fbpx
วิกิพีเดีย

พระคเณศ

พระคเณศ (สันสกฤต: गणेश ทมิฬ: பிள்ளையார் อังกฤษ: Ganesha) ชาวไทยนิยมเรียกว่า พระพิฆเนศ (विघ्नेश) พระนามอื่นที่พบ เช่น พระพิฆเณศวร พระพิฆเณศวร์ หรือ คณปติ เป็นเทวดาในศาสนาฮินดูที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างแพร่หลายที่สุดพระองค์หนึ่ง พบรูปแพร่หลายทั้งในประเทศอินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา, ฟิจิ, ไทย, บาหลี, บังคลาเทศ นิกายในศาสนาฮินดูทุกนิกายล้วนเคารพบูชาพระคเณศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในคาณปัตยะเท่านั้น และการบูชาพระคเณศยังพบในพุทธและไชนะอีกด้วย

พระพิฆเนศ
  • เทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่, ความสำเร็จ และสติปัญญา
  • พระผู้ขจัดอุปสรรค
เทวรูปพระพิฆเนศ ศิลปะราชวงศ์ปาละ ศตวรรษที่ 10 จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐ
ชื่อในอักษรเทวนาครีगणेशः
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤตGaṇeśa
ส่วนเกี่ยวข้องเทพ, พระพรหม (คณปัตยะ), สคุณพรหมัน (ปัญจยาตนบูชา), พระอิศวร
วิมานเขาไกรลาศ (เคียงพระศิวะและพระปารวตี), คเนศโลก
มนตร์โอม ศรี คเณศายะ นะมะห์
โอม คัง คณปัตเย นะมะห์
(Oṃ Shri Gaṇeśāya Namaḥ
Oṃ Gaṃ Gaṇapataye Namaḥ)
อาวุธปรศุ (ขวาน), ปาศ (บาศ), อัณกุศ (ประตักช้าง)
สัญลักษณ์โอม, ขนมโมทกะ
พาหนะหนู
คัมภีร์คเนศปุราณะ, มุทคลปุราณะ, คณปติอัฐรวศีรษะ
เพศบุรุษ
เทศกาลคเนศจตุรถี
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครอง
  • พุทธิ (ปัญญา)
  • ฤทธิ (ความเจริญ)
  • สิทธิ (ความสำเร็จ)
บิดา-มารดา
พี่น้องพระขันทกุมาร (พระเชษฐา) ศาสฐา (พระอนุชา)

พระลักษณะที่โดดเด่นจากเทพองค์อื่น ๆ คือพระเศียรเป็นช้าง เป็นที่เคารพกันโดยทั่วไปในฐานะของเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค, องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์ทั้งปวง และทรงเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาดเฉลียวและปัญญา ในฐานะที่พระองค์ยังทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น ในบทสวดบูชาต่าง ๆ ก่อนเริ่มพิธีการหรือกิจกรรมใด ๆ ก็จะเปล่งพระนามพระองค์ก่อนเสมอ ๆ

สันนิษฐานกันว่าพระคเณศน่าจะปรากฏขึ้นเป็นเทพเจ้าครั้งแรกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 ส่วนหลักฐานยืนยันว่ามีการบูชากันย้อนกลับไปเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 4–5 สมัยอาณาจักรคุปตะ ถึงแม้พระลักษณะจะพัฒนามาจากเทพเจ้าในพระเวทและยุคก่อนพระเวท เทพปกรณัมฮินดูระบุว่าพระคเณศทรงเป็นพระบุตรของพระศิวะและพระปารวตี พระองค์พบบูชากันอย่างแพร่หลายในทุกนิกายและวัฒนธรรมท้องถิ่นของศาสนาฮินดู พระคเณศทรงเป็นเทพเจ้าสูงสุดในนิกายคาณปัตยะ คัมภีร์หลักของพระคเณศเช่น คเณศปุราณะ, มุทคลปุราณะ และ คณปติอรรถวศีรษะ นอกจากนี้ยังมีสารานุกรมเชิงปุราณะอีกสองเล่มที่กล่าวเกี่ยวกับพระคเณศ คือ พรหมปุราณะ และ พรหมันทปุราณะ

นอกจากนั้นพระพิฆเนศ ยังเป็นที่เคารพนับถือของ ศาสตร์ในด้านศิลปิน และศิลปะต่างๆ สังเกตได้จากในพิธีต่างๆจะมีการอัญเชิญพระพิฆเนศ มาร่วมเป็นสิ่งศักสิทธิ์ ที่คอยประสิทธิ์ประศาสตร์พรให้กับผู้ร่วมพิธีอีกด้วย

ศัพทมูลและพระนามอื่น ๆ

 
พระพิฆเนศศิลปะพม่า

พระพิฆเนศมีพระนามและฉายาอื่น ๆ ที่ใช้เรียก เช่น "คณปติ" (Ganapati, Ganpati) และ "พระวิฆเนศวร" หรือ "พระวิฆเนศ" (Vighneshwara) มักเติมคำแสดงความเคารพแบบฮินดู "ศรี" ไว้นำหน้าพระนามด้วย เช่น "พระศรีฆเนศวร" (Sri Ganeshwara)

คำว่า "คเณศ" นั้นมาจากคำประสมภาษาสันสกฤตคำว่า "คณะ" (gaṇa) แปลว่ากลุ่ม ระบบ และ "อิศ" (isha แปลงเสียงเป็น เอศ) แปลว่า จ้าว คำว่า "คณ" นั้นสามารถใช้นิยาม "คณะ" คือกองทัพของสิ่งมีชีวิตกี่งเทวะที่เป็นหนึ่งในผู้ติดตามของพระศิวะ ผู้ทรงเป็นพระบิดาของพระพิฆเนศ แต่โดยทั่วไปนั้นคือความหมายเดียวกันกับ "คณะ" ที่ใช้ในภาษาไทย แปลว่าประเภท ชั้น ชุมชน สมาคมหรือบรรษัท มีนีกวิชาการบางส่วนที่ตีความว่า "พระคณ" จึงอาจแปลว่าพระแห่งการรวมกลุ่ม พระแห่งคณะคือสิ่งทั้งปวงที่เกิดขึ้น ธาตุต่าง ๆ ส่วนคำว่า "คณปติ" (गणपति; gaṇapati) มาจากคำสันสกฤตว่า "คณ" แปลว่าคณะ และ "ปติ" แปลว่า ผู้นำ แม้คำว่า "คณปติ" จะพบครั้งแรกในฤคเวทอายุกว่าสองพันปีก่อนคริสตกาล ในบทสวด 2.23.1 นักวิชาการยังถกเถียงกันอยู่ว่าคำนี้หมายถึงพระคเณศพระองค์เดียวหรือไม่ ในอมรโกศ (Amarakosha) ปทานุกรมสันสกฤตโบราณ ได้ระบุพระนามของพระคเณศดังนี้ "วินยกะ" (Vinayaka), "วิฆนราช" (Vighnarāja ตรงกับ "วิฆเนศ" ในปัจจุบัน), "ทไวมาตุระ" (Dvaimātura ผู้ซึ่งมีสองมารดา), "คณาธิป" (Gaṇādhipa ตรงกับ คณปติ และ คเณศ ในปัจจุบัน), เอกทันต์ (Ekadanta งาเดียว), "เหรัมพะ", "ลัมโพทร" (Lambodara ผู้ซึ่งมีท้องกลมเหมือนหม้อ) และ "คชานนะ" (Gajānana)

"วินายกะ" (विनायक; vināyaka) ก็เป็นอีกพระนามหนึ่งที่พบทั่วไป โดยพบในปุราณะต่าง ๆ และในตันตระของศาสนาพุทธ โบสถ์พราหมณ์ 8 แห่งที่โด่งดังในรัฐมหาราษฏระที่เรียกว่า "อัศตวินายก" (Ashtavinayaka) ก็ได้นำพระนามนี้มาใช้ในการตั้งชื่อเช่นกัน ส่วนพระนาม "วิฆเนศ"(विघ्नेश; vighneśa) และ "วิฆเนศวร"(विघ्नेश्वर; vighneśvara) แปลว่า "จ้าวแห่งการกำจัดอุปสรรค" แสดงให้เห็นถึงการยกย่องให้ทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นและกำจัดอุปสรรค (วิฆนะ) ในศาสนาฮินดู

ในภาษาทมิฬนิยมเรียกพระนาม "ปิลไล" (Pillai; ทมิฬ: பிள்ளை) หรือ "ปิลไลยาร์" (Pillaiyar; பிள்ளையார்) เอ.เค. นเรน (A.K. Narain) ระบุว่าทั้งสองคำนี้ต่างกันที่ ปิลไล แปลว่า "เด็ก" ส่วน ปิลไลยาร์ แปลว่า "เด็กผู้สูงศักดิ์" ส่วนคำอื่น ๆ อย่าง "ปัลลุ" (pallu), "เปลละ" (pell), "เปลลา" (pella) ในตระกูลภาษาดราวิเดียน สื่อความถึง "ทนต์" คือฟันหรือในที่นี้หมายถึง งา อนิตา ไรนา ฐาปน (Anita Raina Thapan) เสริมว่ารากศัพท์ของ "ปิลเล" (pille) ใน "ปิลไลยาร์" น่าจะมาจากคำที่แปลว่า "ความเยาว์ของช้าง" ซึ่งมาจากคำภาษาบาลี "ปิลลกะ" (pillaka) แปลว่า ช้างเด็ก

ในภาษาพม่าเรียกพระคเณศว่า "มะหา เปนเน" (Maha Peinne; မဟာပိန္နဲ, ออกเสียง: [məhà pèiɴné]) ซึ่งมาจากภาษาบาลี "มหาวินายก" (Mahā Wināyaka (မဟာဝိနာယက) และในประเทศไทยนิยมใช้พระนาม "พระพิฆเนศ" รูปเคารพและการกล่าวถึงของพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้พบในส่วนที่ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม เริ่มพบการบูชาพระคเณศตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 7–8 ซึ่งเลียนแบบจากลักษณะที่พบเคารพบูชาในอินเดียเมื่อราวศตวรรษที่ 5 ในศาสนาพุทธแบบสิงหลของชาวศรีลังกา พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักด้วยพระนาม คณเทวิโย (Gana deviyo) และได้รับการบูชาเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า, พระวิษณุ, พระขันธกุมาร และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ

ประติมานวิทยา

 
เทวรูปพระพิฆเนศ ศตวรรษที่ 13 ศิลปะโหยสละ พบที่รัฐกรณาฏกะ

พระคเณศถือว่าได้รับความนิยมมากในศิลปะอินเดีย และมีพระลักษณะที่หลากหลายไปตามเวลา ต่างจากในเทพฮินดูส่วนใหญ่ มีพระลักษณะทรงยืน ร่ายรำ ทรงเอาชนะอสูรร้าย ประทับกับพระบิดาและมารดาในลักษณะพลคณปติ (พระคเณศวัยเยาว์) หรือประทับบนบัลลังก์ รายล้อมด้วยพระชายา

รูปเคารพของพระคเณศเริ่มพบทั่วไปในหลายส่วนของประเทศอินเดียในศตวรรษที่ 6 รูปปั้นจากช่วงศตวรรษที่ 13 เป็นรูปแบบของรูปปั้นพระพิฆเนศที่สร้างในช่วงปี 900–1200 หลังจากที่พระพิฆเนศได้รับการยอมรับเป็นเทพเจ้าเอกเทศอย่างมั่นคงและมีนิกายของพระองค์ (คาณปตยะ) พระลักษณะที่พบในระยะนี้เริ่มเป็นลักษณะทางประติมานวิทยาที่พบทั่วไปของพระคเณศบางประการ และมีรูปปั้นที่ลักษณะคล้ายกันมากที่ปอล มาร์ติน-ดูบอสต์ (Paul Martin-Dubost) ประมาณอายุไว้ที่ราวปี 973–1200 นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นคล้ายกันซึ่งประทปติยะ ปาล (Pratapaditya Pal) ระบุอายุว่ามาจากศตวรรษที่ 12 พระคเณศทรงมีพระเศียรเป็นช้าง และทรงมีพระอุทร (ท้อง) โต ทรงมีสี่กร และทรงงาที่หักในหัตถ์ขวา อีกหัตถ์หนึ่งทรงชามขนม รูปแบบที่ซึ่งพระคเณศทรงหันงวงอย่างชัดเจนไปทางหัตถ์ซ้ายที่ทรงขนม เป็นพระลักษณะหนึ่งที่ถือว่าเก่าแก่พอควร ส่วนรูปสลักที่เก่าแก่กว่านี้ที่พบในถ้ำเอลโลราแห่งหนึ่งในลักษณะเดียวกันนี้วัดอายุได้ประมาณศตวรรษที่ 7 รายละเอียดของหัตถ์อีกข้างของพระองค์นั้นยากที่จะคาดคะเนได้ว่าทรงสิ่งใด ในรูปแบบมาตรฐานนั้น พระคเณศมักทรงขวานปราศุหรือประดักช้างในพระหัตถ์บน และทรงบ่วงบาศ ในอีกพระหัตถ์บนส่วนรูปที่พระองค์ทรงถือศีรษะมนุษย์นั้นพบน้อยมาก

อิทธิพลของการจัดเรียงองค์ประกอบทางประติมานวิทยาดั้งเดิมนี้ยังพบได้ในรูปพระคเณศแบบร่วมสมัย ในปางสมัยใหม่ปางหนึ่งเปลี่ยนเพียงหัตถ์ล่างจากทรงบาศหรือทรงงาที่หักเป็นทรงทำอภัยมุทรา นอกจากนี้ยังพบลักษณะการจัดเรียงในสี่หัตถ์นี้ในรูปแบบที่พระคเณศทรงร่ายรำเช่นกัน ลักษณะทรงร่ายรำนี้ถือว่าได้รับความนิยมสูงเช่นเดียวกัน

พระลักษณะทั่วไป

 
ลักษณะทั่วไปของพระคเณศ ทรงมีสี่กร ในภาพคือภาพเขียนศิลปะนูรปุระ (ปี 1810)

พระลักษณะของพระคเณศที่มีพระเศียรเป็นช้างนั้นพบมาตั้งแต่ในศิลปะอินเดียยุคแรก ๆ ปกรณัมในปุราณะเล่าคำอธิบายมากมายถึงที่มาของพระเศียรที่ทรงเป็นช้าง นอกจากนี้ยังพบพระลักษณะ "พระเหรัมภะ" คือปางห้าเศียร และปางอื่น ๆ ที่มีจำนวนพระเศียรหลากหลายเช่นกัน คัมภีร์บางส่วนระบุว่าพระองค์ประสูติมาพร้อมกับพระเศียรที่เป็นช้าง แต่ส่วนใหญ่ระบุว่าทรงได้รับพระเศียรนี้ในภายหลัง ความเชื่อหนึ่งที่นิยมแพร่หลายมากที่สุดคือ พระปารวตีเป็นผู้สร้างพระคเณศจากดินเหนียวเพื่อปกป้องพระองค์เอง แล้วพระศิวะก็ทรงตัดพระเศียรของพระคเณศออกเมื่อพระองค์เข้าแทรกระหว่างพระศิวะและพระปารวตี และประทานพระเศียรช้างให้แทนพระเศียรเดิม ส่วนรายละเอียดการยุทธ์ต่าง ๆ และว่าพระเศียรช้างที่นำมาแทนนั้นมาจากที่ใดนั้นแตกต่างกันไปตามเอกสารต่าง ๆ อีกความเชื่อหนึ่งระบุว่าพระคเณศประสูติจากเสียงพระสรวลของพระศิวะ แต่ด้วยพระลักษณะของพระคเณศที่ประสูติออกมานั้นเป็นที่ล่อตาล่อใจเกินไป จึงทรงประทานพระเศียรใหม่ที่เป็นช้าง และพระอุทร (ท้อง) อ้วนพลุ้ย

พระนามที่เกิดขึ้นในภายหลังที่สุดคือ "เอกทันต์" หรือ "เอกทนต์" (งาเดียว) มาจากพระลักษณะที่ทรงมีงาเพียงข้างเดียว อีกข้างนั้นแตกหัก บางพระรูปที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นปรากฏทรงถืองาที่หัก ความสำคัญของลักษณะ "เอกทันต์" สะท้อนออกมาในมุทกลปุราณะ ซึ่งระบุว่าการจุติครั้งที่สองของพระองค์มีพระนามว่า "เอกทันต์" ส่วนพระลักษณะของพระอุทรพลุ้ยนั้นถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นและพบปรากฏตั้งแต่ในศิลปะยุคคุปตะ (ศตวรรษที่ 4 ถึง 6) พระลักษณะนี้มีความสำคัญมากจนในมุทกลปุราณะระบุพระนามที่ทรงกลับชาติมาเกิดตามพระลักษณะนี้ถึงสองพระนาม คือ "ลัมโภทร" (ท้องห้อยเหมือนหม้อ), "มโหทร" (ท้องใหญ่) พระนามทั้งสองมาจากคำภาษาสันสกฤต "อุทร" ที่แปลว่าท้อง ใน "พรหมันทปุราณะ" ระบุว่าพระนาม "ลัมโภทร" มาจากการที่จักรวาลทั้งปวง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ไข่จักรวาล หรือ "พรหมาณทัส") สถิตอยู่ในพระองค์ พบ 2 ถึง 16 พระกร พระรูปส่วนใหญ่ของพระองค์มีสี่พระกร ซึ่งพบระบุทั่วไปในปุราณะต่าง ๆ พระรูปในยุคแรก ๆ ปรากฏสองพระกร ส่วนปางที่ทรงมี 14 และ 20 พระกรพบในอินเดียกลางช่วงศตวรรษที่ 9 และ 10 นอกจากนั้นยังพบพญานาคประกอบอยู่กับเทวรูปโดยทั่วไป มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในคเณศปุราณะระบุว่าพระองค์ทรงพันวาสุกิรอบพระศอ บางครั้งมีการแสดงภาพของงูหรือนาคในลักษณะของด้ายศักดิ์สิทธิ์ (วัชณโยปวีตะ; yajñyopavīta) คล้องรอบพระอุทร, ทรงถือในพระหัตถ์, ขดอยู่ที่เข่า หรือประทับเป็นบัลลังก์นาค ในบางงานศิลป์ปรากฏพระเนตรที่สามบนพระนลาฏ (หน้าผาก) บ้างปรากฏรอยขีดเจิม (ติลัก) สามเส้นในแนวนอน ในคเณศปุราณะมีกำหนดทั้งติลักและจันทร์เสี้ยวบนพระนลาฏ ลักษณะนี้ปรากฏในปาง "พาลจันทร์" (Bhalachandra - ดวงจันทร์บนหน้าผาก) มักบรรยายว่าสีพระวรกายพระองค์เป็นสีแดง สีพระวรกายมีความสัมพันธ์กับบางปาง ปางทำสมาธิตรงกับสีพระวรกายต่าง ๆ มีหลายตัวอย่างใน "ศรีตัตตวนิธิ" ตำราประติมานวิทยาฮินดู เช่น สีขาวสื่อถึงปาง "เหรัมภะ คณปติ" และ "รินะ โมจนะ คณปติ" (Rina-Mochana-Ganapati; พระคณปติผู้ทรงหลุดพ้นจากโซ่ตรวนที่ตรึงไว้) ส่วน "เอกทันตคณปติ" จะมีสีพระวรกายน้ำเงินเมื่อทรงทำสมาธิ

พาหนะ

 
พระคเณศทรงร่ายรำ เทวรูปพบที่เบงกอลเหนือ ศตวรรษที่ 11, พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียเบอร์ลิน (ดาห์เลม)

รูปพระคเณศยุคแรก ๆ ยังไม่ปรากฏว่าทรงวาหนะ (พาหนะของเทพเจ้า) มุทคลปุราณะระบุว่าในพระชาติที่เสวยแปดพระชาติ พระองค์ทรงใช้หนูในห้าพระชาติ ส่วนอีกสามพระชาติทรงใช้วกรตุนทะ (สิงโต), วิตกะ (นกยูง) และเศศะ (นาคราช) ส่วนในคเณศปุราณะระบุว่าในสี่พระชาติ พระชาติ โมโหตกล ทรงใช้สิงโต, พระชาติ มยูเรศวร ทรงใช้นกยูง, พระชาติ ธุมรเกตุ ทรงใช้ม้า และ พระชาติคชนณะ ทรงใช้หนู ในศาสนาไชนะมีปรากฏพระพาหนะเป็นทั้งหนู ช้าง เต่า แกะ และนกยูง

พระคเณศมักแสดงในลักษณะทรงหรือห้อมล้อมด้วยหนู มาร์ติน-ดูบอสต์ (Martin-Dubost) ระบุว่าหนูเริ่มปรากฏเป็นวาหนะหลักของพระคเณศในรูปปั้นที่พบแถบอินเดียกลางและอินเดียตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ที่เริ่มพบหนูประดับอยู่เคียงพระบาทของพระคเณศ หนูในฐานะพาหนะของพระคเณศปรากฏในงานเขียนครั้งแรกใน มัตสยปุราณะ และต่อมาพบในพรหมานันทะปุราณะละคเณศปุราณะ ซึ่งระบุว่าพระคเณศมีหนูเป็นวาหนะในการจุติในชาติสุดท้ายของพระองค์ ในคณปติอรรถวศีรษะไดัระบุถึงบทสวดที่ระบุว่าพระคเณศทรงมีหนูอยู่บนธงของพระคเณศ พระนามทั้งมูษกสาหนะ (Mūṣakavāhana; มีหนูเป็นพาหนะ) และอาขุเกตน (Ākhuketana; ธงหนู) ปรากฏในคเณศสหัสรนาม

มีการตีความหนูไว้หลายแบบ ไกรมส์ (Grimes) ระบุว่า "ส่วนใหญ่ (ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด) มักตีความหนูของพระคณปติไปในทางลบ ว่าเป็น ตโมคุณ (tamoguṇa) เช่นเดียวกับเป็นความปรารถนา" ตามแนวคิดนี้ไมเคิล วิลค็อกสัน (Michael Wilcockson) ระบุว่าหนูเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประสงค์เอาชนะความปรารถนาและลดความเห็นแก่ตัว ส่วนกริษัน (Krishan) ชี้ให้เห็นว่าหนูเป็นสัตว์ชอบทำลาย และเป็นภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร คำสันสกฤตว่า มูษกะ (mūṣaka) ที่แปลว่าหนูนั้นมาจากรากคือ มูษ (mūṣ) ที่แปลว่าการลักขโมย จึงสำคัญต้องปราบหนูที่เป็นสัตว์รังควานจอมทำลาย หรือเรียกว่าเป็น วิฆน (มาร) ที่ต้องเอาชนะ ทฤษฎีนี้ระบุว่าการแสดงพระคเณศว่าทรงเป็นจ้าวของหนูแสดงว่าพระองค์ทรงเป็น วิฆเนศวร (จ้าวแห่งอุปสรรค) และเป็นหลักฐานสำหรับความเป็นไปได้ของบทบาทเป็นครามเทวดา (เทพเจ้าหมู่บ้าน) ของชาวบ้านซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น มาร์ติน-ดูบอสต์ชี้ให้เห็นว่าหนูยังเป็นสัญลักษณ์ที่เสนอว่าพระคเณศแทรกซึมไปอยู่ในทุกที่แม้ในที่ลับที่สุดได้ดุจหนู

บทบาท

 
เหรัมภคเณศาและพระชายา ศตวรรษที่ 18, เนปาล

ผู้ขจัดอุปสรรค

พระนาม พระพิฆเนศวร (Vighneshvara) หรือ วิฆนราช (Vighnaraja, ภาษามราฐีวิฆนหารตะ (Vighnaharta)) แปลว่า "จ้าวแห่งอุปสรรค" (the Lord of Obstacles) ทั้งในมุมทางโลกและทางวิญญาณ พระองค์เป็นที่บูชาทั่วไปในฐานผู้ปัดเป่าอุปสรรค แม้เดิมว่าพระองค์ยังเป็นผู้สร้างอุปสรรคต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในเส้นทางของผู้ที่จำต้องทดสอบ ดังนั้นพระองค์จึงเป็นที่เคารพบูชาเป็นเริ่มก่อนการเริ่มสิ่งใหม่ พอล คอร์ทไรธ์ (Paul Courtright) ระบุว่า “ธรรมะ” และเหตุผลสำคัญของพระคเณศคือการสร้างและกำจัดอุปสรรค

นักวิชาการ กริษัน (Krishan) ชี้ให้เห็นว่าบางพระนามของพระคเณศสะท้อนบทบาทอันหลากหลายของพระองค์ที่มีพัฒนาการตามเวลา ธวลิกร (Dhavalikar) ยกตัวอย่างการขึ้นเป็นเทพเจ้าอย่างรวดเร็วของพระคเณศในบรรดาเทพเจ้าฮินดู การเกิดขึ้นของคณปัตยะ (Ganapatyas) และการเปลี่ยนจากการเน้นพระนามว่า วิฆนกรรตา (vighnakartā, ผู้สร้างอุปสรรค) เป็น วิฆนหรรตา (vighnahartā, ผู้กำจัดอุปสรรค) อย่างไรก็ตามทั้งสองบทบาทยังสำคัญต่อพระลักษณะของพระองค์

พุทธิ (ปัญญา)

พระคเณศได้รับการยกย่องว่าเป็นจ้าวแห่งตัวอักษรและการศึกษา ในภาษาสันสกฤต คำว่า พุทธิ (buddhi) เป็นนามที่มีความหมายหลากหลาย ทั้งปัญญา (intelligence), ภูมิปัญญา (wisdom), ผู้ทรงปัญญา (intellect) มโนทัศน์พุทธินั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างมากกับบุคลิกภาพของพระคเณศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปุราณะ ซึ่งนิยายต่าง ๆ เน้นย้ำความฉลาดเฉลียวและความรักในความรู้ของพระองค์ พระนามหนึ่งของพระองค์ที่ปรากฏใน คเณศปุราณะ และใน 21 พระนามของ คเณศสหัสรนาม (Ganesha Sahasranama) คือ พุทธิปรียา (Buddhipriya, ผู้รักในพุทธิ) คำว่า "ปรียา" (priya) แปลว่า ความรัก, ความหลง (fondness) และในบริบทการสมรสยังหมายถึง "คนรัก" หรือ "สวามี" ก็ได้ ดังนั้นพระนามนี้อาจหมายถึง "ผู้รักในความรู้" หรือ "คู่ครองของพระนางพุทธิ" ก็ได้

โอม

 
พระคเณศ ศิลปะโจฬะ ต้นศตวรรษที่ 13

พระคเณศนั้นได้รับการระบุด้วยมนตร์ฮินดู "โอม" ดังในประโยค โอมการสวรูป (Oṃkārasvarūpa) อันแปลว่า โอมเป็นรูปของพระองค์ (Om is his form) เมื่อใช้สื่อถึงพระคเณศ หมายความถึงรูปบุคลาธิษฐานของเสียง "โอม" ในคณปติอรรถวศีรษะ ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ จินมยานันทะ (Chinmayananda) แปลข้อความที่เกี่ยวข้องในคณปติอรรถวศีรษะไว้ดังนี้

(โอ พระคณปติ!) พระองค์ทรงเป็น (ตรีมูรติ) พระพรหม, พระวิษณุ และพระมเหสะ พระองค์ทรงเป็นพระอินทร์ พระองค์ทรงเป็นไฟ [พระอัคนี] และอากาศ [พระวายุ] พระองค์ทรงเป็นดวงอาทิตย์ [พระสุรยะ] และดวงจันทร์ [พระจันทร์] พระองค์ทรงเป็นพรหมัน พระองค์ทรงเป็น (สามโลก) ภูโลก [โลกมนุษย์], อันตรฤกษโลก [อวกาศ] และสวรรคโลก [สวรรค์] พระองค์ทรงเป็นโอม (อันหมายความว่า พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่งที่ว่ามานี้)

ผู้ศรัทธาในพระคเณศบางคนมองเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างรูปของพระคเณศและสัญลักษณ์ของโอมในอักษรเทวนาครีกับอักษรทมิฬ

ปฐมจักร

กุนทลินีโยคะ (Kundalini yoga) ระบุว่าพระคเณศทรงอาศัยในจักรแรก ที่เรียกว่า มูลาธาระ (mūlādhāra) มูลาธาระจักรเป็นหลักสำคัญของการสำแดงหรือการขยายออกของกองทัพสวรรค์ยุคแรกเริ่ม ในคณปติอรรถวศีรษะได้ระบุไว้เช่นกัน ในฉบับแปลของคอร์ทไรธ์ (Courtright) แปลข้อความนี้ว่า "พระองค์ทรงอาศัยอย่างต่อเนื่องภายในช่องท้องศักดิ์สิทธิ์ (sacral plexus) อันเป็นฐานของหลักสำคัญ [มูลาธารจักร]" ดังนั้น พระคเณศจึงทรงมีพระวิมานภายในมูลาธารของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในมูลาธาระ พระคเณศทรงถือ รองรับ และนำพาจักรทั้งปวง ดังนั้นจึงเป็นการ "ควบคุมพลังทั้งปวงที่มีผลต่อวงจักรของชีวิต"

ครอบครัวและพระมเหสี

ดูเพิ่มเติมที่: ตำนานพระพิฆเนศ และ พระมเหสีในพระพิฆเนศ
 
พระศิวะและพระปารวตีทรงกำลังประสูติพระคเณศ, จุลศิลป์กังครา (Kangra miniature), ศตวรรษที่ 18 พิพิธภัณฑ์อัลลอฮาบาด นิวเดลี

โดยทั่วไปถึงแม้ทั่วไปถือกันว่าพระคเณศเป็นพระโอรสของพระศิวะและพระปารวตี แต่เรื่องปรัมปราปุราณะมีข้อมูลต่างไป บางปุราณะระบุว่าพระปารวตีเป็นผู้สร้างพระคเณศ บางปุราณะระบุว่าพระศิวะและพระปารวตีเป็นผู้ร่วมกันสร้าง บางปุราณะระบุว่าพระองค์ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างลึกลับ แล้วพระศิวะกับพระปารวตีไปพบ หรือว่าพระองค์ประสูติแก่เทวีที่มีเศียรเป็นช้างพระนามว่า มาลินี (Malini) หลังทรงดื่มน้ำสรงของพระปารวตีที่เทลงแม่น้ำเข้าไป

ครอบครัวของพระองค์ประกอบด้วยพระเชษฐาและอนุชา พระขันธกุมาร (การติเกยะ) เทพเจ้าแห่งการสงคราม ลำดับการประสูติของพระคเณศกับพระการติเกยะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ในอินเดียเหนือเชื่อกันทั่วไปว่าพระการติเกยะเป็นผู้พี่ แต่ในอินเดียใต้กลับเชื่อว่าพระคเณศประสูติก่อน ในอินเดียเหนือนั้น พระการติเกยะทรงเป็นเทพเจ้าแห่งการรบองค์สำคัญในช่วงระหว่าง 500 ปีก่อนคริสตกาลถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 ที่ซึ่งการบูชาพระองค์ได้เริ่มเสื่อมลง ในขณะเดียวกันกลับเป็นพระคเณศที่ทรงได้รับความนิยมมากขึ้นแทน มีหลายเรื่องเล่าที่เล่าถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างพี่น้องสองพระองค์ และอาจสะท้อนถึงความตึงเครียดระหว่างนิกาย

สำหรับสถานภาพสมรสพระคเณศซึ่งเป็นหัวข้อการทบทวนวิชาการอย่างแพร่หลายนั้นต่างกันไปตามนิยายปรัมปรา เรื่องปรัมปราหนึ่งที่ไม่ค่อยรู้จักแพร่หลายระบุว่าพระคเณศได้ถือครองพรหมจรรย์ ความเชื่อนี้แพร่หลายในอินเดียใต้และบางส่วนของอินเดียเหนือ ความเชื่อกระแสหลักที่เป็นที่ยอมรับทั่วไปอีกอย่างหนึ่งเชื่อมโยงพระองค์กับ พุทธิ (Buddhi - ปัญญา), สิทธิ (Siddhi - พลังทางจิตวิญญาณ) และ ฤทธิ (Riddhi - ความเจริญรุ่งเรือง) ลักษณะต่าง ๆ ทั้งสามกลายมาเป็นบุคลาธิษฐานของเทวสตรีทั้งสามพระองค์ที่กล่าวกันว่าเป็นพระมเหสีของพระคเณศ บ้างมีการแสดงว่าพระองค์ประทับอยู่กับพระมเหสีองค์เดียวหรือกับทาสีนิรนาม อีกหนึ่งรูปแบบมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระคเณศกับเทวสตรีแห่งศิลปะและวัฒนธรรม พระสรัสวตี หรือเทวสตรีแห่งโชคลาภและความเจริญรุ่งเรือง พระลักษมี อีกความเชื่อหนึ่งซึ่งพบมากในภูมิภาคเบงกอล เชื่อว่าพระคเณศทรงสัมพันธ์กับต้นกล้วย กาลาโบ (Kala Bou)

ใน ศิวะปุราณะ ระบุว่าพระคเณศมีพระโอรสสองพระองค์ คือ เกษมะ (Kşema - ความเจริญรุ่งเรือง) และ ลาภะ (Lābha - กำไร) นิยายเรื่องเดียวกันในอินเดียเหนือระบุว่ามีพระโอรสสองพระองค์คือ ศุภะ (Śubha - ฤกษ์อันเป็นมงคล) และลาภะ ภาพยนตร์ภาษาฮินดีเรื่อง ชัย สันโตษี มา (Jai Santoshi Maa) เมื่อปี 1975 ระบุว่าพระพิฆเนศทรงวิวาห์กับพระฤทธิและพระสิทธิ มีพระธิดานามว่า สันโตษีมาตา (Santoshi Mata) เทวสตรีแห่งความพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม นิยนี้ไม่ได้มีที่มาจากปุราณะ แต่อนิตา ไรนะ ฐาปัน (Anita Raina Thapan) กับ ลอว์เรนซ์ โคเฮน (Lawrence Cohen) อ้างว่าลัทธิสันโตษีมาตาเป็นหลักฐานการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของพระคเณศในฐานะของเทพเจ้าที่นิยมบูชา

การบูชาและเทศกาล

 
เทศกาลเฉลิมฉลองพระคเณศโดยชุมชนชาวทมิฬในปารีส ประเทศฝรั่งเศส

พระคเณศเป็นนับถือบูชาในหลายโอกาสทางศาสนาและเชิงฆราวาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเริ่มกิจกรรมใด ๆ เช่นการซื้อพาหนะหรือเปิดกิจการธุรกิจใหม่ เค.เอ็น. โสมยะจี (K.N. Somayaji) กล่าวว่า "แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ในบ้าน[คนฮินดู][ในประเทศอินเดีย] ที่จะไม่มีเทวรูปของพระคเณศ; ... พระคเณศแป็นเทพเจ้ายอดนิยมในอินเดีย เกือบทุกวรรณะและทุกส่วนของประเทศ[อินเดีย]ล้วนบูชาพระองค์" ผู้นับถือเชื่อว่าพระคเณศจะช่วยประทานความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง และปกป้องจากเคราะห์ร้ายทั้งปวง

พระคเณศมิใช่เทพเจ้าที่แบ่งนิกาย ชาวฮินดูทุกลัทธิและนิกายล้วนสวดอ้อนวอนพระคเณศในการเริ่มสวดมนต์ กิจการสำคัญ และพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ นักเต้นและนักดนตรีโดยเฉพาะในอินเดียใต้จะเริ่มร่ายรำ เช่น ภารตนาฏยัม ไปพร้อม ๆ กับการสวดบูชาพระคเณศ มักสวดมนตร์เช่น โอม ศรี คเณศายะ นะมะ (Om Shri Gaṇeshāya Namah) มนตร์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระเคณศ โอม คัม คณปตเย นะมะ (Om Gaṃ Ganapataye Namah)

เครื่องถวายบูชาที่ผู้บูชานิยมถวายแด่พระคเณศคือ ขนมโมทกะและลาดู (laddu) เช่นเดียวกันกับประติมานวิทยาของพระองค์ที่มักแสดงทรงถ้วยขนมหวาน เรียกว่า โมทกปาทร (modakapātra) ด้วยเหตุที่ระบุว่าพระองค์มีพระวรกายสีแดง จึงนิยมบูชาด้วยผงจันทน์แดง (รักตจันทน์; raktachandana) หรือด้วยดอกไม้สีแดง นอกจากนี้ยังใช้หญ้าทูรวา (Dūrvā grass) (Cynodon dactylon) และเครื่องสักการะอื่น ๆ บูชา

เทศกาลสำคัญของพระคเณศคือคเณศจตุรถี ซึ่งตรงกับปักษ์ คือวันที่สี่ของข้างขึ้นในเดือนภตรปัท (สิงหาคม/กันยายน) และคเณศจตุรถี หรือวันประสูติของพระคเณศ ตรงกับปักษ์ในเดือน มาฆะ (มกราคม/กุมภาพันธ์)

คเณศจตุรถี

ดูบทความหลักที่: คเณศจตุรถี
 
การฉลองคเณศจตุรถีบนท้องถนนในไฮเดอราบาด

เทศกาลบูชาพระคเณศประจำปีนนั้นกินเวลา 10 วัน เริ่มจากวันคเณศจตุรถีซึ่งมักตรงกับปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นกันยายนตามปฏิทินเกรเกอเรียน เทศกาลเริ่มต้นด้วยการนำเทวรูปดินเหนียวของพระคเณศเข้าในบ้านหรือที่ตั้งธุรกิจ เป็นสัญลักษณ์การเสด็จมาของพระคเณศ และสิ้นสุดในวันอนันตจตุรทาษี (Ananta Chaturdashi) ซึ่งมีการนำมูรติ (เทวรูป) ดินเหนียวของพระคเณศไปจุ่มในแหล่งน้ำตามที่สะดวก บางครอบครัวมีประเพณีจุ่มเทวรูปในวันที่ 2, 3, 5 หรือ 7 ของเทศกาล ในปี 1893 โลกมานยะ ติลก (Lokmanya Tilak) แปลงเทศกาลนี้จากเทศกาลส่วนบุคคลในครัวเรือนเป็นการเฉลิมฉลองอย่างอลังการสาธารณะ โดยมีเป้าหมายเพื่อ "เชื่อมช่องว่างระหว่างพรหมิณและผู้ที่ไม่ใช่พรหมิณ และหาอันเหมาะสมที่จะสร้างความสามัคคีรากหญ้าขึ้นในพวกเขา" อันเป็นความพยายามแบบชาตินิยมเพื่อต่อต้านการปกครองของบริเตนในรัฐมหาราษฏระ เขาเห็นว่าพระคเณศมีความดึงดูดกว้างขวางเป็น "เทพเจ้าของผองชน" จึงเลือกพระองค์มาเป็นจุดระดมสำหรับชาวอินเดียในการประท้วงการปกครองของบริเตน ติลกเป็นผู้แรกที่ได้นำเทวรูปพระคเณศขนาดใหญ่ตั้งในศาลาสาธารณะ และเป็นผู้ริเริ่มวัตรการจุ่มเทวรูปสาธารณะทั้งหมดในวันที่สิบ ปัจจุบันชาวฮินดูเฉลิมฉลองคเณศจตุรถีทั่วประเทศอินเดีย แต่มีความนิยมสูงสุดในรัฐมหาราษฏระ ทั้งในมุมไบ ปูเน และในอัษฏวินายกโดยรอบ

เทวสถาน

ข้อมูลเพิ่มเติม: รายชื่อโบสถ์พระพิฆเนศ และ อัษฏวินายก

ในโบสถ์พราหมณ์ต่าง ๆ มีการประดิษฐานพระคเณศในหลายรูปแบบทั้งเป็นเทพเจ้าองค์รอง (ปรรศวเทวดา; pãrśva-devatã) เป็นเทพเจ้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทพเจ้าประธานของมนเทียร (บริวารเทวดา; parivāra-devatã) หรือเป็นเทพเจ้าประธาน (pradhāna) ในฐานะเทพเจ้าแห่งการเปลี่ยนผ่าน พระองค์มักประดิษฐานอยู่ที่ทางเข้าของโบสถ์พราหมณ์หลายแห่งเพื่อกันผู้ไม่สมควร ซึ่งคล้ายกับบทบาทของพระองค์ที่เป็นผู้เฝ้าประตูพระปารวตี นอกเหนือจากนี้ยังมีโบสถ์พระพิฆเนศโดยเฉพาะ เช่น อัษฏวินายก (สันสกฤต: अष्टविनायक; aṣṭavināyaka; ท. "(เทวสถาน) พระคเณศแปดองค์") ในรัฐมหาราษฏระ ที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองปูเนออกไป 100 กิโลเมตร เทวสถานแต่ละแห่งการบูชาพรคเณศในรูปปางต่าง ๆ กัน

นอกจากนี้ยังมีเทวสถานสำคัญของพระคเณศในที่ต่อไปนี้: เมืองไว ในรัฐมหาราษฏระ; อุชเชน ในมัธยประเทศ; โชธปุระ, นาเคาร์ และไรปุระ (เมืองปาลี) ในราชสถาน; ไพทยนาถ ในพิหาร; พโรทา, โธลกา และวัลสัท ในคุชราต และธุนทุราชมนเทียร (Dhundiraj Temple) ในพาราณสี, อุตตรประเทศ ส่วนในอินเดียใต้มีที่กนิปกัม ในอานธรประเทศ; ร็อกฟอร์ตอุฉีปิลลยาร์มนเทียร ที่ติรุจิรปัลลี ในทมิฬนาฑู; โกตฏรักกร, ตริวันดรุม, กสรโคท ในเกรละ; หัมปี และอิทคุนจี ใน กรณาฏกะ; และภทรจลัม ใน เตลังคานา

ที. เอ. โคปินาถ (T. A. Gopinatha) ระบุว่า "ทุกหมู่บ้านไม่ว่าใหญ่เล็กเพียงใดล้วนต้องมีเทวรูปพระพิฆเนศวรของตนไม่ว่าจะมีเทวสถานไว้ประดิษฐานหรือไม่ก็ตาม" โบสถ์พระคเณศยังมีพบนอกประเทศอินเดียเช่นกัน ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เนปาล (เช่น “วินายกมนทเทียร” สี่แห่งในหุบเขากาฐมาณฑุ) และในประเทศตะวันตกหลายประเทศ

การขึ้นสู่การเป็นเทพเจ้าหลัก

การปรากฏครั้งแรก

 
เทวรูปพระคเณศหินอ่อน ศตวรรษที่ 5 พบที่เมืองการ์เดซ ประเทศอัฟกานิสถาน ในอดีตเคยประดิษฐานที่ทรคะห์ปีร์รัตตันนาถ (Dargah Pir Rattan Nath) ในกาบูล (ปัจจุบันไม่ทราบที่ประดิษฐาน) จารึกระบุว่านี่เป็น "รูปอันยิ่งใหญ่และสวยงามของพระมหาวินายก" ถวายให้โดยกษัตริย์ขินคลแห่งศาหิ (King Khingala)

พระคเณศปรากฏครั้งแรกในรูปดั้งเดิมของพระองค์ในลักษณะของเทพเจ้าที่มีลักษณะเฉพาะตั้งแต่ราวต้นศตวรรษที่ 4 ถึง 5 รูปเคารพพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบคือเทวรูปพระคเณศสององค์ที่พบในอัฟกานิสถานตะวันออก องค์แรกนั้นพบในซากปรักหักพังทางตอนเหนือของกรุงกาบูล พบพร้อมกับเทวรูปของพระสุรยะและพระศิวะ อายุราวศตวรรษที่ 4 ส่วนเทวรูปองค์ที่สองพบที่ Gardez และมีการสลักพระนามของพระองค์ไว้ที่ฐาน อายุราวศตวรรษที่ 5 เทวรูปอีกองค์นั้นพบแกะสลักบนผนังของถ้ำหมายเลข 6 ของถ้ำอุทัยคีรี (Udayagiri Caves) ในรัฐมัธยประเทศ อายุราวศตวรรษที่ 5 ส่วนเทวรูปที่มีพระเศียรเป็นช้าง ทรงชามขนมหวานนั้นพบเก่าแก่ที่สุดในซากปรักหักพังของภูมรมนเทียร (Bhumara Temple) ในรัฐมัธยประเทศ อายุราวศตวรรษที่ 5 ในสมัยราชวงศ์คุปตะ ส่วนคติที่บูชาพระคเณศเป็นหลักนั้นเป็นไปได้ว่าจัดตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 10 ลัทธิที่บูชาพระคเณศเป็นเทพองค์หลักนั้นน่าจะมีขึ้นแล้วในศตวรรษที่ 6 นเรน (Narain) สรุปว่าสาเหตุที่ไม่พบหลักฐานประวัติศาสตร์พระคเณศในประวัติศาสตร์ก่อนศตวรรษที่ 5 นั้นมาจาก:

สิ่งที่เป็นปริศนาคือการปรากฏขึ้นอย่างค่อนข้างรวดเร็วของพระคเณศในเวทีประวัติศาสตร์ บรรพบทของพระองค์นั้นไม่ชัดเจน การยอมรับและความนิยมแพร่หลายของพระองค์ซึ่งข้ามพ้นข้อจำกัดของนิกายและดินแดน น่าเหลือเชื่ออย่างแท้จริง ด้านหนึ่ง มีความเชื่อศรัทธาในผู้อุทิศแบบทรรศนะดั้งเดิมในกำเนิดพระเวทของพระเคณศ และในคำอธิบายปุราณะบรรจุในปรัมปราวิทยาที่น่าสับสนแต่น่าสนใจ อีกด้านหนึ่ง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีความคิดและสัญรูปของเทพเจ้าพระองค์นี้ ก่อนศตวรรษที่สี่ถึงห้า ... ในความเห็นของผม แท้จริงแล้วไม่มีหลักฐานที่ชวนให้เชื่อ[ในวรรณกรรมพราพมณ์]ว่ามีเทพเจ้าพระองค์นี้ก่อนศตวรรษที่ห้า

นเรนเสนอว่าหลักฐานของพระคเณศที่เก่ากว่านั้นอาจพบนอกธรรมเนียมพราหมณ์และสันสกฤต หรืออยู่นอกเขตภูมิศาสตร์ของอินเดีย บราวน์ระบุว่ามีการพบเทวรูปพระคเณศในประเทศจีนแล้วเมื่อราวศตวรรษที่ 6 และการตั้งรูปพระคเณศเชิงศิลปะในฐานะผู้ขจัดอุปสรรคนั้นพบในเอเชียใต้แล้วเมื่อประมาณปี 400 ส่วนไบลีย์ (Bailey) ระบุว่ามีการถือว่าพระองค์เป็นบุตรของพระปารวตี และมีบรรจุในเทววิทยาไศวะในศตวรรษแรก ๆ แล้ว

อิทธิพลที่อาจมีส่วน

นักวิชาการ คอร์ทไรธ์ (Courtright) ทบทวนทฤษฎีจากการสังเกตต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคต้นของพระคเณศ รวมทั้งประเพณีชนเผ่าและลัทธิบูชาสัตว์ที่เชื่อกัน และปฏิเสธทฤษฎีทั้งหมดดังนี้:

ในการค้นหาต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ของพระคเณศ บางคนเสนอสถานที่ชี้ชัดนอกธรรมเนียมของพราหมณ์.... ที่ตั้งทางประวัติศาสตร์เหล่านี้น่าสนใจมาก แต่ข้อเท็จจริงยังมีอยู่ว่าทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกต เป็นแบบต่าง ๆ ของสมมติฐานฑราวิท ซึ่งแย้งว่าทุกสิ่งที่ไม่ยืนยันอยู่ในแหล่งที่มาพระเวทหรืออินโด-ยูโรเปียนต้องเข้ามาในศาสนาพราหมณ์จากประชากรทราวิฑหรือพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียโดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ผลิตศาสนาฮินดูจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชากรอารยันและมิใช่อารยัน ไม่มีหลักฐานอิสระสำหรับลัทธิบูชาช้างหรือโทเท็ม และไม่มีข้อมูลโบราณคดีใด ๆ ชี้ว่ามีประเพณีก่อนหน้านี้เราเห็นแล้วในวรรณกรรมปุราณะและประติมานวิทยาพระคเณศ

หนังสือของฐาปน (Thapan) ว่าด้วยพัฒนาการของพระคเณศอุทิศหนึ่งบทให้กับข้อสังเกตบทบาทของช้างในอินเดียตอนต้น แต่สรุปว่า "แม้ภายในศตวรรษที่สองปรากฏรูปยักษ์เศียรช้างแล้ว แต่ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าแทนคณปติ-วินายก ไม่มีหลักฐานใดของเทพเจ้าพระองค์นี้มีรูปช้างหรือเศียรช้างในระยะแรกเริ่มนี้ พระคณปติ-วินายกยังไม่ปรากฏ"

เหง้าของการบูชาพระคเณศนั้นสืบย้อนไปได้ถึงสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อ 3000 ปีก่อคริสตกาล ในปี 1993 มีการค้นพบแผ่นโลหะแสดงภาพผู้มีเศียรช้างในจังหวัดโลเรสถาน (Lorestan) ประเทศอิหร่าน อายุราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล เทวรูปดินเผาพระคเณศชิ้นแรกที่ค้นพบนั้นอายุราวศตวรรษที่ 1 พบในเตอร์ (Ter), ปาล (Pal), เวร์ระปุรัม (Verrapuram) และจันทรเกตุคฤห์ (Chandraketugarh) มีลักษณะเป็นเทวรูปองค์เล็ก เศียรเป็นช้าง มีสองกร และมีรูปร่างท้วม สัญรูปยุคแรก ๆ ที่เป็นหินมีแกะสลักใน Mathura ระหว่างยุค Kushan (ศตวรรษที่ 2–3)

ทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าพระคเณศทรงเริ่มขึ้นสู่ความนิยมโดยเกี่ยวพันกับวินายกทั้งสี่ ในเทพปรณัมฮินดู วินายกคือกลุ่มของอสูรเจ้าปัญหาสี่ตนที่คอยสร้างอุปสรรคและความยากลำบาก แต่ก็ถูกกล่อมได้โดยง่าย "วินายก" กลายเป็นชื่อสามัญสำหรับแทนพระคเณศทั้งในปุราณะและในตันตระของศาสนาพุทธ นักวิชาการ กริษัน (Krishan) เป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ยอมรับทัศนะนี้ และระบุว่า "[พระคเณศ] ไม่ใช่เทพเจ้าจากพระเวท พระองค์มีต้นกำเนิดที่ย้อนไถึงวินายกทั้งสี่ วิญญาณชั่วร้ายแห่ง มานวคฤหยสูตร (Mānavagŗhyasūtra, 700-400 ปีก่อนคริสตกาล) ผู้สร้างปัญหาและความทรมานมากมาย" การพรรณนามนุษย์เศียรช้างที่บ้างระบุเป็นพระคเณศ ปรากฏในศิลปะและการผลิตเหรียญกษาปณ์อินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ตามข้อมูลของ Ellawala ชาวศรีลังกาทราบถึงพระคเณศในฐานะเจ้าแห่งคณะ (Gana) ตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลแล้ว

วรรณกรรมและตำนานพระเวท

 
ภาพเขียนเล่าเรื่องมหาภารตะศิลปะราชสถาน ศตวรรษที่ 17 แสดงตอนฤๅษีวยาสะเล่ามหาภารตะให้พระคเณศทรงจด

พระนาม "ผู้นำของคณะ" (คณปติ) พบสองครั้งในฤคเวท แต่ทั้งสองครั้งนั้นไม่ได้หมายถึงพระคเณศสมัยใหม่ คำแรกที่พบอยู่ในฤคเวท มณฑลที่ 2.23.1 นักวิเคราะห์ว่าเป็นพระนามของพรหมนัสปติ (Brahmanaspati) แม้ใช้หมายถึงพระพรหมมัสปติอย่างไร้กังขา แต่ต่อมารับมาใช้ในการบูชาพระคเณศจนถึงปัจจุบัน ลูดอ รอเชอร์ (Ludo Rocher) กล่าวว่ามีระบุชัดเจนว่า "[คำว่า "คณปติ" ในฤคเวทนั้น] หมายถึงพระพรหัสปติ (Bṛhaspati) เทพเจ้าแห่งบทสวดมนต์ และพรหัสปติพระองค์เดียว" ส่วนอีกชื่อในฤคเวท (พบใน ฤคเวท มณฑลที่ 10.112.9) นั้นหมายถึงพระอินทร์ อย่างชัดเจนไม่ต่างกัน" ผู้ทรงได้รับฉายา คณปติ นอกจากนี้รอเชอร์ชี้ว่าในวรรณกรรมเกี่ยวกับพระคเณศในยุคหลัง ๆ นิยมอ้างบทในฤคเวทเพื่อแสดงให้เห็นการเคารพพระคเณศในยุคพระเวท

กวียุคสังฆัมแห่งทมิฬ อวไวยาร์ (Avvaiyar; 300 ปีก่อนคริสตกาล) ได้ขานพระนามพระคเณศขณะการเตรียมการเชิญชวนกษัตริย์ทมิฬทั้งสามในการยอมการแต่งงานของอังคะวัย (Angavay) กับสังคะวัย (Sangavay) แห่งซีลอนในการแต่งงานกับกษัตริย์แห่งติรุกูอิลูร์ (Tirukoilur)

สองบทในคัมภีร์นั้นมาจากยชุรเวท ไมตรายณียสังหีต (Maitrāyaṇīya Saṃhitā) บทที่ 2.9.1 และจากไตติรียะอารัณยกะ (Taittirīya Āraṇyaka) บทที่ 10.1 ได้ขานถึงเทพเจ้าผู้มี "งาเดียว" (ทันติห์; Dantiḥ), "พระพักตร์เป็นช้าง" (หัสตีมุกข์; Hastimukha) และ "มีงวงโค้งงอน" (วกรตุณฑะ; Vakratuṇḍa) พระนามเหล่านี้ส่อถึงพระคเณศ และผู้วิจารณ์สมัยศตวรรษที่ 14 ซายานาระบุรูปพรรณนี้อย่างชัดเจน การอธิบายของทันติน (Dantin) ที่ว่าทรงมีงวงโค้งงอ และทรงมัดข้าวโพด อ้อย และตะบอง นั้นเป็นภาพลักษณะของพระคเณศในแบบปุราณะที่เหมือนมากจนเหรัส (Heras) เคยกล่าวว่า "เราไม่สามารถห้ามการยอมรับการพิสูจน์ของพระองค์อย่างสมบูรณฺกับทันตินพระเวท (Vedic Dantin) นี้" อย่างไรก็ตามกริษัน (Krishan) เชื่อว่าบทเหล่านี้เพิ่มเข้ามาหลังยุคพระเวท ฐาปน (Thapan) รายวานว่าบทเหล่านี้ "โดยทั่วไปถือว่าเป็นการเติมแต่งเข้ามา" ส่วนธวลิการ์ (Dhavalikar) ระบุว่า "การพาดพิงเทพเจ้าเศียรช้างในไมตรายณีสังหีตานั้นพิสูจน์แล้วว่าเป็นการเติมแต่งเข้ามาในภายหลังมาก ๆ ดังนั้นไม่น่ามีประโยชน์มากในการประเมินประวัติการกำเนิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ของเทพเจ้าพระองค์นี้"

พระคเณศไม่ปรากฏพระนามในวรรณกรรมมหากาพย์ของอินเดียจากยุคพระเวท มีการเติมแต่งเข้าไปในกวีมหากาพย์ มหาภารตะ (1.1.75–79) ในภายหลัง ระบุว่าฤๅษีวยาสะขอให้พระคเณศช่วยเป็นอาลักษณ์จดบทกวีให้ฤๅษีเป็นผู้บอก พระคเณศทรงตกลงโดยมีเงื่อนไขว่าวยาสะต้องทวนบทกวีโดยห้ามขาดตอนหรือหยุดพัก ฤๅษีตกลงแต่ใช้วิธีพักโดยท่องข้อความที่ซับซ้อนอย่างยิ่งเพื่อให้พระคเณศต้องถามเพื่อความกระจ่าง นิยายส่วนนี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมหาภารตะดั้งเดิมโดยบรรณาธิการของมหาภารตะฉบับวิพากษ์ (critical edition) ที่นิยายยี่สิบบรรทัดดังกล่าวลดความสำคัญเป็นเชิงอรรถในภาคผนวก นิยายพระคเณศทรงรับเป็นอาลักษณ์พบในต้นฉบับ 37 จาก 59 ต้นฉบับที่หาข้อมูลระหว่างการเตรียมฉบับวิพากษณ์ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระคเณศกับพระทัยที่คล่องแคล่วและการเรียนรู้เป็นสาเหตุหนึ่งที่แสดงพระองค์เป็นอาลักษณ์ของฤๅษีวยาสะที่ให้จดมหาภารตะในการแต่งเติมนี้ ริชาร์ด แอล. บราวน์ (Richard L. Brown) ให้อายุของเรื่องนี้ว่าแต่งขึ้นในศตวรรษที่ 8 ส่วนมอริซ วินเตอร์นิตซ์ (Moriz Winternitz) สรุปว่า คนทราบนิยายนี้เร็วที่สุดประมาณปี 900 แต่มาบรรจุในมหาภารตะอีก 150 ปีให้หลัง วินเตอร์นิตซ์ยังพบด้วยว่าลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งที่พบในต้นฉบับมหาภารตะของอินเดียใต้คือการละตำนานพระคเณศ ส่วนพระนามวินายก (vināyaka) พบในปรัมปราของศานติปรวะ (Śāntiparva) และอนุศาสนปรวะ (Anuśāsanaparva) ถือเป็นการแต่งเติมมาในภายหลัง และการพาดพิงพระนามวิฆนกรตรีนาม (Vighnakartṛīṇām "ผู้สร้างอุปสรรค") ในวนปรวะ (Vanaparva) นั้นก็เชื่อว่าเป็นการแต่งเติมเข้ามาในภายหลัง และไม่พบในฉบับวิพากษ์เช่นกัน

ยุคปุราณะ

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ โปรดดู เกร็ดปุราณวิทยาพระพิฆเนศ
 
เทพทั้งห้าองค์แห่งปัญจยตนะ (Panchayatana): พระคเณศ (กลาง) พระศิวะ (บนซ้าย) เทวี (บนขวา) พระวิษณุ (ล่างซ้าย) และพระสุรยะ (ล่างซ้าย)

นิยายเกี่ยวกับพระคเณศมักพบในประชุมผลงานปุราณะ บราวน์ชี้ว่าแม้ปุราณะ "ขัดขวางการเรียงลำดับเวลาอย่างแม่นยำ" แต่คำบรรยายพระชนม์ชีพของพระคเณศในรายละเอียดมากขึ้นพบในข้อความสมัยหลัง ประมาณปี 600–1300 ยุวราช กริษัน (Yuvraj Krishan) กล่าวว่าเรื่องปรัมปราปุราณะเกี่ยวกับชาติกาลของพระคเณศและการได้เศียรช้างของพระองค์อยู่ในปุราณะยุคหลัง ซึ่งได้แก่หลังปี 600 เป็นต้นมา เขาอธิบายเพิ่มในประเด็นนี้กล่าวว่าการพาดพิงพระคเณศในปุราณะช่วงต้น เช่น พรหมันท์และวายุปุราณะนั้น มีการแต่งเติมเรื่องของพระคเณศเข้าไปในภายหลังราวศตวรรษที่ 7 ถึง 10

ในการศึกษาเรื่องการได้รับความนิยมของพระคเณศในวรรณกรรมสันสกฤต รอเชอร์พบว่า:

เหนืออื่นใด บุคคลไม่อาจห้ามพิศวงกับข้อเท็จจริงที่ว่าหลายนิยายที่แวดล้อมพระคเณศอยู่นั้นกระจุกอยู่กับเหตุการณ์จำนวนจำกัดอย่างคาดไม่ถึง เหตุการณ์เหล่านี้มีเพียงแค่สามเหตุการณ์หลัก คือ ชาตกาลและพระบิดา-มารดา เศียรช้าง และงาเดียว เหตุการณ์อื่นมีกล่าวถึงบ้างในข้อความ แต่มีรายละเอียดน้อยกว่ามาก

การได้รับความนิยมของพระคเณศนั้นมีประมวลในศตวรรษที่ 9 เมื่อมีการบรรจุพระองค์เข้าสู่ห้าเทพเจ้าหลักของลัทธิสมารติ (Smartism) อย่างเป็นทางการ นักปรัชญายุคศตวรรษที่ 9 อาทิ ศังการ (Adi Shankara) เผยแพร่แนวคิด "การบูชาห้าปาง" (ปัญจยาตนบูชา; Panchayatana puja) ให้เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่พรหมมินทรรศนะดั้งเดิมในลัทธิสมารติ เทพเจ้าห้าพระองค์ดังกล่าวประกอบด้วยพระคเณศ, พระวิษณุ, พระศิวะ, เทวี และพระสุรยะ อาทิ ศังการผู้ตั้งธรรมเนียมซึ่งจะสร้างเอกภาพแก่เทพเจ้าหลักห้านิกายให้มีสถานภาพเท่ากัน นับเป็นการตอกย้ำบทบาทของพระคเณศเป็นเทพเจ้าร่วมสมัยอย่างเป็นทางการ

คัมภีร์

ข้อมูลเพิ่มเติม: คเณศปุราณะ, มุทคลปุราณะ, และ คณปติอรรถวศีรษะ
 
เทวรูปพระคเณศ ที่ปรัมบานัน ในชวา ประเทศอินโดนีเซีย, ศตวรรษที่ 9

ครั้นพระคเณศได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในเทพเจ้าสำคัญห้าพระองค์ของศาสนาฮินดูแล้ว มีชาวฮินดูบางส่วนเลือกนับถือพระองค์เป็นเทพเจ้าหลัก เป็นจุดเริ่มต้นของนิกายคาณปัตยะ ดังที่พบได้ทั้งในคเณศปุราณะและมุทคลปุราณะ

วันเวลาที่ประพันธ์คเณศปุราณะและมุทคลปุราณะ รวมถึงการวัดอายุโดยสัมพัทธ์ระหว่างสองคัมภีร์นั้น เป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการ ทั้งสองงานมีการต่อเติมเข้ามาตามเวลาและมีชั้นภูมิที่แยกตามอายุ อนิตา ฐาปน (Anita Thapan) ทบทวนความเห็นเกี่ยวกับการวัดอายุและมีคำวินิจฉัยของนางเอง "ดูเหมือนว่าแก่นของคเณศปุราณะปรากฏในราวศตวรรษที่ 12 และ 13" แต่ "ถูกแต่งเติมเข้ามาภายหลัง" ส่วนลอว์เรนซ์ ดับเบิลยู. เพรสตัน (Lawrence W. Preston) ระบุว่าช่วงเวลาที่สมเหตุสมผลที่สุดของคเณศปุราณะอยู่ระหว่างปี 1100 ถึง 1400 ซึ่งสอดคล้องกับอายุของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงในปุราณะ

อาร์.ซี. ฮาซรา (R.C. Hazra) เสนอว่ามุทคลปุราณะนั้นเก่าแก่กว่าคเณศปุราณะ ซึ่งเขาวัดอายุระหว่างปี 1100 ถึง 1400 อย่างไรก็ตาม ฟิลลีส กรานนัฟฟ์ (Phyllis Granoff) พบปัญหากับการวัดอายุโดยสัมพัทธ์นี้และสรุปว่ามุทคลปุราณะเป็นเอกสารเชิงปรัชญาฉบับสุดท้ายที่ว่าด้วยพระคเณศ เธออ้างเหตุผลบนข้อเท็จจริงว่าในบรรดาหลักฐานภายในอื่น ๆ มุทคลปุราณะเจาะจงพูดถึงคเณศปุราณะว่าเป็นหนึ่งในสี่ปุราณะ (พรหม, พรหมานันทะ, คเณศ และมุทคลปุราณะ) ซึ่งกล่าวถึงพระคเณศอย่างละเอียด แม้แก่นเรื่องของคัมภีร์เหล่านี้ต้องเก่าแก่เป็นแน่ แต่ก็มีการเติมแต่งเข้ามาจนถึงราวศตวรรษที่ 17 ถึง 18 เมื่อการบูชาพระคเณศเกิดสำคัญขึ้นมาในบริเวณนี้ ส่วนอีกคัมภีร์หนึ่งที่ได้รับการเคารพอย่างสูงคือคณปติอรรถวศีรษะ น่าจะแต่งขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง 17

คเณศสหัสรนามเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมปุราณะ และมีบทสวดที่ระบุพระนามและพระลักษณะหนึ่งพันประการของพระคเณศไว้ แต่ละนามและลักษณะที่ปรากฏนั้นสื่อถึงควาหมายต่าง ๆ และเป็นสัญลักษณ์แทนพระคเณศในมุมมองต่าง ๆ ของพระองค์ นอกจากนี้ จอห์น ไกรมส์ (John Grimes) ยังระบุว่ามีอีกหนึ่งในคัมภีร์สำคัญในภาษาสันสกฤตที่มีการกล่าวถึงธรรมเนียมพระคเณศคือคณปติอถรรวศีรษะ

จอห์น ไกรมส์ระบุว่า คัมภีร์ภาษาสันสกฤตที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งที่มีอิทธิพลในนิกายคาณปัตยะ คือ Ganapati Atharvashirsa

นอกอินเดียและศาสนาฮินดู

 
คันกิเต็ง ศิลปะญี่ปุ่น ราวปลายศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษที่ 19 โดยโชโรคุอัง เอคิโช (Shorokuan Ekicho)
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ โปรดดู พระพิฆเนศในศาสนาอื่น

ทั้งการติดต่อทางการค้าและทางวัฒนธรรมได้มีส่วนช่วยขยายอิทธิพลของอินเดียต่อเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพระคเณศก็เป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่มีการขยายความเชื่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก ตามอิทธิพลของชาวอินเดียเช่นกัน

พระคเณศมักพบบูชาโดยพ่อค้าผู้เดินทางออกจากอินเดียเพื่อแสวงหาการค้า นับตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา เครือข่ายการแลกเปลี่ยนสินค้านั้นได้สร้างเม็ดเงินมหาศาล ถือเป็นช่วงเวลาที่พระคเณศได้รับการบูชาและเกี่ยวเนื่องกับการค้า จารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบการขานพระนามพระคเณศเป็นพระนามแรกก่อนเทพเจ้าองค์อื่น ๆ นั้น พบในจารึกของชุมชนพ่อค้า

ชาวฮินดูอพยพไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนภาคพื้นสมุทร พร้อมนำเอาวัฒนธรรมและพระคเณศติดตัวมาด้วย เทวรูปของพระคเณศสามารถพบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร โดยมากมักพบกับเทวสถานของพระศิวะ รูปแบบต่างของพระคเณศของชาวฮินดูพื้นถิ่นในฟิลิปปินส์, ชวา, บาหลี และบอร์เนียว แสดงให้เห็นอิทธิพลพื้นถิ่นที่มีต่อคติบูชาพระคเณศ ในขณะที่การเข้ามาของวัฒนธรรมฮินดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นดิน นำมาสู่การบูชาพระคเณศในปางที่มีการดัดแปลง พบในพม่า กัมพูชา และประเทศไทย ในคาบสมุทรอินโดจีนนี้มีการนับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับศาสนาฮินดู ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อความเชื่อเรื่องพระคเณศในภูมิภาคนี้ ในอินโดจีนมีการนับถือพระคเณศในฐานะผู้ขจัดอุปสรรคเป็นหลัก รวมถึงในศาสนาพุทธของประเทศไทยในปัจจุบัน มีการนับถือพระคเณศในฐานะผู้ปัดเป่าอุปสรรคและเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ

พระพิฆเนศในประเทศไทยได้รับการเคารพบูชาในฐานะเทพเจ้าแห่งศิลปะโดยเฉพาะ คตินี้เกิดความความเชื่อส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์มีศรัทธาในพระคเณศเป็นอย่างมาก ทรงสร้าง "เทวาลัยคเณศร์" ขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ อันเป็นที่ประทับทรงงานด้านหนังสือและการละครมากที่สุด และเมื่อทรงตั้งวรรณคดีสโมสร ก็ทรงอัญเชิญพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ จนกระทั่งการเกิดขึ้นของกรมศิลปากรและสืบทอดตราพระคเณศของวรรณคดีสโมสรมาเป็นตรา จึงทำให้พระคเณศได้รับการเคารพในประเทศไทยในฐานะของเทพเจ้าแห่งศิลปะและการศึกษาในประเทศไทยตราบจนปัจจุบัน สถานศึกษาที่ใช้พระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร

ก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม อัฟกานิสถานมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดกับอินเดีย และพบหลักฐานการบูชาทั้งในศาสนาฮินดูและพุทธ มีการพบหลักฐานเป็นเทวรูปจากศตวรรษที่ 5 ไปจนถึงศตวรรษที่ 7 จึงสามารถสรุปได้ว่ามีการบูชาพระคเณศอย่างแพร่หลายในดินแดนแถบนั้นในช่วงหนึ่งเช่นกัน

ในศาสนาพุทธมหายาน มีการบูชาพระคเณศ ไม่เพียงแต่ในรูปของเทพเจ้าพุทธนามว่า พระวินายก แต่ยังในรูปปิศาจฮินดูพระนามเดียวกัน ปรากฏรูปของพระองค์ในคัมภีร์ของพุทธยุคปลายคุปตะ พระวินายกมักพบในรูปกำลังเต้นรำ การบูชารูป Nṛtta Ganapati, นี้มีพบทั่วไปในอินเดีย เนปาลและทิเบตเช่นกัน ในเนปาล ปางหนึ่งของพระคเณศนามว่าพระเหรัมภะได้รับความนิยมบูชาในศาสนาฮินดูแบบเนปาลมาก โดยทรงมีห้าพักตร์และประทับบนสิงโต รูปแสดงพระคเณศแบบทิเบตมีทัศนะกำกวมเกี่ยวกับพระองค์ พระคเณศในคติของทิเบตมีพระนามว่า ชอกส์บดัฆ (tshogs bdag) ในปางทิเบตปางหนึ่ง แสดงรูปพระองค์ทรงถูก Mahākāla ย่ำ ซึ่งเป็นเทพเจ้าทิเบตที่ได้รับความนิยม รูปอื่นแสดงภาพพระองค์เป็นผู้ขจัดอุปสรรค และบ้างกำลังเต้นรำด้วย ส่วนในจีนและญี่ปุ่นพบพระคเณศในรูปที่มีลักษณะเฉพาะพื้นที่มากขึ้น ในจีนตอนเหนือ พบเทวรูปหินของพระคเณศเก่าแก่สุดวัดอายุได้ราวปี 531 ในญี่ปุ่นพบพระคเณศพระนามว่า คันกิเต็ง (Kangiten) ลัทธิบูชาพระคเณศนี้พบครั้งแรกในปี 806

ในคัมภีร์กติกาสงฆ์ของศาสนาเชนไม่ได้ระบุการบูชาพระคเณศ อย่างไรก็ตาม ศาสนิกเชนส่วนใหญ่บูชาพระองค์ในฐานะของเทพเจ้าแห่งการปัดเป่าอุปสรรค และดูเหมือนเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคงแทนท้าวกุเวรด้วย ความสัมพันธ์กับชุมชนการค้าเป็นเหตุผลสนับสนุนความคิดว่าศาสนาเชนรับเอาการบูชาพระคเณศจากความเชื่อมโยงเชิงพาณิชย์ รูปปั้นพระคเณศแบบเชนเก่าแก่ที่สุดวัดอายุได้ราวศตวรรษที่ 9 คัมภีร์ศาสนาเชนสมัยศตวรรษที่ 15 แสดงรายการขั้นตอนสำหรับติดตั้งรูปเคารพ รูปพระคเณศปรากฏในไชนมนเทียรในราชสถานและคุชราตเช่นกัน

เชิงอรรถ

  1. Bombay edition

อ้างอิง

  1. Heras 1972, p. 58.
  2. Getty 1936, p. 5.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 834
  4. Rao, p. 1.
    • Brown, p. 1. "มักเป็นที่พูดถึงว่าพระคเณศทรงเป็นเทพที่มีการบูชากันมากที่สุดในประเทศอินเดีย" ("Gaṇeśa is often said to be the most worshipped god in India.")
    • Getty, p. 1. "พระคเณศ จ้าวแห่งคณะ ถึงแม้จะเป็นหนึ่งในเทพองค์หลัง ๆ ที่เข้าสู่เทวาลัยของพราหมณ์ แต่ก็ยังเป็นเทพเจ้าที่มีผู้นับถือกันทั่วไปมากที่สุดในบรรดาเทพฮินดูทั้งปวง และรูปเคารพของพระองค์นั้นก็พบได้แทบจะทุกส่วนของประเทศอินเดีย" ("Gaṇeśa, Lord of the Gaṇas, although among the latest deities to be admitted to the Brahmanic pantheon, was, and still is, the most universally adored of all the Hindu gods and his image is found in practically every part of India.")
    • Rao, p. 1.
    • Martin-Dubost, pp. 2–4.
    • Brown, p. 1.
    • Chapter XVII, "The Travels Abroad", ใน: Nagar (1992), pp. 175–187. - สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่ขยายความเชื่อและความนิยมในพระคเณศนอกอินเดียในเชิงภูมิศาสตร์
    • Getty, pp. 37–88, - สำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับการแพร่ขยายความเชื่อในการบูชาพระคเณศไปยังเนปาล ซินเจียง ทิเบต พม่า สยาม อินโดจีน ชวา บาหลี บอร์เนียว จีน และญี่ปุ่น
    • Martin-Dubost, pp. 311–320.
    • Thapan, p. 13.
    • Pal, p. x.
  5. Martin-Dubost, p. 2.
  6. ดูเรื่องฐานะของพระองค์ในการกำจัดอุปสรรคได้ในคณปติอุนิษัท บทที่ 12 อ้างถึงใน Saraswati 2004, p. 80
  7. Heras 1972, p. 58
  8. ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ทราบกันทั่วไป ดังที่ปรากฏในชื่อหนังสือของคอร์ทไรธ์ (Courtright) ว่า "พระคเณศ: เทพแห่งอุปสรรค จ้าวแห่งการเริ่มต้น" (Ganesha: Lord of Obstacles, Lord of Beginnings).
  9. Brown, Robert L. (1991). Ganesh: Studies of an Asian God (ภาษาอังกฤษ). SUNY Press. ISBN 978-0791406564.
  10. Narain, A.K. "Gaṇeśa: The Idea and the Icon" อ้างถึงใน Brown 1991, p. 27
  11. Gavin D. Flood (1996). An Introduction to Hinduism. Cambridge University Press. pp. 14–18, 110–113. ISBN 978-0521438780.
  12. Vasudha Narayanan (2009). Hinduism. The Rosen Publishing Group. pp. 30–31. ISBN 978-1435856202.
  13. สำหรับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการความเชื่อของคาณปัตยะ และความเกี่ยวพันกับการขยายตัวของลลัทธิบูชาพระคเณศในมุมกว้างทางภูมิศาสตร์ ดูเพิ่มที่: Chapter 6, "The Gāṇapatyas" ใน Thapan (1997), pp. 176–213.
    • Narain, A.K. "Gaṇeśa: A Protohistory of the Idea and the Icon". Brown, pp. 21–22.
    • Apte, p. 395.
  14. สำหรับประเด็นความเกี่ยวพันกับ "คณะ" ดูเพิ่มที่: Martin-Dubost. p. 2.
  15. Apte 1965, p. 395.
  16. คำว่า "คณะ" นี้ถอดความในเชิงอภิปรัชญาโดยภาสกรราย (Bhāskararāya) ในความเห็นเชิงวิพากษ์ที่เขามีต่อคเณศสหัสรนาม (gaṇeśasahasranāma) ดูบทวิพากษ์นี้ได้ใน: Śāstri Khiste 1991, pp. 7–8
  17. Grimes 1995, pp. 17–19, 201.
  18. ฤคเวท มณฑล 2 Archived 2017-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, บทสวด มณฑล 2.23.1, วิกิซอร์ซ, ระบุว่า: गणानां त्वा गणपतिं हवामहे कविं कवीनामुपमश्रवस्तमम् । ज्येष्ठराजं ब्रह्मणां ब्रह्मणस्पत आ नः शृण्वन्नूतिभिः सीद सादनम् ॥1॥; ดูคำแปลได้ใน Grimes (1995), pp. 17–19
    • Oka 1913, p. 8 สำหรับที่มาของอมรโกศ 1.38 ดังกล่าว
    • Śāstri 1978 สำหรับอมรโกศ ซึ่งตรงกับบท 1.1.38
  19. Y. Krishan, Gaṇeśa: Unravelling an Enigma, 1999, p. 6)
  20. Krishan p. 6
  21. Thapan, p. 20.
  22. สำหรับประวัติศาสตร์ของพระนามอัศตวินายก และการปฏิบัติบูชาที่เกี่ยวข้อง ดูเพิ่มได้ที่: Mate, pp. 1–25.
  23. สำหรับพระนาม "วิฆเนศวร" ดูที่: Courtright 1985, pp. 156, 213
  24. สำหรับมุมมองของกริษัน (Krishan) ต่อมุมมองนี้ ดูคำกล่าวของกริษันที่ว่า "พระคเณศทรงมีธรรมชาติสองประการควบคู่กันไป คือพระวินายก หรือครามเทวดา (grāmadevatā) วิฆนกรตา (vighnakartā) และคือพระคเณศ หรือววิฆนหรรตา (vighnahartā), เทวดาในปุรานะ (paurāṇic devatā)" จาก Krishan, p. viii.
  25. Martin-Dubost, p. 367.
  26. Narain, A.K. "Gaṇeśa: The Idea and the Icon". Brown, p. 25.
  27. Thapan, p. 62.
  28. , Yangon: Dunwoody Press, 1993, ISBN 978-1881265474, คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2010, สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2010 Unknown parameter |deadurl= ignored (help)
  29. Justin Thomas McDaniel (2013). The Lovelorn Ghost and the Magical Monk: Practicing Buddhism in Modern Thailand. Columbia University Press. pp. 156–157. ISBN 978-0231153775.
  30. Brown, Robert L. (1987), "A Note on the Recently Discovered Gaṇeśa Image from Palembang, Sumatra", Indonesia, 43 (43): 95–100, doi:10.2307/3351212, hdl:1813/53865, JSTOR 3351212
  31. Brown 1991, pp. 176, 182.
  32. Brown 1991, p. 190.
  33. John Clifford Holt (1991). Buddha in the Crown : Avalokitesvara in the Buddhist Traditions of Sri Lanka: Avalokitesvara in the Buddhist Traditions of Sri Lanka. Oxford University Press. pp. 6, 100, 180–181. ISBN 978-0195362466.
  34. Pal, p. ix.
    • Martin-Dubost สำหรับประเด็นประติมานวิทยาของพระคเณศอย่างครอบคลุม พร้อมภาพประกอบครบครัน
    • Chapter X, "Development of the Iconography of Gaṇeśa" ใน: Krishan 1999, pp. 87–100 สำหรับการศึกษาประติมานวิทยาโดยเน้นที่การพัฒนารูปแบบ
    • Pal สำหรับการรวบรวมมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับประติมานวิทยาและศิลปะอันเกี่ยวข้องกับพระคเณศ พร้อมภาพตกแต่งอย่างเต็มอิ่ม
  35. Brown, p. 175.
  36. Martin-Dubost, p. 213. มุมขวาบนของหน้า
  37. Pal, p. vi. และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับศตวรรษที่ 13 ดูที่: p. viii.
  38. Brown, p. 176.
  39. ดูภาพถ่ายหมายเลข 2 ใน: Pal, p. 16.
  40. สำหรับปางที่ทรงศีรษะมนุษย์ ดูที่:
    • ที่พบในประเทศกัมพูชา ดู Brown, p. 10
    • ที่พบในนันทรุทยานวินายกมนเทียร ดู "Vinayaka in unique form". The Hindu. 10 October 2003. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2015-05-01. สืบค้นเมื่อ 30 April 2015.
    • ที่พบที่ Uthrapathiswaraswamy Temple ดู Catlin, Amy; "Vātāpi Gaṇapatim": Sculptural, Poetic, and Musical Texts in the Hymn to Gaṇeśa" ใน Brown pp. 146, 150
    • Martin-Dubost, pp. 197–198.
    • ภาพที่ 9 ใน: Pal, pp. 22–23. สำหรับภาพตัวอย่างที่ว่านี้
    • Pal, p. 25 สำหรับภาพตัวอย่างเพิ่มเติม
    • Pal, pp. 41–64. สำหรับภาพตัวอย่างของพระคเณศทรงร่ายรำจำนวนมาก
    • Brown, p. 183. สำหรับความนิยมของปางพระคเณศทรงร่ายรำ
  41. Four-armed Gaṇeśa. Miniature of Nurpur school, circa 1810. Museum of Chandigarh. ดูรายละเอียดเกี่ยวกับรูปนี้ได้ที่: Martin-Dubost (1997), p. 64
  42. Nagar, p. 77.
  43. Brown, p. 3.
  44. Nagar, p. 78.
  45. Brown, p. 76.
  46. Brown, p. 77.
  47. Brown, pp. 77–78.
  48. Brown, pp. 76–77.
  49. สำหรับประเด็นกำเนิดของพระคเณศจากพระสรวลของพระศิวะ และประเด็นย่อยเรื่องคำสาปของพระศิวะ ดูที่ Varaha Purana 23.17. อ้างถึงใน Brown: p. 77.
  50. Getty 1936, p. 1.
  51. Heras, p. 29.
  52. , Granoff, Phyllis. "Gaṇeśa as Metaphor". Brown, p. 90.
  53. "Ganesha in Indian Plastic Art" and Passim. Nagar, p. 101.
  54. Granoff, Phyllis. "Gaṇeśa as Metaphor". Brown, p. 91.
  55. "อุทร" แปลว่า "ท้อง" ระบุใน: Apte, p. 268.
    • Br. P. 2.3.42.34
    • Thapan, p. 200 สำหรับคำอธิบายถึงเนื้อเรื่องนี้อย่างหลากหลายในมุทคลปุราณะ บท 2.56.38–9
  56. สำหรับชาร์ตแสดงจำนวนพระกรและปางต่าง ๆ ในประติมานวิทยาฮินดู แบ่งตามแหล่งที่มาและพระนาม ดูที่: Nagar, pp. 191–195. Appendix I.
  57. สำหรับประวัติศาสตร์และรูปแบบที่นิยมในการสร้างให้มีหลายพระกรและสี่พระกรเป็นหนึ่งในรูปแบบมาตรฐาน ดูที่ Krishan 1999, p. 89.
  58. Martin-Dubost, p. 120.
    • Martin-Dubost, p. 202, สำหรับภาพรวมของประเด็นงูในประมานวิทยาของพระคเณศ
    • Krishan 1999, pp. 50–53, สำหรับภาพรวมของงูในประติมานวิทยาของพระคเณศ
    • Martin-Dubost, p. 202. สำหรับประเด็นเกี่ยวกับวาสุกิและพระคเณศ
    • Krishan 1999, pp. 51–52. สำหรับประเด็นที่พระคเณศทรงนำวาสุกิมาพันรอบพระศอ และนำเศษะมาพันรอบพระอุทร
    • Martin-Dubost, p. 202. สำหรับจารึกหินจากปี 1470 ที่พูดถึงประเด็นด้ายศักดิ์สิทธิ์หรือนาคเศษะนี้
    • Nagar, p. 92. สำหรับงูที่พบในเรื่องด้ายศักดิ์สิทธิ์นี้
    • Nagar, p. 81. ..."ทรงมีติลกสามขีดบนพระเศียร"
    • Nagar, p. 81. สำหรับคเณศปุราณะ I.14.21–25 และปัทมปุราณะ ในการเล่าถึงการนำพระจันทร์มาประดับพระเศียรของพระองค์
    • Bailey (1995), pp. 198–199. สำหรับคำแปลของคเณศปุราณะ I.14
    • Nagar, p. 81. ในเรื่องอขงพาลจันทร์
    • Sharma (1993 edition of Ganesha Purana) I.46.15. สำหรับพาลจันทร์ ในสหัสรนาม
  59. Nagar, Preface.
  60. "The Colors of Ganesha". Martin-Dubost, pp. 221–230.
  61. Martin-Dubost, pp. 224–228
  62. Martin-Dubost, p. 228.
  63. Krishan, pp. 48, 89, 92.
  64. Krishan, p. 49.
    • Krishan, pp. 48–49.
    • Bailey (1995), p. 348. สำหรับคเณศปุราณะที่กล่าวถึงเรื่องมยุเรศวร (คเณศปุราณะ I.84.2–3)
    • Maruti Nandan Tiwari and Kamal Giri, "Images of Gaṇeśa In Jainism", in: Brown, pp. 101–102.
    • Nagar. Preface.
    • Martin-Dubost, pp. 231–244.
  65. ระบุไว้ใต้ภาพ 43 ใน: Martin-Dubost, p. 144.
  66. มัทสยะปุราณะ 260.54, พรหมานันทะ XXVII , คเณศปุราณะ 2.134–136 อ้างถึงใน: Martin-Dubost, p. 231.
  67. Martin-Dubost, p. 232.
  68. มูษกวาหนะปรากฏใน v. 6. และอาขุเกตนปรากฏใน v. 67. ของ Gaṇeśasahasranāmastotram: mūla evaṁ srībhāskararāyakṛta 'khadyota' vārtika sahita. (Prācya Prakāśana: Vārāṇasī, 1991). เป็นภาษาสันสกฤต
  69. Grimes (1995), p. 86.
  70. A Student's Guide to AS Religious Studies for the OCR Specification, by Michael Wilcockson, p. 117
  71. Krishan pp. 49–50.
    • Martin-Dubost, p. 231.
    • Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature", in: Brown (1991), p. 73.
  72. "จ้าวแห่งการกำจัดอุปสรรค" ("Lord of Removal of Obstacles") ปรากฏทั่วไปและปรากฏใน Courtright's Gaṇeśa: Lord of Obstacles, Lord of Beginnings. สำหรับพระนามวิฆเนศวรและวิฆนราชา ดูที่: Courtright, p. 136.
  73. "Ganesha: The Remover of Obstacles". 31 May 2016.
  74. Courtright, p. 136.
  75. มุมมองของธวลิการ์นั้นมีอยู่ใน Dhavalikar, M.K. "Gaṇeśa: Myth and reality" ใน Brown 1991, p. 49
  76. Brown, p. 6.
  77. Nagar, p. 5.
  78. Apte 1965, p. 703.
  79. Ganesha Purana I.46, v. 5 of the Ganesha Sahasranama section in GP-1993, Sharma edition. It appears in verse 10 of the version as given in the Bhaskararaya commentary.
  80. Sharma edition, GP-1993 I.46, verses 204–206. The Bailey edition uses a variant text, and where Sharma reads Buddhipriya, Bailey translates Granter-of-lakhs.
  81. Practical Sanskrit Dictionary By Arthur Anthony McDonell; p. 187 (priya); Published 2004; Motilal Banarsidass Publ; ISBN 8120820002
  82. Krishan 1999; pp. 60–70 discusses Ganesha as "Buddhi's Husband".
  83. Grimes, p. 77.
  84. Chinmayananda 1987, p. 127, In Chinmayananda's numbering system, this is upamantra 8..
  85. ดูตัวอย่างของภาพทั้งสองได้ใน: Grimes, pp. 79–80.
  86. Tantra Unveiled: Seducing the Forces of Matter & Spirit By Rajmani Tigunait; Contributor Deborah Willoughby; Published 1999; Himalayan Institute Press; p. 83; ISBN 0893891584
  87. Translation. Courtright, p. 253.
  88. Chinmayananda 1987, p. 127.
  89. งานชิ้นนี้มีระบุไว้ใน Martin-Dubost (1997), p. 51, ซึ่งระบุว่า : "This square shaped miniature shows us in a Himalayan landscape the god Śiva sweetly pouring water from his kamaṇḍalu on the head of baby Gaṇeśa. Seated comfortably on the meadow, Pārvatī balances with her left hand the baby Gaņeśa with four arms with a red body and naked, adorned only with jewels, tiny anklets and a golden chain around his stomach, a necklace of pearls, bracelets and armlets."
    • Nagar, pp. 7–14. สำหรับสรุปเรื่องราวชาตกาลของพระองค์ที่มีหลากหลายในปุราณะต่าง ๆ
    • Martin-Dubost, pp. 41–82. Chapter 2, "Stories of Birth According to the Purāṇas".
  90. Shiva Purana IV. 17.47–57. Matsya Purana 154.547.
  91. Varāha Purana 23.18–59.
  92. จาก Brahmavaivarta Purana, Ganesha Khanda, 10.8–37, อ้างถึงใน: Nagar, pp. 11–13.
  93. Melton, J. Gordon (13 September 2011). Religious Celebrations: An Encyclopedia of Holidays, Festivals, Solemn Observances, and Spiritual Commemorations. ABC-CLIO. pp. 325–. ISBN 978-1598842050.
  94. Thapan, p. 300.
  95. Khokar and Saraswati, p.4.
  96. Brown, pp. 4, 79.
  97. Gupta, p. 38.
  98. ดูการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่: Cohen, Lawrence. "The Wives of Gaṇeśa". Brown, pp. 115–140
    • Getty 1936, p. 33. "According to ancient tradition, Gaṇeśa was a Brahmacārin, that is, an unmarried deity; but legend gave him two consorts, personifications of Wisdom (Buddhi) and Success (Siddhi)."
    • Krishan 1999, p. 63. "... in the smārta or orthodox traditional religious beliefs, Gaṇeśa is a bachelor or brahmacārī"
  99. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการถือสถานะพรหมจรรย์ของพระองค์ สามารถดูเพิ่มได้ที่: Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, pp. 126–129.
  100. "In short the spouses of Gaṇeśa are the personifications of his powers, manifesting his functional features...", อ้างถึงใน: Krishan 1999, p. 62.
  101. Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, p. 115.
  102. Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, pp. 131–132.
  103. "The Wives of Gaṇeśa", in: Brown 1991, pp. 132–135.
  104. ดูการถกเถียงประเด็นนี้ได้ที่: Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, pp. 124–125.
  105. Cohen, Lawrence, "The Wives of Gaṇeśa", ใน: Brown 1991, p. 130.
    • Cohen, Lawrence. "The Wives of Gaṇeśa". Brown, p. 130.
    • Thapan, pp. 15–16, 230, 239, 242, 251.
  106. Krishan, pp. 1–3
  107. K.N. Somayaji, Concept of Ganesha, p. 1 as quoted in Krishan, pp. 2–3
  108. Krishan, p.38
  109. สำหรับประเด็นการบูชาพระคเณศที่พบใน "ชาวฮินดูทุกลัทธิและนิกาย และในศาสนาเชนและพุทธ" ดูที่: Krishan 1981–1982, p. 285
  110. Grimes, p. 27
  111. The term modaka applies to all regional varieties of cakes or sweets offered to Ganesha. Martin-Dubost, p. 204.
  112. Martin-Dubost, p. 204.
  113. Martin-Dubost, p. 369.
  114. Martin-Dubost, pp. 95–99.
  115. Thapan, p. 215
  116. Bhattacharyya, B., "Festivals and Sacred Days", in: Bhattacharyya, volume IV, p. 483.
  117. The Experience of Hinduism: Essays on Religion in Maharashtra; Edited By Eleanor Zelliot, Maxine Berntsen, pp. 76–94 ("The Ganesh Festival in Maharashtra: Some Observations" by Paul B. Courtright); 1988; SUNY Press; ISBN 088706664X
  118. Metcalf and Metcalf, p. 150.
    • Brown (1992), p. 9.
    • Thapan, p. 225. สำหรับการเปลี่ยนผ่านจากเทศกาลในครัวเรือนเป็นเทศกาลสาธารณะของติลัก/ดิลก
    • Momin, A.R., The Legacy of G.S. Ghurye: A Centennial Festschrift, p. 95.
    • Brown (1991), p. 9. ในการใช้ข้อเท็จจริงที่ว่าพระคเณศทรงเป็น "the god for Everyman" ของติลก
  119. สำหรับการจัดมณฑปในสาธารณะของติลก ดูที่: Thapan, p. 225.
  120. สำหรับว่าคเณศจตุรถีได้รับความนิยมสู.สุดในรัฐมหาราษฏระ ดู: Thapan, p. 226.
  121. "Gaṇeśa in a Regional Setting". Courtright, pp. 202–247.
  122. Krishan, p. 92
  123. Brown, p. 3
  124. Grimes, pp. 110–112
  125. Krishan, pp. 91–92
  126. T.A. Gopinatha; Elements of Hindu Iconography, pp. 47–48 as quoted in Krishan, p. 2
  127. Krishan, pp. 147–158
  128. . คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 17 December 2007.
  129. สำหรับภาพของเทวรูปและจารึกดังกล่าว ดูที่: Dhavalikar, M.K., "Gaņeśa: Myth and Reality", ใน: Brown 1991, pp. 50, 63.
  130. Dhavalikar, M. K. (1971), "A Note on Two Gaṇeśa Statues from Afghanistan", East and West, 21 (3/4): 331–336, JSTOR 29755703
  131. Brown 1991, pp. 19–21, chapter by AK Narain.
  132. Brown 1991, pp. 50–55, 120.
  133. Nagar, p. 4.
  134. Raman Sukumar (2003). The Living Elephants: Evolutionary Ecology, Behaviour, and Conservation. Oxford University Press. pp. 67–68. ISBN 978-0198026730.
  135. Brown 1991, p. 2.
  136. Brown 1991, p. 8.
  137. Bailey 1995, p. ix.
  138. Courtright, pp. 10–11.
  139. Thapan, p. 75.
  140. Devdutt Pattanaik (2016). Ganesha: The Elephant God (Penguin Petit). Penguin UK. p. 5. ISBN 9789385990618.
  141. Horns, Tusks, and Flippers: The Evolution of Hoofed Mammals. JHU Press. p. 179.
  142. Nanditha Krishna (1 May 2014). Sacred Animals of India. Penguin UK. p. 164. ISBN 9788184751826.
  143. "Loving Ganeśa: Hinduism's Endearing Elephant-faced God", by Subramuniya, p. 268
  144. Kumar, Ajit, 2007. "A Unique Early Historic Terracotta Ganesa Image from Pal" in Kala, The Journal of Indian Art History Congress, Vol XI. (2006–2007), pp. 89–91
    • Passim. Thapan.
    • Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, pp. 70–72.
  145. Aitareya Brāhmana, I, 21.
  146. Bhandarkar. Vaisnavism, Saivism and other Minor Sects. pp. 147–148.
  147. Krishan, p. vii.
  148. Wilson, H. H. Ṛgveda Saṃhitā. Sanskrit text, English translation, notes, and index of verses. Parimal Sanskrit Series No. 45. Volume II: Maṇḍalas 2, 3, 4, 5. Second Revised Edition; Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K. L. Joshi. (Parimal Publications: Delhi, 2001). (Vol. II); ISBN 8171101380 (Set). RV 2.23.1 (2222) gaṇānāṃ tvā gaṇapatiṃ havāmahe kaviṃ kavīnāmupamaśravastamam | 2.23.1; "ข้าขอขานพระนามพระพรหมันสปติ (Brahmaṇaspati) ผู้นำสูงสุดของบรรดา[เทวดา]บนสวรรค์ ฤๅษีแห่งฤๅษีทั้งปวง"
    • Nagar, p. 3.
    • Rao, p. 1.
  149. Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, p. 69.
  150. Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, pp. 69–70.
  151. Wilson, H.H. Ṛgveda Saṃhitā. Sanskrit text, English translation, notes, and index of verses. Parimal Sanskrit Series No. 45. Volume IV: Maṇḍalas 9, 10. Second Revised Edition; Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K.L. Joshi. (Parimal Publications: Delhi, 2001). (Vol. IV); ISBN 8171101380 (Set). RV 10.112.9 (10092) ni ṣu sīda gaṇapate gaṇeṣu tvāmāhurvipratamaṃ kavīnām, ...".
  152. Wilson, H.H. Ṛgveda Saṃhitā. Sanskrit text, English translation, notes, and index of verses. Parimal Sanskrit Series No. 45. Volume IV: Maṇḍalas 9, 10. Second Revised Edition; Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K.L. Joshi. (Parimal Publications: Delhi, 2001). (Vol. IV); ISBN 8171101380 (Set). RV 10.112.9 (10092) ni ṣu sīda gaṇapate gaṇeṣu tvāmāhurvipratamaṃ kavīnām; "Lord of the companies (of the Maruts), sit down among the companies (of the worshippers), they call you the most sage of sages".
  153. สำหรับการใช้ฤคเวทในการบูชาพระคเณศในปัจจุบัน ดู: Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature" ใน Brown 1991, p. 70
  154. Edward Jewitt Robinson (1873). Tamil Wisdom; Traditions Concerning Hindu Sages, and Selections from their writings (PDF). London: Wesleyan Conference Office.
  155. "tát karāţāya vidmahe | hastimukhāya dhîmahi | tán no dántî pracodáyāt||"
  156. "tát púruṣâya vidmahe vakratuṇḍāya dhîmahi| tán no dántî pracodáyāt||"
  157. Maitrāyaṇīya Saṃhitā 2.9.1 และ Taittirīya Āraṇyaka 10.1 อ้างถึงใน: Rocher, Ludo, "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature" ใน Brown 1991, p. 70.
  158. Rajarajan, R.K.K. (2001). "Sugarcane Gaṇapati". East and West, Rome. 51.3/4: 379–84. จากแหล่งเดิมเมื่อ 1 February 2016 – โดยทาง JSTOR.
  159. Taittiriya Aranyaka, X, 1, 5.
  160. Heras, p. 28.
    • Krishan 1981–1982, p. 290
    • Krishan 1999, pp. 12–15. สำหรับการพูดคุยเรื่องการแต่งเติมเข้าไปในไมตรายณียสังหีนทีหลัง
    • Thapan, p. 101. สำหรับประเด็นการเติมแต่งเข้ามาในภายหลังของฐาปน (Thapan)
    • Dhavalikar, M.K. "Gaṇeśa: Myth and reality" ใน Brown 1991, pp. 56–57 สำหรับประเด็นมุมมองของธวิการ์ (Dhavilkar)
  161. Rocher, Ludo "Ganesa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, pp. 71–72.
  162. Mahābhārata Vol. 1 Part 2. Critical edition, p. 884.
  163. For a statement that "Fifty-nine manuscripts of the Ādiparvan were consulted for the reconstruction of the critical edition. The story of Gaṇeśa acting as the scribe for writing the Mahābhārata occurs in 37 manuscripts", see: Krishan 1999, p. 31, note 4.
  164. Brown, p. 4.
  165. Winternitz, Moriz. "Gaṇeśa in the Mahābhārata". Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland (1898:382). Citation provided by Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, p. 80.
  166. Winternitz, Moriz. "Gaṇeśa in the Mahābhārata". Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland (1898:382). อ้างถึงใน Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, p. 80.
  167. สำหรับประเด็นการแต่งเติมพระนามวินายกเข้ามาในภายหลัง ดูเพิ่มที่: Krishan 1999, p. 29.
  168. ประเด็นเกี่ยวกับพระนามวิฆนกรตรีนาม (Vighnakartṛīṇām) และการแปลว่าเป็น "ผู้สร้างอุปสรรค" ดูที่: Krishan 1999, p. 29.
  169. Brown, p. 183.
  170. Krishan, p. 103.
  171. Rocher, Ludo. "Gaṇeśa's Rise to Prominence in Sanskrit Literature". Brown, p. 73.
    • Courtright, p. 163. สำหรับประเด็นการคาดการณ์อายุของปัญจายจนะบูชา และความสัมพันธ์กับสมารตพรหมิน
    • Bhattacharyya, S., "Indian Hymnology", ใน: Bhattacharyya (1956), volume IV, p. 470. สำหรับประเด็นเกี่ยวกับปัญจเทวะทั้งห้า
    • Grimes, p. 162.
    • Pal, p. ix.
  172. Thapan, pp. 196–197. Addresses the pañcāyatana in the Smārta tradition and the relationship of the Ganesha Purana and the Mudgala Purana to it.
  173. สำหรับการพูดคุยและถกเถียงในประเด็นวันเวลาที่คเณศปุราณะแต่งขึ้นนั้น ดูที่: Thapan, pp. 30–33.
  174. Preston, Lawrence W., "Subregional Religious Centers in the History of Maharashtra: The Sites Sacred to Gaṇeśa", อ้างถึงใน: N.K. Wagle, ed., Images of Maharashtra: A Regional Profile of India. p. 103.
  175. R.C. Hazra, "The Gaṇeśa Purāṇa", Journal of the Ganganatha Jha Research Institute (1951); 79–99.
  176. Phyllis Granoff, "Gaṇeśa as Metaphor", อ้างถึงใน Brown, pp. 94–95, note 2.
  177. Thapan, pp. 30–33.
  178. Grimes 1995, pp. 21–22.
  179. Courtright, p. 252.
  180. Bailey 1995, pp. 258–269.
  181. Nagar, p. 175.
  182. Nagar, p. 174.
  183. Thapan, p. 170.
  184. Thapan, p. 152.
  185. Getty 1936, p. 55.
  186. Getty, pp. 55–66.
  187. Getty 1936, p. 52.
  188. Brown, p. 182.
  189. วัฒนะมหาตม์, กิตติ (November 2011). "พระคเณศไม่ใช่เทพศิลปะ รัชกาลที่ 6 ทรงทำให้เป็นเทพศิลปะ". ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน 2011. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2020.
  190. ไทยนับถือพระคเณศมากสุดในสุวรรณภูมิ
    • Nagar, p. 175.
    • Martin-Dubost, p. 311.
  191. Getty 1936, pp. 37–45.
  192. Getty 1936, p. 37.
  193. Getty 1936, p. 38.
  194. Getty 1936, p. 40.
  195. Nagar, p. 185.
  196. Wayman, Alex (2006). Chanting the Names of Manjushri. Motilal Banarsidass Publishers: p. 76. ISBN 8120816536
  197. Nagar, pp. 185–186.
  198. Martin-Dubost, p. 311.
  199. Martin-Dubost, p. 313.
  200. Krishan, p. 121.
  201. Thapan, p. 157.
  202. Thapan, pp. 151, 158, 162, 164, 253.
  203. Krishan, p. 122.
  204. Thapan, p. 158.

บรรณานุกรม

  • Apte, Vaman Shivram (1965). The Practical Sanskrit Dictionary. Delhi: Motilal Banarsidass Publishers. ISBN 978-8120805675.CS1 maint: ref=harv (link) (fourth revised and enlarged edition).
  • Bailey, Greg (1995). Ganeśapurāna: Introduction, translation, notes and index. Harrassowitz. ISBN 978-3447036474.CS1 maint: ref=harv (link)
  • Bhattacharyya (Editor), Haridas (1956). The Cultural Heritage of India. Calcutta: The Ramakrishna Mission Institute of Culture.CS1 maint: extra text: authors list (link) Four volumes.
  • Brown, Robert (1991), Ganesh: Studies of an Asian God, Albany: State University of New York, ISBN 978-0791406571
  • Chinmayananda, Swami (1987), Glory of Ganesha, Bombay: Central Chinmaya Mission Trust, ISBN 978-8175973589CS1 maint: ref=harv (link)
  • Courtright, Paul B. (1985), Gaṇeśa: Lord of Obstacles, Lord of Beginnings, New York: Oxford University Press, ISBN 978-0195057423
  • Ellawala, H (1969), Social History of Early Ceylon, Colombo: Department of Cultural Affairs.
  • Getty, Alice (1936). Gaṇeśa: A Monograph on the Elephant-Faced God (1992 reprint ed.). Oxford: Clarendon Press. ISBN 978-8121503778.CS1 maint: ref=harv (link)
  • Grimes, John A. (1995), Ganapati: Song of the Self, SUNY Series in Religious Studies, Albany: State University of New York Press, ISBN 978-0791424407CS1 maint: ref=harv (link)
  • Heras, H. (1972), The Problem of Ganapati, Delhi: Indological Book House
  • Khokar, Ashish; Saraswati, S. (2005), Ganesha-Karttikeya, New Delhi: Rupa and Co, ISBN 978-8129107763
  • Krishan, Yuvraj (1981–1982), "The Origins of Gaṇeśa", Artibus Asiae, Artibus Asiae Publishers, 43 (4): 285–301, doi:10.2307/3249845, JSTOR 3249845
  • Krishan, Yuvraj (1999), Gaṇeśa: Unravelling An Enigma, Delhi: Motilal Banarsidass Publishers, ISBN 978-8120814134
  • Krishna, Murthy, K. (1985), Mythical Animals in Indian Art, New Delhi: Abhinav Publications, ISBN 978-0391032873
  • Mate, M.S. (1962), Temples and Legends of Maharashtra, Bombay: Bharatiya Vidya Bhavan, OCLC 776939647
  • Metcalf, Thomas R.; Metcalf, Barbara Daly, A Concise History of India, ISBN 978-0521630276
  • Nagar, Shanti Lal (1992). The Cult of Vinayaka. New Delhi: Intellectual Publishing House. ISBN 978-81-7076-044-3.CS1 maint: ref=harv (link)
  • Oka, Krishnaji Govind (1913), The Nāmalingānuśāsana (Amarakosha) of Amarasimha: with the Commentary (Amarakoshodghāṭana) of Kshīrasvāmin, Poona: Law Printing Press, สืบค้นเมื่อ 14 September 2007.
  • Ramachandra Rao, S.K. (1992), The Compendium on Gaṇeśa, Delhi: Sri Satguru Publications, ISBN 978-8170308287
  • Saraswati, Swami Tattvavidananda (2004), Gaṇapati Upaniṣad, Delhi: D.K. Printworld Ltd., ISBN 978-8124602652
  • Śāstri Khiste, Baṭukanātha (1991), Gaṇeśasahasranāmastotram: mūla evaṁ srībhāskararāyakṛta 'khadyota' vārtika sahita, Vārāṇasī: Prācya Prakāśana. Source text with a commentary by Bhāskararāya in Sanskrit.
  • Śāstri, Hargovinda (1978), Amarkoṣa with Hindi commentary, Vārānasi: Chowkhambā Sanskrit Series Office
  • Thapan, Anita Raina (1997). Understanding Gaṇapati: Insights into the Dynamics of a Cult. New Delhi: Manohar Publishers. ISBN 978-8173041952.

แหล่งข้อมูลอื่น


พระคเณศ, นสกฤต, गण, ทม, งกฤษ, ganesha, ชาวไทยน, ยมเร, ยกว, พระพ, ฆเนศ, พระนามอ, นท, พบ, เช, พระพ, ฆเณศวร, พระพ, ฆเณศวร, หร, คณปต, เป, นเทวดาในศาสนาฮ, นด, ได, บการเคารพบ, ชาอย, างแพร, หลายท, ดพระองค, หน, พบร, ปแพร, หลายท, งในประเทศอ, นเด, เนปาล, ศร, งกา, ไทย, บ. phrakhens snskvt गण श thmil ப ள ள ய ர xngkvs Ganesha chawithyniymeriykwa phraphikhens 3 व घ न श phranamxunthiphb echn phraphikhenswr phraphikhenswr hrux khnpti epnethwdainsasnahinduthiidrbkarekharphbuchaxyangaephrhlaythisudphraxngkhhnung 4 phbrupaephrhlaythnginpraethsxinediy enpal srilngka fici ithy bahli bngkhlaeths 5 nikayinsasnahinduthuknikaylwnekharphbuchaphrakhens imidcakdechphaainkhanptyaethann 6 aelakarbuchaphrakhensyngphbinphuththaelaichnaxikdwy 7 phraphikhensethphecaaehngkarerimtnihm khwamsaerc aelastipyyaphraphukhcdxupsrrkh 1 2 ethwrupphraphikhens silparachwngspala stwrrsthi 10 cdaesdngthiphiphithphnthphxrthaelnd rthoxerkxn shrthchuxinxksrethwnakhriगण श chuxinkarthbsphthphasasnskvtGaṇesaswnekiywkhxngethph phraphrhm khnptya skhunphrhmn pycyatnbucha phraxiswrwimanekhaikrlas ekhiyngphrasiwaaelaphraparwti khensolkmntroxm sri khensaya namahoxm khng khnptey namah Oṃ Shri Gaṇesaya NamaḥOṃ Gaṃ Gaṇapataye Namaḥ xawuthprsu khwan pas bas xnkus pratkchang sylksnoxm khnmomthkaphahnahnukhmphirkhenspurana muthkhlpurana khnptixthrwsirsaephsburusethskalkhenscturthikhxmulswnbukhkhlkhukhrxngphuththi pyya vththi khwamecriy siththi khwamsaerc bida mardaphrasiwa bida phraparwti marda phinxngphrakhnthkumar phraechstha sastha phraxnucha bthkhwamnixangxingkhristskrach khristthswrrs khriststwrrs sungepnsarasakhykhxngenuxha phralksnathioddedncakethphxngkhxun khuxphraesiyrepnchang 8 epnthiekharphknodythwipinthanakhxngethphecaphukhcdxupsrrkh 9 xngkhxupthmphaehngsilpwithyakar withyasastr aelasastrthngpwng aelathrngepnethphecaaehngkhwamchladechliywaelapyya 10 inthanathiphraxngkhyngthrngepnethphecaaehngkarerimtn inbthswdbuchatang kxnerimphithikarhruxkickrrmid kcaeplngphranamphraxngkhkxnesmx 11 2 snnisthanknwaphrakhensnacapraktkhunepnethphecakhrngaerkinrawkhriststwrrsthi 1 12 swnhlkthanyunynwamikarbuchaknyxnklbipemuxrawkhriststwrrsthi 4 5 smyxanackrkhupta thungaemphralksnacaphthnamacakethphecainphraewthaelayukhkxnphraewth 13 ethphpkrnmhindurabuwaphrakhensthrngepnphrabutrkhxngphrasiwaaelaphraparwti phraxngkhphbbuchaknxyangaephrhlayinthuknikayaelawthnthrrmthxngthinkhxngsasnahindu 14 15 phrakhensthrngepnethphecasungsudinnikaykhanptya 16 khmphirhlkkhxngphrakhensechn khenspurana muthkhlpurana aela khnptixrrthwsirsa nxkcakniyngmisaranukrmechingpuranaxiksxngelmthiklawekiywkbphrakhens khux phrhmpurana aela phrhmnthpurananxkcaknnphraphikhens yngepnthiekharphnbthuxkhxng sastrindansilpin aelasilpatang sngektidcakinphithitangcamikarxyechiyphraphikhens marwmepnsingsksiththi thikhxyprasiththiprasastrphrihkbphurwmphithixikdwy enuxha 1 sphthmulaelaphranamxun 2 pratimanwithya 2 1 phralksnathwip 2 2 phahna 3 bthbath 3 1 phukhcdxupsrrkh 3 2 phuththi pyya 3 3 oxm 3 4 pthmckr 4 khrxbkhrwaelaphramehsi 5 karbuchaaelaethskal 5 1 khenscturthi 5 2 ethwsthan 6 karkhunsukarepnethphecahlk 6 1 karpraktkhrngaerk 6 2 xiththiphlthixacmiswn 6 3 wrrnkrrmaelatananphraewth 6 4 yukhpurana 6 5 khmphir 7 nxkxinediyaelasasnahindu 8 echingxrrth 9 xangxing 10 brrnanukrm 11 aehlngkhxmulxunsphthmulaelaphranamxun aekikh phraphikhenssilpaphma phraphikhensmiphranamaelachayaxun thiicheriyk echn khnpti Ganapati Ganpati aela phrawikhenswr hrux phrawikhens Vighneshwara mketimkhaaesdngkhwamekharphaebbhindu sri iwnahnaphranamdwy echn phrasrikhenswr Sri Ganeshwara khawa khens nnmacakkhaprasmphasasnskvtkhawa khna gaṇa aeplwaklum rabb aela xis isha aeplngesiyngepn exs aeplwa caw 17 khawa khn nnsamarthichniyam khna khuxkxngthphkhxngsingmichiwitkingethwathiepnhnunginphutidtamkhxngphrasiwa phuthrngepnphrabidakhxngphraphikhens 18 aetodythwipnnkhuxkhwamhmayediywknkb khna thiichinphasaithy aeplwapraephth chn chumchn smakhmhruxbrrsth 19 minikwichakarbangswnthitikhwamwa phrakhn cungxacaeplwaphraaehngkarrwmklum phraaehngkhnakhuxsingthngpwngthiekidkhun thatutang 20 swnkhawa khnpti गणपत gaṇapati macakkhasnskvtwa khn aeplwakhna aela pti aeplwa phuna 19 aemkhawa khnpti caphbkhrngaerkinvkhewthxayukwasxngphnpikxnkhristkal inbthswd 2 23 1 nkwichakaryngthkethiyngknxyuwakhanihmaythungphrakhensphraxngkhediywhruxim 21 22 inxmroks Amarakosha 23 pthanukrmsnskvtobran idrabuphranamkhxngphrakhensdngni winyka Vinayaka wikhnrach Vighnaraja trngkb wikhens inpccubn thiwmatura Dvaimatura phusungmisxngmarda 24 khnathip Gaṇadhipa trngkb khnpti aela khens inpccubn exkthnt Ekadanta ngaediyw ehrmpha lmophthr Lambodara phusungmithxngklmehmuxnhmx aela khchanna Gajanana 25 winayka व न यक vinayaka kepnxikphranamhnungthiphbthwip odyphbinpuranatang aelaintntrakhxngsasnaphuthth 26 obsthphrahmn 8 aehngthiodngdnginrthmharastrathieriykwa xstwinayk Ashtavinayaka kidnaphranamnimaichinkartngchuxechnkn 27 swnphranam wikhens व घ न श vighnesa aela wikhenswr व घ न श वर vighnesvara aeplwa cawaehngkarkacdxupsrrkh 28 aesdngihehnthungkarykyxngihthrngepnethphecaaehngkarerimtnaelakacdxupsrrkh wikhna insasnahindu 29 inphasathmilniymeriykphranam pilil Pillai thmil ப ள ள hrux pililyar Pillaiyar ப ள ள ய ர 30 ex ekh nern A K Narain rabuwathngsxngkhanitangknthi pilil aeplwa edk swn pililyar aeplwa edkphusungskdi swnkhaxun xyang pllu pallu eplla pell eplla pella intrakulphasadrawiediyn suxkhwamthung thnt khuxfnhruxinthinihmaythung nga 31 xnita irna thapn Anita Raina Thapan esrimwaraksphthkhxng pilel pille in pililyar nacamacakkhathiaeplwa khwameyawkhxngchang sungmacakkhaphasabali pillka pillaka aeplwa changedk 32 inphasaphmaeriykphrakhenswa maha epnen Maha Peinne မဟ ပ န န xxkesiyng meha peiɴne sungmacakphasabali mhawinayk Maha Winayaka မဟ ဝ န ယက 33 aelainpraethsithyniymichphranam phraphikhens 34 rupekharphaelakarklawthungkhxngphrakhensthiekaaekthisudinaethbphumiphakhexechiytawnxxkechiyngitniphbinswnthipccubnkhuxpraethsxinodniesiy 35 swnpraethsithy kmphucha aelaewiydnam erimphbkarbuchaphrakhenstngaetrawstwrrsthi 7 8 36 sungeliynaebbcaklksnathiphbekharphbuchainxinediyemuxrawstwrrsthi 5 37 insasnaphuththaebbsinghlkhxngchawsrilngka phraxngkhthrngepnthiruckdwyphranam khnethwioy Gana deviyo aelaidrbkarbuchaechnediywkbphraphuththeca phrawisnu phrakhnthkumar aelaethphecaxngkhxun 38 pratimanwithya aekikh ethwrupphraphikhens stwrrsthi 13 silpaohysla phbthirthkrnatka phrakhensthuxwaidrbkhwamniymmakinsilpaxinediy 39 aelamiphralksnathihlakhlayiptamewla tangcakinethphhinduswnihy 40 miphralksnathrngyun rayra thrngexachnaxsurray prathbkbphrabidaaelamardainlksnaphlkhnpti phrakhenswyeyaw hruxprathbbnbllngk raylxmdwyphrachayarupekharphkhxngphrakhenserimphbthwipinhlayswnkhxngpraethsxinediyinstwrrsthi 6 41 ruppncakchwngstwrrsthi 13 epnrupaebbkhxngruppnphraphikhensthisranginchwngpi 900 1200 hlngcakthiphraphikhensidrbkaryxmrbepnethphecaexkethsxyangmnkhngaelaminikaykhxngphraxngkh khanptya phralksnathiphbinrayanierimepnlksnathangpratimanwithyathiphbthwipkhxngphrakhensbangprakar aelamiruppnthilksnakhlayknmakthipxl martin dubxst Paul Martin Dubost pramanxayuiwthirawpi 973 1200 42 nxkcakniyngphbruppnkhlayknsungprathptiya pal Pratapaditya Pal rabuxayuwamacakstwrrsthi 12 43 phrakhensthrngmiphraesiyrepnchang aelathrngmiphraxuthr thxng ot thrngmisikr aelathrngngathihkinhtthkhwa xikhtthhnungthrngchamkhnm rupaebbthisungphrakhensthrnghnngwngxyangchdecnipthanghtthsaythithrngkhnm epnphralksnahnungthithuxwaekaaekphxkhwr 44 swnrupslkthiekaaekkwanithiphbinthaexlolraaehnghnunginlksnaediywknniwdxayuidpramanstwrrsthi 7 45 raylaexiydkhxnghtthxikkhangkhxngphraxngkhnnyakthicakhadkhaenidwathrngsingid inrupaebbmatrthannn phrakhensmkthrngkhwanprasuhruxpradkchanginphrahtthbn aelathrngbwngbas inxikphrahtthbnswnrupthiphraxngkhthrngthuxsirsamnusynnphbnxymak 46 xiththiphlkhxngkarcderiyngxngkhprakxbthangpratimanwithyadngedimniyngphbidinrupphrakhensaebbrwmsmy inpangsmyihmpanghnungepliynephiynghtthlangcakthrngbashruxthrngngathihkepnthrngthaxphymuthra 47 nxkcakniyngphblksnakarcderiynginsihtthniinrupaebbthiphrakhensthrngrayraechnkn lksnathrngrayranithuxwaidrbkhwamniymsungechnediywkn 48 phralksnathwip aekikh lksnathwipkhxngphrakhens thrngmisikr inphaphkhuxphaphekhiynsilpanurpura pi 1810 49 phralksnakhxngphrakhensthimiphraesiyrepnchangnnphbmatngaetinsilpaxinediyyukhaerk 50 pkrnminpuranaelakhaxthibaymakmaythungthimakhxngphraesiyrthithrngepnchang 51 nxkcakniyngphbphralksna phraehrmpha khuxpanghaesiyr aelapangxun thimicanwnphraesiyrhlakhlayechnkn 52 khmphirbangswnrabuwaphraxngkhprasutimaphrxmkbphraesiyrthiepnchang aetswnihyrabuwathrngidrbphraesiyrniinphayhlng 53 khwamechuxhnungthiniymaephrhlaymakthisudkhux phraparwtiepnphusrangphrakhenscakdinehniywephuxpkpxngphraxngkhexng aelwphrasiwakthrngtdphraesiyrkhxngphrakhensxxkemuxphraxngkhekhaaethrkrahwangphrasiwaaelaphraparwti aelaprathanphraesiyrchangihaethnphraesiyredim 54 swnraylaexiydkaryuththtang aelawaphraesiyrchangthinamaaethnnnmacakthiidnnaetktangkniptamexksartang 55 56 xikkhwamechuxhnungrabuwaphrakhensprasuticakesiyngphrasrwlkhxngphrasiwa aetdwyphralksnakhxngphrakhensthiprasutixxkmannepnthilxtalxicekinip cungthrngprathanphraesiyrihmthiepnchang aelaphraxuthr thxng xwnphluy 57 phranamthiekidkhuninphayhlngthisudkhux exkthnt hrux exkthnt ngaediyw macakphralksnathithrngmingaephiyngkhangediyw xikkhangnnaetkhk 58 bangphrarupthiekidkhunhlngcaknnpraktthrngthuxngathihk 59 khwamsakhykhxnglksna exkthnt sathxnxxkmainmuthklpurana sungrabuwakarcutikhrngthisxngkhxngphraxngkhmiphranamwa exkthnt 60 swnphralksnakhxngphraxuthrphluynnthuxepnlksnathioddednaelaphbprakttngaetinsilpayukhkhupta stwrrsthi 4 thung 6 61 phralksnanimikhwamsakhymakcninmuthklpuranarabuphranamthithrngklbchatimaekidtamphralksnanithungsxngphranam khux lmophthr thxnghxyehmuxnhmx mohthr thxngihy 62 phranamthngsxngmacakkhaphasasnskvt xuthr thiaeplwathxng 63 in phrhmnthpurana rabuwaphranam lmophthr macakkarthickrwalthngpwng xdit pccubn aelaxnakht ikhckrwal hrux phrhmanths sthitxyuinphraxngkh 64 phb 2 thung 16 phrakr 65 phrarupswnihykhxngphraxngkhmisiphrakr sungphbrabuthwipinpuranatang 66 phrarupinyukhaerk praktsxngphrakr 67 swnpangthithrngmi 14 aela 20 phrakrphbinxinediyklangchwngstwrrsthi 9 aela 10 68 nxkcaknnyngphbphyanakhprakxbxyukbethwrupodythwip mihlakhlayrupaebb 69 sunginkhenspuranarabuwaphraxngkhthrngphnwasukirxbphrasx 70 bangkhrngmikaraesdngphaphkhxngnguhruxnakhinlksnakhxngdayskdisiththi wchnoypwita yajnyopavita 71 khlxngrxbphraxuthr thrngthuxinphrahtth khdxyuthiekha hruxprathbepnbllngknakh inbangngansilppraktphraentrthisambnphranlat hnaphak bangpraktrxykhidecim tilk samesninaenwnxn 72 inkhenspuranamikahndthngtilkaelacnthresiywbnphranlat 73 lksnanipraktinpang phalcnthr Bhalachandra dwngcnthrbnhnaphak 74 mkbrryaywasiphrawrkayphraxngkhepnsiaedng 75 siphrawrkaymikhwamsmphnthkbbangpang 76 pangthasmathitrngkbsiphrawrkaytang mihlaytwxyangin sritttwnithi tarapratimanwithyahindu echn sikhawsuxthungpang ehrmpha khnpti aela rina omcna khnpti Rina Mochana Ganapati phrakhnptiphuthrnghludphncakostrwnthitrungiw 77 swn exkthntkhnpti camisiphrawrkaynaenginemuxthrngthasmathi 78 phahna aekikh phrakhensthrngrayra ethwrupphbthiebngkxlehnux stwrrsthi 11 phiphithphnthsilpaexechiyebxrlin dahelm rupphrakhensyukhaerk yngimpraktwathrngwahna phahnakhxngethpheca 79 muthkhlpuranarabuwainphrachatithieswyaepdphrachati phraxngkhthrngichhnuinhaphrachati swnxiksamphrachatithrngichwkrtuntha singot witka nkyung aelaessa nakhrach 80 swninkhenspuranarabuwainsiphrachati phrachati omohtkl thrngichsingot phrachati myuerswr thrngichnkyung phrachati thumrektu thrngichma aela phrachatikhchnna thrngichhnu insasnaichnamipraktphraphahnaepnthnghnu chang eta aeka aelankyung 81 phrakhensmkaesdnginlksnathrnghruxhxmlxmdwyhnu 82 martin dubxst Martin Dubost rabuwahnuerimpraktepnwahnahlkkhxngphrakhensinruppnthiphbaethbxinediyklangaelaxinediytawntktngaetstwrrsthi 7 thierimphbhnupradbxyuekhiyngphrabathkhxngphrakhens 83 hnuinthanaphahnakhxngphrakhenspraktinnganekhiynkhrngaerkin mtsypurana aelatxmaphbinphrhmannthapuranalakhenspurana sungrabuwaphrakhensmihnuepnwahnainkarcutiinchatisudthaykhxngphraxngkh 84 inkhnptixrrthwsirsaidrabuthungbthswdthirabuwaphrakhensthrngmihnuxyubnthngkhxngphrakhens 85 phranamthngmusksahna Muṣakavahana mihnuepnphahna aelaxakhuektn Akhuketana thnghnu praktinkhensshsrnam 86 mikartikhwamhnuiwhlayaebb ikrms Grimes rabuwa swnihy thaimichthnghmd mktikhwamhnukhxngphrakhnptiipinthanglb waepn tomkhun tamoguṇa echnediywkbepnkhwamprarthna 87 tamaenwkhidniimekhil wilkhxksn Michael Wilcockson rabuwahnuepnsylksnkhxngphuprasngkhexachnakhwamprarthnaaelaldkhwamehnaektw 88 swnkrisn Krishan chiihehnwahnuepnstwchxbthalay aelaepnphytxphlphlitthangkarekstr khasnskvtwa muska muṣaka thiaeplwahnunnmacakrakkhux mus muṣ thiaeplwakarlkkhomy cungsakhytxngprabhnuthiepnstwrngkhwancxmthalay hruxeriykwaepn wikhn mar thitxngexachna thvsdinirabuwakaraesdngphrakhenswathrngepncawkhxnghnuaesdngwaphraxngkhthrngepn wikhenswr cawaehngxupsrrkh aelaepnhlkthansahrbkhwamepnipidkhxngbthbathepnkhramethwda ethphecahmuban khxngchawbansungtxmaepnthiruckmakkhun 89 martin dubxstchiihehnwahnuyngepnsylksnthiesnxwaphrakhensaethrksumipxyuinthukthiaeminthilbthisudidduchnu 90 bthbath aekikh ehrmphkhensaaelaphrachaya stwrrsthi 18 enpal phukhcdxupsrrkh aekikh phranam phraphikhenswr Vighneshvara hrux wikhnrach Vighnaraja phasamrathi wikhnharta Vighnaharta aeplwa cawaehngxupsrrkh the Lord of Obstacles thnginmumthangolkaelathangwiyyan 91 phraxngkhepnthibuchathwipinthanphupdepaxupsrrkh aemedimwaphraxngkhyngepnphusrangxupsrrkhtang ihekidkhuninesnthangkhxngphuthicatxngthdsxb dngnnphraxngkhcungepnthiekharphbuchaepnerimkxnkarerimsingihm 92 phxl khxrthirth Paul Courtright rabuwa thrrma aelaehtuphlsakhykhxngphrakhenskhuxkarsrangaelakacdxupsrrkh 93 nkwichakar krisn Krishan chiihehnwabangphranamkhxngphrakhenssathxnbthbathxnhlakhlaykhxngphraxngkhthimiphthnakartamewla 29 thwlikr Dhavalikar yktwxyangkarkhunepnethphecaxyangrwderwkhxngphrakhensinbrrdaethphecahindu karekidkhunkhxngkhnptya Ganapatyas aelakarepliyncakkarennphranamwa wikhnkrrta vighnakarta phusrangxupsrrkh epn wikhnhrrta vighnaharta phukacdxupsrrkh 94 xyangirktamthngsxngbthbathyngsakhytxphralksnakhxngphraxngkh 95 phuththi pyya aekikh phrakhensidrbkarykyxngwaepncawaehngtwxksraelakarsuksa 96 inphasasnskvt khawa phuththi buddhi epnnamthimikhwamhmayhlakhlay thngpyya intelligence phumipyya wisdom phuthrngpyya intellect 97 monthsnphuththinnekiywkhxngsmphnthxyangmakkbbukhlikphaphkhxngphrakhens odyechphaaxyangyinginyukhpurana sungniyaytang ennyakhwamchladechliywaelakhwamrkinkhwamrukhxngphraxngkh phranamhnungkhxngphraxngkhthipraktin khenspurana aelain 21 phranamkhxng khensshsrnam Ganesha Sahasranama khux phuththipriya Buddhipriya phurkinphuththi 98 99 khawa priya priya aeplwa khwamrk khwamhlng fondness aelainbribthkarsmrsynghmaythung khnrk hrux swami kid 100 dngnnphranamnixachmaythung phurkinkhwamru hrux khukhrxngkhxngphranangphuththi kid 101 oxm aekikh phrakhens silpaocla tnstwrrsthi 13 phrakhensnnidrbkarrabudwymntrhindu oxm dnginpraoykh oxmkarswrup Oṃkarasvarupa xnaeplwa oxmepnrupkhxngphraxngkh Om is his form emuxichsuxthungphrakhens hmaykhwamthungrupbukhlathisthankhxngesiyng oxm 102 inkhnptixrrthwsirsa yunynkhxethccringni cinmyanntha Chinmayananda aeplkhxkhwamthiekiywkhxnginkhnptixrrthwsirsaiwdngni 103 ox phrakhnpti phraxngkhthrngepn trimurti phraphrhm phrawisnu aelaphramehsa phraxngkhthrngepnphraxinthr phraxngkhthrngepnif phraxkhni aelaxakas phrawayu phraxngkhthrngepndwngxathity phrasurya aeladwngcnthr phracnthr phraxngkhthrngepnphrhmn phraxngkhthrngepn samolk phuolk olkmnusy xntrvksolk xwkas aelaswrrkholk swrrkh phraxngkhthrngepnoxm xnhmaykhwamwa phraxngkhthrngepnthuksingthiwamani phusrththainphrakhensbangkhnmxngehnkhwamkhlaykhlungknrahwangrupkhxngphrakhensaelasylksnkhxngoxminxksrethwnakhrikbxksrthmil 104 pthmckr aekikh kunthlinioykha Kundalini yoga rabuwaphrakhensthrngxasyinckraerk thieriykwa mulathara muladhara mulatharackrepnhlksakhykhxngkarsaaednghruxkarkhyayxxkkhxngkxngthphswrrkhyukhaerkerim 105 inkhnptixrrthwsirsaidrabuiwechnkn inchbbaeplkhxngkhxrthirth Courtright aeplkhxkhwamniwa phraxngkhthrngxasyxyangtxenuxngphayinchxngthxngskdisiththi sacral plexus xnepnthankhxnghlksakhy mulatharckr 106 dngnn phrakhenscungthrngmiphrawimanphayinmulatharkhxngsingmichiwitthngpwnginmulathara 107 phrakhensthrngthux rxngrb aelanaphackrthngpwng dngnncungepnkar khwbkhumphlngthngpwngthimiphltxwngckrkhxngchiwit 105 khrxbkhrwaelaphramehsi aekikhduephimetimthi tananphraphikhens aela phramehsiinphraphikhens phrasiwaaelaphraparwtithrngkalngprasutiphrakhens culsilpkngkhra Kangra miniature stwrrsthi 18 phiphithphnthxllxhabad niwedli 108 odythwipthungaemthwipthuxknwaphrakhensepnphraoxrskhxngphrasiwaaelaphraparwti aeteruxngprmprapuranamikhxmultangip 109 bangpuranarabuwaphraparwtiepnphusrangphrakhens 110 bangpuranarabuwaphrasiwaaelaphraparwtiepnphurwmknsrang 111 bangpuranarabuwaphraxngkhprakttwkhunmaxyangluklb aelwphrasiwakbphraparwtiipphb 112 hruxwaphraxngkhprasutiaekethwithimiesiyrepnchangphranamwa malini Malini hlngthrngdumnasrngkhxngphraparwtithiethlngaemnaekhaip 113 khrxbkhrwkhxngphraxngkhprakxbdwyphraechsthaaelaxnucha phrakhnthkumar kartiekya ethphecaaehngkarsngkhram 114 ladbkarprasutikhxngphrakhenskbphrakartiekyaaetktangkniptamphumiphakh inxinediyehnuxechuxknthwipwaphrakartiekyaepnphuphi aetinxinediyitklbechuxwaphrakhensprasutikxn 115 inxinediyehnuxnn phrakartiekyathrngepnethphecaaehngkarrbxngkhsakhyinchwngrahwang 500 pikxnkhristkalthungtnkhriststwrrsthi 6 thisungkarbuchaphraxngkhiderimesuxmlng inkhnaediywknklbepnphrakhensthithrngidrbkhwamniymmakkhunaethn mihlayeruxngelathielathungkhwamimlngrxyknrahwangphinxngsxngphraxngkh 116 aelaxacsathxnthungkhwamtungekhriydrahwangnikay 117 sahrbsthanphaphsmrsphrakhenssungepnhwkhxkarthbthwnwichakarxyangaephrhlaynntangkniptamniyayprmpra 118 eruxngprmprahnungthiimkhxyruckaephrhlayrabuwaphrakhensidthuxkhrxngphrhmcrry 119 khwamechuxniaephrhlayinxinediyitaelabangswnkhxngxinediyehnux 120 khwamechuxkraaeshlkthiepnthiyxmrbthwipxikxyanghnungechuxmoyngphraxngkhkb phuththi Buddhi pyya siththi Siddhi phlngthangcitwiyyan aela vththi Riddhi khwamecriyrungeruxng lksnatang thngsamklaymaepnbukhlathisthankhxngethwstrithngsamphraxngkhthiklawknwaepnphramehsikhxngphrakhens 121 bangmikaraesdngwaphraxngkhprathbxyukbphramehsixngkhediywhruxkbthasinirnam 122 xikhnungrupaebbmikarsrangkhwamsmphnthrahwangphrakhenskbethwstriaehngsilpaaelawthnthrrm phrasrswti 123 hruxethwstriaehngochkhlaphaelakhwamecriyrungeruxng phralksmi 124 xikkhwamechuxhnungsungphbmakinphumiphakhebngkxl echuxwaphrakhensthrngsmphnthkbtnklwy kalaob Kala Bou 125 in siwapurana rabuwaphrakhensmiphraoxrssxngphraxngkh khux eksma Ksema khwamecriyrungeruxng aela lapha Labha kair niyayeruxngediywkninxinediyehnuxrabuwamiphraoxrssxngphraxngkhkhux supha Subha vksxnepnmngkhl aelalapha 126 phaphyntrphasahindieruxng chy snotsi ma Jai Santoshi Maa emuxpi 1975 rabuwaphraphikhensthrngwiwahkbphravththiaelaphrasiththi miphrathidanamwa snotsimata Santoshi Mata ethwstriaehngkhwamphungphxic xyangirktam niyniimidmithimacakpurana aetxnita irna thapn Anita Raina Thapan kb lxwerns okhehn Lawrence Cohen xangwalththisnotsimataepnhlkthankarphthnaxyangtxenuxngkhxngphrakhensinthanakhxngethphecathiniymbucha 127 karbuchaaelaethskal aekikh ethskalechlimchlxngphrakhensodychumchnchawthmilinparis praethsfrngess phrakhensepnnbthuxbuchainhlayoxkasthangsasnaaelaechingkhrawas odyechphaaxyangyinginkarerimkickrrmid echnkarsuxphahnahruxepidkickarthurkicihm 128 ekh exn osmyaci K N Somayaji klawwa aethbcaepnipimidelythiinban khnhindu inpraethsxinediy thicaimmiethwrupkhxngphrakhens phrakhensaepnethphecayxdniyminxinediy ekuxbthukwrrnaaelathukswnkhxngpraeths xinediy lwnbuchaphraxngkh 129 phunbthuxechuxwaphrakhenscachwyprathankhwamsaerc khwamecriyrungeruxng aelapkpxngcakekhraahraythngpwng 130 phrakhensmiichethphecathiaebngnikay chawhinduthuklththiaelanikaylwnswdxxnwxnphrakhensinkarerimswdmnt kickarsakhy aelaphithikrrmthangsasnatang 131 nketnaelankdntriodyechphaainxinediyitcaerimrayra echn phartnatym ipphrxm kbkarswdbuchaphrakhens 75 mkswdmntrechn oxm sri khensaya nama Om Shri Gaṇeshaya Namah mntrthimichuxesiyngxndbtn thiekiywkhxngkbphraekhns oxm khm khnptey nama Om Gaṃ Ganapataye Namah 132 ekhruxngthwaybuchathiphubuchaniymthwayaedphrakhenskhux khnmomthkaaelaladu laddu 133 echnediywknkbpratimanwithyakhxngphraxngkhthimkaesdngthrngthwykhnmhwan eriykwa omthkpathr modakapatra 134 dwyehtuthirabuwaphraxngkhmiphrawrkaysiaedng cungniymbuchadwyphngcnthnaedng rktcnthn raktachandana 135 hruxdwydxkimsiaedng nxkcakniyngichhyathurwa Durva grass Cynodon dactylon aelaekhruxngskkaraxun bucha 136 ethskalsakhykhxngphrakhenskhuxkhenscturthi sungtrngkbpks khuxwnthisikhxngkhangkhunineduxnphtrpth singhakhm knyayn aelakhenscturthi hruxwnprasutikhxngphrakhens trngkbpksineduxn makha mkrakhm kumphaphnth 137 khenscturthi aekikh dubthkhwamhlkthi khenscturthi karchlxngkhenscturthibnthxngthnninihedxrabad ethskalbuchaphrakhenspracapinnnkinewla 10 wn erimcakwnkhenscturthisungmktrngkbplayeduxnsinghakhmthungtnknyayntamptithinekrekxeriyn 138 ethskalerimtndwykarnaethwrupdinehniywkhxngphrakhensekhainbanhruxthitngthurkic epnsylksnkaresdcmakhxngphrakhens aelasinsudinwnxnntcturthasi Ananta Chaturdashi sungmikarnamurti ethwrup dinehniywkhxngphrakhensipcuminaehlngnatamthisadwk 139 bangkhrxbkhrwmipraephnicumethwrupinwnthi 2 3 5 hrux 7 khxngethskal inpi 1893 olkmanya tilk Lokmanya Tilak aeplngethskalnicakethskalswnbukhkhlinkhrweruxnepnkarechlimchlxngxyangxlngkarsatharna 140 odymiepahmayephux echuxmchxngwangrahwangphrhminaelaphuthiimichphrhmin aelahaxnehmaasmthicasrangkhwamsamkhkhirakhyakhuninphwkekha xnepnkhwamphyayamaebbchatiniymephuxtxtankarpkkhrxngkhxngbrietninrthmharastra 141 ekhaehnwaphrakhensmikhwamdungdudkwangkhwangepn ethphecakhxngphxngchn cungeluxkphraxngkhmaepncudradmsahrbchawxinediyinkarprathwngkarpkkhrxngkhxngbrietn 142 tilkepnphuaerkthiidnaethwrupphrakhenskhnadihytnginsalasatharna aelaepnphurierimwtrkarcumethwrupsatharnathnghmdinwnthisib 143 pccubnchawhinduechlimchlxngkhenscturthithwpraethsxinediy aetmikhwamniymsungsudinrthmharastra 144 145 thnginmumib puen aelainxstwinaykodyrxb ethwsthan aekikh khxmulephimetim raychuxobsthphraphikhens aela xstwinayk obsthphrakhensaehngomrkhaw inobsthphrahmntang mikarpradisthanphrakhensinhlayrupaebbthngepnethphecaxngkhrxng prrswethwda parsva devata epnethphecathiekiywenuxngkbethphecaprathankhxngmnethiyr briwarethwda parivara devata hruxepnethphecaprathan pradhana 146 inthanaethphecaaehngkarepliynphan phraxngkhmkpradisthanxyuthithangekhakhxngobsthphrahmnhlayaehngephuxknphuimsmkhwr sungkhlaykbbthbathkhxngphraxngkhthiepnphuefapratuphraparwti 147 nxkehnuxcakniyngmiobsthphraphikhensodyechphaa echn xstwinayk snskvt अष टव न यक aṣṭavinayaka th ethwsthan phrakhensaepdxngkh inrthmharastra thikhunchuxepnphiess tngxyuhangcakemuxngpuenxxkip 100 kiolemtr ethwsthanaetlaaehngkarbuchaphrkhensinruppangtang kn 148 nxkcakniyngmiethwsthansakhykhxngphrakhensinthitxipni emuxngiw inrthmharastra xuchechn inmthypraeths ochthpura naekhar aelairpura emuxngpali inrachsthan iphthynath inphihar phortha othlka aelawlsth inkhuchrat aelathunthurachmnethiyr Dhundiraj Temple inpharansi xuttrpraeths swninxinediyitmithiknipkm inxanthrpraeths rxkfxrtxuchipillyarmnethiyr thitirucirplli inthmilnathu okttrkkr triwndrum ksrokhth inekrla hmpi aelaxithkhunci in krnatka aelaphthrclm in etlngkhana 149 thi ex okhpinath T A Gopinatha rabuwa thukhmubanimwaihyelkephiyngidlwntxngmiethwrupphraphikhenswrkhxngtnimwacamiethwsthaniwpradisthanhruximktam 150 obsthphrakhensyngmiphbnxkpraethsxinediyechnkn thnginexechiytawnxxkechiyngit enpal echn winaykmnthethiyr siaehnginhubekhakathmanthu 151 aelainpraethstawntkhlaypraeths 152 karkhunsukarepnethphecahlk aekikhkarpraktkhrngaerk aekikh ethwrupphrakhenshinxxn stwrrsthi 5 phbthiemuxngkareds praethsxfkanisthan inxditekhypradisthanthithrkhahpirrttnnath Dargah Pir Rattan Nath inkabul pccubnimthrabthipradisthan carukrabuwaniepn rupxnyingihyaelaswyngamkhxngphramhawinayk thwayihodykstriykhinkhlaehngsahi King Khingala 153 154 phrakhenspraktkhrngaerkinrupdngedimkhxngphraxngkhinlksnakhxngethphecathimilksnaechphaatngaetrawtnstwrrsthi 4 thung 5 155 rupekharphphrakhensthiekaaekthisudthiekhyphbkhuxethwrupphrakhenssxngxngkhthiphbinxfkanisthantawnxxk xngkhaerknnphbinsakprkhkphngthangtxnehnuxkhxngkrungkabul phbphrxmkbethwrupkhxngphrasuryaaelaphrasiwa xayurawstwrrsthi 4 156 swnethwrupxngkhthisxngphbthi Gardez aelamikarslkphranamkhxngphraxngkhiwthithan xayurawstwrrsthi 5 156 ethwrupxikxngkhnnphbaekaslkbnphnngkhxngthahmayelkh 6 khxngthaxuthykhiri Udayagiri Caves inrthmthypraeths xayurawstwrrsthi 5 156 swnethwrupthimiphraesiyrepnchang thrngchamkhnmhwannnphbekaaekthisudinsakprkhkphngkhxngphumrmnethiyr Bhumara Temple inrthmthypraeths xayurawstwrrsthi 5 insmyrachwngskhupta 157 156 158 swnkhtithibuchaphrakhensepnhlknnepnipidwacdtngkhuninstwrrsthi 10 155 lththithibuchaphrakhensepnethphxngkhhlknnnacamikhunaelwinstwrrsthi 6 155 nern Narain srupwasaehtuthiimphbhlkthanprawtisastrphrakhensinprawtisastrkxnstwrrsthi 5 nnmacak 155 singthiepnprisnakhuxkarpraktkhunxyangkhxnkhangrwderwkhxngphrakhensinewthiprawtisastr brrphbthkhxngphraxngkhnnimchdecn karyxmrbaelakhwamniymaephrhlaykhxngphraxngkhsungkhamphnkhxcakdkhxngnikayaeladinaedn naehluxechuxxyangaethcring danhnung mikhwamechuxsrththainphuxuthisaebbthrrsnadngediminkaenidphraewthkhxngphraekhns aelainkhaxthibaypuranabrrcuinprmprawithyathinasbsnaetnasnic xikdanhnung mikhxsngsyekiywkbkarmikhwamkhidaelasyrupkhxngethphecaphraxngkhni kxnstwrrsthisithungha inkhwamehnkhxngphm aethcringaelwimmihlkthanthichwnihechux inwrrnkrrmphraphmn wamiethphecaphraxngkhnikxnstwrrsthiha nernesnxwahlkthankhxngphrakhensthiekakwannxacphbnxkthrrmeniymphrahmnaelasnskvt hruxxyunxkekhtphumisastrkhxngxinediy 155 brawnrabuwamikarphbethwrupphrakhensinpraethscinaelwemuxrawstwrrsthi 6 159 aelakartngrupphrakhensechingsilpainthanaphukhcdxupsrrkhnnphbinexechiyitaelwemuxpramanpi 400 160 swnibliy Bailey rabuwamikarthuxwaphraxngkhepnbutrkhxngphraparwti aelamibrrcuinethwwithyaiswainstwrrsaerk aelw 161 xiththiphlthixacmiswn aekikh nkwichakar khxrthirth Courtright thbthwnthvsdicakkarsngekttang ekiywkbprawtisastryukhtnkhxngphrakhens rwmthngpraephnichnephaaelalththibuchastwthiechuxkn aelaptiesththvsdithnghmddngni 162 inkarkhnhatnkaenidthangprawtisastrkhxngphrakhens bangkhnesnxsthanthichichdnxkthrrmeniymkhxngphrahmn thitngthangprawtisastrehlaninasnicmak aetkhxethccringyngmixyuwathnghmdepnephiyngkhxsngekt epnaebbtang khxngsmmtithanthrawith sungaeyngwathuksingthiimyunynxyuinaehlngthimaphraewthhruxxinod yuorepiyntxngekhamainsasnaphrahmncakprachakrthrawithhruxphunemuxngdngedimkhxngxinediyodyepnswnhnungkhxngkrabwnkarthiphlitsasnahinducakptismphnthrahwangprachakrxarynaelamiichxaryn immihlkthanxisrasahrblththibuchachanghruxothethm aelaimmikhxmulobrankhdiid chiwamipraephnikxnhnanieraehnaelwinwrrnkrrmpuranaaelapratimanwithyaphrakhens hnngsuxkhxngthapn Thapan wadwyphthnakarkhxngphrakhensxuthishnungbthihkbkhxsngektbthbathkhxngchanginxinediytxntn aetsrupwa aemphayinstwrrsthisxngpraktrupyksesiyrchangaelw aetimsamarthsnnisthanidwaaethnkhnpti winayk immihlkthanidkhxngethphecaphraxngkhnimirupchanghruxesiyrchanginrayaaerkerimni phrakhnpti winaykyngimprakt 163 ehngakhxngkarbuchaphrakhensnnsubyxnipidthungsmyxarythrrmlumaemnasinthu emux 3000 pikxkhristkal 164 165 inpi 1993 mikarkhnphbaephnolhaaesdngphaphphumiesiyrchangincnghwdolersthan Lorestan praethsxihran xayuraw 1 200 pikxnkhristkal 166 167 ethwrupdinephaphrakhenschinaerkthikhnphbnnxayurawstwrrsthi 1 phbinetxr Ter pal Pal ewrrapurm Verrapuram aelacnthrektukhvh Chandraketugarh milksnaepnethwrupxngkhelk esiyrepnchang misxngkr aelamiruprangthwm 168 syrupyukhaerk thiepnhinmiaekaslkin Mathura rahwangyukh Kushan stwrrsthi 2 3 thvsdihnungesnxwaphrakhensthrngerimkhunsukhwamniymodyekiywphnkbwinaykthngsi 169 inethphprnmhindu winaykkhuxklumkhxngxsurecapyhasitnthikhxysrangxupsrrkhaelakhwamyaklabak 170 aetkthukklxmidodyngay 171 winayk klayepnchuxsamysahrbaethnphrakhensthnginpuranaaelaintntrakhxngsasnaphuthth 26 nkwichakar krisn Krishan epnnkwichakarkhnhnungthiyxmrbthsnani aelarabuwa phrakhens imichethphecacakphraewth phraxngkhmitnkaenidthiyxnithungwinaykthngsi wiyyanchwrayaehng manwkhvhysutr Manavagŗhyasutra 700 400 pikxnkhristkal phusrangpyhaaelakhwamthrmanmakmay 172 karphrrnnamnusyesiyrchangthibangrabuepnphrakhens praktinsilpaaelakarphlitehriyyksapnxinediytngaetstwrrsthi 2 tamkhxmulkhxng Ellawala chawsrilngkathrabthungphrakhensinthanaecaaehngkhna Gana tngaetyukhkxnkhristkalaelw wrrnkrrmaelatananphraewth aekikh phaphekhiynelaeruxngmhaphartasilparachsthan stwrrsthi 17 aesdngtxnvisiwyasaelamhaphartaihphrakhensthrngcd phranam phunakhxngkhna khnpti phbsxngkhrnginvkhewth aetthngsxngkhrngnnimidhmaythungphrakhenssmyihm khaaerkthiphbxyuinvkhewth mnthlthi 2 23 1 nkwiekhraahwaepnphranamkhxngphrhmnspti Brahmanaspati 173 aemichhmaythungphraphrhmmsptixyangirkngkha aettxmarbmaichinkarbuchaphrakhenscnthungpccubn 174 ludx rxechxr Ludo Rocher klawwamirabuchdecnwa khawa khnpti invkhewthnn hmaythungphraphrhspti Bṛhaspati ethphecaaehngbthswdmnt aelaphrhsptiphraxngkhediyw 175 swnxikchuxinvkhewth phbin vkhewth mnthlthi 10 112 9 nnhmaythungphraxinthr xyangchdecnimtangkn 176 177 phuthrngidrbchaya khnpti 178 nxkcaknirxechxrchiwainwrrnkrrmekiywkbphrakhensinyukhhlng niymxangbthinvkhewthephuxaesdngihehnkarekharphphrakhensinyukhphraewth 179 kwiyukhsngkhmaehngthmil xwiwyar Avvaiyar 300 pikxnkhristkal idkhanphranamphrakhenskhnakaretriymkarechiychwnkstriythmilthngsaminkaryxmkaraetngngankhxngxngkhawy Angavay kbsngkhawy Sangavay aehngsilxninkaraetngngankbkstriyaehngtirukuxilur Tirukoilur 180 sxngbthinkhmphirnnmacakychurewth imtrayniysnghit Maitrayaṇiya Saṃhita bththi 2 9 1 181 aelacakittiriyaxarnyka Taittiriya Araṇyaka bththi 10 1 182 idkhanthungethphecaphumi ngaediyw thntih Dantiḥ phraphktrepnchang hstimukkh Hastimukha aela mingwngokhngngxn wkrtuntha Vakratuṇḍa phranamehlanisxthungphrakhens aelaphuwicarnsmystwrrsthi 14 sayanaraburupphrrnnixyangchdecn 183 karxthibaykhxngthntin Dantin thiwathrngmingwngokhngngx aelathrngmdkhawophd xxy 184 aelatabxng 185 nnepnphaphlksnakhxngphrakhensinaebbpuranathiehmuxnmakcnehrs Heras ekhyklawwa eraimsamarthhamkaryxmrbkarphisucnkhxngphraxngkhxyangsmburn kbthntinphraewth Vedic Dantin ni 186 xyangirktamkrisn Krishan echuxwabthehlaniephimekhamahlngyukhphraewth 187 thapn Thapan raywanwabthehlani odythwipthuxwaepnkaretimaetngekhama swnthwlikar Dhavalikar rabuwa karphadphingethphecaesiyrchanginimtraynisnghitannphisucnaelwwaepnkaretimaetngekhamainphayhlngmak dngnnimnamipraoychnmakinkarpraeminprawtikarkaenidkhuninchwngaerk khxngethphecaphraxngkhni 188 phrakhensimpraktphranaminwrrnkrrmmhakaphykhxngxinediycakyukhphraewth mikaretimaetngekhaipinkwimhakaphy mhapharta 1 1 75 79 a inphayhlng rabuwavisiwyasakhxihphrakhenschwyepnxalksncdbthkwiihvisiepnphubxk phrakhensthrngtklngodymienguxnikhwawyasatxngthwnbthkwiodyhamkhadtxnhruxhyudphk visitklngaetichwithiphkodythxngkhxkhwamthisbsxnxyangyingephuxihphrakhenstxngthamephuxkhwamkracang niyayswnniimidrbkaryxmrbwaepnswnhnungkhxngmhaphartadngedimodybrrnathikarkhxngmhaphartachbbwiphaks critical edition 189 thiniyayyisibbrrthddngklawldkhwamsakhyepnechingxrrthinphakhphnwk 190 niyayphrakhensthrngrbepnxalksnphbintnchbb 37 cak 59 tnchbbthihakhxmulrahwangkaretriymchbbwiphaksn 191 karsrangkhwamsmphnthrahwangphrakhenskbphrathythikhlxngaekhlwaelakareriynruepnsaehtuhnungthiaesdngphraxngkhepnxalksnkhxngvisiwyasathiihcdmhaphartainkaraetngetimni 192 richard aexl brawn Richard L Brown ihxayukhxngeruxngniwaaetngkhuninstwrrsthi 8 swnmxris winetxrnits Moriz Winternitz srupwa khnthrabniyaynierwthisudpramanpi 900 aetmabrrcuinmhaphartaxik 150 piihhlng 193 winetxrnitsyngphbdwywalksnaoddednprakarhnungthiphbintnchbbmhaphartakhxngxinediyitkhuxkarlatananphrakhens 194 swnphranamwinayk vinayaka phbinprmprakhxngsantiprwa Santiparva aelaxnusasnprwa Anusasanaparva thuxepnkaraetngetimmainphayhlng 195 aelakarphadphingphranamwikhnkrtrinam Vighnakartṛiṇam phusrangxupsrrkh inwnprwa Vanaparva nnkechuxwaepnkaraetngetimekhamainphayhlng aelaimphbinchbbwiphaksechnkn 196 yukhpurana aekikh sahrbraylaexiydephimetimekiywkbhwkhxni oprddu ekrdpuranwithyaphraphikhens ethphthnghaxngkhaehngpycytna Panchayatana phrakhens klang phrasiwa bnsay ethwi bnkhwa phrawisnu langsay aelaphrasurya langsay niyayekiywkbphrakhensmkphbinprachumphlnganpurana 197 brawnchiwaaempurana khdkhwangkareriyngladbewlaxyangaemnya aetkhabrryayphrachnmchiphkhxngphrakhensinraylaexiydmakkhunphbinkhxkhwamsmyhlng pramanpi 600 1300 yuwrach krisn Yuvraj Krishan klawwaeruxngprmprapuranaekiywkbchatikalkhxngphrakhensaelakaridesiyrchangkhxngphraxngkhxyuinpuranayukhhlng sungidaekhlngpi 600 epntnma ekhaxthibayephiminpraednniklawwakarphadphingphrakhensinpuranachwngtn echn phrhmnthaelawayupuranann mikaraetngetimeruxngkhxngphrakhensekhaipinphayhlngrawstwrrsthi 7 thung 10 198 inkarsuksaeruxngkaridrbkhwamniymkhxngphrakhensinwrrnkrrmsnskvt rxechxrphbwa 199 ehnuxxunid bukhkhlimxachamphiswngkbkhxethccringthiwahlayniyaythiaewdlxmphrakhensxyunnkracukxyukbehtukarncanwncakdxyangkhadimthung ehtukarnehlanimiephiyngaekhsamehtukarnhlk khux chatkalaelaphrabida marda esiyrchang aelangaediyw ehtukarnxunmiklawthungbanginkhxkhwam aetmiraylaexiydnxykwamak karidrbkhwamniymkhxngphrakhensnnmipramwlinstwrrsthi 9 emuxmikarbrrcuphraxngkhekhasuhaethphecahlkkhxnglththismarti Smartism xyangepnthangkar nkprchyayukhstwrrsthi 9 xathi sngkar Adi Shankara ephyaephraenwkhid karbuchahapang pycyatnbucha Panchayatana puja ihepnthiniymmakkhuninhmuphrhmminthrrsnadngediminlththismarti 200 ethphecahaphraxngkhdngklawprakxbdwyphrakhens phrawisnu phrasiwa ethwi aelaphrasurya 201 xathi sngkarphutngthrrmeniymsungcasrangexkphaphaekethphecahlkhanikayihmisthanphaphethakn nbepnkartxkyabthbathkhxngphrakhensepnethphecarwmsmyxyangepnthangkar khmphir aekikh khxmulephimetim khenspurana muthkhlpurana aela khnptixrrthwsirsa ethwrupphrakhens thiprmbann inchwa praethsxinodniesiy stwrrsthi 9 khrnphrakhensidrbkaryxmrbepnhnunginethphecasakhyhaphraxngkhkhxngsasnahinduaelw michawhindubangswneluxknbthuxphraxngkhepnethphecahlk epncuderimtnkhxngnikaykhanptya dngthiphbidthnginkhenspuranaaelamuthkhlpurana 202 wnewlathipraphnthkhenspuranaaelamuthkhlpurana rwmthungkarwdxayuodysmphththrahwangsxngkhmphirnn epnthithkethiynginwngwichakar thngsxngnganmikartxetimekhamatamewlaaelamichnphumithiaeyktamxayu xnita thapn Anita Thapan thbthwnkhwamehnekiywkbkarwdxayuaelamikhawinicchykhxngnangexng duehmuxnwaaeknkhxngkhenspuranapraktinrawstwrrsthi 12 aela 13 aet thukaetngetimekhamaphayhlng 203 swnlxwerns dbebilyu ephrstn Lawrence W Preston rabuwachwngewlathismehtusmphlthisudkhxngkhenspuranaxyurahwangpi 1100 thung 1400 sungsxdkhlxngkbxayukhxngsthanthiskdisiththithiklawthunginpurana 204 xar si hasra R C Hazra esnxwamuthkhlpuranannekaaekkwakhenspurana sungekhawdxayurahwangpi 1100 thung 1400 205 xyangirktam fillis krannff Phyllis Granoff phbpyhakbkarwdxayuodysmphththniaelasrupwamuthkhlpuranaepnexksarechingprchyachbbsudthaythiwadwyphrakhens ethxxangehtuphlbnkhxethccringwainbrrdahlkthanphayinxun muthkhlpuranaecaacngphudthungkhenspuranawaepnhnunginsipurana phrhm phrhmanntha khens aelamuthkhlpurana sungklawthungphrakhensxyanglaexiyd 206 aemaekneruxngkhxngkhmphirehlanitxngekaaekepnaen aetkmikaretimaetngekhamacnthungrawstwrrsthi 17 thung 18 emuxkarbuchaphrakhensekidsakhykhunmainbriewnni 207 swnxikkhmphirhnungthiidrbkarekharphxyangsungkhuxkhnptixrrthwsirsa 208 nacaaetngkhunrahwangstwrrsthi 16 thung 17 209 khensshsrnamepnswnhnungkhxngwrrnkrrmpurana aelamibthswdthirabuphranamaelaphralksnahnungphnprakarkhxngphrakhensiw aetlanamaelalksnathipraktnnsuxthungkhwahmaytang aelaepnsylksnaethnphrakhensinmummxngtang khxngphraxngkh 210 nxkcakni cxhn ikrms John Grimes yngrabuwamixikhnunginkhmphirsakhyinphasasnskvtthimikarklawthungthrrmeniymphrakhenskhuxkhnptixthrrwsirsa 208 cxhn ikrmsrabuwa khmphirphasasnskvtthisakhythisudelmhnungthimixiththiphlinnikaykhanptya khux Ganapati Atharvashirsa 208 nxkxinediyaelasasnahindu aekikh khnkietng silpayipun rawplaystwrrsthi 19 tnstwrrsthi 19 odyochorkhuxng exkhioch Shorokuan Ekicho sahrbraylaexiydephimetimekiywkbhwkhxni oprddu phraphikhensinsasnaxun thngkartidtxthangkarkhaaelathangwthnthrrmidmiswnchwykhyayxiththiphlkhxngxinediytxexechiytawntkaelaexechiytawnxxkechiyngit aelaphrakhenskepnhnunginethphecathimikarkhyaykhwamechuxipyngswntang khxngolk tamxiththiphlkhxngchawxinediyechnkn 211 phrakhensmkphbbuchaodyphxkhaphuedinthangxxkcakxinediyephuxaeswnghakarkha 212 nbtngaetrawstwrrsthi 10 epntnma ekhruxkhaykaraelkepliynsinkhannidsrangemdenginmhasal thuxepnchwngewlathiphrakhensidrbkarbuchaaelaekiywenuxngkbkarkha 213 carukthiekaaekthisudthiphbkarkhanphranamphrakhensepnphranamaerkkxnethphecaxngkhxun nn phbincarukkhxngchumchnphxkha 214 chawhinduxphyphipexechiytawnxxkechiyngitswnphakhphunsmuthr phrxmnaexawthnthrrmaelaphrakhenstidtwmadwy 215 ethwrupkhxngphrakhenssamarthphbthwipinexechiytawnxxkechiyngitphakhphunsmuthr odymakmkphbkbethwsthankhxngphrasiwa rupaebbtangkhxngphrakhenskhxngchawhinduphunthininfilippins chwa bahli aelabxreniyw aesdngihehnxiththiphlphunthinthimitxkhtibuchaphrakhens 216 inkhnathikarekhamakhxngwthnthrrmhinduinexechiytawnxxkechiyngitphakhphundin namasukarbuchaphrakhensinpangthimikarddaeplng phbinphma kmphucha aelapraethsithy inkhabsmuthrxinodcinnimikarnbthuxsasnaphuththkhwbkhuipkbsasnahindu sunglwnmixiththiphltxkhwamechuxeruxngphrakhensinphumiphakhni 217 inxinodcinmikarnbthuxphrakhensinthanaphukhcdxupsrrkhepnhlk 218 rwmthunginsasnaphuththkhxngpraethsithyinpccubn mikarnbthuxphrakhensinthanaphupdepaxupsrrkhaelaethphecaaehngkhwamsaerc 218 phraphikhensinpraethsithyidrbkarekharphbuchainthanaethphecaaehngsilpaodyechphaa khtiniekidkhwamkhwamechuxswnphraxngkhinrchkalthi 6 sungphraxngkhmisrththainphrakhensepnxyangmak thrngsrang ethwalykhensr khuninphrarachwngsnamcnthr xnepnthiprathbthrngngandanhnngsuxaelakarlakhrmakthisud aelaemuxthrngtngwrrnkhdisomsr kthrngxyechiyphrakhensepntrasylksn cnkrathngkarekidkhunkhxngkrmsilpakraelasubthxdtraphrakhenskhxngwrrnkhdisomsrmaepntra cungthaihphrakhensidrbkarekharphinpraethsithyinthanakhxngethphecaaehngsilpaaelakarsuksainpraethsithytrabcnpccubn 219 sthansuksathiichphrakhensepntrasylksn echn mhawithyalysilpakr 220 kxnkarekhamakhxngsasnaxislam xfkanisthanmikhwamsmphnththangwthnthrrmxyangiklchidkbxinediy aelaphbhlkthankarbuchathnginsasnahinduaelaphuthth mikarphbhlkthanepnethwrupcakstwrrsthi 5 ipcnthungstwrrsthi 7 cungsamarthsrupidwamikarbuchaphrakhensxyangaephrhlayindinaednaethbnninchwnghnungechnkn 221 insasnaphuththmhayan mikarbuchaphrakhens imephiyngaetinrupkhxngethphecaphuththnamwa phrawinayk aetynginruppisachinduphranamediywkn 222 praktrupkhxngphraxngkhinkhmphirkhxngphuththyukhplaykhupta 223 phrawinaykmkphbinrupkalngetnra karbucharup Nṛtta Ganapati nimiphbthwipinxinediy enpalaelathiebtechnkn 224 inenpal panghnungkhxngphrakhensnamwaphraehrmphaidrbkhwamniymbuchainsasnahinduaebbenpalmak odythrngmihaphktraelaprathbbnsingot 225 rupaesdngphrakhensaebbthiebtmithsnakakwmekiywkbphraxngkh 226 phrakhensinkhtikhxngthiebtmiphranamwa chxksbdkh tshogs bdag 227 inpangthiebtpanghnung aesdngrupphraxngkhthrngthuk Mahakala ya sungepnethphecathiebtthiidrbkhwamniym rupxunaesdngphaphphraxngkhepnphukhcdxupsrrkh aelabangkalngetnradwy 228 swnincinaelayipunphbphrakhensinrupthimilksnaechphaaphunthimakkhun incintxnehnux phbethwruphinkhxngphrakhensekaaeksudwdxayuidrawpi 531 229 inyipunphbphrakhensphranamwa khnkietng Kangiten lththibuchaphrakhensniphbkhrngaerkinpi 806 230 inkhmphirktikasngkhkhxngsasnaechnimidrabukarbuchaphrakhens 231 xyangirktam sasnikechnswnihybuchaphraxngkhinthanakhxngethphecaaehngkarpdepaxupsrrkh aeladuehmuxnepnethphecaaehngkhwammngkhngaethnthawkuewrdwy 232 khwamsmphnthkbchumchnkarkhaepnehtuphlsnbsnunkhwamkhidwasasnaechnrbexakarbuchaphrakhenscakkhwamechuxmoyngechingphanichy 233 ruppnphrakhensaebbechnekaaekthisudwdxayuidrawstwrrsthi 9 234 khmphirsasnaechnsmystwrrsthi 15 aesdngraykarkhntxnsahrbtidtngrupekharph rupphrakhenspraktinichnmnethiyrinrachsthanaelakhuchratechnkn 235 echingxrrth aekikh Bombay editionxangxing aekikh Heras 1972 p 58 2 0 2 1 Getty 1936 p 5 rachbnthitysthan phcnanukrm chbbrachbnthitysthan ph s 2554 echlimphraekiyrtiphrabathsmedcphraecaxyuhw krungethphph rachbnthitysthan 2556 hna 834 Rao p 1 Brown p 1 mkepnthiphudthungwaphrakhensthrngepnethphthimikarbuchaknmakthisudinpraethsxinediy Gaṇesa is often said to be the most worshipped god in India Getty p 1 phrakhens cawaehngkhna thungaemcaepnhnunginethphxngkhhlng thiekhasuethwalykhxngphrahmn aetkyngepnethphecathimiphunbthuxknthwipmakthisudinbrrdaethphhinduthngpwng aelarupekharphkhxngphraxngkhnnkphbidaethbcathukswnkhxngpraethsxinediy Gaṇesa Lord of the Gaṇas although among the latest deities to be admitted to the Brahmanic pantheon was and still is the most universally adored of all the Hindu gods and his image is found in practically every part of India Rao p 1 Martin Dubost pp 2 4 Brown p 1 Chapter XVII The Travels Abroad in Nagar 1992 pp 175 187 sahrbkarsuksaekiywkbkaraephrkhyaykhwamechuxaelakhwamniyminphrakhensnxkxinediyinechingphumisastr Getty pp 37 88 sahrbkarphudkhuyekiywkbkaraephrkhyaykhwamechuxinkarbuchaphrakhensipyngenpal sineciyng thiebt phma syam xinodcin chwa bahli bxreniyw cin aelayipun Martin Dubost pp 311 320 Thapan p 13 Pal p x Martin Dubost p 2 dueruxngthanakhxngphraxngkhinkarkacdxupsrrkhidinkhnptixunisth bththi 12 xangthungin Saraswati 2004 p 80 Heras 1972 p 58 praedndngklawniepneruxngthithrabknthwip dngthipraktinchuxhnngsuxkhxngkhxrthirth Courtright wa phrakhens ethphaehngxupsrrkh cawaehngkarerimtn Ganesha Lord of Obstacles Lord of Beginnings Brown Robert L 1991 Ganesh Studies of an Asian God phasaxngkvs SUNY Press ISBN 978 0791406564 Narain A K Gaṇesa The Idea and the Icon xangthungin Brown 1991 p 27 Gavin D Flood 1996 An Introduction to Hinduism Cambridge University Press pp 14 18 110 113 ISBN 978 0521438780 Vasudha Narayanan 2009 Hinduism The Rosen Publishing Group pp 30 31 ISBN 978 1435856202 sahrbprawtisastrwiwthnakarkhwamechuxkhxngkhanptya aelakhwamekiywphnkbkarkhyaytwkhxngllththibuchaphrakhensinmumkwangthangphumisastr duephimthi Chapter 6 The Gaṇapatyas in Thapan 1997 pp 176 213 Narain A K Gaṇesa A Protohistory of the Idea and the Icon Brown pp 21 22 Apte p 395 sahrbpraednkhwamekiywphnkb khna duephimthi Martin Dubost p 2 19 0 19 1 Apte 1965 p 395 khawa khna nithxdkhwaminechingxphiprchyaodyphaskrray Bhaskararaya inkhwamehnechingwiphaksthiekhamitxkhensshsrnam gaṇesasahasranama dubthwiphaksniidin Sastri Khiste 1991 pp 7 8 Grimes 1995 pp 17 19 201 vkhewth mnthl 2 Archived 2017 02 02 thi ewyaebkaemchchin bthswd mnthl 2 23 1 wikisxrs rabuwa गण न त व गणपत हव मह कव कव न म पमश रवस तमम ज य ष ठर ज ब रह मण ब रह मणस पत आ न श ण वन न त भ स द स दनम 1 dukhaaeplidin Grimes 1995 pp 17 19 Oka 1913 p 8 sahrbthimakhxngxmroks 1 38 dngklaw Sastri 1978 sahrbxmroks sungtrngkbbth 1 1 38 Y Krishan Gaṇesa Unravelling an Enigma 1999 p 6 Krishan p 6 26 0 26 1 Thapan p 20 sahrbprawtisastrkhxngphranamxstwinayk aelakarptibtibuchathiekiywkhxng duephimidthi Mate pp 1 25 sahrbphranam wikhenswr duthi Courtright 1985 pp 156 213 29 0 29 1 sahrbmummxngkhxngkrisn Krishan txmummxngni dukhaklawkhxngkrisnthiwa phrakhensthrngmithrrmchatisxngprakarkhwbkhuknip khuxphrawinayk hruxkhramethwda gramadevata wikhnkrta vighnakarta aelakhuxphrakhens hruxwwikhnhrrta vighnaharta ethwdainpurana pauraṇic devata cak Krishan p viii Martin Dubost p 367 Narain A K Gaṇesa The Idea and the Icon Brown p 25 Thapan p 62 Myanmar English Dictionary Yangon Dunwoody Press 1993 ISBN 978 1881265474 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 10 kumphaphnth 2010 subkhnemux 20 knyayn 2010 Unknown parameter deadurl ignored help Justin Thomas McDaniel 2013 The Lovelorn Ghost and the Magical Monk Practicing Buddhism in Modern Thailand Columbia University Press pp 156 157 ISBN 978 0231153775 Brown Robert L 1987 A Note on the Recently Discovered Gaṇesa Image from Palembang Sumatra Indonesia 43 43 95 100 doi 10 2307 3351212 hdl 1813 53865 JSTOR 3351212 Brown 1991 pp 176 182 Brown 1991 p 190 John Clifford Holt 1991 Buddha in the Crown Avalokitesvara in the Buddhist Traditions of Sri Lanka Avalokitesvara in the Buddhist Traditions of Sri Lanka Oxford University Press pp 6 100 180 181 ISBN 978 0195362466 Pal p ix Martin Dubost sahrbpraednpratimanwithyakhxngphrakhensxyangkhrxbkhlum phrxmphaphprakxbkhrbkhrn Chapter X Development of the Iconography of Gaṇesa in Krishan 1999 pp 87 100 sahrbkarsuksapratimanwithyaodyennthikarphthnarupaebb Pal sahrbkarrwbrwmmummxngtang ekiywkbpratimanwithyaaelasilpaxnekiywkhxngkbphrakhens phrxmphaphtkaetngxyangetmxim Brown p 175 Martin Dubost p 213 mumkhwabnkhxnghna Pal p vi aelaraylaexiydephimetimekiywkbstwrrsthi 13 duthi p viii Brown p 176 duphaphthayhmayelkh 2 in Pal p 16 sahrbpangthithrngsirsamnusy duthi thiphbinpraethskmphucha du Brown p 10 thiphbinnnthruthyanwinaykmnethiyr du Vinayaka in unique form The Hindu 10 October 2003 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2015 05 01 subkhnemux 30 April 2015 thiphbthi Uthrapathiswaraswamy Temple du Catlin Amy Vatapi Gaṇapatim Sculptural Poetic and Musical Texts in the Hymn to Gaṇesa in Brown pp 146 150 Martin Dubost pp 197 198 phaphthi 9 in Pal pp 22 23 sahrbphaphtwxyangthiwani Pal p 25 sahrbphaphtwxyangephimetim Pal pp 41 64 sahrbphaphtwxyangkhxngphrakhensthrngrayracanwnmak Brown p 183 sahrbkhwamniymkhxngpangphrakhensthrngrayra Four armed Gaṇesa Miniature of Nurpur school circa 1810 Museum of Chandigarh duraylaexiydekiywkbrupniidthi Martin Dubost 1997 p 64 Nagar p 77 Brown p 3 Nagar p 78 Brown p 76 Brown p 77 Brown pp 77 78 Brown pp 76 77 sahrbpraednkaenidkhxngphrakhenscakphrasrwlkhxngphrasiwa aelapraednyxyeruxngkhasapkhxngphrasiwa duthi Varaha Purana 23 17 xangthungin Brown p 77 Getty 1936 p 1 Heras p 29 Granoff Phyllis Gaṇesa as Metaphor Brown p 90 Ganesha in Indian Plastic Art and Passim Nagar p 101 Granoff Phyllis Gaṇesa as Metaphor Brown p 91 xuthr aeplwa thxng rabuin Apte p 268 Br P 2 3 42 34 Thapan p 200 sahrbkhaxthibaythungenuxeruxngnixyanghlakhlayinmuthkhlpurana bth 2 56 38 9 sahrbchartaesdngcanwnphrakraelapangtang inpratimanwithyahindu aebngtamaehlngthimaaelaphranam duthi Nagar pp 191 195 Appendix I sahrbprawtisastraelarupaebbthiniyminkarsrangihmihlayphrakraelasiphrakrepnhnunginrupaebbmatrthan duthi Krishan 1999 p 89 Krishan 1999 p 89 Brown p 103 Martin Dubost p 120 Martin Dubost p 202 sahrbphaphrwmkhxngpraednnguinpramanwithyakhxngphrakhens Krishan 1999 pp 50 53 sahrbphaphrwmkhxngnguinpratimanwithyakhxngphrakhens Martin Dubost p 202 sahrbpraednekiywkbwasukiaelaphrakhens Krishan 1999 pp 51 52 sahrbpraednthiphrakhensthrngnawasukimaphnrxbphrasx aelanaessamaphnrxbphraxuthr Martin Dubost p 202 sahrbcarukhincakpi 1470 thiphudthungpraedndayskdisiththihruxnakhessani Nagar p 92 sahrbnguthiphbineruxngdayskdisiththini Nagar p 81 thrngmitilksamkhidbnphraesiyr Nagar p 81 sahrbkhenspurana I 14 21 25 aelapthmpurana inkarelathungkarnaphracnthrmapradbphraesiyrkhxngphraxngkh Bailey 1995 pp 198 199 sahrbkhaaeplkhxngkhenspurana I 14 Nagar p 81 ineruxngxkhngphalcnthr Sharma 1993 edition of Ganesha Purana I 46 15 sahrbphalcnthr inshsrnam 75 0 75 1 Nagar Preface The Colors of Ganesha Martin Dubost pp 221 230 Martin Dubost pp 224 228 Martin Dubost p 228 Krishan pp 48 89 92 Krishan p 49 Krishan pp 48 49 Bailey 1995 p 348 sahrbkhenspuranathiklawthungeruxngmyuerswr khenspurana I 84 2 3 Maruti Nandan Tiwari and Kamal Giri Images of Gaṇesa In Jainism in Brown pp 101 102 Nagar Preface Martin Dubost pp 231 244 rabuiwitphaph 43 in Martin Dubost p 144 mthsyapurana 260 54 phrhmanntha XXVII khenspurana 2 134 136 xangthungin Martin Dubost p 231 Martin Dubost p 232 muskwahnapraktin v 6 aelaxakhuektnpraktin v 67 khxng Gaṇesasahasranamastotram mula evaṁ sribhaskararayakṛta khadyota vartika sahita Pracya Prakasana Varaṇasi 1991 epnphasasnskvt Grimes 1995 p 86 A Student s Guide to AS Religious Studies for the OCR Specification by Michael Wilcockson p 117 Krishan pp 49 50 Martin Dubost p 231 Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature in Brown 1991 p 73 cawaehngkarkacdxupsrrkh Lord of Removal of Obstacles praktthwipaelapraktin Courtright s Gaṇesa Lord of Obstacles Lord of Beginnings sahrbphranamwikhenswraelawikhnracha duthi Courtright p 136 Ganesha The Remover of Obstacles 31 May 2016 Courtright p 136 mummxngkhxngthwlikarnnmixyuin Dhavalikar M K Gaṇesa Myth and reality in Brown 1991 p 49 Brown p 6 Nagar p 5 Apte 1965 p 703 Ganesha Purana I 46 v 5 of the Ganesha Sahasranama section in GP 1993 Sharma edition It appears in verse 10 of the version as given in the Bhaskararaya commentary Sharma edition GP 1993 I 46 verses 204 206 The Bailey edition uses a variant text and where Sharma reads Buddhipriya Bailey translates Granter of lakhs Practical Sanskrit Dictionary By Arthur Anthony McDonell p 187 priya Published 2004 Motilal Banarsidass Publ ISBN 8120820002 Krishan 1999 pp 60 70 discusses Ganesha as Buddhi s Husband Grimes p 77 Chinmayananda 1987 p 127 In Chinmayananda s numbering system this is upamantra 8 dutwxyangkhxngphaphthngsxngidin Grimes pp 79 80 105 0 105 1 Tantra Unveiled Seducing the Forces of Matter amp Spirit By Rajmani Tigunait Contributor Deborah Willoughby Published 1999 Himalayan Institute Press p 83 ISBN 0893891584 Translation Courtright p 253 Chinmayananda 1987 p 127 nganchinnimirabuiwin Martin Dubost 1997 p 51 sungrabuwa This square shaped miniature shows us in a Himalayan landscape the god Siva sweetly pouring water from his kamaṇḍalu on the head of baby Gaṇesa Seated comfortably on the meadow Parvati balances with her left hand the baby Ganesa with four arms with a red body and naked adorned only with jewels tiny anklets and a golden chain around his stomach a necklace of pearls bracelets and armlets Nagar pp 7 14 sahrbsruperuxngrawchatkalkhxngphraxngkhthimihlakhlayinpuranatang Martin Dubost pp 41 82 Chapter 2 Stories of Birth According to the Puraṇas Shiva Purana IV 17 47 57 Matsya Purana 154 547 Varaha Purana 23 18 59 cak Brahmavaivarta Purana Ganesha Khanda 10 8 37 xangthungin Nagar pp 11 13 Melton J Gordon 13 September 2011 Religious Celebrations An Encyclopedia of Holidays Festivals Solemn Observances and Spiritual Commemorations ABC CLIO pp 325 ISBN 978 1598842050 Thapan p 300 Khokar and Saraswati p 4 Brown pp 4 79 Gupta p 38 dukarsuksaeruxngniephimetimidthi Cohen Lawrence The Wives of Gaṇesa Brown pp 115 140 Getty 1936 p 33 According to ancient tradition Gaṇesa was a Brahmacarin that is an unmarried deity but legend gave him two consorts personifications of Wisdom Buddhi and Success Siddhi Krishan 1999 p 63 in the smarta or orthodox traditional religious beliefs Gaṇesa is a bachelor or brahmacari praednthiekiywkhxngkbkarthuxsthanaphrhmcrrykhxngphraxngkh samarthduephimidthi Cohen Lawrence The Wives of Gaṇesa in Brown 1991 pp 126 129 In short the spouses of Gaṇesa are the personifications of his powers manifesting his functional features xangthungin Krishan 1999 p 62 Cohen Lawrence The Wives of Gaṇesa in Brown 1991 p 115 Cohen Lawrence The Wives of Gaṇesa in Brown 1991 pp 131 132 The Wives of Gaṇesa in Brown 1991 pp 132 135 dukarthkethiyngpraednniidthi Cohen Lawrence The Wives of Gaṇesa in Brown 1991 pp 124 125 Cohen Lawrence The Wives of Gaṇesa in Brown 1991 p 130 Cohen Lawrence The Wives of Gaṇesa Brown p 130 Thapan pp 15 16 230 239 242 251 Krishan pp 1 3 K N Somayaji Concept of Ganesha p 1 as quoted in Krishan pp 2 3 Krishan p 38 sahrbpraednkarbuchaphrakhensthiphbin chawhinduthuklththiaelanikay aelainsasnaechnaelaphuthth duthi Krishan 1981 1982 p 285 Grimes p 27 The term modaka applies to all regional varieties of cakes or sweets offered to Ganesha Martin Dubost p 204 Martin Dubost p 204 Martin Dubost p 369 Martin Dubost pp 95 99 Thapan p 215 Bhattacharyya B Festivals and Sacred Days in Bhattacharyya volume IV p 483 The Experience of Hinduism Essays on Religion in Maharashtra Edited By Eleanor Zelliot Maxine Berntsen pp 76 94 The Ganesh Festival in Maharashtra Some Observations by Paul B Courtright 1988 SUNY Press ISBN 088706664X Metcalf and Metcalf p 150 Brown 1992 p 9 Thapan p 225 sahrbkarepliynphancakethskalinkhrweruxnepnethskalsatharnakhxngtilk dilk Momin A R The Legacy of G S Ghurye A Centennial Festschrift p 95 Brown 1991 p 9 inkarichkhxethccringthiwaphrakhensthrngepn the god for Everyman khxngtilk sahrbkarcdmnthpinsatharnakhxngtilk duthi Thapan p 225 sahrbwakhenscturthiidrbkhwamniymsu sudinrthmharastra du Thapan p 226 Gaṇesa in a Regional Setting Courtright pp 202 247 Krishan p 92 Brown p 3 Grimes pp 110 112 Krishan pp 91 92 T A Gopinatha Elements of Hindu Iconography pp 47 48 as quoted in Krishan p 2 Krishan pp 147 158 Ganesha Temples worldwide khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 17 December 2007 sahrbphaphkhxngethwrupaelacarukdngklaw duthi Dhavalikar M K Ganesa Myth and Reality in Brown 1991 pp 50 63 Dhavalikar M K 1971 A Note on Two Gaṇesa Statues from Afghanistan East and West 21 3 4 331 336 JSTOR 29755703 155 0 155 1 155 2 155 3 155 4 Brown 1991 pp 19 21 chapter by AK Narain 156 0 156 1 156 2 156 3 Brown 1991 pp 50 55 120 Nagar p 4 Raman Sukumar 2003 The Living Elephants Evolutionary Ecology Behaviour and Conservation Oxford University Press pp 67 68 ISBN 978 0198026730 Brown 1991 p 2 Brown 1991 p 8 Bailey 1995 p ix Courtright pp 10 11 Thapan p 75 Devdutt Pattanaik 2016 Ganesha The Elephant God Penguin Petit Penguin UK p 5 ISBN 9789385990618 Horns Tusks and Flippers The Evolution of Hoofed Mammals JHU Press p 179 Nanditha Krishna 1 May 2014 Sacred Animals of India Penguin UK p 164 ISBN 9788184751826 Loving Ganesa Hinduism s Endearing Elephant faced God by Subramuniya p 268 Kumar Ajit 2007 A Unique Early Historic Terracotta Ganesa Image from Pal in Kala The Journal of Indian Art History Congress Vol XI 2006 2007 pp 89 91 Passim Thapan Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature Brown pp 70 72 Aitareya Brahmana I 21 Bhandarkar Vaisnavism Saivism and other Minor Sects pp 147 148 Krishan p vii Wilson H H Ṛgveda Saṃhita Sanskrit text English translation notes and index of verses Parimal Sanskrit Series No 45 Volume II Maṇḍalas 2 3 4 5 Second Revised Edition Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K L Joshi Parimal Publications Delhi 2001 Vol II ISBN 8171101380 Set RV 2 23 1 2222 gaṇanaṃ tva gaṇapatiṃ havamahe kaviṃ kavinamupamasravastamam 2 23 1 khakhxkhanphranamphraphrhmnspti Brahmaṇaspati phunasungsudkhxngbrrda ethwda bnswrrkh visiaehngvisithngpwng Nagar p 3 Rao p 1 Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature Brown p 69 Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature Brown pp 69 70 Wilson H H Ṛgveda Saṃhita Sanskrit text English translation notes and index of verses Parimal Sanskrit Series No 45 Volume IV Maṇḍalas 9 10 Second Revised Edition Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K L Joshi Parimal Publications Delhi 2001 Vol IV ISBN 8171101380 Set RV 10 112 9 10092 ni ṣu sida gaṇapate gaṇeṣu tvamahurvipratamaṃ kavinam Wilson H H Ṛgveda Saṃhita Sanskrit text English translation notes and index of verses Parimal Sanskrit Series No 45 Volume IV Maṇḍalas 9 10 Second Revised Edition Edited and Revised by Ravi Prakash Arya and K L Joshi Parimal Publications Delhi 2001 Vol IV ISBN 8171101380 Set RV 10 112 9 10092 ni ṣu sida gaṇapate gaṇeṣu tvamahurvipratamaṃ kavinam Lord of the companies of the Maruts sit down among the companies of the worshippers they call you the most sage of sages sahrbkarichvkhewthinkarbuchaphrakhensinpccubn du Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature in Brown 1991 p 70 Edward Jewitt Robinson 1873 Tamil Wisdom Traditions Concerning Hindu Sages and Selections from their writings PDF London Wesleyan Conference Office tat karaţaya vidmahe hastimukhaya dhimahi tan no danti pracodayat tat puruṣaya vidmahe vakratuṇḍaya dhimahi tan no danti pracodayat Maitrayaṇiya Saṃhita 2 9 1 aela Taittiriya Araṇyaka 10 1 xangthungin Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature in Brown 1991 p 70 Rajarajan R K K 2001 Sugarcane Gaṇapati East and West Rome 51 3 4 379 84 ekb cakaehlngedimemux 1 February 2016 odythang JSTOR Taittiriya Aranyaka X 1 5 Heras p 28 Krishan 1981 1982 p 290 Krishan 1999 pp 12 15 sahrbkarphudkhuyeruxngkaraetngetimekhaipinimtrayniysnghinthihlng Thapan p 101 sahrbpraednkaretimaetngekhamainphayhlngkhxngthapn Thapan Dhavalikar M K Gaṇesa Myth and reality in Brown 1991 pp 56 57 sahrbpraednmummxngkhxngthwikar Dhavilkar Rocher Ludo Ganesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature Brown pp 71 72 Mahabharata Vol 1 Part 2 Critical edition p 884 For a statement that Fifty nine manuscripts of the Adiparvan were consulted for the reconstruction of the critical edition The story of Gaṇesa acting as the scribe for writing the Mahabharata occurs in 37 manuscripts see Krishan 1999 p 31 note 4 Brown p 4 Winternitz Moriz Gaṇesa in the Mahabharata Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland 1898 382 Citation provided by Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature Brown p 80 Winternitz Moriz Gaṇesa in the Mahabharata Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland 1898 382 xangthungin Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature Brown p 80 sahrbpraednkaraetngetimphranamwinaykekhamainphayhlng duephimthi Krishan 1999 p 29 praednekiywkbphranamwikhnkrtrinam Vighnakartṛiṇam aelakaraeplwaepn phusrangxupsrrkh duthi Krishan 1999 p 29 Brown p 183 Krishan p 103 Rocher Ludo Gaṇesa s Rise to Prominence in Sanskrit Literature Brown p 73 Courtright p 163 sahrbpraednkarkhadkarnxayukhxngpycaycnabucha aelakhwamsmphnthkbsmartphrhmin Bhattacharyya S Indian Hymnology in Bhattacharyya 1956 volume IV p 470 sahrbpraednekiywkbpycethwathngha Grimes p 162 Pal p ix Thapan pp 196 197 Addresses the pancayatana in the Smarta tradition and the relationship of the Ganesha Purana and the Mudgala Purana to it sahrbkarphudkhuyaelathkethiynginpraednwnewlathikhenspuranaaetngkhunnn duthi Thapan pp 30 33 Preston Lawrence W Subregional Religious Centers in the History of Maharashtra The Sites Sacred to Gaṇesa xangthungin N K Wagle ed Images of Maharashtra A Regional Profile of India p 103 R C Hazra The Gaṇesa Puraṇa Journal of the Ganganatha Jha Research Institute 1951 79 99 Phyllis Granoff Gaṇesa as Metaphor xangthungin Brown pp 94 95 note 2 Thapan pp 30 33 208 0 208 1 208 2 Grimes 1995 pp 21 22 Courtright p 252 Bailey 1995 pp 258 269 Nagar p 175 Nagar p 174 Thapan p 170 Thapan p 152 Getty 1936 p 55 Getty pp 55 66 Getty 1936 p 52 218 0 218 1 Brown p 182 wthnamhatm kitti November 2011 phrakhensimichethphsilpa rchkalthi 6 thrngthaihepnethphsilpa silpwthnthrrm phvscikayn 2011 subkhnemux 26 phvsphakhm 2020 ithynbthuxphrakhensmaksudinsuwrrnphumi Nagar p 175 Martin Dubost p 311 Getty 1936 pp 37 45 Getty 1936 p 37 Getty 1936 p 38 Getty 1936 p 40 Nagar p 185 Wayman Alex 2006 Chanting the Names of Manjushri Motilal Banarsidass Publishers p 76 ISBN 8120816536 Nagar pp 185 186 Martin Dubost p 311 Martin Dubost p 313 Krishan p 121 Thapan p 157 Thapan pp 151 158 162 164 253 Krishan p 122 Thapan p 158 brrnanukrm aekikhApte Vaman Shivram 1965 The Practical Sanskrit Dictionary Delhi Motilal Banarsidass Publishers ISBN 978 8120805675 CS1 maint ref harv link fourth revised and enlarged edition Bailey Greg 1995 Ganesapurana Introduction translation notes and index Harrassowitz ISBN 978 3447036474 CS1 maint ref harv link Bhattacharyya Editor Haridas 1956 The Cultural Heritage of India Calcutta The Ramakrishna Mission Institute of Culture CS1 maint extra text authors list link Four volumes Brown Robert 1991 Ganesh Studies of an Asian God Albany State University of New York ISBN 978 0791406571 Chinmayananda Swami 1987 Glory of Ganesha Bombay Central Chinmaya Mission Trust ISBN 978 8175973589 CS1 maint ref harv link Courtright Paul B 1985 Gaṇesa Lord of Obstacles Lord of Beginnings New York Oxford University Press ISBN 978 0195057423 Ellawala H 1969 Social History of Early Ceylon Colombo Department of Cultural Affairs Getty Alice 1936 Gaṇesa A Monograph on the Elephant Faced God 1992 reprint ed Oxford Clarendon Press ISBN 978 8121503778 CS1 maint ref harv link Grimes John A 1995 Ganapati Song of the Self SUNY Series in Religious Studies Albany State University of New York Press ISBN 978 0791424407 CS1 maint ref harv link Heras H 1972 The Problem of Ganapati Delhi Indological Book House Khokar Ashish Saraswati S 2005 Ganesha Karttikeya New Delhi Rupa and Co ISBN 978 8129107763 Krishan Yuvraj 1981 1982 The Origins of Gaṇesa Artibus Asiae Artibus Asiae Publishers 43 4 285 301 doi 10 2307 3249845 JSTOR 3249845 Krishan Yuvraj 1999 Gaṇesa Unravelling An Enigma Delhi Motilal Banarsidass Publishers ISBN 978 8120814134 Krishna Murthy K 1985 Mythical Animals in Indian Art New Delhi Abhinav Publications ISBN 978 0391032873 Mate M S 1962 Temples and Legends of Maharashtra Bombay Bharatiya Vidya Bhavan OCLC 776939647 Metcalf Thomas R Metcalf Barbara Daly A Concise History of India ISBN 978 0521630276 Nagar Shanti Lal 1992 The Cult of Vinayaka New Delhi Intellectual Publishing House ISBN 978 81 7076 044 3 CS1 maint ref harv link Oka Krishnaji Govind 1913 The Namalinganusasana Amarakosha of Amarasimha with the Commentary Amarakoshodghaṭana of Kshirasvamin Poona Law Printing Press subkhnemux 14 September 2007 Ramachandra Rao S K 1992 The Compendium on Gaṇesa Delhi Sri Satguru Publications ISBN 978 8170308287 Saraswati Swami Tattvavidananda 2004 Gaṇapati Upaniṣad Delhi D K Printworld Ltd ISBN 978 8124602652 Sastri Khiste Baṭukanatha 1991 Gaṇesasahasranamastotram mula evaṁ sribhaskararayakṛta khadyota vartika sahita Varaṇasi Pracya Prakasana Source text with a commentary by Bhaskararaya in Sanskrit Sastri Hargovinda 1978 Amarkoṣa with Hindi commentary Varanasi Chowkhamba Sanskrit Series Office Thapan Anita Raina 1997 Understanding Gaṇapati Insights into the Dynamics of a Cult New Delhi Manohar Publishers ISBN 978 8173041952 aehlngkhxmulxun aekikhkhxmmxns miphaphaelasuxekiywkb phraphikhens Ganesha at the Encyclopaedia Britannica Ganesh Symbol and presenceekhathungcak https th wikipedia org w index php title phrakhens amp oldid 9575028, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม