fbpx
วิกิพีเดีย

ชาวโตราจา

ชาวโตราจา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ภูเขาแห่งหนึ่งของจังหวัดซูลาเวซีใต้ ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรอยู่ประมาณ 1,100,000 คน ในจำนวนนี้มี 450,000 คนที่อาศัยอยู่ในอำเภอตานาโตราจา (Tana Toraja; "ดินแดนโตราจา") ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลามหรือมีความเชื่อแบบวิญญาณนิยมท้องถิ่นที่เรียกว่า อาลุก (aluk; "วิถีทาง") รัฐบาลอินโดนีเซียได้รับรองความเชื่อนี้ในชื่อ อาลุกโตโดโล (Aluk To Dolo; "วิถีบรรพชน")

ชาวโตราจา
เด็กหญิงชาวโตราจาในพิธีแต่งงาน
ประชากรทั้งหมด
1,100,000 คน
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 อินโดนีเซีย:
ซูลาเวซีใต้600,000 คน
ซูลาเวซีตะวันตก179,846 คน (14% ของประชากร)
ภาษา
ภาษาโตราจา-ซะดัน, ภาษากาลุมปัง, ภาษามามาซา, ภาษาตาเอะ, ภาษาตาลนโดะ, ภาษาโตอาละ (ภาษาท้องถิ่น) และภาษาอินโดนีเซีย
ศาสนา
ศาสนาคริสต์ (โปรเตสแตนต์ 69.15%, โรมันคาทอลิก 16.97%), ศาสนาอิสลาม 5.99% และ ศาสนาฮินดูแบบโตราจา (อาลุกโตโดโล) 5.99%
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
มันดาร์, บูกิซ, มากัซซาร์
ที่ตั้งของเกาะซูลาเวซีในประเทศอินโดนีเซีย

คำว่า โตราจา (Toraja) มาจากศัพท์ โตรียาจา (to riaja) ซึ่งแปลว่า "คนที่สูง" ในภาษาบูกิซ รัฐบาลอาณานิคมดัตช์เรียกชนกลุ่มนี้ว่าชาว "โตราจา" ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1909 ชาวโตราจาเป็นที่รู้จักจากพิธีศพที่ประณีต สถานที่ฝังศพที่แกะสลักเข้าไปในผาหิน บ้านทรงตงโกนันซึ่งมีหลังคายอดแหลมใหญ่ และงานแกะสลักไม้สีสันสดใส ส่วนพิธีศพของชาวโตราจาโตราจาเป็นกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญ โดยทั่วไปมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคนและจัดขึ้นเป็นเวลาหลายวัน

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวโตราจาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีลักษณะปกครองตนเอง มีพิธีกรรมเกี่ยวกับวิญญาณ และไม่ค่อยมีการติดต่อกับโลกภายนอก จนกระทั่งต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 มิชชันนารีชาวดัตช์ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่และโน้มน้าวให้ชาวโตราจาหันไปนับถือศาสนาคริสต์ เมื่ออำเภอตานาโตราจาเปิดกว้างสู่โลกภายนอกยิ่งขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1970 ตานาโตราจาได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวในประเทศอินโดนีเซีย และถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเชิงท่องเที่ยวและกลายเป็นเป้าหมายการศึกษาในทางมานุษยวิทยา ในคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งการท่องเที่ยวในตานาโตราจามาถึงจุดสูงสุด สังคมโตราจาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากสังคมเกษตรกรรมที่ซึ่งชีวิตทางสังคมและจารีตประเพณีมีรากฐานจากอาลุกโตโดโล ไปสู่สังคมที่มีวัฒนธรรมคริสต์เป็นส่วนใหญ่ ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวประกอบกับเม็ดเงินที่ชาวโตราจาโพ้นทะเลส่งเข้ามามีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในที่สูงโตราจา มีส่วนในการสร้างชื่อเสียงของโตราจาในบรรดาชนชาติพันธุ์ของอินโดนีเซียและส่งเสริมความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของโตราจา

อัตลักษณ์ชาติพันธุ์

 
การก่อสร้างบ้านพื้นเมืองในหมู่บ้านโตราจาแห่งหนึ่ง ค.ศ. 1948

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวโตราจามีความรับรู้ตนเองน้อยมากว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างแยกจากกลุ่มอื่น ก่อนการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมดัตช์และการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ชาวที่สูงโตราจาแยกอัตลักษณ์ของตนโดยใช้หมู่บ้านและไม่มีความรู้สึกร่วมต่ออัตลักษณ์ในฐานะชาวโตราจา แม้ว่าพิธีกรรมต่าง ๆ จะสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านเหล่านี้ แต่ในแถบที่สูงของซูลาเวซีก็ยังปรากฏความแตกต่างระหว่างหมู่บ้าน ดังที่สังเกตได้ในภาษาถิ่น การจัดลำดับชั้นทางสังคม และรูปแบบการประกอบพิธีกรรม ในช่วงแรกกลุ่มชนที่ลุ่มใช้คำว่า "โตราจา" (มาจากคำว่า โต ซึ่งแปลว่า "ผู้คน" และคำว่า รียาจา ซึ่งแปลว่า "ที่สูง" ในบรรดาภาษาชายฝั่ง) เพื่อเรียกกลุ่มชนที่อยู่บนที่สูง ดังนั้นคำว่า โตราจา ในช่วงนั้นจึงมีที่ใช้ในหมู่คนในกันเองน้อยกว่าเมื่อเทียบกับในหมู่คนนอกอย่างชาวบูกิซและชาวมากัซซาร์ซึ่งเป็นชาวที่ลุ่มส่วนใหญ่ของซูลาเวซี ภายหลังมิชชันนารีชาวดัตช์เดินทางเข้ามายังที่สูง นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความตระหนักในอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์โตราจาในภูมิภาคซะดันโตราจา (Sa'dan Toraja) และความรู้สึกต่ออัตลักษณ์ร่วมนี้ก็เติบโตขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวในอำเภอตานาโตราจา นับแต่นั้นมา จังหวัดซูลาเวซีใต้จึงประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์สี่กลุ่มหลัก ได้แก่ ชาวบูกิซ (ชนส่วนใหญ่ ช่างต่อเรือและชาวเรือ), ชาวมากัซซาร์ (คนค้าขายและชาวเรือในที่ลุ่ม), ชาวมันดาร์ (คนค้าขายและชาวประมง) และชาวโตราจา (คนปลูกข้าวในที่สูง)

ประวัติศาสตร์

 
นักรบชาวโตราจาจากซูลาเวซีใต้ถือหอกและโล่กันตาแบบดั้งเดิม

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์ได้สถาปนาอำนาจควบคุมทางการค้าและการเมืองเหนือเกาะซูลาเวซีผ่านบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่เขตที่สูงในซูลาเวซีตอนกลาง (ที่อยู่อาศัยของชาวโตราจา) ไม่ได้รับความสนใจจากชาวดัตช์ เป็นเพราะการเข้าถึงที่ยากลำบากและที่ดินที่ทำการเกษตรได้มีไม่มากนัก กระทั่งเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวดัตช์เริ่มกังวลมากขึ้นต่อการขยายตัวของศาสนาอิสลามในซูลาเวซีใต้โดยเฉพาะในหมู่ชาวมากัซซาร์และชาวบูกิซ ชาวดัตช์มองว่ากลุ่มชนผู้นับถือวิญญาณในดินแดนที่สูงเป็นกลุ่มที่สามารถหันมานับถือศาสนาคริสต์ได้ ในคริสต์ทศวรรษ 1920 พันธมิตรมิชชันนารีนิกายปฏิรูป (Reformed Missionary Alliance) ของคริสตจักรปฏิรูปดัตช์จึงเริ่มกิจการมิชชันนารีด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเจ้าอาณานิคมดัตช์ นอกจากการเผยแผ่ศาสนาคริสต์แล้ว ชาวดัตช์ยังได้ยกเลิกระบบทาสและบังคับใช้ระบบภาษีในท้องถิ่น มีการขีดเส้นแบ่งรอบพื้นที่ซะดัน (Sa'dan) แล้วตั้งชื่อให้ว่า "ตานาโตราจา" ในระยะแรกตานาโตราจาเป็นเขตการปกครองหนึ่งของอาณาจักรลูวูผู้อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าว ใน ค.ศ. 1946 ชาวดัตช์ได้กำหนดให้ตานาโตราจามีฐานะเป็นเขตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (regentschap) และใน ค.ศ. 1957 รัฐบาลอินโดนีเซียได้รับรองให้เป็นอำเภอ (kabupaten) หนึ่งของประเทศ

มิชชันนารีชาวดัตช์ในยุคแรกต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งขันจากชาวโตราจา โดยเฉพาะจากกลุ่มคนชั้นนำซึ่งไม่พอใจที่ตนต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการยกเลิกการค้าทาส ขาวโตราจาบางส่วนถูกชาวดัตช์บังคับให้ย้ายลงไปอาศัยในที่ลุ่มเพื่อจะควบคุมชนกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น มีการเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อบ่อนทำลายความมั่งคั่งของกลุ่มคนชั้นนำ แต่ท้ายที่สุดอิทธิพลของชาวดัตช์ไม่สามารถทำให้วัฒนธรรมโตราจาอ่อนแอลงได้ และมีชาวโตราจาเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เปลี่ยนศาสนา ใน ค.ศ. 1950 มีประชากรโตราจาเพียงร้อยละ 10 ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์

ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ชาวมุสลิมจากที่ลุ่มเข้าโจมตีชาวโตราจา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์ครั้งใหญ่ในบรรดาผู้ที่เสาะหาพันธมิตรชาวดัตช์เพื่อรับการคุ้มครองทางการเมืองและเพื่อจัดตั้งขบวนการต่อต้านชาวมุสลิมบูกิซและมากัซซาร์ ระหว่าง ค.ศ. 1951 ถึง 1965 (หลังประเทศอินโดนีเซียได้รับเอกราช) ซูลาเวซีใต้ต้องเผชิญกับช่วงเวลาอันอลหม่านเมื่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนดารุลอิสลามต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นในซูลาเวซี ช่วงเวลา 15 ปีของการรบแบบกองโจรในพื้นที่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ครั้งใหญ่ในหมู่ชาวโตราจา

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลอินโดนีเซียไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้แก่ชาวโตราจาได้ ใน ค.ศ. 1965 กฤษฎีกาจากประธานาธิบดีกำหนดให้พลเมืองอินโดนีเซียทุกคนต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งในห้าศาสนาที่รัฐให้การรับรองอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ (โปรเตสแตนต์และคาทอลิก) ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธเท่านั้น ความเชื่อท้องถิ่นของโตราจา (อาลุก) ไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย ชาวโตราจาได้แสดงความเห็นต่อต้านกฎหมายดังกล่าว ใน ค.ศ. 1969 อาลุกโตโดโล ("วิถีบรรพชน") ได้รับการทำให้ถูกกฎหมายในฐานะนิกายหนึ่งของอาคมฮินดูธรรม ชื่อทางการของศาสนาฮินดูในประเทศอินโดนีเซีย

สังคม

ครอบครัว

 
ผู้เฒ่าชาวโตราจาในชุดพื้นเมืองขณะรวมตัวกันในงานศพ เดือนมีนาคม ค.ศ. 2014

ครอบครัวเป็นกลุ่มทางสังคมและการเมืองระดับปฐมภูมิในสังคมโตราจา หมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้านถือเป็นครอบครัวขยายหนึ่งครอบครัวโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตงโกนันหรือบ้านโตราจาแบบดั้งเดิม ตงโกนันแต่ละแห่งจะมีชื่อเป็นของตนเองซึ่งใช้เป็นชื่อของหมู่บ้านด้วย ผู้นำครอบครัวมีหน้าที่ดูแลรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหมู่บ้าน การสมรสระหว่างญาติห่าง ๆ (ญาติตั้งแต่ลำดับที่สี่ขึ้นไป) เป็นธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไปที่สร้างความแน่นแฟ้นในเครือญาติ สังคมโตราจาห้ามการแต่งงานระหว่างญาติใกล้ชิด (ญาติตั้งแต่ลำดับที่สามลงมา) ยกเว้นแต่ในชนชั้นสูงเพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สมบัติกระจัดกระจาย เครือญาติมีความสัมพันธ์ในลักษณะต่างตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ หมายความว่าครอบครัวขยายจะช่วยกันและกันทำเกษตร เป็นเจ้าของร่วมของควายที่ใช้ในพิธีกรรม และช่วยกันจ่ายหนี้สินของสมาชิกในครอบครัว

บุคคลแต่ละคนเป็นของทั้งครอบครัวฝั่งแม่และพ่อ ถือเป็นสายตระกูลแบบนับญาติสองข้างเพียงสายเดียวในประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้น ลูก ๆ จึงสืบทอดภาระผูกพันในครัวเรือนจากทั้งแม่และพ่อ รวมถึงที่ดินและหนี้ของครอบครัวด้วย ส่วนชื่อของลูกตั้งตามชื่อในเครือญาติ โดยทั่วไปมักเลือกมาจากญาติที่ตายไปแล้ว ชื่อของป้า ลุง หรือญาติคนอื่น ๆ มักถูกนำมาใช้ในชื่อของแม่ พ่อ และพี่น้อง

ก่อนการเริ่มต้นระบบการปกครองหมู่บ้านโตราจาอย่างเป็นทางการโดยอำเภอตานาโตราจา หมู่บ้านโตราจาแต่ละหมู่บ้านเคยปกครองตนเองมาก่อน ในสถานการณ์อันซับซ้อนที่ครอบครัวโตราจาครอบครัวหนึ่ง ๆ ไม่สามารถรับมือกับปัญหานั้นได้เพียงลำพัง หมู่บ้านหลายหมู่บ้านจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และในบางครั้งหมู่บ้านกลุ่มหนึ่งอาจรวมตัวกันต่อต้านหมู่บ้านกลุ่มอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวต่าง ๆ แสดงออกผ่านทางสายเลือด การแต่งงาน และบ้านบรรพชนที่อาศัยร่วมกัน (ตงโกนัน) ความสัมพันธ์นี้จะยืนยันในทางปฏิบัติผ่านการแลกเปลี่ยนควายและหมูในพิธีกรรมต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างความผูกพันทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่างครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการกำหนดตำแหน่งของแต่ละบุคคลในลำดับชั้นทางสังคมด้วย เช่น ในพิธีกรรม มีผู้มีหน้าที่เทน้ำตาลเมา ผู้มีหน้าที่ห่อศพและเตรียมเครื่องถวาย จุดที่บุคคลหนึ่ง ๆ นั่งได้หรือนั่งไม่ได้ จานอาหารใดที่ควรใช้หรือควรเลี่ยง หรือแม้แต่ส่วนของเนื้อสัตว์ที่บุคคลหนึ่ง ๆ จะได้รับ

ลำดับชั้น

 
ควายเผือกและเขาที่ประดับเป็นสีทอง

ในสังคมโตราจายุคเริ่มแรก ความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับลำดับชั้นทางสังคม สังคมประกอบด้วยสามช่วงชั้น ได้แก่ ชนชั้นสูง สามัญชน และทาส (ระบบทาสถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1909 โดยรัฐบาลหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์) ชั้นชนทางสังคมจะสืบทอดผ่านแม่ ดังนั้นจึงมีข้อห้ามแต่งงาน "ลงล่าง" ไปหาหญิงชั้นต่ำกว่า ในขณะที่การแต่งงานกับหญิงชั้นสูงกว่าจะช่วยยกระดับทางสังคมของรุ่นถัดไปได้ ทัศนคติการถือตัวเหนือชั้นชนอื่นของชนชั้นสูงยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันด้วยเหตุผลเรื่องศักดิ์ศรีของตระกูล

ชนชั้นสูงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทายาทสายตรงจากผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากสวรรค์ อาศัยในตงโกนัน ในขณะที่สามัญชนอาศัยในบ้านที่มีลักษณะเรียบง่ายกว่า (เป็นบ้านที่สร้างจากไม้ไผ่ เรียกว่า "บานูวา") ส่วนทาสอาศัยในกระท่อมซึ่งต้องสร้างขึ้นรอบ ๆ ตงโกนันของเจ้าของทาส สามัญชนสามารถแต่งงานกับใครก็ได้ แต่ชนชั้นสูงนิยมแต่งงานกันในตระกูลมากกว่าเพื่อคงสถานะทางสังคมของตระกูลไว้ บางครั้งชนชั้นสูงอาจแต่งงานกับชนชั้นสูงชาวบูกิซหรือชาวมากัซซาร์ นอกจากนี้ สามัญชนและทาสยังถูกห้ามไม่ให้จัดงานฉลองในพิธีเกี่ยวกับความตาย แม้จะมีความใกล้ชิดทางเครือญาติและการสืบทอดสถานะทางสังคม แต่ในสังคมโตราจาก็ยังมีการเปลี่ยนสถานะทางสังคมเนื่องจากการแต่งงานหรือการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพย์สินอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของแต่ละบุคคลได้ ความมั่งคั่งนั้นนับกันจากจำนวนควายที่มี

ในสมัยที่ยังมีทาสนั้น ทาสในสังคมโตราจาเป็นทรัพย์สินของครอบครัว บางครั้งชาวโตราจาตัดสินใจมาเป็นทาสโดยขอทำงานชดใช้หนี้ ทาสสามารถถูกยึดครองได้ระหว่างสงครามและการค้าทาสก็เป็นเรื่องปกติ ทาสสามารถซื้ออิสรภาพของตนได้ แต่ลูกยังคงสืบทอดสถานะทาสต่อไป ทาสจะถูกห้ามสวมใส่ทองแดงหรือทอง แกะสลักบ้านของตน กินอาหารโดยใช้จานเดียวกับเจ้าของ หรือมีเพศสัมพันธ์กับหญิงที่เป็นไทซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษประหารชีวิต

ศาสนา

 
นักบวชโตราจาในระหว่างเทศกาลหนึ่ง

ระบบความเชื่อพื้นเพดั้งเดิมของชาวโตราจามีลักษณะเป็นลัทธิวิญญาณนิยมแบบพหุเทวนิยม เรียกว่า "อาลุก" หรือ "วิถีทาง" (บางครั้งแปลว่า "กฎ") ตามความเชื่อปรัมปราโตราจา บรรพชนของชาวโตราจาลงมาจากสวรรค์โดยใช้บันไดซึ่งต่อมาชาวโตราจาได้ใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับ ปูวังมาตูวา (Puang Matua) ซึ่งเป็นพระผู้สร้าง จักรวาลแบ่งออกเป็นโลกข้างบน (สวรรค์), โลกมนุษย์ (โลก) และโลกข้างใต้ ในตอนแรก สวรรค์และโลกได้แต่งงานกัน จากนั้นจึงบังเกิดความมืด การแบ่งแยก และแสงในที่สุด สัตว์อาศัยอยู่ในโลกข้างใต้ซึ่งแทนด้วยพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยเสา โลกมีไว้สำหรับมนุษยชาติ และโลกสวรรค์ตั้งอยู่ด้านบน ปกคลุมด้วยหลังคาทรงอานม้า เทพเจ้าของโตราจาองค์อื่น ๆ ได้แก่ ปงบังไกดีรันเต (Pong Banggai di Rante; เทพแห่งโลก), อินโดะโองน-โองน (Indo' Ongon-Ongon; เทวีผู้สามารถก่อแผ่นดินไหว), ปงลาลนดง (Pong Lalondong; เทพแห่งความตาย) และ อินโดะเบโลตุมบัง (Indo' Belo Tumbang; เทวีแห่งการแพทย์) เป็นต้น

ผู้มีอำนาจทางโลกเรียกว่า โตมีนาอา (to minaa; นักบวชของอาลุก) คำพูดและการกระทำของ โตมีนาอา แยกออกเป็นด้านชีวิต (เกษตรกรรม) และด้านความตาย (พิธีศพ) อาลุกไม่ได้เป็นเพียงระบบความเชื่อ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างกฎหมาย ศาสนา และความประพฤติ อาลุกมีอำนาจเหนือชีวิตทางสังคม เกษตรกรรม และพิธีเกี่ยวเนื่องกับบรรพชน รายละเอียดของอาลุกอาจแตกต่างกันไปตามหมู่บ้าน แต่กฎทั่วไปกฎหนึ่งคือการแยกพิธีเกี่ยวกับชีวิตและพิธีเกี่ยวกับความตายออกจากกัน ด้วยความเชื่อว่าพิธีเกี่ยวกับความตายอาจทำลายศพได้หากนำมาปฏิบัติร่วมกับพิธีเกี่ยวกับชีวิต พิธีทั้งสองมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในสมัยของมิชชันนารีชาวดัตช์ ชาวโตราจาที่นับถือศาสนาคริสต์ถูกห้ามเข้าร่วมหรือประกอบพิธีเกี่ยวกับชีวิต แต่ยังได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีเกี่ยวกับความตาย ส่งผลให้ในปัจจุบันยังคงมีการปฏิบัติพิธีเกี่ยวกับความตายอยู่ทั่วไป ในขณะที่การปฏิบัติพิธีเกี่ยวกับชีวิตมีน้อยลง

วัฒนธรรม

ตงโกนัน

ดูบทความหลักที่: ตงโกนัน
 
ธนบัตร 5,000 รูปียะฮ์ แสดงภาพตงโกนัน
 
อาคารที่ทำการฝ่ายบริหารในรันเตปาโอ สร้างด้วยหลังคาแบบตงโกนัน

บ้านของบรรพชนแบบดั้งเดิมของชาวโตราจาเรียกว่าตงโกนัน (tongkonan) ตั้งอยู่สูงตระหง่านบนกองไม้ มีหลังคาไม้ไผ่แยกชั้นในรูปทรงโค้งแอ่น และมีงานแกะสลักไม้พร้อมรอยบากสีแดง ดำ หรือเหลืองประดับบนผนังด้านนอก คำว่า "ตงโกนัน" มาจากคำในภาษาโตราจาว่า ตงกน (tongkon) ซึ่งแปลว่า "นั่ง"

ตงโกนันเป็นศูนย์กลางของชีวิตทางสังคมโตราจา พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับตงโกนันล้วนเป็นการแสดงออกที่สำคัญของชีวิตทางจิตวิญญาณโตราจา ฉะนั้นสมาชิกทั้งหมดในครอบครัวจึงถูกผลักดันให้เข้าร่วม เนื่องจากในทางสัญลักษณ์นั้น ตงโกนันเป็นตัวแทนความเชื่อมโยงสู่บรรพชน เครือญาติที่มีชีวิตอยู่ และเครือญาติในอนาคต ตามตำนานของชาวโตราจา ตงโกนันหลังแรกสร้างขึ้นบนสวรรค์ มีเสาสี่เสารองรับ หลังคาทำมาจากผ้าอินเดีย เมื่อบรรพชนของโตราจาคนแรกเดินทางลงมายังโลก เขาได้สร้างบ้านขึ้นโดยเลียนแบบจากบ้านบนสวรรค์และจัดพิธีฉลองครั้งใหญ่

การก่อสร้างตงโกนันเป็นงานหนักและมักต้องอาศัยความช่วยเหลือของคนในครอบครัวขยาย ตงโกนันแบ่งออกเป็นสามชนิดคือ ตงโกนันลายุก (tongkonan layuk) บ้านของผู้มีอำนาจสูงสุดและใช้เป็น "ศูนย์กลางการปกครองและบริหาร" ส่วน ตงโกนันเปกัมเบรัน (tongkonan pekamberan) เป็นของสมาชิกในครอบครัวที่ยังคงมีอำนาจบางอย่างตามธรรมเนียมท้องถิ่น ส่วนสมาชิกในครอบครัวสามัญชนจะอาศัยอยู่ใน ตงโกนันบาตู (tongkonan batu) อย่างไรก็ตาม สิทธิ์ขาดของชนชั้นสูงโตราจาในการสร้างตงโกนันขนาดใหญ่กำลังลดน้อยลง เนื่องจากสามัญชนโตราจาจำนวนมากสามารถหางานที่มีค่าตอบแทนดีได้จากส่วนอื่น ๆ ของอินโดนีเซีย เมื่อพวกเขาส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว พวกเขาก็สร้างตงโกนันที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้ง ๆ ที่เป็นสามัญชนตามขนบ

งานแกะสลักไม้

ชาวโตราจาแกะสลักไม้เพื่อบอกเล่าแนวคิดทางศาสนาและสังคม งานแกะสลักไม้นั้นเรียกว่า ปะอส์ซูรา (Pa'ssura; "งานเขียน") งานแกะสลักไม้จึงเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งของชาวโตราจา

งานแกะสลักแต่ละชิ้นมีชื่อเฉพาะเป็นของตัวเอง ลายแม่บทที่นิยมแกะสลักคือสัตว์และพืชซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมบางอย่าง เช่น พืชน้ำและสัตว์น้ำอย่างปู ลูกอ๊อด และวัชพืชน้ำโดยทั่วไปมักใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ ในบางพื้นที่ ผู้อาวุโสที่เป็นชนชั้นสูงอ้างว่าสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งของครอบครัวชั้นสูง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วย ความหมายโดยรวมของกลุ่มลายแม่บทที่แกะสลักกันตามบ้านเรือนยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และการท่องเที่ยวยิ่งทำให้การถกเถียงนี้ซับซ้อนขึ้นไปอีกเพราะบางคนรู้สึกว่าควรมีคำอธิบายเพียงแบบเดียวให้แก่นักท่องเที่ยว งานแกะสลักไม้โตราจาประกอบด้วยแผงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสจำนวนมาก แต่ละแผงอาจเป็นตัวแทนถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น รูปควายเป็นตัวแทนของความปรารถนาถึงความมั่งคั่งสำหรับครอบครัว รูปกล่องและเงื่อนเป็นสัญลักษณ์แทนความหวังว่าลูกหลานทุกคนในครอบครัวจะมีความสุขและอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว รูปสัตว์น้ำบ่งบอกความต้องการงานหนักและเร็วอย่างการเคลื่อนที่ไปบนผิวน้ำ

ความสม่ำเสมอและความเป็นระเบียบเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในงานแกะสลักไม้ของโตราจา (ดูเพิ่มในตารางด้านล่าง) เช่นเดียวกับงานออกแบบแนวนามธรรมและรูปร่างเรขาคณิต ธรรมชาติมักถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานของการตกแต่งแบบโตราจาเพราะธรรมชาติเต็มไปด้วยนัยนามธรรมและรูปทรงเรขาคณิตที่มีความสม่ำเสมอและการจัดระเบียบในตัว ของตกแต่งของโตราจาได้รับการศึกษาในทางคณิตศาสตร์ชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ของมัน อย่างไรก็ตาม ชาวโตราจาวางรากฐานงานเหล่านี้ขึ้นมาจากการประมาณเท่านั้น ในการทำของตกแต่ง มีการนำแท่งไม้ไผ่มาใช้เป็นเครื่องมือเรขาคณิต

ลวดลายโตราจาบางส่วน
ปะเตดง
(ควาย)
ปะบาร์เรอัลโล
(พระอาทิตย์ส่องแสง)
ปะเระโปะซางูบา
(เต้นอยู่คนเดียว)
เนะลิมโบงัน
(นักออกแบบในตำนาน)
ภาพราสเตอร์มาจาก

พิธีศพ

 
พิธีศพขณะแบกหามโลงศพซึ่งทำเป็นรูปเลียนแบบตงโกนัน

ในสังคมโตราจา พิธีศพเป็นพิธีที่ประณีตและมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ยิ่งบุคคลมีอำนาจและความร่ำรวยมากเท่าใด พิธีศพก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น ในศาสนาอาลุกมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิ์จัดงานฉลองอย่างอลังการในพิธีศพ งานฉลองในพิธีศพของชนชั้นสูงมักมีผู้เข้าร่วมหลายพันคนและกินเวลาหลายวัน สถานที่จัดพิธีกรรมเรียกว่า "รันเต" (rante) ซึ่งมักเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้าง และครอบครัวของผู้ตายจะสร้างที่พักพิงสำหรับผู้เข้าร่วม ยุ้งฉาง และสิ่งก่อสร้างในพิธีศพอื่น ๆ เป็นการเฉพาะ ดนตรีขลุ่ย บทสวดศพ เพลงและบทกวี และการร้องไห้คร่ำครวญเป็นการแสดงออกถึงความเศร้าโศกตามแบบฉบับของชาวโตราจา ยกเว้นเพียงในพิธีศพของเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ที่ยากจนและไม่มีสถานะทางสังคมสูง

พิธีศพอาจจัดขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปีหลังการตายเพื่อให้ครอบครัวของผู้ตายสามารถรวบรวมทุนสำหรับจ่ายค่าพิธีศพได้ ชาวโตราจามีความเชื่อตามธรรมเนียมว่าการตายไม่ใช่ขั้นตอนที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือฉับพลัน แต่เป็นกระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ ปูยา (Puya; ดินแดนแห่งวิญญาณหรือชีวิตหลังความตาย) ในช่วงที่รออยู่นั้น ร่างของผู้ตายจะถูกห่อด้วยผ้าหลายชั้นและเก็บไว้ใต้ตงโกนัน เชื่อกันว่าวิญญาณของผู้ตายจะวนเวียนอยู่ในหมู่บ้านจนกว่าพิธีศพจะเสร็จสมบูรณ์ แล้วจึงเริ่มออกเดินทางสู่ปูยา

 
สถานที่ฝังศพที่แกะสลักจากผาหิน ตาอูตาอู (หุ่นพยนต์) ถูกวางไว้โดยให้หันหน้าออกมายังพื้นที่ของหมู่บ้าน

องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งของพิธีศพคือการฆ่าควาย ยิ่งคนตายมีอำนาจมากเท่าใด ควายที่ถูกฆ่าระหว่างงานฉลองในพิธีศพก็ยิ่งมีจำนวนมากขึ้นเท่านั้น ซากและหัวควายมักถูกนำมาเรียงกันบนลานเพื่อรอคอยเจ้าของ (ผู้ตาย) ซึ่งกำลังอยู่ใน "ระยะหลับใหล" ชาวโตราจาเชื่อว่าผู้ตายจะใช้ควายเหล่านี้ออกเดินทางและจะสามารถเดินทางไปถึงปูยาได้เร็วขึ้นหากมีควายจำนวนมาก การฆ่าควายหลายสิบตัวและหมูหลายร้อยตัวโดยใช้มีดพร้าถือเป็นจุดสูงสุดของงานฉลองอันประณีต พร้อมกันนั้นยังมีการเต้นรำประกอบดนตรีและมีเด็กผู้ชายคอยรองเลือดที่กระเซ็นใส่กระบอกไม้ไผ่ยาว สัตว์บางส่วนที่ถูกฆ่าได้มาจากผู้เข้าร่วมพิธีในฐานะ "ของขวัญ" ที่ได้รับความใส่ใจเป็นอย่างดีเพราะจะถือว่าเป็นหนี้ของครอบครัวผู้ตาย อย่างไรก็ตาม การชนไก่ (bulangan londong) ก็เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับการฆ่าหมูและควายเพราะเกี่ยวข้องกับการที่เลือดหยดลงบนแผ่นดิน ตามธรรมเนียมกำหนดไว้ว่าต้องมีการสังเวยไก่อย่างน้อย 3 ตัว อย่างไรก็ตาม การชนไก่อย่างน้อย 25 คู่ก็ถือเป็นเรื่องปกติในบริบทของพิธีศพ

 
ชาวโตราจาขณะประกอบพิธี มะเนเน ให้กับร่างผู้ตายสองร่าง

การฝังศพมีอยู่สามวิธี โดยอาจวางโลงศพไว้ในถ้ำ วางในที่ฝังศพหินแกะสลัก หรือแขวนไว้ตามหน้าผา ในการฝังศพจะมีการบรรจุข้าวของที่ผู้ตายจะต้องใช้ในโลกหลังความตาย ศพของผู้มั่งคั่งมักจะได้รับการฝังในที่ฝังศพที่แกะสลักจากผาหิน ที่ฝังแบบนี้มักมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะสร้างเสร็จ ในบางพื้นที่อาจใช้ถ้ำหินที่มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับครอบครัวหนึ่งได้ หุ่นพยนต์แกะสลักจากไม้ เรียกว่า ตาอูตาอู (Tau tau) มักนำไปวางในถ้ำโดยให้หันหน้าออกมาสู่ดินแดน ส่วนโลงศพของทารกหรือเด็กอาจแขวนด้วยเชือกแล้วห้อยกับหน้าผาหรือต้นไม้ สุสานแบบแขวนเหล่านี้มักคงอยู่เป็นเวลาหลายปีกว่าเชือกจะเสื่อมสลายและศพตกลงสู่พื้น

พิธีกรรมที่เรียกว่า มะเนเน (Ma'Nene) จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยจะนำร่างผู้ตายออกมาจากที่ฝังศพเพื่อล้างทำความสะอาด ตกแต่ง และแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่

การร่ายรำและดนตรี

 
ผู้แสดงการเต้นรำแบบ ปะเก็ลลู (Pa'gellu) ในตานาโตราจา

ชาวโตราจาแสดงการเต้นรำในหลายโอกาส โดยเฉพาะในระหว่างพิธีศพอันประณีต พวกเขาเต้นรำเพื่อแสดงความเศร้าโศกและเพื่อเป็นเกียรติหรือแม้กระทั่งให้กำลังใจแก่ผู้ตายซึ่งกำลังจะออกเดินทางไกลในโลกหลังความตาย อันดับแรก ชายกลุ่มหนึ่งจะล้อมวงร้องเพลงสวดด้วยเสียงระดับเดียวตลอดทั้งคืนเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตาย พิธีนี้เรียกว่า มะบาดง (Ma'badong) ชาวโตราจาหลายคนถือว่านี่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพิธี ในพิธีศพวันที่สอง จะมีการร่ายรำนักรบ มะรันดิง (Ma'randing) เพื่อสรรเสริญความกล้าหาญของผู้ตายขณะมีชีวิตอยู่ ชายหลายคนแสดงโดยใช้ดาบ โล่อันใหญ่ที่ทำจากหนังควาย เครื่องสวมศีรษะประดับเขาควาย และเครื่องตกแต่งอื่น ๆ หลังการร่ายรำ มะรันดิง เสร็จสิ้น จะมีขบวนแห่ศพออกจากยุ้งฉางไปสู่ รันเต หรือสถานที่จัดพิธีศพ ระหว่างพิธีศพ หญิงอาวุโสจะแสดงการร่ายรำ มะกาตียา (Ma'akatia) ในชุดขนนกยาวพร้อมกับร้องเพลงร้อยกรองไปด้วย การร่ายรำ มะกาตียา มีขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีระลึกถึงความใจกว้างและความซื่อสัตย์ของผู้ตาย หลังเสร็จสิ้นพิธีเชือดหมูและควายอันนองเลือดแล้ว กลุ่มเด็กทั้งหญิงและชายจะแสดงการเต้นรำประกอบการปรบมือที่เรียกว่า มะดนดัน (Ma'dondan)

เช่นเดียวกับในสังคมเกษตรกรรมอื่น ๆ ชาวโตราจาจะเต้นรำและร้องเพลงในช่วงเวลาเก็บเกี่ยวพืชผล การร่ายรำ มะบูกี (Ma'bugi) เป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลขอบคุณพระเจ้า และการร่ายรำ มะกันดางี (Ma'gandangi) จะมีขึ้นในขณะที่ชาวโตราจากำลังบดข้าว มีการร่ายรำประกอบอาวุธหลายอย่าง เช่น มานิมบง (Manimbong) ของผู้ชาย ซึ่งตามด้วย มะดันดัน (Ma'dandan) ของผู้หญิง ศาสนาอาลุกยังกำหนดโอกาสและวิธีการร่ายรำของชาวโตราจา การร่ายรำที่เรียกว่า มะบูวา (Ma'bua) สามารถจัดขึ้นได้ทุก ๆ 12 ปีเท่านั้น มะบูวาเป็นพิธีเฉลิมฉลองสำคัญพิธีหนึ่งของชาวโตราจาที่ซึ่งนักบวชจะสวมหัวควายและร่ายรำรอบต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์

เครื่องดนตรีดั้งเดิมชนิดหนึ่งของโตราจาคือขลุ่ยไม้ไผ่เรียกว่า ปะซูลิง (Pa'suling; ซูลิง เป็นคำที่ใช้เรียกขลุ่ยในภาษาอินโดนีเซีย) ขลุ่ยหกรู (ปรากฏในวัฒนธรรมอื่นนอกเหนือจากวัฒนธรรมโตราจา) นี้ใช้บรรเลงในการร่ายรำหลายโอกาส เช่น การร่ายรำขอบคุณพระเจ้า มะบนเด็นซัน (Ma'bondensan) ที่ซึ่งมีการแสดงดนตรีขลุ่ยประกอบการเต้นรำของชายที่เปลือยท่อนบนและมีเล็บยาว เครื่องดนตรีท้องถิ่นของโตราจาชนิดอื่น ๆ มี ปะเป็ลเล (Pa'pelle; ทำจากใบปาล์ม) และ ปะการมบี (Pa'karombi; จ้องหน่องแบบโตราจา) โดย ปะเป็ลเล มีไว้ใช้บรรเลงระหว่างพิธีเก็บเกี่ยวและพิธีขึ้นบ้านใหม่

มุมมองต่อรักร่วมเพศ

ในหมู่ชาวซาอาดัน (โตราจาตะวันออก) บนเกาะซูลาเวซี มีหมอผีที่เป็นชายรักร่วมเพศ เรียกว่า โตบูราเกตัมโบลัง (toburake tambolang) ในขณะที่กลุ่มชนข้างเคียงอย่างชาวมามาซา (โตราจาตะวันตก) มีเพียงหมอผีที่เป็นหญิงรักเพศตรงข้ามซึ่งเรียกว่า โตบูราเก (toburake) เท่านั้น

ภาษา

ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์โตราจาพบได้ทั่วไปในตานาโตราจาโดยมีภาษาโตราจา-ซะดัน (Toraja-Sa'dan) เป็นภาษาหลัก ถึงแม้ว่าภาษาอินโดนีเซียจะเป็นภาษาทางการและมีผู้พูดกันในชุมชน แต่โรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่งในตาราโตราจาก็สอนภาษาโตราจาแก่เด็ก ๆ

วิธภาษาของภาษาโตราจา เช่น กาลุมปัง (Kalumpang), มามาซา (Mamasa), ตาเอะ (Tae'), ตาลนโดะ (Talondo'), โตอาละ (Toala'), โตราจา-ซะดัน เป็นต้น จัดเป็นภาษาในกลุ่มมลายู-พอลีนีเชียของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ในระยะแรก ๆ ลักษณะทางภูมิศาสตร์อันโดดเดี่ยวของตานาโตราจาก่อให้เกิดภาษาถิ่นจำนวนมากในบรรดาภาษาของชาวโตราจาเอง ภายหลังการจัดการปกครองตานาโตราจาเป็นระบบ ภาษาโตราจาถิ่นบางภาษาได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นผ่านแผนการอพยพข้ามถิ่นซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยอาณานิคม และยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความหลากหลายของภาษาโตราจาจนถึงปัจจุบัน

วิธภาษาของภาษาโตราจา
ชื่อ รหัส
ไอเอสโอ 639-3
ประชากร (ข้อมูลจากปี) ภาษาถิ่น
กาลุมปัง kli 12,000 คน (1991) การาตาอุน, มับเลอี, มังกี (เอะดา), โบเนฮาอู (ตะดา)
มามาซา mqj 100,000 คน (1991) มามาซาเหนือ, มามาซากลาง, ปัตตาเอะ (มามาซาใต้, ปัตตะบีนูวัง, บีนูวัง, ตาเอะ, บีนูวัง-ปากี-บาเตตางา-อันเตอาปี)
ตาเอะ rob 250,000 คน (1992) รงกง, ลูวูตะวันออกเฉียงเหนือ, ลูวูใต้, บูวา
ตาลนโดะ tln 500 คน (1986)
โตอาละ tlz 30,000 คน (1983) โตอาละ, ปาลีลิ
โตราจา-ซะดัน sda 500,000 คน (1990) มากาเล (ตัลลูเล็มบังนา), รันเตปาโอ (เกซุ), โตราจาบารัต (โตราจาตะวันตก, มัปปา-ปานา)
ที่มา: Gordon (2005).

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของภาษาโตราจาคือมโนทัศน์เกี่ยวกับความเศร้าโศก ความสำคัญของพิธีศพในวัฒนธรรมโตราจาได้หล่อหลอมให้ภาษาโตราจามีลักษณะที่แสดงออกถึงความเศร้าโศกและการไว้อาลัยในระดับซับซ้อน ภาษาโตราจามีศัพท์มากมายสำหรับสื่อถึงความเศร้า ความโหยหา ความหดหู่ และความเจ็บปวดทางจิตใจ การกล่าวแสดงออกถึงผลกระทบของความสูญเสียที่มีต่อร่างกายและจิตใจโดยใช้คำจำกัดความที่ชัดเจนเป็นการปลดเปลื้องอารมณ์รูปแบบหนึ่ง และบางครั้งอาจช่วยลดทอนความเจ็บปวดจากความเศร้าโศกได้

เศรษฐกิจ

 
ผู้คนกำลังทำนาในตานาโตราจา

ก่อนที่จะเข้าสู่ "ยุคระเบียบใหม่" ของซูฮาร์โต เศรษฐกิจของชาวโตราจามีพื้นฐานเป็นเกษตรกรรม โดยมีการปลูกข้าวแบบเปียกในนาขั้นบันไดตามลาดเขา และมีบ้างที่ปลูกมันสำปะหลังกับข้าวโพด ชาวโตราจาใช้เวลาและพลังงานส่วนมากไปกับการเลี้ยงควาย หมู และไก่ โดยหลัก ๆ เพื่อบริโภคและใช้ในพิธีทางศาสนา กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดแรกที่มีการผลิตในตานาโตราจา โดยมีผู้นำเข้าไปเพาะปลูกครั้งแรกในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบท้องถิ่นไปสู่การผลิตโภคภัณฑ์เพื่อตลาดภายนอก และได้รับชื่อเสียงที่ยอดเยี่ยมในแง่คุณภาพในตลาดระหว่างประเทศ

หลังการประกาศใช้ระเบียบใหม่ใน ค.ศ. 1965 เศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้พัฒนาและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ บริษัทคีย์คอฟฟี (Key Coffee) จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำไร่กาแฟและตั้งโรงงานกาแฟในตานาโตราจา และกาแฟโตราจากลับมามีชื่อเสียงด้านคุณภาพภายในภาคส่วนกาแฟคัดพิเศษซึ่งกำลังเติบโตในระดับนานาชาติ บริษัทน้ำมันและเหมืองแร่ข้ามชาติเริ่มทำธุรกิจในอินโดนีเซียระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึง 1980 ชาวโตราจาโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุน้อยโยกย้ายไปทำงานกับบริษัทต่างชาติยังกาลีมันตันเพื่อทำงานเกี่ยวกับไม้และน้ำมัน ยังปาปัวเพื่อทำงานเหมือง ยังเมืองใหญ่ ๆ ในซูลาเวซีและชวา และอีกหลายคนโยกย้ายไปยังประเทศมาเลเซีย การย้ายถิ่นออกของชาวโตราจาดำเนินไปอย่างคงที่จนกระทั่ง ค.ศ. 1985 และยังคงดำเนินเรื่อยมานับแต่นั้น เงินที่ส่งกลับมาจากชาวโตราจาโพ้นถิ่นเข้ามามีบทบาทสำคัญภายในเศรษฐกิจร่วมสมัย

การท่องเที่ยวเริ่มมีขึ้นในตานาโตราจาในคริสต์ทศวรรษ 1970 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในคริสต์ทศวรรษ 1980 ถึง 1990 ระหว่าง ค.ศ. 1984 ถึง 1997 ชาวโตราจาจำนวนมากมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว จากการเป็นลูกจ้างหรือเจ้าของโรงแรม มัคคุเทศก์ คนขับรถ หรือคนขายของที่ระลึก ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางศาสนาในพื้นที่อื่น ๆ ของซูลาเวซีส่งผลให้การท่องเที่ยวในตานาโตราจาลดลงอย่างมาก โตราจายังคงเป็นที่รู้จักดีในฐานะต้นกำเนิดแห่งหนึ่งของกาแฟอินโดนีเซียซึ่งมีการปลูกตั้งแต่ในไร่ขนาดเล็กไปจนถึงไร่ขนาดใหญ่ ถึงแม้การย้ายถิ่นออกของชาวโตราจาจะยังคงดำเนินอยู่ แต่สำหรับครัวเรือนส่วนใหญ่รวมทั้งครัวเรือนในพื้นที่ชนบทแล้ว เงินส่งกลับและรายได้นอกเหนือจากภาคการเกษตรก็ยังถือว่ามีความสำคัญกว่ามาก

การท่องเที่ยวและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

 
หมู่บ้านเกะเตะเกซุ สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่รัฐบาลจังหวัดกำหนดไว้

ก่อนคริสต์ทศวรรษ 1970 โตราจาแทบไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการท่องเที่ยวจากโลกตะวันตก ใน ค.ศ. 1971 มีชาวยุโรปประมาณ 50 คนเดินทางมายังตานาโตราจา ใน ค.ศ. 1972 มีผู้เดินทางมาอย่างน้อย 400 คนเพื่อเข้าร่วมพิธีศพของปูวังแห่งซังกัลลา (Puang of Sangalla) บุคคลชั้นสูงที่สุดในตานาโตราจาซึ่งกล่าวขานกันว่าเป็น "บุคคลชั้นสูงโตราจาเลือดบริสุทธิ์คนสุดท้าย" เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ได้บันทึกภาพพิธีศพของเขาไว้และนำไปแพร่ภาพในประเทศยุโรปหลายประเทศ ใน ค.ศ. 1976 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 12,000 คนเดินทางมายังตานาโตราจา และใน ค.ศ. 1981 ประติมากรรมโตราจาได้รับการจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ใหญ่ ๆ ในอเมริกาเหนือ "ดินแดนโลกบาลตานาโตราจา" ดังที่ระบุไว้ในแผ่นพับของนิทรรศการได้เริ่มเปิดรับโลกภายนอก

ใน ค.ศ. 1984 กระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซียประกาศให้อำเภอตานาโตราจาเป็น "ตัวชูโรง" (prima donna) ของจังหวัดซูลาเวซีใต้ ตานาโตราจาได้รับการประกาศยกย่องให้เป็น "จุดหมายที่สองต่อจากบาหลี" การท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อถึง ค.ศ. 1985 มีชาวต่างชาติรวม 150,000 คนที่ได้เดินทางมายังตานาโตราจา (นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวจากในประเทศอีก 80,000 คน) และยอดนักท่องเที่ยวรายปีได้รับการบันทึกไว้ที่ 40,000 คนใน ค.ศ. 1989 แผงขายของที่ระลึกเกิดขึ้นจำนวนมากในรันเตปาโอ (Rantepao) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของโตราจา ถนนถูกปิดบริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้เยี่ยมเยียนมากที่สุด โรงแรมและร้านอาหารที่เน้นรับนักท่องเที่ยวเปิดตัวขึ้นมากมาย ทางขึ้นลงเครื่องบินแห่งหนึ่งเปิดให้บริการในตานาโตราจาเมื่อ ค.ศ. 1981

นักพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้ทำการตลาดตานาโตราจาเป็นการผจญภัยแปลกถิ่น ในฐานะพื้นที่ที่รุ่มรวยวัฒนธรรมบนเส้นทางที่ไม่​เป็นที่คุ้นเคย นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกคาดหวังที่จะได้เห็นหมู่บ้านแบบยุคหินและพิธีกรรมนอกรีต โตราจานั้นมีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไกลถึงบาหลีและยังต้องการที่จะเห็นเกาะอื่น ๆ ที่มีความดิบเถื่อนและ "ยังไม่ถูกแตะต้อง" อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะได้พบชาวโตราจาที่สวมหมวกกับกางเกงยีนส์และอาศัยอยู่ในสังคมแบบคริสต์เสียมากกว่า นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของตงโกนันและพิธีกรรมโตราจาอื่น ๆ ถูกปรุงแต่งไว้ล่วงหน้าเพื่อหากำไร และตำหนิว่าจุดหมายปลายทางนี้ถูกทำเป็นธุรกิจมากเกินไป สิ่งนี้นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันหลายครั้งระหว่างชาวโตราจากับผู้พัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งชาวโตราจามองว่าเป็นคนนอก

การกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้นำท้องถิ่นโตราจากับรัฐบาลจังหวัดซูลาเวซีใต้ (ในฐานะผู้พัฒนาการท่องเที่ยว) ปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1985 รัฐบาลจังหวัดได้กำหนดให้หมู่บ้านโตราจาและสถานที่ฝังศพจำนวน 18 แห่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้จึงมีการออกข้อจำกัดการใช้ที่ดินในพื้นที่เหล่านั้นจนกระทั่งแม้แต่ชาวโตราจาเองยังถูกห้ามเปลี่ยนแปลงตงโกนันและสถานที่ฝังศพของบรรพชน แผนนี้ถูกผู้นำชาวโตราจาบางส่วนต่อต้านเนื่องจากมองว่าพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมของตนกำลังถูกคนนอกเข้ามากะเกณฑ์ ส่งผลให้ใน ค.ศ. 1987 หมู่บ้านเกะเตะเกซุ (Ke'te' Kesu') และสถานที่ท่องเที่ยวที่รัฐกำหนดไว้ต่างปิดประตูไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การปิดนี้ดำเนินไปเพียงไม่กี่วันเนื่องจากชาวบ้านพบว่ารายได้จากการขายของที่ระลึกมีส่วนสำคัญต่อความเป็นอยู่ของตน

นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังได้ทำให้สังคมโตราจาเปลี่ยนโฉมไป แต่เดิมมีพิธีที่อนุญาตให้สามัญชนแต่งงานกับชนชั้นสูง (ปูวัง) เพื่อที่ลูกหลานจะได้รับสถานะชนชั้นสูงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของสังคมโตราจาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว (บ่อยครั้งจากมัคคุเทศก์ที่เป็น "ชนชั้นล่าง") ได้กัดกร่อนระบบลำดับชั้นทางสังคมที่เข้มงวดนี้ สถานะสูงในตานาโตราจาไม่ได้รับความเคารพอย่างที่เคยเป็นมา ชายหลายคนที่มีลำดับชนชั้นต่ำกว่าสามารถประกาศตนและลูกหลานของตนเป็นชนชั้นสูงได้ด้วยการสั่งสมความมั่งคั่งให้มากพอจากการทำงานนอกพื้นที่ แล้วแต่งงานกับหญิงชั้นสูง

อ้างอิง

  1. (ภาษาอินโดนีเซีย). คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ May 29, 2006. สืบค้นเมื่อ 2006-10-04.
  2. Zainuddin Hamka (2009). Corak pemikiran keagamaan Gurutta H. Muh. As'ad Al-Bugisi. Departemen Agama RI, Badan Litbang dan Diklat, Puslitbang Lektur Keagamaan. p. 103. ISBN 978-60-287-6601-2.
  3. Sugihandari (February 24, 2009). . คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ June 20, 2013.
  4. ชาวบูกิซและชาวมากัซซาร์อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งรอบดินแดนของชาวโตราจา อันที่จริง กลุ่มชนชายฝั่งเหล่านี้เป็นผู้คิดศัพท์ โตราจา เพื่อใช้เรียกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาอันโดดเดี่ยว
  5. Nooy-Palm, Hetty (1975). "Introduction to the Sa'dan People and their Country". Archipel. 15: 163–192.
  6. Adams, Kathleen M. (January 31, 1990). . Cultural Survival Quarterly. 14 (1). คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ September 27, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  7. Adams, Kathleen M. (1995). "Making-Up the Toraja? The Appropriate of Tourism, Anthropology, and Museums for Politics in Upland Sulawesi, Indonesia". Ethnology. 34 (2): 143–153. doi:10.2307/3774103. JSTOR 3774103.
  8. Adams (2006)
  9. Sutton, R. Anderson (1995). "Performing arts and cultural politics in South Sulawesi" (PDF). Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 151 (4): 672–699. doi:10.1163/22134379-90003034.
  10. Volkman, Toby Alice (February 1990). "Visions and Revisions: Toraja Culture and the Tourist Gaze". American Ethnologist. 17 (1): 91–110. doi:10.1525/ae.1990.17.1.02a00060. JSTOR 645254.
  11. Schrauwers, Albert (1997). "Houses, hierarchy, headhunting and exchange; Rethinking political relations in the Southeast Asian realm of Luwu'" (PDF). Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 153 (3): 356–380. doi:10.1163/22134379-90003928. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  12. cf. Kis-Jovak et al. (1988), Ch. 2, Hetty Nooy-Palm, The World of Toraja, pp. 12–18.
  13. Ngelow, Zakaria J. (Summer 2004). (PDF). Inter-Religio. 45. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2007-06-20. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  14. Volkman, Toby Alice (December 31, 1983). "A View from the Mountains". Cultural Survival Quarterly. 7 (4). สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  15. Yang, Heriyanto (August 2005). "The history and legal position of Confucianism in postindependence Indonesia" (PDF). Marburg Journal of Religion. 10 (1). สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  16. Waterson, Roxana (1986). "The ideology and terminology of kinship among the Sa'dan Toraja" (PDF). Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 142 (1): 87–112. doi:10.1163/22134379-90003370. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  17. Waterson, Roxana (1995). "Houses, graves and the limits of kinship groupings among the Sa'dan Toraja" (PDF). Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 151 (2): 194–217. doi:10.1163/22134379-90003046. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  18. Volkman, Toby Alice (1984). "Great Performances: Toraja Cultural Identity in the 1970s". American Ethnologist. 11 (1): 152–169. doi:10.1525/ae.1984.11.1.02a00090. JSTOR 644360.
  19. Wellenkamp, Jane C. (1988). "Order and Disorder in Toraja Thought and Ritual". Ethnology. 27 (3): 311–326. doi:10.2307/3773523. JSTOR 3773523.
  20. This Toraja myth was directly translated from the history of Toraja at the official Tana Toraja website toraja.go.id, retrieved on 2007-05-18. พฤษภาคม 20, 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  21. . Overview of World Religion. St. Martin College, UK. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2006-10-06. สืบค้นเมื่อ 2006-09-06.
  22. The death rituals are known as "smoke-descending" rituals, while the life rituals are "smoke-ascending" rituals; cf. Wellenkamp (1988).
  23. . Ladybamboo Foundation. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2009-07-27. สืบค้นเมื่อ 2009-09-04.
  24. Palmer, Miquel Alberti (2006). . Third International Conference on Ethnomathematics: Cultural Connections and Mathematical Manipulations. Auckland, New Zealand: University of Auckland. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (doc) เมื่อ June 20, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  25. Sande, J.S. (1989). . Ujung Pandang. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2010-02-02. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  26. In the present day, when tourism is the main income of the Torajans, funeral feasts have been held by non-noble rich families, mainly performed as tourist attractions. Volkman (1982) called this phenomenon a death funeral inflation.
  27. Jane C. Wellenkamp (August 1988). "Notions of Grief and Catharsis among the Toraja". American Ethnologist. 15 (3): 486–500. doi:10.1525/ae.1988.15.3.02a00050. JSTOR 645753.
  28. In 1992, the most powerful Torajan, the former chief of Tana Toraja Regency, died, and his family asked US$125,000 of a Japanese TV company as a license fee to film the funeral. Cf. Yamashita (1994).
  29. Hollan, Douglas (December 1995). "To the Afterworld and Back: Mourning and Dreams of the Dead among the Toraja". Ethos. 23 (4): 424–436. doi:10.1525/eth.1995.23.4.02a00030. JSTOR 640296.
  30. Yamashita, Shinji (October 1994). "Manipulating Ethnic Tradition: The Funeral Ceremony, Tourism, and Television among the Toraja of Sulawesi". Indonesia. 58 (58): 69–82. doi:10.2307/3351103. hdl:1813/54044. JSTOR 3351103.
  31. incito tour 2012-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน PT. INCITO PRIMA - Re: Funeral Ceremony in Toraja - Authorised by: Department of Law and Human Rights of Republic of Indonesia
  32. Tau tau have been targeted by grave robbers for antique collectors. On several occasions, a stolen tau tau effigy has appeared in an exhibition show; for instance, at the Brooklyn Museum in 1981 and at the Arnold Herstand Gallery in New York in 1984. Cf. Volkman (1990).
  33. . Amazingnotes.com. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 3 September 2012. สืบค้นเมื่อ 26 August 2012.
  34. "Toraja Dances". www.batusura.de. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02.
  35. "Toraja Music". www.batusura.de. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02.
  36. VERHANDLINGEN VAN HET KONINKLIJK INSTITUUT VOOR TAAL-, LAND- EN VOLKENKUNDE, 229 = Kees Buijs : Powers of Blessing from the Wilderness and from Heaven. KITLV Pr, Leiden, 2006. p. 140
  37. Gordon, Raymond G. (2005). . Dallas, Tex.: SIL International. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (online version) เมื่อ 2001-10-05. สืบค้นเมื่อ 2006-10-17.
  38. cf. Volkman (1983).
  39. Bigalke, T.W. (2005). Tana Toraja: a social history of an Indonesian people. Singapore: Singapore University Press.
  40. Neilson, Jeff (2007). "Institutions, the governance of quality and on-farm value retention for Indonesian specialty coffee". Singapore Journal of Tropical Geography. 28 (2): 188–204. doi:10.1111/j.1467-9493.2007.00290.x.
  41. cf. Volkman (1990).
  42. Neilson, Jeff; Shonk, Felicity (2014). "Chained to Development? Livelihoods and global value chains in the coffee-producing Toraja region of Indonesia". Australian Geographer. 45 (3): 269–288. doi:10.1080/00049182.2014.929998. S2CID 154566205.
  43. Volkman, Toby (July 31, 1982). . Cultural Survival Quarterly. 6 (3). คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ September 27, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.

บรรณานุกรม

  • Adams, Kathleen M. (2006). Art as Politics: Re-crafting Identities, Tourism and Power in Tana Toraja, Indonesia. Honolulu: University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-3072-4.
  • Bigalke, Terance (2005). Tana Toraja: A Social History of an Indonesian People. Singapore: KITLV Press. ISBN 978-9971-69-318-3.
  • Kis-Jovak, J.I.; Nooy-Palm, H.; Schefold, R.; Schulz-Dornburg, U. (1988). Banua Toraja : changing patterns in architecture and symbolism among the Sa'dan Toraja, Sulawesi, Indonesia. Amsterdam: Royal Tropical Institute. ISBN 978-90-6832-207-1. Unknown parameter |name-list-style= ignored (help)
  • Nooy-Palm, Hetty (1988). The Sa'dan-Toraja: A Study of Their Social Life and Religion. The Hague: Martinus Nijhoff. ISBN 978-90-247-2274-7.

อ่านเพิ่ม

  • Barley, Nigel (2013). Toraja: Misadventures of an Anthropologist in Sulawesi, Indonesia, Singapore: Monsoon Books. ISBN 978-981-4423-46-5; ebook 978-981-4423-47-2.
  • Buijs, Kees (2006). Powers of blessing from the wilderness and from heaven. Structure and transformations in the religion of the Toraja in the Mamasa area of South Sulawesi. Leiden: KITLV.
  • Hollan, Douglas W.; Wellenkamp, Jane C. (1996). The Thread of Life: Toraja Reflections on the Life Cycle. Honolulu: University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-1839-5. Unknown parameter |name-list-style= ignored (help)
  • Parinding, Samban C.; Achjadi, Judi (1988). Toraja: Indonesia's Mountain Eden. Singapore: Time Edition. ISBN 978-981-204-016-9. Unknown parameter |name-list-style= ignored (help)
  • Waterson, Roxana (2009). Paths and Rivers: Sa'dan Toraja Society in Transformation. Leiden: KITLV.
  • de Jong, Edwin B.P. (2013). Making a Living between Crises and Ceremonies in Tana Toraja: The Practice of Everyday Life of a South Sulawesi Highland Community in Indonesia. BRILL. doi:10.1163/9789004252479. ISBN 978-90-04-25247-9.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Tana Toraja Traditional Settlement - UNESCO world heritage tentative list
  • tanatorajakab.go.id - Official site for Government of Tana Toraja regency
  • Visittoraja.com - information about Toraja
  • PHOTOS: The Dead Live With Their Loved Ones On This Indonesian Island
  • Torajan people In Indonesia, graves are exhumed every three years

ชาวโตราจา, เป, นกล, มชาต, นธ, นเม, องในพ, นท, เขาแห, งหน, งของจ, งหว, ดซ, ลาเวซ, ใต, ประเทศอ, นโดน, เซ, ประชากรอย, ประมาณ, คน, ในจำนวนน, คนท, อาศ, ยอย, ในอำเภอตานาโตราจา, tana, toraja, นแดนโตราจา, ประชากรส, วนใหญ, บถ, อศาสนาคร, สต, เหล, อน, บถ, อศาสนาอ, สลามหร. chawotraca epnklumchatiphnthuphunemuxnginphunthiphuekhaaehnghnungkhxngcnghwdsulaewsiit praethsxinodniesiy miprachakrxyupraman 1 100 000 khn incanwnnimi 450 000 khnthixasyxyuinxaephxtanaotraca Tana Toraja dinaednotraca 1 prachakrswnihynbthuxsasnakhrist thiehluxnbthuxsasnaxislamhruxmikhwamechuxaebbwiyyanniymthxngthinthieriykwa xaluk aluk withithang rthbalxinodniesiyidrbrxngkhwamechuxniinchux xalukotodol Aluk To Dolo withibrrphchn chawotracaedkhyingchawotracainphithiaetngnganprachakrthnghmd1 100 000 khn 1 phumiphakhthimiprachakrxyangminysakhy xinodniesiy sulaewsiit600 000 khn 2 sulaewsitawntk179 846 khn 14 khxngprachakr 3 phasaphasaotraca sadn phasakalumpng phasamamasa phasataexa phasatalnoda phasaotxala phasathxngthin aelaphasaxinodniesiysasnasasnakhrist opretsaetnt 69 15 ormnkhathxlik 16 97 sasnaxislam 5 99 aela sasnahinduaebbotraca xalukotodol 5 99 1 klumchatiphnthuthiekiywkhxngmndar bukis makssar 4 thitngkhxngekaasulaewsiinpraethsxinodniesiy khawa otraca Toraja macaksphth otriyaca to riaja sungaeplwa khnthisung inphasabukis rthbalxananikhmdtcheriykchnklumniwachaw otraca khrngaerkinpi kh s 1909 5 chawotracaepnthiruckcakphithisphthipranit sthanthifngsphthiaekaslkekhaipinphahin banthrngtngoknnsungmihlngkhayxdaehlmihy aelanganaekaslkimsisnsdis swnphithisphkhxngchawotracaotracaepnkickrrmthangsngkhmthisakhy odythwipmiphuekharwmhlayrxykhnaelacdkhunepnewlahlaywnkxnkhriststwrrsthi 20 chawotracaxasyxyuinhmubanthimilksnapkkhrxngtnexng miphithikrrmekiywkbwiyyan aelaimkhxymikartidtxkbolkphaynxk cnkrathngtnkhristthswrrs 1900 michchnnarichawdtchidedinthangekhamainphunthiaelaonmnawihchawotracahnipnbthuxsasnakhrist emuxxaephxtanaotracaepidkwangsuolkphaynxkyingkhuninkhristthswrrs 1970 tanaotracaidklayepnsylksnxyanghnungkhxngkarthxngethiywinpraethsxinodniesiy aelathuknamaichpraoychnephuxkarphthnaechingthxngethiywaelaklayepnepahmaykarsuksainthangmanusywithya 6 inkhristthswrrs 1990 sungkarthxngethiywintanaotracamathungcudsungsud sngkhmotracaidepliynaeplngipxyangmakcaksngkhmekstrkrrmthisungchiwitthangsngkhmaelacaritpraephnimirakthancakxalukotodol ipsusngkhmthimiwthnthrrmkhristepnswnihy 7 inpccubn karthxngethiywprakxbkbemdenginthichawotracaophnthaelsngekhamamiphlthaihekidkarepliynaeplngkhrngsakhyinthisungotraca miswninkarsrangchuxesiyngkhxngotracainbrrdachnchatiphnthukhxngxinodniesiyaelasngesrimkhwamphakhphumiicinxtlksnkhxngotraca 8 enuxha 1 xtlksnchatiphnthu 2 prawtisastr 3 sngkhm 3 1 khrxbkhrw 3 2 ladbchn 3 3 sasna 4 wthnthrrm 4 1 tngoknn 4 2 nganaekaslkim 4 3 phithisph 4 4 karrayraaeladntri 4 5 mummxngtxrkrwmephs 5 phasa 6 esrsthkic 7 karthxngethiywaelakarepliynaeplngthangwthnthrrm 8 xangxing 8 1 brrnanukrm 9 xanephim 10 aehlngkhxmulxunxtlksnchatiphnthu aekikh karkxsrangbanphunemuxnginhmubanotracaaehnghnung kh s 1948 kxnkhriststwrrsthi 20 chawotracamikhwamrbrutnexngnxymakwaepnklumchatiphnthuthiaetktangaeykcakklumxun kxnkarekhamakhxngecaxananikhmdtchaelakarephyaephsasnakhrist chawthisungotracaaeykxtlksnkhxngtnodyichhmubanaelaimmikhwamrusukrwmtxxtlksninthanachawotraca aemwaphithikrrmtang casrangsaysmphnthrahwanghmubanehlani aetinaethbthisungkhxngsulaewsikyngpraktkhwamaetktangrahwanghmuban dngthisngektidinphasathin karcdladbchnthangsngkhm aelarupaebbkarprakxbphithikrrm inchwngaerkklumchnthilumichkhawa otraca macakkhawa ot sungaeplwa phukhn aelakhawa riyaca sungaeplwa thisung inbrrdaphasachayfng ephuxeriykklumchnthixyubnthisung 5 dngnnkhawa otraca inchwngnncungmithiichinhmukhninknexngnxykwaemuxethiybkbinhmukhnnxkxyangchawbukisaelachawmakssarsungepnchawthilumswnihykhxngsulaewsi phayhlngmichchnnarichawdtchedinthangekhamayngthisung naipsukarephimkhunkhxngkhwamtrahnkinxtlksnkhxngchatiphnthuotracainphumiphakhsadnotraca Sa dan Toraja aelakhwamrusuktxxtlksnrwmniketibotkhunphrxmkbkarephimkhunkhxngkarthxngethiywinxaephxtanaotraca 6 nbaetnnma cnghwdsulaewsiitcungprakxbdwyklumchatiphnthusiklumhlk idaek chawbukis chnswnihy changtxeruxaelachawerux chawmakssar khnkhakhayaelachaweruxinthilum chawmndar khnkhakhayaelachawpramng aelachawotraca khnplukkhawinthisung 9 prawtisastr aekikh nkrbchawotracacaksulaewsiitthuxhxkaelaolkntaaebbdngedim nbtngaetkhriststwrrsthi 17 chawdtchidsthapnaxanackhwbkhumthangkarkhaaelakaremuxngehnuxekaasulaewsiphanbristhxinediytawnxxkkhxngenethxraelnd epnewlakwasxngstwrrsthiekhtthisunginsulaewsitxnklang thixyuxasykhxngchawotraca imidrbkhwamsniccakchawdtch epnephraakarekhathungthiyaklabakaelathidinthithakarekstridmiimmaknk krathngemuxplaykhriststwrrsthi 19 chawdtcherimkngwlmakkhuntxkarkhyaytwkhxngsasnaxislaminsulaewsiitodyechphaainhmuchawmakssaraelachawbukis chawdtchmxngwaklumchnphunbthuxwiyyanindinaednthisungepnklumthisamarthhnmanbthuxsasnakhristid inkhristthswrrs 1920 phnthmitrmichchnnarinikayptirup Reformed Missionary Alliance khxngkhristckrptirupdtchcungerimkickarmichchnnaridwykhwamchwyehluxcakrthbalecaxananikhmdtch 10 nxkcakkarephyaephsasnakhristaelw chawdtchyngidykelikrabbthasaelabngkhbichrabbphasiinthxngthin mikarkhidesnaebngrxbphunthisadn Sa dan aelwtngchuxihwa tanaotraca inrayaaerktanaotracaepnekhtkarpkkhrxnghnungkhxngxanackrluwuphuxangsiththiehnuxphunthidngklaw 11 in kh s 1946 chawdtchidkahndihtanaotracamithanaepnekhtphusaercrachkaraethnphraxngkh regentschap aelain kh s 1957 rthbalxinodniesiyidrbrxngihepnxaephx kabupaten hnungkhxngpraeths 10 michchnnarichawdtchinyukhaerktxngephchiykbkartxtanxyangaekhngkhncakchawotraca odyechphaacakklumkhnchnnasungimphxicthitntxngsuyesiyphlpraoychncakkarykelikkarkhathas 12 khawotracabangswnthukchawdtchbngkhbihyaylngipxasyinthilumephuxcakhwbkhumchnklumniidngaykhun mikarekbphasiinxtrasungephuxbxnthalaykhwammngkhngkhxngklumkhnchnna aetthaythisudxiththiphlkhxngchawdtchimsamarththaihwthnthrrmotracaxxnaexlngid aelamichawotracaephiyngcanwnnxyethannthiepliynsasna 13 in kh s 1950 miprachakrotracaephiyngrxyla 10 thiepliynipnbthuxsasnakhrist 12 inkhristthswrrs 1930 chawmuslimcakthilumekhaocmtichawotraca sngphlihekidkarepliynsasnaepnkhristkhrngihyinbrrdaphuthiesaahaphnthmitrchawdtchephuxrbkarkhumkhrxngthangkaremuxngaelaephuxcdtngkhbwnkartxtanchawmuslimbukisaelamakssar rahwang kh s 1951 thung 1965 hlngpraethsxinodniesiyidrbexkrach sulaewsiittxngephchiykbchwngewlaxnxlhmanemuxklumaebngaeykdinaedndarulxislamtxsuephuxcdtngrthxislamkhuninsulaewsi chwngewla 15 pikhxngkarrbaebbkxngocrinphunthiidnaipsukarepliynipnbthuxsasnakhristkhrngihyinhmuchawotraca 14 xyangirktam karekharwmepnphnthmitrkbrthbalxinodniesiyimsamarthrbpraknkhwamplxdphyihaekchawotracaid in kh s 1965 kvsdikacakprathanathibdikahndihphlemuxngxinodniesiythukkhntxngnbthuxsasnaidsasnahnunginhasasnathirthihkarrbrxngxyangepnthangkar idaek sasnaxislam sasnakhrist opretsaetntaelakhathxlik sasnahindu aelasasnaphuththethann 15 khwamechuxthxngthinkhxngotraca xaluk imidrbkarrbrxngthangkdhmay chawotracaidaesdngkhwamehntxtankdhmaydngklaw in kh s 1969 xalukotodol withibrrphchn idrbkarthaihthukkdhmayinthananikayhnungkhxngxakhmhinduthrrm chuxthangkarkhxngsasnahinduinpraethsxinodniesiy 10 sngkhm aekikhkhrxbkhrw aekikh phuethachawotracainchudphunemuxngkhnarwmtwkninngansph eduxnminakhm kh s 2014 khrxbkhrwepnklumthangsngkhmaelakaremuxngradbpthmphumiinsngkhmotraca hmubanhnunghmubanthuxepnkhrxbkhrwkhyayhnungkhrxbkhrwodymisunyklangxyuthitngoknnhruxbanotracaaebbdngedim tngoknnaetlaaehngcamichuxepnkhxngtnexngsungichepnchuxkhxnghmubandwy phunakhrxbkhrwmihnathiduaelrksakhwamepnnahnungicediywknkhxnghmuban karsmrsrahwangyatihang yatitngaetladbthisikhunip epnthrrmeniymptibtiodythwipthisrangkhwamaennaefninekhruxyati sngkhmotracahamkaraetngnganrahwangyatiiklchid yatitngaetladbthisamlngma ykewnaetinchnchnsungephuxpxngknimihthrphysmbtikracdkracay 16 ekhruxyatimikhwamsmphnthinlksnatangtxbaethnxyangsmaesmx hmaykhwamwakhrxbkhrwkhyaycachwyknaelaknthaekstr epnecakhxngrwmkhxngkhwaythiichinphithikrrm aelachwykncayhnisinkhxngsmachikinkhrxbkhrwbukhkhlaetlakhnepnkhxngthngkhrxbkhrwfngaemaelaphx thuxepnsaytrakulaebbnbyatisxngkhangephiyngsayediywinpraethsxinodniesiy 17 dngnn luk cungsubthxdpharaphukphninkhrweruxncakthngaemaelaphx rwmthungthidinaelahnikhxngkhrxbkhrwdwy swnchuxkhxngluktngtamchuxinekhruxyati odythwipmkeluxkmacakyatithitayipaelw chuxkhxngpa lung hruxyatikhnxun mkthuknamaichinchuxkhxngaem phx aelaphinxngkxnkarerimtnrabbkarpkkhrxnghmubanotracaxyangepnthangkarodyxaephxtanaotraca hmubanotracaaetlahmubanekhypkkhrxngtnexngmakxn insthankarnxnsbsxnthikhrxbkhrwotracakhrxbkhrwhnung imsamarthrbmuxkbpyhannidephiynglaphng hmubanhlayhmubancarwmtwknepnklum aelainbangkhrnghmubanklumhnungxacrwmtwkntxtanhmubanklumxun khwamsmphnthrahwangkhrxbkhrwtang aesdngxxkphanthangsayeluxd karaetngngan aelabanbrrphchnthixasyrwmkn tngoknn khwamsmphnthnicayunyninthangptibtiphankaraelkepliynkhwayaelahmuinphithikrrmtang karaelkepliyndngklawimephiyngaetsrangkhwamphukphnthangkaremuxngaelawthnthrrmrahwangkhrxbkhrwethann aetyngepnkarkahndtaaehnngkhxngaetlabukhkhlinladbchnthangsngkhmdwy echn inphithikrrm miphumihnathiethnatalema phumihnathihxsphaelaetriymekhruxngthway cudthibukhkhlhnung nngidhruxnngimid canxaharidthikhwrichhruxkhwreliyng hruxaemaetswnkhxngenuxstwthibukhkhlhnung caidrb 18 ladbchn aekikh khwayephuxkaelaekhathipradbepnsithxng insngkhmotracayukherimaerk khwamsmphnthinkhrxbkhrwnnekiywkhxngxyangiklchidkbladbchnthangsngkhm sngkhmprakxbdwysamchwngchn idaek chnchnsung samychn aelathas rabbthasthukykelikipin kh s 1909 odyrthbalhmuekaaxinediytawnxxkkhxngenethxraelnd chnchnthangsngkhmcasubthxdphanaem dngnncungmikhxhamaetngngan lnglang iphahyingchntakwa inkhnathikaraetngngankbhyingchnsungkwacachwyykradbthangsngkhmkhxngrunthdipid thsnkhtikarthuxtwehnuxchnchnxunkhxngchnchnsungyngkhngpraktxyuinpccubndwyehtuphleruxngskdisrikhxngtrakul 7 chnchnsungsungechuxknwaepnthayathsaytrngcakphuthisubechuxsaymacakswrrkh 19 xasyintngoknn inkhnathisamychnxasyinbanthimilksnaeriybngaykwa epnbanthisrangcakimiph eriykwa banuwa swnthasxasyinkrathxmsungtxngsrangkhunrxb tngoknnkhxngecakhxngthas samychnsamarthaetngngankbikhrkid aetchnchnsungniymaetngnganknintrakulmakkwaephuxkhngsthanathangsngkhmkhxngtrakuliw bangkhrngchnchnsungxacaetngngankbchnchnsungchawbukishruxchawmakssar nxkcakni samychnaelathasyngthukhamimihcdnganchlxnginphithiekiywkbkhwamtay aemcamikhwamiklchidthangekhruxyatiaelakarsubthxdsthanathangsngkhm aetinsngkhmotracakyngmikarepliynsthanathangsngkhmenuxngcakkaraetngnganhruxkarepliynaeplngdanthrphysinxacsngphlkrathbtxsthanakhxngaetlabukhkhlid 16 khwammngkhngnnnbkncakcanwnkhwaythimiinsmythiyngmithasnn thasinsngkhmotracaepnthrphysinkhxngkhrxbkhrw bangkhrngchawotracatdsinicmaepnthasodykhxthanganchdichhni thassamarththukyudkhrxngidrahwangsngkhramaelakarkhathaskepneruxngpkti thassamarthsuxxisrphaphkhxngtnid aetlukyngkhngsubthxdsthanathastxip thascathukhamswmisthxngaednghruxthxng aekaslkbankhxngtn kinxaharodyichcanediywkbecakhxng hruxmiephssmphnthkbhyingthiepnithsungthuxepnkarkrathakhwamphidthimiothspraharchiwit sasna aekikh nkbwchotracainrahwangethskalhnung rabbkhwamechuxphunephdngedimkhxngchawotracamilksnaepnlththiwiyyanniymaebbphhuethwniym eriykwa xaluk hrux withithang bangkhrngaeplwa kd tamkhwamechuxprmpraotraca brrphchnkhxngchawotracalngmacakswrrkhodyichbnidsungtxmachawotracaidichepnsuxklanginkartidtxkb puwngmatuwa Puang Matua sungepnphraphusrang 20 ckrwalaebngxxkepnolkkhangbn swrrkh olkmnusy olk aelaolkkhangit 12 intxnaerk swrrkhaelaolkidaetngngankn caknncungbngekidkhwammud karaebngaeyk aelaaesnginthisud stwxasyxyuinolkkhangitsungaethndwyphunthisiehliymphunphalxmrxbdwyesa olkmiiwsahrbmnusychati aelaolkswrrkhtngxyudanbn pkkhlumdwyhlngkhathrngxanma ethphecakhxngotracaxngkhxun idaek pngbngikdirnet Pong Banggai di Rante ethphaehngolk xinodaoxngn oxngn Indo Ongon Ongon ethwiphusamarthkxaephndinihw pnglalndng Pong Lalondong ethphaehngkhwamtay aela xinodaeboltumbng Indo Belo Tumbang ethwiaehngkaraephthy epntn 21 phumixanacthangolkeriykwa otminaxa to minaa nkbwchkhxngxaluk khaphudaelakarkrathakhxng otminaxa aeykxxkepndanchiwit ekstrkrrm aeladankhwamtay phithisph xalukimidepnephiyngrabbkhwamechux aetepnkarphsmphsanrahwangkdhmay sasna aelakhwampraphvti xalukmixanacehnuxchiwitthangsngkhm ekstrkrrm aelaphithiekiywenuxngkbbrrphchn raylaexiydkhxngxalukxacaetktangkniptamhmuban aetkdthwipkdhnungkhuxkaraeykphithiekiywkbchiwitaelaphithiekiywkbkhwamtayxxkcakkn dwykhwamechuxwaphithiekiywkbkhwamtayxacthalaysphidhaknamaptibtirwmkbphithiekiywkbchiwit 22 phithithngsxngmikhwamsakhyethaethiymkn insmykhxngmichchnnarichawdtch chawotracathinbthuxsasnakhristthukhamekharwmhruxprakxbphithiekiywkbchiwit aetyngidrbxnuyatihprakxbphithiekiywkbkhwamtay 13 sngphlihinpccubnyngkhngmikarptibtiphithiekiywkbkhwamtayxyuthwip inkhnathikarptibtiphithiekiywkbchiwitminxylngwthnthrrm aekikhtngoknn aekikh dubthkhwamhlkthi tngoknn thnbtr 5 000 rupiyah aesdngphaphtngoknn xakharthithakarfaybriharinrnetpaox srangdwyhlngkhaaebbtngoknn bankhxngbrrphchnaebbdngedimkhxngchawotracaeriykwatngoknn tongkonan tngxyusungtrahnganbnkxngim mihlngkhaimiphaeykchninrupthrngokhngaexn aelaminganaekaslkimphrxmrxybaksiaedng da hruxehluxngpradbbnphnngdannxk khawa tngoknn macakkhainphasaotracawa tngkn tongkon sungaeplwa nng tngoknnepnsunyklangkhxngchiwitthangsngkhmotraca phithikrrmthiekiywkhxngkbtngoknnlwnepnkaraesdngxxkthisakhykhxngchiwitthangcitwiyyanotraca channsmachikthnghmdinkhrxbkhrwcungthukphlkdnihekharwm enuxngcakinthangsylksnnn tngoknnepntwaethnkhwamechuxmoyngsubrrphchn ekhruxyatithimichiwitxyu aelaekhruxyatiinxnakht 8 18 tamtanankhxngchawotraca tngoknnhlngaerksrangkhunbnswrrkh miesasiesarxngrb hlngkhathamacakphaxinediy emuxbrrphchnkhxngotracakhnaerkedinthanglngmayngolk ekhaidsrangbankhunodyeliynaebbcakbanbnswrrkhaelacdphithichlxngkhrngihy 23 karkxsrangtngoknnepnnganhnkaelamktxngxasykhwamchwyehluxkhxngkhninkhrxbkhrwkhyay tngoknnaebngxxkepnsamchnidkhux tngoknnlayuk tongkonan layuk bankhxngphumixanacsungsudaelaichepn sunyklangkarpkkhrxngaelabrihar swn tngoknnepkmebrn tongkonan pekamberan epnkhxngsmachikinkhrxbkhrwthiyngkhngmixanacbangxyangtamthrrmeniymthxngthin swnsmachikinkhrxbkhrwsamychncaxasyxyuin tngoknnbatu tongkonan batu xyangirktam siththikhadkhxngchnchnsungotracainkarsrangtngoknnkhnadihykalngldnxylng enuxngcaksamychnotracacanwnmaksamarthhanganthimikhatxbaethndiidcakswnxun khxngxinodniesiy emuxphwkekhasngenginklbmaihkhrxbkhrw phwkekhaksrangtngoknnthimikhnadihykhunthng thiepnsamychntamkhnb nganaekaslkim aekikh chawotracaaekaslkimephuxbxkelaaenwkhidthangsasnaaelasngkhm nganaekaslkimnneriykwa paxssura Pa ssura nganekhiyn nganaekaslkimcungepnkaraesdngxxkthangwthnthrrmrupaebbhnungkhxngchawotracanganaekaslkaetlachinmichuxechphaaepnkhxngtwexng layaembththiniymaekaslkkhuxstwaelaphuchsungepnsylksnkhxngkhunthrrmbangxyang echn phuchnaaelastwnaxyangpu lukxxd aelawchphuchnaodythwipmkichepnsylksnaethnkhwamxudmsmburn inbangphunthi phuxawuosthiepnchnchnsungxangwasylksnehlaniepnsylksnkhxngkhwamaekhngaekrngkhxngkhrxbkhrwchnsung aetimichthukkhnthicaehndwy khwamhmayodyrwmkhxngklumlayaembththiaekaslkkntambaneruxnyngkhngepnthithkethiyngknxyu 8 aelakarthxngethiywyingthaihkarthkethiyngnisbsxnkhunipxikephraabangkhnrusukwakhwrmikhaxthibayephiyngaebbediywihaeknkthxngethiyw 8 nganaekaslkimotracaprakxbdwyaephngrupsiehliymcturscanwnmak aetlaaephngxacepntwaethnthungsingtang echn rupkhwayepntwaethnkhxngkhwamprarthnathungkhwammngkhngsahrbkhrxbkhrw rupklxngaelaenguxnepnsylksnaethnkhwamhwngwalukhlanthukkhninkhrxbkhrwcamikhwamsukhaelaxyurwmknxyangklmekliyw rupstwnabngbxkkhwamtxngkarnganhnkaelaerwxyangkarekhluxnthiipbnphiwnakhwamsmaesmxaelakhwamepnraebiybepnlksnathiphbidthwipinnganaekaslkimkhxngotraca duephimintarangdanlang echnediywkbnganxxkaebbaenwnamthrrmaelaruprangerkhakhnit thrrmchatimkthuknamaichepnphunthankhxngkartkaetngaebbotracaephraathrrmchatietmipdwynynamthrrmaelarupthrngerkhakhnitthimikhwamsmaesmxaelakarcdraebiybintw 24 khxngtkaetngkhxngotracaidrbkarsuksainthangkhnitsastrchatiphnthuwrrnnaephuxthakhwamekhaicokhrngsrangthangkhnitsastrkhxngmn xyangirktam chawotracawangrakthannganehlanikhunmacakkarpramanethann 24 inkarthakhxngtkaetng mikarnaaethngimiphmaichepnekhruxngmuxerkhakhnit lwdlayotracabangswn paetdng khway pabarerxlol phraxathitysxngaesng paeraopasanguba etnxyukhnediyw enalimobngn nkxxkaebbintanan phaphrasetxrmacak 25 phithisph aekikh phithisphkhnaaebkhamolngsphsungthaepnrupeliynaebbtngoknn insngkhmotraca phithisphepnphithithipranitaelamikhaichcaysungthisud yingbukhkhlmixanacaelakhwamrarwymakethaid phithisphkyingmikhaichcaymakkhunethann insasnaxalukmiephiyngchnchnsungethannthimisiththicdnganchlxngxyangxlngkarinphithisph 26 nganchlxnginphithisphkhxngchnchnsungmkmiphuekharwmhlayphnkhnaelakinewlahlaywn sthanthicdphithikrrmeriykwa rnet rante sungmkepnthunghyaolngkwang aelakhrxbkhrwkhxngphutaycasrangthiphkphingsahrbphuekharwm yungchang aelasingkxsranginphithisphxun epnkarechphaa dntrikhluy bthswdsph ephlngaelabthkwi aelakarrxngihkhrakhrwyepnkaraesdngxxkthungkhwamesraosktamaebbchbbkhxngchawotraca ykewnephiynginphithisphkhxngedkelkhruxphuihythiyakcnaelaimmisthanathangsngkhmsung 27 phithisphxaccdkhunepnewlahlayspdah hlayeduxn hruxaemkrathnghlaypihlngkartayephuxihkhrxbkhrwkhxngphutaysamarthrwbrwmthunsahrbcaykhaphithisphid 28 chawotracamikhwamechuxtamthrrmeniymwakartayimichkhntxnthiekidkhunxyangkathnhnhruxchbphln aetepnkrabwnkarxyangkhxyepnkhxyipsu puya Puya dinaednaehngwiyyanhruxchiwithlngkhwamtay inchwngthirxxyunn rangkhxngphutaycathukhxdwyphahlaychnaelaekbiwittngoknn echuxknwawiyyankhxngphutaycawnewiynxyuinhmubancnkwaphithisphcaesrcsmburn aelwcungerimxxkedinthangsupuya 29 sthanthifngsphthiaekaslkcakphahin taxutaxu hunphynt thukwangiwodyihhnhnaxxkmayngphunthikhxnghmuban xngkhprakxbxikxyanghnungkhxngphithisphkhuxkarkhakhway yingkhntaymixanacmakethaid khwaythithukkharahwangnganchlxnginphithisphkyingmicanwnmakkhunethann sakaelahwkhwaymkthuknamaeriyngknbnlanephuxrxkhxyecakhxng phutay sungkalngxyuin rayahlbihl chawotracaechuxwaphutaycaichkhwayehlanixxkedinthangaelacasamarthedinthangipthungpuyaiderwkhunhakmikhwaycanwnmak karkhakhwayhlaysibtwaelahmuhlayrxytwodyichmidphrathuxepncudsungsudkhxngnganchlxngxnpranit phrxmknnnyngmikaretnraprakxbdntriaelamiedkphuchaykhxyrxngeluxdthikraesniskrabxkimiphyaw stwbangswnthithukkhaidmacakphuekharwmphithiinthana khxngkhwy thiidrbkhwamisicepnxyangdiephraacathuxwaepnhnikhxngkhrxbkhrwphutay 30 xyangirktam karchnik bulangan londong kepnswnsakhyxikswnhnungkhxngphithikrrmaelamikhwamskdisiththiechnediywkbkarkhahmuaelakhwayephraaekiywkhxngkbkarthieluxdhydlngbnaephndin tamthrrmeniymkahndiwwatxngmikarsngewyikxyangnxy 3 tw xyangirktam karchnikxyangnxy 25 khukthuxepneruxngpktiinbribthkhxngphithisph 31 chawotracakhnaprakxbphithi maenen ihkbrangphutaysxngrang karfngsphmixyusamwithi odyxacwangolngsphiwintha wanginthifngsphhinaekaslk hruxaekhwniwtamhnapha inkarfngsphcamikarbrrcukhawkhxngthiphutaycatxngichinolkhlngkhwamtay sphkhxngphumngkhngmkcaidrbkarfnginthifngsphthiaekaslkcakphahin thifngaebbnimkmikhaichcaysungaelaichewlahlayeduxnkwacasrangesrc inbangphunthixacichthahinthimikhnadihyphxthicarxngrbkhrxbkhrwhnungid hunphyntaekaslkcakim eriykwa taxutaxu Tau tau mknaipwanginthaodyihhnhnaxxkmasudinaedn 32 swnolngsphkhxngtharkhruxedkxacaekhwndwyechuxkaelwhxykbhnaphahruxtnim susanaebbaekhwnehlanimkkhngxyuepnewlahlaypikwaechuxkcaesuxmslayaelasphtklngsuphunphithikrrmthieriykwa maenen Ma Nene cdkhunineduxnsinghakhmkhxngthukpi odycanarangphutayxxkmacakthifngsphephuxlangthakhwamsaxad tkaetng aelaaetngtwdwyesuxphachudihm 33 karrayraaeladntri aekikh phuaesdngkaretnraaebb paekllu Pa gellu intanaotraca chawotracaaesdngkaretnrainhlayoxkas odyechphaainrahwangphithisphxnpranit phwkekhaetnraephuxaesdngkhwamesraoskaelaephuxepnekiyrtihruxaemkrathngihkalngicaekphutaysungkalngcaxxkedinthangiklinolkhlngkhwamtay xndbaerk chayklumhnungcalxmwngrxngephlngswddwyesiyngradbediywtlxdthngkhunephuxepnekiyrtiaekphutay phithinieriykwa mabadng Ma badong 9 30 chawotracahlaykhnthuxwaniepnxngkhprakxbthisakhythisudkhxngphithi 27 inphithisphwnthisxng camikarrayrankrb marnding Ma randing ephuxsrresriykhwamklahaykhxngphutaykhnamichiwitxyu chayhlaykhnaesdngodyichdab olxnihythithacakhnngkhway ekhruxngswmsirsapradbekhakhway aelaekhruxngtkaetngxun hlngkarrayra marnding esrcsin camikhbwnaehsphxxkcakyungchangipsu rnet hruxsthanthicdphithisph rahwangphithisph hyingxawuoscaaesdngkarrayra makatiya Ma akatia inchudkhnnkyawphrxmkbrxngephlngrxykrxngipdwy karrayra makatiya mikhunephuxihphuekharwmphithiralukthungkhwamickwangaelakhwamsuxstykhxngphutay hlngesrcsinphithiechuxdhmuaelakhwayxnnxngeluxdaelw klumedkthnghyingaelachaycaaesdngkaretnraprakxbkarprbmuxthieriykwa madndn Ma dondan echnediywkbinsngkhmekstrkrrmxun chawotracacaetnraaelarxngephlnginchwngewlaekbekiywphuchphl karrayra mabuki Ma bugi epnkarechlimchlxngethskalkhxbkhunphraeca aelakarrayra makndangi Ma gandangi camikhuninkhnathichawotracakalngbdkhaw 34 mikarrayraprakxbxawuthhlayxyang echn manimbng Manimbong khxngphuchay sungtamdwy madndn Ma dandan khxngphuhying sasnaxalukyngkahndoxkasaelawithikarrayrakhxngchawotraca karrayrathieriykwa mabuwa Ma bua samarthcdkhunidthuk 12 piethann mabuwaepnphithiechlimchlxngsakhyphithihnungkhxngchawotracathisungnkbwchcaswmhwkhwayaelarayrarxbtnimskdisiththiekhruxngdntridngedimchnidhnungkhxngotracakhuxkhluyimipheriykwa pasuling Pa suling suling epnkhathiicheriykkhluyinphasaxinodniesiy khluyhkru praktinwthnthrrmxunnxkehnuxcakwthnthrrmotraca niichbrrelnginkarrayrahlayoxkas echn karrayrakhxbkhunphraeca mabnednsn Ma bondensan thisungmikaraesdngdntrikhluyprakxbkaretnrakhxngchaythiepluxythxnbnaelamielbyaw ekhruxngdntrithxngthinkhxngotracachnidxun mi paeplel Pa pelle thacakibpalm aela pakarmbi Pa karombi cxnghnxngaebbotraca ody paeplel miiwichbrrelngrahwangphithiekbekiywaelaphithikhunbanihm 35 mummxngtxrkrwmephs aekikh inhmuchawsaxadn otracatawnxxk bnekaasulaewsi mihmxphithiepnchayrkrwmephs eriykwa otburaektmoblng toburake tambolang inkhnathiklumchnkhangekhiyngxyangchawmamasa otracatawntk miephiynghmxphithiepnhyingrkephstrngkhamsungeriykwa otburaek toburake ethann 36 phasa aekikhphasakhxngklumchatiphnthuotracaphbidthwipintanaotracaodymiphasaotraca sadn Toraja Sa dan epnphasahlk thungaemwaphasaxinodniesiycaepnphasathangkaraelamiphuphudkninchumchn 1 aetorngeriynprathmsuksathukaehngintaraotracaksxnphasaotracaaekedk withphasakhxngphasaotraca echn kalumpng Kalumpang mamasa Mamasa taexa Tae talnoda Talondo otxala Toala otraca sadn epntn cdepnphasainklummlayu phxliniechiykhxngtrakulphasaxxsotrniesiyn 37 inrayaaerk lksnathangphumisastrxnoddediywkhxngtanaotracakxihekidphasathincanwnmakinbrrdaphasakhxngchawotracaexng phayhlngkarcdkarpkkhrxngtanaotracaepnrabb phasaotracathinbangphasaidrbxiththiphlcakphasaxunphanaephnkarxphyphkhamthinsungthuknamaichtngaetsmyxananikhm aelayngkhngepnpccysakhythinaipsukhwamhlakhlaykhxngphasaotracacnthungpccubn 9 withphasakhxngphasaotraca chux rhsixexsox 639 3 prachakr khxmulcakpi phasathinkalumpng kli 12 000 khn 1991 karataxun mbelxi mngki exada obenhaxu tada mamasa mqj 100 000 khn 1991 mamasaehnux mamasaklang pttaexa mamasait pttabinuwng binuwng taexa binuwng paki baettanga xnetxapi taexa rob 250 000 khn 1992 rngkng luwutawnxxkechiyngehnux luwuit buwatalnoda tln 500 khn 1986 otxala tlz 30 000 khn 1983 otxala paliliotraca sadn sda 500 000 khn 1990 makael tlluelmbngna rnetpaox eksu otracabart otracatawntk mppa pana thima Gordon 2005 37 lksnaednxyanghnungkhxngphasaotracakhuxmonthsnekiywkbkhwamesraosk khwamsakhykhxngphithisphinwthnthrrmotracaidhlxhlxmihphasaotracamilksnathiaesdngxxkthungkhwamesraoskaelakariwxalyinradbsbsxn 27 phasaotracamisphthmakmaysahrbsuxthungkhwamesra khwamohyha khwamhdhu aelakhwamecbpwdthangcitic karklawaesdngxxkthungphlkrathbkhxngkhwamsuyesiythimitxrangkayaelaciticodyichkhacakdkhwamthichdecnepnkarpldepluxngxarmnrupaebbhnung aelabangkhrngxacchwyldthxnkhwamecbpwdcakkhwamesraoskidesrsthkic aekikh phukhnkalngthanaintanaotraca kxnthicaekhasu yukhraebiybihm khxngsuharot esrsthkickhxngchawotracamiphunthanepnekstrkrrm odymikarplukkhawaebbepiykinnakhnbnidtamladekha aelamibangthiplukmnsapahlngkbkhawophd chawotracaichewlaaelaphlngnganswnmakipkbkareliyngkhway hmu aelaik odyhlk ephuxbriophkhaelaichinphithithangsasna 38 kaaefepnphuchesrsthkicsakhychnidaerkthimikarphlitintanaotraca odymiphunaekhaipephaaplukkhrngaerkinklangkhriststwrrsthi 19 epliynrabbesrsthkicaebbthxngthinipsukarphlitophkhphnthephuxtladphaynxk aelaidrbchuxesiyngthiyxdeyiyminaengkhunphaphintladrahwangpraeths 39 hlngkarprakasichraebiybihmin kh s 1965 esrsthkickhxngxinodniesiyidphthnaaelaepidrbkarlngthuncaktangchati bristhkhiykhxffi Key Coffee cakpraethsyipunekhamathairkaaefaelatngorngngankaaefintanaotraca aelakaaefotracaklbmamichuxesiyngdankhunphaphphayinphakhswnkaaefkhdphiesssungkalngetibotinradbnanachati 40 bristhnamnaelaehmuxngaerkhamchatierimthathurkicinxinodniesiyrahwangkhristthswrrs 1970 thung 1980 chawotracaodyechphaaklumphumixayunxyoykyayipthangankbbristhtangchatiyngkalimntnephuxthanganekiywkbimaelanamn yngpapwephuxthanganehmuxng yngemuxngihy insulaewsiaelachwa aelaxikhlaykhnoykyayipyngpraethsmaelesiy karyaythinxxkkhxngchawotracadaeninipxyangkhngthicnkrathng kh s 1985 41 aelayngkhngdaenineruxymanbaetnn enginthisngklbmacakchawotracaophnthinekhamamibthbathsakhyphayinesrsthkicrwmsmy 42 karthxngethiywerimmikhunintanaotracainkhristthswrrs 1970 aelaephimkhunxyangrwderwinkhristthswrrs 1980 thung 1990 rahwang kh s 1984 thung 1997 chawotracacanwnmakmirayidcakphakhkarthxngethiyw cakkarepnlukcanghruxecakhxngorngaerm mkhkhuethsk khnkhbrth hruxkhnkhaykhxngthiraluk khwamimmnkhngthangesrsthkicaelakaremuxnginpraethsthiephimsungkhuninpraethsinchwngplaykhristthswrrs 1990 sungrwmthungkhwamkhdaeyngthangsasnainphunthixun khxngsulaewsisngphlihkarthxngethiywintanaotracaldlngxyangmak otracayngkhngepnthiruckdiinthanatnkaenidaehnghnungkhxngkaaefxinodniesiysungmikarpluktngaetinirkhnadelkipcnthungirkhnadihy thungaemkaryaythinxxkkhxngchawotracacayngkhngdaeninxyu aetsahrbkhrweruxnswnihyrwmthngkhrweruxninphunthichnbthaelw enginsngklbaelarayidnxkehnuxcakphakhkarekstrkyngthuxwamikhwamsakhykwamak 42 karthxngethiywaelakarepliynaeplngthangwthnthrrm aekikh hmubanekaetaeksu sthanthithxngethiywaehnghnungthirthbalcnghwdkahndiw kxnkhristthswrrs 1970 otracaaethbimepnthiruckinaewdwngkarthxngethiywcakolktawntk in kh s 1971 michawyuorppraman 50 khnedinthangmayngtanaotraca in kh s 1972 miphuedinthangmaxyangnxy 400 khnephuxekharwmphithisphkhxngpuwngaehngsngklla Puang of Sangalla bukhkhlchnsungthisudintanaotracasungklawkhanknwaepn bukhkhlchnsungotracaeluxdbrisuththikhnsudthay enchnaenl cioxkrafik idbnthukphaphphithisphkhxngekhaiwaelanaipaephrphaphinpraethsyuorphlaypraeths 10 in kh s 1976 minkthxngethiywpraman 12 000 khnedinthangmayngtanaotraca aelain kh s 1981 pratimakrrmotracaidrbkarcdaesdngtamphiphithphnthihy inxemrikaehnux 43 dinaednolkbaltanaotraca dngthirabuiwinaephnphbkhxngnithrrskariderimepidrbolkphaynxkin kh s 1984 krathrwngkarthxngethiywxinodniesiyprakasihxaephxtanaotracaepn twchuorng prima donna khxngcnghwdsulaewsiit tanaotracaidrbkarprakasykyxngihepn cudhmaythisxngtxcakbahli 7 karthxngethiywephimsungkhunxyangchdecn emuxthung kh s 1985 michawtangchatirwm 150 000 khnthiidedinthangmayngtanaotraca nxkehnuxcaknkthxngethiywcakinpraethsxik 80 000 khn 6 aelayxdnkthxngethiywraypiidrbkarbnthukiwthi 40 000 khnin kh s 1989 10 aephngkhaykhxngthiralukekidkhuncanwnmakinrnetpaox Rantepao sungepnsunyklangthangwthnthrrmkhxngotraca thnnthukpidbriewnaehlngthxngethiywthimiphueyiymeyiynmakthisud orngaermaelaranxaharthiennrbnkthxngethiywepidtwkhunmakmay thangkhunlngekhruxngbinaehnghnungepidihbrikarintanaotracaemux kh s 1981 18 nkphthnadankarthxngethiywidthakartladtanaotracaepnkarphcyphyaeplkthin inthanaphunthithirumrwywthnthrrmbnesnthangthiim epnthikhunekhy nkthxngethiywchawtawntkkhadhwngthicaidehnhmubanaebbyukhhinaelaphithikrrmnxkrit otracannmiiwsahrbnkthxngethiywthiedinthangmaiklthungbahliaelayngtxngkarthicaehnekaaxun thimikhwamdibethuxnaela yngimthukaetatxng xyangirktam miaenwonmwaphwkekhacaidphbchawotracathiswmhmwkkbkangekngyinsaelaxasyxyuinsngkhmaebbkhristesiymakkwa 10 nkthxngethiywrusukwaphaphlksnkhxngtngoknnaelaphithikrrmotracaxun thukprungaetngiwlwnghnaephuxhakair aelatahniwacudhmayplaythangnithukthaepnthurkicmakekinip singninaipsukarkrathbkrathngknhlaykhrngrahwangchawotracakbphuphthnakarthxngethiywsungchawotracamxngwaepnkhnnxk 6 karkrathbkrathngknrahwangphunathxngthinotracakbrthbalcnghwdsulaewsiit inthanaphuphthnakarthxngethiyw pathukhunin kh s 1985 rthbalcnghwdidkahndihhmubanotracaaelasthanthifngsphcanwn 18 aehngepnsthanthithxngethiywaebbdngedim dwyehtunicungmikarxxkkhxcakdkarichthidininphunthiehlanncnkrathngaemaetchawotracaexngyngthukhamepliynaeplngtngoknnaelasthanthifngsphkhxngbrrphchn aephnnithukphunachawotracabangswntxtanenuxngcakmxngwaphithikrrmaelakhnbthrrmeniymkhxngtnkalngthukkhnnxkekhamakaeknth sngphlihin kh s 1987 hmubanekaetaeksu Ke te Kesu aelasthanthithxngethiywthirthkahndiwtangpidpratuimtxnrbnkthxngethiyw xyangirktam karpidnidaeninipephiyngimkiwnenuxngcakchawbanphbwarayidcakkarkhaykhxngthiralukmiswnsakhytxkhwamepnxyukhxngtn 6 nxkcaknikarthxngethiywyngidthaihsngkhmotracaepliynochmip aetedimmiphithithixnuyatihsamychnaetngngankbchnchnsung puwng ephuxthilukhlancaidrbsthanachnchnsungipdwy xyangirktam phaphlksnkhxngsngkhmotracathithuksrangkhunephuxkarthxngethiyw bxykhrngcakmkhkhuethskthiepn chnchnlang idkdkrxnrabbladbchnthangsngkhmthiekhmngwdni 7 sthanasungintanaotracaimidrbkhwamekharphxyangthiekhyepnma chayhlaykhnthimiladbchnchntakwasamarthprakastnaelalukhlankhxngtnepnchnchnsungiddwykarsngsmkhwammngkhngihmakphxcakkarthangannxkphunthi aelwaetngngankbhyingchnsungxangxing aekikh 1 0 1 1 1 2 1 3 Tana Toraja official website phasaxinodniesiy khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux May 29 2006 subkhnemux 2006 10 04 Zainuddin Hamka 2009 Corak pemikiran keagamaan Gurutta H Muh As ad Al Bugisi Departemen Agama RI Badan Litbang dan Diklat Puslitbang Lektur Keagamaan p 103 ISBN 978 60 287 6601 2 Sugihandari February 24 2009 Sulawesi Barat Cermin Politik dalam Dua Masa khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux June 20 2013 chawbukisaelachawmakssarxasyxyuinphunthichayfngrxbdinaednkhxngchawotraca xnthicring klumchnchayfngehlaniepnphukhidsphth otraca ephuxicheriykklumchnthixasyxyuinphunthiphuekhaxnoddediyw 5 0 5 1 Nooy Palm Hetty 1975 Introduction to the Sa dan People and their Country Archipel 15 163 192 6 0 6 1 6 2 6 3 6 4 Adams Kathleen M January 31 1990 Cultural Commoditisation in Tana Toraja Indonesia Cultural Survival Quarterly 14 1 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux September 27 2007 subkhnemux 2007 05 18 7 0 7 1 7 2 7 3 Adams Kathleen M 1995 Making Up the Toraja The Appropriate of Tourism Anthropology and Museums for Politics in Upland Sulawesi Indonesia Ethnology 34 2 143 153 doi 10 2307 3774103 JSTOR 3774103 8 0 8 1 8 2 8 3 Adams 2006 9 0 9 1 9 2 Sutton R Anderson 1995 Performing arts and cultural politics in South Sulawesi PDF Bijdragen tot de Taal Land en Volkenkunde 151 4 672 699 doi 10 1163 22134379 90003034 10 0 10 1 10 2 10 3 10 4 10 5 Volkman Toby Alice February 1990 Visions and Revisions Toraja Culture and the Tourist Gaze American Ethnologist 17 1 91 110 doi 10 1525 ae 1990 17 1 02a00060 JSTOR 645254 Schrauwers Albert 1997 Houses hierarchy headhunting and exchange Rethinking political relations in the Southeast Asian realm of Luwu PDF Bijdragen tot de Taal Land en Volkenkunde 153 3 356 380 doi 10 1163 22134379 90003928 subkhnemux 2007 05 18 12 0 12 1 12 2 cf Kis Jovak et al 1988 Ch 2 Hetty Nooy Palm The World of Toraja pp 12 18 13 0 13 1 Ngelow Zakaria J Summer 2004 Traditional Culture Christianity and Globalisation in Indonesia The Case of Torajan Christians PDF Inter Religio 45 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2007 06 20 subkhnemux 2007 05 18 Volkman Toby Alice December 31 1983 A View from the Mountains Cultural Survival Quarterly 7 4 subkhnemux 2007 05 18 Yang Heriyanto August 2005 The history and legal position of Confucianism in postindependence Indonesia PDF Marburg Journal of Religion 10 1 subkhnemux 2007 05 18 16 0 16 1 Waterson Roxana 1986 The ideology and terminology of kinship among the Sa dan Toraja PDF Bijdragen tot de Taal Land en Volkenkunde 142 1 87 112 doi 10 1163 22134379 90003370 subkhnemux 2007 05 18 Waterson Roxana 1995 Houses graves and the limits of kinship groupings among the Sa dan Toraja PDF Bijdragen tot de Taal Land en Volkenkunde 151 2 194 217 doi 10 1163 22134379 90003046 subkhnemux 2007 05 18 18 0 18 1 18 2 Volkman Toby Alice 1984 Great Performances Toraja Cultural Identity in the 1970s American Ethnologist 11 1 152 169 doi 10 1525 ae 1984 11 1 02a00090 JSTOR 644360 Wellenkamp Jane C 1988 Order and Disorder in Toraja Thought and Ritual Ethnology 27 3 311 326 doi 10 2307 3773523 JSTOR 3773523 This Toraja myth was directly translated from the history of Toraja at the official Tana Toraja website toraja go id retrieved on 2007 05 18 Archived phvsphakhm 20 2007 thi ewyaebkaemchchin Toraja Religion Overview of World Religion St Martin College UK khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2006 10 06 subkhnemux 2006 09 06 The death rituals are known as smoke descending rituals while the life rituals are smoke ascending rituals cf Wellenkamp 1988 Toraja Architecture Ladybamboo Foundation khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2009 07 27 subkhnemux 2009 09 04 24 0 24 1 Palmer Miquel Alberti 2006 The Kira kira method of the Torajan woodcarvers of Sulawesi to divide a segment into equal parts Third International Conference on Ethnomathematics Cultural Connections and Mathematical Manipulations Auckland New Zealand University of Auckland khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim doc emux June 20 2007 subkhnemux 2007 05 18 Sande J S 1989 Toraja Wood Carving Motifs Ujung Pandang khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2010 02 02 subkhnemux 2007 05 18 In the present day when tourism is the main income of the Torajans funeral feasts have been held by non noble rich families mainly performed as tourist attractions Volkman 1982 called this phenomenon a death funeral inflation 27 0 27 1 27 2 Jane C Wellenkamp August 1988 Notions of Grief and Catharsis among the Toraja American Ethnologist 15 3 486 500 doi 10 1525 ae 1988 15 3 02a00050 JSTOR 645753 In 1992 the most powerful Torajan the former chief of Tana Toraja Regency died and his family asked US 125 000 of a Japanese TV company as a license fee to film the funeral Cf Yamashita 1994 Hollan Douglas December 1995 To the Afterworld and Back Mourning and Dreams of the Dead among the Toraja Ethos 23 4 424 436 doi 10 1525 eth 1995 23 4 02a00030 JSTOR 640296 30 0 30 1 Yamashita Shinji October 1994 Manipulating Ethnic Tradition The Funeral Ceremony Tourism and Television among the Toraja of Sulawesi Indonesia 58 58 69 82 doi 10 2307 3351103 hdl 1813 54044 JSTOR 3351103 incito tour Archived 2012 07 02 thi ewyaebkaemchchin PT INCITO PRIMA Re Funeral Ceremony in Toraja Authorised by Department of Law and Human Rights of Republic of Indonesia Tau tau have been targeted by grave robbers for antique collectors On several occasions a stolen tau tau effigy has appeared in an exhibition show for instance at the Brooklyn Museum in 1981 and at the Arnold Herstand Gallery in New York in 1984 Cf Volkman 1990 Toraja Unique Ritual Cleaning and Changing Clothing Ancestors corpse Amazingnotes com khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 3 September 2012 subkhnemux 26 August 2012 Toraja Dances www batusura de subkhnemux 2007 05 02 Toraja Music www batusura de subkhnemux 2007 05 02 VERHANDLINGEN VAN HET KONINKLIJK INSTITUUT VOOR TAAL LAND EN VOLKENKUNDE 229 Kees Buijs Powers of Blessing from the Wilderness and from Heaven KITLV Pr Leiden 2006 p 140 37 0 37 1 Gordon Raymond G 2005 Ethnologue Languages of the World Dallas Tex SIL International khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim online version emux 2001 10 05 subkhnemux 2006 10 17 cf Volkman 1983 Bigalke T W 2005 Tana Toraja a social history of an Indonesian people Singapore Singapore University Press Neilson Jeff 2007 Institutions the governance of quality and on farm value retention for Indonesian specialty coffee Singapore Journal of Tropical Geography 28 2 188 204 doi 10 1111 j 1467 9493 2007 00290 x cf Volkman 1990 42 0 42 1 Neilson Jeff Shonk Felicity 2014 Chained to Development Livelihoods and global value chains in the coffee producing Toraja region of Indonesia Australian Geographer 45 3 269 288 doi 10 1080 00049182 2014 929998 S2CID 154566205 Volkman Toby July 31 1982 Tana toraja A Decade of Tourism Cultural Survival Quarterly 6 3 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux September 27 2007 subkhnemux 2007 05 18 brrnanukrm aekikh Adams Kathleen M 2006 Art as Politics Re crafting Identities Tourism and Power in Tana Toraja Indonesia Honolulu University of Hawaii Press ISBN 978 0 8248 3072 4 Bigalke Terance 2005 Tana Toraja A Social History of an Indonesian People Singapore KITLV Press ISBN 978 9971 69 318 3 Kis Jovak J I Nooy Palm H Schefold R Schulz Dornburg U 1988 Banua Toraja changing patterns in architecture and symbolism among the Sa dan Toraja Sulawesi Indonesia Amsterdam Royal Tropical Institute ISBN 978 90 6832 207 1 Unknown parameter name list style ignored help Nooy Palm Hetty 1988 The Sa dan Toraja A Study of Their Social Life and Religion The Hague Martinus Nijhoff ISBN 978 90 247 2274 7 xanephim aekikhBarley Nigel 2013 Toraja Misadventures of an Anthropologist in Sulawesi Indonesia Singapore Monsoon Books ISBN 978 981 4423 46 5 ebook 978 981 4423 47 2 Buijs Kees 2006 Powers of blessing from the wilderness and from heaven Structure and transformations in the religion of the Toraja in the Mamasa area of South Sulawesi Leiden KITLV Hollan Douglas W Wellenkamp Jane C 1996 The Thread of Life Toraja Reflections on the Life Cycle Honolulu University of Hawaii Press ISBN 978 0 8248 1839 5 Unknown parameter name list style ignored help Parinding Samban C Achjadi Judi 1988 Toraja Indonesia s Mountain Eden Singapore Time Edition ISBN 978 981 204 016 9 Unknown parameter name list style ignored help Waterson Roxana 2009 Paths and Rivers Sa dan Toraja Society in Transformation Leiden KITLV de Jong Edwin B P 2013 Making a Living between Crises and Ceremonies in Tana Toraja The Practice of Everyday Life of a South Sulawesi Highland Community in Indonesia BRILL doi 10 1163 9789004252479 ISBN 978 90 04 25247 9 aehlngkhxmulxun aekikhkhxmmxns miphaphaelasuxekiywkb chawotracaTana Toraja Traditional Settlement UNESCO world heritage tentative list tanatorajakab go id Official site for Government of Tana Toraja regency Visittoraja com information about Toraja PHOTOS The Dead Live With Their Loved Ones On This Indonesian Island Torajan people In Indonesia graves are exhumed every three yearsekhathungcak https th wikipedia org w index php title chawotraca amp oldid 9482598, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม