fbpx
วิกิพีเดีย

รอยนูนสมองกลีบขมับด้านล่าง

รอยนูนกลีบขมับส่วนล่าง (อังกฤษ: Inferior temporal gyrus, gyrus temporalis inferior) เป็นรอยนูนสมองที่ อยู่ใต้รอยนูนกลีบขมับส่วนกลาง (middle temporal gyrus), อยู่ข้างหน้ารอยนูนกลีบท้ายทอยส่วนล่าง (inferior occipital gyrus), และแผ่ขยายไปทางผิวด้านข้างของสมองกลีบขมับลงไปจรด inferior sulcus เป็นศูนย์ประมวลผลข้อมูลการเห็นในระดับสูงโดยเป็นส่วนสุดท้ายของทางสัญญาณด้านล่าง (ventral stream) มีหน้าที่เป็นตัวแทนของลักษณะที่ซับซ้อนของวัตถุที่เห็น:403 และอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรู้ใบหน้า กับการรู้จำวัตถุ (object recognition) ต่าง ๆ และกับการรู้จำตัวเลข (number recognition)

รอยนูนกลีบขมับส่วนล่าง
(Inferior temporal gyrus)
ผิวด้านข้างของเปลือกสมองซีกซ้าย มองจากด้านข้าง รอยนูนกลีบขมับส่วนล่างมีสีส้ม
รายละเอียด
ส่วนหนึ่งของสมองกลีบขมับ
หลอดเลือดแดงPosterior cerebral artery
ตัวระบุ
ภาษาละตินgyrus temporalis inferior
นิวโรเนมส์138
นิวโรเล็กซ์ IDbirnlex_1577
TA98A14.1.09.148
TA25497
FMA61907
ศัพท์ทางกายวิภาคของประสาทกายวิภาคศาสตร์
[แก้ไขบนวิกิสนเทศ]

รอยนูนกลีบขมับส่วนล่างเป็นส่วนล่างของสมองกลีบขมับ อยู่ใต้ร่องกลีบขมับกลาง (central temporal sulcus) สมองส่วนนี้ (ซึ่งเป็นส่วนของคอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่าง) ทำหน้าที่แปลผลตัวกระตุ้นทางตา เป็นการรู้จำวัตถุ (object recognition) ที่เห็นทางตา และเป็นส่วนสุดท้ายของทางสัญญาณด้านล่างของระบบการเห็น (ดังที่แสดงไว้ในงานวิจัยเร็ว ๆ นี้)"คอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่าง" (inferior temporal cortex ตัวย่อ ITC) ในมนุษย์เป็นส่วนเดียวกับ "รอยนูนกลีบขมับส่วนกลาง" (เขตบร็อดแมนน์ 21) รวมกับ "รอยนูนกลีบขมับส่วนล่าง" (เขตบร็อดแมนน์ 20) โดยที่ไม่เหมือนกับไพรเมตประเภทอื่น ๆ

สมองเขตนี้แปลผลตัวกระตุ้นทางตาที่ปรากฏในลานสายตา ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเก็บและการเรียกคืนความทรงจำเกี่ยวกับวัตถุนั้น เพื่อประโยชน์ในการระบุวัตถุนั้น ทำหน้าแปลผลและรับรู้ข้อมูลที่เกิดจากตัวกระตุ้นทางตาที่ผ่านการแปลผลจากเขตสายตา V1, V2, V3, และ V4 ที่อยู่ในสมองกลีบท้ายทอย มาแล้ว คือทำหน้าที่แปลผลข้อมูลสีและรูปร่างของวัตถุที่อยู่ในลานสายตา (ซึ่งเป็นข้อมูลจากเขตสายตาก่อน ๆ) แล้วให้ข้อมูลว่าวัตถุที่เห็นนั้นคืออะไร ซึ่งก็คือการระบุวัตถุโดยใช้สีและรูปร่าง โดยเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้ประมวลแล้วกับข้อมูลความจำที่เก็บไว้เพื่อที่จะระบุวัตถุนั้น

สมองเขตนี้ไม่ใช่มีความสำคัญในเรื่องเป็นส่วนของการแปลผลข้อมูลทางตาเพื่อการรู้จำวัตถุเท่านั้น แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแปลผลแบบง่าย ๆ อย่างอื่นของวัตถุในลานสายตา มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้และความเข้าใจทางปริภูมิของวัตถุที่อยู่รอบ ๆ ตัว และเป็นส่วนที่มีเซลล์ประสาทเดี่ยว ๆ ที่ทำหน้าที่โดยเฉพาะซึ่งอาจจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคอร์เทกซ์นี้กับระบบความจำ

โครงสร้าง

 
เปลือกสมองมนุษย์ซีกขวา รูปซ้ายเป็นมุมมองด้านข้าง รูปขวาเป็นมุมมองจากด้านใน (medial) ในภาพทั้งสอง รอยนูนกลีบขมับส่วนล่างมีป้ายชื่ออยู่ด้านล่าง สมองกลีบขมับมีสีเขียว (สมองกลีบท้ายทอยมีสีน้ำตาล และระบบลิมบิกมีสีม่วง)

สมองกลีบขมับมีอยู่แต่ในสัตว์อันดับวานร (ไพรเมต) ในมนุษย์ คอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่างมีความซับซ้อนมากกว่าไพรเมตประเภทอื่น ๆ

ในมนุษย์ คอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่างประกอบด้วยรอยนูนกลีบขมับส่วนล่าง รอยนูนกลีบขมับส่วนกลาง และ fusiform gyrus ถ้ามองจากด้านข้างที่ผิวของสมองกลีบขมับ รอยนูนกลีบขมับส่วนล่างจะทอดไปตามส่วนล่างสุดของสมองกลีบขมับ และแยกออกจากรอยนูนกลีบขมับส่วนกลางซึ่งอยู่ด้านบนโดยร่องสมองกลีบขมับส่วนล่าง (inferior temporal sulcus)

นอกจากนั้นแล้ว การแปลผลข้อมูลจากลานสายตา โดยเป็นส่วนการแปลข้อมูลของทางสัญญาณด้านล่าง เกิดขึ้นที่ด้านล่างของรอยนูนกลีบขมับส่วนบน (superior temporal gyrus) ที่อยู่ต่อจากร่องสมองกลีบขมับส่วนบน (superior temporal sulcus) และถ้ามองมาจากข้างบน รอยนูนกลีบขมับส่วนล่างจะแยกออกจาก fusiform gyrus โดยร่องแยกสมองกลีบท้ายทอยและสมองกลีบขมับ (occipital-temporal sulcus)

คอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่างของมนุษย์มีความซับซ้อนยิ่งกว่าของไพรเมตประเภทอื่น ๆ "คอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่าง" ของไพรเมตประเภทอื่น ๆ ไม่ได้แยกออกเป็นส่วนต่าง ๆ เป็นรอยนูนกลีบขมับส่วนล่าง รอยนูนรูปกระสวย และรอยนูนกลีบขมับส่วนกลางเหมือนในมนุษย์

รอยนูนกลีบขมับส่วนล่างเป็นส่วนหนึ่งของคอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่าง และมีหน้าที่เกี่ยวกับการู้จำวัตถุที่เห็น โดยรับข้อมูลที่ได้รับการแปลผลมาแล้วจากเขตอื่น ๆ คอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่างในไพรเมตมีเขตเฉพาะกิจต่าง ๆ ที่ทำการแปลผลแบบต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวกระตุ้นทางตา โดยได้รับข้อมูลที่ได้รับการแปลผลและจัดระเบียบใหม่แล้วโดยชั้นต่าง ๆ ของคอร์เทกซ์ลาย (striate cortex) และ คอร์เทกซ์นอกคอร์เทกซ์ลาย (extra-striate cortex) คือ ข้อมูลจากเขตสายตา V1 ถึง V5 ที่อยู่ในวิถีประสาทจาก Lateral geniculate nucleus และวิถีประสาทจาก tectopulvinar แผ่มาถึงรอยนูนกลีบขมับส่วนล่างโดยเป็นส่วนของทางสัญญาณด้านล่าง เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสีและรูปร่างของวัตถุที่เห็น

โดยงานวิจัยที่เปรียบเทียบมนุษย์กับไพรแมตประเภทอื่น ๆ ผลแสดงว่า คอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่างมีบทบาทสำคัญในการแปลผลเกี่ยวกับรูปร่าง ซึ่งรับการยืนยันจากหลักฐานที่ได้จาก fMRI ที่เก็บโดยนักวิจัยที่เปรียบเทียบระบบการแปลผลในระบบประสาทของมนุษย์และลิงแม็กแคก

หน้าที่และการทำงาน

ข้อมูลที่ได้รับ

เซลล์ในเรตินาจะเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ที่สะท้อนมาจากวัตถุ ไปเป็นพลังงานเชิงเคมี ซึ่งจะมีการแปลงไปเป็นศักยะงานที่ส่งผ่านเส้นประสาทตา ข้ามส่วนไขว้ประสาทตา (optic chiasm) ไปยัง lateral geniculate nucleus (ตัวย่อ LGN) ในทาลามัส เพื่อการประมวลผลเป็นส่วนแรก จากนั้นก็จะส่งต่อไปที่คอร์เทกซ์สายตาปฐมภูมิ ที่รู้จักกันว่าเขตสายตา V1 หลังจากนั้น สัญญาณจากเขตสายตาต่าง ๆ ในสมองกลีบท้ายทอยก็จะเดินทางต่อไปยังสมองกลีบข้างและสมองกลีบขมับ ผ่านทางสัญญาณสองทาง

 
รูปแสดงทางสัญญาณด้านหลัง (สีเขียว) และทางสัญญาณด้านล่าง (สีม่วง) ทางสัญญาณทั้งสองนั้นเริ่มต้นมาจากที่เดียวกันคือคอร์เทกซ์สายตาปฐมภูมิ

นักวิจัยอังเกอร์ไลเดอร์และมิชกินได้แยกแยะระบบการประมวลผลทางตาสองระบบนี้ไว้ในปี ค.ศ. 1982 ทางสัญญาณหนึ่งดำเนินไปในทางด้านล่างไปยังคอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนล่าง (คือจาก V1 ผ่าน V2 ผ่าน V4 ไปถึง ITC) และอีกทางหนึ่งดำเนินไปในทางด้านหลังไปยังสมองกลีบข้างส่วนหลัง เป็นทางสองทางที่เรียกว่า ทางเพื่อรู้ว่าคืออะไร และทางเพื่อรู้ว่าอยู่ที่ไหน ตามลำดับ. ITC รับข้อมูลจากทางสัญญาณด้านล่าง เพราะเป็นเขตสำคัญเพื่อรู้จำรูปแบบ (pattern) ใบหน้า และวัตถุ

หน้าที่ของเซลล์ประสาทเดี่ยวใน ITC

ความรู้หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการทำงานในระดับเซลล์เดี่ยว ๆ การใช้ความจำในการระบุวัตถุ และการแปลผลจากลานสายตาโดยสีและโดยรูปร่าง ล้วนแต่เป็นความรู้ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานเกี่ยวกับ ITC งานวิจัยในยุคต้น ๆ แสดงว่า มีการเชื่อมต่อกันระหว่างสมองกลีบขมับกับเขตสมองเกี่ยวกับความทรงจำอื่น ๆ เป็นต้นว่า ฮิปโปแคมปัส อะมิกดะลา และคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) มีการค้นพบเร็ว ๆ นี้ว่า การเชื่อมต่อกันเหล่านี้สามารถอธิบายลักษณะเฉพาะบางอย่างของความจำ ซึ่งบอกเป็นนัยว่า เซลล์สมองเดี่ยว ๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับประเภทของความจำต่าง ๆ โดยเฉพาะ หรือแม้กับความจำต่าง ๆ โดยเฉพาะ งานวิจัยพบลักษณะเด่นของเซลล์สมองเดี่ยว ๆ ที่มีการทำงานโดยเฉพาะใน ITC คือ

  1. เซลล์เดี่ยว ๆ ที่ตอบสนองต่อความจำที่คล้ายกันอยู่ใกล้กันกระจายไปตามชั้นของ ITC
  2. นิวรอนของสมองกลีบขมับมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้และความจำระยะยาว
  3. ความจำที่อยู่ภายใน ITC น่าจะดีขึ้นในระยะยาว เพราะอิทธิพลของนิวรอนที่รับสัญญาณจากระบบรับความรู้สึก (afferent neurons) ในเขตสมองกลีบขมับด้านใน (medial-temporal region)

งานวิจัยต่อ ๆ มาของเซลล์เดี่ยว ๆ ใน ITC บอกเป็นนัยว่า เซลล์เหล่านี้ไม่ใช่มีเพียงแค่การเชื่อมต่อโดยตรงกับวิถีประสาทของระบบการเห็นเท่านั้น แต่ว่ามีการตอบสนองโดยเฉพาะต่อตัวกระตุ้นทางตา ในบางกรณี เซลล์เดี่ยว ๆ เหล่านี้ไม่มีการตอบสนองต่อจุดหรือช่องยาว ที่เป็นตัวกระตุ้นแบบง่าย ๆ ที่ปรากฏในลานสายตา แต่ว่า เมื่อแสดงวัตถุที่มีรูปร่างซับซ้อน กลับเริ่มการตอบสนอง นี้เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เซลล์เหล่านี้ไม่ใช่แต่ตอบสนองต่อตัวกระตุ้นทางตาโดยเฉพาะโดยเป็นกลุ่ม แต่ว่า เป็นเซลล์แต่ละตัวทีเดียวที่มีการตอบสนองโดยเฉพาะกับตัวกระตุ้นแบบเฉพาะ

งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยอีกว่า ระดับการตอบสนองของเซลล์เหล่านี้ ไม่เปลี่ยนไปเพราะเหตุของสีหรือขนาด แต่ว่าเปลี่ยนไปตามรูปร่าง ซึ่งนำไปสู่ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือว่า เซลล์เดี่ยว ๆ บางตัวเหล่านี้ มีบทบาทในการรู้จำใบหน้าและมือ นี้อาจจะชี้ถึงความเกี่ยวข้องกับภาวะไม่รู้ใบหน้าที่เป็นความผิดปกติทางประสาท และอธิบายถึงความที่มือเป็นจุดที่มนุษย์สนใจ งานวิจัยที่เกิดต่อจากงานนี้ ได้ทำการสำรวจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงบทบาทของ "นิวรอนใบหน้า" และ "นิวรอนมือ" ที่มีอยู่ใน ITC

กระบวนการทำงาน

ข้อมูลเกี่ยวกับสีและรูปร่างมาจากเซลล์ P ซึ่งเป็น ganglion cell ในเรตินาที่รับข้อมูลต่อจากเซลล์รูปกรวยโดยหลัก ดังนั้นจึงไวต่อความต่าง ๆ กันของรูปร่างและสี เปรียบเทียบกับเซลล์ M ที่รับข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจากเซลล์รูปแท่งโดยหลัก นิวรอนใน ITC ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า inferior temporal visual association cortex ประมวลข้อมูลที่มาจากเซลล์ P


นิวรอนใน ITC มีเอกลักษณ์หลายอย่าง ที่อาจจะเป็นคำอธิบายว่า ทำไมเขตนี้จึงจำเป็นในการรู้จำรูปแบบต่าง ๆ คือ มันตอบสนองต่อตัวกระตุ้นทางตาเท่านั้น และลานรับสัญญาณของมันจะรวมส่วนรอยบุ๋มจอตา (fovea) ด้วย ซึ่งอาจจะเป็นส่วนของเรตินาที่มีเซลล์รับแสงหนาแน่นที่สุดและมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเห็นที่ชัดเจนกลางลานสายตา ลานรับสัญญาณของเซลล์ใน ITC มักจะมีขนาดใหญ่กว่าของนิวรอนในคอร์เทกซ์ลาย และมักขยายข้ามแนวกลาง (midline) รวมข้อมูลจากลานสายตาทั้งสองข้างเป็นเขตแรก นิวรอนของ IT เลือกตอบสนองต่อรูปร่างและสี และมักจะตอบสนองต่อรูปร่างซับซ้อนมากกว่ารูปร่างที่ง่าย ๆ มีนิวรอนจำนวนน้อยเปอร์เซ็นต์จำนวนหนึ่งที่เลือกตอบสนองต่อส่วนเฉพาะของใบหน้า ข้อมูลใบหน้าและน่าจะข้อมูลรูปร่างที่ซับซ้อนอื่น ๆ ด้วย รับการเข้ารหัสโดยเป็นการทำงานเป็นลำดับในกลุ่มของเซลล์ และเซลล์ใน IT ก็ปรากฏว่ามีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทรงจำรูปร่างซับซ้อนเหล่านี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวขึ้นอยู่กับเหตุการณ์

การรู้จำวัตถุ

มีเขตต่าง ๆ ภายใน ITC ที่ทำงานร่วมกันเพื่อแปลผลและรู้จำว่า สิ่งหนึ่ง ๆ คืออะไร ความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นไปจนกระทั่งว่า วัตถุประเภทต่าง ๆ จะมีความสัมพันธ์กับนิวรอนที่อยู่ในเขตต่าง ๆ กันของ ITC เช่น

 
แผนผังแสดงเขตต่าง ๆ ของสมองซีกซ้าย รอยนูนรูปกระสวยมีสีส้ม
 
แผนผังแสดงเขตต่าง ๆ ของสมองซีกซ้าย เขตรับรู้สถานที่รอบฮิปโปแคมปัสมีสีส้ม
  • Extrastriate Body Area แยกแยะส่วนของร่างกายให้ต่างจากวัตถุอื่น ๆ
  • Lateral Occipital Complex แยกแยะตัวกระตุ้นที่มีรูปร่างหรือตัวกระตุ้นที่ไม่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง

เขตของ ITC เหล่านี้ต้องทำงานร่วมกัน และทำงานร่วมกับเขตฮิปโปแคมปัสด้วย เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในโลก ฮิปโปแคมปัสเป็นเขตที่จำเป็นในการบันทึกความจำว่า วัตถุนั้นคืออะไร มีรูปร่างเป็นอย่างไร เพื่อจะนำมาใช้ในอนาคต โดยนำไปเปรียบเทียบความแตกต่างกันของวัตถุต่าง ๆ การที่จะรู้จำวัตถุหนึ่ง ๆ ได้อย่างถูกต้องอาศัยเครือข่ายในสมองเหล่านี้อย่างขาดไม่ได้เพื่อที่จะแปลผล แบ่งปัน และบันทึกข้อมูลไว้

ในงานวิจัยของเด็นนีส์และคณะ มีการใช้การสร้างภาพสมองโดย fMRI เพื่อเปรียบเทียบการแปลผลของรูปร่างที่เห็นทางตาระหว่างของมนุษย์และของลิงแม็กแคก สิ่งที่ได้ค้นพบอย่างหนึ่งในงานวิจัยก็คือว่า มีเขตที่ทำงานคาบเกี่ยวกันระหว่างการแปลผลของรูปร่างและการเคลื่อนไหวในสมอง แต่ว่าความคาบเกี่ยวกันมีมากกว่าในมนุษย์ (คือต้องมีการทำงานประสานกันมากกว่าระหว่างทางสัญญาณด้านล่างและทางสัญญาณด้านหลัง) ซึ่งบอกเป็นนัยว่า สมองมนุษย์มีวิวัฒนาการในระดับที่สูงกว่าเพื่อทำการแปลผลเพื่อที่จะใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ

ความสำคัญทางคลินิก

ภาวะไม่รู้ใบหน้า

ภาวะไม่รู้ใบหน้า (Prosopagnosia) หรือภาวะบอดใบหน้า (face blindness) เป็นความผิดปกติมีผลเป็นความไม่สามารถรู้จำหรือแยกแยะใบหน้าของคนต่าง ๆ และอาจจะเกิดขึ้นกับความเสียหายในการรู้จำวัตถุสิ่งของอื่น ๆ รวมทั้งสถานที่ รถยนต์ และอารมณ์ความรู้สึก (ของผู้อื่น)

โกรสและคณะได้ทำงานวิจัยในปี ค.ศ. 1969 ที่พบว่า เซลล์บางพวกตอบสนองต่อการเห็นมือขอลิง และได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวกระตุ้นที่ให้ลิงดู ยิ่งเหมือนมือของลิงเท่าไร เซลล์เหล่านั้นก็จะเกิดการทำงานมากขึ้นเท่านั้น หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1972 โกรสและคณะก็พบว่า เซลล์บางพวกใน IT ตอบสนองต่อใบหน้า แม้ว่าจะยังสรุปยังไม่ได้อย่างเด็ดขาด เซลล์ที่ตอบสนองต่อใบหน้าใน ITC (บางครั้งเรียกว่า Grandmother cell) เชื่อกันว่ามีบทบาทที่สำคัญในการรู้จำใบหน้าในลิง

หลังจากมีงานวิจัยอื่น ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับผลของความเสียหายต่อ ITC ในลิง จึงมีสมมติฐานขึ้นว่า รอยโรคใน IT ในมนุษย์มีผลเป็นภาวะไม่รู้ใบหน้า คือ ในปี ค.ศ. 1971 รูเบ็นส์และเบ็นสันทำงานวิจัยกับคนไข้ที่มีภาวะไม่รู้ใบหน้าคนหนึ่ง แล้วพบว่า คนไข้สามารถบอกชื่อของวัตถุสามัญที่เห็นได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร แต่เธอไม่สามารถรู้จำใบหน้า หลังจากที่เบ็นสันและคณะทำการชันสูตรศพหนึ่ง ก็เกิดความชัดเจนว่า รอยโรคจำเพาะในรอยนูนรูปกระสวยซีกขวา ซึ่งเป็นส่วนของรอยนูนกลีบขมับส่วนล่าง เป็นเหตุหลักของภาวะนี้

ข้อสังเกตที่ทำให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นพบในคนไข้ที่ชื่อว่า L.H. ในงานวิจัยของ เอ็ตค็อฟ์ฟและคณะในปี ค.ศ. 1991 คือ ชายวัย 40 ปีคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เมื่ออายุ 18 ปี และได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงในสมอง หลังจากที่ฟื้นตัว L.H. ไม่สามารถรู้จำใบหน้าหรือแยกแยะใบหน้าได้ ไม่สามารถแม้แต่จะรู้จำใบหน้าของบุคคลคุ้นเคยที่รู้จักก่อนอุบัติเหตุ L.H. และคนไข้ภาวะไม่รู้ใบหน้าอื่น ๆ โดยปกติสามารถใช้ชีวิตที่เกือบเป็นปกติแม้ว่าจะประกอบด้วยภาวะนี้ คือ L.H. ยังสามารถรู้จำวัตถุสามัญทั่ว ๆ ไป ยังรู้จักความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของรูปร่าง อายุ เพศ และความน่าชอบใจของใบหน้า แต่ว่า เพื่อแยกแยะบุคคลต่าง ๆ เขาต้องใช้ตัวช่วยที่ไม่เกี่ยวกับใบหน้าอื่น ๆ เช่น ความสูง สีผม และเสียง การสร้างภาพในสมองโดยเทคนิคที่ไม่ต้องอาศัยการเจาะการผ่าตัดพบว่า ภาวะไม่รู้ใบหน้าของ L.H. มีเหตุมาจากความเสียหายในสมองกลีบขมับซีกขวา ซึ่งประกอบด้วยรอยนูนกลีบขมับส่วนล่าง

ความบกพร่องในความจำอาศัยความหมาย

โรคบางชนิดเช่น โรคอัลไซเมอร์ หรือ semantic dementia (โรคความจำอาศัยความหมายเสื่อม) เป็นโรคที่กำหนดโดยความที่คนไข้ไม่สามารถประสานรวบรวมความจำอาศัยความหมาย (semantic memories) มีผลทำให้คนไข้ไม่สามารถเกิดความจำใหม่ ๆ ไม่รู้เวลาที่ผ่านไป และมีปัญหาทางการรับรู้ที่สำคัญด้านอื่น ๆ

ในปี ค.ศ. 2001 แชนและคณะทำการวิจัยโดยใช้ MRI แบบวัดปริมาตร (volumetric MRI) เพื่อที่จะกำหนดค่าความเสียหายทั้งในสมองโดยทั่ว ๆ ไป และในสมองกลีบข้างในคนไข้โรคความจำอาศัยความหมายเสื่อม และคนไข้โรคอัลไซเมอร์ มีการเลือกและยืนยันผู้รับการทดลองทางคลินิกว่า เป็นคนไข้ในระดับกลาง ๆ ของโรคทั้งสอง และมีการยืนยันเพิ่มขึ้นไปอีกด้วยผ่านการทดสอบทางจิตประสาท งานวิจัยนี้ไม่แยกแยะ ITC และคอร์เทกซ์กลีบขมับส่วนกลาง (middle temporal cortex) เพราะว่า "มักจะไม่มีความชัดเจน" ของขอบเขตระหว่างคอร์เทกซ์ทั้งสองนั้น

งานวิจัยนั้นสรุปว่า สำหรับโรคอัลไซเมอร์ ความเสียหายใน ITC ไม่ใช่สาเหตุหลักของโรค เพราะว่าในคนไข้ที่รับการทดลอง ความเสียหายที่ชัดเจนอยู่ที่ entorhinal cortex, อะมิกดะลา และ ฮิปโปแคมปัส ส่วนสำหรับโรคความจำอาศัยความหมายเสื่อม มีการสรุปว่า "รอยนูนกลีบขมับทั้งส่วนกลางและส่วนล่างอาจมีบทบาทที่สำคัญ" ในความทรงจำอาศัยความหมาย ดังนั้น จึงเป็นความโชคไม่ดีว่า คนไข้ที่มีสมองกลีบขมับส่วนหน้า (anterior) เสียหาย ก็จะมีความจำอาศัยความหมายเสื่อม งานวิจัยนี้แสดงหลักฐานว่า แม้ว่าโรคทั้งสองนี้บ่อยครั้งมักจะรวมอยู่ในประเภทเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้ว เป็นโรคที่แตกต่างกันอย่างมาก และมีความเสียหายทางสมองที่แตกต่างกัน

ภาวะเสียการระลึกรู้สีเหตุสมอง

 
ตัวอย่างการเห็นของบุคคลที่มีภาวะเสียการระลึกรู้สีเหตุสมอง

ภาวะเสียการระลึกรู้สีเหตุสมอง (cerebral achromatopsia) เป็นความผิดปกติทางการแพทย์มีอาการเป็นความไม่สามารถที่จะรับรู้สี และไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนพอในระดับแสงที่สูง ภาวะเสียการระลึกรู้สีแต่กำเนิด (Congenital achromatopsia) มีอาการเหมือนกัน แต่เกิดเพราะอาศัยกรรมพันธุ์ เปรียบเทียบกับภาวะเสียการระลึกรู้สีเหตุสมอง ซึ่งเกิดขึ้นจากความเสียหายในสมอง เขตหนึ่งในสมองที่มีขาดไม่ได้ในการแยกแยะสีก็คือ ITC

ในปี ค.ศ. 1995 เฮย์วูดและคณะทำงานวิจัยหมายจะแสดงส่วนของสมองที่สำคัญต่อภาวะเสียการระลึกรู้สีในลิง แต่ว่า งานวิจัยนั้นแหละได้แสดงเขตในสมองที่เกี่ยวข้องกับภาวะเสียการระลึกรู้สีในมนุษย์ด้วย ในงานวิจัยนี้ ลิงกลุ่มหนึ่ง (กลุ่ม AT) มีสมองกลีบขมับด้านหน้าเขตสายตา V4 ถูกทำให้เสียหาย และอีกกลุ่มหนึ่ง (กลุ่ม MOT) มีจุดที่เชื่อมต่อกันระหว่างสมองกลีบท้ายทอยและสมองกลีบขมับถูกทำให้เสียหาย ซึ่งเป็นจุดเดียวกันกับตำแหน่งกะโหลกมนุษย์ที่เสียหายเมื่อมีภาวะเสียการระลึกรู้สี งานนี้สรุปว่า กลุ่ม MOT ไม่เกิดความเสียหายในการเห็นสี ในขณะที่กลุ่ม AT เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในการเห็นสี ซึ่งตรงกับมนุษย์ที่เกิดภาวะเสียการระลึกรู้สี งานวิจัยนี้แสดงว่า สมองกลีบขมับเขตข้างหน้าเขตสายตา V4 ซึ่งประกอบด้วย ITC มีบทบาทสำคัญในภาวะเสียการระลึกรู้สี

รูปอื่น ๆ

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. Kandel, Eric R.; Schwartz, James H.; Jessell, Thomas M.; Siegelbaum, Steven A.; Hudspeth, A.J. (2013). Principles of Neural Science Fifth Edition. United State of America: McGraw-Hill. p. 622-626. ISBN 978-0-07-139011-8.
  2. BRUCE GOLDMAN (APRIL 16, 2013). . Stanford School of Medicine. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2013-04-23. สืบค้นเมื่อ 2013-04-30. Check date values in: |date= (help)
  3. Kolb, B; Whishaw, I. Q. (2014). An Introduction to Brain and Behavior (Fourth ed.). New York, NY: Worth. pp. 282–312.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  4. Gross, C. G. (2008). "Inferior temporal cortex". Scholarpedia (3 (12) :7294).
  5. Pessoa, L., Tootell, R., Ungerleider L.G. (2008). "Visual Perception of Objects". Fundamental Neuroscience. Academic Press (Third Edition). Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  6. Denys, Katrien (10 March 2004). "The Processing of Visual Shape in the Cerebral Cortex of Human and Nonhuman Primates: A Functional Magnetic Resonance Imaging Study". The Journal of Neuroscience (24 (10) : 2551-2565). doi:10.1523/JNEUROSCI.3569-03.2004. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  7. Kolb, Bryan; Whishaw, Ian Q. (2014). An Introduction to Brain and Behavior (Fourth ed.). New York, NY: Worth. pp. 282–312.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  8. Mishkin, Mortimer; Ungerleider, Leslie G. (1982). "Two Cortical Visual Systems" (PDF). The MIT Press. Cite journal requires |journal= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  9. Creem, Sarah H.; Proffitt, Dennis R. (2001). "Defining the cortical visual systems: "What", "Where", and "How"" (PDF). Acta Psychologica (107): 43–68.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  10. Gross, C. G. (2007). "Single Neuron Studies of Inferior Temporal Cortex". Neuropsychologia. doi:10.1016/j.neuropsychologia.2007.11.009.
  11. Dragoi, Valentin. "Chapter 15: Visual Processing: Cortical Pathways". สืบค้นเมื่อ 12 November 2013.
  12. Gross, Charles. "Inferior temporal cortex". สืบค้นเมื่อ 12 November 2013.
  13. Spiridon, M., Fischl, B., & Kanwisher, N. (2006) . Location and spatial profile of category-specific regions in human extrastriate cortex. Human Brain Mapping , 27, 77-89.
  14. Denys; และคณะ (March 10, 2004). "The Processing of Visual Shape in the Cerebral Cortex of Human and Nonhuman Primates: A Functional Magnetic Resonance Imaging Study" (PDF). The Journal of Neuroscience: 2551–2565. Explicit use of et al. in: |last= (help)
  15. Nakayama, Ken. "Prosopagnosia Research". The President and Fellows of Harvard College. สืบค้นเมื่อ 9 November 2013.
  16. Gross, Charles (29 January 1992). (PDF). Philosophical Transactions: Biological Sciences. Processing the Facial Image. 335 (1273): 3–10. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2013-12-25. สืบค้นเมื่อ 9 November 2013.
  17. Meadows, J.C. (1974). "The anatomical basis of prosopagnosia" (PDF). Journal of Neurology, Neurosurgery, and Psychiatry. 37: 489–501. สืบค้นเมื่อ 10 November 2013.
  18. Purves, D (2001). "Lesions in the Temporal Association Cortex: Deficits in Recognition". Neuroscience. 2nd Edition. สืบค้นเมื่อ 11 November 2013. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  19. Chan, D (April 2001). "Patterns of temporal lobe atrophy in semantic dementia and Alzheimer's disease". Annals of Neurology. 49 (4): 433–42. สืบค้นเมื่อ 11 November 2013. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  20. ภาวะเสียการระลึกรู้สีเหตุสมอง (cerebral achromatopsia) คือความบกพร่องในการรับรู้สี ที่เกิดขึ้นเพราะรอยโรคในซีกสมองด้านหนึ่งหรือสองด้าน ที่รอยต่อของสมองกลีบขมับและสมองกลีบท้ายทอย (temporo-occipital junction)
  21. Heywood, C.A. (1995). "Cerebral Achromatopsia in Monkeys" (PDF). European Journal of Neuroscience. 7: 1064–1073. สืบค้นเมื่อ 11 November 2013. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

  • รอยนูนกลีบขมับส่วนล่างที่มหาวิทยาลัยยูทาห์

รอยน, นสมองกล, บขม, บด, านล, าง, รอยน, นกล, บขม, บส, วนล, าง, งกฤษ, inferior, temporal, gyrus, gyrus, temporalis, inferior, เป, นรอยน, นสมองท, อย, ใต, รอยน, นกล, บขม, บส, วนกลาง, middle, temporal, gyrus, อย, างหน, ารอยน, นกล, บท, ายทอยส, วนล, าง, inferior, occ. rxynunklibkhmbswnlang xngkvs Inferior temporal gyrus gyrus temporalis inferior epnrxynunsmxngthi xyuitrxynunklibkhmbswnklang middle temporal gyrus xyukhanghnarxynunklibthaythxyswnlang inferior occipital gyrus aelaaephkhyayipthangphiwdankhangkhxngsmxngklibkhmblngipcrd inferior sulcus epnsunypramwlphlkhxmulkarehninradbsungodyepnswnsudthaykhxngthangsyyandanlang ventral stream 1 mihnathiepntwaethnkhxnglksnathisbsxnkhxngwtthuthiehn 1 403 aelaxaccamiswnekiywkhxngkbkarrbruibhna 1 kbkarrucawtthu object recognition tang 1 aelakbkarrucatwelkh number recognition 2 rxynunklibkhmbswnlang Inferior temporal gyrus phiwdankhangkhxngepluxksmxngsiksay mxngcakdankhang rxynunklibkhmbswnlangmisismraylaexiydswnhnungkhxngsmxngklibkhmbhlxdeluxdaedngPosterior cerebral arterytwrabuphasalatingyrus temporalis inferiorniworenms138niworelks IDbirnlex 1577TA98A14 1 09 148TA25497FMA61907sphththangkaywiphakhkhxngprasathkaywiphakhsastr aekikhbnwikisneths rxynunklibkhmbswnlangepnswnlangkhxngsmxngklibkhmb xyuitrxngklibkhmbklang central temporal sulcus smxngswnni sungepnswnkhxngkhxrethksklibkhmbswnlang thahnathiaeplphltwkratunthangta epnkarrucawtthu object recognition thiehnthangta aelaepnswnsudthaykhxngthangsyyandanlangkhxngrabbkarehn dngthiaesdngiwinnganwicyerw ni 3 khxrethksklibkhmbswnlang inferior temporal cortex twyx ITC inmnusyepnswnediywkb rxynunklibkhmbswnklang ekhtbrxdaemnn 21 rwmkb rxynunklibkhmbswnlang ekhtbrxdaemnn 20 odythiimehmuxnkbiphremtpraephthxun 4 smxngekhtniaeplphltwkratunthangtathipraktinlansayta thahnathiekiywkhxngkbkarekbaelakareriykkhunkhwamthrngcaekiywkbwtthunn ephuxpraoychninkarrabuwtthunn thahnaaeplphlaelarbrukhxmulthiekidcaktwkratunthangtathiphankaraeplphlcakekhtsayta V1 V2 V3 aela V4 thixyuinsmxngklibthaythxy maaelw khuxthahnathiaeplphlkhxmulsiaelaruprangkhxngwtthuthixyuinlansayta sungepnkhxmulcakekhtsaytakxn aelwihkhxmulwawtthuthiehnnnkhuxxair sungkkhuxkarrabuwtthuodyichsiaelaruprang odyepriybethiybkhxmulthiidpramwlaelwkbkhxmulkhwamcathiekbiwephuxthicarabuwtthunn 3 smxngekhtniimichmikhwamsakhyineruxngepnswnkhxngkaraeplphlkhxmulthangtaephuxkarrucawtthuethann aetmiswnekiywkhxngkbkaraeplphlaebbngay xyangxunkhxngwtthuinlansayta mikhwamekiywkhxngkbpyhaekiywkbkarrbruaelakhwamekhaicthangpriphumikhxngwtthuthixyurxb tw aelaepnswnthimiesllprasathediyw thithahnathiodyechphaasungxaccaxthibaykhwamsmphnthrahwangkhxrethksnikbrabbkhwamca enuxha 1 okhrngsrang 2 hnathiaelakarthangan 2 1 khxmulthiidrb 2 2 hnathikhxngesllprasathediywin ITC 2 3 krabwnkarthangan 2 4 karrucawtthu 3 khwamsakhythangkhlinik 3 1 phawaimruibhna 3 2 khwambkphrxnginkhwamcaxasykhwamhmay 3 3 phawaesiykarralukrusiehtusmxng 4 rupxun 5 duephim 6 echingxrrthaelaxangxing 7 aehlngkhxmulxunokhrngsrang aekikh epluxksmxngmnusysikkhwa rupsayepnmummxngdankhang rupkhwaepnmummxngcakdanin medial inphaphthngsxng rxynunklibkhmbswnlangmipaychuxxyudanlang smxngklibkhmbmisiekhiyw smxngklibthaythxymisinatal aelarabblimbikmisimwng smxngklibkhmbmixyuaetinstwxndbwanr iphremt inmnusy khxrethksklibkhmbswnlangmikhwamsbsxnmakkwaiphremtpraephthxun inmnusy khxrethksklibkhmbswnlangprakxbdwyrxynunklibkhmbswnlang rxynunklibkhmbswnklang aela fusiform gyrus thamxngcakdankhangthiphiwkhxngsmxngklibkhmb rxynunklibkhmbswnlangcathxdiptamswnlangsudkhxngsmxngklibkhmb aelaaeykxxkcakrxynunklibkhmbswnklangsungxyudanbnodyrxngsmxngklibkhmbswnlang inferior temporal sulcus nxkcaknnaelw karaeplphlkhxmulcaklansayta odyepnswnkaraeplkhxmulkhxngthangsyyandanlang ekidkhunthidanlangkhxngrxynunklibkhmbswnbn superior temporal gyrus thixyutxcakrxngsmxngklibkhmbswnbn superior temporal sulcus aelathamxngmacakkhangbn rxynunklibkhmbswnlangcaaeykxxkcak fusiform gyrus odyrxngaeyksmxngklibthaythxyaelasmxngklibkhmb occipital temporal sulcus khxrethksklibkhmbswnlangkhxngmnusymikhwamsbsxnyingkwakhxngiphremtpraephthxun khxrethksklibkhmbswnlang khxngiphremtpraephthxun imidaeykxxkepnswntang epnrxynunklibkhmbswnlang rxynunrupkraswy aelarxynunklibkhmbswnklangehmuxninmnusy 5 rxynunklibkhmbswnlangepnswnhnungkhxngkhxrethksklibkhmbswnlang aelamihnathiekiywkbkarucawtthuthiehn odyrbkhxmulthiidrbkaraeplphlmaaelwcakekhtxun khxrethksklibkhmbswnlanginiphremtmiekhtechphaakictang thithakaraeplphlaebbtang ekiywkbtwkratunthangta odyidrbkhxmulthiidrbkaraeplphlaelacdraebiybihmaelwodychntang khxngkhxrethkslay striate cortex aela khxrethksnxkkhxrethkslay extra striate cortex khux khxmulcakekhtsayta V1 thung V5 thixyuinwithiprasathcak Lateral geniculate nucleus aelawithiprasathcak tectopulvinar aephmathungrxynunklibkhmbswnlangodyepnswnkhxngthangsyyandanlang epnkhxmulthiekiywkbsiaelaruprangkhxngwtthuthiehnodynganwicythiepriybethiybmnusykbiphraemtpraephthxun phlaesdngwa khxrethksklibkhmbswnlangmibthbathsakhyinkaraeplphlekiywkbruprang sungrbkaryunyncakhlkthanthiidcak fMRI thiekbodynkwicythiepriybethiybrabbkaraeplphlinrabbprasathkhxngmnusyaelalingaemkaekhk 6 hnathiaelakarthangan aekikhkhxmulthiidrb aekikh esllinertinacaepliynphlngnganaesngxathitythisathxnmacakwtthu ipepnphlngnganechingekhmi sungcamikaraeplngipepnskyanganthisngphanesnprasathta khamswnikhwprasathta optic chiasm ipyng lateral geniculate nucleus twyx LGN inthalams ephuxkarpramwlphlepnswnaerk caknnkcasngtxipthikhxrethkssaytapthmphumi thiruckknwaekhtsayta V1 hlngcaknn syyancakekhtsaytatang insmxngklibthaythxykcaedinthangtxipyngsmxngklibkhangaelasmxngklibkhmb phanthangsyyansxngthang 7 rupaesdngthangsyyandanhlng siekhiyw aelathangsyyandanlang simwng thangsyyanthngsxngnnerimtnmacakthiediywknkhuxkhxrethkssaytapthmphumi khxmulephimetim smmutithanthangsyyansxngthang nkwicyxngekxriledxraelamichkinidaeykaeyarabbkarpramwlphlthangtasxngrabbniiwinpi kh s 1982 8 thangsyyanhnungdaeninipinthangdanlangipyngkhxrethksklibkhmbswnlang khuxcak V1 phan V2 phan V4 ipthung ITC aelaxikthanghnungdaeninipinthangdanhlngipyngsmxngklibkhangswnhlng epnthangsxngthangthieriykwa thangephuxruwakhuxxair aelathangephuxruwaxyuthiihn tamladb ITC rbkhxmulcakthangsyyandanlang ephraaepnekhtsakhyephuxrucarupaebb pattern ibhna aelawtthu 9 hnathikhxngesllprasathediywin ITC aekikh khwamruhlay xyangekiywkbkarthanganinradbesllediyw karichkhwamcainkarrabuwtthu aelakaraeplphlcaklansaytaodysiaelaodyruprang lwnaetepnkhwamruthiephingekidkhunimnanekiywkb ITC nganwicyinyukhtn aesdngwa mikarechuxmtxknrahwangsmxngklibkhmbkbekhtsmxngekiywkbkhwamthrngcaxun epntnwa hipopaekhmps xamikdala aelakhxrethksklibhnaphakswnhna prefrontal cortex mikarkhnphberw niwa karechuxmtxknehlanisamarthxthibaylksnaechphaabangxyangkhxngkhwamca sungbxkepnnywa esllsmxngediyw ehlanimikhwamsmphnthkbpraephthkhxngkhwamcatang odyechphaa hruxaemkbkhwamcatang odyechphaa nganwicyphblksnaednkhxngesllsmxngediyw thimikarthanganodyechphaain ITC khux esllediyw thitxbsnxngtxkhwamcathikhlayknxyuiklknkracayiptamchnkhxng ITC niwrxnkhxngsmxngklibkhmbmiswnekiywkhxngkbphvtikrrmkareriynruaelakhwamcarayayaw khwamcathixyuphayin ITC nacadikhuninrayayaw ephraaxiththiphlkhxngniwrxnthirbsyyancakrabbrbkhwamrusuk afferent neurons inekhtsmxngklibkhmbdanin medial temporal region nganwicytx makhxngesllediyw in ITC 10 bxkepnnywa esllehlaniimichmiephiyngaekhkarechuxmtxodytrngkbwithiprasathkhxngrabbkarehnethann aetwamikartxbsnxngodyechphaatxtwkratunthangta inbangkrni esllediyw ehlaniimmikartxbsnxngtxcudhruxchxngyaw thiepntwkratunaebbngay thipraktinlansayta aetwa emuxaesdngwtthuthimiruprangsbsxn klberimkartxbsnxng niepnhlkthanaesdngihehnwa esllehlaniimichaettxbsnxngtxtwkratunthangtaodyechphaaodyepnklum aetwa epnesllaetlatwthiediywthimikartxbsnxngodyechphaakbtwkratunaebbechphaanganwicyniyngaesdngihehndwyxikwa radbkartxbsnxngkhxngesllehlani imepliynipephraaehtukhxngsihruxkhnad aetwaepliyniptamruprang sungnaipsukhxsngektthinasnic khuxwa esllediyw bangtwehlani mibthbathinkarrucaibhnaaelamux nixaccachithungkhwamekiywkhxngkbphawaimruibhnathiepnkhwamphidpktithangprasath aelaxthibaythungkhwamthimuxepncudthimnusysnic nganwicythiekidtxcaknganni idthakarsarwcihluksungyingkhunthungbthbathkhxng niwrxnibhna aela niwrxnmux thimixyuin ITC 10 krabwnkarthangan aekikh khxmulekiywkbsiaelaruprangmacakesll P sungepn ganglion cell inertinathirbkhxmultxcakesllrupkrwyodyhlk dngnncungiwtxkhwamtang knkhxngruprangaelasi epriybethiybkbesll M thirbkhxmulekiywkbkarekhluxnihwcakesllrupaethngodyhlk niwrxnin ITC sungmixikchuxhnungwa inferior temporal visual association cortex pramwlkhxmulthimacakesll P 11 niwrxnin ITC miexklksnhlayxyang thixaccaepnkhaxthibaywa thaimekhtnicungcaepninkarrucarupaebbtang khux mntxbsnxngtxtwkratunthangtaethann aelalanrbsyyankhxngmncarwmswnrxybumcxta fovea dwy sungxaccaepnswnkhxngertinathimiesllrbaesnghnaaennthisudaelamihnathiekiywkhxngkbkarehnthichdecnklanglansayta lanrbsyyankhxngesllin ITC mkcamikhnadihykwakhxngniwrxninkhxrethkslay aelamkkhyaykhamaenwklang midline rwmkhxmulcaklansaytathngsxngkhangepnekhtaerk niwrxnkhxng IT eluxktxbsnxngtxruprangaelasi aelamkcatxbsnxngtxruprangsbsxnmakkwaruprangthingay miniwrxncanwnnxyepxresntcanwnhnungthieluxktxbsnxngtxswnechphaakhxngibhna khxmulibhnaaelanacakhxmulruprangthisbsxnxun dwy rbkarekharhsodyepnkarthanganepnladbinklumkhxngesll aelaesllin IT kpraktwamihnathiekiywkhxngkbkarthrngcaruprangsbsxnehlanithnginrayasnaelarayayawkhunxyukbehtukarn 12 karrucawtthu aekikh miekhttang phayin ITC thithanganrwmknephuxaeplphlaelarucawa singhnung khuxxair khwamsmphnthechnniepnipcnkrathngwa wtthupraephthtang camikhwamsmphnthkbniwrxnthixyuinekhttang knkhxng ITC echn rxynunrupkraswy fusiform gyrus hruxwaekhtrbruhnainrxynunrupkraswy Fusiform Face Area thahnathiinkarrucaibhnaaelaruprangkaymakkwarucawtthuxun aephnphngaesdngekhttang khxngsmxngsiksay rxynunrupkraswymisism ekhtrbrusthanthirxbhipopaekhmps Parahippocampal Place Area chwyinkaraeykaeyasthanthiihtangcakwtthutang aephnphngaesdngekhttang khxngsmxngsiksay ekhtrbrusthanthirxbhipopaekhmpsmisism Extrastriate Body Area aeykaeyaswnkhxngrangkayihtangcakwtthuxun Lateral Occipital Complex aeykaeyatwkratunthimirupranghruxtwkratunthiimpraktepnrupepnrang 13 ekhtkhxng ITC ehlanitxngthanganrwmkn aelathanganrwmkbekhthipopaekhmpsdwy ephuxthicathakhwamekhaickbsingtang thixyuinolk hipopaekhmpsepnekhtthicaepninkarbnthukkhwamcawa wtthunnkhuxxair miruprangepnxyangir ephuxcanamaichinxnakht odynaipepriybethiybkhwamaetktangknkhxngwtthutang karthicarucawtthuhnung idxyangthuktxngxasyekhruxkhayinsmxngehlanixyangkhadimidephuxthicaaeplphl aebngpn aelabnthukkhxmuliwinnganwicykhxngednnisaelakhna mikarichkarsrangphaphsmxngody fMRI ephuxepriybethiybkaraeplphlkhxngruprangthiehnthangtarahwangkhxngmnusyaelakhxnglingaemkaekhk singthiidkhnphbxyanghnunginnganwicykkhuxwa miekhtthithangankhabekiywknrahwangkaraeplphlkhxngruprangaelakarekhluxnihwinsmxng aetwakhwamkhabekiywknmimakkwainmnusy khuxtxngmikarthanganprasanknmakkwarahwangthangsyyandanlangaelathangsyyandanhlng sungbxkepnnywa smxngmnusymiwiwthnakarinradbthisungkwaephuxthakaraeplphlephuxthicaichxupkrntang 14 khwamsakhythangkhlinik aekikhphawaimruibhna aekikh phawaimruibhna Prosopagnosia hruxphawabxdibhna face blindness epnkhwamphidpktimiphlepnkhwamimsamarthrucahruxaeykaeyaibhnakhxngkhntang aelaxaccaekidkhunkbkhwamesiyhayinkarrucawtthusingkhxngxun rwmthngsthanthi rthynt aelaxarmnkhwamrusuk khxngphuxun 15 okrsaelakhnaidthanganwicyinpi kh s 1969 thiphbwa esllbangphwktxbsnxngtxkarehnmuxkhxling aelaidtngkhxsngektwa twkratunthiihlingdu yingehmuxnmuxkhxnglingethair esllehlannkcaekidkarthanganmakkhunethann hlngcaknn inpi kh s 1972 okrsaelakhnakphbwa esllbangphwkin IT txbsnxngtxibhna aemwacayngsrupyngimidxyangeddkhad esllthitxbsnxngtxibhnain ITC bangkhrngeriykwa Grandmother cell echuxknwamibthbaththisakhyinkarrucaibhnainling 16 hlngcakminganwicyxun xikmakmayekiywkbphlkhxngkhwamesiyhaytx ITC inling cungmismmtithankhunwa rxyorkhin IT inmnusymiphlepnphawaimruibhna khux inpi kh s 1971 ruebnsaelaebnsnthanganwicykbkhnikhthimiphawaimruibhnakhnhnung aelwphbwa khnikhsamarthbxkchuxkhxngwtthusamythiehnidxyangimmipyhaxair aetethximsamarthrucaibhna hlngcakthiebnsnaelakhnathakarchnsutrsphhnung kekidkhwamchdecnwa rxyorkhcaephaainrxynunrupkraswysikkhwa sungepnswnkhxngrxynunklibkhmbswnlang epnehtuhlkkhxngphawani 17 khxsngektthithaihekidkhwamekhaicluksungyingkhunphbinkhnikhthichuxwa L H innganwicykhxng extkhxffaelakhnainpi kh s 1991 khux chaywy 40 pikhnhnungekidxubtiehturthyntemuxxayu 18 pi aelaidrbbadecbxyangrunaernginsmxng hlngcakthifuntw L H imsamarthrucaibhnahruxaeykaeyaibhnaid imsamarthaemaetcarucaibhnakhxngbukhkhlkhunekhythiruckkxnxubtiehtu L H aelakhnikhphawaimruibhnaxun odypktisamarthichchiwitthiekuxbepnpktiaemwacaprakxbdwyphawani khux L H yngsamarthrucawtthusamythw ip yngruckkhwamaetktangelk nxy khxngruprang xayu ephs aelakhwamnachxbickhxngibhna aetwa ephuxaeykaeyabukhkhltang ekhatxngichtwchwythiimekiywkbibhnaxun echn khwamsung siphm aelaesiyng karsrangphaphinsmxngodyethkhnikhthiimtxngxasykarecaakarphatdphbwa phawaimruibhnakhxng L H miehtumacakkhwamesiyhayinsmxngklibkhmbsikkhwa sungprakxbdwyrxynunklibkhmbswnlang 18 khwambkphrxnginkhwamcaxasykhwamhmay aekikh orkhbangchnidechn orkhxlisemxr hrux semantic dementia orkhkhwamcaxasykhwamhmayesuxm epnorkhthikahndodykhwamthikhnikhimsamarthprasanrwbrwmkhwamcaxasykhwamhmay semantic memories miphlthaihkhnikhimsamarthekidkhwamcaihm imruewlathiphanip aelamipyhathangkarrbruthisakhydanxun inpi kh s 2001 aechnaelakhnathakarwicyodyich MRI aebbwdprimatr volumetric MRI ephuxthicakahndkhakhwamesiyhaythnginsmxngodythw ip aelainsmxngklibkhanginkhnikhorkhkhwamcaxasykhwamhmayesuxm aelakhnikhorkhxlisemxr mikareluxkaelayunynphurbkarthdlxngthangkhlinikwa epnkhnikhinradbklang khxngorkhthngsxng aelamikaryunynephimkhunipxikdwyphankarthdsxbthangcitprasath nganwicyniimaeykaeya ITC aelakhxrethksklibkhmbswnklang middle temporal cortex ephraawa mkcaimmikhwamchdecn khxngkhxbekhtrahwangkhxrethksthngsxngnn 19 nganwicynnsrupwa sahrborkhxlisemxr khwamesiyhayin ITC imichsaehtuhlkkhxngorkh ephraawainkhnikhthirbkarthdlxng khwamesiyhaythichdecnxyuthi entorhinal cortex xamikdala aela hipopaekhmps swnsahrborkhkhwamcaxasykhwamhmayesuxm mikarsrupwa rxynunklibkhmbthngswnklangaelaswnlangxacmibthbaththisakhy inkhwamthrngcaxasykhwamhmay dngnn cungepnkhwamochkhimdiwa khnikhthimismxngklibkhmbswnhna anterior esiyhay kcamikhwamcaxasykhwamhmayesuxm nganwicyniaesdnghlkthanwa aemwaorkhthngsxngnibxykhrngmkcarwmxyuinpraephthediywkn aetcring aelw epnorkhthiaetktangknxyangmak aelamikhwamesiyhaythangsmxngthiaetktangkn 19 phawaesiykarralukrusiehtusmxng aekikh twxyangkarehnkhxngbukhkhlthimiphawaesiykarralukrusiehtusmxng phawaesiykarralukrusiehtusmxng cerebral achromatopsia 20 epnkhwamphidpktithangkaraephthymixakarepnkhwamimsamarththicarbrusi aelaimsamarthehnidxyangchdecnphxinradbaesngthisung phawaesiykarralukrusiaetkaenid Congenital achromatopsia mixakarehmuxnkn aetekidephraaxasykrrmphnthu epriybethiybkbphawaesiykarralukrusiehtusmxng sungekidkhuncakkhwamesiyhayinsmxng ekhthnunginsmxngthimikhadimidinkaraeykaeyasikkhux ITCinpi kh s 1995 ehywudaelakhnathanganwicyhmaycaaesdngswnkhxngsmxngthisakhytxphawaesiykarralukrusiinling aetwa nganwicynnaehlaidaesdngekhtinsmxngthiekiywkhxngkbphawaesiykarralukrusiinmnusydwy innganwicyni lingklumhnung klum AT mismxngklibkhmbdanhnaekhtsayta V4 thukthaihesiyhay aelaxikklumhnung klum MOT micudthiechuxmtxknrahwangsmxngklibthaythxyaelasmxngklibkhmbthukthaihesiyhay sungepncudediywknkbtaaehnngkaohlkmnusythiesiyhayemuxmiphawaesiykarralukrusi ngannisrupwa klum MOT imekidkhwamesiyhayinkarehnsi inkhnathiklum AT ekidkhwamesiyhayxyangrunaernginkarehnsi sungtrngkbmnusythiekidphawaesiykarralukrusi 21 nganwicyniaesdngwa smxngklibkhmbekhtkhanghnaekhtsayta V4 sungprakxbdwy ITC mibthbathsakhyinphawaesiykarralukrusirupxun aekikh taaehnngkhxngrxynunklibkhmbswnlangmisiaedng smxngmnusymxngcakdanlang smxngmnusymxngcakdankhang rxynunhlk mipay siribrm mxngcakdankhang rxynunklibkhmbswnlangxyutrngklangdanlang mipay duephim aekikhkhxrethkssayta phawaimruibhnaechingxrrthaelaxangxing aekikh 1 0 1 1 1 2 1 3 Kandel Eric R Schwartz James H Jessell Thomas M Siegelbaum Steven A Hudspeth A J 2013 Principles of Neural Science Fifth Edition United State of America McGraw Hill p 622 626 ISBN 978 0 07 139011 8 BRUCE GOLDMAN APRIL 16 2013 Scientists pinpoint brain s area for numeral recognition Stanford School of Medicine khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2013 04 23 subkhnemux 2013 04 30 Check date values in date help 3 0 3 1 Kolb B Whishaw I Q 2014 An Introduction to Brain and Behavior Fourth ed New York NY Worth pp 282 312 CS1 maint multiple names authors list link Gross C G 2008 Inferior temporal cortex Scholarpedia 3 12 7294 Pessoa L Tootell R Ungerleider L G 2008 Visual Perception of Objects Fundamental Neuroscience Academic Press Third Edition Unknown parameter coauthors ignored author suggested help CS1 maint multiple names authors list link Denys Katrien 10 March 2004 The Processing of Visual Shape in the Cerebral Cortex of Human and Nonhuman Primates A Functional Magnetic Resonance Imaging Study The Journal of Neuroscience 24 10 2551 2565 doi 10 1523 JNEUROSCI 3569 03 2004 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Kolb Bryan Whishaw Ian Q 2014 An Introduction to Brain and Behavior Fourth ed New York NY Worth pp 282 312 CS1 maint multiple names authors list link Mishkin Mortimer Ungerleider Leslie G 1982 Two Cortical Visual Systems PDF The MIT Press Cite journal requires journal help CS1 maint multiple names authors list link Creem Sarah H Proffitt Dennis R 2001 Defining the cortical visual systems What Where and How PDF Acta Psychologica 107 43 68 CS1 maint multiple names authors list link 10 0 10 1 Gross C G 2007 Single Neuron Studies of Inferior Temporal Cortex Neuropsychologia doi 10 1016 j neuropsychologia 2007 11 009 Dragoi Valentin Chapter 15 Visual Processing Cortical Pathways subkhnemux 12 November 2013 Gross Charles Inferior temporal cortex subkhnemux 12 November 2013 Spiridon M Fischl B amp Kanwisher N 2006 Location and spatial profile of category specific regions in human extrastriate cortex Human Brain Mapping 27 77 89 Denys aelakhna March 10 2004 The Processing of Visual Shape in the Cerebral Cortex of Human and Nonhuman Primates A Functional Magnetic Resonance Imaging Study PDF The Journal of Neuroscience 2551 2565 Explicit use of et al in last help Nakayama Ken Prosopagnosia Research The President and Fellows of Harvard College subkhnemux 9 November 2013 Gross Charles 29 January 1992 Representation of Visual Stimuli in Inferior Temporal Cortex PDF Philosophical Transactions Biological Sciences Processing the Facial Image 335 1273 3 10 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2013 12 25 subkhnemux 9 November 2013 Meadows J C 1974 The anatomical basis of prosopagnosia PDF Journal of Neurology Neurosurgery and Psychiatry 37 489 501 subkhnemux 10 November 2013 Purves D 2001 Lesions in the Temporal Association Cortex Deficits in Recognition Neuroscience 2nd Edition subkhnemux 11 November 2013 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help 19 0 19 1 Chan D April 2001 Patterns of temporal lobe atrophy in semantic dementia and Alzheimer s disease Annals of Neurology 49 4 433 42 subkhnemux 11 November 2013 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help phawaesiykarralukrusiehtusmxng cerebral achromatopsia khuxkhwambkphrxnginkarrbrusi thiekidkhunephraarxyorkhinsiksmxngdanhnunghruxsxngdan thirxytxkhxngsmxngklibkhmbaelasmxngklibthaythxy temporo occipital junction Heywood C A 1995 Cerebral Achromatopsia in Monkeys PDF European Journal of Neuroscience 7 1064 1073 subkhnemux 11 November 2013 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help aehlngkhxmulxun aekikhkhxmmxns miphaphaelasuxekiywkb rxynunsmxngklibkhmbdanlangrxynunklibkhmbswnlangthimhawithyalyyuthahekhathungcak https th wikipedia org w index php title rxynunsmxngklibkhmbdanlang amp oldid 9659437, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม