fbpx
วิกิพีเดีย

ตา (พายุหมุน)

ตาพายุ คือบริเวณที่สภาพอากาศโดยส่วนมากสงบที่จุดศูนย์กลางของพายุหมุนเขตร้อนที่มีพลัง ตาของพายุมีลักษณะเป็นพื้นที่วงกลมอย่างคร่าว ๆ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยปกติที่ 30–65 กม. (20–40 ไมล์) ซึ่งถูกล้อมรอบด้วย กำแพงตา วงแหวนของพายุฟ้าคะนองที่สูงตระหง่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศรุนแรงเกิดขึ้น ความกดอากาศต่ำที่สุดของพายุหมุนจะเกิดขึ้นภายในตาพายุ และมีความกดอากาศต่ำกว่าความกดอากาศภายนอกพายุ 15 เปอร์เซ็นต์

ภาพของพายุเฮอร์ริเคนอิซาเบล ขณะมองจากสถานีอวกาศนานาชาติ แสดงถึงตาที่แจ่มชัดบริเวณศูนย์กลางของพายุ

ในพายุหมุนเขตร้อนที่มีพลัง ตาของพายุจะมีลักษณะพิเศษคือ มีลมเบาและท้องฟ้าโปร่ง ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพงตาสมมาตรที่สูงลิ่ว ในพายุหมุนเขตร้อนที่อ่อนกำลัง ตาพายุที่แจ่มชัดน้อยสามารถถูกปกคลุมด้วยการระบายความร้อนและยกตัวของไอน้ำอย่างหนาแน่นจากแกนกลางของพายุ (Central dense overcast) เป็นพื้นที่ที่มีเมฆหนาแน่น ซึ่งส่องสว่างในภาพถ่ายดาวเทียม พายุที่อ่อนหรือไม่เป็นระบบ อาจมีกำแพงตาที่ไม่เป็นวงกลมโดยสมบูรณ์รอบตาพายุ หรือบริเวณตาพายุมีฝนตกหนัก ซึ่งในพายุหมุนเขตร้อนทุกแบบ ตาพายุคือที่ตั้งของพื้นที่ความกดอากาศต่ำที่สุดภายในตัวพายุที่ระดับน้ำทะเล

โครงสร้าง

 
แผนภาพตัดขวางแสดงโครงสร้างของพายุหมุนเขตร้อน โดยลูกศรแสดงถึงการไหลของอากาศเข้าและรอบ ๆ ตาพายุ

พายุหมุนเขตร้อนโดยทั่วไปจะมีขนาดตาพายุประมาณ 30–65 กม. มักตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางแบบเรขาคณิตของพายุ ตาพายุอาจจะมีอากาศปลอดโปร่งหรือมีเมฆน้อย (ตาพายุแบบปลอดโปร่ง) หรืออาจมีเมฆชั้นกลางและชั้นล่าง (ตาพายุแบบเต็มไปด้วยเมฆ) หรืออาจถูกบดบังโดยไอน้ำอย่างหนาแน่นจากแกนกลางของพายุก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในศูนย์กลางของพายุจะมีลมเบาและฝนน้อย โดยเฉพาะในบริเวณใกล้ ๆ กับศูนย์กลาง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับในกำแพงตาของพายุ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีลมแรงที่สุดของพายุ เนื่องจากรูปแบบกลไกของพายุหมุนเขตร้อน ตาพายุและอากาศที่อยู่เหนือบริเวณนั้นโดยตรงจะอุ่นกว่าบริเวณโดยรอบ

ขณะที่พายุส่วนมากจะสมมาตร ตาพายุสามารถเป็นรูปวงรี (oblong) หรือไม่เป็นระเบียบ (irregular) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพายุที่กำลังอ่อนกำลังลง ตาพายุที่ขรุขระ (ragged eye) ขนาดใหญ่ คือ ตาพายุแบบไม่เป็นวงกลม ซึ่งมีการแตกเป็นส่วน ๆ ปรากฏขึ้น และเป้นตัวบ่งชี้ว่าพายุหมุนเขตร้อนนั้นมีกำลังอ่อนหรือกำลังอ่อนกำลังลง ตาพายุแบบเปิด (open eye) คือ ตาพายุที่สามารถเป็นวงกลมได้ แต่กำแพงตานั้นไม่ได้ล้อมรอบตาพายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งชี้ถึงการอ่อนกำลังลงเช่นกัน เนื่องจากพายุหมุนได้ปราศจากความชื้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมัน รูปแบบของตาพายุทั้งสองอย่างนี้ถูกใช้ในการประเมินความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนโดยใช้การวิเคราะห์ดีโวแร็ค โดยทั่วไปแล้ว กำแพงตาพายุจะเป็นวงกลม อย่างไรก็ตาม มีกำแพงตาที่เป็นรูปหลายเหลี่ยม ตั้งแต่สามเหลี่ยมจนถึงหกเหลี่ยมปรากฏขึ้นเป็นครั้งคราว

ในขณะที่พายุที่เจริญเติมที่แต่มีขนาดตาพายุกว้างเพียงไม่กี่สิบไมล์ทะเล นั้นเป็นผลจากการทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วของพายุ โดยกระบวนการนั้นสามารถสร้างตาพายุขนาดเล็ก ปลอดโปร่ง และเป็นวงกลมอย่างสุดขั้วได้ บางครั้งจะเรียกตาพายุลักษณะนี้ว่า ตารูเข็ม (pinhole eye) พายุที่มีตารูเข็มมีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวนอย่างรุนแรงในเรื่องความรุนแรงได้ และทำให้เกิดความยากลำบากและสร้างความคับข้องใจให้กับนักพยากรณ์

ตาที่มีขนาดเล็ก/เล็กน้อย โดยเล็กมากกว่า 10 ไมล์ทะเล (19 กม.) มักจะกระตุ้นให้เกิดวัฏจักรการแทนที่กำแพงตาขึ้น ซึ่งกำแพงตาใหม่จะก่อตัวขึ้นรอบนอกของกำแพงตาเดิม กำแพงตาใหม่สามารถก่อตัวขึ้นในบริเวณใดก็ได้ ในระยะตั้งแต่สิบห้าถึงร้อยกิโลเมตรรอบนอกของกำแพงตา ซึ่งจะทำให้มีกำแพงตาหลายชั้นที่ร่วมศูนย์กลางเดียวกัน (concentric eyewalls) หรือ ตาภายในตา (eye within an eye) ในกรณีส่วนมาก กำแพงตารอบนอกจะหดตัวลงอย่างรวดเร็วหลังจากก่อตัวขึ้นแล้ว ซึ่งจะขัดขวางตาที่อยู่ชั้นใน และจะทำให้ตาพายุมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่มั่นคงมากขึ้น ขณะที่วัฏจักรการแทนที่กำแพงตามีแนวโน้มทำให้พายุอ่อนกำลังลงในขณะเกิดกระบวนการ แต่เมื่อกำแพงตาใหม่สามารถหดตัวลงได้อย่างค่อนข้างเร็วแล้ว และกำแพงตาเก่าได้สลายตัวลงไป จะช่วยให้พายุกลับขึ้นมาทวีกำลังแรงใหม่อีกครั้งได้ และอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดวัฏจักรการแทนที่กำแพงตาใหม่ครั้งอื่น ๆ ได้ภายหลังจากการกลับขึ้นมาทวีกำลังแรงได้อีก

ตาสามารถมีขนาดใหญ่ได้ตั้งแต่ 370 km (230 mi) (ขนาดตาของพายุไต้ฝุ่นคาร์เมน) จนเล็กได้ถึง 3.7 km (2.3 mi) (ขนาดตาของพายุเฮอริเคนวิลมา) ขณะที่โดยทั่วไปตาที่พายุที่มีตาขนาดใหญ่จะไม่เป็นพายุที่มีความรุนแรงมาก แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพายุหมุนเขตร้อนรูปวงแหวน เช่น พายุเฮอริเคนอิซาเบล ซึ่งเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดเป็นอันดับที่เจ็ดของพายุเฮอริเคนแอตแลนติกในบันทึกประวัติศาสตร์ และคงมีตาขนาดใหญ่กว้าง 65–80 กม. (40–50 ไมล์) ในช่วงหลายวัน

การก่อตัวและการตรวจหา

 
พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นเมื่อมีการปล่อยพลังงานจากการควบแน่นของความชื้นในอากาศที่ลอยตัวขึ้น โดยเป็นผลมาจากวงวนการป้อนกลับเชิงบวกเหนือน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิอบอุ่น
 
โดยทั่วไปแล้ว ตาของพายุสามารถตรวจหาได้ง่ายโดยใช้เรดาร์ตรวจอากาศ ซึ่งภาพเรดาร์นี้เป็นภาพเรดาร์ของพายุเฮอริเคนแอนดรูว์ แสดงให้เห็นถึงตาของพายุที่ชัดเจน ปกคลุมอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดา สหรัฐ

โดยทั่วไปแล้ว พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นจากบริเวณขนาดใหญ่และไม่เป็นระบบของอากาศที่แปรปรวนภายในเขตร้อน เป็นการก่อตัวและรวมกลุ่มกันของพายุฟ้าคะนองที่มากขึ้น ตัวพายุจะพัฒนาแถบฝน (rainbands) ขึ้น ซึ่งแถบนี้จะเริ่มหมุนไปรอบ ๆ ศูนย์กลางร่วม เมื่อพายุมีกำลังแรงมากขึ้น วงแหวนของการพาความร้อนที่มีกำลังแรงจะก่อตัวขึ้นที่ระยะหนึ่งจากศูนย์กลางการหมุนของพายุที่กำลังก่อตัวนั้น เนื่องจากพายุฟ้าคะนองที่รุนแรงขึ้นและฝนที่ตกหนักมากขึ้น เป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่มีอากาศลอยตัวขึ้นข้างบน (updraft) ที่รุนแรงมากขึ้น ความกดอากาศที่พื้นผิวจึงเริ่มลดลง และอากาศจึงเริ่มลอยตัวขึ้นไปด้านบนในชั้นบนของพายุหมุน สิ่งนี้เป็นผลให้เกิดการก่อตัวของแอนไทไซโคลนที่ระดับบน หรือบริเวณที่มีความกดอากาศสูงซึ่งปกคลุมอยู่เหนือไอน้ำอย่างหนาแน่นจากแกนกลางของพายุ (central dense overcast) ดังนั้น ส่วนมากของกระแสอากาศที่ลอยตัวขึ้นจึงพัดออกในลักษณะแบบแอนไทไซโคลน (พัดออกจากศูนย์กลาง) เหนือพายุหมุนเขตร้อน ด้านนอกของตาพายุที่กำลังก่อตัวขึ้น แอนไทไซโคลนที่ระดับบนของชั้นบรรยากาศ ช่วยเพิ่มกระแสอากาศที่ไหลเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุหมุน และดันอากาศไปจนเกือบถึงกำแพงตา และทำให้เกิดวงวนการป้อนกลับเชิงบวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนน้อยของอากาศที่ไหลขึ้นนั้น แทนที่จะไหลออกไปด้านนอกแบบแอนไทไซโคลน กลับไหลเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุแทน ทำให้แรงกดของอากาศนั้นเพิ่มขึ้นมาก จนถึงจุดที่น้ำหนักของอากาศนั้นต้านความรุนแรงของอากาศที่ลอยตัวขึ้นข้างบนในศูนย์กลางของพายุได้ อากาศจึงเริ่มลดลงในศูนย์กลางของพายุ และเกิดเป็นบริเวณที่ไม่มีฝนตกเป็นส่วนมาก ซึ่งกลายเป็นตาของพายุที่ก่อตัวขึ้นใหม่

หลายแง่มุมของกระบวนการนี้ยังคงเป็นปริศนา นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่า เพราะเหตุใดวงแหวนของการพาความร้อนจึงก่อตัวขึ้นรอบศูนย์กลางการไหลเวียน แทนที่จะก่อตัวอยู่ด้านบนของศูนย์กลางการไหลเวียน หรือ เพราะเหตุใดแอนไทไซโคลนในระดับบนจึงขับส่วนของอากาศส่วนที่เกินออกมาที่ด้านบนของพายุเท่านั้น มีทฤษฎีจำนวนหลายบทที่มีอยู่เพื่อนำมาให้หาความถูกต้องในกระบวนการการก่อตัวของตาพายุ แต่สิ่งที่รู้กันแน่นอนแล้วคือ ตานั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพายุหมุนเขตร้อน เพื่อให้มีความเร็วลมที่สูง

การก่อตัวขึ้นของตา มักบ่งชี้ถึงการมีกำลังแรงขึ้น การจัดระบบ และการทวีกำลังขึ้นของพายุหมุนเจตร้อน ด้วยเหตุนี้ นักพยากรณ์จึงเฝ้าติดตามพายุหมุนเขตร้อนอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนของการก่อตัวขึ้นของตาพายุ

ในพายุที่มีตาชัดเจน การตรวจหาเป็นเรื่องง่ายเพียงสังเกตผ่านดาวเทียมตรวจอากาศ อย่างไรก็ตาม สำหรับพายุที่มีตาพายุเติมไปด้วยเมฆ หรือส่วนของตาถูกปกคลุมเต็มไปด้วยไอน้ำอย่างหนาแน่นจากแกนกลางของพายุอย่างสมบูรณ์ การตรวจหาจะต้องใช้วิธีการอื่น เช่น การสังเกตจากเรือ และการใช้อากาศยานเฮอริเคนฮันเตอร์ ซึ่งสามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ โดยการมองหาพื้นที่ที่มีความเร็วลมลดลง หรือมีฝนตกที่น้อยลงในศูนย์กลางของพายุ ในสหรัฐ เกาหลีใต้ และบางประเทศ จะใช้เครือข่ายของสถานีเรดาร์ตรวจอากาศดอปเพลอร์ NEXRAD ซึ่งสามารถตรวจหาตาพายุบริเวณใกล้ชายฝั่งได้ ดาวเทียมตรวจอากาศยังมีอุปกรณ์ตรวจวัดไอน้ำในชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิเมฆ ซึ่งสามารถใช้ตรวจหาการก่อตัวของตาพายุได้เช่นกัน นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังมีการค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปริมาณของโอโซนในตาพายุนั้นจะสูงกว่าปริมาณของโอโซนในกำแพงตา เนื่องจากการจมตัวลงของอากาศในชั้นสตราโตสเฟียร์ที่อุดมไปด้วยโอโซน เครื่องมือที่ไวต่อโอโซนจึงถูกใช้ในการสังเกตการยกตัวและจมตัวในแนวตั้งของอากาศ และจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการก่อตัวของตาพายุได้ ก่อนที่ภาพถ่ายดาวเทียมจะสามารถค้นพบการก่อตัวของตาเสียอีก

การศึกษาจากดาวเทียมครั้งหนึ่งพบว่า การตรวจหาตาพายุจนพบจะใช้เวลาเฉลี่ย 30 ชั่วโมงต่อพายุหนึ่งลูก

ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้อง

 
ภาพถ่ายดาวเทียมของพายุไต้ฝุ่นแอมเบอร์เมื่อปี พ.ศ. 2540 แสดงให้เห็นถึงกำแพงตาชั้นนอกและกำแพงชั้นใน ในขณะที่พายุกำลังอยู่ในวัฏจักรการแทนที่กำแพงตา

วัฏจักรการแทนที่กำแพงตา

ดูบทความหลักที่: วัฏจักรการแทนที่กำแพงตา

วัฏจักรการแทนที่กำแพงตา หรือเรียกอีกอย่างว่า วัฏจักรกำแพงตาร่วมศูนย์กลาง เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพายุจะต้องมีความเร็วลมมากกว่า 185 กม./ชม. (115 ไมล์/ชม.) หรือเป็นพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่ (ระดับ 3 หรือสูงกว่าตามมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน) เมื่อพายุหมุนเขตร้อนถึงความรุนแรงที่ระดับนี้ และกำแพงตาได้หดตัวลงหรือมขนาดเล็กอย่างเพียงพออยู่แล้ว (ดูด้านบน) บางส่วนของแถบฝนรอบนอกอาจทวีกำลังแรงขึ้นและจัดระบบตัวเองเป็นวงแหวนพายุฟ้าคะนอง และเป็นกำแพงตาชั้นนอก ซึ่งจะเคลื่อนตัวเข้าประชิดกำแพงตาชั้นในอย่างช้า ๆ และแย่งชิงความชื้นและโมเมนตัมเชิงมุมที่จำเป็นต่อกำแพงตาชั้นในไปเป็นของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เนื่องจากบริเวณที่มีลมพัดแรงที่สุดของพายุหมุนเขตร้อนอยู่ในบริเวณกำแพงตาของพายุหมุน จึงทำให้พายุหมุนเขตร้อนอ่อนกำลังลงไปในระยะนี้ของวัฏจักร เนื่องจากกำแพงตาชั้นใน "ถูกอุดตัน" โดยกำแพงตาชั้นนอก จนเมื่อกำแพงตาชั้นนอกเข้าแทนที่กำแพงตาชั้นในโดยสมบูรณ์แล้ว พายุจึงจะสามารถทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้

การค้นพบกระบวนการนี้มีผลบางส่วนในการสิ้นสุดลงของโครงการสตอร์มฟิวรีเพื่อทดลองการปรับเปลี่ยนพายุเฮอริเคน โดยรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งโครงการนี้ได้ทำการเร่งเร้าสภาพอากาศให้เกิดฝน (Cloud seeding) ที่ด้านนอกของกำแพงตา และได้ชัดแจ้งว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดการก่อตัวของกำแพงตาอันใหม่และการอ่อนกำลังลงของพายุ เมื่อได้ค้นพบแล้วว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการตามธรรมชาติในการเปลี่ยนแปลงของพายุเฮอร์ริเคนเอง โครงการนี้จึงถูกล้มเลิกอย่างรวดเร็ว

คูเมือง

คูเมือง (Moat) ของพายุหมุนเขตร้อน คือ วงแหวนที่ชัดเจนด้านนอกของกำแพงตา หรือเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างกำแพงตาร่วมศูนย์กลางแต่ละกำแพง มีลักษณะเป็นการยุบตัวของชั้นบรรยากาศ นั่นคือ อากาศจะจมตัวลงอย่างช้า ๆ และมีปริมาณหยาดน้ำฟ้าเล็กน้อยหรือไม่มีเลย อากาศที่ไหลอยู่ในคูเมืองเป็นอิทธิพลจากผลของการสะสมของการขยายออกและการเฉือน คูเมืองระหว่างกำแพงตา เป็นบริเวณของพายุที่ความเร็วการหมุนของอากาศเปลี่ยนไปอย่างมาก ตามสัดส่วนจากระยะห่างของศูนย์กลางพายุ พื้นที่เหล่านี้เรียกอีกอย่างว่า rapid filamentation zones (โซนที่มีกระบวนการฟิลาเมนต์อย่างรวดเร็ว) โดยพื้นที่ดังกล่าวสามารถพบได้ใกล้กับกระแสวนใด ๆ ที่มีความรุนแรงเพียงพอ แต่จะพบได้ชัดเจนที่สุดในพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรง

กลางกระแสวนกำแพงตา

 
กลางกระแสวนสังเกตเห็นได้ภายในตาของพายุเฮอริเคนเอมิเลีย ไนปี พ.ศ. 2537

กลางกระแสวนกำแพงตา (Eyewall mesovortices) เป็นลักษณะของการหมุนรอบขนาดเล็ก ซึ่งพบได้ในกำแพงตาของพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรง โดยหลักการแล้วคล้ายกับ "กระแสวนแบบท่อดูด" (suction vortices) ขนาดเล็กที่มักพบได้ในทอร์นาโดแบบหลายกระแสวน ในกระแสวนเหล่านี้ ความเร็วลมอาจมากกว่าบริเวณใด ๆ ในกำแพงตา กลางกระแสวนกำแพงตานั้นเป็นเรื่องปกติในระหว่างที่พายุหมุนเขตร้อนมีความรุนแรง

กลางกระแสวนกำแพงตามักจะแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติในพายุหมุนเขตร้อน โดยพวกมันมักจะหมุนรอบศูนย์กลางความกดอากาศต่ำ แต่บางครั้งพวกมันก็ค้างอยู่กับที่ มีบันทึกข้อมูลว่ากลางกระแสวนกำแพงตานั้นมีการวางตัวอยู่ตามตาของพายุ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ได้รับการบันทึกข้อมูลไว้ทั้งการสังเกต การทดลอง และตามหลักทฤษฎี

กลางกระแสวนกำแพงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อตัวขึ้นของทอร์นาโด หลังจากที่พายุหมุนเขตร้อนพัดขึ้นฝั่งแล้ว โดยกลางกระแสวนกำแพงสามารถเป็นแหล่งเกิด (spawn) ของการหมุนในแต่ละเซลล์การพาความร้อน หรืออากาศลอยตัวขึ้นข้างบน (เมโซไซโคลน) ได้ ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมของทอร์นาโดได้ เมื่อพายุพัดชึ้นฝั่ง จะเกิดแรงเสียดทานขึ้นระหว่างการไหลเวียนของพายุหมุนเขตร้อนและแผ่นดิน ซึ่งสามารถทำให้กลางกระแสวน สามารถลงไปสู่พื้นผิวได้ และทำให้เกิดทอร์นาโดขึ้น การไหลเวียนของทอร์นาโดเหล่านี้สามารถพบได้อย่างแพร่หลาย ภายในกำแพงตาของพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรง แต่เป็นทอร์นาโดที่มีขนาดเล็กและมีระยะเวลาที่สั้น ทำให้สังเกตพบได้ไม่บ่อยครั้งนัก

ปรากฏการณ์อัฒจันทร์

 
ภาพมุมมองตาของพายุไต้ฝุ่นไมสัก จากสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์อัฒจันทร์ที่ชัดเจน

ปรากฏการณ์อัฒจันทร์ (Stadium effect) เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ในพายุหมุนเขตร้อน และเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างปกติสำหรับพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งเมฆของกำแพงตาจะโค้งขึ้นและออกจากตัวพายุหมุนไปที่พื้นผิวของบรรยากาศระดับบน ซึ่งทำให้ตาพายุดูคล้ายเป็นหลังคารูปทรงกลม (Dome) เปิดจากอากาศ คล้ายกับสนามกีฬา ตาพายุจะมีขนาดใหญ่กว่าในระดับบนของพายุเสมอ ส่วนด้านล่างที่สุดของตาพายุจะมีขนาดเล็กที่สุด เนื่องจากอากาศที่ยกตัวขึ้นในกำแพงตา ตามเส้นไอโซไลน์ของโมเมนตัมเชิงมุมเท่า ซึ่งจะทำให้กำแพงตานั้นเอียง (slope) ออกไปตามความสูง ในพายุหมุนเขตร้อนที่มีตาขนาดเล็กมาก ความเอียงของปรากฏการณ์นี้จะเด่นชัดมาก

ลักษณะคล้ายตา

โครงสร้างคล้ายตามักจะพบได้ในพายุหมุนเขตร้อน คล้ายกับตาที่เห็นได้ในพายุเฮอริเคนหรือพายุไต้ฝุ่น มันเป็นบริเวณที่เป็นวงกลมที่ศูนย์กลางการไหลเวียนของพายุ ซึ่งไม่มีการพาความร้อน ลักษณะคล้ายตาเหล่านี้มักพบได้ในพายุหมุนเขตร้อนที่มีกำลังเป็นพายุโซนร้อน หรือพายุเฮอริเคนระดับ 1 ตามมาตราเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน ตัวอย่างเช่น ลักษณะคล้ายตาถูกพบในพายุเฮอริเคนเบตา เมื่อพายุมีความเร็วลมสูงสุดเพียง 80 กม./ชม. (50 ไมล์/ชม.) ซึ่งมีความรุนแรงต่ำกว่าพายุเฮอริเคน โดยทั่วไปแล้วลักษณะแบบนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ในช่วงคลื่นที่มองเห็นได้หรือช่วงคลื่นอินฟราเรดจากอวกาศ โดยจะเห็นได้อย่างง่ายดายผ่านภาพถ่ายดาวเทียมช่วงคลื่นไมโครเวฟ การพัฒนาของลักษณะคล้ายตาจะก่อตัวขึ้นในระดับกลางของชั้นบรรยากาศ คล้ายกับการก่อตัวของตาพายุที่สมบูรณ์ แต่ลักษณะคล้ายตานี้อาจถูกแทนที่ในแนวนอนเนื่องจากลมเฉือนแนวตั้งได้

ภัย

อากาศยานบินผ่านกำแพงตาของพายุ และเข้าสู่บริเวณที่สงบในตาพายุ

แม้ว่าตาพายุจะเป็นส่วนที่สงบที่สุดของพายุ เนื่องจากไม่มีลมที่ศูนย์กลาง และโดยทั่วไปท้องฟ้าจะปลอดโปร่ง แต่บริเวณเหนือมหาสมุทรอาจเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดได้ ในกำแพงตาของพายุ คลื่นที่ขับเคลื่อนด้วยลมทั้งหมดจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในศูนย์กลางของตาคลื่นจะมาบรรจบกันจากทุกทิศทุกทาง และจะก่อตัวขึ้นเป็นยอดคลื่นที่ปกติ ซึ่งสามารถกลายเป็นคลื่นยักษ์ได้ ความสูงที่สุดของคลื่นจากพายุเฮอริเคนนั้นยังไม่เป็นที่ทราบ แต่จากการวัดในพายุเฮอริเคนไอแวน ซึ่งเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4 มีการประมาณว่าคลื่นบริเวณใกล้กับกำแพงตานั้นสูงเกิน 40 เมตร (130 ฟุต) นับจากยอดคลื่นไปจนถึงท้องคลื่น

ข้อผิดพลาดโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่พบพายุหมุนเขตร้อนได้น้อย สำหรับการที่ผู้อาศัยที่จะออกจากบ้านเรือนของพวกเขา ไปสำรวจความเสียหายของทรัพย์สิน ขณะที่ศูนย์กลางของพายุที่สงบกำลังปกคลุมอยู่ จากนั้นพวกเขาจะถูกโจมตีโดยลมพัดอย่างรุนแรงในกำแพงตาฝั่งตรงข้าม

พายุหมุนอื่น

 
พายุหิมะในทวีปอเมริกาเหนือ พ.ศ. 2549 เป็นพายุหมุนนอกเขตร้อนที่แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างคล้ายตา เมื่อพายหมุนนอกเขตร้อนมีกำลังสูงสุด ทางตะวันออกของคาบสมุทรเดลมาร์วา
ดูบทความหลักที่: พายุหมุน

แม้ว่าจะมีเพียงพายุหมุนเขตร้อนที่มีโครงสร้างที่เรียกว่า "ตา" อย่างเป็นทางการ แต่ระบบลมฟ้าอากาศอื่น ๆ ที่สามารถแสดงลักษณะที่คล้าย ๆ กันนี้ได้

ความกดอากาศต่ำขั้วโลก

ความกดอากาศต่ำขั้วโลก (Polar low) เป็นระบบลมฟ้าอากาศในระดับภูมิภาค โดยทั่วไปแล้วจะมีขนาดเล็กกว่า 1,000 กม. (600 ไมล์) พบได้ใกล้กับขั้วโลก เหมือนกับพายุหมุนเขตร้อน ความกดอากาศต่ำจะก่อตัวขึ้นเหนือน้ำที่ค่อนข้างอุ่น และสามารถมีการพาความร้อนและลมที่เร็วในระดับพายุ (gale) หรือมากกว่าได้ ซึ่งจะแตกต่างจากธรรมชาติของพายุหมุนในเขตร้อน อย่างไรก็ตาม ความกดอากาศต่ำเหล่านี้สามารถพัฒนาขึ้นในอุณหภูมิที่เย็นกว่า และที่ละติจูดสูงกว่ามากได้ ความกดอากาศต่ำเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก และมีอายุสั้นกว่า โดยมีเพียงไม่กี่ระบบเท่านั้นที่มีอายุเกินหนึ่งวัน ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างเหล่านี้ ระบบความกดอากาศต่ำขั้วโลกนี้สามารถมีโครงสร้างที่คล้ายกับพายุหมุนเขตร้อนได้ โดยมีตาที่ปลอดโปร่งล้อมรอบด้วยกำแพงตา และแถบฝนหรือแถบหิมะ

พายุหมุนนอกเขตร้อน

พายุหมุนนอกเขตร้อน (Extratropical cyclone) เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งมีขอบเขตของมวลอากาศที่แตกต่างกัน พายุเกือบทั้งหมดที่พบในละติจูดกลางนั้นเป็นพายุนอกเขตร้อนในธรรมชาติ รวมไปถึงพายุนอร์อีสเทิร์นทวีปอเมริกาเหนือและพายุลมทวีปยุโรปด้วย ความรุนแรงที่สุดของพายุเหล่านี้ สามารถมี "ตา" ที่ปลอดโปร่งได้ด้วย ในบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำที่สุด แม้ว่ามันจะถูกล้อมรอบด้วยเมฆที่ต่ำกว่า และไม่มีการพาความร้อนในเมฆ และพบได้ใกล้กับด้านหลังปลายพายุ

พายุหมุนกึ่งเขตร้อน

พายุหมุนกึ่งเขตร้อน (Subtropical cyclone) เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่มีลักษณะของพายุหมุนนอกเขตร้อนบางส่วน และมีลักษณะของพายุหมุนเขตร้อนบางส่วน เช่นนี้ พายุหมุนกึ่งเขตร้อนจึงอาจมีตาพายุขณะที่ไม่ได้เป็นพายุหมุนเขตร้อนตามธรรมชาติอย่างแท้จริง พายุหมุนกึ่งเขตร้อนสามารถเป็นอันตรายได้อย่างมาก และทำให้เกิดลมแรง และคลื่นสูง และมักกลายเป็นพายุหมุนเขตร้อนอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติจึงได้เริ่มติดตามพายุหมุนกึ่งเขตร้อนนี้ด้วย และใช้การตั้งชื่อแบบเดียวกับพายุหมุนเขตร้อนในปี พ.ศ. 2545

ทอร์นาโด

ทอร์นาโด (Tornado) เป็นพายุขนาดเล็กที่มีอำนาจการทำลายล้าง ซึ่งสร้างความเร็วลมที่พัดเร็วที่สุดในโลก ทอร์นาโดมีสองประเภทหลัก ได้แก่ ทอร์นาโดแบบกระแสวนเดี่ยว (Single-vortex tornado) ซึ่งมีการหมุนในแนวตั้งแบบเดี่ยวของอากาศ และทอร์นาโดแบบหลายกระแสวน (Multiple-vortex tornado) ซึ่งประกอบด้วย "กระแสวนแบบดูด" ขนาดเล็ก คล้ายกับทอร์นาโดขนาดเล็ก ซึ่งทั้งหมดจะหมุนรอบศูนย์กลางร่วม ทอร์นาโดทั้งสองประเภทนี้ ตามทฤษฏีระบุว่าทอร์นาโดมีศูนย์กลางของพายุที่สงบ ซึ่งทฤษฏีเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากการสังเกตความเร็วลมโดยเรดาร์ตรวจอากาศดอปเพลอร์

กระแสวนนอกโลก

 
พายุคล้ายพายุหมุนเขตร้อนที่ขั้วใต้ของดาวเสาร์ มีกำแพงตาสูงสิบกิโลเมตร
ดูเพิ่มเติมที่: กระแสวนนอกโลก

นาซาเคยรายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ว่ายานอวกาศกัสซีนีสังเกตพบพายุ "คล้ายเฮอริเคน" ที่ขั้วใต้ของดาวเสาร์ พร้อมกับกำแพงตาที่แจ่มชัด การสังเกตนี้มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่เคยมีการสังเกตพบเมฆในกำแพงตาพายุบนดาวเคราะห์ดวงในนอกจากโลก (รวมถึงความล้มเหลวในการสังเกตกำแพงตาในจุดแดงใหญ่ของดาวพฤหัสบดีโดยยานอวกาศกาลิเลโอ) ในปี พ.ศ. 2550 มีกระแสวนขนาดใหญ่มากเกิดขึ้นในขั้วทั้งสองของดาวศุกร์ ซึ่งถูกสังเกตพบโดยภารกิจวีนัส เอ็กซ์เพรสส์ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งมีโครงสร้างแบบตาสองขั้ว (dipole eye)

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Landsea, Chris; Goldenberg, Stan (2012-06-01). "A: Basic definitions". ใน Dorst, Neal (บ.ก.). Frequently Asked Questions (FAQ). 4.5. Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory. pp. A11: What is the 'eye'?.
  2. Landsea, Chris; Goldenberg, Stan (2012-06-01). "A: Basic definitions". ใน Dorst, Neal (บ.ก.). Frequently Asked Questions (FAQ). 4.5. Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory. pp. A9: What is a "CDO"?.
  3. Webmaster (2010-01-05). "Tropical Cyclone Structure". JetStream – Online School for Weather. National Weather Service. สืบค้นเมื่อ 2006-12-14.
  4. Landsea, Chris; Goldenberg, Stan (2012-06-01). . ใน Dorst, Neal (บ.ก.). Frequently Asked Questions (FAQ). 4.5. Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory. pp. A7: What is an extra-tropical cyclone?. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2006-06-15. Unknown parameter |deadurl= ignored (help)
  5. Velden, Christopher S.; Olander, Timothy L.; Zehr, Raymond M. (1998). "Development of an Objective Scheme to Estimate Tropical Cyclone Intensity from Digital Geostationary Satellite Infrared Imagery". Weather and Forecasting. American Meteorological Society. 13 (1): 172–173. Bibcode:1998WtFor..13..172V. doi:10.1175/1520-0434(1998)013<0172:DOAOST>2.0.CO;2.
  6. Schubert, Wayne H.; และคณะ (1999). "Polygonal Eyewalls, Asymmetric Eye Contraction, and Potential Vorticity Mixing in Hurricanes" (PDF). Journal of the Atmospheric Sciences. American Meteorological Society. 59 (9): 1197–1223. Bibcode:1999JAtS...56.1197S. doi:10.1175/1520-0469(1999)056<1197:PEAECA>2.0.CO;2.
  7. Beven, Jack (2005-10-08). Hurricane Wilma Discussion Number 14 (รายงาน). Hurricane Wilma Advisory Archive. National Hurricane Center. http://www.nhc.noaa.gov/archive/2005/dis/al242005.discus.014.shtml?. เรียกข้อมูลเมื่อ 2013-05-06. 
  8. Landsea, Chris; Goldenberg, Stan (2012-06-01). . ใน Dorst, Neal (บ.ก.). Frequently Asked Questions (FAQ). 4.5. Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory. pp. D8: What are "concentric eyewall cycles" … ?. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2006-06-15. Unknown parameter |deadurl= ignored (help)
  9. Evans, Bill. It's Raining Fish and Spiders. Hurricane Extremes: Google Ebooks. สืบค้นเมื่อ 20 August 2015.
  10. A Dictionary of Weather. Weather Records: Storm Dunlop. สืบค้นเมื่อ 20 August 2015.
  11. Beven, Jack; Cobb, Hugh (2003). (Tropical Cyclone Report). National Hurricane Center. Archived from the original on 14 November 2013. . เรียกข้อมูลเมื่อ 2013-05-06. 
  12. Vigh, Jonathan (2006). Formation of the Hurricane Eye (PDF). 27th Conference on Hurricanes and Tropical Meteorology. Monterey, California: American Meteorological Society. สืบค้นเมื่อ 2013-05-07.
  13. Gutro, Rob (2005-06-08). (Press release). NASA. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2012-11-05. สืบค้นเมื่อ 2013-05-06. Unknown parameter |deadurl= ignored (help)
  14. Knapp, Kenneth R.; C. S. Velden; A. J. Wimmers (2018). "A Global Climatology of Tropical Cyclone Eyes". Mon. Wea. Rev. 146 (7): 2089–2101. Bibcode:2018MWRv..146.2089K. doi:10.1175/MWR-D-17-0343.1.
  15. Rozoff, Christopher M.; Schubert, Wayne H.; McNoldy, Brian D.; Kossin, James P. (2006). "Rapid filamentation zones in intense tropical cyclones". Journal of the Atmospheric Sciences. American Meteorological Society. 63 (1): 325–340. Bibcode:2006JAtS...63..325R. doi:10.1175/JAS3595.1.
  16. Montgomery, Michael T.; Vladimirov, Vladimir A.; Denissenko, Peter V. (2002). "An experimental study on hurricane mesovortices" (PDF). Journal of Fluid Mechanics. Cambridge University Press. 471: 1–32. Bibcode:2002JFM...471....1M. doi:10.1017/S0022112002001647.
  17. Aberson, Sim D.; Black, Michael L.; Montgomery, Michael T.; Bell, Michael (2004). A Record Wind Measurement in Hurricane Isabel: Direct Evidence of an Eyewall Mesocyclone? (PDF). 26th Conference on Hurricanes and Tropical Meteorology. Miami, Florida: American Meteorological Society. สืบค้นเมื่อ 2013-05-07.
  18. Kossin, James P.; McNoldy, Brian D.; Schubert, Wayne H. (2002). "Vortical swirls in hurricane eye clouds". Monthly Weather Review. American Meteorological Society. 130 (12): 3144–3149. Bibcode:2002MWRv..130.3144K. doi:10.1175/1520-0493(2002)130<3144:VSIHEC>2.0.CO;2.
  19. Kossin, James. P.; Schubert, Wayne H. (2001). "Mesovortices, polygonal flow patterns, and rapid pressure falls in hurricane-like vortices". Journal of the Atmospheric Sciences. American Meteorological Society. 58 (15): 2196–2209. Bibcode:2001JAtS...58.2196K. doi:10.1175/1520-0469(2001)058<2196:MPFPAR>2.0.CO;2.
  20. Wright, John E.; Bennett, Shawn P. (2009-01-16). "Meso-Vorticies Observed By WSR-88D In The Eye" (Press release). National Weather Service. สืบค้นเมื่อ 2013-05-07.
  21. Wu, Liguang; Q. Liu; Y. Li (2018). "Prevalence of tornado-scale vortices in the tropical cyclone eyewall". Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A. 115 (33): 8307–8310. doi:10.1073/pnas.1807217115.
  22. Hawkins, Harry F.; Rubsam, Daryl T. (1968). "Hurricane Hilda, 1964: II. Structure and budgets of the hurricane on October 1, 1964". Monthly Weather Review. American Meteorological Society. 96 (9): 617–636. Bibcode:1968MWRv...96..617H. doi:10.1175/1520-0493(1968)096<0617:HH>2.0.CO;2.
  23. Gray, W. M.; Shea, D. J. (1973). "The hurricane's inner core region: II. Thermal stability and dynamic characteristics". Journal of the Atmospheric Sciences. American Meteorological Society. 30 (8): 1565–1576. Bibcode:1973JAtS...30.1565G. doi:10.1175/1520-0469(1973)030<1565:THICRI>2.0.CO;2.
  24. Hawkins, Harry F.; Imbembo, Stephen M. (1976). "The structure of a Small, Intense Hurricane—Inez 1966". Monthly Weather Review. American Meteorological Society. 104 (4): 418–442. Bibcode:1976MWRv..104..418H. doi:10.1175/1520-0493(1976)104<0418:TSOASI>2.0.CO;2.
  25. Beven, John L. (2005-10-27). Tropical Storm Beta Discussion Number 3 (รายงาน). Hurricane Beta Advisory Archive. National Hurricane Center. http://www.nhc.noaa.gov/archive/2005/dis/al262005.discus.003.shtml. เรียกข้อมูลเมื่อ 2013-05-07. 
  26. Marks, Frank D.; Stewart, Stacy R. (2001) (PDF). (Presentation). TRMM Workshops. Boulder, Colorado: University Corporation for Atmospheric Research. pp. 7–25. Archived from the original on 2014-01-22. . เรียกข้อมูลเมื่อ 2013-05-07. 
  27. "STORM project" (Press release). National Weather Service. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  28. Brown, Daniel; Roberts, Dave. "Interpretation of passive microwave imagery" (Press release). National Oceanic and Atmospheric Administration. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  29. Wang, David W.; Mitchell, Douglas A.; Teague, William J.; Jarosz, Ewa; Hulbert, Mark S. (2005). "Extreme Waves Under Hurricane Ivan". Science. American Association for the Advancement of Science. 309 (5736): 896. doi:10.1126/science.1112509. PMID 16081728.
  30. Webmaster (2010-01-05). "Tropical Cyclone Safety". JetStream – Online School for Weather. National Weather Service. สืบค้นเมื่อ 2006-08-06.
  31. Glossary of Meteorology 2012-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. American Meteorological Society. Accessed 2008-10-10.
  32. National Snow and Ice Data Center. . คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2013-02-04. สืบค้นเมื่อ 2007-01-24.
  33. Maue, Ryan N. (2006-04-25). "Warm seclusion cyclone climatology". American Meteorological Society Conference. สืบค้นเมื่อ 2006-10-06.
  34. Cappella, Chris (April 22, 2003). "Weather Basics: Subtropical storms". USA Today. สืบค้นเมื่อ 2006-09-15.
  35. Monastersky, R. (May 15, 1999). "Oklahoma Tornado Sets Wind Record". Science News. สืบค้นเมื่อ 2006-09-15.
  36. Justice, Alonzo A. (May 1930). "Seeing the Inside of a Tornado" (PDF). Monthly Weather Review. pp. 205–206. สืบค้นเมื่อ 2006-09-15.
  37. "NASA Sees into the Eye of a Monster Storm on Saturn". NASA. 2006-11-09. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ October 5, 2011. สืบค้นเมื่อ November 10, 2006. Unknown parameter |deadurl= ignored (help)
  38. Piccioni, G.; และคณะ (2007-11-29). "South-polar features on Venus similar to those near the north pole". Nature. 450 (7170): 637–40. Bibcode:2007Natur.450..637P. doi:10.1038/nature06209. PMID 18046395.

ตา, พาย, หม, ตาพาย, อบร, เวณท, สภาพอากาศโดยส, วนมากสงบท, ดศ, นย, กลางของพาย, หม, นเขตร, อนท, พล, ตาของพาย, กษณะเป, นพ, นท, วงกลมอย, างคร, าว, ขนาดเส, นผ, านศ, นย, กลางโดยปกต, กม, ไมล, งถ, กล, อมรอบด, วย, กำแพงตา, วงแหวนของพาย, าคะนองท, งตระหง, าน, งเป, นพ, นท,. taphayu khuxbriewnthisphaphxakasodyswnmaksngbthicudsunyklangkhxngphayuhmunekhtrxnthimiphlng takhxngphayumilksnaepnphunthiwngklmxyangkhraw mikhnadesnphansunyklangodypktithi 30 65 km 20 40 iml sungthuklxmrxbdwy kaaephngta wngaehwnkhxngphayufakhanxngthisungtrahngan sungepnphunthithimisphaphxakasrunaerngekidkhun khwamkdxakastathisudkhxngphayuhmuncaekidkhunphayintaphayu aelamikhwamkdxakastakwakhwamkdxakasphaynxkphayu 15 epxresnt 1 phaphkhxngphayuehxrriekhnxisaebl khnamxngcaksthanixwkasnanachati aesdngthungtathiaecmchdbriewnsunyklangkhxngphayu inphayuhmunekhtrxnthimiphlng takhxngphayucamilksnaphiesskhux milmebaaelathxngfaoprng sunglxmrxbdwykaaephngtasmmatrthisungliw inphayuhmunekhtrxnthixxnkalng taphayuthiaecmchdnxysamarththukpkkhlumdwykarrabaykhwamrxnaelayktwkhxngixnaxyanghnaaenncakaeknklangkhxngphayu Central dense overcast epnphunthithimiemkhhnaaenn sungsxngswanginphaphthaydawethiym phayuthixxnhruximepnrabb xacmikaaephngtathiimepnwngklmodysmburnrxbtaphayu hruxbriewntaphayumifntkhnk sunginphayuhmunekhtrxnthukaebb taphayukhuxthitngkhxngphunthikhwamkdxakastathisudphayintwphayuthiradbnathael 1 2 enuxha 1 okhrngsrang 2 karkxtwaelakartrwcha 3 praktkarnthiekiywkhxng 3 1 wtckrkaraethnthikaaephngta 3 2 khuemuxng 3 3 klangkraaeswnkaaephngta 3 4 praktkarnxthcnthr 3 5 lksnakhlayta 4 phy 5 phayuhmunxun 5 1 khwamkdxakastakhwolk 5 2 phayuhmunnxkekhtrxn 5 3 phayuhmunkungekhtrxn 5 4 thxrnaod 6 kraaeswnnxkolk 7 duephim 8 xangxingokhrngsrang aekikh aephnphaphtdkhwangaesdngokhrngsrangkhxngphayuhmunekhtrxn odyluksraesdngthungkarihlkhxngxakasekhaaelarxb taphayu phayuhmunekhtrxnodythwipcamikhnadtaphayupraman 30 65 km mktngxyubriewnsunyklangaebberkhakhnitkhxngphayu taphayuxaccamixakasplxdoprnghruxmiemkhnxy taphayuaebbplxdoprng hruxxacmiemkhchnklangaelachnlang taphayuaebbetmipdwyemkh hruxxacthukbdbngodyixnaxyanghnaaenncakaeknklangkhxngphayukid aetxyangirktam insunyklangkhxngphayucamilmebaaelafnnxy odyechphaainbriewnikl kbsunyklang sungepnsphaphaewdlxmthiaetktangknxyangsinechingkbinkaaephngtakhxngphayu sungepnbriewnthimilmaerngthisudkhxngphayu 3 enuxngcakrupaebbklikkhxngphayuhmunekhtrxn taphayuaelaxakasthixyuehnuxbriewnnnodytrngcaxunkwabriewnodyrxb 4 khnathiphayuswnmakcasmmatr taphayusamarthepnrupwngri oblong hruximepnraebiyb irregular id odyechphaaxyangyingkbphayuthikalngxxnkalnglng taphayuthikhrukhra ragged eye khnadihy khux taphayuaebbimepnwngklm sungmikaraetkepnswn praktkhun aelaepntwbngchiwaphayuhmunekhtrxnnnmikalngxxnhruxkalngxxnkalnglng taphayuaebbepid open eye khux taphayuthisamarthepnwngklmid aetkaaephngtannimidlxmrxbtaphayuodysmburn sungchithungkarxxnkalnglngechnkn enuxngcakphayuhmunidprascakkhwamchun sungepnsingcaepnsahrbmn rupaebbkhxngtaphayuthngsxngxyangnithukichinkarpraeminkhwamrunaerngkhxngphayuhmunekhtrxnodyichkarwiekhraahdiowaerkh 5 odythwipaelw kaaephngtaphayucaepnwngklm xyangirktam mikaaephngtathiepnruphlayehliym tngaetsamehliymcnthunghkehliympraktkhunepnkhrngkhraw 6 inkhnathiphayuthiecriyetimthiaetmikhnadtaphayukwangephiyngimkisibimlthael nnepnphlcakkarthwikalngaerngkhunxyangrwderwkhxngphayu odykrabwnkarnnsamarthsrangtaphayukhnadelk plxdoprng aelaepnwngklmxyangsudkhwid bangkhrngcaeriyktaphayulksnaniwa taruekhm pinhole eye phayuthimitaruekhmmiaenwonmthicaekidkhwamphnphwnxyangrunaerngineruxngkhwamrunaerngid aelathaihekidkhwamyaklabakaelasrangkhwamkhbkhxngicihkbnkphyakrn 7 tathimikhnadelk elknxy odyelkmakkwa 10 imlthael 19 km mkcakratunihekidwtckrkaraethnthikaaephngtakhun sungkaaephngtaihmcakxtwkhunrxbnxkkhxngkaaephngtaedim kaaephngtaihmsamarthkxtwkhuninbriewnidkid inrayatngaetsibhathungrxykiolemtrrxbnxkkhxngkaaephngta sungcathaihmikaaephngtahlaychnthirwmsunyklangediywkn concentric eyewalls hrux taphayinta eye within an eye inkrniswnmak kaaephngtarxbnxkcahdtwlngxyangrwderwhlngcakkxtwkhunaelw sungcakhdkhwangtathixyuchnin aelacathaihtaphayumikhnadihykhunaetmnkhngmakkhun khnathiwtckrkaraethnthikaaephngtamiaenwonmthaihphayuxxnkalnglnginkhnaekidkrabwnkar aetemuxkaaephngtaihmsamarthhdtwlngidxyangkhxnkhangerwaelw aelakaaephngtaekaidslaytwlngip cachwyihphayuklbkhunmathwikalngaerngihmxikkhrngid aelaxacepnkarkratunihekidwtckrkaraethnthikaaephngtaihmkhrngxun idphayhlngcakkarklbkhunmathwikalngaerngidxik 8 tasamarthmikhnadihyidtngaet 370 km 230 mi khnadtakhxngphayuitfunkharemn 9 cnelkidthung 3 7 km 2 3 mi khnadtakhxngphayuehxriekhnwilma 10 khnathiodythwiptathiphayuthimitakhnadihycaimepnphayuthimikhwamrunaerngmak aetehtukarnlksnaniekhyekidkhunaelw odyechphaaxyangyingkbphayuhmunekhtrxnrupwngaehwn echn phayuehxriekhnxisaebl sungepnphayuthimikhwamrunaerngthisudepnxndbthiecdkhxngphayuehxriekhnaextaelntikinbnthukprawtisastr aelakhngmitakhnadihykwang 65 80 km 40 50 iml inchwnghlaywn 11 karkxtwaelakartrwcha aekikhduephimetimthi karkaenidphayuhmunekhtrxn phayuhmunekhtrxnkxtwkhunemuxmikarplxyphlngngancakkarkhwbaennkhxngkhwamchuninxakasthilxytwkhun odyepnphlmacakwngwnkarpxnklbechingbwkehnuxnathaelthimixunhphumixbxun odythwipaelw takhxngphayusamarthtrwchaidngayodyicherdartrwcxakas sungphapherdarniepnphapherdarkhxngphayuehxriekhnaexndruw aesdngihehnthungtakhxngphayuthichdecn pkkhlumxyuthangtxnitkhxngrthflxrida shrth odythwipaelw phayuhmunekhtrxnkxtwkhuncakbriewnkhnadihyaelaimepnrabbkhxngxakasthiaeprprwnphayinekhtrxn epnkarkxtwaelarwmklumknkhxngphayufakhanxngthimakkhun twphayucaphthnaaethbfn rainbands khun sungaethbnicaerimhmuniprxb sunyklangrwm emuxphayumikalngaerngmakkhun wngaehwnkhxngkarphakhwamrxnthimikalngaerngcakxtwkhunthirayahnungcaksunyklangkarhmunkhxngphayuthikalngkxtwnn enuxngcakphayufakhanxngthirunaerngkhunaelafnthitkhnkmakkhun epnlksnaechphaakhxngphunthithimixakaslxytwkhunkhangbn updraft thirunaerngmakkhun khwamkdxakasthiphunphiwcungerimldlng aelaxakascungerimlxytwkhunipdanbninchnbnkhxngphayuhmun 12 singniepnphlihekidkarkxtwkhxngaexnithisokhlnthiradbbn hruxbriewnthimikhwamkdxakassungsungpkkhlumxyuehnuxixnaxyanghnaaenncakaeknklangkhxngphayu central dense overcast dngnn swnmakkhxngkraaesxakasthilxytwkhuncungphdxxkinlksnaaebbaexnithisokhln phdxxkcaksunyklang ehnuxphayuhmunekhtrxn dannxkkhxngtaphayuthikalngkxtwkhun aexnithisokhlnthiradbbnkhxngchnbrryakas chwyephimkraaesxakasthiihlekhasusunyklangkhxngphayuhmun aeladnxakasipcnekuxbthungkaaephngta aelathaihekidwngwnkarpxnklbechingbwkkhun 12 xyangirktam swnnxykhxngxakasthiihlkhunnn aethnthicaihlxxkipdannxkaebbaexnithisokhln klbihlekhasusunyklangkhxngphayuaethn thaihaerngkdkhxngxakasnnephimkhunmak cnthungcudthinahnkkhxngxakasnntankhwamrunaerngkhxngxakasthilxytwkhunkhangbninsunyklangkhxngphayuid xakascungerimldlnginsunyklangkhxngphayu aelaekidepnbriewnthiimmifntkepnswnmak sungklayepntakhxngphayuthikxtwkhunihm 12 hlayaengmumkhxngkrabwnkarniyngkhngepnprisna nkwithyasastryngimthrabwa ephraaehtuidwngaehwnkhxngkarphakhwamrxncungkxtwkhunrxbsunyklangkarihlewiyn aethnthicakxtwxyudanbnkhxngsunyklangkarihlewiyn hrux ephraaehtuidaexnithisokhlninradbbncungkhbswnkhxngxakasswnthiekinxxkmathidanbnkhxngphayuethann mithvsdicanwnhlaybththimixyuephuxnamaihhakhwamthuktxnginkrabwnkarkarkxtwkhxngtaphayu aetsingthiruknaennxnaelwkhux tannepnsingcaepnsahrbphayuhmunekhtrxn ephuxihmikhwamerwlmthisung 12 karkxtwkhunkhxngta mkbngchithungkarmikalngaerngkhun karcdrabb aelakarthwikalngkhunkhxngphayuhmunectrxn dwyehtuni nkphyakrncungefatidtamphayuhmunekhtrxnxyangiklchid ephuxhasyyanthichdecnkhxngkarkxtwkhunkhxngtaphayuinphayuthimitachdecn kartrwchaepneruxngngayephiyngsngektphandawethiymtrwcxakas xyangirktam sahrbphayuthimitaphayuetimipdwyemkh hruxswnkhxngtathukpkkhlumetmipdwyixnaxyanghnaaenncakaeknklangkhxngphayuxyangsmburn kartrwchacatxngichwithikarxun echn karsngektcakerux aelakarichxakasyanehxriekhnhnetxr sungsamarthsngektdwytaeplaid odykarmxnghaphunthithimikhwamerwlmldlng hruxmifntkthinxylnginsunyklangkhxngphayu inshrth ekahliit aelabangpraeths caichekhruxkhaykhxngsthanierdartrwcxakasdxpephlxr NEXRAD sungsamarthtrwchataphayubriewniklchayfngid dawethiymtrwcxakasyngmixupkrntrwcwdixnainchnbrryakasaelaxunhphumiemkh sungsamarthichtrwchakarkxtwkhxngtaphayuidechnkn nxkcakni nkwithyasastryngmikarkhnphbemuxerw niwa primankhxngoxosnintaphayunncasungkwaprimankhxngoxosninkaaephngta enuxngcakkarcmtwlngkhxngxakasinchnstraotsefiyrthixudmipdwyoxosn ekhruxngmuxthiiwtxoxosncungthukichinkarsngektkaryktwaelacmtwinaenwtngkhxngxakas aelacaepntwbngchithungkarkxtwkhxngtaphayuid kxnthiphaphthaydawethiymcasamarthkhnphbkarkxtwkhxngtaesiyxik 13 karsuksacakdawethiymkhrnghnungphbwa kartrwchataphayucnphbcaichewlaechliy 30 chwomngtxphayuhnungluk 14 praktkarnthiekiywkhxng aekikh phaphthaydawethiymkhxngphayuitfunaexmebxremuxpi ph s 2540 aesdngihehnthungkaaephngtachnnxkaelakaaephngchnin inkhnathiphayukalngxyuinwtckrkaraethnthikaaephngta wtckrkaraethnthikaaephngta aekikh dubthkhwamhlkthi wtckrkaraethnthikaaephngta wtckrkaraethnthikaaephngta hruxeriykxikxyangwa wtckrkaaephngtarwmsunyklang epnpraktkarnthangthrrmchatithiekidkhuninphayuhmunekhtrxnthimikhwamrunaerng sungodythwipaelwphayucatxngmikhwamerwlmmakkwa 185 km chm 115 iml chm hruxepnphayuehxriekhnkhnadihy radb 3 hruxsungkwatammatraehxriekhnaesfefxr simpsn emuxphayuhmunekhtrxnthungkhwamrunaerngthiradbni aelakaaephngtaidhdtwlnghruxmkhnadelkxyangephiyngphxxyuaelw dudanbn bangswnkhxngaethbfnrxbnxkxacthwikalngaerngkhunaelacdrabbtwexngepnwngaehwnphayufakhanxng aelaepnkaaephngtachnnxk sungcaekhluxntwekhaprachidkaaephngtachninxyangcha aelaaeyngchingkhwamchunaelaomemntmechingmumthicaepntxkaaephngtachninipepnkhxngtwexng dwyehtuni enuxngcakbriewnthimilmphdaerngthisudkhxngphayuhmunekhtrxnxyuinbriewnkaaephngtakhxngphayuhmun cungthaihphayuhmunekhtrxnxxnkalnglngipinrayanikhxngwtckr enuxngcakkaaephngtachnin thukxudtn odykaaephngtachnnxk cnemuxkaaephngtachnnxkekhaaethnthikaaephngtachninodysmburnaelw phayucungcasamarththwikalngaerngkhunxikkhrnghnungid 8 karkhnphbkrabwnkarnimiphlbangswninkarsinsudlngkhxngokhrngkarstxrmfiwriephuxthdlxngkarprbepliynphayuehxriekhn odyrthbalshrth sungokhrngkarniidthakarerngerasphaphxakasihekidfn Cloud seeding thidannxkkhxngkaaephngta aelaidchdaecngwaepnsaehtuthaihekidkarkxtwkhxngkaaephngtaxnihmaelakarxxnkalnglngkhxngphayu emuxidkhnphbaelwwakrabwnkarniepnkrabwnkartamthrrmchatiinkarepliynaeplngkhxngphayuehxrriekhnexng okhrngkarnicungthuklmelikxyangrwderw 8 khuemuxng aekikh khuemuxng Moat khxngphayuhmunekhtrxn khux wngaehwnthichdecndannxkkhxngkaaephngta hruxepnbriewnthixyurahwangkaaephngtarwmsunyklangaetlakaaephng milksnaepnkaryubtwkhxngchnbrryakas nnkhux xakascacmtwlngxyangcha aelamiprimanhyadnafaelknxyhruximmiely xakasthiihlxyuinkhuemuxngepnxiththiphlcakphlkhxngkarsasmkhxngkarkhyayxxkaelakarechuxn khuemuxngrahwangkaaephngta epnbriewnkhxngphayuthikhwamerwkarhmunkhxngxakasepliynipxyangmak tamsdswncakrayahangkhxngsunyklangphayu phunthiehlanieriykxikxyangwa rapid filamentation zones osnthimikrabwnkarfilaemntxyangrwderw odyphunthidngklawsamarthphbidiklkbkraaeswnid thimikhwamrunaerngephiyngphx aetcaphbidchdecnthisudinphayuhmunekhtrxnthirunaerng 15 klangkraaeswnkaaephngta aekikh klangkraaeswnsngektehnidphayintakhxngphayuehxriekhnexmieliy inpi ph s 2537 klangkraaeswnkaaephngta Eyewall mesovortices epnlksnakhxngkarhmunrxbkhnadelk sungphbidinkaaephngtakhxngphayuhmunekhtrxnthimikhwamrunaerng odyhlkkaraelwkhlaykb kraaeswnaebbthxdud suction vortices khnadelkthimkphbidinthxrnaodaebbhlaykraaeswn 16 inkraaeswnehlani khwamerwlmxacmakkwabriewnid inkaaephngta 17 klangkraaeswnkaaephngtannepneruxngpktiinrahwangthiphayuhmunekhtrxnmikhwamrunaerng 16 klangkraaeswnkaaephngtamkcaaesdngphvtikrrmthiphidpktiinphayuhmunekhtrxn odyphwkmnmkcahmunrxbsunyklangkhwamkdxakasta aetbangkhrngphwkmnkkhangxyukbthi mibnthukkhxmulwaklangkraaeswnkaaephngtannmikarwangtwxyutamtakhxngphayu sungpraktkarnehlaniidrbkarbnthukkhxmuliwthngkarsngekt 18 karthdlxng 16 aelatamhlkthvsdi 19 klangkraaeswnkaaephngyngepnpccysakhythithaihekidkarkxtwkhunkhxngthxrnaod hlngcakthiphayuhmunekhtrxnphdkhunfngaelw odyklangkraaeswnkaaephngsamarthepnaehlngekid spawn khxngkarhmuninaetlaesllkarphakhwamrxn hruxxakaslxytwkhunkhangbn emosisokhln id sungcanaipsukickrrmkhxngthxrnaodid emuxphayuphdchunfng caekidaerngesiydthankhunrahwangkarihlewiynkhxngphayuhmunekhtrxnaelaaephndin sungsamarththaihklangkraaeswn samarthlngipsuphunphiwid aelathaihekidthxrnaodkhun 20 karihlewiynkhxngthxrnaodehlanisamarthphbidxyangaephrhlay phayinkaaephngtakhxngphayuhmunekhtrxnthimikhwamrunaerng aetepnthxrnaodthimikhnadelkaelamirayaewlathisn thaihsngektphbidimbxykhrngnk 21 praktkarnxthcnthr aekikh phaphmummxngtakhxngphayuitfunimsk caksthanixwkasnanachati emuxwnthi 31 minakhm ph s 2558 aesdngihehnthungpraktkarnxthcnthrthichdecn praktkarnxthcnthr Stadium effect epnpraktkarnthiphbidinphayuhmunekhtrxn aelaepnehtukarnthikhxnkhangpktisahrbphayuhmunekhtrxn sungemkhkhxngkaaephngtacaokhngkhunaelaxxkcaktwphayuhmunipthiphunphiwkhxngbrryakasradbbn sungthaihtaphayudukhlayepnhlngkharupthrngklm Dome epidcakxakas khlaykbsnamkila taphayucamikhnadihykwainradbbnkhxngphayuesmx swndanlangthisudkhxngtaphayucamikhnadelkthisud enuxngcakxakasthiyktwkhuninkaaephngta tamesnixosilnkhxngomemntmechingmumetha sungcathaihkaaephngtannexiyng slope xxkiptamkhwamsung 22 23 24 inphayuhmunekhtrxnthimitakhnadelkmak khwamexiyngkhxngpraktkarnnicaednchdmak lksnakhlayta aekikh okhrngsrangkhlaytamkcaphbidinphayuhmunekhtrxn khlaykbtathiehnidinphayuehxriekhnhruxphayuitfun mnepnbriewnthiepnwngklmthisunyklangkarihlewiynkhxngphayu sungimmikarphakhwamrxn lksnakhlaytaehlanimkphbidinphayuhmunekhtrxnthimikalngepnphayuosnrxn hruxphayuehxriekhnradb 1 tammatraehxriekhnaesfefxr simpsn twxyangechn lksnakhlaytathukphbinphayuehxriekhnebta emuxphayumikhwamerwlmsungsudephiyng 80 km chm 50 iml chm sungmikhwamrunaerngtakwaphayuehxriekhn 25 odythwipaelwlksnaaebbnicaimsamarthmxngehnidinchwngkhlunthimxngehnidhruxchwngkhlunxinfraerdcakxwkas odycaehnidxyangngaydayphanphaphthaydawethiymchwngkhlunimokhrewf 26 karphthnakhxnglksnakhlaytacakxtwkhuninradbklangkhxngchnbrryakas khlaykbkarkxtwkhxngtaphayuthismburn aetlksnakhlaytanixacthukaethnthiinaenwnxnenuxngcaklmechuxnaenwtngid 27 28 phy aekikh elnmiediy xakasyanbinphankaaephngtakhxngphayu aelaekhasubriewnthisngbintaphayu aemwataphayucaepnswnthisngbthisudkhxngphayu enuxngcakimmilmthisunyklang aelaodythwipthxngfacaplxdoprng aetbriewnehnuxmhasmuthrxacepnphunthithixntraythisudid inkaaephngtakhxngphayu khlunthikhbekhluxndwylmthnghmdcaekhluxnthiipinthisthangediywkn xyangirktam insunyklangkhxngtakhluncamabrrcbkncakthukthisthukthang aelacakxtwkhunepnyxdkhlunthipkti sungsamarthklayepnkhlunyksid khwamsungthisudkhxngkhluncakphayuehxriekhnnnyngimepnthithrab aetcakkarwdinphayuehxriekhnixaewn sungepnphayuehxriekhnradb 4 mikarpramanwakhlunbriewniklkbkaaephngtannsungekin 40 emtr 130 fut nbcakyxdkhlunipcnthungthxngkhlun 29 khxphidphladodythwip odyechphaaxyangyinginbriewnthiphbphayuhmunekhtrxnidnxy sahrbkarthiphuxasythicaxxkcakbaneruxnkhxngphwkekha ipsarwckhwamesiyhaykhxngthrphysin khnathisunyklangkhxngphayuthisngbkalngpkkhlumxyu caknnphwkekhacathukocmtiodylmphdxyangrunaernginkaaephngtafngtrngkham 30 phayuhmunxun aekikh phayuhimainthwipxemrikaehnux ph s 2549 epnphayuhmunnxkekhtrxnthiaesdngihehnthungokhrngsrangkhlayta emuxphayhmunnxkekhtrxnmikalngsungsud thangtawnxxkkhxngkhabsmuthredlmarwa dubthkhwamhlkthi phayuhmun aemwacamiephiyngphayuhmunekhtrxnthimiokhrngsrangthieriykwa ta xyangepnthangkar aetrabblmfaxakasxun thisamarthaesdnglksnathikhlay knniid 1 31 khwamkdxakastakhwolk aekikh khwamkdxakastakhwolk Polar low epnrabblmfaxakasinradbphumiphakh odythwipaelwcamikhnadelkkwa 1 000 km 600 iml phbidiklkbkhwolk ehmuxnkbphayuhmunekhtrxn khwamkdxakastacakxtwkhunehnuxnathikhxnkhangxun aelasamarthmikarphakhwamrxnaelalmthierwinradbphayu gale hruxmakkwaid sungcaaetktangcakthrrmchatikhxngphayuhmuninekhtrxn xyangirktam khwamkdxakastaehlanisamarthphthnakhuninxunhphumithieynkwa aelathilaticudsungkwamakid khwamkdxakastaehlanicamikhnadelk aelamixayusnkwa odymiephiyngimkirabbethannthimixayuekinhnungwn thungaemwacamikhwamaetktangehlani rabbkhwamkdxakastakhwolknisamarthmiokhrngsrangthikhlaykbphayuhmunekhtrxnid odymitathiplxdoprnglxmrxbdwykaaephngta aelaaethbfnhruxaethbhima 32 phayuhmunnxkekhtrxn aekikh phayuhmunnxkekhtrxn Extratropical cyclone epnhyxmkhwamkdxakasta sungmikhxbekhtkhxngmwlxakasthiaetktangkn phayuekuxbthnghmdthiphbinlaticudklangnnepnphayunxkekhtrxninthrrmchati rwmipthungphayunxrxisethirnthwipxemrikaehnuxaelaphayulmthwipyuorpdwy khwamrunaerngthisudkhxngphayuehlani samarthmi ta thiplxdoprngiddwy inbriewnthimikhwamkdxakastathisud aemwamncathuklxmrxbdwyemkhthitakwa aelaimmikarphakhwamrxninemkh aelaphbidiklkbdanhlngplayphayu 33 phayuhmunkungekhtrxn aekikh phayuhmunkungekhtrxn Subtropical cyclone epnhyxmkhwamkdxakastathimilksnakhxngphayuhmunnxkekhtrxnbangswn aelamilksnakhxngphayuhmunekhtrxnbangswn echnni phayuhmunkungekhtrxncungxacmitaphayukhnathiimidepnphayuhmunekhtrxntamthrrmchatixyangaethcring phayuhmunkungekhtrxnsamarthepnxntrayidxyangmak aelathaihekidlmaerng aelakhlunsung aelamkklayepnphayuhmunekhtrxnxyangetmrupaebb dwyehtuni sunyehxriekhnaehngchaticungiderimtidtamphayuhmunkungekhtrxnnidwy aelaichkartngchuxaebbediywkbphayuhmunekhtrxninpi ph s 2545 34 thxrnaod aekikh thxrnaod Tornado epnphayukhnadelkthimixanackarthalaylang sungsrangkhwamerwlmthiphderwthisudinolk thxrnaodmisxngpraephthhlk idaek thxrnaodaebbkraaeswnediyw Single vortex tornado sungmikarhmuninaenwtngaebbediywkhxngxakas aelathxrnaodaebbhlaykraaeswn Multiple vortex tornado sungprakxbdwy kraaeswnaebbdud khnadelk khlaykbthxrnaodkhnadelk sungthnghmdcahmunrxbsunyklangrwm thxrnaodthngsxngpraephthni tamthvstirabuwathxrnaodmisunyklangkhxngphayuthisngb sungthvstiehlaniidrbkarsnbsnuncakkarsngektkhwamerwlmodyerdartrwcxakasdxpephlxr 35 36 kraaeswnnxkolk aekikh phayukhlayphayuhmunekhtrxnthikhwitkhxngdawesar mikaaephngtasungsibkiolemtr duephimetimthi kraaeswnnxkolk nasaekhyraynganemuxeduxnphvscikayn ph s 2549 wayanxwkaskssinisngektphbphayu khlayehxriekhn thikhwitkhxngdawesar phrxmkbkaaephngtathiaecmchd karsngektnimikhwamoddednepnphiess enuxngcakimekhymikarsngektphbemkhinkaaephngtaphayubndawekhraahdwnginnxkcakolk rwmthungkhwamlmehlwinkarsngektkaaephngtaincudaedngihykhxngdawphvhsbdiodyyanxwkaskalielox 37 inpi ph s 2550 mikraaeswnkhnadihymakekidkhuninkhwthngsxngkhxngdawsukr sungthuksngektphbodypharkicwins exksephrsskhxngxngkhkarxwkasyuorp sungmiokhrngsrangaebbtasxngkhw dipole eye 38 duephim aekikh phayuhmunekhtrxnraychuxphayuhmunekhtrxn rsmithixtraerwlmsungsud karthdlxngprbepliynkhwamrunaerngaelaaethbfninphayuehxriekhn nakhuncakphayuxangxing aekikh 1 0 1 1 1 2 Landsea Chris Goldenberg Stan 2012 06 01 A Basic definitions in Dorst Neal b k Frequently Asked Questions FAQ 4 5 Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory pp A11 What is the eye Landsea Chris Goldenberg Stan 2012 06 01 A Basic definitions in Dorst Neal b k Frequently Asked Questions FAQ 4 5 Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory pp A9 What is a CDO Webmaster 2010 01 05 Tropical Cyclone Structure JetStream Online School for Weather National Weather Service subkhnemux 2006 12 14 Landsea Chris Goldenberg Stan 2012 06 01 A Basic definitions in Dorst Neal b k Frequently Asked Questions FAQ 4 5 Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory pp A7 What is an extra tropical cyclone khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2006 06 15 Unknown parameter deadurl ignored help Velden Christopher S Olander Timothy L Zehr Raymond M 1998 Development of an Objective Scheme to Estimate Tropical Cyclone Intensity from Digital Geostationary Satellite Infrared Imagery Weather and Forecasting American Meteorological Society 13 1 172 173 Bibcode 1998WtFor 13 172V doi 10 1175 1520 0434 1998 013 lt 0172 DOAOST gt 2 0 CO 2 Schubert Wayne H aelakhna 1999 Polygonal Eyewalls Asymmetric Eye Contraction and Potential Vorticity Mixing in Hurricanes PDF Journal of the Atmospheric Sciences American Meteorological Society 59 9 1197 1223 Bibcode 1999JAtS 56 1197S doi 10 1175 1520 0469 1999 056 lt 1197 PEAECA gt 2 0 CO 2 Beven Jack 2005 10 08 Hurricane Wilma Discussion Number 14 rayngan Hurricane Wilma Advisory Archive National Hurricane Center http www nhc noaa gov archive 2005 dis al242005 discus 014 shtml eriykkhxmulemux 2013 05 06 8 0 8 1 8 2 Landsea Chris Goldenberg Stan 2012 06 01 D Tropical cyclone winds and energy in Dorst Neal b k Frequently Asked Questions FAQ 4 5 Atlantic Oceanographic and Meteorological Laboratory pp D8 What are concentric eyewall cycles khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2006 06 15 Unknown parameter deadurl ignored help Evans Bill It s Raining Fish and Spiders Hurricane Extremes Google Ebooks subkhnemux 20 August 2015 A Dictionary of Weather Weather Records Storm Dunlop subkhnemux 20 August 2015 Beven Jack Cobb Hugh 2003 Hurricane Isabel 6 19 September 2003 Tropical Cyclone Report National Hurricane Center Archived from the original on 14 November 2013 https web archive org web 20131114014935 http www nhc noaa gov 2003isabel shtml eriykkhxmulemux 2013 05 06 12 0 12 1 12 2 12 3 Vigh Jonathan 2006 Formation of the Hurricane Eye PDF 27th Conference on Hurricanes and Tropical Meteorology Monterey California American Meteorological Society subkhnemux 2013 05 07 Gutro Rob 2005 06 08 Ozone Levels Drop When Hurricanes Are Strengthening Press release NASA khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2012 11 05 subkhnemux 2013 05 06 Unknown parameter deadurl ignored help Knapp Kenneth R C S Velden A J Wimmers 2018 A Global Climatology of Tropical Cyclone Eyes Mon Wea Rev 146 7 2089 2101 Bibcode 2018MWRv 146 2089K doi 10 1175 MWR D 17 0343 1 Rozoff Christopher M Schubert Wayne H McNoldy Brian D Kossin James P 2006 Rapid filamentation zones in intense tropical cyclones Journal of the Atmospheric Sciences American Meteorological Society 63 1 325 340 Bibcode 2006JAtS 63 325R doi 10 1175 JAS3595 1 16 0 16 1 16 2 Montgomery Michael T Vladimirov Vladimir A Denissenko Peter V 2002 An experimental study on hurricane mesovortices PDF Journal of Fluid Mechanics Cambridge University Press 471 1 32 Bibcode 2002JFM 471 1M doi 10 1017 S0022112002001647 Aberson Sim D Black Michael L Montgomery Michael T Bell Michael 2004 A Record Wind Measurement in Hurricane Isabel Direct Evidence of an Eyewall Mesocyclone PDF 26th Conference on Hurricanes and Tropical Meteorology Miami Florida American Meteorological Society subkhnemux 2013 05 07 Kossin James P McNoldy Brian D Schubert Wayne H 2002 Vortical swirls in hurricane eye clouds Monthly Weather Review American Meteorological Society 130 12 3144 3149 Bibcode 2002MWRv 130 3144K doi 10 1175 1520 0493 2002 130 lt 3144 VSIHEC gt 2 0 CO 2 Kossin James P Schubert Wayne H 2001 Mesovortices polygonal flow patterns and rapid pressure falls in hurricane like vortices Journal of the Atmospheric Sciences American Meteorological Society 58 15 2196 2209 Bibcode 2001JAtS 58 2196K doi 10 1175 1520 0469 2001 058 lt 2196 MPFPAR gt 2 0 CO 2 Wright John E Bennett Shawn P 2009 01 16 Meso Vorticies Observed By WSR 88D In The Eye Press release National Weather Service subkhnemux 2013 05 07 Wu Liguang Q Liu Y Li 2018 Prevalence of tornado scale vortices in the tropical cyclone eyewall Proc Natl Acad Sci U S A 115 33 8307 8310 doi 10 1073 pnas 1807217115 Hawkins Harry F Rubsam Daryl T 1968 Hurricane Hilda 1964 II Structure and budgets of the hurricane on October 1 1964 Monthly Weather Review American Meteorological Society 96 9 617 636 Bibcode 1968MWRv 96 617H doi 10 1175 1520 0493 1968 096 lt 0617 HH gt 2 0 CO 2 Gray W M Shea D J 1973 The hurricane s inner core region II Thermal stability and dynamic characteristics Journal of the Atmospheric Sciences American Meteorological Society 30 8 1565 1576 Bibcode 1973JAtS 30 1565G doi 10 1175 1520 0469 1973 030 lt 1565 THICRI gt 2 0 CO 2 Hawkins Harry F Imbembo Stephen M 1976 The structure of a Small Intense Hurricane Inez 1966 Monthly Weather Review American Meteorological Society 104 4 418 442 Bibcode 1976MWRv 104 418H doi 10 1175 1520 0493 1976 104 lt 0418 TSOASI gt 2 0 CO 2 Beven John L 2005 10 27 Tropical Storm Beta Discussion Number 3 rayngan Hurricane Beta Advisory Archive National Hurricane Center http www nhc noaa gov archive 2005 dis al262005 discus 003 shtml eriykkhxmulemux 2013 05 07 Marks Frank D Stewart Stacy R 2001 PDF TRMM Satellite Data Applications to Tropical Cyclone Analysis and Forecasting Presentation TRMM Workshops Boulder Colorado University Corporation for Atmospheric Research pp 7 25 Archived from the original on 2014 01 22 https web archive org web 20140122185858 http www isse ucar edu trmm presentations marks pdf eriykkhxmulemux 2013 05 07 STORM project Press release National Weather Service subkhnemux 2008 03 12 Brown Daniel Roberts Dave Interpretation of passive microwave imagery Press release National Oceanic and Atmospheric Administration subkhnemux 2008 03 12 Wang David W Mitchell Douglas A Teague William J Jarosz Ewa Hulbert Mark S 2005 Extreme Waves Under Hurricane Ivan Science American Association for the Advancement of Science 309 5736 896 doi 10 1126 science 1112509 PMID 16081728 Webmaster 2010 01 05 Tropical Cyclone Safety JetStream Online School for Weather National Weather Service subkhnemux 2006 08 06 Glossary of Meteorology Archived 2012 02 11 thi ewyaebkaemchchin American Meteorological Society Accessed 2008 10 10 National Snow and Ice Data Center Polar Lows khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2013 02 04 subkhnemux 2007 01 24 Maue Ryan N 2006 04 25 Warm seclusion cyclone climatology American Meteorological Society Conference subkhnemux 2006 10 06 Cappella Chris April 22 2003 Weather Basics Subtropical storms USA Today subkhnemux 2006 09 15 Monastersky R May 15 1999 Oklahoma Tornado Sets Wind Record Science News subkhnemux 2006 09 15 Justice Alonzo A May 1930 Seeing the Inside of a Tornado PDF Monthly Weather Review pp 205 206 subkhnemux 2006 09 15 NASA Sees into the Eye of a Monster Storm on Saturn NASA 2006 11 09 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux October 5 2011 subkhnemux November 10 2006 Unknown parameter deadurl ignored help Piccioni G aelakhna 2007 11 29 South polar features on Venus similar to those near the north pole Nature 450 7170 637 40 Bibcode 2007Natur 450 637P doi 10 1038 nature06209 PMID 18046395 ekhathungcak https th wikipedia org w index php title ta phayuhmun amp oldid 9567544, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม