fbpx
วิกิพีเดีย

กระซู่

กระซู่, แรดสุมาตรา
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Early Pleistocene–Recent
สถานะการอนุรักษ์

เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (IUCN 3.1)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Perissodactyla
วงศ์: Rhinocerotidae
สกุล: Dicerorhinus
Gloger, 1841
สปีชีส์: D.  sumatrensis
ชื่อทวินาม
Dicerorhinus sumatrensis
(Fischer, 1814)
อุทยานแห่งชาติตามันเนอการาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามินอุทยานแห่งชาติกูนุงละอูเซร์อุทยานแห่งชาติกะรินจีซะบลัตอุทยานแห่งชาติบุกิตบารีซันซะลาตันอุทยานแห่งชาติวาย์กัมบัส
การกระจายพันธุ์ของกระซู่ สามารถคลิ๊กบนแผนที่ถิ่นอาศัยของกระซู่ในปัจจุบันได้ โดยจะแสดงชื่อของพื้นที่ที่มีกระซู่อาศัยอยู่
ชนิดย่อย

Dicerorhinus sumatrensis harrissoni
Dicerorhinus sumatrensis sumatrensis
Dicerorhinus sumatrensis lasiotis

กระซู่, แรดสุมาตรา หรือ แรดขน (อังกฤษ: Sumatran Rhinoceros; ชื่อวิทยาศาสตร์: Dicerorhinus sumatrensis) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคี่จำพวกแรด กระซู่เป็นแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และเป็นแรดเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Dicerorhinus มีลักษณะเด่นคือมี นอ 2 นอ เหมือนแรดแอฟริกา โดยนอจะไม่ตั้งยาวขึ้นมาเหมือนแรดชวา นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง โดยทั่วไปยาว 15-25 ซม. ลำตัวมีขนหยาบและยาวปกคลุม เมื่อโตเต็มที่สูง 120–145 ซม. จรดหัวไหล่ ยาว 250 ซม. และมีน้ำหนัก 500-800 กก.

กระซู่อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น ป่าพรุ และ ป่าเมฆในประเทศอินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า ลาว ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลเสฉวน ปัจจุบัน กระซู่ถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติ เหลือสังคมประชากรเพียงหกแหล่งในป่า มีสี่แหล่งในสุมาตรา หนึ่งแหล่งในบอร์เนียว และอีกหนึ่งแหล่งในมาเลเซียตะวันตก จำนวนกระซู่ในปัจจุบันยากที่จะประมาณการได้เพราะเป็นสัตว์สันโดษที่มีพิสัยกระจัดกระจายเป็นวงกว้าง แต่คาดว่าเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว สาเหตุอันดับแรกของการลดลงของจำนวนประชากรคือการล่าเอานอซึ่งมีค่ามากในการแพทย์แผนจีน ขายได้ถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมในตลาดมืด นอกจากนี้ยังถูกคุกคามถิ่นอาศัยจากอุตสาหกรรมป่าไม้และเกษตรกรรม

กระซู่เป็นสัตว์สันโดษมักอยู่เพียงลำพังตัวเดียวยกเว้นช่วงจับคู่ผสมพันธุ์และเลี้ยงดูลูกอ่อน กระซู่เป็นแรดที่เปล่งเสียงร้องมากที่สุดการสื่อสารของกระซู่ยังรวมถึงการทำร่องรอยด้วยเท้า บิดงอไม้หนุ่มเป็นรูปแบบต่าง ๆ และการถ่ายมูลและละอองเยี่ยว มีการศึกษาในกระซู่มากกว่าแรดชวาซึ่งเป็นสัตว์สันโดษเหมือนกัน เพราะโปรแกรมที่นำกระซู่ 40 ตัวมาสู่กรงเลี้ยงที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์สปีชีส์นี้ไว้ ในตอนแรกโปรแกรมนี้ถือว่าประสบความล้มเหลว มีกระซู่ตายจำนวนมากและไม่มีการให้กำเนิดลูกกระซู่เลยเกือบ 20 ปี การสูญเสียกระซู่ในโปรแกรมมากกว่าการสูญเสียกระซู่ในป่าเสียอีก

อนุกรมวิธานและชื่อ

ตามที่มีการบันทึกในเอกสาร ในปี พ.ศ. 2336 มีการยิงกระซู่ได้ที่บริเวณห่างจากฟอร์ต มาร์ลโบราวก์ (Fort Marlborough) 16 กิโลเมตร ใกล้กับชายฝั่งด้านตะวันตกของสุมาตรา โจเซฟ แบงส์ (Joseph Banks) นักธรรมชาติวิทยาซึ่งขณะนั้นเป็นนายกของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอนได้รับภาพวาดและรายละเอียดของกระซู่ และได้ตีพิมพ์เอกสารบนพื้นฐานของตัวอย่างในปีนั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2357 กระซู่จึงได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดย โยฮันน์ ฟิสเคอร์ ฟอน วัล์ดไฮม (Johann Fischer von Waldheim) ชาวเยอรมัน นักวิทยาศาสตร์และภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์ดาร์วินสเตตแห่งมอสโก ประเทศรัสเซีย

ชื่อ Dicerorhinus sumatrensis มาจากคำในภาษากรีก di (δι แปลว่า "สอง") cero (κέρας แปลว่า "เขา หรือ นอ") และ rhinos (ρινος แปลว่า "จมูก") Sumatrensis มาจากสุมาตรา เกาะในประเทศอินโดนีเซียเป็นที่พบกระซู่เป็นครั้งแรก เริ่มแรกคาโรลัส ลินเนียสจำแนกแรดทั้งหมดอยู่ในสกุล Rhinoceros ดังนั้นกระซู่จึงจำแนกเป็น Rhinoceros sumatrensis ในปี พ.ศ. 2371 โจส์ฮัว บรูกส์ (Joshua Brookes) พิจารณาว่ากระซู่มีสองนอควรมีสกุลที่ต่างจากสกุล Rhinoceros ซึ่งเป็นแรดนอเดียว เขาจึงตั้งชื่อสกุลใหม่ว่า Didermocerus ในปี พ.ศ. 2384 คอนสทันทิน วิลเฮอล์ม ลัมเบอร์ท กลอเกอร์ (Constantin Wilhelm Lambert Gloger) ได้เสนอชื่อเป็น Dicerorhinus ในปี พ.ศ. 2411 จอห์น เอ็ดวาร์ด เกรย์ (John Edward Gray) เสนอชื่อเป็น Ceratorhinus โดยปกติแล้วจะนำชื่อเก่าสุดมาใช้ แต่เพราะกฎเกณฑ์ที่กำหนดในปี พ.ศ. 2520 โดยคณะกรรมการระบบชื่ออนุกรมวิธานสัตว์สากล ชื่อสกุลของกระซู่จึงเป็น Dicerorhinus

กระซู่มีสามสปีชีส์ย่อย:

  • D.s. sumatrensis หรือ แรดสุมาตราตะวันตก มีเหลืออยู่ราว 75-85 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่พบอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Bukit Barisan Selatan และ Gunung Leuser บนเกาะสุมาตรา ปัจจัยคุกคามหลักของสปีชีส์ย่อยนี้คือการสูญเสียถิ่นอาศัยและการดักจับอย่างผิดกฎหมาย มีความแตกต่างทางพันธุกรรมเล็กน้อยระหว่างแรดสุมาตราตะวันตกและตะวันออก กระซู่ในทางมาเลเซียตะวันตกมีอีกชื่อหนึ่งคือ D.s. niger แต่ภายหลังพบว่าเป็นสปีชีส์ย่อยเดียวกับกระซู่ทางตะวันตกของสุมาตรา
  • D.s. harrissoni หรือ แรดสุมาตราตะวันออก หรือ แรดบอร์เนียว พบตลอดทั้งเกาะบอร์เนียว ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว เหลือเพียง 3 ตัวในที่เลี้ยง เป็นตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมียอีก 2 ตัว ซึ่งทั้งสามตัวนี้ไม่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ ตัวเมียทั้งคู่ (ชื่อ Puntung and Iman) มีสุขภาพที่ไม่ดี และไม่พร้อมที่จะตั้งท้อง ส่วนตัวผู้เพียงตัวเดียว (ชื่อ Tam) มีอัตราการสร้างอสุจิที่ต่ำ และอ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ไม่มีการยืนยันว่าพบแรดบอร์เนียวในรัฐซาราวักและกาลีมันตัน ชื่อของสปีชีส์ย่อยนี้ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่ ทอม แฮร์ริสัน (Tom Harrisson) ผู้ซึ่งทำงานในด้านสัตววิทยาและมานุษยวิทยาในบอร์เนียวอย่างยาวนานในคริสต์ทศวรรษ 1960 แรดบอร์เนียวมีขนาดเล็กกว่าอีกสองสปีชีส์ย่อย
  • D.s. lasiotis หรือ แรดสุมาตราเหนือ เป็นสปีชีส์ย่อยเดียวที่มีการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดียและประเทศบังกลาเทศ แต่ได้ประกาศว่ามีการสูญพันธุ์จากประเทศเหล่านั้นไปแล้ว มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ามีประชากรกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังเหลือรอดในประเทศพม่าและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศก็ไม่อำนวยให้ทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ชื่อ lasiotis มาจากภาษากรีกเพื่อแสดงถึงลักษณะ"หูเต็มไปด้วยขน" จากการศึกษาในภายหลังพบว่าขนที่หูไม่ได้ยาวไปกว่ากระซู่สปีชีส์ย่อยอื่นเลย แต่ D.s. lasiotis ยังคงเป็นสปีชีส์ย่อยอยู่ก็เพราะมีขนาดใหญ่กว่าสปีชีส์ย่อยอื่น

วิวัฒนาการ

บรรพบุรุษของแรดได้วิวัฒนาการแยกตัวออกจากสัตว์กีบคี่อื่นครั้งแรกในสมัยตอนต้นยุคแรกเริ่มที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิดขึ้นมา (Eocene) การเปรียบเทียบทางไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) แสดงว่าบรรพบุรุษของแรดในปัจจุบันแยกตัวจากบรรพบุรุษของม้าราว ๆ 50 ล้านปีมาแล้ว ในวงศ์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน แรดปรากฏขึ้นครั้งแรกในตอนปลายยุคอีโอซีนในทวีปยูเรเชีย และบรรพบุรุษของแรดในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์จากเอเชียในยุคไมโอซีน (Miocene)

กระซู่มีลักษณะที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษสมัยไมโอซีนน้อยที่สุดในบรรดาแรดด้วยกัน ในการศึกษาหลักฐานทางบรรพชีวินวิทยาในอายุซากดึกดำบรรพ์สกุล Dicerorhinus อยู่ในตอนต้นยุคไมโอซีนหรือประมาณ 23–16 ล้านปีมาแล้ว ข้อมูลทางโมเลกุลแสดงว่า Dicerorhinus แยกจากสปีชีส์อื่นย้อนไปไกลถึง 25.9 ± 1.9 ล้านปี มีสมมุติฐานสามข้อที่ความสัมพันธ์ระหว่างกระซู่กับแรดชนิดอื่น ข้อหนึ่งกระซู่เป็นญาติใกล้ชิดกับแรดขาวและแรดดำหลักฐานก็คือแรดทั้งสองชนิดมีสองนอ กลุ่มที่สอง นักอนุกรมอื่น ๆ คิดว่ากระซู่มีลักษณะคล้ายคลึงกับชนิดที่เป็นพี่น้องคือแรดชวาเพราะการกระจายพันธุ์ซ้อนทับกันมาก กลุ่มสุดท้ายที่เพิ่งมีการวิเคราะห์เมื่อเร็ว ๆ นี้เสนอว่าแรดแอฟริกาสองชนิด แรดเอเชียสองชนิด และกระซู่ แสดงให้เห็นถึงเชื้อสายที่แยกเป็นสามสายเมื่อประมาณ 25.9 ล้านปีมาแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงไม่ชัดเจนเหมือนดังที่แยกไว้ในตอนแรก

เพราะมีลักษณะคล้ายกัน จึงเชื่อว่ากระซู่เป็นญาติใกล้ชนิดกับแรดขนยาว (Coelodonta antiquitatis) แรดขนยาวซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะที่มีขนยาว พบครั้งแรกที่ประเทศจีนในยุคไพลสโตซีนตอนปลาย (Pleistocene) กระจายตัวอยู่ในทวีปยูเรเชียจากเกาหลีถึงสเปน แรดขนยาวอยู่รอดจนถึงปลายยุคน้ำแข็งเหมือนกับช้างแมมมอธขนยาว ทั้งหมดสูญพันธุ์ไปเมื่อ 10,000 ปีก่อน เมื่อแม้การศึกษาเชิงสัณฐานวิทยาจะมีข้อสงสัยในความใกล้ชิด แต่การวิเคราะห์ทางโมเลกุลเมื่อเร็ว ๆ นี้ยืนยันว่าทั้งสองชนิดเป็นพี่น้องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีซากดึกดำบรรพ์หลายชิ้นได้รับการระบุว่าเป็นสมาชิกของ Dicerorhinus แต่ก็ไม่มีสปีชีส์ใหม่ในสกุลนี้

ลักษณะ

 
โครงกระดูกของกระซู่

กระซู่ที่โตเต็มที่มีความสูงจรดหัวไหล่ประมาณ 120–145 ซม. ลำตัวยาวประมาณ 250 ซม. มีน้ำหนัก 500–800 กก. ถึงแม้ว่าจะมีกระซู่บางตัวในสวนสัตว์ที่หนักมากกว่า 1000 กก. กระซู่เหมือนกับแรดในแอฟริกาที่มีสองนอ นอใหญ่อยู่บริเวณจมูก โดยทั่วไปมีขนาด 15–25 ซม. ยาวที่สุดเท่าที่มีบันทึกไว้คือ 81 ซม. นอด้านหลังมีขนาดเล็กกว่ามาก ปกติแล้วจะยาวน้อยกว่า 10 ซม. และบ่อยครั้งที่เป็นแค่ปุ่มขึ้นมา นอมีสีเทาเข้มหรือสีดำ เพศผู้มีนอใหญ่กว่าเพศเมียหรือในเพศเมียบางตัวอาจไม่มีนอใน และไม่มีลักษณะแบ่งเพศที่เด่นชัดอื่นอีก กระซู่มีอายุโดยประมาณ 30-45 ปีเมื่ออยู่ตามธรรมชาติ มีบันทึกถึง D. lasiotis เพศเมียในกรงเลี้ยงว่ามีอายุ 32 ปี 8 เดือนก่อนที่จะตายลงในสวนสัตว์ลอนดอนในปี พ.ศ. 2443

มีหนังพับย่นขนาดใหญ่สองวงรอบที่ลำตัวบริเวณหลังขาหน้าและก่อนขาหลัง ที่คอมีรอยพับย่นเล็กน้อยรอบคอและรอบตา ริมฝีปากบนแหลมเป็นจะงอย หนังหนา 10-16 มม. มีสีน้ำตาลอมเทา ริมฝีปากและผิวหนังใต้ท้องบริเวณขามีสีเนื้อ กระซู่ตามธรรมชาติไม่พบไขมันใต้หนัง มีขนปกคลุมหนาแน่นถึงเล็กน้อย (ในลูกกระซู่จะปกคลุมหนาแน่น) ปกติจะมีสีน้ำตาลแดง ในธรรมชาติกระซู่จะไม่ค่อยมีขนให้เห็นได้ชัดเจนนักเพราะเกิดจากการลงแช่ปลัก แต่ในกรงเลี้ยงกระซู่จะมีขนงอกออกมา หยาบ คาดว่าเพราะมีการเสียดสีกับพุ่มไม้ในเวลาเดินน้อยมาก กระซู่มีขนยาวบริเวณรอบหูและปกคลุมบริเวณหลังไปถึงปลายหางซึ่งมีผิวหนังบาง กระซู่เหมือนกับแรดทุกชนิด มีสายตาที่แย่ แต่ประสาทหูและประสาทรับกลิ่นดีมาก กระซู่เคลื่อนที่ได้เร็วและกระฉับกระเฉง มันสามารถไต่เขาสูงชันและว่ายน้ำเก่ง

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

 
อุทยานแห่งชาติทามันเนการาเป็นที่แห่งเดียวที่ทราบว่ามีประชากรกระซู่อยู่

กระซู่อาศัยอยู่ได้ทั้งพื้นราบและที่สูงในป่าดิบชื้น ป่าพรุ และป่าเมฆ ในบริเวณที่เต็มไปด้วยเนินสูงชันใกล้กับแหล่งน้ำโดยเฉพาะหุบลำธารสูงชันที่เต็มไปด้วยพุ่มไม้ กระซู่มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนเหนือของพม่า ทางตะวันออกของอินเดีย และบังคลาเทศ ยังมีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าพบกระซู่ในกัมพูชา ลาว และ เวียดนาม แต่ประชากรเท่าที่ทราบว่ายังมีเหลือรอดนั้น อยู่ในมาเลเซียตะวันตก เกาะสุมาตรา และรัฐซาบะฮ์บนเกาะบอร์เนียว นักอนุรักษ์ธรรมชาติบางคนหวังว่าอาจยังมีกระซู่หลงเหลืออยู่ในพม่าถึงแม้ว่ามันอาจไม่น่าเป็นไปได้ ปัญหาความยุ่งเหยิงทางการเมืองของพม่าทำให้การประเมินหรือการศึกษาของความน่าจะเป็นของกระซู่ที่คาดว่าจะหลงเหลืออยู่ไม่สามารถกระทำได้

กระซู่มีพิสัยกระจัดกระจายเป็นวงกว้างมากกว่าแรดเอเชียชนิดอื่น ทำให้ยากต่อการอนุรักษ์สปีชีส์นี้ให้ได้ผล มีเพียงหกแห่งเท่านั้นที่มีกระซู่อยู่กันเป็นสังคมคือ อุทยานแห่งชาติบุกิต บาริสซัน ซลาตัน (Bukit Barisan Selatan) อุทยานแห่งชาติกุนนุง ลอุสเซร์ (Gunung Leuser) อุทยานแห่งชาติกรินจี เซอบลัต (Kerinci Seblat) และ อุทยานแห่งชาติวาย์ กัมบัส (Way Kambas) บนเกาะสุมาตรา อุทยานแห่งชาติทามันเนการาในมาเลเซียตะวันตก และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาบิน (Tabin) ในรัฐซาบะฮ์ ประเทศมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว

ในประเทศไทยเองก็มีรายงานถึงการพบกระซู่ในหลาย ๆ แห่งได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาสก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ในปัจจุบันคาดว่ายังมีกระซู่หลงเหลืออยู่แค่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาบริเวณป่าฮาลาบาลาแต่ก็ไม่มีการพบเห็นมานานแล้วทำให้กระซู่จัดเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ (EW) แล้วในประเทศไทย

การวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์ในประชากรของกระซู่สามารถระบุเชื้อสายทางพันธุกรรมที่ต่างกันได้สามสาย ช่องแคบระหว่างสุมาตราและมาเลเซียไม่เป็นอุปสรรคต่อกระซู่เหมือนกับภูเขาบารีซัน (Barisan) ดังนั้นกระซู่ในสุมาตราตะวันออกและมาเลเซียตะวันตกจึงมีความใกล้ชิดกันมากกว่ากระซู่ในอีกด้านของภูเขาในสุมาตราตะวันตก กระซู่ในสุมาตราตะวันออกและมาเลเซียแสดงความแตกต่างทางด้านพันธุกรรมเพียงเล็กน้อย ซึ่งหมายถึงประชากรไม่ได้แยกจากกันในสมัยไพลสโตซีน อย่างไรก็ตามประชากรกระซู่ทั้งในสุมาตราและมาเลเซียที่มีความใกล้เคียงกันในทางพันธุกรรมมากจนสามารถผสมพันธุ์กันได้อย่างไม่เป็นปัญหา กระซู่ในบอร์เนียวนั้นต่างออกไปเป็นพิเศษว่าเพื่อการอนุรักษ์ความผันแปรของพันธุกรรมควรจะฝืนผสมข้ามกับเชื้อสายประชากรอื่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาการอนุรักษ์ความผันแปรของพันธุกรรมโดยศึกษาความหลากหลายของจีนพูล (gene pool) ในประชากรโดยการระบุบไมโครแซททัลไลท์ โลไซ (microsatellite loci) ผลทดสอบในเบื้องต้นพบว่าเมื่อเปรียบเทียบระดับของความหลากหลายในประชากร กระซู่นั้นมีความหลากหลายน้อยกว่าแรดแอฟริกาที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ความหลากหลายทางพันธุกรรมของกระซู่ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไป

พฤติกรรม

กระซู่เป็นสัตว์สันโดษปกติจะอยู่เพียงลำพังตัวเดียวยกเว้นช่วงเวลาจับคู่ผสมพันธุ์และเลี้ยงดูลูกอ่อน ตัวผู้จะมีอาณาเขตประมาณ 50 กม2. ขณะที่ตัวเมียมีอาณาเขตประมาณ 10–15 กม2. อาณาเขตของตัวเมียจะแยกจากกัน ขณะที่ตัวผู้บ่อยครั้งจะมีอาณาเขตเหลื่อมซ้อนกัน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากระซู่มีการต่อสู้เพื่อปกป้องอาณาเขต เมื่อต่อสู้หรือป้องกันตัว กระซู่จะไม่ใช้นอพุ่งชนเหมือนแรดชนิดอื่น ๆ แต่จะใช้ริมฝีปากซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมงับแทน ทำให้คาดกันว่ากระซู่มีนอเพื่อใช้ดันสิ่งกีดขวางเสียมากกว่า การบอกอาณาเขตกระทำโดยการขูดผิวดินด้วยเท้า การงอไม้หนุ่มด้วยรูปแบบที่แตกต่าง และการถ่ายมูล ละอองเยี่ยว กระซู่ออกหาอาหารเมื่อรุ่งเช้าและหลังเวลาเย็นก่อนค่ำ ระหว่างวันกระซู่จะนอนเกลือกกลิ้งในปลักโคลนเพื่อผ่อนคลายและพักผ่อน ในฤดูฝนกระซู่จะย้ายถิ่นสู่พื้นที่สูง ในฤดูหนาวก็จะย้ายกลับมาที่พื้นราบ

 
กระซู่กำลังนอนแช่ปลัก ในสวนสัตว์ซินซินนาติ

กระซู่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันหมดไปกับการแช่ปลักโคลน เมื่อมันหาปลักโคลนไม่ได้กระซู่จะขุดดินเลนด้วยขาและนอเพื่อสร้างปลัก การแช่ปลักโคลนนี้จะช่วยกระซู่รักษาระดับอุณหภูมิของร่างกายและช่วยป้องกันผิวหนังของมันจากปรสิตภายนอกและแมลงอื่น ๆ จากกระซู่ตัวอย่างที่จับได้ เมื่อกระซู่ไม่ได้นอนแช่ปลักอย่างเพียงพอ ผิวหนังของมันจะแตกและอักเสบอย่างรวดเร็ว แผลเป็นหนอง ตามีปัญหา เล็บอักเสบ ขนร่วง และตายในที่สุด จากการศึกษาพฤติกรรมการนอนแช่ปลักโคลนเป็นเวลา 20 เดือนของกระซู่พบว่ากระซู่จะไปที่ปลักโคลนไม่เกิน 3 ปลักในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา หลังจาก 2–12 สัปดาห์ที่ใช้ปลักเดิม กระซู่ก็จะละทิ้งปลักนั้นไป โดยปกติกระซู่จะไปแช่ปลักราว ๆ เที่ยงวัน แช่อยู่ราว ๆ 2–3 ชั่วโมงก่อนออกไปหาอาหาร ถึงแม้ว่าจากการสังเกตกระซู่ในสวนสัตว์จะนอนแช่ปลักน้อยกว่า 45 นาทีต่อวัน แต่จากการศึกษากระซู่ในธรรมชาติจะนอนแช่ปลัก 80–300 นาที (เฉลี่ยที่ 166 นาที) ต่อวัน

มีช่องทางเพียงเล็กน้อยที่จะศึกษาถึงระบาดวิทยาในกระซู่ มีรายงานว่าแมลงดูดกินเลือดเป็นอาหาร เช่น หมัด ไร เห็บ และแมลงวันตัวเบียนในสกุล gyrostigma เป็นสาเหตุการตายของกระซู่ในกรงเลี้ยงในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นที่รู้กันว่ากระซู่เป็นโรคพยาธิในเลือดได้ง่ายซึ่งมีตัวเหลือบเป็นพาหะนำปรสิตจำพวก trypanosome มา ในปี ค.ศ. 2004 กระซู่ห้าตัวในศูนย์อนุรักษ์กระซู่ตายภายใน 18 วันหลังจากติดโรค กระซู่ไม่มีศัตรูทางธรรมชาติอื่นนอกจากมนุษย์ เสือโคร่งและหมาป่าอาจสามารถล่าลูกกระซู่ได้ แต่ลูกกระซู่จะอยู่กับแม่ตลอดเวลา ความถี่ของการถูกล่าจึงไม่อาจเป็นที่ทราบได้ ถึงแม้กระซู่จะมีอาณาเขตซ้อนทับกับช้างและสมเสร็จแต่สัตว์เหล่านี้ไม่ปรากฏการแข่งขันกันทางด้านอาหารและถิ่นอาศัย ช้างและกระซู่จะใช้ด่านร่วมกัน สัตว์เล็ก ๆ อย่างกวาง หมูป่า และหมาป่า ก็จะใช้ด่านที่กระซู่และช้างสร้างขึ้นด้วยเช่นกัน

กระซู่มีด่านสองประเภทในอาณาเขต ด่านหลักใช้ท่องเที่ยวระหว่างบริเวณสำคัญในอาณาเขตของกระซู่ เช่น โป่ง หรือระหว่างบริเวณที่แยกออกจากกันโดยภูมิประเทศที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย ด่านทางเดินที่กระซู่เดินจะเรียบโล่ง ถ้าหากมีสิ่งกีดขวางกระซู่จะดันสิ่งกีดขวางให้พ้นทาง ในพื้นที่หากินกระซู่จะสร้างด่านที่เล็กกว่าซึ่งยังปกคลุมด้วยพุ่มไม้ไปยังบริเวณที่มีอาหารสำหรับกระซู่ นอกจากนี้ยังพบด่านกระซู่ที่ข้ามแม่น้ำกว้างประมาณ 50 ม.ลึกมากกว่า 1.5 ม. กระซู่เป็นนักว่ายน้ำที่เก่งสามารถว่ายข้ามแม่น้ำที่ไหลแรงได้ เคยมีผู้พบเห็นกระซู่ว่ายน้ำในทะเลด้วย กระซู่จะไม่แช่ปลักที่ใกล้กับแม่น้ำอาจเป็นเพราะมันลงแช่น้ำในแม่น้ำแทนที่จะแช่ปลัก

อาหาร

   
   
กระซู่กินต้นไม้หลากหลาย เช่น: (เวียนตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย), สกุลปริก (Mallotus), มังคุด, สกุลตาเป็ดตาไก่ (Ardisia), และ สกุลหว้า (Eugenia)

กระซู่ออกหากินในช่วงก่อนพระอาทิตย์ตกและในตอนเช้า กระซู่เป็นสัตว์เล็มกิน โดยกินอาหารประเภท ไม้หนุ่ม ใบ ผล กิ่ง หน่อ และผลไม้ที่ร่วงหล่นตามพื้นดิน ปกติกระซู่จะกินอาหารมากถึง 50 กก.ต่อวัน จากมูลสัตว์ตัวอย่าง นักวิจัยพบอาหารมากกว่า 100 สปีชีส์ที่กระซู่กินเข้าไป ส่วนใหญ่จะเป็นไม้หนุ่มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-6 ซม. กระซู่จะดันไม้หนุ่มด้วยลำตัว เดินไปเหนือไม้หนุ่มโดยไม่เหยียบทับ และลงมือกินใบ พืชหลากหลายชนิดที่กระซู่กินเข้าไปเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของอาหารทั้งหมดซึ่งแสดงว่ากระซู่จะเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมการกินต่างกันไปตามแต่บริเวณพื้นที่ พืชส่วนใหญ่ที่กระซู่กินจะเป็นสปีชีส์ในวงศ์เปล้า วงศ์เข็ม และ วงศ์โคลงเคลง โดยทั่วไปแล้วกระซู่จะกินพืชสกุลหว้า

อาหารของกระซู่มีใยอาหารสูงและมีโปรตีนพอสมควร ดินโป่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของกระซู่ โป่งอาจเป็นบริเวณเล็ก ๆ ที่มีน้ำเกลือหรือโคลนภูเขาไฟไหลซึมออกมา ดินโป่งยังมีความสำคัญของวัตถุประสงค์ทางสังคมสำหรับกระซู่เพศผู้จะมาที่โป่งและจับกลิ่นกระซู่เพศเมียที่เป็นสัด อย่างไรก็ตาม กระซู่บางตัวนั้นอาศัยอยู่ในที่ ๆ ไม่มีโป่งหรืออาจเป็นเพราะกระซู่ตัวนั้นไม่สนใจจะใช้ดินโป่งก็เป็นได้ กระซู่อาจได้แร่ธาตุสำคัญที่ต้องการจากการกินพืชที่มีแร่ธาตุนั้นแทน

การสื่อสาร

กระซู่มีการเปล่งเสียงมากที่สุดในบรรดาแรดด้วยกัน จากการสังเกตกระซู่ในสวนสัตว์แสดงถึงว่ากระซู่นั้นเปล่งเสียงเสมอ ๆ และมันรู้จักที่จะทำดังเช่นในป่า กระซู่สร้างเสียงที่แตกต่างกันสามเสียง: อีป, วาฬ, และ ผิวปาก-เป่า เสียงอีป สั้น ยาวประมาณ 1 วินาที เป็นเสียงทั่วไปโดยมาก วาฬที่ตั้งชื่อนี้เพราะคล้ายกับการเปล่งเสียงของวาฬหลังค่อม (ดูเพิ่ม: บทเพลงแห่งวาฬ) เป็นการเปล่งเสียงคล้ายกับร้องเพลงและเปล่งเสียงบ่อยเป็นอันดับสอง วาฬจะแตกต่างกันที่ระดับเสียงและช่วงสุดท้าย ในช่วง 4–7 วินาที ผิวปาก-เป่าที่ได้ชื่อนี้เพราะเหมือนเสียงผิวปากยาวสองวินาทีและเป่าลมออกมาทันทีทันใดหลังจากนั้น ผิวปาก-เป่าเป็นเสียงที่ดังที่สุดในบรรดาการเปล่งเสียงทั้งหมด ดังถึงขนาดทำให้แท่งเหล็กที่ใช้ทำกรงสั่นได้ วัตถุประสงค์ในการเปล่งเสียงยังไม่เป็นที่ทราบได้ แต่มีทฤษฎีที่ว่ามันแสดงถึงอันตราย ความพร้อมทางเพศ และอื่น ๆ ที่เหมือนกับสัตว์กีบชนิดอื่นทำ เสียงผิวปาก-เป่าสามารถได้ยินไปได้ไกลแม้กระทั่งในดงไม้หนาทึบในที่ที่กระซู่อาศัยอยู่ การเปล่งเสียงในระดับที่ใกล้เคียงกับช้าง เสียงสามารถไปได้ไกลถึง 9.8 กม.และด้วยเหตุนี้เสียงผิวปาก-เป่าอาจไปได้ไกลกว่านั้น บางครั้งกระซู่จะบิดไม้หนุ่มที่มันไม่กิน พฤติกรรมนี้เชื่อว่าเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ใช้แสดงทางเชื่อมในด่าน

การเปล่งเสียง
ของกระซู่ (ไฟล์ .wav)
  • อีป
  • วาฬ
  • ผิวปาก-เป่า

การสืบพันธุ์

กระซู่เพศเมียจะโตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุ 6-7 ปี ขณะที่เพศผู้จะโตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 10 ปี กระซู่ตั้งท้องประมาณ 15-16 เดือน โดยทั่วไปกระซู่มีน้ำหนักแรกเกิด 40-60 กก. มีขนแน่นและสีขนออกแดง หย่านมเมื่ออายุ 15 เดือนและอาศัยอยู่กับแม่ 2-3 ปีแรก ในธรรมชาติกระซู่มีระยะตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกัน 4-5 ปี พฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกนั้นยังไม่มีการศึกษา

การศึกษาการสืบพันธุ์ของกระซู่เกิดขึ้นในกรงเลี้ยง เมื่อกระซู่อยู่ในช่วงจับคู่จะเริ่มมีพฤติกรรมเปล่งเสียงร้องมากขึ้น ชูหางขึ้น ถ่ายปัสสาวะ มีการสัมผัสทางร่างกายมากขึ้นโดยทั้งเพศผู้และเมียจะใช้จมูกชนสัมผัสฝ่ายตรงข้ามบริเวณศีรษะและอวัยวะเพศ รูปแบบการขอความรักนี้จะคล้ายกับแรดดำ กระซู่หนุ่มเพศผู้มักก้าวร้าวกับเพศเมีย บางครั้งอาจเกิดการบาดเจ็บหรือตายได้ในระหว่างการจับคู่ ในธรรมชาติกระซู่เพศเมียสามารถวิ่งหนีจากเพศผู้ที่ก้าวร้าวได้ในกรณีแบบนี้ แต่ในกรงเลี้ยงมันไม่สามารถทำได้ การที่เพศเมียไม่สามารถวิ่งหนีได้นี้เองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราความสำเร็จในการขยายพันธุ์กระซู่ในกรงเลี้ยงต่ำ

ในช่วงเป็นสัด เมื่อเพศเมียผสมพันธุ์กับเพศผู้แล้ว ประมาณ 24 ชั่วโมงเพศผู้จะเข้าผสมอีกในช่วง 21-25 วัน กระซู่ในสวนสัตว์ซินซินนาติใช้เวลาในการผสมพันธุ์แต่ละครั้งนาน 30-50 นาที ซึ่งนานพอ ๆ กับแรดชนิดอื่น การสังเกตกระซู่ที่ศูนย์อนุรักษ์กระซู่ในประเทศมาเลเซียทำให้เราสามารถสรุปวงจรการผสมพันธุ์ได้ จากการสังเกตในสวนสัตว์ซินซินนาติ กระซู่มีช่วงการเป็นสัดนานคล้ายกับแรดชนิดอื่น ๆ ช่วงเวลานั้นอาจขึ้นกับพฤติกรรมทางธรรมชาติ ถึงแม้ว่านักวิจัยจะเข้าใจในภาวะตั้งครรภ์ แต่ก็ล้มเหลวเสียทุกครั้งจากหลาย ๆสาเหตุ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 กระซู่ในกรงเลี้ยงจึงสามารถให้กำเนิดลูกได้ จากการศึกษาความล้มเหลวที่สวนสัตว์ซินซินนาติพบว่าการตกไข่ของกระซู่นั้นทำได้โดยการผสมและกระซู่มีระดับโปรเจสเตอโรน (progesterone) ที่แปรปรวน ความสำเร็จในปี พ.ศ. 2544 นั้นเกิดจากบำรุงกระซู่ที่ท้องด้วยโปรกัสติน (progestin)

การอนุรักษ์

 
กระซู่ ชนิดย่อย D. s. lasiotis เพศผู้ที่สวนสัตว์ลอนดอน ซึ่งเคยพบในอินเดีย พม่า และไทย ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว,ภาพนี้ถ่ายราวปีพ.ศ. 2447
 
กระซู่ ชนิดย่อย D. s. lasiotis เพศเมีย ชื่อ Begum ในสวนสัตว์ลอนดอน

กระซู่มีการกระจายพันธุ์เกือบตลอดทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปัจจุบันกลับเหลือกระซู่อยู่เพียง 300 ตัวเท่านั้น ถึงแม้ว่ากระซู่นั้นจะไม่หายากเท่าแรดชวา ประชากรของมันก็อยู่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เหมือนกับประชากรของแรดชวาที่อาศัยอยู่ร่วมกันในคาบสมุทรอูจุงกูลอนในชวา ขณะที่จำนวนแรดชวาในอูจุงกูลอนเกือบจะคงที่ เชื่อกันว่าจำนวนกระซู่กลับกำลังลดลง IUCN มีการจัดสถานะการอนุรักษ์ของกระซู่เป็นถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติเพราะจากการล่าอย่างผิดกฎหมายและมีการกระจายพันธุ์ในถิ่นอาศัยที่เป็นป่าดิบชื้นซึ่งถิ่นอาศัยที่เหลืออยู่เป็นพื้นที่เต็มไปด้วยภูเขาที่ยากจะเข้าถึงในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้แล้ว ไซเตสได้จัดกระซู่อยู่ในบัญชีอนุรักษ์หมายเลข 1 และกระซู่เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

กระซู่ในกรงเลี้ยง

 
เอมีและฮาราปัน กระซู่สายพันธุ์ย่อย D.s. sumatrensis ที่สวนสัตว์ซินซินนาติ
 
Puntung กระซู่ชนิดย่อย D. s. harrissoni กำลังแช่ปลักในสถานเพาะเลี้ยง กระซู่ตัวนี้จับได้ในรัฐซาบะฮ์ ในปีพ.ศ. 2554 เพื่อเข้าโครงการอนุรักษ์

แม้จะหายาก แต่ก็มีการจัดแสดงกระซู่อยู่ในบางสวนสัตว์เกือบศตวรรษครึ่ง สวนสัตว์ลอนดอนได้รับกระซู่ 2 ตัวในปี พ.ศ. 2415 หนึ่งในนั้นเป็นเพศเมียชื่อ บีกัม (Begum) จับได้ที่จิตตะกอง (Chittagong) ในปี พ.ศ. 2411 และมีชีวิตรอดได้ถึงปี พ.ศ. 2443 เป็นกระซู่ที่มีอายุมากที่สุดในกรงเลี้ยงที่มีบันทึกไว้ ในเวลาที่ได้รับกระซู่มานั้น ฟิลลิป สเคลเตอร์ (Philip Sclater) เลขานุการสมาคมสัตวศาสตร์แห่งลอนดอนอ้างว่ากระซู่ตัวแรกในสวนสัตว์เป็นกระซู่ที่อยู่ในสวนสัตว์ฮัมบวร์คตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 ก่อนที่กระซู่ชนิดย่อย Dicerorhinus sumatrensis lasiotis จะสูญพันธุ์ มีกระซู่ชนิดนี้อย่างน้อย 7 ตัวในสวนสัตว์และโรงละครสัตว์ กระซู่มีสุขภาพและการเจริญเติบโตไม่ดีนักเมื่ออยู่นอกถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ กระซู่ในสวนสัตว์กัลกัตตาได้ให้กำเนิดลูกในปี พ.ศ. 2432 แต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ไม่มีลูกกระซู่เกิดในสวนสัตว์อีกเลย ในปี พ.ศ. 2515 กระซู่ตัวสุดท้ายในกรงเลี้ยงได้ตายลงที่สวนสัตว์โคเปนเฮเกน ประเทศไทยเองก็เคยนำกระซู่เพศเมียมาจัดแสดงที่สวนสัตว์ดุสิต โดยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย มีชื่อว่า ลินจง แต่ตายไปในปี พ.ศ. 2529

ถึงแม้ว่าการขยายพันธุ์กระซู่ในกรงเลี้ยงจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ในตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1980 องค์กรได้เริ่มโปรแกรมขยายพันธุ์กระซู่อีกครั้ง ในระหว่างปี พ.ศ. 2527-2539 โปรแกรมการอนุรักษ์ ex situ ได้จับกระซู่จำนวน 40 ตัวจากถิ่นอาศัยและส่งไปตามสวนสัตว์และเขตสงวนทั่วโลก ขณะที่ความหวังในตอนเริ่มโปรแกรมมีสูงมาก และได้มีการศึกษาถึงพฤติกรรมกระซู่ในกรงเลี้ยงมากมาย แต่เมื่อถึงตอนปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ไม่มีกระซู่ในโปรแกรมให้กำเนิดลูกแม้แต่ตัวเดียว ในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มเชี่ยวชาญพิเศษในแรดเอเชียของ IUCN ได้เข้ามารับรอง ประกาศถึงความล้มเหลวว่า แม้อัตราการตายเป็นที่ยอมรับได้ แต่ไม่มีลูกกระซู่เกิดขึ้นมาเลย และมีกระซู่ตายถึง 20 ตัว ในปี พ.ศ. 2547 มีการระบาดของโรคพยาธิในเลือดทำให้กระซู่ในศูนย์อนุรักษ์ที่อยู่ในมาเลเซียตะวันตกตายทั้งหมด ทำให้จำนวนกระซู่ในกรงเลี้ยงลดลงเหลือ 8 ตัว

มีกระซู่ 7 ตัวที่ถูกส่งไปสหรัฐอเมริกา (ที่เหลืออยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 2540 จำนวนกระซู่ก็เหลือเพียงแค่ 3 ตัวคือ เพศเมียที่สวนสัตว์ลอสแอนเจลิส เพศผู้ที่สวนสัตว์ซินซินนาติ และเพศเมียที่สวนสัตว์บร็องซ์ ท้ายที่สุดก็ได้ย้ายกระซู่ทั้งสามมาอยู่ที่สวนสัตว์ซินซินนาติ หลังความพยายามที่ล้มเหลวเป็นปี เพศเมียจากลอสแอนเจลิส เอมี (Emi) ก็ตั้งท้องถึงหกครั้งกับเพศผู้ อีปุห์ (Ipuh) ห้าครั้งแรกจบลงด้วยความล้มเหลว แต่นักวิจัยได้เรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น และด้วยการช่วยเหลือด้วยการบำบัดด้วยฮอร์โมนพิเศษ เอมีจึงให้กำเนิดลูกเพศผู้ที่ชื่อ อันดาลัส (Andalas) (คำในวรรณคดีอินโดนีเซียที่ใช้เรียก "สุมาตรา") ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2544 การให้กำเนิดอันดาลัสนับเป็นความสำเร็จครั้งแรกใน 112 ปี ที่กระซู่สามารถให้กำเนิดลูกในกรงเลี้ยงได้ ลูกกระซู่เพศเมีย ชื่อ ซูจี (Suci) (มาจากภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า "บริสุทธิ์") ก็ถือกำเนิดเป็นตัวถัดมาในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2550 เอมีได้ให้กำเนิดลูกเป็นครั้งที่สาม เป็นเพศผู้ตัวที่สอง ชื่อ ฮาราปัน (Harapan) (มาจากภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า "ความหวัง") หรือ แฮร์รี่ ในปี พ.ศ. 2550 อันดาลัสก็ได้ย้ายจากสวนสัตว์ลอสแอนเจลิสกลับสู่สุมาตราเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมขยายพันธุ์กระซู่กับเพศเมียที่มีสุขภาพดี เอมีได้ตายลงเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2552 Harapan กระซู่ตัวสุดท้ายในสวนสัตว์ Cincinnati ได้กลับสู่อินโดนีเซีย เมื่อปี 2558 เพื่อเข้าสู่โปรแกรมการขยายพันธุ์ ปัจจุบันกระซู่ในที่เลี้ยงทั้งหมดอยู่ในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ทั้งที่การเพาะพันธุ์กระซู่ที่สวนสัตว์ซินซินนาติประสบผลสำเร็จ โปรแกรมการขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงก็ยังคงเป็นที่ขัดแย้งกันอยู่ ผู้เห็นด้วยให้เหตุผลว่าสวนสัตว์ได้ช่วยเหลือถึงความพยายามที่จะอนุรักษ์ด้วยการศึกษาพฤติกรรมการสืบพันธุ์ เพิ่มความตระหนักและการศึกษาในกระซู่ให้แก่สาธารณชน และช่วยเพิ่มแหล่งกองทุนสำหรับความพยายามที่จะอนุรักษ์กระซู่ในสุมาตรา ผู้คัดค้านกลับแย้งว่า มีการสูญเสียมากเกินไป โปรแกรมแพงเกินไป มีการเคลื่อนย้ายกระซู่จากถิ่นอาศัย แม้เพียงชั่วคราว มีการปรับเปลี่ยนบทบาททางนิเวศวิทยา และประชากรที่จับมาเข้าโปรแกรมไม่สมดุลกับอัตราการพบกระซู่ในถิ่นอาศัยทางธรรมชาติที่ได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี

กระซู่ในเชิงวัฒนธรรม

 
ภาพวาดกระซู่ในปี ค.ศ. 1927

นอกจากกระซู่สองสามตัวในสวนสัตว์และภาพในหนังสือแล้ว กระซู่เป็นที่รู้จักน้อยมาก มักถูกข่มให้ด้อยลงด้วยแรดอินเดีย แรดดำ และแรดขาว อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ คลิปวิดีโอของกระซู่ในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติและในศูนย์เพาะพันธุ์ได้ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์สารคดีธรรมชาติหลายเรื่อง ภาพยนตร์ที่แพร่หลายคือภาพยนตร์สารคดีภูมิศาสตร์เอเชีย The Littlest Rhino (แรดน้อย) Natural History New Zealand (ธรรมชาติประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์) ได้ฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับกระซู่ที่ถ่ายโดยตากล้องอิสระเชื้อสายอินโดนีเซีย อาไลน์ โจมโปส์ต (Alain Compost) ในสารคดีปี พ.ศ. 2544 The Forgotten Rhino (แรดที่ถูกลืม) ซึ่งมีเนื้อเรื่องหลักเป็นแรดชวาและแรดอินเดีย

แม้ว่าจะมีรายงานถึงมูล และร่องรอย แต่รูปของกระซู่ใบแรกที่ถ่ายได้และแพร่หลายอย่างกว้างขวางโดยนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ได้มาจากกับดักกล้องที่ถ่ายภาพกระซู่โตเต็มที่ แข็งแรง ในป่าของรัฐซาบะฮ์ในมาเลเซียตะวันออกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 ในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550 กล้องได้จับคลิปวิดีโอของแรดบอร์เนียวป่าได้เป็นครั้งแรก คลิปวิดีโอในตอนกลางคืนนั้นได้แสดงถึงว่ากระซู่กินอาหาร เดินฝ่าพุ่มไม้ และเข้ามาดมกล้องด้วยความสงสัย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลได้ใช้คลิปวิดีโอนี้มาพยายามที่จะโน้มน้าวให้รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อเปิดพื้นที่ให้เป็นเขตอนุรักษ์กระซู่

ได้มีการรวบรวมนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับกระซู่โดยนักธรรมชาติวิทยาในสมัยล่าอาณานิคมและนายพรานตอนกลางของคริสต์ทศวรรษ 1800 ถึงตอนต้นของคริสต์ทศวรรษ 1990 ในพม่ามีความเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่ากระซู่กันไฟ ตำนานได้ระบุบว่ากระซู่จะตามควันมาถึงกองไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคมป์ไฟ และจะโจมตีแคมป์ และมีชาวพม่าที่เชื่อว่าเวลาในการล่ากระซู่ที่ดีที่สุดคือเดือนกรกฎาคมเพราะกระซู่จะมาชุมนุมกันใต้ดวงจันทร์เต็มดวง ในมาลายามีคำบอกเล่าว่านอกระซู่กลวงเป็นโพรง สามารถใช้เป็นท่อสำหรับหายใจและฉีดน้ำ ในมาลายาและเกาะสุมาตรามีความเชื่อว่าแรดผลัดนอทุกปีและฝังมันไว้ใต้พื้นดิน ในเกาะบอร์เนียว มีคำบอกเล่าว่ากระซู่มีพฤติกรรมการกินเนื้อที่แปลก หลังจากขับถ่ายในลำธารแล้ว มันก็หันกินปลาที่มึนงงจากมูลของมัน

ในประวัติศาสตร์ไทย มีข้อความพรรณนาถึงการละเล่นชนแรดในสมัยอยุธยา ปรากฏในวรรณคดีสมุทรโฆษคำฉันท์ รวมถึงการบันทึกของชาวตะวันตก ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนานหรือเป็นมหรสพอย่างหนึ่งของผู้คนในสมัยนั้น เช่นเดียวกับเสือสู้กับช้าง โดยผู้ที่เลี้ยงแรดเรียกกันว่า ควาญ เช่นเดียวกับช้าง การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดถึงขั้นตัวที่แพ้เป็นฝ่ายหงายท้องล้มตึง เชื่อกันว่าแรดที่ใช้ชนกันนั้นคือ กระซู่ และหนึ่งในนั้นเชื่อกันว่าเป็นกระซู่ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย

การเผยแพร่ในสื่อ

 
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า
  • ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า ซึ่งหนึ่งในนั้นด้านหลังเหรียญเป็นรูปกระซู่ ยืนหันหน้าไปทางขวา ตัวเหรียญมีราคา 50 บาท
  • เพราะชื่อเสียงในหลาย ๆ ด้านของกระซู่ จึงได้มีการพิมพ์แสตมป์เป็นรูปกระซู่เป็นจำนวนหลาย ๆ ครั้ง เช่น แสตมป์ราคา 25 เซนต์ของบอร์เนียวเหนือ แสตมป์ราคา 75 เซน พ.ศ. 2503 และ แสตมป์ชุดองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลของประเทศอินโดนีเซียที่พิมพ์ในปี พ.ศ. 2539 เป็นต้น

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Grubb, Peter (16 November 2005). "Order Perissodactyla (pp. 629-636)". In Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). p. 635. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494
  2. van Strien, N.J., Manullang, B., Sectionov, Isnan, W., Khan, M.K.M, Sumardja, E., Ellis, S., Han, K.H., Boeadi, Payne, J. & Bradley Martin, E. (2008). Dicerorhinus sumatrensis. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 28 November 2008.
  3. Rookmaaker, L.C. (1984). "The taxonomic history of the recent forms of Sumatran Rhinoceros (Dicerorhinus sumatrensis)". Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society. 57 (1): 12–25.
  4. Derived from range maps in:
    • Foose, Thomas J. and van Strien, Nico (1997). Asian Rhinos – Status Survey and Conservation Action Plan. IUCN, Gland, Switzerland, and Cambridge, UK. ISBN 2-8317-0336-0.
      and
    • Dinerstein, Eric (2003). The Return of the Unicorns; The Natural History and Conservation of the Greater One-Horned Rhinoceros. New York: Columbia University Press. ISBN 0-231-08450-1.
      This map does not include unconfirmed historical sightings in Laos and Vietnam or possible remaining populations in Burma.
  5. โลกสีเขียว กระซู่ แฟ้มสัตว์โลก
  6. Wilson, D. E., and Reeder, D. M. (eds), ed (2005). Mammal Species of the World (3rd edition ed.). โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ISBN 0-8018-8221-4
  7. The Art of Rhinoceros Horn Carving in China (1999), p. 27. Jan Chapman. Christie’s Books. ลอนดอน
  8. The Golden Peaches of Samarkand: A study of T’ang Exotics (1963), p 83. Edward H. Schafer. มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และ ลอสแอนเจลิส First paperback edition: 1985.
  9. Dinerstein, Eric (2003). The Return of the Unicorns; The Natural History and Conservation of the Greater One-Horned Rhinoceros. นิวยอร์ก: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย. ISBN 0-231-08450-1.
  10. Rookmaaker, Kees (2005). "First sightings of Asian rhinos". ใน Fulconis, R. (บ.ก.). Save the rhinos: EAZA Rhino Campaign 2005/6. London: European Association of Zoos and Aquaria. p. 52.
  11. Morales, Juan Carlos (1997). "Mitochondrial DNA Variability and Conservation Genetics of the Sumatran Rhinoceros". Conservation Biology. 11 (2): 539–543. doi:10.1046/j.1523-1739.1997.96171.x. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  12. Liddell, Henry G. (1980). Greek-English Lexicon (Abridged ed.). Oxford: Oxford University Press. ISBN 0-19-910207-4. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  13. van Strien, Nico (2005). "Sumatran rhinoceros". ใน Fulconis, R. (บ.ก.). Save the rhinos: EAZA Rhino Campaign 2005/6. London: European Association of Zoos and Aquaria. pp. 70–74.
  14. International Commission on Zoological Nomenclature (1977). "Opinion 1080. Didermocerus Brookes, 1828 (Mammalia) suppressed under the plenary powers". Bulletin of Zoological Nomenclature, 34:21–24.
  15. Asian Rhino Specialist Group (1996). Dicerorhinus sumatrensis ssp. sumatrensis. 2007 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2007. Retrieved on January 13, 2008.
  16. Sandra Sokial (15 September 2015). "Sumatran rhinos living on borrowed time in Sabah". The Rakyat Post. Retrieved 30 September 2015
  17. Asian Rhino Specialist Group (1996). Dicerorhinus sumatrensis ssp. harrissoni. 2007 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2007. Retrieved on January 13, 2008.
  18. Groves, C.P. (1965). "Description of a new subspecies of Rhinoceros, from Borneo, Didermocerus sumatrensis harrissoni". Saugetierkundliche Mitteilungen. 13 (3): 128–131.
  19. Asian Rhino Specialist Group (1996). Dicerorhinus sumatrensis ssp. lasiotis. 2007 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2007. Retrieved on January 13, 2008.
  20. Tougard, C. (2001). "Phylogenetic relationships of the five extant rhinoceros species (Rhinocerotidae, Perissodactyla) based on mitochondrial cytochrome b and 12s rRNA genes". Molecular Phylogenetics and Evolution. 19 (1): 34–44. doi:10.1006/mpev.2000.0903. PMID 11286489. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  21. Xu, Xiufeng (1 November 1996). "The Complete Mitochondrial DNA Sequence of the Greater Indian Rhinoceros, Rhinoceros unicornis, and the Phylogenetic Relationship Among Carnivora, Perissodactyla, and Artiodactyla (+ Cetacea)". Molecular Biology and Evolution. 13 (9): 1167–1173. PMID 8896369. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  22. Lacombat, Frédéric (2005). "The evolution of the rhinoceros". ใน Fulconis, R. (บ.ก.). Save the rhinos: EAZA Rhino Campaign 2005/6. London: European Association of Zoos and Aquaria. pp. 46–49.
  23. Groves, C. P. (1983). "Phylogeny of the living species of rhinoceros". Zeitschrift fuer Zoologische Systematik und Evolutionsforschung. 21: 293–313.
  24. Cerdeño, Esperanza (1995). "Cladistic Analysis of the Family Rhinocerotidae (Perissodactyla)" (PDF). Novitates. American Museum of Natural History (3143). ISSN 0003-0082.
  25. Orlando, Ludovic (2003). "Ancient DNA analysis reveals woolly rhino evolutionary relationships". Molecular Phylogenetics and Evolution. 28 (2): 485–499. doi:10.1016/S1055-7903 (03) 00023-X Check |doi= value (help). Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help); Unknown parameter |month= ignored (help)
  26. Groves, Colin P., and Fred Kurt (1972). "Dicerorhinus sumatrensis" (PDF). Mammalian Species (21): 1–6. doi:10.2307/3503818.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  27. van Strien, N.J. (1974). "Dicerorhinus sumatrensis (Fischer), the Sumatran or two-horned rhinoceros: a study of literature". Mededelingen Landbouwhogeschool Wageningen. 74 (16): 1–82.
  28. หนังสือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน (กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543) โดย กองทุนสัตว์ป่าโลก ISBN 974-87081-5-2
  29. สารคดี แกะรอยกระซู่ นับถอยหลังวันสูญพันธุ์ ? ฉบับที่ 177 ISSN 0857-1538
  30. Foose, Thomas J. and van Strien, Nico (1997). Asian Rhinos – Status Survey and Conservation Action Plan. IUCN, Gland, Switzerland, and Cambridge, UK. ISBN 2-8317-0336-0.
  31. Dean, Cathy (2005). "Habitat loss". ใน Fulconis, R. (บ.ก.). Save the rhinos: EAZA Rhino Campaign 2005/6. London: European Association of Zoos and Aquaria. pp. 96–98. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  32. ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย กระซู่ ข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
  33. Scott, C. (2004). "Optimization of novel polymorphic microsatellites in the endangered Sumatran rhinoceros (Dicerorhinus sumatrensis)". Molecular Ecology Notes. 4: 194–196. doi:10.1111/j.1471-8286.2004.00611.x. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help); More than one of |pages= และ |page= specified (help)
  34. Julia Ng, S.C. (2001). "Wallows and Wallow Utilization of the Sumatran Rhinoceros (Dicerorhinus Sumatrensis) in a Natural Enclosure in Sungai Dusun Wildlife Reserve, Selangor, Malaysia". Journal of Wildlife and Parks. 19: 7–12. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  35. Vellayan, S. (2004). "Trypanosomiasis (surra) in the captive Sumatran rhinoceros (Dicerorhinus sumatrensis sumatrensis) in Peninsular Malaysia". Proceedings of the International Conference of the Association of Institutions for Tropical Veterinary Medicine. 11: 187–189. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  36. Borner, Markus (1979). A field study of the Sumatran rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis Fischer, 1814: Ecology and behaviour conservation situation in Sumatra. Zurich: Juris Druck & Verlag. ISBN 3-260-04600-3.
  37. Lee, Yook Heng (1993). "The Mineral Content of Food Plants of the Sumatran Rhino (Dicerorhinus sumatrensis) in Danum Valley, Sabah, Malaysia". Biotropica. 3 (5): 352–355. doi:10.2307/2388795. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  38. Dierenfeld, E.S. (2006). "Intake, utilization, and composition of browses consumed by the Sumatran rhinoceros (Dicerorhinus sumatrensis harissoni) in captivity in Sabah, Malaysia". Zoo Biology. 25 (5): 417–431. doi:10.1002/zoo.20107. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  39. von Muggenthaler, Elizabeth (2003). "Songlike vocalizations from the Sumatran Rhinoceros (Dicerorhinus sumatrensis)". Acoustics Research Letters Online. 4 (3): 83. doi:10.1121/1.1588271. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help); |access-date= requires |url= (help)
  40. Zainal Zahari, Z. (2005). "Reproductive behaviour of captive Sumatran rhinoceros (Dicerorhinus sumatrensis)". Animal Reproduction Science. 85 (3–4): 327–335. doi:10.1016/j.anireprosci.2004.04.041. PMID 15581515. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  41. Zainal-Zahari, Z. (2002). "Gross Anatomy and Ultrasonographic Images of the Reproductive System of the Sumatran Rhinoceros (Dicerorhinus sumatrensis)". Anatomia, Histologia, Embryologia: Journal of Veterinary Medicine Series C. 31 (6): 350–354. doi:10.1046/j.1439-0264.2002.00416.x. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  42. Roth, T.L. (2006). "New hope for Sumatran rhino conservation (abridged from Communique)". International Zoo News. 53 (6): 352–353. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  43. Roth, T.L. (2001). "Ultrasound and endocrine evaluation of the ovarian cycle and early pregnancy in the Sumatran rhinoceros, Dicerorhinus sumatrensis". Reproduction. 121 (1): 139–149. doi:10.1530/rep.0.1210139. PMID 11226037. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  44. Roth, T.L. (2003). "Breeding the Sumatran rhinoceros (Dicerorhinus sumatrensis) in captivity: behavioral challenges, hormonal solutions". Hormones and Behavior. 44: 31.
  45. Rookmaaker; L. C. (1998). The rhinoceros in captivity: a list of 2439 rhinoceroses kept from Roman times to 1994. Kugler Publications. pp. 125–. ISBN 978-90-5103-134-8.
  46. Rabinowitz, Alan (1995). "Helping a Species Go Extinct: The Sumatran Rhino in Borneo". Conservation Biology. 9 (3): 482–488. doi:10.1046/j.1523-1739.1995.09030482.x.
  47. van Strien, Nico J. (2001). "Conservation Programs for Sumatran and Javan Rhino in Indonesia and Malaysia". Proceedings of the International Elephant and Rhino Research Symposium, Vienna, June 7–11, 2001. Scientific Progress Reports. line feed character in |journal= at position 42 (help)
  48. The Star, 1986. "Rare rhino dies in Bangkok." Saturday, November 22 nd, 1986. Kuala Lumpur
  49. L. C. Rookmaaker,Heinz-Georg Klös, "The rhinoceros in captivity", pp.135
  50. "Andalas - A Living Legacy". Cincinnati Zoo. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04.
  51. "It's a Girl! Cincinnati Zoo's Sumatran Rhino Makes History with Second Calf". Cincinnati Zoo. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04.
  52. "Meet "Harry" the Sumatran Rhino!". Cincinnati Zoo. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04.
  53. Watson, Paul (April 26, 2007). "A Sumatran rhino's last chance for love". The Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04.
  54. "Emi, In Loving Memory". Cincinnati Zoo. สืบค้นเมื่อ 2016-02-16.
  55. "LAST SUMATRAN RHINO IN WESTERN HEMISPHERE IS LEAVING THE CINCINNATI ZOO". Cincinnati Zoo. สืบค้นเมื่อ 2016-02-16.
  56. "The Littlest Rhino". Asia Geographic. สืบค้นเมื่อ 2007-12-06.
  57. "The Forgotten Rhino". NHNZ. สืบค้นเมื่อ 2007-12-06.
  58. "Rhinos alive and well in the final frontier". New Straits Times (Malaysia). July 2, 2006.
  59. "Rhino on camera was rare sub-species: wildlife group". Agence France Presse. April 25, 2007.
  60. Video of the Sumatran Rhinoceros is available on the World Wildlife Fund web site.
  61. หน้า 3, ชนแรดมหรพสพสยาม. "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง. ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21811: วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560 แรม 4 ค่ำ เดือน 11 ปีระกา
  62. กรมธนารักษ์ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า ข้อมูลเหรียญและผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Sumatran Rhino caught first time on Camera in Borneo • Newborn Sumatran Rhino • Sumatran Rhinos and baby in Cincinnati zoo YouTube
  • Sumatran Rhino Info & Sumatran Rhino Pictures on the Rhino Resource Center
  • Sumatran Rhino at Arkive.
  • Information on the Sumatran Rhino from the International Rhino Foundation
  • Asian Rhino Foundation
  • Rhino and Forest Fund

กระซ, แรดส, มาตรา, วงเวลาท, ตอย, early, pleistocene, recent, preЄ, สถานะการอน, กษ, เส, ยงข, นว, กฤต, อการส, ญพ, นธ, iucn, การจำแนกช, นทางว, ทยาศาสตร, อาณาจ, กร, animaliaไฟล, chordataช, mammaliaอ, นด, perissodactylaวงศ, rhinocerotidaeสก, dicerorhinus, gloger, 1. krasu aerdsumatra 1 chwngewlathimichiwitxyu Early Pleistocene Recent PreYe Ye O S D C P T J K Pg N sthanakarxnurksesiyngkhnwikvtitxkarsuyphnthu IUCN 3 1 2 karcaaenkchnthangwithyasastrxanackr Animaliaiflm Chordatachn Mammaliaxndb Perissodactylawngs Rhinocerotidaeskul Dicerorhinus Gloger 1841spichis D sumatrensischuxthwinamDicerorhinus sumatrensis Fischer 1814 3 karkracayphnthukhxngkrasu samarthkhlikbnaephnthithinxasykhxngkrasuinpccubnid odycaaesdngchuxkhxngphunthithimikrasuxasyxyu 4 chnidyxyDicerorhinus sumatrensis harrissoniDicerorhinus sumatrensis sumatrensis Dicerorhinus sumatrensis lasiotis krasu aerdsumatra hrux aerdkhn 5 xngkvs Sumatran Rhinoceros 6 chuxwithyasastr Dicerorhinus sumatrensis epnstweliynglukdwynminxndbstwkibkhicaphwkaerd krasuepnaerdthimikhnadelkthisudinolk aelaepnaerdephiyngchnidediywthixyuinskul Dicerorhinus milksnaednkhuxmi nx 2 nx ehmuxnaerdaexfrika odynxcaimtngyawkhunmaehmuxnaerdchwa nxhnaihykwanxhlng odythwipyaw 15 25 sm latwmikhnhyabaelayawpkkhlum emuxotetmthisung 120 145 sm crdhwihl yaw 250 sm aelaminahnk 500 800 kk krasuxasyxyuinpadibchun paphru aela paemkhinpraethsxinediy phutan bngklaeths phma law ithy maelesiy xinodniesiy aelacin odyechphaaxyangyinginmnthleschwn 7 8 pccubn krasuthukkhukkhamcnxyuinkhnwikvti ehluxsngkhmprachakrephiynghkaehlnginpa misiaehlnginsumatra hnungaehlnginbxreniyw aelaxikhnungaehlnginmaelesiytawntk canwnkrasuinpccubnyakthicapramankaridephraaepnstwsnodsthimiphisykracdkracayepnwngkwang aetkhadwaehluxxyuimthung 100 tw saehtuxndbaerkkhxngkarldlngkhxngcanwnprachakrkhuxkarlaexanxsungmikhamakinkaraephthyaephncin khayidthung 30 000 dxllarshrthtxkiolkrmintladmud 9 nxkcakniyngthukkhukkhamthinxasycakxutsahkrrmpaimaelaekstrkrrmkrasuepnstwsnodsmkxyuephiynglaphngtwediywykewnchwngcbkhuphsmphnthuaelaeliyngdulukxxn krasuepnaerdthieplngesiyngrxngmakthisudkarsuxsarkhxngkrasuyngrwmthungkartharxngrxydwyetha bidngximhnumepnrupaebbtang aelakarthaymulaelalaxxngeyiyw mikarsuksainkrasumakkwaaerdchwasungepnstwsnodsehmuxnkn ephraaopraekrmthinakrasu 40 twmasukrngeliyngthimiepahmayephuxxnurksspichisniiw intxnaerkopraekrmnithuxwaprasbkhwamlmehlw mikrasutaycanwnmakaelaimmikarihkaenidlukkrasuelyekuxb 20 pi karsuyesiykrasuinopraekrmmakkwakarsuyesiykrasuinpaesiyxik enuxha 1 xnukrmwithanaelachux 1 1 wiwthnakar 2 lksna 3 karkracayphnthuaelathinxasy 4 phvtikrrm 4 1 xahar 4 2 karsuxsar 4 3 karsubphnthu 5 karxnurks 5 1 krasuinkrngeliyng 6 krasuinechingwthnthrrm 6 1 karephyaephrinsux 7 duephim 8 xangxing 9 aehlngkhxmulxunxnukrmwithanaelachux aekikhtamthimikarbnthukinexksar inpi ph s 2336 mikaryingkrasuidthibriewnhangcakfxrt marlobrawk Fort Marlborough 16 kiolemtr iklkbchayfngdantawntkkhxngsumatra ocesf aebngs Joseph Banks nkthrrmchatiwithyasungkhnannepnnaykkhxngrachsmakhmaehngkrunglxndxnidrbphaphwadaelaraylaexiydkhxngkrasu aelaidtiphimphexksarbnphunthankhxngtwxyanginpinn cnkrathngpi ph s 2357 krasucungidrbkartngchuxwithyasastrody oyhnn fisekhxr fxn wldihm Johann Fischer von Waldheim chaweyxrmn nkwithyasastraelaphntharksaehngphiphithphnthdarwinsettaehngmxsok praethsrsesiy 10 11 chux Dicerorhinus sumatrensis macakkhainphasakrik di di aeplwa sxng cero keras aeplwa ekha hrux nx aela rhinos rinos aeplwa cmuk 12 Sumatrensis macaksumatra ekaainpraethsxinodniesiyepnthiphbkrasuepnkhrngaerk 13 erimaerkkhaorls lineniyscaaenkaerdthnghmdxyuinskul Rhinoceros dngnnkrasucungcaaenkepn Rhinoceros sumatrensis inpi ph s 2371 ocshw bruks Joshua Brookes phicarnawakrasumisxngnxkhwrmiskulthitangcakskul Rhinoceros sungepnaerdnxediyw ekhacungtngchuxskulihmwa Didermocerus inpi ph s 2384 khxnsthnthin wilehxlm lmebxrth klxekxr Constantin Wilhelm Lambert Gloger idesnxchuxepn Dicerorhinus inpi ph s 2411 cxhn exdward ekry John Edward Gray esnxchuxepn Ceratorhinus odypktiaelwcanachuxekasudmaich aetephraakdeknththikahndinpi ph s 2520 odykhnakrrmkarrabbchuxxnukrmwithanstwsakl chuxskulkhxngkrasucungepn Dicerorhinus 3 14 krasumisamspichisyxy D s sumatrensis hrux aerdsumatratawntk miehluxxyuraw 75 85 twethann swnihyphbxyuinxuthyanaehngchati Bukit Barisan Selatan aela Gunung Leuser bnekaasumatra pccykhukkhamhlkkhxngspichisyxynikhuxkarsuyesiythinxasyaelakardkcbxyangphidkdhmay mikhwamaetktangthangphnthukrrmelknxyrahwangaerdsumatratawntkaelatawnxxk 15 krasuinthangmaelesiytawntkmixikchuxhnungkhux D s niger aetphayhlngphbwaepnspichisyxyediywkbkrasuthangtawntkkhxngsumatra 3 D s harrissoni hrux aerdsumatratawnxxk hrux aerdbxreniyw phbtlxdthngekaabxreniyw pccubnkhadwasuyphnthuipcakthrrmchatiaelw ehluxephiyng 3 twinthieliyng epntwphu 1 tw aelatwemiyxik 2 tw sungthngsamtwniimphrxmthicaphsmphnthu twemiythngkhu chux Puntung and Iman misukhphaphthiimdi aelaimphrxmthicatngthxng swntwphuephiyngtwediyw chux Tam mixtrakarsrangxsucithita aelaxxnaex 16 nxkcakniyngmiraynganthiimmikaryunynwaphbaerdbxreniywinrthsarawkaelakalimntn 17 chuxkhxngspichisyxynitngkhunepnekiyrtiaek thxm aehrrisn Tom Harrisson phusungthanganindanstwwithyaaelamanusywithyainbxreniywxyangyawnaninkhristthswrrs 1960 18 aerdbxreniywmikhnadelkkwaxiksxngspichisyxy 3 D s lasiotis hrux aerdsumatraehnux epnspichisyxyediywthimikarkracayphnthuinpraethsxinediyaelapraethsbngklaeths aetidprakaswamikarsuyphnthucakpraethsehlannipaelw miraynganthiimidrbkaryunynwamiprachakrklumelk thiyngehluxrxdinpraethsphmaaelasthankarnthangkaremuxnginpraethskimxanwyihthakarphisucnkhxethccringid 19 chux lasiotis macakphasakrikephuxaesdngthunglksna huetmipdwykhn cakkarsuksainphayhlngphbwakhnthihuimidyawipkwakrasuspichisyxyxunely aet D s lasiotis yngkhngepnspichisyxyxyukephraamikhnadihykwaspichisyxyxun 3 wiwthnakar aekikh brrphburuskhxngaerdidwiwthnakaraeyktwxxkcakstwkibkhixunkhrngaerkinsmytxntnyukhaerkerimthistweliynglukdwynmthuxkaenidkhunma Eocene karepriybethiybthangimotkhxnedriydiexnex Mitochondrial DNA aesdngwabrrphburuskhxngaerdinpccubnaeyktwcakbrrphburuskhxngmaraw 50 lanpimaaelw 20 21 inwngsthiehluxxyuinpccubn aerdpraktkhunkhrngaerkintxnplayyukhxioxsininthwipyuerechiy aelabrrphburuskhxngaerdinpccubnmikarkracayphnthucakexechiyinyukhimoxsin Miocene 9 22 krasumilksnathiidrbmacakbrrphburussmyimoxsinnxythisudinbrrdaaerddwykn 9 inkarsuksahlkthanthangbrrphchiwinwithyainxayusakdukdabrrphskul Dicerorhinus xyuintxntnyukhimoxsinhruxpraman 23 16 lanpimaaelw khxmulthangomelkulaesdngwa Dicerorhinus aeykcakspichisxunyxnipiklthung 25 9 1 9 lanpi mismmutithansamkhxthikhwamsmphnthrahwangkrasukbaerdchnidxun khxhnungkrasuepnyatiiklchidkbaerdkhawaelaaerddahlkthankkhuxaerdthngsxngchnidmisxngnx 20 klumthisxng nkxnukrmxun khidwakrasumilksnakhlaykhlungkbchnidthiepnphinxngkhuxaerdchwaephraakarkracayphnthusxnthbknmak 20 23 klumsudthaythiephingmikarwiekhraahemuxerw niesnxwaaerdaexfrikasxngchnid aerdexechiysxngchnid aelakrasu aesdngihehnthungechuxsaythiaeykepnsamsayemuxpraman 25 9 lanpimaaelw dwyehtunicungimchdecnehmuxndngthiaeykiwintxnaerk 20 24 ephraamilksnakhlaykn cungechuxwakrasuepnyatiiklchnidkbaerdkhnyaw Coelodonta antiquitatis aerdkhnyawsungtngchuxtamlksnathimikhnyaw phbkhrngaerkthipraethscininyukhiphlsotsintxnplay Pleistocene kracaytwxyuinthwipyuerechiycakekahlithungsepn aerdkhnyawxyurxdcnthungplayyukhnaaekhngehmuxnkbchangaemmmxthkhnyaw thnghmdsuyphnthuipemux 10 000 pikxn emuxaemkarsuksaechingsnthanwithyacamikhxsngsyinkhwamiklchid 24 aetkarwiekhraahthangomelkulemuxerw niyunynwathngsxngchnidepnphinxngthimilksnakhlaykhlungkn 25 misakdukdabrrphhlaychinidrbkarrabuwaepnsmachikkhxng Dicerorhinus aetkimmispichisihminskulni 26 lksna aekikh okhrngkradukkhxngkrasu krasuthiotetmthimikhwamsungcrdhwihlpraman 120 145 sm latwyawpraman 250 sm minahnk 500 800 kk thungaemwacamikrasubangtwinswnstwthihnkmakkwa 1000 kk krasuehmuxnkbaerdinaexfrikathimisxngnx nxihyxyubriewncmuk odythwipmikhnad 15 25 sm yawthisudethathimibnthukiwkhux 81 sm 27 nxdanhlngmikhnadelkkwamak pktiaelwcayawnxykwa 10 sm aelabxykhrngthiepnaekhpumkhunma nxmisiethaekhmhruxsida ephsphuminxihykwaephsemiyhruxinephsemiybangtwxacimminxin 5 aelaimmilksnaaebngephsthiednchdxunxik krasumixayuodypraman 30 45 piemuxxyutamthrrmchati mibnthukthung D lasiotis ephsemiyinkrngeliyngwamixayu 32 pi 8 eduxnkxnthicataylnginswnstwlxndxninpi ph s 2443 26 mihnngphbynkhnadihysxngwngrxbthilatwbriewnhlngkhahnaaelakxnkhahlng thikhxmirxyphbynelknxyrxbkhxaelarxbta rimfipakbnaehlmepncangxy 5 hnnghna 10 16 mm misinatalxmetha 5 rimfipakaelaphiwhnngitthxngbriewnkhamisienux 28 krasutamthrrmchatiimphbikhmnithnng mikhnpkkhlumhnaaennthungelknxy inlukkrasucapkkhlumhnaaenn pkticamisinatalaedng inthrrmchatikrasucaimkhxymikhnihehnidchdecnnkephraaekidcakkarlngaechplk aetinkrngeliyngkrasucamikhnngxkxxkma hyab khadwaephraamikaresiydsikbphumiminewlaedinnxymak krasumikhnyawbriewnrxbhuaelapkkhlumbriewnhlngipthungplayhangsungmiphiwhnngbang krasuehmuxnkbaerdthukchnid misaytathiaey aetprasathhuaelaprasathrbklindimak 29 krasuekhluxnthiiderwaelakrachbkraechng mnsamarthitekhasungchnaelawaynaekng 13 26 27 karkracayphnthuaelathinxasy aekikh xuthyanaehngchatithamnenkaraepnthiaehngediywthithrabwamiprachakrkrasuxyu paemkhinrthsabah bxreniyw krasuxasyxyuidthngphunrabaelathisunginpadibchun paphru aelapaemkh inbriewnthietmipdwyeninsungchniklkbaehlngnaodyechphaahublatharsungchnthietmipdwyphumim krasumikarkracayphnthutngaettxnehnuxkhxngphma thangtawnxxkkhxngxinediy aelabngkhlaeths yngmiraynganthiimidrbkaryunynwaphbkrasuinkmphucha law aela ewiydnam aetprachakrethathithrabwayngmiehluxrxdnn xyuinmaelesiytawntk ekaasumatra aelarthsabahbnekaabxreniyw nkxnurksthrrmchatibangkhnhwngwaxacyngmikrasuhlngehluxxyuinphmathungaemwamnxacimnaepnipid pyhakhwamyungehyingthangkaremuxngkhxngphmathaihkarpraeminhruxkarsuksakhxngkhwamnacaepnkhxngkrasuthikhadwacahlngehluxxyuimsamarthkrathaid 30 krasumiphisykracdkracayepnwngkwangmakkwaaerdexechiychnidxun thaihyaktxkarxnurksspichisniihidphl 30 miephiynghkaehngethannthimikrasuxyuknepnsngkhmkhux xuthyanaehngchatibukit barissn slatn Bukit Barisan Selatan xuthyanaehngchatikunnung lxusesr Gunung Leuser xuthyanaehngchatikrinci esxblt Kerinci Seblat aela xuthyanaehngchatiway kmbs Way Kambas bnekaasumatra xuthyanaehngchatithamnenkarainmaelesiytawntk aela ekhtrksaphnthustwpatabin Tabin inrthsabah praethsmaelesiybnekaabxreniyw 9 31 inpraethsithyexngkmiraynganthungkarphbkrasuinhlay aehngidaek ekhtrksaphnthustwpaphuekhiyw xuthyanaehngchatiaekngkracan xuthyanaehngchatiekhask ekhtrksaphnthustwpakhlxngaesng ekhtrksaphnthustwpathungihynerswr 29 aetinpccubnkhadwayngmikrasuhlngehluxxyuaekhthiekhtrksaphnthustwpahala balabriewnpahalabala 29 28 aetkimmikarphbehnmananaelwthaihkrasucdepnstwthisuyphnthuipcakthrrmchati EW aelwinpraethsithy 32 karwiekhraahthangphnthusastrinprachakrkhxngkrasusamarthrabuechuxsaythangphnthukrrmthitangknidsamsay 11 chxngaekhbrahwangsumatraaelamaelesiyimepnxupsrrkhtxkrasuehmuxnkbphuekhabarisn Barisan dngnnkrasuinsumatratawnxxkaelamaelesiytawntkcungmikhwamiklchidknmakkwakrasuinxikdankhxngphuekhainsumatratawntk krasuinsumatratawnxxkaelamaelesiyaesdngkhwamaetktangthangdanphnthukrrmephiyngelknxy sunghmaythungprachakrimidaeykcakkninsmyiphlsotsin xyangirktamprachakrkrasuthnginsumatraaelamaelesiythimikhwamiklekhiyngkninthangphnthukrrmmakcnsamarthphsmphnthuknidxyangimepnpyha krasuinbxreniywnntangxxkipepnphiesswaephuxkarxnurkskhwamphnaeprkhxngphnthukrrmkhwrcafunphsmkhamkbechuxsayprachakrxun 11 emuxerw ni mikarsuksakarxnurkskhwamphnaeprkhxngphnthukrrmodysuksakhwamhlakhlaykhxngcinphul gene pool inprachakrodykarrabubimokhraesththlilth olis microsatellite loci phlthdsxbinebuxngtnphbwaemuxepriybethiybradbkhxngkhwamhlakhlayinprachakr krasunnmikhwamhlakhlaynxykwaaerdaexfrikathiiklsuyphnthu aetkhwamhlakhlaythangphnthukrrmkhxngkrasuyngkhngtxngmikarsuksatxip 33 phvtikrrm aekikhkrasuepnstwsnodspkticaxyuephiynglaphngtwediywykewnchwngewlacbkhuphsmphnthuaelaeliyngdulukxxn twphucamixanaekhtpraman 50 km2 khnathitwemiymixanaekhtpraman 10 15 km2 13 xanaekhtkhxngtwemiycaaeykcakkn khnathitwphubxykhrngcamixanaekhtehluxmsxnkn immihlkthanaenchdwakrasumikartxsuephuxpkpxngxanaekht emuxtxsuhruxpxngkntw krasucaimichnxphungchnehmuxnaerdchnidxun aetcaichrimfipaksungepnrupsamehliymngbaethn 28 thaihkhadknwakrasuminxephuxichdnsingkidkhwangesiymakkwa 29 karbxkxanaekhtkrathaodykarkhudphiwdindwyetha karngximhnumdwyrupaebbthiaetktang aelakarthaymul laxxngeyiyw 5 krasuxxkhaxaharemuxrungechaaelahlngewlaeynkxnkha rahwangwnkrasucanxnekluxkklinginplkokhlnephuxphxnkhlayaelaphkphxn invdufnkrasucayaythinsuphunthisung invduhnawkcayayklbmathiphunrab 13 krasukalngnxnaechplk inswnstwsinsinnati krasucaichewlaswnihykhxngwnhmdipkbkaraechplkokhln emuxmnhaplkokhlnimidkrasucakhuddinelndwykhaaelanxephuxsrangplk karaechplkokhlnnicachwykrasurksaradbxunhphumikhxngrangkayaelachwypxngknphiwhnngkhxngmncakprsitphaynxkaelaaemlngxun cakkrasutwxyangthicbid emuxkrasuimidnxnaechplkxyangephiyngphx phiwhnngkhxngmncaaetkaelaxkesbxyangrwderw aephlepnhnxng tamipyha elbxkesb khnrwng aelatayinthisud cakkarsuksaphvtikrrmkarnxnaechplkokhlnepnewla 20 eduxnkhxngkrasuphbwakrasucaipthiplkokhlnimekin 3 plkinchwngrayaewlathisuksa hlngcak 2 12 spdahthiichplkedim krasukcalathingplknnip odypktikrasucaipaechplkraw ethiyngwn aechxyuraw 2 3 chwomngkxnxxkiphaxahar thungaemwacakkarsngektkrasuinswnstwcanxnaechplknxykwa 45 nathitxwn aetcakkarsuksakrasuinthrrmchaticanxnaechplk 80 300 nathi echliythi 166 nathi txwn 34 michxngthangephiyngelknxythicasuksathungrabadwithyainkrasu miraynganwaaemlngdudkineluxdepnxahar echn hmd ir ehb aelaaemlngwntwebiyninskul gyrostigma epnsaehtukartaykhxngkrasuinkrngeliynginkhriststwrrsthi 19 27 epnthiruknwakrasuepnorkhphyathiineluxdidngaysungmitwehluxbepnphahanaprsitcaphwk trypanosome ma inpi kh s 2004 krasuhatwinsunyxnurkskrasutayphayin 18 wnhlngcaktidorkh 35 krasuimmistruthangthrrmchatixunnxkcakmnusy esuxokhrngaelahmapaxacsamarthlalukkrasuid aetlukkrasucaxyukbaemtlxdewla khwamthikhxngkarthuklacungimxacepnthithrabid thungaemkrasucamixanaekhtsxnthbkbchangaelasmesrcaetstwehlaniimpraktkaraekhngkhnknthangdanxaharaelathinxasy changaelakrasucaichdanrwmkn stwelk xyangkwang hmupa aelahmapa kcaichdanthikrasuaelachangsrangkhundwyechnkn 13 36 krasumidansxngpraephthinxanaekht danhlkichthxngethiywrahwangbriewnsakhyinxanaekhtkhxngkrasu echn opng hruxrahwangbriewnthiaeykxxkcakknodyphumipraethsthiimehmaakbkarxyuxasy danthangedinthikrasuedincaeriybolng thahakmisingkidkhwangkrasucadnsingkidkhwangihphnthang 29 inphunthihakinkrasucasrangdanthielkkwasungyngpkkhlumdwyphumimipyngbriewnthimixaharsahrbkrasu nxkcakniyngphbdankrasuthikhamaemnakwangpraman 50 m lukmakkwa 1 5 m krasuepnnkwaynathiekngsamarthwaykhamaemnathiihlaerngid 26 27 ekhymiphuphbehnkrasuwaynainthaeldwy 5 krasucaimaechplkthiiklkbaemnaxacepnephraamnlngaechnainaemnaaethnthicaaechplk 36 xahar aekikh krasukintnimhlakhlay echn ewiyntamekhmnalikacakbnsay skulprik Mallotus mngkhud skultaepdtaik Ardisia aela skulhwa Eugenia 36 37 krasuxxkhakininchwngkxnphraxathitytkaelaintxnecha krasuepnstwelmkin odykinxaharpraephth imhnum ib phl king hnx 26 aelaphlimthirwnghlntamphundin 28 pktikrasucakinxaharmakthung 50 kk txwn 13 cakmulstwtwxyang nkwicyphbxaharmakkwa 100 spichisthikrasukinekhaip swnihycaepnimhnumthimiesnphasunyklang 1 6 sm krasucadnimhnumdwylatw edinipehnuximhnumodyimehyiybthb aelalngmuxkinib phuchhlakhlaychnidthikrasukinekhaipepnaekhswnelk khxngxaharthnghmdsungaesdngwakrasucaepliynxaharaelaphvtikrrmkarkintangkniptamaetbriewnphunthi 36 phuchswnihythikrasukincaepnspichisinwngsepla wngsekhm aela wngsokhlngekhlng odythwipaelwkrasucakinphuchskulhwa 37 xaharkhxngkrasumiiyxaharsungaelamioprtinphxsmkhwr 38 dinopngepnaehlngxaharthisakhykhxngkrasu opngxacepnbriewnelk thiminaekluxhruxokhlnphuekhaifihlsumxxkma dinopngyngmikhwamsakhykhxngwtthuprasngkhthangsngkhmsahrbkrasuephsphucamathiopngaelacbklinkrasuephsemiythiepnsd xyangirktam krasubangtwnnxasyxyuinthi immiopnghruxxacepnephraakrasutwnnimsniccaichdinopngkepnid krasuxacidaerthatusakhythitxngkarcakkarkinphuchthimiaerthatunnaethn 36 37 karsuxsar aekikh krasumikareplngesiyngmakthisudinbrrdaaerddwykn 39 cakkarsngektkrasuinswnstwaesdngthungwakrasunneplngesiyngesmx aelamnruckthicathadngechninpa 27 krasusrangesiyngthiaetktangknsamesiyng xip wal aela phiwpak epa esiyngxip sn yawpraman 1 winathi epnesiyngthwipodymak walthitngchuxniephraakhlaykbkareplngesiyngkhxngwalhlngkhxm duephim bthephlngaehngwal epnkareplngesiyngkhlaykbrxngephlngaelaeplngesiyngbxyepnxndbsxng walcaaetktangknthiradbesiyngaelachwngsudthay inchwng 4 7 winathi phiwpak epathiidchuxniephraaehmuxnesiyngphiwpakyawsxngwinathiaelaepalmxxkmathnthithnidhlngcaknn phiwpak epaepnesiyngthidngthisudinbrrdakareplngesiyngthnghmd dngthungkhnadthaihaethngehlkthiichthakrngsnid wtthuprasngkhinkareplngesiyngyngimepnthithrabid aetmithvsdithiwamnaesdngthungxntray khwamphrxmthangephs aelaxun thiehmuxnkbstwkibchnidxuntha esiyngphiwpak epasamarthidyinipidiklaemkrathngindngimhnathubinthithikrasuxasyxyu kareplngesiynginradbthiiklekhiyngkbchang esiyngsamarthipidiklthung 9 8 km aeladwyehtuniesiyngphiwpak epaxacipidiklkwann 39 bangkhrngkrasucabidimhnumthimnimkin phvtikrrmniechuxwaepnrupaebbkarsuxsarthiichaesdngthangechuxmindan 36 kareplngesiyngkhxngkrasu ifl wav 39 xip wal phiwpak epakarsubphnthu aekikh krasuephsemiycaotetmthiphrxmphsmphnthuemuxxayu 6 7 pi khnathiephsphucaotetmthiphrxmphsmphnthuemuxmixayupraman 10 pi krasutngthxngpraman 15 16 eduxn odythwipkrasuminahnkaerkekid 40 60 kk mikhnaennaelasikhnxxkaedng 5 hyanmemuxxayu 15 eduxnaelaxasyxyukbaem 2 3 piaerk inthrrmchatikrasumirayatngthxngaetlakhrnghangkn 4 5 pi phvtikrrmkareliyngduluknnyngimmikarsuksa 13 karsuksakarsubphnthukhxngkrasuekidkhuninkrngeliyng emuxkrasuxyuinchwngcbkhucaerimmiphvtikrrmeplngesiyngrxngmakkhun chuhangkhun thaypssawa mikarsmphsthangrangkaymakkhunodythngephsphuaelaemiycaichcmukchnsmphsfaytrngkhambriewnsirsaaelaxwywaephs rupaebbkarkhxkhwamrknicakhlaykbaerdda krasuhnumephsphumkkawrawkbephsemiy bangkhrngxacekidkarbadecbhruxtayidinrahwangkarcbkhu inthrrmchatikrasuephsemiysamarthwinghnicakephsphuthikawrawidinkrniaebbni aetinkrngeliyngmnimsamarththaid karthiephsemiyimsamarthwinghniidniexngxacepnsaehtuhnungthithaihxtrakhwamsaercinkarkhyayphnthukrasuinkrngeliyngta 40 41 42 inchwngepnsd emuxephsemiyphsmphnthukbephsphuaelw praman 24 chwomngephsphucaekhaphsmxikinchwng 21 25 wn krasuinswnstwsinsinnatiichewlainkarphsmphnthuaetlakhrngnan 30 50 nathi sungnanphx kbaerdchnidxun karsngektkrasuthisunyxnurkskrasuinpraethsmaelesiythaiherasamarthsrupwngcrkarphsmphnthuid cakkarsngektinswnstwsinsinnati krasumichwngkarepnsdnankhlaykbaerdchnidxun chwngewlannxackhunkbphvtikrrmthangthrrmchati 40 thungaemwankwicycaekhaicinphawatngkhrrph aetklmehlwesiythukkhrngcakhlay saehtu cnkrathngpi ph s 2544 krasuinkrngeliyngcungsamarthihkaenidlukid cakkarsuksakhwamlmehlwthiswnstwsinsinnatiphbwakartkikhkhxngkrasunnthaidodykarphsmaelakrasumiradboprecsetxorn progesterone thiaeprprwn 43 khwamsaercinpi ph s 2544 nnekidcakbarungkrasuthithxngdwyoprkstin progestin 44 karxnurks aekikh krasu chnidyxy D s lasiotis ephsphuthiswnstwlxndxn sungekhyphbinxinediy phma aelaithy pccubnkhadwasuyphnthuipaelw 45 phaphnithayrawpiph s 2447 krasu chnidyxy D s lasiotis ephsemiy chux Begum inswnstwlxndxn krasumikarkracayphnthuekuxbtlxdthngexechiytawnxxkechiyngit aetinpccubnklbehluxkrasuxyuephiyng 300 twethann thungaemwakrasunncaimhayakethaaerdchwa prachakrkhxngmnkxyukracdkracayepnklumelk imehmuxnkbprachakrkhxngaerdchwathixasyxyurwmkninkhabsmuthrxucungkulxninchwa khnathicanwnaerdchwainxucungkulxnekuxbcakhngthi echuxknwacanwnkrasuklbkalngldlng IUCN mikarcdsthanakarxnurkskhxngkrasuepnthukkhukkhamcnxyuinkhnwikvtiephraacakkarlaxyangphidkdhmayaelamikarkracayphnthuinthinxasythiepnpadibchunsungthinxasythiehluxxyuepnphunthietmipdwyphuekhathiyakcaekhathunginpraethsxinodniesiy 46 47 nxkcakniaelw isetsidcdkrasuxyuinbychixnurkshmayelkh 1 aelakrasuepnstwpasngwnkhxngithytamphrarachbyytisngwnaelakhumkhrxngstwpa ph s 2535 krasuinkrngeliyng aekikh exmiaelaharapn krasusayphnthuyxy D s sumatrensis thiswnstwsinsinnati Puntung krasuchnidyxy D s harrissoni kalngaechplkinsthanephaaeliyng krasutwnicbidinrthsabah inpiph s 2554 ephuxekhaokhrngkarxnurks aemcahayak aetkmikarcdaesdngkrasuxyuinbangswnstwekuxbstwrrskhrung swnstwlxndxnidrbkrasu 2 twinpi ph s 2415 hnunginnnepnephsemiychux bikm Begum cbidthicittakxng Chittagong inpi ph s 2411 aelamichiwitrxdidthungpi ph s 2443 epnkrasuthimixayumakthisudinkrngeliyngthimibnthukiw inewlathiidrbkrasumann fillip sekhletxr Philip Sclater elkhanukarsmakhmstwsastraehnglxndxnxangwakrasutwaerkinswnstwepnkrasuthixyuinswnstwhmbwrkhtngaetpi ph s 2411 kxnthikrasuchnidyxy Dicerorhinus sumatrensis lasiotis casuyphnthu mikrasuchnidnixyangnxy 7 twinswnstwaelaornglakhrstw 27 krasumisukhphaphaelakarecriyetibotimdinkemuxxyunxkthinxasytamthrrmchati krasuinswnstwklkttaidihkaenidlukinpi ph s 2432 aetinchwngkhriststwrrsthi 20 kimmilukkrasuekidinswnstwxikely inpi ph s 2515 krasutwsudthayinkrngeliyngidtaylngthiswnstwokhepnehekn 27 praethsithyexngkekhynakrasuephsemiymacdaesdngthiswnstwdusit odyidrbphrarachthancaksmedcphrarachathibdiaehngmaelesiy michuxwa lincng aettayipinpi ph s 2529 48 49 thungaemwakarkhyayphnthukrasuinkrngeliyngcaimprasbphlsaerc aetintxntnkhxngkhristthswrrs 1980 xngkhkriderimopraekrmkhyayphnthukrasuxikkhrng inrahwangpi ph s 2527 2539 opraekrmkarxnurks ex situ idcbkrasucanwn 40 twcakthinxasyaelasngiptamswnstwaelaekhtsngwnthwolk khnathikhwamhwngintxnerimopraekrmmisungmak aelaidmikarsuksathungphvtikrrmkrasuinkrngeliyngmakmay aetemuxthungtxnplaykhristthswrrs 1990 immikrasuinopraekrmihkaenidlukaemaettwediyw inpi ph s 2540 klumechiywchayphiessinaerdexechiykhxng IUCN idekhamarbrxng prakasthungkhwamlmehlwwa aemxtrakartayepnthiyxmrbid aetimmilukkrasuekidkhunmaely aelamikrasutaythung 20 tw 9 30 inpi ph s 2547 mikarrabadkhxngorkhphyathiineluxdthaihkrasuinsunyxnurksthixyuinmaelesiytawntktaythnghmd thaihcanwnkrasuinkrngeliyngldlngehlux 8 tw 35 47 mikrasu 7 twthithuksngipshrthxemrika thiehluxxyuthiexechiytawnxxkechiyngit aetemuxthungpi ph s 2540 canwnkrasukehluxephiyngaekh 3 twkhux ephsemiythiswnstwlxsaexneclis ephsphuthiswnstwsinsinnati aelaephsemiythiswnstwbrxngs thaythisudkidyaykrasuthngsammaxyuthiswnstwsinsinnati hlngkhwamphyayamthilmehlwepnpi ephsemiycaklxsaexneclis exmi Emi ktngthxngthunghkkhrngkbephsphu xipuh Ipuh hakhrngaerkcblngdwykhwamlmehlw aetnkwicyideriynrucakkhwamlmehlwnn aeladwykarchwyehluxdwykarbabddwyhxromnphiess exmicungihkaenidlukephsphuthichux xndals Andalas khainwrrnkhdixinodniesiythiicheriyk sumatra ineduxnknyayn pi ph s 2544 50 karihkaenidxndalsnbepnkhwamsaerckhrngaerkin 112 pi thikrasusamarthihkaenidlukinkrngeliyngid lukkrasuephsemiy chux suci Suci macakphasaxinodniesiy aeplwa brisuththi kthuxkaenidepntwthdmainwnthi 30 krkdakhm ph s 2547 51 inwnthi 29 emsayn ph s 2550 exmiidihkaenidlukepnkhrngthisam epnephsphutwthisxng chux harapn Harapan macakphasaxinodniesiy aeplwa khwamhwng hrux aehrri 44 52 inpi ph s 2550 xndalskidyaycakswnstwlxsaexneclisklbsusumatraephuxekhaepnswnhnungkhxngopraekrmkhyayphnthukrasukbephsemiythimisukhphaphdi 42 53 exmiidtaylngemuxwnthi 5 knyayn 2552 54 Harapan krasutwsudthayinswnstw Cincinnati idklbsuxinodniesiy emuxpi 2558 ephuxekhasuopraekrmkarkhyayphnthu pccubnkrasuinthieliyngthnghmdxyuinxinodniesiy aelamaelesiy 55 thngthikarephaaphnthukrasuthiswnstwsinsinnatiprasbphlsaerc opraekrmkarkhyayphnthuinthieliyngkyngkhngepnthikhdaeyngknxyu phuehndwyihehtuphlwaswnstwidchwyehluxthungkhwamphyayamthicaxnurksdwykarsuksaphvtikrrmkarsubphnthu ephimkhwamtrahnkaelakarsuksainkrasuihaeksatharnchn aelachwyephimaehlngkxngthunsahrbkhwamphyayamthicaxnurkskrasuinsumatra phukhdkhanklbaeyngwa mikarsuyesiymakekinip opraekrmaephngekinip mikarekhluxnyaykrasucakthinxasy aemephiyngchwkhraw mikarprbepliynbthbaththangniewswithya aelaprachakrthicbmaekhaopraekrmimsmdulkbxtrakarphbkrasuinthinxasythangthrrmchatithiidrbkarpkpxngepnxyangdi 9 42 krasuinechingwthnthrrm aekikh phaphwadkrasuinpi kh s 1927 nxkcakkrasusxngsamtwinswnstwaelaphaphinhnngsuxaelw krasuepnthirucknxymak mkthukkhmihdxylngdwyaerdxinediy aerdda aelaaerdkhaw xyangirktam emuxerw ni khlipwidioxkhxngkrasuinthinxasytamthrrmchatiaelainsunyephaaphnthuidpraktxyuinphaphyntrsarkhdithrrmchatihlayeruxng phaphyntrthiaephrhlaykhuxphaphyntrsarkhdiphumisastrexechiy The Littlest Rhino aerdnxy Natural History New Zealand thrrmchatiprawtisastrniwsiaelnd idchayphaphyntrekiywkbkrasuthithayodytaklxngxisraechuxsayxinodniesiy xailn ocmopst Alain Compost insarkhdipi ph s 2544 The Forgotten Rhino aerdthithuklum sungmienuxeruxnghlkepnaerdchwaaelaaerdxinediy 56 57 aemwacamiraynganthungmul aelarxngrxy aetrupkhxngkrasuibaerkthithayidaelaaephrhlayxyangkwangkhwangodynkxnurksrunihmidmacakkbdkklxngthithayphaphkrasuotetmthi aekhngaerng inpakhxngrthsabahinmaelesiytawnxxkineduxnemsayn ph s 2549 58 inwnthi 24 emsayn ph s 2550 klxngidcbkhlipwidioxkhxngaerdbxreniywpaidepnkhrngaerk khlipwidioxintxnklangkhunnnidaesdngthungwakrasukinxahar edinfaphumim aelaekhamadmklxngdwykhwamsngsy xngkhkarkxngthunstwpaolksaklidichkhlipwidioxnimaphyayamthicaonmnawihrthbalthxngthinephuxepidphunthiihepnekhtxnurkskrasu 59 60 idmikarrwbrwmnithanphunbanekiywkbkrasuodynkthrrmchatiwithyainsmylaxananikhmaelanayphrantxnklangkhxngkhristthswrrs 1800 thungtxntnkhxngkhristthswrrs 1990 inphmamikhwamechuxknxyangaephrhlaywakrasuknif tananidrabubwakrasucatamkhwnmathungkxngif odyechphaaxyangyingaekhmpif aelacaocmtiaekhmp aelamichawphmathiechuxwaewlainkarlakrasuthidithisudkhuxeduxnkrkdakhmephraakrasucamachumnumknitdwngcnthretmdwng inmalayamikhabxkelawanxkrasuklwngepnophrng samarthichepnthxsahrbhayicaelachidna inmalayaaelaekaasumatramikhwamechuxwaaerdphldnxthukpiaelafngmniwitphundin inekaabxreniyw mikhabxkelawakrasumiphvtikrrmkarkinenuxthiaeplk hlngcakkhbthayinlatharaelw mnkhnkinplathimunngngcakmulkhxngmn 27 inprawtisastrithy mikhxkhwamphrrnnathungkarlaelnchnaerdinsmyxyuthya praktinwrrnkhdismuthrokhskhachnth rwmthungkarbnthukkhxngchawtawntk inrchsmysmedcphranaraynmharach epnkarelnephuxkhwamsnuksnanhruxepnmhrsphxyanghnungkhxngphukhninsmynn echnediywkbesuxsukbchang odyphuthieliyngaerderiykknwa khway echnediywkbchang kartxsuepnipxyangdueduxdthungkhntwthiaephepnfayhngaythxnglmtung echuxknwaaerdthiichchnknnnkhux krasu aelahnunginnnechuxknwaepnkrasukhxngsmedcphranaraynmharachdwy 61 karephyaephrinsux aekikh ehriyyksapnthiralukkarxnurksthrrmchatiaelastwpa inwnthi 19 phvscikayn ph s 2517 praethsithyidmikarprakasichehriyyksapnthiralukkarxnurksthrrmchatiaelastwpa sunghnunginnndanhlngehriyyepnrupkrasu yunhnhnaipthangkhwa twehriyymirakha 50 bath 62 ephraachuxesiynginhlay dankhxngkrasu cungidmikarphimphaestmpepnrupkrasuepncanwnhlay khrng echn aestmprakha 25 esntkhxngbxreniywehnux aestmprakha 75 esn ph s 2503 aela aestmpchudxngkhkarkxngthunstwpaolksaklkhxngpraethsxinodniesiythiphimphinpi ph s 2539 epntnduephim aekikhaerdxinediy aerdchwaxangxing aekikh Grubb Peter 16 November 2005 Order Perissodactyla pp 629 636 In Wilson Don E and Reeder DeeAnn M eds Mammal Species of the World A Taxonomic and Geographic Reference 3rd ed Baltimore Johns Hopkins University Press 2 vols 2142 pp p 635 ISBN 978 0 8018 8221 0 OCLC 62265494 van Strien N J Manullang B Sectionov Isnan W Khan M K M Sumardja E Ellis S Han K H Boeadi Payne J amp Bradley Martin E 2008 Dicerorhinus sumatrensis In IUCN 2008 IUCN Red List of Threatened Species Downloaded on 28 November 2008 3 0 3 1 3 2 3 3 3 4 Rookmaaker L C 1984 The taxonomic history of the recent forms of Sumatran Rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society 57 1 12 25 Derived from range maps in Foose Thomas J and van Strien Nico 1997 Asian Rhinos Status Survey and Conservation Action Plan IUCN Gland Switzerland and Cambridge UK ISBN 2 8317 0336 0 and Dinerstein Eric 2003 The Return of the Unicorns The Natural History and Conservation of the Greater One Horned Rhinoceros New York Columbia University Press ISBN 0 231 08450 1 This map does not include unconfirmed historical sightings in Laos and Vietnam or possible remaining populations in Burma 5 0 5 1 5 2 5 3 5 4 5 5 5 6 olksiekhiyw krasu aefmstwolk Wilson D E and Reeder D M eds ed 2005 Mammal Species of the World 3rd edition ed orngphimphmhawithyalycxnshxpkins ISBN 0 8018 8221 4 The Art of Rhinoceros Horn Carving in China 1999 p 27 Jan Chapman Christie s Books lxndxn The Golden Peaches of Samarkand A study of T ang Exotics 1963 p 83 Edward H Schafer mhawithyalyaekhlifxreniy ebirkely aela lxsaexneclis First paperback edition 1985 9 0 9 1 9 2 9 3 9 4 9 5 Dinerstein Eric 2003 The Return of the Unicorns The Natural History and Conservation of the Greater One Horned Rhinoceros niwyxrk orngphimphmhawithyalyokhlmebiy ISBN 0 231 08450 1 Rookmaaker Kees 2005 First sightings of Asian rhinos in Fulconis R b k Save the rhinos EAZA Rhino Campaign 2005 6 London European Association of Zoos and Aquaria p 52 11 0 11 1 11 2 Morales Juan Carlos 1997 Mitochondrial DNA Variability and Conservation Genetics of the Sumatran Rhinoceros Conservation Biology 11 2 539 543 doi 10 1046 j 1523 1739 1997 96171 x Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Liddell Henry G 1980 Greek English Lexicon Abridged ed Oxford Oxford University Press ISBN 0 19 910207 4 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help 13 0 13 1 13 2 13 3 13 4 13 5 13 6 van Strien Nico 2005 Sumatran rhinoceros in Fulconis R b k Save the rhinos EAZA Rhino Campaign 2005 6 London European Association of Zoos and Aquaria pp 70 74 International Commission on Zoological Nomenclature 1977 Opinion 1080 Didermocerus Brookes 1828 Mammalia suppressed under the plenary powers Bulletin of Zoological Nomenclature 34 21 24 Asian Rhino Specialist Group 1996 Dicerorhinus sumatrensis ssp sumatrensis 2007 IUCN Red List of Threatened Species IUCN 2007 Retrieved on January 13 2008 Sandra Sokial 15 September 2015 Sumatran rhinos living on borrowed time in Sabah The Rakyat Post Retrieved 30 September 2015 Asian Rhino Specialist Group 1996 Dicerorhinus sumatrensis ssp harrissoni 2007 IUCN Red List of Threatened Species IUCN 2007 Retrieved on January 13 2008 Groves C P 1965 Description of a new subspecies of Rhinoceros from Borneo Didermocerus sumatrensis harrissoni Saugetierkundliche Mitteilungen 13 3 128 131 Asian Rhino Specialist Group 1996 Dicerorhinus sumatrensis ssp lasiotis 2007 IUCN Red List of Threatened Species IUCN 2007 Retrieved on January 13 2008 20 0 20 1 20 2 20 3 Tougard C 2001 Phylogenetic relationships of the five extant rhinoceros species Rhinocerotidae Perissodactyla based on mitochondrial cytochrome b and 12s rRNA genes Molecular Phylogenetics and Evolution 19 1 34 44 doi 10 1006 mpev 2000 0903 PMID 11286489 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Xu Xiufeng 1 November 1996 The Complete Mitochondrial DNA Sequence of the Greater Indian Rhinoceros Rhinoceros unicornis and the Phylogenetic Relationship Among Carnivora Perissodactyla and Artiodactyla Cetacea Molecular Biology and Evolution 13 9 1167 1173 PMID 8896369 subkhnemux 2007 11 04 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Lacombat Frederic 2005 The evolution of the rhinoceros in Fulconis R b k Save the rhinos EAZA Rhino Campaign 2005 6 London European Association of Zoos and Aquaria pp 46 49 Groves C P 1983 Phylogeny of the living species of rhinoceros Zeitschrift fuer Zoologische Systematik und Evolutionsforschung 21 293 313 24 0 24 1 Cerdeno Esperanza 1995 Cladistic Analysis of the Family Rhinocerotidae Perissodactyla PDF Novitates American Museum of Natural History 3143 ISSN 0003 0082 Orlando Ludovic 2003 Ancient DNA analysis reveals woolly rhino evolutionary relationships Molecular Phylogenetics and Evolution 28 2 485 499 doi 10 1016 S1055 7903 03 00023 X Check doi value help Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Unknown parameter month ignored help 26 0 26 1 26 2 26 3 26 4 Groves Colin P and Fred Kurt 1972 Dicerorhinus sumatrensis PDF Mammalian Species 21 1 6 doi 10 2307 3503818 CS1 maint multiple names authors list link 27 0 27 1 27 2 27 3 27 4 27 5 27 6 27 7 van Strien N J 1974 Dicerorhinus sumatrensis Fischer the Sumatran or two horned rhinoceros a study of literature Mededelingen Landbouwhogeschool Wageningen 74 16 1 82 28 0 28 1 28 2 28 3 hnngsuxstweliynglukdwynminpraethsithyaelaphumiphakhxinodcin krungethphmhankhr ph s 2543 ody kxngthunstwpaolk ISBN 974 87081 5 2 29 0 29 1 29 2 29 3 29 4 sarkhdi aekarxykrasu nbthxyhlngwnsuyphnthu chbbthi 177 ISSN 0857 1538 30 0 30 1 30 2 Foose Thomas J and van Strien Nico 1997 Asian Rhinos Status Survey and Conservation Action Plan IUCN Gland Switzerland and Cambridge UK ISBN 2 8317 0336 0 Dean Cathy 2005 Habitat loss in Fulconis R b k Save the rhinos EAZA Rhino Campaign 2005 6 London European Association of Zoos and Aquaria pp 96 98 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help thankhxmulchnidphnthuthithukkhukkhaminpraethsithy krasu khxmulchnidphnthuthithukkhukkham Scott C 2004 Optimization of novel polymorphic microsatellites in the endangered Sumatran rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis Molecular Ecology Notes 4 194 196 doi 10 1111 j 1471 8286 2004 00611 x Unknown parameter coauthors ignored author suggested help More than one of pages aela page specified help Julia Ng S C 2001 Wallows and Wallow Utilization of the Sumatran Rhinoceros Dicerorhinus Sumatrensis in a Natural Enclosure in Sungai Dusun Wildlife Reserve Selangor Malaysia Journal of Wildlife and Parks 19 7 12 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help 35 0 35 1 Vellayan S 2004 Trypanosomiasis surra in the captive Sumatran rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis sumatrensis in Peninsular Malaysia Proceedings of the International Conference of the Association of Institutions for Tropical Veterinary Medicine 11 187 189 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help 36 0 36 1 36 2 36 3 36 4 36 5 Borner Markus 1979 A field study of the Sumatran rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis Fischer 1814 Ecology and behaviour conservation situation in Sumatra Zurich Juris Druck amp Verlag ISBN 3 260 04600 3 37 0 37 1 37 2 Lee Yook Heng 1993 The Mineral Content of Food Plants of the Sumatran Rhino Dicerorhinus sumatrensis in Danum Valley Sabah Malaysia Biotropica 3 5 352 355 doi 10 2307 2388795 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Dierenfeld E S 2006 Intake utilization and composition of browses consumed by the Sumatran rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis harissoni in captivity in Sabah Malaysia Zoo Biology 25 5 417 431 doi 10 1002 zoo 20107 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help 39 0 39 1 39 2 von Muggenthaler Elizabeth 2003 Songlike vocalizations from the Sumatran Rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis Acoustics Research Letters Online 4 3 83 doi 10 1121 1 1588271 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help access date requires url help 40 0 40 1 Zainal Zahari Z 2005 Reproductive behaviour of captive Sumatran rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis Animal Reproduction Science 85 3 4 327 335 doi 10 1016 j anireprosci 2004 04 041 PMID 15581515 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Zainal Zahari Z 2002 Gross Anatomy and Ultrasonographic Images of the Reproductive System of the Sumatran Rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis Anatomia Histologia Embryologia Journal of Veterinary Medicine Series C 31 6 350 354 doi 10 1046 j 1439 0264 2002 00416 x Unknown parameter coauthors ignored author suggested help 42 0 42 1 42 2 Roth T L 2006 New hope for Sumatran rhino conservation abridged from Communique International Zoo News 53 6 352 353 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Roth T L 2001 Ultrasound and endocrine evaluation of the ovarian cycle and early pregnancy in the Sumatran rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis Reproduction 121 1 139 149 doi 10 1530 rep 0 1210139 PMID 11226037 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help 44 0 44 1 Roth T L 2003 Breeding the Sumatran rhinoceros Dicerorhinus sumatrensis in captivity behavioral challenges hormonal solutions Hormones and Behavior 44 31 Rookmaaker L C 1998 The rhinoceros in captivity a list of 2439 rhinoceroses kept from Roman times to 1994 Kugler Publications pp 125 ISBN 978 90 5103 134 8 Rabinowitz Alan 1995 Helping a Species Go Extinct The Sumatran Rhino in Borneo Conservation Biology 9 3 482 488 doi 10 1046 j 1523 1739 1995 09030482 x 47 0 47 1 van Strien Nico J 2001 Conservation Programs for Sumatran and Javan Rhino in Indonesia and Malaysia Proceedings of the International Elephant and Rhino Research Symposium Vienna June 7 11 2001 Scientific Progress Reports line feed character in journal at position 42 help The Star 1986 Rare rhino dies in Bangkok Saturday November 22 nd 1986 Kuala Lumpur L C Rookmaaker Heinz Georg Klos The rhinoceros in captivity pp 135 Andalas A Living Legacy Cincinnati Zoo subkhnemux 2007 11 04 It s a Girl Cincinnati Zoo s Sumatran Rhino Makes History with Second Calf Cincinnati Zoo subkhnemux 2007 11 04 Meet Harry the Sumatran Rhino Cincinnati Zoo subkhnemux 2007 11 04 Watson Paul April 26 2007 A Sumatran rhino s last chance for love The Los Angeles Times subkhnemux 2007 11 04 Emi In Loving Memory Cincinnati Zoo subkhnemux 2016 02 16 LAST SUMATRAN RHINO IN WESTERN HEMISPHERE IS LEAVING THE CINCINNATI ZOO Cincinnati Zoo subkhnemux 2016 02 16 The Littlest Rhino Asia Geographic subkhnemux 2007 12 06 The Forgotten Rhino NHNZ subkhnemux 2007 12 06 Rhinos alive and well in the final frontier New Straits Times Malaysia July 2 2006 Rhino on camera was rare sub species wildlife group Agence France Presse April 25 2007 Video of the Sumatran Rhinoceros is available on the World Wildlife Fund web site hna 3 chnaerdmhrphsphsyam chkthngrb ody kieln pralxngeching ithyrthpithi 68 chbbthi 21811 wncnthrthi 9 tulakhm ph s 2560 aerm 4 kha eduxn 11 piraka krmthnarks ehriyyksapnthiralukkarxnurksthrrmchatiaelastwpa khxmulehriyyaelaphlitphnthchnidtangaehlngkhxmulxun aekikhkhxmmxns miphaphaelasuxekiywkb Dicerorhinus sumatrensisSumatran Rhino caught first time on Camera in Borneo Newborn Sumatran Rhino Sumatran Rhinos and baby in Cincinnati zoo YouTube Sumatran Rhino Info amp Sumatran Rhino Pictures on the Rhino Resource Center Sumatran Rhino at Arkive Information on the Sumatran Rhino from the International Rhino Foundation Asian Rhino Foundation Rhino and Forest Fundekhathungcak https th wikipedia org w index php title krasu amp oldid 9328173, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม