล้อมเมืองโดรเกดา (siege of Drogheda) แล้วทางฝ่ายรัฐสภาก็จัดการสังหารหมู่ของผู้คนร่วม 3,500 คน ในจำนวนนั้น 2,700 คนเป็นทหารฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่อีก 700 คนไม่ใช่ทหารแต่รวมทั้งประชาชน, นักโทษและนักบวชโรมันคาทอลิก (ครอมเวลล์อ้างว่าบุคคลเหล่านั้นถืออาวุธ)

ความทารุณจากเหตุการณ์ครั้งนี้กลายมาเป็นสาเหตุหนึ่งของความบาดหมางระหว่างชาวไอร์แลนด์ที่มีต่อชาวอังกฤษ และระหว่างผู้เป็นโรมันคาทอลิกต่อผู้เป็นโปรเตสแตนต์เป็นเวลาร่วมสามร้อยปีต่อมา การสังหารหมู่เป็นการกระทำที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของภาพพจน์ที่ชาวไอร์แลนด์มีต่อความทารุณของครอมเวลล์ แม้ว่าชาวไอร์แลนด์จะยังมาเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมากมายกว่าที่เกิดขึ้นที่โดรเกดาและเว็กซ์ฟอร์ดในสงครามกองโจร (guerrilla warfare) ที่เกิดขึ้นต่อมาหลังจากนั้น แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐสภาก็มิได้รับชัยชนะต่อไอร์แลนด์จนอีกสี่ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1653 เมื่อกองทัพฝ่ายสหพันธ์ไอร์แลนด์ (Confederate Ireland) และฝ่ายกษัตริย์นิยมยอมแพ้

นักประวัติศาสตร์ประมาณกันว่าในบั้นปลายของสงครามไอร์แลนด์สูญเสียประชากรไปราว 30% ซึ่งไม่ก็จากสงครามหรือจากการหนีไปต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับชัยชนะก็ยึดที่ดินที่เป็นของโรมันคาทอลิกแต่เดิมเกือบทั้งหมดและแจกจ่ายให้แก่เจ้าหนี้รัฐสภา, ทหารฝ่ายรัฐสภาที่ไปรบที่ไอร์แลนด์ และแก่ชาวอังกฤษที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในไอร์แลนด์ก่อนสงคราม

สกอตแลนด์

การปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแนวทางของสงครามสามอาณาจักร (Scotland in the Wars of the Three Kingdoms) ซึ่งเป็นสงครามของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมและกลุ่มพันธสัญญา (Covenanters) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1644 มาถึงปี ค.ศ. 1649 ความขัดแย้งก็ทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมอยู่ในสภาวะที่ปั่นป่วน ส่วนเจมส์ แกรม มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสที่ 1 ผู้นำก็หนีไปต่างประเทศ เมื่อเริ่มแรกพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงหนุนให้มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสรวบรวมกองทัพในสกอตแลนด์ให้มาร่วมกับฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่กลุ่มพันธสัญญา (ผู้ไม่เห็นด้วยกับการปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 และหวาดกลัวต่ออนาคตของนิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) และความมีอิสระของสกอตแลนด์ภายใต้เครือจักรภพแห่งอังกฤษ) ก็ถวายราชบัลลังก์สกอตแลนด์ให้แก่พระเจ้าชาลส์ที่ 2 พระเจ้าชาลส์ทรงทิ้งมาร์ควิสไว้กับศัตรู แต่มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสผู้ไปรวมรวมกองทหารมาจากนอร์เวย์มาขึ้นฝั่งได้และไม่สามารถยุติการต่อสู้ได้ ในที่สุดฝ่ายพันธสัญญาก็ได้รับชัยชนะต่อมอนท์โรสที่ยุทธการคาร์บิสเดล (Battle of Carbisdale) ในรอสไชร์เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1650 มอนท์โรสถูกฝ่ายพันธสัญญาจับได้หลังจากนั้นไม่นานนักและถูกนำตัวไปเอดินบะระห์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ตัดสินให้ประหารชีวิตมอนท์โรส มอนท์โรสถูกแขวนคอในวันต่อมา

พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงขึ้นฝั่งสกอตแลนด์ที่การ์มัธในมลฑลมอเรย์เชอร์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1650 และทรงลงนามในพันธสัญญาแห่งชาติ ค.ศ. 1638 (National Covenant) และ ข้อตกลงระหว่างฝ่ายรัฐสภากับกลุ่มพันธสัญญา ค.ศ. 1643 (Solemn League and Covenant) ทันทีหลังจากที่ทรงขึ้นฝั่ง ด้วยความสนับสนุนของฝ่ายกษัตริย์นิยมของสกอตแลนด์เดิมและกองทัพของกลุ่มพันธสัญญาใหม่พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็กลายเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณรัฐอังกฤษ ในการตอบโต้ต่อความมั่นคงของสาธารณรัฐครอมเวลล์ก็ทิ้งนายทหารบางคนไว้ที่ไอร์แลนด์เพื่อปราบปรามความไม่สงบที่นั่นต่อไปและตนเองเดินทางกลับอังกฤษ

ครอมเวลล์เดินทางไปถึงสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1650 และตั้งหลักล้อมเมืองเอดินบะระห์ ในปลายเดือนสิงหาคมทั้งเชื้อโรคและความขาดแคลนเสบียงก็ทำให้ครอมเวลล์ต้องนำทัพถอยกลับไปยังที่มั่นที่ดันบาร์ กองทัพสกอตแลนด์ที่รวบรวมภายใต้นายพลเดวิด เลสลี (David Leslie) พยายามเข้าขัดขวางการถอยทัพแต่ครอมเวลล์ก็เอาชนะได้ที่ยุทธการดันบาร์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1650 หลังจากนั้นครอมเวลล์จึงเข้ายึดเอดินบะระห์ และในปลายปีนั้นกองทัพของครอมเวลล์ก็ยึดสกอตแลนด์ตอนใต้ได้เกือบหมด

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1651 กองทัพของครอมเวลล์ก็ข้ามปากน้ำเฟิร์ธออฟฟอร์ธไปยังเมืองไฟฟ์และได้รับชัยชนะต่อฝ่ายสกอตแลนด์ในยุทธการอินเวอร์คีทธิง (Battle of Inverkeithing) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1651) กองทัพตัวแบบใหม่เดินทัพล่วงหน้าไปยังเพิร์ธ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พระเจ้าชาลส์นำกองทัพสกอตแลนด์เดินทัพลงใต้ไปยังอังกฤษ ครอมเวลล์จึงเดินทัพตามกองทัพสกอตแลนด์โดยทิ้งจอร์จ มองค์ ดยุคแห่งอาลเบอมาร์ลที่ 1 ให้ดำเนินการรณรงค์ต่อไปในสกอตแลนด์ให้เสร็จสิ้น ดยุคแห่งอาลเบอมาร์ลยึดสเตอร์ลิง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมและดันดี เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1652 ก็เป็นการกำหราบการต่อต้านที่กระเส็นกระสายของฝ่ายต่อต้านเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้นภายใต้ “ข้อเสนอสหภาพ” (Tender of Union) ก็เป็นที่ตกลงกันว่าสกอตแลนด์มีสิทธิที่จะมีที่นั่งในรัฐสภาในลอนดอนร่วม 30 ที่นั่งโดยมีนายพลมองค์เป็นข้าหลวงแห่งสกอตแลนด์

อังกฤษ

แม้ว่ากองทัพตัวแบบใหม่ของครอมเวลล์จะได้รับชัยชนะต่อกองทัพสกอตแลนด์ที่ดันบาร์แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในการเดินทัพจากสกอตแลนด์ลึกเข้าไปในอังกฤษ กองทัพฝ่ายกษัตริย์นิยมหันการเดินทางไปทางตะวันตกไปในบริเวณที่ผู้สนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยมหนาแน่นแต่แม้ว่าจะมีผู้มาสมทบแต่ก็เป็นจำนวนน้อยกว่าที่พระเจ้าชาลส์และกองทัพสกอตแลนด์ของพระองค์คาดหวังไว้ ในที่สุดกองทัพฝ่ายกษัตริย์และฝ่ายรัฐสภาก็เข้าประจันหน้ากันโดยครอมเวลล์เป็นฝ่ายที่ไดัรับชัยชนะที่วูสเตอร์เมื่อวันที่3 กันยายน ค.ศ. 1651 พระเจ้าชาลส์จึงจำต้องเสด็จหนีและในที่สุดก็ข้ามไปฝรั่งเศสซึ่งเป็นการทำให้สงครามกลางเมืองอังกฤษยุติลงในที่สุด

อำนาจทางการเมือง

ในระหว่างสงครามฝ่ายรัฐสภาก่อตั้งคณะกรรมาธิการต่างๆ ผู้มีอำนาจในการบริหารการรณรงค์ คณะกรรมาธิการชุดแรกคือคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยอังกฤษ (English Committee of Safety) ที่ก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมในปี ค.ศ. 1642 ที่มีสมาชิกด้วยกัน 15 จากสมาชิกรัฐสภา

หลังจากนั้นก็เป็นคณะกรรมาธิการพันธมิตรระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์เพื่อต่อต้านฝ่ายกษัตริย์นิยมที่เรียกว่าคณะกรรมาธิการสองอาณาจักร (Committee of Both Kingdoms) ที่มาแทนคณะกรรมาธิการแรกระหว่าง ค.ศ. 1644 ถึง ค.ศ. 1648 รัฐสภายุบคณะกรรมาธิการสองอาณาจักรเมื่อความเป็นพันธมิตรสิ้นสุดลงแต่ฝ่ายอังกฤษยังคงพบปะกันต่อไปและกลายมาเป็นคณะกรรมาธิการดาร์บีย์เฮาส์ (Derby House Committee) ต่อมาคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยอังกฤษที่สองก็มาแทนคณะกรรมาธิการหลังนี้

ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

สงครามกลางเมืองอังกฤษก็เช่นเดียวกันกับสงครามอื่นๆ ในสมัยนั้นที่สิ่งที่คร่าชีวิตมากกว่าการเสียชีวิตในการรบคือ เชื้อโรค จำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่นอนทั้งหมดไม่เป็นที่ทราบและการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตในการรบจากผู้ที่เสียชีวิตจากเชื้อโรคหรือจากการยุบตัวลงของประชากรเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ตัวเลขผู้เสียชีวิตระหว่างช่วงนี้เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อถือแต่ก็มีการพยายามที่ประเมินกันอย่างคร่าวๆ ประมาณกันว่าในอังกฤษมีจำนวนผู้เสียชีวิตไปอย่างต่ำที่สุด 100,000 คนจากโรคภัยที่เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองทั้งสามสงคราม บันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า 84,830 คนเสียชีวิตในสงครามเอง เมื่อนับรวมกับสงครามบาทหลวงอีกสองครั้งก็เป็นประมาณ 190,000 คน

หลังจากการพ่ายแพ้ที่วูสเตอร์แล้วพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็ต้องพยายามเสด็จหนี ในระหว่างทางพระองค์ก็ทรงต้องทรงเผชิญภัยหลายอย่างรวมทั้งการซ่อนพระองค์ในโพรงต้นโอ้คที่เป็นเรื่องราวที่เป็นที่รู้จักกันดี เจมส์ แสตนลีย์ เอิร์ลแห่งดาร์บีย์ที่ 7 ถูกประหารชีวิต ทหารในกองทัพของพระองค์สังหารไป 3,000 ระหว่างยุทธการและอีก 10,000 ถูกจับที่วูสเตอร์หรือหลังจากนั้น ทหารอังกฤษที่ถูกจับถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารในกองทัพตัวแบบใหม่และถูกส่งไปประจำการในไอร์แลนด์ ส่วนทหารสกอตแลนด์อีก 8,000 คนที่ถูกจับถูกเนรเทศไปนิวอิงแลนด์, เบอร์มิวดา และเวสต์อินดีส ไปทำงานให้กับเจ้าของที่ดินที่นั่นในฐานะกรรมกรหนี้ (Indentured labour) การสูญเสียของฝ่ายรัฐสภาเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับฝ่ายกษัตริย์

จำนวนผู้เสียชีวิตในสกอตแลนด์เป็นที่ไม่น่าเชื่อถือยิ่งกว่าของอังกฤษ การเสียชีวิตรวมทั้งการเสียชีวิตของเชลยในสงครามที่ถูกดูแลในสภาพที่ช่วยให้เสียชีวิตเร็วขึ้น โดยประมาณกล่าวกันว่าเชลยสงคราม 10,000 ที่ถูกจับไม่รอดหรือไม่มีโอกาสกลับสกอตแลนด์ (8,000 คนถูกจับทันทีหลังจากยุทธการวูสเตอร์และถูกเนรเทศ) ส่วนการเสียชีวิตจากเชื้อโรคที่เกี่ยวกับสงครามไม่มีสถิติ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับสถิติการเสียชีวิตของอังกฤษแล้วสกอตแลนด์ก็คงเสียผู้คนไปราว 60,000 คน

ตัวเลขในไอร์แลนด์กล่าวกันว่าเป็นตัวเลขของ “ปาฏิหาริย์ของความคิดเห็นสอดแทรก” แต่ที่ทราบแน่นอนคือความเสียหายในไอร์แลนด์เป็นความเสียหายอันใหญ่หลวง จากการประมาณตัวเลขโดยเซอร์วิลเลียม เพ็ตติผู้เป็นบิดาแห่งการศึกษาเรื่องประชากร แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่บันทึกไว้แต่ก็เป็นแต่เพียงการสันนิษฐาน และไม่รวมจำนวนประมาณ 40,000 คนที่จำต้องหนี ในจำนวนนี้บางคนก็ไปเป็นทหารในกองทัพต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่ยุโรป ขณะที่กลุ่มอื่นถูกขายไปเป็นกรรมกรหนี้ในนิวอิงแลนด์ และเวสต์อินดีส ไปทำงานให้กับเจ้าของที่ดินที่นั่น ผู้ที่ถูกขายให้ไปทำงานในนิวอิงแลนด์บางคนก็ไปประสบความสำเร็จมีฐานะดีขึ้น แต่ผู้ที่ไปเวสต์อินดีสก็ไปทำงานจนตายคาที่ดิน เพ็ตติประมาณว่าฝ่ายโปรเตสแตนต์ 112,000 คนเสียชีวิตเพราะโรคระบาด, สงคราม, และความอดอยาก และโรมันคาทอลิกอีก 504,000 ถูกสังหาร

ตัวเลขนี้เท่ากับว่าอังกฤษสูญเสียประชากรประมาณ 3.7% สกอตแลนด์ 6% และไอร์แลนด์ 41% เมื่อนำตัวเลขมาพิจารณาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ร้ายอื่นๆ แล้วก็ทำให้ทราบว่าเป็นความเสียหายอันใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับไอร์แลนด์ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์การสูญเสียอื่นๆ เช่น ความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (Great Hunger) ระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1852 ที่ทำให้ไอร์แลนด์สูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนประมาณ 16% และจากสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อโซเวียตสูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนประมาณ 16%.

ผลประโยชน์

ขณะที่สงครามทำความเสียหายให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่แต่ก็มีบางกลุ่มที่ได้ตักตวงผลประโยชน์เพิ่มขึ้นให้แก่ตนเองระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1640 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทำงานในลอนดอนเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำ

ชุมชนนอกตัวเมืองก็ยึดไม้และทรัพยากรอื่นๆ จากที่ดินหรือบ้านที่ถูกยึดจากฝ่ายกษัตริย์นิยมและโรมันคาทอลิก ก็มีบ้างที่ผู้ยึดปรับปรุงสภาพของผู้อยู่อาศัยในที่ดินเหล่านั้น แต่การฉวยผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็มาสิ้นสุดลงเมื่อสงครามสงบหรือในสมัยฟื้นฟูราชวงศ์ แต่ก็มีบ้างที่เป็นการได้ประโยชน์อย่างถาวร

ผลของสงคราม

สงครามทำให้อังกฤษ, สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ทำให้อังกฤษกลายเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในทวีปยุโรปในขณะนั้นที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลังจากการปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 รัฐบาลสาธารณรัฐของเครือจักรภพแห่งอังกฤษ ปกครองอังกฤษ (และต่อมาสกอตแลนด์ และไอร์แลนด์) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1649 ถึง ค.ศ. 1653 และจากปี ค.ศ. 1659 ถึง ค.ศ. 1660 ระหว่างสองช่วงระยะเวลานี้รัฐสภาก็แบ่งตัวเป็นฝักเป็นฝ่ายและมีความขัดแย้งกันเองภายใน ในที่สุดโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ก็ขึ้นปกครองรัฐผู้พิทักษ์ในฐานะเจ้าผู้พิทักษ์ (ซึ่งก็เท่ากับเป็นระบอบเผด็จการ) จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1658

หลังจากครอมเวลล์ ถึงแก่อสัญกรรม ริชาร์ดลูกชายก็เข้ารับตำแหน่งเจ้าผู้พิทักษ์ต่อจากบิดาแต่ฝ่ายทหารไม่มีความเชื่อถือในสมรรถภาพของริชาร์ด เจ็ดเดือนหลังจากนั้นฝ่ายทหารก็ปลดริชาร์ด และในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1659 ฝ่ายทหารก็เรียกรัฐสภารัมพ์เข้ามาใหม่ แต่เมื่อเข้ามารัฐสภารัมพ์ก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1653 และปฏิบัติต่อฝ่ายทหารตามใจชอบ ฝ่ายทหารจึงยุบรัฐสภารัมพ์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1659 โอกาสที่บ้านเมืองจะกลายเป็นอนาธิปไตย ก็เพิ่มมากขึ้นทุกวันเมื่อฝ่ายทหารเองก็สลายตัวเป็นฝักฝ่ายแตกแยกกัน

ภายใต้บรรยากาศของความไม่แน่นอนของบ้านเมือ นายพลจอร์จ มองค์ผู้เป็นข้าหลวงของสกอตแลนด์ภายใต้ครอมเวลล์พร้อมด้วยกองทัพสกอตแลนด์ก็ยกทัพลงมาจากสกอตแลนด์ เพื่อปูทางในการฟื้นฟูราชวงศ์

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1660 ตามพระราชประกาศเบรดา (Declaration of Breda), พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงวางเงื่อนไขต่างๆ ในการยอมรับกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ นายพลมองค์ก็เรียก รัฐสภาคอนเว็นท์ชั่นที่เข้าประชุมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1660 ในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 รัฐสภาคอนเว็นท์ชั่นก็ประกาศว่าพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เป็นประมุขของอังกฤษถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่การปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1649 พระเจ้าชาลส์เสด็จกลับจากการลี้ภัยที่เบรดาในประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 ประชาชนชาวลอนดอนก็ได้มีโอกาสต้อนรับพระเจ้าชาลส์กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชพิธีราชาภิเศกเกิดขึ้นที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1661 เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันว่า “การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ

แม้ว่าราชบัลลังก์จะได้รับการฟื้นฟูแต่ก็เป็นราชบัลลังก์ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ฉะนั้นสงครามกลางเมืองจึงมีผลในการวางพื้นฐานในการเปลี่ยนรูประบบการปกครองบ้านเมืองในอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองนี้เป็นรากฐานของการก่อตั้งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1707 ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ที่เป็นการป้องกันการปฏิวัติแบบเสียเลือดเสียเนื้อที่มักจะขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตามแบบฉบับของการปฏิวัติในยุโรปหลังจากการปฏิวัติจาโคแบง (Jacobin) ในคริสต์ศตวรรษที่18 ในฝรั่งเศสและต่อมาการปฏิวัติของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งมักจะมีผลในการยุบการปกครองพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์องค์ต่อมากดดันรัฐสภาจนในที่สุดรัฐสภาก็ตัดสินใจเลือกผู้ครองราชย์ใหม่ในปี ค.ศ. 1688 ในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ และในปี ค.ศ. 1701 พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ หลังจากการการฟื้นฟูราชวงศ์ฝักฝ่ายของรัฐสภาก็กลายเป็นพรรคการเมือง ที่ต่อมากลายเป็นพรรคทอรี (Tory) and พรรควิก (Whig)) ที่มีปรัชญาการปกครองที่แตกต่างกันในการมีอิทธิพลต่อการตัดสินพระทัยของพระมหากษัตริย์

ทฤษฎีเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอังกฤษ

 
พระเจ้าชาลส์ที่ 1

เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความคิดทางการเมืองตระกูลวิกมีอิทธิพลต่อทฤษฎีเกี่ยวกับสงครามกลางเมือง ที่อธิบายว่าสงครามกลางเมืองมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐสภา (โดยเฉพาะสภาสามัญชน) กับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาเป็นร้อยๆ ปีก่อนหน้านั้น โดยฝ่ายรัฐสภาเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนชาวอังกฤษขณะที่ราชวงศ์สจวตพยายามขยายอำนาจในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์หรือความกระทบกระเทือนต่อประชาชน

ซามูเอล รอว์สัน การ์ดิเนอร์ (Samuel Rawson Gardiner) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของวิกเสนอความคิดที่เป็นที่นิยมกันที่ว่าสงครามกลางเมืองคือ “การกบฏเพียวริตัน” (Puritan Revolution) ที่เป็นการต่อต้านการกดขี่ของสถาบันศาสนาของราชวงศ์สจวต และเป็นการปูพื้นฐานสำหรับ “การยอมรับความต่างศาสนา” ในสมัยของการฟื้นฟูราชวงศ์ ฉะนั้น กลุ่มเพียวริตัน จึงสนับสนุนผู้ที่ต้องการรักษาประเพณีดั้งเดิมในการต่อต้านอำนาจอันไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์

ทฤษฎีของฝ่ายวิกถูกคัดค้านโดยทฤษฎีของลัทธิมาร์กซที่เป็นที่นิยมกันในคริสต์ทศวรรษ 1940 ที่ตีความหมายของสงครามกลางเมืองอังกฤษว่าเป็นสงครามของการปฏิวัติของชนชั้นกลาง ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์มาร์กซคริสโตเฟอร์ ฮิลล์:

“สงครามกลางเมืองเป็นสงครามระหว่างชนชั้น ที่ประกอบด้วยฝ่ายขุนนางผู้เป็นเจ้าของที่ดินและพรรคพวกและสถาบันศาสนา กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ประกอบด้วยชนชั้นผู้ค้าขายและผู้ทำการอุตสาหกรรมในเมืองหรือชนบทนอกเมืองหลวง . . .ผู้นำท้องถิ่นที่มีหัวก้าวหน้า. . .ประชากรส่วนใหญ่ที่มีโอกาสถกเถียงกันและเข้าใจถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น. . . ในประวัติศาสตร์อังกฤษสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นกลางที่มีฐานะดีที่มีอำนาจทางสังคมตัดสินใจยุบเลิกระบบการปกครองของรัฐบาลอังกฤษที่มีมาตั้งแต่ยุคกลาง นอกจากนั้นวิกก็เช่นเดียวกับลัทธิมาร์กซพบบทบาททางศาสนา: ในทางระบบปรัชญาลัทธิเพียวริตันเหมาะสมกับชนชั้นกลาง ฉะนั้นลัทธิมาร์กซจึงถือว่ากลุ่มเพียวริตันคือชนชั้นกลาง”

ในคริสต์ทศวรรษ 1970 นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่มารู้จักกันว่าลัทธิการสังคายนาประวัติศาสตร์ (Historical revisionism) ค้านกับทั้งทฤษฎีของวิกและลัทธิมาร์กซ ในปี ค.ศ. 1973 กลุ่มนักประวัติศาสตร์สังคายนาพิมพ์ประชุมบทนิพนธ์ “ที่มาของสงคราการเมืองอังกฤษ” (The Origins of the English Civil War) (คอนราด รัสเซลล์ บรรณาธิการ) นักประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับทั้งทฤษฎีของวิกและลัทธิมาร์กซที่ว่าสงครามการเมืองอังกฤษเป็นสงครามสังคม-เศรษฐกิจระยะยาวของสังคมอังกฤษ และเห็นว่าเป็นผลงานที่เจาะจงเฉพาะช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีก่อนที่สงครามจะเกิดขึ้น และหันกลับไปพิจารณาข้อเขียนของเอ็ดเวิร์ด ไฮด์ เอิร์ลแห่งแคลเร็นดอนที่ 1 นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสงครามกลางเมืองในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติและสงคราการเมืองในอังกฤษ” (History of the Rebellion and Civil Wars in England) ที่กลุ่มนักประวัติศาสตร์สังคายนาเห็นว่าเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ลงตัวตามการวิเคราะห์ของวิกและลัทธิมาร์กซ เช่นกลุ่มเพียวริตันเป็นต้นที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นพันธมิตรกับฝ่ายรัฐสภา หรือสมาชิกชนชั้นกลางหลายคนก็ต่อสู้ในฝ่ายนิยมกษัตริย์ ขณะที่ขุนนางเจ้าของที่ดินไปเข้าข้างฝ่ายรัฐสภา ฉะนั้นนักประวัติศาสตร์สังคายนาจึงไม่ถือว่าทฤษฎีของทั้งวิกและลัทธิมาร์กซเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอังกฤษเป็นทฤษฎีที่น่าเชื่อถือ

เจน โอลไมเยอร์ (Jane Ohlmeyer) ละทิ้งคำว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” ไปใช้คำว่า “สงครามของสามอาณาจักร” (Wars of the Three) และ “สงครามกลางเมืองบริติช” (British Civil Wars) โดยให้ความเห็นว่าการศึกษาสงครามกลางเมืองในอังกฤษไม่อาจจะเข้าใจได้จากการศึกษาที่มองสงครามนี้โดยการแยกไปจากการเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์อื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ของสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ทรงมีบทบาทสำคัญที่ไม่ทรงเป็นแต่เพียงพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ และยังทรงมีความสัมพันธ์กับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในราชอาณาจักรอื่นๆ ของพระองค์ด้วย เช่นเมื่อทรงพยายามบังคับใช้หนังสือสวดมนต์อังกฤษในสกอตแลนด์ซึ่งทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มพันธสัญญา จนต้องทรงหันมาพึ่งกองทัพในการบังคับใช้ และทำให้ทรงต้องเรียกประชุมรัฐสภาแห่งอังกฤษเพื่อเก็บภาษีใหม่สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรวบรวมกองกำลังในการรณรงค์ แต่รัฐสภาแห่งอังกฤษไม่เต็มใจที่จะทำตามพระราชประสงค์ในการที่พระเจ้าชาลส์จะทรงใช้เงินที่ได้มาในการรณรงค์ต่อสู้กับสกอตแลนด์นอกจากจะทรงยอมรับฟังคำร้องทุกข์จากฝ่ายรัฐสภาก่อน พอมาถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1640 พระเจ้าชาลส์ก็ทรงทำให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ปั่นป่วน และไม่ทรงยอมทำตามข้อเรียกร้องของรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด เพราะถ้าทรงยินยอมให้ฝ่ายหนึ่งก็เท่ากับว่าทรงต้องเป็นศัตรูกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งความยุ่งเหยิงต่างๆ เหล่านี้มิสามารถทำให้การศึกษาสงครามการเมืองอังกฤษเป็นแต่เพียงสงครามที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษเท่านั้น

อ้างอิง

  1. Clodfelter, Michael (2002). Warfare and Armed Conflicts: A Standard Reference to Casualty and Other Figures 1500-1999. McFarland & Co. p. 52. ISBN 978-0-7864-1204-4.
  2. "พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ". Spiritus-temporis.com. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
  3. "อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอด, ค.ศ. 1573-ค.ศ. 1645". British-civil-wars.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
  4. "วิลเลียม ลอด". Nndb.com. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
  5. Jacob Abbott Charles I Chapter Downfall of Strafford and Laud
  6. "บางคนมีสติดี, บางคนเสียหัว". The Daily Telegraph. 28 ตุลาคม ค.ศ. 2000. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27. Check date values in: |date= (help)
  7. Trevor Royle References pp. 158-166
  8. Trevor Royle References pp 170, 183
  9. Trevor Royle References pp 165, 161
  10. Trevor Royle References pp 171-188
  11. Encyclopaedia Britannica Eleventh Edition Great Rebellion
  12. House of Lords Journal Volume 10 19 May 1648: Letter from L. Fairfax, about the Disposal of the Forces, to suppress the Insurrections in Suffolk, Lancashire, and S. Wales; and for Belvoir Castle to be secured and the House of Lords Journal Volume 10 19 May 1648: Disposition of the Remainder of the Forces in England and Wales not mentioned in the Fairfax letter
  13. Sean Kelsey, Sean. "The Trial of Charles I" English Historical Review 2003, Volume 118, Number 477 Pp. 583-616
  14. Michael Kirby The trial of King พระเจ้าชาลส์ทรง - defining moment for our constitutional liberties speech to the Anglo-Australasian Lawyers' association, on 22 January 1999.
  15. Matthew White Selected Death Tolls for Wars, Massacres and Atrocities Before the 20th century: British Isles, 1641-52
  16. Charles Carlton (1992). The Experience of the British Civil Wars, Routledge, ISBN 0-415-10391-6. Pages 211 - 214
  17. Carlton, Page 211
  18. Trevor Royal Page 602
  19. Trevor Royle. "Civil War: The Wars of the Three Kingdoms 1638-1660"; Pub Abacus 2006; (first published 2004); ISBN 978-0-349-11564-1. p. 602
  20. Carlton, page 212
  21. Carlton, Page 213
  22. Carlton, Page 214
  23. "Christopher O'Riordan, Self-determination and the London Transport Workers in the Century of Revolution" (1992).
  24. Glenn Burgess Historiographical reviews on revisionism: an analysis of early Stuart historiography in the 1970s and 1980s, The Historical Journal, 33, 3 (1990), pp . 609—627)

ดูเพิ่ม


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน หรือไม่มีการปิด </ref>

สงครามกลางเม, องอ, งกฤษ, งก, ามภาษา, ในบทความน, ไว, ให, านและผ, วมแก, ไขบทความศ, กษาเพ, มเต, มโดยสะดวก, เน, องจากว, เด, ยภาษาไทยย, งไม, บทความด, งกล, าว, กระน, ควรร, บสร, างเป, นบทความโดยเร, วท, งกฤษ, english, civil, 1642, งป, 1651, เป, นสงครามกลางเม, องของอ, . lingkkhamphasa inbthkhwamni miiwihphuxanaelaphurwmaekikhbthkhwamsuksaephimetimodysadwk enuxngcakwikiphiediyphasaithyyngimmibthkhwamdngklaw krann khwrribsrangepnbthkhwamodyerwthisudsngkhramklangemuxngxngkvs xngkvs English Civil War kh s 1642 thungpi kh s 1651 epnsngkhramklangemuxngkhxngxngkvs skxtaelnd aelaixraelndthitxenuxngknhlaykhrngrahwangfayrthspha aelafaykstriyniym sngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 1 ekidkhunrahwangpi kh s 1642 thungpi kh s 1646 khrngthi 2 rahwangpi kh s 1648 thungpi kh s 1649 epnsngkhramkhxngkhwamkhdaeyngrahwangphusnbsnunphraecachalsthi 1 fayhnungaelaphusnbsnunrthsphayawxikfayhnung khnathikhrngthi 3 thiekidkhunrahwangpi kh s 1649 thungpi kh s 1651 epnkartxsurahwangphusnbsnunphraecachalsthi 2 aelaphusnbsnunrthspharmphxikfayhnung sngkhramklangemuxngcblngdwychychnakhxngfayrthsphathiyuththkarwusetxremuxwnthi 3 knyayn kh s 1651sngkhramklangemuxngxngkvsepnswnhnungkhxng sngkhramsamxanackrchychnakhxngfayrthsphainyuththkarthiensbiemuxwnthi 14 mithunayn kh s 1645 epncudepliyninkarsurbkhxngfayrthsphatxfayniymkstriywnthi 22 singhakhm kh s 1642 3 knyayn kh s 1651sthanthi rachxanackrxngkvs rachxanackrskxtaelnd rachxanackrixraelnd aeladinaednxananikhmphllphth fayrthsphachna phraecachalsthi 1 thukpraharchiwit chalsthi 2 thukenreths kxtngekhruxckrphphphayitkarkhwbkhumkhxngoxliewxr khrxmewllkhukhdaeyngfayniymkstriy aekhwaeliyr smaphnthrthixraelnd fayrthspha ekhruxckrphphaehngxngkvs hwekriynphubychakarhruxphunaphraecachalsthi 1 ecachayruephirtaehngirnchalsthi 2 rxebirt edewxruthxms aefraefksoxliewxr khrxmewllkalngphlsuyesiy50 700 esiychiwit 83 467 thukcbkum 1 34 130 esiychiwit 32 823 thukcbkum 1 tayodyimekharwmrb 127 000 khn rwmprachachnxik 40 000 khn a hnuehnphxkhrngsudthayemuxihr ody wileliym efrdedxrikh yims William Frederick Yeames epnphaphrthsphathamlukchaykhxngfayniymkstriyrahwangsngkhramklangemuxng phlkhxngsngkhramklangemuxngkhrngthisxngnaipsukarplngphrachnmkhxngphraecachalsthi 1 karliphykhxngphrarachoxrsphraecachalsthi 2 aelakarepliynrabbkarpkkhrxngkhxngxngkvscakrabxbphramhakstriyipepnrabbekhruxckrphphaehngxngkvs rahwangpi kh s 1649 thungpi kh s 1653 aelatxcaknnipepnrabbrthphuphithksphayitkarnakhxngoxliewxr khrxmewllrahwangpi kh s 1653 thungpi kh s 1659 exksiththiinkarnbthuxkhristsasnakhxngnikayechirchxxfxingaelndinxngkvssinsudlngdwykarrwm karpkkhrxngodyopretsaetnt Protestant Ascendancy inixraelnd indanrththrrmnuysngkhramkhrngniepnkarwangrakthanwakarpkkhrxngrabxbphramhakstriyimsamarththaidodymiidrbkhwamehnchxbcakrthspha aetxnthicringaelwprchyanikmiidptibtiknxyangcringcngcnkrathngthungsmykarptiwtixnrungorcninplaykhriststwrrs enuxha 1 khwamhmay 2 saehtu 2 1 prchyakarpkkhrxngkhxngphraecachals 2 2 rthsphaphayitrththrrmnuyxngkvs 2 3 rthsphakbkharxngsiththi 2 4 smykarpkkhrxngswnphraxngkhkhxngphraecachals 2 5 karkxkhwamimsngbinskxtaelnd 2 6 eriykprachumrthspha 2 7 rthsphayaw 2 8 khwamkdkhiinthxngthin 3 sngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 1 4 sngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 2 5 karitswnphraecachalsinkhxhakbttxaephndin 6 sngkhramklangemuxngkhrngthi 3 6 1 ixraelnd 6 2 skxtaelnd 6 3 xngkvs 7 xanacthangkaremuxng 8 khwamsuyesiyinchiwitaelathrphysin 9 phlpraoychn 10 phlkhxngsngkhram 11 thvsdiekiywkbsngkhramklangemuxngxngkvs 12 xangxing 13 duephimkhwamhmay aekikhkhawa sngkhramklangemuxngxngkvs inphasaxngkvsmkcaichepnkhaexkphcnaemwankprawtisastrcayngotaeyngknwaepnsngkhramsxnghruxsamsngkhram sngkhramniepnsngkhramkhxngxngkvsaetkhwamkhdaeyngtngaeterimaerkkmiswnekiywkhxngkbthngskxtaelndaelaixraelnd du sngkhramsamxanackr sngkhramklangemuxngxngkvskhrngnitangkbsngkhramklangemuxngxngkvskhxngxngkvsxun trngthimiichephiyngaetcaepnsngkhramthiaekngaeyngrahwangphunathiaethcringkhxngpraeths aetyngepnsngkhramthikhanungthungkareluxkrabbkarpkkhrxngkhxngbrietnihyaelaixraelnd nkprawtisastrbangkhncdsngkhramklangemuxngxngkvswaepn karptiwtixngkvs nganekhiynechnsaranukrmbritanika chbb kh s 1911 klawthungsngkhramklangemuxngxngkvswaepn karptiwtikhrngyingihy nkprawtisastrlththimarksechnkhrisotefxr hill Christopher Hill mkcaniymichkhawa karptiwtixngkvs English Revolution aethnkarichkhawa sngkhramklangemuxngxngkvs inkarklawthungsngkhramkhrngnisaehtu aekikhprchyakarpkkhrxngkhxngphraecachals aekikh phraecachalsthi 1 odyaexnothni aewn idkh sngkhramklangemuxngxngkvserimkhunephiyngsisibpihlngcakkarswrrkhtkhxngphrarachininathexlisaebththi 1 inpi kh s 1603 emuxphraecachalsthi 1 khunkhrxngrachyinpi kh s 1625 xngkvsaelaskxtaelndxyuinkhwamsngbthngthangkarphayinaelakhwamsmphnthrahwangkhxngthngsxngrachxanackr phraecachalsmiphrarachprasngkhthicarwmrachxanackrxngkvs rachxanackrskxtaelnd aelarachxanackrixraelndekhaepnrachxanackrediywkntamphrarachprasngkhkhxngphrarachbidasmedcphraecaecmsthi 1 aehngxngkvs phraecaecmsthi 4 aehngskxtaelnd aetfayrthsphamikhwamekhluxbaekhlngicthungphrarachprasngkhthiwani ephraakarkxtngrachxanackrihmxaccaepnkarthalaywthnthrrmaelapraephniobrankhxngxngkvsthiekhyptibtiknma aelaepnsingthiepnekhruxngmuxinkarkhacunrakthankarpkkhrxngrabxbphramhakstriymacnthungewlann nxkcaknnemuxphraecachalsthrngkhrxngrachyphayitprchyaediywknkbphrarachbidathikhrnghnungtrsbrryaytaaehnngphramhakstriywaepnkarepn ethphnxy bnolkmnusy little Gods on Earth phraecachalsthrngmikhwamechuxwaphraxngkhepnphuthiidrbeluxkcakphraecaihpkkhrxngxanackrphayitkd ethwsiththikhxngphramhakstriy Divine Right of Kings prchyakhxngphraxngkhkyingthaihrthsphaephimkhwamhwnraaewngtxnoybaykhxngphraxngkhmakyingkhuninkarpkkhrxngphraecachalsthrngeriykrxngkhwamcngrkphkdicakphuxyuitkarpkkhrxngodyimmienguxnikhepnkaraelkepliynkb karpkkhrxngxyangyutithrrm phraxngkhthrngehnwakarkhdaeyngkbphraxngkhepnkarkrathathihyamphraxngkh khwamkhdaeynghruxkhwamekhluxbaekhlngtang thiekidkhunrahwangphraecachalsaelarthsphaaehngxngkvsepnphlthithaihkhwamsmphnthinthisudkaetkhklngaelanaipsusngkhramklangemuxnginthisud rthsphaphayitrththrrmnuyxngkvs aekikh kxnthicaekidkartxsuknrthsphaaehngxngkvsmiidmibthbathinrabbkarpkkhrxngkhxngxngkvsethaidnk rthsphaepnaetephiyngkhnaphuthwaykhaaenanatxaelaepnekhruxngmuxkhxngphramhakstriyethann phramhakstriythrngmisiththithicaeriykprachumhruxyubrthsphaemuxidkidtamaetphrarachprasngkh karthieriykprachumswnihykepnkareriykekhamaephuxihchwyhaenginthunekhaphrakhlng ephraarthsphaodysmachikphuepnphunathxngthin gentry mixanachnathiinkarekbphasi phramhakstriycungcaepntxngphungbukhkhlehlaniinkarthaihkarekbphasiepnkarrabrunodyimmipyhaidid thaphunathxngthinptiesththicaekbphasisthabnphramhakstriykimmiekhruxngmuxxunidinkarbngkhbkarekbphasi aemwarthsphacaxnuyatihphuaethnkhxngphunathxngthinprachumaelasngnoybayesnxipyngphramhakstriyinrupkhxngrangphrarachbyyti aetphuaethnehlaniimmixanacinkarbngkhbihphramhakstriyptibtitamrangphrarachbyytithiesnxip rthsphaxaccamixanacinkarbngkhbphramhakstriyxyubangodykarimyxmrwmmuxinkarekbphasihaenginihphramhakstriytamthithrngtxngkar aetthathaechnnnphraxngkhkxaccatdsinicyubspha rthsphakbkharxngsiththi aekikh phrarachiniehneriytta maeriy odypietxr elliy Peter Lely kh s 1660 ehtukarnaerkthithaihrthsphaepnerimepnkngwlkhuxkaresksmrsrahwangphraecachalsthi 1 kbecahyingehneriytta maeriyaehngburbxngphuepnecahyingormnkhathxlikcakfrngess karesksmrsekidkhuninpi kh s 1625 imnanhlngcakthiphraecachalsesdckhunkhrxngrachy karesksmrskhxngphraxngkhthaihxaccaekidpyhaineruxngphrarachoxrsthicaepnrchthayaththixaccaidrbkareliyngduxyangormnkhathxlik sungthaihepnthihwnklwkhxngchawxngkvsphuepnopretsaetntnxkcaknnphraecachalsyngmiphrarachprasngkhthicaekhaekiywkhxnginkhwamkhdaeynginyuorpthikhnannxyuphayitkhwamyungehyingkhxngsngkhramsamsibpi kh s 1618 kh s 1648 karekharwmkarsngkhramhmaythungkarichthunthrphyepncanwnmhasal withithiphraecachalscathrngsamarthhathuninkarthasngkhramidkodykarkhunphasithitxngidrbxnumticakrthspha aetaethnthirthsphaklbcakdsiththiinkarekbphasitnphasipxndthiaetedimepnsiththiswnphraxngkhthithrngeriykekbidtlxdphrachnmchiph rthsphacakdihthrngekbidephiyngpiediyw thacaekbinpitxipphraxngkhktxngmatxrxngkhxxnumticakrthsphaepnpi ip sungepnphlthaihphraxngkhthrngmipyhathangkarenginhnkyingkhunaetpyhakarkhadthunthrphykmiidthaihphraecachalshyudyngkarekhaekiywkhxnginkarsngkhram thrngtdsinphrathysngkxngkalngipchwyxuwekxonthithuklxmxyuthilarxaechl odymicxrc wileliyrs dyukhaehngbkhkhingaehmthi 1kharachsankkhnoprdipepnaemthph aetkepnkarthphthilmehlw rthsphathiepnprpkstxdyukhaehngbkhkhingaehmxyuaelweriykrxngihplddyukhaehngbkhkhingaehmxxkcaktaaehnng phraecachalsimthrngyxmaelathrngottxbdwykaryubrthspha karkrathakhrngniaemwacaepnkarchwydyukhaehngbkhkhingaehmaetkepnkarsrangkhwamimphxicihkbrthsphamakyingkhunhlngcakthithrngyubrthsphaaelw aelaimthrngsamarthhaenginodyimmirthsphachwyaelwphraecachalskthrngtngrthsphaihminpi kh s 1628 thirwmthngoxliewxr khrxmewll aetrthsphaihmyunkharxngkhxsiththifxngrxngrth sunginthisudphraxngkhkthrngyxmrbephuxepnkaraelkepliynkbkaridthunthrphycakkarthirthsphachwyekbphasiihphraxngkh smykarpkkhrxngswnphraxngkhkhxngphraecachals aekikh dubthkhwamhlkthi smykarpkkhrxngswnphraxngkh xkhrbathhlwngwileliym lxd hlngcaknnphraecachalskthrngeliyngkareriykprachumrthsphaepnewlakwasibpisungepnsmythieriykwa sibexdpiaehngkhwamkdkhi Eleven Years Tyranny inchwngewlaniphraecachalsimthrngsamarthhaenginidngay odyprascakrthspha aetkthrnghniphawithixuninkarhaenginekhathxngphrakhlng echnkarnakdhmayobranxxkmaruxfunichinkareriykkhaprbcakkhunnangphumiidekharwminphithirachaphieskkhxngphraxngkhkxnhnann nxkcaknnkyngthrngphyayamodykarekbphasieruxthieriykrxngekbphasicakaekhwntang thiimxyutidthaelsahrbrachnawixngkvs bangkhnktxtanimyxmcayphasithiwaephraathuxwaepnphasithiphidkdhmayaetkipaephinsalsungkepnxikkhxhnungthithaihprachachnephimkhwamimphxicinwithikarpkkhrxngkhxngphraxngkhmakyingkhunrahwangkarekbphasiaelw in smykarpkkhrxngswnphraxngkh phraecachalskyngthrngkxihekidkhwamkhdaeyngthangsasna odykarthimiphraprasngkhthicaaeyknikayechirchxxfxingaelndihiklcaklththikhalwinmakkhun ipthangthiichrabxbpraephnithangsasnaechnthiiklekhiyngkbthrrmeniymobranmakkhunkwathiptibtikninlththikhalwin 2 phraprasngkhniidrbkarsnbsnunodyxkhrbathhlwngwileliym lxdthipruksathangkaremuxngswnphraxngkh phuidrbkaraetngtngodyphraecachalsexngihepnxarchbichxpaehngaekhnethxrebxri inpi kh s 1633 3 4 aelathrngrierimkarepliynaeplngxun thiepnkarphyayamephimxanacihaeknikayechirchxxfxingaelndmakkhun xkhrbathhlwnglxdphyayamthaihsthabnsasnaepnxnhnungxnediywknodykarpldnkbwchthiepnptipkstxnoybayaelapidxngkhkartang khxngklumephiywritn karepliynaeplngehlaniepnkartxtannoybaykarptirupsasnakhxngprachachnthnginrachxanackrxngkvsaelarachxanackrskxtaelnd phrarachnoybaykhxngphraxngkhepnnoybaythikhankbprchyakhxnglththikhalwinthitxngkarihnikayechirchxxfxingaelndthaphithisasnaechnthirabuiwin hnngsuxswdmntsamy Book of Common Prayer nxkipcaknnxkhrbathhlwnglxdkyngniymkhristsasnprchyakhxnglththixarmieniynnism Arminianism khxngcaokhbs xarmieniys Jacobus Arminius sungepnprchyathiphuekhrngkhrdinlththikhalwinismthuxwaaethbcaepnprchyakhxng ormnkhathxlik ephuxcaepnkhwbkhumphuepnptipkstxkarepliynaeplng xkhrbathhlwngwileliym lxdtngrabbsalthiepnthinayaekrngkhunsxngsal Court of High Commission aela salothngdaw Court of Star Chamber ephuxichinkarlngothsphuthiimyxmrbkarptirup salaerkmixanacthicabngkhbihphuthukklawhaihkarthithakhwamesiyhaytxtnexngid salhlngmixanacxxkbthlngothsid kidrwmthngkarthrmanykewnaetephiyngkarpraharchiwitethannxanacehnuxkdhmaykhxng salothngdaw inrchsmykhxngphraecachalsepnxanacthiehnuxkwaxanacid thiekhyichknmakxninrchsmykhxngphraxngkh phayinrchsmykhxngphraxngkhphuthukklawhamkcathuklaktwkhunsalodyimmikhxklawhaid aelaimmisiththiinkarkhdkhankhxklawhaid thngsindwy nxkcaknnkhasarphaphthiidmakmkcaidmacakkarthrman karkxkhwamimsngbinskxtaelnd aekikh dubthkhwamhlkthi sngkhrambathhlwng smykarpkkhrxngswnphraxngkh mayutilngemuxphraecachalsthrngphyayamnanoybaythangsasnathibngkhbichinxngkvsipichinskxtaelnd aemwanikayechirchxxfskxtaelndcaminoybayepnkhxngtnexng aetphraecachalsmiphrarachprasngkhthicaihkarptibtithangsasnaepnxnhnungxnediywknthwthngekaaxngkvsthirwmthngskxtaelnd odykaresnxkarichhnngsuxswdmntsamyinskxtaelndinvdurxnpi kh s 1637 aetthangskxtaelndprathwngxyangrunaerngcnekidkarclaclinexdinbarah aelaineduxnkumphaphnth kh s 1638 thangskxtaelndkyunkarprathwngxyangepnthangkarinphnthsyyaaehngchati National Covenant sungepnexksarthiprathwngkhxesnxtang khxngphraecachalsthiyngmiidrbkarthdsxbodyrthsphaaehngskxtaelndaelasphathwipkhxngsasnakhxngskxtaelndkxnthicanamaptibtiimnanhlngcaknnphraecachalskthrngykthxnkarbngkhbichhnngsuxswdmntsamyinskxtaelndaelathrngeriykprachumsphathwipkhxngnikayechirchxxfskxtaelndthiklasokwineduxnphvscikayn kh s 1638 sphathwipthimixiththiphlcakmtimhachnimyxmrbhnngsuxswdmntaelaprakaswaepnkarphidkdhmayaelailbathhlwngxxkcakkarrwmprachum phraecachalsthrngeriykrxngihsphathwipthxnkarkrathaaetsphathwipimyxm thngsxngfaytangcungerimrwbrwmkxngthharsahrbkarsngkhramthikhadknwacaekidkhuninvduibimphlikhxngpi kh s 1639 phraecachalsthrngnakxngthphkhunipyngekhtaednskxtaelnephuxcaipprabkhwamimsngbthieriykwasngkhrambathhlwng aetkepnkarsurbthiimthrabwafayidepnfaythichnaxyangepnthiaennxn inthisudphraxngkhkyxmrbkhxesnxyutikarsukcakfayskxtaelnd syyasngbsukebrikh Pacification of Berwick aetkepnephiyngchwkhrawemuxsngkhrambathhlwngkhrngthisxngerimkhuninvdurxnkhxngpitxmainpi kh s 1640 khrngnifayskxtaelndidrbchychnatxphraecachalsaelayudniwkhasesilxphphxnithn inthisudphraecachalskthrngyxmtklngthicaimekhaipyungekiywkbkarsasnainskxtaelnd nxkcaknnkyngthrngtxngcaykhaptikrrmsngkhramihaekfayskxtaelnddwy eriykprachumrthspha aekikh thxms ewnthewirth exirlaehngstraffxrdthi 1 kxnhnathicaekhasngkhramkbskxtaelndphraecachalsthrngmikhwamrusukwacaepnthicatxngprabpramkhwamimsngbinskxtaelndaetimthrngmingbpramanphx phraxngkhcungthrngphyayamhathunodykareriykprachumrthsphaihmthiephingidrbeluxkinpi kh s 1640 aetfayesiyngkhangmakkhxngrthsphanaodycxhn phim John Pym thuxoxkasinkaryunkhxrxngthukkhthimitxrabbkarichxanacinthangthiphidkhxngsthabnphramhakstriyinrahwang smykarpkkhrxngswnphraxngkh thiphanmaaelaaesdngkartxtanphrarachnoybayinkarrukranskxtaelndkhxngphraxngkh phraecachalsthrngehnwakarkrathakhxngrthsphaepnkarkrathathi Lese majeste hyamxanackhxngphramhakstriy phraxngkhcungmiphrarachoxngkarihyubrthsphahlngcakidrbkareriykekhaprachumephiyngsamxathity rthsphanicungeriykknwa rthsphasn emuximidrbkarsnbsnuncakrthspha phraecachalskesdcipocmtiskxtaelndxikkhrngsungepnkarlaemidsyyasngbsukebxrwikh aelathrngidrbkhwamphayaephxyangybeyin skxtaelndthuxoxkasrukranxngkvsaelaekhayudnxrththmebxraelndaelaedxaerm khnaediywknthxms ewnthewirth hwhnathipruksakhxngphraecachals phuepnphupkkhrxngixraelndinpi kh s 1632 kiptklngkbphunathxngthinormnkhathxlikinixraelndwacaihesriphaphthangsasnaepnkaraelkepliynkbkaresiyphasiihmthiewnthewirthnaklbmathwayphraecachalsinpi kh s 1639 phraecachalsthrngeriykewnthewirthklbxngkvs aelathrngaetngtngihepnexirlaehngstraffxrdinpi kh s 1640 odythrnghwngthicaihewnthewirthipthaxyangediywknnnkbskxtaelnd aetkhrngniewnthewirthimprasbkhwamsaerc aelathharxngkvstxngthxyhnihlngcakephchiyhnakbskxtaelndepnhnthisxnginpi kh s 1640 thangehnuxkhxngxngkvsekuxbthnghmdcungthukyudodyskxtaelnd phraecachalsthrngthukbngkhbihcaykhachdichsngkhramepncanwn 850 txwninkarhyudyngcangimihskxtaelndedinthphtxipinxngkvssthanakarnkhrngniyingthaihphraecachalsthrngprasbpyhathangkarenginhnkkwakhrngidid inthanaphramhakstriykhxngskxtaelndphraxngkhthrngtxngmikhwamrbphidchxbinkarcaykhabarungkxngthphskxtaelndinxngkvs aelainthanaphramhakstriykhxngxngkvsphraxngkhthrngtxngmikhwamrbphidchxbinkarcaykhabarungkxngthphxngkvsinkarpxngknxngkvsexngdwy ephuxhathunthrphyephuxichcayinkhabarungrksakxngthphtang phraxngkhcungtxngeriykprachumrthsphaxikkhrnginpi kh s 1640 rthsphayaw aekikh karprachumkhxngrthsphayaw dubthkhwamhlkthi rthsphayaw rthsphaihmthieriykekhamayingepnptipkstxphraecachalshnkyingkhunkwarthsphaedim thierimodykaryunkharxngthukkhtxkarpkkhrxngkhxngphraxngkhaelarthbalkhxngphraxngkhxnimepnthrrm odymiphimaelacxhn aehmphedn John Hampden epnphuna nxkcaknnrthsphakyngdaeninkarptiruptang echnphanphrarachbyytiwarthsphatxngprachumxyangnxysampitxkhrngodyimtxngidrbkareriykcakphramhakstriy kdhmayxunthiphankidaekkarrabuwaphramhakstriyimsamartheriykekbphasiidodyimidrbkarxnumticakrthspha aelarthsphamixanacehnuxxngkhmntrikhxngphramhakstriy aetsingthisakhythisudkhuxphramhakstriyimsamarthyubrthsphaidodyimidrbkarxnumticaktwrthsphaexng rthsphanicungeriykknwa rthsphayaw aetrthsphakphyayameliyngkhxkhdaeyngkbphraecachalsodykarihsmachiklngnamin ptiyankhwamphkdi txphraxngkhemuxtnpi kh s 1641 rthsphaksngcbthxms ewnthewirth exirlaehngstraffxrdaelasngipkhngiwthihxkhxyaehnglxndxninkhxhakbttxaephndin cxhn phimxangwakaretriymphrxmkhxngexirlaehngstraffxrdinkarrnrngkhinkartxtanphurukranxngkvsxnthicringaelwepnkaretriymtwtxtanxngkvsexng aetsphasamychnkimsamarthphisucnkhxklawhaid cxhn phimaelaehnri ewn phuphx Henry Vane the Elder cunghnipichphrarachbyytiribthrphy Bill of Attainder sungepnphrarachbyytithirabuwaphuthukklawhamikhwamphidodyimtxngphisucninsalaetodykarxnumticakphramhakstriy aetphraecachalsimthrngyxmxnumti exirlaehngstraffxrdklwwasngkhramcaekidkhunkekhiyncdhmayipthungphraecachalsihthrngphicarnaihm exirlaehngstraffxrdcungthukpraharchiwitemuxeduxnphvsphakhm kh s 1641 5 aetaethnthikaresiyslakhxngexirlaehngstraffxrdcathaihpraethschatirxdphncaksngkhram klbklayepnehtuthinamasungsngkhram phayinimkieduxnhlngcaknnklumormnkhathxlikixraelndphuthiklwxanackhxngopretsaetntthiephimmakkhunkerimsngkhramkxninkarptiwtiixraelnd kh s 1641 inkhnaediywknkmikhawluxwaphraecachalsthrngsnbsnunfayormnkhathxlikinixraelnd smachiksphasamychnthiepnephiywritnkerimaesdngkhwamhwadhwntxkarkrathakhxngphraecachalssthanakarnrahwangphraecachalskbrthsphakelwraykhunthukwn cninthisudemuxwnthi 4 mkrakhm kh s 1642 phraecachalsphrxmkbkxngthharraw 400 khnkbukekhaipinrthsphaephuxthicaphyayamcbtwsmachikhakhnkhxngrthsphainkhxhakbttxaephndin aetphuthukklawharutwesiykxnaelahlbhniipthnkxnthiphraxngkhcaesdcmathung ykewn oxliewxr khrxmewll thimiidhniipkbphuxun phraecachalscungtrsthamprathanspha wileliym elnthall William Lenthall wasmachiksphahlbhniknipihnhmdsungelnthallihkhatxbthiepnthiruckknwa May it please your Majesty I have neither eyes to see nor tongue to speak in this place but as the House is pleased to direct me whose servant I am here 6 sungethakbwaelnthallprakastnepnphurbichrthsphaaethnthicaepnphurbichphramhakstriy khwamkdkhiinthxngthin aekikh invdurxnkhxngpi kh s 1642 ehtukarntang thiekidkhunkthaihekidkhwamaetkaeykkninthangkhwamehn faythiepnptipkstxphraecachalskephimmakkhunsungepnphlmacakkhwamimyutithrrmtang thiekidkhunechnkarbngkhbekbkhathrrmeniyminkarrabaynainbriewnedxaefns The Fens sungmiphltxprachakrepncanwnmakhlngcakthithrngihsyyakarrabaynatxphurbehma sungepnphlthaihprachakrthangtawnxxkcanwnmakipekhakhangfayrthspha echn exdewird mxngtakiw exirlaehngaemnechsetxrthi 2 aelaoxliewxr khrxmewll swnfaythisnbsnunphraecachalskmiechn orebirt ebxrti exirlaehnglinsiythi 1 Robert Bertie 1st Earl of Lindsey phuesiychiwitinkartxsuinfayphramhakstriythiyuththkarexdchillsngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 1 aekikhdubthkhwamhlkthi sngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 1 aephnthikhxngdinaednthixyuphayitkaryudkhrxngkhxngfaykstriyniym aedng aelafayrthspha ekhiyw kh s 1642 kh s 1645 hlngyuththkarensbiy ecachayruepirtaehngirn emuxtneduxnmkrakhm kh s 1642 imkiwnhlngcakthiphraecachalsthrngbukekhaipinrthsphaephuxcacbkumsmachikhakhninsphasamychnaetimsaerc phraxngkhkimthrngmikhwamrusukplxdphythicaprathbinlxndxnxyutxip phraxngkhcungesdchnixxkcaklxndxn aetrahwangnncntlxdhnarxnkyngmikartxrxngrahwangrthsphayawkbphraxngkhephuxhathangpranipranxmaetkimprasbphlsaercaetxyangid banemuxnginkhnannkaetkaeykknepnfkfay echnemuxngphxrthsmthphayitkarnakhxngesxrcxrc kxring lxrdkxringprakasekhakhangphraecachals aetemuxthrngphyayamrwbrwmxawuthcakkhingstnxphphxnhll Kingston upon Hull thiepnkhlngxawuththiichinkarrnrngkhtxtanskxtaelndkxnhnann esxrcxhn hxthaehm barxnenththi 1 khahlwngfaythharthiidrbaetngtngodyrthsphaineduxnmkrakhmkimyxmihphraecachalsekhaemuxng phraxngkhkesdcklbmaphrxmkbkxngthharephimetimaetkimthrngsamarthekhaemuxnghllid karlxmemuxnghll Siege of Hull 1642 phraecachalscungthrngxxkhmaycbhxthaehminkhxhakbtaetkimthrngsamarthbngkhbichid tlxdhnarxnkhwamtungekhriydkephimmakrahwangphraecachalsaelarthsphakephimmakkhunthukthi aelakarpathaknkraesnkrasaykerimekidkhunthwipaetkaresiychiwitekidkhunthikhrngaerkaemnechsetxr 7 emuxkhwamkhdaeyngerimkhunbrryakasswnihythw ipinpraethskepnklang aemwarachnawixngkvsaelaemuxngihycamiaenwonmthicaekhakhangrthsphaktam swnkarsnbsnunkhxngphraecachalsswnihymacakchumchninchnbth nkprawtisastrpramanwathngsxngfaykhnannmikxngkalngrwmknephiyngpraman 15 000 khn aetemuxsngkhramkhyaytwephimkhun khwamkrathbkraethuxnkmiphltxsngkhmthukradb chumchnbangchumchnkphyayamrksatwepnklang bangkkxtngkxngkhlbemn Clubmen ephuxpxngknchumchninthxngthincakkarexapraoychncakkxngthharkhxngthngfayniymkstriyaelafayrthspha aetswnihyphbwaimsamarthtxtankalngkhxngthngsxngfayidhlngcakkhwamlmehlwthihllaelwphraecachalskesdctxipyngnxttingaehmaelathrng ykthng raise the royal standard hruxprakassngkhramtxfayrthsphaemuxwnthi 22 singhakhm kh s 1642 inkhnannthrngmikxngthhamaraw 2 000 khnaelathharrabyxrkhechxrxikbang inkarrwbrwmkxngphlphraxngkhthrngruxfunkdhmayobranthieriykwa phrarachkvsdikaradmiphrphl thiepnphrarachkvsdikathimxbxanacihphraecaaephndininkarmisiththieriykeknththharinkarthasngkhramid phusnbsnunphraxngkhkerimrwbrwmkxngthphthimicanwnmakkhuninxanabriewnthithrng ykthng hlngcaknnphraxngkhkthrngyayipthangtawnxxkechiyngit erimdwystaffxrd Stafford aelatxmaipyngchrusbri Shrewsbury ephraathrngidrbkarsnbsnunxyangaennhnainbriewnhubekhaesewirnaelathangtxnehnuxkhxngewls 8 khnathiesdcphanewllingtninchrxphechxrphraxngkhkmiphrarachprakasectnathimaruckknwa phrarachprakasewllingtn Wellington Declaration sungepnkarthrngaethlngxudmkarnwainkartxsukhrngniphraxngkhcathrngphithks sasnaopretsaetnt kdhmayxngkvs aelaesriphaphkhxngrthspha inkhnaediywknthangfayrthsphakimidxyuningechyrahwangkxnhnathicaekidsngkhram odysrangesrimemuxngthiepncudsakhythangyuththsastr aelainemuxngehlannkaetngtngphusnbsnunnoybaykhxngfayrthsphaepnphubrihar phayinwnthi 9 mithunaynthangfayrthsphaksamarthrwbrwmkalngphlxasasmkhridthung 10 000 khnaelaaetngtngihorebirt edewxors exirlaehngexsesksthi 3 epnphubngkhbbycha samwntxma Lords Lieutenant phuidrbkaraetngtngodyrthsphaichxanacthiidrbcakkvsdikaradmthharxasasmkhr inkareknththharekharwminkxngthphkhxngexirlaehngexsesks 9 sxngxathityhlngcakthiphraecachalskthrngprakassngkhramthinxttingaehm exirlaehngexsesksknakxngthphkhunipyngnxrthaethmtn Northampton odyidphusnbsnunephimkhunrahwangthang rwmthngkxngthharmacakekhmbridcechxrthirwbrwmaelabngkhbbychaodyoxliewxr khrxmewll phayinklangeduxnknyaynkxngkalngkhxngexirlaehngexseskskephimkhunepn 25 200 khnodyepnthharrabesiy 21 000 khnaelathharmaxik 4200 khn emuxwnthi 14 knyaynexirlaehngexseskskyaykxngthphipokhewnthriaelatxipyngthangehnuxkhxngkhxtswxlds Cotswolds cudthiepnthitngthphepntaaehnngthixyurahwangfaykstriyniymdanhnungaelalxndxnxikdanhnungkhnannkxngthharkhxngthngsxngfaykmicanwnrwmknepnhmunaelamiwusetxrechxrethannthikhwangklangrahwangsxngkxngthph sungthaihimsamarththicahlikeliynginkarpracnhnaknid kartxsukhrngaerkkhxngsngkhramklangemuxngerimdwykxngthharmahnungphnkhnnaodyecachayruepirtaehngirnphranddakhxngphraecachalscakeyxrmniepnfaycuocmaelaidrbchychnatxkxngthharmakhxngfayrthsphaphayitkarnakhxngnayphncxhn brawninyuththkarephawikhbridcthisaphankhamaemnathim River Teme imiklcakwusetxr 10 hlngcaknnecachayruepirtkthxyklbipchrusbri thichrusbrisphasngkhramotaeyngknthungnoybaysxngnoybayinkarthicadaeninkarsngkhramtxip noybayaerkkhuxkaredinthphekhahathitngihmkhxngkxngthphkhxngexirlaehngexsesksiklwusetxr noybaykhuxeliyngkarpracnhnakbexirlaehngexsesksaelaphyayamedinthphipthangthiepidolngipynglxndxn sphatdsinicedinthphiplxndxnaetmiidphyayameliyngkartxsu ephraaphunathharfayphraecachalstxngkarcapracnhnainkartxnsukbexirlaehngexseskskxnthikxngthphkhxngexseskscaaekhngtwephimkhun nxkcaknnkyngmisaehtumacakkhwamkrahaysngkhramkhxngthngsxngfaysungthaihkartdsinyingyakyingkhun sungexdewird ihd exirlaehngaekhlerndxnthi 1 klawwa epnkarthuktxnginkartdsinicthicaedinthphtxipynglxndxnephraaepnthiaennxnwaexseskscatxngphyayamekhakhdkhwang 11 kxngthphkhxngphraecachalscungerimedinthphipynglxndxnemuxwnthi 12 tulkhmsxngwnlwnghnakxngthphkhxngexirlaehngexsesks odyedinthangipthangtawnxxkechiyngit sungkidphlephraaepnkarbngkhbihexseskstxngekhluxnthphmakhdkhwang 11 sngkhramxyangepnthangkar Pitched battle erimtxsuknepnkhrngaerkinyuththkarexdchill emuxwnthi 23 tulakhm kh s 1642 khrngniimmiikhraephikhrchnaaetthngsxngfaytangkxangtnwaepnphuchna karpathaknkhrngthisxngekidkhunthiyuththkarethxaenmkrin khrngniphraecachalsthrngthukbngkhbihthxyipyngemuxngxxksfxrd sungklayepnthitngmnkhxngphraxngkhcnsngkhramyutilnginpi kh s 1643 kxngthphfaykstriyniymidrbchychnathiyuththkaraexdwaltnmwr aelaidxanacinkarkhwbkhumbriewnyxrechxrekuxbthnghmd thangmidaelndskxngthphfayrthsphanaodyesxrcxhn ecll barxnentthi 1 ekhalxmaelayudemuxnglichfild Lichfield id hlngcakkaresiychiwitkhxngphunakhnedim lxrdbrukh kxngnitxmasmthbkbesxrcxhn ebrertninkartxsuinyuththkarhxphtnhiththiimmiphuidaephphuidchnaemuxwnthi 19 minakhm kh s 1643 thiexirlaehngnxrthaethmtnaemthphfaykstriyniymesiychiwit txmainkartxsuthangtawntkfaykstriyniymkidrbchychnainyuththkaraelnsdawnaelayuththkarrawndewydawn ecachayruepirtthrngyudbristxl inpiediywknoxliewxr khrxmewllkkxtngkxngthharma Ironside sungepnkxngthharthimiraebiybwiny sungepnkaraesdngihehnthungkhwamsamarthinkarepnphunathangkarthharkhxngkhrxmewll aelaepnkarthaihidrbchychnainyuththkareknsbarahineduxnkrkdakhmodythwipaelwkhrungaerkkhxngsngkhramfaykstriyniymepnfayidepriyb cudepliynaeplngekidkhunemuxplayvdurxnaelatnvduibimrwngkhxngpi kh s 1643 emuxkxngthphkhxngexirlaehngexsesksidrbchychnainyuththkarniwbrikhrngthi 1 emuxwnthi 20 knyayn kh s 1643 thithaihsamarthklbekhakrunglxndxnid nxkcaknnthangfayrthsphakyngidrbchychnainyuththkarwinsbiythaihmixanacinkarkhwbkhumlingkhxln inkarphyayamephimcanwnthharinkartxsukbfayrthsphaphraecachalskthrnghniptxrxngkaryutisngkhraminixraelndephuxcaidnakalngthharklbmatxsuinxngkvs khnathithangfayrthsphaiphathangtklngkbskxtaelndinkarkhxkhwamchwyehlux oxliewxr khrxmewll emuxidrbkhwamchwyehluxcakskxtaelnd rthsphakidrbchychnainyuththkarmarstnmwremuxwnthi 2 krkdakhm kh s 1644 sungthaihmixanackhwbkhuminbriewnyxrkhaelathangehnuxkhxngxngkvs karepnphunainkarsurbkhxngoxliewxr khrxmewllinyuththkartang epnekhruxngaesdngihehnthungkhwamsamarthkhxngkarepnthngphunathnginthangkarthharaelathangkaremuxng aetkarphayaephkhxngfayrthsphathiyuththkarlxswiethl Battle of Lostwithiel inkhxrnwxllepnkarphayaephthithangfayrthsphaidrbkhwamesiyhayxyanghnkinkartxsuthangtawntkechiyngitkhxngxngkvs karpracnhnatxmathiyuththkarniwbrikhrngthi 2 emuxwnthi 27 tulakhm kh s 1644 aemwacaimmiphlaennxnthangkarrnrngkhaetthangdankaryuththsastrfayrthsphaepnfayidepriybinpi kh s 1645 rthsphamungmnthicatxsucnkwasngkhramcayutiodyphyayamprbprungkxngthphodykarphankvsdikahamtnexng Self denying Ordinance sungepnkvsdikathirabuhamsmachikkhxngrthsphainkarmihnathiepnphunathangkarthharaelacdrabbkarthharkhunihminrupkhxngkxngthphtwaebbihmphayitkarnakhxngthxms aefraefks lxrdaefraefksaehngkhaemrxnthi 3 odymi oxliewxr khrxmewllepnphuchwyaelaepn Lieutenant General khxngkxngthharma inyuththkarensbiy emuxwnthi 14 mithunaynaelayuththkaraelngphxrtemuxwnthi 10 krkdakhmfayrthsphakidrbchychnaxyangeddkhadtxkxngthphkhxngphraecachalsphraecachalsthrngphyayamthicaruxfunphusnbsnunkhxngphraxngkhinbriewnmidaelnds aelathrngerimsrangbriewnsnbsnunrahwangxxksfxrdaelaniwxarkhxxnethrntinnxttingaehmphechxr thrngyudelsetxrthixyurahwangthngsxngemuxngaetkimidchwyxairmaknk emuximthrngmioxkassrangesrimkalngihaekhngaekrngkhun phraxngkhkthrnghnipphungkxngthphskxtaelndthiesathewllinnxttingaehmphechxr sungethakbepnkaryutisngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 1thangfaythisnbsnunphraecachalskmikhwamechuxwacudprasngkhinkartxsukephuxepnkarxnurkssthabnrthbalinsthabnsasnaaelarachxanackrtamthiekhyepnma swnfayrthsphakechuxwakarcbxawuthkhunkephuxepnkarthaihekidkhwamsmdulkhxngrthbalinsthabnsasnaaelarachxanackrthiekidcakkarichxanacinthangthiphidkhxngphraecachalsaelaphuekiywkhxnginrahwangsibexdpikhxngsmykarpkkhrxngswnphraxngkh thsnkhtikhxngsmachikrthsphamitngaetphusnbsnunphraecachalsxyangetmthiipcnthungphumikhwamkhidehnrunaerngthitxngkarptirupephuxesriphaphthangsasna aelaphuthitxngkarepliynaeplngkarkracayxanacthangkaremuxngradbchatisngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 2 aekikhdubthkhwamhlkthi sngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 2 ecms aehmmiltn dyukhaehngaehmmiltnthi 1 nayphlfaykstriyniym phraecachalsthrngchwyoxkaskhnathikhwamsnicintwphraxngkhhnehipthangxun odythrngipecrcatxrxngtklngkbfayskxtaelndodythrngsyyawacaphrarachthanphrabrmrachanuyatinkarptirupsasnaemuxwnthi 28 thnwakhm kh s 1647 aemwakhnanncayngkhngthrngepnnkothsxyuaetkhxtklngniepnkarnaipsusngkhramklangemuxngkhrngthi 2karkxkhwamimsngbodyfaykstriyniymerimekidkhunodythwipxikkhrnginxngkvsaelakarrukranodyskxtaelndkerimkhuninvdurxnkhxngpi kh s 1648 kxngkalngkhxngfayrthspha 12 samarthkahrabkhwamimsngbelk nxy inxngkvsidekuxbthnghmdaetkhwamimsngbinekhnth exsesks khmebxraelnd karptiwtiinewls aelakarrukrankhxngskxtaelndepnkartxsuaebbpracnhnaaelaepnkartxsuthiyudeyuxkwainvduibimrwngkhxngpi kh s 1648 thharfayrthsphathiyngimidrbkhacanginewlskepliynkhangipepnfayphraecachals aetnayphnthxms hxrtnksamarthkahrabidinyuththkaresntefkns emuxwnthi 8 phvsphakhm hlngcaknnphunakhxngfayptiwtikwangxawuthemuxwnthi 11 krkdakhmhlngcakephmobrkhthuklxm siege of Pembroke xyusxngeduxn txmathxms aefraefkskidrbchychnatxfaykstriyniyminekhnthinyuththkaremdstnemuxwnthi 24 mithunayn hlngcakidrbchychnathiemdstnaelaekhnthaelwlxrdaefraefkskhnthphkhunehnuxephuxipprabexsesks thierimaekhngtwkhunphayitkarnakhxngesxrchals lukhs Charles Lucas aemwafaykstriyniymcaephimcanwnkhunmakmay aetlxrdaefraefksksamarthkhbfayfaykstriyniymthxyekhaipinemuxngokhlechsetxr aetkarocmtiokhlechsetxrkhrngaerkidrbkartxtanxyanghnkcakchawemuxng cnaefraefkstxngtnghlklxmemuxngokhlechsetxrxyusibexdxathitykxnthicafayniymkstriycayxmaephthangdanehnuxkhxngxngkvs nayphlcxhn aelmebirtidrbkhwamsaercinkartxsukbfaykstriyniymthiaekhngtwkhun sukthiihythisudepnkartxsukbesxrmarmadyukh aelngedlinkhmebxraelnd ecms aehmmiltn dyukhaehngaehmmiltnthi 1 phunafayskxtaelndedinthphipthangtawntkyngkharill inkarsnbsnunfaykstriyniymodykarrukrancakskxtaelnd fayrthsphaphayitkarnakhxngkhrxmewllpracnhnakbkxngthphskxtaelndinyuththkarephrstnrahwangwnthi 17 singhakhm thungwnthi 19 singhakhm kh s 1648 yuththkarswnihyekidkhunthiwxltn elx edliklephrstninaelngkhasechxr phlkhxngyuththkarkkhuxkhrxmewllidrbchychnatxfaykstriyniymaelafayskxtaelndthinaodyecms aehmmiltn chychnakhxngfayrthsphakhrngniepnkaryutisngkhramklangemuxngxngkvskhrngthi 2hlngsngkhramklangemuxngkhrngthi 1 faykstriyniymthirwminsngkhramekuxbthnghmdidrbkarxphyothsodymienguxnikhwahamthuxxawuthinkartxtanfayrthsphahlngcaknn phumiskdisrifaykstriyniymechneckhxp aexstliy barxnaexstliyaehngerddingthi 1 imyxmesiykhaphudodykarimrwminsngkhramklangemuxngkhrngthi 2 channfayrthsphaphuidrbchychnainsngkhramkhrngthi 2 cungmiidaesdngkhwampranitxphulukkhuncbxawuthepnkhrngthisxng khawnthiokhlechsetxryxmaephfayrthsphakpraharchiwitesxrchals lukhsaelaesxrcxrc lisesil George Lisle phumixanacfayrthsphatdsinlngothsphunakartxsuinewlsthirwmthngnayphlorwaelnd lafarn Rowland Laugharne nayphncxhn phxyeyxr John Poyer aelanayphnirs ephaewl Rice Powel odykarpraharchiwit aetxnthicringaelwksngharphxyeyxrephiyngkhnediywemuxwnthi 25 emsayn kh s 1649 odykareluxkcaksamkhn inbrrdaphunathiepnkhunnangkhnsakhy khxngfaykstriyhakhnthitkipxyuinenguxmuxkhxngfayrthsphasamkhn ecms aehmmiltn dyukhaehngaehmmiltnthi 1 ehnri rich exirlaehnghxlaelndthi 1 aelaxarethxr ekhephll barxnkhaephllaehngaehdaehmthi 1 thukpraharchiwitodykartdhwthiewstminsetxremuxwnthi 9 minakhmkaritswnphraecachalsinkhxhakbttxaephndin aekikhkarthryskhxngphraecachalsinkarkxsngkhramklangemuxngsxngkhrngthaihfayrthsphatxngotaeyngknwaepnkarsmkhwrhruximthicaihphraxngkhthrngpkkhrxngpraethstxip phuthiyngkhngsnbsnunphraxngkhkyngkhngphyayamecrcatxrxngkbphraxngkhkhwamimphxicthirthsphabangswnyngkhngsnbsnunphraecachalsthaihkxngthharklumhnungthinaodythxms iphrd Thomas Pride bukekhayudrthspha ineduxnthnwakhm kh s 1648 ephuxcbtwsmachikspha 45 khnaelaknxik 146 khnxxkcakhxngprachum aelaxnuyatihephiyng 75 khnthisnbsnunkarkacdphraecachalsthikxngthharepnphueluxkihkhngthahnathismachiktxip rthsphathiehluxeriykwarthspharmphidrbkhasngihkxtng salyutithrrmsungsudinkarphicarnakhdiphraecachalsthi 1 inkhxhakbttxaephndin karkrathakhrngniepnthiruckknwa karyudrthsphakhxngiphrd emuxkarphicarnakhdisinsudlngkmikhnakrrmkarphuphiphaksa 59 khnktdsinwaphraecachalsthrngmikhwamphidinkhxhakbttxaephndinephraathrngepnphu kdkhi thrys khatkrrm aelaepnstrutxprachachn 13 14 karplngphrachnmdwykartdphraesiyrekidkhunhnatukeliyngrbrxngkhxngphrarachwngiwthhxll emuxwnthi 30 mkrakhm kh s 1649 hlngcakkarfunfurachwngs inpi kh s 1660 phraecachalsthi 2 kthrngpraharchiwitkhnakrrmkarphuphiphaksabangkhnthiyngmichiwitxyuaelathiyngimmioxkashlbhniiptangpraeths hruximkcakhngtlxdchiphsngkhramklangemuxngkhrngthi 3 aekikhdubthkhwamhlkthi sngkhramklangemuxngkhrngthi 3 ixraelnd aekikh nayphlorebirt eblkh duephimetimthi chychnakhxngkhrxmewlltxixraelnd ixraelndmisngkhramtidtxknmatngaetkarptiwtiixraelnd inpi kh s 1641 odymi shphnthixraelnd Confederate Ireland epnphumixanackhwbkhumixraelndekuxbthnghmd aetxanackhxngkxngthphfayrthsphakhxngxngkvskephimmakkhunthukwn hlngcakthiphraecachalsthrngthukcbidinpi kh s 1648 aelwfayshphnthklngnaminsnthisyyaphnthmitrkbfaykstriyniymxngkvs kxngkalngrwmrahwangfaykstriyniymxngkvsaelafayshphnthixraelndphayitkarnakhxngecms btelxr dyukhaehngxxrmxndthi 1 James Butler 1st Duke of Ormonde phyayamthicakacdkxngthphfayrthsphakhxngxngkvsthiyuddblinxyu aetfayrthsphakdungkartxsuipthiyuththkarrthimns Battle of Rathmines emuxwnthi 2 singhakhm kh s 1649 xditsmachikrthsphanayphlorebirt eblkh Robert Blake hyudyngkxngthpheruxkhxngecachayruepirtthikhinsesl aetoxliewxr khrxmewllkhunfngidthidblin emuxwnthi 15 singhakhm kh s 1649 phrxmkbkxngthphthinamaprabfayphnthmitrkhxngkstriyniymxngkvsaelashphnthixraelndkarkahrabfaykstriyniyminixraelndkhxngkhrxmewllinixraelndinpi kh s 1649 miphlkrathbkraethuxntxchawixraelndxyuepnrayaewlanan hlngcakidrbchychnacakkarlxmemuxngodrekda siege of Drogheda aelwthangfayrthsphakcdkarsngharhmukhxngphukhnrwm 3 500 khn incanwnnn 2 700 khnepnthharfaykstriyniym aetxik 700 khnimichthharaetrwmthngprachachn nkothsaelankbwchormnkhathxlik khrxmewllxangwabukhkhlehlannthuxxawuth khwamtharuncakehtukarnkhrngniklaymaepnsaehtuhnungkhxngkhwambadhmangrahwangchawixraelndthimitxchawxngkvs aelarahwangphuepnormnkhathxliktxphuepnopretsaetntepnewlarwmsamrxypitxma karsngharhmuepnkarkrathathiklayepnsylksnkhxngphaphphcnthichawixraelndmitxkhwamtharunkhxngkhrxmewll aemwachawixraelndcayngmaesiychiwitxikepncanwnmakmaykwathiekidkhunthiodrekdaaelaewksfxrdinsngkhramkxngocr guerrilla warfare thiekidkhuntxmahlngcaknn aetxyangirktamfayrthsphakmiidrbchychnatxixraelndcnxiksipitxmainpi kh s 1653 emuxkxngthphfayshphnthixraelnd Confederate Ireland aelafaykstriyniymyxmaephnkprawtisastrpramanknwainbnplaykhxngsngkhramixraelndsuyesiyprachakripraw 30 sungimkcaksngkhramhruxcakkarhniiptangpraeths phuthiidrbchychnakyudthidinthiepnkhxngormnkhathxlikaetedimekuxbthnghmdaelaaeckcayihaekecahnirthspha thharfayrthsphathiiprbthiixraelnd aelaaekchawxngkvsthiiptngthinthanxyuinixraelndkxnsngkhram skxtaelnd aekikh yuththkardnbar karplngphrachnmkhxngphraecachalsthi 1 epnkarepliynaenwthangkhxngsngkhramsamxanackr Scotland in the Wars of the Three Kingdoms sungepnsngkhramkhxngkhwamkhdaeyngrahwangfaykstriyniymaelaklumphnthsyya Covenanters tngaetpi kh s 1644 mathungpi kh s 1649 khwamkhdaeyngkthaihfaykstriyniymxyuinsphawathipnpwn swnecms aekrm markhwisaehngmxnthorsthi 1 phunakhniiptangpraeths emuxerimaerkphraecachalsthi 2 thrnghnunihmarkhwisaehngmxnthorsrwbrwmkxngthphinskxtaelndihmarwmkbfaykstriyniym aetklumphnthsyya phuimehndwykbkarplngphrachnmkhxngphraecachalsthi 1 aelahwadklwtxxnakhtkhxngnikayephrsibthieriyn Presbyterianism aelakhwammixisrakhxngskxtaelndphayitekhruxckrphphaehngxngkvs kthwayrachbllngkskxtaelndihaekphraecachalsthi 2 phraecachalsthrngthingmarkhwisiwkbstru aetmarkhwisaehngmxnthorsphuiprwmrwmkxngthharmacaknxrewymakhunfngidaelaimsamarthyutikartxsuid inthisudfayphnthsyyakidrbchychnatxmxnthorsthiyuththkarkharbisedl Battle of Carbisdale inrxsichremuxwnthi 27 emsayn kh s 1650 mxnthorsthukfayphnthsyyacbidhlngcaknnimnannkaelathuknatwipexdinbarah emuxwnthi 20 phvsphakhm rthsphaaehngskxtaelndtdsinihpraharchiwitmxnthors mxnthorsthukaekhwnkhxinwntxmaphraecachalsthi 2 thrngkhunfngskxtaelndthikarmthinmlthlmxeryechxremuxwnthi 23 mithunayn kh s 1650 aelathrnglngnaminphnthsyyaaehngchati kh s 1638 National Covenant aela khxtklngrahwangfayrthsphakbklumphnthsyya kh s 1643 Solemn League and Covenant thnthihlngcakthithrngkhunfng dwykhwamsnbsnunkhxngfaykstriyniymkhxngskxtaelndedimaelakxngthphkhxngklumphnthsyyaihmphraecachalsthi 2 kklayepnpyhasakhykhxngsatharnrthxngkvs inkartxbottxkhwammnkhngkhxngsatharnrthkhrxmewllkthingnaythharbangkhniwthiixraelndephuxprabpramkhwamimsngbthinntxipaelatnexngedinthangklbxngkvskhrxmewlledinthangipthungskxtaelndemuxwnthi 22 krkdakhm kh s 1650 aelatnghlklxmemuxngexdinbarah inplayeduxnsinghakhmthngechuxorkhaelakhwamkhadaekhlnesbiyngkthaihkhrxmewlltxngnathphthxyklbipyngthimnthidnbar kxngthphskxtaelndthirwbrwmphayitnayphledwid elsli David Leslie phyayamekhakhdkhwangkarthxythphaetkhrxmewllkexachnaidthiyuththkardnbaremuxwnthi 3 knyayn kh s 1650 hlngcaknnkhrxmewllcungekhayudexdinbarah aelainplaypinnkxngthphkhxngkhrxmewllkyudskxtaelndtxnitidekuxbhmdineduxnkrkdakhm kh s 1651 kxngthphkhxngkhrxmewllkkhampaknaefirthxxffxrthipyngemuxngiffaelaidrbchychnatxfayskxtaelndinyuththkarxinewxrkhiththing Battle of Inverkeithing emuxwnthi 20 krkdakhm kh s 1651 kxngthphtwaebbihmedinthphlwnghnaipyngephirth sungepnkarepidoxkasihphraecachalsnakxngthphskxtaelndedinthphlngitipyngxngkvs khrxmewllcungedinthphtamkxngthphskxtaelndodythingcxrc mxngkh dyukhaehngxalebxmarlthi 1 ihdaeninkarrnrngkhtxipinskxtaelndihesrcsin dyukhaehngxalebxmarlyudsetxrling emuxwnthi 14 singhakhmaeladndi emuxwnthi 1 knyayn pitxmainpi kh s 1652 kepnkarkahrabkartxtanthikraesnkrasaykhxngfaytxtanelk nxy thiekidkhun caknnphayit khxesnxshphaph Tender of Union kepnthitklngknwaskxtaelndmisiththithicamithinnginrthsphainlxndxnrwm 30 thinngodyminayphlmxngkhepnkhahlwngaehngskxtaelnd xngkvs aekikh aemwakxngthphtwaebbihmkhxngkhrxmewllcaidrbchychnatxkxngthphskxtaelndthidnbaraetkimsamarthhyudyngphraecachalsthi 2 inkaredinthphcakskxtaelndlukekhaipinxngkvs kxngthphfaykstriyniymhnkaredinthangipthangtawntkipinbriewnthiphusnbsnunfaykstriyniymhnaaennaetaemwacamiphumasmthbaetkepncanwnnxykwathiphraecachalsaelakxngthphskxtaelndkhxngphraxngkhkhadhwngiw inthisudkxngthphfaykstriyaelafayrthsphakekhapracnhnaknodykhrxmewllepnfaythiidrbchychnathiwusetxremuxwnthi3 knyayn kh s 1651 phraecachalscungcatxngesdchniaelainthisudkkhamipfrngesssungepnkarthaihsngkhramklangemuxngxngkvsyutilnginthisudxanacthangkaremuxng aekikhinrahwangsngkhramfayrthsphakxtngkhnakrrmathikartang phumixanacinkarbriharkarrnrngkh khnakrrmathikarchudaerkkhuxkhnakrrmathikarephuxkhwamplxdphyxngkvs English Committee of Safety thikxtngemuxeduxnkrkdakhminpi kh s 1642 thimismachikdwykn 15 caksmachikrthsphahlngcaknnkepnkhnakrrmathikarphnthmitrrahwangxngkvskbskxtaelndephuxtxtanfaykstriyniymthieriykwakhnakrrmathikarsxngxanackr Committee of Both Kingdoms thimaaethnkhnakrrmathikaraerkrahwang kh s 1644 thung kh s 1648 rthsphayubkhnakrrmathikarsxngxanackremuxkhwamepnphnthmitrsinsudlngaetfayxngkvsyngkhngphbpakntxipaelaklaymaepnkhnakrrmathikardarbiyehas Derby House Committee txmakhnakrrmathikarephuxkhwamplxdphyxngkvsthisxngkmaaethnkhnakrrmathikarhlngnikhwamsuyesiyinchiwitaelathrphysin aekikh yuththkarwusetxr sngkhramklangemuxngxngkvskechnediywknkbsngkhramxun insmynnthisingthikhrachiwitmakkwakaresiychiwitinkarrbkhux echuxorkh canwnphuesiychiwitthiaennxnthnghmdimepnthithrabaelakarpramancanwnphuesiychiwitinkarrbcakphuthiesiychiwitcakechuxorkhhruxcakkaryubtwlngkhxngprachakrepnsingthiepnipimidtwelkhphuesiychiwitrahwangchwngniepntwelkhthiimnaechuxthuxaetkmikarphyayamthipraeminknxyangkhraw 15 16 pramanknwainxngkvsmicanwnphuesiychiwitipxyangtathisud 100 000 khncakorkhphythiekiywkbsngkhramklangemuxngthngsamsngkhram bnthukthangprawtisastrklawwa 84 830 khnesiychiwitinsngkhramexng emuxnbrwmkbsngkhrambathhlwngxiksxngkhrngkepnpraman 190 000 khn 17 hlngcakkarphayaephthiwusetxraelwphraecachalsthi 2 ktxngphyayamesdchni inrahwangthangphraxngkhkthrngtxngthrngephchiyphyhlayxyangrwmthngkarsxnphraxngkhinophrngtnoxkhthiepneruxngrawthiepnthiruckkndi ecms aestnliy exirlaehngdarbiythi 7 thukpraharchiwit thharinkxngthphkhxngphraxngkhsngharip 3 000 rahwangyuththkaraelaxik 10 000 thukcbthiwusetxrhruxhlngcaknn thharxngkvsthithukcbthukeknthihepnthharinkxngthphtwaebbihmaelathuksngippracakarinixraelnd swnthharskxtaelndxik 8 000 khnthithukcbthukenrethsipniwxingaelnd ebxrmiwda aelaewstxindis ipthanganihkbecakhxngthidinthinninthanakrrmkrhni Indentured labour karsuyesiykhxngfayrthsphaepncanwnnxyemuxethiybkbfaykstriy 18 canwnphuesiychiwitinskxtaelndepnthiimnaechuxthuxyingkwakhxngxngkvs karesiychiwitrwmthngkaresiychiwitkhxngechlyinsngkhramthithukduaelinsphaphthichwyihesiychiwiterwkhun odypramanklawknwaechlysngkhram 10 000 thithukcbimrxdhruximmioxkasklbskxtaelnd 8 000 khnthukcbthnthihlngcakyuththkarwusetxraelathukenreths 19 swnkaresiychiwitcakechuxorkhthiekiywkbsngkhramimmisthiti aetthaepriybethiybkbsthitikaresiychiwitkhxngxngkvsaelwskxtaelndkkhngesiyphukhnipraw 60 000 khn 20 twelkhinixraelndklawknwaepntwelkhkhxng patihariykhxngkhwamkhidehnsxdaethrk aetthithrabaennxnkhuxkhwamesiyhayinixraelndepnkhwamesiyhayxnihyhlwng cakkarpramantwelkhodyesxrwileliym ephttiphuepnbidaaehngkarsuksaeruxngprachakr aemwacaepntwelkhthibnthukiwaetkepnaetephiyngkarsnnisthan aelaimrwmcanwnpraman 40 000 khnthicatxnghni incanwnnibangkhnkipepnthharinkxngthphtang bnaephndinihyyuorp khnathiklumxunthukkhayipepnkrrmkrhniinniwxingaelnd aelaewstxindis ipthanganihkbecakhxngthidinthinn phuthithukkhayihipthanganinniwxingaelndbangkhnkipprasbkhwamsaercmithanadikhun aetphuthiipewstxindiskipthangancntaykhathidin ephttipramanwafayopretsaetnt 112 000 khnesiychiwitephraaorkhrabad sngkhram aelakhwamxdxyak aelaormnkhathxlikxik 504 000 thuksnghar 21 twelkhniethakbwaxngkvssuyesiyprachakrpraman 3 7 skxtaelnd 6 aelaixraelnd 41 emuxnatwelkhmaphicarnaepriybethiybkbehtukarnrayxun aelwkthaihthrabwaepnkhwamesiyhayxnihyhlwng odyechphaaxyangyingsahrbixraelnd emuxethiybkbehtukarnkarsuyesiyxun echn khwamxdxyakkhrngihyinixraelnd Great Hunger rahwangpi kh s 1845 thungpi kh s 1852 thithaihixraelndsuyesiyprachakripepncanwnpraman 16 aelacaksngkhramolkkhrngthisxngemuxosewiytsuyesiyprachakripepncanwnpraman 16 22 phlpraoychn aekikhkhnathisngkhramthakhwamesiyhayihaekprachachnswnihyaetkmibangklumthiidtktwngphlpraoychnephimkhunihaektnexngrahwangkhristthswrrs 1640 odyechphaainklumphuthanganinlxndxnekiywkbkarkhnsngthangna 23 chumchnnxktwemuxngkyudimaelathrphyakrxun cakthidinhruxbanthithukyudcakfaykstriyniymaelaormnkhathxlik kmibangthiphuyudprbprungsphaphkhxngphuxyuxasyinthidinehlann 24 aetkarchwyphlpraoychnswnihykmasinsudlngemuxsngkhramsngbhruxinsmyfunfurachwngs aetkmibangthiepnkaridpraoychnxyangthawrphlkhxngsngkhram aekikh cxrc mxngkh dyukhaehngxalebxmarlthi 1 phraecachalsthi 2 aehngxngkvs sngkhramthaihxngkvs skxtaelnd aelaixraelndthaihxngkvsklayepnephiyngimkipraethsinthwipyuorpinkhnannthiimmiphramhakstriyepnpramukh hlngcakkarplngphrachnmkhxngphraecachalsthi 1 rthbalsatharnrthkhxngekhruxckrphphaehngxngkvs pkkhrxngxngkvs aelatxmaskxtaelnd aelaixraelnd tngaetpi kh s 1649 thung kh s 1653 aelacakpi kh s 1659 thung kh s 1660 rahwangsxngchwngrayaewlanirthsphakaebngtwepnfkepnfayaelamikhwamkhdaeyngknexngphayin inthisudoxliewxr khrxmewllkkhunpkkhrxngrthphuphithksinthanaecaphuphithks sungkethakbepnrabxbephdckar cnkrathngthungaekxsykrrminpi kh s 1658hlngcakkhrxmewll thungaekxsykrrm richardlukchaykekharbtaaehnngecaphuphithkstxcakbidaaetfaythharimmikhwamechuxthuxinsmrrthphaphkhxngrichard ecdeduxnhlngcaknnfaythharkpldrichard aelaineduxnphvsphakhm kh s 1659 faythharkeriykrthspharmphekhamaihm aetemuxekhamarthspharmphkthaehmuxnimmixairepliynaeplngtngaetpi kh s 1653 aelaptibtitxfaythhartamicchxb faythharcungyubrthspharmphineduxntulakhm kh s 1659 oxkasthibanemuxngcaklayepnxnathipity kephimmakkhunthukwnemuxfaythharexngkslaytwepnfkfayaetkaeykknphayitbrryakaskhxngkhwamimaennxnkhxngbanemux nayphlcxrc mxngkhphuepnkhahlwngkhxngskxtaelndphayitkhrxmewllphrxmdwykxngthphskxtaelndkykthphlngmacakskxtaelnd ephuxputhanginkarfunfurachwngsemuxwnthi 4 emsayn kh s 1660 tamphrarachprakasebrda Declaration of Breda phraecachalsthi 2 thrngwangenguxnikhtang inkaryxmrbklbmaepnphramhakstriyaehngrachxanackrxngkvs nayphlmxngkhkeriyk rthsphakhxnewnthchnthiekhaprachumknkhrngaerkemuxwnthi 25 emsayn kh s 1660 inwnthi 8 phvsphakhm kh s 1660 rthsphakhxnewnthchnkprakaswaphraecachalsthi 2 epnpramukhkhxngxngkvsthuktxngtamkdhmaytngaetkarplngphrachnmkhxngphraecachalsthi 1 ineduxnmkrakhm kh s 1649 phraecachalsesdcklbcakkarliphythiebrdainpraethsenethxraelndemuxwnthi 23 phvsphakhm kh s 1660 emuxwnthi 29 phvsphakhm kh s 1660 prachachnchawlxndxnkidmioxkastxnrbphraecachalsklbmaepnphramhakstriy phrarachphithirachaphieskekidkhunthiaexbbiewstminsetxr emuxwnthi 23 emsayn kh s 1661 ehtukarnkhrngniepnthiruckknwa karfunfurachwngsxngkvs aemwarachbllngkcaidrbkarfunfuaetkepnrachbllngkthiidrbkarxnumticakrthspha channsngkhramklangemuxngcungmiphlinkarwangphunthaninkarepliynruprabbkarpkkhrxngbanemuxnginxngkvsaelaskxtaelndepnrabxbrachathipityphayitrththrrmnuy rabbkarpkkhrxngniepnrakthankhxngkarkxtngrachxanackrbrietnihy txmainpi kh s 1707 phayitphrarachbyytishphaph thiepnkarpxngknkarptiwtiaebbesiyeluxdesiyenuxthimkcakhunemuxmikarepliynaeplngtamaebbchbbkhxngkarptiwtiinyuorphlngcakkarptiwticaokhaebng Jacobin inkhriststwrrsthi18 infrngessaelatxmakarptiwtikhxngckrphrrdinopeliynthi 1 sungmkcamiphlinkaryubkarpkkhrxngphramhakstriyodysineching odyechphaaemuxphramhakstriyxngkhtxmakddnrthsphacninthisudrthsphaktdsiniceluxkphukhrxngrachyihminpi kh s 1688 inkarptiwtixnrungorcn aelainpi kh s 1701 phrarachbyytiwadwykarsubrachsnttiwngs hlngcakkarkarfunfurachwngsfkfaykhxngrthsphakklayepnphrrkhkaremuxng thitxmaklayepnphrrkhthxri Tory and phrrkhwik Whig thimiprchyakarpkkhrxngthiaetktangkninkarmixiththiphltxkartdsinphrathykhxngphramhakstriythvsdiekiywkbsngkhramklangemuxngxngkvs aekikh phraecachalsthi 1 emuxtnkhriststwrrsthi 20 khwamkhidthangkaremuxngtrakulwikmixiththiphltxthvsdiekiywkbsngkhramklangemuxng thixthibaywasngkhramklangemuxngmisaehtumacakkhwamkhdaeyngrahwangrthspha odyechphaasphasamychn kbsthabnphramhakstriythimimaepnrxy pikxnhnann odyfayrthsphaepnphuphithkssiththikhxngprachachnchawxngkvskhnathirachwngsscwtphyayamkhyayxanacinkarepliynaeplngkdhmayodyimkhanungthungkdeknthhruxkhwamkrathbkraethuxntxprachachnsamuexl rxwsn kardienxr Samuel Rawson Gardiner nkprawtisastrkhnsakhykhxngwikesnxkhwamkhidthiepnthiniymknthiwasngkhramklangemuxngkhux karkbtephiywritn Puritan Revolution thiepnkartxtankarkdkhikhxngsthabnsasnakhxngrachwngsscwt aelaepnkarpuphunthansahrb karyxmrbkhwamtangsasna insmykhxngkarfunfurachwngs chann klumephiywritn cungsnbsnunphuthitxngkarrksapraephnidngediminkartxtanxanacxnimepnthrrmkhxngphramhakstriythvsdikhxngfaywikthukkhdkhanodythvsdikhxnglththimarksthiepnthiniymkninkhristthswrrs 1940 thitikhwamhmaykhxngsngkhramklangemuxngxngkvswaepnsngkhramkhxngkarptiwtikhxngchnchnklang tamkhwamehnkhxngnkprawtisastrmarkskhrisotefxr hill sngkhramklangemuxngepnsngkhramrahwangchnchn thiprakxbdwyfaykhunnangphuepnecakhxngthidinaelaphrrkhphwkaelasthabnsasna kbxikfayhnungthiprakxbdwychnchnphukhakhayaelaphuthakarxutsahkrrminemuxnghruxchnbthnxkemuxnghlwng phunathxngthinthimihwkawhna prachakrswnihythimioxkasthkethiyngknaelaekhaicthungkhwamkhdaeyngthiekidkhun inprawtisastrxngkvssngkhramklangemuxngekidkhunemuxchnchnklangthimithanadithimixanacthangsngkhmtdsinicyubelikrabbkarpkkhrxngkhxngrthbalxngkvsthimimatngaetyukhklang nxkcaknnwikkechnediywkblththimarksphbbthbaththangsasna inthangrabbprchyalththiephiywritnehmaasmkbchnchnklang channlththimarkscungthuxwaklumephiywritnkhuxchnchnklang inkhristthswrrs 1970 nkprawtisastrrunihmthimaruckknwalththikarsngkhaynaprawtisastr Historical revisionism khankbthngthvsdikhxngwikaelalththimarks 25 inpi kh s 1973 klumnkprawtisastrsngkhaynaphimphprachumbthniphnth thimakhxngsngkhrakaremuxngxngkvs The Origins of the English Civil War khxnrad rsesll brrnathikar nkprawtisastrehlaniimehndwykbthngthvsdikhxngwikaelalththimarksthiwasngkhramkaremuxngxngkvsepnsngkhramsngkhm esrsthkicrayayawkhxngsngkhmxngkvs aelaehnwaepnphlnganthiecaacngechphaachwngrayaewlaimkipikxnthisngkhramcaekidkhun aelahnklbipphicarnakhxekhiynkhxngexdewird ihd exirlaehngaekhlerndxnthi 1 nkprawtisastrrwmsmykhxngsngkhramklangemuxnginhnngsux prawtisastrkhxngkarptiwtiaelasngkhrakaremuxnginxngkvs History of the Rebellion and Civil Wars in England thiklumnkprawtisastrsngkhaynaehnwaepnexksarthiaesdngihehnthungkhwamaetkaeykkhxngfaytang thiimlngtwtamkarwiekhraahkhxngwikaelalththimarks echnklumephiywritnepntnthiimcaepnthicatxngepnphnthmitrkbfayrthspha hruxsmachikchnchnklanghlaykhnktxsuinfayniymkstriy khnathikhunnangecakhxngthidinipekhakhangfayrthspha channnkprawtisastrsngkhaynacungimthuxwathvsdikhxngthngwikaelalththimarksekiywkbsngkhramklangemuxngxngkvsepnthvsdithinaechuxthux 25 ecn oxlimeyxr Jane Ohlmeyer lathingkhawa sngkhramklangemuxngxngkvs ipichkhawa sngkhramkhxngsamxanackr Wars of the Three aela sngkhramklangemuxngbritich British Civil Wars odyihkhwamehnwakarsuksasngkhramklangemuxnginxngkvsimxaccaekhaicidcakkarsuksathimxngsngkhramniodykaraeykipcakkarepnswnhnungkhxngehtukarnxun inswnxun khxngshrachxanackraelaixraelnd phraecachalsthi 1 thrngmibthbathsakhythiimthrngepnaetephiyngphramhakstriyaehngrachxanackrxngkvs aelayngthrngmikhwamsmphnthkbprachachnklumxun inrachxanackrxun khxngphraxngkhdwy echnemuxthrngphyayambngkhbichhnngsuxswdmntxngkvsinskxtaelndsungthaihekidkartxtanxyangrunaerngcakklumphnthsyya cntxngthrnghnmaphungkxngthphinkarbngkhbich aelathaihthrngtxngeriykprachumrthsphaaehngxngkvsephuxekbphasiihmsahrbepnkhaichcayinkarrwbrwmkxngkalnginkarrnrngkh aetrthsphaaehngxngkvsimetmicthicathatamphrarachprasngkhinkarthiphraecachalscathrngichenginthiidmainkarrnrngkhtxsukbskxtaelndnxkcakcathrngyxmrbfngkharxngthukkhcakfayrthsphakxn phxmathungtnkhristthswrrs 1640 phraecachalskthrngthaihbanemuxngxyuinsphaphthipnpwn aelaimthrngyxmthatamkhxeriykrxngkhxngrthsphaimwacaepnfayid ephraathathrngyinyxmihfayhnungkethakbwathrngtxngepnstrukbfaytrngkham sungkhwamyungehyingtang ehlanimisamarththaihkarsuksasngkhramkaremuxngxngkvsepnaetephiyngsngkhramthiekiywkhxngkbxngkvsethannxangxing aekikh 1 0 1 1 Clodfelter Michael 2002 Warfare and Armed Conflicts A Standard Reference to Casualty and Other Figures 1500 1999 McFarland amp Co p 52 ISBN 978 0 7864 1204 4 phraecachalsthi 1 aehngxngkvs Spiritus temporis com subkhnemux 2008 04 24 xkhrbathhlwngwileliym lxd kh s 1573 kh s 1645 British civil wars co uk subkhnemux 2008 04 24 wileliym lxd Nndb com subkhnemux 2008 04 24 Jacob Abbott Charles I Chapter Downfall of Strafford and Laud bangkhnmistidi bangkhnesiyhw The Daily Telegraph 28 tulakhm kh s 2000 subkhnemux 2008 10 27 Check date values in date help Trevor Royle References pp 158 166 Trevor Royle References pp 170 183 Trevor Royle References pp 165 161 Trevor Royle References pp 171 188 11 0 11 1 Encyclopaedia Britannica Eleventh Edition Great Rebellion House of Lords Journal Volume 10 19 May 1648 Letter from L Fairfax about the Disposal of the Forces to suppress the Insurrections in Suffolk Lancashire and S Wales and for Belvoir Castle to be secured and the House of Lords Journal Volume 10 19 May 1648 Disposition of the Remainder of the Forces in England and Wales not mentioned in the Fairfax letter Sean Kelsey Sean The Trial of Charles I English Historical Review 2003 Volume 118 Number 477 Pp 583 616 Michael Kirby The trial of King phraecachalsthrng defining moment for our constitutional liberties speech to the Anglo Australasian Lawyers association on 22 January 1999 Matthew White Selected Death Tolls for Wars Massacres and Atrocities Before the 20th century British Isles 1641 52 Charles Carlton 1992 The Experience of the British Civil Wars Routledge ISBN 0 415 10391 6 Pages 211 214 Carlton Page 211 Trevor Royal Page 602 Trevor Royle Civil War The Wars of the Three Kingdoms 1638 1660 Pub Abacus 2006 first published 2004 ISBN 978 0 349 11564 1 p 602 Carlton page 212 Carlton Page 213 Carlton Page 214 Christopher O Riordan Self determination and the London Transport Workers in the Century of Revolution 1992 Christopher O Riordan Popular Exploitation of Enemy Estates in the English Revolution History vol 78 1993 pp 184 200 25 0 25 1 Glenn Burgess Historiographical reviews on revisionism an analysis of early Stuart historiography in the 1970s and 1980s The Historical Journal 33 3 1990 pp 609 627 duephim aekikhprawtisastrxngkvs rthsphaaehngxngkvs phraecachalsthi 1 aehngxngkvs oxliewxr khrxmewllxangxingphidphlad mipayrabu lt ref gt sahrbklumchux lower alpha aetimphbpayrabu lt references group lower alpha gt thisxdkhlxngkn hruximmikarpid lt ref gt ekhathungcak https th wikipedia org w index php title sngkhramklangemuxngxngkvs amp oldid 9436990, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม