fbpx
วิกิพีเดีย

ทฤษฎีความผูกพัน

ทฤษฎีความผูกพัน (อังกฤษ: Attachment theory) หรือ ทฤษฎีความผูกพันทางอารมณ์ เป็นแบบจำลองทางจิตวิทยาเพื่อกำหนดพลศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั้งในระยะยาวระยะสั้น แต่ว่า "ทฤษฎีความผูกพันไม่ได้ตั้งเป็นทฤษฎีทั่วไปของความสัมพันธ์ (แต่) ใช้กล่าวถึงด้าน ๆ หนึ่งเพียงเท่านั้น":81 คือ การตอบสนองของมนุษย์ภายในสัมพันธภาพเมื่อเจ็บ ถูกพรากจากคนรัก หรือว่ารู้สึกอันตราย โดยพื้นฐานแล้ว ทารกอาจผูกพันกับคนเลี้ยงคนไหนก็ได้ แต่ว่า คุณลักษณะของความสัมพันธ์กับ/ของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ในทารก ความผูกพันโดยเป็นส่วนของระบบแรงจูงใจและพฤติกรรมจะสั่งการให้เด็กเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับคนดูแลที่คุ้นเคยเมื่อตกใจ โดยคาดหวังว่าจะได้การคุ้มครองและการปลอบใจ บิดาของทฤษฎีผู้เป็นนักจิตวิทยาทรงอิทธิพลชาวอังกฤษจอห์น โบลบี้ เชื่อว่า ความโน้มเอียงของทารกวานร (รวมทั้งมนุษย์) ที่จะผูกพันกับคนเลี้ยงที่คุ้นเคย เป็นผลของความกดดันทางวิวัฒนาการ เพราะว่าพฤติกรรมผูกพันอำนวยให้รอดชีวิตเมื่อเผชิญกับอันตรายเช่นการถูกล่าหรือต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับทั้งทารกและเด็กหัดเดิน "เป้าหมาย" ของระบบความผูกพันโดยพฤติกรรมก็เพื่ออยู่ใกล้ ๆ กับคนที่ผูกพัน ปกติเป็นพ่อแม่

หลักสำคัญที่สุดของทฤษฎีก็คือว่า ทารกจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนเลี้ยงหลักอย่างน้อยหนึ่งคนเพื่อให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและทางอารมณ์ได้อย่างสำเร็จ โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อควบคุมอารมณ์ตนเองอย่างมีประสิทธิผล พ่อหรือคนอื่น ๆ มีโอกาสกลายเป็นผู้ผูกพันหลักถ้าให้การดูแลเด็กและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่สมควรโดยมากที่สุด เมื่อมีคนดูแลที่ไวความรู้สึกและตอบสนองต่อเด็ก ทารกจะอาศัยคนดูแลเป็น "เสาหลัก" เมื่อสำรวจสิ่งแวดล้อม ควรจะเข้าใจว่า "แม้คนดูแลที่ไวความรู้สึกจะรู้ใจถูกก็ประมาณแค่ 50% เพราะการสื่อสารอาจจะไม่ลงรอยกัน ไม่สมกัน บางครั้งพ่อแม่ก็อาจรู้สึกเหนื่อยหรือสนใจเรื่องอื่นอยู่ มีโทรศัพท์ที่ต้องรับหรืออาหารเช้าที่จะต้องทำ กล่าวอีกอย่างก็คือ ปฏิสัมพันธ์ที่เข้ากันอย่างดีอาจเสียไปได้อย่างบ่อยครั้ง แต่ลักษณะของคนดูแลที่ไวความรู้สึกคนแท้ก็คือ ความเสียหายนั้นจะได้การบริหารหรือซ่อมแซม"

ความผูกพันระหว่างทารกกับผู้ดูแลเกิดขึ้นแม้เมื่อคนดูแลไม่ไวความรู้สึกและไม่ตอบสนองต่อเด็ก ซึ่งทำให้มีผลตามมาหลายอย่าง คือ ทารกจะไม่สามารถออกจากความสัมพันธ์กับคนดูแลที่ไว้ใจไม่ได้หรือไม่ไวความรู้สึก ทารกจะต้องบริหารเองเท่าที่ทำได้ภายในความสัมพันธ์เช่นนี้ โดยอาศัยเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก (Strange situation) งานวิจัยของนักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอังกฤษ ดร. แมรี่ เอนสเวอร์ธ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 พบว่า เด็กจะมีรูปแบบความผูกพันที่ต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับประสบการณ์เบื้องต้นที่ได้จากคนดูแล รูปแบบความผูกพันในชีวิตต้น ๆ นี้ก็จะมีอิทธิพล แม้จะไม่ใช่ตัวกำหนด ความคาดหวังของบุคคลในความสัมพันธ์ต่อ ๆ มา มีหมวดหมู่ความผูกพัน 4 อย่างที่ได้ระบุในเด็ก คือ

  • แบบมั่นใจ (secure attachment)
  • แบบวิตกกังวล-คละ (anxious-ambivalent attachment)
  • แบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง (anxious-avoidant attachment)
  • แบบไม่มีระเบียบ (disorganized attachment)

ทฤษฎีนี้ได้กลายเป็นทฤษฎีหลักที่ใช้ในปัจจุบันเพื่อศึกษาพฤติกรรมของทารกและเด็กหัดเดินในด้านต่าง ๆ รวมทั้งสุขภาพจิตทารก การปฏิบัติต่อเด็ก เป็นต้น ความผูกพันแบบมั่นใจจะเกิดเมื่อเด็กรู้สึกว่าสามารถพึ่งคนดูแลให้อยู่ใกล้ ๆ ปลอบใจ และช่วยป้องกัน เป็นรูปแบบที่พิจารณาว่าดีที่สุด ส่วนแบบวิตกกังวล-คละจะเกิดเมื่อเด็กรู้สึกวิตกกังวลเมื่อพรากจากคนดูแล และไม่กลับไปรู้สึกมั่นใจเมื่อคนดูแลกลับมา ส่วนแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยงเกิดเมื่อเด็กหลีกเลี่ยงพ่อแม่ และแบบไม่มีระเบียบก็คือเด็กจะไม่แสดงพฤติกรรมความผูกพัน ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ทฤษฎีนี้ได้ขยายไปใช้กับความผูกพันในผู้ใหญ่ โดยใช้เมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่หรือคู่รัก

ระบบความผูกพันมีหน้าที่ให้ได้หรือรักษาการอยู่ใกล้ ๆ กับคนที่ผูกพัน เมื่ออยู่ใกล้ ๆ ระบบนี้จะไม่ทำงาน และทารกสามารถสนใจแต่โลกภายนอกได้

ความผูกพันของทารก

ในทฤษฎีความผูกพัน ความผูกพันหมายถึง "สัญชาตญาณทางชีวภาพ ที่สืบหาการอยู่ใกล้ ๆ กับคนที่ผูกพัน เมื่อเด็กรู้สึกว่ามีภัยหรือไม่สบาย พฤติกรรมความผูกพันหวังการตอบสนองจากคนที่ผูกพันว่า จะช่วยกำจัดภัยหรือความรู้สึกไม่สบาย" ความสัมพันธ์เช่นนี้จะเป็นแบบกันและกันระหว่างผู้ใหญ่ แต่ระหว่างเด็กกับคนดูแล ความสัมพันธ์จะขึ้นอยู่กับความจำเป็นของเด็กในเรื่องสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และการป้องกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสุดในวัยทารกและวัยเด็ก

จอห์น โบลบี้ เริ่มต้นโดยให้ข้อสังเกตว่า สิ่งมีชีวิตที่มีระดับวิวัฒนาการชาติพันธุ์ที่ต่างกัน จะมีพฤติกรรมทางสัญชาตญาณที่ไม่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่พฤติกรรมคล้ายรีเฟล็กซ์แบบง่าย ๆ เป็นรูปแบบการกระทำเฉพาะ จนกระทั่งถึงพฤติกรรมที่มีแผนซับซ้อนเป็นชั้น ๆ โดยมีทั้งเป้าหมายย่อย ๆ และการเรียนรู้ที่จำเป็น ในสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนที่สุด พฤติกรรมทางสัญชาตญาณอาจแก้ได้ตามเป้าหมายโดยปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง (เช่น นกล่าเหยื่อปรับการบินตามการเคลื่อนไหวของเหยื่อ) ดังนั้น แนวคิดของระบบพฤติกรรมที่ควบคุมโดยไซเบอร์เนติกส์และจัดระเบียบเป็นลำดับชั้นการวางแผน (Miller, Galanter, and Pribram, 1960) จึงได้กลายมาแทนที่แนวคิดของซิกมุนด์ ฟรอยด์ในเรื่องแรงขับ (drive) กับสัญชาตญาณ (instinct) ระบบเช่นนี้สามารถควบคุมพฤติกรรมโดยที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาแต่กำเนิดโดยส่วนเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับสิ่งมีชีวิต ที่สามารถปรับตามความเปลี่ยนแปลงในสภาวะแวดล้อมได้ในระดับหนึ่ง โดยจำกัดว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ต่างไปจากที่มีในสิ่งแวดล้อมทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมากเกินไป แต่ว่าก็มีราคาสำหรับสิ่งมีชีวิตที่ยืดหยุ่นได้ขนาดนี้ เพราะว่าระบบพฤติกรรมที่ปรับตัวได้สามารถพัฒนาได้โดยไม่ดำเนินไปตามทางที่ดีที่สุด สำหรับมนุษย์ โบลบี้สันนิษฐานว่า สภาพแวดล้อมทางวิวัฒนาการของมนุษย์น่าจะคล้ายกับที่พบในสังคมนักล่า-เก็บพืชผล

ทฤษฎีความผูกพันไม่ได้ใช้อธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ และก็ไม่ใช่เป็นไวพจน์ของคำว่าความรักและความชอบใจด้วย ทารกบางคนจะเริ่มมีพฤติกรรมผูกพัน คือการหาความใกล้ชิด ต่อคนดูแลมากกว่าหนึ่งทันทีที่เริ่มแยกแยะผู้ดูแลได้ และโดยมากจะเริ่มในปีที่สอง โดยแบ่งบุคคลเหล่านั้นเป็นชั้น ๆ และมีผู้ดูแลหลักอยู่ยอดสุด เป้าหมายของระบบพฤติกรรมผูกพันก็คือดำรงรักษาการเข้าถึงและการมีคนดูแลไว้ให้ได้

"Alarm" (ตกใจ) เป็นคำที่ใช้เมื่อระบบพฤติกรรมผูกพันเกิดทำงานเหตุกลัวอันตราย "Anxiety" (วิตกกังวล) หมายถึงการคาดหวังหรือความกลัวว่าจะพรากจากคนที่ผูกพัน และถ้าคนที่ผูกพันไม่อยู่หรือไม่ตอบสนอง ความทุกข์แบบถูกพราก (separation distress) ก็จะเกิดขึ้น

ในทารก การถูกพรากทางกายอาจเป็นเหตุแห่งความวิตกกังวลและความโกรธ ตามมาด้วยความเศร้าและความสิ้นหวัง แต่ว่าโดยอายุ 3-4 ขวบ การถูกพรากทางกายจากผู้ที่ผูกพันไม่ใช่เป็นภัยเหมือนอย่างที่เคยเป็น เพราะว่าภัยต่อความปลอดภัยของเด็กที่โตกว่าและของผู้ใหญ่ มาจากการไม่อยู่ด้วยนาน ๆ การยุติการสื่อสาร การไม่ให้การสนับสนุนทางจิตใจ หรือมีสัญญาณว่าจะถูกไม่ยอมรับหรือถูกทอดทิ้ง

 
รูปแบบความผูกพันที่ไม่มั่นใจสามารถขัดขวางการสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวและความมั่นใจในตัวเอง เพราะว่าเด็กที่ผูกพันอย่างมั่นใจจะเป็นอิสระเพื่อสนใจในสิ่งแวดล้อม

พฤติกรรม

ระบบพฤติกรรมผูกพันจะช่วยให้ได้หรือรักษาความอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ผูกพัน ส่วนพฤติกรรมก่อนความผูกพันจะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ในระยะแรก (คือในช่วง 8 อาทิตย์แรก) ทารกจะยิ้ม พูดไม่เป็นภาษา และร้องไห้ดึงความสนใจจากคนที่อาจเป็นผู้เลี้ยง แม้ว่าทารกในวัยนี้เริ่มจะจำแนกผู้เลี้ยงดูต่าง ๆ แต่ว่า พฤติกรรมเช่นนี้จะเป็นอย่างเดียวกันกับทุกคนที่อยู่ใกล้ ๆ ในระยะที่สอง (2-6 เดือน) ทารกจะจำแนกผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยได้มากขึ้น และตอบสนองต่อผู้ดูแลมากกว่า การตามและติดจะเป็นพฤติกรรมที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนความผูกพันอย่างชัดเจนจะเกิดในระยะที่ 3 ระหว่างวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ พฤติกรรมต่อผู้ดูแลจะมีระเบียบคือมีเป้าหมายเพื่อให้ได้สถานการณ์ที่ตนรู้สึกปลอดภัย หลังจากสุดปีแรก ทารกจะสามารถแสดงพฤติกรรมผูกพันที่มุ่งรักษาความใกล้ชิด ซึ่งปรากฏโดยประท้วงการจากไปของคนเลี้ยง ทักทายเมื่อกลับมา เกาะติดเมื่อกลัว และติดตามเมื่อสามารถ

เมื่อเริ่มเคลื่อนที่ได้ ทารกจะเริ่มอาศัยคนดูแลเป็นเสาหลักในการสำรวจสิ่งแวดล้อม การสำรวจจะมีมากกว่าเมื่อคนดูแลอยู่ด้วย เพราะว่าระบบความผูกพันของทารกไม่ต้องทำงานและทารกจึงเป็นอิสระที่จะสำรวจ ถ้าคนดูแลไม่อยู่หรือไม่ตอบสนอง พฤติกรรมผูกพันจะปรากฏมากกว่า ความวิตกกังวล ความกลัว ความเจ็บป่วย และความเหนื่อยจะทำให้เด็กเพิ่มพฤติกรรมผูกพัน

หลังจากปีที่สอง เด็กเริ่มเห็นผู้ดูแลว่าเป็นคนอีกคนหนึ่ง ดังนั้นก็จะเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน โดยเป็นหุ้นส่วนแบบปรับให้เข้ากับเป้าหมาย คือ เด็กจะเริ่มเห็นเป้าหมายและความรู้สึกของคนอื่น และจะวางแผนการกระทำของตนตามนั้น ยกตัวอย่างเช่น เทียบกับทารกที่จะร้องไห้เพราะเจ็บ เด็ก 2 ขวบจะร้องไห้เพื่อเรียกคนดูแล และถ้าไม่สำเร็จ ก็จะร้องดังขึ้น ตะโกน หรือตาม

หลัก

พฤติกรรมผูกพันและอารมณ์ที่สามัญ ดังที่พบในสัตว์พวกวานรที่อยู่เป็นสังคมรวมทั้งมนุษย์เป็นการปรับตัวที่ดี คือ วิวัฒนาการระยะยาวของสปีชีส์เหล่านี้ รวมการคัดเลือกพฤติกรรมทางสังคมที่ทำให้โอกาสรอดชีวิตของบุคคลหรือกลุ่มมีมากขึ้น พฤติกรรมผูกพันที่เห็นได้ทั่วไปของเด็กหัดเดินที่อยู่ใกล้ ๆ กับคนที่คุ้นเคย เป็นประโยชน์ให้ความปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมทางวิวัฒนาการมนุษย์ในยุคต้น ๆ และก็ยังมีประโยชน์เช่นเดียวกันทุกวันนี้ จอห์น โบลบี้เห็นสิ่งแวดล้อมทางวิวัฒนาการที่ว่านี้ว่าคล้ายกับสังคมนักล่า-เก็บพืชผลที่เห็นในปัจจุบัน มีประโยชน์ในการรอดชีวิตถ้าสามารถรู้สึกถึงสภาวะที่อาจเป็นอันตรายเช่น ความไม่คุ้นเคย การอยู่คนเดียว หรือการเข้ามาหาอย่างรวดเร็ว ตามโบลบี้ การหาความใกล้ชิดกับคนที่ผูกพันเมื่อเผชิญกับภัย เป็นเป้าหมายของระบบพฤติกรรมผูกพัน

 
ประสบการณ์เบื้องต้นจะค่อย ๆ สร้างระบบความคิด ความจำ ความเชื่อ ความคาดหวัง อารมณ์ และพฤติกรรมเกี่ยวกับตนเองและคนอื่น

คำอธิบายเบื้องต้นของโบลบี้เกี่ยวกับระยะไว (sensitivity period) ที่ความผูกพันจะเกิดขึ้นคือระหว่าง 6 เดือน ถึง 2-3 ปี ต่อมาได้เปลี่ยนโดยนักวิจัยต่อ ๆ มา นักวิจัยได้แสดงว่า มีระยะไวจริง ๆ ที่ความผูกพันจะเกิดขึ้นถ้าเป็นไปได้ แต่ระยะเวลาจริง ๆ กว้างกว่านั้นและผลที่เกิดไม่ได้ตายตัวเปลี่ยนไม่ได้เหมือนอย่างที่เสนอมาก่อน คือ งานวิจัยต่อ ๆ มาได้พบว่า ความสัมพันธ์ทั้งในเบื้องต้นและต่อ ๆ มาจะมีผลต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็ก

ขั้นต้น ๆ ของความผูกพันเกิดขึ้นง่ายที่สุดถ้าเด็กมีคนดูแลคนเดียว หรือมีคนดูแลจำนวนน้อยหลายคนที่ช่วยดูเป็นบางครั้งบางคราว ตามโบลบี้ เกือบตั้งแต่แรก เด็กจำนวนมากมีคนมากกว่าคนเดียวที่แสดงพฤติกรรมผูกพันด้วย แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกันทุกคน เด็กโน้มเอียงอย่างสำคัญที่จะผูกพันกับบุคคลหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งเขาใช้คำว่า "monotropy" เพื่อกล่าวถึงความเอนเอียงเช่นนี้ แต่นักวิจัยและนักทฤษฎีต่อ ๆ มาได้ทิ้งแนวคิดนี้เพราะว่าคำดูเหมือนจะแสดงว่า ความสัมพันธ์กับคนพิเศษนั้นมีลักษณะต่างจากกับคนอื่น ๆ ความคิดในปัจจุบันสมมุติว่าความสัมพันธ์จะมีไปตามลำดับชั้น

ประสบการณ์เบื้องต้นกับคนดูแลจะค่อย ๆ สร้างระบบความคิด ความจำ ความเชื่อ ความคาดหวัง อารมณ์ และพฤติกรรมเกี่ยวกับตนเองและคนอื่น ระบบนี้ซึ่งเรียกว่า แบบจำลองใช้งานภายในของความสัมพันธ์ทางสังคม (internal working model of social relationships) จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามอายุและประสบการณ์ และใช้ควบคุม ตีความ และพยากรณ์พฤติกรรมเกี่ยวกับความผูกพันทั้งในตนเองและในบุคคลที่ผูกพัน เนื่องจากเป็นแบบจำลองที่พัฒนาไปตามสิ่งแวดล้อมและช่วงพัฒนาการ จึงสามารถสะท้อนและแสดงความสัมพันธ์ที่เคยมีในอดีตและอาจจะมีในอนาคต เป็นแบบซึ่งช่วยให้เด็กรับมือกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ ๆ ได้ เช่น ให้รู้ว่า ทารกควรจะปฏิบัติต่างจากเด็กที่โตกว่า หรือว่าปฏิสัมพันธ์กับคุณครูและกับพ่อแม่มีอะไรที่คล้ายกัน แบบจำลองนี้จะพัฒนาไปจึงตลอดวัยผู้ใหญ่ ช่วยรับมือกับมิตรภาพ การแต่งงาน และการเป็นพ่อแม่ ซึ่งล้วนแต่ต้องมีพฤติกรรมและความรู้สึกที่ต่าง ๆ กัน

พัฒนาการของความผูกพันเป็นกระบวนการแบบดำเนินการ (transactional process) แต่พฤติกรรมผูกพันในวัยทารกโดยเฉพาะ ๆ จะเริ่มด้วยพฤติกรรมที่พยากรณ์ได้โดยมีมาแต่กำเนิด แล้วเปลี่ยนไปตามวัยที่กำหนดส่วนหนึ่งโดยประสบการณ์และส่วนหนึ่งโดยปัจจัยทางสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อพฤติกรรมความผูกพันกำลังพัฒนาตามอายุ ก็จะได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์ที่มี พฤติกรรมของเด็กเมื่อกลับมาพบคนดูแลกำหนดไม่ใช่เพียงแค่โดยพฤติกรรมที่คนดูแลมีต่อเด็ก แต่กำหนดโดยประวัติด้วยว่าพฤติกรรมเด็กเคยมีผลต่อคนดูแลอย่างไร

การจัดหมวดเด็กโดย Strange Situation Protocol

วิธีที่สามัญที่สุดและมีหลักฐานยืนยันมากที่สุดเพื่อใช้ประเมินความผูกพันของทารก (11-17 เดือน) เรียกว่า เกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก (Strange Situation Protocol) ที่พัฒนาโดย ดร. แมรี่ เอนสเวอร์ธ ซึ่งเป็นผลของสังเกตการณ์อย่างละเอียดของปฏิสัมพันธ์ระหว่างทารกและมารดา แต่เป็นเทคนิคงานวิจัยที่ไม่ได้หมายให้ใช้สำหรับการวินิจฉัยทางการแพทย์ แม้ว่าวิธีนี้จะสามารถใช้ช่วยให้ข้อมูลทางคลินิก หมวดที่จัดไม่ควรสับสนกับเกณฑ์วินิจฉัยทางจิตเวชในเรื่อง Reactive attachment disorder (RAD) เพราะว่า แนวคิดทางคลินิกของ RAD ต่างโดยพื้นฐานหลายอย่างจากทฤษฎี และต่างจากการจัดหมวดหมู่ความผูกพันโดยอาศัยเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกที่ขับเคลื่อนโดยแนวคิดงานวิจัย ดังนั้น ไอเดียว่าความผูกพันที่ไม่มั่นใจ (insecure attachment) เหมือนกับอาการ RAD ไม่ตรงกับความจริงและทำให้เกิดความไม่ชัดเจนทางวิชาการเมื่อกล่าวถึงทฤษฎีความผูกพันดังที่พัฒนาไปตามวรรณกรรมงานวิจัย นี่ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดเกี่ยวกับ RAD ไม่สมเหตุสมผล แต่ว่า แนวคิดในการรักษาเรื่อง attachment disorder และแนวคิดงานวิจัยเรื่องความผูกพันแบบไม่มั่นใจ (insecure attachment) เป็นคนละเรื่องกัน

เกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกเป็นวิธีการในแล็บ ใช้เพื่อประเมินรูปแบบความผูกพันของทารกกับคนดูแล โดยมีการแสดงภัยที่ไม่คาดฝันหนึ่งอย่าง การแยกจากมารดาสั้น ๆ 2 ครั้ง ตามด้วยการเจอกันใหม่ ในกระบวนการนี้ มีการให้มารดาและทารกอยู่ในห้องเล่นที่ไม่คุ้นเคยเต็มไปด้วยของเล่นในขณะที่นักวิจัยถ่ายวิดีโอของเหตุการณ์ผ่านกระจกเห็นทางเดียว มีระยะ 8 ระยะที่ทารกประสบกับการพรากจากและการเจอแม่ใหม่และการเจอกับคนที่ไม่คุ้นเคย คือคนแปลกหน้า โดยทำตามลำดับดังต่อไปนี้นอกจากนักวิจัยจะระบุการยกเว้น

  • ตอน 1: แม่ (หรือคนเลี้ยงดูที่คุ้นเคย) ทารก และผู้ทำการทดลอง (30 วินาที)
  • ตอน 2: แม่และทารก (3 นาที)
  • ตอน 3: แม่ ทารก และคนแปลกหน้า (3 นาที)
  • ตอน 4: คนแปลกหน้าและทารก (3 นาทีหรือน้อยกว่านั้น)
  • ตอน 5: มารดาและทารก (3 นาที)
  • ตอน 6: ทารกคนเดียว (3 นาทีหรือน้อยกว่านั้น)
  • ตอน 7: คนแปลกหน้าและทารก (3 นาทีหรือน้อยกว่านั้น)
  • ตอน 8: แม่และทารก (3 นาที)

โดยมากขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเมื่อมาเจอกันอีก (แม้ว่า พฤติกรรมอื่น ๆ ก็อาจจะเกี่ยวด้วย) ทารกสามารถจัดอยู่ในหมวดการผูกพันแบบ "มีระเบียบ" 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม B (ภายหลังเรียกว่า แบบมั่นใจ) กลุ่ม A (ภายหลังเรียกว่า แบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง) และกลุ่ม C (ภายหลังเรียกว่า แบบวิตกกังวล-คละ) โดยแต่ละกลุ่มจะมีกลุ่มย่อย ๆ ดังจะกล่าวต่อไป เริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 มีการเพิ่มต่อเติมรูปแบบดั้งเดิมของ ดร. เอนสเวอร์ธ รวมทั้งกลุ่ม B4 (1970) กลุ่ม A/C (1985) กลุ่มไม่มีระเบียบ D (1986) กลุ่ม B5 (1988, 1992) กลุ่ม A+ C+ และเศร้า (Depressed) (1992, 2010) ถ้ามีอายุมากขึ้น ก็จะมีกลุ่มอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก โดยแต่ละกลุ่มสะท้อนรูปแบบความผูกพันของทารกต่อคนดูแล ทารกสามารถมีรูปแบบความผูกพันที่ต่างกันระหว่างพ่อแม่และระหว่างคนดูแล ดังนั้น รูปแบบความผูกพันจึงไม่ได้เป็นส่วนของทารก แต่เป็นลักษณะการป้องกันและการปลอบใจที่ทารกได้จากความสัมพันธ์หนึ่ง ๆ รูปแบบเหล่านี้สัมพันธ์กับรูปแบบพฤติกรรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถช่วยพยากรณ์บุคลิกภาพของทารกในอนาคตได้


รูปแบบความผูกพัน

"ความชัดเจนทางพฤติกรรมความผูกพันของเด็กในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ไม่ได้บ่งถึงกำลังของความผูกพันที่มีจริง ๆ เด็กที่ไม่มั่นใจบางคนจะแสดงพฤติกรรมความผูกพันที่ชัดเจนเป็นปกติ ๆ แต่เด็กที่มั่นใจอาจจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแสดงพฤติกรรมความผูกพันอย่างชัดเจนหรือบ่อย ๆ"

 
ผังแสดงการดำเนินงานของความผูกพันแบบมั่นใจ

ความผูกพันแบบมั่นใจ

เด็กหัดเดินที่ผูกพันกับพ่อแม่ (หรือคนเลี้ยงดูอื่น ๆ) อย่างมั่นใจจะทำการสำรวจอย่างเป็นอิสระเมื่อผู้ดูแลอยู่ใกล้ ๆ มีพฤติกรรมปกติกับคนแปลกหน้า บ่อยครั้งอารมณ์เสียเมื่อคนดูแลจากไป และโดยทั่วไปดีใจเมื่อเห็นคนดูแลกลับมา แต่ขอบเขตการสำรวจและความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นอยู่กับนิสัย (temperament) กับปัจจัยทางสถานการณ์ และกับสถานะของความผูกพัน ความผูกพันของเด็กโดยมากขึ้นอยู่กับความไวความต้องการ/ความรู้สึกของเด็ก ของคนดูแลหลัก พ่อแม่ที่ตอบสนองอย่างสม่ำเสมอ หรือเกือบสม่ำเสมอ ต่อความต้องการของเด็กจะทำให้เด็กเกิดความผูกพันแบบมั่นใจ คือเด็กเช่นนี้แน่ใจว่าพ่อแม่จะตอบสนองต่อความต้องการและต่อการสื่อสารของตน

ในวิธีการลงรหัสของ ดร. เอนสเวอร์ธและคณะ (1978) ทารกแบบมั่นใจจะลงรหัสว่า กลุ่ม B โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้ คือ B1, B2, B3, และ B4 แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้สะท้อนถึงการตอบสนองโดยเฉพาะ ๆ ของการมาและการไปของคนดูแล แต่ ดร. เอนสเวอร์ธและคณะก็ไม่ได้ตั้งชื่อให้กลุ่มย่อย และพฤติกรรมที่ปรากฏก็ได้ทำให้นักวิจัยอื่น ๆ (รวมทั้งนักศึกษาของ ดร. เอนสเวอร์ธเอง) ได้ใช้ศัพท์อภิธานกว้าง ๆ สำหรับกลุ่มย่อย ๆ เหล่านี้ เช่น B1 เรียกว่า "มั่นใจ-สงวนท่าที" (secure-reserved), B2 "มั่นใจ-ไม่แสดงออก" (secure-inhibited), B3 "มั่นใจ-สมดุล" (secure-balanced) และ B4 "มั่นใจ-มีปฏิกิริยา" (secure-reactive) แต่ว่าในวรรณกรรมวิชาการ การจัดกลุ่มทารก (ถ้ามีการแบ่งกลุ่มย่อย) จะเรียกโดยรหัส เช่น "B1" เป็นต้น แม้ว่าเอกสารทางทฤษฎีหรือที่เป็นงานทบทวนวรรณกรรมในเรื่องนี้อาจใช้ศัพท์ต่าง ๆ ดังที่ว่า

เด็กที่ผูกพันอย่างมั่นใจสามารถสำรวจสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด เมื่อรู้สึกว่ามีเสาหลัก (คือคนดูแล) เพื่อกลับไปหาเมื่อต้องการ เมื่อได้รับการช่วยเหลือ นี่จะช่วยให้รู้สึกปลอดภัย และถ้าสมมุติว่าช่วยได้จริง ๆ ก็จะเป็นการสอนเด็กให้รับมือกับปัญหาอย่างเดียวกันในอนาคตด้วย ดังนั้น ความผูกพันแบบมั่นใจจึงมองว่าเป็นสไตล์ความผูกพันที่เป็นการปรับตัวดีที่สุด ตามนักวิจัยทางจิตวิทยาบางคน เด็กจะมีความผูกพันอย่างมั่นใจถ้าพ่อแม่อยู่ด้วยและสามารถสนองความต้องการของเด็กอย่างสมควรและเมื่อจำเป็น ดังนั้น ในวัยทารกและวัยเด็กเบื้องต้น ถ้าพ่อแม่เอื้ออาทรและใส่ใจลูกของตน เด็กมักจะมีความผูกพันแบบมั่นใจ

ความผูกพันแบบวิตกกังวล-คละ

ความผูกพันแบบวิตกกังวล-คละ (Anxious-ambivalent attachment) บางครั้งเรียกอย่างผิด ๆ ว่า ความผูกพันแบบขัดขืน (resistant attachment) โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่มีรูปแบบความผูกพันแบบนี้จะทำการสำรวจน้อยเมื่อใช้เกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก และบ่อยครั้งจะไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า แม้กระทั่งเมื่อพ่อแม่ยังอยู่ด้วย เมื่อแม่จากไป เด็กบ่อยครั้งจะเป็นทุกข์มาก แต่จะรู้สึกทั้งดีและไม่ดี (คละ) เมื่อแม่กลับมา กลยุทธ์นี้ใช้ตอบสนองกับการดูแลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และการแสดงความโกรธ (ที่เรียกว่าแบบคละ-ขัดขืน [ambivalent resistant]) หรือความทำอะไรไม่ได้ (แบบคละ-เฉย [ambivalent passive]) ต่อคนดูแลเมื่อกลับมา สามารถมองได้ว่าเป็นกลยุทธ์แบบมีเงื่อนไขเพื่อรักษาการมีคนดูแลอยู่ใกล้ ๆ ไว้โดยเข้าควบคุมการปฏิสัมพันธ์กับคนดูแล

จะจัดอยู่ในกลุ่ม C1 (แบบคละ-ขัดขืน) เมื่อ "... เมื่อพฤติกรรมขัดขืนเห็นได้ชัดเป็นพิเศษ การผสมกันระหว่างการหาแต่ก็ขัดขืนการกลับมาอยู่ร่วมกันมีลักษณะโกรธที่ชัดเจน และจริง ๆ แล้วความโกรธก็ยังเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมก่อนระยะจากกันอีกด้วย"

จะจัดอยู่ในกลุ่ม C2 (แบบคละ-เฉย) เมื่อ "ลักษณะที่อาจเห็นได้ชัดที่สุดของทารกกลุ่ม C2 ก็คือการอยู่เฉย ๆ (passivity) พฤติกรรมการสำรวจของทารกจะจำกัดตลอดเกณฑ์วิธีนี้ และพฤติกรรมทางปฏิสัมพันธ์ของทารกจะค่อนข้างไร้การเริ่มทำอะไรเอง อย่างไรก็ดี ในระยะการกลับมาเจอกัน ทารกชัดเจนว่าต้องการอยู่ใกล้และการเข้าหามารดา แม้ว่ามักจะเป็นเพียงแค่การส่งสื่อไม่ใช่การเข้าไปหาจริง ๆ และประท้วงการถูกวางลงแทนที่จะพยายามจับไม่ให้ปล่อยโดยตรง... คือโดยทั่วไปแล้ว ทารกกลุ่ม C2 จะไม่ปรากฏว่าโกรธอย่างชัดเจนเท่ากับทารกกลุ่ม C1"

งานวิจัยปี 2542 พบว่า เด็กที่ถูกทารุณในวัยเด็กมีโอกาสพัฒนาความผูกพันแบบคละ และเด็กที่มีความผูกพันแบบคละมีโอกาสมีปัญหารักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเมื่อเป็นผู้ใหญ่สูงกว่า

 
ผังแสดงการดำเนินงานของความผูกพันแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง

ความผูกพันแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง

ทารกที่มีรูปแบบความผูกพันแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยง จะหลีกเลี่ยงหรือไม่สนใจคนดูแล โดยแสดงอารมณ์น้อยมากเมื่อคนดูแลจากไปหรือกลับมา และจะไม่ทำการสำรวจมากไม่ว่าใครจะอยู่ที่นั่น ทารกประเภทนี้เป็นเรื่องปริศนาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 เพราะไม่แสดงความทุกข์เมื่อถูกพราก และไม่สนใจคนดูแลเมื่อกลับมา (กลุ่มย่อย A1) หรือไม่ก็แสดงแนวโน้มการเข้าหาพร้อมกับแนวโน้มไม่สนใจแล้วหันหลังให้คนดูแล (กลุ่มย่อย A2) ดร. เอนสเวอร์ธและเพื่อนร่วมงานตั้งทฤษฎีว่า พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะไม่เป็นไรของเด็กจริง ๆ แล้วเป็นการอำพรางความทุกข์ ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ต่อมาได้หลักฐานผ่านการศึกษาที่ตรวจอัตราหัวใจเต้นของทารก

ทารกจะจัดกลุ่มว่าเป็นแบบวิตกกังวล-หลีกเลี่ยงเมื่อ "...จะหลีกเลี่ยงแม่อย่างชัดเจนในช่วงมาเจอกันอีกซึ่งน่าจะเป็นแบบไม่สนใจเธอโดยสิ้นเชิง แม้ว่าอาจจะเมินหน้าไปทางอื่น หันหลังให้ หรือหลีกไปจาก... ถ้าทักทายเมื่อแม่กลับมา มักจะเป็นเพียงแค่มองหรือยิ้ม ทารกจะไม่เข้าหาแม่เมื่อเจอกันอีก หรือไม่ก็จะเข้าหาแบบขาด ๆ คือเด็กจะเดินผ่านแม่ไป หรือว่ามักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ต้องเกลี้ยกล่อมมาก... ถ้าอุ้ม เด็กจะไม่แสดงพฤติกรรมที่รักษาการอยู่ด้วยกัน คือ มักจะไม่กอด หรืออาจจะมองไปทางอื่นและดิ้นที่จะลง"

บันทึกเรื่องของ ดร. เอนสเวอร์ธแสดงว่า ทารกจะหลีกเลี่ยงคนดูแลในเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกที่ก่อความเครียด เมื่อมีประวัติประสบกับการถูกปฏิเสธเมื่อแสดงพฤติกรรมผูกพัน คือ เด็กบ่อยครั้งไม่ได้ตามความต้องการและได้กลายไปเชื่อว่า การสื่อความต้องการทางจิตใจจะไม่มีผลต่อคนดูแล

นักศึกษาของ ดร. เอนสเวอร์ธ คือ ศ. ดร. แมรี่ เมน ให้สมมติฐานว่า พฤติกรรมหลีกเลี่ยงในเกณฑ์วิธีควรพิจารณาว่าเป็น "กลยุทธ์ที่มีเงื่อนไข ซึ่งให้ผลขัดแย้งเป็นการได้ความใกล้ชิดมากที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่ถูกแม่ปฏิเสธ" โดยไม่แสดงความต้องการความผูกพัน ดร. เมนเสนอว่า การหลีกเลี่ยงทำหน้าที่สองอย่างสำหรับทารกที่คนดูแลไม่ตอบสนองต่อความต้องการอย่างสม่ำเสมอ อย่างแรกคือ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงทำให้ทารกสามารถรักษาความใกล้ชิดอย่างมีเงื่อนไขกับคนดูแล คือ ใกล้พอที่จะได้รับการป้องกัน แต่ไกลพอที่จะหลีกเลี่ยงถูกปฏิเสธ อย่างที่สองคือ กระบวนการรู้คิดที่วางแผนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงอาจจะเปลี่ยนความใส่ใจไปจากความต้องการจะอยู่ใกล้คนดูแลที่ไม่ได้ตามต้องการ ดังนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เด็กจะรู้สึกทุกข์อย่างควบคุมไม่ได้ (disorganised distress) ที่ไม่สามารถแม้แต่ควบคุมตนเองได้ และที่ไม่ได้แม้แต่อยู่ใกล้ ๆ แม้จะมีเงื่อนไข

ความผูกพันแบบไม่มีระเบียบ/ไม่มีทิศทาง

ดร. เอนสเวอร์ธเป็นนักวิจัยคนแรกเองที่มีปัญหาจัดพฤติกรรมทารกเข้าในหมวดหมู่ 3 อย่างแรกที่เธอเสนอ คือ ดร. เอนสเวอร์ธและคณะบางครั้งสังเกตเห็น "การเคลื่อนไหวแบบเครียดเช่นเกร็ง/ยกไหล่ เอามือไปไว้ที่ท้ายทอย และทำคอแข็งเป็นต้น เป็นความรู้สึกที่ชัดเจนของเราว่าอาการเช่นนี้หมายถึงความเครียด เพราะมักจะเกิดขึ้นโดยมากในระยะถูกพราก และมักจะเกิดก่อนการร้องไห้ จริง ๆ แล้ว สมมติฐานของเราก็คือว่ามันเกิดขึ้นเมื่อเด็กพยายามจะควบคุมการร้องไห้ เพราะอาการมักจะหายไปถ้าเกิดร้องไห้" ข้อสังเกตเหล่านี้ก็ปรากฏในปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาของ ดร. เอนสเวอร์ธด้วย

ยกตัวอย่างเช่น วิทยานิพนธ์ของ ดร. แพทริเซีย คริตเท็นเด็น ให้ข้อสังเกตว่า ในตัวอย่างที่ใช้ในวิทยานิพนธ์ของเธอ นักศึกษาปริญญาตรีได้ลงรหัสทารกคนหนึ่งที่ถูกทารุณกรรมโดยจัดว่าอยู่ในกลุ่มมั่นใจ (B) เพราะทารกมีพฤติกรรมที่ "ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงหรือการคละ เธอได้แสดงอาการคอแข็งที่แสดงอาการเครียดตลอดสถานการณ์แปลก แต่ว่าพฤติกรรมที่มีอยู่ทั่วไปนี่แหละ เป็นตัวช่วยอย่างเดียวที่บอกถึงความเครียดของเธอ" เริ่มต้นในปี 2526 ดร. คริตเท็นเด็นได้เสนอหมวดหมู่ย่อยของ A, C, และอื่น ๆ ดังที่จะกล่าวต่อไป ส่วน ดร. เมนได้เพิ่มหมวดหมู่ที่ 4 คือ หมวด D โดยอาศัยพฤติกรรมที่ไม่เข้ากับหมวด A, B และ C

ในสถานการณ์แปลก คาดว่าระบบความผูกพันจะทำงานเหตุการจากไปและกลับมาของผู้ดูแล ถ้าพฤติกรรมของทารกไม่ปรากฏว่าประสานอย่างคล้องจองกันผ่านระยะต่าง ๆ เพื่อให้ได้ความใกล้ชิดหรือความใกล้ชิดโดยเปรียบเทียบกับผู้ดูแล ก็จะพิจารณาว่าอยู่ในหมวด "ไม่มีระเบียบ" ซึ่งบ่งถึงการขัดขวางหรือการท่วมท้นของระบบผูกพัน (เช่นโดยความกลัว) พฤติกรรมทารกในเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกที่ลงรหัสเป็น ไม่มีระเบียบ/ไม่มีจุดหมาย รวมทั้งการแสดงความกลัวอย่างโต้ง ๆ การแสดงพฤติกรรมหรืออารมณ์ต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกัน โดยแสดงออกพร้อม ๆ กัน หรือตามลำดับกัน การเคลื่อนไหวอย่างเป็นแบบอย่าง (stereotypic) อย่างอสมมาตร (asymmetric) อย่างมีจุดหมายผิดพลาด (misdirected) หรือกระตุก ๆ หรือตัวแข็งและแยกตัวจากสถานการณ์ (dissociation) แต่ก็มีนักวิชาการที่เตือนว่า "ควรเข้าใจว่า 52% ของทารกในกลุ่มไม่มีระเบียบก็ยังเข้าหาผู้ดูแล หาการปลอบโยน และจะหยุดเป็นทุกข์โดยไม่มีพฤติกรรมแบบคละหรือหลีกเลี่ยงอย่างชัดเจน"

มีความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเรื่องความผูกพันแบบไม่มีระเบียบทั้งจากผู้รักษาพยาบาล ผู้กำหนดนโยบาย และนักวิจัย แต่ว่า หมวดไม่มีระเบียบ/ไม่มีจุดหมาย (D) ถูกวิจารณ์ว่ากว้างเกินไป รวมทั้งโดย ดร. เอนสเวอร์ธเอง คือในปี 2533 ดร. เอนสเวอร์ธเขียนให้การรับรองหมวดหมู่ D แม้ว่าเธอจะเน้นว่า การเพิ่มควรพิจารณาว่า "ยังเป็นประเด็นไม่ยุติ เพราะอาจจะเพิ่มหมวดย่อยต่าง ๆ" คือเธอกังวลว่า รูปแบบพฤติกรรมหลายอย่างมากเกินไปจะปฏิบัติเหมือนกับเป็นอย่างเดียวกัน และจริง ๆ แล้ว หมวด D รวมเอาทารกที่ใช้กลยุทธ์แบบมั่นใจ (B) แบบขาด ๆ กับทารกที่ดูจะสิ้นหวังและแสดงพฤติกรรมผูกพันที่น้อยมาก มันยังรวมเด็กทารกที่วิ่งไปซ่อนเมื่อเห็นคนดูแลในหมวดเดียวกันกับทารกที่แสดงพฤติกรรมแบบหลีกเลี่ยง (A) ในการกลับมาเจอกันครั้งแรก และแบบคละ-ขัดขืน (C) ในการกลับมาเจอกันครั้งที่สอง โดยอาจเป็นการตอบสนองต่อประเด็นเช่นนี้ จึงมีผู้เขียนที่แบ่งรหัสกลุ่ม D โดยปฏิบัติต่อพฤติกรรมบางอย่างว่าเป็น "กลยุทธ์แบบสิ้นหวัง" (strategy of desperation) และแบบอื่นว่าระบบความผูกพันถูกท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก เช่นความกลัวความโกรธเป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผู้ที่อ้างว่า พฤติกรรมบางอย่างที่จัดหมวดว่าไม่มีระเบียบ/ไม่มีจุดหมาย สามารถมองว่าเป็นรูปแบบฉุกเฉินของกลยุทธ์หลีกเลี่ยงหรือคละ-ขัดขืน และทำหน้าที่เพื่อรักษาการป้องกันจากคนดูแลโดยระดับหนึ่ง และก็มีผู้ที่เห็นด้วยว่า "แม้แต่พฤติกรรมผูกพันแบบไม่มีระเบียบ (การเข้าหาและหลีกเลี่ยงพร้อม ๆ กัน ตัวแข็ง เป็นต้น) ก็ยังสามารถให้อยู่ใกล้ ๆ ในระดับหนึ่งเมื่อเผชิญกับพ่อแม่ที่น่ากลัวหรือเข้าใจยาก" แต่ว่า "การสมมุติว่า แบบย่อยของแบบไม่มีระเบียบหลายอย่างเป็นด้านต่าง ๆ ของรูปแบบที่มีระเบียบไม่ได้ห้ามการยอมรับแนวคิดเกี่ยวกับความไม่มีระเบียบ โดยเฉพาะในกรณีที่ความซับซ้อนและความเป็นอันตรายของภัยเกินสมรรถภาพของเด็กที่จะตอบสนอง" ยกตัวอย่างเช่น "เด็กที่ยกให้คนอื่นเลี้ยง โดยเฉพาะเมื่อทำมากกว่าครั้งเดียว บ่อยครั้งมีความคิด/ความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน ที่พบในวิดีโอของเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก ความคิด/ความรู้สึกมักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กที่ถูกปฏิเสธ/ถูกละทิ้งจะเข้าหาคนแปลกหน้าเพราะต้องการให้ปลอบ ควบคุมตัวไม่ได้แล้วล้มลงที่พื้น เพราะรับความกลัวต่อคนที่ไม่รู้จัก อาจเป็นอันตราย และแปลกหน้าไม่ได้"

ดร. เมนและเพื่อนร่วมงาน พบว่า มารดาของเด็กเหล่านี้โดยมากเกิดความสูญเสียหรือการบาดเจ็บทางกายใจก่อนหรือหลังทันทีที่คลอดทารก และได้มีปฏิกิริยาโดยมีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง และจริง ๆ แล้ว แม่ 56% ที่พ่อแม่คนใดคนหนึ่งเสียชีวิตก่อนจบโรงเรียนมัธยมปลาย ต่อมาจะมีลูกที่มีความผูกพันแบบไม่มีระเบียบ แต่งานศึกษาต่อ ๆ มา แม้ว่าจะเน้นความสำคัญที่เป็นไปได้ของการสูญเสียที่รู้สึกอย่างไม่จบ ก็ได้ให้ข้อแม้ต่อการค้นพบเยี่ยงนี้ ยกตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาคู่หนึ่งพบว่า การสูญเสียของแม่อย่างรู้สึกไม่จบสิ้นมักจะสัมพันธ์กับความผูกพันแบบไม่มีระเบียบในทารก ก็ต่อเมื่อถ้าแม่ประสบกับความบาดเจ็บทางกายใจอื่นที่ยังไม่จบก่อนการสูญเสียนั้น

รูปแบบภายหลังและอื่น ๆ

มีการพัฒนาเทคนิคที่ช่วยให้สามารถตัดสินภาวะทางใจของเด็กเกี่ยวกับความผูกพันได้ ยกตัวอย่างเช่น การให้เติมเรื่อง ที่เล่านิทานในเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาความผูกพันแล้วให้เด็กเล่าต่อให้จบ สำหรับเด็กที่โตกว่า วัยรุ่น และผู้ใหญ่ อาจใช้การสัมภาษณ์กึ่งมีโครงที่วิธีการสื่ออาจจะสำคัญเท่ากับสิ่งที่สื่อเอง แต่ว่า ก็ยังไม่มีการวัดความผูกพันในวัยเด็กช่วงกลางหรือวัยรุ่นช่วงต้น (อายุประมาณ 7-13 ปี) ที่ตรวจสอบความสมเหตุสมผลแล้ว

งานศึกษาในเด็กโตกว่าบางงานได้กำหนดหมวดความผูกพันอื่น ๆ ดร. เมนและเพื่อนร่วมงานให้ข้อสังเกตว่า พฤติกรรมแบบไม่มีระเบียบในวัยทารก อาจพัฒนาเป็นพฤติกรรมแบบควบคุมหรือแบบลงโทษเพื่อบริหารผู้ดูแลที่ช่วยอะไรไม่ได้หรือเอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างเป็นอันตราย ในกรณีเช่นนี้ พฤติกรรมของเด็กมีระเบียบ แต่นักวิจัยปฏิบัติต่อมันเหมือนกับไม่มี (กลุ่ม D) เพราะว่า ลำดับในครอบครัวไม่ได้จัดตามอำนาจของพ่อแม่อีกต่อไป

ดร. แพทริเซีย คริตเท็นเด็น ได้ขยายหมวดหมู่เพื่อรวมรูปแบบพฤติกรรมผูกพันแบบหลีกเลี่ยงและคละแบบอื่น ๆ รวมทั้งพฤติกรรมควบคุมและลงโทษตามที่ ดร. เมนได้พบ (กลุ่ม A3 และ C3 ตามลำดับ) แต่ก็รวมรูปแบบอื่น ๆ เช่น การถูกบังคับให้ทำตามโดยพ่อหรือแม่ที่น่ากลัว (A4)

แนวคิดของ ดร. คริตเท็นเด็นมาจากคำเสนอของโบลบี้ว่า "ในสถานการณ์ทุกข์ยากบางอย่างในวัยเด็ก การเลือกเว้นข้อมูลบางอย่างอาจเป็นการปรับตัวที่ดี แต่ว่า เมื่อถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนไป และการเว้นข้อมูลประเภทเดียวกันอย่างคงยืนอาจจะเป็นการปรับตัวผิด"

ดร. คริตเท็นเด็นเสนอว่า องค์ประกอบพื้นฐานของความรู้สึกมีภัยในมนุษย์เป็นข้อมูลสองชนิด

  1. ข้อมูลทางอารมณ์ (Affective information) เป็นอารมณ์ที่ก่อขึ้นโดยสิ่งที่อาจเป็นอันตราย อารมณ์เช่นความโกรธหรือความกลัว ในวัยเด็กนี่อาจรวมอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการไม่อยู่ของผู้ที่ผูกพันโดยไม่มีคำอธิบาย เมื่อทารกต้องเผชิญการดูแลของพ่อแม่แบบไม่ไวต่อความต้องการหรือแบบปฏิเสธ กลยุทธ์อย่างหนึ่งเพื่อรักษาการอยู่ใกล้ ๆ คนที่ผูกพันก็คือพยายามกำจัดจากจิตใจหรือจากพฤติกรรมที่แสดงออก ซึ่งการแสดงอารมณ์ที่อาจมีผลให้ถูกปฏิเสธ
  2. ความรู้เรื่องเหตุหรือเหตุการณ์ที่เป็นไปตามลำดับอื่น ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยและอันตรายที่อาจเป็นไปได้ ในวัยเด็ก นี่อาจจะรวมความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่บ่งว่า ผู้ที่ติดพันเข้าหาได้เพื่อความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าความรู้เรื่องพฤติกรรมแสดงว่า การอยู่เป็นเสาหลักของผู้ที่ผูกพันอาจจะไม่คงยืน ทารกก็จะพยายามรักษาความสนใจของผู้ดูแลไว้โดยเกาะติดหรือโดยพฤติกรรมก้าวร้าว หรือสลับพฤติกรรมทั้งสองอย่างนั้น

พฤติกรรมที่ว่าอาจเพิ่มการเข้าหาคนที่ผูกพันได้ ผู้ที่ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะตอบสนองอย่างไม่สม่ำเสมอหรืออย่างชวนให้เข้าใจผิดต่อพฤติกรรมผูกพันของทารก ซึ่งแสดงความเชื่อถือไม่ได้ของการป้องกันและความปลอดภัย ดร. คริตเท็นเด็นเสนอว่า ข้อมูลทั้งสองชนิดสามารถระงับไม่ใส่ใจหรือไม่แสดงออกทางพฤติกรรม โดยเป็นกลยุทธ์เพื่อรักษาความเข้าหาผู้ที่ผูกพันไว้ได้ คือ "กลยุทธ์แบบ A (แบบหลีกเลี่ยง) สันนิษฐานว่า อาศัยการลดความรู้สึกว่ามีภัย เพื่อลดความต้องการจะตอบสนอง (แบบผูกพัน) ส่วนแบบ C (แบบวิตกกังวล-คละ) สันนิษฐานว่า อาศัยการเพิ่มความรู้สึกว่ามีภัย เพื่อเพิ่มความต้องการที่จะตอบสนอง" คือ กลยุทธ์แบบ A เอาความรู้สึกว่ามีภัยออกจากใจ และแบบ C ไม่สนใจความรู้เกี่ยวกับว่าผู้ที่ผูกพันสามารถเข้าถึงได้แค่ไหนและทำไม โดยเปรียบเทียบกัน กลยุทธ์แบบ B (แบบมั่นใจ) ใช้ข้อมูลทั้งสองแบบโดยไม่บิดเบือนข้อมูล

ยกตัวอย่างเช่น เด็กรุ่นหัดเดินคนหนึ่งอาจกลายมาอาศัยกลยุทธ์แบบ C คือมีอารมณ์เกรี้ยวกราดเพื่อรักษาคนที่ผูกพันไว้ใกล้ ๆ ผู้ที่ความเข้าถึงได้อย่างไม่แน่นอนทำให้เด็กไม่เชื่อหรือบิดเบือนเหตุผลทางพฤติกรรมของผู้ดูแลที่เห็นได้ ซึ่งอาจทำให้คนดูแลเข้าใจความต้องการดีขึ้นและให้การตอบสนองที่สมควรต่อพฤติกรรมผูกพัน และเมื่อประสบกับข้อมูลที่เชื่อถือได้พยากรณ์ได้เกี่ยวกับการเข้าถึงได้ของผู้ดูแล เด็กก็จะไม่ต้องใช้พฤติกรรมแบบบังคับเพื่อรักษาความเข้าถึงได้ของผู้ดูแลอีกต่อไป แล้วจึงสามารถพัฒนาความผูกพันแบบมั่นใจเพราะเชื่อว่าความต้องการและการสื่อสารของตนจะได้การตอบสนอง

ความสำคัญของรูปแบบ

งานวิจัยที่ใช้ข้อมูลจากงานศึกษาตามยาว เช่น National Institute of Child Health and Human Development Study of Early Child Care และ Minnesota Study of Risk and Adaption from Birth to Adulthood และข้อมูลจากงานศึกษาตามขวางแสดงอย่างคล้องจองกันถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบความผูกพันในเบื้องต้นของชีวิต กับความสัมพันธ์กับเพื่อนต่อ ๆ มาทั้งโดยปริมาณและโดยคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น นักจิตวิทยาผู้หนึ่งพบว่า "สำหรับพฤติกรรมถอยห่าง (withdrawing behavior) ที่แม่แสดงเพิ่มขึ้นแต่ละอย่างตอบสนองต่อพฤติกรรมผูกพันของทารกในระหว่างเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก โอกาสที่แพทย์จะส่งต่อเพื่อการรักษาเพิ่มขึ้น โดย 50%"

มีงานวิจัยมากมายที่แสดงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างรูปแบบความผูกพันกับการใช้ชีวิตของเด็กในหลาย ๆ ด้าน ความผูกพันแบบไม่มั่นใจในชีวิตเบื้องต้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีปัญหา แต่มันเป็นโอกาสเสี่ยงต่อเด็ก โดยเฉพาะถ้าพฤติกรรมของพ่อแม่เป็นอย่างเดียวกันตลอดวัยเด็ก เทียบกับเด็กที่ผูกพันอย่างมั่นใจ การปรับตัวของเด็กที่ไม่มั่นใจในหลาย ๆ ด้านของชีวิตอาจจะไม่มั่นคง ทำให้ความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ ของเด็กในอนาคตอาจเป็นอันตราย แม้ว่าความสัมพันธ์ที่ว่ายังไม่สามารถสรุปได้โดยงานวิจัย และก็ยังมีปัจจัยที่มีอิทธิพลอื่น ๆ นอกจากความผูกพัน แต่เด็กที่ผูกพันอย่างมั่นใจมีโอกาสสูงกว่าที่จะมีสมรรถภาพทางสังคมที่ดีกว่าเพื่อนที่ไม่มั่นใจ และความสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อนมีอิทธิพลต่อการได้ทักษะทางสังคม พัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา และการสร้างเอกลักษณ์ทางสังคม

การจัดหมวดเด็กโดยสถานะทางสังคม (เพื่อนนิยม เพื่อนไม่สนใจ เพื่อนไม่ยอมรับ) พบว่าสามารถพยากรณ์การปรับตัวในด้านต่าง ๆ ได้ เด็กที่ไม่มั่นใจโดยเฉพาะแบบหลีกเลี่ยง เสี่ยงต่อเหตุที่เกิดในครอบครัวสูง พฤติกรรมทางสังคมและทางพฤติกรรมของเด็กอาจจะดีขึ้นหรือแย่ลงตามทักษะการเลี้ยงเด็กของพ่อแม่ แต่ว่า ความผูกพันแบบมั่นใจตั้งแต่ต้น ๆ ดูเหมือนจะมีผลป้องกันโดยระยะยาว และเหมือนกับความผูกพันกับพ่อแม่ ประสบการณ์ต่อ ๆ มาก็อาจจะเปลี่ยนวิถีพัฒนาการของเด็กได้ด้วย

งานศึกษาต่าง ๆ แสดงว่า ทารกที่มีโอกาสเสี่ยงโรคออทิซึม (Autism Spectrum Disorders) สูง อาจแสดงความผูกพันต่างจากทารกที่มีโอกาสเสี่ยงน้อย

มีนักวิชาการที่ตั้งข้อสงสัยกับไอเดียว่า การพัฒนาอนุกรมวิธานของหมวดหมู่ที่สะท้อนความแตกต่างกันของความผูกพันสามารถเป็นไปได้จริง ๆ เพราะว่า งานที่ตรวจสอบข้อมูลจากเด็กอายุ 15 เดือน 1,139 คนแสดงว่า การแปรผันของรูปแบบความผูกพันเป็นแบบกระจายไปทั่วแทนที่จะเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งตั้งคำถามสำคัญในเรื่องหมวดหมู่ของความผูกพันและกลไกทางกายภาพที่เป็นมูลฐานของพฤติกรรม แต่ว่า นี่ไม่เป็นปัญหาต่อทฤษฎีโดยตรง เพราะว่าทฤษฎี "ไม่ได้บังคับให้มีหรือพยากรณ์รูปแบบความผูกพันที่รวมเป็นกลุ่ม ๆ"

มีหลักฐานบ้างว่าความแตกต่างระหว่างเพศเกี่ยวกับรูปแบบความผูกพัน จะเริ่มเกิดขึ้นในวัยเด็กตอนกลาง ความผูกพันแบบไม่มั่นใจและความเครียดทางจิตสังคมในระยะต้น ๆ เป็นตัวชี้ว่า เด็กมีความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม (เช่น ความยากจน ความผิดปกติทางจิต ชีวิตไม่มีเสถียรภาพ ความเป็นชนกลุ่มน้อย ปัญหาความรุนแรง) ความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นเหตุความผูกพันแบบไม่มั่นใจ และยังกดดันให้มีเพศสัมพันธ์เร็วอีกด้วย โดยกลยุทธ์การสืบพันธุ์ที่ต่างกันระหว่างหญิงชาย จะทำให้ปรับตัวต่างกัน ชายที่ไม่มั่นใจมักจะใช้กลยุทธ์แบบหลีกเลี่ยง เทียบกับหญิงที่ไม่มั่นใจที่มักใช้กลยุทธ์แบบวิตกกังวล-คละนอกจากจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ความเสี่ยงสูงมาก มีการเสนอว่าพัฒนาการทางเพศช่วง Adrenarche เป็นกลไกทางต่อมไร้ท่อที่เปลี่ยนรูปแบบความผูกพันในวัยเด็กตอนกลาง รวมทั้งความผูกพันแบบไม่มั่นใจด้วย

ความเปลี่ยนแปลงในระหว่างวัยเด็กและวัยรุ่น

แบบจำลองใช้งานภายในที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความผูกพัน จะพัฒนาขึ้นในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น โดยจะสัมพันธ์กับภาวะจิตใจที่พัฒนาขึ้นตามความผูกพันโดยทั่วไป และแสดงว่าความผูกพันจะทำงานเช่นไรภายในปฏิสัมพันธ์ของความสัมพันธ์โดยอาศัยประสบการณ์ในวัยเด็กและวัยรุ่น การสร้างแบบจำลองภายในพิจารณาว่า นำไปสู่ความผูกพันที่เสถียรกว่าในบุคคลที่ได้พัฒนาแบบจำลองเช่นนี้ เทียบกับบุคคลที่อาศัยความรู้สึกในใจเพียงอย่างเดียวเมื่อสร้างความผูกพันใหม่ ๆ อายุ พัฒนาการทางการรู้คิด และประสบการณ์ทางสังคมจะเพิ่มการพัฒนาและความซับซ้อนของแบบจำลองภายใน โดยพฤติกรรมความผูกพันจะลดลักษณะบางอย่างที่ปรากฏในวัยทารก-เด็ก แล้วเพิ่มลักษณะอื่น ๆ ตามอายุ เช่น วัยก่อนอนุบาลจะมีการเจรจาและต่อรอง ยกตัวอย่างเช่น เด็ก 4 ขวบจะไม่ทุกข์เพราะความพรากถ้าเด็กและคนดูแลได้เจรจาแผนร่วมกันในการจากกันแล้วมาพบกันอีก

 
เพื่อนกลายเป็นเรื่องสำคัญในช่วงวัยเด็กตอนกลางและมีอิทธิพลที่ไม่เหมือนกับของพ่อแม่

โดยอุดมคติแล้ว ทักษะทางสังคมเหล่านี้จะรวมเข้ากับแบบจำลองภายใน แล้วสามารถใช้กับเด็กอื่น ๆ และต่อไปกับเพื่อนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ โดยมากจะเริ่มมีความสัมพันธ์แบบเป็นหุ้นส่วนที่ปรับเป้าหมายได้กับพ่อแม่ ซึ่งหุ้นส่วนแต่ละคนจะยอมประนีประนอมเปลี่ยนเป้าหมายเพื่อรักษาความพอใจของทั้งสองฝ่าย และโดยวัยเด็กช่วงกลาง จุดหมายของระบบพฤติกรรมผูกพัน จะเปลี่ยนจากการต้องอยู่ใกล้ ๆ ไปเป็นการเข้าถึงคนที่ผูกพันได้ โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะพอใจกับการจากกันที่นานกว่า ถ้าสามารถติดต่อกันได้ แม้กระทั่งมาเจอกันอีกถ้าจำเป็น พฤติกรรมผูกพันแบบเกาะติดและตามจะลดลงและจะพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยวัยเด็กช่วงกลาง (อายุ 7-11 ขวบ) อาจจะเปลี่ยนเป็นการควบคุมเสาหลักร่วมกัน ที่คนดูแลและเด็กต่อรองวิธีการคุยกันและการควบคุมดูแล เมื่อเด็กพัฒนามีอิสระมากขึ้น

ในผู้ใหญ่

ทฤษฎีความผูกพันได้ขยายไปใช้กับความสัมพันธ์แบบโรแมนติกของผู้ใหญ่ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยมีการจำแนกหมวดหมู่ 4 อย่าง คือ มั่นใจ (secure) วิตกกังวล-มัววุ่นวาย (anxious-preoccupied) ไม่สนใจ-หลีกเลี่ยง (dismissive-avoidant) และกลัว-หลีกเลี่ยง (fearful-avoidant) ซึ่งโดยรวม ๆ คล้อยตามหมวดเหล่านี้ของทารก คือ มั่นใจ (secure) ไม่มั่นใจ-คละ (insecure-ambivalent) ไม่มั่นใจ-หลีกเลี่ยง (insecure-avoidant) และไม่มีระเบียบ/ไม่มีจุดหมาย ผู้ใหญ่ที่ผูกพันอย่างมั่นใจมองตัวเอง คู่ขา และความสัมพันธ์ร่วมกันในเชิงบวก โดยรู้สึกสบาย ๆ ทั้งกับความใกล้ชิดและความเป็นอิสระโดยสมดุลกัน

ส่วนผู้ใหญ่ที่วิตกกังวล-มัววุ่นวายต้องการความใกล้ชิด การยอมรับ และการตอบสนองจากคู่สูง กลายเป็นคนที่ต้องพึ่งอาศัยมากเกินไป มักจะเชื่อใจน้อยกว่า มีมุมมองที่ดีน้อยกว่าเกี่ยวกับตนและคู่ และอาจแสดงอารมณ์ ความกังวล และความหุนหันพลันแล่นมากในความสัมพันธ์

ส่วนแบบไม่สนใจ-หลีกเลี่ยงต้องการความเป็นอิสระสูง บ่อยครั้งดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงความผูกพันทั้งหมด คือมองว่าช่วยตัวเองได้ ไม่อ่อนไหวต่อความผูกพันและไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด มักจะระงับความรู้สึกของตน รับมือกับการถูกปฏิเสธโดยทำตัวเองให้ห่างเหินจากคู่ความสัมพันธ์ที่บ่อยครั้งตนมีความเห็นไม่ดี

ส่วนแบบกลัว-หลีกเลี่ยงมักจะรู้สึกครึ่ง ๆ กลาง ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ทั้งอยากจะได้ทั้งไม่รู้สึกสบายกับความใกล้ชิด มักจะไม่เชื่อใจคู่สัมพันธ์และมักมองตัวเองว่าไม่คุ้มค่า โดยเหมือนกับแบบไม่สนใจ-หลีกเลี่ยง ผู้ใหญ่ประเภทนี้ต้องการความใกล้ชิดที่น้อยกว่า และจะยับยั้งความรู้สึกของตน

 
รูปแบบความผูกพันในระหว่างคู่รักจากมุมมองกว้าง ๆ เป็นไปตามรูปแบบความผูกพันในทารก แต่ว่า ผู้ใหญ่สามารถมีแบบจำลองใช้งานภายในหลายอย่างสำหรับความสัมพันธ์ต่าง ๆ

มีการศึกษาความผูกพันในผู้ใหญ่หลัก ๆ สองด้าน คือ (1) ทั้งการจัดระเบียบและเสถียรภาพของแบบจำลองใช้งานในใจที่เป็นมูลฐานของสไตล์การผูกพัน ได้รับความสนใจจากนักจิตวิทยาสังคมที่สนใจความผูกพันแบบคู่รัก (2) ส่วนนักจิตวิทยาพัฒนาการผู้สนใจสภาพจิตใจของบุคคลในเรื่องความผูกพัน จะตรวจสอบว่าความผูกพันทำงานในปฏิสัมพันธ์ของความสัมพันธ์อย่างไร และมีผลเช่นไรต่อความสัมพันธ์ แบบจำลองใช้งานในใจจะเสถียรกว่าเมื่อเทียบกับสภาพจิตใจเกี่ยวกับความผูกพันที่เปลี่ยนไปมาบ่อยกว่า

แต่มีนักวิชาการที่เสนอว่า ผู้ใหญ่ไม่ได้มีแบบจำลองใช้งานเพียงแค่ชุดเดียว ในระดับหนึ่ง จะมีกฎและข้อสมมุติชุดหนึ่งเกี่ยวกับความผูกพันโดยทั่วไป ในอีกระดับหนึ่ง ก็ยังมีข้อมูลโดยเฉพาะ ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์และเหตุการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์หนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ ข้อมูลในระดับต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเข้ากัน ดังนั้น บุคคลจึงสามารถมีแบบจำลองใช้งานภายในต่าง ๆ สำหรับความสัมพันธ์ต่าง ๆ

มีแบบวัดความผูกพันสำหรับผู้ใหญ่หลายอย่าง แบบที่สามัญที่สุดเป็นคำถามที่ตอบเอง และการสัมภาษณ์ที่เข้ารหัส แบบต่าง ๆ พัฒนาเพื่อใช้เป็นเครื่องมืองานวิจัย โดยมีเป้าหมายต่าง ๆ ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เพื่อความสัมพันธ์แบบคู่รัก ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และความสัมพันธ์กับเพื่อน มีบางอย่างที่จัดหมวดสภาพใจของผู้ใหญ่เกี่ยวกับความผูกพันและรูปแบบความผูกพันโดยอ้างประสบการณ์ในวัยเด็ก ในขณะที่อย่างอื่นประเมินพฤติกรรมความผูกพันและความมั่นใจเกี่ยวกับพ่อแม่และเพื่อน

ประวัติ

การขาดแม่

ความคิดในเบื้องต้นของทฤษฎี Object relations theory ของสาขาจิตวิเคราะห์ มีอิทธิพลต่อจอห์น โบลบี้มาก แต่ว่า เขาก็ยังไม่เห็นด้วยกับความเชื่อทางจิตวิเคราะห์ว่า การตอบสนองของทารกเป็นเรื่องชีวิตจินตนิมิตในภายในแทนที่จะเป็นเหตุการณ์จริง ๆ ในชีวิต เมื่อโบลบี้กำลังสร้างไอเดียของเขา เขาได้อิทธิพลจากงานศึกษาเค้สของเด็กที่มีปัญหาหรือทำผิดกฎหมาย ดังงานที่พิมพ์ในปี 2486 และ 2488

 
เด็กสวดมนต์ที่สถานเลี้ยงเด็ก Five Points House of Industry residential nursery ปี 2431 ทฤษฎีขาดแม่ที่โบลบี้พิมพ์ในปี 2494 ได้ปฏิวัติการใช้สถานที่เลี้ยงเด็กต่อมา

นักวิชาการร่วมสมัยคนหนึ่งของโบลบี้ได้สังเกตเห็นความเศร้าโศกของเด็กที่พรากจากพ่อแม่ แล้วเสนอว่ามีผลเป็นพิษทางจิต (psychotoxic) จากประสบการณ์เลี้ยงเด็กที่ไม่เหมาะสม และนักจิตวิเคราะห์เพื่อนร่วมงานของโบลบี้คนหนึ่งได้ถ่ายภาพยนตร์ผลของการพรากจากพ่อแม่ของเด็กในโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาทำงานร่วมกันในปี 2495 เพื่อสร้างภาพยนตร์สารคดี เด็กสองขวบไปโรงพยาบาล (A Two-Year Old Goes to the Hospital) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อรณรงค์ให้เปลี่ยนข้อจำกัดการเยี่ยมเด็กในโรงพยาบาลของพ่อแม่

ในเอกสารที่เขาเขียนเพื่อองค์การอนามัยโลกในปี 2494 การดูแลของแม่และสุขภาพจิต (Maternal Care and Mental Health) โบลบี้ได้เสนอสมมติฐานว่า "ทารกและเด็กเล็ก ๆ ควรจะประสบกับความสัมพันธ์ที่อบอุ่น ใกล้ชิด และต่อเนื่องกับแม่ ที่ทั้งสองจะพบความพอใจและความสุข" ซึ่งถ้าขาดแล้วอาจมีผลทางสุขภาพจิตที่สำคัญและแก้ไม่ได้ ซึ่งต่อมาพิมพ์เป็นเอกสารสาธารณชนชื่อว่า การดูแลเด็กและการเพิ่มพูนความรัก (Child Care and the Growth of Love) สมมติฐานหลักของเอกสารเป็นเรื่องทรงอิทธิพลแต่ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งมาก เพราะว่า ในช่วงนั้น มีหลักฐานทางประสบการณ์ที่น้อยมากและไม่มีทฤษฎีที่ครอบคลุมที่สามารถอธิบายข้อสรุปเช่นนี้ได้

อย่างไรก็ดี ทฤษฎีของโบลบี้ได้สร้างความสนใจอย่างพอสมควรในเรื่องธรรมชาติของความสัมพันธ์ในต้นชีวิต เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยอย่างมากมายในประเด็นที่ยากและซับซ้อน งานของโบลบี้ (และหนังของเพื่อร่วมงาน) เป็นเหตุการปฏิวัติการเยี่ยมเด็กที่โรงพยาบาลของพ่อแม่ การจัดเตรียมให้เด็กเล่นในโรงพยาบาล การใช้สถานเลี้ยงเด็กเพื่อความจำเป็นทางการศึกษาและทางสังคม ต่อมา ในประเทศพัฒนาโดยมาก สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าจึงเลิกใช้เปลี่ยนเป็นการให้เลี้ยงเด็กในบ้านแทน

ต่อจากการพิมพ์บทความเหล่านั้น โบลบี้ได้สืบหาความเข้าใจใหม่ ๆ จากสาขาชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ พฤติกรรมวิทยา จิตวิทยาพัฒนาการ ประชานศาสตร์ และทฤษฎีระบบควบคุม แล้วเสนออย่างสร้างสรรค์ว่า กลไกที่เป็นเหตุความผูกพันของทารกต่อผู้ดูแลเกิดจากความกดดันทางวิวัฒนาการ เขาจึงได้เริ่มสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการควบคุมแรงจูงใจและพฤติกรรมทางวิทยาศาสตร์แทนที่จะต่อเติมแบบจำลองทางจิตของซิกมุนด์ ฟรอยด์ โบลบี้ได้อ้างว่า ทฤษฎีความผูกพันเป็นตัวแก้ "ความขาดข้อมูลและขาดทฤษฎี ที่สัมพันธ์กับเหตุและผลที่อ้าง" ในเอกสาร การดูแลของแม่และสุขภาพจิต

พฤติกรรมวิทยา

 
การสำรวจของทารกจะมากว่าเมื่อผู้ดูแลอยู่ใกล้ ๆ เพราะระบบความผูกพันไม่ต้องทำงาน เด็กจึงเป็นอิสระเพื่อจะสำรวจ

โบลบี้เริ่มสนใจในเรื่องพฤติกรรมวิทยาจากอิทธิพลของนักวิชาการ 3 ท่าน (รวมทั้งคอนแรด ลอเร็นซ์, Nikolaas Tinbergen และ Robert Hinde) โดยปี 2496 โบลบี้ได้กล่าวว่า "ถึงเวลาอันควรแล้วเพื่อรวมแนวคิดทางจิตวิเคราะห์กับแนวคิดทางพฤติกรรมวิทยา..."

คอนแรด ลอเรนซ์ได้ตรวจสอบปรากฏการณ์การฝังใจ (imprinting) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เฉพาะกับสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด เป็นการเรียนรู้โดยการรู้จำอย่างรวดเร็วของสัตว์เล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นกับสัตว์ชนิดเดียวกันหรือกับวัตถุที่เทียบกันได้อื่น ๆ ซึ่งเมื่อจำได้แล้ว สัตว์มักโน้มเอียงที่จะติดตาม

การเรียนรู้บางอย่างเป็นไปได้ แล้วแต่ละอย่าง ภายในช่วงระยะอายุจำกัดที่เรียกว่า critical period แนวคิดของโบลบี้รวมไอเดียว่า ความผูกพันเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ในช่วงอายุที่จำกัด โดยมีอิทธิพลจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่ แม้เขาจะไม่ได้ใช้ไอเดียเกี่ยวกับ imprinting โดยตรงกับมนุษย์ แต่เขาก็พิจารณาว่าพฤติกรรมผูกพันอธิบายได้ดีที่สุดว่าเป็นสัญชาติญาณ ร่วมกับผลทางประสบการณ์ โดยเน้นความพร้อมเปลี่ยนที่เด็กมีเพื่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เมื่อต่อมาชัดเจนว่า ทฤษฎี impriting แตกต่างมากกว่าคล้ายคลึงกันกับทฤษฎีความผูกพัน จึงเลิกใช้การศึกษาแบบเปรียบเทียบกัน

นักพฤติกรรมวิทยาได้ตั้งประเด็นว่า งานวิจัยที่เป็นมูลฐานของทฤษฎีมีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะการนำนัยจากพฤติกรรมสัตว์มาขยายใช้ในมนุษย์ ยังมีนักพฤติกรรมวิทยาที่วิจารณ์การใช้หลักพฤติกรรมวิทยาในทฤษฎีความผูกพันว่า ไม่ติดตามความก้าวหน้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในศาสตร์ นอกจากนั้น รูปแบบพฤติกรรมที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ความผูกพันก็ขยายเพิ่มขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 ซึ่งนักพฤติกรรมวิทยาก็ได้ตั้งความสงสัย

 
กวางมูสที่เลี้ยงด้วยนมขวดนี้ได้เกิดความผูกพันกับคนดูแล

งานศึกษาในเด็กเล็ก ๆ ในสถานที่ทำเหมือนสถานจริงได้แสดงพฤติกรรมอย่างอื่นที่อาจเป็นตัวบ่งชี้ความผูกพัน ยกตัวอย่างเช่น อยู่ใกล้ ๆ แม่โดยแม่ไม่ต้องพยายามทำอะไร เก็บของเล็ก ๆ แล้วนำมาให้แม่แต่ไม่ให้คนอื่น แม้ว่านักพฤติกรรมวิทยามักจะเห็นด้วยกับโบลบี้ แต่ก็ยืนยันให้หาข้อมูลเพิ่ม โดยค้านการเขียนของนักจิตวิทยาว่าเหมือนกันมี "อะไรบางอย่างที่เป็น 'ความผูกพัน' นอกเหนือไปจากสิ่งที่วัดและเห็นได้" แต่ว่า ก็มีนักพฤติกรรมวิทยา (Robert Hinde) ที่พิจารณาคำว่า "ระบบพฤติกรรมผูกพัน (attachment behaviour system)" ว่าเป็นคำที่เหมาะสมโดยไม่มีปัญหาอย่างเดียวกัน "เพราะว่ามันหมายถึงระบบควมคุมสมมุติที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมต่าง ๆ กัน"

 
การอพยพหลบภัยของเด็กนักเรียนญี่ปุ่นที่ยิ้ม ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจากหนังสือ ถนนสู่หายนะ (Road to Catastrophe)

จิตวิเคราะห์

แนวคิดทางจิตวิเคราะห์มีอิทธิพลต่อมุมมองเรื่องความผูกพันของโบลบี้ โดยเฉพาะสังเกตการณ์ในเด็กเล็ก ๆ ที่ถูกพรากจากคนดูแลที่คุ้นเคยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ว่า โบลบี้ปฏิเสธคำอธิบายทางจิตวิเคราะห์เกี่ยวกับความผูกพันของเด็กทารกรวมทั้ง drive theory ซึ่งแสดงว่าแรงจูงใจในการผูกพันมาจากการสนองความหิวและสัญชาตญาณทางเพศ ในแนวคิดของเขา แนวคิดจิตวิเคราะห์นี้ล้มเหลวเพราะไม่เห็นความผูกพันว่า เป็นปรากฏการณ์ทางจิตอีกอย่างที่นอกเหนือไปจากสัญชาตญาณการกินและเรื่องเพศ โดยอาศัยแนวคิดจากทฤษฎีวิวัฒนาการ โบลบี้ได้ระบุสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความผิดพลาดขั้นพื้นฐานของจิตวิเคราะห์ ซึ่งก็คือ การเน้นว่าเป็นภัยภายในไม่ใช่เป็นภัยภายนอกมากเกินไป และมุมมองว่าบุคลิกภาพพัฒนาเป็นระยะ ๆ เป็นแนวเส้นตรง โดยอาจย้อนกลับ (regression) ไปยังจุดใดจุดหนึ่งเมื่อเกิดความทุกข์

โบลบี้เสนอว่า พัฒนาการที่แยกเป็นหลายเส้นเป็นไปได้ และผลที่ได้จะขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ในทฤษฎีความผูกพัน นี่หมายความว่าแม้ว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดความผูกพัน แต่ธรรมชาติของความผูกพันขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เด็กได้ เริ่มตั้งแต่ระยะต้นของการพัฒนาทฤษฎี มีข้อวิจารณ์ว่าทฤษฎีไม่เข้ากับสาขาต่าง ๆ ของจิตวิเคราะห์ แนวคิดของโบลบี้ทำให้เขาถูกวิจารณ์โดยคนที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ที่กำลังทำงานในเรื่องเดียวกัน

แบบจำลองใช้งานภายใน

นักปรัชญาคนหนึ่ง (Kenneth Craik) ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสามารถของความคิดที่จะพยากรณ์เหตุการณ์ ซึ่งเขาเน้นว่ามีคุณค่าทางการอยู่รอดและจะมีการคัดเลือกโดยธรรมชาติสำหรับความสามารถนี้ แบบจำลองใช้งานภายใน (internal working model) ช่วยให้บุคคลลองตามทางเลือกในใจ โดยใช้ความรู้ในอดีตเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคต โบลบี้ได้ใช้แนวคิดนี้กับความผูกพัน เมื่อนักจิตวิทยาพวกอื่นกำลังใช้แนวคิดนี้กับการรับรู้และการรู้คิดของผู้ใหญ่

แบบจำลองใช้งานภายในของทารกจะพัฒนาขึ้นตามประสบการณ์ของผลที่ได้รับเมื่อพยายามเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ถ้าผู้ดูแลยอมรับพฤติกรรมเช่นนี้แล้วให้โอกาส ทารกก็จะพัฒนาความผูกพันแบบมั่นใจ ถ้าคนดูแลไม่ให้โอกาสอย่างคงที่คงวา รูปแบบหลีกเลี่ยงก็จะเกิดขึ้น และถ้าผู้ดูแลให้โอกาสแต่ไม่สม่ำเสมอ แบบคละก็จะเกิดขึ้น

ส่วนในมารดา แบบจำลองใช้งานภายในที่อำนวยให้เกิดความสัมพันธ์แบบผูกพันกับทารกของเธอ จะสามารถเข้าถึงได้โดยตรวจเครื่องหมายทางจิตที่เป็นตัวแทนสิ่งภายนอก (mental representation) งานวิจัยที่ตีพิมพ์ปี 2558 แสดงว่า การอธิบายเหตุในเหตุการณ์ของแม่ (attribution) ที่ใช้บ่งชี้เครื่องหมายทางจิตที่เป็นตัวแทนสิ่งภายนอก (mental representation) สามารถสัมพันธ์กับโรคจิตของแม่บางอย่าง ซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ภายในระยะค่อนข้างสั้นโดยใช้การแทรกแซงทางจิตบำบัด

 
กราฟแสดงการกระจายตัวของรูปแบบความผูกพันในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่น

การพัฒนา

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ปัญหาในการมองความผูกพันว่าเป็นลักษณะนิสัย (trait) คือลักษณะที่ค่อนข้างเสถียรในบุคคล แทนที่จะเป็นรูปแบบพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ที่มีหน้าที่และผลที่ให้ถึงเป้าหมาย ทำให้นักวิชาการบางท่านสรุปว่า พฤติกรรมความผูกพันควรจะเข้าใจโดยหน้าที่ของมันต่อชีวิตของเด็ก แนวคิดนี้เห็นความเป็นเสาหลักของผู้ดูแลว่าเป็นเรื่องสำคัญทางตรรกะ ต่อความคล้องจองกัน และต่อสถานะของทฤษฎีความผูกพัน ในฐานะเป็นบทสร้าง (construct) ที่ช่วยจัดระเบียบ ดังนั้น จึงมีการตรวจสอบว่า ความผูกพันจะเหมือนกันในมนุษย์วัฒนธรรมต่าง ๆ หรือไม่ งานวิจัยพบว่า แม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมบ้าง แต่รูปแบบพื้นฐาน 3 อย่าง คือ มั่นใจ (secure) หลีกเลี่ยง (avoidant) และคละ (ambivalent) สามารถพบได้ในทุกวัฒนธรรมที่ศึกษา แม้กระทั่งในวัฒนธรรมที่การนอนอยู่รวมกันจะเป็นเรื่องปกติ

 
งานวิจัยแสดงวา รูปแบบความผูกพันเหมือนกันในวัฒนธรรมต่าง ๆ แม้ว่าการแสดงความผูกพันอาจจะต่างกันบ้าง

เด็กในวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ศึกษามักมีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นใจ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เพราะทฤษฎีความผูกพันกำหนดว่า ทารกจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยเลือกกลยุทธ์พฤติกรรมที่ดีที่สุด แต่การแสดงความผูกพันจะต่างกันในวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องต้องกำหนดก่อนจะทำงานวิจัยในด้านอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น คน Gusii ทักทารกด้วยการจับมือแทนที่จะกอด ดังนั้น ทารกที่ผูกพันแบบมั่นใจจะหวังและสืบหาพฤติกรรมเช่นนี้ และวัฒนธรรมต่าง ๆ มีอัตราการกระจายของรูปแบบที่ไม่มั่นใจต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับวิธีเลี้ยงเด็ก

ในปี 2517 นักจิตวิทยาคนหนึ่ง (Michael Rutter) ศึกษาความสำคัญในการแยกแยะระหว่างผลของการขาดความผูกพันต่อพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญา กับผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ในเด็ก เขาได้สรุปว่า ลักษณะของแม่ต้องมีการระบุและแยกแยะก่อนที่จะมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้

ปัญหาใหญ่ที่สุดต่อแนวคิดว่าทฤษฎีนี้ทั่วไปในมนุษย์ทั้งหมดมาจากงานศึกษาที่ทำในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอ้างว่าแนวคิดเรื่อง amae มีบทบาทสำคัญเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว คือ amae เป็นพฤติกรรมที่บุคคลแสดงเมื่อเรียกร้องให้บุคคลที่มีอำนาจกว่า เช่น พ่อแม่ คู่ครอง ครู หรือเจ้านายให้ช่วยดูแลตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นการขอหรือแม้แต่ทำงอนโดยรู้ว่าพฤติกรรมจะมีผลตามที่ต้องการ ดังนั้น จึงมีข้อขัดแย้งว่า เกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลกใช้ได้หรือไม่ในที่ที่ amae เป็นพฤติกรรมปกติ

ถึงเช่นนั้น งานวิจัยโดยมากมักจะยืนยันความทั่วไปของทฤษฎีนี้ในวัฒนธรรมต่าง ๆ งานวิจัยล่าสุดปี 2550 ที่ทำในนครซัปโปะโระพบว่า การกระจายตัวของพฤติกรรมความผูกพันที่ศึกษาเข้ากับเกณฑ์ปกติทั่วโลก (โดยใช้แบบวัด six-year Main and Cassidy scoring system)

นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยในคริสต์ทศวรรษ 1990 (เช่น ดร. จูดิธ แฮร์ริส, ศ. ดร. สตีเฟน พิงเกอร์ และ ศ. ดร. เจโรม เคแกน) โดยทั่วไปตั้งความสงสัยในเรื่องทารกนิยัตินิยม (infant determinism) ที่ถกประเด็นว่าเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์หรือการเลี้ยงดู คือสงสัยการเน้นผลของประสบการณ์ที่ได้ภายหลังต่อบุคลิกภาพของเด็ก โดยเป็นการเสริมงานเรื่องพื้นอารมณ์แต่กำเนิด (temperament) ดร. เคแกนไม่เห็นด้วยกับข้อสมมุติทางพฤติกรรมวิทยาเกือบทุกอย่างที่ทฤษฎีความผูกพันมีมูลฐาน คือ ดร. เคแกนอ้างว่า กรรมพันธุ์สำคัญต่อพัฒนาการมากกว่าผลแบบชั่วคราวจากสิ่งแวดล้อมที่มีในเบื้องต้นชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีพื้นอารมณ์แต่กำเนิดไม่ดี จะไม่ชวนให้ผู้ดูแลตอบสนองแบบไวความรู้สึก

แต่ความขัดแย้งนี้ได้ทำให้เกิดงานวิจัยและการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานศึกษาตามยาวที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นต่อ ๆ มา และงานก็ไม่ได้พบหลักฐานยืนยันข้ออ้างของ ดร. เคแกน ซึ่งอาจจะหมายความว่า มันขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ดูแลที่จะสร้างสไตล์ความผูกพันในเด็ก แต่ว่าการแสดงออกอาจจะต่าง ๆ กันไปเนื่องจากพื้นอารมณ์แต่กำเนิดของเด็ก ส่วน ดร. แฮร์ริสและ ดร. พิงเกอร์ ได้เสนอแนวคิดว่า อิทธิพลของพ่อแม่ต่อเด็กกล่าวกันเกินจริง โดยอ้างว่า กระบวนการเข้าสังคมของเด็กเกิดขึ้นโดยหลักในกลุ่มเพื่อน ๆ มีจนถึงนักวิชาการที่ได้สรุปว่า พ่อแม่และเพื่อนมีหน้าที่ต่างกัน และมีบทบาทที่ต่างกันในพัฒนาการของเด็ก

นักจิตวิทยา/จิตวิเคราะห์คู่หนึ่ง (Peter Fonagy และ Mary Target) ได้พยายามเชื่อมทฤษฎีความผูกพันและจิตวิเคราะห์ให้ใกล้กันยิ่งขึ้นผ่านแนวคิดทางประสาทวิทยา คือ ทฤษฎีจิต (theory of mind, mentalization) ซึ่งเป็นสมรรถภาพของมนุษย์ที่จะคาดเดาความคิด ความรู้สึก และความตั้งใจที่เป็นเหตุของพฤติกรรมแม้ที่ละเอียดอ่อนเช่น สีหน้า ของคนอื่น โดยสามารถเดาอย่างแม่นยำจนถึงระดับหนึ่ง มีการเก็งว่าความเชื่อมต่อระหว่างทฤษฎีจิตและแบบจำลองใช้งานภายในอาจทำให้เกิดการศึกษาในเรื่องใหม่ ๆ ซึ่งในที่สุดจะเป็นตัวเปลี่ยนทฤษฎีความผูกพัน

เริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ทฤษฎีความผูกพันและจิตวิเคราะห์ก็ได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดยเหตุความคิดที่มีร่วมกันกับนักทฤษฎีและนักวิจัยเรื่องความผูกพัน และความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดในจิตวิเคราะห์ คือ แบบจำลองทางจิตวิเคราะห์คือ Object relations ซึ่งเน้นความสำคัญของความสัมพันธ์กับคนอื่นโดยเฉพาะ ได้กลายเป็นทฤษฎีหลัก ซึ่งเชื่อมกับความเข้าใจที่กำลังเพิ่มขึ้นในวงจิตวิเคราะห์ ถึงความสำคัญของพัฒนาการของทารกโดยความสัมพันธ์และโดยเครื่องหมายภายในที่เป็นตัวแทนสิ่งภายนอก คือ วงการจิตวิเคราะห์ได้ยอมรับสภาพแวดล้อมในชีวิตเบื้องต้นว่าเป็นตัวการในพัฒนาการของเด็ก รวมถึงปัญหาการบอบช้ำทางจิตใจในวัยเด็กด้วย ดังนั้น จึงเกิดคำอธิบายทางจิตวิเคราะห์ในเรื่องระบบความผูกพันและวิธีการรักษา โดยเกิดขึ้นพร้อมกับความเข้าใจว่าจำเป็นต้องมีการวัดผลของการรักษา

 
นักวิชาการที่ได้ตรวจสอบความผูกพันในวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของคนตะวันตก ได้สังเกตเห็นความเกี่ยวข้องกันระหว่างทฤษฎีความผูกพันกับครอบครัวชาวตะวันตก และกับรูปแบบการเลี้ยงลูกที่ทั่วไปในสมัยของจอห์น โบลบี้

ประเด็นหนึ่งที่งานวิจัยเพ่งก็คือปัญหาของเด็กที่มีประวัติความผูกพันที่ไม่ดี รวมทั้งเด็กที่ดูแลโดยคนอื่นไม่ใช่พ่อแม่ ความกังวลเรื่องให้คนอื่นดูแลเด็กค่อนข้างรุนแรงในประเทศตะวันตกช่วงปลายคริสต์ศศวรรษที่ 20 ซึ่งมีนักวิชาการบางท่านที่เน้นผลอันตรายของสถานที่เลี้ยงเด็ก โดยเป็นผลจากความขัดแย้งเช่นนี้ การฝึกคนดูแลเด็กจึงได้เริ่มเน้นประเด็นความผูกพัน รวมทั้งความจำเป็นที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเด็กโดยให้มีคนดูแลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แม้ว่า น่าจะมีเพียงสถานเลี้ยงเด็กคุณภาพสูงเท่านั้นที่สามารถทำอย่างนี้ได้ แต่ทารกก็ได้รับการดูแลอย่างผูกพันดีขึ้นในสถานที่เลี้ยงเด็กเทียบกับในอดีต

การทดลองที่เป็นเองตามธรรมชาติทำให้สามารถทำการศึกษาอย่างกว้างขวางในประเด็นความผูกพัน เมื่อนักวิจัยติดตามเด็กกำพร้าชาวโรมาเนียเป็นพัน ๆ ที่ได้รับเลี้ยงเป็นลูกในครอบครัวชาวตะวันตกหลังยุติการปกครองของประเทศโดยนายนิโคไล เชาเชสกู กลุ่มนักวิจัยติดตามเด็กบางคนจนถึงช่วงวัยรุ่น เพื่อพยายามไขผลของความผูกพันที่ไม่ดี การรับเลี้ยงเป็นบุตร ความสัมพันธ์ใหม่ ปัญหาทางกายและทางการแพทย์ที่สัมพันธ์กับชีวิตในเบื้องต้น งานศึกษาเด็กที่ได้รับเลี้ยงเหล่านี้ ที่มีสภาพเบื้องต้นที่น่าตกใจ มีผลที่ให้ความหวัง คือ เด็กจำนวนมากพัฒนาขึ้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งนักวิจัยให้ข้อสังเกตว่า การพรากจากคนที่คุ้นเคยเป็นเพียงแค่ปัจจัยเดียวในปัจจัยหลายอย่างที่กำหนดคุณภาพทางพัฒนาการของเด็ก แม้ว่าจะพบรูปแบบความผูกพันแบบ่ไม่มั่นใจที่ไม่ทั่วไป (atypical insecure attachment) ในอัตราที่สูงกว่าเด็กที่เกิดในประเทศหรือที่รับเลี้ยงเมื่อเด็กกว่า เด็กที่รับมาเลี้ยงเมื่อโตกว่าประมาณ 70% ไม่แสดงพฤติกรรมที่แสดงความผูกพันผิดปกติที่รุนแรงหรือชัดเจน

นักวิชาการที่ได้ตรวจสอบความผูกพันในวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ของคนตะวันตกสังเกตเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างทฤษฎีความผูกพันกับครอบครัวชาวตะวันตก และกับรูปแบบการเลี้ยงลูกชาวตะวันตกที่ทั่วไปในสมัยของจอห์น โบลบี้

เมื่อการดูแลเด็กเปลี่ยนไป ประสบการณ์ทางความผูกพันของเด็กก็อาจเปลี่ยนไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนทัศนคติทางสังคมเรื่องทางเพศของหญิง ได้เพิ่มเด็กเป็นจำนวนมาก ผู้อยู่กับแม่ที่ยังไม่เคยแต่งงานหรือผู้ได้รับการดูแลนอกบ้านเมื่อแม่ไปทำงาน ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ไม่มีลูก ลำบากในการรับทารกมาเลี้ยงในประเทศของตนมากขึ้น ได้มีการรับเด็กที่โตกว่ามาเลี้ยงเพิ่มขึ้น และได้เด็กมาจากประเทศที่กำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และการรับเด็กมาเลี้ยงและการให้กำเนิดเด็กในคู่ชีวิตเพศเดียวกันก็ได้เพิ่มขึ้นและได้รับการรับรองป้องกันทางกฎหมาย เทียบกับสถานะที่ต่างกันในช่วงสมัยของโบลบี้

มีผู้ที่ยกปัญหาว่า ลักษณะความผูกพันที่แบ่งเป็นสอง (dyadic model) ของทฤษฎีไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของประสบการณ์ทางสังคมในชีวิตจริง ๆ ได้ เพราะว่าทารกบ่อยครั้งมีความสัมพันธ์กับคนหลายคนในครอบครัวและในสถานที่เลี้ยงเด็ก และความสัมพันธ์กับคนต่าง ๆ จะมีอิทธิพลต่อกันและกัน อย่างน้อยก็ภายในครอบครัว

หลักทฤษฎีความผูกพันได้ใช้อธิบายพฤติกรรมทางสังคมของผู้ใหญ่ รวมทั้งการจับคู่ ภาวะความเป็นเด่นในสังคม (social dominance) โครงสร้างอำนาจที่แบ่งเป็นชั้น ๆ การระบุคนพวกเดียวกัน การร่วมมือในกลุ่ม การต่อรองเพื่อการแลกเปลี่ยน/การพึ่งพาอาศัยกัน และความยุติธรรม เป็นคำอธิบายที่ใช้ออกแบบการฝึกอบรมพ่อแม่ในการดูแลลูก และประสบความสำเร็จเป็นพิเศษในการออกแบบโปรแกรมป้องกันทารุณกรรมต่อเด็ก

แม้ว่าจะมีงานมากมายหลายประเภทที่สนับสนุนหลักพื้นฐานของทฤษฎีความผูกพัน แต่งานวิจัยก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ความผูกพันในชีวิตเบื้องต้นที่รายงานเอง สัมพันธ์กับความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นภายหลังหรือไม่

ชีววิทยาของความผูกพัน

นอกจากจะมีงานศึกษาตามยาวต่าง ๆ แล้ว ยังมีงานวิจัยทางจิตสรีรวิทยาเกี่ยวกับชีววิทยาของความผูกพันด้วย รวมทั้งด้านการเติบโตทางสมอง (neural development) พันธุศาสตร์ทางพฤติกรรม และแนวคิดพื้นอารมณ์แต่กำเนิด (temperament)

โดยทั่วไปแล้วพื้นอารมณ์แต่กำเนิดและความผูกพันเป็นคนละเรื่องกัน แต่ว่าด้านต่าง ๆ ของแนวคิดทั้งสองมีผลต่อพัฒนาการระหว่างบุคคลและภายในบุคคล พื้นอารมณ์แต่กำเนิดบางอย่างอาจทำให้บุคคลเสี่ยงต่อความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่เชื่อใจไม่ได้หรือเป็นปฏิปักษ์กับคนดูแลในชีวิตต้น ๆ เมื่อไม่มีผู้ดูแลที่เข้าถึงได้หรือไวความรู้สึก เด็กบางคนปรากฏว่าเสี่ยงต่อความผิดปกติทางความผูกพัน (attachment disorder)

ในการวิจัยทางจิตสรีรวิทยา ประเด็นศึกษาหลักก็คือ การตอบสนองโดยอัตโนวัติ เช่น การเต้นหัวใจหรือการหายใจ และการทำงานของสมองเขตแกนไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-อะดรีนัล มีการวัดการตอบสนองทางสรีรภาพของทารกเมื่อกำลังทำเกณฑ์วิธีสถานการณ์แปลก เพื่อตรวจสอบความแตกต่างระหว่างบุคคลในพื้นอารมณ์แต่กำเนิดของทารก และขอบเขตที่ความผูกพันอาจเป็นตัวช่วยบรรเทา มีหลักฐานว่า การดูแลที่ดีมีผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทที่ควบคุมความเครียด

อีกประเด็นหนึ่งก็คือบทบาทของปัจจัยทางกรรมพันธุ์ต่อรูปแบบของความผูกพัน ยกตัวอย่างเช่น ภาวะพหุสัณฐานของการเข้ารหัสของยีนตัวรับโดปามีน D2 สัมพันธ์กับความผูกพันแบบวิตกกังวล และของยีนตัวรับเซโทนิน 5-HT2A สัมพันธ์กับความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ซึ่งแสดงว่า อิทธิพลของการดูแลของแม่ต่อความผูกพันแบบมั่นใจ/ไม่มั่นใจของเด็กไม่ใช่เหมือนกันทุกคน มีนักวิชาการที่เสนอว่า มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลทางชีวภาพที่เด็กจะได้รับอิทธิพลจากการดูแลในระดับต่าง ๆ กัน เพราะความต่าง ๆ กันเหล่านี้สามารถมองได้ว่าเป็นการปรับตัวที่ให้ผลบวกทางสังคมและทางกายภาพโดยขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่ต่าง ๆ กัน

การประยุกต์ใช้

โดยเป็นทฤษฎีพัฒนาการทางสังคม-อารมณ์อย่างหนึ่ง ทฤษฎีความผูกพันแสดงนัยที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ในนโยบายทางสังคมของรัฐ ในการตัดสินใจเรื่องการดูแล เรื่องสวัสดิภาพ และเรื่องสุขภาพจิตของเด็ก

นโยบายดูแลเด็ก

นโยบายทางสังคมเกี่ยวกับการดูแลเด็กเป็นแรงจูงใจหลักที่จอห์น โบลบี้พัฒนาทฤษฎีความผูกพันขึ้น ส่วนที่ยากก็คือการประยุกต์ใช้แนวคิดในนโยบายและการปฏิบัติจริง ในปี 2551 ศาตราจารย์จิตแพทย์เด็กชาวอเมริกัน (C.H. Zeanah) และเพื่อนร่วมงานกล่าวว่า "การสนับสนุนให้มีความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่-ลูกตั้งแต่ต้นชีวิตเริ่มกลายเป็นเป้าหมายเด่นของผู้ทำการทางสุขภาพจิต ผู้ให้ความดูแลในชุมชน และผู้ก่อตั้งนโยบาย... ทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับความผูกพันได้แสดงแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในระยะต้น ๆ และได้จุดชนวนให้สร้างโปรแกรมสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก-พ่อแม่ตั้งแต่ต้น ๆ"

โดยประวัติแล้ว ทฤษฎีความผูกพันมีผลสำคัญทางนโยบายสำหรับเด็กที่อยู่ในโรงพยาบาลหรืออยู่ในสถานสงเคราะห์ดูแล และสำหรับเด็กที่อยู่ในสถานที่เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพไม่ดี ส่วนประเด็นที่ยังไม่ยุติก็คือ การดูแลของคนที่ไม่ใช่แม่ โดยเฉพาะที่ทำเป็นกลุ่ม จะมีผลอันตรายต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็กหรือไม่ มันชัดเจนในงานวิจัยว่า การดูแลที่ไม่ดีก่อความเสี่ยง และผู้ที่ได้การดูแลดีก็ได้ผลดีแม้ว่ายากที่จะให้การดูแลที่ดีโดยทำเป็นรายบุคคล ในสถานที่ ๆ ทำเป็นกลุ่ม (เช่นในสถานที่เลี้ยงเด็กเป็นต้น)

ทฤษฎีความผูกพันมีผลต่อคดีพิพาทเรื่องการกำหนดที่อยู่ของเด็กและโอกาสการเยี่ยมลูกหลังพ่อแม่หย่ากัน และต่อพ่อแม่ที่รับเด็กอื่นมาเลี้ยง ในอดีต โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ ทฤษฎีที่ใช้เป็นโครงคือจิตวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีความผูกพันได้ทดแทนทฤษฎีจิตวิเคราะห์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงเปลี่ยนไปมุ่งที่คุณภาพและความสืบต่อของความสัมพันธ์กับผู้ดูแล แทนที่จะมุ่งความเป็นอยู่ทางฐานะหรือสิทธิที่ได้ก่อนของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น ของแม่ที่คลอดบุตร ในปี 2542 นักจิตวิทยาคนหนึ่ง (Michael Rutter) ให้ข้อสังเกตว่าในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2523 ศาลครอบครัวได้เปลี่ยนไปอย่างสำคัญเป็นการยอมรับความซับซ้อนทางความสัมพันธ์ที่มาจากความผูกพัน

เด็กมักจะผูกพันกับทั้งพ่อแม่และบ่อยครั้งกับปู่ย่าตายายและญาติอื่น ๆ เมื่อตัดสิน ศาลต้องพิจารณาเรื่องนี้รวมทั้งอิทธิพลจากครอบครัวใหม่ ทฤษฎีความผูกพันเป็นหลักสำคัญที่เน้นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบพลวัตแทนที่จะเป็นอะไรที่อยู่นิ่ง ๆ ทฤษฎียังสามารถช่วยตัดสินใจในงานสงเคราะห์สังคม โดยเฉพาะที่ช่วยบุคคลให้เข้าถึงศักยภาพของตนในชีวิต (humanistic social work) และกระบวนการทางกฎหมายที่ตัดสินให้เลี้ยงเด็กหรือส่งเด็กไปอยู่ในที่ต่าง ๆ เพราะว่าการพิจารณาความจำเป็นทางความผูกพันของเด็กสามารถช่วยกำหนดความเสี่ยงที่เกิดจากข้อตัดสิน

ในเรื่องรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม การเปลี่ยนการรับแบบปิด (ไม่บอกให้เด็กรู้ถึงญาติจริง ๆ) ไปเป็นแบบเปิด และการให้ความสำคัญในการสืบหาพ่อแม่จริง ๆ เป็นเรื่องที่คาดหวังได้โดยอาศัยทฤษฎี และก็มีนักวิจัยที่ทำงานในสาขาที่ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีอย่างสูง

 
เด็กมักจะผูกพันกับทั้งพ่อแม่และบ่อยครั้งกับปู่ย่าตายายและญาติอื่น ๆ

การรักษาเด็ก

แม้ว่าทฤษฎีความผูกพันจะได้กลายมาเป็นทฤษฎีสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องพัฒนาการทางสังคม-อารมณ์ โดยมีการวิจัยที่กว้างขวางที่สุดในสาขาจิตวิทยาแบบปัจจุบัน แต่ว่ามันก็ไม่ได้ใช้ในการรักษาเด็กจนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโบลบี้ไม่ได้สนใจเรื่องการรักษา และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากความหมายที่กว้างขวางของคำว่า attachment (ความผูกพัน) ในหมู่ผู้ทำการรักษา และอาจเป็นเพราะการสัมพันธ์ทฤษฎีกับวิธีการรักษาที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียมซึ่งเรียกอย่างให้เข้าใจผิดได้ง่ายว่า attachment therapy

การป้องกันและการรักษา

ในปี 2531 จอห์น โบลบี้ได้เผยแพร่เล็กเช่อร์ชุดหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับความผูกพันสามารถใช้เพื่อเข้าใจและบำบัด ทั้งเด็กและความผิดปกติในครอบครัวได้อย่างไร เขาพุ่งความสนใจไปที่การเปลี่ยนแบบจำลองใช้งานภายในของพ่อแม่ พฤติกรรมของพ่อแม่ และความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับผู้รักษา

งานวิจัยที่ยังเป็นไปอยู่ได้สร้างวิธีการรักษาแบบรายบุคคลและโปรแกรมการป้องกันและการแทรกแซง มีทั้งการรักษารายบุคคล โปแกรมสาธารณสุข และแม้แต่โปรแกรมการแทรกแซงออกแบบสำหรับพ่อแม่บุญธรรมที่รับเลี้ยงดูเด็ก สำหรับทารกและเด็กเล็ก ๆ ความสนใจอยู่ที่การเพิ่มการตอบสนองและความไวความรู้สึกของผู้ดูแล และถ้านั่นเป็นไปไม่ได้ ให้คนอื่นเลี้ยงเด็กแทน การประเมินสถานะความผูกพันหรือการดูแลตอบสนองมักจะรวมอยู่ด้วย เพราะว่า ความผูกพันเป็นกระบวนการแบบถนนสองทางซึ่งรวมพฤติกรรมผูกพันบวกกับการตอบสนองของผู้ดูแล มีโปรแกรมบางอย่างที่มุ่งพ่อแม่บุญธรรมที่รับเลี้ยงเด็ก เพราะว่าพฤติกรรมผูกพันของทารกและเด็กที่มีปัญหาเรื่องความผูกพัน บ่อยครั้งไม่น้อมผู้ดูแลให้ตอบสนองอย่างสมควร โดยโปรแกรมการป้องกันและการแทรกแซงมีผลสำเร็จโดยสมควร

ความผิดปกติทางความผูกพัน

รูปแบบความผูกพันที่ไม่ปกติอย่างหนึ่งพิจารณาว่าเป็นโรค โดยเรียกว่า reactive attachment disorder (ตัวย่อ RAD ความผิดปกติทางความผูกพันแบบปฏิกิริยา) ในเกณฑ์วินิจฉัยทางจิตเวช (ICD-10 F94.1/2 และ DSM-IV-TR 313.89) แต่นี่ไม่เหมือนกับความผูกพันแบบไม่มีระเบียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างสามัญ

ลักษณะหลักของโรคก็คือความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีปัญหาหรือไม่สมวัยในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เริ่มก่อนอายุ 5 ขวบเพราะเหตุการดูแลที่แย่ถึงทำให้เป็นโรค (gross pathological care) มีแบบย่อยสองอย่าง อย่างแรกเป็นรูปแบบความผูกพันแบบไม่ยับยั้ง และอีกรูปแบบหนึ่งเป็นแบบยับยั้ง แต่ RAD ไม่ใช่สไตล์ความผูกพันแบบไม่มั่นใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าสไตล์นั้นจะสร้างปัญหาแค่ไหน แต่ว่า เป็นตัวบ่งชี้พฤติกรรมความผูกพันที่ไม่สมวัย ที่อาจปรากฏเหมือนกับความผิดปกติอย่างอื่น ๆ

แม้ว่าอาจจะมีการใช้ชื่อโรคนี้ในปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ตรงเกณฑ์ของ DSM หรือ ICD โดยเฉพาะที่ปรากฏในเว็บไซต์และที่เกี่ยวโยงการรักษาแบบวิทยาศาสตร์เทียม คือ attachment therapy ความผิดปกตินี้เชื่อว่ามีน้อยมาก

ส่วนคำว่า "Attachment disorder" เป็นคำที่กำกวม ซึ่งอาจหมายถึง RAD หรือหมายถึงสไตล์ความผูกพันแบบไม่มั่นใจที่สร้างปัญหา (แม้ว่า สไตล์เหล่านั้นจะไม่จัดเป็นโรค) ใช้ใน attachment therapy โดยเป็นการวินิจฉัยที่ไม่มีการวัดความสมเหตุสมผลทางวิทยาศาสตร์ และยังอาจจะหมายถึงเกณฑ์วินิจฉัยใหม่ที่กำลังเสนอโดยนักทฤษฎีในสาขาอีกด้วย โดยเกณฑ์วินิจฉัยใหม่อย่างหนึ่งก็คือ secure base distortion (ความบิดเบือนของเสาหลัก) ที่พบว่าสัมพันธ์กับความบอบช้ำทางจิตใจของผู้ดูแล

การรักษาสำหรับผู้ใหญ่และครอบครัว

เนื่องจากทฤษฎีความผูกพันแสดงมุมมองที่กว้างขวางลึกซึ้งของชีวิตมนุษย์ มันสามารถช่วยให้ผู้รักษาเข้าใจคนไข้และความสัมพันธ์กับคนไข้ได้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดรูปแบบการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง การบำบัดโดยจิตวิเคราะห์บางอย่างสำหรับผู้ใหญ่ ก็ใช้ทฤษฎีความผูกพันด้วย

เชิงอรรถ

  1. mental representation (เครื่องหมายทางจิตที่เป็นตัวแทนสิ่งภายนอก) หรือ cognitive representation (การรู้คิดที่เป็นตัวแทนสิ่งภายนอก) ในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งจิตปรัชญา จิตวิทยาทางประชาน และประสาทวิทยาศาสตร์ สมมุติว่าหมายถึงเครื่องหมาย/สัญลักษณะ (symbol) ภายในใจที่ใช้เป็นตัวแทนสิ่ง/ความจริงภายนอก หรือเป็นกระบวนการทางจิต (mental process) ที่ใช้สัญลักษณ์/เครื่องหมายเช่นนั้น คือเป็น "ระบบโดยแบบแผนที่สร้างวัตถุหรือรูปแบบข้อมูลให้เป็นรูปธรรมพร้อมกับวิธีที่ระบบทำเช่นนี้"

อ้างอิง

  1. "Attachment", Lexitron พจนานุกรมไทย<=>อังกฤษ รุ่น 2.6, หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2546, ความผูกพันทางอารมณ์ Check date values in: |year= (help)
  2. Waters, E; Corcoran, D; Anafarta, M (2005). "Attachment, Other Relationships, and the Theory that All Good Things Go Together". Human Development. 48: 80–84.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  3. Landa, S; Duschinsky, R (2013), "Crittenden's dynamic-maturational model of attachment and adaptation", Review of General Psychology, 17 (3): 326–338, doi:10.1037/a0032102
  4. Holmes, J (1993). John Bowlby & Attachment Theory. Makers of modern psychotherapy. London: Routledge. p. 69. ISBN 041507729X.CS1 maint: ref=harv (link)
  5. Howe, D (2011). Attachment across the life course. London: Palgrave.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  6. Umemura, T; Jacobvitz, D; Messina, S; Hazan, N. "Do toddlers prefer the primary caregiver or the parent with whom they feel more secure?". Infant Behavior and Development. 36 (1): 102–114.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  7. Bretherton, I; Munholland, KA (1999). "Internal Working Models in Attachment Relationships: A Construct Revisited". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York: Guilford Press. pp. 89–114. ISBN 1-57230-087-6.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  8. Prior, V; Glaser, D (2006). Understanding Attachment and Attachment Disorders: Theory, Evidence and Practice. Child and Adolescent Mental Health, RCPRTU. London and Philadelphia: Jessica Kingsley Publishers. p. 17. ISBN 9781843102458.CS1 maint: ref=harv (link)
  9. Bowlby, J (1960). "'Separation Anxiety'". International Journal of Psychoanalysis. 41: 89–113.
  10. Prior & Glaser 2006, p. 15.
  11. Bowlby 1982, p. 304-05.
  12. Kobak, R; Madsen, S (2008). "Disruption in Attachment Bonds". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 23–47. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  13. Prior & Glaser 2006, p. 16.
  14. Prior & Glaser 2006, p. 17.
  15. Prior & Glaser 2006, p. 19.
  16. Karen, R (1998). Becoming Attached: First Relationships and How They Shape Our Capacity to Love. Oxford and New York: Oxford University Press. pp. 90–92. ISBN 0195115015.CS1 maint: ref=harv (link)
  17. Ainsworth, M (1967). Infancy in Uganda: Infant Care and the Growth of Love. Baltimore: Johns Hopkins University Press. ISBN 0-8018-0010-2.
  18. Karen 1998, p. 97.
  19. Prior & Glaser 2006, p. 19-20.
  20. Bowlby, J (1971) [1969], Attachment and Loss, Vol. 1. Attachment (Pelican ed.), London: Penguin Books, p. 300, ISBN 9780140212761CS1 maint: ref=harv (link)
  21. Bowlby 1982, p. 309.
  22. Rutter, Michael (1995). "Clinical Implications of Attachment Concepts: Retrospect and Prospect". Journal of Child Psychology & Psychiatry. 36 (4): 549–71. doi:10.1111/j.1469-7610.1995.tb02314.x. PMID 7650083.
  23. Main, M (1999). "Epilogue: Attachment Theory: Eighteen Points with Suggestions for Future Studies". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York: Guilford Press. pp. 845–87. ISBN 1-57230-087-6. although there is general agreement that an infant or adult will have only a few attachment figures at most, many attachment theorists and researchers believe that infants form 'attachment hierarchies' in which some figures are primary, others secondary, and so on. This position can be presented in a stronger form, in which a particular figure is believed continually to take top place ("monotropy")  ... questions surrounding monotropy and attachment hierarchies remain unsettledCS1 maint: uses editors parameter (link)
  24. Mercer, J (2006). Understanding Attachment: Parenting, child care, and emotional development. Westport, CT: Praeger Publishers. pp. 39–40. ISBN 0275982173. LCCN 2005019272. OCLC 61115448.CS1 maint: ref=harv (link)
  25. Mercer 2006, p. 39-40.
  26. Bowlby, J (1973). Separation: Anger and Anxiety. Attachment and loss. Vol. 2. London: Hogarth. ISBN 0-7126-6621-4.
  27. Bowlby 1971, p. 414-21.
  28. Bowlby 1971, p. 394-395.
  29. Ainsworth, MD (1969-12). "Object relations, dependency, and attachment: a theoretical review of the infant-mother relationship". Child Development. Blackwell Publishing. 40 (4): 969–1025. doi:10.2307/1127008. JSTOR 1127008. PMID 5360395. Check date values in: |date= (help)
  30. Ainsworth, MDS; Blehar, MC; Waters, E; Wall, S (1978). Patterns of attachment: A psychological study of the strange situation. Hillsdale, NJ: Earlbaum.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  31. Bell, S. (1970). "The development of the concept of the object as related to infant-mother attachment". Child Development. 41: 291–311. doi:10.2307/1127033.
  32. Crittenden, P. (1985). "Social networks, quality of parenting, and child development". Child Development. 56: 1299–1313. doi:10.1111/j.1467-8624.1985.tb00198.x.
  33. Radke-Yarrow, M.; Cummings, E.M.; Kuczynski, L.; Chapman, M. (1985). "Patterns of attachment in two and three year olds in normal families and families with parental depression". Child Development. 56 (4): 884–893. doi:10.2307/1130100. PMID 4042751.
  34. Main, M.; Cassidy, J. (1988). "Categories of response to reunion with the parent at age six: predictability from infant attachment classifications stable across a one-month period". Developmental Psychology. 24: 415–426. doi:10.1037/0012-1649.24.3.415.
  35. Crittenden, P.M. (1992). "Quality of attachment in the preschool years". Development and Psychopathology. 4: 209–241. doi:10.1017/s0954579400000110.
  36. Crittenden, P. M. (1992). "Quality of attachment in the preschool years". Development and Psychopathology. 4: 209–241. doi:10.1017/s0954579400000110.
  37. Shah, P. E.; Fonagy, P.; Strathearn, L. (2010). "Exploring the mechanism of intergenerational transmission of attachment: The plot thickens". Clinical Child Psychology & Psychiatry. 15: 329–346. doi:10.1177/1359104510365449.
  38. Snyder, R; Shapiro, S; Treleaven, D (2012). "Attachment Theory and Mindfulness". Journal Of Child & Family Studies. 21 (5): 709–717.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  39. Howe, D (2011). Attachment across the lifecourse. London. p. 13. The strength of a child's attachment behaviour in a given circumstance does not indicate the 'strength' of the attachment bond. Some insecure children will routinely display very pronounced attachment behaviours, while many secure children find that there is no great need to engage in either intense or frequent shows of attachment behaviour.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  40. Schacter, D.L. และคณะ (2009). Psychology (2nd ed.). New York: Worth Publishers. p. 441. Explicit use of et al. in: |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  41. Aronoff, J (2012). "Parental Nurturance in the Standard Cross-Cultural Sample: Theory, Coding, and Scores". Cross-Cultural Research. 46 (4): 315–347.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  42. Ainsworth, MD; Blehar, M; Waters, E; Wall, S (1978). Patterns of Attachment: A Psychological Study of the Strange Situation. Hillsdale NJ: Lawrence Erlbaum Associates. ISBN 0-89859-461-8.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  43. Solomon, J; George, C; De Jong, A (1995). "Children classified as controlling at age six: Evidence of disorganized representational strategies and aggression at home and at school". Development and Psychopathology. 7: 447.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  44. Crittenden, P (1999). Vondra, Joan I; Barnett, Douglas (บ.ก.). Danger and development: the organisation of self-protective strategies. Atypical Attachment in Infancy and Early Childhood Among Children at Developmental Risk. Oxford: Blackwell. pp. 145–171.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  45. McCarthy, Gerard; Taylor, Alan (1999). "Avoidant/ambivalent attachment style as a mediator between abusive childhood experiences and adult relationship difficulties". Journal of Child Psychology and Psychiatry. 40 (3). pp. 465–477. doi:10.1111/1469-7610.00463.
  46. Ainsworth, M. D.; Bell, S. M. (1970). "Attachment, exploration, and separation: Illustrated by the behavior of one-year-olds in a strange situation". Child Development. 41 (1): 49–67. doi:10.2307/1127388. PMID 5490680.
  47. Sroufe, A.; Waters, E. (1977). "Attachment as an Organizational Construct". Child Development. 48 (4): 1184–1199. doi:10.1111/j.1467-8624.1977.tb03922.x.
  48. Main, M (1979). "The "ultimate" causation of some infant attachment phenomena". Behavioral and Brain Sciences. 2 (4): 640–643. doi:10.1017/s0140525x00064992.
  49. Main, M (1977a). Webb, R (บ.ก.). Analysis of a peculiar form of reunion behaviour seen in some day-care children. Social Development in Childhood. Baltimore: Johns Hopkins. pp. 33–78.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  50. Ainsworth, M.D; Blehar, M; Waters, E; Wall, S (1978). Patterns of Attachment: A Psychological Study of the Strange Situation. Hillsdale, NJ: Lawrence Erlbaum. p. 282. tense movements such as hunching the shoulders, putting the hands behind the neck and tensely cocking the head, and so on. It was our clear impression that such tension movements signified stress, both because they tended to occur chiefly in the separation episodes and because they tended to be prodromal to crying. Indeed, our hypothesis is that they occur when a child is attempting to control crying, for they tend to vanish if and when crying breaks through.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  51. Crittenden, P.M. (1983) 'Mother and Infant Patterns of Attachment' Unpublished PhD Dissertation, University of Virginia, May 1983, p.73 "without either avoidance or ambivalence, she did show stress-related stereotypic headcocking throughout the strange situation. This pervasive behavior, however, was the only clue to the extent of her stress."
  52. Main, Mary; Solomon, Judith (1990). "Procedures for Identifying Infants as Disorganized/Disoriented during the Ainsworth Strange Situation". ใน Greenberg, Mark T.; Cicchetti, Dante; Cummings, E. Mark (บ.ก.). Attachment in the Preschool Years: Theory, Research, and Intervention. Chicago: University of Chicago Press. pp. 121–60. ISBN 978-0-226-30630-8.
  53. Lyons-Ruth, Karlen; Bureau, Jean-Francois; Easterbrooks, M Ann; Obsuth, Ingrid; Hennighausen, Kate; Vulliez-Coady, Lauriane (2013). "Parsing the construct of maternal insensitivity: distinct longitudinal pathways associated with early maternal withdrawal". Attachment & Human Development. 15 (5–6): 562–582.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  54. Kochanska, Grazyna; Kim, Sanghag (2013). "Early Attachment Organization With Both Parents and Future Behavior Problems: From Infancy to Middle Childhood". Child development. 84 (1): 283–296.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  55. Svanberg, PO. Barlow, J; Svanberg, PO (บ.ก.). Promoting a secure attachment through early assessment and interventions. Keeping the Baby in Mind. London: Routledge. pp. 100–114.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  56. Ainsworth, M (1990). Greenberg, MT; Ciccheti, D; Cummings, EM (บ.ก.). 'Epilogue' in Attachment in the Preschool Years. Chicago, IL: Chicago University Press. pp. 463–488.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  57. Solomon, J; George, C (1999a). Solomon, Judith; George, Carol (บ.ก.). The place of disorganisation in attachment theory. Attachment Disorganisation. NY: Guilford. p. 27.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  58. Sroufe, A; Egeland, B; Carlson, E; Collins, WA (2005). The Development of the person: the Minnesota study of risk and adaptation from birth to adulthood. NY: Guilford Press. p. 245.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  59. Crittenden, P (1999). Vondra, Joan I; Barnett, Douglas (บ.ก.). Danger and development: the organisation of self-protective strategies. Atypical Attachment in Infancy and Early Childhood Among Children at Developmental Risk. Oxford: Blackwell. pp. 159–160.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  60. Crittenden, P; Landini, A (2011). Assessing Adult Attachment: A Dynamic-Maturational Approach to Discourse Analysis. NY: W.W. Norton. p. 269.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  61. Main, Mary; Hesse, Erik (1993). "Parents' Unresolved Traumatic Experiences Are Related to Infant Disorganized Attachment Status: Is Frightened and/or Frightening Parental Behavior the Linking Mechanism?". ใน Greenberg, Mark T.; Cicchetti, Dante; Cummings, E. Mark (บ.ก.). Attachment in the Preschool Years: Theory, Research, and Intervention. Chicago: University of Chicago Press. pp. 161–84. ISBN 978-0-226-30630-8.
  62. Parkes, Colin Murray (2006). Love and Loss. Routledge, London and New York. p. 13. ISBN 0-415-39041-9.
  63. Madigan, Sheri และคณะ (2006). "Unresolved states of mind, anomalous parental behavior, and disorganized attachment: A review and meta-analysis of a transmission gap". Attachment & human development. 8 (2): 89–111. Explicit use of et al. in: |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  64. Solomon, J; George, C (2006). Mayseless, O (บ.ก.). Intergenerational transmission of dysregulated maternal caregiving: Mothers describe their upbringing and child rearing. Parenting representations: Theory, research, and clinical implications. Cambridge, UK: Cambridge University Press. pp. 265–295.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  65. Schaffer, R (2007). Introducing Child Psychology. Oxford: Blackwell. pp. 83–121. ISBN 0-631-21628-6.
  66. Boris, NW; Zeanah, CH (2005). Work Group on Quality Issues. "Practice parameter for the assessment and treatment of children and adolescents with reactive attachment disorder of infancy and early childhood" (PDF). J Am Acad Child Adolesc Psychiatry. 44 (11): 1206–19. doi:10.1097/01.chi.0000177056.41655.ce. PMID 16239871. สืบค้นเมื่อ 2009-09-13.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: others (link)
  67. Main, M; Cassidy, J (1988). "Categories of response to reunion with the parent at age 6". Developmental Psychology. 24 (3): 415–426.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  68. Crittenden, P.M. (2008). Raising Parents: Attachment, Parenting and Child Safety. London: Routledge.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  69. Bowlby, J (1980), Loss, London: Penguin, p. 45
  70. Strathearn, L.; Fonagy, P.; Amico, J.A.; Montague, P.R. (2009). "Adult attachment predicts mother's brain and peripheral oxytocin response to infant cues". Neuropsychopharmacology. 34 (13): 2655–2666. doi:10.1038/npp.2009.103. PMC 3041266. PMID 19710635.
  71. Crittenden, P.; Newman, L. (2010). "Comparing models of borderline personality disorder: Mothers' experience, self-protective strategies, and dispositional representations". Clinical Child Psychology and Psychiatry. 15 (3): 433-451 [435]. doi:10.1177/1359104510368209. PMID 20603429.
  72. Crittenden, P.M. (1992). "Children's strategies for coping with adverse home environments". Child Abuse & Neglect. 16 (3): 329–343. doi:10.1016/0145-2134(92)90043-q. PMID 1617468.
  73. Lyons-Ruth, Karlen; Jean-; Bureau, Francois; Easterbrooks, M. Ann; Obsuth, Ingrid; Hennighausen, Kate; Vulliez-Coady, Lauriane (2013). "Parsing the construct of maternal insensitivity: distinct longitudinal pathways associated with early maternal withdrawal". Attachment & Human Development. 15 (5–6): 562–582. doi:10.1080/14616734.2013.841051. PMC 3861901. PMID 24299135. for each additional withdrawing behavior displayed by mothers in relation to their infant's attachment cues in the Strange Situation Procedure, the likelihood of clinical referral by service providers was increased by 50%.
  74. Pearce, JW; Pezzot-Pearce, TD (2007). Psychotherapy of abused and neglected children (2nd ed.). New York and London: Guilford press. pp. 17–20. ISBN 978-1-59385-213-9.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  75. Karen 1998, p. 248-66.
  76. Berlin, LJ; Cassidy, J; Appleyard, K (2008). "The Influence of Early Attachments on Other Relationships". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 333–47. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  77. Haltigan, JD; Ekas NV; Seifer R; Messinger DS (2011-07). "Attachment security in infants at-risk for autism spectrum disorders". Attachment security in infants at-risk for autism spectrum disorders. 41 (7): 962–967. doi:10.1007/s10803-010-1107-7. PMID 20859669. สืบค้นเมื่อ 2011-12-01. Check date values in: |date= (help)
  78. Fraley, RC; Spieker, SJ (2003-05). "Are infant attachment patterns continuously or categorically distributed? A taxometric analysis of strange situation behavior". Developmental Psychology. 39 (3): 387–404. doi:10.1037/0012-1649.39.3.387. PMID 12760508. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  79. Waters, E; Beauchaine, TP (2003-05). "Are there really patterns of attachment? Comment on Fraley and Spieker (2003)". Developmental Psychology. 39 (3): 417–22, discussion 423-9. doi:10.1037/0012-1649.39.3.417. PMID 12760512. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  80. Del Giudice, M (2009). "Sex, attachment, and the development of reproductive strategies". Behavioral and Brain Sciences. 32 (1): 1–67. doi:10.1017/S0140525X09000016. PMID 19210806.
  81. Waters, E; Kondo-Ikemura, K; Posada, G; Richters, J (1991). Gunnar, M; Sroufe, T (บ.ก.). "Learning to love: Mechanisms and milestones". Minnesota Symposia on Child Psychology. Hillsdale, NJ: Erlbaum. 23 (Self-Processes and Development).CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  82. Marvin, RS; Britner, PA (2008). "Normative Development: The Ontogeny of Attachment". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 269–94. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  83. Hazan, C; Shaver, PR (1987-03). "Romantic love conceptualized as an attachment process". Journal of Personality and Social Psychology. 52 (3): 511–24. doi:10.1037/0022-3514.52.3.511. PMID 3572722. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  84. Hazan, C; Shaver, PR (1990). "Love and work: An attachment theoretical perspective". Journal of Personality and Social Psychology. 59 (2): 270–80. doi:10.1037/0022-3514.59.2.270.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  85. Hazan, C; Shaver, PR (1994). "Attachment as an organisational framework for research on close relationships". Psychological Inquiry. 5: 1–22. doi:10.1207/s15327965pli0501_1.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  86. Bartholomew, K; Horowitz, LM (1991-08). "Attachment styles among young adults: a test of a four-category model". Journal of Personality and Social Psychology. 61 (2): 226–44. doi:10.1037/0022-3514.61.2.226. PMID 1920064. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  87. Fraley, RC; Shaver, PR (2000). "Adult romantic attachment: Theoretical developments, emerging controversies, and unanswered questions". Review of General Psychology. 4 (2): 132–54. doi:10.1037/1089-2680.4.2.132.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  88. Pietromonaco, PR; Barrett, LF (2000). "The internal working models concept: What do we really know about the self in relation to others?". Review of General Psychology. 4 (2): 155–75. doi:10.1037/1089-2680.4.2.155.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  89. Rholes, WS; Simpson, JA (2004). "Attachment theory: Basic concepts and contemporary questions". ใน Rholes, WS; Simpson, JA (บ.ก.). Adult Attachment: Theory, Research, and Clinical Implications. New York: Guilford Press. pp. 3–14. ISBN 1-59385-047-6.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  90. Crowell, JA; Fraley, RC; Shaver, PR (2008). "Measurement of Individual Differences in Adolescent and Adult Attachment". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 599–634. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  91. Bowlby, J (1951). Maternal Care and Mental Health. Geneva: World Health Organisation. Each put his finger on the child's inability to make relationships as being the central feature from which all other disturbances sprang, and on the history of institutionalisation or, as in the case quoted, of the child's being shifted about from one foster-mother to another as being its cause
  92. Bowlby, J (1944). "Forty-four juvenile thieves: Their characters and home life". International Journal of Psychoanalysis. 25 (19–52): 107–27. sometimes referred to by Bowlby's colleagues as "Ali Bowlby and the Forty Thieves"
  93. Spitz, RA (1945). "Hospitalism: An Inquiry into the Genesis of Psychiatric Conditions in Early Childhood". The Psychoanalytic Study of the Child. 1: 53–74. PMID 21004303.
  94. Spitz, RA (1951). "The psychogenic diseases in infancy". The Psychoanalytic Study of the Child. 6: 255–75.
  95. Schwartz, J (1999). Cassandra's Daughter: A History of Psychoanalysis. New York: Viking/Allen Lane. p. 225. ISBN 0-670-88623-8.
  96. "Preface". Deprivation of Maternal Care: A Reassessment of its Effects. Public Health Papers. Geneva: World Health Organization. 1962.
  97. Bowlby, J (1988). A Secure Base: Clinical Applications of Attachment Theory. London: Routledge. p. 24. ISBN 0415006406.
  98. Rutter, M (2008). "Implications of Attachment Theory and Research for Child Care Policies". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 958–74. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses editors parameter (link)
  99. Bowlby, J (1986-12). "Citation Classic, Maternal Care and Mental Health" (PDF). Current Contents. สืบค้นเมื่อ 2008-07-13. Check date values in: |date= (help)
  100. Lorenz, KZ (1937). "The companion in the bird's world". The Auk. 54 (3): 245–73. doi:10.2307/4078077. JSTOR 4078077.
  101. Holmes 1993, p. 62.
  102. Bowlby, J (2007). "John Bowlby and ethology: An annotated interview with Robert Hinde". Attachment & Human Development. 9 (4): 321–35. doi:10.1080/14616730601149809. PMID 17852051.
  103. Bowlby, J (1953). "Critical Phases in the Development of Social Responses in Man and Other Animals". New Biology. 14: 25–32. the time is ripe for a unification of psychoanalytic concepts with those of ethology, and to pursue the rich vein of research which this union suggests
  104. Bowlby, J (1982). Attachment and Loss. Vol. 1. Attachment (2nd ed.). New York: Basic Books. pp. 220–23. ISBN 0465005438. LCCN 00266879. OCLC 11442968. NLM 8412414.CS1 maint: ref=harv (link)
  105. Crnic, LS; Reite, ML; Shucard, DW (1982). "Animal models of human behavior: Their application to the study of attachment". ใน Emde, RN; Harmon, RJ (บ.ก.). The development of attachment and affiliative systems. New York: Plenum. pp. 31–42. ISBN 978-0-306-40849-6.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  106. Brannigan, CR; Humphries, DA (1972). "Human non-verbal behaviour: A means of communication". ใน Blurton-Jones, N (บ.ก.). Ethological studies of child behaviour. Cambridge University Press. pp. 37–64. ISBN 978-0-521-09855-7. ... it must be emphasized that data derived from species other than man can be used only to suggest hypotheses that may be worth applying to man for testing by critical observations. In the absence of critical evidence derived from observing man such hypotheses are no more than intelligent guesses. There is a danger in human ethology ... that interesting, but untested, hypotheses may gain the status of accepted theory. [One author] has coined the term 'ethologism' as a label for the present vogue [in 1970] ... for uncritically invoking the findings from ethological studies of other species as necessary and sufficient explanations ... Theory based on superficial analogies between species has always impeded biological understanding ... We conclude that a valid ethology of man must be based primarily on data derived from man, and not on data obtained from fish, birds, or other primatesCS1 maint: uses authors parameter (link)
  107. Schur, M (1960). "Discussion of Dr. John Bowlby's paper". Psychoanalytic Study of the Child. 15: 63–84. PMID 13749000. Bowlby ... assumes the fully innate, unlearned character of most complex behavior patterns ... (whereas recent animal studies showed)  ... both the early impact of learning and the great intricacy of the interaction between mother and litter" ... (and applies)  ... "to human behavior an instinct concept which neglects the factor of development and learning far beyond even the position taken by Lorenz [the ethological theorist] in his early propositions
  108. Schaffer, HR; Emerson, PE (1964). "The development of social attachment in infancy". Monographs of the Society for Research in Child Development, serial no. 94. 29 (3).CS1 maint: uses authors parameter (link)
  109. Anderson, JW (1972). "Attachment behaviour out of doors". ใน Blurton-Jones, N (บ.ก.). Ethological studies of child behaviour. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 199–216. ISBN 978-0-521-09855-7.
  110. Jones, NB; Leach, GM (1972). "Behaviour of children and their mothers at separation and greeting". ใน Blurton-Jones, N (บ.ก.). Ethological studies of child behaviour. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 217–48. ISBN 978-0-521-09855-7.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  111. Hinde, R (1982). Ethology. Oxford: Oxford University Press. p. 229. ISBN 978-0-00-686034-1.
  112. Freud, A; Burlingham, DT (1943). War and children. Medical War Books. ISBN 978-0-8371-6942-2.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  113. Holmes 1993, p. 62-63.
  114. Holmes 1993, p. 64-65.
  115. Steele, H; Steele, M (1998). "Attachment and psychoanalysis: Time for a reunion". Social Development. 7 (1): 92–119. doi:10.1111/1467-9507.00053.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  116. Cassidy, J (1998). "Commentary on Steele and Steele: Attachment and object relations theories and the concept of independent behavioral systems". Social Development. 7 (1): 120–26. doi:10.1111/1467-9507.00054.
  117. Steele, H; Steele, M (1998). "Debate: Attachment and psychoanalysis: Time for a reunion". Social Development. 7 (1): 92–119. doi:10.1111/1467-9507.00053.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  118. Johnson-Laird, PN (1983). Mental models. Cambridge, MA: Harvard University Press. pp. 179–87. ISBN 0-674-56881-8.
  119. Main, M; Kaplan, N; Cassidy, J (1985). "Security in Infancy, Childhood, and Adulthood: A Move to the Level of Representation". Monographs of the Society for Research in Child Development. 50: 66–104.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  120. Morgan, Alex (2014). "Representations Gone Mental". Synthese 191.2: 213–44.
  121. Narr, David (2010). Vision. A Computational Investigation into the Human Representation and Processing of Visual Information. The MIT Press. ISBN 978-0262514620.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  122. Lieberman, AF (1997), "Toddlers' internalization of maternal attributions as a factor in quality of attachment", ใน Atkinson, Leslie; Zucker, Kenneth J (บ.ก.), Attachment and psychopathology, New York, NY, US: Guilford Press, pp. 277–292CS1 maint: uses editors parameter (link)
  123. Zeanah, CH; Keener, MA; Anders, TF (1986). "Adolescent mothers' prenatal fantasies and working models of their infants". Psychiatry. 49 (3): 193–203.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  124. Schechter, DS; Moser, DA; Reliford, A; McCaw, JE; Coates, SW; Turner, JB; Rusconi, S; Willheim, E (2015). "Negative and distorted attributions towards child, self, and primary attachment figure, among posttraumatically stressed mothers: What changes with Clinical Assisted Videofeedback Exposure Sessions (CAVES) ?". Child Psychiatry and Human Development. 46: 10–20.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  125. Sroufe, LA; Waters, E (1977). "Attachment as an organizational construct". Child Development. Blackwell Publishing. 48 (4): 1184–99. doi:10.2307/1128475. JSTOR 1128475.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  126. Waters, E; Cummings, EM (2000). "A secure base from which to explore close relationships". Child Development. 71 (1): 164–72. doi:10.1111/1467-8624.00130. PMID 10836570.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  127. Tronick, EZ; Morelli, GA; Ivey, PK (1992). "The Efe forager infant and toddler's pattern of social relationships: Multiple and simultaneous". Developmental Psychology. 28 (4): 568–77. doi:10.1037/0012-1649.28.4.568.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  128. van IJzendoorn, MH; Sagi-Schwartz, A (2008). "Cross-Cultural Patterns of Attachment; Universal and Contextual Dimensions". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 880–905. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  129. Rutter, Michael (1974). The Qualities of Mothering. New York, N.Y.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  130. Behrens, KY; Hesse, E; Main, M (2007-11). "Mothers' attachment status as determined by the Adult Attachment Interview predicts their 6-year-olds' reunion responses: a study conducted in Japan". Developmental Psychology. 43 (6): 1553–67. doi:10.1037/0012-1649.43.6.1553. PMID 18020832. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  131. Main, M; Cassidy, J (1988). "Categories of response to reunion with the parent at age 6: Predictable from infant attachment classifications and stable over a 1-month period". Developmental Psychology. 24 (3): 415–26. doi:10.1037/0012-1649.24.3.415.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  132. Harris, JR (1998). The Nurture Assumption: Why Children Turn Out the Way They Do. New York: Free Press. pp. 1–4. ISBN 978-0-684-84409-1.
  133. Pinker, S (2002). The Blank Slate: The Modern Denial of Human Nature. London: Allen Lane. pp. 372–99. ISBN 978-0-14-027605-3.
  134. Kagan, J (1994). Three Seductive Ideas. Cambridge, MA: Harvard University Press. pp. 83–150. ISBN 978-0-674-89033-6.
  135. Vaughn, BE; Bost, KK; van IJzendoorn, MH (2008). "Attachment and Temperament". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 192–216. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  136. Schaffer, HR (2004). Introducing Child Psychology. Oxford: Blackwell. p. 113. ISBN 978-0-631-21627-8.
  137. Fonagy, P; Gergely, G; Jurist, EL; Target, M (2002). Affect regulation, mentalization, and the development of the self. New York: Other Press. ISBN 1-59051-161-1.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  138. Mercer 2006, p. 165-68.
  139. Fonagy, P; Gergely, G; Target, M. "Psychoanalytic Constructs and Attachment Theory and Research". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 783–810. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  140. Belsky, J; Rovine, MJ (1988-02). "Nonmaternal care in the first year of life and the security of infant-parent attachment". Child Development. Blackwell Publishing. 59 (1): 157–67. doi:10.2307/1130397. JSTOR 1130397. PMID 3342709. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  141. Mercer 2006, p. 160-63.
  142. Rutter, M (January–February 2002). "Nature, nurture, and development: From evangelism through science toward policy and practice". Child Development. 73 (1): 1–21. doi:10.1111/1467-8624.00388. PMID 14717240.CS1 maint: date format (link)
  143. Miyake, K; Chen, SJ (1985). "Infant temperament, mother's mode of interaction, and attachment in Japan: An interim report". ใน Bretherton, I; Waters, E (บ.ก.). Growing Points of Attachment Theory and Research: Monographs of the Society for Research in Child Development. 50 (1-2, Serial No. 209). pp. 276–97. ISBN 978-0-226-07411-5.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  144. Mercer 2006, p. 152-56.
  145. McHale, JP (2007). "When infants grow up in multiperson relationship systems". Infant Mental Health Journal. 28 (4): 370–92. doi:10.1002/imhj.20142.
  146. Zhang, X; Chen, C (2010). "Reciprocal Influences between Parents' Perceptions of Mother-Child and Father-Child Relationships: A Short-Term Longitudinal Study in Chinese Preschoolers". The Journal of Genetic Psychology. 171 (1): 22–34. doi:10.1080/00221320903300387. PMID 20333893.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  147. Milanov, M; Rubin, M; Paolini, S (2013). "Adult attachment styles as predictors of different types of ingroup identification". Bulgarian Journal of Psychology. 1–4: 175–186.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  148. Bugental, DB (2000). "Acquisition of the Algorithms of Social Life: A Domain-Based Approach". Psychological Bulletin. 126 (2): 178–219. doi:10.1037/0033-2909.126.2.187. PMID 10748640.
  149. Bugental, DB; Ellerson, PC; Rainey, B; Lin, EK; Kokotovic, A (2002). "A Cognitive Approach to Child Abuse Prevention". Journal of Family Psychology. 16 (3): 243–58. doi:10.1037/0893-3200.16.3.243. PMID 12238408.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  150. Ma, K (2006). "Attachment theory in adult psychiatry. Part 1: Conceptualisations, measurement and clinical research findings". Advances in Psychiatric Treatment. 12: 440–449. doi:10.1192/apt.12.6.440. สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
  151. Fox, NA; Hane, AA (2008). "Studying the Biology of Human Attachment". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 811–29. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  152. Landers, MS; Sullivan, RM (2012). "The development and neurobiology of infant attachment and fear". Developmental neuroscience. 34 (2–3): 101–14. doi:10.1159/000336732. PMID 22571921. สืบค้นเมื่อ 2014-08-17.
  153. Marshall, PJ; Fox, NA (2005). "Relationship between behavioral reactivity at 4 months and attachment classification at 14 months in a selected sample". Infant Behavior and Development. 28 (4): 492–502. doi:10.1016/j.infbeh.2005.06.002.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  154. Prior & Glaser 2006, p. 219.
  155. Gillath, O; Shaver, PR; Baek, JM; Chun, DS (2008-10). "Genetic correlates of adult attachment style". Personality and Social Psychology Bulletin. 34 (10): 1396–405. doi:10.1177/0146167208321484. PMID 18687882. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  156. Belsky, J; Pasco, Fearon RM (2008). "Precursors of Attachment Security". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 295–316. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  157. doi:10.1017/S0954579410000611
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand Full Article PDF (306 KB)
  158. Rutter, M (2008). "Implications of Attachment Theory and Research for Child Care Policies". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 958–74. ISBN 978-1-60623-028-2.CS1 maint: uses editors parameter (link)
  159. Berlin, L; Zeanah, CH; Lieberman, AF (2008). "Prevention and Intervention Programs for Supporting Early Attachment Security". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 745–61. ISBN 978-1-60623-028-2. Supporting early child-parent relationships is an increasingly prominent goal of mental health practitioners, community-based service providers and policy makers... Attachment theory and research have generated important findings concerning early child development and spurred the creation of programs to support early child-parent relationships.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  160. Karen 1998, p. 252-58.
  161. Rutter, M; O'Connor, TG (1999). "Implications of Attachment Theory for Child Care Policies". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York: Guilford Press. pp. 823–44. ISBN 1-57230-087-6.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  162. Stefaroi, P (2012). "Humanistic Paradigm of Social Work or Brief Introduction in Humanistic Social Work". Social Work Review. 10 (1): 161–174.CS1 maint: uses authors parameter (link) ICID 985513
  163. Stefaroi, P. Humane & Spiritual Qualities of the Professional in Humanistic Social Work: Humanistic Social Work - The Third Way in Theory and Practice. Charleston, SC: Createspace.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  164. Goldsmith, DF; Oppenheim, D; Wanlass, J (2004). "Separation and Reunification: Using Attachment Theory and Research to Inform Decisions Affecting the Placements of Children in Foster Care" (PDF). Juvenile and Family Court Journal. Spring: 1–14. สืบค้นเมื่อ 2009-06-19.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  165. Crittenden, Patricia McKinsey และคณะ. "Assessing attachment for family court decision making". Journal of Forensic Practice. 15 (4): 237–24. Explicit use of et al. in: |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  166. Ziv, Y (2005). "Attachment-Based Intervention programs: Implications for Attachment Theory and Research". ใน Berlin, LJ; Ziv, Y; Amaya-Jackson, L; Greenberg, MT (บ.ก.). Enhancing Early Attachments: Theory, Research, Intervention and Policy. Duke series in child development and public policy. New York and London: Guilford Press. p. 63. ISBN 1-59385-470-6.CS1 maint: uses editors parameter (link)
  167. Berlin, LJ; Zeanah, CH; Lieberman, AF (2008). "Prevention and Intervention Programs for Supporting Early Attachment Security". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 745–61. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  168. Prior & Glaser 2006, p. 231-32.
  169. Bakermans-Kranenburg, M; van IJzendoorn, M; Juffer, F (2003). "Less is more: meta-analyses of sensitivity and attachment interventions in early childhood". Psychological Bulletin. 129 (2): 195–215. doi:10.1037/0033-2909.129.2.195. PMID 12696839.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  170. Hoffman, Kent T และคณะ (2006). "Changing toddlers' and preschoolers' attachment classifications: the Circle of Security intervention". Journal of Consulting and Clinical Psychology. 74 (6): 1017. Explicit use of et al. in: |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  171. Thompson, RA (2000). "The legacy of early attachments". Child Development. 71 (1): 145–52. doi:10.1111/1467-8624.00128. PMID 10836568.
  172. Chaffin, M; Hanson, R; Saunders, BE และคณะ (2006). "Report of the APSAC task force on attachment therapy, reactive attachment disorder, and attachment problems". Child Maltreatment. 11 (1): 76–89. doi:10.1177/1077559505283699. PMID 16382093.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  173. Prior & Glaser 2006, p. 223-25.
  174. Schechter, DS; Willheim, E (2009-07). "Disturbances of attachment and parental psychopathology in early childhood". Child and Adolescent Psychiatric Clinics of North America. 18 (3): 665–86. doi:10.1016/j.chc.2009.03.001. PMC 2690512. PMID 19486844. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  175. Slade, A (2008). "Attachment Theory and Research: Implications for the theory and practice of individual psychotherapy with adults". ใน Cassidy, J; Shaver, PR (บ.ก.). Handbook of Attachment: Theory, Research and Clinical Applications. New York and London: Guilford Press. pp. 762–82. ISBN 978-1-59385-874-2.CS1 maint: uses editors parameter (link)
  176. Sable, P (2000). Attachment & Adult Psychotherapy. Northvale, NJ: Aaronson. ISBN 978-0-7657-0284-5.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Bowlby, J (1953). Child Care and the Growth of Love. London: Penguin Books. ISBN 9780140202717. (version of WHO publication Maternal Care and Mental Health published for sale to the general public)
  • Bowlby, J (1979). The Making and Breaking of Affectional Bonds. London: Tavistock Publications. ISBN 9780422768603.
  • Craik, K (1967) [1943]. The Nature of Explanation. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 9780521094450.
  • Tinbergen, N (1951). The study of instinct. Oxford: Oxford University Press. ISBN 9780198577225.
  • Attachment Theory and Research at Stony Brook
  • Robert Karen: 'Becoming Attached'. The Atlantic Monthly February 1990.
  • "The origins of attachment theory:John Bowlby and Mary Ainsworth"

ทฤษฎ, ความผ, กพ, งกฤษ, attachment, theory, หร, ทางอารมณ, เป, นแบบจำลองทางจ, ตว, ทยาเพ, อกำหนดพลศาสตร, ของความส, มพ, นธ, ระหว, างมน, ษย, งในระยะยาวระยะส, แต, ไม, ได, งเป, นทฤษฎ, วไปของความส, มพ, นธ, แต, ใช, กล, าวถ, งด, าน, หน, งเพ, ยงเท, าน, การตอบสนองของมน, ษ. thvsdikhwamphukphn xngkvs Attachment theory hrux thvsdikhwamphukphnthangxarmn 1 epnaebbcalxngthangcitwithyaephuxkahndphlsastrkhxngkhwamsmphnthrahwangmnusythnginrayayawrayasn aetwa thvsdikhwamphukphnimidtngepnthvsdithwipkhxngkhwamsmphnth aet ichklawthungdan hnungephiyngethann 2 81 khux kartxbsnxngkhxngmnusyphayinsmphnthphaphemuxecb thukphrakcakkhnrk hruxwarusukxntray 2 odyphunthanaelw tharkxacphukphnkbkhneliyngkhnihnkid aetwa khunlksnakhxngkhwamsmphnthkb khxngaetlakhncaaetktangkn inthark khwamphukphnodyepnswnkhxngrabbaerngcungicaelaphvtikrrmcasngkarihedkekhaipxyuiklchidkbkhnduaelthikhunekhyemuxtkic odykhadhwngwacaidkarkhumkhrxngaelakarplxbic bidakhxngthvsdiphuepnnkcitwithyathrngxiththiphlchawxngkvscxhn oblbi echuxwa khwamonmexiyngkhxngtharkwanr rwmthngmnusy thicaphukphnkbkhneliyngthikhunekhy epnphlkhxngkhwamkddnthangwiwthnakar ephraawaphvtikrrmphukphnxanwyihrxdchiwitemuxephchiykbxntrayechnkarthuklahruxtxngephchiykbsingaewdlxm 3 sahrbthngtharkaelaedkhdedin epahmay khxngrabbkhwamphukphnodyphvtikrrmkephuxxyuikl kbkhnthiphukphn pktiepnphxaem hlksakhythisudkhxngthvsdikkhuxwa tharkcaepntxngsrangkhwamsmphnthkbkhneliynghlkxyangnxyhnungkhnephuxihekidphthnakarthangsngkhmaelathangxarmnidxyangsaerc odyechphaakareriynruephuxkhwbkhumxarmntnexngxyangmiprasiththiphl phxhruxkhnxun mioxkasklayepnphuphukphnhlkthaihkarduaeledkaelaptismphnththangsngkhmthismkhwrodymakthisud 4 emuxmikhnduaelthiiwkhwamrusukaelatxbsnxngtxedk tharkcaxasykhnduaelepn esahlk emuxsarwcsingaewdlxm khwrcaekhaicwa aemkhnduaelthiiwkhwamrusukcaruicthukkpramanaekh 50 ephraakarsuxsarxaccaimlngrxykn imsmkn bangkhrngphxaemkxacrusukehnuxyhruxsniceruxngxunxyu miothrsphththitxngrbhruxxaharechathicatxngtha klawxikxyangkkhux ptismphnththiekhaknxyangdixacesiyipidxyangbxykhrng aetlksnakhxngkhnduaelthiiwkhwamrusukkhnaethkkhux khwamesiyhaynncaidkarbriharhruxsxmaesm 5 khwamphukphnrahwangtharkkbphuduaelekidkhunaememuxkhnduaelimiwkhwamrusukaelaimtxbsnxngtxedk 6 sungthaihmiphltammahlayxyang khux tharkcaimsamarthxxkcakkhwamsmphnthkbkhnduaelthiiwicimidhruximiwkhwamrusuk tharkcatxngbriharexngethathithaidphayinkhwamsmphnthechnni odyxasyeknthwithisthankarnaeplk Strange situation nganwicykhxngnkcitwithyaphthnakarchawxngkvs dr aemri exnsewxrth inchwngkhristthswrrs 1960 aela 1970 phbwa edkcamirupaebbkhwamphukphnthitang knkhunxyukbprasbkarnebuxngtnthiidcakkhnduael rupaebbkhwamphukphninchiwittn nikcamixiththiphl aemcaimichtwkahnd khwamkhadhwngkhxngbukhkhlinkhwamsmphnthtx ma 7 mihmwdhmukhwamphukphn 4 xyangthiidrabuinedk khux aebbmnic secure attachment aebbwitkkngwl khla anxious ambivalent attachment aebbwitkkngwl hlikeliyng anxious avoidant attachment aebbimmiraebiyb disorganized attachment thvsdiniidklayepnthvsdihlkthiichinpccubnephuxsuksaphvtikrrmkhxngtharkaelaedkhdedinindantang rwmthngsukhphaphcitthark karptibtitxedk epntn khwamphukphnaebbmniccaekidemuxedkrusukwasamarthphungkhnduaelihxyuikl plxbic aelachwypxngkn epnrupaebbthiphicarnawadithisud swnaebbwitkkngwl khlacaekidemuxedkrusukwitkkngwlemuxphrakcakkhnduael aelaimklbiprusukmnicemuxkhnduaelklbma swnaebbwitkkngwl hlikeliyngekidemuxedkhlikeliyngphxaem aelaaebbimmiraebiybkkhuxedkcaimaesdngphvtikrrmkhwamphukphn inchwngkhristthswrrs 1980 thvsdiniidkhyayipichkbkhwamphukphninphuihy odyichemuxmikhwamsmphnthiklchidkbphxaemhruxkhurk rabbkhwamphukphnmihnathiihidhruxrksakarxyuikl kbkhnthiphukphn emuxxyuikl rabbnicaimthangan aelatharksamarthsnicaetolkphaynxkid enuxha 1 khwamphukphnkhxngthark 1 1 phvtikrrm 1 2 hlk 2 karcdhmwdedkody Strange Situation Protocol 3 rupaebbkhwamphukphn 3 1 khwamphukphnaebbmnic 3 2 khwamphukphnaebbwitkkngwl khla 3 3 khwamphukphnaebbwitkkngwl hlikeliyng 3 4 khwamphukphnaebbimmiraebiyb immithisthang 3 5 rupaebbphayhlngaelaxun 3 6 khwamsakhykhxngrupaebb 4 khwamepliynaeplnginrahwangwyedkaelawyrun 5 inphuihy 6 prawti 6 1 karkhadaem 6 1 1 phvtikrrmwithya 6 1 2 citwiekhraah 6 1 3 aebbcalxngichnganphayin 6 1 4 karphthna 7 chiwwithyakhxngkhwamphukphn 8 karprayuktich 8 1 noybayduaeledk 8 2 karrksaedk 8 2 1 karpxngknaelakarrksa 8 2 2 khwamphidpktithangkhwamphukphn 8 3 karrksasahrbphuihyaelakhrxbkhrw 9 echingxrrth 10 xangxing 11 aehlngkhxmulxunkhwamphukphnkhxngthark aekikhinthvsdikhwamphukphn khwamphukphnhmaythung sychatyanthangchiwphaph thisubhakarxyuikl kbkhnthiphukphn emuxedkrusukwamiphyhruximsbay phvtikrrmkhwamphukphnhwngkartxbsnxngcakkhnthiphukphnwa cachwykacdphyhruxkhwamrusukimsbay 8 9 khwamsmphnthechnnicaepnaebbknaelaknrahwangphuihy aetrahwangedkkbkhnduael khwamsmphnthcakhunxyukbkhwamcaepnkhxngedkineruxngswsdiphaph khwamplxdphy aelakarpxngkn sungepneruxngsakhysudinwytharkaelawyedkcxhn oblbi erimtnodyihkhxsngektwa singmichiwitthimiradbwiwthnakarchatiphnthuthitangkn camiphvtikrrmthangsychatyanthiimehmuxnkn erimtngaetphvtikrrmkhlayrieflksaebbngay epnrupaebbkarkrathaechphaa cnkrathngthungphvtikrrmthimiaephnsbsxnepnchn odymithngepahmayyxy aelakareriynruthicaepn insingmichiwitthisbsxnthisud phvtikrrmthangsychatyanxacaekidtamepahmayodyprbepliynxyangtxenuxng echn nklaehyuxprbkarbintamkarekhluxnihwkhxngehyux dngnn aenwkhidkhxngrabbphvtikrrmthikhwbkhumodyisebxrentiksaelacdraebiybepnladbchnkarwangaephn Miller Galanter and Pribram 1960 cungidklaymaaethnthiaenwkhidkhxngsikmund frxydineruxngaerngkhb drive kbsychatyan instinct rabbechnnisamarthkhwbkhumphvtikrrmodythiimcaepntxngkahndmaaetkaenidodyswnediyw aetcakhunxyukbsingmichiwit thisamarthprbtamkhwamepliynaeplnginsphawaaewdlxmidinradbhnung odycakdwakhwamepliynaeplngimidtangipcakthimiinsingaewdlxmthangwiwthnakarkhxngsingmichiwitmakekinip aetwakmirakhasahrbsingmichiwitthiyudhyunidkhnadni ephraawarabbphvtikrrmthiprbtwidsamarthphthnaidodyimdaeniniptamthangthidithisud sahrbmnusy oblbisnnisthanwa sphaphaewdlxmthangwiwthnakarkhxngmnusynacakhlaykbthiphbinsngkhmnkla ekbphuchphl 10 thvsdikhwamphukphnimidichxthibaykhwamsmphnthkhxngmnusyxyangetmrupaebb aelakimichepniwphcnkhxngkhawakhwamrkaelakhwamchxbicdwy 10 tharkbangkhncaerimmiphvtikrrmphukphn khuxkarhakhwamiklchid txkhnduaelmakkwahnungthnthithierimaeykaeyaphuduaelid aelaodymakcaeriminpithisxng odyaebngbukhkhlehlannepnchn aelamiphuduaelhlkxyuyxdsud 11 epahmaykhxngrabbphvtikrrmphukphnkkhuxdarngrksakarekhathungaelakarmikhnduaeliwihid 12 Alarm tkic epnkhathiichemuxrabbphvtikrrmphukphnekidthanganehtuklwxntray Anxiety witkkngwl hmaythungkarkhadhwnghruxkhwamklwwacaphrakcakkhnthiphukphn aelathakhnthiphukphnimxyuhruximtxbsnxng khwamthukkhaebbthukphrak separation distress kcaekidkhun 13 inthark karthukphrakthangkayxacepnehtuaehngkhwamwitkkngwlaelakhwamokrth tammadwykhwamesraaelakhwamsinhwng aetwaodyxayu 3 4 khwb karthukphrakthangkaycakphuthiphukphnimichepnphyehmuxnxyangthiekhyepn ephraawaphytxkhwamplxdphykhxngedkthiotkwaaelakhxngphuihy macakkarimxyudwynan karyutikarsuxsar karimihkarsnbsnunthangcitic hruxmisyyanwacathukimyxmrbhruxthukthxdthing 12 rupaebbkhwamphukphnthiimmnicsamarthkhdkhwangkarsarwcsingaewdlxmrxbtwaelakhwammnicintwexng ephraawaedkthiphukphnxyangmniccaepnxisraephuxsnicinsingaewdlxm phvtikrrm aekikh rabbphvtikrrmphukphncachwyihidhruxrksakhwamxyuiklchidkbkhnthiphukphn 14 swnphvtikrrmkxnkhwamphukphncaekidkhuninchwng 6 eduxnaerkkhxngchiwit inrayaaerk khuxinchwng 8 xathityaerk tharkcayim phudimepnphasa aelarxngihdungkhwamsniccakkhnthixacepnphueliyng aemwatharkinwynierimcacaaenkphueliyngdutang aetwa phvtikrrmechnnicaepnxyangediywknkbthukkhnthixyuikl inrayathisxng 2 6 eduxn tharkcacaaenkphuihythikhunekhyaelaimkhunekhyidmakkhun aelatxbsnxngtxphuduaelmakkwa kartamaelatidcaepnphvtikrrmthiephimmakkhunswnkhwamphukphnxyangchdecncaekidinrayathi 3 rahwangwy 6 eduxnthung 2 khwb phvtikrrmtxphuduaelcamiraebiybkhuxmiepahmayephuxihidsthankarnthitnrusukplxdphy 15 hlngcaksudpiaerk tharkcasamarthaesdngphvtikrrmphukphnthimungrksakhwamiklchid sungpraktodyprathwngkarcakipkhxngkhneliyng thkthayemuxklbma ekaatidemuxklw aelatidtamemuxsamarth 16 emuxerimekhluxnthiid tharkcaerimxasykhnduaelepnesahlkinkarsarwcsingaewdlxm 15 karsarwccamimakkwaemuxkhnduaelxyudwy ephraawarabbkhwamphukphnkhxngtharkimtxngthanganaelatharkcungepnxisrathicasarwc thakhnduaelimxyuhruximtxbsnxng phvtikrrmphukphncapraktmakkwa 17 khwamwitkkngwl khwamklw khwamecbpwy aelakhwamehnuxycathaihedkephimphvtikrrmphukphn 18 hlngcakpithisxng edkerimehnphuduaelwaepnkhnxikkhnhnung dngnnkcaerimmikhwamsmphnththisbsxn odyepnhunswnaebbprbihekhakbepahmay 19 khux edkcaerimehnepahmayaelakhwamrusukkhxngkhnxun aelacawangaephnkarkrathakhxngtntamnn yktwxyangechn ethiybkbtharkthicarxngihephraaecb edk 2 khwbcarxngihephuxeriykkhnduael aelathaimsaerc kcarxngdngkhun taokn hruxtam hlk aekikh phvtikrrmphukphnaelaxarmnthisamy dngthiphbinstwphwkwanrthixyuepnsngkhmrwmthngmnusyepnkarprbtwthidi khux wiwthnakarrayayawkhxngspichisehlani rwmkarkhdeluxkphvtikrrmthangsngkhmthithaihoxkasrxdchiwitkhxngbukhkhlhruxklummimakkhun phvtikrrmphukphnthiehnidthwipkhxngedkhdedinthixyuikl kbkhnthikhunekhy epnpraoychnihkhwamplxdphyinsingaewdlxmthangwiwthnakarmnusyinyukhtn aelakyngmipraoychnechnediywknthukwnni cxhn oblbiehnsingaewdlxmthangwiwthnakarthiwaniwakhlaykbsngkhmnkla ekbphuchphlthiehninpccubn 20 mipraoychninkarrxdchiwitthasamarthrusukthungsphawathixacepnxntrayechn khwamimkhunekhy karxyukhnediyw hruxkarekhamahaxyangrwderw tamoblbi karhakhwamiklchidkbkhnthiphukphnemuxephchiykbphy epnepahmaykhxngrabbphvtikrrmphukphn prasbkarnebuxngtncakhxy srangrabbkhwamkhid khwamca khwamechux khwamkhadhwng xarmn aelaphvtikrrmekiywkbtnexngaelakhnxun khaxthibayebuxngtnkhxngoblbiekiywkbrayaiw sensitivity period thikhwamphukphncaekidkhunkhuxrahwang 6 eduxn thung 2 3 pi txmaidepliynodynkwicytx ma nkwicyidaesdngwa mirayaiwcring thikhwamphukphncaekidkhunthaepnipid aetrayaewlacring kwangkwannaelaphlthiekidimidtaytwepliynimidehmuxnxyangthiesnxmakxn khux nganwicytx maidphbwa khwamsmphnththnginebuxngtnaelatx macamiphltxphthnakarthangsngkhmkhxngedkkhntn khxngkhwamphukphnekidkhunngaythisudthaedkmikhnduaelkhnediyw hruxmikhnduaelcanwnnxyhlaykhnthichwyduepnbangkhrngbangkhraw tamoblbi ekuxbtngaetaerk edkcanwnmakmikhnmakkwakhnediywthiaesdngphvtikrrmphukphndwy aetwaimidptibtiehmuxnknthukkhn edkonmexiyngxyangsakhythicaphukphnkbbukhkhlhnungepnhlk sungekhaichkhawa monotropy ephuxklawthungkhwamexnexiyngechnni 21 aetnkwicyaelankthvsditx maidthingaenwkhidniephraawakhaduehmuxncaaesdngwa khwamsmphnthkbkhnphiessnnmilksnatangcakkbkhnxun khwamkhidinpccubnsmmutiwakhwamsmphnthcamiiptamladbchn 22 23 prasbkarnebuxngtnkbkhnduaelcakhxy srangrabbkhwamkhid khwamca khwamechux khwamkhadhwng xarmn aelaphvtikrrmekiywkbtnexngaelakhnxun rabbnisungeriykwa aebbcalxngichnganphayinkhxngkhwamsmphnththangsngkhm internal working model of social relationships caphthnaiperuxy tamxayuaelaprasbkarn 24 aelaichkhwbkhum tikhwam aelaphyakrnphvtikrrmekiywkbkhwamphukphnthngintnexngaelainbukhkhlthiphukphn enuxngcakepnaebbcalxngthiphthnaiptamsingaewdlxmaelachwngphthnakar cungsamarthsathxnaelaaesdngkhwamsmphnththiekhymiinxditaelaxaccamiinxnakht 7 epnaebbsungchwyihedkrbmuxkbptismphnththangsngkhmaebbihm id echn ihruwa tharkkhwrcaptibtitangcakedkthiotkwa hruxwaptismphnthkbkhunkhruaelakbphxaemmixairthikhlaykn aebbcalxngnicaphthnaipcungtlxdwyphuihy chwyrbmuxkbmitrphaph karaetngngan aelakarepnphxaem sunglwnaettxngmiphvtikrrmaelakhwamrusukthitang kn 25 26 phthnakarkhxngkhwamphukphnepnkrabwnkaraebbdaeninkar transactional process aetphvtikrrmphukphninwytharkodyechphaa caerimdwyphvtikrrmthiphyakrnidodymimaaetkaenid aelwepliyniptamwythikahndswnhnungodyprasbkarnaelaswnhnungodypccythangsthankarntang 27 emuxphvtikrrmkhwamphukphnkalngphthnatamxayu kcaidrbxiththiphlcakkhwamsmphnththimi phvtikrrmkhxngedkemuxklbmaphbkhnduaelkahndimichephiyngaekhodyphvtikrrmthikhnduaelmitxedk aetkahndodyprawtidwywaphvtikrrmedkekhymiphltxkhnduaelxyangir 28 29 karcdhmwdedkody Strange Situation Protocol aekikhwithithisamythisudaelamihlkthanyunynmakthisudephuxichpraeminkhwamphukphnkhxngthark 11 17 eduxn eriykwa eknthwithisthankarnaeplk Strange Situation Protocol thiphthnaody dr aemri exnsewxrth sungepnphlkhxngsngektkarnxyanglaexiydkhxngptismphnthrahwangtharkaelamarda 30 aetepnethkhnikhnganwicythiimidhmayihichsahrbkarwinicchythangkaraephthy aemwawithinicasamarthichchwyihkhxmulthangkhlinik hmwdthicdimkhwrsbsnkbeknthwinicchythangcitewchineruxng Reactive attachment disorder RAD ephraawa aenwkhidthangkhlinikkhxng RAD tangodyphunthanhlayxyangcakthvsdi aelatangcakkarcdhmwdhmukhwamphukphnodyxasyeknthwithisthankarnaeplkthikhbekhluxnodyaenwkhidnganwicy dngnn ixediywakhwamphukphnthiimmnic insecure attachment ehmuxnkbxakar RAD imtrngkbkhwamcringaelathaihekidkhwamimchdecnthangwichakaremuxklawthungthvsdikhwamphukphndngthiphthnaiptamwrrnkrrmnganwicy niimidhmaykhwamwaaenwkhidekiywkb RAD imsmehtusmphl aetwa aenwkhidinkarrksaeruxng attachment disorder aelaaenwkhidnganwicyeruxngkhwamphukphnaebbimmnic insecure attachment epnkhnlaeruxngkneknthwithisthankarnaeplkepnwithikarinaelb ichephuxpraeminrupaebbkhwamphukphnkhxngtharkkbkhnduael odymikaraesdngphythiimkhadfnhnungxyang karaeykcakmardasn 2 khrng tamdwykarecxknihm inkrabwnkarni mikarihmardaaelatharkxyuinhxngelnthiimkhunekhyetmipdwykhxngelninkhnathinkwicythaywidioxkhxngehtukarnphankrackehnthangediyw miraya 8 rayathitharkprasbkbkarphrakcakaelakarecxaemihmaelakarecxkbkhnthiimkhunekhy khuxkhnaeplkhna 30 odythatamladbdngtxipninxkcaknkwicycarabukarykewn txn 1 aem hruxkhneliyngduthikhunekhy thark aelaphuthakarthdlxng 30 winathi txn 2 aemaelathark 3 nathi txn 3 aem thark aelakhnaeplkhna 3 nathi txn 4 khnaeplkhnaaelathark 3 nathihruxnxykwann txn 5 mardaaelathark 3 nathi txn 6 tharkkhnediyw 3 nathihruxnxykwann txn 7 khnaeplkhnaaelathark 3 nathihruxnxykwann txn 8 aemaelathark 3 nathi odymakkhunxyukbphvtikrrmemuxmaecxknxik aemwa phvtikrrmxun kxaccaekiywdwy tharksamarthcdxyuinhmwdkarphukphnaebb miraebiyb 3 klum khux klum B phayhlngeriykwa aebbmnic klum A phayhlngeriykwa aebbwitkkngwl hlikeliyng aelaklum C phayhlngeriykwa aebbwitkkngwl khla odyaetlaklumcamiklumyxy dngcaklawtxip erimtngaettnkhristthswrrs 1970 mikarephimtxetimrupaebbdngedimkhxng dr exnsewxrth rwmthngklum B4 1970 31 klum A C 1985 32 33 klumimmiraebiyb D 1986 klum B5 1988 1992 34 35 klum A C aelaesra Depressed 1992 2010 36 37 thamixayumakkhun kcamiklumxun ephimkhunxik odyaetlaklumsathxnrupaebbkhwamphukphnkhxngtharktxkhnduael tharksamarthmirupaebbkhwamphukphnthitangknrahwangphxaemaelarahwangkhnduael dngnn rupaebbkhwamphukphncungimidepnswnkhxngthark aetepnlksnakarpxngknaelakarplxbicthitharkidcakkhwamsmphnthhnung rupaebbehlanismphnthkbrupaebbphvtikrrmxun sungsamarthchwyphyakrnbukhlikphaphkhxngtharkinxnakhtid 38 rupaebbkhwamphukphn aekikh khwamchdecnthangphvtikrrmkhwamphukphnkhxngedkinsthankarnhnung imidbngthungkalngkhxngkhwamphukphnthimicring edkthiimmnicbangkhncaaesdngphvtikrrmkhwamphukphnthichdecnepnpkti aetedkthimnicxaccarusukwaimcaepntxngaesdngphvtikrrmkhwamphukphnxyangchdecnhruxbxy 39 phngaesdngkardaeninngankhxngkhwamphukphnaebbmnic khwamphukphnaebbmnic aekikh edkhdedinthiphukphnkbphxaem hruxkhneliyngduxun xyangmniccathakarsarwcxyangepnxisraemuxphuduaelxyuikl miphvtikrrmpktikbkhnaeplkhna bxykhrngxarmnesiyemuxkhnduaelcakip aelaodythwipdiicemuxehnkhnduaelklbma aetkhxbekhtkarsarwcaelakhwamthukkhthipraktkhunxyukbnisy temperament kbpccythangsthankarn aelakbsthanakhxngkhwamphukphn khwamphukphnkhxngedkodymakkhunxyukbkhwamiwkhwamtxngkar khwamrusukkhxngedk khxngkhnduaelhlk phxaemthitxbsnxngxyangsmaesmx hruxekuxbsmaesmx txkhwamtxngkarkhxngedkcathaihedkekidkhwamphukphnaebbmnic khuxedkechnniaenicwaphxaemcatxbsnxngtxkhwamtxngkaraelatxkarsuxsarkhxngtn 40 inwithikarlngrhskhxng dr exnsewxrthaelakhna 1978 tharkaebbmniccalngrhswa klum B odyaebngepnklumyxy id khux B1 B2 B3 aela B4 30 aemwaklumehlanisathxnthungkartxbsnxngodyechphaa khxngkarmaaelakaripkhxngkhnduael aet dr exnsewxrthaelakhnakimidtngchuxihklumyxy aelaphvtikrrmthipraktkidthaihnkwicyxun rwmthngnksuksakhxng dr exnsewxrthexng idichsphthxphithankwang sahrbklumyxy ehlani echn B1 eriykwa mnic sngwnthathi secure reserved B2 mnic imaesdngxxk secure inhibited B3 mnic smdul secure balanced aela B4 mnic miptikiriya secure reactive aetwainwrrnkrrmwichakar karcdklumthark thamikaraebngklumyxy caeriykodyrhs echn B1 epntn aemwaexksarthangthvsdihruxthiepnnganthbthwnwrrnkrrmineruxngnixacichsphthtang dngthiwaedkthiphukphnxyangmnicsamarthsarwcsingaewdlxmiddithisud emuxrusukwamiesahlk khuxkhnduael ephuxklbiphaemuxtxngkar emuxidrbkarchwyehlux nicachwyihrusukplxdphy aelathasmmutiwachwyidcring kcaepnkarsxnedkihrbmuxkbpyhaxyangediywkninxnakhtdwy dngnn khwamphukphnaebbmniccungmxngwaepnsitlkhwamphukphnthiepnkarprbtwdithisud tamnkwicythangcitwithyabangkhn edkcamikhwamphukphnxyangmnicthaphxaemxyudwyaelasamarthsnxngkhwamtxngkarkhxngedkxyangsmkhwraelaemuxcaepn dngnn inwytharkaelawyedkebuxngtn thaphxaemexuxxathraelaisiclukkhxngtn edkmkcamikhwamphukphnaebbmnic 41 khwamphukphnaebbwitkkngwl khla aekikh khwamphukphnaebbwitkkngwl khla Anxious ambivalent attachment bangkhrngeriykxyangphid wa khwamphukphnaebbkhdkhun resistant attachment 42 odythwipaelw edkthimirupaebbkhwamphukphnaebbnicathakarsarwcnxyemuxicheknthwithisthankarnaeplk aelabxykhrngcaimiwickhnaeplkhna aemkrathngemuxphxaemyngxyudwy emuxaemcakip edkbxykhrngcaepnthukkhmak aetcarusukthngdiaelaimdi khla emuxaemklbma 30 klyuththniichtxbsnxngkbkarduaelthiexaaenexanxnimid aelakaraesdngkhwamokrth thieriykwaaebbkhla khdkhun ambivalent resistant hruxkhwamthaxairimid aebbkhla echy ambivalent passive txkhnduaelemuxklbma samarthmxngidwaepnklyuththaebbmienguxnikhephuxrksakarmikhnduaelxyuikl iwodyekhakhwbkhumkarptismphnthkbkhnduael 43 44 cacdxyuinklum C1 aebbkhla khdkhun emux emuxphvtikrrmkhdkhunehnidchdepnphiess karphsmknrahwangkarhaaetkkhdkhunkarklbmaxyurwmknmilksnaokrththichdecn aelacring aelwkhwamokrthkyngepntwkahndphvtikrrmkxnrayacakknxikdwy 30 cacdxyuinklum C2 aebbkhla echy emux lksnathixacehnidchdthisudkhxngtharkklum C2 kkhuxkarxyuechy passivity phvtikrrmkarsarwckhxngtharkcacakdtlxdeknthwithini aelaphvtikrrmthangptismphnthkhxngtharkcakhxnkhangirkarerimthaxairexng xyangirkdi inrayakarklbmaecxkn tharkchdecnwatxngkarxyuiklaelakarekhahamarda aemwamkcaepnephiyngaekhkarsngsuximichkarekhaiphacring aelaprathwngkarthukwanglngaethnthicaphyayamcbimihplxyodytrng khuxodythwipaelw tharkklum C2 caimpraktwaokrthxyangchdecnethakbtharkklum C1 30 nganwicypi 2542 phbwa edkthithuktharuninwyedkmioxkasphthnakhwamphukphnaebbkhla aelaedkthimikhwamphukphnaebbkhlamioxkasmipyharksakhwamsmphnththiiklchidemuxepnphuihysungkwa 45 phngaesdngkardaeninngankhxngkhwamphukphnaebbwitkkngwl hlikeliyng khwamphukphnaebbwitkkngwl hlikeliyng aekikh tharkthimirupaebbkhwamphukphnaebbwitkkngwl hlikeliyng cahlikeliynghruximsnickhnduael odyaesdngxarmnnxymakemuxkhnduaelcakiphruxklbma aelacaimthakarsarwcmakimwaikhrcaxyuthinn tharkpraephthniepneruxngprisnainchwngtnkhristthswrrs 1970 ephraaimaesdngkhwamthukkhemuxthukphrak aelaimsnickhnduaelemuxklbma klumyxy A1 hruximkaesdngaenwonmkarekhahaphrxmkbaenwonmimsnicaelwhnhlngihkhnduael klumyxy A2 dr exnsewxrthaelaephuxnrwmngantngthvsdiwa phvtikrrmthiduehmuxncaimepnirkhxngedkcring aelwepnkarxaphrangkhwamthukkh sungepnsmmtithanthitxmaidhlkthanphankarsuksathitrwcxtrahwicetnkhxngthark 46 47 tharkcacdklumwaepnaebbwitkkngwl hlikeliyngemux cahlikeliyngaemxyangchdecninchwngmaecxknxiksungnacaepnaebbimsnicethxodysineching aemwaxaccaeminhnaipthangxun hnhlngih hruxhlikipcak thathkthayemuxaemklbma mkcaepnephiyngaekhmxnghruxyim tharkcaimekhahaaememuxecxknxik hruximkcaekhahaaebbkhad khuxedkcaedinphanaemip hruxwamkcaekidkhunhlngcakthitxngekliyklxmmak thaxum edkcaimaesdngphvtikrrmthirksakarxyudwykn khux mkcaimkxd hruxxaccamxngipthangxunaeladinthicalng 30 bnthukeruxngkhxng dr exnsewxrthaesdngwa tharkcahlikeliyngkhnduaelineknthwithisthankarnaeplkthikxkhwamekhriyd emuxmiprawtiprasbkbkarthukptiesthemuxaesdngphvtikrrmphukphn khux edkbxykhrngimidtamkhwamtxngkaraelaidklayipechuxwa karsuxkhwamtxngkarthangciticcaimmiphltxkhnduaelnksuksakhxng dr exnsewxrth khux s dr aemri emn ihsmmtithanwa phvtikrrmhlikeliyngineknthwithikhwrphicarnawaepn klyuthththimienguxnikh sungihphlkhdaeyngepnkaridkhwamiklchidmakthisudphayitsthankarnthithukaemptiesth odyimaesdngkhwamtxngkarkhwamphukphn 48 dr emnesnxwa karhlikeliyngthahnathisxngxyangsahrbtharkthikhnduaelimtxbsnxngtxkhwamtxngkarxyangsmaesmx xyangaerkkhux phvtikrrmhlikeliyngthaihtharksamarthrksakhwamiklchidxyangmienguxnikhkbkhnduael khux iklphxthicaidrbkarpxngkn aetiklphxthicahlikeliyngthukptiesth xyangthisxngkhux krabwnkarrukhidthiwangaephnphvtikrrmhlikeliyngxaccaepliynkhwamisicipcakkhwamtxngkarcaxyuiklkhnduaelthiimidtamtxngkar dngnnepnkarhlikeliyngsthankarnthiedkcarusukthukkhxyangkhwbkhumimid disorganised distress thiimsamarthaemaetkhwbkhumtnexngid aelathiimidaemaetxyuikl aemcamienguxnikh 49 khwamphukphnaebbimmiraebiyb immithisthang aekikh dr exnsewxrthepnnkwicykhnaerkexngthimipyhacdphvtikrrmtharkekhainhmwdhmu 3 xyangaerkthiethxesnx khux dr exnsewxrthaelakhnabangkhrngsngektehn karekhluxnihwaebbekhriydechnekrng ykihl examuxipiwthithaythxy aelathakhxaekhngepntn epnkhwamrusukthichdecnkhxngerawaxakarechnnihmaythungkhwamekhriyd ephraamkcaekidkhunodymakinrayathukphrak aelamkcaekidkxnkarrxngih cring aelw smmtithankhxngerakkhuxwamnekidkhunemuxedkphyayamcakhwbkhumkarrxngih ephraaxakarmkcahayipthaekidrxngih 50 khxsngektehlanikpraktinpriyyaniphnthkhxngnksuksakhxng dr exnsewxrthdwyyktwxyangechn withyaniphnthkhxng dr aephthriesiy khritethnedn ihkhxsngektwa intwxyangthiichinwithyaniphnthkhxngethx nksuksapriyyatriidlngrhstharkkhnhnungthithuktharunkrrmodycdwaxyuinklummnic B ephraatharkmiphvtikrrmthi imichkarhlikeliynghruxkarkhla ethxidaesdngxakarkhxaekhngthiaesdngxakarekhriydtlxdsthankarnaeplk aetwaphvtikrrmthimixyuthwipniaehla epntwchwyxyangediywthibxkthungkhwamekhriydkhxngethx 51 erimtninpi 2526 dr khritethnednidesnxhmwdhmuyxykhxng A C aelaxun dngthicaklawtxip swn dr emnidephimhmwdhmuthi 4 khux hmwd D odyxasyphvtikrrmthiimekhakbhmwd A B aela C 52 insthankarnaeplk khadwarabbkhwamphukphncathanganehtukarcakipaelaklbmakhxngphuduael thaphvtikrrmkhxngtharkimpraktwaprasanxyangkhlxngcxngknphanrayatang ephuxihidkhwamiklchidhruxkhwamiklchidodyepriybethiybkbphuduael kcaphicarnawaxyuinhmwd immiraebiyb sungbngthungkarkhdkhwanghruxkarthwmthnkhxngrabbphukphn echnodykhwamklw phvtikrrmtharkineknthwithisthankarnaeplkthilngrhsepn immiraebiyb immicudhmay rwmthngkaraesdngkhwamklwxyangotng karaesdngphvtikrrmhruxxarmntang thikhdaeyngkn odyaesdngxxkphrxm kn hruxtamladbkn karekhluxnihwxyangepnaebbxyang stereotypic xyangxsmmatr asymmetric xyangmicudhmayphidphlad misdirected hruxkratuk hruxtwaekhngaelaaeyktwcaksthankarn dissociation aetkminkwichakarthietuxnwa khwrekhaicwa 52 khxngtharkinklumimmiraebiybkyngekhahaphuduael hakarplxboyn aelacahyudepnthukkhodyimmiphvtikrrmaebbkhlahruxhlikeliyngxyangchdecn 53 mikhwamsnicephimkhunxyangrwderwineruxngkhwamphukphnaebbimmiraebiybthngcakphurksaphyabal phukahndnoybay aelankwicy 54 aetwa hmwdimmiraebiyb immicudhmay D thukwicarnwakwangekinip rwmthngody dr exnsewxrthexng 55 khuxinpi 2533 dr exnsewxrthekhiynihkarrbrxnghmwdhmu D aemwaethxcaennwa karephimkhwrphicarnawa yngepnpraednimyuti ephraaxaccaephimhmwdyxytang khuxethxkngwlwa rupaebbphvtikrrmhlayxyangmakekinipcaptibtiehmuxnkbepnxyangediywkn 56 aelacring aelw hmwd D rwmexatharkthiichklyuththaebbmnic B aebbkhad kbtharkthiducasinhwngaelaaesdngphvtikrrmphukphnthinxymak mnyngrwmedktharkthiwingipsxnemuxehnkhnduaelinhmwdediywknkbtharkthiaesdngphvtikrrmaebbhlikeliyng A inkarklbmaecxknkhrngaerk aelaaebbkhla khdkhun C inkarklbmaecxknkhrngthisxng odyxacepnkartxbsnxngtxpraednechnni cungmiphuekhiynthiaebngrhsklum D odyptibtitxphvtikrrmbangxyangwaepn klyuththaebbsinhwng strategy of desperation aelaaebbxunwarabbkhwamphukphnthukthwmthnipdwykhwamrusuk echnkhwamklwkhwamokrthepntn 57 nxkcaknnaelw yngmiphuthixangwa phvtikrrmbangxyangthicdhmwdwaimmiraebiyb immicudhmay samarthmxngwaepnrupaebbchukechinkhxngklyuththhlikeliynghruxkhla khdkhun aelathahnathiephuxrksakarpxngkncakkhnduaelodyradbhnung aelakmiphuthiehndwywa aemaetphvtikrrmphukphnaebbimmiraebiyb karekhahaaelahlikeliyngphrxm kn twaekhng epntn kyngsamarthihxyuikl inradbhnungemuxephchiykbphxaemthinaklwhruxekhaicyak 58 aetwa karsmmutiwa aebbyxykhxngaebbimmiraebiybhlayxyangepndantang khxngrupaebbthimiraebiybimidhamkaryxmrbaenwkhidekiywkbkhwamimmiraebiyb odyechphaainkrnithikhwamsbsxnaelakhwamepnxntraykhxngphyekinsmrrthphaphkhxngedkthicatxbsnxng 59 yktwxyangechn edkthiykihkhnxuneliyng odyechphaaemuxthamakkwakhrngediyw bxykhrngmikhwamkhid khwamrusukthikhdaeyngkn thiphbinwidioxkhxngeknthwithisthankarnaeplk khwamkhid khwamrusukmkcaekidkhunemuxedkthithukptiesth thuklathingcaekhahakhnaeplkhnaephraatxngkarihplxb khwbkhumtwimidaelwlmlngthiphun ephraarbkhwamklwtxkhnthiimruck xacepnxntray aelaaeplkhnaimid 60 dr emnaelaephuxnrwmngan 61 phbwa mardakhxngedkehlaniodymakekidkhwamsuyesiyhruxkarbadecbthangkayickxnhruxhlngthnthithikhlxdthark aelaidmiptikiriyaodymixakarsumesraxyangrunaerng 62 aelacring aelw aem 56 thiphxaemkhnidkhnhnungesiychiwitkxncborngeriynmthymplay txmacamilukthimikhwamphukphnaebbimmiraebiyb 61 aetngansuksatx ma aemwacaennkhwamsakhythiepnipidkhxngkarsuyesiythirusukxyangimcb kidihkhxaemtxkarkhnphbeyiyngni 63 yktwxyangechn nkcitwithyakhuhnungphbwa karsuyesiykhxngaemxyangrusukimcbsinmkcasmphnthkbkhwamphukphnaebbimmiraebiybinthark ktxemuxthaaemprasbkbkhwambadecbthangkayicxunthiyngimcbkxnkarsuyesiynn 64 rupaebbphayhlngaelaxun aekikh mikarphthnaethkhnikhthichwyihsamarthtdsinphawathangickhxngedkekiywkbkhwamphukphnid yktwxyangechn karihetimeruxng thielanithaninebuxngtnekiywkbpyhakhwamphukphnaelwihedkelatxihcb sahrbedkthiotkwa wyrun aelaphuihy xacichkarsmphasnkungmiokhrngthiwithikarsuxxaccasakhyethakbsingthisuxexng 65 aetwa kyngimmikarwdkhwamphukphninwyedkchwngklanghruxwyrunchwngtn xayupraman 7 13 pi thitrwcsxbkhwamsmehtusmphlaelw 66 ngansuksainedkotkwabangnganidkahndhmwdkhwamphukphnxun dr emnaelaephuxnrwmnganihkhxsngektwa phvtikrrmaebbimmiraebiybinwythark xacphthnaepnphvtikrrmaebbkhwbkhumhruxaebblngothsephuxbriharphuduaelthichwyxairimidhruxexaaenexanxnimidxyangepnxntray inkrniechnni phvtikrrmkhxngedkmiraebiyb aetnkwicyptibtitxmnehmuxnkbimmi klum D ephraawa ladbinkhrxbkhrwimidcdtamxanackhxngphxaemxiktxip 67 dr aephthriesiy khritethnedn idkhyayhmwdhmuephuxrwmrupaebbphvtikrrmphukphnaebbhlikeliyngaelakhlaaebbxun rwmthngphvtikrrmkhwbkhumaelalngothstamthi dr emnidphb klum A3 aela C3 tamladb aetkrwmrupaebbxun echn karthukbngkhbihthatamodyphxhruxaemthinaklw A4 68 aenwkhidkhxng dr khritethnednmacakkhaesnxkhxngoblbiwa insthankarnthukkhyakbangxyanginwyedk kareluxkewnkhxmulbangxyangxacepnkarprbtwthidi aetwa emuxthungwyrunaelawyphuihysthankarnkcaepliynip aelakarewnkhxmulpraephthediywknxyangkhngyunxaccaepnkarprbtwphid 69 dr khritethnednesnxwa xngkhprakxbphunthankhxngkhwamrusukmiphyinmnusyepnkhxmulsxngchnid 70 khxmulthangxarmn Affective information epnxarmnthikxkhunodysingthixacepnxntray xarmnechnkhwamokrthhruxkhwamklw inwyedknixacrwmxarmnthiekidkhuncakkarimxyukhxngphuthiphukphnodyimmikhaxthibay emuxtharktxngephchiykarduaelkhxngphxaemaebbimiwtxkhwamtxngkarhruxaebbptiesth klyuththxyanghnungephuxrksakarxyuikl khnthiphukphnkkhuxphyayamkacdcakcitichruxcakphvtikrrmthiaesdngxxk sungkaraesdngxarmnthixacmiphlihthukptiesth khwamrueruxngehtuhruxehtukarnthiepniptamladbxun ekiywkbkhwamplxdphyaelaxntraythixacepnipid inwyedk nixaccarwmkhwamruekiywkbphvtikrrmthibngwa phuthitidphnekhahaidephuxkhwamplxdphyhruxim thakhwamrueruxngphvtikrrmaesdngwa karxyuepnesahlkkhxngphuthiphukphnxaccaimkhngyun tharkkcaphyayamrksakhwamsnickhxngphuduaeliwodyekaatidhruxodyphvtikrrmkawraw hruxslbphvtikrrmthngsxngxyangnnphvtikrrmthiwaxacephimkarekhahakhnthiphukphnid phuthiimechnnnaelwkcatxbsnxngxyangimsmaesmxhruxxyangchwnihekhaicphidtxphvtikrrmphukphnkhxngthark sungaesdngkhwamechuxthuximidkhxngkarpxngknaelakhwamplxdphy 3 dr khritethnednesnxwa khxmulthngsxngchnidsamarthrangbimisichruximaesdngxxkthangphvtikrrm odyepnklyuththephuxrksakhwamekhahaphuthiphukphniwid khux klyuththaebb A aebbhlikeliyng snnisthanwa xasykarldkhwamrusukwamiphy ephuxldkhwamtxngkarcatxbsnxng aebbphukphn swnaebb C aebbwitkkngwl khla snnisthanwa xasykarephimkhwamrusukwamiphy ephuxephimkhwamtxngkarthicatxbsnxng 71 khux klyuththaebb A exakhwamrusukwamiphyxxkcakic aelaaebb C imsnickhwamruekiywkbwaphuthiphukphnsamarthekhathungidaekhihnaelathaim odyepriybethiybkn klyuththaebb B aebbmnic ichkhxmulthngsxngaebbodyimbidebuxnkhxmul 72 yktwxyangechn edkrunhdedinkhnhnungxacklaymaxasyklyuththaebb C khuxmixarmnekriywkradephuxrksakhnthiphukphniwikl phuthikhwamekhathungidxyangimaennxnthaihedkimechuxhruxbidebuxnehtuphlthangphvtikrrmkhxngphuduaelthiehnid sungxacthaihkhnduaelekhaickhwamtxngkardikhunaelaihkartxbsnxngthismkhwrtxphvtikrrmphukphn aelaemuxprasbkbkhxmulthiechuxthuxidphyakrnidekiywkbkarekhathungidkhxngphuduael edkkcaimtxngichphvtikrrmaebbbngkhbephuxrksakhwamekhathungidkhxngphuduaelxiktxip aelwcungsamarthphthnakhwamphukphnaebbmnicephraaechuxwakhwamtxngkaraelakarsuxsarkhxngtncaidkartxbsnxng khwamsakhykhxngrupaebb aekikh nganwicythiichkhxmulcakngansuksatamyaw echn National Institute of Child Health and Human Development Study of Early Child Care aela Minnesota Study of Risk and Adaption from Birth to Adulthood aelakhxmulcakngansuksatamkhwangaesdngxyangkhlxngcxngknthungkhwamsmphnthrahwangrupaebbkhwamphukphninebuxngtnkhxngchiwit kbkhwamsmphnthkbephuxntx mathngodyprimanaelaodykhunphaph yktwxyangechn nkcitwithyaphuhnungphbwa sahrbphvtikrrmthxyhang withdrawing behavior thiaemaesdngephimkhunaetlaxyangtxbsnxngtxphvtikrrmphukphnkhxngtharkinrahwangeknthwithisthankarnaeplk oxkasthiaephthycasngtxephuxkarrksaephimkhun ody 50 73 minganwicymakmaythiaesdngkhwamsmphnththisakhyrahwangrupaebbkhwamphukphnkbkarichchiwitkhxngedkinhlay dan 74 khwamphukphnaebbimmnicinchiwitebuxngtnimidhmaykhwamwacatxngmipyha aetmnepnoxkasesiyngtxedk odyechphaathaphvtikrrmkhxngphxaemepnxyangediywkntlxdwyedk 75 ethiybkbedkthiphukphnxyangmnic karprbtwkhxngedkthiimmnicinhlay dankhxngchiwitxaccaimmnkhng thaihkhwamsmphnthkbbukhkhltang khxngedkinxnakhtxacepnxntray aemwakhwamsmphnththiwayngimsamarthsrupidodynganwicy aelakyngmipccythimixiththiphlxun nxkcakkhwamphukphn aetedkthiphukphnxyangmnicmioxkassungkwathicamismrrthphaphthangsngkhmthidikwaephuxnthiimmnic aelakhwamsmphnththimikbephuxnmixiththiphltxkaridthksathangsngkhm phthnakarthangechawnpyya aelakarsrangexklksnthangsngkhmkarcdhmwdedkodysthanathangsngkhm ephuxnniym ephuxnimsnic ephuxnimyxmrb phbwasamarthphyakrnkarprbtwindantang id 65 edkthiimmnicodyechphaaaebbhlikeliyng esiyngtxehtuthiekidinkhrxbkhrwsung phvtikrrmthangsngkhmaelathangphvtikrrmkhxngedkxaccadikhunhruxaeylngtamthksakareliyngedkkhxngphxaem aetwa khwamphukphnaebbmnictngaettn duehmuxncamiphlpxngknodyrayayaw 76 aelaehmuxnkbkhwamphukphnkbphxaem prasbkarntx makxaccaepliynwithiphthnakarkhxngedkiddwy 65 ngansuksatang aesdngwa tharkthimioxkasesiyngorkhxxthisum Autism Spectrum Disorders sung xacaesdngkhwamphukphntangcaktharkthimioxkasesiyngnxy 77 minkwichakarthitngkhxsngsykbixediywa karphthnaxnukrmwithankhxnghmwdhmuthisathxnkhwamaetktangknkhxngkhwamphukphnsamarthepnipidcring ephraawa nganthitrwcsxbkhxmulcakedkxayu 15 eduxn 1 139 khnaesdngwa karaeprphnkhxngrupaebbkhwamphukphnepnaebbkracayipthwaethnthicaepnklum 78 sungtngkhathamsakhyineruxnghmwdhmukhxngkhwamphukphnaelaklikthangkayphaphthiepnmulthankhxngphvtikrrm aetwa niimepnpyhatxthvsdiodytrng ephraawathvsdi imidbngkhbihmihruxphyakrnrupaebbkhwamphukphnthirwmepnklum 79 mihlkthanbangwakhwamaetktangrahwangephsekiywkbrupaebbkhwamphukphn caerimekidkhuninwyedktxnklang khwamphukphnaebbimmnicaelakhwamekhriydthangcitsngkhminrayatn epntwchiwa edkmikhwamesiyngthangsingaewdlxm echn khwamyakcn khwamphidpktithangcit chiwitimmiesthiyrphaph khwamepnchnklumnxy pyhakhwamrunaerng khwamesiyngthangsingaewdlxmsamarthepnehtukhwamphukphnaebbimmnic aelayngkddnihmiephssmphntherwxikdwy odyklyuththkarsubphnthuthitangknrahwanghyingchay cathaihprbtwtangkn chaythiimmnicmkcaichklyuththaebbhlikeliyng ethiybkbhyingthiimmnicthimkichklyuththaebbwitkkngwl khlanxkcakcaxyuinsphaphaewdlxmthikhwamesiyngsungmak mikaresnxwaphthnakarthangephschwng Adrenarche epnklikthangtxmirthxthiepliynrupaebbkhwamphukphninwyedktxnklang rwmthngkhwamphukphnaebbimmnicdwy 80 khwamepliynaeplnginrahwangwyedkaelawyrun aekikhaebbcalxngichnganphayinthiepnpraoychntxkarsrangkhwamphukphn caphthnakhuninchwngwyedkaelawyrun odycasmphnthkbphawaciticthiphthnakhuntamkhwamphukphnodythwip aelaaesdngwakhwamphukphncathanganechnirphayinptismphnthkhxngkhwamsmphnthodyxasyprasbkarninwyedkaelawyrun karsrangaebbcalxngphayinphicarnawa naipsukhwamphukphnthiesthiyrkwainbukhkhlthiidphthnaaebbcalxngechnni ethiybkbbukhkhlthixasykhwamrusukinicephiyngxyangediywemuxsrangkhwamphukphnihm xayu phthnakarthangkarrukhid aelaprasbkarnthangsngkhmcaephimkarphthnaaelakhwamsbsxnkhxngaebbcalxngphayin odyphvtikrrmkhwamphukphncaldlksnabangxyangthipraktinwythark edk aelwephimlksnaxun tamxayu echn wykxnxnubalcamikarecrcaaelatxrxng 81 yktwxyangechn edk 4 khwbcaimthukkhephraakhwamphrakthaedkaelakhnduaelidecrcaaephnrwmkninkarcakknaelwmaphbknxik 82 ephuxnklayepneruxngsakhyinchwngwyedktxnklangaelamixiththiphlthiimehmuxnkbkhxngphxaem odyxudmkhtiaelw thksathangsngkhmehlanicarwmekhakbaebbcalxngphayin aelwsamarthichkbedkxun aelatxipkbephuxnemuxepnphuihy emuxedkekhaorngeriynemuxxayupraman 6 khwb odymakcaerimmikhwamsmphnthaebbepnhunswnthiprbepahmayidkbphxaem sunghunswnaetlakhncayxmpranipranxmepliynepahmayephuxrksakhwamphxickhxngthngsxngfay 81 aelaodywyedkchwngklang cudhmaykhxngrabbphvtikrrmphukphn caepliyncakkartxngxyuikl ipepnkarekhathungkhnthiphukphnid odythwipaelw edkcaphxickbkarcakknthinankwa thasamarthtidtxknid aemkrathngmaecxknxikthacaepn phvtikrrmphukphnaebbekaatidaelatamcaldlngaelacaphungtnexngidmakkhun odywyedkchwngklang xayu 7 11 khwb xaccaepliynepnkarkhwbkhumesahlkrwmkn thikhnduaelaelaedktxrxngwithikarkhuyknaelakarkhwbkhumduael emuxedkphthnamixisramakkhun 81 inphuihy aekikhthvsdikhwamphukphnidkhyayipichkbkhwamsmphnthaebboraemntikkhxngphuihyinchwngplaykhristthswrrs 1980 odymikarcaaenkhmwdhmu 4 xyang khux mnic secure witkkngwl mwwunway anxious preoccupied imsnic hlikeliyng dismissive avoidant aelaklw hlikeliyng fearful avoidant sungodyrwm khlxytamhmwdehlanikhxngthark khux mnic secure immnic khla insecure ambivalent immnic hlikeliyng insecure avoidant aelaimmiraebiyb immicudhmay phuihythiphukphnxyangmnicmxngtwexng khukha aelakhwamsmphnthrwmkninechingbwk odyrusuksbay thngkbkhwamiklchidaelakhwamepnxisraodysmdulknswnphuihythiwitkkngwl mwwunwaytxngkarkhwamiklchid karyxmrb aelakartxbsnxngcakkhusung klayepnkhnthitxngphungxasymakekinip mkcaechuxicnxykwa mimummxngthidinxykwaekiywkbtnaelakhu aelaxacaesdngxarmn khwamkngwl aelakhwamhunhnphlnaelnmakinkhwamsmphnthswnaebbimsnic hlikeliyngtxngkarkhwamepnxisrasung bxykhrngduehmuxncahlikeliyngkhwamphukphnthnghmd khuxmxngwachwytwexngid imxxnihwtxkhwamphukphnaelaimcaepntxngmikhwamsmphnththiiklchid mkcarangbkhwamrusukkhxngtn rbmuxkbkarthukptiesthodythatwexngihhangehincakkhukhwamsmphnththibxykhrngtnmikhwamehnimdiswnaebbklw hlikeliyngmkcarusukkhrung klang ekiywkbkhwamsmphnththiiklchid thngxyakcaidthngimrusuksbaykbkhwamiklchid mkcaimechuxickhusmphnthaelamkmxngtwexngwaimkhumkha odyehmuxnkbaebbimsnic hlikeliyng phuihypraephthnitxngkarkhwamiklchidthinxykwa aelacaybyngkhwamrusukkhxngtn 83 84 85 86 rupaebbkhwamphukphninrahwangkhurkcakmummxngkwang epniptamrupaebbkhwamphukphninthark aetwa phuihysamarthmiaebbcalxngichnganphayinhlayxyangsahrbkhwamsmphnthtang mikarsuksakhwamphukphninphuihyhlk sxngdan khux 1 thngkarcdraebiybaelaesthiyrphaphkhxngaebbcalxngichnganinicthiepnmulthankhxngsitlkarphukphn idrbkhwamsniccaknkcitwithyasngkhmthisnickhwamphukphnaebbkhurk 87 88 2 swnnkcitwithyaphthnakarphusnicsphaphcitickhxngbukhkhlineruxngkhwamphukphn catrwcsxbwakhwamphukphnthanganinptismphnthkhxngkhwamsmphnthxyangir aelamiphlechnirtxkhwamsmphnth aebbcalxngichnganiniccaesthiyrkwaemuxethiybkbsphaphciticekiywkbkhwamphukphnthiepliynipmabxykwaaetminkwichakarthiesnxwa phuihyimidmiaebbcalxngichnganephiyngaekhchudediyw inradbhnung camikdaelakhxsmmutichudhnungekiywkbkhwamphukphnodythwip inxikradbhnung kyngmikhxmulodyechphaa ekiywkbkhwamsmphnthaelaehtukarnekiywkbkhwamsmphnthhnung odyechphaa khxmulinradbtang imcaepntxngekhakn dngnn bukhkhlcungsamarthmiaebbcalxngichnganphayintang sahrbkhwamsmphnthtang 88 89 miaebbwdkhwamphukphnsahrbphuihyhlayxyang aebbthisamythisudepnkhathamthitxbexng aelakarsmphasnthiekharhs aebbtang phthnaephuxichepnekhruxngmuxnganwicy odymiepahmaytang ineruxngtang echn ephuxkhwamsmphnthaebbkhurk khwamsmphnthkbphxaem aelakhwamsmphnthkbephuxn mibangxyangthicdhmwdsphaphickhxngphuihyekiywkbkhwamphukphnaelarupaebbkhwamphukphnodyxangprasbkarninwyedk inkhnathixyangxunpraeminphvtikrrmkhwamphukphnaelakhwammnicekiywkbphxaemaelaephuxn 90 prawti aekikhkarkhadaem aekikh khwamkhidinebuxngtnkhxngthvsdi Object relations theory khxngsakhacitwiekhraah mixiththiphltxcxhn oblbimak aetwa ekhakyngimehndwykbkhwamechuxthangcitwiekhraahwa kartxbsnxngkhxngtharkepneruxngchiwitcintnimitinphayinaethnthicaepnehtukarncring inchiwit emuxoblbikalngsrangixediykhxngekha ekhaidxiththiphlcakngansuksaekhskhxngedkthimipyhahruxthaphidkdhmay dngnganthiphimphinpi 2486 aela 2488 91 92 edkswdmntthisthaneliyngedk Five Points House of Industry residential nursery pi 2431 thvsdikhadaemthioblbiphimphinpi 2494 idptiwtikarichsthanthieliyngedktxma nkwichakarrwmsmykhnhnungkhxngoblbiidsngektehnkhwamesraoskkhxngedkthiphrakcakphxaem aelwesnxwamiphlepnphisthangcit psychotoxic cakprasbkarneliyngedkthiimehmaasm 93 94 aelankcitwiekhraahephuxnrwmngankhxngoblbikhnhnungidthayphaphyntrphlkhxngkarphrakcakphxaemkhxngedkinorngphyabal sungtxmathanganrwmkninpi 2495 ephuxsrangphaphyntrsarkhdi edksxngkhwbiporngphyabal A Two Year Old Goes to the Hospital sungepnekhruxngmuxsakhyephuxrnrngkhihepliynkhxcakdkareyiymedkinorngphyabalkhxngphxaem 95 inexksarthiekhaekhiynephuxxngkhkarxnamyolkinpi 2494 karduaelkhxngaemaelasukhphaphcit Maternal Care and Mental Health oblbiidesnxsmmtithanwa tharkaelaedkelk khwrcaprasbkbkhwamsmphnththixbxun iklchid aelatxenuxngkbaem thithngsxngcaphbkhwamphxicaelakhwamsukh sungthakhadaelwxacmiphlthangsukhphaphcitthisakhyaelaaekimid sungtxmaphimphepnexksarsatharnchnchuxwa karduaeledkaelakarephimphunkhwamrk Child Care and the Growth of Love smmtithanhlkkhxngexksarepneruxngthrngxiththiphlaetkkxihekidkhwamkhdaeyngmak 96 ephraawa inchwngnn mihlkthanthangprasbkarnthinxymakaelaimmithvsdithikhrxbkhlumthisamarthxthibaykhxsrupechnniid 97 xyangirkdi thvsdikhxngoblbiidsrangkhwamsnicxyangphxsmkhwrineruxngthrrmchatikhxngkhwamsmphnthintnchiwit epnaerngkratunihekidnganwicyxyangmakmayinpraednthiyakaelasbsxn 96 ngankhxngoblbi aelahnngkhxngephuxrwmngan epnehtukarptiwtikareyiymedkthiorngphyabalkhxngphxaem karcdetriymihedkelninorngphyabal karichsthaneliyngedkephuxkhwamcaepnthangkarsuksaaelathangsngkhm txma inpraethsphthnaodymak sthaneliyngedkkaphracungelikichepliynepnkariheliyngedkinbanaethn 98 txcakkarphimphbthkhwamehlann oblbiidsubhakhwamekhaicihm caksakhachiwwithyaechingwiwthnakar phvtikrrmwithya citwithyaphthnakar prachansastr aelathvsdirabbkhwbkhum aelwesnxxyangsrangsrrkhwa klikthiepnehtukhwamphukphnkhxngtharktxphuduaelekidcakkhwamkddnthangwiwthnakar ekhacungiderimsrangthvsdiekiywkbkarkhwbkhumaerngcungicaelaphvtikrrmthangwithyasastraethnthicatxetimaebbcalxngthangcitkhxngsikmund frxyd oblbiidxangwa thvsdikhwamphukphnepntwaek khwamkhadkhxmulaelakhadthvsdi thismphnthkbehtuaelaphlthixang inexksar karduaelkhxngaemaelasukhphaphcit 99 phvtikrrmwithya aekikh karsarwckhxngtharkcamakwaemuxphuduaelxyuikl ephraarabbkhwamphukphnimtxngthangan edkcungepnxisraephuxcasarwc oblbierimsnicineruxngphvtikrrmwithyacakxiththiphlkhxngnkwichakar 3 than rwmthngkhxnaerd lxerns 100 Nikolaas Tinbergen aela Robert Hinde 101 102 odypi 2496 oblbiidklawwa thungewlaxnkhwraelwephuxrwmaenwkhidthangcitwiekhraahkbaenwkhidthangphvtikrrmwithya 103 khxnaerd lxernsidtrwcsxbpraktkarnkarfngic imprinting sungepnphvtikrrmthiechphaakbstwpikaelastweliynglukdwynmbangchnid epnkareriynruodykarrucaxyangrwderwkhxngstwelk imwacaepnkbstwchnidediywknhruxkbwtthuthiethiybknidxun sungemuxcaidaelw stwmkonmexiyngthicatidtamkareriynrubangxyangepnipid aelwaetlaxyang phayinchwngrayaxayucakdthieriykwa critical period aenwkhidkhxngoblbirwmixediywa khwamphukphnepnkareriynrucakprasbkarninchwngxayuthicakd odymixiththiphlcakphvtikrrmkhxngphuihy aemekhacaimidichixediyekiywkb imprinting odytrngkbmnusy aetekhakphicarnawaphvtikrrmphukphnxthibayiddithisudwaepnsychatiyan rwmkbphlthangprasbkarn odyennkhwamphrxmepliynthiedkmiephuxkarptismphnththangsngkhm 104 emuxtxmachdecnwa thvsdi impriting aetktangmakkwakhlaykhlungknkbthvsdikhwamphukphn cungelikichkarsuksaaebbepriybethiybkn 22 nkphvtikrrmwithyaidtngpraednwa nganwicythiepnmulthankhxngthvsdimihlkthanephiyngphxhruxim odyechphaakarnanycakphvtikrrmstwmakhyayichinmnusy 105 106 yngminkphvtikrrmwithyathiwicarnkarichhlkphvtikrrmwithyainthvsdikhwamphukphnwa imtidtamkhwamkawhnaihm thiekidkhuninsastr 107 nxkcaknn rupaebbphvtikrrmthiichepntwbngchikhwamphukphnkkhyayephimkhuninchwngkhristthswrrs 1960 aela 1970 sungnkphvtikrrmwithyakidtngkhwamsngsy 108 kwangmusthieliyngdwynmkhwdniidekidkhwamphukphnkbkhnduael ngansuksainedkelk insthanthithaehmuxnsthancringidaesdngphvtikrrmxyangxunthixacepntwbngchikhwamphukphn yktwxyangechn xyuikl aemodyaemimtxngphyayamthaxair ekbkhxngelk aelwnamaihaemaetimihkhnxun 109 aemwankphvtikrrmwithyamkcaehndwykboblbi aetkyunynihhakhxmulephim odykhankarekhiynkhxngnkcitwithyawaehmuxnknmi xairbangxyangthiepn khwamphukphn nxkehnuxipcaksingthiwdaelaehnid 110 aetwa kminkphvtikrrmwithya Robert Hinde thiphicarnakhawa rabbphvtikrrmphukphn attachment behaviour system waepnkhathiehmaasmodyimmipyhaxyangediywkn ephraawamnhmaythungrabbkhwmkhumsmmutithikahndkhwamsmphnthrahwangphvtikrrmtang kn 111 karxphyphhlbphykhxngedknkeriynyipunthiyim inchwngsngkhramolkkhrngthisxngcakhnngsux thnnsuhayna Road to Catastrophe citwiekhraah aekikh aenwkhidthangcitwiekhraahmixiththiphltxmummxngeruxngkhwamphukphnkhxngoblbi odyechphaasngektkarninedkelk thithukphrakcakkhnduaelthikhunekhyinchwngsngkhramolkkhrngthisxng 112 aetwa oblbiptiesthkhaxthibaythangcitwiekhraahekiywkbkhwamphukphnkhxngedktharkrwmthng drive theory sungaesdngwaaerngcungicinkarphukphnmacakkarsnxngkhwamhiwaelasychatyanthangephs inaenwkhidkhxngekha aenwkhidcitwiekhraahnilmehlwephraaimehnkhwamphukphnwa epnpraktkarnthangcitxikxyangthinxkehnuxipcaksychatyankarkinaelaeruxngephs 113 odyxasyaenwkhidcakthvsdiwiwthnakar oblbiidrabusingthiekhaehnwaepnkhwamphidphladkhnphunthankhxngcitwiekhraah sungkkhux karennwaepnphyphayinimichepnphyphaynxkmakekinip aelamummxngwabukhlikphaphphthnaepnraya epnaenwesntrng odyxacyxnklb regression ipyngcudidcudhnungemuxekidkhwamthukkhoblbiesnxwa phthnakarthiaeykepnhlayesnepnipid aelaphlthiidcakhunxyukbptismphnthrahwangsingmichiwitkbsingaewdlxm inthvsdikhwamphukphn nihmaykhwamwaaemwaedkmiaenwonmthicaekidkhwamphukphn aetthrrmchatikhxngkhwamphukphnkhunxyukbsingaewdlxmthiedkid 114 erimtngaetrayatnkhxngkarphthnathvsdi mikhxwicarnwathvsdiimekhakbsakhatang khxngcitwiekhraah aenwkhidkhxngoblbithaihekhathukwicarnodykhnthimichuxesiyngxun thikalngthanganineruxngediywkn 115 116 117 aebbcalxngichnganphayin aekikh nkprchyakhnhnung Kenneth Craik idihkhxsngektekiywkbkhwamsamarthkhxngkhwamkhidthicaphyakrnehtukarn sungekhaennwamikhunkhathangkarxyurxdaelacamikarkhdeluxkodythrrmchatisahrbkhwamsamarthni aebbcalxngichnganphayin internal working model chwyihbukhkhllxngtamthangeluxkinic odyichkhwamruinxditephuxtxbsnxngtxehtukarnpccubnaelaxnakht oblbiidichaenwkhidnikbkhwamphukphn emuxnkcitwithyaphwkxunkalngichaenwkhidnikbkarrbruaelakarrukhidkhxngphuihy 118 aebbcalxngichnganphayinkhxngtharkcaphthnakhuntamprasbkarnkhxngphlthiidrbemuxphyayamekhaipxyuikl thaphuduaelyxmrbphvtikrrmechnniaelwihoxkas tharkkcaphthnakhwamphukphnaebbmnic thakhnduaelimihoxkasxyangkhngthikhngwa rupaebbhlikeliyngkcaekidkhun aelathaphuduaelihoxkasaetimsmaesmx aebbkhlakcaekidkhun 119 swninmarda aebbcalxngichnganphayinthixanwyihekidkhwamsmphnthaebbphukphnkbtharkkhxngethx casamarthekhathungidodytrwcekhruxnghmaythangcitthiepntwaethnsingphaynxk mental representation a 122 123 nganwicythitiphimphpi 2558 aesdngwa karxthibayehtuinehtukarnkhxngaem attribution thiichbngchiekhruxnghmaythangcitthiepntwaethnsingphaynxk mental representation samarthsmphnthkborkhcitkhxngaembangxyang sungsamarthepliynidphayinrayakhxnkhangsnodyichkaraethrkaesngthangcitbabd 124 krafaesdngkarkracaytwkhxngrupaebbkhwamphukphninpraethsshrthxemrika eyxrmni aelayipun karphthna aekikh inchwngkhristthswrrs 1970 pyhainkarmxngkhwamphukphnwaepnlksnanisy trait khuxlksnathikhxnkhangesthiyrinbukhkhl aethnthicaepnrupaebbphvtikrrmxyanghnung thimihnathiaelaphlthiihthungepahmay thaihnkwichakarbangthansrupwa phvtikrrmkhwamphukphnkhwrcaekhaicodyhnathikhxngmntxchiwitkhxngedk 125 aenwkhidniehnkhwamepnesahlkkhxngphuduaelwaepneruxngsakhythangtrrka txkhwamkhlxngcxngkn aelatxsthanakhxngthvsdikhwamphukphn inthanaepnbthsrang construct thichwycdraebiyb 126 dngnn cungmikartrwcsxbwa khwamphukphncaehmuxnkninmnusywthnthrrmtang hruxim 127 nganwicyphbwa aemcamikhwamaetktangthangwthnthrrmbang aetrupaebbphunthan 3 xyang khux mnic secure hlikeliyng avoidant aelakhla ambivalent samarthphbidinthukwthnthrrmthisuksa aemkrathnginwthnthrrmthikarnxnxyurwmkncaepneruxngpkti nganwicyaesdngwa rupaebbkhwamphukphnehmuxnkninwthnthrrmtang aemwakaraesdngkhwamphukphnxaccatangknbang edkinwthnthrrmtang thisuksamkmirupaebbkhwamphukphnaebbmnic sungepnthiekhaicidephraathvsdikhwamphukphnkahndwa tharkcaprbtwihekhakbsingaewdlxmodyeluxkklyuththphvtikrrmthidithisud 128 aetkaraesdngkhwamphukphncatangkninwthnthrrmtang sungepneruxngtxngkahndkxncathanganwicyindanxun yktwxyangechn khn Gusii thktharkdwykarcbmuxaethnthicakxd dngnn tharkthiphukphnaebbmniccahwngaelasubhaphvtikrrmechnni aelawthnthrrmtang mixtrakarkracaykhxngrupaebbthiimmnictang knkhunxyukbwithieliyngedk 128 inpi 2517 nkcitwithyakhnhnung Michael Rutter suksakhwamsakhyinkaraeykaeyarahwangphlkhxngkarkhadkhwamphukphntxphthnakarthangechawnpyya kbphltxphthnakarthangxarmninedk 129 ekhaidsrupwa lksnakhxngaemtxngmikarrabuaelaaeykaeyakxnthicamikhwamkawhnaineruxngnipyhaihythisudtxaenwkhidwathvsdinithwipinmnusythnghmdmacakngansuksathithainpraethsyipun sungxangwaaenwkhideruxng amae mibthbathsakhyemuxklawthungkhwamsmphnthinkhrxbkhrw khux amae epnphvtikrrmthibukhkhlaesdngemuxeriykrxngihbukhkhlthimixanackwa echn phxaem khukhrxng khru hruxecanayihchwyduaeltnexng sungxaccaepnkarkhxhruxaemaetthangxnodyruwaphvtikrrmcamiphltamthitxngkar dngnn cungmikhxkhdaeyngwa eknthwithisthankarnaeplkichidhruximinthithi amae epnphvtikrrmpktithungechnnn nganwicyodymakmkcayunynkhwamthwipkhxngthvsdiniinwthnthrrmtang 128 nganwicylasudpi 2550 thithainnkhrspopaoraphbwa karkracaytwkhxngphvtikrrmkhwamphukphnthisuksaekhakbeknthpktithwolk odyichaebbwd six year Main and Cassidy scoring system 130 131 nkwichakarthiimehndwyinkhristthswrrs 1990 echn dr cudith aehrris s dr stiefn phingekxr aela s dr ecorm ekhaekn odythwiptngkhwamsngsyineruxngtharkniytiniym infant determinism thithkpraednwaepneruxngkhxngkrrmphnthuhruxkareliyngdu khuxsngsykarennphlkhxngprasbkarnthiidphayhlngtxbukhlikphaphkhxngedk 132 133 134 odyepnkaresrimnganeruxngphunxarmnaetkaenid temperament dr ekhaeknimehndwykbkhxsmmutithangphvtikrrmwithyaekuxbthukxyangthithvsdikhwamphukphnmimulthan khux dr ekhaeknxangwa krrmphnthusakhytxphthnakarmakkwaphlaebbchwkhrawcaksingaewdlxmthimiinebuxngtnchiwit yktwxyangechn edkthimiphunxarmnaetkaenidimdi caimchwnihphuduaeltxbsnxngaebbiwkhwamrusukaetkhwamkhdaeyngniidthaihekidnganwicyaelakarwiekhraahkhxmulcakngansuksatamyawthikalngephimphunkhuntx ma aelangankimidphbhlkthanyunynkhxxangkhxng dr ekhaekn sungxaccahmaykhwamwa mnkhunxyukbphvtikrrmkhxngphuduaelthicasrangsitlkhwamphukphninedk aetwakaraesdngxxkxaccatang knipenuxngcakphunxarmnaetkaenidkhxngedk 135 swn dr aehrrisaela dr phingekxr idesnxaenwkhidwa xiththiphlkhxngphxaemtxedkklawknekincring odyxangwa krabwnkarekhasngkhmkhxngedkekidkhunodyhlkinklumephuxn micnthungnkwichakarthiidsrupwa phxaemaelaephuxnmihnathitangkn aelamibthbaththitangkninphthnakarkhxngedk 136 nkcitwithya citwiekhraahkhuhnung Peter Fonagy aela Mary Target idphyayamechuxmthvsdikhwamphukphnaelacitwiekhraahihiklknyingkhunphanaenwkhidthangprasathwithya khux thvsdicit theory of mind mentalization sungepnsmrrthphaphkhxngmnusythicakhadedakhwamkhid khwamrusuk aelakhwamtngicthiepnehtukhxngphvtikrrmaemthilaexiydxxnechn sihna khxngkhnxun odysamarthedaxyangaemnyacnthungradbhnung 137 mikarekngwakhwamechuxmtxrahwangthvsdicitaelaaebbcalxngichnganphayinxacthaihekidkarsuksaineruxngihm sunginthisudcaepntwepliynthvsdikhwamphukphn 138 erimtngaetplaykhristthswrrs 1980 thvsdikhwamphukphnaelacitwiekhraahkidsmphnthiklchidknyingkhun odyehtukhwamkhidthimirwmknkbnkthvsdiaelankwicyeruxngkhwamphukphn aelakhwamepliynaeplngsakhythiekidincitwiekhraah khux aebbcalxngthangcitwiekhraahkhux Object relations sungennkhwamsakhykhxngkhwamsmphnthkbkhnxunodyechphaa idklayepnthvsdihlk sungechuxmkbkhwamekhaicthikalngephimkhuninwngcitwiekhraah thungkhwamsakhykhxngphthnakarkhxngtharkodykhwamsmphnthaelaodyekhruxnghmayphayinthiepntwaethnsingphaynxk a khux wngkarcitwiekhraahidyxmrbsphaphaewdlxminchiwitebuxngtnwaepntwkarinphthnakarkhxngedk rwmthungpyhakarbxbchathangciticinwyedkdwy dngnn cungekidkhaxthibaythangcitwiekhraahineruxngrabbkhwamphukphnaelawithikarrksa odyekidkhunphrxmkbkhwamekhaicwacaepntxngmikarwdphlkhxngkarrksa 139 nkwichakarthiidtrwcsxbkhwamphukphninwthnthrrmthiimichkhxngkhntawntk idsngektehnkhwamekiywkhxngknrahwangthvsdikhwamphukphnkbkhrxbkhrwchawtawntk aelakbrupaebbkareliynglukthithwipinsmykhxngcxhn oblbi praednhnungthinganwicyephngkkhuxpyhakhxngedkthimiprawtikhwamphukphnthiimdi rwmthngedkthiduaelodykhnxunimichphxaem khwamkngwleruxngihkhnxunduaeledkkhxnkhangrunaernginpraethstawntkchwngplaykhristsswrrsthi 20 sungminkwichakarbangthanthiennphlxntraykhxngsthanthieliyngedk 140 odyepnphlcakkhwamkhdaeyngechnni karfukkhnduaeledkcungiderimennpraednkhwamphukphn rwmthngkhwamcaepnthicasrangkhwamsmphnthkbedkodyihmikhnduaelkhnidkhnhnungodyechphaa aemwa nacamiephiyngsthaneliyngedkkhunphaphsungethannthisamarththaxyangniid aettharkkidrbkarduaelxyangphukphndikhuninsthanthieliyngedkethiybkbinxdit 141 karthdlxngthiepnexngtamthrrmchatithaihsamarththakarsuksaxyangkwangkhwanginpraednkhwamphukphn emuxnkwicytidtamedkkaphrachawormaeniyepnphn thiidrbeliyngepnlukinkhrxbkhrwchawtawntkhlngyutikarpkkhrxngkhxngpraethsodynayniokhil echaechsku klumnkwicytidtamedkbangkhncnthungchwngwyrun ephuxphyayamikhphlkhxngkhwamphukphnthiimdi karrbeliyngepnbutr khwamsmphnthihm pyhathangkayaelathangkaraephthythismphnthkbchiwitinebuxngtn ngansuksaedkthiidrbeliyngehlani thimisphaphebuxngtnthinatkic miphlthiihkhwamhwng khux edkcanwnmakphthnakhunidepnxyangdi sungnkwicyihkhxsngektwa karphrakcakkhnthikhunekhyepnephiyngaekhpccyediywinpccyhlayxyangthikahndkhunphaphthangphthnakarkhxngedk 142 aemwacaphbrupaebbkhwamphukphnaebbimmnicthiimthwip atypical insecure attachment inxtrathisungkwaedkthiekidinpraethshruxthirbeliyngemuxedkkwa edkthirbmaeliyngemuxotkwapraman 70 imaesdngphvtikrrmthiaesdngkhwamphukphnphidpktithirunaernghruxchdecn 74 nkwichakarthiidtrwcsxbkhwamphukphninwthnthrrmthiimichkhxngkhntawntksngektehnkhwamekiywkhxngrahwangthvsdikhwamphukphnkbkhrxbkhrwchawtawntk aelakbrupaebbkareliynglukchawtawntkthithwipinsmykhxngcxhn oblbi 143 emuxkarduaeledkepliynip prasbkarnthangkhwamphukphnkhxngedkkxacepliynipdwy yktwxyangechn karepliynthsnkhtithangsngkhmeruxngthangephskhxnghying idephimedkepncanwnmak phuxyukbaemthiyngimekhyaetngnganhruxphuidrbkarduaelnxkbanemuxaemipthangan khwamepliynaeplngthangsngkhmechnnithaihphuthiimmiluk labakinkarrbtharkmaeliynginpraethskhxngtnmakkhun idmikarrbedkthiotkwamaeliyngephimkhun aelaidedkmacakpraethsthikalngphthnaephimkhunsahrbpraethsthiphthnaaelw aelakarrbedkmaeliyngaelakarihkaenidedkinkhuchiwitephsediywknkidephimkhunaelaidrbkarrbrxngpxngknthangkdhmay ethiybkbsthanathitangkninchwngsmykhxngoblbi 144 miphuthiykpyhawa lksnakhwamphukphnthiaebngepnsxng dyadic model khxngthvsdiimsamarthxthibaykhwamsbsxnkhxngprasbkarnthangsngkhminchiwitcring id ephraawatharkbxykhrngmikhwamsmphnthkbkhnhlaykhninkhrxbkhrwaelainsthanthieliyngedk 145 aelakhwamsmphnthkbkhntang camixiththiphltxknaelakn xyangnxykphayinkhrxbkhrw 146 hlkthvsdikhwamphukphnidichxthibayphvtikrrmthangsngkhmkhxngphuihy rwmthngkarcbkhu phawakhwamepnedninsngkhm social dominance okhrngsrangxanacthiaebngepnchn karrabukhnphwkediywkn 147 karrwmmuxinklum kartxrxngephuxkaraelkepliyn karphungphaxasykn aelakhwamyutithrrm 148 epnkhaxthibaythiichxxkaebbkarfukxbrmphxaeminkarduaelluk aelaprasbkhwamsaercepnphiessinkarxxkaebbopraekrmpxngkntharunkrrmtxedk 149 aemwacaminganmakmayhlaypraephththisnbsnunhlkphunthankhxngthvsdikhwamphukphn aetnganwicykyngimsamarthsrupidwa khwamphukphninchiwitebuxngtnthiraynganexng smphnthkbkhwamsumesrathiekidkhunphayhlnghruxim 150 chiwwithyakhxngkhwamphukphn aekikhnxkcakcamingansuksatamyawtang aelw yngminganwicythangcitsrirwithyaekiywkbchiwwithyakhxngkhwamphukphndwy 151 rwmthngdankaretibotthangsmxng neural development 152 phnthusastrthangphvtikrrm aelaaenwkhidphunxarmnaetkaenid temperament 135 odythwipaelwphunxarmnaetkaenidaelakhwamphukphnepnkhnlaeruxngkn aetwadantang khxngaenwkhidthngsxngmiphltxphthnakarrahwangbukhkhlaelaphayinbukhkhl 135 phunxarmnaetkaenidbangxyangxacthaihbukhkhlesiyngtxkhwamekhriydthiekidcakkhwamsmphnththiechuxicimidhruxepnptipkskbkhnduaelinchiwittn 153 emuximmiphuduaelthiekhathungidhruxiwkhwamrusuk edkbangkhnpraktwaesiyngtxkhwamphidpktithangkhwamphukphn attachment disorder 154 inkarwicythangcitsrirwithya praednsuksahlkkkhux kartxbsnxngodyxtonwti echn karetnhwichruxkarhayic aelakarthangankhxngsmxngekhtaeknihopthalams phithuxithari xadrinl mikarwdkartxbsnxngthangsrirphaphkhxngtharkemuxkalngthaeknthwithisthankarnaeplk ephuxtrwcsxbkhwamaetktangrahwangbukhkhlinphunxarmnaetkaenidkhxngthark aelakhxbekhtthikhwamphukphnxacepntwchwybrretha mihlkthanwa karduaelthidimiphltxphthnakarkhxngrabbprasaththikhwbkhumkhwamekhriyd 151 xikpraednhnungkkhuxbthbathkhxngpccythangkrrmphnthutxrupaebbkhxngkhwamphukphn yktwxyangechn phawaphhusnthankhxngkarekharhskhxngyintwrbodpamin D2 smphnthkbkhwamphukphnaebbwitkkngwl aelakhxngyintwrbesothnin 5 HT2A smphnthkbkhwamphukphnaebbhlikeliyng 155 sungaesdngwa xiththiphlkhxngkarduaelkhxngaemtxkhwamphukphnaebbmnic immnickhxngedkimichehmuxnknthukkhn minkwichakarthiesnxwa mnepneruxngsmehtusmphlthangchiwphaphthiedkcaidrbxiththiphlcakkarduaelinradbtang kn ephraakhwamtang knehlanisamarthmxngidwaepnkarprbtwthiihphlbwkthangsngkhmaelathangkayphaphodykhunxyukbsingaewdlxmthangsngkhm thitang kn 156 157 karprayuktich aekikhodyepnthvsdiphthnakarthangsngkhm xarmnxyanghnung thvsdikhwamphukphnaesdngnythinaipprayuktichidinnoybaythangsngkhmkhxngrth inkartdsiniceruxngkarduael eruxngswsdiphaph aelaeruxngsukhphaphcitkhxngedk noybayduaeledk aekikh noybaythangsngkhmekiywkbkarduaeledkepnaerngcungichlkthicxhn oblbiphthnathvsdikhwamphukphnkhun swnthiyakkkhuxkarprayuktichaenwkhidinnoybayaelakarptibticring 158 inpi 2551 satracarycitaephthyedkchawxemrikn C H Zeanah aelaephuxnrwmnganklawwa karsnbsnunihmikhwamsmphnthrahwangphxaem luktngaettnchiwiterimklayepnepahmayednkhxngphuthakarthangsukhphaphcit phuihkhwamduaelinchumchn aelaphukxtngnoybay thvsdiaelanganwicyekiywkbkhwamphukphnidaesdngaenwkhidtang ekiywkbphthnakarkhxngedkinrayatn aelaidcudchnwnihsrangopraekrmsnbsnunkhwamsmphnthrahwangedk phxaemtngaettn 159 odyprawtiaelw thvsdikhwamphukphnmiphlsakhythangnoybaysahrbedkthixyuinorngphyabalhruxxyuinsthansngekhraahduael aelasahrbedkthixyuinsthanthieliyngedkthimikhunphaphimdi 160 swnpraednthiyngimyutikkhux karduaelkhxngkhnthiimichaem odyechphaathithaepnklum camiphlxntraytxphthnakarthangsngkhmkhxngedkhruxim mnchdecninnganwicywa karduaelthiimdikxkhwamesiyng aelaphuthiidkarduaeldikidphldiaemwayakthicaihkarduaelthidiodythaepnraybukhkhl insthanthi thaepnklum echninsthanthieliyngedkepntn 158 thvsdikhwamphukphnmiphltxkhdiphiphatheruxngkarkahndthixyukhxngedkaelaoxkaskareyiymlukhlngphxaemhyakn 160 aelatxphxaemthirbedkxunmaeliyng inxdit odyechphaainthwipxemrikaehnux thvsdithiichepnokhrngkhuxcitwiekhraah aetthvsdikhwamphukphnidthdaethnthvsdicitwiekhraahephimkhuneruxy dngnncungepliynipmungthikhunphaphaelakhwamsubtxkhxngkhwamsmphnthkbphuduael aethnthicamungkhwamepnxyuthangthanahruxsiththithiidkxnkhxngbukhkhlidbukhkhlhnung echn khxngaemthikhlxdbutr inpi 2542 nkcitwithyakhnhnung Michael Rutter ihkhxsngektwainshrachxanackrtngaetpi 2523 salkhrxbkhrwidepliynipxyangsakhyepnkaryxmrbkhwamsbsxnthangkhwamsmphnththimacakkhwamphukphn 161 edkmkcaphukphnkbthngphxaemaelabxykhrngkbpuyatayayaelayatixun emuxtdsin saltxngphicarnaeruxngnirwmthngxiththiphlcakkhrxbkhrwihm thvsdikhwamphukphnepnhlksakhythiennkhwamsmphnththangsngkhmaebbphlwtaethnthicaepnxairthixyuning 158 thvsdiyngsamarthchwytdsinicinngansngekhraahsngkhm odyechphaathichwybukhkhlihekhathungskyphaphkhxngtninchiwit humanistic social work 162 163 aelakrabwnkarthangkdhmaythitdsiniheliyngedkhruxsngedkipxyuinthitang ephraawakarphicarnakhwamcaepnthangkhwamphukphnkhxngedksamarthchwykahndkhwamesiyngthiekidcakkhxtdsin 164 165 ineruxngrbedkepnbutrbuythrrm karepliynkarrbaebbpid imbxkihedkruthungyaticring ipepnaebbepid aelakarihkhwamsakhyinkarsubhaphxaemcring epneruxngthikhadhwngidodyxasythvsdi aelakminkwicythithanganinsakhathiidrbxiththiphlcakthvsdixyangsung 158 edkmkcaphukphnkbthngphxaemaelabxykhrngkbpuyatayayaelayatixun karrksaedk aekikh aemwathvsdikhwamphukphncaidklaymaepnthvsdisakhythangwithyasastrineruxngphthnakarthangsngkhm xarmn odymikarwicythikwangkhwangthisudinsakhacitwithyaaebbpccubn aetwamnkimidichinkarrksaedkcnkrathngemuximnanni sungswnhnungxacepnephraaoblbiimidsniceruxngkarrksa aelaxikswnhnungenuxngcakkhwamhmaythikwangkhwangkhxngkhawa attachment khwamphukphn inhmuphuthakarrksa aelaxacepnephraakarsmphnththvsdikbwithikarrksathiepnwithyasastrethiymsungeriykxyangihekhaicphididngaywa attachment therapy 166 karpxngknaelakarrksa aekikh inpi 2531 cxhn oblbiidephyaephrelkechxrchudhnungthibngchiwa thvsdiaelanganwicyekiywkbkhwamphukphnsamarthichephuxekhaicaelababd thngedkaelakhwamphidpktiinkhrxbkhrwidxyangir ekhaphungkhwamsnicipthikarepliynaebbcalxngichnganphayinkhxngphxaem phvtikrrmkhxngphxaem aelakhwamsmphnthkhxngphxaemkbphurksa 167 nganwicythiyngepnipxyuidsrangwithikarrksaaebbraybukhkhlaelaopraekrmkarpxngknaelakaraethrkaesng 167 mithngkarrksaraybukhkhl opaekrmsatharnsukh aelaaemaetopraekrmkaraethrkaesngxxkaebbsahrbphxaembuythrrmthirbeliyngduedk sahrbtharkaelaedkelk khwamsnicxyuthikarephimkartxbsnxngaelakhwamiwkhwamrusukkhxngphuduael aelathannepnipimid ihkhnxuneliyngedkaethn 168 169 karpraeminsthanakhwamphukphnhruxkarduaeltxbsnxngmkcarwmxyudwy ephraawa khwamphukphnepnkrabwnkaraebbthnnsxngthangsungrwmphvtikrrmphukphnbwkkbkartxbsnxngkhxngphuduael miopraekrmbangxyangthimungphxaembuythrrmthirbeliyngedk ephraawaphvtikrrmphukphnkhxngtharkaelaedkthimipyhaeruxngkhwamphukphn bxykhrngimnxmphuduaelihtxbsnxngxyangsmkhwr odyopraekrmkarpxngknaelakaraethrkaesngmiphlsaercodysmkhwr 170 khwamphidpktithangkhwamphukphn aekikh rupaebbkhwamphukphnthiimpktixyanghnungphicarnawaepnorkh odyeriykwa reactive attachment disorder twyx RAD khwamphidpktithangkhwamphukphnaebbptikiriya ineknthwinicchythangcitewch ICD 10 F94 1 2 aela DSM IV TR 313 89 aetniimehmuxnkbkhwamphukphnaebbimmiraebiyb sungepneruxngthiekhaicphidxyangsamylksnahlkkhxngorkhkkhuxkhwamsmphnththangsngkhmthimipyhahruximsmwyinsphaphaewdlxmtang thierimkxnxayu 5 khwbephraaehtukarduaelthiaeythungthaihepnorkh gross pathological care miaebbyxysxngxyang xyangaerkepnrupaebbkhwamphukphnaebbimybyng aelaxikrupaebbhnungepnaebbybyng aet RAD imichsitlkhwamphukphnaebbimmnicxyangidxyanghnung imwasitlnncasrangpyhaaekhihn aetwa epntwbngchiphvtikrrmkhwamphukphnthiimsmwy thixacpraktehmuxnkbkhwamphidpktixyangxun 171 aemwaxaccamikarichchuxorkhniinpyhaphvtikrrmxun thiimtrngeknthkhxng DSM hrux ICD odyechphaathipraktinewbistaelathiekiywoyngkarrksaaebbwithyasastrethiym khux attachment therapy khwamphidpktiniechuxwaminxymak 172 swnkhawa Attachment disorder epnkhathikakwm sungxachmaythung RAD hruxhmaythungsitlkhwamphukphnaebbimmnicthisrangpyha aemwa sitlehlanncaimcdepnorkh ichin attachment therapy odyepnkarwinicchythiimmikarwdkhwamsmehtusmphlthangwithyasastr 172 aelayngxaccahmaythungeknthwinicchyihmthikalngesnxodynkthvsdiinsakhaxikdwy 173 odyeknthwinicchyihmxyanghnungkkhux secure base distortion khwambidebuxnkhxngesahlk thiphbwasmphnthkbkhwambxbchathangcitickhxngphuduael 174 karrksasahrbphuihyaelakhrxbkhrw aekikh swnnirxephimetimkhxmul khunsamarthchwyephimkhxmulswnniidenuxngcakthvsdikhwamphukphnaesdngmummxngthikwangkhwangluksungkhxngchiwitmnusy mnsamarthchwyihphurksaekhaickhnikhaelakhwamsmphnthkbkhnikhiddikhun aetimichepntwkahndrupaebbkarrksaxyangidxyanghnung 175 karbabdodycitwiekhraahbangxyangsahrbphuihy kichthvsdikhwamphukphndwy 175 176 echingxrrth aekikh 1 0 1 1 mental representation ekhruxnghmaythangcitthiepntwaethnsingphaynxk hrux cognitive representation karrukhidthiepntwaethnsingphaynxk insakhatang rwmthngcitprchya citwithyathangprachan aelaprasathwithyasastr smmutiwahmaythungekhruxnghmay sylksna symbol phayinicthiichepntwaethnsing khwamcringphaynxk 120 hruxepnkrabwnkarthangcit mental process thiichsylksn ekhruxnghmayechnnn khuxepn rabbodyaebbaephnthisrangwtthuhruxrupaebbkhxmulihepnrupthrrmphrxmkbwithithirabbthaechnni 121 xangxing aekikh Attachment Lexitron phcnanukrmithy lt gt xngkvs run 2 6 hnwyptibtikarwicywithyakarmnusyphasa sunyethkhonolyixielkthrxniksaelakhxmphiwetxraehngchati sanknganphthnawithyasastraelaethkhonolyiaehngchati krathrwngwithyasastraelaethkhonolyi 2546 khwamphukphnthangxarmn Check date values in year help 2 0 2 1 Waters E Corcoran D Anafarta M 2005 Attachment Other Relationships and the Theory that All Good Things Go Together Human Development 48 80 84 CS1 maint uses authors parameter link 3 0 3 1 Landa S Duschinsky R 2013 Crittenden s dynamic maturational model of attachment and adaptation Review of General Psychology 17 3 326 338 doi 10 1037 a0032102 Holmes J 1993 John Bowlby amp Attachment Theory Makers of modern psychotherapy London Routledge p 69 ISBN 041507729X CS1 maint ref harv link Howe D 2011 Attachment across the life course London Palgrave CS1 maint uses authors parameter link Umemura T Jacobvitz D Messina S Hazan N Do toddlers prefer the primary caregiver or the parent with whom they feel more secure Infant Behavior and Development 36 1 102 114 CS1 maint uses authors parameter link 7 0 7 1 Bretherton I Munholland KA 1999 Internal Working Models in Attachment Relationships A Construct Revisited in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York Guilford Press pp 89 114 ISBN 1 57230 087 6 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Prior V Glaser D 2006 Understanding Attachment and Attachment Disorders Theory Evidence and Practice Child and Adolescent Mental Health RCPRTU London and Philadelphia Jessica Kingsley Publishers p 17 ISBN 9781843102458 CS1 maint ref harv link Bowlby J 1960 Separation Anxiety International Journal of Psychoanalysis 41 89 113 10 0 10 1 Prior amp Glaser 2006 p 15 Bowlby 1982 p 304 05 12 0 12 1 Kobak R Madsen S 2008 Disruption in Attachment Bonds in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 23 47 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Prior amp Glaser 2006 p 16 Prior amp Glaser 2006 p 17 15 0 15 1 Prior amp Glaser 2006 p 19 Karen R 1998 Becoming Attached First Relationships and How They Shape Our Capacity to Love Oxford and New York Oxford University Press pp 90 92 ISBN 0195115015 CS1 maint ref harv link Ainsworth M 1967 Infancy in Uganda Infant Care and the Growth of Love Baltimore Johns Hopkins University Press ISBN 0 8018 0010 2 Karen 1998 p 97 Prior amp Glaser 2006 p 19 20 Bowlby J 1971 1969 Attachment and Loss Vol 1 Attachment Pelican ed London Penguin Books p 300 ISBN 9780140212761 CS1 maint ref harv link Bowlby 1982 p 309 22 0 22 1 Rutter Michael 1995 Clinical Implications of Attachment Concepts Retrospect and Prospect Journal of Child Psychology amp Psychiatry 36 4 549 71 doi 10 1111 j 1469 7610 1995 tb02314 x PMID 7650083 Main M 1999 Epilogue Attachment Theory Eighteen Points with Suggestions for Future Studies in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York Guilford Press pp 845 87 ISBN 1 57230 087 6 although there is general agreement that an infant or adult will have only a few attachment figures at most many attachment theorists and researchers believe that infants form attachment hierarchies in which some figures are primary others secondary and so on This position can be presented in a stronger form in which a particular figure is believed continually to take top place monotropy questions surrounding monotropy and attachment hierarchies remain unsettled CS1 maint uses editors parameter link Mercer J 2006 Understanding Attachment Parenting child care and emotional development Westport CT Praeger Publishers pp 39 40 ISBN 0275982173 LCCN 2005019272 OCLC 61115448 CS1 maint ref harv link Mercer 2006 p 39 40 Bowlby J 1973 Separation Anger and Anxiety Attachment and loss Vol 2 London Hogarth ISBN 0 7126 6621 4 Bowlby 1971 p 414 21 Bowlby 1971 p 394 395 Ainsworth MD 1969 12 Object relations dependency and attachment a theoretical review of the infant mother relationship Child Development Blackwell Publishing 40 4 969 1025 doi 10 2307 1127008 JSTOR 1127008 PMID 5360395 Check date values in date help 30 0 30 1 30 2 30 3 30 4 30 5 30 6 Ainsworth MDS Blehar MC Waters E Wall S 1978 Patterns of attachment A psychological study of the strange situation Hillsdale NJ Earlbaum CS1 maint uses authors parameter link Bell S 1970 The development of the concept of the object as related to infant mother attachment Child Development 41 291 311 doi 10 2307 1127033 Crittenden P 1985 Social networks quality of parenting and child development Child Development 56 1299 1313 doi 10 1111 j 1467 8624 1985 tb00198 x Radke Yarrow M Cummings E M Kuczynski L Chapman M 1985 Patterns of attachment in two and three year olds in normal families and families with parental depression Child Development 56 4 884 893 doi 10 2307 1130100 PMID 4042751 Main M Cassidy J 1988 Categories of response to reunion with the parent at age six predictability from infant attachment classifications stable across a one month period Developmental Psychology 24 415 426 doi 10 1037 0012 1649 24 3 415 Crittenden P M 1992 Quality of attachment in the preschool years Development and Psychopathology 4 209 241 doi 10 1017 s0954579400000110 Crittenden P M 1992 Quality of attachment in the preschool years Development and Psychopathology 4 209 241 doi 10 1017 s0954579400000110 Shah P E Fonagy P Strathearn L 2010 Exploring the mechanism of intergenerational transmission of attachment The plot thickens Clinical Child Psychology amp Psychiatry 15 329 346 doi 10 1177 1359104510365449 Snyder R Shapiro S Treleaven D 2012 Attachment Theory and Mindfulness Journal Of Child amp Family Studies 21 5 709 717 CS1 maint uses authors parameter link Howe D 2011 Attachment across the lifecourse London p 13 The strength of a child s attachment behaviour in a given circumstance does not indicate the strength of the attachment bond Some insecure children will routinely display very pronounced attachment behaviours while many secure children find that there is no great need to engage in either intense or frequent shows of attachment behaviour CS1 maint uses authors parameter link Schacter D L aelakhna 2009 Psychology 2nd ed New York Worth Publishers p 441 Explicit use of et al in authors help CS1 maint uses authors parameter link Aronoff J 2012 Parental Nurturance in the Standard Cross Cultural Sample Theory Coding and Scores Cross Cultural Research 46 4 315 347 CS1 maint uses authors parameter link Ainsworth MD Blehar M Waters E Wall S 1978 Patterns of Attachment A Psychological Study of the Strange Situation Hillsdale NJ Lawrence Erlbaum Associates ISBN 0 89859 461 8 CS1 maint uses authors parameter link Solomon J George C De Jong A 1995 Children classified as controlling at age six Evidence of disorganized representational strategies and aggression at home and at school Development and Psychopathology 7 447 CS1 maint uses authors parameter link Crittenden P 1999 Vondra Joan I Barnett Douglas b k Danger and development the organisation of self protective strategies Atypical Attachment in Infancy and Early Childhood Among Children at Developmental Risk Oxford Blackwell pp 145 171 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link McCarthy Gerard Taylor Alan 1999 Avoidant ambivalent attachment style as a mediator between abusive childhood experiences and adult relationship difficulties Journal of Child Psychology and Psychiatry 40 3 pp 465 477 doi 10 1111 1469 7610 00463 Ainsworth M D Bell S M 1970 Attachment exploration and separation Illustrated by the behavior of one year olds in a strange situation Child Development 41 1 49 67 doi 10 2307 1127388 PMID 5490680 Sroufe A Waters E 1977 Attachment as an Organizational Construct Child Development 48 4 1184 1199 doi 10 1111 j 1467 8624 1977 tb03922 x Main M 1979 The ultimate causation of some infant attachment phenomena Behavioral and Brain Sciences 2 4 640 643 doi 10 1017 s0140525x00064992 Main M 1977a Webb R b k Analysis of a peculiar form of reunion behaviour seen in some day care children Social Development in Childhood Baltimore Johns Hopkins pp 33 78 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Ainsworth M D Blehar M Waters E Wall S 1978 Patterns of Attachment A Psychological Study of the Strange Situation Hillsdale NJ Lawrence Erlbaum p 282 tense movements such as hunching the shoulders putting the hands behind the neck and tensely cocking the head and so on It was our clear impression that such tension movements signified stress both because they tended to occur chiefly in the separation episodes and because they tended to be prodromal to crying Indeed our hypothesis is that they occur when a child is attempting to control crying for they tend to vanish if and when crying breaks through CS1 maint uses authors parameter link Crittenden P M 1983 Mother and Infant Patterns of Attachment Unpublished PhD Dissertation University of Virginia May 1983 p 73 without either avoidance or ambivalence she did show stress related stereotypic headcocking throughout the strange situation This pervasive behavior however was the only clue to the extent of her stress Main Mary Solomon Judith 1990 Procedures for Identifying Infants as Disorganized Disoriented during the Ainsworth Strange Situation in Greenberg Mark T Cicchetti Dante Cummings E Mark b k Attachment in the Preschool Years Theory Research and Intervention Chicago University of Chicago Press pp 121 60 ISBN 978 0 226 30630 8 Lyons Ruth Karlen Bureau Jean Francois Easterbrooks M Ann Obsuth Ingrid Hennighausen Kate Vulliez Coady Lauriane 2013 Parsing the construct of maternal insensitivity distinct longitudinal pathways associated with early maternal withdrawal Attachment amp Human Development 15 5 6 562 582 CS1 maint uses authors parameter link Kochanska Grazyna Kim Sanghag 2013 Early Attachment Organization With Both Parents and Future Behavior Problems From Infancy to Middle Childhood Child development 84 1 283 296 CS1 maint uses authors parameter link Svanberg PO Barlow J Svanberg PO b k Promoting a secure attachment through early assessment and interventions Keeping the Baby in Mind London Routledge pp 100 114 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Ainsworth M 1990 Greenberg MT Ciccheti D Cummings EM b k Epilogue in Attachment in the Preschool Years Chicago IL Chicago University Press pp 463 488 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Solomon J George C 1999a Solomon Judith George Carol b k The place of disorganisation in attachment theory Attachment Disorganisation NY Guilford p 27 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Sroufe A Egeland B Carlson E Collins WA 2005 The Development of the person the Minnesota study of risk and adaptation from birth to adulthood NY Guilford Press p 245 CS1 maint uses authors parameter link Crittenden P 1999 Vondra Joan I Barnett Douglas b k Danger and development the organisation of self protective strategies Atypical Attachment in Infancy and Early Childhood Among Children at Developmental Risk Oxford Blackwell pp 159 160 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Crittenden P Landini A 2011 Assessing Adult Attachment A Dynamic Maturational Approach to Discourse Analysis NY W W Norton p 269 CS1 maint uses authors parameter link 61 0 61 1 Main Mary Hesse Erik 1993 Parents Unresolved Traumatic Experiences Are Related to Infant Disorganized Attachment Status Is Frightened and or Frightening Parental Behavior the Linking Mechanism in Greenberg Mark T Cicchetti Dante Cummings E Mark b k Attachment in the Preschool Years Theory Research and Intervention Chicago University of Chicago Press pp 161 84 ISBN 978 0 226 30630 8 Parkes Colin Murray 2006 Love and Loss Routledge London and New York p 13 ISBN 0 415 39041 9 Madigan Sheri aelakhna 2006 Unresolved states of mind anomalous parental behavior and disorganized attachment A review and meta analysis of a transmission gap Attachment amp human development 8 2 89 111 Explicit use of et al in authors help CS1 maint uses authors parameter link Solomon J George C 2006 Mayseless O b k Intergenerational transmission of dysregulated maternal caregiving Mothers describe their upbringing and child rearing Parenting representations Theory research and clinical implications Cambridge UK Cambridge University Press pp 265 295 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link 65 0 65 1 65 2 Schaffer R 2007 Introducing Child Psychology Oxford Blackwell pp 83 121 ISBN 0 631 21628 6 Boris NW Zeanah CH 2005 Work Group on Quality Issues Practice parameter for the assessment and treatment of children and adolescents with reactive attachment disorder of infancy and early childhood PDF J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 44 11 1206 19 doi 10 1097 01 chi 0000177056 41655 ce PMID 16239871 subkhnemux 2009 09 13 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint others link Main M Cassidy J 1988 Categories of response to reunion with the parent at age 6 Developmental Psychology 24 3 415 426 CS1 maint uses authors parameter link Crittenden P M 2008 Raising Parents Attachment Parenting and Child Safety London Routledge CS1 maint uses authors parameter link Bowlby J 1980 Loss London Penguin p 45 Strathearn L Fonagy P Amico J A Montague P R 2009 Adult attachment predicts mother s brain and peripheral oxytocin response to infant cues Neuropsychopharmacology 34 13 2655 2666 doi 10 1038 npp 2009 103 PMC 3041266 PMID 19710635 Crittenden P Newman L 2010 Comparing models of borderline personality disorder Mothers experience self protective strategies and dispositional representations Clinical Child Psychology and Psychiatry 15 3 433 451 435 doi 10 1177 1359104510368209 PMID 20603429 Crittenden P M 1992 Children s strategies for coping with adverse home environments Child Abuse amp Neglect 16 3 329 343 doi 10 1016 0145 2134 92 90043 q PMID 1617468 Lyons Ruth Karlen Jean Bureau Francois Easterbrooks M Ann Obsuth Ingrid Hennighausen Kate Vulliez Coady Lauriane 2013 Parsing the construct of maternal insensitivity distinct longitudinal pathways associated with early maternal withdrawal Attachment amp Human Development 15 5 6 562 582 doi 10 1080 14616734 2013 841051 PMC 3861901 PMID 24299135 for each additional withdrawing behavior displayed by mothers in relation to their infant s attachment cues in the Strange Situation Procedure the likelihood of clinical referral by service providers was increased by 50 74 0 74 1 Pearce JW Pezzot Pearce TD 2007 Psychotherapy of abused and neglected children 2nd ed New York and London Guilford press pp 17 20 ISBN 978 1 59385 213 9 CS1 maint uses authors parameter link Karen 1998 p 248 66 Berlin LJ Cassidy J Appleyard K 2008 The Influence of Early Attachments on Other Relationships in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 333 47 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Haltigan JD Ekas NV Seifer R Messinger DS 2011 07 Attachment security in infants at risk for autism spectrum disorders Attachment security in infants at risk for autism spectrum disorders 41 7 962 967 doi 10 1007 s10803 010 1107 7 PMID 20859669 subkhnemux 2011 12 01 Check date values in date help Fraley RC Spieker SJ 2003 05 Are infant attachment patterns continuously or categorically distributed A taxometric analysis of strange situation behavior Developmental Psychology 39 3 387 404 doi 10 1037 0012 1649 39 3 387 PMID 12760508 Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link Waters E Beauchaine TP 2003 05 Are there really patterns of attachment Comment on Fraley and Spieker 2003 Developmental Psychology 39 3 417 22 discussion 423 9 doi 10 1037 0012 1649 39 3 417 PMID 12760512 Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link Del Giudice M 2009 Sex attachment and the development of reproductive strategies Behavioral and Brain Sciences 32 1 1 67 doi 10 1017 S0140525X09000016 PMID 19210806 81 0 81 1 81 2 Waters E Kondo Ikemura K Posada G Richters J 1991 Gunnar M Sroufe T b k Learning to love Mechanisms and milestones Minnesota Symposia on Child Psychology Hillsdale NJ Erlbaum 23 Self Processes and Development CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Marvin RS Britner PA 2008 Normative Development The Ontogeny of Attachment in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 269 94 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Hazan C Shaver PR 1987 03 Romantic love conceptualized as an attachment process Journal of Personality and Social Psychology 52 3 511 24 doi 10 1037 0022 3514 52 3 511 PMID 3572722 Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link Hazan C Shaver PR 1990 Love and work An attachment theoretical perspective Journal of Personality and Social Psychology 59 2 270 80 doi 10 1037 0022 3514 59 2 270 CS1 maint uses authors parameter link Hazan C Shaver PR 1994 Attachment as an organisational framework for research on close relationships Psychological Inquiry 5 1 22 doi 10 1207 s15327965pli0501 1 CS1 maint uses authors parameter link Bartholomew K Horowitz LM 1991 08 Attachment styles among young adults a test of a four category model Journal of Personality and Social Psychology 61 2 226 44 doi 10 1037 0022 3514 61 2 226 PMID 1920064 Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link Fraley RC Shaver PR 2000 Adult romantic attachment Theoretical developments emerging controversies and unanswered questions Review of General Psychology 4 2 132 54 doi 10 1037 1089 2680 4 2 132 CS1 maint uses authors parameter link 88 0 88 1 Pietromonaco PR Barrett LF 2000 The internal working models concept What do we really know about the self in relation to others Review of General Psychology 4 2 155 75 doi 10 1037 1089 2680 4 2 155 CS1 maint uses authors parameter link Rholes WS Simpson JA 2004 Attachment theory Basic concepts and contemporary questions in Rholes WS Simpson JA b k Adult Attachment Theory Research and Clinical Implications New York Guilford Press pp 3 14 ISBN 1 59385 047 6 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Crowell JA Fraley RC Shaver PR 2008 Measurement of Individual Differences in Adolescent and Adult Attachment in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 599 634 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Bowlby J 1951 Maternal Care and Mental Health Geneva World Health Organisation Each put his finger on the child s inability to make relationships as being the central feature from which all other disturbances sprang and on the history of institutionalisation or as in the case quoted of the child s being shifted about from one foster mother to another as being its cause Bowlby J 1944 Forty four juvenile thieves Their characters and home life International Journal of Psychoanalysis 25 19 52 107 27 sometimes referred to by Bowlby s colleagues as Ali Bowlby and the Forty Thieves Spitz RA 1945 Hospitalism An Inquiry into the Genesis of Psychiatric Conditions in Early Childhood The Psychoanalytic Study of the Child 1 53 74 PMID 21004303 Spitz RA 1951 The psychogenic diseases in infancy The Psychoanalytic Study of the Child 6 255 75 Schwartz J 1999 Cassandra s Daughter A History of Psychoanalysis New York Viking Allen Lane p 225 ISBN 0 670 88623 8 96 0 96 1 Preface Deprivation of Maternal Care A Reassessment of its Effects Public Health Papers Geneva World Health Organization 1962 Bowlby J 1988 A Secure Base Clinical Applications of Attachment Theory London Routledge p 24 ISBN 0415006406 Rutter M 2008 Implications of Attachment Theory and Research for Child Care Policies in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 958 74 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses editors parameter link Bowlby J 1986 12 Citation Classic Maternal Care and Mental Health PDF Current Contents subkhnemux 2008 07 13 Check date values in date help Lorenz KZ 1937 The companion in the bird s world The Auk 54 3 245 73 doi 10 2307 4078077 JSTOR 4078077 Holmes 1993 p 62 Bowlby J 2007 John Bowlby and ethology An annotated interview with Robert Hinde Attachment amp Human Development 9 4 321 35 doi 10 1080 14616730601149809 PMID 17852051 Bowlby J 1953 Critical Phases in the Development of Social Responses in Man and Other Animals New Biology 14 25 32 the time is ripe for a unification of psychoanalytic concepts with those of ethology and to pursue the rich vein of research which this union suggests Bowlby J 1982 Attachment and Loss Vol 1 Attachment 2nd ed New York Basic Books pp 220 23 ISBN 0465005438 LCCN 00266879 OCLC 11442968 NLM 8412414 CS1 maint ref harv link Crnic LS Reite ML Shucard DW 1982 Animal models of human behavior Their application to the study of attachment in Emde RN Harmon RJ b k The development of attachment and affiliative systems New York Plenum pp 31 42 ISBN 978 0 306 40849 6 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Brannigan CR Humphries DA 1972 Human non verbal behaviour A means of communication in Blurton Jones N b k Ethological studies of child behaviour Cambridge University Press pp 37 64 ISBN 978 0 521 09855 7 it must be emphasized that data derived from species other than man can be used only to suggest hypotheses that may be worth applying to man for testing by critical observations In the absence of critical evidence derived from observing man such hypotheses are no more than intelligent guesses There is a danger in human ethology that interesting but untested hypotheses may gain the status of accepted theory One author has coined the term ethologism as a label for the present vogue in 1970 for uncritically invoking the findings from ethological studies of other species as necessary and sufficient explanations Theory based on superficial analogies between species has always impeded biological understanding We conclude that a valid ethology of man must be based primarily on data derived from man and not on data obtained from fish birds or other primates CS1 maint uses authors parameter link Schur M 1960 Discussion of Dr John Bowlby s paper Psychoanalytic Study of the Child 15 63 84 PMID 13749000 Bowlby assumes the fully innate unlearned character of most complex behavior patterns whereas recent animal studies showed both the early impact of learning and the great intricacy of the interaction between mother and litter and applies to human behavior an instinct concept which neglects the factor of development and learning far beyond even the position taken by Lorenz the ethological theorist in his early propositions Schaffer HR Emerson PE 1964 The development of social attachment in infancy Monographs of the Society for Research in Child Development serial no 94 29 3 CS1 maint uses authors parameter link Anderson JW 1972 Attachment behaviour out of doors in Blurton Jones N b k Ethological studies of child behaviour Cambridge Cambridge University Press pp 199 216 ISBN 978 0 521 09855 7 Jones NB Leach GM 1972 Behaviour of children and their mothers at separation and greeting in Blurton Jones N b k Ethological studies of child behaviour Cambridge Cambridge University Press pp 217 48 ISBN 978 0 521 09855 7 CS1 maint uses authors parameter link Hinde R 1982 Ethology Oxford Oxford University Press p 229 ISBN 978 0 00 686034 1 Freud A Burlingham DT 1943 War and children Medical War Books ISBN 978 0 8371 6942 2 CS1 maint uses authors parameter link Holmes 1993 p 62 63 Holmes 1993 p 64 65 Steele H Steele M 1998 Attachment and psychoanalysis Time for a reunion Social Development 7 1 92 119 doi 10 1111 1467 9507 00053 CS1 maint uses authors parameter link Cassidy J 1998 Commentary on Steele and Steele Attachment and object relations theories and the concept of independent behavioral systems Social Development 7 1 120 26 doi 10 1111 1467 9507 00054 Steele H Steele M 1998 Debate Attachment and psychoanalysis Time for a reunion Social Development 7 1 92 119 doi 10 1111 1467 9507 00053 CS1 maint uses authors parameter link Johnson Laird PN 1983 Mental models Cambridge MA Harvard University Press pp 179 87 ISBN 0 674 56881 8 Main M Kaplan N Cassidy J 1985 Security in Infancy Childhood and Adulthood A Move to the Level of Representation Monographs of the Society for Research in Child Development 50 66 104 CS1 maint uses authors parameter link Morgan Alex 2014 Representations Gone Mental Synthese 191 2 213 44 Narr David 2010 Vision A Computational Investigation into the Human Representation and Processing of Visual Information The MIT Press ISBN 978 0262514620 CS1 maint uses authors parameter link Lieberman AF 1997 Toddlers internalization of maternal attributions as a factor in quality of attachment in Atkinson Leslie Zucker Kenneth J b k Attachment and psychopathology New York NY US Guilford Press pp 277 292 CS1 maint uses editors parameter link Zeanah CH Keener MA Anders TF 1986 Adolescent mothers prenatal fantasies and working models of their infants Psychiatry 49 3 193 203 CS1 maint uses authors parameter link Schechter DS Moser DA Reliford A McCaw JE Coates SW Turner JB Rusconi S Willheim E 2015 Negative and distorted attributions towards child self and primary attachment figure among posttraumatically stressed mothers What changes with Clinical Assisted Videofeedback Exposure Sessions CAVES Child Psychiatry and Human Development 46 10 20 CS1 maint uses authors parameter link Sroufe LA Waters E 1977 Attachment as an organizational construct Child Development Blackwell Publishing 48 4 1184 99 doi 10 2307 1128475 JSTOR 1128475 CS1 maint uses authors parameter link Waters E Cummings EM 2000 A secure base from which to explore close relationships Child Development 71 1 164 72 doi 10 1111 1467 8624 00130 PMID 10836570 CS1 maint uses authors parameter link Tronick EZ Morelli GA Ivey PK 1992 The Efe forager infant and toddler s pattern of social relationships Multiple and simultaneous Developmental Psychology 28 4 568 77 doi 10 1037 0012 1649 28 4 568 CS1 maint uses authors parameter link 128 0 128 1 128 2 van IJzendoorn MH Sagi Schwartz A 2008 Cross Cultural Patterns of Attachment Universal and Contextual Dimensions in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 880 905 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Rutter Michael 1974 The Qualities of Mothering New York N Y CS1 maint uses authors parameter link Behrens KY Hesse E Main M 2007 11 Mothers attachment status as determined by the Adult Attachment Interview predicts their 6 year olds reunion responses a study conducted in Japan Developmental Psychology 43 6 1553 67 doi 10 1037 0012 1649 43 6 1553 PMID 18020832 Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link Main M Cassidy J 1988 Categories of response to reunion with the parent at age 6 Predictable from infant attachment classifications and stable over a 1 month period Developmental Psychology 24 3 415 26 doi 10 1037 0012 1649 24 3 415 CS1 maint uses authors parameter link Harris JR 1998 The Nurture Assumption Why Children Turn Out the Way They Do New York Free Press pp 1 4 ISBN 978 0 684 84409 1 Pinker S 2002 The Blank Slate The Modern Denial of Human Nature London Allen Lane pp 372 99 ISBN 978 0 14 027605 3 Kagan J 1994 Three Seductive Ideas Cambridge MA Harvard University Press pp 83 150 ISBN 978 0 674 89033 6 135 0 135 1 135 2 Vaughn BE Bost KK van IJzendoorn MH 2008 Attachment and Temperament in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 192 216 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Schaffer HR 2004 Introducing Child Psychology Oxford Blackwell p 113 ISBN 978 0 631 21627 8 Fonagy P Gergely G Jurist EL Target M 2002 Affect regulation mentalization and the development of the self New York Other Press ISBN 1 59051 161 1 CS1 maint uses authors parameter link Mercer 2006 p 165 68 Fonagy P Gergely G Target M Psychoanalytic Constructs and Attachment Theory and Research in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 783 810 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Belsky J Rovine MJ 1988 02 Nonmaternal care in the first year of life and the security of infant parent attachment Child Development Blackwell Publishing 59 1 157 67 doi 10 2307 1130397 JSTOR 1130397 PMID 3342709 Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link Mercer 2006 p 160 63 Rutter M January February 2002 Nature nurture and development From evangelism through science toward policy and practice Child Development 73 1 1 21 doi 10 1111 1467 8624 00388 PMID 14717240 CS1 maint date format link Miyake K Chen SJ 1985 Infant temperament mother s mode of interaction and attachment in Japan An interim report in Bretherton I Waters E b k Growing Points of Attachment Theory and Research Monographs of the Society for Research in Child Development 50 1 2 Serial No 209 pp 276 97 ISBN 978 0 226 07411 5 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Mercer 2006 p 152 56 McHale JP 2007 When infants grow up in multiperson relationship systems Infant Mental Health Journal 28 4 370 92 doi 10 1002 imhj 20142 Zhang X Chen C 2010 Reciprocal Influences between Parents Perceptions of Mother Child and Father Child Relationships A Short Term Longitudinal Study in Chinese Preschoolers The Journal of Genetic Psychology 171 1 22 34 doi 10 1080 00221320903300387 PMID 20333893 CS1 maint uses authors parameter link Milanov M Rubin M Paolini S 2013 Adult attachment styles as predictors of different types of ingroup identification Bulgarian Journal of Psychology 1 4 175 186 CS1 maint uses authors parameter link Bugental DB 2000 Acquisition of the Algorithms of Social Life A Domain Based Approach Psychological Bulletin 126 2 178 219 doi 10 1037 0033 2909 126 2 187 PMID 10748640 Bugental DB Ellerson PC Rainey B Lin EK Kokotovic A 2002 A Cognitive Approach to Child Abuse Prevention Journal of Family Psychology 16 3 243 58 doi 10 1037 0893 3200 16 3 243 PMID 12238408 CS1 maint uses authors parameter link Ma K 2006 Attachment theory in adult psychiatry Part 1 Conceptualisations measurement and clinical research findings Advances in Psychiatric Treatment 12 440 449 doi 10 1192 apt 12 6 440 subkhnemux 2010 04 21 151 0 151 1 Fox NA Hane AA 2008 Studying the Biology of Human Attachment in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 811 29 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Landers MS Sullivan RM 2012 The development and neurobiology of infant attachment and fear Developmental neuroscience 34 2 3 101 14 doi 10 1159 000336732 PMID 22571921 subkhnemux 2014 08 17 Marshall PJ Fox NA 2005 Relationship between behavioral reactivity at 4 months and attachment classification at 14 months in a selected sample Infant Behavior and Development 28 4 492 502 doi 10 1016 j infbeh 2005 06 002 CS1 maint uses authors parameter link Prior amp Glaser 2006 p 219 Gillath O Shaver PR Baek JM Chun DS 2008 10 Genetic correlates of adult attachment style Personality and Social Psychology Bulletin 34 10 1396 405 doi 10 1177 0146167208321484 PMID 18687882 Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link Belsky J Pasco Fearon RM 2008 Precursors of Attachment Security in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 295 316 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link doi 10 1017 S0954579410000611This citation will be automatically completed in the next few minutes You can jump the queue or expand by hand Full Article PDF 306 KB 158 0 158 1 158 2 158 3 Rutter M 2008 Implications of Attachment Theory and Research for Child Care Policies in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 958 74 ISBN 978 1 60623 028 2 CS1 maint uses editors parameter link Berlin L Zeanah CH Lieberman AF 2008 Prevention and Intervention Programs for Supporting Early Attachment Security in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 745 61 ISBN 978 1 60623 028 2 Supporting early child parent relationships is an increasingly prominent goal of mental health practitioners community based service providers and policy makers Attachment theory and research have generated important findings concerning early child development and spurred the creation of programs to support early child parent relationships CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link 160 0 160 1 Karen 1998 p 252 58 Rutter M O Connor TG 1999 Implications of Attachment Theory for Child Care Policies in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York Guilford Press pp 823 44 ISBN 1 57230 087 6 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Stefaroi P 2012 Humanistic Paradigm of Social Work or Brief Introduction in Humanistic Social Work Social Work Review 10 1 161 174 CS1 maint uses authors parameter link ICID 985513 Stefaroi P Humane amp Spiritual Qualities of the Professional in Humanistic Social Work Humanistic Social Work The Third Way in Theory and Practice Charleston SC Createspace CS1 maint uses authors parameter link Goldsmith DF Oppenheim D Wanlass J 2004 Separation and Reunification Using Attachment Theory and Research to Inform Decisions Affecting the Placements of Children in Foster Care PDF Juvenile and Family Court Journal Spring 1 14 subkhnemux 2009 06 19 CS1 maint uses authors parameter link Crittenden Patricia McKinsey aelakhna Assessing attachment for family court decision making Journal of Forensic Practice 15 4 237 24 Explicit use of et al in authors help CS1 maint uses authors parameter link Ziv Y 2005 Attachment Based Intervention programs Implications for Attachment Theory and Research in Berlin LJ Ziv Y Amaya Jackson L Greenberg MT b k Enhancing Early Attachments Theory Research Intervention and Policy Duke series in child development and public policy New York and London Guilford Press p 63 ISBN 1 59385 470 6 CS1 maint uses editors parameter link 167 0 167 1 Berlin LJ Zeanah CH Lieberman AF 2008 Prevention and Intervention Programs for Supporting Early Attachment Security in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 745 61 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Prior amp Glaser 2006 p 231 32 Bakermans Kranenburg M van IJzendoorn M Juffer F 2003 Less is more meta analyses of sensitivity and attachment interventions in early childhood Psychological Bulletin 129 2 195 215 doi 10 1037 0033 2909 129 2 195 PMID 12696839 CS1 maint uses authors parameter link Hoffman Kent T aelakhna 2006 Changing toddlers and preschoolers attachment classifications the Circle of Security intervention Journal of Consulting and Clinical Psychology 74 6 1017 Explicit use of et al in authors help CS1 maint uses authors parameter link Thompson RA 2000 The legacy of early attachments Child Development 71 1 145 52 doi 10 1111 1467 8624 00128 PMID 10836568 172 0 172 1 Chaffin M Hanson R Saunders BE aelakhna 2006 Report of the APSAC task force on attachment therapy reactive attachment disorder and attachment problems Child Maltreatment 11 1 76 89 doi 10 1177 1077559505283699 PMID 16382093 CS1 maint uses authors parameter link Prior amp Glaser 2006 p 223 25 Schechter DS Willheim E 2009 07 Disturbances of attachment and parental psychopathology in early childhood Child and Adolescent Psychiatric Clinics of North America 18 3 665 86 doi 10 1016 j chc 2009 03 001 PMC 2690512 PMID 19486844 Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link 175 0 175 1 Slade A 2008 Attachment Theory and Research Implications for the theory and practice of individual psychotherapy with adults in Cassidy J Shaver PR b k Handbook of Attachment Theory Research and Clinical Applications New York and London Guilford Press pp 762 82 ISBN 978 1 59385 874 2 CS1 maint uses editors parameter link Sable P 2000 Attachment amp Adult Psychotherapy Northvale NJ Aaronson ISBN 978 0 7657 0284 5 aehlngkhxmulxun aekikhBowlby J 1953 Child Care and the Growth of Love London Penguin Books ISBN 9780140202717 version of WHO publication Maternal Care and Mental Health published for sale to the general public Bowlby J 1979 The Making and Breaking of Affectional Bonds London Tavistock Publications ISBN 9780422768603 Craik K 1967 1943 The Nature of Explanation Cambridge Cambridge University Press ISBN 9780521094450 Tinbergen N 1951 The study of instinct Oxford Oxford University Press ISBN 9780198577225 Attachment Theory and Research at Stony Brook Robert Karen Becoming Attached The Atlantic Monthly February 1990 The origins of attachment theory John Bowlby and Mary Ainsworth ekhathungcak https th wikipedia org w index php title thvsdikhwamphukphn amp oldid 8946820, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม