fbpx
วิกิพีเดีย

ฮิวริสติกในการประเมินและการตัดสินใจ

สำหรับความหมายอื่น ดูที่ ฮิวริสติก (แก้ความกำกวม)

ในสาขาจิตวิทยา ฮิวริสติก (อังกฤษ: heuristic พหูพจน์ "ฮิวริสติกส์") เป็นกฎที่ง่าย ๆ และมีประสิทธิภาพ ที่เรามักจะใช้ในการประเมิน และการตัดสินใจ เป็นวิธีลัดทางความคิดโดยเพ่งความสนใจไปยังส่วนหนึ่งของปัญหาที่ซับซ้อนแล้วไม่ใส่ใจในส่วนอื่น กฎเหล่านี้ทำงานได้ดีในสถานการณ์โดยมาก แต่สามารถนำไปสู่ความผิดพลาดอย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดโดยตรรกะ โดยความเป็นไปได้ หรือโดยความสมเหตุสมผล ความผิดพลาดเหล่านี้เป็นความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) ซึ่งมีการค้นพบแล้วมากมายหลายแบบ เป็นความผิดพลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นการประเมินราคาบ้านหรือการพิพากษาตัดสินคดี ฮิวริสติกปกติมักจะเป็นการตัดสินใจที่เป็นอัตโนมัติ เป็นการรู้เอง (intuitive) ที่ไม่ต้องอาศัยการคิด แต่อาจมีการใช้เป็นกลยุทธ์ทางความคิดอย่างจงใจได้ เมื่อต้องทำการตัดสินใจโดยมีข้อมูลที่จำกัด

นักประชานศาสตร์ชาวอเมริกันเฮอร์เบิร์ต ไซมอนดั้งเดิมเป็นผู้เสนอว่า การตัดสินใจของมนุษย์ต้องอาศัยฮิวริสติก[ต้องการอ้างอิง] โดยใช้แนวความคิดจากวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 นักจิตวิทยาแดเนียล คาฮ์นะมัน และอะมอส ทเวอร์สกี้ แสดงฮิวริสติก 3 ประเภทที่เป็นฐานของการตัดสินใจโดยรู้เองที่ใช้อย่างกว้างขวาง งานวิจัยเหล่านี้ จุดชนวนโปรแกรมงานวิจัยเกี่ยวกับ ฮิวริสติกและความเอนเอียง (Heuristics and Biases) ซึ่งศึกษาการตัดสินใจในชีวิตจริงของมนุษย์ และศึกษาสถานการณ์ที่การตัดสินใจเหล่านี้ใช้ไม่ได้ คือไม่สมเหตุผล งานวิจัยในแนวนี้ได้คัดค้านไอเดียว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่กระทำตามเหตุผล และได้ให้ทฤษฎีเกี่ยวกับการประมวลสารสนเทศ (information processing) ที่สามารถอธิบายวิธีการที่มนุษย์ใช้ในการประเมินผลหรือการตัดสินใจ เป็นแนวงานวิจัยที่เริ่มมีความสนใจในระดับสากลในปี ค.ศ. 1974 ด้วยบทความที่พิมพ์ในวารสาร Science มีชื่อว่า "Judgment Under Uncertainty: Heuristics and Biases (การประเมินภายใต้ความไม่แน่ใจ ฮิวริสติกและความเอนเอียง)" ซึ่งได้กลายเป็นแนวทางของทฤษฎีเกี่ยวกับการตัดสินใจที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน

แม้ว่า งานวิจัยเป็นจำนวนมากจะเพ่งเล็งความสนใจไปที่ความผิดพลาดที่ฮิวริสติกมีส่วนเกี่ยวข้อง ฮิวริสติกสามารถพิจารณาได้ว่าเป็นกระบวนการทางเหตุผลของระบบประสาท ถ้ามองในแง่นี้ ฮิวริสติกนั้นใช้ได้ดีพอในสถานการณ์โดยมาก โดยทำให้ไม่เป็นเรื่องหนักในการใช้ทรัพยากรทางสมอง มุมมองทางทฤษฎีอีกอย่างหนึ่งพิจารณาฮิวริสติกว่า เป็นกระบวนการทางเหตุผล เพราะว่า ทำงานได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ต้องมีข้อมูลทั้งหมด และอาจจะแม่นยำเท่า ๆ กับกระบวนการทางเหตุผลที่ซับซ้อนกว่า ความเข้าใจในบทบาทของฮิวริสติกในจิตวิทยามนุษย์โดยนักการตลาดและผู้มีหน้าที่โน้มน้าวใจอื่น ๆ สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของหมู่ชน เช่นราคาสิ่งของที่มนุษย์ซื้อขาย หรือปริมาณที่ซื้อขาย

ประเภท

ในงานวิจัยเริ่มต้น คาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้เสนอฮิวริสติกสามประเภทคือ ความพร้อมใช้งาน (availability) ความเป็นตัวแทน (representativeness) และการตั้งหลักและการปรับ (anchoring and adjustment) งานต่อ ๆ มาได้ค้นพบฮิวริสติกประเภทอื่น ๆ ฮิวริสติกที่เป็นมูลฐานการตัดสินใจเรียกว่า ฮิวริสติกการตัดสินใจ (judgment heuristics) ฮิวริสติกที่ใช้ตัดสินความน่าพึงใจของทางเลือกต่าง ๆ เรียกว่า ฮิวริสติกการประเมินค่า (evaluation heuristics)

ความพร้อมใช้งาน

ในสาขาจิตวิทยา ความพร้อมใช้งาน (availability) หมายถึงความง่ายดายที่สามารถคิดถึงไอเดียหนึ่ง ๆ ได้ และเมื่อเราประเมินความถี่ความชุกของเหตุการณ์หนึ่ง ๆ อาศัยว่าง่ายที่จะคิดถึงขนาดไหน เรากำลังใช้ฮิวริสติกโดยความพร้อมใช้งาน ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่จริง ๆ เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ง่ายหรือชัดเจนที่จะคิดถึง การประเมินความถี่เหตุการณ์นี้จะมีค่าสูงเกินความจริง ยกตัวอย่างเช่น เราจะประเมินโอกาสที่จะเสียชีวิตเพราะเหตุการณ์ระทึกใจ เช่นพายุทอร์นาโดและการก่อการร้าย (ตัวอย่างสำหรับคนอเมริกัน) สูงเกินไป เพราะการเสียชีวิตที่น่าระทึกใจและรุนแรง เป็นเรื่องที่สื่อเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และดังนั้นจึงมีความพร้อมใช้งานในระดับที่สูงกว่า ในนัยตรงกันข้าม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยแต่ธรรมดา ๆ เป็นสิ่งที่คิดถึงได้ยากกว่า ดังนั้น เรามักจะประเมินค่าความถี่ต่ำเกินไป เช่นการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ฮิวริสติกนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่เราสามารถเปลี่ยนใจเพราะเหตุเรื่องเล่าที่เป็นจริงเป็นจังเพียงเรื่องเดียว ได้ง่ายกว่าเพราะเหตุหลักฐานทางสถิติตั้งมากมาย และอาจมีบทบาทในเรื่องความดึงดูดใจของการเล่นลอตเตอรี่ เพราะว่าสำหรับคนที่ซื้อลอตเตอรี่ การคิดถึงคนถูกรางวัลที่ดีอกดีใจ ที่มีการเผยแพร่ทางสื่ออย่างกว้างขวาง ง่ายที่จะคิดถึงกว่าคนอื่นเป็นล้าน ๆ ที่ไม่ถูกรางวัลอะไรเลย

สำหรับผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ถ้าต้องตัดสินว่ามีคำที่ขึ้นต้นด้วยอักษร "T" หรือ "K" มากกว่ากัน ฮิวริสติกนี้ให้คำตอบได้อย่างง่าย ๆ และรวดเร็ว คือ คำที่ขึ้นต้นด้วย "T" คิดถึงได้ง่ายกว่า ดังนั้น เราสามารถให้คำตอบที่ถูกต้องโดยไม่ต้องไปนับคำ แต่ว่า ฮิวริสติกนี้ก็สามารถให้คำตอบที่ผิดได้ด้วย คือ เมื่อถามว่า มีคำที่มีอักษร "K" ขึ้นต้น หรือมีอักษร "K" ในตำแหน่งที่สามมากกว่ากัน เราก็จะใช้ฮิวริสติกเดียวกันในการหาคำตอบ การคิดถึงคำที่ขึ้นต้นด้วย "K" เช่น kangaroo (จิงโจ้) kitchen (ครัว) หรือ kept (เก็บ รักษา - อดีตกาล) นั้นง่าย แต่การคิดถึงคำมี "K" ในตำแหน่งที่สามเช่น lake (ทะเลสาบ) หรือ acknowledge (ยอมรับ) นั้นยากกว่า แม้ว่าความจริงแล้ว คำที่มี "K" ในตำแหน่งที่สามมีจำนวนมากกว่าถึง 3 เท่า ฮิวริสติกนี้ทำให้เราสรุปอย่างผิด ๆ ว่า คำที่ขึ้นต้นด้วย "K" สามัญกว่า

ในอีกงานทดลองหนึ่ง มีการให้ผู้ร่วมการทดลองศึกษารายชื่อ 4 รายการ คือ สองรายการมีชื่อของหญิงมีชื่อเสียง 19 คน และชายมีชื่อเสียงน้อยกว่า 20 คน และสองรายการมีชื่อของชายมีชื่อเสียง 19 คนและหญิงมีชื่อเสียงน้อยกว่า 20 คน มีการให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มแรกระลึกถึงชื่อให้มากที่สุดที่จะจำได้ และให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มที่สองประเมินว่า มีชื่อผู้หญิงหรือผู้ชายมากกว่ากันในรายการ ผลปรากฏว่า ในกลุ่มแรก มีผู้ร่วมการทดลองถึง 57% ที่ระลึกถึงชื่อที่มีชื่อเสียงได้มากกว่า ในกลุ่มที่สอง ผู้ร่วมการทดลองถึง 80% ทำการประเมินผิดพลาดว่า มีชื่อผู้ชายหรือผู้หญิงมากกว่า คือถ้ารายการมีหญิงมีชื่อเสียง 19 คนและมีชายมีชื่อเสียงน้อยกว่า 20 คน ผู้ร่วมการทดลองก็จะประเมินผิด ๆ ว่า มีชื่อของผู้หญิงมากกว่า และในนัยตรงกันข้ามก็เช่นกัน คาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้ตีความผลอย่างนี้ว่า การตัดสินอัตราส่วนชื่อผู้หญิงผู้ชายขึ้นอยู่กับความพร้อมใช้งาน (คือง่ายที่จะคิดถึง) ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าในกรณีที่เป็นชื่อของคนมีชื่อเสียง

ในอีกงานทดลองหนึ่งที่ทำก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1976 มีการให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการว่านายเจอรัลด์ ฟอร์ดเป็นผู้ชนะ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้คิดถึงนายจิมมี คาร์เตอร์ว่า เป็นผู้ชนะ ต่อมาจะพบว่า แต่ละกลุ่มจะคิดว่า คนที่ตนจินตนาการถึงจะมีโอกาสสูงกว่าที่จะชนะจริง ๆ นักวิจัยได้พบปรากฏการณ์คล้าย ๆ กันถ้าให้นักศึกษาจินตนาการถึงการแข่งขันระหว่างทีมอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย ผลของการจินตนาการ ต่อค่าความน่าจะเป็นที่เป็นค่าตามอัตวิสัย ก็พบในงานทดลองที่ทำโดยนักวิจัยอื่น ๆ อีกด้วย

ความพร้อมใช้งานของค็อนเส็ปต์หนึ่ง จะขึ้นอยู่กับการคิดถึงค็อนเส็ปต์นั้นว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งแค่ไหน และได้คิดถึงเร็ว ๆ นี้หรือไม่ ในงานศึกษาหนึ่ง มีการให้ผู้ร่วมการทดลองเติมประโยคที่ยังไม่เต็มให้เสร็จ นักวิจัยได้เลือกคำในประโยคที่ให้ เพื่อกระตุ้นการทำงานของค็อนเส็ปต์ โดยเป็นคำเกี่ยวกับความดุและความใจดี ซึ่งเป็นเทคนิคที่เรียกว่า priming ต่อจากนั้น ก็มีการให้ผู้ร่วมการทดลองตีความพฤติกรรมของชายคนหนึ่งในเรื่องสั้น ๆ ที่ไม่ชัดเจน การตีความของผู้ร่วมการทดลองปรากฏว่ามีความเอนเอียงไปตามอารมณ์ที่กระตุ้นโดย priming คือ ยิ่งมีการกระตุ้นโดยคำมากเท่าไร ความเอนเอียงก็มีเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ว่า ถ้าช่วงเวลาระหว่างงานแรก (เช่นที่เกิด priming) และงานที่สอง (เช่นที่ตีความพฤติกรรม) ห่างกัน ความเอนเอียงจะลดระดับลง

คาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้เสนอฮิวริสติกโดยความพร้อมใช้งาน ว่าเป็นคำอธิบายของปรากฏการณ์สหสัมพันธ์ลวง (illusory correlation) ที่เราตัดสินใจผิด ๆ ว่า เหตุการณ์สองอย่างเป็นเหตุและผลของกันและกัน คือ เราตัดสินใจผิดว่าเหตุการณ์ทั้งสองมีความสัมพันธ์ เพราะว่าง่ายที่จะจินตนาการหรือระลึกถึงเหตุการณ์สองอย่างนั้นพร้อม ๆ กัน (ดูรายละเอียดในฮิวริสติกโดยความพร้อมใช้งาน)

ความเป็นตัวแทน

ฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทนเกิดขึ้นเมื่อเราใช้ประเภทของบุคคลสิ่งของ ในการตัดสินใจเกี่ยวกับบุคคลหนึ่ง ๆ หรือวัตถุหนึ่ง ๆ เช่นเมื่อจะตัดสินใจว่าคน ๆ หนึ่งเป็นผู้ร้ายหรือไม่ ประเภท "ผู้ร้าย" จะมีรูปแบบตัวอย่าง ซึ่งเราจะใช้เปรียบเทียบกับบุคคลนั้น เพื่อจัดประเภทว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายหรือไม่ วัตถุเปรียบเทียบจะมีความเป็นตัวแทนสูงสำหรับประเภทหนึ่ง ๆ ถ้าวัตถุมีลักษณะคล้ายกับรูปแบบตัวอย่างของประเภทนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อเราจัดประเภทวัตถุสิ่งของโดยใช้ความเป็นตัวแทน เราก็กำลังใช้ฮิวริสติกนี้ ความเป็นตัวแทน (Representativeness) ในที่นี้สามารถหมายถึง

  • ความที่รูปแบบตัวอย่าง เป็นตัวแทนของประเภทนั้น ๆ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบตัวอย่างกับวัตถุที่กำลังจัดประเภท (คือเหมือนกันแค่ไหน)

แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพในปัญหาบางอย่าง ฮิวริสติกนี้ต้องอาศัยการใส่ใจในลักษณะเฉพาะอย่างเพียงบางอย่าง ของบุคคลหรือวัตถุนั้น ๆ โดยไม่ได้ใส่ใจว่า ลักษณะเฉพาะอย่างเหล่านั้น มีระดับความสามัญ (คือความชุก) ในประชากรทั่วไปแค่ไหน (ระดับความสามัญที่เรียกว่า อัตราพื้นฐานหรือ base rates) ดังนั้น เราอาจจะประเมินโอกาสที่สิ่งหนึ่ง ๆ จะมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนใคร ในระดับที่สูงเกินไป และอาจจะประเมินโอกาสที่สิ่งหนึ่ง ๆ มีคุณสมบัติที่สามัญ ในระดับที่ต่ำเกินไป นี้เรียกว่า เหตุผลวิบัติโดยอัตราพื้นฐาน (base rate fallacy) การประเมินความเป็นไปได้โดยตัวแทน อธิบายปรากฏการณ์นี้และวิธีการตัดสินใจของมนุษย์บางอย่าง ที่ไม่สอดคล้องกับกฎความน่าจะเป็นตามธรรมชาติ

ฮิวริสติกนี้สามารถใช้อธิบายว่า เราตัดสินว่าอะไรเป็นเหตุและผลได้อย่างไร เมื่อเราตัดสินใจอาศัยว่าเหตุและผลต้องมีความคล้ายคลึงกัน เรากำลังใช้ฮิวริสติกนี้ ซึ่งสามารถนำไปสู่การมีความเอนเอียง คือเราจะตัดสินว่าเป็นเหตุและผลระหว่างสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกัน และจะหาเหตุผลไม่ได้ถ้าเหตุและผลไม่คล้ายกัน ตัวอย่างเช่น โรคระบาดที่กว้างใหญ่อาจมีเหตุที่เล็กน้อยเช่นไวรัส หรือว่าผลลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสลับซับซ้อนอาจจะมีเหตุง่าย ๆ คือการเริ่มใช้ยาฆ่าแมลงใหม่

การไม่ใส่ใจในอัตราพื้นฐาน

ในงานทดลองปี ค.ศ. 1973 มีการใช้ประวัติทางจิตวิทยาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสมมุติชื่อว่า ทอม ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งต้องให้คะแนนความคล้ายคลึงกัน ระหว่างทอมกับนักศึกษาทั่วไปในสาขาวิชาการต่าง ๆ 9 คณะ (รวมทั้งกฎหมาย วิศวกรรม และบรรณารักษศาสตร์) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งต้องประเมินว่า ทอมมีโอกาสเป็นเปอร์เซ็นต์แค่ไหนที่จะเข้าศึกษาในสาขาเหล่านั้น ถ้าโอกาสการเข้าการศึกษาเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ให้ เป็นไปตามกฎความน่าจะเป็น ก็ควรจะมีความคล้ายคลึงกับอัตราพื้นฐาน (base rate) ซึ่งก็คือ อัตราส่วนของนักศึกษาในสาขาวิขาทั้ง 9 (ซึ่งผู้ร่วมการทดลองอีกกลุ่มหนึ่งทำการประเมิน) และถ้าเราตัดสินใจตามกฎความน่าจะเป็น ก็ควรจะกล่าวว่า ทอมมีโอกาสจะศึกษาอยู่ในสาขามนุษยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ห้องสมุด เพราะว่า มีนักศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์มากกว่า และข้อมูลเพิ่มเติมอื่นในประวัติทางจิตวิทยานั้น คลุมเครือและเชื่อถือไม่ได้ แต่ว่า ผลที่พบก็คือค่าประเมินโอกาสที่ทอมจะเข้าศึกษาวิชาการต่าง ๆ กลับคล้ายกับค่าประเมินความคล้ายคลึงของทอมกับนักศึกษาในวิชาการต่าง ๆ เกือบสิ้นเชิง ผลงานที่คล้ายคลึงกันก็พบด้วย ในอีกงานวิจัยหนึ่งที่ผู้ร่วมการทดลองตัดสินโอกาสที่หญิงที่กุขึ้นคนหนึ่ง จะเลือกทำอาชีพต่าง ๆ งานวิจัยเหล่านี้แสดงว่า แทนที่จะประเมินความน่าจะเป็นโดยใช้อัตราพื้นฐาน เราจะใช้ความคล้ายคลึงกัน (หรือความเป็นตัวแทน) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายแทน

เหตุผลวิบัติโดยประพจน์เชื่อม (Conjunction fallacy)

เมื่อเราตัดสินใจอาศัยความเป็นตัวแทน เราสามารถตัดสินผิดพลาดจากกฎธรรมชาติของความน่าจะเป็น คาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านข้อความสั้น ๆ เกี่ยวกับหญิงคนหนึ่งชื่อว่าลินดา โดยกล่าวถึงเธอว่า "อายุ 31 ปี ยังโสด พูดจาตรงไปตรงมา และฉลาดมาก เธอเรียนปรัชญาเป็นวิชาเอก แม้จะเป็นนักศึกษา เธอก็มีความสนใจในปัญหาการเลือกปฏิบัติ และปัญหาความยุติธรรมทางสังคมอย่างลึกซึ้ง และเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านการใช้อาวุธ/พลังงานนิวเคลียร์" ผู้ร่วมการทดลองจะอ่านข้อความนี้แล้วประเมินความเป็นไปได้ของข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับลินดา รวมทั้ง "ลินดาเป็นพนักงานรับฝากถอนเงินในธนาคาร" และ "ลินดาเป็นพนักงานรับฝากถอนเงินในธนาคาร และเข้าร่วมกิจกรรมขบวนการเพื่อสิทธิของสตรี" เรามักจะมีความโน้มเอียงที่มีกำลังในการเลือกข้อความหลัง ซึ่งเฉพาะเจาะจงมากกว่า ว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงกว่า แม้ว่า จริง ๆ แล้ว ประพจน์เชื่อมในรูปแบบ "ลินดาเป็นทั้ง and " ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้มากกว่าข้อความที่ทั่วไปยิ่งกว่าคือ "ลินดาเป็น " การอธิบายโดยใช้ฮิวริสติกนี้คือว่า การตัดสินใจบิดเบือนไป เพราะว่า สำหรับผู้อ่านแล้ว ข้อความอธิบายบุคคลิกของลินดา คล้ายกับของบุคคลที่อาจจะเป็นนักสิทธินิยมของสตรี แต่ไม่เหมือนกับคนที่ทำงานในธนาคาร

มีอีกงานศึกษาหนึ่งคล้าย ๆ กันที่ใช้ชายชื่อว่าบิลล์ ซึ่งได้รับคำพรรณนาว่า "ฉลาดแต่ไม่ค่อยมีจินตนาการ" คนโดยมากที่อ่านข้อความนี้ให้โอกาสข้อความ "บิลล์เป็นนักบัญชีที่เล่นดนตรีแจ๊สเป็นงานอดิเรก" ว่าเป็นไปได้มากกว่าข้อความ "บิลล์เล่นดนตรีแจ๊สเป็นงานอดิเรก" (เพราะว่าคนฉลาดควรจะเป็นนักบัญชีได้ แต่คนไม่มีจินตนาการไม่ควรจะเป็นผู้เล่นดนตรีแจ๊ส)

คาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้ได้ใช้วิธีการที่เป็น "การยักย้ายเปลี่ยนแปลง (องค์ประกอบการทดลอง) ที่เพิ่มความสิ้นหวังขึ้นเรื่อย ๆ" เพื่อจะให้ผู้ร่วมการทดลองรับรู้ถึงความผิดพลาดทางตรรกะของตน ในรูปแบบหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองต้องเลือกระหว่าง

  • คำอธิบายที่ถูกต้องตามตรรกะว่า ทำไมข้อความว่า "ลินดาเป็นพนักงานรับฝากถอนเงินในธนาคาร" จึงมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า
  • การอ้างเหตุผลที่ไม่ถูกต้องตามตรรกะที่แสดงว่า "ลินดาเป็นพนักงานรับฝากถอนเงินในธนาคารที่นิยมสิทธิของสตรี" มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า "เพราะว่า เธอเหมือนกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมสิทธิของสตรีมากกว่าเหมือนกับพนักงานรับฝากถอนเงินในธนาคาร"

แต่ว่า ผู้ร่วมการทดลอง 65% กลับเห็นว่า การอ้างเหตุผลที่ไม่ถูกต้องตามตรรกะน่าเชื่อมากกว่า

นักวิจัยอื่น ๆ ได้ทำการทดลองรูปแบบอื่นต่าง ๆ คล้าย ๆ กันนี้ เพื่อที่จะเช็คดูว่า ผู้ร่วมการทดลองเข้าใจผิดคำถามหรือไม่ แต่ก็ไม่สามารถที่ระงับเหตุผลวิบัติที่ผู้ร่วมการทดลองมีได้ แต่ว่า ความผิดพลาดจะระงับไปได้ ถ้าถามคำถามโดยใช้ศัพท์เกี่ยวกับความถี่ ทุกคนที่ร่วมการทดลองแบบนี้จะรู้จักว่า ในคน 100 คนที่มีลักษณะเหมือนที่กล่าวไว้ในข้อความ ปริพจน์เชื่อม (ว่า เธอเป็นทั้ง และ ) จะไม่สามารถเป็นจริงมากกว่าข้อความที่ทั่วไปกว่า (ว่า เธอเป็น )

ความไม่รู้ขนาดตัวอย่าง

คาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้ให้ผู้ร่วมการทดลองพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับความแตกต่างกันโดยสุ่ม ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ถ้าจินตนาการว่า ทารกครึ่งหนึ่งที่เกิดในโรงพยาบาลเป็นผู้ชาย อัตราส่วนนี้จะไม่เป็นครึ่งหนึ่งพอดีในทุก ๆ ระยะเวลา เช่นในบางวัน จะมีเด็กผู้หญิงเกิดมากกว่าผู้ชาย และในวันอื่น ก็จะมีผู้ชายเกิดมากกว่าผู้หญิง ฉะนั้น ปัญหาก็คือว่า โอกาสที่อัตราส่วนการเกิดจะน้อยหรือมากไปกว่าครึ่งหนึ่งนั้น ขึ้นอยู่กับการเกิดที่มีน้อยหรือมากวันต่อวันหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่มีหลักฐานยืนยันทางสถิติอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า อัตราส่วนนั้นจะแปรเปลี่ยนไปวันต่อวันในระดับที่สูงกว่า ถ้าการเกิดวันต่อวันนั้นมีน้อย แต่ว่า ความคิดของเราเกี่ยวกับปัญหานี้ไม่ได้สะท้อนถึงความจริงข้อนี้ คือ เรามักจะตอบว่า จำนวนการเกิดในโรงพยาบาลไม่มีผลต่อโอกาสที่จะมีทารกเพศชายเกินกว่า 60% เกิดในวันนั้น คำอธิบายปรากฏการณ์นี้โดยใช้ฮิวริสติกก็คือว่า เราพิจารณาเพียงแค่ว่า อัตราส่วน 60% มีความเหมือนกับอัตราส่วนเฉลี่ยที่ยกขึ้นก่อนที่ 50%

การทำให้เจือจาง

มีกลุ่มนักวิจัยที่เสนอว่า ทฤษฎีความเป็นตัวแทนสามารถอธิบายปรากฏการณ์ทำให้เจือจาง (dilution effect) คือเมื่อข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกันกลับทำความรู้สึกแบบ stereotype (คือทัศนคติทั่วไปที่มีในสังคม) ให้อ่อนลง ในงานวิจัยหนึ่ง มีการถามผู้ร่วมการทดลองว่าพอล (ชื่อผู้ชาย) หรือซูซาน (ชื่อผู้หญิง) มีโอกาสมากกว่าที่จะเป็นคนออกปากออกเสียง โดยไม่ได้ให้ข้อมูลอื่นนอกจากชื่อ ผู้ร่วมการทดลองยกพอลให้เป็นคนออกปากออกเสียงมากกว่า คือปรากฏว่าตัดสินใจโดยอาศัยทัศนคติทั่วไปเกี่ยวกับเพศของสังคม ในผู้ร่วมการทดลองอีกกลุ่มหนึ่ง มีการให้ข้อมูลเพิ่มว่า มารดาของพอลและซูซานต่างก็เดินทางไปทำงานที่ธนาคาร ผู้การทดลองจะไม่ใช้ใช้ทัศนคติทั่วไปของสังคมในการตัดสินใจ คือยกทั้งพอลและซูซานเท่า ๆ กันว่าเป็นคนออกปากออกเสียง ซึ่งผู้วิจัยให้คำอธิบายว่า ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับพอลและซูซาน แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็น แต่ก็ทำพอลและซูซานให้มีความคล้ายกับตัวแทนของผู้หญิงและผู้ชายน้อยลงโดยองค์รวม และดังนั้น ความคาดหมายเกี่ยวกับพฤติกรรมของเพศหญิงและเพศชายจึงมีอิทธิพลน้อยลง

นี้หมายความว่า ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้ช่วยในการวินิจฉัย สามารถทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน ให้มีอิทธิพลน้อยลงในการตัดสินใจ

การเข้าใจความสุ่มผิด

ความเป็นตัวแทนยังสามารถอธิบายความผิดพลาดอย่างเป็นระบบที่เรามีเมื่อตัดสินความน่าจะเป็นของเหตุการณ์สุ่ม ยกตัวอย่างเช่น ในการโยนเหรียญต่อ ๆ กัน แต่ละครั้งออกหัว (ห) หรือก้อย (ก) เรามักจะตัดสินลำดับผลที่เป็นรูปแบบเช่น หหหกกก ว่ามีโอกาสน้อยกว่าลำดับผลที่เป็นรูปแบบน้อยกว่าเช่น หกหกกห แต่โดยสถิติแล้ว ลำดับทั้งสองอย่างมีความน่าจะเป็นเท่า ๆ กัน ถึงอย่างนั้น เรามักจะเห็นลำดับที่เป็นรูปแบบว่าเป็นตัวแทนของเหตุการณ์สุ่มน้อยกว่า และดังนั้น มีโอกาสน้อยที่จะเป็นเหตุการณ์สุ่ม คาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้เสนอว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นมูลฐานของเหตุผลวิบัติของนักการพนัน (gambler's fallacy) ซึ่งเป็นความโน้มเอียงที่จะหวังว่า ผลที่เกิดขึ้นโดยสุ่มจะย้อนกลับมาเป็นเหมือนลำดับสุ่มแม้จะเป็นลำดับสั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น หวังว่าลูกบอลจะตกลงในหลุมดำของล้อรูเล็ตต์ เพราะว่าในการหมุนครั้งก่อน ๆ ตกลงในหลุมแดง นักวิจัยทั้งสองเน้นว่า แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญทางสถิติก็มีความเสี่ยงต่อการแปลสิ่งเร้าผิดเช่นนี้ คือ ในปี ค.ศ. 1971 มีงานสำรวจนักจิตวิทยามืออาชีพ ซึ่งมีความคาดหวังว่า ตัวอย่างประชากรที่สุ่มมา จะมีความคล้ายคลึงกับประชากรจริง ๆ ในระดับสูงเกินกว่าความจริง ผลก็คือ นักจิตวิทยาจะประเมินกำลังทางสถิติของการทดลองของตนมากเกินไปอย่างเป็นระบบ และจะประเมินขนาดตัวอย่างที่จำเป็น เพื่อการทดสอบสมมติฐานที่มีความหมายทางสถิติต่ำเกินไป

การตั้งหลักและการปรับ

การตั้งหลักและการปรับ (Anchoring and adjustment) เป็นฮิวริสติกที่ใช้ในการประมาณตัวเลขในเหตุการณ์หลายอย่าง ตามคำพรรณนาดั้งเดิมของคาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้ เป็นการประมาณตัวเลขที่เริ่มจากตัวเลขที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเรียกว่าหลัก (anchor) แล้วปรับจากเลขนั้นขึ้นหรือลงเพื่อจะได้คำตอบที่อาจเป็นไปได้ แต่ว่าในการทดลองของนักวิจัยทั้งสอง ผู้ร่วมการทดลองไม่ได้ปรับคำตอบให้ไปไกลจากหลักพอ ที่ค่าจะไปตรงกับความจริง ดังนั้น หลักเลขนั้นจริง ๆ แล้ว อาจทำการประมาณค่าให้เสียหาย แม้ว่าค่าของหลักจะปรากฏอย่างชัดเจนว่าไม่มีความเกี่ยวข้อง ในงานทดลองหนึ่ง มีการให้ผู้ร่วมการทดลองดูหมายเลขที่ใช้กงล้อหมุนเลือก (ทำนองเดียวกับล้อรูเล็ตต์) แล้วให้บอกว่า ค่าของอะไรอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน มากหรือน้อยกว่าตัวเลขนั้น ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีการถามว่า "เปอร์เซ็นต์ของประเทศในแอฟริกาซึ่งเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ น้อยหรือมากกว่า 65%" (โดย 65 เป็นตัวเลขที่หมุนล้อถูก) หลังจากนั้นก็จะให้ทายค่าเปอร์เซ็นต์ที่ถูกต้อง แต่ว่า ค่าที่ให้เป็นคำตอบ กลับมีสหสัมพันธ์ในระดับสูง กับค่าสุ่มที่ได้จากล้อหมุน แต่การปรับออกจากหลักที่ไม่เพียงพอ ไม่ใช่เป็นคำอธิบายอย่างเดียวที่เสนอในปรากฏการณ์นี้ ทฤษฎีสำหรับใช้อธิบายอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราจะทำการประเมินอาศัยหลักฐานที่คิดได้สืบเนื่องจากหลักนั้น

 
ราคาประมูลของไวน์อาจมีอิทธิพล จากการพิจารณาตัวเลขสองหลักที่เป็นไปโดยสุ่ม

ปรากฏการณ์ตั้งหลักเห็นได้ในงานทดลองแบบต่าง ๆ มากมายทั้งในห้องแล็บทั้งในเหตุการณ์จริง ๆ และไม่สามารถกำจัดได้ แม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองจะมีแรงจูงใจเช่นจะได้รางวัลเพราะการประเมินค่าที่แม่นยำ หรือว่าแม้แต่มีการบอกอย่างชัดแจ้งไม่ให้ตั้งค่าประเมินสืบเนื่องกับเลขที่เป็นหลัก ปรากฏการณ์นี้มีกำลังเพิ่มขึ้นเมื่อต้องทำการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และผู้ร่วมการทดลองในงานทดลองเหล่านี้ จะไม่มีความเข้าใจเกี่ยวการทำงานของจิตใจของตนที่ใช้ฮิวริสติก และจะปฏิเสธว่า เลขหลักนั้นมีอิทธิพลต่อการประมาณค่าตัวเลขของตน

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเลขหลักนั้นเป็นเลขสุ่ม (ไร้ความหมาย) อย่างชัดเจน หรือมีค่าแบบสุดโต่ง ก็ยังสามารถทำค่าประเมินให้ผิดพลาดได้ งานทดลองหนึ่งให้ผู้ร่วมการทดลองประมาณปีที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ไปเยี่ยมประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ทั้งเลขหลัก 1215 และ 1992 ทำคำตอบให้เสียหายในระดับเดียวกับเลขหลักที่ใกล้กับความจริงอื่น ๆ งานทดลองอื่นถามผู้ร่วมการทดลองว่า อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของเมืองซานฟรานซิสโกมากกว่าหรือน้อยกว่า 558 องศา หรือว่า วงดนตรีเดอะบีเทิลส์มีอัลบัมที่ติดอันดับ 10 ยอดนิยม มากกว่าหรือน้อยกว่า 100,025 อัลบัม แม้เลขหลักที่เหลวไหลน่าหัวเราะเหล่านี้ก็ยังมีอิทธิพลต่อการประมาณค่าจริง ๆ ของผู้ร่วมการทดลอง

ค่าประเมินที่มีผลจากการตั้งหลักเป็นความเอนเอียงที่มีกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องบอกค่าประมาณในรูปแบบของช่วงความเชื่อมั่น (confidence interval) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องพยากรณ์ดัชนีหุ้นของวันหนึ่ง ๆ โดยกำหนดค่าบนและค่าล่างเพื่อที่จะมีความมั่นใจในระดับ 98% ว่าค่าจริง ๆ จะตกลงในช่วงที่กำหนด งานวิจัยที่เชื่อถือได้พบว่า เราจะตั้งหลักของค่าบนค่าล่างใกล้กับค่าดัชนีที่เป็นค่าประเมินที่ดีที่สุดของเรามากเกินไป (คือคิดว่าดัชนีจะยุติที่ค่าไหนในวันนั้น ก็จะตั้งค่าบนค่าล่างไว้ใกล้ ๆ กัน อย่างไม่สมกับเหตุผล) ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์มั่นใจมากเกินไป (overconfidence effect) ซึ่งพบในการทดลองหนึ่งที่มีการทำช้ำมามากมายแล้ว คือ เมื่อเรามั่นใจ 98% ว่า เลขตัวหนึ่งที่ให้ประเมินจะอยู่ในช่วง ๆ หนึ่ง เราจะผิดพลาดประมาณ 30-40% (คือใน 100 ครั้งที่มีความรู้สึกว่ามั่นใจ 98% ก็จะผิดเสีย 30-40 ครั้ง แทนที่จะผิดตามที่ประมาณคือแค่ 2 ครั้ง)

การตั้งหลักเป็นปัญหาความเอนเอียงที่ยากอย่างยิ่ง ในกรณีที่ต้องรวมจำนวนเลขหลายตัวเป็นผลเลขที่เป็นตัวตัดสิน คาฮ์นะมันและทเวอร์สกี้แสดงหลักฐานโดยให้คนกลุ่มหนึ่งประมาณผลของการคูณเลข 8 x 7 x 6 x 5 x 4 x 3 x 2 x 1. แล้วให้อีกกลุ่มหนึ่งประมาณผลของการคูณเลขแบบย้อนกลับคือ 1 x 2 x 3 x 4 x 5 x 6 x 7 x 8. ทั้งสองกลุ่มประมาณผลคูณต่ำมากเกินไป แต่ว่า กลุ่มหลังมีค่าประเมินโดยเฉลี่ยที่น้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่งอย่างเป็นนัยสำคัญ ซึ่งอธิบายโดยการตั้งหลักได้ว่า เราคูณเลขสองสามตัวแรก แล้วตั้งหลักใช้เลขที่ได้ อีกงานหนึ่งที่เป็นนามธรรมน้อยกว่าก็คือการประเมินโอกาสเครื่องบินตก โดยมีความบกพร่องที่อาจเป็นไปได้มากมาย แต่ละอย่าง ๆ มีความเป็นไปได้ 1 ในล้าน สิ่งที่พบในผลงานวิจัยที่ศึกษาการประเมินเช่นนี้พบว่า เราตั้งหลักลงที่ความเสี่ยงของชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่ละส่วน และดังนั้นก็จะประเมินโอกาสเสี่ยงโดยรวมต่ำเกินไป มีปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกันอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อเราประเมินความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเกิดขึ้นเป็นลำดับ เช่น ก เกิดขึ้น แล้ว ข ก็จะเกิดขึ้น เป็นต้น ในการตัดสินใจเช่นนี้ การตั้งหลักค่าความน่าจะเป็นลงที่ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์แต่ละภาค จะทำให้เกิดการประมาณค่าโดยรวมสูงเกินไป

การประยุกต์ใช้

การประเมินราคาสินค้า และการกำหนดจำนวนสิ่งของที่จะซื้อ มีผลมาจากปรากฏการณ์ตั้งหลัก ในงานทดลองหนึ่ง มีการให้ผู้ร่วมการทดลองเขียนเลขสองหลักสุดท้ายของเลขประกันทางสังคมของตน (ซึ่งโดยรวม ๆ แล้วเหมือนกับเป็นเลขสุ่มที่ให้แต่ละบุคคล) หลังจากนั้นก็จะถามว่า ผู้ร่วมการทดลองยินดีที่จะจ่ายเงินจำนวนเท่ากับตัวเลขนี้ (เป็นดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับสินค้าที่ตนไม่รู้ค่า เช่นไวน์ ช็อกโกแลต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือไม่ ต่อจากนั้นก็จะให้ผู้ร่วมการทดลองประมูลสินค้าเหล่านี้ ค่าประมูลของคนที่มีเลขสองหลักสูงที่สุด มีค่ามากเป็นหลายเท่ากว่าผู้ที่มีเลขต่ำที่สุด ถ้ามีกองซุปกระป๋องในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีป้ายว่า "จำกัด 12 กระป๋องต่อลูกค้า" ป้ายนี้จะมีอิทธิพลให้ลูกค้าซื้อซุปกระป๋องนั้นเพิ่มขึ้น ในอีกงานทดลองหนึ่ง มีการให้นายหน้าขายที่ดิน ประเมินมูลค่าของบ้านต่าง ๆ โดยให้ไปดูบ้านและให้ดูเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับบ้านที่มีอยู่มากมาย หลังจากนั้น จะมีการแสดงราคาที่ต้องการขายต่าง ๆ กันให้ดู แต่ราคานั้นจะมีผลต่อการประเมินราคาของบ้าน (ซึ่งไม่น่าจะมี ควรจะประเมินราคาตามสภาพบ้านและตามข้อมูลอื่น ๆ ที่มี)

การตั้งหลักและการปรับยังมีผลต่อเกรดที่ให้กับนักเรียน ในงานทดลองหนึ่ง มีการให้ข้อเขียนร้อยแก้วของนักเรียนเป็นชุด ๆ กับครู 48 ท่าน ซึ่งคุณครูต้องให้เกรดแล้วคืนให้กับนักเรียน นอกจากนั้นแล้ว คุณครูจะได้รายการนักเรียนพร้อมกับเกรดที่เคยได้มาก่อน เกรดเฉลี่ยที่ได้มาก่อน กลับมีผลต่อเกรดที่คุณครูให้กับนักเรียนสำหรับข้อความเขียนที่ตรวจนั้น

อีกงานวิจัยหนึ่งแสดงว่า การตั้งหลักมีผลต่อการพิพากษาการข่มขืนที่กุขึ้น ผู้ร่วมการทดลองเป็นผู้พิพากษาจริง ๆ และโดยเฉลี่ยมีประสบการณ์การพิจารณาคดีในศาลมามากกว่า 15 ปี มีการให้ผู้พิพากษาอ่านเอกสารต่าง ๆ รวมทั้ง คำให้การของพยาน คำให้การของผู้เชี่ยวชาญ ความกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน คำให้การของพนักงานอัยการ และคำให้การของผู้ต้องสงสัย มีสองกลุ่มในงานทดลองนี้ กลุ่มแรกพนักงานอัยการเรียกร้องการจำคุก 34 เดือน อีกกลุ่มหนึ่งเรียกร้อง 12 เดือน โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีความต่างกันของการตัดสินจำคุกเป็นเวลา 8 เดือนระหว่างผู้พิพากษาสองกลุ่มนี้

ในอีกงานทดลองหนึ่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีในศาลที่กุขึ้น ผู้ร่วมการทดลองมีบทบาทเป็นลูกขุนในคดีแพ่ง มีการขอให้ปรับค่าเสียหาย "ในช่วง 15 ล้าน - 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ" หรือ "ในช่วง 50 ล้าน - 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ" แม้ว่า บทความในคดีจะเหมือนกันทุกอย่าง ลูกขุนที่มีการขอค่าปรับที่สูงกว่า จะตัดสินค่าปรับเป็น 3 เท่าของอีกกลุ่มหนึ่ง นี่เกิดขึ้นแม้แต่ในกรณีที่มีการเตือนลูกขุน ไม่ให้ใช้ค่าปรับที่ขอเป็นหลักฐานของคดี

ฮิวริสติกโดยอารมณ์

อารมณ์ (affect) ในที่นี้หมายถึงความรู้สึกเช่นความกลัว ความยินดีสนุกสนาน และความประหลาดใจ ซึ่งมีอายุสั้นกว่า "พื้นอารมณ์" (mood) และเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่ได้ตั้งใจ เป็นปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้า เช่นการอ่านคำว่า "มะเร็งปอด" อาจจะทำให้รู้สึกสยอง หรืออ่านคำว่า "ความรักของคุณแม่" อาจทำให้รู้สึกถึงความรักและความอบอุ่น เมื่อเราใช้อารมณ์ (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเองทันทีโดยไม่ได้คิด) เพื่อตัดสินประโยชน์และความเสี่ยงของเรื่อง ๆ หนึ่ง เรากำลังใช้ฮิวริสติกโดยอารมณ์ การใช้ฮิวริสติกโดยอารมณ์สามารถอธิบายว่า ทำไมความสื่อสารที่กระตุ้นอารมณ์ จึงชักชวนใจได้ดีกว่าความที่แสดงความจริง

ฮิวริสติกอื่น ๆ

ทฤษฎีต่าง ๆ

มีทฤษฎีที่แข่งกันหลายอย่างเกี่ยวกับการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งต่างกันในประเด็นว่า การใช้ฮิวริสติกถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผล (irrational) หรือไม่ ทฤษฎีแนว "ความขี้เกียจทางประชาน" เสนอว่า การใช้ฮิวริสติกเป็นทางลัดที่ช่วยไม่ได้เนื่องจากสมรรถภาพอันจำกัดของสมองมนุษย์ ส่วนทฤษฎีแนว "การประเมินผลที่เป็นไปตามธรรมชาติ" เสนอว่า สมองได้ทำการคำนวณผลที่ซับซ้อนอย่างรวดเร็วและเป็นไปโดยอัตโนมัติเป็นบางอย่างแล้ว และการตัดสินใจที่เหลือก็เลยใช้กระบวนการทางลัดเหล่านี้ แทนที่จะทำการคำนวณมาตั้งแต่เริ่มต้น แนวคิดเช่นนี้นำไปสู่ทฤษฎีที่เรียกว่า "attribute substitution" (การทดแทนลักษณะ) ซึ่งเสนอว่า เราเผชิญหน้ากับปัญหาที่ซับซ้อน โดยวิธีตอบปัญหาคนละปัญหาแต่เกี่ยวเนื่องกัน โดยที่ไม่รู้ว่าตนกำลังใช้วิธีอย่างนี้ ส่วนทฤษฎีแนวที่สามเสนอว่า ฮิวริสติกใช้ได้ดีเท่ากับกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนกว่านี้ แต่ว่าทำได้เร็วกว่าโดยมีข้อมูลน้อยกว่า เป็นแนวคิดที่เน้น "ความรวดเร็วและความมัธยัสถ์" ของฮิวริสติก

ความขี้เกียจทางประชาน

แบบจำลอง effort-reduction framework (ระบบการลดงาน) ของ Anuj K. Shah และ Daniel M. Oppenheimer เสนอว่า เราใช้เทคนิคหลายอย่างในการลดงานที่ต้องทำเพื่อทำการตัดสินใจ

การทดแทนลักษณะ

 
ตัวอย่างการทดแทนลักษณะทางตา ภาพลวงตานี้ (รูปคู่ซ้ำทั้ง 3 ชุดมีขนาดเท่ากันใน 2-มิติ) เกิดได้เพราะขนาด 2-มิติ ของบางส่วนของภาพมีการตัดสินตามขนาด 3-มิติ ซึ่งเป็นการคำนวณที่ทำอย่างรวดเร็วโดยระบบสายตา คือรูปจริง ๆ แล้วเป็นภาพ 2 มิติ แต่ระบบสายตาของเราตีความโดยอัตโนมัติเหมือนเห็นภาพ 3 มิติ จึงทำให้รูปคู่ซ้ำทั้ง 3 ชุดดูมีขนาดต่างกันมาก

ในปี ค.ศ. 2002 คาฮ์นะมันและเฟร็ดเดอริกเสนอกระบวนการที่เรียกว่า "การทดแทนลักษณะ" (attribute substitution) ซึ่งเกิดขึ้นใต้จิตสำนึก ตามทฤษฎีนี้ เมื่อเราต้องทำการตัดสินใจ (เกี่ยวกับลักษณะที่เป็นเป้าหมาย หรือ target attribute) ซึ่งซับซ้อนโดยการคำนวณ ระบบทางประชานของเราก็จะใช้ลักษณะฮิวริสติก (heuristic attribute) เพื่อใช้ในการตัดสินใจนั้นแทน สิ่งที่เกิดขึ้นโดยองค์รวมก็คือ มีการจัดการปัญหาที่ยากด้วยการตอบปัญหาที่ง่ายกว่า โดยที่บุคคลนั้นไม่รู้ตัวว่าเป็นกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งอธิบายว่า ทำไมเราถึงไม่รู้ความเอนเอียงของตนเอง และทำไมความเอนเอียงก็ยังดำรงอยู่ แม้เมื่อคนอื่นยังให้เรารู้แล้ว และอธิบายด้วยว่า ทำไมการตัดสินใจของมนุษย์บ่อยครั้งจึงไม่มีลักษณะของการถอยกลับไปสู่ค่าเฉลี่ย (regression toward the mean) (เพราะวิธีการตัดสินใจโดยใช้ฮิวริสติกไม่ได้ให้ผลดีที่สุด ดังนั้น จึงไม่มีการถอยกลับไปสู่ค่าเฉลี่ย)

การทดแทนนี้เชื่อว่าเป็นส่วนของระบบการตัดสินใจที่เป็นไปโดยรู้เอง (intuitive) และโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เป็นส่วนของระบบที่อยู่ในสำนึกที่ต้องอาศัยความคิด ดังนั้น เมื่อเราพยายามจะตอบคำถามที่ยาก เราอาจจะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกันแต่ไม่ใช่คำถามเดียวกัน โดยไม่รู้ตัวว่ามีการทดแทนเกิดขึ้นแล้ว

ในปี ค.ศ. 1975 นักจิตวิทยาสแตนลีย์ สตีเวนเสนอว่า กำลังของสิ่งเร้า (เช่น ความสว่างของแสง หรือความรุนแรงของอาชญากรรม) เป็นสิ่งที่เซลล์ประสาทเข้ารหัส โดยไม่ขึ้นอยู่กับภาวะที่รับรู้จากสิ่งเร้า (Stimulus modality) คือไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแสงที่สว่าง หรือเป็นเสียงที่ดัง คาฮ์นะมันและเฟร็ดเดอริกต่อยอดความคิดนี้ โดยเสนอว่า ลักษณะเป้าหมาย (target attribute) และลักษณะฮิวริสติก (heuristic attribute) อาจเป็นสิ่งที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติ (ดูตัวอย่างเกี่ยวกับการเสนอประกันชีวิตให้คนอเมริกันต่อไป)

มนุษย์ไม่คุ้นเคยต่อการคิดมาก และบ่อยครั้งพึงใจที่จะเชื่อถือการตัดสินใจที่พอเป็นไปได้ตามที่คิดได้

แดเนียล คาฮ์นะมัน, American Economic Review 93 (5) December 2003, p. 1450

คาฮ์นะมันและเฟร็ดเดอริกเสนอองค์ประกอบ 3 อย่างสำหรับการทดแทนลักษณะ

  1. ลักษณะเป้าหมาย (target attribute) เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเข้าถึงยาก (หรือคำนวณได้ยาก)
    แต่การทดแทนจะไม่เกิดขึ้นในการตอบปัญหาเกี่ยวกับความจริงที่สามารถดึงออกมาจากความจำได้โดยตรง (เช่น "วันเกิดของคุณคืออะไร") หรือเกี่ยวกับประสบการณ์ในปัจจุบัน (เช่น "คุณรู้สึกหิวน้ำตอนนี้หรือเปล่า")
  2. ลักษณะที่เกี่ยวข้องกันเข้าถึงได้ง่าย
    นี่อาจจะเป็นเพราะลักษณะนี้มีการประมวลโดยอัตโนมัติในกระบวนการรับรู้ปกติ หรือว่ามีการกระตุ้นผ่านกระบวนการ priming ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังคิดถึงชีวิตแห่งความรักของเรา แล้วเกิดคำถามว่า เรามีความสุขแค่ไหน เราอาจจะทดแทนด้วยคำตอบว่า เรามีความสุขแค่ไหนในชีวิตแห่งความรักของเรา โดยที่ไม่ได้คิดถึงส่วนอื่น ๆ ของชีวิต
  3. การทดแทนจะไม่มีการตรวจจับหรือแก้โดยระบบความคิด

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถามว่า "ไม้ตีลูกบอลและลูกบอลทั้งสองมีราคา $1.10 ไม้ตีมีราคา $1 มากกว่าลูกบอล ลูกบอลมีราคาเท่าไร" คนเป็นจำนวนมากจะตอบอย่างผิด ๆ ว่า $0.10

การอธิบายโดยทฤษฎีการทดแทนก็คือ แทนที่การคำนวณ เราอาจจะแบ่ง $1.10 ออกเป็นจำนวนมากและจำนวนน้อย ซึ่งง่ายที่จะกระทำ ความรู้สึกว่าคำตอบนี่ถูกหรือไม่จะขึ้นอยู่กับว่า เราเช็คการคำนวณนี้ผ่านระบบความคิดด้วยหรือไม่

คาฮ์นะมันให้อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีการเสนอประกันชีวิตเนื่องกับการก่อการร้ายระหว่างที่เดินทางไปยุโรป ให้กับคนอเมริกัน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมีการเสนอประกันชีวิตเนื่องกับความตายทุกประเภท แม้ว่า "ความตายทุกชนิด" จะรวม "ความตายเนื่องกับการก่อการร้าย" คนกลุ่มแรกยินดีที่จะจ่ายค่าประกันมากกว่าคนกลุ่มหลัง คาฮ์นะมันเสนอว่า มีการใช้ลักษณะคือความกลัว (เป็น heuristic attribute) แทนที่การคำนวณความเสี่ยงอย่างรวม ๆ ในการเดินทาง (ซึ่งเป็น target attribute) เพราะว่า ความกลัวต่อการก่อการร้ายในผู้ร่วมการทดลองเหล่านี้ มีกำลังกว่าความกลัวต่อความตายในการเดินทางไปต่างประเทศโดยทั่ว ๆ ไป

ความรวดเร็วและความมัธยัสถ์

มีกลุ่มนักวิจัยที่เสนอว่า ฮิวริสติกสามารถใช้ในการตัดสินใจที่แม่นยำ ไม่ใช่ในการตัดสินใจที่ประกอบด้วยความเอนเอียง คือ วิธีการตัดสินใจโดยฮิวริสติกนั้น "รวดเร็วและมัธยัสถ์" ซึ่งสามารถใช้แทนกระบวนวิธีที่ซับซ้อนกว่า และให้คำตอบที่พอ ๆ กัน ประโยชน์ของกลยุทธ์การตัดสินใจโดยฮิวริสติก หรือว่ากลยุทธ์ "น้อยกว่าคือมากกว่า" (less is more) พบในสถานการณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่การบริโภคอาหาร ไปจนถึงตลาดหุ้นและการหาเดตออนไลน์ของหนุ่มสาว

ผลกระทบ

ฮิวริสติกเป็นการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ

มีนักจิตวิทยาทางสังคมผู้หนึ่ง ประยุกต์กฎฮิวริสติก 10 อย่างในโปรแกรมการจำลองคอมพิวเตอร์ที่เลือกค่าที่เป็นทางเลือกต่าง ๆ เขาสนใจว่า ฮิวริสติกแต่ละอย่างจะเลือกค่าสูงสุดหรือต่ำสุดของค่าที่คาดหมาย (expected value) บ่อยครั้งเท่าไร ในลำดับสถานการณ์ที่มีกำเนิดสุ่มและที่ต้องมีการตัดสินใจ แล้วพบว่า ฮิวริสติกโดยมากจะเลือกค่าสูงสุดแต่เกือบจะไม่เคยเลือกค่าต่ำสุด (ดูข้อมูลเพิ่มจากแหล่งอ้างอิง)

ปรากฏการณ์ "คนสวยคนหล่อจะดูคุ้นเคย"

นักจิตวิทยาอีกท่านหนึ่งทำรายงานชุดการทดลอง ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองดูรูปใบหน้า แล้วตัดสินว่าเคยเห็นใบหน้าเหล่านั้นมาก่อนไหม มีการพบอย่างซ้ำ ๆ กันว่า ใบหน้าที่ดึงดูดใจ มักจะรับการระบุอย่างผิด ๆ ว่า เคยเห็นมาแล้ว ผู้ทำงานวิจัยตีความโดยใช้ทฤษฎีการทดแทนลักษณะ คือ ลักษณะฮิวริสติกในกรณีนี้ก็คือ "ความรู้สึกที่แจ่มใสอบอุ่น" ซึ่งเป็นความรู้สึกต่อคนที่อาจจะเป็นคนคุ้นเคย หรือเป็นคนที่ดึงดูดใจ แต่ว่า การตีความเช่นนี้ยังมีผู้ไม่เห็นด้วย เพราะว่า ค่าความแปรปรวน (variance) ของความคุ้นเคยทั้งหมด ไม่สามารถอธิบายได้โดยความดึงดูดใจของรูป

การตัดสินใจเกี่ยวกับศีลธรรมและความยุติธรรม

มีนักวิชาการทางกฎหมายที่เสนอว่า การทดแทนลักษณะเป็นไปอย่างกว้างขวางเมื่อเราต้องคิดหาเหตุผลในเรื่องศีลธรรม การเมือง และกฎหมาย คือ เมื่อมีปัญหาใหม่ ๆ ที่ยากในเรื่องเหล่านั้น เรามักจะหาปัญหาที่คุ้นเคยกว่าแต่มีความเกี่ยวข้องกัน (ที่เรียกว่า กรณีต้นแบบ หรือ prototypical case) แล้วใช้วิธีแก้ปัญหาต้นแบบ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีใหม่ซึ่งยากกว่า นักวิชาการกล่าวว่า ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่หรือผู้เป็นใหญ่ทางการเมืองหรือทางศาสนาที่เชื่อใจ สามารถใช้เป็นลักษณะฮิวริสติก เมื่อเรามีคำถามเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แหล่งกำเนิดอีกอย่างหนึ่งของลักษณะฮิวริสติกก็คืออารมณ์ คือ ความคิดเห็นทางศีลธรรมในประเด็นที่มีความอ่อนไหวเช่น เพศสัมพันธ์ การโคลนมนุษย์ อาจจะเกิดการขับเคลื่อนโดยปฏิกิริยาทางอารมณ์เช่นความสะอิดสะเอียน (disgust) ไม่ใช่โดยหลักความคิดโดยเหตุผล แต่ว่าทฤษฎีของนักวิชาการนี้มีผู้แย้งว่า ไม่ได้ให้หลักฐานที่พอเพียงว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการทดแทนลักษณะ ไม่ใช่เป็นกระบวนการอื่น ที่มีผลต่อกรณีเหล่านี้

เชิงอรรถ

  1. ตามวิกิพีเดียอังกฤษ Judgement หรือว่า judgment เป็นการประเมินหลักฐานเพื่อที่จะตัดสินใจ
  2. คำว่า ฮิวริสติก ดั้งเดิมเป็นคำวิเศษณ์มาจากภาษากรีกว่า εὑρίσκειν (heuriskein) แปลว่า "ใช้เพื่อการค้นพบ" การใช้เป็นคำนามนั้นมาทีหลัง โดยเป็นตัวย่อหมายถึง วิธีการฮิวริสติก (heuristic method) หรือหลักฮิวริสติก (heuristic principle) (Baron 2000, p. 50)
    • x + y = $1.10
    • x = y + $1
    • ดังนั้น y + $1 + y = $1.10
    • และดังนั้น y = $0.05

อ้างอิง

  1. "Lexitron พจนานุกรมไทย<=>อังกฤษ รุ่น 2.6". หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2546. judgment=การประเมิน Check date values in: |year= (help)
  2. "Cambridge Dictionary". Dictionary.cambridge.org. 2013-08-07. สืบค้นเมื่อ 2013-08-17.
  3. "AskOxford.com". AskOxford.com. 2013-08-13. สืบค้นเมื่อ 2013-08-17.
  4. "judgment noun". Longman Dictionary of Contemporary English. สืบค้นเมื่อ 2015-04-07.
  5. Lewis, Alan (2008-04-17). The Cambridge Handbook of Psychology and Economic Behaviour. Cambridge University Press. p. 43. ISBN 978-0-521-85665-2. สืบค้นเมื่อ 2013-02-07.
  6. Harris, Lori A. (2007-05-21). CliffsAP Psychology. John Wiley & Sons. p. 65. ISBN 978-0-470-19718-9. สืบค้นเมื่อ 2013-02-07.
  7. Nevid, Jeffrey S. (2008-10-01). Psychology: Concepts and Applications. Cengage Learning. p. 251. ISBN 978-0-547-14814-4. สืบค้นเมื่อ 2013-02-07.
  8. Kahneman, Daniel; Klein, Gary (2009). "Conditions for intuitive expertise: A failure to disagree". American Psychologist. 64 (6): 515–526. doi:10.1037/a0016755.
  9. Kahneman, Daniel (2011). "Introduction". Thinking, Fast and Slow. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-1-4299-6935-2.
  10. Plous 1999, p. 109
  11. Hastie & Dawes 2009, pp. 210-211
  12. Tversky, Amos; Kahneman, Daniel (1973), "Availability: A Heuristic for Judging Frequency and Probability" (PDF), Cognitive Psychology, 5: 207–232, doi:10.1016/0010-0285 (73) 90033-9 Check |doi= value (help), ISSN 0010-0285, สืบค้นเมื่อ 2015-03-06
  13. Sutherland 2007, pp. 16-17
  14. Plous 1993, pp. 123-124
  15. Tversky & Kahneman 1974
  16. Carroll, J. (1978). "The Effect of Imagining an Event on Expectations for the Event: An Interpretation in Terms of the Availability Heuristic". Journal of Experimental Social Psychology. 14 (1): 88–96. doi:10.1016/0022-1031 (78) 90062-8 Check |doi= value (help). ISSN 0022-1031.
  17. Srull, Thomas K.; Wyer, Robert S. (1979). "The Role of Category Accessibility in the Interpretation of Information About Persons: Some Determinants and Implications". Journal of Personality and Social Psychology. 37 (10): 1660–72. doi:10.1037/0022-3514.37.10.1660. ISSN 0022-3514.
  18. Plous 1993, pp. 109-120
  19. Nisbett, Richard E.; Ross, Lee (1980). Human inference: strategies and shortcomings of social judgment. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall. pp. 115–118. ISBN 9780134450735.
  20. Gilovich, Thomas. "2 - Something Out of Nothing". How We Know What Isn't So - The Fallibility of Human Reason in Everyday Life. New York: The Free Press. p. 18. ISBN 0-02-911705-4.
  21. Kahneman, Daniel; Amos Tversky (1973-07). "On the Psychology of Prediction". Psychological Review. American Psychological Association. 80 (4): 237–51. doi:10.1037/h0034747. ISSN 0033-295X. Check date values in: |date= (help)
  22. Tversky, Amos; Kahneman, Daniel (1983). "Extensional versus intuitive reasoning: The conjunction fallacy in probability judgment". Psychological Review. 90 (4): 293–315. doi:10.1037/0033-295X.90.4.293. reprinted in Gilovich, Thomas; Griffin, Daniel; Kahneman, บ.ก. (2002), Heuristics and Biases: The Psychology of Intuitive Judgment, Cambridge: Cambridge University Press, pp. 19–48, ISBN 9780521796798, OCLC 47364085
  23. Poundstone 2010, p. 89
  24. Tentori, K.; Bonini, N.; Osherson, D. (2004-05-01). "The conjunction fallacy: a misunderstanding about conjunction?". Cognitive Science. 28 (3): 467–477. doi:10.1016/j.cogsci.2004.01.001.
  25. Moro, Rodrigo (2008-07-29). "On the nature of the conjunction fallacy". Synthese. 171 (1): 1–24. doi:10.1007/s11229-008-9377-8.
  26. Gigerenzer, Gerd (1991). "How to make cognitive illusions disappear: Beyond "heuristics and biases". European Review of Social Psychology. 2: 83–115. doi:10.1080/14792779143000033.
  27. Kunda 1999, pp. 70-71
  28. Kunda 1999, pp. 68-70
  29. Zukier, Henry (1982). "The dilution effect: The role of the correlation and the dispersion of predictor variables in the use of nondiagnostic information". Journal of Personality and Social Psychology. 43 (6): 1163–1174. doi:10.1037/0022-3514.43.6.1163.
  30. Kunda 1999, pp. 71-72
  31. Tversky, Amos; Kahneman, Daniel (1971). "Belief in the law of small numbers". Psychological Bulletin. 76 (2): 105–110. doi:10.1037/h0031322. reprinted in Daniel Kahneman, Paul Slovic, Amos Tversky, บ.ก. (1982). Judgment under uncertainty: heuristics and biases. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 23–31. ISBN 9780521284141.CS1 maint: multiple names: editors list (link)
  32. Baron 2000, p. 235?
  33. Plous 1993, pp. 145-146
  34. Koehler & Harvey 2004, p. 99
  35. Mussweiler, Englich & Strack 2004, pp. 185-186,197
  36. Yudkowsky 2008, pp. 102-103
  37. Lichtenstein, Sarah; Fischoff, Baruch; Phillips, Lawrence D. (1982), "Calibration of probabilities: The state of the art to 1980", ใน Kahneman, Daniel; Slovic, Paul; Tversky, Amos (บ.ก.), Judgment under uncertainty: Heuristics and biases, Cambridge University Press, pp. 306–334, ISBN 9780521284141
  38. Sutherland 2007, pp. 168-170
  39. Hastie & Dawes 2009, pp. 78-80
  40. George Loewenstein (2007), Exotic Preferences: Behavioral Economics and Human Motivation, Oxford University Press, pp. 284–285, ISBN 9780199257072
  41. Mussweiler, Englich & Strack 2004, p. 188
  42. Plous 1993, pp. 148-149
  43. Caverni, Jean-Paul; Péris, Jean-Luc (1990), "The Anchoring-Adjustment Heuristic in an 'Information-Rich, Real World Setting': Knowledge Assessment by Experts", ใน Caverni, Jean-Paul; Fabré, Jean-Marc; González, Michel (บ.ก.), Cognitive biases, Elsevier, pp. 35–45, ISBN 9780444884138
  44. Mussweiler, Englich & Strack 2004, p. 183
  45. Finucane, M.L.; Alhakami, A.; Slovic, P.; Johnson, S.M. (2000-01). "The Affect Heuristic in Judgment of Risks and Benefits". Journal of Behavioral Decision Making. 13 (1): 1–17. doi:10.1002/(SICI) 1099-0771 (200001/03) 13:1<1::AID-BDM333>3.0.CO;2-S Check |doi= value (help). Check date values in: |date= (help)
  46. Keller, Carmen (2006-06). "The Role of Affect and Availability Heuristics in Risk Analysis". 26 (3): 631–639. doi:10.1111/j.1539-6924.2006.00773.x. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help); Cite journal requires |journal= (help); Check date values in: |date= (help)
  47. Kahneman, Daniel; Frederick, Shane (2002), "Representativeness Revisited: Attribute Substitution in Intuitive Judgment", ใน Gilovich, Thomas; Griffin, Dale; Kahneman, Daniel (บ.ก.), Heuristics and Biases: The Psychology of Intuitive Judgment, Cambridge: Cambridge University Press, pp. 49–81, ISBN 9780521796798, OCLC 47364085
  48. Hardman 2009, pp. 13-16
  49. Shah, Anuj K.; Daniel M. Oppenheimer (2008-03). "Heuristics Made Easy: An Effort-Reduction Framework". Psychological Bulletin. American Psychological Association. 134 (2): 207–222. doi:10.1037/0033-2909.134.2.207. ISSN 1939-1455. PMID 18298269. Check date values in: |date= (help)
  50. Newell, Benjamin R.; David A. Lagnado; David R. Shanks (2007). Straight choices: the psychology of decision making. Routledge. pp. 71–74. ISBN 9781841695884.
  51. Kahneman, Daniel (2003-12). "Maps of Bounded Rationality: Psychology for Behavioral Economics" (PDF). American Economic Review. American Economic Association. 93 (5): 1449–1475. doi:10.1257/000282803322655392. ISSN 0002-8282. Check date values in: |date= (help) อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "kahneman_aer" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  52. Kahneman, Daniel (2007). "Short Course in Thinking About Thinking". Edge.org. Edge Foundation. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-20. สืบค้นเมื่อ 2009-06-03. Unknown parameter |deadurl= ignored (help)
  53. Gigerenzer, Gerd; Todd, Peter M. (1999). Simple Heuristics That Make Us Smart. Oxford, UK: Oxford University Press. ISBN 0-19-514381-7.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  54. van der Linden, S. (2011). "Speed Dating and Decision Making: Why Less is More". Scientific American - Mind Matters. Nature. สืบค้นเมื่อ 2013-11-14.
  55. Thorngate, Warren (1980). "Efficient decision heuristics". Behavioral Science. 25 (3): 219–225. doi:10.1002/bs.3830250306.
  56. Monin, Benoît (2005), (PDF), Social Cognition, 23 (3): 257–278, doi:10.1521/soco.2005.23.3.257, ISSN 0278-016X, คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2016-05-27, สืบค้นเมื่อ 2015-03-06 Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  57. Sunstein, Cass R. (2005). "Moral heuristics". Behavioral and Brain Sciences. Cambridge University Press. 28 (4): 531–542. doi:10.1017/S0140525X05000099. ISSN 0140-525X. PMID 16209802.
  58. Sunstein, Cass R. (2009). (PDF). Vermont Law Review. Vermont Law School. 33 (3): 405–434. SSRN 1401432. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 2009-09-15.

อ้างอิงอื่น ๆ

  • Baron, Jonathan (2000), Thinking and deciding (3rd ed.), New York: Cambridge University Press, ISBN 0521650305, OCLC 316403966CS1 maint: ref=harv (link)
  • Gilovich, Thomas; Griffin, Dale W. (2002), "Introduction - Heuristics and Biases: Then and Now", ใน Gilovich, Thomas; Griffin, Dale W.; Kahneman, Daniel (บ.ก.), Heuristics and biases: the psychology of intuitive judgement, Cambridge University Press, pp. 1–18, ISBN 9780521796798CS1 maint: ref=harv (link)
  • Hardman, David (2009), Judgment and decision making: psychological perspectives, Wiley-Blackwell, ISBN 9781405123983CS1 maint: ref=harv (link)
  • Hastie, Reid; Dawes, Robyn M. (2009-09-29), Rational Choice in an Uncertain World: The Psychology of Judgment and Decision Making, SAGE, ISBN 9781412959032CS1 maint: ref=harv (link)
  • Koehler, Derek J.; Harvey, Nigel (2004), Blackwell handbook of judgment and decision making, Wiley-Blackwell, ISBN 9781405107464CS1 maint: ref=harv (link)
  • Kunda, Ziva (1999), Social Cognition: Making Sense of People, MIT Press, ISBN 978-0-262-61143-5, OCLC 40618974CS1 maint: ref=harv (link)
  • Mussweiler, Thomas; Englich, Birte; Strack, Fritz (2004), "Anchoring effect", ใน Pohl, Rüdiger F. (บ.ก.), Cognitive Illusions: A Handbook on Fallacies and Biases in Thinking, Judgement and Memory, Hove, UK: Psychology Press, pp. 183–200, ISBN 9781841693514, OCLC 55124398CS1 maint: ref=harv (link)
  • Plous, Scott (1993), The Psychology of Judgment and Decision Making, McGraw-Hill, ISBN 9780070504776, OCLC 26931106CS1 maint: ref=harv (link)
  • Poundstone, William (2010), Priceless: the myth of fair value (and how to take advantage of it), Hill and Wang, ISBN 9780809094691CS1 maint: ref=harv (link)
  • Reber, Rolf (2004), "Availability", ใน Pohl, Rüdiger F. (บ.ก.), Cognitive Illusions: A Handbook on Fallacies and Biases in Thinking, Judgement and Memory, Hove, UK: Psychology Press, pp. 147–163, ISBN 9781841693514, OCLC 55124398CS1 maint: ref=harv (link)
  • Sutherland, Stuart (2007), Irrationality (2nd ed.), London: Pinter and Martin, ISBN 9781905177073, OCLC 72151566CS1 maint: ref=harv (link)
  • Teigen, Karl Halvor (2004), "Judgements by representativeness", ใน Pohl, Rüdiger F. (บ.ก.), Cognitive Illusions: A Handbook on Fallacies and Biases in Thinking, Judgement and Memory, Hove, UK: Psychology Press, pp. 165–182, ISBN 9781841693514, OCLC 55124398CS1 maint: ref=harv (link)
  • Tversky, Amos; Kahneman, Daniel (1974), "Judgments Under Uncertainty: Heuristics and Biases" (PDF), Science, 185 (4157): 1124–1131, doi:10.1126/science.185.4157.1124, PMID 17835457 reprinted in Daniel Kahneman, Paul Slovic, Amos Tversky, บ.ก. (1982). Judgment Under Uncertainty: Heuristics and Biases. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 3–20. ISBN 9780521284141.CS1 maint: multiple names: editors list (link) CS1 maint: ref=harv (link)
  • Yudkowsky, Eliezer (2008), "Cognitive biases potentially affecting judgment of global risks", ใน Bostrom, Nick; Ćirković, Milan M. (บ.ก.), Global catastrophic risks, Oxford University Press, pp. 91–129, ISBN 9780198570509CS1 maint: ref=harv (link)
  • Slovic, Paul; Melissa Finucane; Ellen Peters; Donald G. MacGregor (2002). "The Affect Heuristic". ใน Thomas Gilovich, Dale Griffin, Daniel Kahneman (บ.ก.). Heuristics and Biases: The Psychology of Intuitive Judgment. Cambridge University Press. pp. 397–420. ISBN 9780521796798.CS1 maint: multiple names: editors list (link)
  • Test Yourself: Decision Making and the Availability Heuristic

วร, สต, กในการประเม, นและการต, ดส, นใจ, สำหร, บความหมายอ, วร, สต, แก, ความกำกวม, ในสาขาจ, ตว, ทยา, วร, สต, งกฤษ, heuristic, พห, พจน, วร, สต, กส, เป, นกฎท, าย, และม, ประส, ทธ, ภาพ, เราม, กจะใช, ในการประเม, และการต, ดส, นใจ, เป, นว, ดทางความค, ดโดยเพ, งความสนใจไ. sahrbkhwamhmayxun duthi hiwristik aekkhwamkakwm insakhacitwithya hiwristik xngkvs heuristic phhuphcn hiwristiks epnkdthingay aelamiprasiththiphaph thieramkcaichinkarpraemin a aelakartdsinic epnwithildthangkhwamkhidodyephngkhwamsnicipyngswnhnungkhxngpyhathisbsxnaelwimisicinswnxun 5 6 7 kdehlanithanganiddiinsthankarnodymak aetsamarthnaipsukhwamphidphladxyangepnrabb sungxacepnkhwamphidphladodytrrka odykhwamepnipid hruxodykhwamsmehtusmphl khwamphidphladehlaniepnkhwamexnexiyngthangprachan cognitive bias sungmikarkhnphbaelwmakmayhlayaebb epnkhwamphidphladthimiphltxkartdsinicinsthankarntang echnkarpraeminrakhabanhruxkarphiphaksatdsinkhdi hiwristikpktimkcaepnkartdsinicthiepnxtonmti epnkarruexng intuitive thiimtxngxasykarkhid aetxacmikarichepnklyuthththangkhwamkhidxyangcngicid emuxtxngthakartdsinicodymikhxmulthicakdnkprachansastrchawxemriknehxrebirt ismxndngedimepnphuesnxwa kartdsinickhxngmnusytxngxasyhiwristik txngkarxangxing odyichaenwkhwamkhidcakwithyasastrkhxmphiwetxr b intnkhristthswrrs 1970 nkcitwithyaaedeniyl khahnamn aelaxamxs thewxrski aesdnghiwristik 3 praephththiepnthankhxngkartdsinicodyruexngthiichxyangkwangkhwang nganwicyehlani cudchnwnopraekrmnganwicyekiywkb hiwristikaelakhwamexnexiyng Heuristics and Biases 8 sungsuksakartdsinicinchiwitcringkhxngmnusy aelasuksasthankarnthikartdsinicehlaniichimid khuximsmehtuphl nganwicyinaenwniidkhdkhanixediywa mnusyepnstwthikrathatamehtuphl aelaidihthvsdiekiywkbkarpramwlsarsneths information processing thisamarthxthibaywithikarthimnusyichinkarpraeminphlhruxkartdsinic epnaenwnganwicythierimmikhwamsnicinradbsaklinpi kh s 1974 dwybthkhwamthiphimphinwarsar Science michuxwa Judgment Under Uncertainty Heuristics and Biases karpraeminphayitkhwamimaenic hiwristikaelakhwamexnexiyng 9 sungidklayepnaenwthangkhxngthvsdiekiywkbkartdsinicthimithnghmdinpccubn 10 aemwa nganwicyepncanwnmakcaephngelngkhwamsnicipthikhwamphidphladthihiwristikmiswnekiywkhxng hiwristiksamarthphicarnaidwaepnkrabwnkarthangehtuphlkhxngrabbprasath thamxnginaengni hiwristiknnichiddiphxinsthankarnodymak odythaihimepneruxnghnkinkarichthrphyakrthangsmxng mummxngthangthvsdixikxyanghnungphicarnahiwristikwa epnkrabwnkarthangehtuphl ephraawa thanganidxyangrwderwodythiimtxngmikhxmulthnghmd aelaxaccaaemnyaetha kbkrabwnkarthangehtuphlthisbsxnkwa khwamekhaicinbthbathkhxnghiwristikincitwithyamnusyodynkkartladaelaphumihnathionmnawicxun samarthmixiththiphltxkartdsinickhxnghmuchn echnrakhasingkhxngthimnusysuxkhay hruxprimanthisuxkhay enuxha 1 praephth 1 1 khwamphrxmichngan 1 2 khwamepntwaethn 1 2 1 karimisicinxtraphunthan 1 2 2 ehtuphlwibtiodypraphcnechuxm Conjunction fallacy 1 2 3 khwamimrukhnadtwxyang 1 2 4 karthaihecuxcang 1 2 5 karekhaickhwamsumphid 1 3 kartnghlkaelakarprb 1 3 1 karprayuktich 1 4 hiwristikodyxarmn 1 5 hiwristikxun 2 thvsditang 2 1 khwamkhiekiycthangprachan 2 2 karthdaethnlksna 2 3 khwamrwderwaelakhwammthysth 3 phlkrathb 3 1 hiwristikepnkartdsinicthimiprasiththiphaph 3 2 praktkarn khnswykhnhlxcadukhunekhy 3 3 kartdsinicekiywkbsilthrrmaelakhwamyutithrrm 4 echingxrrth 5 xangxing 6 xangxingxun praephth aekikhinnganwicyerimtn khahnamnaelathewxrskiesnxhiwristiksampraephthkhux khwamphrxmichngan availability khwamepntwaethn representativeness aelakartnghlkaelakarprb anchoring and adjustment ngantx maidkhnphbhiwristikpraephthxun hiwristikthiepnmulthankartdsiniceriykwa hiwristikkartdsinic judgment heuristics hiwristikthiichtdsinkhwamnaphungickhxngthangeluxktang eriykwa hiwristikkarpraeminkha evaluation heuristics 11 khwamphrxmichngan aekikh dubthkhwamhlkthi hiwristikodykhwamphrxmichngan insakhacitwithya khwamphrxmichngan availability hmaythungkhwamngaydaythisamarthkhidthungixediyhnung id aelaemuxerapraeminkhwamthikhwamchukkhxngehtukarnhnung xasywangaythicakhidthungkhnadihn erakalngichhiwristikodykhwamphrxmichngan 12 thaepnehtukarnthicring ekidkhunimbxy aetngayhruxchdecnthicakhidthung karpraeminkhwamthiehtukarnnicamikhasungekinkhwamcring yktwxyangechn eracapraeminoxkasthicaesiychiwitephraaehtukarnrathukic echnphayuthxrnaodaelakarkxkarray twxyangsahrbkhnxemrikn sungekinip ephraakaresiychiwitthinarathukicaelarunaerng epneruxngthisuxephyaephrxyangkwangkhwang aeladngnncungmikhwamphrxmichnganinradbthisungkwa 13 innytrngknkham ehtukarnthiekidkhunbxyaetthrrmda epnsingthikhidthungidyakkwa dngnn eramkcapraeminkhakhwamthitaekinip echnkaresiychiwitcakkarkhatwtay orkhhlxdeluxdsmxng aelaorkhebahwan hiwristikniepnehtuphlxyanghnungthierasamarthepliynicephraaehtueruxngelathiepncringepncngephiyngeruxngediyw idngaykwaephraaehtuhlkthanthangsthititngmakmay 14 aelaxacmibthbathineruxngkhwamdungdudickhxngkarelnlxtetxri ephraawasahrbkhnthisuxlxtetxri karkhidthungkhnthukrangwlthidixkdiic thimikarephyaephrthangsuxxyangkwangkhwang ngaythicakhidthungkwakhnxunepnlan thiimthukrangwlxairely 13 sahrbphuichphasaxngkvs thatxngtdsinwamikhathikhuntndwyxksr T hrux K makkwakn hiwristikniihkhatxbidxyangngay aelarwderw khux khathikhuntndwy T khidthungidngaykwa dngnn erasamarthihkhatxbthithuktxngodyimtxngipnbkha aetwa hiwristikniksamarthihkhatxbthiphididdwy khux emuxthamwa mikhathimixksr K khuntn hruxmixksr K intaaehnngthisammakkwakn erakcaichhiwristikediywkninkarhakhatxb karkhidthungkhathikhuntndwy K echn kangaroo cingoc kitchen khrw hrux kept ekb rksa xditkal nnngay aetkarkhidthungkhami K intaaehnngthisamechn lake thaelsab hrux acknowledge yxmrb nnyakkwa aemwakhwamcringaelw khathimi K intaaehnngthisammicanwnmakkwathung 3 etha hiwristiknithaiherasrupxyangphid wa khathikhuntndwy K samykwa 15 inxiknganthdlxnghnung mikarihphurwmkarthdlxngsuksaraychux 4 raykar khux sxngraykarmichuxkhxnghyingmichuxesiyng 19 khn aelachaymichuxesiyngnxykwa 20 khn aelasxngraykarmichuxkhxngchaymichuxesiyng 19 khnaelahyingmichuxesiyngnxykwa 20 khn mikarihphurwmkarthdlxngklumaerkralukthungchuxihmakthisudthicacaid aelaihphurwmkarthdlxngklumthisxngpraeminwa michuxphuhyinghruxphuchaymakkwakninraykar phlpraktwa inklumaerk miphurwmkarthdlxngthung 57 thiralukthungchuxthimichuxesiyngidmakkwa inklumthisxng phurwmkarthdlxngthung 80 thakarpraeminphidphladwa michuxphuchayhruxphuhyingmakkwa khuxtharaykarmihyingmichuxesiyng 19 khnaelamichaymichuxesiyngnxykwa 20 khn phurwmkarthdlxngkcapraeminphid wa michuxkhxngphuhyingmakkwa aelainnytrngknkhamkechnkn khahnamnaelathewxrskitikhwamphlxyangniwa kartdsinxtraswnchuxphuhyingphuchaykhunxyukbkhwamphrxmichngan khuxngaythicakhidthung sungxyuinradbthisungkwainkrnithiepnchuxkhxngkhnmichuxesiyng 12 inxiknganthdlxnghnungthithakxnkareluxktngprathanathibdishrthxemrika kh s 1976 mikarihphurwmkarthdlxngcintnakarwanayecxrld fxrdepnphuchna swnxikklumhnungihkhidthungnaycimmi kharetxrwa epnphuchna txmacaphbwa aetlaklumcakhidwa khnthitncintnakarthungcamioxkassungkwathicachnacring nkwicyidphbpraktkarnkhlay knthaihnksuksacintnakarthungkaraekhngkhnrahwangthimxemriknfutbxlradbmhawithyaly 16 phlkhxngkarcintnakar txkhakhwamnacaepnthiepnkhatamxtwisy kphbinnganthdlxngthithaodynkwicyxun xikdwy 14 khwamphrxmichngankhxngkhxnespthnung cakhunxyukbkarkhidthungkhxnesptnnwaekidkhunbxykhrngaekhihn aelaidkhidthungerw nihruxim inngansuksahnung mikarihphurwmkarthdlxngetimpraoykhthiyngimetmihesrc nkwicyideluxkkhainpraoykhthiih ephuxkratunkarthangankhxngkhxnespt odyepnkhaekiywkbkhwamduaelakhwamicdi sungepnethkhnikhthieriykwa priming txcaknn kmikarihphurwmkarthdlxngtikhwamphvtikrrmkhxngchaykhnhnungineruxngsn thiimchdecn kartikhwamkhxngphurwmkarthdlxngpraktwamikhwamexnexiyngiptamxarmnthikratunody priming khux yingmikarkratunodykhamakethair khwamexnexiyngkmiephimkhunethann aetwa thachwngewlarahwangnganaerk echnthiekid priming aelanganthisxng echnthitikhwamphvtikrrm hangkn khwamexnexiyngcaldradblng 17 khahnamnaelathewxrskiesnxhiwristikodykhwamphrxmichngan waepnkhaxthibaykhxngpraktkarnshsmphnthlwng illusory correlation thieratdsinicphid wa ehtukarnsxngxyangepnehtuaelaphlkhxngknaelakn khux eratdsinicphidwaehtukarnthngsxngmikhwamsmphnth ephraawangaythicacintnakarhruxralukthungehtukarnsxngxyangnnphrxm kn 12 15 duraylaexiydinhiwristikodykhwamphrxmichngan khwamepntwaethn aekikh dubthkhwamhlkthi hiwristikodykhwamepntwaethn hiwristikodykhwamepntwaethnekidkhunemuxeraichpraephthkhxngbukhkhlsingkhxng inkartdsinicekiywkbbukhkhlhnung hruxwtthuhnung echnemuxcatdsinicwakhn hnungepnphurayhruxim praephth phuray camirupaebbtwxyang sungeracaichepriybethiybkbbukhkhlnn ephuxcdpraephthwabukhkhlnnepnphurayhruxim wtthuepriybethiybcamikhwamepntwaethnsungsahrbpraephthhnung thawtthumilksnakhlaykbrupaebbtwxyangkhxngpraephthnn dngnn emuxeracdpraephthwtthusingkhxngodyichkhwamepntwaethn erakkalngichhiwristikni khwamepntwaethn Representativeness inthinisamarthhmaythung 15 18 khwamthirupaebbtwxyang epntwaethnkhxngpraephthnn khwamsmphnthrahwangrupaebbtwxyangkbwtthuthikalngcdpraephth khuxehmuxnknaekhihn aemwacamiprasiththiphaphinpyhabangxyang hiwristiknitxngxasykarisicinlksnaechphaaxyangephiyngbangxyang khxngbukhkhlhruxwtthunn odyimidisicwa lksnaechphaaxyangehlann miradbkhwamsamy khuxkhwamchuk inprachakrthwipaekhihn radbkhwamsamythieriykwa xtraphunthanhrux base rates dngnn eraxaccapraeminoxkasthisinghnung camikhunsmbtithiimehmuxnikhr inradbthisungekinip aelaxaccapraeminoxkasthisinghnung mikhunsmbtithisamy inradbthitaekinip nieriykwa ehtuphlwibtiodyxtraphunthan base rate fallacy karpraeminkhwamepnipidodytwaethn xthibaypraktkarnniaelawithikartdsinickhxngmnusybangxyang thiimsxdkhlxngkbkdkhwamnacaepntamthrrmchati 15 hiwristiknisamarthichxthibaywa eratdsinwaxairepnehtuaelaphlidxyangir emuxeratdsinicxasywaehtuaelaphltxngmikhwamkhlaykhlungkn erakalngichhiwristikni sungsamarthnaipsukarmikhwamexnexiyng khuxeracatdsinwaepnehtuaelaphlrahwangsingthimikhwamkhlaykhlungkn aelacahaehtuphlimidthaehtuaelaphlimkhlaykn 19 twxyangechn orkhrabadthikwangihyxacmiehtuthielknxyechniwrs hruxwaphllbtxsingaewdlxmxyangslbsbsxnxaccamiehtungay khuxkarerimichyakhaaemlngihm 20 karimisicinxtraphunthan aekikh dubthkhwamhlkthi ehtuphlwibtiodyxtraphunthan innganthdlxngpi kh s 1973 mikarichprawtithangcitwithyakhxngnksuksaradbbnthitsuksasmmutichuxwa thxm 21 phurwmkarthdlxngklumhnungtxngihkhaaennkhwamkhlaykhlungkn rahwangthxmkbnksuksathwipinsakhawichakartang 9 khna rwmthngkdhmay wiswkrrm aelabrrnarkssastr swnxikklumhnungtxngpraeminwa thxmmioxkasepnepxresntaekhihnthicaekhasuksainsakhaehlann thaoxkaskarekhakarsuksaepnepxresntthiih epniptamkdkhwamnacaepn kkhwrcamikhwamkhlaykhlungkbxtraphunthan base rate sungkkhux xtraswnkhxngnksuksainsakhawikhathng 9 sungphurwmkarthdlxngxikklumhnungthakarpraemin aelathaeratdsinictamkdkhwamnacaepn kkhwrcaklawwa thxmmioxkascasuksaxyuinsakhamnusysastrmakkwawithyasastrhxngsmud ephraawa minksuksainsakhamnusysastrmakkwa aelakhxmulephimetimxuninprawtithangcitwithyann khlumekhruxaelaechuxthuximid aetwa phlthiphbkkhuxkhapraeminoxkasthithxmcaekhasuksawichakartang klbkhlaykbkhapraeminkhwamkhlaykhlungkhxngthxmkbnksuksainwichakartang ekuxbsineching phlnganthikhlaykhlungknkphbdwy inxiknganwicyhnungthiphurwmkarthdlxngtdsinoxkasthihyingthikukhunkhnhnung caeluxkthaxachiphtang nganwicyehlaniaesdngwa aethnthicapraeminkhwamnacaepnodyichxtraphunthan eracaichkhwamkhlaykhlungkn hruxkhwamepntwaethn sungepnkhxmulthiekhathungidngayaethn 21 ehtuphlwibtiodypraphcnechuxm Conjunction fallacy aekikh emuxeratdsinicxasykhwamepntwaethn erasamarthtdsinphidphladcakkdthrrmchatikhxngkhwamnacaepn 18 khahnamnaelathewxrskiihphurwmkarthdlxngxankhxkhwamsn ekiywkbhyingkhnhnungchuxwalinda odyklawthungethxwa xayu 31 pi yngosd phudcatrngiptrngma aelachladmak ethxeriynprchyaepnwichaexk aemcaepnnksuksa ethxkmikhwamsnicinpyhakareluxkptibti aelapyhakhwamyutithrrmthangsngkhmxyangluksung aelaekharwmkaredinkhbwntxtankarichxawuth phlngnganniwekhliyr phurwmkarthdlxngcaxankhxkhwamniaelwpraeminkhwamepnipidkhxngkhxkhwamtang ekiywkblinda rwmthng lindaepnphnknganrbfakthxnengininthnakhar aela lindaepnphnknganrbfakthxnengininthnakhar aelaekharwmkickrrmkhbwnkarephuxsiththikhxngstri eramkcamikhwamonmexiyngthimikalnginkareluxkkhxkhwamhlng sungechphaaecaacngmakkwa wamioxkasepnipidsungkwa aemwa cring aelw praphcnechuxminrupaebb lindaepnthng k and kh imsamarththicaepnipidmakkwakhxkhwamthithwipyingkwakhux lindaepn k karxthibayodyichhiwristiknikhuxwa kartdsinicbidebuxnip ephraawa sahrbphuxanaelw khxkhwamxthibaybukhkhlikkhxnglinda khlaykbkhxngbukhkhlthixaccaepnnksiththiniymkhxngstri aetimehmuxnkbkhnthithanganinthnakharmixikngansuksahnungkhlay knthiichchaychuxwabill sungidrbkhaphrrnnawa chladaetimkhxymicintnakar khnodymakthixankhxkhwamniihoxkaskhxkhwam billepnnkbychithielndntriaecsepnnganxdierk waepnipidmakkwakhxkhwam billelndntriaecsepnnganxdierk 22 ephraawakhnchladkhwrcaepnnkbychiid aetkhnimmicintnakarimkhwrcaepnphuelndntriaecs khahnamnaelathewxrskiidichwithikarthiepn karykyayepliynaeplng xngkhprakxbkarthdlxng thiephimkhwamsinhwngkhuneruxy ephuxcaihphurwmkarthdlxngrbruthungkhwamphidphladthangtrrkakhxngtn inrupaebbhnung phurwmkarthdlxngtxngeluxkrahwang khaxthibaythithuktxngtamtrrkawa thaimkhxkhwamwa lindaepnphnknganrbfakthxnengininthnakhar cungmioxkasepnipidmakkwa karxangehtuphlthiimthuktxngtamtrrkathiaesdngwa lindaepnphnknganrbfakthxnengininthnakharthiniymsiththikhxngstri mioxkasepnipidmakkwa ephraawa ethxehmuxnkbphuekharwmkickrrmsiththikhxngstrimakkwaehmuxnkbphnknganrbfakthxnengininthnakhar aetwa phurwmkarthdlxng 65 klbehnwa karxangehtuphlthiimthuktxngtamtrrkanaechuxmakkwa 22 23 nkwicyxun idthakarthdlxngrupaebbxuntang khlay knni ephuxthicaechkhduwa phurwmkarthdlxngekhaicphidkhathamhruxim aetkimsamarththirangbehtuphlwibtithiphurwmkarthdlxngmiid 24 25 aetwa khwamphidphladcarangbipid thathamkhathamodyichsphthekiywkbkhwamthi thukkhnthirwmkarthdlxngaebbnicaruckwa inkhn 100 khnthimilksnaehmuxnthiklawiwinkhxkhwam priphcnechuxm wa ethxepnthng k aela kh caimsamarthepncringmakkwakhxkhwamthithwipkwa wa ethxepn k 26 khwamimrukhnadtwxyang aekikh khahnamnaelathewxrskiihphurwmkarthdlxngphicarnapyhaekiywkbkhwamaetktangknodysum yktwxyangngay echn thacintnakarwa tharkkhrunghnungthiekidinorngphyabalepnphuchay xtraswnnicaimepnkhrunghnungphxdiinthuk rayaewla echninbangwn camiedkphuhyingekidmakkwaphuchay aelainwnxun kcamiphuchayekidmakkwaphuhying chann pyhakkhuxwa oxkasthixtraswnkarekidcanxyhruxmakipkwakhrunghnungnn khunxyukbkarekidthiminxyhruxmakwntxwnhruxim niepneruxngthimihlkthanyunynthangsthitixyangchdecnxyuaelwwa xtraswnnncaaeprepliynipwntxwninradbthisungkwa thakarekidwntxwnnnminxy aetwa khwamkhidkhxngeraekiywkbpyhaniimidsathxnthungkhwamcringkhxni khux eramkcatxbwa canwnkarekidinorngphyabalimmiphltxoxkasthicamitharkephschayekinkwa 60 ekidinwnnn khaxthibaypraktkarnniodyichhiwristikkkhuxwa eraphicarnaephiyngaekhwa xtraswn 60 mikhwamehmuxnkbxtraswnechliythiykkhunkxnthi 50 15 27 karthaihecuxcang aekikh miklumnkwicythiesnxwa thvsdikhwamepntwaethnsamarthxthibaypraktkarnthaihecuxcang dilution effect khuxemuxkhxmulthiimekiywknklbthakhwamrusukaebb stereotype khuxthsnkhtithwipthimiinsngkhm ihxxnlng innganwicyhnung mikarthamphurwmkarthdlxngwaphxl chuxphuchay hruxsusan chuxphuhying mioxkasmakkwathicaepnkhnxxkpakxxkesiyng odyimidihkhxmulxunnxkcakchux phurwmkarthdlxngykphxlihepnkhnxxkpakxxkesiyngmakkwa khuxpraktwatdsinicodyxasythsnkhtithwipekiywkbephskhxngsngkhm inphurwmkarthdlxngxikklumhnung mikarihkhxmulephimwa mardakhxngphxlaelasusantangkedinthangipthanganthithnakhar phukarthdlxngcaimichichthsnkhtithwipkhxngsngkhminkartdsinic khuxykthngphxlaelasusanetha knwaepnkhnxxkpakxxkesiyng sungphuwicyihkhaxthibaywa khxmulthiephimkhunekiywkbphxlaelasusan aemcaimidekiywkhxngkbpraedn aetkthaphxlaelasusanihmikhwamkhlaykbtwaethnkhxngphuhyingaelaphuchaynxylngodyxngkhrwm aeladngnn khwamkhadhmayekiywkbphvtikrrmkhxngephshyingaelaephschaycungmixiththiphlnxylng 28 nihmaykhwamwa khxmulthiimekiywkhxnghruximidchwyinkarwinicchy samarththakhxmulthiekiywkhxngkn ihmixiththiphlnxylnginkartdsinic 29 karekhaickhwamsumphid aekikh khwamepntwaethnyngsamarthxthibaykhwamphidphladxyangepnrabbthieramiemuxtdsinkhwamnacaepnkhxngehtukarnsum yktwxyangechn inkaroynehriyytx kn aetlakhrngxxkhw h hruxkxy k eramkcatdsinladbphlthiepnrupaebbechn hhhkkk wamioxkasnxykwaladbphlthiepnrupaebbnxykwaechn hkhkkh aetodysthitiaelw ladbthngsxngxyangmikhwamnacaepnetha kn thungxyangnn eramkcaehnladbthiepnrupaebbwaepntwaethnkhxngehtukarnsumnxykwa aeladngnn mioxkasnxythicaepnehtukarnsum 15 30 khahnamnaelathewxrskiesnxwa praktkarnniepnmulthankhxngehtuphlwibtikhxngnkkarphnn gambler s fallacy sungepnkhwamonmexiyngthicahwngwa phlthiekidkhunodysumcayxnklbmaepnehmuxnladbsumaemcaepnladbsn yktwxyangechn hwngwalukbxlcatklnginhlumdakhxnglxrueltt ephraawainkarhmunkhrngkxn tklnginhlumaedng 18 31 nkwicythngsxngennwa aemaetphuechiywchaythangsthitikmikhwamesiyngtxkaraeplsingeraphidechnni khux inpi kh s 1971 mingansarwcnkcitwithyamuxxachiph sungmikhwamkhadhwngwa twxyangprachakrthisumma camikhwamkhlaykhlungkbprachakrcring inradbsungekinkwakhwamcring phlkkhux nkcitwithyacapraeminkalngthangsthitikhxngkarthdlxngkhxngtnmakekinipxyangepnrabb aelacapraeminkhnadtwxyangthicaepn ephuxkarthdsxbsmmtithanthimikhwamhmaythangsthititaekinip 15 31 kartnghlkaelakarprb aekikh kartnghlkaelakarprb Anchoring and adjustment epnhiwristikthiichinkarpramantwelkhinehtukarnhlayxyang 32 tamkhaphrrnnadngedimkhxngkhahnamnaelathewxrski epnkarpramantwelkhthierimcaktwelkhthimixyuaelw sungeriykwahlk anchor aelwprbcakelkhnnkhunhruxlngephuxcaidkhatxbthixacepnipid 32 aetwainkarthdlxngkhxngnkwicythngsxng phurwmkarthdlxngimidprbkhatxbihipiklcakhlkphx thikhacaiptrngkbkhwamcring dngnn hlkelkhnncring aelw xacthakarpramankhaihesiyhay aemwakhakhxnghlkcapraktxyangchdecnwaimmikhwamekiywkhxng innganthdlxnghnung mikarihphurwmkarthdlxngduhmayelkhthiichknglxhmuneluxk thanxngediywkblxrueltt aelwihbxkwa khakhxngxairxikxyanghnungthiimidekiywkhxngkn makhruxnxykwatwelkhnn yktwxyangechn xaccamikarthamwa epxresntkhxngpraethsinaexfrikasungepnsmachikkhxngshprachachati nxyhruxmakkwa 65 ody 65 epntwelkhthihmunlxthuk hlngcaknnkcaihthaykhaepxresntthithuktxng aetwa khathiihepnkhatxb klbmishsmphnthinradbsung kbkhasumthiidcaklxhmun 32 33 aetkarprbxxkcakhlkthiimephiyngphx imichepnkhaxthibayxyangediywthiesnxinpraktkarnni thvsdisahrbichxthibayxikxyanghnungkkhux eracathakarpraeminxasyhlkthanthikhididsubenuxngcakhlknn 34 rakhapramulkhxngiwnxacmixiththiphl cakkarphicarnatwelkhsxnghlkthiepnipodysum praktkarntnghlkehnidinnganthdlxngaebbtang makmaythnginhxngaelbthnginehtukarncring 33 35 aelaimsamarthkacdid aemwa phurwmkarthdlxngcamiaerngcungicechncaidrangwlephraakarpraeminkhathiaemnya hruxwaaemaetmikarbxkxyangchdaecngimihtngkhapraeminsubenuxngkbelkhthiepnhlk 35 praktkarnnimikalngephimkhunemuxtxngthakartdsinicxyangrwderw 36 aelaphurwmkarthdlxnginnganthdlxngehlani caimmikhwamekhaicekiywkarthangankhxngcitickhxngtnthiichhiwristik aelacaptiesthwa elkhhlknnmixiththiphltxkarpramankhatwelkhkhxngtn 36 yingipkwann thaelkhhlknnepnelkhsum irkhwamhmay xyangchdecn hruxmikhaaebbsudotng kyngsamarththakhapraeminihphidphladid 35 nganthdlxnghnungihphurwmkarthdlxngpramanpithixlebirt ixnsitnipeyiympraethsshrthxemrikaepnkhrngaerk thngelkhhlk 1215 aela 1992 thakhatxbihesiyhayinradbediywkbelkhhlkthiiklkbkhwamcringxun 36 nganthdlxngxunthamphurwmkarthdlxngwa xunhphumiodyechliykhxngemuxngsanfransisokmakkwahruxnxykwa 558 xngsa hruxwa wngdntriedxabiethilsmixlbmthitidxndb 10 yxdniym makkwahruxnxykwa 100 025 xlbm aemelkhhlkthiehlwihlnahweraaehlanikyngmixiththiphltxkarpramankhacring khxngphurwmkarthdlxng 33 khapraeminthimiphlcakkartnghlkepnkhwamexnexiyngthimikalng odyechphaaxyangyingemuxtxngbxkkhapramaninrupaebbkhxngchwngkhwamechuxmn confidence interval yktwxyangechn emuxeratxngphyakrndchnihunkhxngwnhnung odykahndkhabnaelakhalangephuxthicamikhwammnicinradb 98 wakhacring catklnginchwngthikahnd nganwicythiechuxthuxidphbwa eracatnghlkkhxngkhabnkhalangiklkbkhadchnithiepnkhapraeminthidithisudkhxngeramakekinip 15 khuxkhidwadchnicayutithikhaihninwnnn kcatngkhabnkhalangiwikl kn xyangimsmkbehtuphl sungthaihekidpraktkarnmnicmakekinip overconfidence effect sungphbinkarthdlxnghnungthimikarthachamamakmayaelw khux emuxeramnic 98 wa elkhtwhnungthiihpraemincaxyuinchwng hnung eracaphidphladpraman 30 40 khuxin 100 khrngthimikhwamrusukwamnic 98 kcaphidesiy 30 40 khrng aethnthicaphidtamthipramankhuxaekh 2 khrng 15 37 kartnghlkepnpyhakhwamexnexiyngthiyakxyangying inkrnithitxngrwmcanwnelkhhlaytwepnphlelkhthiepntwtdsin khahnamnaelathewxrskiaesdnghlkthanodyihkhnklumhnungpramanphlkhxngkarkhunelkh 8 x 7 x 6 x 5 x 4 x 3 x 2 x 1 aelwihxikklumhnungpramanphlkhxngkarkhunelkhaebbyxnklbkhux 1 x 2 x 3 x 4 x 5 x 6 x 7 x 8 thngsxngklumpramanphlkhuntamakekinip aetwa klumhlngmikhapraeminodyechliythinxykwaxikklumhnungxyangepnnysakhy 38 sungxthibayodykartnghlkidwa erakhunelkhsxngsamtwaerk aelwtnghlkichelkhthiid 38 xiknganhnungthiepnnamthrrmnxykwakkhuxkarpraeminoxkasekhruxngbintk odymikhwambkphrxngthixacepnipidmakmay aetlaxyang mikhwamepnipid 1 inlan singthiphbinphlnganwicythisuksakarpraeminechnniphbwa eratnghlklngthikhwamesiyngkhxngchinswnelk aetlaswn aeladngnnkcapraeminoxkasesiyngodyrwmtaekinip 38 mipraktkarnthisxdkhlxngknxikxyanghnung khuxemuxerapraeminkhwamnacaepnkhxngehtukarntang odyekidkhunepnladb echn k ekidkhun aelw kh kcaekidkhun epntn inkartdsinicechnni kartnghlkkhakhwamnacaepnlngthikhwamnacaepnkhxngehtukarnaetlaphakh cathaihekidkarpramankhaodyrwmsungekinip 38 karprayuktich aekikh karpraeminrakhasinkha aelakarkahndcanwnsingkhxngthicasux miphlmacakpraktkarntnghlk innganthdlxnghnung mikarihphurwmkarthdlxngekhiynelkhsxnghlksudthaykhxngelkhpraknthangsngkhmkhxngtn sungodyrwm aelwehmuxnkbepnelkhsumthiihaetlabukhkhl hlngcaknnkcathamwa phurwmkarthdlxngyindithicacayengincanwnethakbtwelkhni epndxllarshrth sahrbsinkhathitnimrukha echniwn chxkokaelt aelaxupkrnkhxmphiwetxr hruxim txcaknnkcaihphurwmkarthdlxngpramulsinkhaehlani khapramulkhxngkhnthimielkhsxnghlksungthisud mikhamakepnhlayethakwaphuthimielkhtathisud 39 40 thamikxngsupkrapxnginsuepxrmarektthimipaywa cakd 12 krapxngtxlukkha paynicamixiththiphlihlukkhasuxsupkrapxngnnephimkhun 36 inxiknganthdlxnghnung mikarihnayhnakhaythidin praeminmulkhakhxngbantang odyihipdubanaelaihduexksarkhxmulekiywkbbanthimixyumakmay hlngcaknn camikaraesdngrakhathitxngkarkhaytang knihdu aetrakhanncamiphltxkarpraeminrakhakhxngban 41 42 sungimnacami khwrcapraeminrakhatamsphaphbanaelatamkhxmulxun thimi kartnghlkaelakarprbyngmiphltxekrdthiihkbnkeriyn innganthdlxnghnung mikarihkhxekhiynrxyaekwkhxngnkeriynepnchud kbkhru 48 than sungkhunkhrutxngihekrdaelwkhunihkbnkeriyn nxkcaknnaelw khunkhrucaidraykarnkeriynphrxmkbekrdthiekhyidmakxn ekrdechliythiidmakxn klbmiphltxekrdthikhunkhruihkbnkeriynsahrbkhxkhwamekhiynthitrwcnn 43 xiknganwicyhnungaesdngwa kartnghlkmiphltxkarphiphaksakarkhmkhunthikukhun 44 phurwmkarthdlxngepnphuphiphaksacring aelaodyechliymiprasbkarnkarphicarnakhdiinsalmamakkwa 15 pi mikarihphuphiphaksaxanexksartang rwmthng khaihkarkhxngphyan khaihkarkhxngphuechiywchay khwamkdhmaythiekiywkhxngkn khaihkarkhxngphnknganxykar aelakhaihkarkhxngphutxngsngsy misxngkluminnganthdlxngni klumaerkphnknganxykareriykrxngkarcakhuk 34 eduxn xikklumhnungeriykrxng 12 eduxn odyechliyaelw camikhwamtangknkhxngkartdsincakhukepnewla 8 eduxnrahwangphuphiphaksasxngklumni 44 inxiknganthdlxnghnungekiywkbkarphicarnakhdiinsalthikukhun phurwmkarthdlxngmibthbathepnlukkhuninkhdiaephng mikarkhxihprbkhaesiyhay inchwng 15 lan 50 landxllarshrth hrux inchwng 50 lan 150 landxllarshrth aemwa bthkhwaminkhdicaehmuxnknthukxyang lukkhunthimikarkhxkhaprbthisungkwa catdsinkhaprbepn 3 ethakhxngxikklumhnung niekidkhunaemaetinkrnithimikaretuxnlukkhun imihichkhaprbthikhxepnhlkthankhxngkhdi 39 hiwristikodyxarmn aekikh xarmn affect inthinihmaythungkhwamrusukechnkhwamklw khwamyindisnuksnan aelakhwamprahladic sungmixayusnkwa phunxarmn mood aelaekidkhunidxyangrwderwxyangimidtngic epnptikiriyatxsingera echnkarxankhawa maerngpxd xaccathaihrusuksyxng hruxxankhawa khwamrkkhxngkhunaem xacthaihrusukthungkhwamrkaelakhwamxbxun emuxeraichxarmn khwamrusukthiekidkhunexngthnthiodyimidkhid ephuxtdsinpraoychnaelakhwamesiyngkhxngeruxng hnung erakalngichhiwristikodyxarmn 45 karichhiwristikodyxarmnsamarthxthibaywa thaimkhwamsuxsarthikratunxarmn cungchkchwniciddikwakhwamthiaesdngkhwamcring 46 hiwristikxun aekikh Control heuristic Contagion heuristic Effort heuristic Familiarity heuristic Fluency heuristic Gaze heuristic Hot hand fallacy Naive diversification Peak end rule Recognition heuristic Scarcity heuristic Similarity heuristic Simulation heuristic Social proofthvsditang aekikhmithvsdithiaekhngknhlayxyangekiywkbkartdsinickhxngmnusy sungtangkninpraednwa karichhiwristikthuxwaepnkarkrathathiimsmehtusmphl irrational hruxim thvsdiaenw khwamkhiekiycthangprachan esnxwa karichhiwristikepnthangldthichwyimidenuxngcaksmrrthphaphxncakdkhxngsmxngmnusy swnthvsdiaenw karpraeminphlthiepniptamthrrmchati esnxwa smxngidthakarkhanwnphlthisbsxnxyangrwderwaelaepnipodyxtonmtiepnbangxyangaelw aelakartdsinicthiehluxkelyichkrabwnkarthangldehlani aethnthicathakarkhanwnmatngaeterimtn aenwkhidechnninaipsuthvsdithieriykwa attribute substitution karthdaethnlksna sungesnxwa eraephchiyhnakbpyhathisbsxn odywithitxbpyhakhnlapyhaaetekiywenuxngkn odythiimruwatnkalngichwithixyangni 47 swnthvsdiaenwthisamesnxwa hiwristikichiddiethakbkrabwnkartdsinicthisbsxnkwani aetwathaiderwkwaodymikhxmulnxykwa epnaenwkhidthienn khwamrwderwaelakhwammthysth khxnghiwristik 48 khwamkhiekiycthangprachan aekikh aebbcalxng effort reduction framework rabbkarldngan khxng Anuj K Shah aela Daniel M Oppenheimer esnxwa eraichethkhnikhhlayxyanginkarldnganthitxngthaephuxthakartdsinic 49 karthdaethnlksna aekikh twxyangkarthdaethnlksnathangta phaphlwngtani rupkhusathng 3 chudmikhnadethaknin 2 miti ekididephraakhnad 2 miti khxngbangswnkhxngphaphmikartdsintamkhnad 3 miti sungepnkarkhanwnthithaxyangrwderwodyrabbsayta khuxrupcring aelwepnphaph 2 miti aetrabbsaytakhxngeratikhwamodyxtonmtiehmuxnehnphaph 3 miti cungthaihrupkhusathng 3 chuddumikhnadtangknmak inpi kh s 2002 khahnamnaelaefrdedxrikesnxkrabwnkarthieriykwa karthdaethnlksna attribute substitution sungekidkhunitcitsanuk tamthvsdini emuxeratxngthakartdsinic ekiywkblksnathiepnepahmay hrux target attribute sungsbsxnodykarkhanwn rabbthangprachankhxngerakcaichlksnahiwristik heuristic attribute ephuxichinkartdsinicnnaethn 50 singthiekidkhunodyxngkhrwmkkhux mikarcdkarpyhathiyakdwykartxbpyhathingaykwa odythibukhkhlnnimrutwwaepnkrabwnkarthikalngekidkhun 47 sungxthibaywa thaimerathungimrukhwamexnexiyngkhxngtnexng aelathaimkhwamexnexiyngkyngdarngxyu aememuxkhnxunyngiheraruaelw aelaxthibaydwywa thaimkartdsinickhxngmnusybxykhrngcungimmilksnakhxngkarthxyklbipsukhaechliy regression toward the mean 47 50 51 ephraawithikartdsinicodyichhiwristikimidihphldithisud dngnn cungimmikarthxyklbipsukhaechliy karthdaethnniechuxwaepnswnkhxngrabbkartdsinicthiepnipodyruexng intuitive aelaodyxtonmti imichepnswnkhxngrabbthixyuinsanukthitxngxasykhwamkhid dngnn emuxeraphyayamcatxbkhathamthiyak eraxaccatxbkhathamthiekiywkhxngknaetimichkhathamediywkn odyimrutwwamikarthdaethnekidkhunaelw 47 50 inpi kh s 1975 nkcitwithyasaetnliy stiewnesnxwa kalngkhxngsingera echn khwamswangkhxngaesng hruxkhwamrunaerngkhxngxachyakrrm epnsingthiesllprasathekharhs odyimkhunxyukbphawathirbrucaksingera Stimulus modality khuximidkhunxyukbwaepnaesngthiswang hruxepnesiyngthidng khahnamnaelaefrdedxriktxyxdkhwamkhidni odyesnxwa lksnaepahmay target attribute aelalksnahiwristik heuristic attribute xacepnsingthiaetktangknodythrrmchati 47 dutwxyangekiywkbkaresnxpraknchiwitihkhnxemrikntxip mnusyimkhunekhytxkarkhidmak aelabxykhrngphungicthicaechuxthuxkartdsinicthiphxepnipidtamthikhidid aedeniyl khahnamn American Economic Review 93 5 December 2003 p 1450 51 khahnamnaelaefrdedxrikesnxxngkhprakxb 3 xyangsahrbkarthdaethnlksna 47 lksnaepahmay target attribute epnsingthikhxnkhangekhathungyak hruxkhanwnidyak aetkarthdaethncaimekidkhuninkartxbpyhaekiywkbkhwamcringthisamarthdungxxkmacakkhwamcaidodytrng echn wnekidkhxngkhunkhuxxair hruxekiywkbprasbkarninpccubn echn khunrusukhiwnatxnnihruxepla lksnathiekiywkhxngknekhathungidngay nixaccaepnephraalksnanimikarpramwlodyxtonmtiinkrabwnkarrbrupkti hruxwamikarkratunphankrabwnkar priming yktwxyangechn thaerakalngkhidthungchiwitaehngkhwamrkkhxngera aelwekidkhathamwa eramikhwamsukhaekhihn eraxaccathdaethndwykhatxbwa eramikhwamsukhaekhihninchiwitaehngkhwamrkkhxngera odythiimidkhidthungswnxun khxngchiwit karthdaethncaimmikartrwccbhruxaekodyrabbkhwamkhidyktwxyangechn emuxthamwa imtilukbxlaelalukbxlthngsxngmirakha 1 10 imtimirakha 1 makkwalukbxl lukbxlmirakhaethair khnepncanwnmakcatxbxyangphid wa 0 10 c 51 karxthibayodythvsdikarthdaethnkkhux aethnthikarkhanwn eraxaccaaebng 1 10 xxkepncanwnmakaelacanwnnxy sungngaythicakratha khwamrusukwakhatxbnithukhruximcakhunxyukbwa eraechkhkarkhanwnniphanrabbkhwamkhiddwyhruximkhahnamnihxiktwxyanghnungthimikaresnxpraknchiwitenuxngkbkarkxkarrayrahwangthiedinthangipyuorp ihkbkhnxemrikn inkhnathixikklumhnungmikaresnxpraknchiwitenuxngkbkhwamtaythukpraephth aemwa khwamtaythukchnid carwm khwamtayenuxngkbkarkxkarray khnklumaerkyindithicacaykhapraknmakkwakhnklumhlng khahnamnesnxwa mikarichlksnakhuxkhwamklw epn heuristic attribute aethnthikarkhanwnkhwamesiyngxyangrwm inkaredinthang sungepn target attribute 52 ephraawa khwamklwtxkarkxkarrayinphurwmkarthdlxngehlani mikalngkwakhwamklwtxkhwamtayinkaredinthangiptangpraethsodythw ip khwamrwderwaelakhwammthysth aekikh miklumnkwicythiesnxwa hiwristiksamarthichinkartdsinicthiaemnya imichinkartdsinicthiprakxbdwykhwamexnexiyng khux withikartdsinicodyhiwristiknn rwderwaelamthysth sungsamarthichaethnkrabwnwithithisbsxnkwa aelaihkhatxbthiphx kn 53 praoychnkhxngklyuththkartdsinicodyhiwristik hruxwaklyuthth nxykwakhuxmakkwa less is more phbinsthankarntang tngaetkarbriophkhxahar ipcnthungtladhunaelakarhaedtxxnilnkhxnghnumsaw 54 phlkrathb aekikhhiwristikepnkartdsinicthimiprasiththiphaph aekikh minkcitwithyathangsngkhmphuhnung prayuktkdhiwristik 10 xyanginopraekrmkarcalxngkhxmphiwetxrthieluxkkhathiepnthangeluxktang ekhasnicwa hiwristikaetlaxyangcaeluxkkhasungsudhruxtasudkhxngkhathikhadhmay expected value bxykhrngethair inladbsthankarnthimikaenidsumaelathitxngmikartdsinic aelwphbwa hiwristikodymakcaeluxkkhasungsudaetekuxbcaimekhyeluxkkhatasud dukhxmulephimcakaehlngxangxing 55 praktkarn khnswykhnhlxcadukhunekhy aekikh nkcitwithyaxikthanhnungtharaynganchudkarthdlxng thiihphurwmkarthdlxngdurupibhna aelwtdsinwaekhyehnibhnaehlannmakxnihm mikarphbxyangsa knwa ibhnathidungdudic mkcarbkarrabuxyangphid wa ekhyehnmaaelw 56 phuthanganwicytikhwamodyichthvsdikarthdaethnlksna khux lksnahiwristikinkrninikkhux khwamrusukthiaecmisxbxun sungepnkhwamrusuktxkhnthixaccaepnkhnkhunekhy hruxepnkhnthidungdudic aetwa kartikhwamechnniyngmiphuimehndwy ephraawa khakhwamaeprprwn variance khxngkhwamkhunekhythnghmd imsamarthxthibayidodykhwamdungdudickhxngrup 49 kartdsinicekiywkbsilthrrmaelakhwamyutithrrm aekikh minkwichakarthangkdhmaythiesnxwa karthdaethnlksnaepnipxyangkwangkhwangemuxeratxngkhidhaehtuphlineruxngsilthrrm karemuxng aelakdhmay 57 khux emuxmipyhaihm thiyakineruxngehlann eramkcahapyhathikhunekhykwaaetmikhwamekiywkhxngkn thieriykwa krnitnaebb hrux prototypical case aelwichwithiaekpyhatnaebb epnwithiaekpyhathimiihmsungyakkwa nkwichakarklawwa khwamkhidehnkhxngecahnathihruxphuepnihythangkaremuxnghruxthangsasnathiechuxic samarthichepnlksnahiwristik emuxeramikhathamekiywkberuxngideruxnghnung aehlngkaenidxikxyanghnungkhxnglksnahiwristikkkhuxxarmn khux khwamkhidehnthangsilthrrminpraednthimikhwamxxnihwechn ephssmphnth karokhlnmnusy xaccaekidkarkhbekhluxnodyptikiriyathangxarmnechnkhwamsaxidsaexiyn disgust imichodyhlkkhwamkhidodyehtuphl 58 aetwathvsdikhxngnkwichakarnimiphuaeyngwa imidihhlkthanthiphxephiyngwa epneruxngekiywkbkrabwnkarthdaethnlksna imichepnkrabwnkarxun thimiphltxkrniehlani 49 echingxrrth aekikh tamwikiphiediyxngkvs Judgement hruxwa judgment epnkarpraeminhlkthanephuxthicatdsinic 1 2 3 4 khawa hiwristik dngedimepnkhawiessnmacakphasakrikwa eὑriskein heuriskein aeplwa ichephuxkarkhnphb karichepnkhanamnnmathihlng odyepntwyxhmaythung withikarhiwristik heuristic method hruxhlkhiwristik heuristic principle Baron 2000 p 50 x y 1 10 x y 1 dngnn y 1 y 1 10 aeladngnn y 0 05xangxing aekikh Lexitron phcnanukrmithy lt gt xngkvs run 2 6 hnwyptibtikarwicywithyakarmnusyphasa sunyethkhonolyixielkthrxniksaelakhxmphiwetxraehngchati sanknganphthnawithyasastraelaethkhonolyiaehngchati krathrwngwithyasastraelaethkhonolyi 2546 judgment karpraemin Check date values in year help Cambridge Dictionary Dictionary cambridge org 2013 08 07 subkhnemux 2013 08 17 AskOxford com AskOxford com 2013 08 13 subkhnemux 2013 08 17 judgment noun Longman Dictionary of Contemporary English subkhnemux 2015 04 07 Lewis Alan 2008 04 17 The Cambridge Handbook of Psychology and Economic Behaviour Cambridge University Press p 43 ISBN 978 0 521 85665 2 subkhnemux 2013 02 07 Harris Lori A 2007 05 21 CliffsAP Psychology John Wiley amp Sons p 65 ISBN 978 0 470 19718 9 subkhnemux 2013 02 07 Nevid Jeffrey S 2008 10 01 Psychology Concepts and Applications Cengage Learning p 251 ISBN 978 0 547 14814 4 subkhnemux 2013 02 07 Kahneman Daniel Klein Gary 2009 Conditions for intuitive expertise A failure to disagree American Psychologist 64 6 515 526 doi 10 1037 a0016755 Kahneman Daniel 2011 Introduction Thinking Fast and Slow Farrar Straus and Giroux ISBN 978 1 4299 6935 2 Plous 1999 p 109 Hastie amp Dawes 2009 pp 210 211 12 0 12 1 12 2 Tversky Amos Kahneman Daniel 1973 Availability A Heuristic for Judging Frequency and Probability PDF Cognitive Psychology 5 207 232 doi 10 1016 0010 0285 73 90033 9 Check doi value help ISSN 0010 0285 subkhnemux 2015 03 06 13 0 13 1 Sutherland 2007 pp 16 17 14 0 14 1 Plous 1993 pp 123 124 15 0 15 1 15 2 15 3 15 4 15 5 15 6 15 7 15 8 Tversky amp Kahneman 1974 Carroll J 1978 The Effect of Imagining an Event on Expectations for the Event An Interpretation in Terms of the Availability Heuristic Journal of Experimental Social Psychology 14 1 88 96 doi 10 1016 0022 1031 78 90062 8 Check doi value help ISSN 0022 1031 Srull Thomas K Wyer Robert S 1979 The Role of Category Accessibility in the Interpretation of Information About Persons Some Determinants and Implications Journal of Personality and Social Psychology 37 10 1660 72 doi 10 1037 0022 3514 37 10 1660 ISSN 0022 3514 18 0 18 1 18 2 Plous 1993 pp 109 120 Nisbett Richard E Ross Lee 1980 Human inference strategies and shortcomings of social judgment Englewood Cliffs NJ Prentice Hall pp 115 118 ISBN 9780134450735 Gilovich Thomas 2 Something Out of Nothing How We Know What Isn t So The Fallibility of Human Reason in Everyday Life New York The Free Press p 18 ISBN 0 02 911705 4 21 0 21 1 Kahneman Daniel Amos Tversky 1973 07 On the Psychology of Prediction Psychological Review American Psychological Association 80 4 237 51 doi 10 1037 h0034747 ISSN 0033 295X Check date values in date help 22 0 22 1 Tversky Amos Kahneman Daniel 1983 Extensional versus intuitive reasoning The conjunction fallacy in probability judgment Psychological Review 90 4 293 315 doi 10 1037 0033 295X 90 4 293 reprinted in Gilovich Thomas Griffin Daniel Kahneman b k 2002 Heuristics and Biases The Psychology of Intuitive Judgment Cambridge Cambridge University Press pp 19 48 ISBN 9780521796798 OCLC 47364085 Poundstone 2010 p 89 Tentori K Bonini N Osherson D 2004 05 01 The conjunction fallacy a misunderstanding about conjunction Cognitive Science 28 3 467 477 doi 10 1016 j cogsci 2004 01 001 Moro Rodrigo 2008 07 29 On the nature of the conjunction fallacy Synthese 171 1 1 24 doi 10 1007 s11229 008 9377 8 Gigerenzer Gerd 1991 How to make cognitive illusions disappear Beyond heuristics and biases European Review of Social Psychology 2 83 115 doi 10 1080 14792779143000033 Kunda 1999 pp 70 71 Kunda 1999 pp 68 70 Zukier Henry 1982 The dilution effect The role of the correlation and the dispersion of predictor variables in the use of nondiagnostic information Journal of Personality and Social Psychology 43 6 1163 1174 doi 10 1037 0022 3514 43 6 1163 Kunda 1999 pp 71 72 31 0 31 1 Tversky Amos Kahneman Daniel 1971 Belief in the law of small numbers Psychological Bulletin 76 2 105 110 doi 10 1037 h0031322 reprinted in Daniel Kahneman Paul Slovic Amos Tversky b k 1982 Judgment under uncertainty heuristics and biases Cambridge Cambridge University Press pp 23 31 ISBN 9780521284141 CS1 maint multiple names editors list link 32 0 32 1 32 2 Baron 2000 p 235 33 0 33 1 33 2 Plous 1993 pp 145 146 Koehler amp Harvey 2004 p 99 35 0 35 1 35 2 Mussweiler Englich amp Strack 2004 pp 185 186 197 36 0 36 1 36 2 36 3 Yudkowsky 2008 pp 102 103 Lichtenstein Sarah Fischoff Baruch Phillips Lawrence D 1982 Calibration of probabilities The state of the art to 1980 in Kahneman Daniel Slovic Paul Tversky Amos b k Judgment under uncertainty Heuristics and biases Cambridge University Press pp 306 334 ISBN 9780521284141 38 0 38 1 38 2 38 3 Sutherland 2007 pp 168 170 39 0 39 1 Hastie amp Dawes 2009 pp 78 80 George Loewenstein 2007 Exotic Preferences Behavioral Economics and Human Motivation Oxford University Press pp 284 285 ISBN 9780199257072 Mussweiler Englich amp Strack 2004 p 188 Plous 1993 pp 148 149 Caverni Jean Paul Peris Jean Luc 1990 The Anchoring Adjustment Heuristic in an Information Rich Real World Setting Knowledge Assessment by Experts in Caverni Jean Paul Fabre Jean Marc Gonzalez Michel b k Cognitive biases Elsevier pp 35 45 ISBN 9780444884138 44 0 44 1 Mussweiler Englich amp Strack 2004 p 183 Finucane M L Alhakami A Slovic P Johnson S M 2000 01 The Affect Heuristic in Judgment of Risks and Benefits Journal of Behavioral Decision Making 13 1 1 17 doi 10 1002 SICI 1099 0771 200001 03 13 1 lt 1 AID BDM333 gt 3 0 CO 2 S Check doi value help Check date values in date help Keller Carmen 2006 06 The Role of Affect and Availability Heuristics in Risk Analysis 26 3 631 639 doi 10 1111 j 1539 6924 2006 00773 x Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Cite journal requires journal help Check date values in date help 47 0 47 1 47 2 47 3 47 4 47 5 Kahneman Daniel Frederick Shane 2002 Representativeness Revisited Attribute Substitution in Intuitive Judgment in Gilovich Thomas Griffin Dale Kahneman Daniel b k Heuristics and Biases The Psychology of Intuitive Judgment Cambridge Cambridge University Press pp 49 81 ISBN 9780521796798 OCLC 47364085 Hardman 2009 pp 13 16 49 0 49 1 49 2 Shah Anuj K Daniel M Oppenheimer 2008 03 Heuristics Made Easy An Effort Reduction Framework Psychological Bulletin American Psychological Association 134 2 207 222 doi 10 1037 0033 2909 134 2 207 ISSN 1939 1455 PMID 18298269 Check date values in date help 50 0 50 1 50 2 Newell Benjamin R David A Lagnado David R Shanks 2007 Straight choices the psychology of decision making Routledge pp 71 74 ISBN 9781841695884 51 0 51 1 51 2 Kahneman Daniel 2003 12 Maps of Bounded Rationality Psychology for Behavioral Economics PDF American Economic Review American Economic Association 93 5 1449 1475 doi 10 1257 000282803322655392 ISSN 0002 8282 Check date values in date help xangxingphidphlad payrabu lt ref gt imsmehtusmphl miniyamchux kahneman aer hlaykhrngdwyenuxhatangkn Kahneman Daniel 2007 Short Course in Thinking About Thinking Edge org Edge Foundation ekb cakaehlngedimemux 2009 04 20 subkhnemux 2009 06 03 Unknown parameter deadurl ignored help Gigerenzer Gerd Todd Peter M 1999 Simple Heuristics That Make Us Smart Oxford UK Oxford University Press ISBN 0 19 514381 7 CS1 maint multiple names authors list link van der Linden S 2011 Speed Dating and Decision Making Why Less is More Scientific American Mind Matters Nature subkhnemux 2013 11 14 Thorngate Warren 1980 Efficient decision heuristics Behavioral Science 25 3 219 225 doi 10 1002 bs 3830250306 Monin Benoit 2005 Correlated Averages vs Averaged Correlations Demonstrating the Warm Glow Heuristic Beyond Aggregation PDF Social Cognition 23 3 257 278 doi 10 1521 soco 2005 23 3 257 ISSN 0278 016X khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2016 05 27 subkhnemux 2015 03 06 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Sunstein Cass R 2005 Moral heuristics Behavioral and Brain Sciences Cambridge University Press 28 4 531 542 doi 10 1017 S0140525X05000099 ISSN 0140 525X PMID 16209802 Sunstein Cass R 2009 Some Effects of Moral Indignation on Law PDF Vermont Law Review Vermont Law School 33 3 405 434 SSRN 1401432 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2014 11 29 subkhnemux 2009 09 15 xangxingxun aekikhBaron Jonathan 2000 Thinking and deciding 3rd ed New York Cambridge University Press ISBN 0521650305 OCLC 316403966 CS1 maint ref harv link Gilovich Thomas Griffin Dale W 2002 Introduction Heuristics and Biases Then and Now in Gilovich Thomas Griffin Dale W Kahneman Daniel b k Heuristics and biases the psychology of intuitive judgement Cambridge University Press pp 1 18 ISBN 9780521796798 CS1 maint ref harv link Hardman David 2009 Judgment and decision making psychological perspectives Wiley Blackwell ISBN 9781405123983 CS1 maint ref harv link Hastie Reid Dawes Robyn M 2009 09 29 Rational Choice in an Uncertain World The Psychology of Judgment and Decision Making SAGE ISBN 9781412959032 CS1 maint ref harv link Koehler Derek J Harvey Nigel 2004 Blackwell handbook of judgment and decision making Wiley Blackwell ISBN 9781405107464 CS1 maint ref harv link Kunda Ziva 1999 Social Cognition Making Sense of People MIT Press ISBN 978 0 262 61143 5 OCLC 40618974 CS1 maint ref harv link Mussweiler Thomas Englich Birte Strack Fritz 2004 Anchoring effect in Pohl Rudiger F b k Cognitive Illusions A Handbook on Fallacies and Biases in Thinking Judgement and Memory Hove UK Psychology Press pp 183 200 ISBN 9781841693514 OCLC 55124398 CS1 maint ref harv link Plous Scott 1993 The Psychology of Judgment and Decision Making McGraw Hill ISBN 9780070504776 OCLC 26931106 CS1 maint ref harv link Poundstone William 2010 Priceless the myth of fair value and how to take advantage of it Hill and Wang ISBN 9780809094691 CS1 maint ref harv link Reber Rolf 2004 Availability in Pohl Rudiger F b k Cognitive Illusions A Handbook on Fallacies and Biases in Thinking Judgement and Memory Hove UK Psychology Press pp 147 163 ISBN 9781841693514 OCLC 55124398 CS1 maint ref harv link Sutherland Stuart 2007 Irrationality 2nd ed London Pinter and Martin ISBN 9781905177073 OCLC 72151566 CS1 maint ref harv link Teigen Karl Halvor 2004 Judgements by representativeness in Pohl Rudiger F b k Cognitive Illusions A Handbook on Fallacies and Biases in Thinking Judgement and Memory Hove UK Psychology Press pp 165 182 ISBN 9781841693514 OCLC 55124398 CS1 maint ref harv link Tversky Amos Kahneman Daniel 1974 Judgments Under Uncertainty Heuristics and Biases PDF Science 185 4157 1124 1131 doi 10 1126 science 185 4157 1124 PMID 17835457 reprinted in Daniel Kahneman Paul Slovic Amos Tversky b k 1982 Judgment Under Uncertainty Heuristics and Biases Cambridge Cambridge University Press pp 3 20 ISBN 9780521284141 CS1 maint multiple names editors list link CS1 maint ref harv link Yudkowsky Eliezer 2008 Cognitive biases potentially affecting judgment of global risks in Bostrom Nick Cirkovic Milan M b k Global catastrophic risks Oxford University Press pp 91 129 ISBN 9780198570509 CS1 maint ref harv link Slovic Paul Melissa Finucane Ellen Peters Donald G MacGregor 2002 The Affect Heuristic in Thomas Gilovich Dale Griffin Daniel Kahneman b k Heuristics and Biases The Psychology of Intuitive Judgment Cambridge University Press pp 397 420 ISBN 9780521796798 CS1 maint multiple names editors list link Test Yourself Decision Making and the Availability Heuristicekhathungcak https th wikipedia org w index php title hiwristikinkarpraeminaelakartdsinic amp oldid 9602963, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม