fbpx
วิกิพีเดีย

คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย

พระเจ้าคาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย (15 ตุลาคม ค.ศ. 1893 – 4 เมษายน ค.ศ. 1953) ทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรโรมาเนียตั้งแต่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1930 กระทั่งสละราชบัลลังก์เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1940

คาโรลที่ 2
กษัตริย์คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย ค.ศ. 1918
พระมหากษัตริย์โรมาเนีย
ครองราชย์8 มิถุนายน ค.ศ. 1930 – 6 กันยายน ค.ศ. 1940
(10 ปี 90 วัน)
ก่อนหน้ามีไฮที่ 1
ถัดไปมีไฮที่ 1
นายกรัฐมนตรี
คู่อภิเษกซีซี ลัมบรีนอ
(แต่ง 1918; โมฆะ 1919)
เจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซและเดนมาร์ก
(แต่ง 1921; หย่า 1928)
มักดา ลูเปสคู
(แต่ง 1947)
พระราชบุตรคารอล ลัมบรีนอ
กษัตริย์มีไฮที่ 1 แห่งโรมาเนีย
พระนามเต็ม
คาโรล คาราอีมาน
ราชวงศ์โฮเอ็นโซลเลิร์น-ซิกมาริงเงิน
พระราชบิดากษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย
พระราชมารดาเจ้าหญิงมารีแห่งเอดินเบอระ
พระราชสมภพ25 ตุลาคม ค.ศ. 1893(1893-10-25)
ปราสาทเปเลช, ซีนาเอีย, ราชอาณาจักรโรมาเนีย
สวรรคต4 เมษายน ค.ศ. 1953 (59 พรรษา)
เอสตอริล, ริเวียราโปรตุเกส, โปรตุเกส
ฝังพระศพสุสานหลวงราชวงศ์บรากันซา, โปรตุเกส (1953)
มหาวิหารเคอร์ทีอาเดออาร์เกส, โรมาเนีย (2003)

กษัตริย์คาโรลเป็นพระราชโอรสพระองค์โตในกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 ได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อ ค.ศ. 1914 ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระอัยกา (กษัตริย์คาโรลที่ 1 ซึ่งเป็นพระอนุชาในพระอัยกา) พระองค์เป็นกษัตริย์ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์นแห่งโรมาเนียพระองค์แรกที่ประสูติในประเทศโรมาเนีย (พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหน้านั้นประสูติและเจริญพระชันษาในเยอรมนี และเสด็จมาโรมาเนียเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว) มกุฎราชกุมารคาโรลทรงใช้ภาษาโรมาเนียเป็นภาษาหลัก และเป็นสมาชิกพระราชวงศ์โรมาเนียพระองค์แรกที่ได้รับการอภิบาลตามศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ แห่งเขตอัครบิดรแห่งโรมาเนีย

พระองค์ทรงมีพระบุคลิกเจ้าสำราญ อันมีส่วนให้ต้องทรงเกี่ยวพันกับปัญหาในการอภิเษกสมรสตลอดรัชกาล และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงประสบกับเรื่องอื้อฉาวมากมาย นับตั้งแต่ที่ทรงอภิเษกสมรสกับซีซี ลัมบรีนอและเจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซและเดนมาร์ก พระองค์ยังทรงคงความสัมพันธ์กับมักดา ลูเปสคู ซึ่งทำให้พระองค์ต้องสละสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์ใน ค.ศ. 1925 และต้องเสด็จออกนอกประเทศ

ภายหลังการสวรรคตของกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ใน ค.ศ. 1927 และพระราชโอรสวัย 5 พรรษาของเจ้าชายคาโรลทรงครองราชย์สืบต่อเป็นกษัตริย์มีไฮที่ 1 เจ้าชายคาโรลเสด็จกลับโรมาเนียใน ค.ศ. 1930 และทรงยึดบัลลังก์จากพระราชโอรสและคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชสมัยของพระองค์โดดเด่นจากการปรับความสัมพันธ์กับนาซีเยอรมนี การยอมรับกฎหมายการต่อต้านยิว และการพัฒนาไปสู่ระบอบเผด็จการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1940 พระองค์ถูกบังคับให้เสด็จออกนอกประเทศโดยนายกรัฐมนตรีเอียน อันโตเนสคู โดยกษัตริย์มีไฮที่ 1 พระราชโอรสทรงกลับมาเป็นกษัตริย์แห่งโรมาเนียอีกครั้ง

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ

 
จากซ้าย: มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์, กษัตริย์คาโรลที่ 1 และเจ้าชายคาโรล ราว ค.ศ. 1905

เจ้าชายคาโรลประสูติที่ปราสาทเปเลซ ทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากสมเด็จพระอัยกา (พระอนุชาในพระอัยกา) คือ กษัตริย์คาโรลที่ 1 พระองค์พยายามกีดกันมกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ และมกุฎราชกุมารีมารี ไม่ให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระราชโอรส โรมาเนียในยุคต้นศตวรรษที่ 20 เป็นที่รู้จักในเรื่องมีศีลธรรมทางเพศแบบ "ละติน" ที่ผ่อนปรน กล่าวคือ ผู้หญิงสวยที่แต่งงานแล้วและคบหาชายรูปงามคนอื่นๆเป็นคนรัก กลับเป็นที่ยกย่องสรรเสริญว่าโก้เก๋และมีรสนิยม และเจ้าหญิงมารีแห่งเอดินเบอระ ซึ่งเป็นเจ้าหญิงอังกฤษที่ถูกอบรมเลี้ยงดูด้วยค่านิยมแบบวิกตอเรียน ในที่สุดก็ "กลายเป็นคนพื้นเมือง" ไปโดยปริยาย มกุฎราชกุมารีทรงมีเรื่องอื้อฉาวกับชายชาวโรมาเนียหลายคน ชายเหล่านั้นสามารถทำให้พระนางได้รับความพึงพอใจทางอารมณ์และทางเพศได้มากกว่ามกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์ ซึ่งพระองค์จะไม่พอพระทัยอย่างรุนแรงที่ทรงทราบว่าพระชายามีคนรักอื่น กษัตริย์คาโรลที่ 1 ผู้เข้มงวดทรงรู้สึกว่ามกุฎราชกุมารีมารีไม่เหมาะสมที่จะอภิบาลเจ้าชายคาโรล อันเนื่องจากทรงมีเรื่องอื้อฉาว อีกทั้งยังทรงเยาว์วัยเกินไป พระนางมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษาเท่านั้นในช่วงที่เจ้าชายคาโรลประสูติ ในขณะที่มกุฎราชกุมารีมารีทรงมองว่ากษัตริย์คาโรลเป็นคนเย็นชา เป็นทรราชที่โปรดการครอบงำพระชนม์ชีพของพระราชโอรสของพระนาง

นอกจากนี้ กษัตริย์คาโรลทรงไร้โอรสธิดา สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระมเหสีก็ไม่มีพระประสูติกาลอีกเลยนับตั้งแต่ ค.ศ. 1870 กษัตริย์และพระราชินีทรงปรารถนาพระราชโอรสตลอดพระชนม์ชีพ จึงอบรมเลี้ยงดูเจ้าคาโรลเสมือนพระราชโอรสของพระองค์เอง และทรงตามพระทัยเจ้าชายคาโรลในทุกเรื่องตามพระราชประสงค์ มกุฎราชกุมารเฟอร์ดินานด์มีพระบุคลิกค่อนข้างขี้อายและอ่อนแอ พระองค์ถูกบดบังด้วยเสน่ห์ของมกุฎราชกุมารีมารีที่ทรงกลายเป็นพระบรมวงศานุวงศ์โรมาเนียพระองค์หนึ่งที่ทรงเป็นที่รักมากที่สุด ในช่วงที่เจริญพระชันษา เจ้าชายคาโรลทรงรู้สึกละอายพระทัยที่พระราชบิดาของพระองค์ต้องถูกกดดันทั้งจากสมเด็จพระอัยกาและพระราชชนนีของพระองค์ พระชนม์ชีพวัยเยาว์ของเจ้าชายคาโรลเสมือนตกอยู่ในภาวะสงครามชักกะเย่อระหว่างกษัตริย์คาโรลและมกุฎราชกุมารีมารี ซึ่งทั้งสองพระองค์มีแนวคิดที่แตกต่างกันในการอบรมเลี้ยงดูเจ้าชายคาโรล มารี บูเคอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวโรมาเนีย ได้อธิบายถึงการต่อสู้กันระหว่างกษัตริย์คาโรลที่ 1 และมกุฎราชกุมารีมารี ว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบปรัสเซียดั้งเดิมในศตวรรษที่ 19 กับแนวคิดเสรีนิยม ความคิดสมัยใหม่และค่านิยมความเป็นอิสระทางเพศของ ผู้หญิงยุคใหม่ ที่เป็นตัวตนของมกุฎราชกุมารีมารี ดังนั้นลักษณะของมกุฎราชกุมารีมารีและกษัตริย์คาโรลที่ 1 จึงถ่ายทอดอย่างผสมผสานในตัวของเจ้าชายคาโรล โดยส่วนใหญ่การต่อสู้ระหว่างกษัตริย์คาโรลที่ 1 และมกุฎราชกุมารีมารีมักจะจบลงด้วยการตามพระทัยพระโอรสและการถูกกีดกันความรักจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

การอภิเษกสมรสช่วงแรกและเรื่องอื้อฉาว

 
มกุฎราชกุมารคาโรลแห่งโรมาเนียใน ค.ศ. 1918

ในช่วงวัยหนุ่มของเจ้าชายคาโรล พระองค์มีลักษณะเป็น "เพลย์บอย" ซึ่งเป็นคำที่ถูกกล่าวขานถึงพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพ กษัตริย์คาโรลที่ 1 ทรงเป็นกังวลที่เจ้าชายคาโรลทรงสนพระทัยเพียงแต่การสะสมแสตมป์ และเจ้าชายหนุ่มทรงใช้เวลามากมายไปกับการเสวยน้ำจัณฑ์ การจัดงานเลี้ยงและการมีความสัมพันธ์กับเหล่าสตรีมากหน้าหลายตาและทรงมีบุตรนอกสมรสอย่างน้อยสองคนกับนักเรียนสาววัยรุ่นที่ชื่อว่า มาเรีย มาร์ตินี ขณะที่เจ้าชายคาโรลมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา เจ้าชายคาโรลทรงกลายเป็นที่โปรดปรานของนักหนังสือพิมพ์แนวซุบซิบนินทาทั่วโลกซึ่งมักจะมีภาพถ่ายของพระองค์ลงข่าวที่ทรงจัดงานเลี้ยงและทรงดื่มน้ำจัณฑ์พร้อมกับมีสตรีอยู่ข้างกาย

กษัตริย์คาโรลที่ 1 ทรงต้องการให้เจ้าชายหนุ่มเรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมแบบปรัสเซีย โดยทรงมอบหมายให้เจ้าชายเข้าร่วมฝึกฝนในกองทหารปรัสเซียใน ค.ศ. 1913 ในช่วงที่ทรงปฏิบัติหน้าที่ในกองทหารปรัสเซียที่ 1 พระองค์ไม่ทรงบรรลุผลสำเร็จเท่าไร และเจ้าชายคาโรลยังทรงเป็น "เจ้าชายเพลย์บอย" ต่อไป โรมาเนียในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นประเทศที่นิยมฝรั่งเศสอย่างยิ่ง ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็นประเทศที่นิยมฝรั่งเศสที่สุดในโลกยุคนั้น ซึ่งชนชั้นนำชาวโรมาเนียหลงใหลทุกสิ่งที่เป็นแบบฝรั่งเศสและเชื่อว่าฝรั่งเศสเป็นโมเดลที่สมบูรณ์แบบในทุกเรื่อง เจ้าชายคาโรลทรงได้รับอิทธิพลนิยมฝรั่งเศสที่แพร่หลายในประเทศในระดับหนึ่ง แต่ตามคำบรรยายของมาร์กาเร็ต แซนคีย์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ระบุว่า เจ้าชายคาโรลทรง "รักลัทธิทหารแบบเยอรมัน" ทีทรงรับสืบทอดมากจากกษัตริย์คาโรลที่ 1 และทรงมีความคิดที่ว่า รัฐบาลตามประชาธิปไตยทั้งหมดล้วนเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ

 
มกุฎราชกุมารคาโรลขณะทรงฝึกทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทรงฝึกการใช้ปืนโชแชท

กษัตริย์คาโรลที่ 1 สวรรคตในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1914 และพระองค์ได้เป็นมกุฎราชกุมารคาโรล ในรัชสมัยของกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 พระราชบิดา ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน เจ้าชายคาโรลทรงเข้าร่วมเป็นสมาชิกวุฒิสภาในวุฒิสภาโรมาเนีย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญโรมาเนีย ค.ศ. 1866 รับรองให้พระองค์มีที่นั่งในวุฒิสภาเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในด้านความรักมากกว่าทักษะการเป็นผู้นำ มกุฎราชกุมารคาโรลอภิเษกสมรสครั้งแรกที่มหาวิหารเมืองออแดซา ยูเครน ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1918 กับโจอันนา มารี วาเลนตินา ลัมบรินอ (1898 - 1953) หรือ "ซีซี" บุตรสาวของนายพลชาวโรมาเนีย คือ คอนสแตนติน ลัมบรินอ ในความเป็นจริงแล้วมกุฎราชกุมารคาโรลทรงละทิ้งหน้าที่ทางทหารโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่ออภิเษกสมรสกับลัมบรินอ อันนำมาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ในช่วงนั้น การอภิเษกสมรสครั้งนี้ถูกประกาศว่าเป็นโมฆะในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1919 โดยศาลอิลฟอฟเคานท์ตี มกุฎราชกุมารคาโรลและซีซีประทับอยู่ด้วยกันแม้การอภิเษกสมรสจะเป็นโมฆะ ทรงมีโอรสหนึ่งพระองค์ร่วมกันคือ เมอร์เซีย เกรกอร์ คารอล ลัมบรินอ ซึ่งประสูติในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1920

มกุฎราชกุมารคาโรลอภิเษกสมรสอีกครั้งในเอเธนส์ ประเทศกรีซ วันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1921 กับเจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซและเดนมาร์ก (ในโรมาเนียทรงมีพระนามว่า มกุฎราชกุมารีเอเลนา) ทั้งสองพระองค์เป็นพระญาติกัน และเป็นพระปนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และทรงสืบเชื้อสายจากจักรพรรดินีโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซียเช่นเดียวกัน มกุฎราชกุมารีเฮเลนทรงรับรู้ถึงพฤติกรรมที่เสเพลของมกุฎราชกุมาคาโรลและเรื่องอื้อฉาวก่อนหน้านี้ แต่ก็มีการพิสูจน์ว่าพระนางทรงหลงรักมกุฎราชกุมารคาโรล ความปรารถนาที่อยู่เบื้องหลังการอภิเษกสมรสครั้งนี้คือการสร้างพันธมิตรทางราชวงศ์ระหว่างกรีซและโรมาเนีย บัลแกเรียมีกรณีพิพาททางดินแดนกับทั้งกรีซ โรมาเนียและยูโกสลาเวีย และชาติทั้งสามตัดสินใจที่จะใกล้ชิดกันในช่วงสมัยระหว่างสงครามเนื่องจากเกรงกลัวภัยจากบัลแกเรียร่วมกัน ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสหนึ่งพระองค์คือ เจ้าชายมีไฮ ประสูติเจ็ดเดือนหลังจากทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกัน มีการเล่าลือว่าเจ้าชายมีไฮทรงเป็นโอรสที่เกิดจากความสัมพันธ์ก่อนที่จะสมรสกัน เห็นได้ชัดว่าทั้งสองพระองค์ทรงใกล้ชิดในช่วงแรกๆ แต่ภายหลังทรงเริ่มแตกหักกัน การเสกสมรสของมกุฎราชกุมารคาโรลกับเจ้าหญิงเฮเลนกลายเป็นการสมรสที่ไร้ความสุข และมกุฎราชกุมารทรงมีความสัมพันธ์นอกสมรสบ่อยขึ้น เจ้าหญิงเฮเลนทรงพบว่าการโปรดที่จะเสวยน้ำจัณฑ์หนักและการจัดงานเลี้ยงของมกุฎราชกุมารมากเกินไปกว่าที่พระนางจะทรงยอมรับได้ มกุฎราชกุมารคาโรลไม่ทรงโปรดสตรีสูงศักดิ์ ซึ่งพระองค์ทรงพบว่าสตรีพวกนี้เข้มงวดเกินไปและเป็นพิธีการมากเกินไปกว่ารสนิยมของพระองค์ ทรงพึงพอใจสตรีคนธรรมดาสมัญมากกว่า พฤติกรรมนี้ทำให้พระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ทรงผิดหวังมาก มกุฎราชกุมารคาโรลทรงพบว่าผู้หญิงธรรมดาสามัญมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่พระองค์ปรารถนา เช่น ความเป็นกันเอง ความคล่องแคล่ว มีอารมณ์ขันและมีความน่าหลงใหล

เรื่องอื้อฉาวรอบตัวมักดา ลูเปสคู

 
จากซ้าย: มกุฎราชกุมารคาโรล, กษัตริย์เฟอร์ดินานด์และสมเด็จพระราชินีมารี ใน ค.ศ. 1922

ชีวิตเสกสมรสของทั้งสองพระองค์ล้มเหลวลงเมื่อมกุฎราชกุมารคาโรลทรงเริ่มมีความสัมพันธ์กับเอเลนา "มักดา" ลูเปสคู (1895-1977) เป็นสตรีผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกและเป็นบุตรสาวของเภสัชกรชาวยิวกับภริยาผู้นับถือโรมันคาทอลิก มักดา ลูเปสคูเคยเป็นอดีตภรรยาของนายทหารชื่อ เอียน ตัมปีอานู พรรคเสรีนิยมแห่งชาติซึ่งเป็นพรรคที่ครอบงำการเมืองโรมาเนียนั้นไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความสัมพันธ์ของมกุฎราชกุมารคาโรลและลูเปสคู ซึ่งสมาชิกพรรคมีการถกเถียงกันว่าพระองค์ไม่ทรงมีคุณสมบัติที่จะเป็นกษัตริย์ หนึ่งในบุคคลที่มีบทบาทนำในพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ คือ เจ้าชายบาร์บู สเตอบีย์ ผู้ซึ่งเป็นคนรักของสมเด็จพระราชินีมารี พระราชชนนีของพระองค์ และมกุฎราชกุมารคาโรลทรงเกลียดชังสเตอบีย์อย่างจริงจัง เนื่องจากทำพระราชชนกของพระองค์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติจากความสัมพันธ์ที่ไม่เปิดเผยกับสมเด็จพระราชินี และด้วยเหตุนี้จึงทรงเกลียดชังคนจากพรรคเสรีนิยมแห่งชาติไปด้วย เมื่อพรรคเสรีนิยมแห่งชาติทราบว่าองค์มกุฎราชกุมารทรงตั้งตนเป็นศัตรูกับพวกเขา ทางพรรคจึงดำเนินการหาทางกีดกันพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ การรณรงค์ที่ยืดเยื้อของพรรคเสรีนิยมแห่งชาตินั้นมีความเกี่ยวข้องน้อยมากในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมกุฎราชกุมารคาโรลและมักดา ลูเปสคู แต่จุดมุ่งหมายหลักของพรรคคือ ความพยายามกำจัด "ปืนใหญ่ที่หย่อนยาน" อย่างตัว มกุฎราชกุมารคาโรล เนื่องจากแน่ใจว่าถ้าพระองค์ได้ครองราชบัลลังก์ พระองค์จะต้องกีดกันไม่ให้พรรคเสรีนิยมแห่งชาติมีอำนาจเหนือการเมือง ดังที่พระมหากษัตริย์โฮเอ็นโซลเลิร์นเคยทำมาก่อน

ผลลัพธ์ของเรื่องอื้อฉาวนี้ มกุฎราชกุมารคาโรลจะต้องทรงสละสิทธิในราชบัลลังก์ในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1925 ให้แก่พระราชโอรสที่ประสูติแต่มกุฎราชกุมารีเฮเลน คือ เจ้าชายมีไฮ (ไมเคิล) กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 เสด็จสวรรคตในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1927 หลังจากทรงประชวรอย่างทุกข์ทรมานด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เจ้าชายไมเคิลทรงสืบราชบัลลังก์ต่อโดยอัตโนมัติหลังจากการสวรรคตของกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ สภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ถูกจัดตั้งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย เจ้าชายนิโคลัส พระอนุชาของเจ้าชายคาโรล, อัครบิดรแห่งโรมาเนีย มิรอน คริสเตอาและจีออร์เก บุซดูกาน ประธานศาลยุติธรรมสูงสุด เนื่องจากกษัตริย์มีไฮยังทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงเฮเลนทรงหย่าขาดจากเจ้าชายคาโรลเมื่อ ค.ศ. 1928 หลังจากทรงสละสิทธิในราชบัลลังก์ เจ้าชายคาโรลเสด็จไปประทับที่ปารีสซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่อย่างปกติกับมาดามลูเปสคู พรรคเสรีนิยมแห่งชาตินั้นส่วนใหญ่ได้รับพลังขับเคลื่อนจากตระกูลบราเตียนูที่ทรงพลังในการใช้อำนาจในพรรค หลังจากนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยมแห่งชาติคือ อียอน อี. เช. บราเตียนู ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ค.ศ. 1927 ตระกูลบราเตียนูไม่สามารถตกลงกันเรื่องผู้สืบทอดได้ อันนำมาซึ่งอำนาจของพรรคเสรีนิยมที่เริ่มเข้าสู่จุดเสื่อม ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปใน ค.ศ. 1928 พรรคเกษตรกรแห่งชาติ ภายใต้อียูลิว มานิว ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 78% เจ้าชายนิโคลัส ซึ่งเป็นประธานสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นั้นทรงเป็นมิตรไมตรีกับพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างมานิวจึงมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะยุบสภาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทูลเชิญเจ้าชายคาโรลให้เสด็จกลับมา

กลับคืนสู่ราชบัลลังก์

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้ารัฐสภาโรมาเนียในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1930

เจ้าชายคาโรลเสด็จกลับโรมาเนียในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1930 หลังจากเกิดการรัฐประหารที่ดำเนินการโดยนายกรัฐมนตรีอียูลิว มานิว จากพรรคเกษตรกรแห่งชาติ เจ้าชายคาโรลทรงได้รับการยอมรับจากรัฐสภาในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งโรมาเนียในวันถัดมา ในทศวรรษต่อมากษัตริย์คาโรลที่ 2 จะทรงพยายามเข้าไปมีบทบาททางสังคมการเมืองโรมาเนีย โดยครั้งแรกทรงใช้พระราชอำนาจจัดการความเป็นศัตรูกันระหว่างพรรคเกษตรกรและพรรคเสรีนิยมและฝ่ายต่อต้านชาวยิว ต่อมา (มกราคม ค.ศ. 1938) ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงพยายามจัดตั้งลัทธิบูชาบุคคลของพระองค์เองเพื่อต่อต้านอิทธิพลที่กำลังเติบโตขึ้นของพวกผู้พิทักษ์เหล็ก (Iron Guard) เช่นการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารยุวชน ที่เรียกว่า สตราจาเตรี (Straja Țării) ใน ค.ศ. 1935 สแตนลีย์ จี. เพนย์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน บรรยายถึงกษัตริย์คาโรลที่ 2 ว่าเป็น "กษัตริย์ที่น่าเหยียดหยาม เลวทรามและกระหายอำนาจที่สุด มากกว่าราชบัลลังก์แห่งอื่นใดในยุโรปศตวรรษที่ 20" พระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นตัวละครที่มีสีสันในสายตาของริชาร์ด คาเวนดิช นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ว่า

"ทรงฉลาดหลักแหลม ดื้อรั้นและบุ่มบ่าม ทรงรักในสตรี แชมเปญและความเร็ว กษัตริย์คาโรลมักจะทรงขับรถแข่งและเครื่องบิน และในวาระโอกาสสำคัญมักจะทรงปรากฏด้วยฉลองพระองค์แบบในละครเพลงซึ่งมีแพรแถบริบบิ้น สายสร้อยและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อจมเรือพิฆาตขนาดเล็ก"

มาเรีย บูเคอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวโรมาเนียได้เขียนถึงกษัตริย์คาโรลที่ 2 ว่า

"แน่นอน พระองค์ทรงโปรดความหรูหรา ทรงประสูติมาอย่างอภิสิทธิ์ชน พระองค์ไม่ทรงเคยคาดหวังเรื่องอื่นใดเลยนอกจากพระชนม์ชีพที่ยิ่งใหญ่สุขสบายดังที่ทรงพบเห็นจากราชสำนักอื่นๆในยุโรป แต่พระชนม์ชีพของพระองค์ก็ไม่ได้เป็นที่แปลกประหลาดหรือพิลึกพิลั่นเหมือนมลทินที่ไร้ค่าของนิโคไล เชาเชสกู พระองค์โปรดสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่แต่เรียบง่าย ซึ่งพระราชวังของพระองค์เป็นเครื่องยืนยันถึงเหตุนี้ กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงหลงใหลในลูเปสคู การล่าสัตว์และรถยนต์อย่างแท้จริง พระองค์ไม่ทรงเคยยอมสละสิ่งเหล่านี้เลย

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงโปรดที่จะเสนอภาพพระองค์เองแบบน่าประทับใจและเป็นที่นิยมต่อหน้าสาธารณชน พระองค์มักจะทรงสวมเครื่องแบบทางทหารพร้อมประดับเหรียญตราต่างๆ และทรงเป็นผู้อุปการะการกุศลทั่วดินแดน พระองค์ทรงโปรดการเดินขบวนสวนสนามและงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ และทรงเฝ้าดูการจัดกิจกรรมเหล่านี้อย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็ไม่ได้ใช้กิจกรรมเหล่านี้ในการแสดงพระราชอำนาจของพระองค์เหมือนดังที่เชาเชสกูใช้กิจกรรมดังกล่าวแสดงอำนาจในช่วงปลายสมัยของเขา"

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำประชานิยม พระองค์ทรงเสนอภาพพระองค์เองในฐานะผู้พิทักษ์ของสามัญชนทั่วไปเพื่อต่อต้านกลุ่มชนชั้นนำที่นิยมฝรั่งเศส (พวกสมาชิกพรรคเสรีนิยม) พระองค์เป็นภาพลักษณ์ที่ผสมผสานกันระหว่างชาตินิยมและอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ กษัตริย์คาโรลทรงมีแนวโน้มของการรวมความเป็นประชานิยม ลัทธิอำนาจนิยมและลัทธิชาตินิยมที่เกลียดกลัวชาวต่างชาติอย่างคลุมเคลือเข้าด้วยกัน และรวมถึงกลุ่มศาสนาออร์ทอดอกซ์ด้วย เมื่อมองโดยผิวเผินจะมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก แม้ว่าอุดมการณ์ของกษัตริย์คาโรลจะสร้างการปลุกเร้าน้อยกว่าอุดมการณ์ของคอร์เนลิว เซลีอา คอดรีอานู "ท่านผู้นำ" (ของกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก) ผู้ซึ่งมีความฉกาจฉกรรจ์ที่ถ่ายทอดข้อความลัทธิชาตินิยมสุดโต่งอันเกลียดชังชาวต่างชาติยิ่ง อีกทั้งมีความยึดมั่นในออร์ทอดอกซ์ที่เข้มข้นอย่างมีอาคมขลัง และมีแนวคิดต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรงสุดโต่ง เขาเป็นนักประชานิยมที่ดูถูกพวกคนชนชั้นนำทุกคนและเขาเป็นผู้เชิดชูความตายจากการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นประสบการณ์ที่สวยงาม น่าสรรเสริญ มีเกียรติและน่าหลงใหลที่สุดในโลก คอดรีอานูเป็นบุรุษผู้มีเสน่ห์ในการเชิดชูความตาย เขาได้ทำให้กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเป็นลัทธิเชิดชูความตายที่น่าสะพรึงกลัวและเขามักจะส่งสาวกของเขาไปปฏิบัติภารกิจฆ่าตัวตาย หลังจากก่อคดีฆาตกรรมแล้ว สาวกผู้พิทักษ์เหล็กจะไม่ค่อยพยายามหลบหนีและจะรอคอยให้ถูกจับแทนเพื่อที่จะได้ถูกประหารชีวิต หลายคนพบว่าเหล่ากองกำลังกลุ่มนี้เข้าสู่ลานประหารด้วยความปรีดาปราโมทย์ที่จะตาย และการประกาศเกี่ยวกับความตายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุขที่สุดในชีวิตของพวกเขา กษัตริย์คาโรลทรงยกย่องลัทธิบูชาความตายของคอดรีอานู โดยเขาอ้างว่าอัครทูตสวรรค์มีคาเอลได้มาแจ้งแก่เขาว่าพระเจ้าทรงเลือกเขาให้เป็นผู้ช่วยปกป้องโรมาเนีย ซึ่งเป็นหลักฐานว่าคอดรีอานูนั้น "จิตบ้าคลั่ง"

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 และนายกรัฐมนตรี นิโคไล ออร์กา ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และเป็นหนึ่งในกลุ่ม "คามาริลลา" ของกษัตริย์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1931

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงเข้าพิธีสาบานพระองค์เพื่อครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1923 เป็นคำสัญญาในตอนต้นรัชกาลว่าพระองค์จะไม่ทรงเข้าแทรกแซงการเมืองเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์เอง กษัตริย์คาโรลทรงเป็นนักฉวยโอกาสที่ไม่มีหลักการหรือค่านิยมอื่นใดไปมากกว่าความเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะปกครองโรมาเนีย และสิ่งที่ราชอาณาจักรต้องการคือการปกครองในรูปแบบเผด็จการที่ทันสมัย กษัตริย์คาโรลทรงปกครองผ่านกลไกอำนาจที่ไม่เป็นทางการคือ คามาริลลา ซึ่งประกอบด้วยเหล่าข้าราชบริพาร นักการทูตอาวุโส เจ้าหน้าที่ทางทหาร นักการเมืองและนักอุตสาหกรรม ซึ่งต้องพึ่งพาความโปรดปรานจากกษัตริย์ในการส่งเสริมอาชีพการงานของพวกเขา สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มคามาริลลา คือ มาดามลูเปสคู พระสนมของพระองค์เอง ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำทางการเมืองของกษัตริย์คาโรลที่สำคัญมาก นายกรัฐมนตรีมานิวเชิญกษัตริย์คาโรลสู่บัลลังก์เพียงเพราะความกลัวคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของยุวกษัตริย์มีไฮที่ 1 ถูกครอบงำโดยพรรคเสรีนิยมแห่งชาติซึ่งแน่ใจว่าพรรคเสรีนิยมจะชนะการเลือกตั้งเสมอ มาดามลูเปสคูนั้นไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวโรมาเนียเลย และนายกรัฐมนตรีมานิวทูลขอให้กษัตริย์คาโรลทรงคืนดีกับเจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซเพื่อเป็นราคาสำหรับที่เขาทวงคืนราชบัลลังก์ให้พระองค์ พระเจ้าคาโรลทรงปฏิเสธคำแนะนำของพระนางมารีที่ให้รับเจ้าหญิงเฮเลนกลับมา สมเด็จพระราชินีมารี พระราชชนนีของพระองค์ก็ทรงทูลขอให้นำเจ้าหญิงเฮเลนกลับมา แต่กษัตริย์คาโรลทรงผิดคำสัญญาและพระองค์ทรงเริ่มประทับอยู่กับมาดามลูเปสคูอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีมานิวจึงลาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการประท้วงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1930 และเขาจึงกลายเป็นศัตรูคนสำคัญของกษัตริย์คาโรล ในเวลาเดียวกันกับที่กษัตริย์คาโรลเสด็จกลับมา เกิดความแตกแยกภายในพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ จีออร์เก อี. บราเตียนูออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ชื่อ พรรคเสรีนิยมแห่งชาติ-บราเตียนู ซึ่งพร้อมที่จะร่วมงานกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แม้ว่าพระองค์จะทรงเกลียดชังฝ่ายพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ แต่ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์ของมานิวทำให้พระองค์ไม่มีทางเลือก ถึงกระนั้นพระองค์ทรงเพียงขอความช่วยเหลือจากฝ่ายเสรีนิยมแห่งชาติที่แตกฝ่ายออกมาแล้วเท่านั้นเพื่อต่อต้านพรรคเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งพรรคเกษตรกรยังคงยืนกรานให้กษัตริย์คาโรลขับไล่มาดามลูเปสคูและนำเจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซกลับมา การแสดงความเป็นศัตรูของพรรคเกษตรกรแห่งชาติทำให้กษัตริย์คาโรลที่ 2 ตัดสินพระทัยปลดคณะรัฐบาล และทรงเสนอให้แต่งตั้งคณะรัฐบาลจากกลุ่มเทคโนแครตที่นำโดย ศาสตราจารย์นิโคไล ออร์กา เป็นศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ที่สอนในมหาวิทยาลัยบูคาเรสต์ และเป็นกลุ่ม คามาริลลา ของกษัตริย์คาโรล ศาสตราจารย์ออร์กาสนับสนุนพระมหากษัตริย์ในช่วงความแตกแยกระหว่างพรรคเสรีนิยมแห่งชาติและพรรคเกษตรกร และขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงสั้นๆ ในช่วงที่เกิดปัญหานางลูเปสคู ด้วยเหตุนี้ออร์กาจึงกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับอียูลิว มานิวจากพรรคเกษตรกร หลังจากนั้นศาสตราจารย์ออร์กาจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับกษัตริย์คาโรลในการกำจัดอำนาจของคอดรีอานูและผู้พิทักษ์เหล็ก และนำมาซึ่งการถึงแก่อนิจกรรมของออร์กาจากการถูกสังหารใน ค.ศ. 1940

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 และ "ราชินีแดง" เอเลนา "มักดา" ลูเปสคู

"ราชินีแดง" เป็นคำที่ชาวโรมาเนียกล่าวถึงมักดา ลูเปสคู อันเนื่องมาจากเส้นผมสีแดงของเธอ เธอเป็นสตรีที่ถูกเกลียดชังมากที่สุดในโรมาเนียยุคทศวรรษที่ 1930 และเป็นสตรีที่ชาวโรมาเนียใช้คำของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ รีเบ็คกา เฮย์นส์ ที่เรียกเธอว่า "ศูนย์รวมของความชั่วร้าย" เจ้าหญิงเฮเลนทรงถูกมองว่าเป็นสตรีผู้ถูกทำให้มีมลทิน ส่วนลูเปสคูถูกมองว่าเป็น ผู้หญิงที่อันตรายร้ายแรงถึงหายนะ ผู้แย่งชิงคาโรลออกมาจากอ้อมกอดของเฮเลน มาดามลูเปสคูนับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่เนื่องจากบิดาของเธอเป็นชาวยิว เธอจึงถูกมองว่านับถือศาสนายูดายไปด้วย บุคลิกของลูเปสคูไม่ได้ทำให้เธอมีมิตรสหายมากนัก เนื่องจากเธอเป็นคนที่หยิ่งยโส รุกล้ำ จอมบงการ และโลภมากอย่างที่สุดด้วยรสนิยมที่ไม่รู้จักพอในการซื้อเครื่องสำอาง เสื้อผ้าและเครื่องเพชรราคาแพงจากฝรั่งเศส ในช่วงนั้นชาวโรมาเนียต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงปรนเปรอรสนิยมราคาแพงของลูเปสคูอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ประชาชนที่มักจะบ่นกันปากต่อปากว่า เงินพวกนั้นสามารถบรรเทาความยากจนในราชอาณาจักรได้ นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ความไม่พอใจในลูเปสคูมีมากขึ้นคือ การที่เธอเป็นนักธุรกิจหญิง เธอได้ใช้เส้นสายสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ในการทำธุรกรรมอันเป็นที่น่าสงสัย ซึ่งมักจะเป็นการถ่ายโอนเงินก้อนใหญ่ของภาครัฐเข้าสู่กระเป๋าธุรกิจของเธอ อย่างไรก็ตามในมุมมองของงานค้นคว้าร่วมสมัย การที่กล่าวว่ากษัตริย์คาโรลเป็นหุ่นเชิดของนางมักดา ลูเปสคูนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว และการกล่าวว่า มาดามลูเปสคูมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐโรมาเนียนั้นถือเป็นการกล่าวที่เกินความเป็นจริง ในช่วงแรกลูเปสคูให้ความสนใจกับการสร้างความร่ำรวยแก่เธอเองเพื่อตอบรับวิถีชีวิตที่ชอบความหรูหราของเธอ และเธอเองก็ไม่ได้มีความสนใจเรื่องการเมืองมากไปกว่าการปกป้องธุรกิจที่ทุจริตของเธอ ซึ่งต่างจากกษัตริย์คาโรล คือ มาดามลูเปสคูนั้นไม่สนใจนโยบายทางสังคมหรือนโยบายการต่างประเทศเลย และเธอก็เป็นคนที่หลงตัวเองมากเสียจนไม่รู้ว่าเธอนั้นเป็นที่เกลียดชังของสามัญชนคนธรรมดามากเพียงใด ในทางกลับกันกษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงสนพระทัยในกิจการของรัฐอย่างยิ่งและพระองค์ไม่เคยที่จะปฏิเสธความสัมพันธ์กับลูเปสคู แต่พระองค์ก็ทรงระวังไม่ให้เธอแสดงตนในที่สาธารณะมากเกินไป เพราะทรงรู้ว่านั่นจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียความนิยมไปด้วย

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงพยายามที่จะให้พรรคเสรีนิยมแห่งชาติ พรรคเกษตรกรแห่งชาติและกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก เข้าห้ำหั่นกัน เพื่อที่จะให้พระองค์บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้พระองค์เองเป็นผู้นำทางการเมืองโรมาเนียและกำจัดทุกพรรคฝักฝ่ายทั้งหมดในโรมาเนีย แต่ด้วยความเคารพต่อกองกำลังอัครทูตสวรรค์มิคาเอล กษัตริย์คาโรลที่ 2 ไม่ได้ตั้งพระทัยให้กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเข้ามามีอำนาจ แต่เพื่อให้กองกำลังนี้เป็นกองกำลังก่อกวนพวกพรรคเสรีนิยมแห่งชาติและพรรคเกษตรกร กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงต้อนรับอำนาจของกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 และทรงพยายามใช้กองกำลังมิคาเอลเป็นเครื่องมือของพระองค์ ในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1933 กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กทำการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ คือ เอียน จี. ดูคา อันนำมาซึ่งการคว่ำบาตรกลุ่มกองกำลังนี้ครั้งแรก การลอบสังหารนายกรัฐมนตรีดูคา เป็นคดีฆาตกรรมทางการเมืองรายแรกของโรมาเนียนับตั้งแต่ค.ศ. 1862 เหตุการณ์นี้สร้างความตกพระทัยแก่กษัตริย์คาโรลที่ 2 อย่างมาก เนื่องจากทรงเห็นความมุ่งมั่นของคอดรีอานูในความพยายามลอบสังหารนายกรัฐมนตรี และพระองค์มองว่า คอดรีอานูผู้ยึดมั่นแต่ตัวเองเริ่มที่จะควบคุมไม่ได้แล้ว และคอดรีอานูไม่ดำเนินการตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์ที่ต้องการให้เขาเป็นพลังที่เพียงแต่ก่อกวนพรรคเสรีนิยมแห่งชาติและพรรคเกษตรกรเท่านั้น ใน ค.ศ. 1934 เมื่อคอดรีอานูถูกนำตัวขึ้นศาลในคดีลอบสังหารนายกรัฐมนตรีดูคา เขาได้ขึ้นให้การว่าพวกชนชั้นนำที่นิยมฝรั่งเศสทั้งหมดเป็นพวกทุจริตและไม่คู่ควรกับการเป็นชาวโรมาเนีย และดูคาก็เป็นหนึ่งในนักการเมืองพรรคเสรีนิยมแห่งชาติที่ทุจริต เขาจึงสมควรตาย คณะลูกขุนตัดสินให้คอดรีอานูพ้นโทษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงกังวลมาก เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการแสดงสาส์นการปฏิวัติของคอดรีอานู ว่า ชนชั้นสูงทั้งหมดจะต้องถูกทำลายด้วยชัยชนะของมติมหาชน ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1934 หลังจากคอดรีอานูถูกปล่อยตัว กษัตริย์คาโรลและนายอำเภอเมืองบูคาเรสต์ กัฟริลา มารีเนสคู พร้อมกับมาดามลูเปสคู ร่วมกันวางแผนอย่างไม่เต็มใจที่จะลอบสังหารคอดรีอานูด้วยการวางยาพิษในกาแฟ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจยกเลิกแผนการ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1935 กษัตริย์คาโรลทรงเป้นผู้มีส่วนร่วมสำคัญใน "มิตรสหายของกองกำลัง" ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมผู้สนับสนุนกองกำลังเข้าด้วยกัน กษัตริย์คาโรลทรงหยุดสนับสนุนกองกำลังนี้ หลังจากที่คอดรีอานูเริ่มเรียกมาดามลูเปสคูว่า "โสเภณียิว" ภาพลักษณ์ของกษัตริย์คาโรลนั้นเป็น "กษัตริย์เพลย์บอย" เป็นภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ที่เจ้าสำราญ ซึ่งสนพระทัยในเหล่าสตรี การเสวยของมึนเมา การพนันและการจัดงานเลี้ยงมากกว่าการสนพระทัยในกิจการของรัฐ แต่กษัตริย์คาโรบนั้นสนพระทัยในกิจการของรัฐด้วย พระองค์จึงทรงถูกมองว่าเป็นจอมวางแผนและไม่ซื่อสัตย์ เพียงแค่สนพระทัยในการทำลายระบอบประชาธิปไตยเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์

ลัทธิบูชาบุคคล

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 และมกุฎราชกุมารมีไฮ พระราชโอรส ที่สภาอัสตรา วันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1936 เมืองบลาจ โรมาเนีย

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงสร้างลัทธิบูชาบุคคลของพระองค์เองเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีอย่าง "กษัตริย์เพลย์บอย" และเป็นการสร้างให้รัชกาลของพระองค์สามารถดำเนินต่อไปในภาพลักษณ์ที่พระมหากษัตริย์เป็นเหมือนพระคริสต์ คือ "เป็นผู้ถูกเลือก" โดยพระเจ้า เพื่อสร้าง "โรมาเนียใหม่" ในหนังสือ The Three Kings ค.ศ. 1934 ของซีซาร์ เปเทรสคู ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนเพื่อให้ผู้ที่มีการศึกษาน้อยได้อ่าน มีการเขียนอย่างเสมอๆว่า กษัตริย์คาโรลทรงเปรียบเสมือนพระเจ้า "บิดาของชาวบ้านและกรรมกรในแผ่นดิน" และเป็น "พระบิดาแห่งวัฒนธรรม" ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่มวลพระมหากษัตริย์ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น และการที่เสด็จกลับจากลี้ภัยที่ฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1930 ถูกเรียกว่าเป็นการ "สืบเชื้อสายลงมาจากสวรรค์" เปเทรสคูบรรยายภาพของกษัตริย์คาโรลว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจที่พระเจ้าประทานมาให้เพื่อเป็น "ผู้สร้างโรมาเนียอันนิจนิรันดร์" เป็นจุดเริ่มต้นของยุคทอง ดังที่เปเทรสคูยืนยันว่า การปกครองโดยพระมหากษัตริย์เป็นพระราชประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อชาวโรมาเนีย

กษัตริย์คาโรลทรงสนพระทัยในด้านเศรษฐศาสตร์เพียงเล็กน้อย แต่พระองค์ทรงมีที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก คือ มีไฮ มาโนอีเลสคู หนึ่งในกลุ่มคามาริลลา เขาเป็นผู้สนับสนุนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่สังคมโดยรวมโดยมีรัฐเข้าแทรกแซงระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กษัตริย์คาโรลทรงกระตือรือร้นอย่างมากในเรื่องปริมณฑลทางวัฒนธรรม ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลปะ และสนับสนุนภารกิจขององค์กรในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อส่งเสริมและศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมโรมาเนียในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กษัตริย์คาโรลทรงสนับสนุนการทำงานของนักสังคมวิทยาที่มีชื่อว่า ดีมิตรี กุสติ จากองค์กรสังคมสงเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ได้เชิญนักสังคมศาสตร์จากทุกสาขาวิชา เช่น ด้านสังคมวิทยา มนุษยวิทยา ชาติพันธ์วิทยา ภูมิศาสตร์ ดนตรีวิทยา แพทยศาสตร์และชีววิทยา มาทำงานร่วมกันใน "วิทยาศาสตร์แห่งชาติ" กุสตีนำทีมศาสตราจารย์จากทุกสาขาวิชาไปยังชนบท เพื่อศึกษาเรื่องราวของชุมชนทั้งหมด ในมุมมองดีๆ ช่วงฤดูร้อน จากนั้นจึงจัดทำรายงานจำนวนหลายร้อยหน้าเกี่ยวกับชุมชนเหล่านั้น

พระมหากษัตริย์ผู้ครอบงำ

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงจุมพิตกางเขนที่ถือโดยพระสังฆราชวิซาเรียน ปูอีอูแห่งสังฆมณฑลบูโกวินา ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1935

ตลอดช่วงสมัยระหว่างสงคราม โรมาเนียอยู่ในเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสและในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1926 มีการลงนามในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส การเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสพร้อมๆกับการลงนามเป็นพันธมิตรกับโปแลนด์ใน ค.ศ. 1921 กลุ่มสัมพันธมิตรน้อยได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรวมโรมาเนีย เชโกสโลวาเกียและยูโกสลาเวียไว้เป้นองค์กรร่วมกันถือเป็นหลักสำคัญของนโยบายด้านการต่างประเทศของโรมาเนีย ฝรั่งเศสเริ่มดำเนินการสร้างนโยบายต่างประเทศ คอร์โดน ซานีแตร์รี (Cordon sanitaire) หรือแปลว่า วงล้อมสุขาภิบาล เริ่มใน ค.ศ. 1919 เป็นการเปรียบเปรยว่าต้องการกีดกันเยอรมนีและสหภาพโซเวียตออกจากกิจการในยุโรปตะวันออก กษัตริย์คาโรลไม่ได้ทรงยกเลิกนโยบายต่างประเทศนี้นับต้งแต่ทรงราชย์ใน ค.ศ. 1930 ในตอนแรกพระองค์ยังทรงมองว่าการดำเนินนโยบายคอร์โดน ซานีแตร์รีอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สามารถรับประกันเอกราชของโรมาเนียได้ และด้วยเหตุนี้นโยบายด้านการต่างประเทศของพระองค์จึงมีรูปแบบสนับสนุนฝรั่งเศส ในช่วงที่โรมาเนียได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสนั้น ภูมิภาคไรน์ลันท์ของเยอรมนีถูกทำให้เป็นเขตปลอดทหารและมีการคิดในกรุงบูคาเรสต์เสมอว่าถ้าเยอรมนีกระทำการอื่นใดที่เป็นภัยคุกคามต่อยุโรปตะวันออก ฝรั่งเศสจะเข้ารุกรานดินแดนไรซ์ทันที ฝรั่งเศสเริ่มสร้างแนวแมกิโนต์ตามพรมแดนเยอรมนีใน ค.ศ. 1930 เริ่มมีความสงสัยเกิดขึ้นในบูคาเรสต์ว่าฝรั่งเศสจะเข้ามาช่วยเหลือโรมาเนียหรือไม่ถ้าเกิดเยอรมนีรุกรานเข้ามาใน ค.ศ. 1933 กษัตริย์คาโรลที่ 2 แต่งตั้งนิโคไล ตีตูเรสคูเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เขาเป็นผู้สนับสนุนอย่างเปิดเผยด้านนโยบายด้านความมั่นคงร่วมกันภายใต้องค์การสันนิบาตชาติ เขาได้เป็นรัฐมนตรีเพื่อดำเนินนโยบายความมั่นคงร่วมกันในการสร้างความมั่นคงของประเทศเพื่อป้องกันเยอรมนีและสหภาพโซเวียตออกจากยุโรปตะวันออก กษัตริย์คาโรลที่ 2 ไม่โปรดตีตูเรสคู และตีตูเรสคูก็ไม่ชอบกษัตริย์เช่นกัน แต่พระองค์ทรงต้องการให้เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเพราะทรงเชื่อว่าเขาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการผนึกกำลังอันเข้มแข็งกับฝรั่งเศสและเป็นการนำอังกฤษเข้ามาร่วมในกิจการยุโรปตะวันออกด้วยภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงร่วมกันตามบทบัญญัติของสันนิบาตชาติ

กระบวนการไกลช์ชัลทุง (การประสานงาน) ของพรรคนาซีเยอรมนี ไม่ได้ขยายแต่เพียงภายในดินแดนไรซ์เยอรมันเท่านั้น แต่ในความคิดของผู้นำพรรคนาซีมองว่าเป็นการขยายไปในระดับโลก ซึ่งพรรคนาซีจะเข้าควบคุมชุมชนชาวเยอรมันทั้งหมดทั่วโลก ฝ่ายด้านการต่างประเทศของพรรคนาซีนำโดยอัลเฟรท โรเซินแบร์คเริ่มดำเนินการตามแผนใน ค.ศ. 1934 ในความพยายามครอบครองโฟล์คดอยซ์ (volksdeutsch) หรือชุมชนชาวเยอรมันในโรมาเนีย นโยบายนี้ทำให้กษัตริย์คาโรลทรงพิโรธอย่างมาก ทรงมองว่าเรื่องนี้เป็นการแทรกแซงโดยเยอรมันต่อกิจการภายโรมาเนียอย่างรุนแรง ในขณะที่โรมาเนียมีพลเมืองโฟล์คดอยซ์จำนวนครึ่งล้านในทศวรรษที่ 1930 แผนการยึดครองชุมชนเยอรมันในโรมาเนียของพรรคนาซีสร้างความกังวลพระทัยแก่กษํตริย์คาโรลมาก ทรงกลัวว่าชนกลุ่มน้อยเยอรมันจะกลายเป็นกองทหารที่ห้า (fifth column; คำเปรียบเปรยว่าคือ กลุ่มคนจำนวนน้อยที่คอยบ่อนทำลายคนกลุ่มใหญ่จากภายใน) นอกจากนี้ตัวแทนของโรเซินแบร์คยังเข้ามาติดต่อกับกลุ่มชาวโรมาเนียฝ่ายขวาจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคคริสเตียนแห่งชาติที่นำโดยอ็อกเตเวียน โกกา และมีความเชื่อมโยงเล็กน้อยกับผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก คอร์เนลิว เซลีอา คอดรีอานู ซึ่งเหตุนี้สร้างความไม่พอพระทัยแก่กษัตริย์คาโรลมาก เกอร์ฮาร์ด ไวน์แบร์ค นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันได้เขียนเกี่ยวกับมุมมองด้านนโยบายต่างประเทศของกษัตริย์คาโรลว่า "พระองค์ทั้งชื่นชมและเกรงกลัวเยอรมนี แต่ทรงกลัวและเกลียดชังสหภาพโซเวียต" ในความเป้นจริงแล้ว ผู้นำคนแรกที่เยือนนาซีเยอรมนี (แม้ว่าจะยังไม่ได้มีตำแหน่งเป็นทางการที) คือ กยูลา ก็อมโบส นายกรัฐมนตรีฮังการี ซึ่งเดินทางเยือนเบอร์ลินในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1933 เพื่อลงนามในสนธิสัญญาเศรษฐกิจเพื่อนำพาฮังการีเข้าสู่อิทธิพลของเยอรมนี เหตุการณ์นี้ทำให้กษัตริย์คาโรลต้องทรงตื่นตระหนกอย่างมาก ตลอดช่วงสมัยระหว่างสงคราม รัฐบาลบูดาเปสต์ ฮังการีปฏิเสธที่จะยอมรับพรมแดนตามสนธิสัญญาตริอานองและเรียกร้องสิทธิในทรานซิลเวเนียของโรมาเนีย กษัตริย์คาโรลก็ทรงเป็นเหมือนกลุ่มชนชั้นนำโรมาเนียที่กังวลต่อความคาดหวังของพันธมิตรของรัฐที่เปลี่ยนแปลงใหม่ที่ปฏิเสธความชอบธรรมของระเบียบสากลที่เขียนด้วยฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วง ค.ศ. 1918-20 ซึ่งระบุว่าเยอรมนีจะสนับสนุนการอ้างสิทธิในดินแดนทรานซิลเวเนียของฮังการี ฮังการีมีข้อพิพาททางดินแดนกับโรมาเนีย ยูโกสลาเวียและเชโกสโลวาเกีย ซึ่งทั้งสามชาตินี้เป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ดังนั้นความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ฮังการีจึงเป็นไปได้ไม่ค่อยดีในช่วงสมัยระหว่างสงครามและดูเหมือนว่าฮังการีจะไปเข้าหาศัตรูของฝรั่งเศสอย่างเยอรมนี

ใน ค.ศ. 1934 ตีตูเรสคูมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสนธิสัญญาบอลข่านซึ่งเป็นการรวมโรมาเนีย ยูโกสลาเวีย กรีซและตุรกีเป็นพันธมิตรกันเพื่อต่อต้านนโยบายฟื้นคืนดินแดนของบัลแกเรีย สนธิสัญญาบอลข่านมีจุดประสงค์เพื่อเป็นจุดแรกเริ่มของการเป็นพันธมิตรกันของรัฐที่ต่อต้านระบบรัฐปรับปรุงใหม่ของยุโรปตะวันออก ดังเช่น ฝรั่งเศสและโรมาเนียเป็นพันธมิตรกับทั้งเชโกสโลวาเกียและโปแลนด์ แต่ด้วยข้อพิพาทเทสเชนในไซลีเซีย รัฐบาลวอร์ซอกับรัฐบาลปรากจึงเป็นศัตรูกัน เช่นเดียวกับที่นักการทูตแห่งเกดอร์เซย์ ปารีสระบุว่า กษัตริย์คาโรลทรงขุ่นเคืองกับข้อพิพาทระหว่างโปแลนด์-เชโกสโลวาเกีย พระองค์ทรงมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระมากที่รัฐยุโรปตะวันออกที่ต่อต้านระบบรัฐปรับปรุงใหม่จะมีปัญหากันเองในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานที่อำนาจของเยอรมนีและโซเวียตกำลังเพิ่มขึ้นมาก หลายครั้งที่กษัตริย์คาโรลทรงพยายามเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเทสเชนแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการยุติความบาดหมางระหว่างโปแลนด์และเชโกสลาเวีย ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 พระองค์สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองนิยมฝรั่งเศส เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส หลุยส์ บาร์ทูเยือนบูคาเรสต์เพื่อพบปะกับเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกสัมพันธมิตรน้อยคือ โรมาเนีย ยูโกสลาเวียและเชโกสโลวาเกีย กษัตริย์คาโรลทรงจัดงานเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โตเพื่อต้อนรับบาร์ทูเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการกระชับความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-โรมาเนีย ในฐานะประเทศ "พี่น้องละติน" ทั้งสอง เคานท์ฟรีดริช-แวร์เนอร์ กราฟ ฟอน เดอ ชูเลนบวร์ก ทูตเยอรมันในโรมาเนีย วิจารณ์อย่างน่าขยะแขยงรายงานไปยังเบอร์ลินว่า ชนชั้นนำทุกคนในโรมาเนียเป็นพวกคลั่งฝรั่งเศสอย่างแก้ไม่หาย ซึ่งมักจะบอกเสมอว่า โรมาเนียจะไม่ทรยศต่อ "พี่สาวละติน" ฝรั่งเศส

 
พระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์คาโรลที่ 2 ค.ศ. 1937

ในเวลาเดียวกัน กษัตริย์คาโรลยังทรงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาความสัมพันธ์โรมาเนีย-เยอรมนี ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลเบอร์ลินยอมถอนการสนับสนุนรัฐบาลบูดาเปสต์ในความพยายามทวงคืนดินแดนทรานซิลเวเนีย ในช่วงที่กษัตริย์คาโรลทรงมุ่งมั่นในเรื่องเยอรมนี แต่เศรษฐกิจโรมาเนียอยู่ในความสิ้นหวัง ช่วงก่อนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โรมาเนียเป็นประเทศที่ยากจนอย่างยิ่งและในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจก็รุมเร้าโรมาเนียอย่างหนัก โรมาเนียไม่สามารถส่งออกสินค้าได้มากเนื่องจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นจากรัฐบัญญัติภาษีสมูท-ฮอว์ลีย์ของอเมริกาใน ค.ศ. 1930 ซึ่งนำไปสู่ความตกต่ำของค่าสกุลเงินลิวโรมาเนีย เงินสำรองต่างประเทศของโรมาเนียถูกใช้อย่างหมดสิ้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 รัฐมนตรีคลังโรมาเนีย วิกตอร์ สลาเวสคู เยือนปารีสเพื่อขอให้ฝรั่งเศสช่วยอัดฉีดเงินหลายล้านฟรังก์เข้าสู่คลังของโรมาเนียและช่วยลดอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้าโรมาเนีย เมื่อฝรั่งเศสปฏิเสธคำขอทั้งสองของโรมาเนีย ทำให้กษัตริย์คาโรลที่ 2 ไม่พอพระทัยอย่างมาก พระองค์ทรงเขียนในพระอนุทินส่วนพระองค์ว่า "พี่สาวละติน" ฝรั่งเศสทำหน้าที่เป็นพี่สาวของโรมาเนียได้น้อยลง ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1936 เมื่อวิลเฮล์ม ฟาบริเซียสได้รับการแต่งตั้งจากเยอรมนีให้มาเป้นทูตที่โรมาเนีย รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีคือ ค็อนสตันทีน ฟ็อน น็อยราทได้เตือนฟาบริเซียสว่า โรมาเนียเป็นประเทศที่ไม่เป็นมิตร เป็นรัฐนิยมฝรั่งเศส แต่ก็แนะนำว่าอาจจะมีโอกาสในการเปิดการค้ากับโรมาเนียเพิ่มขึ้นเพื่อให้หลุดจากวงโคจรของฝรั่งเศส น็อยราทชี้นำฟาบริเซียสอีกว่า แม้ว่าโรมาเนียจะไม่ใช้มหาอำนาจทางทหาร แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเยอรมนีคือน้ำมันของโรมาเนียเป็นสิ่งจำเป็น

กษัตริย์คาโรลมักจะสนับสนุนให้พรรคการเมืองแตกแยกกันเพื่อเอื้อแก่พระราชอำนาจของพระองค์ ใน ค.ศ. 1935 อเล็กซานดรู ไวดา-วอโวด อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเกษตรกรแห่งชาติ เขาเป็นผู้นำสายทรานซิลเวเนีย ได้แยกพรรคออกมาตั้งพรรคแนวโรมาเนียโดยกษัตริย์คาโรลทรงให้การสนับสนุน ในเวลาเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงพัฒนาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาร์มานด์ คาลีเนสคู ผู้นำพรรคเกษตรกรแห่งชาติผู้ทะเยอทะยาน ในการก่อตั้งฝักฝ่ายที่ต่อต้านอียูลิว มานิว ศัตรูของกษัตริย์คาโรล และกษัตริย์คาโรลทรงโปรดให้พรรคเกษตรกรร่วมมือกับสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง ในขณะเดียวกันกษัตริย์คาโรลทรงสนับสนุนกลุ่ม "เสรีนิยมหนุ่ม" ที่นำโดยจีออร์เก ตาตาเรสคู เพื่อลดพลังอำนาจของตระกูลบราเตียนูที่ครอบงำพรรคเสรีนิยมแห่งชาติมานาน เป็นที่ชัดเจนว่ากษัตริย์คาโรลเต็มพระทัยที่จะอนุญาตให้ "เสรีนิยมหนุ่ม" ภายใต้ตาตาเรสคูเข้ามามีอำนาจ แต่ทรงกีดกันพรรคเสรีนิยมสายหลักของดีนู บราเตียนูจากอำนาจ กษัตริย์คาโรลไม่ทรงลืมเลือนว่าพวกตระกูลบราเตียนูได้ดำเนินการถอดพระองค์ออกจากสิทธิในราชบัลลังก์ในช่วงทศวรรษที่ 1920

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 ผู้นำกองกำลังอัครทูตสวรรค์มิคาเอล ซึ่งก็คือ คอร์เนลิว เซลีอา คอดรีอานู ผู้ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรของกษัตริย์คาโรลมาโดยตลอด ได้ดำเนินการโจมตีพระมหากษัตริย์ครั้งแรกโดยตรง เมื่อเขาได้ระดมพลสาวกออกมาเดินขบวนหน้าพระราชวัง เพื่อต่อต้านกษัตริย์คาโรลในกรณีที่มีการจับกุมนายแพทย์ดีมิตรี เกรอตา ซึ่งเขียนบทความเปิดเผยธุรกิจทุจริตของมาดามลูเปสคู คอดรีอานูปราศรัยหน้าพระราชวังด่าทอลูเปสคูว่าเป็น "โสเภณียิว" ผู้ปล้นชิงประเทศโรมาเนียให้มืดบอด การกระทำเช่นนี้เป็นการหมิ่นพระเกียรติของกษัตริย์คาโรล พระองค์จึงมีคำสั่งไปยังหนึ่งในสมาชิกคามาริลลา คือ กัฟรีลา มารีเนสคู ผู้กำกับการตำรวจบูคาเรสต์ ส่งตำรวจออกไปสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กด้วยความรุนแรง

ข้อสงสัยเกี่ยวกับท่าทีของฝรั่งเศสที่จะเข้ามาอาสาป้องกันการรุกรานจากเยอรมนีนั้นเริ่มเป็นที่น่ากังขามากขึ้นเมื่อมีการส่งทหารกลับเข้าไรน์ลันท์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 กองทัพเยอรมันเริ่มสร้างแนวซีคฟรีทตลอดแนวพรมแดนฝรั่งเศส และมีการพิจารณาว่าเริ่มมีความเป็นไปได้น้อยที่ฝรั่งเศสจะบุกเข้าไปในเยอรมนีตะวันตกถ้าเยอรมนีเข้าโจมตีรัฐอื่นตามวงล้อมคอร์โดน ซานีแตร์รี บันทึกจากฝ่ายการต่างประเทศของอังกฤษในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ระบุว่า ชาติหนึ่งชาติใดในโลกที่ควรจะเข้าแทรกแซงเยอรมนีจากเหตุการณ์การส่งทหารกลับเข้าไรน์ลันท์ ชาตินั้นที่ควรเข้าร่วมลงมิตในสันนิบาตชาติคือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, เชโกสโลวาเกีย, สหภาพโซเวียตและโรมาเนีย ผลจากเหตุการณ์การส่งทหารกลับเข้าไรน์ลันท์นั้นไม่มีฝ่ายใดเข้าแทรกแซงหรือประณามเยอรมนีอย่างชัดเจน กษัตริย์คาโรลทรงเริ่มกลัวว่าประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสในยุโรปตะวันออกจะเป็นรายต่อไป พระองค์จึงพยายามติดต่อกับเยอรมนีเพื่อรักษาเอกราชของโรมาเนีย ด้วยที่โรมาเนียเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสมาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 กษัตริย์คาโรลทรงพยายามเพิ่มความสัมพันธ์กับเยอรมนี

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 พร้อมประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกีย แอ็ดวาร์ต แบแน็ช (คนที่ 2 จากซ้าย), เจ้าชายพอล ผู้สำเร็จราชการแห่งยูโกสลาเวีย (ลำดับที่ 4 จากซ้าย), มกุฎราชกุมารมีไฮ (ลำดับที่ 1 จากซ้าย) และเจ้าชายนิโคลัสแห่งโรมาเนีย (ลำดับที่ 5 จากซ้าย) ในกรุงบูคาเรสต์ ค.ศ. 1936

ในปัญหาการเมืองภายในประเทศ เดือนฤดูร้อน ค.ศ. 1936 คอดรีอานูและมานิวได้จับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านพระราชอำนาจที่เพิ่มขึ้นของพระมหากษัตริย์ และรัฐบาลพรรคเสรีนิยมแห่งชาติของตาตาเรสคู ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1936 กษัตริย์คาโรลทรงปลดตีตูเรสคูออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 กษัตริย์คาโรลทรงส่งนักการเมืองที่ทรยศพรรคเสรีนิยมแห่งชาติคือ จีออร์เก จี. บราเตียนูไปเยอรมนีเพื่อพบกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์, ค็อนสตันทีน ฟ็อน น็อยราท รัฐมนตรีต่างประเทศ และแฮร์มัน เกอริง เพื่อแจ้งว่าโรมาเนียต้องการสร้างความสัมพันธ์กับจักรวรรรดิไรซ์ กษัตริย์คาโรลทรงโล่งพระทัยมากเมื่อบราเตียนูรายงานว่า ฮิตเลอร์, น็อยราทและเกอริง ให้ความเชื่อมั่นว่าจักรวรรดิไรซ์ไม่สนใจที่จะสนับสนุนการฟื้นคืนดินแดนของฮังการี และจะยืนกรานเป็นกลางในกรณีพิพาททรานซิลเวเนีย การรณรงค์ของรัฐบาลเบอร์ลินที่ไม่มีสิ่งใดมาผูกมัดถือเป็นการโค่นล้มระบบระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นจากสนธิสัญญาแวร์ซายที่แยกจากการรณรงค์ของบูดาเปสต์ เพื่อโค่นล้มระบบที่จัดตั้งขึ้นมาจากสนธิสัญญาตริอานง กลายเป็นข่าวที่สร้างความยินดีกับกษัตริย์คาโรล ซึ่งมันเป็นเรื่องการสร้างเกรตเทอร์เยอรมนีไม่ใช่เกรตเทอร์ฮังการี เกอริงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการแผนสี่ปี ซึ่งร่างมาขึ้นเพื่อให้เยอรมนีพร้อมเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบใน ค.ศ. 1940 โดยให้ความสนใจในน้ำมันของโรมาเนียมากเป็นพิเศษและเกอริงได้พูดคุยกับบราเตียนูถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยุคใหม่ของเยอรมนีและโรมาเนีย เยอรมนีแทยไม่มีน้ำมันเป็นของตนเองและตลอดช่วงจักรวรรดิไรซ์ที่สามการควบคุมแหล่งน้ำมันของโรมาเนียจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของนโยบายต่างประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ กษัตริย์คาโรลทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งแผนการสนับสนุนพันธมิตรใหม่ระหว่างฝรั่งเศสและเชโกสโลวาเกียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1937 ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างฝรั่งเศสกับพันธมิตรน้อยอย่างเป็นทางการและเป็นแผนที่มองเห็นความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างฝรั่งเศสกับพันธมิตรในยุโรปตะวันออก เนื่องด้วยทรัพยากรน้ำมันทำให้ฝรั่งเศสยังคงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับโรมาเนีย และด้วยกำลังคนของโรมาเนียเป็นทางหนึ่งที่สามารถชดเชยกำลังคนชาวฝรั่งเศสที่มีน้อยกว่าได้ เพื่อต่อสู้กับกำลังคนของเยอรมัน (ฝรั่งเศสมี 40 ล้านคนในขณะที่เยอรมนีมี 70 ล้านคน) ยิ่งไปกว่านั้นมีการคาดเดากันในปารีสว่าเยอรมนีจะทำการรุกรานเชโกสโลวาเกีย ฮังการีจะโจมตีเชโกสโลวาเกียวเพื่อยึดสโลวาเกียและรูเทอเนีย นักวางแผนทางทหารของฝรั่งเศสจึงมองว่าโรมาเนียและยูโกสลาเวียจะมีบทบาทในการทำสงครามรุกรานฮังการีเพื่อลดกำลังพลที่จะเข้าไปโจมตีเชโกสโลวาเกีย

จนถึง ค.ศ. 1940 นโยบายต่างประเทศของกษัตริย์คาโรลมีความเอนเอียงอย่างไม่มั่นคงระหว่างคงพันธมิตรดั้งเดิมกับฝรั่งเศสหรือสร้างความสัมพันธ์กับพลังอำนาจใหม่อย่างเยอรมนี ในฤดูร้อน ค.ศ. 1936 กษัตริย์คาโรลทรงแจ้งไปยังทูตฝรั่งเศสว่าถ้าเยอรมนีรุกรานเชโกสโลวาเกีย พระองค์จะไม่ประสงค์ให้กองทัพแดงโซเวียตเดินทัพผ่านโรมาเนีย แต่ก็ทรงเต็มพระทัยที่จะเพิกเฉยถ้าโซเวียตต้องการผ่านน่านฟ้าโรมาเนียไปยังเชโกสโลวาเกีย ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1937 สนธิสัญญาทางเศรษฐกิจเยอรมนี-โรมาเนียได้ถูกลงนามภายใต้เขตอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเยอรมนี แต่ก็ทำให้ชาวเยอรมันไม่พอใจเพราะไม่ได้มีการบรรจุแผนการความต้องการน้ำมันจำนวนมหาศาลของเยอรมนีในการใช้ในเครื่องจักรการสงครามขนาดใหญ่ในสนธิสัญญา ค.ศ. 1937 ดูเหมือนว่าเยอรมนีจะมีความต้องการน้ำมันอย่างไม่สิ้นสุด และไม่มีการลงนามในข้อตกลง ค.ศ. 1937 ซึ่งชาวเยอรมันเรียกร้องสนธิสัญญาเศรษฐกิจฉบับใหม่ในค.ศ. 1938 ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการลงนามในสนธิสัญญาเยอรมนี-โรมาเนีย ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1937 กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงต้อนรับยอน เดลโบส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เพื่อแสดงว่าพันธมิตรระหว่างโรมาเนียกับฝรั่งเศสยังคงอยู่

การเลือกตั้ง ค.ศ. 1937 และรัฐบาลของโกกา

 
คอร์เนลิว เซลีอา คอดรีอานู พร้อมกับเหล่าสาวกหรือผู้ติดตามจากกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กใน ค.ศ. 1937

ในฤดูร้อนใน ค.ศ. 1937 กษัตริย์คาโรลเสด็จปารีส พระองค์กล่าวต่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ยีวอน เดลโบส ว่า ระบอบประชาธิปไตยของโรมาเนียคงถึงจุดสิ้นสุด ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1937 คอร์เนลิว เซลีอา คอดรีอานูแห่งกองกำลังอัครทูตสวรรค์มิคาเอลได้กล่าวสุนทรพจน์ในการลงสมัครเลือกตั้งในเดือนธันวาคม เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส เขากล่าวว่า "เลือกข้าพเจ้า เพื่อนโยบายต่างประเทศโรมาเนียร่วมกันกับโรมและเบอร์ลิน เลือกข้าพเจ้า เพื่อก่อการปฏิวัติแห่งชาติต่อต้านลัทธิบอลเชวิก ภายในสี่สิบแปดชั่วโมงกองกำลังเราจะได้ชัยชนะ โรมาเนียจะเป็นพันธมิตรกับโรมและเบอร์ลิน" คอดรีอานูได้ทิ้งสุนทรพจน์อันนำมาซึ่งฝันร้ายของกษัตริย์คาโรล พระองค์ทรงยืนยันเสมอว่าจะทรงควบคุมนโยบายต่างประเทศของรัฐเองซึ่งเป็นพระราชอำนาจพิเศษที่ไม่มีใครเข้าแทรกแซงได้ แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ต้องมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติของโรมาเนีย รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศมักจะรายงานโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ คอดรีอานูได้ล้ำเส้นพระราชอำนาจในสายพระเนตร ทำให้ในเวลาต่อมา กษัตริย์คาโรลทรงมุ่งมั่นที่จะกำจัดคอดรีอานู ผู้หยิ่งผยองพร้อมกับเหล่าผู้ติดตามของเขาที่กล้าท้าทายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม ค.ศ. 1937 พรรคเสรีนิยมแห่งชาติของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจีออร์เก ตาตาเรสคูได้ที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภา แต่มีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 40 ทำให้ไม่สามารถกุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ หลังจากการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีดูคาใน ค.ศ. 1933 กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กถูกสั่งห้ามเข้าร่วมการเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตร คอดรีอานูจึงจัดตั้งพรรคทั้งมวลเพื่อปิตุภูมิ เพื่อเป็นแนวหน้าของผู้พิทักษ์เหล็ก พรรคทั้งมวลเพื่อปิตุภูมิได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 16 ในการเลือกตั้งปี 1937 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก

 
นายกรัฐมนตรีอ็อกเตเวียน โกกา ราว ค.ศ. 1938

ในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1937 กษัตริย์คาโรลทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งนักกวีผู้มีแนวคิดต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรง คือ อ็อกเตเวียน โกกา จากพรรคคริสเตียนแห่งชาติ ซึ่งได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเพียงร้อยละ 9 ให้ดำรงเป็นนายกรัฐมนตรี กษัตริย์คาโรลทรงแต่งตั้งโกกาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เพราะพระองค์หวังว่านโยบายการต่อต้านชาวยิวของโกกาจะทำให้พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่เลือกพรรคทั้งมวลเพื่อปิตุภูมิและเพื่อทำให้กองกำลังอัครทูตอ่อนแอลง พระองค์ทรงหวังว่าโกกาจะไม่มีความสามารถในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันนำมาซึ่งวิกฤตที่จะเปิดทางให้พระองค์ยึดอำนาจได้ กษัตริย์คาโรลทรงบันทึกในพระอนุทินส่วนพระองค์ว่า โกกานั้นโง่เขลาและน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน และเมื่อโกกาล้มเหลวจะทำให้พระองค์ "มีอิสระที่จะใช้มาตรการที่แข็งกร้าว ซึ่งจะปลดปล่อยตัวข้าเองและประเทศจากพวกเผด็จการพรรคการเมือง" กษัตริย์คาโรลทรงเห็นชอบต่อคำกราบทูลของโกกาที่ให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1938 ด้วยเขาเป็นผู้นำของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเป็นลำดับที่สี่ในรัฐสภา เหมือนเป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลโกกาจะพ่ายแพ้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อรัฐสภารวมตัวกันทั้งพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ พรรคเกษตรกรแห่งชาติและพรรคทั้งมวลเพื่อปิตุภูมิ ร่วมกันต่อต้านโกกาแม้ว่าจะมีเหตุผลที่แตกต่างกัน การเลือกตั้งเริ่มต้นจากความรุนแรงด้วยการทะเลาะวิวาทในบูคาเรสต์ระหว่างกองกำลังกึ่งทหาร ลานเชรีของโกกากับกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก นำมาซึ่งผู้เสียชีวิตสองคน บาดเจ็บ 52 คน และมีคนถูกจับกุม 450 คน ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1938 จึงเป็นการเลือกตั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โรมาเนีย กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กและกองกำลังลานเชรีต่อสู้กันตามท้องถนนในขณะที่แสวงหาความชอบธรรมในการต่อต้านชาวยิวไปด้วย ในขณะที่รัฐสภาก็ไม่ได้มีการประชุมในรัฐบาลของโกกา ซึ่งโกกาจะต้องผ่านกฎหมายด้วยพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กฎหมายทุกฉบับจะต้องมีการลงพระปรมาภิไธยโดยพระมหากษัตริย์

นโยบายต่อต้านชาวยิวที่รุนแรงของโกกาทำให้ ชนกลุ่มน้อยชาวยิวยากลำบาก และนำไปสู่การร้องเรียนต่อรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาว่า นโยบายของโกกาจะเป็นการขับไล่ชาวยิวออกไปจากโรมาเนีย ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาไม่มีความประสงค์ที่จะรับผู้อพยพชาวยิว อันเนื่องมาจากกฎหมายต่อต้านชาวยิวของรัฐบาลโกกา และรัฐบาลทั้งสามชาติกดดันกษัตริย์คาโรลให้ทรงใช้พระราชอำนาจปลดโกกาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นหนทางแก้ไขวิกฤตทางมนุษยธรรม เอกอัครราชทูตอังกฤษคือ เซอร์เรจินัลด์ โฮอาเรและเอกอัครรัฐทูตฝรั่งเศส คือ เอเดรียง แตร์รี ได้เสนอบันทึกประท้วงรัฐบาลต่อต้านยิวของโกกา ในขณะที่ประธานาธิบดีรูสเวลต์แห่งสหรัฐอเมริกาเขียนสาส์นถึงกษัตริย์คาโรลวิจารณ์ถึงนโยบายต่อต้านชาวยิว ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1938 โกกาประกาศถอดชาวยิวทั้งหมดออกจากการเป็นพลเมืองของประเทศโรมาเนีย และเตรียมไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการขับไล่ชาวยิวออกจากประเทศ โดยส่วนพระองค์แล้วกษัตริย์คาโรลไม่ใช่พวกต่อต้านยิว แต่ตามพอล ดี. ควินลัน นักเขียนชีวประวัติของกษัตริย์ระบุว่า พระองค์"แค่ไม่ทรงแยแส" ต่อความทุกข์ทรมานของราษฎรชาวยิวของพระองค์จากกฎหมายต่อต้านชาวยิวของโกกา กษัตริย์นักฉวยโอกาสอย่างกษัตริย์คาโรลไม่ทรงเชื่อในลัทธิต่อต้านยิวแต่ทรงเชื่อในอำนาจ แต่ถ้า เหตุผลของรัฐกำหนดว่าต้องยอมอดทนต่อรัฐบาลต่อต้านยิวเพื่อแลกกับอำนาจ กษัตริย์คาโรลก็ทรงพร้อมที่จะสละสิทธิของราษฎรชาวยิวเพื่อมัน ในเวลาเดียวกัน โกกาพบว่าตัวเขาเองเป็นเลิศในด้านกวีมากกว่าเป็นนักการเมือง และในบรรยากาศของวิกฤตช่วงต้นปี ค.ศ. 1938 ซึ่งเขาหมกมุ่นแต่การแก้ "ปัญหาชาวยิว" ไวน์แบร์กเขียนถึงโกกาว่า เขา "ไม่พร้อมสำหรับตำแหน่งและไม่มีความสามารถทางผู้นำใดๆเลย..." และเขาดูเหมือนตัวตลกที่กำลังเล่นตลก เขาทำให้นักการทูตในบูคาเรสต์ "ขบขันครึ่งหนึ่ง ตกใจครึ่งหนึ่ง" อย่างที่กษัตริย์คาโรลทรงคาดการณ์ไว้ โกกาเป็นผู้นำที่โง่เขลา เป็นผู้สร้างความน่าขายหน้าแก่ระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่นโยบายต่อต้านชาวยิวที่รุนแรงของเขาทำให้ไม่มีมหาอำนาจชาติประชาธิปไตยอื่นใดเข้ามาขัดขวางการประกาศปกครองระบอบเผด็จการของกษัตริย์คาโรล

ระบอบเผด็จการโดยราชวงศ์

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนียทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1938 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938

โกกาทราบว่าเขาถูกพระมหากษัตริย์หลอกใช้ เขาจึงเข้าพบปะกับคอดรีอานู ผู้เป็นศัตรูในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 ที่บ้านของนักการเมืองเอียน กีกูร์ตู เพื่อตกลงกันว่าฝ่ายผู้พิทักษ์เหล็กจะถอนตัวออกจากการเลือกตั้งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าฝ่ายต่อต้านยิวหัวรุนแรงจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภา กษัตริย์คาโรลทรงทราบถึงแผนการโกกา-คอดรีอานูอย่างรวดเร็ว และพระองค์ทรงใช้เหตุนี้เป็นข้ออ้างในการก่อรัฐประหารตัวเองซึ่งพระองค์ทรงวางแผนมาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1937 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงระงับรัฐธรรมนูญและยึดอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน กษัตริย์คาโรลทรงประกาศกฎอัยการศึกและระงับสิทธิเสรีภาพทั้งหมดของพลเมืองในช่วงการเลือกตั้งที่รุนแรงนี้ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง

เมื่อหมดประโยชน์แล้ว กษัตริย์คาโรลทรงปลดโกกาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทรงแต่งตั้งพระอัครบิดรเอลี คริสเตอา หรืออัครบิดรมิรอนแห่งโรมาเนียวัย 69 ปี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาเป็นประมุขแห่งนิกายคริสต์ออร์ทอดอกซ์โรมาเนียและอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลกษัตริย์มีไฮที่ 1 เขาเป็นบุรุษผู้ที่กษัตริย์คาโรลทรงทราบว่าเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพของประชาชนโรมาเนียทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมืองนับถือออร์ทอดอกซ์ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความคล้ายคลึงกับฉบับก่อนหน้า แต่แท้จริงแล้วมันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นเผด็จการและเป็นการปกครองแบบหมู่คณะที่รุนแรง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยอมรับพระราชอำนาจฉุกเฉินที่กษัตริย์คาโรลเข้ายึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเปลี่ยนให้รัฐบาลกลายเป็นเผด็จการโดยพฤตินัย มันเป็นการสร้างพระราชอำนาจในพระหัตถ์ของพระองค์อย่างเข้มข้น ซึ่งเกือบจะถึงจุดที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับการเห็นชอบผ่านการทำประชามติด้วยเงื่อนไขที่ห่างไกลจากความลับ กล่าวคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมารายงานตัวต่อหน้าสำนักงานการเลือกตั้งและแถลงด้วยวาจาว่าพวกเขาจะเห็นชอบในรัฐธรรมนูญ การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเงียบจะถือว่าลงคะแนน "เห็นชอบ" ภายใต้เงื่อนไขนี้ มีการรายงานอย่างไม่น่าเชื่อว่า มีประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญใหม่ถึงร้อยละ 99.87

 
กษัตริย์คาโรลและพระอัครบิดรเอลี คริสเตอา ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงค.ศ. 1938-1939

นิตยสารไทม์ได้บรรยายถึงพระอัครบิดรคริสเตอาว่าเป็น "นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด" ของกษัตริย์คาโรลที่ 2 ในการกล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพระอัครบิดรคริสเตอา เขาประกาศประณามแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองของพวกเสรีนิยม และกล่าวว่า "พวกอสูรกายที่มีหัวการเลือกตั้งทั้ง 29 ตัวได้ถูกกำจัดไปแล้ว" (เป็นการพาดพิงถึงพรรคการเมือง 29 พรรคที่ถูกคว่ำบาตร) และอัครบิดรยังอ้างว่าพระมหากษัตริย์จะนำมาซึ่งการช่วยให้พันภัย (Salvation)

ในช่วงการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงแจ้งต่อเอกอัครรัฐทูตเยอรมัน วิลเฮล์ม ฟาบริเซียส ให้ทราบถึงพระราชประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับเยอรมนี ทูตแตร์รีของฝรั่งเศสได้ทูลกษัตริย์คาโรลว่า รัฐบาลของพระองค์ได้รับ "การตอบรับที่ดี" จากปารีส และฝรั่งเศสจะไม่ยอมให้จุดจบของระบอบประชาธิปไตยนำมาซึ่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับโรมาเนีย รัฐบาลใหม่ของพระอัครบิดรคริสเตอาไม่ได้ดำเนินนโยบายต่อต้านชาวยิวใหม่ แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายต้านยิวเดิมที่มาจากรัฐบาลโกกา แม้ว่าพระอัครบิดรคริสเตอาจะไม่ค่อยบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้มากนัก มีรายงานว่าเมื่อมีสหายชาวยิวถามรัฐมนตรีมหาดไทย อาร์มานด์ คาลีเนสคู ว่า สถานะความเป็นพลเมืองของเขาจะได้รับการฟื้นฟูไหม ในเมื่อโกกาหลุดจากตำแหน่งไปแล้ว คาลีเนสคูเป็นคนที่เกลียดชังผู้พิทักษ์เหล็กและเกลียดแนวคิดต่อต้านยิวก็ยันยันว่ารัฐบาลของคริสเตอาไม่สนใจที่จะคืนสัญชาติให้ชาวยิว

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 อาร์มานด์ คาลีเนสคู รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดกษัตริย์คาโรลมากที่สุด เขาเป็นเหมือน "คนแข็งแกร่ง" ในระบอบใหม่นี้ ซึ่งต้องการให้กำจัดพวกกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงหันไปกำจัดกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก โดยให้จำคุกคอดรีอานูในข้อหาหมิ่นประมาทอดีตนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์นิโคไล ออร์กา นักประวัติศาสตร์ หลังจากที่คอดรีอานูตีพิมพ์จดหมายสาธารณะกล่าวหาว่าออร์กาทำธุรกิจที่ทุจริต หลังจากคอดรีอานูถูกตัดสินว่าผิดจริงในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1938 เขาก็ถูกพิจารณาโทษอีกครั้งในวันที่ 27 พฤษภาคม ในข้อหากบฏ เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาว่าทำงานให้เยอรมนีเพื่อเริ่มการปฏิวัติ ค.ศ. 1935 และคอดรีอานูถูกตัดสินจำคุก 10 ปี

กษัตริย์คาโรลทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกพิเศษลำดับที่ 892 แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ ใน ค.ศ. 1938 จากพระญาติคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร ใน ค.ศ. 1937 พระองค์ทรงได้รับกางเขนแห่งความยุติธรรมของกองทัพและฮอสปิทัลเลอร์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญลาซารัสแห่งเยรูซาเลม วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1938 ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลพร้อมกลุ่มคนชนชั้นนำในโรมาเนียต้องตกตะลึงอย่างมากกับความตกลงมิวนิก วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1938 ที่พระองค์เห็นว่าเป็นการอนุญาตให้ยุโรปตะวันออกทั้งหมดให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของเยอรมัน โรมาเนียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความนิยมฝรั่งเศสอย่างมากที่สุดในโลก ดังนั้นความตกลงมิวนิกจึงกระทบประเทศนี้มากเป็นพิเศษ งานของไวน์เบิร์กได้เขียนบรรยายถึงผลกระทบของความตกลงมิวนิกที่มีต่อความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-โรมาเนียที่ว่า "ในมุมมองความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมจะกลับไปเป็นแบบช่วงจุดเริ่มต้นอิสรภาพของโรมาเนีย ที่ชนชั้นสูงโรมาเนียมองว่าฝรั่งเศสเป็นแบบอย่างสำหรับทุกสิ่งนับตั้งแต่แฟชันไปจนถึงระบอบรัฐบาล การที่ฝรั่งเศสสละอิทธิพลออกไปนั้นเป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างยิ่ง" ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กวางแผนก่อการร้ายในการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจและข้าราชการ อีกทั้งวางแผนวางระเบิดตามสถานที่ราชการเพื่อโค่นอำนาจกษัตริย์คาโรล กษัตริย์คาโรลทรงโต้กลับอย่างรุนแรงด้วยการสั่งให้ตำรวจเข้าจับกุมกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กโดยไม่ต้องมีหมายจับและให้ประหารชีวิตผู้ที่พบอาวุธอย่างรวดเร็ว

ในด้านของเยอรมนีนั้นต้องการน้ำมันและเยอรมนีส่งคำขอมาซ้ำๆเพื่อให้ทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ เพื่อต้องการให้เรือบรรทุกน้ำมันของโรมาเนียเข้าเทียบท่าเยอรมนีมากยิ่งขึ้น กษัตริย์คาโรลทรงพบปะกับฟาบริเซียสเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าพระองค์ประสงค์ข้อตกลงที่จะสร้างความเข้าใจกันระหว่างเยอรมนีและโรมาเนียในระยะยาว ในขณะเดียวกันช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงเล่นเกมสองหน้าด้วยทรงมีคำขอความช่วยเหลือไปยังอังกฤษ เพื่อให้นำโรมาเนียเข้าสู่อิทธิพลเศรษฐกิจของอังกฤษ พระองค์เสด็จเยือนลอนดอนในระหว่างวันที่ 15 - 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 เพื่อดำเนินการเจรจาซึ่งไม่สำเร็จ วันที่ 24 พฤศจิกายน กษัตริย์คาโรลเสด็จเยือนเยอรมนีและเข้าพบฮิตเลอร์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์เยอรมนี-โรมาเนีย ในระหว่างการเจรจาข้อตกลงเศรษฐกิจเยอรมนี-โรมาเนียที่จะมีการลงนามในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1938 ไวน์เบิร์กเขียนว่า "กษัตริย์คาโรลทรงให้การสัมปทานเท่าที่จำเป็น แต่พระองค์ก็ทรงเป็นห่วงต่อเอกราชของประเทศโดยทรงต่อรองราคาอย่างหนัก" นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ดี.ซี. วัตต์ ได้เขียนว่า กษัตริย์คาโรลทรง "ถือไพ่เหนือกว่า" ในการควบคุมน้ำมันที่เยอรมนีต้องการอย่างมากและเยอรมันก็เต็มใจที่จ่ายค่าน้ำมันโรมาเนียในอัตราที่สูงโดยที่กองทัพไม่สามารถมายุ่งเกี่ยวอะไรได้ ระหว่างที่ทรงประชุมกับฮิตเลอร์ กษัตริย์คาโรลทรงพิโรธมากที่ฮิตเลอร์เรียกร้องให้ปล่อยตัวคอดรีอานูเป็นอิสระและแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี กษัตริย์คาโรลทรงเชื่อว่าตราบใดที่คอดรีอานูยังมีชีวิตอยู่ เขาก็จะเป็นผู้นำที่ฮิตเลอร์คอยหนุนหลัง แต่ถ้าเขาถูกกำจัดแล้ว ฮิตเลอร์ก็จะไม่มีทางเลือกอื่นๆใดที่จะสนับสนุนเขาเลย

ในช่วงแรกกษัตริย์คาโรลทรงต้องการให้คอดรีอานูติดคุกต่อไป แต่หลังจากเกิดการก่อการร้ายขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงเห็นด้วยกับแผนการของรัฐมนตรีคาลีเนสคูที่วางแผนจะสังหารผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กทุกคนที่ถูกจองจำอยู่ ในกลางดึกของวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 กษัตริย์คาโรลทรงมีพระบัญชาให้สังหารคอดรีอานูและผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กอีก 13 คน โดยมีแถลงอย่างเป็นทางการว่า นักโทษ "ถูกยิงหลังจากพยายามหลบหนี" การฆาตกรรมในคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งผู้นำผู้พิทักษ์เหล็กถูกกวาดล้างออกไปจากประวัติศาสตร์โรมาเนีย ถูกเรียกว่า "ค่ำคืนแห่งแวมไพร์" เยอรมันโกรธเคืองการฆาตกรรมคอดรีอานูอย่างมาก และช่วงปลายปี 1938 มีการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่ออย่างรุนแรงต่อต้านกษัตริย์คาโรลในหนังสือพิมพ์เยอรมันที่มีการลงเรื่องราวที่ คอดรีอานู "ถูกยิงขณะหลบหนี" อยู่เสมอ และเรียกการฆาตกรรมคอดรีอานูว่า "เป็นชัยชนะของพวกยิว" แต่ในที่สุดความกังวลด้านเศรษฐกิจก็กลับมา เยอรมันต้องการน้ำมันของโรมาเนียอย่างมาก ทำให้นาซียอมเงียบจากเรื่องผู้พิทักษ์เหล็กในช่วงต้นปี 1939 และความสัมพันธ์กับกษัตริย์คาโรลก็กลับมาเป็นปกติดังเดิม

 
อาร์มานด์ คาลีเนสคู (ตรงกลาง ที่คาดผ้าปิดตา) กับคณะรัฐมนตรี

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1938 พรรคแนวร่วมเรอเนซองแห่งชาติ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในฐานะพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมายพรรคเดียวในประเทศ ในเดือนเดียวกันกษัตริย์คาโรลทรงแต่งตั้งพระสหายของพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มคามาริลลา คือ กริกอร์ กาเฟนคู ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ กาเฟนคูได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระองค์ทรงไว้วางพระทัยเขาและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมิตรภาพของกาเฟนคูกับโยเซ็ฟ เบ็ค รัฐมนตรีต่างประเทศของโปแลนด์ ซึ่งกษัตริย์คาโรลประสงค์ที่จะผูกสัมพันธ์กับโปแลนด์ กาเฟนคูพยายามแสดงความสามารถในช่วงที่ได้โอกาสเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นผู้ซึ่งต้องการไม่ให้เกิดการปะทะต่อต้านกันมากที่สุด ซึ่งตรงกันข้ามกับอาร์มานด์ คาลีเนสคู รัฐมนตรีมหาดไทยผู้แข็งกร้าว "ดูเหมือนออกนอกลู่นอกทาง" ตัวเล็กและมีตาเดียว (จากนั้นเขาเป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งประกาศตนเป็นปรปักษ์กับลัทธิฟาสซิสต์ทั้งในโรมาเนียและต่างประเทศและพยายามกระตุ้นให้กษัตริย์คาโรลทรงยืนข้างฝ่ายสัมพันธมิตร นโยบายต่างประเทศของกษัตริย์คาโรลในปี 1939 คือการสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งระหว่างโรมาเนียและโปแลนด์และกลุ่มพันธมิตรบอลข่าน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับศัตรูโรมาเนียอย่าง ฮังการีและบัลแกเรีย สนับสนุนให้อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามายุ่งเกี่ยวในบอลข่านเพื่อหลีกเลี่ยงการรุกรานจากเยอรมนี ในวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1939 อัครบิดรคริสเตอา นายกรัฐมนตรีถึงแก่อสัญกรรม คาลีเนสคูจึงขึ้นสืบเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 เกอริงได้ส่งผู้ช่วยคือ เฮลมุท โวลทัท ขององค์การแผนสี่ปีให้มายังบูคาเรสต์ พร้อมคำแนะนำให้ลงนามสนธิสัญญาทางเศรษฐกิจเยอรมนี-โรมาเนียอีกฉบับ ซึ่งจะทำให้เยอรมนีสามารถครอบงำอำนาจทางเศรษฐกิจของโรมาเนีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมัน โวลทัทเป็นบุรุษหมายเลขสองในองค์การแผนสี่ปีถูกส่งไปบูคาเรสต์เพื่อทำการเจรจาเยอรมัน-โรมาเนียที่สำคัญนี้ กษัตริย์คาโรลทรงต่อต้านข้อเสนอของเยอรมันที่ต้องการน้ำมันมากขึ้นในข้อตกลงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1938 และประสบความสำเร็จในช่วงต้นปี 1939 ที่สามารถนำพาโรมาเนียไปอยู่ในขอบเขตอำนาจทางเศรษฐกิจของอังกฤษได้ เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของเยอรมันที่กำลังทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆในคาบสมุทรบอลข่าน กษัตริย์คาโรลจึงต้องการผูกสัมพันธ์กับอังกฤษ ในเวลาเดียวกันแผนสี่ปีกำลังประสบปัญหาความยุ่งยากในช่วงต้นปี 1939 และโดยเฉพาะแผนการของเกอริงที่ต้องการโรงงานสังเคราะห์น้ำมันจากถ่านหินเป็นไปด้วยความล่าช้ากว่าแผน เทคโนโลยีใหม่ในการสังเคราะห์น้ำมันจากถ่านหินทำให้เกิดปัญหาด้านเทคนิคขนานใหญ่และมีค่าใช้จ่ายมากเกินไป เกอริงได้รับแจ้งในต้นปี 1939 ว่า โรงงานน้ำมันสังเคราะห์ที่เริ่มสร้างในปี 1936 จะไม่สามารถเปิดใช้ได้ทันตามแผนในปี 1940 จนกระทั่งถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1942 โรงงานน้ำมันสังเคราะห์จึงเริ่มเปิดให้ดำเนินการในที่สุด เห็นได้ชัดว่าเกอริงเจ็บแค้นอย่างมากในช่วงเดือนแรกๆของปี 1939 ที่เศรษฐกิจเยอรมันไม่มีความพร้อมในการก่อสงครามเต็มรูปแบบในปี 1940 เนื่องจากแผนสี่ปีที่ถูกร่างไว้ตั้งแต่ค.ศ. 1936 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจของเขาบอกเขาว่า เยอรมนีต้องการนำเข้าน้ำมัน 400,000 ตันต่อเดือน แต่เยอรมนีนำเข้าได้เพียง 61,000 ตันต่อเดือนเท่านั้นในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 1938

ดังนั้นโวลทัทจึงเรียกร้องในระหว่างการเจรจากับกริกอร์ กาเฟนคู รัฐมนตรีต่างประเทศโรมาเนีย ว่าให้โรมาเนียโอนอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งหมดของโรมาเนียมาเป็นของรัฐ ซึ่งต่อไปจะถูกควบคุมโดยบริษัทใหม่ที่จะเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลเยอรมันกับรัฐบาลโรมาเนีย ขณะที่เรียกร้องให้โรมาเนีย "เคารพผลประโยชน์การส่งออกของเยอรมัน" โดยขายน้ำมันให้กับเยอรมนีเท่านั้น เท่านั้นไม่พอ โวลทัทเรียกร้องให้มีมาตรการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนโรมาเนียให้กลายเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของเยอรมัน โดยกษัตริย์คาโรลไม่ทรงเห็นชอบในข้อเรียกร้องเหล่านี้ การเจรจาที่บูคาเรสต์จึงเป็นไปไม่ค่อยดีเท่าไร เมื่อถึงจุดนี้ กษัตริย์คาโรลทรงเริ่มดำเนินการในเหตุการณ์ที่จะถูกเรียกว่า "เรื่องอื้อฉาวตีลีอา" เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1939 วีโอเรล ตีลีอา เอกอัครราชทูตโรมาเนียประจำอังกฤษ ได้บุกเข้าไปยังห้องทำงานของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลอร์ดฮาลิแฟกซ์ ตีลีอาในสภาพกระวนกระวายใจประกาศว่า ประเทศของเขากำลังเผชิญการรุกรานจากเยอรมันที่กำลังใกล้เข้ามา และขอให้ลอร์ดฮาลิแฟกซ์ช่วยดำเนินการขอการสนับสนุนจากอังกฤษ ในขณะเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงระดมพลทหารห้าเหล่าบริเวณชายแดนที่ติดกับฮังการีเพื่อป้องกันการรุกรานที่อาจเกิดขึ้น "เศรษฐกิจเชิงรุกราน" ของอังกฤษในคาบสมุทรบอลข่านได้ก่อให้เกิดความบอกช้ำทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงของเยอรมัน โดยที่อังกฤษทำการซื้อน้ำมันจากโรมาเนีย อันเป็นน้ำมันที่เยอรมันต้องการมาก ดังนั้นพวกเยอรมันจึงต้องการควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมันของโรมาเนีย อันเป็นสิ่งที่ทำให้กษัตริย์คาโรลทรงพิโรธ ในขณะที่อังกฤษเชื่อว่า ข้อเรียกร้องของตีลีอา ใน "เรื่องอื้อฉาวตีลีอา" มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อนโยบายต่างประเทศของอังกฤษ ทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเนวิล เชมเบอร์ลินจะต้องพลิกนโยบายจากการเอาใจเยอรมนีมาเป็นนโยบาย "จำกัด" อำนาจของเยอรมนี กษัตริย์คาโรลทรงปฏิเสธ โดยทรงอ้างว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำของตีลีอาในลอนดอน แต่ถึงกระนั้นอังกฤษก็เตือนเยอรมันถึงการกระทำที่คุกคามโรมาเนียในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 ทำให้เยอรมันต้องยอมผ่อนปรนข้อเสนอและได้มีการลงนามสนธิสัญญาเศรษฐกิจเยอรมัน-โรมาเนียในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1939 ซึ่งตามความเห็นของวัตต์ นักประวัติศาสตร์ มองว่า "มีความคลุมเครือมาก" แม้จะมี "เรื่องอื้อฉาวตีลีอา" กษัตริย์คาโรลทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาทางการทูตใดๆ ที่จะบังคับให้พระองค์เลือกข้างอย่างเด็ดขาดระหว่างเยอรมนีและอังกฤษ และพระองค์จะไม่ทรงยินยอมที่จะรับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตที่พยายามขัดขวางเยอรมนี

นโยบายพยายาม "จำกัด" เยอรมนี เริ่มต้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 อังกฤษพยายามสร้าง "แนวหน้าสันติภาพ" ที่ประกอบด้วยอย่างน้อยที่สุดก็คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ สหภาพโซเวียต ตุรกี โรมาเนีย กรีซ และยูโกสลาเวีย ในส่วนของกษัตริย์คาโรลทรงกังวลในช่วงครึ่งแรกของปี 1939 ว่าฮังการีจะเข้าโจมตีโรมาเนียภายใต้การสนับสนุนของเยอรมนี ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1939 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมีข้อสรุปว่า โรมาเนียจะไม่เข้าร่วม "แนวหน้าสันติภาพ" แต่จะแสวงหาการสนับสนุนจากอังกฤษ-ฝรั่งเศส ในฐานะที่เป็นประเทศเอกราชแทน ในการประชุมเดียวกัน มีการตัดสินใจว่าโรมาเนียจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศบอลข่านอื่นๆ แต่ก็จะหาหนทางที่จะหลีกเลี่ยงความพยายามของอังกฤษ-ฝรั่งเศสในการเชื่อมโยงความปลอดภัยของบอลข่านเข้าด้วยกับความปลอดภัยของโปแลนด์ วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1939 เนวิล เชมเบอร์ลิน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้อภิปรายในสภาสามัญชนสหราชอาณาจักร และเอดัวร์ ดาลาดีเย นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็อภิปรายในรัฐสภาเช่นกัน ในการประกาศการ "รับประกันร่วม" ของอังกฤษ-ฝรั่งเศส ในการรับรองเอกราชของโรมาเนียและกรีซ กษัตริย์คาโรลทรงยอมรับ "การรับประกัน" นี้ในทันที ในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 จอมพลฝรั่งเศส มักซีม เวย์ก็องด์ เดินทางมาเยือนบูคาเรสต์และเข้าเฝ้าฯกษัตริย์คาโรล พร้อมพบปะนายกรัฐมนตรี อาร์มานด์ คาลีเนสคู เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะใช้โรมาเนียมีส่วนร่วมใน "แนวหน้าสันติภาพ" ทั้งกษัตริย์คาโรลและคาลีเนสคูให้การสนับสนุน แต่ก็บอกปัด เมื่อมีการบอกว่าจะให้สหภาพโซเวียตเข้ามาต่อสู้กับเยอรมนี ซึ่งทั้งสองไม่ยอมให้สหภาพโซเวียตเข้ามาในดินแดนโรมาเนียแม้ว่าเยอรมนีจะโจมตีก็ตาม กษัตริย์คาโรลทรงบอกเวย์ก็องด์ว่า "เราไม่ต้องการให้ประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในสงคราม ซึ่งไม่กี่สัปดาห์ กองทัพก็จะถูกทำลาย และประเทศก็จะถูกยึดครอง... เราไม่ต้องการที่จะเป็นสายล่อฟ้าอันนำมาซึ่งพายุโหมกระหน่ำ" กษัตริย์คาโรลยังทรงพร่ำบ่นว่า พระองค์ทรงมียุทโธปกรณ์เพียงพอสำหรับกองทัพของพระองค์เพียงสองในสาม ซึ่งยังขาดรถถัง ปืนต่อต้านอากาศยาน ปืนใหญ่หนัก และปืนต่อต้านยานเกราะ ในขณะที่กองทัพอากาศ มีเพียงเครื่องบินโบราณๆ 400 ลำเท่านั้น ซึ่งผลิตในฝรั่งเศส ไม่สามารถเทียบกับฝ่ายเยอรมันได้ เวย์ก็องด์รายงานไปยังกรุงปารีสว่า กษัตริย์คาโรงมีพระราชประสงค์ในการสนับสนุนของอังกฤษ-ฝรั่งเศส แต่จะไม่ต่อสู้ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อสงครามเกิดขึ้น

ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 ความตกลงสหราชอาณาจักร-โรมาเนีย ได้มีการลงนามโดยอังกฤษสัญญาว่า จะมอบเครดิตแก่รัฐบาลโรมาเนียถึง 5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง และสัญญาว่าจะซื้อข้าวสาลีโรมาเนีย 200,000 ตัน ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เมื่อยูโกสลาเวียทำการตอบโต้เชิงลบต่อปฏิญญาสหราชอาณาจักร-ตุรกีในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 โดยสัญญาว่า "จะสร้างหลักประกันความปลอดภัยในคาบสมุทรบอลข่าน" และยูโกสลาเวียขู่ว่าจะออกจากกติกาสัญญาบอลข่าน กาเฟนคูจึงเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศยูโกสลาเวีย อเล็กซานดาร์ ชินการ์-มาร์โกวิช เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 เพื่อขอให้ยูโกสลาเวียยังคงอยู่ในกติกาสัญญาบอลข่านต่อไป แต่การพูดเรื่องที่จะออกจากกติกาสัญญาบอลข่านของชินการ์-มาร์โกวิชนั้น เป็นกลอุบายของ เจ้าชายพอล ผู้สำเร็จราชการแห่งยูโกสลาเวีย ซึ่งกำลังสนับสนุนแผนที่เสนอโดยรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ซูครู ซาราโคกลู ที่จะอนุญาตให้บัลแกเรียเข้าร่วมกติกาสัญญาบอลข่าน โดยยอมให้โรมาเนียยกดินแดนโดบรูยาให้บัลแกเรีย เจ้าชายพอลทรงมีลายพระหัตถ์ถึงกษัตริย์คาโรลระบุว่า เจ้าชายพอลทรงต้องการให้พวกบัลแกเรียเลิกค่อนแคะตลบหลังสักที ด้วยทรงเกรงว่าพวกอิตาลีจะสร้างกองกำลังในอาณานิคมใหม่อย่าง แอลเบเนีย และทรงขอให้กษัตริย์คาโรลผู้เป็นสหายให้สัมปทานแก่พระองค์ด้วย กษัตริย์คาโรลทรงตอบลายพระหัตถ์ว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พระองค์ยกดินแดนให้กับบัลแกเรีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระองค์ไม่เห็นด้วยในการยกดินแดนอื่นใดให้ผู้อื่น เพราะการยกโดบรูยาให้บัลแกเรีย จะเป็นแรงกระตุ้นให้พวกฮังการีอ้างสิทธิในทรานซิลเวเนียด้วยเช่นกัน

แม้ว่ากษัตริย์คาโรลจะทรงต่อต้านอย่างเป็นทางการต่อ "แนวร่วมสันติภาพ" แต่พระองค์ก้ตัดสินพระทัยที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพันธมิตรบอลข่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับตุรกี นับตั้งแต่ที่อังกฤษและฝรั่งเศสพยายามทำงานเพื่อเป้นพันธมิตรกับตุรกี ในขณะเดียวกันก็เจรจากับสหภาพโซเวียตด้วย กษัตริย์คาโรลทรงให้เหตุผลว่า ถ้าโรมาเนียเป็นพันธมิตรกับตุรกีอย่างแนบแน่น เป็นหนทางเดียวที่จะเชื่อมโยงโรมาเนียกับ "แนวร่วมสันติภาพ" ได้โดยไม่ต้องเข้าร่วมจริง แม้ว่ากษัตริย์คาโรลจะทรงผิดหวังในเจ้าชายผู้สำเร็จราชการพอล แต่พระองค์ก็ยังต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวีย ในฐานะเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของโรมาเนีย เพื่อต่อต้านการเรียกร้องของบัลแกเรียในดินแดนโดบรูยา กษัตริย์คาโรลยังทรงรักษาความสัมพันธ์กับศัตรูตัวฉกาจของบัลแกเรียนั่นก็คือ กรีซ

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1939 กษัตริย์ทรงเริ่มประทะอย่างรุนแรงกับฟริตซ์ ฟาบริเซียส นักการเมืองโรมาเนีย ผู้นำพรรคนาซีชาติเยอรมันซึ่งเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในหมู่พรรคการเมืองโวล์กด็อยช์ และเข้าร่วมพรรคแนวร่วมเรอเนซองส์แห่งชาติตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1939 ฟาบริเชียสเรียกตนเองว่า ฟือเรอร์และจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธสองกลุ่ม คือกลุ่มแรงงานแห่งชาติและกลุ่มยุวชนเยอรมัน อีกทั้งจัดพิธีการที่มีชนกลุ่มน้อยเยอรมันในโรมาเนียเข้าร่วมถึง 800,000 คน ซึ่งดำเนินการแสดงความจงรักภักดีต่อเขา ในต้นเดือนกรกฎาคม ฟาบริเชียสได้ไปเยือนมิวนิกและได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า กลุ่มโวล์กด็อยช์โรมาเนีย มีความจงรักภักดีต่อเยอรมนี ไม่ใช่โรมาเนีย และเขากล่าวว่าปรารถนาจะเห็น "จักรวรรดิไรซ์เยอรมันอันยิ่งใหญ่" ซึ่งจะมีกลุ่มชาวชนบทติดอาวุธตั้งถิ่นฐานไปทั่วเทือกเขาคาร์เปเทียน อูรัลและคอเคซัส ใน "Grossraum" นี้ (เป็นคำภาษาเยอรมันที่แปลความหมายไม่ได้ มีความหมายหยาบๆว่า "พื้นที่กว้างใหญ่") มีเพียงชาวเยอรมันเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย และผู้ที่ไม่เต็มใจที่จะเป็นชาวเยอรมันจะต้องออกไป หลังจากฟาบริเชียสพูดสุนทรพจน์นี้ เมื่อเขากลับโรมาเนีย เขาถูกเรียกตัวไปพบนายกรัฐมนตรีคาลีเนสคูในวันที่ 13 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรีบอกเขาว่า กษัตริย์ทรงอดทนเพียงพอแล้วและจะทรงดำเนินการจัดการเขา ฟาบริเชียสสัญญาว่าจะทำตัวให้ดีขึ้น แต่เขาก็ถูกขับไล่จากโรมาเนียหลังจากวันนั้นไม่นาน เมื่อพบว่าหนึ่งในผู้ติดตามของเขาออกจากรถไฟโดยที่ในกระเป๋าเอกสารเต็มไปด้วยหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สนับสนุนฟาบริเชียสมีอาวุธเป็นของตนเอง และฟือเรอร์ฟาบริเชียสได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเยอรมนี

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1939 กษัตริย์คาโรลทรงได้รับข่าวลือว่า ฮังการีได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีให้วางแผนเข้ารุกรานโรมาเนีย ทำให้เกิดวิกฤตครั้งใหม่ของความสัมพันธ์โรมาเนีย-ฮังการี ซึ่งเกิดจากการร้องเรียนจากบูดาเปสต์ที่ร้องเรียนว่าชาวโรมาเนียกำลังทารุณกรรมชาวแม็กยาร์ในทรานซิลเวเนีย (การร้องเรียนนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเบอร์ลิน) กษัตริย์คาโรลจึงทรงมีพระบรมราชโองการระดมพลทหารในขณะที่ทรงกำลังขึ้นเรือยอรพระที่นั่งไปยังอิสตันบูล ในช่วงระหว่างเสด็จเยือนอิสตันบูล กษัตริย์คาโรลทรงมีพระราชปฏิสันถารกับอิสเมท อีเนอนือ ประธานาธิบดีตุรกี และซึกครือ ซาราโกกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ซึ่งทางตุรกีสัญญาว่าจะระดมพลทหารทันทีถ้าฝ่ายอักษะรุกรานโรมาเนีย ตุรกีบีบคั้นให้กษัตริย์คาโรลทรงลงพระนามเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต อันเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่เต็มพระทัยนัก พระองค์ยอมดำเนินการเช่นนั้น เพราะตุรกีจะเป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือ และทรงยินยอมถ้าหากสหภาพโซเวียตยอมรับแนวพรมแดนของโรมาเนีย การที่โรมาเนียแก้ปัญหาด้วยการได้รับการสนับสนุนจากตุรกีนั้นส่งผลให้พวกฮังการียอมถอนความตั้งใจที่จะรุกรานโรมาเนีย

ข่าวกติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 สร้างความหวาดหวั่นแก่กษัตริย์คาโรลมาก ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 กษัตริย์คาโรลทรงเล่นเกมการเมืองให้สองฝ่ายเข้าสู้กัน พระองค์ทรงอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีคาลีเนสคูบอกทูตแตร์รีของฝรั่งเศสว่า ชาวโรมาเนียจะทำลายบ่อน้ำมันถ้าฝ่ายอักษะเข้ารุกราน ในขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศ กาเฟนคู ได้บอกแก่โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน ว่า เขายืนยันมิตรภาพระหว่างโรมาเนียกับเยอรมนี รวมถึงการแสดงจุดยืนต่อต้าน "แนวหน้าสันติภาพ" และมีความตั้งใจที่จะขายน้ำมันให้เยอรมันมากขึ้น หลังจากการลงนามในกติกาสัญญา คาลีเนสคูทูลแนะนำกษัตริย์คาโรลว่า "เยอรมนีเป็นอันตรายอย่างแท้จริง การเป็นพันธมิตรมันเท่ากับว่าเป็นรัฐในอารักขาของเยอรมัน มีแต่เพียงให้เยอรมนีถูกกำจัดโดยอังกฤษและฝรั่งเศสเท่านั้นถึงจะสามารถป้องกันจากอันตรายได้" วันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1939 กาเฟนคูบอกฟาบริเชียสว่า โรมาเนียจะประกาศตนเป็นกลางถ้าเยอรมนีรุกรานโปแลนด์ และต้องการจะขายน้ำมันให้เยอรมัน 450,000 ตันต่อเดือน เพื่อแลกกับเงิน 1.5 ล้านไรซ์มาร์ก รวมถึงอากาศยานเยอรมันสมัยใหม่จำนวนหนึ่งฟรีๆ กษัตริย์คาโรลทรงพบปะกับกองทัพอากาศเยอรมันในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1939 เพื่อแสดงความยินดีร่วมกับเยอรมันในความสำเร็จทางการทูตที่ยิ่งใหญ่ที่พวกเขาได้รับจากการทำสัญญากับสหภาพโซเวียต กษัตริย์คาโรลไม่ทรงทราบว่ากติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ มี "สนธิสัญญาลับ" ที่ยอมรับให้ดินแดนของโรมาเนียคือ เบสซาราเบีย ให้ตกเป็นของสหภาพโซเวียต ในระยะสั้นสนธิสัญญาเยอรมัน-โซเวียตนั้นเป็นประโยชน์แก่กษัตริย์คาโรล เพราะในตอนนี้เยอรมันได้ซื้อน้ำมันของสหภาพโซเวียต ทำให้ช่วยลดแรงกดดันของน้ำมันโรมาเนียได้

สงครามโลกครั้งที่สอง

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 พร้อมมกุฎราชกุมารมีไฮ พระราชโอรสเสด็จออกตรวจพลในวันชาติ วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1939

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นจากการที่เยอรมนีเข้ารุกรานโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ตามมาด้วยอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อจักรวรรดิไรซ์ในวันที่ 3 กันยายน ปีเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงประกาศเป็นกลาง การที่พระองค์ทรงทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับโปแลนด์ที่ลงนามไว้ในปี 1921 รวมถึงสนธิสัญญากับฝรั่งเศสที่ลงนามเมื่อ ค.ศ. 1926 กษัตริย์คาโรลทรงดำเนินนโยบายภายใต้เหตุผลที่ว่าเยอรมนีเป้นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตภายใต้กติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ และฝรั่งเศสตรึงกำลังตามแนวแมกิโนต์ โดยไม่เต็มใจที่จะรุกคืบเข้าเยอรมนี การประกาศเป็นกลางจึงเป็นสิ่งที่รักษาความเป็นเอกราชของราชอาณาจักรของพระองค์ กษัตริย์คาโรลทรงพยายามเล่นการเมืองแบบรักษาสมดุลอย่างรอบคอบระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ ด้านหนึ่งทรงลงนามสันธิสัญญาเศรษฐกิจใหม่กับเยอรมนี ในขณะที่อีกด้านหนึ่งทรงพิจารณาอนุญาตให้ทหารโปแลนด์สามารถข้ามพรมแดนมายังโรมาเนียตามช่วงเวลาได้ โดยทรงปฏิเสธที่จะกักตัวพวกเขาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทหารชาวโปลได้รับอนุญาตให้เดินทางไปที่เมืองคอนสตันซาเพื่อขึ้นเรือและพาพวกเขาไปที่มาร์แซย์ เพื่อสู้รบต่อต้านเยอรมันร่วมกับฝรั่งเศส หัวสะพานโรมาเนียยังคงเป็นเส้นทางหลบหนีสำคัญของชาวโปลหลายพันคนในช่วงล่อแหลมของเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 เส้นทางนี้ได้รับการร้องเรียนอย่างหัวเสียจากทูตฟาบริเชียสในกรณีที่เป็นเส้นทางของทหารโปแลนด์ข้ามมาโรมาเนีย สุดท้ายกษัตริย์คาโรลจึงทรงต้องกักกันชาวโปลที่หลบหนี

ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1939 นายกรัฐมนตรีคาลีเนสคูถูกลอบสังหารโดยกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก โดยมีการวางแผนที่เบอร์ลิน เพื่อกำจัดกลุ่ม คามาริลลา ที่สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างแข็งขัน วันต่อมา มือสังหารคาลีเนสคู 9 คน ถูกยิงทิ้งโดยไม่มีการพิจารณาคดี และในช่วงสัปดาห์วันที่ 22 - 28 กันยายน ค.ศ. 1939 สมาชิกกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก 242 คนตกเป็นเหยื่อการประหารชีวิตแบบวิสามัญฆาตกรรม เนื่องด้วยเรื่องน้ำมันทำให้โรมาเนียถูกมองว่ามีความสำคัญยิ่งต่อทั้งสองฝ่ายและในช่วงระหว่างสงครามลวงในปี 1939 - 1940 อันเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์อย่างไวน์เบิร์กเรียกว่า "การกระเสือกกระสนอย่างเงียบๆเพื่อชิงน้ำมันของโรมาเนีย" โดยรัฐบาลเยอรมันพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีอำนาจเหนือน้ำมันโรมาเนียเท่าที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสพยายามทุกวิถีทางเช่นกันเพื่อให้เยอรมนีไม่ได้น้ำมันจากโรมาเนียไป โดยเฉพาะอังกฤษได้ดำเนินแผนการก่อวินาศกรรมทำลายบ่อน้ำมันของโรมาเนียและทำลายเครือข่ายขนส่งน้ำมันไปยังเยอรมนีซึ่งไม่สำเร็จ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1940 กษัตริย์คาโรลทรงมีพระราชดำรัสผ่านสถานีวิทยุ โดยทรงประกาศว่า นโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาดของพระองค์สามารถทำให้โรมาเนียเป็นกลางและปลอดภัยจากอันตรายได้ ในพระราชดำรัสเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงประกาศว่าจะทรงก่อสร้างแนวป้องกันขนาดใหญ่รอบราชอาณาจักร ดังนั้นจะต้องมีการขึ้นภาษีเพื่อใช้จ่ายในการก่อสร้างนี้ ชาวโรมาเนียเรียกแนวเขตแดนนี้ว่า แนวอิแมกิโนต์ ถูกมองว่าเป็นแนวตั้งรับในจินตนาการของแนวแมกิโนต์ และผู้อยู่ใต้สังกัดของกษัตริย์คาโรลหลายคนสงสัยว่า เงินที่มีมากขึ้นจากการเพิ่มอัตราภาษีจะเข้าสู่บัญชีธนาคารของกษัตริย์ที่ธนาคารสวิส

กษัตริย์คาโรลทรงป้องกันการเดิมพันครั้งนี้ของพระองค์เกี่ยวกับการที่จะเลือกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรหรือฝ่ายอักษะ เพียงปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 เมื่อฝรั่งเศสดูเหมือนจะแพ้สงคราม กษัตริย์คาโรลจึงเปลี่ยนไปสนับสนุนฝ่ายอักษะ ในช่วงยุคหลังสงครามลวง หลังจากทรงต่อสู้กับกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กอย่างนองเลือดมานาน นำมาซึ่งจุดสูงสุดเมื่อนายกรัฐมนตรีคาลีเนสคูถูกลอบสังหาร กษัตริย์คาโรลจึงทรงเริ่มยื่นมือไปหากลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กที่ผู้นำบางคนยังรอดชีวิตอยู่ พระองค์ทรงมองว่ากลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กที่ "เชื่อง" จะสามารถใช้เป็นฐานสนับสนุนความนิยมได้ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 กษัตริย์คาโรลทรงเปิดการเจรจากับวาซิล โนวีอานู ผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กใต้ดินในโรมาเนีย แต่ก็เจรจาได้ไม่ถึงต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ฮอเรีย ซีมา ผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กที่ลี้ภัยในเยอรมนีได้รับการชักชวนให้สนับสนุนรัฐบาล ในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1940 ซีมาเดินทางจากเยอรมนีกลับโรมาเนียเพื่อเริ่มเจรจากับนายพลมีไฮ มอรูซอฟแห่งหน่วยสืบราชการลับเกี่ยวกับการที่กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเจ้าเข้าร่วมรัฐบาล ในวันที่ 28 พฤษภาคม หลังจากทรงรับรู้การพ่ายแพ้ของเบลเยียม กษัตริย์คาโรลทรงบอกต่อสภาราชบัลลังก์ว่า เยอรมนีกำลังจะชนะสงคราม และโรมาเนียจำเป็นต้องปรับนโยบายต่างประเทศและนโยบายภายในประเทศใหม่เพื่อผู้ชนะสงคราม ในวันที่ 13 มิถุนายน มีการตกลงกันในขณะที่กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพรรคแนวร่วมเรอเนซองแห่งชาติ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคแห่งชาติ) เพื่อแลกเปลี่ยนกับนโยบายที่ให้ดำเนินการต่อต้านชาวยิวอย่างเข้มข้นมากขึ้น พรรคแนวร่วมเรอเนซองแห่งชาติรวมตัวใหม่เป็นพรรคแห่งชาติ ซึ่งขนานนามว่าเป็น "พรรคเดี่ยวและอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จภายใต้ผู้นำสูงสุดล้นเกล้าล้นกระหม่อม สมเด็จพระเจ้าคาโรลที่ 2" ในวันที่ 21 มิถุนายน ฝรั่งเศสลงนามสงบศึกกับเยอรมนี ชนชั้นนำโรมาเนียที่เคยอยู่ภายใต้แนวคิดนิยมฝรั่งเศสมานาน การพ่านแพ้ของฝรั่งเศส ทำให้ชนชั้นนำกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นผู้น่าอัปยศอดสูในสายตาของประชาชนและทำให้ประชาชนหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กที่นิยมเยอรมันแทน

ในช่วงที่โรมาเนียหันไปสนับสนุนกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กและเยอรมนีภัยก็เข้ามาเยือน ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1940 สหภาพโซเวียตยื่นคำขาดเรียกร้องให้โรมาเนีบส่งมอบดินแดนเบสซาราเบีย (ซึ่งเคยเป็นของรัสเวียจนถึงปี 1918) และภาคเหนือของบูโกวินา (ซึ่งไม่เคยเป็นของรัสเซียเลย) ให้ส่งคืนแก่สหภาพโซเวียต และข่มขู่ว่าจะกอสงคราม ภายในสองวันคำขาดของโซเวียตก็ถูกปฏิเสธ กษัตริย์คาโรลทรงพิจารณาในตัวอย่างกรณีของฟินแลนด์ใน ค.ศ. 1939 ซึ่งเผชิญกับคำขาดของสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกัน แต่ผลของสงครามฤดูหนาวก็แทบเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจไม่ได้ ในตอนแรกกษัตริย์คาโรลทรงพิจารณาปฏิเสธคำขาด แต่เมื่อทรงได้รับแจ้งว่ากองทัพโรมาเนียไม่สามารถต่อกรกับกองทัพแดงได้ พระองค์ก็ตัดสินพระทัยสละดินแดนแบสซาราเบียและภาคเหนือของบูโกวินาให้สหภาพโซเวียต กษัตริยืคาโรลทรงขอร้องไปยังรัฐบาลเบอร์ลินให้ช่วยต่อต้านคำขาดสหภาพโซเวียต แต่ก็ทรงได้รับการบอกเพียงว่าให้เห็นดีงามกับข้อเรียกร้องของโจเซฟ สตาลิน การสูญเสียดินแดนโดยไม่ได้ต่อสู้กับสหภาพโซเวียตกลายเป็นความอัปยศระดับชาติของชาวโรมาเนีย และส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อพระเกียรติยศของกษัตริย์คาโรล ลัทธิบูชาบุคคลของกษัตริย์คาโรลใน ค.ศ. 1940 นั้นได้รับผลกระทบสูงสุด การสละดินแดนให้โซเวียตนั้นไม่มีการต่อต้านจากเบสซาราเบียและภาคเหนือของบูโกวินาเลย อันเป็นที่เผยให้เห็นว่า กษัตริย์คาโรลก็ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งเฉกเช่นทุกคน และที่ย่ำแย่คือศักดิ์ศรีของพระองค์ถูกบั่นทอน จนกษัตริย์คาโรลถูกมองว่าเป็นกษัตริย์ยังคงเป็นธรรมดาที่เจียมเนื้อเจียมตนไม่วิเศษเหมือนเมื่อก่อน

 
นายกรัฐมนตรีเอียน กีกูร์ตูและรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันโยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ ในซาลซ์บูร์ก เดือนกรกฎาคม ปี 1940

ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1940 ซีมาได้เข้าร่วมรัฐบาลในฐานะปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 1 กรกฎาคม กษัตริย์คาโรลทรงมีพระราชดำรัสทางวิทยุประกาศล้มเลิกสัญญาพันธมิตรกับฝรั่งเศสปี 1926 และสนธิสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส ที่ "รับประกัน" ฐานะของโรมาเนียในปี 1939 โดยทรงตรัสว่า ต่อจากนี้โรมาเนียจะแสวงหาการคุ้มครองภายใต้เยอรมัน "ระเบียบโลกใหม่" ในยุโรป วันถัดมา กษัตริย์คาโรลทรงเชิญให้เจ้าหน้าที่ทาวทหารเยอรมันเข้ามาฝึกซ้อมทหารในกองทัพโรมาเนีย วันที่ 4 กรกฎาคม กษัตริย์คาโรลเสด็จรับพิธีสาบานตนของรัฐบาลใหม่ที่นำโดย เอียน กีกูร์ตู เป็นนายกรัฐมนตรี และซีมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศิลปกรรมและวัฒนธรรม กีกูร์ตูเป็นผู้นำพรรคคริสเตียนแห่งชาติต่อต้านเซมิติกในช่วงทศวรรษที่ 1930 เขาเป็นเศรษฐีนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับเยอรมนี และเป้นที่รู้จักว่าเป็นพวกนิยมเยอรมัน ด้วยเหตุเหล่านี้ กษัตริย์คาโรลทรงหวังว่าการให้กีกูร์ตูเป็นนายกรัฐมนตรีจะทำให้ชนะใจฮิตเลอร์ และป้องกันการสูญเสียดินแดนต่อไป ในขณะเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงลงพระนามในสนธิสัญญาเศรษฐกิจใหม่กับเยอรมนีในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1940 และในที่สุดชาวเยอรมันก็ครอบงำโรมาเนียและครอบงำน้ำมันที่พวกเขาแสวงหามาตลอดในช่วงทศวรรษที่ 1930

หลังจากนั้นเป็นต้นมาสหภาพโซเวียตกลายเป็นตัวอย่างให้บัลแกเรียทำตามบ้างในการเรียกร้องดินแดนคืนจากโรมาเนีย โดยเรียกร้องดินแดนโดบรูยาที่สูญเสียไปในสงครามบอลข่านครั้งที่สอง ค.ศ. 1913 ส่วนฮังการีก็เรียกร้องดินแดนทรานซิลเวเนียคืนหลังจากสูญเสียไปหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โรมาเนียและบัลแกเรียเปิดการเจรจากันนำไปสู่สนธิสัญญาไครโอวาที่ยินยอมมอบดินแดนโดบรูบาตอนใต้ให้บัลแกเรีย ในทางปฏิบัติ กษัตริย์คาโรลไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะยกทรานซิลเวเนียให้ฮังการี และหากไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทูตของโรมาเนียและอิตาลี พระองค์ก็จะไม่ทรงยอมเช่นนั้น โรมาเนียและฮังการีกำลังจะทำสงครามกันในฤดูร้อน ปี 1940 ในขณะเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงจับกุมนายพลเอียน อันโตเนสคูในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1940 หลังจากเขาวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ โจมตีการทุจริตของรัฐบาลพระราชทานว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความอับอายที่กองทัพโรมาเนียได้รับและรวมถึงการสูญเสียเบสซาราเบียด้วย ทั้งฟาบริเชียสและแฮร์มันน์ เนาบาเชอร์ ผู้ปฏิบัติการแผนสี่ปีในบอลข่านได้เข้าแทรกแซงกษัตริย์คาโรล พวกเขาเสนอว่า การทำให้อันโตเนสคู "ตายจากอุบัติเหตุ" หรือ "ถูกยิงขณะพยายามหลบหนี" จะทำให้เกิด "ความไม่พอใจต่อผู้นำระดับสูงของเยอรมัน" เพราะอันโตเนสคูเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญในการเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี วันที่ 11 กรกฎาคม กษัตริย์คาโรลทรงปล่อยตัวอันโตเนสคู แต่ให้กักบริเวณที่อารามบิสตีอา

ฮิตเลอร์ตื่นตระหนกต่อสงครามระหว่างโรมาเนียและฮังการีที่อาจจะเกิดขึ้น เขากลัวว่าอาจจะทำให้แหล่งน้ำมันโรมาเนียถูกทำลาย หรือสหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงและยึดครองโรมาเนียทั้งหมด ในเวลานี้ ฮิตเลอร์กำลังพิจารณาอย่างจริงจังในการบุกสหภาพโซเวียตในปีค.ศ. 1941 และถ้าเขาจะทำเช่นนั้น เขาต้องใช้น้ำมันโรมาเนียในการเสริมสร้างกองทัพของเขา ในเหตุการณ์รางวัลเวียนนาครั้งที่สองวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1940 รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ และรัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี เคานท์กาลีอัซโซ ซีอาโน ได้ระบุให้ทรานซิลเวเนียตอนเหนือเป็นของฮังการี ในขณะที่ทรานซิลเวเนียตอนใต้เป็นของโรมาเนีย การประนีประนอมนี้ยิ่งทำให้รัฐบาลบูคาเรสต์และบูดาเปสต์ไม่พอใจอย่างลึกๆต่อรางวัลเวียนนา ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ โรมาเนียมีความสำคัญต่อฮิตเลอร์มากกว่าฮังการี แต่โรมาเนียเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสตั้งแต่ค.ศ. 1926 และเข้าร่วม "แนวหน้าสันติภาพ" ของอังกฤษในปี 1939 ฮิตเลอร์จึงไม่ชอบและไม่ไว้ใจกษัตริย์คาโรล เขาจึงมองว่าโรมาเนียต้องถูกลงโทษเนื่องจากใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าร่วมฝ่ายอักษะ หลังจากปารีสพ่ายแพ้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 เยอรมันเข้ายึดครองเกดอร์เซย์ และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการทูตสองหน้าของกษัตริย์คาโรลว่าดำเนินการจนถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1940 จากการถอดความจากเอกสารฝรั่งเศสที่เก็บมาได้แล้วแปลมาเป็นภาษาเยอรมันให้ฮิตเลอร์ (ฮิตเลอร์ไม่มีความสามารถทางภาษาใดๆ นอกจากภาษาเยอรมันของเขาเอง) เขาไม่ประทับใจกษัตริย์คาโรลที่พยายามสานสัมพันธ์กับฝรั่งเศสในเวลาเดียวกับที่เป็นมิตรกับเยอรมัน ในเวลาเดียวกัน ฮิตเลอร์มีข้อเสนอให้กษัตริย์คาโรลถึงเรื่อง "การรับประกัน" ดินแดนส่วนที่เหลือของโรมาเนียเพื่อไม่ให้สูญเสียเพิ่ม ซึ่งกษัตริย์คาโรลทรงยอมรับในทันที

หนทางสู่การสละราชบัลลังก์

 
กษัตริย์คาโรลที่ 2 และมกุฎราชกุมารมีไฮ ในช่วงทศวรรษที่ 1930

การยอมรับในรางวัลเวียนนาครั้งที่สองทำให้ประชาชนหมดศรัทธาในกษัตริย์คาโรลอย่างสิ้นเชิง และในช่วงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1940 มีการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในโรมาเนียเพื่อกดดันให้พระมหากษัตริย์สละราชบัลลังก์ ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1940 ซีมาซึ่งได้ลาออกจากคณะรัฐบาลได้กล่าวสุนทรพจน์เพื่อให้กษัตริย์คาโรลสละราชสมบัติ และกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กจะรวมตัวกันชุมนุมประท้วงทั่วโรมาเนียเพื่อกดดันให้พระองค์สละราชบัลลังก์ ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1940 วาเลอร์ พ็อพ ข้าราชบริพารและเป็นสมาชิกกลุ่ม คามาริลลา คนสำคัญได้ทูลถวายคำแนะนำแก่กษัตริย์คาโรลให้ทรงแต่งตั้งนายพลเอียน อันโตเนสคูเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ เหตุผลของพ็อพที่ทูลแนะนำพระองค์คือ อันโตเนสคูนั้นเป็นมิตรไมตรีกับกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กและเขาถูกจับกุมโดยกษัตริย์คาโรล ทำให้มีการเชื่อว่าเขามีเบื้องหลังเป็นฝ่ายต่อต้าน ซึ่งการทำเช่นนี้จะเป็นการเอาใจประชาชน และพ็อพรู้ว่า อันโตเนสคูได้รับความเห็นอกเห็นใจจากฝ่ายกองทัพ การแต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรีจะทำให้กลุ่มชนชั้นสูงและทหารจะไม่ต่อต้าน เมื่อฝูงชนจำนวนมากเริ่มรวมตัวกันด้านหน้าพระราชวังเพื่อเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์สละราชบัลลังก์ กษัตริย์คาโรลทรงพิจารณาคำแนะนำของพ็อพ แต่ไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะให้อันโตเนสคูเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มเข้าร่วมประท้วง พ็อพกลัวว่าโรมาเนียกำลังจะเกิดการปฏิวัติ ซึ่งไม่เพียงจะกวาดล้างระบอบกษัตริย์เท่านั้น แต่อาจจะกวาดล้างกลุ่มชนชั้นสูงที่ปกครองประเทศนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ไปด้วย ดังนั้นเพื่อกดดันกษัตริย์คาโรลมากยิ่งขึ้น พ็อพเข้าพบปะฟาบริเชียสในกลางคืนของวันที่ 4 กันยายน เพื่อขอให้เขาไปทูลบอกกษัตริย์คาโรลว่า ไรซ์เยอรมันต้องการให้นายพลอันโตเนสคูเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้นายพลอันโตเนสคูที่มีความทะเยอทะยานยิ่ง มีความปรารถนาที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีมานานแล้ว เขาจึงเริ่มมองข้ามความเกลียดชังที่มีมานานต่อกษัตริย์คาโรล และเขาแนะนำว่าเขาเตรียมที่จะให้อภัยกับความขัดแย้งและความขัดแย้งในอดีต

ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1940 อันโตเนสคูได้เป็นนายกรัฐมนตรี และกษัตริย์คาโรลทรงถ่ายโอนอำนาจเผด็จการส่วนใหญ่ไปให้แก่เขา ในฐานะนายกรัฐมนตรี อันโตเนสคูได้รับการยอมรับจากทั้งฝ่ายผู้พิทักษ์เหล็กและกลุ่มชนชั้นสูง กษัตริย์คาโรลทรงวางแผนที่จะประทับอยู่ต่อไปหลังจากแต่งตั้งอันโตเนสคู และในช่วงต้นเองอันโตเนสคูก็ไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องจากสาธารณชนที่จะให้พระมหากษัตริย์สละราชบัลลังก์ อันโตเนสคูเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขามีฐานการเมืองที่อ่อนแอ ในฐานะทหาร อันโตเนสคูเป็นคนสันโดษ หยิ่งยโสและหัวสูง มักจะอารมณ์เสียง่าย อันเป็นเหตุให้เขาไม่เป็นที่นิยมในหมู่เพื่อนทหารเท่าไร ความสัมพันธ์ทางการเมืองของอันโตเนสคูนั้นไม่ค่อยดีนัก และในตอนแรกอันโตเนสคูก็ไม่ตั้งใจที่จะต่อต้านกษัตริย์ จนกระทั่งเขาเริ่มมีพันธมิตรทางการเมืองบ้าง กษัตริย์คาโรลทรงมีรับสั่งให้อันโตเนสคูและนายพลดูมีทรู โคโรอามาบัญชาการกองทัพในบูคาเรสต์เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง แต่คำสั่งนี้ทั้งสองปฏิเสธที่จะทำตาม ในวันที่ 6 กันายน ค.ศ. 1940 เมื่อันโตเนสคูทราบแผนการที่พยายามลอบสังหารเขาซึ่งวางแผนโดยสมาชิกกลุ่มคามาริลลา คือ นายพลพอล ทีโอดอเรสคู ทำให้อันโตเนสคูหันมาอยู่ฝ่ายที่เรียกร้องให้กษัตริย์คาโรลสละราชบัลลงก์ ด้วยสาธารณชนต่อต้านพระองค์และกองทัพปฏิเสธที่จะทำตามรับสั่งกษัตริย์คาโรลจึงทรงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์

ตามข้ออ้างของนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน แลร์รี่ วัตต์ ระบุว่า กษัตริย์คาโรลทรงนำโรมาเนียเป็นพันธมิตรกับนาซีเยอรมนี และจอมพลเอียน อันโตเนสคูต้องสืบทอดความเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในปี 1940 อย่างไม่เต็มใจนัก โดฟ ลุนกู นักประวัติศาสตร์ชาวแคนาดา ก็เขียนไว้ว่า

"นักเขียน [วัตต์] อ้างว่า การที่โรมาเนียเป็นพันธมิตรโดยพฤตินัยกับเยอรมนีภายใต้อันโตเนสคูนั้น เป็นผลงานของกษัตริย์คาโรล ซึ่งเริ่มวางรากฐานพันธมิตรมาตั้งแต่ต้นปี 1938 แล้ว ข้อเรียกร้องของกษัตริย์คาโรลในเยอรมนีนั้นเป็นข้อตกลงแบบครึ่งใจ และพยายามถ่วงเวลาให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยความหวังว่ามหาอำนาจตะวันตก จะฟื้นคืนเกี่ยวกับแนวหน้าการเมืองการทูต ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1939 พร้อมกับด้านการทหาร แต่ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1940 เมื่ออำนาจของเยอรมนีดูเหมือนจะใกล้เข้ามา ในที่สุดพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนทิศทางทางเศรษฐกิจและการเมืองภายนอกประเทศเสียสิ้น นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างอย่างลึกซึ้งระหว่างคำของของกษัตริย์คาโรลในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของรัชกาลในการดำเนินการให้มีภารกิจทางทหารเยอรมันในการฝึกซ้อมทหารของโรมาเนียที่ไม่มีความพร้อม กับอีกประการคือการตัดสินใจของอันโตเนสคูที่มีขึ้นเกือบทันทีในช่วงที่เขาขึ้นสู่อำนาจว่าจะสู้เคียงข้างเยอรมันจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอันโตเนสคูปรารถนาเพียงแค่ยึดคืนดินแดนเบสซาราเบียเท่านั้น ดังนั้นอันโตเนสคูมีความกระตือรือร้นมากกว่าพวกเยอรมันในการเตรียมการโรมาเนียเข้าสู่สงครามต่อต้านสหภาพโซเวียต

เสด็จลี้ภัย

 
กษัตริย์มีไฮท่ามกลางนักการเมืองผู้พิทักษ์เหล็กในวาระการให้สัตยาบันกติกาสัญญาไตรภาคี ในปี 1940 จากซ้าย:วิลเฮล์ม ฟาบริเชียส ทูตเยอรมัน, ฮอเรีย ซีมา, นายพลเอียน อันโตเนสคู และกษัตริย์มีไฮ (ตรงกลาง)

ภายใต้การบีบบังคับของสหภาพโซเวียต และต่อมาโดยฮังการี บัลแกเรียและเยอรมนี ที่บังคับให้ยกดินแดนพิพาทของอาณาจักรให้ต่างชาตินั้น ท้ายที่สุดกษัตริย์คาโรลก็ทรงพ่ายแพ้ในเชิงเล่ห์เหลี่ยมต่อฝ่ายนิยมเยอรมันภายใต้จอมพลเอียน อันโตเนสคู พระองค์ได้สละราชบัลลังก์ให้พระราชโอรส คือ กษัตริย์มีไฮ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1940 โดยเสด็จลี้ภัยตอนแรกไปยังเม็กซิโก แต่ท้ายสุดทรงประทับที่ประเทศโปรตุเกส ในเม็กซิโกกษัตริย์คาโรลและลูเปสคูประทับที่เม็กซิโกซิตี ซึ่งทรงซื้อบ้านหลังหนึ่งในย่านที่มีราคาแพงในเม็กซิโกซิตี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อดีตกษัตริย์คาโรลทรงพยายามจัดตั้งขบวนการโรมาเนียอิสระซึ่งมีฐานดำเนินการในเม็กซิโกเพื่อโค่นล้มอันโตเนสคู อดีตกษัตริย์ทรงหวังว่าขบวนการโรมาเนียอิสระของพระองค์จะได้รับการยอมรับในฐานะรัฐบาลพลัดถิ่น และท้ายที่สุดจะทำให้พระองค์ได้รับการฟื้นฟูราชบัลลังก์ การยอมรับในขบวนการโรมาเนียอิสระของกษัตริย์คาโรลนั้นใกล้เป็นความจริงในปีค.ศ. 1942 เมื่อประธานาธิบดีมานูเอล อาบิลา กามาโช อนุญาตให้อดีตกษัตริย์คาโรลประทับยืนเคียงข้างเขาในขณะพิธีตรวจพลทหาร อดีตกษัตริย์ทรงต้องการขยายฐานปฏิบัติการในอเมริกา และรัฐบาลอเมริกันปฏิเสธที่จะให้พระองค์เสด็จเข้าประเทศ แต่อดีตกษัตริย์คาโรลก็ทรงติดต่อกับนักบวชนิการอีสเติร์นออร์ทอดอกซ์ในชิคาโกที่มีชื่อว่า บาทหลวงกลีเชอรี โมรารู และบาทหลวงอเล็กซานดรู โอปรีอานู ซึ่งพยายามจัดตั้งองค์กรในกลุ่มชุมชนชาวโรมาเนียอเมริกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลกลางสหรัฐรับรองคณะกรรมการ "โรมาเนียอิสระ" ในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของโรมาเนีย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เพื่อสนับสนุนกลุ่มนี้ อดีตกษัตริย์คาโรลทรงตีพิมพ์นิตยสารอเมริกัน ชื่อ เดอะฟรีโรมาเนียน และตีพิมพ์จำนวนมากในภาษาโรมาเนียและอังกฤษ ปัญหาสำคัญสำหรับความพยายามของอดีตกษัตริย์คือการระดมชุมชนชาวโรมาเนียอเมริกัน มีปัญหาตามรัฐบัญญัติควบคุมการอพยพเข้าเมืองของรัฐบาลสหรัฐในปี 1924 ซึ่งจำกัดการอพยพของประชาชนจากยุโรปตะวันออกมายังอเมริกาอย่างมาก ดังนั้นประชากรชาวโรมาเนียอเมริกันส่วนใหญ่ในปีทศวรรษที่ 1940 เป็นประชาชนที่อพยพมาก่อนที่รัฐบัญญัติปี 1924 ออกมา หรือเป็นบุตรหลานของพวกเขา ซึ่งคนกลุ่มนี้มองว่าอดีตกษัตริย์คาโรลไม่ได้มีความหมายอะไรต่อพวกเขามากนัก นอกจากนี้ชาวโรมาเนียอเมริกันส่วนใหญ่เป็นชาวยิวซึ่งไม่ให้อภัยและไม่ลืมว่า อดีตกษัตริย์คาโรลแต่งตั้งนักการเมืองบ้าคลั่งที่เกลียดชังชาวยิวอย่าง โกกา เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเพื่อเป็นการปรับปรุงภาพลักษณ์ในหมู่ชาวยิว อดีตกษัตริย์คาโรลทรงเกลี้ยกล่อมลีออน ฟิสเชอร์ อดีตรองประธานสมาคมยูไนเต็ดโรมาเนียนยิวแห่งอเมริกา เพื่อเขียนบทความในนามของพระองค์ในนิตยสารของชาวอเมริกันยิว เพื่อแสดงให้เห็นว่าอดีตกษัตริย์เป็นมิตรและเป็นผู้ปกป้องชาวยิวควมถึงปกป้องศัตรูของฝ่ายต่อต้านชาวยิวด้วย ปฏิกิริยาต่อบทความของฟิสเชอร์นั้นส่งผลกระทบเชิงลบโดยมีจดหมายถึงบรรณาธิการนิตยสารมากมายที่ทำการวิจารณ์อย่างขมขื่นว่า อดีตกษัตริย์คาโรลเป็นผู้ลงนามในกฎหมายของโกกาทั้งหมด ในการยึดคืนความเป็นพลเมืองโรมาเนียจากชาวยิว และทำให้สิทธิในการถือครองที่ดินของชาวยิวโรมาเนียผิดกฎหมาย และจดหมายมีการส่งต่อไปยังบริษัทต่างๆ และถึงชาวยิวที่ทำงานเป็นทั้งทนายความ แพทย์ และครู เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เขียนจดหมายยังระบุว่า อดีตกษัตริย์คาโรลทรงอนุญาตให้กฎหมายเหล่านี้ยังคงอยู่ในเล่มบทบัญญัติแม้ว่าจะปลดโกกาออกไปแล้วก็ตาม และผู้เขียนมีการวิจารณ์อย่างกระทบกระเทียบว่า ถ้าอดีตกษัตริย์คาโรลทรงเป็นมหามิตรกับชาวยิวในโรมาเนียจริง ชาวยิวโรมาเนียจะไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใครคนไหนอีกเลย

ข้อเสนอของอดีตกษัตริย์คาโรล คือ ต้องการให้คณะกรรมการโรมาเนียอิสระของพระองค์ได้รับการรับรองในฐานะรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ข้อเสนอของพระองค์ได้ถูกขัดขวางด้วยความไม่เป็นที่นิยมของพระองค์ในดินแดนเกิดของพระองค์เองโดยมีนักการทูตอเมริกันและอังกฤษหลายคนโต้เถียงกันว่า ถ้าหากให้การสนับสนุนอดีตกษัตริย์ จะเป็นการเพิ่มคะแนนนิยมให้นายพลอันโตเนสคูไปโดยปริยาย นอกจากนี้ยังมีศัตรูของฝ่ายโรมาเนียอิสระคือ วีโอเรล ตีลีอา ซึ่งอยู่ในลอนดอน เขาไม่ต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับฝ่ายกรรมการโรมาเนียอิสระของอดีตกษัตริย์ในเม็กซิโกซิตี วีโอเรลเคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในช่วงทศวรรษที่ 1930 เคยสนับสนุนกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติของชาวโรมาเนียในช่วงเวลานี้ ตีลีอามีความนิยมอังกฤษมากกว่านิยมฝรั่งเศส และเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยน การที่ตีลีอาอยู่ในอังกฤษได้เปลี่ยนแนวคิดทางการเมืองของเขา เขาได้ระบุว่า ไดีพบเห็นผู้คนหลากหลายชาติพันธ์อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขในอังกฤษอย่างกลมกลืน ทำให้เขาตระหนักว่า มันไม่มีความจำเป็นที่กลุ่มชาติพันธ์หนึ่งจะมีอำนาจครองชาติพันธ์อื่นทั้งหมด ดังที่คอดรีอานูเคยอ้างไว้ เหตุนี้ทำให้ตีลีอาแตกหักกับกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก เมื่อนายพลอันโตเนสคูสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "รัฐกองทัพแห่งชาติ" (National Legionary State) ตีลีอาลาออกจากตำแหน่งทูตในลอนดอนเพื่อประท้วงการรับตำแหน่งของอันโตเนสคู ต่อมาในปีค.ศ. 1940 ตีลีอาจัดตั้งคณะกรรมการโรมาเนียอิสระของเขาเองในลอนดอน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาวโรมาเนียจำนวนมากที่หลบหนีจากระบอบของอันโตเนสคู คณะกรรมการอิสระของตีลีอาไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอังกฤษ แต่เป็นที่รู้ว่าได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษและมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพลัดถิ่นโปแลนด์ อันเป็นเหตุให้อังกฤษปฏิเสธคณะกรรมการอิสระของอดีตกษัตริย์คาโรลในเม็กซิโกซิตี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกษัตริย์เท่านั้น หรือ กลุ่มคามาริลลา คณะกรรมการของตีลีอามีสำนักงานในอิสตันบูล ซึ่งสามารถส่งสาส์นไปยังที่หลบซ่อนในบูคาเรสต์ได้ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนจดหมายกับอดีตนายกรัฐมนตรีของกษัตริย์คาโรล คือ คอนสแตนติน อาร์เกตอเอียนู เป็นตัวแทนในการต่อต้านอันโตเนสคู อาร์เกตอเอียนูรายงานว่า กษัตริย์มีไฮทรงต่อต้านระบอบอันโตเนสคู และมีพระราชประสงค์ที่จะก่อรัฐประหารขับไล่อันโตเนสคู โดยรอให้ฝ่ายสัมพันธมิตรบุกเข้าคาบสมุทรบอลข่าน นายพลอันโตเนสคูนั้นเป็นเผด็จการ แต่นายทหารโรมาเนียได้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ อันเป็นเหตุผลเป็นที่เชื่อในลอนดอนว่า กองทัพโรมาเนียจะเข้าข้างฝ่ายพระมหากษัตริย์ในการต่อต้านนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่ทั้งสองคนขัดแย้งกัน ในมุมมองของอังกฤษ ได้มีการเชื่อมโยงว่า การดำเนินการของอดีตกษัตริย์คาโรลคือความพยายามปลดพระราชโอรสออกจากบัลลังก์อีกครั้ง และยิ่งทำให้อังกฤษดำเนินการร่วมกับกษัตริย์มีไฮได้ยาก

อดีตกษัตริย์คาโรลและมักดา ลูเปสคู เสกสมรสกันที่รีโอเดจาเนโร บราซิล ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1947 มักดาเรียกตัวเธอเองว่า เจ้าหญิงเอเลนา ฟอน โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น ในปีค.ศ. 1947 หลังจากคอมมิวนิสต์ยึดครองโรมาเนีย มีการจัดตั้งคณะกรรมการชาติโรมาเนียเพื่อต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ อดีตกษัตริย์คาโรลประสงค์ที่จะเข้าร่วมคณะกรรมการชาติโรมาเนีย แต่ได้รับการคัดค้านจากทุกฝ่าย และฝ่ายนิยมกษัตริย์โรมาเนียแสดงให้เห็นชัดว่าพวกเขาเคารพในอดีตกษัตริย์มีไฮ ในฐานะกษัตริย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของโรมาเนียมากกว่าพระราชชนก อดีตกษัตริย์คาโรลยังทรงลี้ภัยต่อไปตลอดพระชนม์ชีพช่วงสุดท้ายของพระองค์ พระองค์ไม่ทรงได้พบอดีตกษัตริย์มีไฮ พระราชโอรสอีกนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1940 ซึ่งพระองค์เสด็จออกจากโรมาเนีย อดีตกษัตริย์มีไฮเองก็ไม่ทรงประสงค์ที่จะพบพระราชชนก ซึ่งทรงมองว่าพระราชชนกทรงทำให้พระราชชนนีของพระองค์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติอย่างน่าอับอายหลายครั้ง และพระองค์ไม่เสด็จร่วมพระราชพิธีฝังพระบรมศพพระราชชนกด้วย ว่ากันว่า "อดีตกษัตริย์คาโรลทรงปรารถนาที่จะพบพระโอรสมาก แต่หลังจากเสด็จออกจากโรมาเนียก็ไม่ทรงพบกันอีกเลย... อดีตกษัตริย์คาโรลทรงพยายามหลายครั้งและพร้อมที่จะพบกับพระราชโอรสทุกเมื่อ แต่อดีตกษัตริย์มีไฮจะทรงปฏิเสธทุกครั้ง"

พระบรมศพกลับคืนสู่โรมาเนีย

อดีตกษัตริย์คาโรลที่ 2 สวรรคตที่เอสตอริล ริเวียราโปรตุเกส ใน ค.ศ. 1953 พระศพของพระองค์ถูกบรรจุในสุสานราชวงศ์บรากันซาในกรุงลิสบอน ก่อนที่จะย้ายไปยังวิหารคูร์ตีอาเดออาร์เกสในโรมาเนีย เมื่อ ค.ศ. 2003 ซึ่งเป็นวิหารที่ฝังพระศพราชวงศ์โรมาเนียตามธรรมเนียม ตามคำขอและค่าใช้จ่ายที่ออกโดยรัฐบาลโรมาเนีย พระศพถูกฝังด้านในวิหาร ซึ่งเป็นที่ฝังพระศพกษัตริย์และราชินีโรมาเนีย แต่ศพของเอเลนา "มักดา" ถูกฝังภายนอกเพราะไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์ พระโอรสทั้งสองของพระองค์ไม่ได้เข้าร่วมพิธี อดีตกษัตริย์มีไฮทรงให้เจ้าหญิงมาร์กาเรตาแห่งโรมาเนีย พระราชธิดาและเจ้าชายราดูแห่งโรมาเนีย พระสวามีเสด็จแทนพระองค์

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2018 มีการประกาศว่าพระศพของกษัตริย์คาโรลที่ 2 จะถูกย้ายไปอัครสังฆมณฑลและวิหารใหม่ ฝังเคียงคู่กับพระศพของเฮเลนแห่งกรีซและเดนมาร์ก อดีตพระมเหสี นอกจากนี้พระศพของเจ้าชายเมอร์เซียแห่งโรมาเนีย พระอนุชาของกษัตริย์คาโรลจะถูกย้ายไปยังวิหารใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันพระศพยังคงฝังอยู่ที่ปราสาทบราน

คารอล ลัมบรีนอ ถูกสั่งห้ามเข้าโรมาเนีย (ตั้งแต่ ค.ศ. 1940) แต่ศาลโรมาเนียได้ประกาศว่าเขาเป็นโอรสที่ถูกต้องตามกฎหมายใน ค.ศ. 2003 คารอลมาเยือนบูคาเรสต์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ไม่นานนักเขาก็เสียชีวิต

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

กษัตริย์คาโรลทรงถูกนำไปเป็นแบบ [ในฐานะ เจ้าชายคาโรล] ในตอนสุดท้ายของภาคที่สามซีรีส์เรื่อง Mr Selfridge ซึ่งรับบทโดยแอนตัน เบลค นักแสดงชาวอังกฤษ

กษัตริย์คาโรลกลายเป็นแรงบันดาลใจแก่ตัวละครที่มีชื่อว่า เจ้าชายชาร์ลแห่งคาร์ปาเทีย ในละครเวทีปี 1953 เรื่อง The Sleeping Prince และในภาพยนตร์ปี 1957 เรื่อง The Prince and the Showgirl

พระราชตระกูล

อ้างอิง

  • Royal House of Romania
  • Royal House of Greece

เชิงอรรถ

  1. King Carol II 6 ตุลาคม 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. ตามรัฐธรรมนูญโรมาเนีย ค.ศ. 1938 – มาตรา 41 มกุฎราชกุมารมีไฮดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการในทันทีในช่วงที่พระราชบิดาไม่ทรงประทับอยู่ในประเทศ
  3. Sankey, Margaret "Carol II" pages 63-64 from War in the Balkans: An Encyclopedic History from the Fall of the Ottoman Empire to the Breakup of Yugoslavia edited by Richard Hall, Santa Barbara: ABC-CLIO, 2014 page 63.
  4. Herman, Eleanor Sex with the Queen, New York: HarperCollins, 2009 pages 262-265.
  5. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 92.
  6. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 93.
  7. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 95.
  8. "Ce citeau românii acum 68 de ani?", Ziua, 29 November 2007.
  9. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 94.
  10. Herman, Eleanor Sex with the Queen, New York: HarperCollins, 2009 page 266.
  11. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 pages 96-97.
  12. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 97.
  13. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 98.
  14. Payne, Stanley A History of Fascism, 1914-1945 Madison: University of Wisconsin, 1996 page 278.
  15. Cavendish, Richard (April 2003). "Death of Carol II of Romania". History Today. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  16. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 91
  17. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 pages 100-101
  18. Quinlan, Paul The Playboy King, Westpoint: Greenwood Press, 1995 page 116.
  19. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 108.
  20. Francisco Veiga, Istoria Gărzii de Fier, 1919-1941: Mistica ultranaționalismului, Humanitas, Bucharest, 1993, p.130
  21. Z. Ornea, , in România Literară, Nr. 23/1999 (โรมาเนีย)
  22. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 pages 94-95.
  23. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 95.
  24. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 110.
  25. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 111.
  26. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 pages 705-706.
  27. Boia, Lucian History and Myth in Romanian Consciousness, Budapest: Central European University Press, 2001 page 205.
  28. Boia, Lucian History and Myth in Romanian Consciousness, Budapest: Central European University Press, 2001 pages 204-205.
  29. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 113.
  30. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 115.
  31. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 pages 115-116.
  32. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 116.
  33. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany, New York: Enigma Books, 2013 page 251.
  34. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 110.
  35. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 234.
  36. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 236.
  37. Leitz, Christian "Arms as Levers: "Matériel" and Raw Materials in Germany's Trade with Romania in the 1930s" pages 312-332 from The International History Review, Volume 19, Issue # 2, May 1997 page 315
  38. Leitz, Christian "Arms as Levers: "Matériel" and Raw Materials in Germany's Trade with Romania in the 1930s" pages 312-332 from The International History Review, Volume 19, Issue # 2, May 1997 pages 314-315
  39. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 109.
  40. Bucur, Marie "Carol II" pages 87-118 from Balkan Strongmen: Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jürgen Fischer, West Lafayette: Purdue University Press, 2007 page 102.
  41. Emmerson, J.T The Rhineland Crisis 7 March 1936 A Study in Multilateral Diplomacy, Ames: Iowa State University Press, 1977 page 171
  42. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Diplomatic Revolution in Europe 1933–36, Chicago: University of Chicago Press, 1970 page 261.
  43. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany, New York: Enigma Books, 2013 page 253.
  44. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 pages 110-113.
  45. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany, New York: Enigma Books, 2013 pages 252-253.
  46. Lungu, Dov "The French and British Attitudes towards the Goga-Cuza Government in Romania, December 1937-February 1938" pages 323-341 from Canadian Slavonic Papers /Revue Canadienne des Slavistes Volume 30, Issue # 3 September 1988 page 326.
  47. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 415.
  48. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 238.
  49. Lungu, Dov "The French and British Attitudes towards the Goga-Cuza Government in Romania, December 1937-February 1938" pages 323-341 from Canadian Slavonic Papers /Revue Canadienne des Slavistes Volume 30, Issue # 3 September 1988 page 327.
  50. Lungu, Dov "The French and British Attitudes towards the Goga-Cuza Government in Romania, December 1937-February 1938" pages 323-341 from Canadian Slavonic Papers /Revue Canadienne des Slavistes Volume 30, Issue # 3 September 1988 page 325.
  51. Haynes, Rebbecca "Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 704.
  52. Crampton, Richard Eastern Europe in the Twentieth Century and After, London: Routledge, 1997 page 116.
  53. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 pages 120-121.
  54. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 121.
  55. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 122.
  56. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 124.
  57. Quinlan, Paul The Playboy King, Westpoint: Greenwood Press, 1995 page 182.
  58. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 123.
  59. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 125.
  60. Rumänien, 24. Februar 1938 : Verfassung Direct Democracy
  61. Payne, Stanley G. (1996). A History of Fascism, 1914-1945. Routledge. ISBN 0203501322.
  62. "Noble Gesture" 2008-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, in ไทม์, 24 April 1939
  63. Alina Mungiu-Pippidi, "The Ruler and the Patriarch: The Romanian Eastern Orthodox Church in Transition" 8 กันยายน 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, East European Constitutional Review, Volume 7 Number 2, Spring 1998
  64. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 237.
  65. Lungu, Dov "The French and British Attitudes towards the Goga-Cuza Government in Romania, December 1937-February 1938" pages 323-341 from Canadian Slavonic Papers /Revue Canadienne des Slavistes Volume 30, Issue # 3 September 1988 page 340.
  66. Ancel, Jean The History of the Holocaust in Romania, Lincoln: University of Nebraska Press, 2011 page 41.
  67. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 127.
  68. La Vie Chevaleresque, January–April 1937, 15/16:p.129; December 1938, 21/22:p.75
  69. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 491.
  70. Ramet, Sabrina Eastern Europe: Politics, Culture, and Society Since 1939 Bloomington: Indiana University Press, 1998 page 191.
  71. Payne, Stanley A History of Fascism, 1914-1945 Madison: University of Wisconsin, 1996 page 289.
  72. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 pages 491-492.
  73. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 173.
  74. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 492.
  75. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 pages 471-472
  76. Hale, Christopher Hitler's Foreign Executioners: Europe's Dirty Secret Brimscombe: History Press, 2011 page 89
  77. Haynes, Rebecca "Reluctant Allies? Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania" pages 105-134 from The Slavonic and East European Review, Volume 85, Issue # 1, January 2007 page 131.
  78. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 493.
  79. Ancel, Jean The History of the Holocaust in Romania, Lincoln: University of Nebraska Press, 2011 page 42.
  80. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 174.
  81. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 175.
  82. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 page 494.
  83. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 pages 169-170.
  84. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 pages 175-176.
  85. Weinberg, Gerhard The Foreign Policy of Hitler's Germany Starting World War II 1937-1939, Chicago: University of Chicago Press, 1980 pages 540-544.
  86. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 pages 176-178.
  87. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 176.
  88. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 pages 210-211.
  89. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 211.
  90. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 214.
  91. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 289.
  92. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 290.
  93. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 p.300.
  94. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 p.291.
  95. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 p.292.
  96. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 pages 300-301.
  97. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 302.
  98. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 304.
  99. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 pages 470-471.
  100. Watt, Donald Cameron How War Came, New York: Pantheon Books, 1989 page 471
  101. Weinberg, Gerhard A World In Arms, Cambridge: Cambridge University Press, 2005 page 79.
  102. Ancel, Jean The History of the Holocaust in Romania, Lincoln: University of Nebraska Press, 2011 page page 42.
  103. Ancel, Jean The History of the Holocaust in Romania, Lincoln: University of Nebraska Press, 2011 page page 43.
  104. Weinberg, Gerhard A World In Arms, Cambridge: Cambridge University Press, 2005 pages 78-79.
  105. Crampton, Richard Eastern Europe in the Twentieth Century and After, London: Routledge, 1997 page 117.
  106. Weinberg, Gerhard A World In Arms, Cambridge: Cambridge University Press, 2005 pages 135-136.
  107. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 pages 707-708.
  108. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 708.
  109. of the International Commission on the Holocaust in Romania
  110. Weinberg, Gerhard A World In Arms, Cambridge: Cambridge University Press, 2005 page 136.
  111. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 709.
  112. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 702.
  113. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 703.
  114. Weinberg, Gerhard A World In Arms, Cambridge: Cambridge University Press, 2005 page 184.
  115. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 715.
  116. Weinberg, Gerhard A World In Arms, Cambridge: Cambridge University Press, 2005 page 185.
  117. Weinberg, Gerhard A World In Arms, Cambridge: Cambridge University Press, 2005 page 984.
  118. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 710.
  119. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 711.
  120. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 712.
  121. Delia Radu,"Serialul 'Ion Antonescu și asumarea istoriei' (1)", BBC Romanian edition, August 1, 2008 (โรมาเนีย)
  122. Final Report, p.320; Morgan, p.85; Ornea, p.326
  123. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 713.
  124. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 718.
  125. Haynes, Rebbecca " Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State, September 1940" pages 700-725 from The Slavonic and East European Review, Volume 77, Issue # 4. October 1999 page 714.
  126. Lungu, Dov Review of Romanian Cassandra: Ion Antonescu and the Struggle for Reform, 1916-1941 pages 378-380 from The International History Review, Volume 16, Issue # 2 May 1994 pages 379-380.
  127. http://www.tkinter.smig.net/Romania/References/CarolHitlerLupescu/index.htm
  128. Petraru, Marius "The History of the Romanian National Committee" pages 121-197 from The Inauguration of “Organized Political Warfare”: The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn, Budapest: Helena History Press, 2013 pages 129.
  129. Petraru, Marius The History of the Romanian National Committee pages 121-197 from The Inauguration of “Organized Political Warfare”: The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn, Budapest: Helena History Press, 2013 pages 128-129.
  130. Petraru, Marius The History of the Romanian National Committee pages 121-197 from The Inauguration of “Organized Political Warfare”: The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn, Budapest: Helena History Press, 2013 page 129.
  131. Petraru, Marius "The History of the Romanian National Committee" pages 121-197 from The Inauguration of “Organized Political Warfare”: The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn, Budapest: Helena History Press, 2013 pages 128.
  132. Petraru, Marius "The History of the Romanian National Committee" pages 121-197 from The Inauguration of “Organized Political Warfare”: The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn, Budapest: Helena History Press, 2013 page 128.
  133. Petraru, Marius "The History of the Romanian National Committee" pages 121-197 from The Inauguration of “Organized Political Warfare”: The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn, Budapest: Helena History Press, 2013 pages 128-129.
  134. . Archived from the original on 13 June 2008. สืบค้นเมื่อ 2 August 2016.CS1 maint: BOT: original-url status unknown (link), Ziua, 14 January 2006
  135. "Mr Selfridge Episode 10". itv.com. 28 May 2015.
  136. http://www.natura2000oltenita-chiciu.ro/wp-content/uploads/2019/02/Vladimir-Toncea-Carpathia-from-fictional-country-to-nature-conservation.pdf



คาโรลท, แห, งโรมาเน, พระเจ, ลาคม, 1893, เมษายน, 1953, ทรงเป, นกษ, ตร, แห, งราชอาณาจ, กรโรมาเน, ยต, งแต, นายน, 1930, กระท, งสละราชบ, ลล, งก, เม, อว, นท, นยายน, 1940คาโรลท, 2กษ, ตร, 1918พระมหากษ, ตร, โรมาเน, ยครองราชย, นายน, 1930, นยายน, 1940, อนหน, าม, ไฮท, 1ถ,. phraecakhaorlthi 2 aehngormaeniy 15 tulakhm kh s 1893 4 emsayn kh s 1953 thrngepnkstriyaehngrachxanackrormaeniytngaet 8 mithunayn kh s 1930 krathngslarachbllngkemuxwnthi 6 knyayn kh s 1940khaorlthi 2kstriykhaorlthi 2 aehngormaeniy kh s 1918phramhakstriyormaeniykhrxngrachy8 mithunayn kh s 1930 6 knyayn kh s 1940 10 pi 90 wn kxnhnamiihthi 1thdipmiihthi 1naykrthmntriduraychux xiyuliw maniwcixxrek miorenskhuxiyuliw maniw khrngthi 2 cixxrek miorenskhu khrngthi 2 niokhil xxrkaxelksandru iwda wxowdxiyuliw maniw khrngthi 3 xelksandru iwda wxowd khrngthi 2 exiyn ci dukhakhxnsaetntin xngekelskhucixxrek tataerskhuxxketewiyn okkaxkhrbidrexli khrisetxaxarmand khalienskhucixxrek xareksanukhxnsaetntin xarektxexiynucixxrek tataerskhu khrngthi 2 exiyn kikurtuexiyn xnotenskhukhuxphiesksisi lmbrinx aetng 1918 omkha 1919 ecahyingehelnaehngkrisaelaednmark aetng 1921 hya 1928 mkda luepskhu aetng 1947 phrarachbutrkharxl lmbrinxkstriymiihthi 1 aehngormaeniyphranametmkhaorl kharaximanrachwngsohexnoslelirn sikmaringenginphrarachbidakstriyefxrdinandthi 1 aehngormaeniyphrarachmardaecahyingmariaehngexdinebxraphrarachsmphph25 tulakhm kh s 1893 1893 10 25 prasathepelch sinaexiy rachxanackrormaeniyswrrkht4 emsayn kh s 1953 59 phrrsa exstxril riewiyraoprtueks oprtueksfngphrasphsusanhlwngrachwngsbraknsa oprtueks 1953 mhawiharekhxrthixaedxxareks ormaeniy 2003 kstriykhaorlepnphrarachoxrsphraxngkhotinkstriyefxrdinandthi 1 idrbkarsthapnaepnmkudrachkumaremux kh s 1914 phayhlngkarswrrkhtkhxngsmedcphraxyka kstriykhaorlthi 1 sungepnphraxnuchainphraxyka phraxngkhepnkstriyrachwngsohexinthsxlelirnaehngormaeniyphraxngkhaerkthiprasutiinpraethsormaeniy phramhakstriyphraxngkhkxnhnannprasutiaelaecriyphrachnsaineyxrmni aelaesdcmaormaeniyemuxbrrlunitiphawaaelw mkudrachkumarkhaorlthrngichphasaormaeniyepnphasahlk aelaepnsmachikphrarachwngsormaeniyphraxngkhaerkthiidrbkarxphibaltamsasnakhristnikayxxrthxdxks aehngekhtxkhrbidraehngormaeniy 1 phraxngkhthrngmiphrabukhlikecasaray xnmiswnihtxngthrngekiywphnkbpyhainkarxphiesksmrstlxdrchkal aelatlxdphrachnmchiphkhxngphraxngkhthrngprasbkberuxngxuxchawmakmay nbtngaetthithrngxphiesksmrskbsisi lmbrinxaelaecahyingehelnaehngkrisaelaednmark phraxngkhyngthrngkhngkhwamsmphnthkbmkda luepskhu sungthaihphraxngkhtxngslasiththiinkarsubrachbllngkin kh s 1925 aelatxngesdcxxknxkpraethsphayhlngkarswrrkhtkhxngkstriyefxrdinandin kh s 1927 aelaphrarachoxrswy 5 phrrsakhxngecachaykhaorlthrngkhrxngrachysubtxepnkstriymiihthi 1 ecachaykhaorlesdcklbormaeniyin kh s 1930 aelathrngyudbllngkcakphrarachoxrsaelakhnaphusaercrachkaraethnphraxngkh rchsmykhxngphraxngkhoddedncakkarprbkhwamsmphnthkbnasieyxrmni karyxmrbkdhmaykartxtanyiw aelakarphthnaipsurabxbephdckartngaetpi kh s 1938 inwnthi 9 knyayn kh s 1940 phraxngkhthukbngkhbihesdcxxknxkpraethsodynaykrthmntriexiyn xnotenskhu odykstriymiihthi 1 phrarachoxrsthrngklbmaepnkstriyaehngormaeniyxikkhrng 2 enuxha 1 chwngtnphrachnmchiph 2 karxphiesksmrschwngaerkaelaeruxngxuxchaw 3 eruxngxuxchawrxbtwmkda luepskhu 4 klbkhunsurachbllngk 5 lththibuchabukhkhl 6 phramhakstriyphukhrxbnga 7 kareluxktng kh s 1937 aelarthbalkhxngokka 8 rabxbephdckarodyrachwngs 9 sngkhramolkkhrngthisxng 10 hnthangsukarslarachbllngk 11 esdcliphy 12 phrabrmsphklbkhunsuormaeniy 13 inwthnthrrmsmyniym 14 phrarachtrakul 15 xangxing 16 echingxrrthchwngtnphrachnmchiph aekikh caksay mkudrachkumarefxrdinand kstriykhaorlthi 1 aelaecachaykhaorl raw kh s 1905 ecachaykhaorlprasutithiprasathepels thrngidrbkarxbrmeliyngducaksmedcphraxyka phraxnuchainphraxyka khux kstriykhaorlthi 1 phraxngkhphyayamkidknmkudrachkumarefxrdinand aelamkudrachkumarimari imihekhamamiswnekiywkhxngkbphrarachoxrs 3 ormaeniyinyukhtnstwrrsthi 20 epnthiruckineruxngmisilthrrmthangephsaebb latin thiphxnprn klawkhux phuhyingswythiaetngnganaelwaelakhbhachayrupngamkhnxunepnkhnrk klbepnthiykyxngsrresriywaokekaelamirsniym aelaecahyingmariaehngexdinebxra sungepnecahyingxngkvsthithukxbrmeliyngdudwykhaniymaebbwiktxeriyn inthisudk klayepnkhnphunemuxng ipodypriyay mkudrachkumarithrngmieruxngxuxchawkbchaychawormaeniyhlaykhn chayehlannsamarththaihphranangidrbkhwamphungphxicthangxarmnaelathangephsidmakkwamkudrachkumarefxrdinand sungphraxngkhcaimphxphrathyxyangrunaerngthithrngthrabwaphrachayamikhnrkxun 4 kstriykhaorlthi 1 phuekhmngwdthrngrusukwamkudrachkumarimariimehmaasmthicaxphibalecachaykhaorl xnenuxngcakthrngmieruxngxuxchaw xikthngyngthrngeyawwyekinip phranangmiphrachnmayuephiyng 17 phrrsaethanninchwngthiecachaykhaorlprasuti inkhnathimkudrachkumarimarithrngmxngwakstriykhaorlepnkhneyncha epnthrrachthioprdkarkhrxbngaphrachnmchiphkhxngphrarachoxrskhxngphranangnxkcakni kstriykhaorlthrngiroxrsthida smedcphrarachiniexlisaebth phramehsikimmiphraprasutikalxikelynbtngaet kh s 1870 kstriyaelaphrarachinithrngprarthnaphrarachoxrstlxdphrachnmchiph cungxbrmeliyngduecakhaorlesmuxnphrarachoxrskhxngphraxngkhexng aelathrngtamphrathyecachaykhaorlinthukeruxngtamphrarachprasngkh mkudrachkumarefxrdinandmiphrabukhlikkhxnkhangkhixayaelaxxnaex phraxngkhthukbdbngdwyesnhkhxngmkudrachkumarimarithithrngklayepnphrabrmwngsanuwngsormaeniyphraxngkhhnungthithrngepnthirkmakthisud inchwngthiecriyphrachnsa ecachaykhaorlthrngrusuklaxayphrathythiphrarachbidakhxngphraxngkhtxngthukkddnthngcaksmedcphraxykaaelaphrarachchnnikhxngphraxngkh 5 phrachnmchiphwyeyawkhxngecachaykhaorlesmuxntkxyuinphawasngkhramchkkaeyxrahwangkstriykhaorlaelamkudrachkumarimari sungthngsxngphraxngkhmiaenwkhidthiaetktangkninkarxbrmeliyngduecachaykhaorl 6 mari buekhxr nkprawtisastrchawormaeniy idxthibaythungkartxsuknrahwangkstriykhaorlthi 1 aelamkudrachkumarimari waepnkartxsuknrahwangaenwkhidxnurksniymaebbprsesiydngediminstwrrsthi 19 kbaenwkhidesriniym khwamkhidsmyihmaelakhaniymkhwamepnxisrathangephskhxng phuhyingyukhihm thiepntwtnkhxngmkudrachkumarimari 6 dngnnlksnakhxngmkudrachkumarimariaelakstriykhaorlthi 1 cungthaythxdxyangphsmphsanintwkhxngecachaykhaorl 6 odyswnihykartxsurahwangkstriykhaorlthi 1 aelamkudrachkumarimarimkcacblngdwykartamphrathyphraoxrsaelakarthukkidknkhwamrkcakfayidfayhnung 6 karxphiesksmrschwngaerkaelaeruxngxuxchaw aekikh mkudrachkumarkhaorlaehngormaeniyin kh s 1918 inchwngwyhnumkhxngecachaykhaorl phraxngkhmilksnaepn ephlybxy sungepnkhathithukklawkhanthungphraxngkhtlxdphrachnmchiph kstriykhaorlthi 1 thrngepnkngwlthiecachaykhaorlthrngsnphrathyephiyngaetkarsasmaestmp aelaecachayhnumthrngichewlamakmayipkbkareswynacnth karcdnganeliyngaelakarmikhwamsmphnthkbehlastrimakhnahlaytaaelathrngmibutrnxksmrsxyangnxysxngkhnkbnkeriynsawwyrunthichuxwa maeriy martini khnathiecachaykhaorlmiphrachnmayuephiyng 19 phrrsa ecachaykhaorlthrngklayepnthioprdprankhxngnkhnngsuxphimphaenwsubsibninthathwolksungmkcamiphaphthaykhxngphraxngkhlngkhawthithrngcdnganeliyngaelathrngdumnacnthphrxmkbmistrixyukhangkay 7 kstriykhaorlthi 1 thrngtxngkarihecachayhnumeriynruekiywkbkhaniymaebbprsesiy odythrngmxbhmayihecachayekharwmfukfninkxngthharprsesiyin kh s 1913 3 inchwngthithrngptibtihnathiinkxngthharprsesiythi 1 phraxngkhimthrngbrrluphlsaercethair aelaecachaykhaorlyngthrngepn ecachayephlybxy txip ormaeniyinchwngtnkhriststwrrsthi 20 epnpraethsthiniymfrngessxyangying inkhwamepncringaelwxaccaepnpraethsthiniymfrngessthisudinolkyukhnn sungchnchnnachawormaeniyhlngihlthuksingthiepnaebbfrngessaelaechuxwafrngessepnomedlthismburnaebbinthukeruxng ecachaykhaorlthrngidrbxiththiphlniymfrngessthiaephrhlayinpraethsinradbhnung aettamkhabrryaykhxngmarkaert aesnkhiy nkprawtisastrchawxemrikn rabuwa ecachaykhaorlthrng rklththithharaebbeyxrmn thithrngrbsubthxdmakcakkstriykhaorlthi 1 aelathrngmikhwamkhidthiwa rthbaltamprachathipitythnghmdlwnepnrthbalthixxnaex 3 mkudrachkumarkhaorlkhnathrngfukthharinchwngsngkhramolkkhrngthihnung thrngfukkarichpunochaechth kstriykhaorlthi 1 swrrkhtinwnthi 10 tulakhm kh s 1914 aelaphraxngkhidepnmkudrachkumarkhaorl inrchsmykhxngkstriyefxrdinandthi 1 phrarachbida ineduxnphvscikayn piediywkn ecachaykhaorlthrngekharwmepnsmachikwuthisphainwuthisphaormaeniy sungtamrththrrmnuyormaeniy kh s 1866 rbrxngihphraxngkhmithinnginwuthisphaemuxthrngbrrlunitiphawaaelw 8 phraxngkhthrngepnthiruckindankhwamrkmakkwathksakarepnphuna mkudrachkumarkhaorlxphiesksmrskhrngaerkthimhawiharemuxngxxaedsa yuekhrn inwnthi 31 singhakhm kh s 1918 kbocxnna mari waelntina lmbrinx 1898 1953 hrux sisi butrsawkhxngnayphlchawormaeniy khux khxnsaetntin lmbrinx inkhwamepncringaelwmkudrachkumarkhaorlthrnglathinghnathithangthharodyimidrbxnuyatephuxxphiesksmrskblmbrinx xnnamasungkhwamkhdaeyngkhrngihyinchwngnn 9 karxphiesksmrskhrngnithukprakaswaepnomkhainwnthi 29 minakhm kh s 1919 odysalxilfxfekhanthti mkudrachkumarkhaorlaelasisiprathbxyudwyknaemkarxphiesksmrscaepnomkha thrngmioxrshnungphraxngkhrwmknkhux emxresiy ekrkxr kharxl lmbrinx sungprasutiinwnthi 8 mkrakhm kh s 1920mkudrachkumarkhaorlxphiesksmrsxikkhrnginexethns praethskris wnthi 10 mkrakhm kh s 1921 kbecahyingehelnaehngkrisaelaednmark inormaeniythrngmiphranamwa mkudrachkumariexelna thngsxngphraxngkhepnphrayatikn aelaepnphrapnddainsmedcphrarachininathwiktxeriy aelathrngsubechuxsaycakckrphrrdiniokhlsthi 1 aehngrsesiyechnediywkn mkudrachkumariehelnthrngrbruthungphvtikrrmthiesephlkhxngmkudrachkumakhaorlaelaeruxngxuxchawkxnhnani aetkmikarphisucnwaphranangthrnghlngrkmkudrachkumarkhaorl khwamprarthnathixyuebuxnghlngkarxphiesksmrskhrngnikhuxkarsrangphnthmitrthangrachwngsrahwangkrisaelaormaeniy blaekeriymikrniphiphaththangdinaednkbthngkris ormaeniyaelayuokslaewiy aelachatithngsamtdsinicthicaiklchidkninchwngsmyrahwangsngkhramenuxngcakekrngklwphycakblaekeriyrwmkn thngsxngphraxngkhmiphraoxrshnungphraxngkhkhux ecachaymiih prasutiecdeduxnhlngcakthngsxngphraxngkhxphiesksmrskn mikarelaluxwaecachaymiihthrngepnoxrsthiekidcakkhwamsmphnthkxnthicasmrskn ehnidchdwathngsxngphraxngkhthrngiklchidinchwngaerk aetphayhlngthrngerimaetkhkkn karesksmrskhxngmkudrachkumarkhaorlkbecahyingehelnklayepnkarsmrsthiirkhwamsukh aelamkudrachkumarthrngmikhwamsmphnthnxksmrsbxykhun 9 ecahyingehelnthrngphbwakaroprdthicaeswynacnthhnkaelakarcdnganeliyngkhxngmkudrachkumarmakekinipkwathiphranangcathrngyxmrbid 9 mkudrachkumarkhaorlimthrngoprdstrisungskdi sungphraxngkhthrngphbwastriphwkniekhmngwdekinipaelaepnphithikarmakekinipkwarsniymkhxngphraxngkh thrngphungphxicstrikhnthrrmdasmymakkwa phvtikrrmnithaihphrarachbidaaelaphrarachmardakhxngphraxngkhthrngphidhwngmak 9 mkudrachkumarkhaorlthrngphbwaphuhyingthrrmdasamymikhunsmbtikhrbthwntamthiphraxngkhprarthna echn khwamepnknexng khwamkhlxngaekhlw mixarmnkhnaelamikhwamnahlngihl 9 eruxngxuxchawrxbtwmkda luepskhu aekikh caksay mkudrachkumarkhaorl kstriyefxrdinandaelasmedcphrarachinimari in kh s 1922 chiwitesksmrskhxngthngsxngphraxngkhlmehlwlngemuxmkudrachkumarkhaorlthrngerimmikhwamsmphnthkbexelna mkda luepskhu 1895 1977 epnstriphunbthuxnikayormnkhathxlikaelaepnbutrsawkhxngephschkrchawyiwkbphriyaphunbthuxormnkhathxlik mkda luepskhuekhyepnxditphrryakhxngnaythharchux exiyn tmpixanu phrrkhesriniymaehngchatisungepnphrrkhthikhrxbngakaremuxngormaeniynnimehndwyxyangyingkbkhwamsmphnthkhxngmkudrachkumarkhaorlaelaluepskhu sungsmachikphrrkhmikarthkethiyngknwaphraxngkhimthrngmikhunsmbtithicaepnkstriy hnunginbukhkhlthimibthbathnainphrrkhesriniymaehngchati khux ecachaybarbu setxbiy phusungepnkhnrkkhxngsmedcphrarachinimari phrarachchnnikhxngphraxngkh aelamkudrachkumarkhaorlthrngekliydchngsetxbiyxyangcringcng enuxngcakthaphrarachchnkkhxngphraxngkhtxngesuxmesiyphraekiyrticakkhwamsmphnththiimepidephykbsmedcphrarachini aeladwyehtunicungthrngekliydchngkhncakphrrkhesriniymaehngchatiipdwy 10 emuxphrrkhesriniymaehngchatithrabwaxngkhmkudrachkumarthrngtngtnepnstrukbphwkekha thangphrrkhcungdaeninkarhathangkidknphraxngkhxxkcakrachbllngk 11 karrnrngkhthiyudeyuxkhxngphrrkhesriniymaehngchatinnmikhwamekiywkhxngnxymakineruxngkhwamsmphnthrahwangmkudrachkumarkhaorlaelamkda luepskhu aetcudmunghmayhlkkhxngphrrkhkhux khwamphyayamkacd punihythihyxnyan xyangtw mkudrachkumarkhaorl enuxngcakaenicwathaphraxngkhidkhrxngrachbllngk phraxngkhcatxngkidknimihphrrkhesriniymaehngchatimixanacehnuxkaremuxng dngthiphramhakstriyohexnoslelirnekhythamakxn 11 phllphthkhxngeruxngxuxchawni mkudrachkumarkhaorlcatxngthrngslasiththiinrachbllngkinwnthi 28 thnwakhm kh s 1925 ihaekphrarachoxrsthiprasutiaetmkudrachkumarieheln khux ecachaymiih imekhil kstriyefxrdinandthi 1 esdcswrrkhtinwnthi 20 krkdakhm kh s 1927 hlngcakthrngprachwrxyangthukkhthrmandwyorkhmaernglaisihy ecachayimekhilthrngsubrachbllngktxodyxtonmtihlngcakkarswrrkhtkhxngkstriyefxrdinand sphaphusaercrachkaraephndinidthukcdtngkhun sungprakxbdwy ecachayniokhls phraxnuchakhxngecachaykhaorl xkhrbidraehngormaeniy mirxn khrisetxaaelacixxrek busdukan prathansalyutithrrmsungsud enuxngcakkstriymiihyngthrngphraeyaw ecahyingehelnthrnghyakhadcakecachaykhaorlemux kh s 1928 hlngcakthrngslasiththiinrachbllngk ecachaykhaorlesdcipprathbthiparissungphraxngkhthrngprathbxyuxyangpktikbmadamluepskhu 12 phrrkhesriniymaehngchatinnswnihyidrbphlngkhbekhluxncaktrakulbraetiynuthithrngphlnginkarichxanacinphrrkh hlngcaknaykrthmntricakphrrkhesriniymaehngchatikhux xiyxn xi ech braetiynu thungaekxsykrrmemux kh s 1927 trakulbraetiynuimsamarthtklngkneruxngphusubthxdid xnnamasungxanackhxngphrrkhesriniymthierimekhasucudesuxm 13 inkareluxktngsphaphuaethnrasdrepnkarthwipin kh s 1928 phrrkhekstrkraehngchati phayitxiyuliw maniw idrbchychnadwykhaaennesiyng 78 13 ecachayniokhls sungepnprathansphaphusaercrachkaraethnphraxngkh nnthrngepnmitrimtrikbphrrkhesriniymaehngchati naykrthmntrikhnihmxyangmaniwcungmikhwamtngicxyangaenwaenthicayubsphaphusaercrachkaraethnphraxngkhephuxthulechiyecachaykhaorlihesdcklbma 13 klbkhunsurachbllngk aekikh kstriykhaorlthi 2 thrngihstyptiyantxhnarthsphaormaeniyinwnthi 8 mithunayn kh s 1930ecachaykhaorlesdcklbormaeniyinwnthi 7 mithunayn kh s 1930 hlngcakekidkarrthpraharthidaeninkarodynaykrthmntrixiyuliw maniw cakphrrkhekstrkraehngchati ecachaykhaorlthrngidrbkaryxmrbcakrthsphainthanaphramhakstriyaehngormaeniyinwnthdma inthswrrstxmakstriykhaorlthi 2 cathrngphyayamekhaipmibthbaththangsngkhmkaremuxngormaeniy odykhrngaerkthrngichphrarachxanaccdkarkhwamepnstruknrahwangphrrkhekstrkraelaphrrkhesriniymaelafaytxtanchawyiw txma mkrakhm kh s 1938 thrngichphrarachxanacaetngtngrthmntripracakrathrwngtang kstriykhaorlthi 2 thrngphyayamcdtnglththibuchabukhkhlkhxngphraxngkhexngephuxtxtanxiththiphlthikalngetibotkhunkhxngphwkphuphithksehlk Iron Guard echnkarcdtngkxngkalngkungthharyuwchn thieriykwa stracaetri Straja Țării in kh s 1935 saetnliy ci ephny nkprawtisastrchawxemrikn brryaythungkstriykhaorlthi 2 waepn kstriythinaehyiydhyam elwthramaelakrahayxanacthisud makkwarachbllngkaehngxunidinyuorpstwrrsthi 20 14 phraxngkhthrngthukmxngwaepntwlakhrthimisisninsaytakhxngrichard khaewndich nkprawtisastrchawxngkvs thiwa thrngchladhlkaehlm duxrnaelabumbam thrngrkinstri aechmepyaelakhwamerw kstriykhaorlmkcathrngkhbrthaekhngaelaekhruxngbin aelainwaraoxkassakhymkcathrngpraktdwychlxngphraxngkhaebbinlakhrephlngsungmiaephraethbribbin saysrxyaelaekhruxngrachxisriyaphrn ephuxcmeruxphikhatkhnadelk 15 maeriy buekhxr nkprawtisastrchawormaeniyidekhiynthungkstriykhaorlthi 2 wa aennxn phraxngkhthrngoprdkhwamhruhra thrngprasutimaxyangxphisiththichn phraxngkhimthrngekhykhadhwngeruxngxunidelynxkcakphrachnmchiphthiyingihysukhsbaydngthithrngphbehncakrachsankxuninyuorp aetphrachnmchiphkhxngphraxngkhkimidepnthiaeplkprahladhruxphilukphilnehmuxnmlthinthiirkhakhxngniokhil echaechsku phraxngkhoprdsingthiduyingihyaeteriybngay sungphrarachwngkhxngphraxngkhepnekhruxngyunynthungehtuni kstriykhaorlthi 2 thrnghlngihlinluepskhu karlastwaelarthyntxyangaethcring phraxngkhimthrngekhyyxmslasingehlaniely kstriykhaorlthi 2 thrngoprdthicaesnxphaphphraxngkhexngaebbnaprathbicaelaepnthiniymtxhnasatharnchn phraxngkhmkcathrngswmekhruxngaebbthangthharphrxmpradbehriyytratang aelathrngepnphuxupkarakarkuslthwdinaedn phraxngkhthrngoprdkaredinkhbwnswnsnamaelanganethskalthiyingihy aelathrngefadukarcdkickrrmehlanixyangiklchid aetphraxngkhkimidichkickrrmehlaniinkaraesdngphrarachxanackhxngphraxngkhehmuxndngthiechaechskuichkickrrmdngklawaesdngxanacinchwngplaysmykhxngekha 16 kstriykhaorlthi 2 thrngmiphaphlksnepnphunaprachaniym phraxngkhthrngesnxphaphphraxngkhexnginthanaphuphithkskhxngsamychnthwipephuxtxtanklumchnchnnathiniymfrngess phwksmachikphrrkhesriniym phraxngkhepnphaphlksnthiphsmphsanknrahwangchatiniymaelaxisethirnxxrthxdxks 17 kstriykhaorlthrngmiaenwonmkhxngkarrwmkhwamepnprachaniym lththixanacniymaelalththichatiniymthiekliydklwchawtangchatixyangkhlumekhluxekhadwykn aelarwmthungklumsasnaxxrthxdxksdwy emuxmxngodyphiwephincamikhwamkhlaykhlungkbklumphuphithksehlk aemwaxudmkarnkhxngkstriykhaorlcasrangkarplukeranxykwaxudmkarnkhxngkhxrenliw eslixa khxdrixanu thanphuna khxngklumphuphithksehlk phusungmikhwamchkacchkrrcthithaythxdkhxkhwamlththichatiniymsudotngxnekliydchngchawtangchatiying xikthngmikhwamyudmninxxrthxdxksthiekhmkhnxyangmixakhmkhlng aelamiaenwkhidtxtanchawyiwxyangrunaerngsudotng ekhaepnnkprachaniymthiduthukphwkkhnchnchnnathukkhnaelaekhaepnphuechidchukhwamtaycakkarptibtihnathiwaepnprasbkarnthiswyngam nasrresriy miekiyrtiaelanahlngihlthisudinolk 17 khxdrixanuepnburusphumiesnhinkarechidchukhwamtay ekhaidthaihklumphuphithksehlkepnlththiechidchukhwamtaythinasaphrungklwaelaekhamkcasngsawkkhxngekhaipptibtipharkickhatwtay hlngcakkxkhdikhatkrrmaelw sawkphuphithksehlkcaimkhxyphyayamhlbhniaelacarxkhxyihthukcbaethnephuxthicaidthukpraharchiwit hlaykhnphbwaehlakxngkalngklumniekhasulanprahardwykhwampridapraomthythicatay aelakarprakasekiywkbkhwamtayepnsingthithaihphwkekhamikhwamsukhthisudinchiwitkhxngphwkekha kstriykhaorlthrngykyxnglththibuchakhwamtaykhxngkhxdrixanu odyekhaxangwaxkhrthutswrrkhmikhaexlidmaaecngaekekhawaphraecathrngeluxkekhaihepnphuchwypkpxngormaeniy sungepnhlkthanwakhxdrixanunn citbakhlng kstriykhaorlthi 2 aelanaykrthmntri niokhil xxrka sastracarydanprawtisastraelaepnhnunginklum khamarilla khxngkstriy ineduxnphvsphakhm kh s 1931 kstriykhaorlthi 2 thrngekhaphithisabanphraxngkhephuxkhrxngrachytamrththrrmnuy kh s 1923 epnkhasyyaintxntnrchkalwaphraxngkhcaimthrngekhaaethrkaesngkaremuxngephuxephimphrarachxanackhxngphraxngkhexng 14 kstriykhaorlthrngepnnkchwyoxkasthiimmihlkkarhruxkhaniymxunidipmakkwakhwamechuxwaphraxngkhepnphuthiehmaasmthicapkkhrxngormaeniy aelasingthirachxanackrtxngkarkhuxkarpkkhrxnginrupaebbephdckarthithnsmy 18 kstriykhaorlthrngpkkhrxngphanklikxanacthiimepnthangkarkhux khamarilla sungprakxbdwyehlakharachbriphar nkkarthutxawuos ecahnathithangthhar nkkaremuxngaelankxutsahkrrm sungtxngphungphakhwamoprdprancakkstriyinkarsngesrimxachiphkarngankhxngphwkekha 19 smachikkhnsakhykhxngklumkhamarilla khux madamluepskhu phrasnmkhxngphraxngkhexng sungepnphuthwaykhaaenanathangkaremuxngkhxngkstriykhaorlthisakhymak 19 naykrthmntrimaniwechiykstriykhaorlsubllngkephiyngephraakhwamklwkhnaphusaercrachkaraephndinkhxngyuwkstriymiihthi 1 thukkhrxbngaodyphrrkhesriniymaehngchatisungaenicwaphrrkhesriniymcachnakareluxktngesmx 19 madamluepskhunnimepnthichunchxbkhxngprachachnchawormaeniyely aelanaykrthmntrimaniwthulkhxihkstriykhaorlthrngkhundikbecahyingehelnaehngkrisephuxepnrakhasahrbthiekhathwngkhunrachbllngkihphraxngkh phraecakhaorlthrngptiesthkhaaenanakhxngphranangmarithiihrbecahyingehelnklbma smedcphrarachinimari phrarachchnnikhxngphraxngkhkthrngthulkhxihnaecahyingehelnklbma aetkstriykhaorlthrngphidkhasyyaaelaphraxngkhthrngerimprathbxyukbmadamluepskhuxikkhrng naykrthmntrimaniwcunglaxxkcaktaaehnngephuxepnkarprathwngineduxntulakhm kh s 1930 aelaekhacungklayepnstrukhnsakhykhxngkstriykhaorl 19 inewlaediywknkbthikstriykhaorlesdcklbma ekidkhwamaetkaeykphayinphrrkhesriniymaehngchati cixxrek xi braetiynuxxkmatngphrrkhkaremuxngihm chux phrrkhesriniymaehngchati braetiynu sungphrxmthicarwmngankbphramhakstriyphraxngkhihm aemwaphraxngkhcathrngekliydchngfayphrrkhesriniymaehngchati aetkhwamepnptipkstxkstriykhxngmaniwthaihphraxngkhimmithangeluxk thungkrannphraxngkhthrngephiyngkhxkhwamchwyehluxcakfayesriniymaehngchatithiaetkfayxxkmaaelwethannephuxtxtanphrrkhekstrkraehngchati sungphrrkhekstrkryngkhngyunkranihkstriykhaorlkhbilmadamluepskhuaelanaecahyingehelnaehngkrisklbma karaesdngkhwamepnstrukhxngphrrkhekstrkraehngchatithaihkstriykhaorlthi 2 tdsinphrathypldkhnarthbal aelathrngesnxihaetngtngkhnarthbalcakklumethkhonaekhrtthinaody sastracaryniokhil xxrka epnsastracaryphakhwichaprawtisastrthisxninmhawithyalybukhaerst aelaepnklum khamarilla khxngkstriykhaorl 20 sastracaryxxrkasnbsnunphramhakstriyinchwngkhwamaetkaeykrahwangphrrkhesriniymaehngchatiaelaphrrkhekstrkr aelakhunmaepnrthbalinchwngsn inchwngthiekidpyhanangluepskhu dwyehtunixxrkacungklayepnkhuaekhngthangkaremuxngkbxiyuliw maniwcakphrrkhekstrkr 21 hlngcaknnsastracaryxxrkacamibthbathsakhyinkarrwmmuxkbkstriykhaorlinkarkacdxanackhxngkhxdrixanuaelaphuphithksehlk aelanamasungkarthungaekxnickrrmkhxngxxrkacakkarthuksngharin kh s 1940 kstriykhaorlthi 2 aela rachiniaedng exelna mkda luepskhu rachiniaedng epnkhathichawormaeniyklawthungmkda luepskhu xnenuxngmacakesnphmsiaedngkhxngethx ethxepnstrithithukekliydchngmakthisudinormaeniyyukhthswrrsthi 1930 aelaepnstrithichawormaeniyichkhakhxngnkprawtisastrchawxngkvs riebkhka ehyns thieriykethxwa sunyrwmkhxngkhwamchwray 19 ecahyingehelnthrngthukmxngwaepnstriphuthukthaihmimlthin swnluepskhuthukmxngwaepn phuhyingthixntrayrayaerngthunghayna phuaeyngchingkhaorlxxkmacakxxmkxdkhxngeheln madamluepskhunbthuxkhristnikayormnkhathxlik aetenuxngcakbidakhxngethxepnchawyiw ethxcungthukmxngwanbthuxsasnayudayipdwy bukhlikkhxngluepskhuimidthaihethxmimitrshaymaknk enuxngcakethxepnkhnthihyingyos rukla cxmbngkar aelaolphmakxyangthisuddwyrsniymthiimruckphxinkarsuxekhruxngsaxang esuxphaaelaekhruxngephchrrakhaaephngcakfrngess 22 inchwngnnchawormaeniytxngprasbkbphawaesrsthkictktakhrngihy aetkstriykhaorlthi 2 thrngprneprxrsniymrakhaaephngkhxngluepskhuxyangimhyudhyxn thaihekidkhwamimphxicxyangmakinhmuprachachnthimkcabnknpaktxpakwa enginphwknnsamarthbrrethakhwamyakcninrachxanackrid nxkcaknisingthithaihkhwamimphxicinluepskhumimakkhunkhux karthiethxepnnkthurkichying ethxidichesnsaysmphnthkbsthabnkstriyinkarthathurkrrmxnepnthinasngsy sungmkcaepnkarthayoxnenginkxnihykhxngphakhrthekhasukraepathurkickhxngethx 19 xyangirktaminmummxngkhxngngankhnkhwarwmsmy karthiklawwakstriykhaorlepnhunechidkhxngnangmkda luepskhunnimthuktxngesiythiediyw aelakarklawwa madamluepskhumixiththiphltxkartdsinicthangkaremuxngkhxngrthormaeniynnthuxepnkarklawthiekinkhwamepncring 22 inchwngaerkluepskhuihkhwamsnickbkarsrangkhwamrarwyaekethxexngephuxtxbrbwithichiwitthichxbkhwamhruhrakhxngethx aelaethxexngkimidmikhwamsniceruxngkaremuxngmakipkwakarpkpxngthurkicthithucritkhxngethx 22 sungtangcakkstriykhaorl khux madamluepskhunnimsnicnoybaythangsngkhmhruxnoybaykartangpraethsely aelaethxkepnkhnthihlngtwexngmakesiycnimruwaethxnnepnthiekliydchngkhxngsamychnkhnthrrmdamakephiyngid 23 inthangklbknkstriykhaorlthi 2 thrngsnphrathyinkickarkhxngrthxyangyingaelaphraxngkhimekhythicaptiesthkhwamsmphnthkbluepskhu aetphraxngkhkthrngrawngimihethxaesdngtninthisatharnamakekinip ephraathrngruwanncathaihphraxngkhesuxmesiykhwamniymipdwy 23 kstriykhaorlthi 2 thrngphyayamthicaihphrrkhesriniymaehngchati phrrkhekstrkraehngchatiaelaklumphuphithksehlk ekhahahnkn ephuxthicaihphraxngkhbrrluepahmaysungsud khux karthaihphraxngkhexngepnphunathangkaremuxngormaeniyaelakacdthukphrrkhfkfaythnghmdinormaeniy 14 aetdwykhwamekharphtxkxngkalngxkhrthutswrrkhmikhaexl kstriykhaorlthi 2 imidtngphrathyihklumphuphithksehlkekhamamixanac aetephuxihkxngkalngniepnkxngkalngkxkwnphwkphrrkhesriniymaehngchatiaelaphrrkhekstrkr kstriykhaorlthi 2 thrngtxnrbxanackhxngklumphuphithksehlkinchwngtnthswrrsthi 1930 aelathrngphyayamichkxngkalngmikhaexlepnekhruxngmuxkhxngphraxngkh 14 inwnthi 30 thnwakhm kh s 1933 klumphuphithksehlkthakarlxbsngharnaykrthmntricakphrrkhesriniymaehngchati khux exiyn ci dukha xnnamasungkarkhwabatrklumkxngkalngnikhrngaerk 24 karlxbsngharnaykrthmntridukha epnkhdikhatkrrmthangkaremuxngrayaerkkhxngormaeniynbtngaetkh s 1862 ehtukarnnisrangkhwamtkphrathyaekkstriykhaorlthi 2 xyangmak enuxngcakthrngehnkhwammungmnkhxngkhxdrixanuinkhwamphyayamlxbsngharnaykrthmntri aelaphraxngkhmxngwa khxdrixanuphuyudmnaettwexngerimthicakhwbkhumimidaelw aelakhxdrixanuimdaeninkartamphrarachprasngkhkhxngkstriythitxngkarihekhaepnphlngthiephiyngaetkxkwnphrrkhesriniymaehngchatiaelaphrrkhekstrkrethann 24 in kh s 1934 emuxkhxdrixanuthuknatwkhunsalinkhdilxbsngharnaykrthmntridukha ekhaidkhunihkarwaphwkchnchnnathiniymfrngessthnghmdepnphwkthucritaelaimkhukhwrkbkarepnchawormaeniy aeladukhakepnhnunginnkkaremuxngphrrkhesriniymaehngchatithithucrit ekhacungsmkhwrtay khnalukkhuntdsinihkhxdrixanuphnoths sungepnsingthithaihkstriykhaorlthi 2 thrngkngwlmak enuxngcakehtukarnniepnehmuxnkaraesdngsasnkarptiwtikhxngkhxdrixanu wa chnchnsungthnghmdcatxngthukthalaydwychychnakhxngmtimhachn invduibimphli kh s 1934 hlngcakkhxdrixanuthukplxytw kstriykhaorlaelanayxaephxemuxngbukhaerst kfrila marienskhu phrxmkbmadamluepskhu rwmknwangaephnxyangimetmicthicalxbsngharkhxdrixanudwykarwangyaphisinkaaef aetinthisudktdsinicykelikaephnkar 25 cnkrathngin kh s 1935 kstriykhaorlthrngepnphumiswnrwmsakhyin mitrshaykhxngkxngkalng sungepnklumthirwmphusnbsnunkxngkalngekhadwykn 26 kstriykhaorlthrnghyudsnbsnunkxngkalngni hlngcakthikhxdrixanuerimeriykmadamluepskhuwa osephniyiw phaphlksnkhxngkstriykhaorlnnepn kstriyephlybxy epnphaphlksnkhxngphramhakstriythiecasaray sungsnphrathyinehlastri kareswykhxngmunema karphnnaelakarcdnganeliyngmakkwakarsnphrathyinkickarkhxngrth aetkstriykhaorbnnsnphrathyinkickarkhxngrthdwy phraxngkhcungthrngthukmxngwaepncxmwangaephnaelaimsuxsty ephiyngaekhsnphrathyinkarthalayrabxbprachathipityephuxephimphrarachxanackhxngphraxngkh 27 lththibuchabukhkhl aekikh kstriykhaorlthi 2 aelamkudrachkumarmiih phrarachoxrs thisphaxstra wnthi 20 knyayn kh s 1936 emuxngblac ormaeniy kstriykhaorlthi 2 thrngsranglththibuchabukhkhlkhxngphraxngkhexngephuxlblangphaphlksnthiimdixyang kstriyephlybxy aelaepnkarsrangihrchkalkhxngphraxngkhsamarthdaenintxipinphaphlksnthiphramhakstriyepnehmuxnphrakhrist khux epnphuthukeluxk odyphraeca ephuxsrang ormaeniyihm 28 inhnngsux The Three Kings kh s 1934 khxngsisar epethrskhu sungepnhnngsuxthiekhiynephuxihphuthimikarsuksanxyidxan mikarekhiynxyangesmxwa kstriykhaorlthrngepriybesmuxnphraeca bidakhxngchawbanaelakrrmkrinaephndin aelaepn phrabidaaehngwthnthrrm phuyingihythisudinhmumwlphramhakstriyrachwngsohexinthsxlelirn aelakarthiesdcklbcakliphythifrngessineduxnmithunayn kh s 1930 thukeriykwaepnkar subechuxsaylngmacakswrrkh 27 epethrskhubrryayphaphkhxngkstriykhaorlwaepncuderimtnkhxngpharkicthiphraecaprathanmaihephuxepn phusrangormaeniyxnnicnirndr epncuderimtnkhxngyukhthxng dngthiepethrskhuyunynwa karpkkhrxngodyphramhakstriyepnphrarachprasngkhkhxngphraphuepnecaephuxchawormaeniy 28 kstriykhaorlthrngsnphrathyindanesrsthsastrephiyngelknxy aetphraxngkhthrngmithipruksadanesrsthkicthithrngxiththiphlxyangmak khux miih maonxielskhu hnunginklumkhamarilla ekhaepnphusnbsnunrupaebbkarphthnaesrsthkicephuxsrangkhwamepnthrrmaeksngkhmodyrwmodymirthekhaaethrkaesngrabbephuxkratunesrsthkic 29 kstriykhaorlthrngkratuxruxrnxyangmakineruxngprimnthlthangwthnthrrm thrngepnphuxupthmphngansilpa aelasnbsnunpharkickhxngxngkhkrinphrabrmrachupthmph ephuxsngesrimaelasuksaekiywkbwthnthrrmormaeniyinthukdan 30 odyechphaaxyangying kstriykhaorlthrngsnbsnunkarthangankhxngnksngkhmwithyathimichuxwa dimitri kusti cakxngkhkrsngkhmsngekhraahinphrabrmrachupthmph sunginchwngtnkhristthswrrsthi 1930 idechiynksngkhmsastrcakthuksakhawicha echn dansngkhmwithya mnusywithya chatiphnthwithya phumisastr dntriwithya aephthysastraelachiwwithya mathanganrwmknin withyasastraehngchati 31 kustinathimsastracarycakthuksakhawichaipyngchnbth ephuxsuksaeruxngrawkhxngchumchnthnghmd inmummxngdi chwngvdurxn caknncungcdtharayngancanwnhlayrxyhnaekiywkbchumchnehlann 32 phramhakstriyphukhrxbnga aekikh kstriykhaorlthi 2 thrngcumphitkangekhnthithuxodyphrasngkhrachwisaeriyn puxixuaehngsngkhmnthlbuokwina inwnthi 2 mithunayn kh s 1935 tlxdchwngsmyrahwangsngkhram ormaeniyxyuinekhtxiththiphlkhxngfrngessaelaineduxnmithunayn kh s 1926 mikarlngnaminsnthisyyaepnphnthmitrkbfrngess karepnphnthmitrkbfrngessphrxmkbkarlngnamepnphnthmitrkbopaelndin kh s 1921 klumsmphnthmitrnxyidthukcdtngkhunodyrwmormaeniy echoksolwaekiyaelayuokslaewiyiwepnxngkhkrrwmknthuxepnhlksakhykhxngnoybaydankartangpraethskhxngormaeniy frngesserimdaeninkarsrangnoybaytangpraeths khxrodn saniaetrri Cordon sanitaire hruxaeplwa wnglxmsukhaphibal erimin kh s 1919 epnkarepriybeprywatxngkarkidkneyxrmniaelashphaphosewiytxxkcakkickarinyuorptawnxxk kstriykhaorlimidthrngykeliknoybaytangpraethsninbtngaetthrngrachyin kh s 1930 intxnaerkphraxngkhyngthrngmxngwakardaeninnoybaykhxrodn saniaetrrixyangtxenuxngepnsingthisamarthrbpraknexkrachkhxngormaeniyid aeladwyehtuninoybaydankartangpraethskhxngphraxngkhcungmirupaebbsnbsnunfrngess inchwngthiormaeniyidlngnamepnphnthmitrkbfrngessnn phumiphakhirnlnthkhxngeyxrmnithukthaihepnekhtplxdthharaelamikarkhidinkrungbukhaerstesmxwathaeyxrmnikrathakarxunidthiepnphykhukkhamtxyuorptawnxxk frngesscaekharukrandinaednirsthnthi frngesserimsrangaenwaemkionttamphrmaedneyxrmniin kh s 1930 erimmikhwamsngsyekidkhuninbukhaerstwafrngesscaekhamachwyehluxormaeniyhruximthaekideyxrmnirukranekhamain kh s 1933 kstriykhaorlthi 2 aetngtngniokhil tituerskhuepnrthmntriwakarkrathrwngtangpraeths ekhaepnphusnbsnunxyangepidephydannoybaydankhwammnkhngrwmknphayitxngkhkarsnnibatchati ekhaidepnrthmntriephuxdaeninnoybaykhwammnkhngrwmkninkarsrangkhwammnkhngkhxngpraethsephuxpxngkneyxrmniaelashphaphosewiytxxkcakyuorptawnxxk 33 kstriykhaorlthi 2 imoprdtituerskhu aelatituerskhukimchxbkstriyechnkn aetphraxngkhthrngtxngkarihekhaepnrthmntritangpraethsephraathrngechuxwaekhaepntweluxkthidithisudinkarphnukkalngxnekhmaekhngkbfrngessaelaepnkarnaxngkvsekhamarwminkickaryuorptawnxxkdwyphayitkhxtklngkhwammnkhngrwmkntambthbyytikhxngsnnibatchati 34 krabwnkariklchchlthung karprasanngan khxngphrrkhnasieyxrmni imidkhyayaetephiyngphayindinaednirseyxrmnethann aetinkhwamkhidkhxngphunaphrrkhnasimxngwaepnkarkhyayipinradbolk sungphrrkhnasicaekhakhwbkhumchumchnchaweyxrmnthnghmdthwolk faydankartangpraethskhxngphrrkhnasinaodyxlefrth oresinaebrkherimdaeninkartamaephnin kh s 1934 inkhwamphyayamkhrxbkhrxngoflkhdxys volksdeutsch hruxchumchnchaweyxrmninormaeniy noybaynithaihkstriykhaorlthrngphiorthxyangmak thrngmxngwaeruxngniepnkaraethrkaesngodyeyxrmntxkickarphayormaeniyxyangrunaerng 35 inkhnathiormaeniymiphlemuxngoflkhdxyscanwnkhrunglaninthswrrsthi 1930 aephnkaryudkhrxngchumchneyxrmninormaeniykhxngphrrkhnasisrangkhwamkngwlphrathyaekkstriykhaorlmak thrngklwwachnklumnxyeyxrmncaklayepnkxngthharthiha fifth column khaepriybeprywakhux klumkhncanwnnxythikhxybxnthalaykhnklumihycakphayin 35 nxkcaknitwaethnkhxngoresinaebrkhyngekhamatidtxkbklumchawormaeniyfaykhwacd odyechphaaxyangying phrrkhkhrisetiynaehngchatithinaodyxxketewiyn okka aelamikhwamechuxmoyngelknxykbphunaklumphuphithksehlk khxrenliw eslixa khxdrixanu sungehtunisrangkhwamimphxphrathyaekkstriykhaorlmak 35 ekxrhard iwnaebrkh nkprawtisastrchawxemriknidekhiynekiywkbmummxngdannoybaytangpraethskhxngkstriykhaorlwa phraxngkhthngchunchmaelaekrngklweyxrmni aetthrngklwaelaekliydchngshphaphosewiyt 36 inkhwamepncringaelw phunakhnaerkthieyuxnnasieyxrmni aemwacayngimidmitaaehnngepnthangkarthi khux kyula kxmobs naykrthmntrihngkari sungedinthangeyuxnebxrlinineduxntulakhm kh s 1933 ephuxlngnaminsnthisyyaesrsthkicephuxnaphahngkariekhasuxiththiphlkhxngeyxrmni ehtukarnnithaihkstriykhaorltxngthrngtuntrahnkxyangmak 37 tlxdchwngsmyrahwangsngkhram rthbalbudaepst hngkariptiesththicayxmrbphrmaedntamsnthisyyatrixanxngaelaeriykrxngsiththiinthransileweniykhxngormaeniy kstriykhaorlkthrngepnehmuxnklumchnchnnaormaeniythikngwltxkhwamkhadhwngkhxngphnthmitrkhxngrththiepliynaeplngihmthiptiesthkhwamchxbthrrmkhxngraebiybsaklthiekhiyndwyfaysmphnthmitrinchwng kh s 1918 20 sungrabuwaeyxrmnicasnbsnunkarxangsiththiindinaednthransileweniykhxnghngkari 37 hngkarimikhxphiphaththangdinaednkbormaeniy yuokslaewiyaelaechoksolwaekiy sungthngsamchatiniepnphnthmitrkbfrngess dngnnkhwamsmphnthfrngess hngkaricungepnipidimkhxydiinchwngsmyrahwangsngkhramaeladuehmuxnwahngkaricaipekhahastrukhxngfrngessxyangeyxrmniin kh s 1934 tituerskhumibthbathsakhyinkarcdtngsnthisyyabxlkhansungepnkarrwmormaeniy yuokslaewiy krisaelaturkiepnphnthmitrknephuxtxtannoybayfunkhundinaednkhxngblaekeriy 34 snthisyyabxlkhanmicudprasngkhephuxepncudaerkerimkhxngkarepnphnthmitrknkhxngrththitxtanrabbrthprbprungihmkhxngyuorptawnxxk dngechn frngessaelaormaeniyepnphnthmitrkbthngechoksolwaekiyaelaopaelnd aetdwykhxphiphathethsechninisliesiy rthbalwxrsxkbrthbalprakcungepnstrukn echnediywkbthinkkarthutaehngekdxresy parisrabuwa kstriykhaorlthrngkhunekhuxngkbkhxphiphathrahwangopaelnd echoksolwaekiy phraxngkhthrngmxngwamnepneruxngirsaramakthirthyuorptawnxxkthitxtanrabbrthprbprungihmcamipyhaknexnginchwnghnasiwhnakhwanthixanackhxngeyxrmniaelaosewiytkalngephimkhunmak 34 hlaykhrngthikstriykhaorlthrngphyayamepnkhnklanginkariklekliykhxphiphathethsechnaetkimprasbkhwamsaercmaknkinkaryutikhwambadhmangrahwangopaelndaelaechokslaewiy 34 ineduxnmithunayn kh s 1934 phraxngkhsathxnihehnthungmummxngniymfrngess emuxrthmntritangpraethsfrngess hluys barthueyuxnbukhaerstephuxphbpakbehlarthmntritangpraethskhxngsmachiksmphnthmitrnxykhux ormaeniy yuokslaewiyaelaechoksolwaekiy kstriykhaorlthrngcdnganechlimchlxngxyangihyotephuxtxnrbbarthuephuxepnsylksninkarkrachbkhwamsmphnthfrngess ormaeniy inthanapraeths phinxnglatin thngsxng 38 ekhanthfridrich aewrenxr kraf fxn edx chuelnbwrk thuteyxrmninormaeniy wicarnxyangnakhyaaekhyngraynganipyngebxrlinwa chnchnnathukkhninormaeniyepnphwkkhlngfrngessxyangaekimhay sungmkcabxkesmxwa ormaeniycaimthrystx phisawlatin frngess 38 phrabrmchayalksnkstriykhaorlthi 2 kh s 1937 inewlaediywkn kstriykhaorlyngthrngphicarnathungkhwamepnipidinkarphthnakhwamsmphnthormaeniy eyxrmni sungxacthaihrthbalebxrlinyxmthxnkarsnbsnunrthbalbudaepstinkhwamphyayamthwngkhundinaednthransileweniy 37 inchwngthikstriykhaorlthrngmungmnineruxngeyxrmni aetesrsthkicormaeniyxyuinkhwamsinhwng chwngkxnphawaesrsthkictktakhrngihy ormaeniyepnpraethsthiyakcnxyangyingaelainchwngwikvtesrsthkickrumeraormaeniyxyanghnk ormaeniyimsamarthsngxxksinkhaidmakenuxngcaksngkhramkarkhathiekidkhuncakrthbyytiphasismuth hxwliykhxngxemrikain kh s 1930 sungnaipsukhwamtktakhxngkhaskulenginliwormaeniy enginsarxngtangpraethskhxngormaeniythukichxyanghmdsin 37 ineduxnmithunayn kh s 1934 rthmntrikhlngormaeniy wiktxr slaewskhu eyuxnparisephuxkhxihfrngesschwyxdchidenginhlaylanfrngkekhasukhlngkhxngormaeniyaelachwyldxtraphasisulkakrtxsinkhaormaeniy 37 emuxfrngessptiesthkhakhxthngsxngkhxngormaeniy thaihkstriykhaorlthi 2 imphxphrathyxyangmak phraxngkhthrngekhiyninphraxnuthinswnphraxngkhwa phisawlatin frngessthahnathiepnphisawkhxngormaeniyidnxylng 37 ineduxnemsayn kh s 1936 emuxwilehlm fabriesiysidrbkaraetngtngcakeyxrmniihmaepnthutthiormaeniy rthmntritangpraethseyxrmnikhux khxnstnthin fxn nxyrathidetuxnfabriesiyswa ormaeniyepnpraethsthiimepnmitr epnrthniymfrngess aetkaenanawaxaccamioxkasinkarepidkarkhakbormaeniyephimkhunephuxihhludcakwngokhcrkhxngfrngess 37 nxyrathchinafabriesiysxikwa aemwaormaeniycaimichmhaxanacthangthhar aetkmikhwamsakhyxyangyingsahrbeyxrmnikhuxnamnkhxngormaeniyepnsingcaepnkstriykhaorlmkcasnbsnunihphrrkhkaremuxngaetkaeykknephuxexuxaekphrarachxanackhxngphraxngkh in kh s 1935 xelksandru iwda wxowd xditnaykrthmntricakphrrkhekstrkraehngchati ekhaepnphunasaythransileweniy idaeykphrrkhxxkmatngphrrkhaenwormaeniyodykstriykhaorlthrngihkarsnbsnun 39 inewlaediywkn kstriykhaorlthrngphthnakhwamsmphnthxyangiklchidkbxarmand khalienskhu phunaphrrkhekstrkraehngchatiphuthaeyxthayan inkarkxtngfkfaythitxtanxiyuliw maniw strukhxngkstriykhaorl aelakstriykhaorlthrngoprdihphrrkhekstrkrrwmmuxkbsthabnkstriyxikkhrng 39 inkhnaediywknkstriykhaorlthrngsnbsnunklum esriniymhnum thinaodycixxrek tataerskhu ephuxldphlngxanackhxngtrakulbraetiynuthikhrxbngaphrrkhesriniymaehngchatimanan 24 epnthichdecnwakstriykhaorletmphrathythicaxnuyatih esriniymhnum phayittataerskhuekhamamixanac aetthrngkidknphrrkhesriniymsayhlkkhxngdinu braetiynucakxanac kstriykhaorlimthrnglumeluxnwaphwktrakulbraetiynuiddaeninkarthxdphraxngkhxxkcaksiththiinrachbllngkinchwngthswrrsthi 1920 40 ineduxnkumphaphnth kh s 1935 phunakxngkalngxkhrthutswrrkhmikhaexl sungkkhux khxrenliw eslixa khxdrixanu phuthukmxngwaepnphnthmitrkhxngkstriykhaorlmaodytlxd iddaeninkarocmtiphramhakstriykhrngaerkodytrng emuxekhaidradmphlsawkxxkmaedinkhbwnhnaphrarachwng ephuxtxtankstriykhaorlinkrnithimikarcbkumnayaephthydimitri ekrxta sungekhiynbthkhwamepidephythurkicthucritkhxngmadamluepskhu 25 khxdrixanuprasryhnaphrarachwngdathxluepskhuwaepn osephniyiw phuplnchingpraethsormaeniyihmudbxd karkrathaechnniepnkarhminphraekiyrtikhxngkstriykhaorl phraxngkhcungmikhasngipynghnunginsmachikkhamarilla khux kfrila marienskhu phukakbkartarwcbukhaerst sngtarwcxxkipslaykarchumnumkhxngklumphuphithksehlkdwykhwamrunaerng 25 khxsngsyekiywkbthathikhxngfrngessthicaekhamaxasapxngknkarrukrancakeyxrmninnerimepnthinakngkhamakkhunemuxmikarsngthharklbekhairnlnthineduxnminakhm kh s 1936 kxngthpheyxrmnerimsrangaenwsikhfrithtlxdaenwphrmaednfrngess aelamikarphicarnawaerimmikhwamepnipidnxythifrngesscabukekhaipineyxrmnitawntkthaeyxrmniekhaocmtirthxuntamwnglxmkhxrodn saniaetrri bnthukcakfaykartangpraethskhxngxngkvsineduxnminakhm kh s 1936 rabuwa chatihnungchatiidinolkthikhwrcaekhaaethrkaesngeyxrmnicakehtukarnkarsngthharklbekhairnlnth chatinnthikhwrekharwmlngmitinsnnibatchatikhux xngkvs frngess ebleyiym echoksolwaekiy shphaphosewiytaelaormaeniy 41 phlcakehtukarnkarsngthharklbekhairnlnthnnimmifayidekhaaethrkaesnghruxpranameyxrmnixyangchdecn kstriykhaorlthrngerimklwwapraethsthixyuphayitxiththiphlkhxngfrngessinyuorptawnxxkcaepnraytxip phraxngkhcungphyayamtidtxkbeyxrmniephuxrksaexkrachkhxngormaeniy 42 dwythiormaeniyepnphnthmitrkbfrngessmaxyangtxenuxng aethlngcakeduxnminakhm kh s 1936 kstriykhaorlthrngphyayamephimkhwamsmphnthkbeyxrmni 43 kstriykhaorlthi 2 phrxmprathanathibdiechoksolwaekiy aexdwart aebaench khnthi 2 caksay ecachayphxl phusaercrachkaraehngyuokslaewiy ladbthi 4 caksay mkudrachkumarmiih ladbthi 1 caksay aelaecachayniokhlsaehngormaeniy ladbthi 5 caksay inkrungbukhaerst kh s 1936 inpyhakaremuxngphayinpraeths eduxnvdurxn kh s 1936 khxdrixanuaelamaniwidcbmuxknepnphnthmitrephuxtxtanphrarachxanacthiephimkhunkhxngphramhakstriy 44 aelarthbalphrrkhesriniymaehngchatikhxngtataerskhu ineduxnsinghakhm kh s 1936 kstriykhaorlthrngpldtituerskhuxxkcakrthmntriwakarkrathrwngtangpraethsineduxnphvscikayn kh s 1936 kstriykhaorlthrngsngnkkaremuxngthithrysphrrkhesriniymaehngchatikhux cixxrek ci braetiynuipeyxrmniephuxphbkbxdxlf hitelxr khxnstnthin fxn nxyrath rthmntritangpraeths aelaaehrmn ekxring ephuxaecngwaormaeniytxngkarsrangkhwamsmphnthkbckrwrrrdiirs 45 kstriykhaorlthrngolngphrathymakemuxbraetiynuraynganwa hitelxr nxyrathaelaekxring ihkhwamechuxmnwackrwrrdiirsimsnicthicasnbsnunkarfunkhundinaednkhxnghngkari aelacayunkranepnklanginkrniphiphaththransileweniy 45 karrnrngkhkhxngrthbalebxrlinthiimmisingidmaphukmdthuxepnkarokhnlmrabbrahwangpraethsthisrangkhuncaksnthisyyaaewrsaythiaeykcakkarrnrngkhkhxngbudaepst ephuxokhnlmrabbthicdtngkhunmacaksnthisyyatrixanng klayepnkhawthisrangkhwamyindikbkstriykhaorl sungmnepneruxngkarsrangekrtethxreyxrmniimichekrtethxrhngkari ekxringidrbaetngtngihepnprathankrrmkaraephnsipi sungrangmakhunephuxiheyxrmniphrxmekhasusngkhrametmrupaebbin kh s 1940 odyihkhwamsnicinnamnkhxngormaeniymakepnphiessaelaekxringidphudkhuykbbraetiynuthungkhwamsmphnththangesrsthkicyukhihmkhxngeyxrmniaelaormaeniy 45 eyxrmniaethyimminamnepnkhxngtnexngaelatlxdchwngckrwrrdiirsthisamkarkhwbkhumaehlngnamnkhxngormaeniycungepnepahmaysakhykhxngnoybaytangpraeths ephuxsathxnihehnthungkarepliynaeplngni kstriykhaorlthrngichphrarachxanacybyngaephnkarsnbsnunphnthmitrihmrahwangfrngessaelaechoksolwaekiyineduxnkumphaphnth kh s 1937 sungepnkarphnukkalngknrahwangfrngesskbphnthmitrnxyxyangepnthangkaraelaepnaephnthimxngehnkhwamsmphnththangkarthharrahwangfrngesskbphnthmitrinyuorptawnxxk 46 enuxngdwythrphyakrnamnthaihfrngessyngkhngkhwamsmphnththiaenbaennkbormaeniy aeladwykalngkhnkhxngormaeniyepnthanghnungthisamarthchdechykalngkhnchawfrngessthiminxykwaid ephuxtxsukbkalngkhnkhxngeyxrmn frngessmi 40 lankhninkhnathieyxrmnimi 70 lankhn 46 yingipkwannmikarkhadedakninpariswaeyxrmnicathakarrukranechoksolwaekiy hngkaricaocmtiechoksolwaekiywephuxyudsolwaekiyaelaruethxeniy nkwangaephnthangthharkhxngfrngesscungmxngwaormaeniyaelayuokslaewiycamibthbathinkarthasngkhramrukranhngkariephuxldkalngphlthicaekhaipocmtiechoksolwaekiy 46 cnthung kh s 1940 noybaytangpraethskhxngkstriykhaorlmikhwamexnexiyngxyangimmnkhngrahwangkhngphnthmitrdngedimkbfrngesshruxsrangkhwamsmphnthkbphlngxanacihmxyangeyxrmni 45 invdurxn kh s 1936 kstriykhaorlthrngaecngipyngthutfrngesswathaeyxrmnirukranechoksolwaekiy phraxngkhcaimprasngkhihkxngthphaedngosewiytedinthphphanormaeniy aetkthrngetmphrathythicaephikechythaosewiyttxngkarphannanfaormaeniyipyngechoksolwaekiy 47 inwnthi 9 thnwakhm kh s 1937 snthisyyathangesrsthkiceyxrmni ormaeniyidthuklngnamphayitekhtxiththiphlthangesrsthkickhxngeyxrmni aetkthaihchaweyxrmnimphxicephraaimidmikarbrrcuaephnkarkhwamtxngkarnamncanwnmhasalkhxngeyxrmniinkarichinekhruxngckrkarsngkhramkhnadihyinsnthisyya kh s 1937 48 duehmuxnwaeyxrmnicamikhwamtxngkarnamnxyangimsinsud aelaimmikarlngnaminkhxtklng kh s 1937 sungchaweyxrmneriykrxngsnthisyyaesrsthkicchbbihminkh s 1938 inchwngewlaediywkbthimikarlngnaminsnthisyyaeyxrmni ormaeniy ineduxnthnwakhm kh s 1937 kstriykhaorlthi 2 thrngtxnrbyxn edlobs rthmntritangpraethsfrngess ephuxaesdngwaphnthmitrrahwangormaeniykbfrngessyngkhngxyu 49 kareluxktng kh s 1937 aelarthbalkhxngokka aekikh khxrenliw eslixa khxdrixanu phrxmkbehlasawkhruxphutidtamcakklumphuphithksehlkin kh s 1937 invdurxnin kh s 1937 kstriykhaorlesdcparis phraxngkhklawtxrthmntrikrathrwngtangpraethsfrngess yiwxn edlobs wa rabxbprachathipitykhxngormaeniykhngthungcudsinsud 50 ineduxnphvscikayn kh s 1937 khxrenliw eslixa khxdrixanuaehngkxngkalngxkhrthutswrrkhmikhaexlidklawsunthrphcninkarlngsmkhreluxktngineduxnthnwakhm ephuxeriykrxngihyutikarepnphnthmitrkbfrngess ekhaklawwa eluxkkhapheca ephuxnoybaytangpraethsormaeniyrwmknkbormaelaebxrlin eluxkkhapheca ephuxkxkarptiwtiaehngchatitxtanlththibxlechwik phayinsisibaepdchwomngkxngkalngeracaidchychna ormaeniycaepnphnthmitrkbormaelaebxrlin 51 khxdrixanuidthingsunthrphcnxnnamasungfnraykhxngkstriykhaorl phraxngkhthrngyunynesmxwacathrngkhwbkhumnoybaytangpraethskhxngrthexngsungepnphrarachxanacphiessthiimmiikhrekhaaethrkaesngid 52 aemwatamrththrrmnuyrabuwa rthmntriwakarkrathrwngtangpraeths txngmikhwamrbphidchxbodytrngtxnaykrthmntri aetinthangptibtikhxngormaeniy rthmntrikrathrwngtangpraethsmkcaraynganodytrngtxphramhakstriy khxdrixanuidlaesnphrarachxanacinsayphraentr thaihinewlatxma kstriykhaorlthrngmungmnthicakacdkhxdrixanu phuhyingphyxngphrxmkbehlaphutidtamkhxngekhathiklathathayphrarachxanackhxngphramhakstriy 52 inkareluxktngeduxnthnwakhm kh s 1937 phrrkhesriniymaehngchatikhxngrthbalnaykrthmntricixxrek tataerskhuidthinngmakthisudinrthspha aetmicanwnnxykwarxyla 40 thaihimsamarthkumesiyngkhangmakinrthsphaid 53 hlngcakkarlxbsngharnaykrthmntridukhain kh s 1933 klumphuphithksehlkthuksnghamekharwmkareluxktng ephuxhlikeliyngkarthukkhwabatr khxdrixanucungcdtngphrrkhthngmwlephuxpituphumi ephuxepnaenwhnakhxngphuphithksehlk phrrkhthngmwlephuxpituphumiidrbkhaaennesiyngrxyla 16 inkareluxktngpi 1937 sungthuxepnkhwamsaercsungsudkhxngklumphuphithksehlk naykrthmntrixxketewiyn okka raw kh s 1938 inwnthi 28 thnwakhm kh s 1937 kstriykhaorlthrngichphrarachxanacaetngtngnkkwiphumiaenwkhidtxtanchawyiwxyangrunaerng khux xxketewiyn okka cakphrrkhkhrisetiynaehngchati sungidkhaaennesiyngcakkareluxktngephiyngrxyla 9 ihdarngepnnaykrthmntri kstriykhaorlthrngaetngtngokkaepnnaykrthmntrikephraaphraxngkhhwngwanoybaykartxtanchawyiwkhxngokkacathaihphraxngkhidrbkarsnbsnuncakprachachnthieluxkphrrkhthngmwlephuxpituphumiaelaephuxthaihkxngkalngxkhrthutxxnaexlng phraxngkhthrnghwngwaokkacaimmikhwamsamarthinkardarngtaaehnngnaykrthmntrixnnamasungwikvtthicaepidthangihphraxngkhyudxanacid 54 kstriykhaorlthrngbnthukinphraxnuthinswnphraxngkhwa okkannongekhlaaelanacaepnnaykrthmntriidimnan aelaemuxokkalmehlwcathaihphraxngkh mixisrathicaichmatrkarthiaekhngkraw sungcapldplxytwkhaexngaelapraethscakphwkephdckarphrrkhkaremuxng 54 kstriykhaorlthrngehnchxbtxkhakrabthulkhxngokkathiihyubsphaephuxeluxktngihminwnthi 18 mkrakhm kh s 1938 dwyekhaepnphunakhxngphrrkhkaremuxngthiidkhaaennepnladbthisiinrthspha ehmuxnepnthiaennxnwarthbalokkacaphayaephkarxphiprayimiwwangicrthbal emuxrthspharwmtwknthngphrrkhesriniymaehngchati phrrkhekstrkraehngchatiaelaphrrkhthngmwlephuxpituphumi rwmkntxtanokkaaemwacamiehtuphlthiaetktangkn kareluxktngerimtncakkhwamrunaerngdwykarthaelaawiwathinbukhaerstrahwangkxngkalngkungthhar lanechrikhxngokkakbklumphuphithksehlk namasungphuesiychiwitsxngkhn badecb 52 khn aelamikhnthukcbkum 450 khn 55 inkareluxktng kh s 1938 cungepnkareluxktngthirunaerngthisudinprawtisastrormaeniy klumphuphithksehlkaelakxngkalnglanechritxsukntamthxngthnninkhnathiaeswnghakhwamchxbthrrminkartxtanchawyiwipdwy 55 inkhnathirthsphakimidmikarprachuminrthbalkhxngokka sungokkacatxngphankdhmaydwyphrarachkahndsthankarnchukechin thikdhmaythukchbbcatxngmikarlngphraprmaphiithyodyphramhakstriynoybaytxtanchawyiwthirunaerngkhxngokkathaih chnklumnxychawyiwyaklabak aelanaipsukarrxngeriyntxrthbalxngkvs frngessaelashrthxemrikawa noybaykhxngokkacaepnkarkhbilchawyiwxxkipcakormaeniy 56 thngxngkvs frngessaelashrthxemrikaimmikhwamprasngkhthicarbphuxphyphchawyiw xnenuxngmacakkdhmaytxtanchawyiwkhxngrthbalokka aelarthbalthngsamchatikddnkstriykhaorlihthrngichphrarachxanacpldokkaxxkcaktaaehnngephuxepnhnthangaekikhwikvtthangmnusythrrm 56 exkxkhrrachthutxngkvskhux esxrercinld ohxaeraelaexkxkhrrththutfrngess khux exedriyng aetrri idesnxbnthukprathwngrthbaltxtanyiwkhxngokka inkhnathiprathanathibdirusewltaehngshrthxemrikaekhiynsasnthungkstriykhaorlwicarnthungnoybaytxtanchawyiw 36 inwnthi 12 mkrakhm kh s 1938 okkaprakasthxdchawyiwthnghmdxxkcakkarepnphlemuxngkhxngpraethsormaeniy aelaetriymipsuepahmaysungsudkhuxkarkhbilchawyiwxxkcakpraeths odyswnphraxngkhaelwkstriykhaorlimichphwktxtanyiw aettamphxl di khwinln nkekhiynchiwprawtikhxngkstriyrabuwa phraxngkh aekhimthrngaeyaes txkhwamthukkhthrmankhxngrasdrchawyiwkhxngphraxngkhcakkdhmaytxtanchawyiwkhxngokka 57 kstriynkchwyoxkasxyangkstriykhaorlimthrngechuxinlththitxtanyiwaetthrngechuxinxanac aettha ehtuphlkhxngrthkahndwatxngyxmxdthntxrthbaltxtanyiwephuxaelkkbxanac kstriykhaorlkthrngphrxmthicaslasiththikhxngrasdrchawyiwephuxmn 57 inewlaediywkn okkaphbwatwekhaexngepnelisindankwimakkwaepnnkkaremuxng aelainbrryakaskhxngwikvtchwngtnpi kh s 1938 sungekhahmkmunaetkaraek pyhachawyiw iwnaebrkekhiynthungokkawa ekha imphrxmsahrbtaaehnngaelaimmikhwamsamarththangphunaidely aelaekhaduehmuxntwtlkthikalngelntlk ekhathaihnkkarthutinbukhaerst khbkhnkhrunghnung tkickhrunghnung 36 xyangthikstriykhaorlthrngkhadkarniw okkaepnphunathiongekhla epnphusrangkhwamnakhayhnaaekrabxbprachathipity inkhnathinoybaytxtanchawyiwthirunaerngkhxngekhathaihimmimhaxanacchatiprachathipityxunidekhamakhdkhwangkarprakaspkkhrxngrabxbephdckarkhxngkstriykhaorl 56 rabxbephdckarodyrachwngs aekikh kstriykhaorlthi 2 aehngormaeniythrnglngphraprmaphiithyinrththrrmnuy kh s 1938 inwnthi 27 kumphaphnth kh s 1938 okkathrabwaekhathukphramhakstriyhlxkich ekhacungekhaphbpakbkhxdrixanu phuepnstruinwnthi 8 kumphaphnth kh s 1938 thibankhxngnkkaremuxngexiyn kikurtu ephuxtklngknwafayphuphithksehlkcathxntwxxkcakkareluxktngephuxsrangkhwammnicwafaytxtanyiwhwrunaerngcakhrxngesiyngkhangmakinrthspha 58 kstriykhaorlthrngthrabthungaephnkarokka khxdrixanuxyangrwderw aelaphraxngkhthrngichehtuniepnkhxxanginkarkxrthprahartwexngsungphraxngkhthrngwangaephnmatngaetplaypi kh s 1937 56 inwnthi 10 kumphaphnth kh s 1938 kstriykhaorlthrngrangbrththrrmnuyaelayudxanacinsthankarnchukechin 54 kstriykhaorlthrngprakaskdxykarsukaelarangbsiththiesriphaphthnghmdkhxngphlemuxnginchwngkareluxktngthirunaerngnisungmikhwamesiyngthicanaipsusngkhramklangemuxng 59 emuxhmdpraoychnaelw kstriykhaorlthrngpldokkaxxkcaktaaehnngnaykrthmntri aelathrngaetngtngphraxkhrbidrexli khrisetxa hruxxkhrbidrmirxnaehngormaeniywy 69 pi khundarngtaaehnngnaykrthmntri ekhaepnpramukhaehngnikaykhristxxrthxdxksormaeniyaelaxditphusaercrachkaraethnphraxngkhinrchkalkstriymiihthi 1 ekhaepnburusphuthikstriykhaorlthrngthrabwaepnbukhkhlthiepnthiekharphkhxngprachachnormaeniythwpraethssungswnihyepnphlemuxngnbthuxxxrthxdxks inwnthi 11 kumphaphnth kh s 1938 kstriykhaorlthrngrangrththrrmnuychbbihm aemwarththrrmnuychbbnicamikhwamkhlaykhlungkbchbbkxnhna aetaethcringaelwmnepnrththrrmnuythimikhwamepnephdckaraelaepnkarpkkhrxngaebbhmukhnathirunaerng rththrrmnuychbbihmyxmrbphrarachxanacchukechinthikstriykhaorlekhayudxanacineduxnkumphaphnth ephuxepliynihrthbalklayepnephdckarodyphvtiny mnepnkarsrangphrarachxanacinphrahtthkhxngphraxngkhxyangekhmkhn sungekuxbcathungcudthieriykwasmburnayasiththirachy rththrrmnuychbbihmidrbkarehnchxbphankarthaprachamtidwyenguxnikhthihangiklcakkhwamlb klawkhux phumisiththieluxktngcatxngmarayngantwtxhnasankngankareluxktngaelaaethlngdwywacawaphwkekhacaehnchxbinrththrrmnuy karthiphumisiththieluxktngengiybcathuxwalngkhaaenn ehnchxb phayitenguxnikhni mikarraynganxyangimnaechuxwa miprachachnehnchxbkbrththrrmnuyihmthungrxyla 99 87 60 61 kstriykhaorlaelaphraxkhrbidrexli khrisetxa sungidepnnaykrthmntriinchwngkh s 1938 1939 nitysarithmidbrryaythungphraxkhrbidrkhrisetxawaepn naykrthmntrihunechid khxngkstriykhaorlthi 2 62 inkarklawsunthrphcnekharbtaaehnngnaykrthmntrikhxngphraxkhrbidrkhrisetxa ekhaprakaspranamaenwkhidphhuniymthangkaremuxngkhxngphwkesriniym aelaklawwa phwkxsurkaythimihwkareluxktngthng 29 twidthukkacdipaelw epnkarphadphingthungphrrkhkaremuxng 29 phrrkhthithukkhwabatr aelaxkhrbidryngxangwaphramhakstriycanamasungkarchwyihphnphy Salvation 63 inchwngkarrthprahareduxnkumphaphnth kh s 1938 kstriykhaorlthrngaecngtxexkxkhrrththuteyxrmn wilehlm fabriesiys ihthrabthungphrarachprasngkhthicakrachbkhwamsmphnthkbeyxrmni 64 thutaetrrikhxngfrngessidthulkstriykhaorlwa rthbalkhxngphraxngkhidrb kartxbrbthidi cakparis aelafrngesscaimyxmihcudcbkhxngrabxbprachathipitynamasungphlkrathbtxkhwamsmphnthkbormaeniy 65 rthbalihmkhxngphraxkhrbidrkhrisetxaimiddaeninnoybaytxtanchawyiwihm aetkimidykelikkdhmaytanyiwedimthimacakrthbalokka aemwaphraxkhrbidrkhrisetxacaimkhxybngkhbichkdhmayehlanimaknk 65 miraynganwaemuxmishaychawyiwthamrthmntrimhadithy xarmand khalienskhu wa sthanakhwamepnphlemuxngkhxngekhacaidrbkarfunfuihm inemuxokkahludcaktaaehnngipaelw khalienskhuepnkhnthiekliydchngphuphithksehlkaelaekliydaenwkhidtxtanyiwkynynwarthbalkhxngkhrisetxaimsnicthicakhunsychatiihchawyiw 66 ineduxnminakhm kh s 1938 xarmand khalienskhu rthmntrikrathrwngmhadithyepnhnunginphnthmitrthiiklchidkstriykhaorlmakthisud ekhaepnehmuxn khnaekhngaekrng inrabxbihmni sungtxngkarihkacdphwkklumphuphithksehlk 67 ineduxnemsayn kh s 1938 kstriykhaorlthrnghnipkacdklumphuphithksehlk odyihcakhukkhxdrixanuinkhxhahminpramathxditnaykrthmntri sastracaryniokhil xxrka nkprawtisastr hlngcakthikhxdrixanutiphimphcdhmaysatharnaklawhawaxxrkathathurkicthithucrit hlngcakkhxdrixanuthuktdsinwaphidcringinwnthi 19 emsayn kh s 1938 ekhakthukphicarnaothsxikkhrnginwnthi 27 phvsphakhm inkhxhakbt enuxngcakekhathukklawhawathanganiheyxrmniephuxerimkarptiwti kh s 1935 aelakhxdrixanuthuktdsincakhuk 10 pi 67 kstriykhaorlthrngidrbkaraetngtngepnsmachikphiessladbthi 892 aehngekhruxngrachxisriyaphrnkaretxr in kh s 1938 cakphrayatikhux smedcphraecacxrcthi 6 aehngshrachxanackr in kh s 1937 phraxngkhthrngidrbkangekhnaehngkhwamyutithrrmkhxngkxngthphaelahxspithlelxr ekhruxngrachxisriyaphrnnkbuylasarsaehngeyrusaelm wnthi 16 tulakhm kh s 1938 68 invduibimrwng kh s 1938 kstriykhaorlphrxmklumkhnchnchnnainormaeniytxngtktalungxyangmakkbkhwamtklngmiwnik wnthi 30 knyayn kh s 1938 thiphraxngkhehnwaepnkarxnuyatihyuorptawnxxkthnghmdihxyuphayitxiththiphlkhxngeyxrmn 69 ormaeniyepnhnunginpraethsthimikhwamniymfrngessxyangmakthisudinolk dngnnkhwamtklngmiwnikcungkrathbpraethsnimakepnphiess 69 ngankhxngiwnebirkidekhiynbrryaythungphlkrathbkhxngkhwamtklngmiwnikthimitxkhwamsmphnthfrngess ormaeniythiwa inmummxngkhwamsmphnthaebbdngedimcaklbipepnaebbchwngcuderimtnxisrphaphkhxngormaeniy thichnchnsungormaeniymxngwafrngessepnaebbxyangsahrbthuksingnbtngaetaefchnipcnthungrabxbrthbal karthifrngessslaxiththiphlxxkipnnepnsingthinatkicxyangying 69 ineduxntulakhm kh s 1938 klumphuphithksehlkwangaephnkxkarrayinkarlxbsngharecahnathitarwcaelakharachkar xikthngwangaephnwangraebidtamsthanthirachkarephuxokhnxanackstriykhaorl 70 71 kstriykhaorlthrngotklbxyangrunaerngdwykarsngihtarwcekhacbkumklumphuphithksehlkodyimtxngmihmaycbaelaihpraharchiwitphuthiphbxawuthxyangrwderwindankhxngeyxrmninntxngkarnamnaelaeyxrmnisngkhakhxmasaephuxihthakhxtklngkarkhachbbihm ephuxtxngkariheruxbrrthuknamnkhxngormaeniyekhaethiybthaeyxrmnimakyingkhun kstriykhaorlthrngphbpakbfabriesiysephuxaesdngectnarmnwaphraxngkhprasngkhkhxtklngthicasrangkhwamekhaicknrahwangeyxrmniaelaormaeniyinrayayaw 72 inkhnaediywknchwngeduxntulakhmthungphvscikayn kh s 1938 kstriykhaorlthrngelnekmsxnghnadwythrngmikhakhxkhwamchwyehluxipyngxngkvs ephuxihnaormaeniyekhasuxiththiphlesrsthkickhxngxngkvs phraxngkhesdceyuxnlxndxninrahwangwnthi 15 20 phvscikayn kh s 1938 ephuxdaeninkarecrcasungimsaerc 73 wnthi 24 phvscikayn kstriykhaorlesdceyuxneyxrmniaelaekhaphbhitelxrephuxphthnakhwamsmphntheyxrmni ormaeniy 74 inrahwangkarecrcakhxtklngesrsthkiceyxrmni ormaeniythicamikarlngnaminwnthi 10 thnwakhm kh s 1938 iwnebirkekhiynwa kstriykhaorlthrngihkarsmpthanethathicaepn aetphraxngkhkthrngepnhwngtxexkrachkhxngpraethsodythrngtxrxngrakhaxyanghnk 74 nkprawtisastrchawxngkvs di si wtt idekhiynwa kstriykhaorlthrng thuxiphehnuxkwa inkarkhwbkhumnamnthieyxrmnitxngkarxyangmakaelaeyxrmnketmicthicaykhanamnormaeniyinxtrathisungodythikxngthphimsamarthmayungekiywxairid 75 rahwangthithrngprachumkbhitelxr kstriykhaorlthrngphiorthmakthihitelxreriykrxngihplxytwkhxdrixanuepnxisraaelaaetngtngekhaepnnaykrthmntri 76 kstriykhaorlthrngechuxwatrabidthikhxdrixanuyngmichiwitxyu ekhakcaepnphunathihitelxrkhxyhnunhlng aetthaekhathukkacdaelw hitelxrkcaimmithangeluxkxunidthicasnbsnunekhaely 76 inchwngaerkkstriykhaorlthrngtxngkarihkhxdrixanutidkhuktxip aethlngcakekidkarkxkarraykhunineduxntulakhm kh s 1938 kstriykhaorlthrngehndwykbaephnkarkhxngrthmntrikhalienskhuthiwangaephncasngharphunaklumphuphithksehlkthukkhnthithukcxngcaxyu 77 inklangdukkhxngwnthi 30 phvscikayn kh s 1938 kstriykhaorlthrngmiphrabychaihsngharkhxdrixanuaelaphunaklumphuphithksehlkxik 13 khn odymiaethlngxyangepnthangkarwa nkoths thukyinghlngcakphyayamhlbhni 78 karkhatkrrminkhunwnthi 30 phvscikayn sungphunaphuphithksehlkthukkwadlangxxkipcakprawtisastrormaeniy thukeriykwa khakhunaehngaewmiphr 76 eyxrmnokrthekhuxngkarkhatkrrmkhxdrixanuxyangmak aelachwngplaypi 1938 mikarrnrngkhokhsnachwnechuxxyangrunaerngtxtankstriykhaorlinhnngsuxphimpheyxrmnthimikarlngeruxngrawthi khxdrixanu thukyingkhnahlbhni xyuesmx aelaeriykkarkhatkrrmkhxdrixanuwa epnchychnakhxngphwkyiw 78 79 aetinthisudkhwamkngwldanesrsthkickklbma eyxrmntxngkarnamnkhxngormaeniyxyangmak thaihnasiyxmengiybcakeruxngphuphithksehlkinchwngtnpi 1939 aelakhwamsmphnthkbkstriykhaorlkklbmaepnpktidngedim 78 xarmand khalienskhu trngklang thikhadphapidta kbkhnarthmntri ineduxnthnwakhm kh s 1938 phrrkhaenwrwmerxensxngaehngchati idthukcdtngkhuninthanaphrrkhthithuktxngtamkdhmayphrrkhediywinpraeths ineduxnediywknkstriykhaorlthrngaetngtngphrashaykhxngphraxngkhtngaetthrngphraeyaw aelaepnhnunginsmachikklumkhamarilla khux krikxr kaefnkhu inthanarthmntritangpraeths 80 kaefnkhuidrbkaraetngtngepnrthmntritangpraethsswnhnungepnephraaphraxngkhthrngiwwangphrathyekhaaelaxikswnhnungepnephraamitrphaphkhxngkaefnkhukboyesf ebkh rthmntritangpraethskhxngopaelnd sungkstriykhaorlprasngkhthicaphuksmphnthkbopaelnd 80 kaefnkhuphyayamaesdngkhwamsamarthinchwngthiidoxkasepnrthmntritangpraeths epnphusungtxngkarimihekidkarpathatxtanknmakthisud sungtrngknkhamkbxarmand khalienskhu rthmntrimhadithyphuaekhngkraw duehmuxnxxknxklunxkthang twelkaelamitaediyw caknnekhaepnnaykrthmntri sungprakastnepnprpkskblththifassistthnginormaeniyaelatangpraethsaelaphyayamkratunihkstriykhaorlthrngyunkhangfaysmphnthmitr 80 noybaytangpraethskhxngkstriykhaorlinpi 1939 khuxkarsrangphnthmitrthiekhmaekhngrahwangormaeniyaelaopaelndaelaklumphnthmitrbxlkhan ephuxhlikeliyngkhwamkhdaeyngkbstruormaeniyxyang hngkariaelablaekeriy snbsnunihxngkvsaelafrngessekhamayungekiywinbxlkhanephuxhlikeliyngkarrukrancakeyxrmni 81 inwnthi 6 minakhm kh s 1939 xkhrbidrkhrisetxa naykrthmntrithungaekxsykrrm khalienskhucungkhunsubepnnaykrthmntritxineduxnkumphaphnth kh s 1939 ekxringidsngphuchwykhux ehlmuth owlthth khxngxngkhkaraephnsipiihmayngbukhaerst phrxmkhaaenanaihlngnamsnthisyyathangesrsthkiceyxrmni ormaeniyxikchbb sungcathaiheyxrmnisamarthkhrxbngaxanacthangesrsthkickhxngormaeniy odyechphaaxutsahkrrmnamn 82 owlththepnburushmayelkhsxnginxngkhkaraephnsipithuksngipbukhaerstephuxthakarecrcaeyxrmn ormaeniythisakhyni 81 kstriykhaorlthrngtxtankhxesnxkhxngeyxrmnthitxngkarnamnmakkhuninkhxtklngeduxnthnwakhm kh s 1938 aelaprasbkhwamsaercinchwngtnpi 1939 thisamarthnaphaormaeniyipxyuinkhxbekhtxanacthangesrsthkickhxngxngkvsid 80 ephuxthwngdulxiththiphlkhxngeyxrmnthikalngthrngxanacmakkhuneruxyinkhabsmuthrbxlkhan kstriykhaorlcungtxngkarphuksmphnthkbxngkvs 80 inewlaediywknaephnsipikalngprasbpyhakhwamyungyakinchwngtnpi 1939 aelaodyechphaaaephnkarkhxngekxringthitxngkarorngngansngekhraahnamncakthanhinepnipdwykhwamlachakwaaephn 81 ethkhonolyiihminkarsngekhraahnamncakthanhinthaihekidpyhadanethkhnikhkhnanihyaelamikhaichcaymakekinip ekxringidrbaecngintnpi 1939 wa orngngannamnsngekhraahthierimsranginpi 1936 caimsamarthepidichidthntamaephninpi 1940 cnkrathngthungvdurxn kh s 1942 orngngannamnsngekhraahcungerimepidihdaeninkarinthisud ehnidchdwaekxringecbaekhnxyangmakinchwngeduxnaerkkhxngpi 1939 thiesrsthkiceyxrmnimmikhwamphrxminkarkxsngkhrametmrupaebbinpi 1940 enuxngcakaephnsipithithukrangiwtngaetkh s 1936 inkhnathiphuechiywchaythangesrsthkickhxngekhabxkekhawa eyxrmnitxngkarnaekhanamn 400 000 tntxeduxn aeteyxrmninaekhaidephiyng 61 000 tntxeduxnethanninchwng 4 eduxnsudthaykhxngpi 1938 81 dngnnowlththcungeriykrxnginrahwangkarecrcakbkrikxr kaefnkhu rthmntritangpraethsormaeniy waihormaeniyoxnxutsahkrrmnamnthnghmdkhxngormaeniymaepnkhxngrth sungtxipcathukkhwbkhumodybristhihmthicaepnkarrwmmuxrahwangrthbaleyxrmnkbrthbalormaeniy khnathieriykrxngihormaeniy ekharphphlpraoychnkarsngxxkkhxngeyxrmn odykhaynamnihkbeyxrmniethann 81 ethannimphx owlththeriykrxngihmimatrkarxun thiepnpraoychntxkarepliynormaeniyihklayepnxananikhmthangesrsthkickhxngeyxrmn 81 odykstriykhaorlimthrngehnchxbinkhxeriykrxngehlani karecrcathibukhaerstcungepnipimkhxydiethair emuxthungcudni kstriykhaorlthrngerimdaeninkarinehtukarnthicathukeriykwa eruxngxuxchawtilixa emuxwnthi 17 minakhm kh s 1939 wioxerl tilixa exkxkhrrachthutormaeniypracaxngkvs idbukekhaipynghxngthangankhxngrthmntritangpraethsxngkvs lxrdhaliaefks tilixainsphaphkrawnkrawayicprakaswa praethskhxngekhakalngephchiykarrukrancakeyxrmnthikalngiklekhama aelakhxihlxrdhaliaefkschwydaeninkarkhxkarsnbsnuncakxngkvs 83 inkhnaediywkn kstriykhaorlthrngradmphlthharhaehlabriewnchayaednthitidkbhngkariephuxpxngknkarrukranthixacekidkhun 84 esrsthkicechingrukran khxngxngkvsinkhabsmuthrbxlkhanidkxihekidkhwambxkchathangesrsthkicxyangaethcringkhxngeyxrmn odythixngkvsthakarsuxnamncakormaeniy xnepnnamnthieyxrmntxngkarmak dngnnphwkeyxrmncungtxngkarkhwbkhumxutsahkrrmnamnkhxngormaeniy xnepnsingthithaihkstriykhaorlthrngphiorth 81 inkhnathixngkvsechuxwa khxeriykrxngkhxngtilixa in eruxngxuxchawtilixa miphlkrathbxyangihyhlwngtxnoybaytangpraethskhxngxngkvs thaihrthbalkhxngnaykrthmntrienwil echmebxrlincatxngphliknoybaycakkarexaiceyxrmnimaepnnoybay cakd xanackhxngeyxrmni 85 86 kstriykhaorlthrngptiesth odythrngxangwaimidekiywkhxngkbkarkrathakhxngtilixainlxndxn aetthungkrannxngkvsketuxneyxrmnthungkarkrathathikhukkhamormaeniyineduxnminakhm kh s 1939 thaiheyxrmntxngyxmphxnprnkhxesnxaelaidmikarlngnamsnthisyyaesrsthkiceyxrmn ormaeniyinwnthi 23 minakhm kh s 1939 sungtamkhwamehnkhxngwtt nkprawtisastr mxngwa mikhwamkhlumekhruxmak 87 aemcami eruxngxuxchawtilixa kstriykhaorlthrngtdsinphrathythicaimekhaipmiswnrwminkarecrcathangkarthutid thicabngkhbihphraxngkheluxkkhangxyangeddkhadrahwangeyxrmniaelaxngkvs aelaphraxngkhcaimthrngyinyxmthicarbkarsnbsnuncakshphaphosewiytthiphyayamkhdkhwangeyxrmni 87 noybayphyayam cakd eyxrmni erimtnineduxnminakhm kh s 1939 xngkvsphyayamsrang aenwhnasntiphaph thiprakxbdwyxyangnxythisudkkhux xngkvs frngess opaelnd shphaphosewiyt turki ormaeniy kris aelayuokslaewiy inswnkhxngkstriykhaorlthrngkngwlinchwngkhrungaerkkhxngpi 1939 wahngkaricaekhaocmtiormaeniyphayitkarsnbsnunkhxngeyxrmni 88 inwnthi 6 emsayn kh s 1939 mikarprachumkhnarthmntrisungmikhxsrupwa ormaeniycaimekharwm aenwhnasntiphaph aetcaaeswnghakarsnbsnuncakxngkvs frngess inthanathiepnpraethsexkrachaethn 88 inkarprachumediywkn mikartdsinicwaormaeniycakrachbkhwamsmphnthkbpraethsbxlkhanxun aetkcahahnthangthicahlikeliyngkhwamphyayamkhxngxngkvs frngessinkarechuxmoyngkhwamplxdphykhxngbxlkhanekhadwykbkhwamplxdphykhxngopaelnd 89 wnthi 13 emsayn kh s 1939 enwil echmebxrlin naykrthmntrixngkvs idxphiprayinsphasamychnshrachxanackr aelaexdwr daladiey naykrthmntrifrngesskxphiprayinrthsphaechnkn inkarprakaskar rbpraknrwm khxngxngkvs frngess inkarrbrxngexkrachkhxngormaeniyaelakris 90 kstriykhaorlthrngyxmrb karrbprakn niinthnthi inwnthi 5 phvsphakhm kh s 1939 cxmphlfrngess mksim ewykxngd edinthangmaeyuxnbukhaerstaelaekhaefakstriykhaorl phrxmphbpanaykrthmntri xarmand khalienskhu ephuxharuxekiywkbkhwamepnipidthicaichormaeniymiswnrwmin aenwhnasntiphaph 91 thngkstriykhaorlaelakhalienskhuihkarsnbsnun aetkbxkpd emuxmikarbxkwacaihshphaphosewiytekhamatxsukbeyxrmni sungthngsxngimyxmihshphaphosewiytekhamaindinaednormaeniyaemwaeyxrmnicaocmtiktam 91 kstriykhaorlthrngbxkewykxngdwa eraimtxngkarihpraethsekhaipmiswnrwminsngkhram sungimkispdah kxngthphkcathukthalay aelapraethskcathukyudkhrxng eraimtxngkarthicaepnsaylxfaxnnamasungphayuohmkrahna 92 kstriykhaorlyngthrngphrabnwa phraxngkhthrngmiyuthothpkrnephiyngphxsahrbkxngthphkhxngphraxngkhephiyngsxnginsam sungyngkhadrththng puntxtanxakasyan punihyhnk aelapuntxtanyanekraa inkhnathikxngthphxakas miephiyngekhruxngbinobran 400 laethann sungphlitinfrngess imsamarthethiybkbfayeyxrmnid 92 ewykxngdraynganipyngkrungpariswa kstriykhaorngmiphrarachprasngkhinkarsnbsnunkhxngxngkvs frngess aetcaimtxsurwmkbfaysmphnthmitremuxsngkhramekidkhun 92 inwnthi 11 phvsphakhm kh s 1939 khwamtklngshrachxanackr ormaeniy idmikarlngnamodyxngkvssyyawa camxbekhrditaekrthbalormaeniythung 5 lanpxndsetxrling aelasyyawacasuxkhawsaliormaeniy 200 000 tn inrakhathisungkwarakhatlad 93 emuxyuokslaewiythakartxbotechinglbtxptiyyashrachxanackr turkiinwnthi 12 phvsphakhm kh s 1939 odysyyawa casranghlkpraknkhwamplxdphyinkhabsmuthrbxlkhan aelayuokslaewiykhuwacaxxkcakktikasyyabxlkhan kaefnkhucungekharwmprachumkbrthmntritangpraethsyuokslaewiy xelksandar chinkar marokwich emuxwnthi 21 phvsphakhm kh s 1939 ephuxkhxihyuokslaewiyyngkhngxyuinktikasyyabxlkhantxip 94 aetkarphuderuxngthicaxxkcakktikasyyabxlkhankhxngchinkar marokwichnn epnklxubaykhxng ecachayphxl phusaercrachkaraehngyuokslaewiy sungkalngsnbsnunaephnthiesnxodyrthmntritangpraethsturki sukhru saraokhklu thicaxnuyatihblaekeriyekharwmktikasyyabxlkhan odyyxmihormaeniyykdinaednodbruyaihblaekeriy 95 ecachayphxlthrngmilayphrahtththungkstriykhaorlrabuwa ecachayphxlthrngtxngkarihphwkblaekeriyelikkhxnaekhatlbhlngskthi dwythrngekrngwaphwkxitalicasrangkxngkalnginxananikhmihmxyang aexlebeniy aelathrngkhxihkstriykhaorlphuepnshayihsmpthanaekphraxngkhdwy 95 kstriykhaorlthrngtxblayphrahtthwa mnepnipimidelythicaihphraxngkhykdinaednihkbblaekeriy swnhnungepnephraaphraxngkhimehndwyinkarykdinaednxunidihphuxun ephraakarykodbruyaihblaekeriy caepnaerngkratunihphwkhngkarixangsiththiinthransileweniydwyechnkn 93 aemwakstriykhaorlcathrngtxtanxyangepnthangkartx aenwrwmsntiphaph aetphraxngkhktdsinphrathythicaesrimsrangkhwamaekhngaekrngkhxngphnthmitrbxlkhan odyechphaaxyangyingkhwamsmphnththiaenbaennkbturki 96 nbtngaetthixngkvsaelafrngessphyayamthanganephuxepnphnthmitrkbturki inkhnaediywknkecrcakbshphaphosewiytdwy kstriykhaorlthrngihehtuphlwa thaormaeniyepnphnthmitrkbturkixyangaenbaenn epnhnthangediywthicaechuxmoyngormaeniykb aenwrwmsntiphaph idodyimtxngekharwmcring 96 aemwakstriykhaorlcathrngphidhwnginecachayphusaercrachkarphxl aetphraxngkhkyngtxngkarthicarksakhwamsmphnthkbyuokslaewiy inthanaephuxnbanthiepnmitrkhxngormaeniy 96 ephuxtxtankareriykrxngkhxngblaekeriyindinaednodbruya kstriykhaorlyngthrngrksakhwamsmphnthkbstrutwchkackhxngblaekeriynnkkhux kris 96 ineduxnkrkdakhm kh s 1939 kstriythrngerimprathaxyangrunaerngkbfrits fabriesiys nkkaremuxngormaeniy phunaphrrkhnasichatieyxrmnsungepnphrrkhthiihythisudinhmuphrrkhkaremuxngowlkdxych aelaekharwmphrrkhaenwrwmerxensxngsaehngchatitngaeteduxnmkrakhm kh s 1939 97 fabriechiyseriyktnexngwa fuxerxraelacdtngkxngkalngtidxawuthsxngklum khuxklumaerngnganaehngchatiaelaklumyuwchneyxrmn xikthngcdphithikarthimichnklumnxyeyxrmninormaeniyekharwmthung 800 000 khn sungdaeninkaraesdngkhwamcngrkphkditxekha 97 intneduxnkrkdakhm fabriechiysidipeyuxnmiwnikaelaidklawsunthrphcnwa klumowlkdxychormaeniy mikhwamcngrkphkditxeyxrmni imichormaeniy aelaekhaklawwaprarthnacaehn ckrwrrdiirseyxrmnxnyingihy sungcamiklumchawchnbthtidxawuthtngthinthanipthwethuxkekhakharepethiyn xurlaelakhxekhss 97 in Grossraum ni epnkhaphasaeyxrmnthiaeplkhwamhmayimid mikhwamhmayhyabwa phunthikwangihy miephiyngchaweyxrmnethannthiidrbxnuyatihxyuxasy aelaphuthiimetmicthicaepnchaweyxrmncatxngxxkip 97 hlngcakfabriechiysphudsunthrphcnni emuxekhaklbormaeniy ekhathukeriyktwipphbnaykrthmntrikhalienskhuinwnthi 13 krkdakhm naykrthmntribxkekhawa kstriythrngxdthnephiyngphxaelwaelacathrngdaeninkarcdkarekha 97 fabriechiyssyyawacathatwihdikhun aetekhakthukkhbilcakormaeniyhlngcakwnnnimnan emuxphbwahnunginphutidtamkhxngekhaxxkcakrthifodythiinkraepaexksaretmipdwyhlkthanthiaesdngihehnwa phusnbsnunfabriechiysmixawuthepnkhxngtnexng aelafuxerxrfabriechiysidrbkarsnbsnunthangkarengincakeyxrmni 97 ineduxnkrkdakhm kh s 1939 kstriykhaorlthrngidrbkhawluxwa hngkariidrbkarsnbsnuncakeyxrmniihwangaephnekharukranormaeniy thaihekidwikvtkhrngihmkhxngkhwamsmphnthormaeniy hngkari sungekidcakkarrxngeriyncakbudaepstthirxngeriynwachawormaeniykalngtharunkrrmchawaemkyarinthransileweniy karrxngeriynniidrbkarsnbsnuncakrthbalebxrlin kstriykhaorlcungthrngmiphrabrmrachoxngkarradmphlthharinkhnathithrngkalngkhuneruxyxrphrathinngipyngxistnbul 98 inchwngrahwangesdceyuxnxistnbul kstriykhaorlthrngmiphrarachptisntharkbxisemth xienxnux prathanathibditurki aelasukkhrux saraokklu rthmntritangpraethsturki sungthangturkisyyawacaradmphlthharthnthithafayxksarukranormaeniy 98 turkibibkhnihkstriykhaorlthrnglngphranamepnphnthmitrkbshphaphosewiyt xnepnsingthiphraxngkhimetmphrathynk phraxngkhyxmdaeninkarechnnn ephraaturkicaepnkhnklanginkarprasankhwamrwmmux aelathrngyinyxmthahakshphaphosewiytyxmrbaenwphrmaednkhxngormaeniy 98 karthiormaeniyaekpyhadwykaridrbkarsnbsnuncakturkinnsngphlihphwkhngkariyxmthxnkhwamtngicthicarukranormaeniy 98 khawktikasyyaomoltxf ribebinthrxphineduxnsinghakhm kh s 1939 srangkhwamhwadhwnaekkstriykhaorlmak 99 ineduxnsinghakhm kh s 1939 kstriykhaorlthrngelnekmkaremuxngihsxngfayekhasukn phraxngkhthrngxnuyatihnaykrthmntrikhalienskhubxkthutaetrrikhxngfrngesswa chawormaeniycathalaybxnamnthafayxksaekharukran inkhnaediywknrthmntritangpraeths kaefnkhu idbxkaekoyxakhim fxn ribebinthrxph rthmntritangpraethseyxrmn wa ekhayunynmitrphaphrahwangormaeniykbeyxrmni rwmthungkaraesdngcudyuntxtan aenwhnasntiphaph aelamikhwamtngicthicakhaynamniheyxrmnmakkhun 100 hlngcakkarlngnaminktikasyya khalienskhuthulaenanakstriykhaorlwa eyxrmniepnxntrayxyangaethcring karepnphnthmitrmnethakbwaepnrthinxarkkhakhxngeyxrmn miaetephiyngiheyxrmnithukkacdodyxngkvsaelafrngessethannthungcasamarthpxngkncakxntrayid 66 wnthi 27 singhakhm kh s 1939 kaefnkhubxkfabriechiyswa ormaeniycaprakastnepnklangthaeyxrmnirukranopaelnd aelatxngkarcakhaynamniheyxrmn 450 000 tntxeduxn ephuxaelkkbengin 1 5 lanirsmark rwmthungxakasyaneyxrmnsmyihmcanwnhnungfri 100 kstriykhaorlthrngphbpakbkxngthphxakaseyxrmninwnthi 28 singhakhm kh s 1939 ephuxaesdngkhwamyindirwmkbeyxrmninkhwamsaercthangkarthutthiyingihythiphwkekhaidrbcakkarthasyyakbshphaphosewiyt 100 kstriykhaorlimthrngthrabwaktikasyyaomoltxf ribebinthrxph mi snthisyyalb thiyxmrbihdinaednkhxngormaeniykhux ebssaraebiy ihtkepnkhxngshphaphosewiyt inrayasnsnthisyyaeyxrmn osewiytnnepnpraoychnaekkstriykhaorl ephraaintxnnieyxrmnidsuxnamnkhxngshphaphosewiyt thaihchwyldaerngkddnkhxngnamnormaeniyidsngkhramolkkhrngthisxng aekikh kstriykhaorlthi 2 phrxmmkudrachkumarmiih phrarachoxrsesdcxxktrwcphlinwnchati wnthi 10 phvsphakhm kh s 1939 emuxsngkhramolkkhrngthisxngekidkhuncakkarthieyxrmniekharukranopaelndinwnthi 1 knyayn kh s 1939 tammadwyxngkvsaelafrngessprakassngkhramtxckrwrrdiirsinwnthi 3 knyayn piediywkn kstriykhaorlthrngprakasepnklang karthiphraxngkhthrngthaechnnithuxepnkarlaemidsnthisyyaepnphnthmitrkbopaelndthilngnamiwinpi 1921 rwmthungsnthisyyakbfrngessthilngnamemux kh s 1926 kstriykhaorlthrngdaeninnoybayphayitehtuphlthiwaeyxrmniepnphnthmitrkbshphaphosewiytphayitktikasyyaomoltxf ribebinthrxph aelafrngesstrungkalngtamaenwaemkiont odyimetmicthicarukkhubekhaeyxrmni karprakasepnklangcungepnsingthirksakhwamepnexkrachkhxngrachxanackrkhxngphraxngkh 101 kstriykhaorlthrngphyayamelnkaremuxngaebbrksasmdulxyangrxbkhxbrahwangfaysmphnthmitraelafayxksa danhnungthrnglngnamsnthisyyaesrsthkicihmkbeyxrmni inkhnathixikdanhnungthrngphicarnaxnuyatihthharopaelndsamarthkhamphrmaednmayngormaeniytamchwngewlaid odythrngptiesththicakktwphwkekhatamhlkkdhmayrahwangpraeths thharchawoplidrbxnuyatihedinthangipthiemuxngkhxnstnsaephuxkhuneruxaelaphaphwkekhaipthimaraesy ephuxsurbtxtaneyxrmnrwmkbfrngess 101 hwsaphanormaeniyyngkhngepnesnthanghlbhnisakhykhxngchawoplhlayphnkhninchwnglxaehlmkhxngeduxnknyayn kh s 1939 esnthangniidrbkarrxngeriynxyanghwesiycakthutfabriechiysinkrnithiepnesnthangkhxngthharopaelndkhammaormaeniy sudthaykstriykhaorlcungthrngtxngkkknchawoplthihlbhniinwnthi 21 knyayn kh s 1939 naykrthmntrikhalienskhuthuklxbsngharodyklumphuphithksehlk odymikarwangaephnthiebxrlin ephuxkacdklum khamarilla thisnbsnunfaysmphnthmitrxyangaekhngkhn 102 wntxma muxsngharkhalienskhu 9 khn thukyingthingodyimmikarphicarnakhdi aelainchwngspdahwnthi 22 28 knyayn kh s 1939 smachikklumphuphithksehlk 242 khntkepnehyuxkarpraharchiwitaebbwisamykhatkrrm 103 enuxngdwyeruxngnamnthaihormaeniythukmxngwamikhwamsakhyyingtxthngsxngfayaelainchwngrahwangsngkhramlwnginpi 1939 1940 xnepnsingthinkprawtisastrxyangiwnebirkeriykwa karkraesuxkkrasnxyangengiybephuxchingnamnkhxngormaeniy odyrthbaleyxrmnphyayamthathukwithithangephuxihmixanacehnuxnamnormaeniyethathicaepnipid inkhnathixngkvsaelafrngessphyayamthukwithithangechnknephuxiheyxrmniimidnamncakormaeniyip 104 odyechphaaxngkvsiddaeninaephnkarkxwinaskrrmthalaybxnamnkhxngormaeniyaelathalayekhruxkhaykhnsngnamnipyngeyxrmnisungimsaerc 101 ineduxnmkrakhm kh s 1940 kstriykhaorlthrngmiphrarachdarsphansthaniwithyu odythrngprakaswa noybaytangpraethsthichaychladkhxngphraxngkhsamarththaihormaeniyepnklangaelaplxdphycakxntrayid 105 inphrarachdarsediywkn kstriykhaorlthrngprakaswacathrngkxsrangaenwpxngknkhnadihyrxbrachxanackr dngnncatxngmikarkhunphasiephuxichcayinkarkxsrangni 105 chawormaeniyeriykaenwekhtaednniwa aenwxiaemkiont thukmxngwaepnaenwtngrbincintnakarkhxngaenwaemkiont aelaphuxyuitsngkdkhxngkstriykhaorlhlaykhnsngsywa enginthimimakkhuncakkarephimxtraphasicaekhasubychithnakharkhxngkstriythithnakharswis 105 kstriykhaorlthrngpxngknkaredimphnkhrngnikhxngphraxngkhekiywkbkarthicaeluxkrahwangfaysmphnthmitrhruxfayxksa ephiyngplayeduxnphvsphakhm kh s 1940 emuxfrngessduehmuxncaaephsngkhram kstriykhaorlcungepliynipsnbsnunfayxksa 106 inchwngyukhhlngsngkhramlwng hlngcakthrngtxsukbklumphuphithksehlkxyangnxngeluxdmanan namasungcudsungsudemuxnaykrthmntrikhalienskhuthuklxbsnghar kstriykhaorlcungthrngerimyunmuxiphaklumphuphithksehlkthiphunabangkhnyngrxdchiwitxyu 107 phraxngkhthrngmxngwaklumphuphithksehlkthi echuxng casamarthichepnthansnbsnunkhwamniymid ineduxnemsayn kh s 1940 kstriykhaorlthrngepidkarecrcakbwasil onwixanu phunaklumphuphithksehlkitdininormaeniy aetkecrcaidimthungtneduxnphvsphakhm kh s 1940 hxeriy sima phunaklumphuphithksehlkthiliphyineyxrmniidrbkarchkchwnihsnbsnunrthbal 108 inwnthi 26 phvsphakhm kh s 1940 simaedinthangcakeyxrmniklbormaeniyephuxerimecrcakbnayphlmiih mxrusxfaehnghnwysubrachkarlbekiywkbkarthiklumphuphithksehlkecaekharwmrthbal 108 inwnthi 28 phvsphakhm hlngcakthrngrbrukarphayaephkhxngebleyiym kstriykhaorlthrngbxktxspharachbllngkwa eyxrmnikalngcachnasngkhram aelaormaeniycaepntxngprbnoybaytangpraethsaelanoybayphayinpraethsihmephuxphuchnasngkhram 108 inwnthi 13 mithunayn mikartklngkninkhnathiklumphuphithksehlkidrbxnuyatihekharwmphrrkhaenwrwmerxensxngaehngchati sungtxmaepliynchuxphrrkhepn phrrkhaehngchati ephuxaelkepliynkbnoybaythiihdaeninkartxtanchawyiwxyangekhmkhnmakkhun 108 phrrkhaenwrwmerxensxngaehngchatirwmtwihmepnphrrkhaehngchati sungkhnannamwaepn phrrkhediywaelaxanacniymebdesrcphayitphunasungsudlneklalnkrahmxm smedcphraecakhaorlthi 2 109 inwnthi 21 mithunayn frngesslngnamsngbsukkbeyxrmni chnchnnaormaeniythiekhyxyuphayitaenwkhidniymfrngessmanan karphanaephkhxngfrngess thaihchnchnnaklumnithukmxngwaepnphunaxpysxdsuinsaytakhxngprachachnaelathaihprachachnhnipihkarsnbsnunklumphuphithksehlkthiniymeyxrmnaethn 105 inchwngthiormaeniyhnipsnbsnunklumphuphithksehlkaelaeyxrmniphykekhamaeyuxn inwnthi 26 mithunayn kh s 1940 shphaphosewiytyunkhakhaderiykrxngihormaenibsngmxbdinaednebssaraebiy sungekhyepnkhxngrsewiycnthungpi 1918 aelaphakhehnuxkhxngbuokwina sungimekhyepnkhxngrsesiyely ihsngkhunaekshphaphosewiyt aelakhmkhuwacakxsngkhram phayinsxngwnkhakhadkhxngosewiytkthukptiesth 110 kstriykhaorlthrngphicarnaintwxyangkrnikhxngfinaelndin kh s 1939 sungephchiykbkhakhadkhxngshphaphosewiytechnediywkn aetphlkhxngsngkhramvduhnawkaethbepntwxyangthisrangaerngbndalicimid 110 intxnaerkkstriykhaorlthrngphicarnaptiesthkhakhad aetemuxthrngidrbaecngwakxngthphormaeniyimsamarthtxkrkbkxngthphaedngid phraxngkhktdsinphrathysladinaednaebssaraebiyaelaphakhehnuxkhxngbuokwinaihshphaphosewiyt kstriyukhaorlthrngkhxrxngipyngrthbalebxrlinihchwytxtankhakhadshphaphosewiyt aetkthrngidrbkarbxkephiyngwaihehndingamkbkhxeriykrxngkhxngocesf stalin 110 karsuyesiydinaednodyimidtxsukbshphaphosewiytklayepnkhwamxpysradbchatikhxngchawormaeniy aelasngphlxyangihyhlwngtxphraekiyrtiyskhxngkstriykhaorl lththibuchabukhkhlkhxngkstriykhaorlin kh s 1940 nnidrbphlkrathbsungsud karsladinaednihosewiytnnimmikartxtancakebssaraebiyaelaphakhehnuxkhxngbuokwinaely xnepnthiephyihehnwa kstriykhaorlkthrngepnmnusykhnhnungechkechnthukkhn aelathiyaaeykhuxskdisrikhxngphraxngkhthukbnthxn cnkstriykhaorlthukmxngwaepnkstriyyngkhngepnthrrmdathieciymenuxeciymtnimwiessehmuxnemuxkxn 105 naykrthmntriexiyn kikurtuaelarthmntritangpraethseyxrmnoyxakhim fxn ribebinthrxph insalsburk eduxnkrkdakhm pi 1940 inwnthi 28 krkdakhm kh s 1940 simaidekharwmrthbalinthanapldkrathrwngsuksathikar 111 inwnthi 1 krkdakhm kstriykhaorlthrngmiphrarachdarsthangwithyuprakaslmeliksyyaphnthmitrkbfrngesspi 1926 aelasnthisyyaxngkvs frngess thi rbprakn thanakhxngormaeniyinpi 1939 odythrngtrswa txcakniormaeniycaaeswnghakarkhumkhrxngphayiteyxrmn raebiybolkihm inyuorp 112 wnthdma kstriykhaorlthrngechiyihecahnathithawthhareyxrmnekhamafuksxmthharinkxngthphormaeniy 112 wnthi 4 krkdakhm kstriykhaorlesdcrbphithisabantnkhxngrthbalihmthinaody exiyn kikurtu epnnaykrthmntri aelasimaepnrthmntriwakarkrathrwngsilpkrrmaelawthnthrrm 113 kikurtuepnphunaphrrkhkhrisetiynaehngchatitxtanesmitikinchwngthswrrsthi 1930 ekhaepnesrsthinkthurkicthimisaysmphnthkbeyxrmni aelaepnthiruckwaepnphwkniymeyxrmn 113 dwyehtuehlani kstriykhaorlthrnghwngwakarihkikurtuepnnaykrthmntricathaihchnaichitelxr aelapxngknkarsuyesiydinaedntxip 113 inkhnaediywkn kstriykhaorlthrnglngphranaminsnthisyyaesrsthkicihmkbeyxrmniinwnthi 8 singhakhm kh s 1940 aelainthisudchaweyxrmnkkhrxbngaormaeniyaelakhrxbnganamnthiphwkekhaaeswnghamatlxdinchwngthswrrsthi 1930hlngcaknnepntnmashphaphosewiytklayepntwxyangihblaekeriythatambanginkareriykrxngdinaednkhuncakormaeniy odyeriykrxngdinaednodbruyathisuyesiyipinsngkhrambxlkhankhrngthisxng kh s 1913 swnhngkarikeriykrxngdinaednthransileweniykhunhlngcaksuyesiyiphlngphayaephsngkhramolkkhrngthihnung 114 ormaeniyaelablaekeriyepidkarecrcaknnaipsusnthisyyaikhroxwathiyinyxmmxbdinaednodbrubatxnitihblaekeriy inthangptibti kstriykhaorlimthrngetmphrathythicaykthransileweniyihhngkari aelahakimidepnkaraethrkaesngkarthutkhxngormaeniyaelaxitali phraxngkhkcaimthrngyxmechnnn ormaeniyaelahngkarikalngcathasngkhramkninvdurxn pi 1940 114 inkhnaediywkn kstriykhaorlthrngcbkumnayphlexiyn xnotenskhuinwnthi 9 krkdakhm kh s 1940 hlngcakekhawiphakswicarnphramhakstriy ocmtikarthucritkhxngrthbalphrarachthanwarthbaltxngrbphidchxbtxkhwamxbxaythikxngthphormaeniyidrbaelarwmthungkarsuyesiyebssaraebiydwy 115 thngfabriechiysaelaaehrmnn enabaechxr phuptibtikaraephnsipiinbxlkhanidekhaaethrkaesngkstriykhaorl phwkekhaesnxwa karthaihxnotenskhu taycakxubtiehtu hrux thukyingkhnaphyayamhlbhni cathaihekid khwamimphxictxphunaradbsungkhxngeyxrmn ephraaxnotenskhuepnphusnbsnunkhnsakhyinkarepnphnthmitrkbeyxrmni 115 wnthi 11 krkdakhm kstriykhaorlthrngplxytwxnotenskhu aetihkkbriewnthixarambistixa 115 hitelxrtuntrahnktxsngkhramrahwangormaeniyaelahngkarithixaccaekidkhun ekhaklwwaxaccathaihaehlngnamnormaeniythukthalay hruxshphaphosewiytekhaaethrkaesngaelayudkhrxngormaeniythnghmd 114 inewlani hitelxrkalngphicarnaxyangcringcnginkarbukshphaphosewiytinpikh s 1941 aelathaekhacathaechnnn ekhatxngichnamnormaeniyinkaresrimsrangkxngthphkhxngekha 114 inehtukarnrangwlewiynnakhrngthisxngwnthi 30 singhakhm kh s 1940 rthmntritangpraethseyxrmn oyxakhim fxn ribebinthrxph aelarthmntritangpraethsxitali ekhanthkalixsos sixaon idrabuihthransileweniytxnehnuxepnkhxnghngkari inkhnathithransileweniytxnitepnkhxngormaeniy karpranipranxmniyingthaihrthbalbukhaerstaelabudaepstimphxicxyangluktxrangwlewiynna 116 dwyehtuphlthangesrsthkic ormaeniymikhwamsakhytxhitelxrmakkwahngkari aetormaeniyepnphnthmitrkbfrngesstngaetkh s 1926 aelaekharwm aenwhnasntiphaph khxngxngkvsinpi 1939 hitelxrcungimchxbaelaimiwickstriykhaorl ekhacungmxngwaormaeniytxngthuklngothsenuxngcakichewlananmakkwacaekharwmfayxksa 114 hlngcakparisphayaephineduxnmithunayn kh s 1940 eyxrmnekhayudkhrxngekdxresy aelaidrbkhxmulekiywkbkarthutsxnghnakhxngkstriykhaorlwadaeninkarcnthungvduibimphlikhxngpi 1940 117 cakkarthxdkhwamcakexksarfrngessthiekbmaidaelwaeplmaepnphasaeyxrmnihhitelxr hitelxrimmikhwamsamarththangphasaid nxkcakphasaeyxrmnkhxngekhaexng ekhaimprathbickstriykhaorlthiphyayamsansmphnthkbfrngessinewlaediywkbthiepnmitrkbeyxrmn 117 inewlaediywkn hitelxrmikhxesnxihkstriykhaorlthungeruxng karrbprakn dinaednswnthiehluxkhxngormaeniyephuximihsuyesiyephim sungkstriykhaorlthrngyxmrbinthnthi 116 hnthangsukarslarachbllngk aekikh kstriykhaorlthi 2 aelamkudrachkumarmiih inchwngthswrrsthi 1930 karyxmrbinrangwlewiynnakhrngthisxngthaihprachachnhmdsrththainkstriykhaorlxyangsineching aelainchwngtneduxnknyayn kh s 1940 mikaredinkhbwnprathwngkhrngihyinormaeniyephuxkddnihphramhakstriyslarachbllngk inwnthi 1 knyayn kh s 1940 simasungidlaxxkcakkhnarthbalidklawsunthrphcnephuxihkstriykhaorlslarachsmbti aelaklumphuphithksehlkcarwmtwknchumnumprathwngthwormaeniyephuxkddnihphraxngkhslarachbllngk 118 inwnthi 2 knyayn kh s 1940 waelxr phxph kharachbripharaelaepnsmachikklum khamarilla khnsakhyidthulthwaykhaaenanaaekkstriykhaorlihthrngaetngtngnayphlexiyn xnotenskhuepnnaykrthmntriephuxaekikhwikvtkarnni 119 ehtuphlkhxngphxphthithulaenanaphraxngkhkhux xnotenskhunnepnmitrimtrikbklumphuphithksehlkaelaekhathukcbkumodykstriykhaorl thaihmikarechuxwaekhamiebuxnghlngepnfaytxtan sungkarthaechnnicaepnkarexaicprachachn aelaphxphruwa xnotenskhuidrbkhwamehnxkehniccakfaykxngthph karaetngtngekhaepnnaykrthmntricathaihklumchnchnsungaelathharcaimtxtan emuxfungchncanwnmakerimrwmtwkndanhnaphrarachwngephuxeriykrxngihphramhakstriyslarachbllngk kstriykhaorlthrngphicarnakhaaenanakhxngphxph aetimthrngetmphrathythicaihxnotenskhuepnnaykrthmntri 120 inkhnathiprachachncanwnmakerimekharwmprathwng phxphklwwaormaeniykalngcaekidkarptiwti sungimephiyngcakwadlangrabxbkstriyethann aetxaccakwadlangklumchnchnsungthipkkhrxngpraethsnimatngaetstwrrsthi 19 ipdwy dngnnephuxkddnkstriykhaorlmakyingkhun phxphekhaphbpafabriechiysinklangkhunkhxngwnthi 4 knyayn ephuxkhxihekhaipthulbxkkstriykhaorlwa irseyxrmntxngkarihnayphlxnotenskhuepnnaykrthmntri 120 nxkcakninayphlxnotenskhuthimikhwamthaeyxthayanying mikhwamprarthnathicaepnnaykrthmntrimananaelw ekhacungerimmxngkhamkhwamekliydchngthimimanantxkstriykhaorl aelaekhaaenanawaekhaetriymthicaihxphykbkhwamkhdaeyngaelakhwamkhdaeynginxditinwnthi 5 knyayn kh s 1940 xnotenskhuidepnnaykrthmntri aelakstriykhaorlthrngthayoxnxanacephdckarswnihyipihaekekha 121 122 inthananaykrthmntri xnotenskhuidrbkaryxmrbcakthngfayphuphithksehlkaelaklumchnchnsung 123 kstriykhaorlthrngwangaephnthicaprathbxyutxiphlngcakaetngtngxnotenskhu aelainchwngtnexngxnotenskhukimsnbsnunkhxeriykrxngcaksatharnchnthicaihphramhakstriyslarachbllngk 123 xnotenskhuepnnaykrthmntri aetekhamithankaremuxngthixxnaex inthanathhar xnotenskhuepnkhnsnods hyingyosaelahwsung mkcaxarmnesiyngay xnepnehtuihekhaimepnthiniyminhmuephuxnthharethair khwamsmphnththangkaremuxngkhxngxnotenskhunnimkhxydink aelaintxnaerkxnotenskhukimtngicthicatxtankstriy cnkrathngekhaerimmiphnthmitrthangkaremuxngbang kstriykhaorlthrngmirbsngihxnotenskhuaelanayphldumithru okhorxamabychakarkxngthphinbukhaerstephuxprabpramphuchumnumprathwng aetkhasngnithngsxngptiesththicathatam 124 inwnthi 6 knayn kh s 1940 emuxnotenskhuthrabaephnkarthiphyayamlxbsngharekhasungwangaephnodysmachikklumkhamarilla khux nayphlphxl thioxdxerskhu thaihxnotenskhuhnmaxyufaythieriykrxngihkstriykhaorlslarachbllngk 125 dwysatharnchntxtanphraxngkhaelakxngthphptiesththicathatamrbsngkstriykhaorlcungthrngthukbngkhbihslarachbllngktamkhxxangkhxngnkprawtisastrchawxemrikn aelrri wtt rabuwa kstriykhaorlthrngnaormaeniyepnphnthmitrkbnasieyxrmni aelacxmphlexiyn xnotenskhutxngsubthxdkhwamepnphnthmitrkbeyxrmniinpi 1940 xyangimetmicnk odf lunku nkprawtisastrchawaekhnada kekhiyniwwa nkekhiyn wtt xangwa karthiormaeniyepnphnthmitrodyphvtinykbeyxrmniphayitxnotenskhunn epnphlngankhxngkstriykhaorl sungerimwangrakthanphnthmitrmatngaettnpi 1938 aelw khxeriykrxngkhxngkstriykhaorlineyxrmninnepnkhxtklngaebbkhrungic aelaphyayamthwngewlaihchathisudethathicathaid dwykhwamhwngwamhaxanactawntk cafunkhunekiywkbaenwhnakaremuxngkarthut tngaeteduxnknyayn kh s 1939 phrxmkbdankarthhar aetinvduibimphli pi 1940 emuxxanackhxngeyxrmniduehmuxncaiklekhama inthisudphraxngkhkthrngepliynthisthangthangesrsthkicaelakaremuxngphaynxkpraethsesiysin nxkcakniyngmikhwamaetktangxyangluksungrahwangkhakhxngkhxngkstriykhaorlinchwngspdahthay khxngrchkalinkardaeninkarihmipharkicthangthhareyxrmninkarfuksxmthharkhxngormaeniythiimmikhwamphrxm kbxikprakarkhuxkartdsinickhxngxnotenskhuthimikhunekuxbthnthiinchwngthiekhakhunsuxanacwacasuekhiyngkhangeyxrmncnkrathngsngkhramsinsud sunginkhwamepncringaelwxnotenskhuprarthnaephiyngaekhyudkhundinaednebssaraebiyethann dngnnxnotenskhumikhwamkratuxruxrnmakkwaphwkeyxrmninkaretriymkarormaeniyekhasusngkhramtxtanshphaphosewiyt 126 esdcliphy aekikh kstriymiihthamklangnkkaremuxngphuphithksehlkinwarakarihstyabnktikasyyaitrphakhi inpi 1940 caksay wilehlm fabriechiys thuteyxrmn hxeriy sima nayphlexiyn xnotenskhu aelakstriymiih trngklang phayitkarbibbngkhbkhxngshphaphosewiyt aelatxmaodyhngkari blaekeriyaelaeyxrmni thibngkhbihykdinaednphiphathkhxngxanackrihtangchatinn thaythisudkstriykhaorlkthrngphayaephinechingelhehliymtxfayniymeyxrmnphayitcxmphlexiyn xnotenskhu phraxngkhidslarachbllngkihphrarachoxrs khux kstriymiih ineduxnknyayn kh s 1940 odyesdcliphytxnaerkipyngemksiok 127 aetthaysudthrngprathbthipraethsoprtueks inemksiokkstriykhaorlaelaluepskhuprathbthiemksioksiti sungthrngsuxbanhlnghnunginyanthimirakhaaephnginemksioksiti inchwngsngkhramolkkhrngthisxng xditkstriykhaorlthrngphyayamcdtngkhbwnkarormaeniyxisrasungmithandaeninkarinemksiokephuxokhnlmxnotenskhu xditkstriythrnghwngwakhbwnkarormaeniyxisrakhxngphraxngkhcaidrbkaryxmrbinthanarthbalphldthin aelathaythisudcathaihphraxngkhidrbkarfunfurachbllngk karyxmrbinkhbwnkarormaeniyxisrakhxngkstriykhaorlnniklepnkhwamcringinpikh s 1942 emuxprathanathibdimanuexl xabila kamaoch xnuyatihxditkstriykhaorlprathbyunekhiyngkhangekhainkhnaphithitrwcphlthhar xditkstriythrngtxngkarkhyaythanptibtikarinxemrika aelarthbalxemriknptiesththicaihphraxngkhesdcekhapraeths 128 aetxditkstriykhaorlkthrngtidtxkbnkbwchnikarxisetirnxxrthxdxksinchikhaokthimichuxwa bathhlwngkliechxri omraru aelabathhlwngxelksandru oxprixanu sungphyayamcdtngxngkhkrinklumchumchnchawormaeniyxemriknephuxkddnihrthbalklangshrthrbrxngkhnakrrmkar ormaeniyxisra inthanarthbalthithuktxngtamkdhmaykhxngormaeniy aetkimprasbkhwamsaerc 129 ephuxsnbsnunklumni xditkstriykhaorlthrngtiphimphnitysarxemrikn chux edxafriormaeniyn aelatiphimphcanwnmakinphasaormaeniyaelaxngkvs 130 pyhasakhysahrbkhwamphyayamkhxngxditkstriykhuxkarradmchumchnchawormaeniyxemrikn mipyhatamrthbyytikhwbkhumkarxphyphekhaemuxngkhxngrthbalshrthinpi 1924 sungcakdkarxphyphkhxngprachachncakyuorptawnxxkmayngxemrikaxyangmak dngnnprachakrchawormaeniyxemriknswnihyinpithswrrsthi 1940 epnprachachnthixphyphmakxnthirthbyytipi 1924 xxkma hruxepnbutrhlankhxngphwkekha sungkhnklumnimxngwaxditkstriykhaorlimidmikhwamhmayxairtxphwkekhamaknk nxkcaknichawormaeniyxemriknswnihyepnchawyiwsungimihxphyaelaimlumwa xditkstriykhaorlaetngtngnkkaremuxngbakhlngthiekliydchngchawyiwxyang okka epnnaykrthmntri 130 dngnnephuxepnkarprbprungphaphlksninhmuchawyiw xditkstriykhaorlthrngekliyklxmlixxn fisechxr xditrxngprathansmakhmyuinetdormaeniynyiwaehngxemrika ephuxekhiynbthkhwaminnamkhxngphraxngkhinnitysarkhxngchawxemriknyiw ephuxaesdngihehnwaxditkstriyepnmitraelaepnphupkpxngchawyiwkhwmthungpkpxngstrukhxngfaytxtanchawyiwdwy 130 ptikiriyatxbthkhwamkhxngfisechxrnnsngphlkrathbechinglbodymicdhmaythungbrrnathikarnitysarmakmaythithakarwicarnxyangkhmkhunwa xditkstriykhaorlepnphulngnaminkdhmaykhxngokkathnghmd inkaryudkhunkhwamepnphlemuxngormaeniycakchawyiw aelathaihsiththiinkarthuxkhrxngthidinkhxngchawyiwormaeniyphidkdhmay aelacdhmaymikarsngtxipyngbristhtang aelathungchawyiwthithanganepnthngthnaykhwam aephthy aelakhru epntn 130 nxkcakni phuekhiyncdhmayyngrabuwa xditkstriykhaorlthrngxnuyatihkdhmayehlaniyngkhngxyuinelmbthbyytiaemwacapldokkaxxkipaelwktam aelaphuekhiynmikarwicarnxyangkrathbkraethiybwa thaxditkstriykhaorlthrngepnmhamitrkbchawyiwinormaeniycring chawyiwormaeniycaimtxngkarepnstrukbikhrkhnihnxikely 130 khxesnxkhxngxditkstriykhaorl khux txngkarihkhnakrrmkarormaeniyxisrakhxngphraxngkhidrbkarrbrxnginthanarthbalphldthin aetkhxesnxkhxngphraxngkhidthukkhdkhwangdwykhwamimepnthiniymkhxngphraxngkhindinaednekidkhxngphraxngkhexngodyminkkarthutxemriknaelaxngkvshlaykhnotethiyngknwa thahakihkarsnbsnunxditkstriy caepnkarephimkhaaennniymihnayphlxnotenskhuipodypriyay nxkcakniyngmistrukhxngfayormaeniyxisrakhux wioxerl tilixa sungxyuinlxndxn ekhaimtxngkarthicaekiywkhxngkbfaykrrmkarormaeniyxisrakhxngxditkstriyinemksioksiti 131 wioxerlekhyepnnksuksamhawithyalyinchwngthswrrsthi 1930 ekhysnbsnunklumphuphithksehlk sungepneruxngphidpktikhxngchawormaeniyinchwngewlani tilixamikhwamniymxngkvsmakkwaniymfrngess aelaekhasuksainmhawithyalyekhmbridc inthananksuksaaelkepliyn karthitilixaxyuinxngkvsidepliynaenwkhidthangkaremuxngkhxngekha ekhaidrabuwa idiphbehnphukhnhlakhlaychatiphnthxyudwyknxyangsngbsukhinxngkvsxyangklmklun thaihekhatrahnkwa mnimmikhwamcaepnthiklumchatiphnthhnungcamixanackhrxngchatiphnthxunthnghmd dngthikhxdrixanuekhyxangiw ehtunithaihtilixaaetkhkkbklumphuphithksehlk emuxnayphlxnotenskhusabantnekharbtaaehnngnaykrthmntrikhxng rthkxngthphaehngchati National Legionary State tilixalaxxkcaktaaehnngthutinlxndxnephuxprathwngkarrbtaaehnngkhxngxnotenskhu 131 txmainpikh s 1940 tilixacdtngkhnakrrmkarormaeniyxisrakhxngekhaexnginlxndxn sungidrbkarsnbsnuncakchawormaeniycanwnmakthihlbhnicakrabxbkhxngxnotenskhu 132 khnakrrmkarxisrakhxngtilixaimidrbkaryxmrbxyangepnthangkarcakrthbalxngkvs aetepnthiruwaidrbkarsnbsnuncakxngkvsaelamikhwamiklchidkbrthbalphldthinopaelnd xnepnehtuihxngkvsptiesthkhnakrrmkarxisrakhxngxditkstriykhaorlinemksioksiti sungidrbkarsnbsnuncakklumkhnthimikhwamsmphnthiklchidkbkstriyethann hrux klumkhamarilla 133 khnakrrmkarkhxngtilixamisanknganinxistnbul sungsamarthsngsasnipyngthihlbsxninbukhaerstid sungcamikaraelkepliyncdhmaykbxditnaykrthmntrikhxngkstriykhaorl khux khxnsaetntin xarektxexiynu epntwaethninkartxtanxnotenskhu 132 xarektxexiynuraynganwa kstriymiihthrngtxtanrabxbxnotenskhu aelamiphrarachprasngkhthicakxrthpraharkhbilxnotenskhu odyrxihfaysmphnthmitrbukekhakhabsmuthrbxlkhan 132 nayphlxnotenskhunnepnephdckar aetnaythharormaeniyidthwaystyptiyanwacacngrkphkditxphramhakstriy xnepnehtuphlepnthiechuxinlxndxnwa kxngthphormaeniycaekhakhangfayphramhakstriyinkartxtannaykrthmntri inkrnithithngsxngkhnkhdaeyngkn inmummxngkhxngxngkvs idmikarechuxmoyngwa kardaeninkarkhxngxditkstriykhaorlkhuxkhwamphyayampldphrarachoxrsxxkcakbllngkxikkhrng aelayingthaihxngkvsdaeninkarrwmkbkstriymiihidyakxditkstriykhaorlaelamkda luepskhu esksmrsknthirioxedcaenor brasil inwnthi 3 mithunayn kh s 1947 mkdaeriyktwethxexngwa ecahyingexelna fxn ohexinthsxlelirn inpikh s 1947 hlngcakkhxmmiwnistyudkhrxngormaeniy mikarcdtngkhnakrrmkarchatiormaeniyephuxtxtanrabxbkhxmmiwnist xditkstriykhaorlprasngkhthicaekharwmkhnakrrmkarchatiormaeniy aetidrbkarkhdkhancakthukfay aelafayniymkstriyormaeniyaesdngihehnchdwaphwkekhaekharphinxditkstriymiih inthanakstriythithuktxngtamkdhmaykhxngormaeniymakkwaphrarachchnk 130 xditkstriykhaorlyngthrngliphytxiptlxdphrachnmchiphchwngsudthaykhxngphraxngkh phraxngkhimthrngidphbxditkstriymiih phrarachoxrsxiknbtngaetpikh s 1940 sungphraxngkhesdcxxkcakormaeniy xditkstriymiihexngkimthrngprasngkhthicaphbphrarachchnk sungthrngmxngwaphrarachchnkthrngthaihphrarachchnnikhxngphraxngkhtxngesuxmesiyphraekiyrtixyangnaxbxayhlaykhrng aelaphraxngkhimesdcrwmphrarachphithifngphrabrmsphphrarachchnkdwy waknwa xditkstriykhaorlthrngprarthnathicaphbphraoxrsmak aethlngcakesdcxxkcakormaeniykimthrngphbknxikely xditkstriykhaorlthrngphyayamhlaykhrngaelaphrxmthicaphbkbphrarachoxrsthukemux aetxditkstriymiihcathrngptiesththukkhrng 134 phrabrmsphklbkhunsuormaeniy aekikhxditkstriykhaorlthi 2 swrrkhtthiexstxril riewiyraoprtueks in kh s 1953 phrasphkhxngphraxngkhthukbrrcuinsusanrachwngsbraknsainkrunglisbxn kxnthicayayipyngwiharkhurtixaedxxareksinormaeniy emux kh s 2003 sungepnwiharthifngphrasphrachwngsormaeniytamthrrmeniym tamkhakhxaelakhaichcaythixxkodyrthbalormaeniy phrasphthukfngdaninwihar sungepnthifngphrasphkstriyaelarachiniormaeniy aetsphkhxngexelna mkda thukfngphaynxkephraaimidepnechuxphrawngs phraoxrsthngsxngkhxngphraxngkhimidekharwmphithi xditkstriymiihthrngihecahyingmarkaertaaehngormaeniy phrarachthidaaelaecachayraduaehngormaeniy phraswamiesdcaethnphraxngkhineduxnmkrakhm kh s 2018 mikarprakaswaphrasphkhxngkstriykhaorlthi 2 cathukyayipxkhrsngkhmnthlaelawiharihm fngekhiyngkhukbphrasphkhxngehelnaehngkrisaelaednmark xditphramehsi nxkcakniphrasphkhxngecachayemxresiyaehngormaeniy phraxnuchakhxngkstriykhaorlcathukyayipyngwiharihmdwyechnkn sungpccubnphrasphyngkhngfngxyuthiprasathbrankharxl lmbrinx thuksnghamekhaormaeniy tngaet kh s 1940 aetsalormaeniyidprakaswaekhaepnoxrsthithuktxngtamkdhmayin kh s 2003 kharxlmaeyuxnbukhaerstineduxnphvscikayn kh s 2005 imnannkekhakesiychiwitinwthnthrrmsmyniym aekikhkstriykhaorlthrngthuknaipepnaebb inthana ecachaykhaorl intxnsudthaykhxngphakhthisamsiriseruxng Mr Selfridge sungrbbthodyaexntn eblkh nkaesdngchawxngkvs 135 kstriykhaorlklayepnaerngbndalicaektwlakhrthimichuxwa ecachaycharlaehngkharpaethiy inlakhrewthipi 1953 eruxng The Sleeping Prince aelainphaphyntrpi 1957 eruxng The Prince and the Showgirl 136 phrarachtrakul aekikhphngsawlikhxngkhaorlthi 2 aehngormaeniy 8 kharl xnothn ecachayaehngohexinthsxlelirn 4 lioxopld ecachayaehngohehnoseln 9 ecahyingoyesfinaehngbaedin 2 efxrdinandthi 1 aehngormaeniy 10 phraecafuxrnngduthi 2 aehngoprtueks 5 ecahyingxnoteniyaehngoprtueks 11 smedcphrarachininathmarixathi 2 aehngoprtueks 1 khaorlthi 2 aehngormaeniy 12 ecachayxlebirt phrarachswami 6 ecachayxlefrd dyukaehngskhesin okhbwrkhaelaoktha 13 smedcphrarachininathwiktxeriy 3 ecahyingmariaehngexdinbara 14 ckrphrrdixaelkhsndrthi 2 aehngrsesiy 7 aekrnddchechsmaeriy xelksandrxfnaaehngrsesiy 15 ecahyingmariaehngehssaelairn xangxing aekikhRoyal House of Romania Royal House of Greeceechingxrrth aekikh King Carol II Archived 6 tulakhm 2007 thi ewyaebkaemchchin tamrththrrmnuyormaeniy kh s 1938 matra 41 mkudrachkumarmiihdarngepnphusaercrachkarinthnthiinchwngthiphrarachbidaimthrngprathbxyuinpraeths 3 0 3 1 3 2 Sankey Margaret Carol II pages 63 64 from War in the Balkans An Encyclopedic History from the Fall of the Ottoman Empire to the Breakup of Yugoslavia edited by Richard Hall Santa Barbara ABC CLIO 2014 page 63 Herman Eleanor Sex with the Queen New York HarperCollins 2009 pages 262 265 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 92 6 0 6 1 6 2 6 3 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 93 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 95 Ce citeau romanii acum 68 de ani Ziua 29 November 2007 9 0 9 1 9 2 9 3 9 4 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 94 Herman Eleanor Sex with the Queen New York HarperCollins 2009 page 266 11 0 11 1 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 pages 96 97 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 97 13 0 13 1 13 2 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 98 14 0 14 1 14 2 14 3 Payne Stanley A History of Fascism 1914 1945 Madison University of Wisconsin 1996 page 278 Cavendish Richard April 2003 Death of Carol II of Romania History Today subkhnemux 2015 11 29 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 91 17 0 17 1 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 pages 100 101 Quinlan Paul The Playboy King Westpoint Greenwood Press 1995 page 116 19 0 19 1 19 2 19 3 19 4 19 5 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 108 Francisco Veiga Istoria Gărzii de Fier 1919 1941 Mistica ultranaționalismului Humanitas Bucharest 1993 p 130 Z Ornea Din memorialistica lui N Iorga in Romania Literară Nr 23 1999 ormaeniy 22 0 22 1 22 2 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 pages 94 95 23 0 23 1 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 95 24 0 24 1 24 2 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 110 25 0 25 1 25 2 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 111 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 pages 705 706 27 0 27 1 Boia Lucian History and Myth in Romanian Consciousness Budapest Central European University Press 2001 page 205 28 0 28 1 Boia Lucian History and Myth in Romanian Consciousness Budapest Central European University Press 2001 pages 204 205 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 113 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 115 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 pages 115 116 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 116 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany New York Enigma Books 2013 page 251 34 0 34 1 34 2 34 3 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 110 35 0 35 1 35 2 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 234 36 0 36 1 36 2 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 236 37 0 37 1 37 2 37 3 37 4 37 5 37 6 Leitz Christian Arms as Levers Materiel and Raw Materials in Germany s Trade with Romania in the 1930s pages 312 332 from The International History Review Volume 19 Issue 2 May 1997 page 315 38 0 38 1 Leitz Christian Arms as Levers Materiel and Raw Materials in Germany s Trade with Romania in the 1930s pages 312 332 from The International History Review Volume 19 Issue 2 May 1997 pages 314 315 39 0 39 1 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 109 Bucur Marie Carol II pages 87 118 from Balkan Strongmen Dictators and Authoritarian Rulers of South Eastern Europe edited by Bernd Jurgen Fischer West Lafayette Purdue University Press 2007 page 102 Emmerson J T The Rhineland Crisis 7 March 1936 A Study in Multilateral Diplomacy Ames Iowa State University Press 1977 page 171 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Diplomatic Revolution in Europe 1933 36 Chicago University of Chicago Press 1970 page 261 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany New York Enigma Books 2013 page 253 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 pages 110 113 45 0 45 1 45 2 45 3 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany New York Enigma Books 2013 pages 252 253 46 0 46 1 46 2 Lungu Dov The French and British Attitudes towards the Goga Cuza Government in Romania December 1937 February 1938 pages 323 341 from Canadian Slavonic Papers Revue Canadienne des Slavistes Volume 30 Issue 3 September 1988 page 326 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 415 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 238 Lungu Dov The French and British Attitudes towards the Goga Cuza Government in Romania December 1937 February 1938 pages 323 341 from Canadian Slavonic Papers Revue Canadienne des Slavistes Volume 30 Issue 3 September 1988 page 327 Lungu Dov The French and British Attitudes towards the Goga Cuza Government in Romania December 1937 February 1938 pages 323 341 from Canadian Slavonic Papers Revue Canadienne des Slavistes Volume 30 Issue 3 September 1988 page 325 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 704 52 0 52 1 Crampton Richard Eastern Europe in the Twentieth Century and After London Routledge 1997 page 116 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 pages 120 121 54 0 54 1 54 2 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 121 55 0 55 1 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 122 56 0 56 1 56 2 56 3 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 124 57 0 57 1 Quinlan Paul The Playboy King Westpoint Greenwood Press 1995 page 182 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 123 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 125 Rumanien 24 Februar 1938 Verfassung Direct Democracy Payne Stanley G 1996 A History of Fascism 1914 1945 Routledge ISBN 0203501322 Noble Gesture Archived 2008 12 14 thi ewyaebkaemchchin in ithm 24 April 1939 Alina Mungiu Pippidi The Ruler and the Patriarch The Romanian Eastern Orthodox Church in Transition Archived 8 knyayn 2008 thi ewyaebkaemchchin East European Constitutional Review Volume 7 Number 2 Spring 1998 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 237 65 0 65 1 Lungu Dov The French and British Attitudes towards the Goga Cuza Government in Romania December 1937 February 1938 pages 323 341 from Canadian Slavonic Papers Revue Canadienne des Slavistes Volume 30 Issue 3 September 1988 page 340 66 0 66 1 Ancel Jean The History of the Holocaust in Romania Lincoln University of Nebraska Press 2011 page 41 67 0 67 1 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 127 La Vie Chevaleresque January April 1937 15 16 p 129 December 1938 21 22 p 75 69 0 69 1 69 2 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 491 Ramet Sabrina Eastern Europe Politics Culture and Society Since 1939 Bloomington Indiana University Press 1998 page 191 Payne Stanley A History of Fascism 1914 1945 Madison University of Wisconsin 1996 page 289 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 pages 491 492 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 173 74 0 74 1 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 492 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 pages 471 472 76 0 76 1 76 2 Hale Christopher Hitler s Foreign Executioners Europe s Dirty Secret Brimscombe History Press 2011 page 89 Haynes Rebecca Reluctant Allies Iuliu Maniu and Corneliu Zelea Codreanu against King Carol II of Romania pages 105 134 from The Slavonic and East European Review Volume 85 Issue 1 January 2007 page 131 78 0 78 1 78 2 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 493 Ancel Jean The History of the Holocaust in Romania Lincoln University of Nebraska Press 2011 page 42 80 0 80 1 80 2 80 3 80 4 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 174 81 0 81 1 81 2 81 3 81 4 81 5 81 6 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 175 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 page 494 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 pages 169 170 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 pages 175 176 Weinberg Gerhard The Foreign Policy of Hitler s Germany Starting World War II 1937 1939 Chicago University of Chicago Press 1980 pages 540 544 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 pages 176 178 87 0 87 1 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 176 88 0 88 1 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 pages 210 211 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 211 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 214 91 0 91 1 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 289 92 0 92 1 92 2 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 290 93 0 93 1 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 p 300 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 p 291 95 0 95 1 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 p 292 96 0 96 1 96 2 96 3 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 pages 300 301 97 0 97 1 97 2 97 3 97 4 97 5 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 302 98 0 98 1 98 2 98 3 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 304 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 pages 470 471 100 0 100 1 100 2 Watt Donald Cameron How War Came New York Pantheon Books 1989 page 471 101 0 101 1 101 2 Weinberg Gerhard A World In Arms Cambridge Cambridge University Press 2005 page 79 Ancel Jean The History of the Holocaust in Romania Lincoln University of Nebraska Press 2011 page page 42 Ancel Jean The History of the Holocaust in Romania Lincoln University of Nebraska Press 2011 page page 43 Weinberg Gerhard A World In Arms Cambridge Cambridge University Press 2005 pages 78 79 105 0 105 1 105 2 105 3 105 4 Crampton Richard Eastern Europe in the Twentieth Century and After London Routledge 1997 page 117 Weinberg Gerhard A World In Arms Cambridge Cambridge University Press 2005 pages 135 136 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 pages 707 708 108 0 108 1 108 2 108 3 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 708 Final Report of the International Commission on the Holocaust in Romania 110 0 110 1 110 2 Weinberg Gerhard A World In Arms Cambridge Cambridge University Press 2005 page 136 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 709 112 0 112 1 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 702 113 0 113 1 113 2 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 703 114 0 114 1 114 2 114 3 114 4 Weinberg Gerhard A World In Arms Cambridge Cambridge University Press 2005 page 184 115 0 115 1 115 2 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 715 116 0 116 1 Weinberg Gerhard A World In Arms Cambridge Cambridge University Press 2005 page 185 117 0 117 1 Weinberg Gerhard A World In Arms Cambridge Cambridge University Press 2005 page 984 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 710 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 711 120 0 120 1 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 712 Delia Radu Serialul Ion Antonescu și asumarea istoriei 1 BBC Romanian edition August 1 2008 ormaeniy Final Report p 320 Morgan p 85 Ornea p 326 123 0 123 1 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 713 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 718 Haynes Rebbecca Germany and the Establishment of the Romanian National Legionary State September 1940 pages 700 725 from The Slavonic and East European Review Volume 77 Issue 4 October 1999 page 714 Lungu Dov Review of Romanian Cassandra Ion Antonescu and the Struggle for Reform 1916 1941 pages 378 380 from The International History Review Volume 16 Issue 2 May 1994 pages 379 380 http www tkinter smig net Romania References CarolHitlerLupescu index htm Petraru Marius The History of the Romanian National Committee pages 121 197 from The Inauguration of Organized Political Warfare The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn Budapest Helena History Press 2013 pages 129 Petraru Marius The History of the Romanian National Committee pages 121 197 from The Inauguration of Organized Political Warfare The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn Budapest Helena History Press 2013 pages 128 129 130 0 130 1 130 2 130 3 130 4 130 5 Petraru Marius The History of the Romanian National Committee pages 121 197 from The Inauguration of Organized Political Warfare The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn Budapest Helena History Press 2013 page 129 131 0 131 1 Petraru Marius The History of the Romanian National Committee pages 121 197 from The Inauguration of Organized Political Warfare The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn Budapest Helena History Press 2013 pages 128 132 0 132 1 132 2 Petraru Marius The History of the Romanian National Committee pages 121 197 from The Inauguration of Organized Political Warfare The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn Budapest Helena History Press 2013 page 128 Petraru Marius The History of the Romanian National Committee pages 121 197 from The Inauguration of Organized Political Warfare The Cold War Organizations Sponsored by the National Committee for a Free Europe edited by Katalin Kadar Lynn Budapest Helena History Press 2013 pages 128 129 Monique Urdareanu on Elena Lupescu and Carol II Archived from the original on 13 June 2008 subkhnemux 2 August 2016 CS1 maint BOT original url status unknown link Ziua 14 January 2006 Mr Selfridge Episode 10 itv com 28 May 2015 http www natura2000oltenita chiciu ro wp content uploads 2019 02 Vladimir Toncea Carpathia from fictional country to nature conservation pdf khxmmxns miphaphaelasuxekiywkb khaorlthi 2 aehngormaeniy kxnhna khaorlthi 2 aehngormaeniy thdipmiihthi 1 aehngormaeniy kstriyaehngormaeniy rachwngsohehnoslelirn sikmarinekn kh s 1930 1940 miihthi 1 aehngormaeniyekhathungcak https th wikipedia org w index php title khaorlthi 2 aehngormaeniy amp oldid 9619587, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม