fbpx
วิกิพีเดีย

ภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน (อังกฤษ: global warming) หมายถึงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ค่าผิดปรกติของอุณหภูมิเฉลี่ยที่ผิวโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2403–2549 เทียบกับอุณหภูมิระหว่าง พ.ศ. 2504–2533
ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิผิวพื้นที่ผิดปกติที่เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ. 2542 ถึง พ.ศ. 2551

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นับถึง พ.ศ. 2548 อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้น 0.74 ± 0.18 องศาเซลเซียส ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า “จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 2490) ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นผลในรูปของปรากฏการณ์เรือนกระจก” ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่าง เช่น ความผันแปรของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์และการระเบิดของภูเขาไฟ อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อการเพิ่มอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมจนถึง พ.ศ. 2490 และมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการลดอุณหภูมิหลังจากปี 2490 เป็นต้นมา ข้อสรุปพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองโดยสมาคมและสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า 30 แห่ง รวมทั้งราชสมาคมทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญของประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะมีความเห็นโต้แย้งกับข้อสรุปของ IPCC อยู่บ้าง แต่เสียงส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกโดยตรงเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้

แบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศที่สรุปโดย IPCC บ่งชี้ว่าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2544–2643) ค่าตัวเลขดังกล่าวได้มาจากการจำลองสถานการณ์แบบต่าง ๆ ของการแผ่ขยายแก๊สเรือนกระจกในอนาคต รวมถึงการจำลองค่าความไวภูมิอากาศอีกหลากหลายรูปแบบ แม้การศึกษาเกือบทั้งหมดจะมุ่งไปที่ช่วงเวลาถึงเพียงปี พ.ศ. 2643 แต่ความร้อนจะยังคงเพิ่มขึ้นและระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายสหัสวรรษ แม้ว่าระดับของแก๊สเรือนกระจกจะเข้าสู่ภาวะเสถียรแล้วก็ตาม การที่อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลเข้าสู่สภาวะดุลยภาพได้ช้าเป็นเหตุมาจากความจุความร้อนของน้ำในมหาสมุทรซึ่งมีค่าสูงมาก

การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคาดว่าทำให้เกิดภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่ง (extreme weather) ที่รุนแรงมากขึ้น ปริมาณและรูปแบบการเกิดหยาดน้ำฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบอื่น ๆ ของภาวะโลกร้อนได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผลิตผลทางเกษตร การเคลื่อนถอยของธารน้ำแข็ง การสูญพันธุ์พืช-สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งการกลายพันธุ์และแพร่ขยายโรคต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ได้แก่ปริมาณของความร้อนที่คาดว่าจะเพิ่มในอนาคต ผลของความร้อนที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดกับแต่ละภูมิภาคบนโลกว่าจะแตกต่างกันอย่างไร รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ แทบทุกประเทศได้ลงนามและให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ซึ่งมุ่งประเด็นไปที่การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก แต่ยังคงมีการโต้เถียงกันทางการเมืองและการโต้วาทีสาธารณะไปทั่วทั้งโลกเกี่ยวกับมาตรการว่าควรเป็นอย่างไร จึงจะลดหรือย้อนกลับความร้อนที่เพิ่มขึ้นของโลกในอนาคต หรือจะปรับตัวกันอย่างไรต่อผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้น[ต้องการอ้างอิง]

คำจำกัดความ

คำว่า “ภาวะโลกร้อน” เป็นคำจำเพาะคำหนึ่งของอุบัติการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก โดยที่ "การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ" มีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในทุกช่วงเวลาของโลก รวมทั้งเหตุการณ์ปรากฏการณ์โลกเย็นด้วย โดยทั่วไป คำว่า "ภาวะโลกร้อน" จะใช้ในการอ้างถึงสภาวะที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และมีความเกี่ยวข้องกระทบต่อมนุษย์ ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ใช้คำว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Climate Change) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และใช้คำว่า "การผันแปรของภูมิอากาศ" (Climate Variability) สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอื่น ส่วนคำว่า “ภาวะโลกร้อนจากกิจกรรมมนุษย์” (anthropogenic global warming) มีที่ใช้ในบางคราวเพื่อเน้นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุอันเนื่องมาจากมนุษย์

สาเหตุ

 
องค์ประกอบของแรงปล่อยรังสี (radiative forcing) ณ ขณะปัจจุบันที่ประเมินค่าโดยรายงานการประเมินค่าฉบับที่ 4 ของ IPCC
 
คาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงเมื่อ 400,000 ปีก่อน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาได้เปลี่ยนวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า “วัฏจักรมิลานโควิทช์” นั้น เชื่อกันว่าเป็นตัวกำหนดวงรอบ 100,000 ปีของวัฏจักรยุคน้ำแข็ง
 
การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ การวัดคาร์บอนไดออกไซด์รายเดือนแสดงให้เห็นความผันผวนเล็กน้อยตามฤดูกาลระหว่างปีที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จำนวนการเพิ่มขึ้นสูงสุดของแต่ละปีเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือและลดลงในช่วงการเพาะปลูกซึ่งพืชที่เพาะปลูกดึงคาร์บอนไดออกไซด์บางส่วนออกจากบรรยากาศ

สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแรงกระทำจากภายนอก ซึ่งรวมถึงการผันแปรของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ (แรงกระทำจากวงโคจร) การระเบิดของภูเขาไฟ และการสะสมของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ รายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุของความร้อนที่เพิ่มขึ้นของโลกยังคงเป็นประเด็นการวิจัยที่มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี มีความเห็นร่วมทางวิทยาศาสตร์ (scientific consensus) บ่งชี้ว่า ระดับการเพิ่มของแก๊สเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดนับแต่เริ่มต้นยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา สาเหตุข้อนี้มีความชัดเจนมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีข้อมูลมากพอสำหรับการพิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีสมมุติฐานอื่นในมุมมองที่ไม่ตรงกันกับความเห็นร่วมทางวิทยาศาสตร์ข้างต้น ซึ่งนำไปใช้เพื่ออธิบายเหตุการณ์ที่อุณหภูมิมีค่าสูงขึ้น สมมุติฐานหนึ่งในนั้นเสนอว่า ความร้อนที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลจากการผันแปรภายในของดวงอาทิตย์

ผลกระทบจากแรงดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในฉับพลันทันใด เนื่องจาก “แรงเฉื่อยของความร้อน” (thermal inertia) ของมหาสมุทรและการตอบสนองอันเชื่องช้าต่อผลกระทบทางอ้อมทำให้สภาวะภูมิอากาศของโลก ณ ปัจจุบันยังไม่อยู่ในสภาวะสมดุลจากแรงที่กระทำ การศึกษาเพื่อหา “ข้อผูกมัดของภูมิอากาศ” (Climate commitment) บ่งชี้ว่า แม้แก๊สเรือนกระจกจะอยู่ในสภาวะเสถียรในปี พ.ศ. 2543 ก็ยังคงมีความร้อนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.5 องศาเซลเซียสอยู่ดี

แก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ

ดูบทความหลักที่: ปรากฏการณ์เรือนกระจก

ปรากฏการณ์เรือนกระจก ค้นพบโดยโจเซฟ ฟูเรียร์ เมื่อ พ.ศ. 2367 และได้รับการตรวจสอบเชิงปริมาณโดยสวานเต อาร์รีเนียส ในปี พ.ศ. 2439 กระบวนการเกิดขึ้นโดยการดูดซับและการปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดโดยแก๊สเรือนกระจกเป็นตัวทำให้บรรยากาศและผิวโลกร้อนขึ้น

การเกิดผลกระทบของปรากฏการณ์เรือนกระจกดังกล่าวไม่เป็นที่ถกเถียงกันแต่อย่างใด เพราะโดยธรรมชาติแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้นนั้นจะมีค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส อยู่แล้ว ซึ่งถ้าไม่มี มนุษย์ก็จะอยู่อาศัยไม่ได้ ประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่ว่าความแรงของปรากฏการณ์เรือนกระจกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อกิจกรรมของมนุษย์ไปเพิ่มความเข้มของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ

แก๊สเรือนกระจกหลักบนโลกคือ ไอระเหยของน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากถึงประมาณ 30-60% (ไม่รวมก้อนเมฆ) คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการอีกประมาณ 9–26% แก๊สมีเทน (CH4) เป็นตัวการ 4–9% และโอโซนอีก 3–7% ซึ่งหากนับโมเลกุลต่อโมเลกุล แก๊สมีเทนมีผลต่อปรากฏการณ์เรือนกระจกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ความเข้มข้นน้อยกว่ามาก ดังนั้นแรงการแผ่ความร้อนจึงมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของคาร์บอนไดออกไซด์ และยังมีแก๊สอื่นอีกที่เกิดตามธรรมชาติแต่มีปริมาณน้อยมาก หนึ่งในนั้นคือ ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ เช่นเกษตรกรรม ความเข้มในบรรยากาศของ CO2 และ CH4 เพิ่มขึ้น 31% และ 149 % ตามลำดับนับจากการเริ่มต้นของยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงประมาณ พ.ศ. 2290 (ประมาณปลายรัชสมัยพระบรมโกศฯ) เป็นต้นมา ระดับอุณหภูมิเหล่านี้สูงกว่าอุณหภูมิของโลกที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในช่วง 650,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ได้มาจากแกนน้ำแข็งที่เจาะมาได้ และจากหลักฐานทางธรณีวิทยาด้านอื่นก็ทำให้เชื่อว่าค่าของ CO2 ที่สูงในระดับใกล้เคียงกันดังกล่าวเป็นมาประมาณ 20 ล้านปีแล้ว การเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel) มีส่วนเพิ่ม CO2 ในบรรยากาศประมาณ 3 ใน 4 ของปริมาณ CO2 ทั้งหมดจากกิจกรรมมนุษย์ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะการทำลายป่าเป็นส่วนใหญ่

ความเข้มของปริมาณ CO2 ที่เจือปนในบรรยากาศปัจจุบันมีประมาณ 383 ส่วนในล้านส่วนโดยปริมาตร (ppm) ประมาณว่าปริมาณ CO2 ในอนาคตจะสูงขึ้นอีกจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน อัตราการเพิ่มขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการพัฒนาของตัวธรรมชาติเอง แต่อาจขึ้นอยู่กับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก รายงานพิเศษว่าด้วยการจำลองการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Special Report on Emissions Scenarios) ของ IPCC ได้จำลองว่าปริมาณ CO2 ในอนาคตจะมีค่าอยู่ระหว่าง 541 ถึง 970 ส่วนในล้านส่วน ในราวปี พ.ศ. 2643 ด้วยปริมาณสำรองของเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังคงมีเพียงพอในการสร้างสภาวะนั้น และยังสามารถเพิ่มปริมาณขึ้นได้อีกเมื่อเลยปี 2643 ไปแล้ว ถ้าเรายังคงใช้ถ่านหิน น้ำมันดิน น้ำมันดินในทราย หรือมีเทนก้อน (methane clathratesmethane clathrates เป็นแก๊สมีเทนที่ฝังตัวในผลึกน้ำแข็งในสัดส่วนโมเลกุลมีเทน:โมเลกุลน้ำ = 1 : 5.75 เกิดใต้ท้องมหาสมุทรที่ลึกมาก) ต่อไป

การป้อนกลับ

ผลกระทบจากตัวกระทำที่สร้างแรงในบรรยากาศมีความซับซ้อนตามกระบวนการป้อนกลับหลายแบบ

หนึ่งในผลการป้อนกลับที่เด่นชัดหลายแบบดังกล่าวสัมพันธ์กับการระเหยของน้ำ กรณีความร้อนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของแก๊สเรือนกระจกที่มีอายุยืนยาว เช่น CO2 ทำให้น้ำระเหยปะปนในบรรยากาศมากขึ้น และเมื่อไอน้ำเองก็เป็นแก๊สเรือนกระจกชนิดหนึ่งด้วย จึงทำให้บรรยากาศมีความร้อนเพิ่มขึ้นไปอีกซึ่งเป็นการป้อนกลับไปทำให้น้ำระเหยเพิ่มขึ้นอีก เป็นรอบ ๆ เรื่อยไปดังนี้จนกระทั่งระดับไอน้ำบรรลุความเข้มถึงจุดสมดุลขั้นใหม่ซึ่งมีผลต่อปรากฏการณ์เรือนกระจกมากกว่าลำพัง CO2 เพียงอย่างเดียว แม้กระบวนการป้อนกลับนี้จะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาณความชื้นสัมบูรณ์ในบรรยากาศ แต่ความชื้นสัมพัทธ์จะยังคงอยู่ในระดับเกือบคงที่และอาจลดลงเล็กน้อยเมื่ออากาศอุ่นขึ้น ผลการป้อนกลับนี้จะเปลี่ยนกลับคืนได้แต่เพียงช้า ๆ เนื่องจาก CO2 มีอายุขัยในบรรยากาศ (atmospheric lifetime) ยาวนานมาก

การป้อนกลับเนื่องจากเมฆกำลังอยู่ในระยะดำเนินการวิจัย มองจากทางด้านล่างจะเห็นเมฆกระจายรังสีอินฟราเรดลงสู่พื้นล่าง ซึ่งมีผลเป็นการเพิ่มอุณหภูมิผิวล่าง ในขณะเดียวกัน หากมองทางด้านบน เมฆจะสะท้อนแสงอาทิตย์และกระจายรังสีอินฟราเรดสู่ห้วงอวกาศจึงมีผลเป็นการลดอุณหภูมิ ผลลัพธ์ของผลต่างของปรากฏการณ์นี้จะมากน้อยต่างกันอย่างไรขึ้นอยู่กับรายละเอียด เช่น ประเภทและความสูงของเมฆ รายละเอียดเหล่านี้มีความยากมากในการสร้างแบบจำลองภูมิอากาศเนื่องจากก้อนเมฆมีขนาดเล็ก กระจัดกระจายและมีช่องว่างระหว่างก้อนมาก อย่างไรก็ดี การป้อนกลับของเมฆมีผลน้อยกว่าการป้อนกลับของไอน้ำในบรรยากาศ และมีผลชัดเจนในแบบจำลองทุกแบบที่นำมาใช้ในรายงานผลการประเมิน IPCC ครั้งที่ 4 (IPCC Fourth Assessment Report (32)

 
แนวโน้มของน้ำแข็งของซีกโลกเหนือ
 
แนวโน้มของน้ำแข็งของซีกโลกใต้
 
ความผันแปรของดวงอาทิตย์ ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

กระบวนการป้อนกลับที่สำคัญอีกแบบหนึ่งคือการป้อนกลับของอัตราส่วนรังสีสะท้อนจากน้ำแข็ง เมื่ออุณหภูมิของโลกเพิ่ม น้ำแข็งแถบขั้วโลกจะมีอัตราการละลายเพิ่ม ในขณะที่น้ำแข็งละลายผิวดินและผิวน้ำจะถูกเปิดให้เห็น ทั้งผิวดินและผิวน้ำมีอัตราส่วนการสะท้อนรังสีน้อยกว่าน้ำแข็งจึงดูดซับรังสีดวงอาทิตย์ไว้ได้มากกว่า จึงทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นป้อนกลับให้น้ำแข็งละลายมากขึ้นและวงจรนี้เกิดต่อเนื่องไปอีกเรื่อย ๆ

การป้อนกลับที่ชัดเจนอีกชนิดหนึ่งได้แก่การปลดปล่อย CO2 และ CH4 จากการละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) เช่นพรุพีท เยือกแข็ง (frozen peat bogs) ในไซบีเรียที่เป็นกลไกที่เพิ่มการอุ่นขึ้นของบรรยากาศ การปลดปล่อยอย่างมหาศาลของแก๊สมีเทนจาก “มีเทนก้อน” สามารถทำให้อัตราการอุ่นเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นไปตาม “สมมุติฐานปืนคลาทเรท” (clathrate gun hypothesis)

ขีดความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนลดต่ำลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากการลดลงของธาตุอาหารในชั้นเมโสเพลาจิก (mesopelagic zone) ประมาณความลึกที่ 100 ถึง 200 เมตร ที่ทำให้การเจริญเติบโตของไดอะตอมลดลงเนื่องจากการเข้าแทนที่ของไฟโตแพลงตอนที่เล็กกว่าและเก็บกักคาร์บอนในเชิงชีววิทยาได้น้อยกว่า

ความผันแปรของดวงอาทิตย์

มีรายงานวิจัยหลายชิ้นแนะว่าอาจมีการให้ความสำคัญกับดวงอาทิตย์ที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนต่ำไป นักวิจัย 2 คนจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก คือ บรูซ เวสต์ และ นิโคลา สกาเฟทตา ได้ประมาณว่าดวงอาทิตย์อาจส่งผลต่อการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกมากถึง 45–50% ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2443–2543 และประมาณ 25–35% ระหว่าง พ.ศ. 2523–2543 รายงานวิจัยของปีเตอร์ สกอต และนักวิจัยอื่นแนะว่าแบบจำลองภูมิอากาศประมาณการเกินจริงเกี่ยวกับผลสัมพัทธ์ของแก๊สเรือนกระจกเมื่อเปรียบเทียบกับแรงจากดวงอาทิตย์ และยังแนะเพิ่มว่าผลกระทบความเย็นของฝุ่นละอองภูเขาไฟและซัลเฟตในบรรยากาศได้รับการประเมินต่ำไปเช่นกัน ถึงกระนั้น กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวก็ยังสรุปว่า แม้จะรวมเอาปัจจัยความไวต่อภูมิอากาศของดวงอาทิตย์มารวมด้วยก็ตาม ความร้อนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2490) ยังนับว่าเป็นผลจากการเพิ่มปริมาณของแก๊สเรือนกระจกเสียมากกว่า

สมมุติฐานที่แตกต่างไปอีกประการหนึ่งกล่าวว่า การผันแปรของอัตราการปล่อยความร้อนออกของดวงอาทิตย์ (solar output) สู่โลก ซึ่งเกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในการเติมสารเคมีในกลุ่มเมฆจาก รังสีคอสมิกในดาราจักร (galactic cosmic rays) อาจเป็นตัวการทำให้เกิดความร้อนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านพ้นไป สมมุติฐานนี้เสนอว่า แรงกระทำจากสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดในการหันเหรังสีคอสมิกที่ส่งผลต่อการก่อตัวของนิวเคลียสในเมฆ และทำให้มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศด้วย

ผลกระทบประการหนึ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการเพิ่มแรงกระทำจากดวงอาทิตย์ คือการที่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์อุ่นขึ้น ในขณะที่ตามทฤษฏีของแก๊สเรือนกระจกแล้วชั้นบรรยากาศนี้ควรจะเย็นลง ผลสังเกตการณ์ที่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2505 พบว่ามีการเย็นตัวลงของชั้นสตราโตสเฟียร์ช่วงล่าง การลดลงของปริมาณโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์มีอิทธิพลต่อการเย็นลงของบรรยากาศมานานแล้ว แต่การลดที่เกิดขึ้นมากโดยชัดเจนปรากฏให้เห็นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา ความผันแปรของดวงอาทิตย์ร่วมกับการระเบิดของภูเขาไฟ อาจมีผลให้เกิดการเพิ่มอุณหภูมิมาตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาถึงประมาณ พ.ศ. 2490 แต่ให้ผลทางการลดอุณหภูมิตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี พ.ศ. 2549 ปีเตอร์ ฟูกัล และนักวิจัยอื่น ๆ จากสหรัฐฯ เยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์พบว่า ดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องสว่างมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในรอบหนึ่งพันปีที่ผ่านมา วัฏจักรของดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างมากขึ้นทำให้โลกอุ่นขึ้นเพียง 0.07% ใน 30 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบนี้จึงมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยมาก ๆ รายงานวิจัยของ ไมค์ ลอควูด และเคลาส์ ฟลอห์ลิช พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลกร้อนกับการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ไม่ว่าจากความผันแปรจากดวงอาทิตย์หรือจากรังสีคอสมิก เฮนริก สเวนมาร์ก และไอกิล ฟริอิส-คริสเตนเซน ผู้สนับสนุนสมมุติฐาน “การถูกเติมสารเคมีลงในกลุ่มเมฆจากรังสีคอสมิกในดาราจักร” ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของลอควูด และ ฟลอห์ลิช

การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

 
ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิผิวโลกในช่วง 2,000 ปี ตามการสร้างขึ้นใหม่แบบต่าง ๆ แต่ละแบบทำให้เรียบขึ้นตามมาตราส่วนทศวรรษ ตัวที่ไม่เรียบของค่ารายปีสำหรับปี พ.ศ. 2547 ใช้วิธีพล็อตที่ต่างกัน

ปัจจุบัน

อุณหภูมิของโลกทั้งบนแผ่นดินและในมหาสมุทรได้เพิ่มขึ้น 0.75 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงปี พ.ศ. 2403 – 2443 ตาม “การบันทึกอุณหภูมิด้วยเครื่องมือ” (instrumental temperature record) การวัดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่มีผลมากนักต่อ “ปรากฏการณ์เกาะความร้อน” นับแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา อุณหภูมิผิวดินได้เพิ่มเร็วขึ้นประมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับการเพิ่มอุณหภูมิของผิวทะเล (0.25 องศาเซลเซียส ต่อทศวรรษ กับ 0.13 องศาเซลเซียส ต่อทศวรรษ) อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศโทรโปสเฟียร์ตอนล่างได้เพิ่มขึ้นระหว่าง 0.12 และ 0.22 องศาเซลเซียส ต่อทศวรรษมาตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เช่นกันจากการวัดอุณหภูมิโดยดาวเทียม เชื่อกันว่าอุณหภูมิของโลกค่อนข้างเสถียรมากกว่ามาตั้งแต่ 1 – 2,000 ปีก่อนถึงปี พ.ศ. 2422 โดยอาจมีการขึ้น ๆ ลง ๆ ตามภูมิภาคบ้าง เช่นในช่วง การร้อนของยุคกลาง (Medieval Warm Period) และ ในยุคน้ำแข็งน้อย (Little Ice Age)

อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มในอัตราที่ช้ากว่าบนแผ่นดินเนื่องจากความจุความร้อนของน้ำที่มากกว่าและจากการสูญเสียความร้อนที่ผิวน้ำจากการระเหยที่เร็วกว่าบนผิวแผ่นดิน เนื่องจากซีกโลกเหนือมีมวลแผ่นดินมากกว่าซีกโลกใต้ ซีกโลกเหนือจึงร้อนเร็วกว่า และยังมีพื้นที่ที่กว้างขวางที่ปกคลุมโดยหิมะตามฤดูกาลที่มีอัตราการสะท้อนรังสีที่ป้อนกลับได้มากกว่า แม้แก๊สเรือนกระจกจะถูกปลดปล่อยในซีกโลกเหนือมากกว่าซีกโลกใต้ แต่ก็ไม่มีผลต่อความไม่ได้ดุลของการร้อนขึ้น เนื่องจากแก๊สกระจายรวมกันได้รวดเร็วในบรรยากาศระหว่างสองซีกโลก

โดยอาศัยการประมาณจากข้อมูลของ “สถาบันกอดดาร์ดเพื่อการศึกษาห้วงอวกาศ" (Goddard Institute for Space Studies) ของนาซา โดยการใช้เครื่องมือวัดแบบต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้และมีใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2400 พบว่าปี พ.ศ. 2548 เป็นปีที่ร้อนที่สุด ร้อนกว่าสถิติร้อนสุดที่บันทึกได้เมื่อ พ.ศ. 2541 เล็กน้อย แต่การประมาณที่ทำโดยองค์การอุตุนิยมโลก (World Meteorological Organization) และหน่วยวิจัยภูมิอากาศสรุปว่า พ.ศ. 2548 ร้อนรองลงมาจาก พ.ศ. 2541

การปลดปล่อยมลพิษจากการกระทำของของมนุษย์ที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่งได้แก่ “ละอองลอย" ซัลเฟต ซึ่งสามารถเพิ่มผลการลดอุณหภูมิโดยการสะท้อนแสงอาทิตย์กลับออกไปจากโลก สังเกตได้จากการบันทึกอุณหภูมิที่เย็นลงในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 2490) แม้การเย็นลงนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการผันแปรของธรรมชาติ เจมส์ เฮนสันและคณะได้เสนอว่าผลของการเผาไหม้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์คือ CO2 และละอองลอยจะหักล้างกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การร้อนขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเกิดจากแก๊สเรือนกระจกที่ไม่ใช่ CO2

นักภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา (Paleoclimatologist) วิลเลียม รัดดิแมนได้โต้แย้งว่าอิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อภูมิอากาศโลกเริ่มมาตั้งแต่ประมาณ 8,000 ปีก่อน เริ่มด้วยการเปิดป่าเพื่อทำกินทางเกษตร และเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว ด้วยการทำการชลประทานเพื่อปลูกข้าวในเอเซีย การแปลความหมายของรูดิแมนจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ขัดแย้งกับข้อมูลแก๊สมีเทน

ตัวแปรภูมิอากาศก่อนยุคมนุษย์

 
เส้นโค้งของอุณหภูมิที่สร้างขึ้นใหม่ ณ ที่สองจุดในแอนตาร์กติกและบันทึกการผันแปรของโลกในก้อนภูเขาน้ำแข็ง วันที่ของเวลาปัจจุบันปรากฏที่ด้านล่างซ้ายของกราฟ

โลกได้ประสบกับการร้อนละเย็นมาแล้วหลายครั้งในอดีต แท่งแกนน้ำแข็งแอนตาร์กติกเมื่อเร็ว ๆ นี้ของ EPICA ครอบคลุมช่วงเวลาไว้ 800,000 ปี รวมวัฏจักรยุคน้ำแข็งได้ 8 ครั้ง ซึ่งนับเวลาโดยการใช้ตัวแปรวงโคจรของโลกและช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งมาเปรียบเทียบกับอุณหภูมิในปัจจุบัน

การเพิ่มอย่างรวดเร็วของแก๊สเรือนกระจกเพิ่มการร้อนขึ้นในยุคจูแรสซิกตอนต้น (ประมาณ 180 ล้านปีก่อน) โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเปิดบ่งชี้ว่าการร้อนขึ้นเกิดทำให้อัตราการกร่อนของหินเพิ่มมากถึง 400% การกร่อนของหินในลักษณะนี้ทำให้เกิดการกักคาร์บอนไว้ในแคลไซต์และโดโลไมต์ไว้ได้มาก ระดับของ CO2 ได้ตกลงสู่ระดับปกติมาได้อีกประมาณ 150,000 ปี

การปลดปล่อยมีเทนโดยกะทันหันจากสารประกอบคลาเทรท (clathrate gun hypothesis) ได้กลายเป็นสมมุติฐานว่าเป็นทั้งต้นเหตุและผลของการเพิ่มอุณหภูมิโลกในระยะเวลาที่นานมากมาแล้ว รวมทั้ง “เหตุการณ์สูญพันธุ์เพอร์เมียน-ไทรแอสซิก” (Permian-Triassic extinction event –ประมาณ 251 ล้านปีมาแล้ว) รวมทั้งการร้อนมากสุดพาลีโอซีน-อีโอซีน (Paleocene-Eocene Thermal Maximum –ประมาณ 55 ล้านปีมาแล้ว)

แบบจำลองภูมิอากาศ

 
การคำนวณภาวะโลกร้อนที่ทำขึ้นก่อน พ.ศ. 2544 จากแบบจำลองต่าง ๆ ที่หลากหลายแบบภายใต้เหตุการณ์จำลองการปลดปล่อย A2 ของ SRES ด้วยสมมุติฐานว่าไม่มีมาตรการลดการปลดปล่อยเลย
 
การกระจายการร้อนของผิวโลกทางภูมิศาสตร์ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2544 – 2553) คำนวณโดยแบบจำลองภูมิอากาศ (HadCM3) โดยตั้งสมมุติฐานสถานการณ์จำลองว่าไม่ทำอะไร ปล่อยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกเป็นไปตามปกติ ในภาพนี้ จะเห็นการเพิ่มอุณหภูมิจะอยู่ที่ 3.0 องศาเซลเซียส
 
บันทึกกระจายเบาบางเหล่านี้แสดงให้เห็นการถดถอยภูเขาน้ำแข็ง ที่กำลังเป็นมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2450 ประมาณปี พ.ศ. 2495 – พ.ศ. 2502 การวัดที่ได้เริ่มขึ้นในช่วงช่วยให้สามารถเฝ้ามองความสมดุลก้อนภูเขาน้ำแข็งได้ รายงานถึง WGMS และ NSIDC

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาภาวะโลกร้อนด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์สำหรับภูมิอากาศ แบบจำลองนี้ใช้หลักการพื้นฐานของพลศาสตร์ของไหล การถ่ายโอนการแผ่รังสี (radiative transfer) และกระบวนการอื่น ๆ โดยต้องทำให้ง่ายขึ้นเนื่องจากขีดจำกัดของกำลังของคอมพิวเตอร์และความซับซ้อนของระบบภูมิอากาศ แบบจำลองนี้พยากรณ์ได้ว่าผลของการเพิ่มแก๊สเรือนกระจกเพิ่มความร้อนแก่ภูมิอากาศจริง แต่อย่างไรก็ดี เมื่อใช้สมมุติฐานเดียวกันนี้กับอัตราแก๊สเรือนกระจกในอนาคต ก็ยังปรากฏให้เห็นถึงอัตราความไวของภูมิอากาศ (climate sensitivity) ที่มีช่วงกว้างมากอยู่

เมื่อรวมความไม่แน่นอนของการเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในอนาคตเข้ากับแบบจำลองภูมิอากาศแล้ว IPCC คาดว่าเมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2643) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มระหว่าง 1.1 องศาเซลเซียส ถึง 6.4 องศาเซลเซียส เทียบได้กับการเพิ่มระหว่าง พ.ศ. 2523 – พ.ศ. 2542 ได้มีการใช้แบบจำลองมาช่วยในการสืบค้นหา “สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเมื่อเร็ว ๆ นี้” โดยการเปรียบเทียบผลการคาดคะเนที่ได้จากแบบจำลองกับผลการสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามธรรมชาติและที่เปลี่ยนเนื่องมาจากกิจกรรมมนุษย์

แบบจำลองภูมิอากาศในปัจจุบันให้ผลค่อนข้างดีจากการเปรียบเทียบกับการสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถจำลองรูปแบบต่าง ๆ ของภูมิอากาศได้หมด แบบจำลองเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายความผันแปรของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างประมาณ พ.ศ. 2453 – พ.ศ. 2488 ได้กระจ่าง ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและจากฝีมือมนุษย์ อย่างไรก็ดี แบบจำลองก็ได้แนะให้เห็นได้ว่า การร้อนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาเกิดจากการแผ่ขยายของแก๊สเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมมนุษย์

แบบจำลองภูมิอากาศโลกเพื่อใช้คาดคะเนภูมิอากาศในอนาคตส่วนใหญ่ จะบังคับให้ใส่เหตุการณ์จำลองแก๊สเรือนกระจกเข้าไปด้วย เนื่องจากอ้างอิงตามรายงานพิเศษว่าด้วยเหตุการณ์จำลองการปลดปล่อย (SRES: Special Report on Emissions Scenarios) ของ IPCC แบบจำลองบางส่วนอาจทำโดยรวมเอาการจำลองวัฏจักรของคาร์บอนเข้ามาด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะได้ผลตอบกลับที่ดี แม้การตอบสนองจะไม่ค่อยแน่นอนนัก (ภายใต้สถานการณ์จำลอง A2 SRES จะให้ผลการตอบสนองของ CO2 แปรค่าเพิ่มขึ้นระหว่าง 20 ถึง 200 ppm) การศึกษาแบบสังเกตการณ์บางชิ้นก็แสดงการป้อนกลับออกมาค่อนข้างดี

เมฆในแบบจำลอง นับเป็นต้นเหตุหลักของความไม่แน่นอนที่ใช้ในปัจจุบัน แม้จะมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหานี้มากอยู่แล้วก็ตาม ขณะนี้ยังคงมีการอภิปรายถกเถียงกันอยู่ว่าแบบจำลองภูมิอากาศได้ละเลยผลป้อนกลับทางอ้อมที่สำคัญและผลป้อนกลับของตัวแปรสุริยะไปหรือไม่

ผลกระทบที่เกิดขึ้นและคาดว่าจะเกิด

แม้การเชื่อมโยงสภาวะภูมิอากาศแบบจำเพาะบางอย่างเข้ากับภาวะโลกร้อนจะทำได้ยาก แต่อุณหภูมิโดยรวมของโลกที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงการถดถอยของธารน้ำแข็ง (glacial retreat) การลดขนาดของอาร์กติก (Arctic shrinkage) และระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของหยาดน้ำฟ้าทั้งปริมาณและรูปแบบอาจทำให้เกิดน้ำท่วมและความแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความถี่และความรุนแรงของลมฟ้าอากาศสุดโต่ง (extreme weather) ที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น ผลแบบอื่น ๆ ก็ยังมีอีกเช่นการเปลี่ยนแปลงปริมาณผลิตผลทางเกษตร การเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำ การลดปริมาณน้ำลำธารในฤดูร้อน การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิดและการเพิ่มของพาหะนำโรค

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็นับว่าเป็นผลส่วนหนึ่งจากภาวะโลกร้อน รายงานฉบับหนึ่งของ IPCC เมื่อปี พ.ศ. 2544 แจ้งว่าการถดถอยของธารน้ำแข็ง การพังทลายของชั้นน้ำแข็งดังเช่นที่ชั้นน้ำแข็งลาร์เสน การเพิ่มระดับน้ำทะเล การเปลี่ยนรูปแบบพื้นที่ฝนตก และการเกิดลมฟ้าอากาศสุดโต่งที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น เหล่านี้นับเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น แม้จะมีการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งด้านรูปแบบที่เกิด ความแรงและความถี่ที่เกิด แต่การระบุถึงสภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนอย่างเฉพาะเจาะจงก็ยังเป็นไปได้ยาก ผลที่คาดคะเนอีกประการหนึ่งได้แก่การขาดแคลนน้ำในบางภูมิภาค และการเพิ่มปริมาณหยาดน้ำฟ้าในอีกแห่งหนึ่ง หรือการเปลี่ยนแปลงปริมาณหิมะบนภูเขา รวมถึงสุขภาพที่เสื่อมลงเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น

การเสียชีวิตเพิ่มขึ้น การแก่งแย่งที่อยู่อาศัย และความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากลมฟ้าอากาศสุดโต่งที่เกิดจากภาวะโลกร้อน อาจยิ่งแย่หนักขึ้นจากการเพิ่มความหนาแน่นของประชากรในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ แม้ในเขตอบอุ่นผลการคาดคะเนบ่งว่าจะได้รับประโยชน์จากภาวะโลกร้อนบ้าง เช่นมีการเสียชีวิตจากความหนาวเย็นลดน้อยลง บทสรุปของผลกระทบที่เป็นไปได้และความเข้าใจล่าสุดปรากฏในรายงานผลการประเมินฉบับที่ 3 ของ IPPC โดยกลุ่มทำงานคณะที่ 2 (IPCC Third Assessment Report), สรุปรายงานการประเมินผลกระทบฉบับที่ 4 (IPCC Fourth Assessment Report) ที่ใหม่กว่าของ IPCC รายงานว่ามีหลักฐานที่สังเกตเห็นได้ของพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงมากขึ้นในเขตมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2513 ซึ่งสัมพันธ์กับการเพิ่มอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ทว่าการตรวจจับเพื่อดูแนวโน้มในระยะยาวมีความยุ่งยากซับซ้อนมากเนื่องจากคุณภาพของข้อมูลที่ได้จากการเก็บตามปกติของการสังเกตการณ์โดยดาวเทียม บทสรุประบุว่ายังไม่มีแนวโน้มที่เห็นได้โดยชัดเจนในการประมาณจำนวนพายุหมุนเขตร้อนโดยรวมของทั้งโลก

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีก ได้แก่การเพิ่มระดับน้ำทะเลจาก 110 มิลลิเมตรไปเป็น 770 มิลลิเมตร ระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2643, ผลกระทบต่อเกษตรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น, การหมุนเวียนกระแสน้ำอุ่นที่ช้าลงหรืออาจหยุดลง, การลดลงของชั้นโอโซน, การเกิดพายุเฮอร์ริเคนและเหตุการณ์ลมฟ้าอากาศสุดโต่งที่รุนแรงมากขึ้น, ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำทะเลลดลง และการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ เช่น มาลาเรียและไข้เลือดออก การศึกษาชิ้นหนึ่งทำนายว่าจะมีสัตว์และพืชจากตัวอย่าง 1,103 ชนิดสูญพันธุ์ไประหว่าง 18% ถึง 35% ภายใน พ.ศ. 2593 ตามผลการคาดคะเนภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการสูญพันธุ์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในช่วงที่ผ่านมายังมีน้อยมาก และหนึ่งในงานวิจัยเหล่านี้ระบุว่า อัตราการสูญพันธุ์ที่คาดการณ์กันไว้นี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง

เศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์บางคนพยายามที่จะประมาณค่าความเสียหายรวมอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทั่วโลก การประมาณค่าดังกล่าวยังไม่สามารถไปถึงข้อสรุปที่ชัดเจนได้ ในการสำรวจการประมาณค่า 100 ครั้ง มูลค่าความเสียหายเริ่มตั้งแต่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคาร์บอนหนึ่งตัน (tC) (หรือ 3 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตัน) ไปจนถึง 350 เหรียญฯ ต่อคาร์บอนหนึ่งตัน (หรือ 95 เหรียญฯ ต่อคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตัน) โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 43 เหรียญฯ ต่อคาร์บอนหนึ่งตัน (12 เหรียญฯ ต่อคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งตัน) รายงานที่ตีพิมพ์แพร่หลายมากชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของผลกระทบทางเศรษฐกิจคือ “สเติร์นรีวิว” ได้แนะว่าภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่งอาจลดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของโลกลงได้ถึง 1% และในกรณีสถานการณ์จำลองที่แย่ที่สุดคือค่าการบริโภครายบุคคลของโลก (global per capita consumption) อาจลดลงถึง 20% วิธีวิจัยของรายงาน ข้อแนะนำและข้อสรุปถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่กล่าวถึงสมมุติฐานการสอบทานของการให้ค่าส่วนลดและการเลือกเหตุการณ์จำลอง ในขณะที่คนอื่น ๆ สนับสนุนความพยายามในการแจกแจงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจแม้จะไม่ได้ตัวเลขที่ถูกต้องออกมาก็ตาม

ในข้อสรุปค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของผู้ประกัน ผู้ประกันใหม่และธนาคารเกี่ยวกับความเสียหายจากสถานการณ์ลมฟ้าอากาศที่เพิ่มมากขึ้น ในภาคเศรษฐกิจอื่นก็มีทีท่าที่จะประสบความยากลำบากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รวมทั้งการเกษตรกรรมและการขนส่งซึ่งตกอยู่ในภาวะการเสี่ยงเป็นอย่างมากทางเศรษฐกิจ

ความมั่นคง

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (Center for Strategic and International Studies) และ ศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกา (Center for a New American Security) ได้ตีพิมพ์รายงานเน้นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อความมั่นคงของชาติ ผลกระทบต่อความมั่นคงดังกล่าวรวมถึงการเพิ่มการแข่งขันทางทรัพยากรระหว่างประเทศ การอพยพของผู้คนจำนวนมหาศาลจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ความท้าทายต่อการรวมตัวกันของประเทศสำคัญที่เนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และจากผลกระทบต่อเนื่องของปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ความเสี่ยงต่อการใช้อาวุธในการสู้รบกันรวมทั้งความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางอาวุธนิวเคลียร์

การปรับตัวและการบรรเทา

ดูบทความหลักที่: พิธีสารเกียวโต

การที่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเห็นพ้องต้องกันว่าอุณหภูมิของโลกจะร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ชาติต่าง ๆ บริษัทและบุคคลต่าง ๆ จำนวนมากเริ่มลงมือปฏิบัติเพื่อหยุดการร้อนขึ้นของโลกหรือหาวิธีแก้ไขอย่างจริงจัง นักสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มสนับสนุนให้มีปฏิบัติการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน มีหลายกลุ่มที่ทำโดยผู้บริโภค รวมทั้งชุมชนและองค์การในภูมิภาคต่าง ๆ มีการแนะนำว่าให้มีการกำหนดโควตาการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยอ้างว่าการผลิตมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการปลดปล่อย CO2

ในภาคธุรกิจก็มีแผนปฏิบัติการเพื่อตอบสนองภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและการมุ่งใช้พลังงานทางเลือก นวัตกรรมสำคัญชิ้นหนึ่งได้แก่การพัฒนาระบบการซื้อแลกการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก (Emissions trading) โดยบริษัทกับรัฐบาลร่วมกันทำความตกลงเพื่อลดหรือเลิกการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้อยู่ในจำนวนที่กำหนดหรือมิฉะนั้นก็ใช้วิธี “ซื้อเครดิต” จากบริษัทอื่นที่ปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่ำกว่าปริมาณกำหนด

ข้อตกลงแรก ๆ ของโลกว่าด้วยการต่อสู้เพื่อลดแก๊สเรือนกระจกคือ “พิธีสารเกียวโต” ซึ่งเป็นการแก้ไข “กรอบงานการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (UNFCCC) ซึ่งเจรจาต่อรองและตกลงกันเมื่อ พ.ศ. 2540 ปัจจุบันพิธีสารดังกล่าวครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 160 ประเทศและรวมปริมาณการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากกว่า 65% ของทั้งโลก มีเพียงสหรัฐอเมริกาและคาซัคสถานสองประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากที่สุดในโลก สนธิสัญญานี้จะหมดอายุในปี พ.ศ. 2555 และได้มีการเจรจาระหว่างชาติที่เริ่มเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 เพื่อร่างสนธิสัญญาในอนาคตเพื่อใช้แทนฉบับปัจจุบัน

ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อ้างว่าพิธีสารเกียวโตไม่ยุติธรรมและวิธีที่ใช้นั้นไม่ได้ผลในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ประเทศสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเพราะยังมีการยกเว้นให้ประเทศอื่น ๆ ในโลกมากกว่า 80% ของประเทศที่ลงนามรวมทั้งหมด ประเทศที่เป็นศูนย์รวมประชากรที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ จีน และ อินเดีย แต่กระนั้น ก็ยังมีรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากในสหรัฐฯ ที่ริเริ่มโครงการรณรงค์วางแนวปฏิบัติของตนเองให้เป็นไปตามพิธีสารเกียวโต ตัวอย่างเช่น “การริเริ่มแก๊สเรือนกระจกภูมิภาค” ซึ่งเป็นโปรแกรมการหยุดและซื้อเครดิตการปล่อยแก๊สเรือนกระจกระดับรัฐซึ่งประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ จัดตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2548

แม้จีนและอินเดียจะได้รับการยกเว้นในฐานะของประเทศกำลังพัฒนา แต่ทั้งสองประเทศก็ได้ให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโตแล้ว ขณะนี้ จีนอาจปล่อยแก๊สเรือนกระจกรวมต่อปีในปริมาณแซงสหรัฐฯ ไปแล้ว ตามผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าได้เรียกร้องให้ลดการปลดปล่อยเป็นสองเท่าเพื่อต่อสู้กับปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อน

คณะทำงานกลุ่มที่ 3 ของ IPCC รับผิดชอบต่อการทำรายงานเกี่ยวกับการบรรเทาภาวะโลกร้อนและวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและผลดีของแนวทางต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2550 ในรายงานผลการประเมินของ IPCC ได้สรุปว่าไม่มีเทคโนโลยีใดเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถรับผิดชอบแผนบรรเทาการร้อนขึ้นของบรรยากาศในอนาคตได้ทั้งหมด พวกเขาพบว่ามีแนวปฏิบัติที่สำคัญและเทคโนโลยีหลายอย่างในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น การส่งจ่ายพลังงาน การขนส่ง การอุตสาหกรรม และการเกษตรกรรม ที่ควรนำมาใช้เพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ในรายงานประเมินว่า “การเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์” (Carbon dioxide equivalent: CDE) ในภาวะเสถียรระหว่าง 445 และ 710 ส่วนในล้านส่วนในปี พ.ศ. 2573 จะทำให้ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลกแปรอยู่ระหว่างการเพิ่มขึ้น 0.6% และลดลง 3%

การอภิปรายทางสังคมและการเมือง

 
การปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่อหัวในปี พ.ศ. 2543
 
การปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่อประเทศในปี พ.ศ. 2543

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การรับรู้และทัศนคติของสาธารณชนในความห่วงใยต่อสาเหตุและความสำคัญของภาวะโลกร้อนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้สาธารณชนเริ่มตระหนักและมีการอภิปรายทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ยากจน โดยเฉพาะแถบแอฟริกาดูเหมือนจะมีความเสี่ยงมากในการได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทั้งที่ตนเองปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมาน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโตก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากจากประเทศสหรัฐและออสเตรเลีย และทำให้สหรัฐฯ นำมาอ้างเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันในพิธีสารดังกล่าว ในโลกตะวันตก แนวคิดที่ว่ามนุษย์มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในยุโรปมากกว่าในสหรัฐฯ

ประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้จุดประกายให้เกิดการอภิปรายเพื่อชั่งน้ำหนักผลดีจากการจำกัดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกทางอุตสาหกรรมและแก๊สเรือนกระจกกับค่าใช้จ่ายของการจำกัดดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น ได้มีการถกเถียงกันในหลายประเทศเกี่ยวกับประโยชน์ที่จะได้รับกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการรับเอาพลังงานทางเลือกชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน องค์การและบริษัท เช่น "สถาบันวิสาหกิจการแข่งขัน" (Competitive Enterprise Institute) และเอกซ์ซอนโมบิล (ExxonMobil) ได้เน้นสถานการณ์จำลองการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเชิงอนุรักษนิยม ในขณะเดียวกันก็เน้นให้เห็นแนวโน้มค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจของการควบคุมที่เข้มงวดเกินไป ในทำนองเดียวกันก็มีการเจรจาทางสิ่งแวดล้อมหลายฝ่าย และผู้มีบทบาทเด่นในสาธารณะหลายคนพากันรณรงค์ให้เห็นถึงแนวโน้มความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและเสนอให้มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลบางแห่งได้เข้าร่วมโดยการลดขนาดกำลังเครื่องจักรของตนลงในรอบหลายปีที่ผ่านมา หรือเรียกร้องให้มีนโยบายลดภาวะโลกร้อน

อีกประเด็นหนึ่งที่อภิปรายกันก็คือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาใหม่ (newly developed economies) เช่น อินเดียและจีนควรบังคับระดับการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสักเท่าใด คาดกันว่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมของประเทศจีนจะสูงกว่าอัตราการปล่อยของสหรัฐฯ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และบางทีเหตุการณ์นั้นอาจเกิดขึ้นไปแล้วด้วยตามรายงานเมื่อ พ.ศ. 2549 แต่จีนยืนยันว่าตนมีข้อสัญญาในการลดการปลดปล่อยน้อยกว่าที่ประมาณกัน เพราะเมื่อคิดอัตราการปล่อยต่อรายหัวแล้วประเทศของตนยังมีอัตราน้อยกว่าสหรัฐฯ ถึงหนึ่งต่อห้า อินเดียซึ่งได้รับการยกเว้นจากข้อจำกัดรวมทั้งแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่น ๆ หลายแห่งก็ได้ยืนยันอ้างสิทธิ์ในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้ยืนยันต่อสู้ว่าถ้าตนจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก จีนก็ควรต้องรับภาระนี้ด้วย

ประเด็นปัญหาภูมิอากาศที่เกี่ยวข้อง

มีประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากที่ยกขึ้นมาว่าเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน หนึ่งในนั้นคือการเป็นกรดของมหาสมุทร (ocean acidification) การเพิ่ม CO2 ในบรรยากาศเป็นการเพิ่ม CO2 ที่ละลายในน้ำทะเล CO2 ที่ละลายในน้ำทะเลทำปฏิกิริยากับน้ำกลายเป็นกรดคาร์บอนิก ซึ่งทำให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้น ผลการศึกษาประเมินว่า ค่า pH ที่ผิวทะเลเมื่อครั้งเริ่มยุคอุตสาหกรรมมีค่า 8.25 และได้ลดลงมาเป็น 8.14 ในปี พ.ศ. 2547 คาดว่าค่า pH จะลดลงอีกอย่างน้อย 0.14 ถึง 0.5 หน่วย ภายในปี พ.ศ. 2643 เนื่องจากมหาสมุทรดูดซับ CO2 มากขึ้น ทว่าสิ่งมีชีวิตจุลชีพและระบบนิเวศจะดำรงอยู่ได้ในช่วง pH แคบ ๆ ปรากฏการณ์นี้จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการสูญพันธุ์ อันเป็นผลโดยตรงจากการเพิ่มปริมาณ CO2 ในบรรยากาศ ผลกระทบที่ตามมาก็คือห่วงโซ่อาหารจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่อสังคมมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาระบบนิเวศทางทะเลอยู่มาก

โลกหรี่ลง” (Global dimming) หรือการค่อย ๆ ลดลงของความรับอาบรังสี (irradiance) ที่ผิวของโลกอาจมีส่วนในการบรรเทาภาวะโลกร้อนในช่วงหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา) จากปี พ.ศ. 2503 – พ.ศ. 2533 ละอองลอยที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้แถลงด้วยความมั่นใจ 66-90% ว่าละอองลอยโดยมนุษย์ร่วมกับผลของภูเขาไฟมีส่วนทำให้ภาวะโลกร้อนลดลงบางส่วน และว่าแก๊สเรือนกระจกน่าจะทำให้โลกร้อนมากกว่าที่สังเกตได้ถ้าไม่มีปัจจัย โลกหรี่ลง มาช่วย

การลดลงของโอโซน (Ozone depletion) การที่ปริมาณรวมของโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ลดลงอย่างสม่ำเสมอถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงกันอยู่จริง แต่ความเกี่ยวข้องระหว่างปรากฏการณ์ทั้งสองนี้ก็ยังไม่หนักแน่นพอ

ดูเพิ่ม

สร้างบ้านอย่างไรช่วยลดโลกร้อน

อ้างอิง

  1. "Summary for Policymakers" (PDF). Climate Change 2007: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group I to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. 2007-02-05. สืบค้นเมื่อ 2007-02-02. แนวโน้มใน 100 ปี (1906–2005) ที่ 0.74 องศาเซลเซียส [0.56–0.92 องศาเซลเซียส] ได้มากขึ้นกว่าแนวโน้มที่สอดคล้องของ ปี 1901–2000 ของอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 0.6 องศาเซลเซียส [0.4–0.8 องศาเซลเซียส]
  2. Hegerl, Gabriele C. (2007-05-07). "Understanding and Attributing Climate Change" (PDF). Climate Change 2007: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group I to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. p. 690. สืบค้นเมื่อ 2007-05-20.
  3. Ammann, Caspar (2007-04-06). "Solar influence on climate during the past millennium: Results from ransient simulations with the NCAR Climate Simulation Model" (PDF). Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 104 (10): 3713–3718. However, because of a lack of interactive ozone, the model cannot fully simulate features discussed in (44)." "While the NH temperatures of the high-scaled experiment are often colder than the lower bound from proxy data, the modeled decadal-scale NH surface temperature for the medium-scaled case falls within the uncertainty range of the available temperature reconstructions. The medium-scaled simulation also broadly reproduces the main features seen in the proxy records." "Without anthropogenic forcing, the 20th century warming is small. The simulations with only natural forcing components included yield an early 20th century peak warming of ≈0.2 °C (≈1950 AD) , which is reduced to about half by the end of the century because of increased volcanism.
  4. "Don't fight, adapt". National Post. December 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-11-18.
  5. "A guide to facts and fictions about climate change". Royal Society. March 2005. สืบค้นเมื่อ 2007-11-18. อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศก็เห็นด้วยกับประเด็นหลัก
  6. "Beyond the Ivory Tower: The Scientific Consensus on Climate Change". Science Magazine. December 2004. สืบค้นเมื่อ 2008-01-04.
  7. "Climate Change: Basic Information". United States Environmental Protection Agency. 2006-12-14. สืบค้นเมื่อ 2007-02-09.
  8. "United Nations Framework Convention on Climate Change, Article I". United Nations Framework Convention on Climate Change. สืบค้นเมื่อ 2007-01-15.
  9. Berger, A. (2005-12-10). "On the origin of the 100-kyr cycles in the astronomical forcing". Paleoceanography. 20 (4). PA4019. สืบค้นเมื่อ 2007-11-05.
  10. Genthon, C. (1987-10-01). "Vostok Ice Core–Climatic response to CO2 and orbital forcing changes over the last climatic cycle". Nature. 329 (6138): 414–418. สืบค้นเมื่อ 2007-11-05.
  11. Alley, Richard B. (2002). "A northern lead in the orbital band: north-south phasing of Ice-Age events". Quaternary Science Reviews. 21 (1–3): 431–441. สืบค้นเมื่อ 2007-11-05. Unknown parameter |month= ignored (help)
  12. Robock, Alan, and Clive Oppenheimer, Eds., 2003: Volcanism and the Earth’s Atmosphere, Geophysical Monograph 139, American Geophysical Union, Washington, DC, 360 pp.
  13. "Joint science academies' statement: The science of climate change" (ASP). Royal Society. 2001-05-17. สืบค้นเมื่อ 2007-04-01.
  14. "Rising to the climate challenge". Nature. 449 (7164): 755. 2007-10-18. สืบค้นเมื่อ 2007-11-06.
  15. Svensmark, Henrik (2007). "Cosmoclimatology: a new theory emerges" (PDF). Astronomy & Geophysics. 48 (1): 18–24. doi:10.1111/j.1468-4004.2007.48118.x. Unknown parameter |month= ignored (help)
  16. Forster, Piers (2007-02-05). "Changes in Atmospheric Constituents and in Radiative Forcing" (PDF). Climate Change 2007: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group I to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. pp. 188–193. สืบค้นเมื่อ 2007-09-17.
  17. Bard, Edouard; Frank, Martin (2006-06-09). "Climate change and solar variability: What's new under the sun?" (PDF). Earth and Planetary Science Letters. 248 (1–2): 1–14. สืบค้นเมื่อ 2007-09-17.
  18. Meehl, Gerald A. (2005-03-18). "How Much More Global Warming and Sea Level Rise" (PDF). Science. 307 (5716): 1769–1772. doi:10.1126/science.1106663. สืบค้นเมื่อ 2007-02-11.
  19. สันติรักษ์ เสวตอาชา, ปฐมบทแห่งหายนะ ภาวะโลกร้อน. นิตยสารต่วยตูนพิเศษ ฉบับที่ 390 เดือนสิงหาคม 2550 หน้า 21-26
  20. "IPCC WG1 AR4 Report — Chapter 1: Historical Overview of Climate Change Science" (PDF). IPCC WG1 AR4 Report. IPCC. 2007. pp. p97 (pdf page 5 of 36). สืบค้นเมื่อ 2007-10-07.CS1 maint: extra text (link)
  21. Kiehl, J. T.; Kevin E. Trenberth (1997). (PDF). Bulletin of the American Meteorological Society. 78 (2): 197–208. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2008-06-24. สืบค้นเมื่อ 2006-05-01. Unknown parameter |month= ignored (help)
  22. "Water vapour: feedback or forcing?". RealClimate. 6 Apr 2005. สืบค้นเมื่อ 2006-05-01.
  23. Pearson, Paul N.; Palmer, Martin R. (2000-08-17). "Atmospheric carbon dioxide concentrations over the past 60 million years". Nature. 406 (6797): 695–699. doi:10.1038/35021000.
  24. "Summary for Policymakers". Climate Change 2001: The Scientific Basis. Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. 2001-01-20. สืบค้นเมื่อ 2007-01-18.
  25. Tans, Pieter. "Trends in Atmospheric Carbon Dioxide – Mauna Loa". National Oceanic and Atmospheric Administration. สืบค้นเมื่อ 2007-04-28.
  26. Prentice, I. Colin (2001-01-20). . Climate Change 2001: The Scientific Basis. Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2006-12-08. สืบค้นเมื่อ 2007-04-28.
  27. "4.4.6. Resource Availability". IPCC Special Report on Emissions Scenarios. Intergovernmental Panel on Climate Change. สืบค้นเมื่อ 2007-04-28.
  28. Soden, Brian J.; Held, Isacc M. (2005-11-01). "An Assessment of Climate Feedbacks in Coupled Ocean–Atmosphere Models" (PDF). Journal of Climate. 19 (14): 3354–3360. สืบค้นเมื่อ 2007-04-21. Interestingly, the true feedback is consistently weaker than the constant relative humidity value, implying a small but robust reduction in relative humidity in all models on average" "clouds appear to provide a positive feedback in all models
  29. Stocker, Thomas F. (2001-01-20). . Climate Change 2001: The Scientific Basis. Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2017-01-19. สืบค้นเมื่อ 2007-02-11.
  30. Sample, Ian (2005-08-11). "Warming Hits 'Tipping Point'". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2007-01-18.
  31. Buesseler, Ken O. (2007-04-27). "Revisiting Carbon Flux Through the Ocean's Twilight Zone". Science. 316 (5824): 567–570. สืบค้นเมื่อ 2007-11-16.
  32. Scafetta, Nicola; West, Bruce J. (2006-03-09). (PDF). Geophysical Research Letters. 33 (5). doi:10.1029/2005GL025539. L05708. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2016-10-01. สืบค้นเมื่อ 2007-05-08.
  33. Stott, Peter A. (2003-12-03). "Do Models Underestimate the Solar Contribution to Recent Climate Change?" (PDF). Journal of Climate. 16 (24): 4079–4093. doi:10.1175/1520-0442 (2003) 016%3C4079:DMUTSC%3E2.0.CO;2 Check |doi= value (help). สืบค้นเมื่อ 2007-04-16.
  34. Marsh, Nigel; Henrik, Svensmark (2000). (PDF). Space Science Reviews. 94 (1–2): 215–230. doi:10.1023/A:1026723423896. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2008-05-27. สืบค้นเมื่อ 2007-04-17. Unknown parameter |month= ignored (help)
  35. Svensmark, Henrik (2000). (PDF). Space Science Reviews. 93 (1–2): 175–185. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2003-12-29. สืบค้นเมื่อ 2007-09-17. Unknown parameter |month= ignored (help)
  36. . 2001. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2016-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-05-08.
  37. http://www.nas.nasa.gov/About/Education/Ozone/history.html
  38. Foukal, Peter (2006-09-14). "Variations in solar luminosity and their effect on the Earth's climate". Nature. สืบค้นเมื่อ 2007-04-16.
  39. Lockwood, Mike; Claus Fröhlich. "Recent oppositely directed trends in solar climate forcings and the global mean surface air temperature" (PDF). Proceedings of the Royal Society A. doi:10.1098/rspa.2007.1880. สืบค้นเมื่อ 2007-07-21. Our results show that the observed rapid rise in global mean temperatures seen after 1985 cannot be ascribed to solar variability, whichever of the mechanisms is invoked and no matter how much the solar variation is amplified.
  40. http://www.spacecenter.dk/publications/scientific-report-series/Scient_No._3.pdf/view
  41. Working group I, section 3.2.2.2 of the 2007 IPPC page 243
  42. Smith, Thomas M.; Reynolds, Richard W. (2005-05-15). (PDF). Journal of Climate. 18 (12): 2021–2036. ISSN 0894-8755. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2008-12-21. สืบค้นเมื่อ 2007-03-14.
  43. Rowan T. Sutton, Buwen Dong, Jonathan M. Gregory (2007). "Land/sea warming ratio in response to climate change: IPCC AR4 model results and comparison with observations". Geophysical Research Letters. 34. doi:10.1029/2006GL028164. สืบค้นเมื่อ 2007-09-19.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  44. Hansen, James E. (2006-01-12). "Goddard Institute for Space Studies, GISS Surface Temperature Analysis". NASA Goddard Institute for Space Studies. สืบค้นเมื่อ 2007-01-17. Check date values in: |date= (help)
  45. (PDF). Climatic Research Unit, School of Environmental Sciences, University of East Anglia. 2005-12-15. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2009-03-25. สืบค้นเมื่อ 2007-04-13. Check date values in: |date= (help)
  46. "WMO STATEMENT ON THE STATUS OF THE GLOBAL CLIMATE IN 2005" (PDF). World Meteorological Organization. 2005-12-15. สืบค้นเมื่อ 2007-04-13.
  47. Mitchell, J. F. B. (2001-01-20). . Climate Change 2001: The Scientific Basis. Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2007-07-11. สืบค้นเมื่อ 2007-01-04.
  48. Ruddiman, William F. (March 2005). (PDF). Scientific American. 292 (3): 46–53. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2007-03-04. สืบค้นเมื่อ 2007-03-05.
  49. Schmidt, Gavin (2004-12-10). "A note on the relationship between ice core methane concentrations and insolation". Geophysical Research Letters. 31 (23). doi:10.1029/2004GL021083. L23206. สืบค้นเมื่อ 2007-03-05.
  50. Hansen, James (2006-09-26). "Global temperature change" (PDF). PNAS. 103 (39): 14288–14293. สืบค้นเมื่อ 2007-04-20. Text " doi:10.1073/pnas.060291103" ignored (help)
  51. (PDF) (Press release). Open University. 2004-01-30. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2009-03-16. สืบค้นเมื่อ 2007-03-04.
  52. Cohen, Anthony S. (2004). (PDF). Geology. 32 (2): 157–160. doi:10.1130/G20158.1. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2007-06-04. สืบค้นเมื่อ 2007-03-04. Unknown parameter |month= ignored (help)
  53. Hansen, James (2000). "Climatic Change: Understanding Global Warming". One World: The Health & Survival of the Human Species in the 21st Century. Health Press. สืบค้นเมื่อ 2007-08-18.
  54. "Summary for Policymakers". Climate Change 2001: The Scientific Basis. Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. 2001-01-20. สืบค้นเมื่อ 2007-04-28.
  55. Torn, Margaret; Harte, John (2006-05-26). "Missing feedbacks, asymmetric uncertainties, and the underestimation of future warming". Geophysical Research Letters. 33 (10). L10703. สืบค้นเมื่อ 2007-03-04.
  56. Harte, John (2006-10-30). "Shifts in plant dominance control carbon-cycle responses to experimental warming and widespread drought". Environmental Research Letters. 1 (1). 014001. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02.
  57. Scheffer, Marten (2006-05-26). 2_GRL_in_press.pdf "Positive feedback between global warming and atmospheric CO2 concentration inferred from past climate change" (PDF). Geophysical Research Letters. 33. doi:10.1029/2005gl025044. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04.
  58. Stocker, Thomas F. (2001-01-20). "7.2.2 Cloud Processes and Feedbacks". Climate Change 2001: The Scientific Basis. Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. สืบค้นเมื่อ 2007-03-04.
  59. Macey, Jennifer (September 19, 2007). "Global warming opens up Northwest Passage". ABC News. สืบค้นเมื่อ 2007-12-11.
  60. . Intergovernmental Panel on Climate Change. 2001-02-16. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2007-03-03. สืบค้นเมื่อ 2007-03-14.
  61. McMichael AJ, Woodruff RE, Hales S (2006). "Climate change and human health: present and future risks". Lancet. 367 (9513): 859–69. doi:10.1016/S0140-6736 (06) 68079-3 Check |doi= value (help). PMID 16530580.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  62. "Summary for Policymakers" (PDF). Climate Change 2007: Impacts, Adaptation and Vulnerability. Working Group II Contribution to the Intergovernmental Panel on Climate Change Fourth Assessment Report. Intergovernmental Panel on Climate Change. 2007-04-13. สืบค้นเมื่อ 2007-04-28.
  63. Church, John A. (2001-01-20). . Climate Change 2001: The Scientific Basis. Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2008-09-25. สืบค้นเมื่อ 2005-12-19.
  64. Thomas, Chris D. (2004-01-08). "Extinction risk from climate change" (PDF). Nature. 427 (6970): 145–138. doi:10.1038/nature02121. สืบค้นเมื่อ 2007-03-18. Check date values in: |date= (help)
  65. McLaughlin, John F. (2002-04-30). "Climate change hastens population extinctions" (PDF). PNAS. 99 (9): 6070–6074. doi:10.1073/pnas.052131199. สืบค้นเมื่อ 2007-03-29. Check date values in: |date= (help)
  66. Botkin, Daniel B. (2007). "Forecasting the Effects of Global Warming on Biodiversity" (PDF). BioScience. 57 (3): 227–236. doi:10.1641/B570306. สืบค้นเมื่อ 2007-11-30. Unknown parameter |month= ignored (help)
  67. "At-a-glance: The Stern Review". BBC. 2006-10-30. สืบค้นเมื่อ 2007-04-29.
  68. Tol and Yohe (2006) "A Review of the Stern Review" World Economics '7 (4) : 233-50. See also other critiques in World Economics '7 (4).
  69. Brad DeLong. Do unto others....
  70. John Quiggin. Stern and the critics on discounting.
  71. Dlugolecki, Andrew (2002). "Climate Risk to Global Economy" (PDF). CEO Briefing: UNEP FI Climate Change Working Group. United Nations Environment Programme. สืบค้นเมื่อ 2007-04-29.
  72. Kurt M. Campbell, Jay Gulledge, J.R. McNeill, John Podesta, Peter Ogden, Leon Fuerth, R. James Woolsey, Alexander T.J. Lennon, Julianne Smith, Richard Weitz, Derek Mix (Oktober 2007). "The Age of Consequences: The Foreign Policy and National Security Implications of Global Climate Change" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2007-11-06. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  73. (PDF). Sustento Institute. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2016-01-30. สืบค้นเมื่อ 2007-12-10.
  74. Monbiot, George. "Rigged–The climate talks are a stitch-up, as no one is talking about supply" (HTML). สืบค้นเมื่อ 2007-12-22.
  75. "Kyoto Protocol Status of Ratification" (PDF). United Nations Framework Convention on Climate Change. 2006-07-10. สืบค้นเมื่อ 2007-04-27.
  76. Climate talks face international hurdles, by Arthur Max, Associated press, 5/14/07.
  77. George W. Bush (March 13, 2001). "Text of a Letter from the President to Senators Hagel, Helms, Craig, and Roberts". Office of the Press Secretary. สืบค้นเมื่อ 2007-11-21.
  78. "Regional Greenhouse Gas Initiative". สืบค้นเมื่อ 2006-11-07.
  79. "www.planetark.com/dailynewsstory.cfm/newsid/43027/story.htm". สืบค้นเมื่อ 2007-07-27.
  80. (PDF). Climate Change 2007: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group III to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Intergovernmental Panel on Climate Change. 2007-05-04. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2008-12-30. สืบค้นเมื่อ 2007-12-09.
  81. Weart, Spencer (2006), "The Public and Climate Change", ใน Weart, Spencer (บ.ก.), The Discovery of Global Warming, American Institute of Physics, สืบค้นเมื่อ 2007-04-14
  82. Revkin, Andrew (2007-04-01). "Poor Nations to Bear Brunt as World Warms". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02.
  83. Brahic, Catherine (2006-04-25). "China's emissions may surpass the US in 2007". New Scientist. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02.
  84. Crampton, Thomas (2007-01-04). "More in Europe worry about climate than in U.S., poll shows". International Herald Tribune. สืบค้นเมื่อ 2007-04-14.
  85. "Summary of Findings". Little Consensus on Global Warming. Partisanship Drives Opinion. สำนักวิจัยพิว. 2006-07-12. สืบค้นเมื่อ 2007-04-14.
  86. "EU agrees on carbon dioxide cuts". BCC. 2007-03-09. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04. Check date values in: |date= (help)
  87. Begley, Sharon (2007-08-13). "The Truth About Denial". Newsweek. สืบค้นเมื่อ 2007-08-13.
  88. Adams, David (2006-09-20). "Royal Society tells Exxon: stop funding climate change denial". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2007-08-09.
  89. "Exxon cuts ties to global warming skeptics". MSNBC. 2007-01-12. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02. Check date values in: |date= (help)
  90. Sandell, Clayton (2007-01-03). "Report: Big Money Confusing Public on Global Warming". ABC. สืบค้นเมื่อ 2007-04-27. Check date values in: |date= (help)
  91. "Greenpeace: Exxon still funding climate skeptics". USA TODAY. 2007-05-18. สืบค้นเมื่อ 2007-07-09.
  92. "Global Warming Resolutions at U.S. Oil Companies Bring Policy Commitments from Leaders, and Record High Votes at Laggards" (Press release). Ceres. April 28, 2004. สืบค้นเมื่อ 2007-07-27.
  93. "Group: China tops world in CO2 emissions". Associated Press. 2007-06-20. สืบค้นเมื่อ 2007-10-16.; "Group: China surpassed US in carbon emissions in 2006: Dutch report". Reuters. 2007-06-20. สืบค้นเมื่อ 2007-10-16.
  94. , by Michael Casey, Associated Press, 12/7/07.
  95. India's glaciers give grim message on warming, by Somni Sengupta, 7/17/07, New York Times via oregonlive.com.
  96. Chinese object to climate draft, BBC, 5/1/07; In Battle for U.S. Carbon Caps, Eyes and Efforts Focus on China, by Steven Mufson, Washington Post, 6/6/07.
  97. . NASA. 2005-06-21. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2007-02-11. สืบค้นเมื่อ 2007-03-04. Check date values in: |date= (help)
  98. Jacobson, Mark Z. (2005-04-02). "Studying ocean acidification with conservative, stable numerical schemes for nonequilibrium air-ocean exchange and ocean equilibrium chemistry" (PDF). Journal of Geophysical Research. 110 (D7). doi:10.1029/2004JD005220. D07302. สืบค้นเมื่อ 2007-04-28. Check date values in: |date= (help)
  99. Caldeira, Ken; Wickett, Michael E. (2005-09-21). "Ocean model predictions of chemistry changes from carbon dioxide emissions to the atmosphere and ocean". Journal of Geophysical Research. 110 (C09S04): 1–12. สืบค้นเมื่อ 2006-02-14. Text " doi:10.1029/2004JC002671 " ignored (help)
  100. Raven, John A. (2005-06-30). "Ocean acidification due to increasing atmospheric carbon dioxide" (ASP). Royal Society. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04. Cite journal requires |journal= (help); Check date values in: |date= (help)

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • Association of British Insurers (2005-06). Financial Risks of Climate Change (PDF). Check date values in: |year= (help)
  • Barnett, Tim P.; J. C. Adam; D. P. Lettenmaier (2005-11-17). "Potential impacts of a warming climate on water availability in snow-dominated regions". Nature. 438 (7066): 303–309. doi:10.1038/nature04141. Check date values in: |date= (help)
  • Behrenfeld, Michael J.; Robert T. O'Malley; David A. Siegel; Charles R. McClain; Jorge L. Sarmiento; Gene C. Feldman; Allen G. Milligan; Paul G. Falkowski; Ricardo M. Letelier; Emanuel S. Boss (2006-12-07). (PDF). Nature. 444 (7120): 752–755. doi:10.1038/nature05317. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2016-04-15. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20. Check date values in: |date= (help)
  • Choi, Onelack; Ann Fisher (May 2005). "The Impacts of Socioeconomic Development and Climate Change on Severe Weather Catastrophe Losses: Mid-Atlantic Region (MAR) and the U.S." Climate Change. 58 (1–2): 149–170. doi:10.1023/A:1023459216609.[ลิงก์เสีย]
  • Dyurgerov, Mark B.; Mark F. Meier (2005). Glaciers and the Changing Earth System: a 2004 Snapshot (PDF). Institute of Arctic and Alpine Research Occasional Paper #58. ISSN 0069-6145.
  • Emanuel, Kerry A. (2005-08-04). "Increasing destructiveness of tropical cyclones over the past 30 years" (PDF). Nature. 436 (7051): 686–688. doi:10.1038/nature03906.
  • Hansen, James; Larissa Nazarenko; Reto Ruedy; Makiko Sato; Josh Willis; Anthony Del Genio; Dorothy Koch; Andrew Lacis; Ken Lo; Surabi Menon; Judith Perlwitz; Gary Russell; Gavin A. Schmidt; Nicholas Tausnev (2005-06-03). (PDF). Science. 308 (5727): 1431–1435. doi:10.1126/science.1110252. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2009-09-30. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20.
  • Hinrichs, Kai-Uwe; Laura R. Hmelo; Sean P. Sylva (2003-02-21). "Molecular Fossil Record of Elevated Methane Levels in Late Pleistocene Coastal Waters". Science. 299 (5610): 1214–1217. doi:10.1126/science.1079601.
  • Hirsch, Tim (2006-01-11). "Plants revealed as methane source". BBC.
  • Hoyt, Douglas V.; Kenneth H. Schatten (1993–11). "A discussion of plausible solar irradiance variations, 1700–1992". Journal of Geophysical Research. 98 (A11): 18, 895–18, 906. Check date values in: |year= (help)
  • Kenneth, James P.; Kevin G. Cannariato; Ingrid L. Hendy; Richard J. Behl (2003-02-14). Methane Hydrates in Quaternary Climate Change: The Clathrate Gun Hypothesis. American Geophysical Union.
  • Keppler, Frank; Marc Brass; Jack Hamilton; Thomas Röckmann (2006-01-18). "Global Warming–The Blame Is not with the Plants". Max Planck Society.
  • Kurzweil, Raymond (2006–07). (PDF). Forbes / Wolfe Nanotech Report. 5 (7). คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2011-07-15. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20. Check date values in: |year= (help)
  • Lean, Judith L.; Y.M. Wang; N.R. Sheeley (2002–12). "The effect of increasing solar activity on the Sun's total and open magnetic flux during multiple cycles: Implications for solar forcing of climate". Geophysical Research Letters. 29 (24). doi:10.1029/2002GL015880. Check date values in: |year= (help)
  • Lerner, K. Lee; Brenda Wilmoth Lerner (2006-07-26). Environmental issues : essential primary sources. Thomson Gale. ISBN 1414406258.
  • McLaughlin, Joseph B.; Angelo DePaola; Cheryl A. Bopp; Karen A. Martinek; Nancy P. Napolilli; Christine G. Allison; Shelley L. Murray; Eric C. Thompson; Michele M. Bird; John P. Middaugh (2005-10-06). "Outbreak of Vibrio parahaemolyticus gastroenteritis associated with Alaskan oysters". New England Journal of Medicine. New England Medical Society. 353 (14): 1463–1470. (online version requires registration)
  • Muscheler, Raimund; Fortunat Joos; Simon A. Müller; Ian Snowball (2005-07-28). (PDF). Nature. 436 (7012): 1084–1087. doi:10.1038/nature04045. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2006-01-08. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20.
  • Oerlemans, J. (2005-04-29). "Extracting a Climate Signal from 169 Glacier Records" (PDF). Science. 308 (5722): 675–677. doi:10.1126/science.1107046.
  • Oreskes, Naomi (2004-12-03). "Beyond the Ivory Tower: The Scientific Consensus on Climate Change" (PDF). Science. 306 (5702): 1686. doi:10.1126/science.1103618.
  • Purse, Bethan V.; Philip S. Mellor; David J. Rogers; Alan R. Samuel; Peter P. C. Mertens; Matthew Baylis (February 2005). "Climate change and the recent emergence of bluetongue in Europe". Nature Reviews Microbiology. 3 (2): 171–181. doi:10.1038/nrmicro1090.
  • Revkin, Andrew C (2005-11-05). "Rise in Gases Unmatched by a History in Ancient Ice". The New York Times.
  • Ruddiman, William F. (2005-12-15). . New York: Princeton University Press. ISBN 0-7167-3741-8. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2006-01-08. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20.
  • Ruddiman, William F. (2005-08-01). Plows, Plagues, and Petroleum: How Humans Took Control of Climate. New Jersey: Princeton University Press. ISBN 0-691-12164-8.
  • Solanki, Sami K.; I.G. Usoskin; B. Kromer; M. Schussler; J. Beer (2004-10-23). "Unusual activity of the Sun during recent decades compared to the previous 11,000 years" (PDF). Nature. 431: 1084–1087. doi:10.1038/nature02995.
  • Solanki, Sami K.; I. G. Usoskin; B. Kromer; M. Schüssler; J. Beer (2005-07-28). "Climate: How unusual is today's solar activity? (Reply)" (PDF). Nature. 436: E4–E5. doi:10.1038/nature04046.
  • Sowers, Todd (2006-02-10). "Late Quaternary Atmospheric CH4 Isotope Record Suggests Marine Clathrates Are Stable". Science. 311 (5762): 838–840. doi:10.1126/science.1121235.
  • Svensmark, Henrik; Jens Olaf P. Pedersen; Nigel D. Marsh; Martin B. Enghoff; Ulrik I. Uuggerhøj (2007-02-08). "Experimental evidence for the role of ions in particle nucleation under atmospheric conditions". Proceedings of the Royal Society A. FirstCite Early Online Publishing. 463 (2078): 385–396. doi:10.1098/rspa.2006.1773. (online version requires registration)
  • Walter, K. M.; S. A. Zimov; Jeff P. Chanton; D. Verbyla; F. S. Chapin (2006-09-07). "Methane bubbling from Siberian thaw lakes as a positive feedback to climate warming". Nature. 443 (7107): 71–75. doi:10.1038/nature05040.
  • Wang, Y.-M.; J.L. Lean; N.R. Sheeley (2005-05-20). "Modeling the sun's magnetic field and irradiance since 1713" (PDF). Astrophysical Journal. 625: 522–538. doi:10.1086/429689.

แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาไทย

  • หยุดภาวะโลกร้อน จาก กรีนพีซประเทศไทย
  • สื่อประสมเรื่องสภาวะโลกร้อน จากศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ
  • ภาวะโลกร้อน จาก กรีนดิเอิร์ธ.อินโฟ
  • โลกร้อน คืออะไร ? จาก วิชาการ.คอม
  • สภาวะโลกร้อน จากสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย
  • เว็บไซต์เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • เว็บไซต์ภาวะโลกร้อน จาก ไทยฮอตโซน.คอม
  • เว็บไซต์ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

ภาษาอังกฤษ

ด้านวิทยาศาสตร์

  • Intergovernmental Panel on Climate Change เว็บไซต์คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • UN Climate Panel Report's Key Findings รายงานขององค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ
  • Nature Reports Climate Change ข้อมูลภาวะโลกร้อน จากเนเจอร์รีพอร์ตส
  • The UK Met Office Hadley Centre site ข้อมูลภาวะโลกร้อน จากเม็ตออฟฟิส
  • NOAA's Global Warming FAQ คำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดย NOAA
  • Outgoing Longwave Radiation pentad mean – NOAA Climate Prediction Center พยากรณ์อากาศ โดย NOAA
  • Discovery of Global Warming การค้นพบภาวะโลกร้อน โดย สเปนเซอร์ อาร์. เวิร์ต
  • Caution urged on climate 'risks' คำเตือนเร่งด่วนเกี่ยวกับความเสี่ยงของสภาพอากาศโลก
  • News in Science–Night flights are worse for global warming ข่าววิทยาศาสตร์–เที่ยวบินกลางคืนมีผลต่อภาวะโลกร้อน

ด้านการศึกษา

  • What Is Global Warming? อะไรคือภาวะโลกร้อน โดยเนชันนอล จีโอกราฟิก
  • The EdGCM (Educational Global Climate Modelling) Project ข้อมูลวิจัยสำหรับนักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์
  • Daily global temperatures and trends from satellites 2007-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อุณหภูมิของโลกประจำวันจากดาวเทียม โดย นาซา
  • The Pew Center on global climate change ข้อมูลภาวะโลกร้อน โดยพิวเซ็นเตอร์
  • วิดีโอ โดย วอร์เรน วอชิงตัน หัวข้อ วิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์ภาวะโลกร้อน จากแนวความคิดสู่ความจริงทางวิทยาศาสตร์

ภาครัฐ

อื่น ๆ

  • Science and Technology Sources on the Internet ข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • Union of Concerned Scientists Global Warming page เว็บไซต์สหภาพนักวิทยาศาสตร์ที่มีจิตสำนึกทางสังคม
  • Watch and read 'Tipping Point' สารคดีวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า
  • IPS Inter Press Service 2006-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน จากไอพีเอส
  • Gateway to the UN System's Work on Climate Change ระบบการทำงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดยสหประชาชาติ

ภาวะโลกร, อน, งกฤษ, global, warming, หมายถ, งการเพ, มข, นของอ, ณหภ, เฉล, ยของอากาศใกล, นผ, วโลกและน, ำในมหาสม, ทรต, งแต, วงคร, งหล, งของคร, สต, ศตวรรษท, และม, การคาดการณ, าอ, ณหภ, เฉล, ยจะเพ, มข, นอย, างต, อเน, องค, าผ, ดปรกต, ของอ, ณหภ, เฉล, ยท, วโลกท, เพ, มข. phawaolkrxn xngkvs global warming hmaythungkarephimkhunkhxngxunhphumiechliykhxngxakasiklphunphiwolkaelanainmhasmuthrtngaetchwngkhrunghlngkhxngkhriststwrrsthi 20 aelamikarkhadkarnwaxunhphumiechliycaephimkhunxyangtxenuxngkhaphidprktikhxngxunhphumiechliythiphiwolkthiephimkhuninchwngpi ph s 2403 2549 ethiybkbxunhphumirahwang ph s 2504 2533 khaechliyxunhphumiphiwphunthiphidpktithiethiybkbxunhphumiechliyrahwangpi ph s 2542 thung ph s 2551 inchwng 100 pithiphanma nbthung ph s 2548 xakasiklphiwdinthwolkodyechliymikhasungkhun 0 74 0 18 xngsaeslesiys 1 sungkhnakrrmkarrahwangrthbalwadwykarepliynaeplngsphaphphumixakas Intergovernmental Panel on Climate Change IPCC khxngshprachachatiidsrupiwwa cakkarsngektkarnkarephimxunhphumiodyechliykhxngolkthiekidkhuntngaetklangkhriststwrrsthi 20 pramantngaet ph s 2490 khxnkhangaenchdwaekidcakkarephimkhwamekhmkhxngaekseruxnkrackthiekidkhunodykickrrmkhxngmnusythiepnphlinrupkhxngpraktkarneruxnkrack 1 praktkarnthrrmchatibangxyang echn khwamphnaeprkhxngkaraephrngsicakdwngxathityaelakarraebidkhxngphuekhaif xacsngphlephiyngelknxytxkarephimxunhphumiinchwngkxnyukhxutsahkrrmcnthung ph s 2490 aelamiphlephiyngelknxytxkarldxunhphumihlngcakpi 2490 epntnma 2 3 khxsrupphunthandngklawniidrbkarrbrxngodysmakhmaelasthabnkarsuksathangwithyasastrimnxykwa 30 aehng rwmthngrachsmakhmthangwithyasastrradbchatithisakhykhxngpraethsxutsahkrrmtang aemnkwithyasastrbangkhncamikhwamehnotaeyngkbkhxsrupkhxng IPCC xyubang 4 aetesiyngswnihykhxngnkwithyasastrthithangandankarepliynaeplngkhxngphumixakaskhxngolkodytrngehndwykbkhxsrupni 5 6 aebbcalxngkarkhadkhaenphumixakasthisrupody IPCC bngchiwaxunhphumiolkodyechliythiphiwolkcaephimkhun 1 1 thung 6 4 xngsaeslesiys inchwngkhriststwrrsthi 21 ph s 2544 2643 1 khatwelkhdngklawidmacakkarcalxngsthankarnaebbtang khxngkaraephkhyayaekseruxnkrackinxnakht rwmthungkarcalxngkhakhwamiwphumixakasxikhlakhlayrupaebb aemkarsuksaekuxbthnghmdcamungipthichwngewlathungephiyngpi ph s 2643 aetkhwamrxncayngkhngephimkhunaelaradbnathaelkcasungkhuntxenuxngipxikhlayshswrrs aemwaradbkhxngaekseruxnkrackcaekhasuphawaesthiyraelwktam karthixunhphumiaelaradbnathaelekhasusphawadulyphaphidchaepnehtumacakkhwamcukhwamrxnkhxngnainmhasmuthrsungmikhasungmak 1 karthixunhphumikhxngolkephimsungkhunthaihradbnathaelsungkhun aelakhadwathaihekidphawalmfaxakassudotng extreme weather thirunaerngmakkhun primanaelarupaebbkarekidhyadnafacaepliynaeplngip phlkrathbxun khxngphawaolkrxnidaek karepliynaeplngkhxngphlitphlthangekstr karekhluxnthxykhxngtharnaaekhng karsuyphnthuphuch stwtang rwmthngkarklayphnthuaelaaephrkhyayorkhtang ephimmakkhunaetyngkhngmikhwamimaennxnthangwithyasastrxyubang idaekprimankhxngkhwamrxnthikhadwacaephiminxnakht phlkhxngkhwamrxnthiephimkhunaelaphlkrathbxun thicaekidkbaetlaphumiphakhbnolkwacaaetktangknxyangir rthbalkhxngpraethstang aethbthukpraethsidlngnamaelaihstyabninphithisarekiywot sungmungpraednipthikarldkarplxyaekseruxnkrack aetyngkhngmikarotethiyngknthangkaremuxngaelakarotwathisatharnaipthwthngolkekiywkbmatrkarwakhwrepnxyangir cungcaldhruxyxnklbkhwamrxnthiephimkhunkhxngolkinxnakht hruxcaprbtwknxyangirtxphlkrathbkhxngphawaolkrxnthikhadwacatxngekidkhun txngkarxangxing enuxha 1 khacakdkhwam 2 saehtu 2 1 aekseruxnkrackinbrryakas 2 2 karpxnklb 2 3 khwamphnaeprkhxngdwngxathity 3 karepliynaeplngxunhphumi 3 1 pccubn 3 2 twaeprphumixakaskxnyukhmnusy 4 aebbcalxngphumixakas 5 phlkrathbthiekidkhunaelakhadwacaekid 5 1 esrsthkic 5 2 khwammnkhng 6 karprbtwaelakarbrretha 7 karxphipraythangsngkhmaelakaremuxng 8 praednpyhaphumixakasthiekiywkhxng 9 duephim 10 xangxing 11 hnngsuxxanephimetim 12 aehlngkhxmulxun 12 1 phasaithy 12 2 phasaxngkvs 12 2 1 danwithyasastr 12 2 2 dankarsuksa 12 2 3 phakhrth 12 2 4 xun khacakdkhwam aekikhkhawa phawaolkrxn epnkhacaephaakhahnungkhxngxubtikarnkarepliynaeplngphumixakaskhxngolk odythi karepliynaeplngphumixakas mikhwamhmaythungkarepliynaeplngxunhphumiinthukchwngewlakhxngolk rwmthngehtukarnpraktkarnolkeyndwy odythwip khawa phawaolkrxn caichinkarxangthungsphawathixunhphumikhxngolkrxnkhuninchwngimkithswrrsthiphanma aelamikhwamekiywkhxngkrathbtxmnusy 7 inxnusyyashprachachatiwadwykarepliynaeplngsphaphphumixakas United Nations Framework Convention on Climate Change UNFCCC ichkhawa karepliynaeplngphumixakas Climate Change sahrbkarepliynaeplngthiekidcakkickrrmkhxngmnusy aelaichkhawa karphnaeprkhxngphumixakas Climate Variability sahrbkarepliynaeplngthiekidcakehtuxun 8 swnkhawa phawaolkrxncakkickrrmmnusy anthropogenic global warming mithiichinbangkhrawephuxennthungkarepliynaeplngthiekidcakehtuxnenuxngmacakmnusysaehtu aekikh xngkhprakxbkhxngaerngplxyrngsi radiative forcing n khnapccubnthipraeminkhaodyrayngankarpraeminkhachbbthi 4 khxng IPCC kharbxnidxxkisdinchwngemux 400 000 pikxn ephimkhunxyangrwderwnbtngaetyukhkarptiwtixutsahkrrmepntnmaidepliynwngokhcrkhxngolkrxbdwngxathitythieriykwa wtckrmilanokhwithch nn echuxknwaepntwkahndwngrxb 100 000 pikhxngwtckryukhnaaekhng karephimkhunkhxngkharbxnidxxkisdinbrryakasemuxerw ni karwdkharbxnidxxkisdrayeduxnaesdngihehnkhwamphnphwnelknxytamvdukalrahwangpithimiaenwonmsungkhun canwnkarephimkhunsungsudkhxngaetlapiekidkhuninchwngplayvduibimphlikhxngsikolkehnuxaelaldlnginchwngkarephaapluksungphuchthiephaaplukdungkharbxnidxxkisdbangswnxxkcakbrryakas sphaphphumixakaskhxngolkmikarepliynaeplngiptamaerngkrathacakphaynxk sungrwmthungkarphnaeprkhxngwngokhcrrxbdwngxathity aerngkrathacakwngokhcr 9 10 11 karraebidkhxngphuekhaif 12 aelakarsasmkhxngaekseruxnkrackinbrryakas raylaexiydekiywkbsaehtukhxngkhwamrxnthiephimkhunkhxngolkyngkhngepnpraednkarwicythimikhwamekhluxnihwxyuesmx xyangirkdi mikhwamehnrwmthangwithyasastr scientific consensus 13 14 bngchiwa radbkarephimkhxngaekseruxnkrackthiekidcakkickrrmkhxngmnusyepnswnthimixiththiphlsakhythisudnbaeterimtnyukhxutsahkrrmepntnma saehtukhxnimikhwamchdecnmakinchwng 50 pithiphanmaenuxngcakmikhxmulmakphxsahrbkarphiekhraah nxkcakniyngmismmutithanxuninmummxngthiimtrngknkbkhwamehnrwmthangwithyasastrkhangtn sungnaipichephuxxthibayehtukarnthixunhphumimikhasungkhun smmutithanhnunginnnesnxwa khwamrxnthiephimkhunxacepnphlcakkarphnaeprphayinkhxngdwngxathity 15 16 17 phlkrathbcakaerngdngklawmiidekidkhuninchbphlnthnid enuxngcak aerngechuxykhxngkhwamrxn thermal inertia khxngmhasmuthraelakartxbsnxngxnechuxngchatxphlkrathbthangxxmthaihsphawaphumixakaskhxngolk n pccubnyngimxyuinsphawasmdulcakaerngthikratha karsuksaephuxha khxphukmdkhxngphumixakas Climate commitment bngchiwa aemaekseruxnkrackcaxyuinsphawaesthiyrinpi ph s 2543 kyngkhngmikhwamrxnephimkhunxikpraman 0 5 xngsaeslesiysxyudi 18 aekseruxnkrackinbrryakas aekikh dubthkhwamhlkthi praktkarneruxnkrack praktkarneruxnkrack khnphbodyocesf fueriyr emux ph s 2367 aelaidrbkartrwcsxbechingprimanodyswanet xarrieniys inpi ph s 2439 krabwnkarekidkhunodykardudsbaelakarpldplxyrngsixinfraerdodyaekseruxnkrackepntwthaihbrryakasaelaphiwolkrxnkhun 19 karekidphlkrathbkhxngpraktkarneruxnkrackdngklawimepnthithkethiyngknaetxyangid ephraaodythrrmchatiaekseruxnkrackthiekidkhunnncamikhaechliykhxngxunhphumixyuthi 33 xngsaeslesiys xyuaelw sungthaimmi mnusykcaxyuxasyimid 20 praednpyhacungxyuthiwakhwamaerngkhxngpraktkarneruxnkrackcaepliynipxyangir emuxkickrrmkhxngmnusyipephimkhwamekhmkhxngaekseruxnkrackinbrryakasaekseruxnkrackhlkbnolkkhux ixraehykhxngna sungepntnehtuthaihekidphawaolkrxnmakthungpraman 30 60 imrwmkxnemkh kharbxnidxxkisdepntwkarxikpraman 9 26 aeksmiethn CH4 epntwkar 4 9 aelaoxosnxik 3 7 21 22 sunghaknbomelkultxomelkul aeksmiethnmiphltxpraktkarneruxnkrackmakkwakharbxnidxxkisd aetkhwamekhmkhnnxykwamak dngnnaerngkaraephkhwamrxncungmisdswnpramanhnunginsikhxngkharbxnidxxkisd aelayngmiaeksxunxikthiekidtamthrrmchatiaetmiprimannxymak hnunginnnkhux intrsxxkisd N2O sungephimkhuncakkarthakickrrmkhxngmnusy echnekstrkrrm khwamekhminbrryakaskhxng CO2 aela CH4 ephimkhun 31 aela 149 tamladbnbcakkarerimtnkhxngyukhkarptiwtixutsahkrrminchwngpraman ph s 2290 pramanplayrchsmyphrabrmoks epntnma radbxunhphumiehlanisungkwaxunhphumikhxngolkthikhun lng inchwng 650 000 pithiphanma sungepnchwngthimikhxmulthiechuxthuxidthiidmacakaeknnaaekhngthiecaamaid aelacakhlkthanthangthrniwithyadanxunkthaihechuxwakhakhxng CO2 thisunginradbiklekhiyngkndngklawepnmapraman 20 lanpiaelw 23 karephaphlayechuxephlingsakdukdabrrphhruxechuxephlingfxssil Fossil fuel miswnephim CO2 inbrryakaspraman 3 in 4 khxngpriman CO2 thnghmdcakkickrrmmnusyinrxb 20 pithiphanma swnthiehluxekidcakkarepliynaeplngkarichthidin odyechphaakarthalaypaepnswnihy 24 khwamekhmkhxngpriman CO2 thiecuxpninbrryakaspccubnmipraman 383 swninlanswnodyprimatr ppm 25 pramanwapriman CO2 inxnakhtcasungkhunxikcakkarephaphlayechuxephlingfxssil aelakarepliynaeplngkarichthidin xtrakarephimkhunxyukbkhwamimaennxnthangesrsthkic sngkhm ethkhonolyi aelakarphthnakhxngtwthrrmchatiexng aetxackhunxyukbkarichechuxephlingfxssilepnhlk raynganphiesswadwykarcalxngkarpldplxykharbxnidxxkisd Special Report on Emissions Scenarios khxng IPCC idcalxngwapriman CO2 inxnakhtcamikhaxyurahwang 541 thung 970 swninlanswn inrawpi ph s 2643 26 dwyprimansarxngkhxngechuxephlingfxssilcayngkhngmiephiyngphxinkarsrangsphawann aelayngsamarthephimprimankhunidxikemuxelypi 2643 ipaelw thaerayngkhngichthanhin namndin namndininthray hruxmiethnkxn methane clathratesmethane clathrates epnaeksmiethnthifngtwinphluknaaekhnginsdswnomelkulmiethn omelkulna 1 5 75 ekiditthxngmhasmuthrthilukmak txip 27 karpxnklb aekikh phlkrathbcaktwkrathathisrangaernginbrryakasmikhwamsbsxntamkrabwnkarpxnklbhlayaebbhnunginphlkarpxnklbthiednchdhlayaebbdngklawsmphnthkbkarraehykhxngna krnikhwamrxnthiephimkhunenuxngcakkarephimkhunkhxngaekseruxnkrackthimixayuyunyaw echn CO2 thaihnaraehypapninbrryakasmakkhun aelaemuxixnaexngkepnaekseruxnkrackchnidhnungdwy cungthaihbrryakasmikhwamrxnephimkhunipxiksungepnkarpxnklbipthaihnaraehyephimkhunxik epnrxb eruxyipdngnicnkrathngradbixnabrrlukhwamekhmthungcudsmdulkhnihmsungmiphltxpraktkarneruxnkrackmakkwalaphng CO2 ephiyngxyangediyw aemkrabwnkarpxnklbnicaekiywkhxngkbkarephimprimankhwamchunsmburninbrryakas aetkhwamchunsmphththcayngkhngxyuinradbekuxbkhngthiaelaxacldlngelknxyemuxxakasxunkhun 28 phlkarpxnklbnicaepliynklbkhunidaetephiyngcha enuxngcak CO2 mixayukhyinbrryakas atmospheric lifetime yawnanmakkarpxnklbenuxngcakemkhkalngxyuinrayadaeninkarwicy mxngcakthangdanlangcaehnemkhkracayrngsixinfraerdlngsuphunlang sungmiphlepnkarephimxunhphumiphiwlang inkhnaediywkn hakmxngthangdanbn emkhcasathxnaesngxathityaelakracayrngsixinfraerdsuhwngxwkascungmiphlepnkarldxunhphumi phllphthkhxngphltangkhxngpraktkarnnicamaknxytangknxyangirkhunxyukbraylaexiyd echn praephthaelakhwamsungkhxngemkh raylaexiydehlanimikhwamyakmakinkarsrangaebbcalxngphumixakasenuxngcakkxnemkhmikhnadelk kracdkracayaelamichxngwangrahwangkxnmak xyangirkdi karpxnklbkhxngemkhmiphlnxykwakarpxnklbkhxngixnainbrryakas aelamiphlchdecninaebbcalxngthukaebbthinamaichinraynganphlkarpraemin IPCC khrngthi 4 IPCC Fourth Assessment Report 32 28 aenwonmkhxngnaaekhngkhxngsikolkehnux aenwonmkhxngnaaekhngkhxngsikolkit khwamphnaeprkhxngdwngxathity inrxb 30 pithiphanma krabwnkarpxnklbthisakhyxikaebbhnungkhuxkarpxnklbkhxngxtraswnrngsisathxncaknaaekhng 29 emuxxunhphumikhxngolkephim naaekhngaethbkhwolkcamixtrakarlalayephim inkhnathinaaekhnglalayphiwdinaelaphiwnacathukepidihehn thngphiwdinaelaphiwnamixtraswnkarsathxnrngsinxykwanaaekhngcungdudsbrngsidwngxathityiwidmakkwa cungthaihxunhphumisungkhunpxnklbihnaaekhnglalaymakkhunaelawngcrniekidtxenuxngipxikeruxy karpxnklbthichdecnxikchnidhnungidaekkarpldplxy CO2 aela CH4 cakkarlalaykhxngchndineyuxkaekhngkhngtw permafrost echnphruphith eyuxkaekhng frozen peat bogs inisbieriythiepnklikthiephimkarxunkhunkhxngbrryakas 30 karpldplxyxyangmhasalkhxngaeksmiethncak miethnkxn samarththaihxtrakarxunepnipidrwderwkhun sungepniptam smmutithanpunkhlatherth clathrate gun hypothesis khidkhwamsamarthinkarekbkkkharbxnldtalngemuxxunhphumisungkhun thngnienuxngmacakkarldlngkhxngthatuxaharinchnemosephlacik mesopelagic zone pramankhwamlukthi 100 thung 200 emtr thithaihkarecriyetibotkhxngidxatxmldlngenuxngcakkarekhaaethnthikhxngifotaephlngtxnthielkkwaaelaekbkkkharbxninechingchiwwithyaidnxykwa 31 khwamphnaeprkhxngdwngxathity aekikh miraynganwicyhlaychinaenawaxacmikarihkhwamsakhykbdwngxathitythimiphltxphawaolkrxntaip nkwicy 2 khncakmhawithyalyduk khux brus ewst aela niokhla skaefthta idpramanwadwngxathityxacsngphltxkarephimxunhphumiechliykhxngphiwolkmakthung 45 50 inchwngrahwang ph s 2443 2543 aelapraman 25 35 rahwang ph s 2523 2543 32 raynganwicykhxngpietxr skxt aelankwicyxunaenawaaebbcalxngphumixakaspramankarekincringekiywkbphlsmphththkhxngaekseruxnkrackemuxepriybethiybkbaerngcakdwngxathity aelayngaenaephimwaphlkrathbkhwameynkhxngfunlaxxngphuekhaifaelasleftinbrryakasidrbkarpraemintaipechnkn 33 thungkrann klumnkwicydngklawkyngsrupwa aemcarwmexapccykhwamiwtxphumixakaskhxngdwngxathitymarwmdwyktam khwamrxnthiephimkhuntngaetchwngklangkhriststwrrsthi 20 tngaet ph s 2490 yngnbwaepnphlcakkarephimprimankhxngaekseruxnkrackesiymakkwasmmutithanthiaetktangipxikprakarhnungklawwa karphnaeprkhxngxtrakarplxykhwamrxnxxkkhxngdwngxathity solar output suolk sungekidkarkhyaytwephimkhuninkaretimsarekhmiinklumemkhcak rngsikhxsmikindarackr galactic cosmic rays xacepntwkarthaihekidkhwamrxnthiephimkhuninchwngewlathiephingphanphnip 34 smmutithanniesnxwa aerngkrathacaksnamaemehlkkhxngdwngxathityepnpccysakhyxyangyingywdinkarhnehrngsikhxsmikthisngphltxkarkxtwkhxngniwekhliysinemkh aelathaihmiphlkrathbtxsphaphphumixakasdwy 35 phlkrathbprakarhnungthikhadwacaekidkhunenuxngcakkarephimaerngkrathacakdwngxathity khuxkarthibrryakaschnstraotsefiyrxunkhun inkhnathitamthvstikhxngaekseruxnkrackaelwchnbrryakasnikhwrcaeynlng phlsngektkarnthiekbkhxmulmatngaetpramanpi ph s 2505 phbwamikareyntwlngkhxngchnstraotsefiyrchwnglang 36 karldlngkhxngprimanoxosninbrryakaschnstraotsefiyrmixiththiphltxkareynlngkhxngbrryakasmananaelw aetkarldthiekidkhunmakodychdecnpraktihehntngaetpraman ph s 2515 epntnma 37 khwamphnaeprkhxngdwngxathityrwmkbkarraebidkhxngphuekhaif xacmiphlihekidkarephimxunhphumimatngaetyukhkxnxutsahkrrmtxenuxngmathungpraman ph s 2490 aetihphlthangkarldxunhphumitngaetnnepntnma inpi ph s 2549 1 pietxr fukl aelankwicyxun cakshrth eyxrmnaelaswitesxraelndphbwa dwngxathityimidsxngswangmakkhunxyangminysakhyinrxbhnungphnpithiphanma wtckrkhxngdwngxathitythisxngswangmakkhunthaiholkxunkhunephiyng 0 07 in 30 pithiphanma phlkrathbnicungmiswnthaihekidphawaolkrxnnxymak 38 raynganwicykhxng imkh lxkhwud aelaekhlas flxhlich phbwaimmikhwamsmphnthrahwangphawaolkrxnkbkaraephrngsikhxngdwngxathitymatngaet ph s 2528 imwacakkhwamphnaeprcakdwngxathityhruxcakrngsikhxsmik 39 ehnrik sewnmark aelaixkil frixis khrisetnesn phusnbsnunsmmutithan karthuketimsarekhmilnginklumemkhcakrngsikhxsmikindarackr imehndwykbkhxesnxkhxnglxkhwud aela flxhlich 40 karepliynaeplngxunhphumi aekikh khaechliyxunhphumiphiwolkinchwng 2 000 pi tamkarsrangkhunihmaebbtang aetlaaebbthaiheriybkhuntammatraswnthswrrs twthiimeriybkhxngkharaypisahrbpi ph s 2547 ichwithiphlxtthitangkn pccubn aekikh xunhphumikhxngolkthngbnaephndinaelainmhasmuthridephimkhun 0 75 xngsaeslesiys emuxepriybethiybkbinchwngpi ph s 2403 2443 tam karbnthukxunhphumidwyekhruxngmux instrumental temperature record karwdxunhphumithiephimkhunniimmiphlmaknktx praktkarnekaakhwamrxn 41 nbaetpi ph s 2522 epntnma xunhphumiphiwdinidephimerwkhunpraman 2 ethaemuxethiybkbkarephimxunhphumikhxngphiwthael 0 25 xngsaeslesiys txthswrrs kb 0 13 xngsaeslesiys txthswrrs 42 xunhphumikhxngchnbrryakasothropsefiyrtxnlangidephimkhunrahwang 0 12 aela 0 22 xngsaeslesiys txthswrrsmatngaet ph s 2522 echnkncakkarwdxunhphumiodydawethiym echuxknwaxunhphumikhxngolkkhxnkhangesthiyrmakkwamatngaet 1 2 000 pikxnthungpi ph s 2422 odyxacmikarkhun lng tamphumiphakhbang echninchwng karrxnkhxngyukhklang Medieval Warm Period aela inyukhnaaekhngnxy Little Ice Age xunhphumikhxngnainmhasmuthrephiminxtrathichakwabnaephndinenuxngcakkhwamcukhwamrxnkhxngnathimakkwaaelacakkarsuyesiykhwamrxnthiphiwnacakkarraehythierwkwabnphiwaephndin 43 enuxngcaksikolkehnuxmimwlaephndinmakkwasikolkit sikolkehnuxcungrxnerwkwa aelayngmiphunthithikwangkhwangthipkkhlumodyhimatamvdukalthimixtrakarsathxnrngsithipxnklbidmakkwa aemaekseruxnkrackcathukpldplxyinsikolkehnuxmakkwasikolkit aetkimmiphltxkhwamimiddulkhxngkarrxnkhun enuxngcakaekskracayrwmknidrwderwinbrryakasrahwangsxngsikolkodyxasykarpramancakkhxmulkhxng sthabnkxddardephuxkarsuksahwngxwkas Goddard Institute for Space Studies khxngnasa odykarichekhruxngmuxwdaebbtang thiechuxthuxidaelamiichknmatngaet ph s 2400 phbwapi ph s 2548 epnpithirxnthisud rxnkwasthitirxnsudthibnthukidemux ph s 2541 elknxy 44 aetkarpramanthithaodyxngkhkarxutuniymolk World Meteorological Organization aelahnwywicyphumixakassrupwa ph s 2548 rxnrxnglngmacak ph s 2541 45 46 karpldplxymlphiscakkarkrathakhxngkhxngmnusythiednchdxikxyanghnungidaek laxxnglxy sleft sungsamarthephimphlkarldxunhphumiodykarsathxnaesngxathityklbxxkipcakolk sngektidcakkarbnthukxunhphumithieynlnginchwngklangkhriststwrrsthi 20 pramantngaet ph s 2490 aemkareynlngnixacepnswnhnungkhxngkarphnaeprkhxngthrrmchati ecms ehnsnaelakhnaidesnxwaphlkhxngkarephaihmechuxephlingsakdukdabrrphkhux CO2 aelalaxxnglxycahklangknepnswnihy thaihkarrxnkhuninchwnghlaythswrrsthiphanmaekidcakaekseruxnkrackthiimich CO2 47 nkphumixakasbrrphkalwithya Paleoclimatologist wileliym rddiaemnidotaeyngwaxiththiphlkhxngmnusythimitxphumixakasolkerimmatngaetpraman 8 000 pikxn erimdwykarepidpaephuxthakinthangekstr aelaemux 5 000 pithiaelw dwykarthakarchlprathanephuxplukkhawinexesiy 48 karaeplkhwamhmaykhxngrudiaemncakbnthukthangprawtisastrkhdaeyngkbkhxmulaeksmiethn 49 twaeprphumixakaskxnyukhmnusy aekikh esnokhngkhxngxunhphumithisrangkhunihm n thisxngcudinaexntarktikaelabnthukkarphnaeprkhxngolkinkxnphuekhanaaekhng wnthikhxngewlapccubnpraktthidanlangsaykhxngkraf olkidprasbkbkarrxnaelaeynmaaelwhlaykhrnginxdit aethngaeknnaaekhngaexntarktikemuxerw nikhxng EPICA khrxbkhlumchwngewlaiw 800 000 pi rwmwtckryukhnaaekhngid 8 khrng sungnbewlaodykarichtwaeprwngokhcrkhxngolkaelachwngxbxunrahwangyukhnaaekhngmaepriybethiybkbxunhphumiinpccubn 50 karephimxyangrwderwkhxngaekseruxnkrackephimkarrxnkhuninyukhcuaerssiktxntn praman 180 lanpikxn odymixunhphumiechliysungkhun 5 xngsaeslesiys nganwicyodymhawithyalyepidbngchiwakarrxnkhunekidthaihxtrakarkrxnkhxnghinephimmakthung 400 karkrxnkhxnghininlksnanithaihekidkarkkkharbxniwinaekhlistaelaodolimtiwidmak radbkhxng CO2 idtklngsuradbpktimaidxikpraman 150 000 pi 51 52 karpldplxymiethnodykathnhncaksarprakxbkhlaethrth clathrate gun hypothesis idklayepnsmmutithanwaepnthngtnehtuaelaphlkhxngkarephimxunhphumiolkinrayaewlathinanmakmaaelw rwmthng ehtukarnsuyphnthuephxremiyn ithraexssik Permian Triassic extinction event praman 251 lanpimaaelw rwmthngkarrxnmaksudphalioxsin xioxsin Paleocene Eocene Thermal Maximum praman 55 lanpimaaelw aebbcalxngphumixakas aekikh karkhanwnphawaolkrxnthithakhunkxn ph s 2544 cakaebbcalxngtang thihlakhlayaebbphayitehtukarncalxngkarpldplxy A2 khxng SRES dwysmmutithanwaimmimatrkarldkarpldplxyely karkracaykarrxnkhxngphiwolkthangphumisastrrahwangkhriststwrrsthi 21 ph s 2544 2553 khanwnodyaebbcalxngphumixakas HadCM3 odytngsmmutithansthankarncalxngwaimthaxair plxyihkaretibotthangesrsthkicaelakarpldplxyaekseruxnkrackepniptampkti inphaphni caehnkarephimxunhphumicaxyuthi 3 0 xngsaeslesiys bnthukkracayebabangehlaniaesdngihehnkarthdthxyphuekhanaaekhng thikalngepnmatngaetpraman ph s 2450 pramanpi ph s 2495 ph s 2502 karwdthiiderimkhuninchwngchwyihsamarthefamxngkhwamsmdulkxnphuekhanaaekhngid raynganthung WGMS aela NSIDC nkwithyasastridsuksaphawaolkrxndwyaebbcalxngkhxmphiwetxrsahrbphumixakas aebbcalxngniichhlkkarphunthankhxngphlsastrkhxngihl karthayoxnkaraephrngsi radiative transfer aelakrabwnkarxun odytxngthaihngaykhunenuxngcakkhidcakdkhxngkalngkhxngkhxmphiwetxraelakhwamsbsxnkhxngrabbphumixakas aebbcalxngniphyakrnidwaphlkhxngkarephimaekseruxnkrackephimkhwamrxnaekphumixakascring 53 aetxyangirkdi emuxichsmmutithanediywknnikbxtraaekseruxnkrackinxnakht kyngpraktihehnthungxtrakhwamiwkhxngphumixakas climate sensitivity thimichwngkwangmakxyuemuxrwmkhwamimaennxnkhxngkarekhmkhnkhxngaekseruxnkrackinxnakhtekhakbaebbcalxngphumixakasaelw IPCC khadwaemuxsinkhriststwrrsthi 21 ph s 2643 xunhphumiechliykhxngolkcaephimrahwang 1 1 xngsaeslesiys thung 6 4 xngsaeslesiys ethiybidkbkarephimrahwang ph s 2523 ph s 2542 1 idmikarichaebbcalxngmachwyinkarsubkhnha saehtukhxngkarepliynaeplngphumixakasemuxerw ni odykarepriybethiybphlkarkhadkhaenthiidcakaebbcalxngkbphlkarsngektkarepliynaeplngthiepniptamthrrmchatiaelathiepliynenuxngmacakkickrrmmnusyaebbcalxngphumixakasinpccubnihphlkhxnkhangdicakkarepriybethiybkbkarsngektkarnkarepliynaeplngxunhphumikhxngolkinchwngstwrrsthiphanma aetkimsamarthcalxngrupaebbtang khxngphumixakasidhmd 54 aebbcalxngehlaniimsamarthxthibaykhwamphnaeprkhxngphumixakasthiekidkhunrahwangpraman ph s 2453 ph s 2488 idkracang thngdankarepliynaeplngtamthrrmchatiaelacakfimuxmnusy xyangirkdi aebbcalxngkidaenaihehnidwa karrxnkhuntngaetpi ph s 2518 epntnmaekidcakkaraephkhyaykhxngaekseruxnkrackthimacakkickrrmmnusyaebbcalxngphumixakasolkephuxichkhadkhaenphumixakasinxnakhtswnihy cabngkhbihisehtukarncalxngaekseruxnkrackekhaipdwy enuxngcakxangxingtamraynganphiesswadwyehtukarncalxngkarpldplxy SRES Special Report on Emissions Scenarios khxng IPCC aebbcalxngbangswnxacthaodyrwmexakarcalxngwtckrkhxngkharbxnekhamadwy sungodythwipcaidphltxbklbthidi aemkartxbsnxngcaimkhxyaennxnnk phayitsthankarncalxng A2 SRES caihphlkartxbsnxngkhxng CO2 aeprkhaephimkhunrahwang 20 thung 200 ppm karsuksaaebbsngektkarnbangchinkaesdngkarpxnklbxxkmakhxnkhangdi 55 56 57 emkhinaebbcalxng nbepntnehtuhlkkhxngkhwamimaennxnthiichinpccubn aemcamikhwamkawhnainkaraekpyhanimakxyuaelwktam khnaniyngkhngmikarxphipraythkethiyngknxyuwaaebbcalxngphumixakasidlaelyphlpxnklbthangxxmthisakhyaelaphlpxnklbkhxngtwaeprsuriyaiphruxim 58 phlkrathbthiekidkhunaelakhadwacaekid aekikhaemkarechuxmoyngsphawaphumixakasaebbcaephaabangxyangekhakbphawaolkrxncathaidyak aetxunhphumiodyrwmkhxngolkthiephimkhunxacepnehtuihekidphlkrathbinwngkwang sungrwmthungkarthdthxykhxngtharnaaekhng glacial retreat karldkhnadkhxngxarktik Arctic shrinkage aelaradbnathaelkhxngolksungkhun karepliynaeplngkhxnghyadnafathngprimanaelarupaebbxacthaihekidnathwmaelakhwamaehngaelng nxkcakniyngekidkarepliynaeplngthngkhwamthiaelakhwamrunaerngkhxnglmfaxakassudotng extreme weather thiekidbxykhrngkhun phlaebbxun kyngmixikechnkarepliynaeplngprimanphlitphlthangekstr karepliynaeplngkhxngrxngna 59 karldprimannalatharinvdurxn karsuyphnthukhxngsingmichiwitbangchnidaelakarephimkhxngphahanaorkhphlkrathbtxsingaewdlxmthrrmchatiaelatxkardaeninchiwitkhxngmnusy aemcaephiyngelknxy knbwaepnphlswnhnungcakphawaolkrxn raynganchbbhnungkhxng IPCC emuxpi ph s 2544 aecngwakarthdthxykhxngtharnaaekhng karphngthlaykhxngchnnaaekhngdngechnthichnnaaekhnglaresn karephimradbnathael karepliynrupaebbphunthifntk aelakarekidlmfaxakassudotngthirunaerngkhunaelathikhun ehlaninbepnphlsubenuxngcakphawaolkrxnthngsin 60 aemcamikarkhadkarnthungkarepliynaeplngtang thngdanrupaebbthiekid khwamaerngaelakhwamthithiekid aetkarrabuthungsphawathixacekidkhuncakphawaolkrxnxyangechphaaecaacngkyngepnipidyak phlthikhadkhaenxikprakarhnungidaekkarkhadaekhlnnainbangphumiphakh aelakarephimprimanhyadnafainxikaehnghnung hruxkarepliynaeplngprimanhimabnphuekha rwmthungsukhphaphthiesuxmlngenuxngcakxunhphumiolkthiephimkhun 61 karesiychiwitephimkhun karaekngaeyngthixyuxasy aelakhwamesiyhaythangesrsthkicxnenuxngmacaklmfaxakassudotngthiekidcakphawaolkrxn xacyingaeyhnkkhuncakkarephimkhwamhnaaennkhxngprachakrinphumiphakhthiidrbphlkrathb aeminekhtxbxunphlkarkhadkhaenbngwacaidrbpraoychncakphawaolkrxnbang echnmikaresiychiwitcakkhwamhnaweynldnxylng 62 bthsrupkhxngphlkrathbthiepnipidaelakhwamekhaiclasudpraktinraynganphlkarpraeminchbbthi 3 khxng IPPC odyklumthangankhnathi 2 IPCC Third Assessment Report 60 sruprayngankarpraeminphlkrathbchbbthi 4 IPCC Fourth Assessment Report thiihmkwakhxng IPCC raynganwamihlkthanthisngektehnidkhxngphayuhmunekhtrxnthirunaerngmakkhuninekhtmhasmuthraextaelntiktxnehnuxtngaetpraman ph s 2513 sungsmphnthkbkarephimxunhphumikhxngphiwnathael thwakartrwccbephuxduaenwonminrayayawmikhwamyungyaksbsxnmakenuxngcakkhunphaphkhxngkhxmulthiidcakkarekbtampktikhxngkarsngektkarnodydawethiym bthsruprabuwayngimmiaenwonmthiehnidodychdecninkarpramancanwnphayuhmunekhtrxnodyrwmkhxngthngolk 1 phlkrathbthikhadwacaekidkhunxik idaekkarephimradbnathaelcak 110 milliemtripepn 770 milliemtr rahwangchwngpi ph s 2533 thung ph s 2643 63 phlkrathbtxekstrkrrmthiephimmakkhun karhmunewiynkraaesnaxunthichalnghruxxachyudlng karldlngkhxngchnoxosn karekidphayuehxrriekhnaelaehtukarnlmfaxakassudotngthirunaerngmakkhun khakhwamepnkrd dangkhxngnathaelldlng aelakaraephrrabadkhxngorkhtang echn malaeriyaelaikheluxdxxk karsuksachinhnungthanaywacamistwaelaphuchcaktwxyang 1 103 chnidsuyphnthuiprahwang 18 thung 35 phayin ph s 2593 tamphlkarkhadkhaenphumixakas 64 xyangirktam phlkarsuksaxyangepnrupthrrmekiywkbkarsuyphnthuxnenuxngmacakkarepliynaeplngphumixakasinchwngthiphanmayngminxymak 65 aelahnunginnganwicyehlanirabuwa xtrakarsuyphnthuthikhadkarnkniwniyngmikhwamimaennxnsung 66 esrsthkic aekikh nkesrsthsastrbangkhnphyayamthicapramankhakhwamesiyhayrwmxnekidcakkarepliynaeplngkhxngphumixakasthwolk karpramankhadngklawyngimsamarthipthungkhxsrupthichdecnid inkarsarwckarpramankha 100 khrng mulkhakhwamesiyhayerimtngaet 10 dxllarshrth txkharbxnhnungtn tC hrux 3 dxllarshrth txkharbxnidxxkisdhnungtn ipcnthung 350 ehriyy txkharbxnhnungtn hrux 95 ehriyy txkharbxnidxxkisdhnungtn 62 odymikhaklangxyuthi 43 ehriyy txkharbxnhnungtn 12 ehriyy txkharbxnidxxkisdhnungtn raynganthitiphimphaephrhlaymakchinhnungekiywkbkhwamepnipidkhxngphlkrathbthangesrsthkickhux setirnriwiw idaenawaphawalmfaxakassudotngxacldphlitphnthmwlrwminpraethskhxngolklngidthung 1 aelainkrnisthankarncalxngthiaeythisudkhuxkhakarbriophkhraybukhkhlkhxngolk global per capita consumption xacldlngthung 20 67 withiwicykhxngrayngan khxaenanaaelakhxsrupthukwiphakswicarnodynkesrsthsastrthanxunhlaykhn sungswnihyklawthungsmmutithankarsxbthankhxngkarihkhaswnldaelakareluxkehtukarncalxng 68 inkhnathikhnxun snbsnunkhwamphyayaminkaraeckaecngkhwamesiyngthangesrsthkicaemcaimidtwelkhthithuktxngxxkmaktam 69 70 inkhxsrupkhakhwamesiyhaythangesrsthkicthiekiywkhxngkbkarepliynaeplngphumixakas okhrngkarsingaewdlxmshprachachati United Nations Environment Programme ihkhwamsakhykbkhwamesiyngkhxngphuprakn phupraknihmaelathnakharekiywkbkhwamesiyhaycaksthankarnlmfaxakasthiephimmakkhun inphakhesrsthkicxunkmithithathicaprasbkhwamyaklabakekiywkbkarepliynaeplngkhxngphumixakas rwmthngkarekstrkrrmaelakarkhnsngsungtkxyuinphawakaresiyngepnxyangmakthangesrsthkic 71 khwammnkhng aekikh emuxeduxnphvscikayn ph s 2550 sunyephuxyuththsastraelananachatisuksa Center for Strategic and International Studies aela sunyephuxkhwammnkhngihmkhxngxemrika Center for a New American Security idtiphimphraynganennphlkrathbkhxngkarepliynaeplngphumixakasthimitxkhwammnkhngkhxngchati 72 phlkrathbtxkhwammnkhngdngklawrwmthungkarephimkaraekhngkhnthangthrphyakrrahwangpraeths karxphyphkhxngphukhncanwnmhasalcakphunthithiidrbphlkrathbhnksud khwamthathaytxkarrwmtwknkhxngpraethssakhythienuxngmacakradbnathaelthisungkhun aelacakphlkrathbtxenuxngkhxngpccytang dngklaw khwamesiyngtxkarichxawuthinkarsurbknrwmthngkhwamesiyngcakkhwamkhdaeyngthangxawuthniwekhliyrkarprbtwaelakarbrretha aekikhdubthkhwamhlkthi phithisarekiywot karthinkwithyasastrdanphumixakasehnphxngtxngknwaxunhphumikhxngolkcarxnkhunxyangtxenuxng miphlthaihchatitang bristhaelabukhkhltang canwnmakerimlngmuxptibtiephuxhyudkarrxnkhunkhxngolkhruxhawithiaekikhxyangcringcng nksingaewdlxmhlayklumsnbsnunihmiptibtikartxsukbphawaolkrxn mihlayklumthithaodyphubriophkh rwmthngchumchnaelaxngkhkarinphumiphakhtang mikaraenanawaihmikarkahndokhwtakarphlitechuxephlingfxssil odyxangwakarphlitmikhwamsmphnthodytrngkbkarpldplxy CO2 73 74 inphakhthurkickmiaephnptibtikarephuxtxbsnxngphawakarepliynaeplngphumixakasdwyechnkn sungrwmthungkhwamphyayamephimprasiththiphaphdanphlngnganaelakarmungichphlngnganthangeluxk nwtkrrmsakhychinhnungidaekkarphthnarabbkarsuxaelkkarpldplxyaekseruxnkrack Emissions trading odybristhkbrthbalrwmknthakhwamtklngephuxldhruxelikkarplxyaekseruxnkrackihxyuincanwnthikahndhruxmichannkichwithi suxekhrdit cakbristhxunthipldplxyaekseruxnkracktakwaprimankahndkhxtklngaerk khxngolkwadwykartxsuephuxldaekseruxnkrackkhux phithisarekiywot sungepnkaraekikh krxbngankarprachumihykhxngshprachachatiwadwykarepliynaeplngphumixakas UNFCCC sungecrcatxrxngaelatklngknemux ph s 2540 pccubnphithisardngklawkhrxbkhlumpraethstang thwolkmakkwa 160 praethsaelarwmprimankarpldplxyaekseruxnkrackmakkwa 65 khxngthngolk 75 miephiyngshrthxemrikaaelakhaskhsthansxngpraethsthiyngimihstyabn shrthxemrikaepnpraethsthiplxyaekseruxnkrackmakthisudinolk snthisyyanicahmdxayuinpi ph s 2555 aelaidmikarecrcarahwangchatithierimemuxeduxnphvsphakhm ph s 2550 ephuxrangsnthisyyainxnakhtephuxichaethnchbbpccubn 76 prathanathibdi cxrc dbebilyu buch xangwaphithisarekiywotimyutithrrmaelawithithiichnnimidphlinkartxsukbkarepliynaeplngkhxngphumixakasolk praethsshrth caidrbphlkrathbthangesrsthkicxyangrunaerngephraayngmikarykewnihpraethsxun inolkmakkwa 80 khxngpraethsthilngnamrwmthnghmd praethsthiepnsunyrwmprachakrthiihythisudinolkkhux cin aela xinediy 77 aetkrann kyngmirthaelarthbalthxngthincanwnmakinshrth thirierimokhrngkarrnrngkhwangaenwptibtikhxngtnexngihepniptamphithisarekiywot twxyangechn karrierimaekseruxnkrackphumiphakh sungepnopraekrmkarhyudaelasuxekhrditkarplxyaekseruxnkrackradbrthsungprakxbdwyrthtang inphakhtawnxxkechiyngehnuxkhxngshrth cdtngemuxwnthi 20 thnwakhm ph s 2548 78 aemcinaelaxinediycaidrbkarykewninthanakhxngpraethskalngphthna aetthngsxngpraethskidihstyabninphithisarekiywotaelw khnani cinxacplxyaekseruxnkrackrwmtxpiinprimanaesngshrth ipaelw tamphlkarsuksaemuxerw ni naykrthmntriehwin eciyepaideriykrxngihldkarpldplxyepnsxngethaephuxtxsukbpyhamlphisaelaphawaolkrxn 79 khnathanganklumthi 3 khxng IPCC rbphidchxbtxkartharaynganekiywkbkarbrrethaphawaolkrxnaelawiekhraahkhaichcayaelaphldikhxngaenwthangtang emux ph s 2550 inraynganphlkarpraeminkhxng IPCC idsrupwaimmiethkhonolyiidephiynghnungediywthisamarthrbphidchxbaephnbrrethakarrxnkhunkhxngbrryakasinxnakhtidthnghmd phwkekhaphbwamiaenwptibtithisakhyaelaethkhonolyihlayxyanginhlay xutsahkrrm echn karsngcayphlngngan karkhnsng karxutsahkrrm aelakarekstrkrrm thikhwrnamaichephuxldkarpldplxyaekseruxnkrack inraynganpraeminwa karethiybethakharbxnidxxkisd Carbon dioxide equivalent CDE inphawaesthiyrrahwang 445 aela 710 swninlanswninpi ph s 2573 cathaihkhaphlitphnthmwlrwm GDP khxngolkaeprxyurahwangkarephimkhun 0 6 aelaldlng 3 80 karxphipraythangsngkhmaelakaremuxng aekikh karpldplxyaekseruxnkracktxhwinpi ph s 2543 karpldplxyaekseruxnkracktxpraethsinpi ph s 2543 chwnghlaypithiphanma karrbruaelathsnkhtikhxngsatharnchninkhwamhwngiytxsaehtuaelakhwamsakhykhxngphawaolkrxnidepliynaeplngipmak 81 karkhnphbthangwithyasastrdantang ekiywkbphawaolkrxnthiephimmakkhunthaihsatharnchnerimtrahnkaelamikarxphipraythangkaremuxngaelaesrsthkicxyangkwangkhwang praethsinphumiphakhtang thiyakcn odyechphaaaethbaexfrikaduehmuxncamikhwamesiyngmakinkaridrbphlkrathbcakphawaolkrxn thngthitnexngplxyaekseruxnkrackxxkmanxymakemuxethiybkbpraethsthiphthnaaelw 82 inkhnaediywknpraethskalngphthnathiidrbkarykewnkarptibtitamphithisarekiywotkthukwiphakswicarnmakcakpraethsshrthaelaxxsetreliy aelathaihshrth namaxangepnswnhnungkhxngehtuphlthiyngimyxmihstyabninphithisardngklaw 83 inolktawntk aenwkhidthiwamnusymiswnsakhythithaihphumixakasepliynaeplngidrbkaryxmrbxyangkwangkhwanginyuorpmakkwainshrth 84 85 praednpyhakarepliynaeplngphumixakasidcudprakayihekidkarxphiprayephuxchngnahnkphldicakkarcakdkarpldplxyaekseruxnkrackthangxutsahkrrmaelaaekseruxnkrackkbkhaichcaykhxngkarcakddngklawthicaekidkhun idmikarthkethiyngkninhlaypraethsekiywkbpraoychnthicaidrbkbkhaichcaythicaekidkhuncakkarrbexaphlngnganthangeluxkchnidtang thinamaichephuxldkarpldplxykharbxn 86 xngkhkaraelabristh echn sthabnwisahkickaraekhngkhn Competitive Enterprise Institute aelaexkssxnombil ExxonMobil idennsthankarncalxngkarepliynaeplngkhxngphumixakasechingxnurksniym inkhnaediywknkennihehnaenwonmkhaichcaythangesrsthkickhxngkarkhwbkhumthiekhmngwdekinip 87 88 89 90 inthanxngediywknkmikarecrcathangsingaewdlxmhlayfay aelaphumibthbathedninsatharnahlaykhnphaknrnrngkhihehnthungaenwonmkhwamesiyngcakkarepliynaeplngkhxngphumixakasaelaesnxihmimatrkarkhwbkhumthiekhmngwdkhunihekidkarptibtixyangcringcng bristhechuxephlingfxssilbangaehngidekharwmodykarldkhnadkalngekhruxngckrkhxngtnlnginrxbhlaypithiphanma 91 hruxeriykrxngihminoybayldphawaolkrxn 92 xikpraednhnungthixphiprayknkkhux klumpraethsesrsthkicphthnaihm newly developed economies echn xinediyaelacinkhwrbngkhbradbkarpldplxyaekseruxnkrackskethaid khadknwakarplxykharbxnidxxkisdrwmkhxngpraethscincasungkwaxtrakarplxykhxngshrth phayinimkipikhanghnani aelabangthiehtukarnnnxacekidkhunipaelwdwytamraynganemux ph s 2549 93 aetcinyunynwatnmikhxsyyainkarldkarpldplxynxykwathipramankn ephraaemuxkhidxtrakarplxytxrayhwaelwpraethskhxngtnyngmixtranxykwashrth thunghnungtxha 94 xinediysungidrbkarykewncakkhxcakdrwmthngaehlngxutsahkrrmkhnadihyxun hlayaehngkidyunynxangsiththiinthanxngediywkn 95 xyangirkdi shrth idyunyntxsuwathatncatxngaebkrbpharakhaichcayinkarldkarpldplxyaekseruxnkrack cinkkhwrtxngrbpharanidwy 96 praednpyhaphumixakasthiekiywkhxng aekikhmipraednpyhaxun xikmakthiykkhunmawaekiywkhxngkbphawaolkrxn hnunginnnkhuxkarepnkrdkhxngmhasmuthr ocean acidification karephim CO2 inbrryakasepnkarephim CO2 thilalayinnathael 97 CO2 thilalayinnathaelthaptikiriyakbnaklayepnkrdkharbxnik sungthaihmhasmuthrmikhwamepnkrdmakkhun phlkarsuksapraeminwa kha pH thiphiwthaelemuxkhrngerimyukhxutsahkrrmmikha 8 25 aelaidldlngmaepn 8 14 inpi ph s 2547 98 khadwakha pH caldlngxikxyangnxy 0 14 thung 0 5 hnwy phayinpi ph s 2643 enuxngcakmhasmuthrdudsb CO2 makkhun 1 99 thwasingmichiwitculchiphaelarabbniewscadarngxyuidinchwng pH aekhb praktkarnnicungxacthaihekidpyhakarsuyphnthu xnepnphlodytrngcakkarephimpriman CO2 inbrryakas phlkrathbthitammakkhuxhwngosxaharcamikarepliynaeplng sungxacsngphlodytrngtxsngkhmmnusythitxngphungpharabbniewsthangthaelxyumak 100 olkhrilng Global dimming hruxkarkhxy ldlngkhxngkhwamrbxabrngsi irradiance thiphiwkhxngolkxacmiswninkarbrrethaphawaolkrxninchwnghlngkhxngkhriststwrrsthi 20 praman ph s 2490 epntnma cakpi ph s 2503 ph s 2533 laxxnglxythiepnkickrrmkhxngmnusymiswnthaihekidphlkrathbni nkwithyasastridaethlngdwykhwammnic 66 90 walaxxnglxyodymnusyrwmkbphlkhxngphuekhaifmiswnthaihphawaolkrxnldlngbangswn aelawaaekseruxnkracknacathaiholkrxnmakkwathisngektidthaimmipccy olkhrilng machwy 1 karldlngkhxngoxosn Ozone depletion karthiprimanrwmkhxngoxosninbrryakaschnstraotsefiyrldlngxyangsmaesmxthukrabuwaepnsaehtukhxngphawaolkrxnxyubxykhrng thungaemwacamikhwamechuxmoyngknxyucring aetkhwamekiywkhxngrahwangpraktkarnthngsxngnikyngimhnkaennphxduephim aekikhkhxnesirtilfexirthsrangbanxyangirchwyldolkrxnxangxing aekikh 1 0 1 1 1 2 1 3 1 4 1 5 1 6 1 7 1 8 Summary for Policymakers PDF Climate Change 2007 The Physical Science Basis Contribution of Working Group I to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change 2007 02 05 subkhnemux 2007 02 02 aenwonmin 100 pi 1906 2005 thi 0 74 xngsaeslesiys 0 56 0 92 xngsaeslesiys idmakkhunkwaaenwonmthisxdkhlxngkhxng pi 1901 2000 khxngxunhphumiechliythi 0 6 xngsaeslesiys 0 4 0 8 xngsaeslesiys Hegerl Gabriele C 2007 05 07 Understanding and Attributing Climate Change PDF Climate Change 2007 The Physical Science Basis Contribution of Working Group I to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change p 690 subkhnemux 2007 05 20 Ammann Caspar 2007 04 06 Solar influence on climate during the past millennium Results from ransient simulations with the NCAR Climate Simulation Model PDF Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 104 10 3713 3718 However because of a lack of interactive ozone the model cannot fully simulate features discussed in 44 While the NH temperatures of the high scaled experiment are often colder than the lower bound from proxy data the modeled decadal scale NH surface temperature for the medium scaled case falls within the uncertainty range of the available temperature reconstructions The medium scaled simulation also broadly reproduces the main features seen in the proxy records Without anthropogenic forcing the 20th century warming is small The simulations with only natural forcing components included yield an early 20th century peak warming of 0 2 C 1950 AD which is reduced to about half by the end of the century because of increased volcanism Don t fight adapt National Post December 2007 subkhnemux 2007 11 18 A guide to facts and fictions about climate change Royal Society March 2005 subkhnemux 2007 11 18 xyangirktam nkwithyasastrswnihythithanganekiywkbkarepliynaeplngkhxngxakaskehndwykbpraednhlk Beyond the Ivory Tower The Scientific Consensus on Climate Change Science Magazine December 2004 subkhnemux 2008 01 04 Climate Change Basic Information United States Environmental Protection Agency 2006 12 14 subkhnemux 2007 02 09 United Nations Framework Convention on Climate Change Article I United Nations Framework Convention on Climate Change subkhnemux 2007 01 15 Berger A 2005 12 10 On the origin of the 100 kyr cycles in the astronomical forcing Paleoceanography 20 4 PA4019 subkhnemux 2007 11 05 Genthon C 1987 10 01 Vostok Ice Core Climatic response to CO2 and orbital forcing changes over the last climatic cycle Nature 329 6138 414 418 subkhnemux 2007 11 05 Alley Richard B 2002 A northern lead in the orbital band north south phasing of Ice Age events Quaternary Science Reviews 21 1 3 431 441 subkhnemux 2007 11 05 Unknown parameter month ignored help Robock Alan and Clive Oppenheimer Eds 2003 Volcanism and the Earth s Atmosphere Geophysical Monograph 139 American Geophysical Union Washington DC 360 pp Joint science academies statement The science of climate change ASP Royal Society 2001 05 17 subkhnemux 2007 04 01 Rising to the climate challenge Nature 449 7164 755 2007 10 18 subkhnemux 2007 11 06 Svensmark Henrik 2007 Cosmoclimatology a new theory emerges PDF Astronomy amp Geophysics 48 1 18 24 doi 10 1111 j 1468 4004 2007 48118 x Unknown parameter month ignored help Forster Piers 2007 02 05 Changes in Atmospheric Constituents and in Radiative Forcing PDF Climate Change 2007 The Physical Science Basis Contribution of Working Group I to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change pp 188 193 subkhnemux 2007 09 17 Bard Edouard Frank Martin 2006 06 09 Climate change and solar variability What s new under the sun PDF Earth and Planetary Science Letters 248 1 2 1 14 subkhnemux 2007 09 17 Meehl Gerald A 2005 03 18 How Much More Global Warming and Sea Level Rise PDF Science 307 5716 1769 1772 doi 10 1126 science 1106663 subkhnemux 2007 02 11 sntirks eswtxacha pthmbthaehnghayna phawaolkrxn nitysartwytunphiess chbbthi 390 eduxnsinghakhm 2550 hna 21 26 IPCC WG1 AR4 Report Chapter 1 Historical Overview of Climate Change Science PDF IPCC WG1 AR4 Report IPCC 2007 pp p97 pdf page 5 of 36 subkhnemux 2007 10 07 CS1 maint extra text link Kiehl J T Kevin E Trenberth 1997 Earth s Annual Global Mean Energy Budget PDF Bulletin of the American Meteorological Society 78 2 197 208 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2008 06 24 subkhnemux 2006 05 01 Unknown parameter month ignored help Water vapour feedback or forcing RealClimate 6 Apr 2005 subkhnemux 2006 05 01 Pearson Paul N Palmer Martin R 2000 08 17 Atmospheric carbon dioxide concentrations over the past 60 million years Nature 406 6797 695 699 doi 10 1038 35021000 Summary for Policymakers Climate Change 2001 The Scientific Basis Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change 2001 01 20 subkhnemux 2007 01 18 Tans Pieter Trends in Atmospheric Carbon Dioxide Mauna Loa National Oceanic and Atmospheric Administration subkhnemux 2007 04 28 Prentice I Colin 2001 01 20 3 7 3 3 SRES scenarios and their implications for future CO2 concentration Climate Change 2001 The Scientific Basis Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2006 12 08 subkhnemux 2007 04 28 4 4 6 Resource Availability IPCC Special Report on Emissions Scenarios Intergovernmental Panel on Climate Change subkhnemux 2007 04 28 28 0 28 1 Soden Brian J Held Isacc M 2005 11 01 An Assessment of Climate Feedbacks in Coupled Ocean Atmosphere Models PDF Journal of Climate 19 14 3354 3360 subkhnemux 2007 04 21 Interestingly the true feedback is consistently weaker than the constant relative humidity value implying a small but robust reduction in relative humidity in all models on average clouds appear to provide a positive feedback in all models Stocker Thomas F 2001 01 20 7 5 2 Sea Ice Climate Change 2001 The Scientific Basis Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2017 01 19 subkhnemux 2007 02 11 Sample Ian 2005 08 11 Warming Hits Tipping Point The Guardian subkhnemux 2007 01 18 Buesseler Ken O 2007 04 27 Revisiting Carbon Flux Through the Ocean s Twilight Zone Science 316 5824 567 570 subkhnemux 2007 11 16 Scafetta Nicola West Bruce J 2006 03 09 Phenomenological solar contribution to the 1900 2000 global surface warming PDF Geophysical Research Letters 33 5 doi 10 1029 2005GL025539 L05708 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2016 10 01 subkhnemux 2007 05 08 Stott Peter A 2003 12 03 Do Models Underestimate the Solar Contribution to Recent Climate Change PDF Journal of Climate 16 24 4079 4093 doi 10 1175 1520 0442 2003 016 3C4079 DMUTSC 3E2 0 CO 2 Check doi value help subkhnemux 2007 04 16 Marsh Nigel Henrik Svensmark 2000 Cosmic Rays Clouds and Climate PDF Space Science Reviews 94 1 2 215 230 doi 10 1023 A 1026723423896 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2008 05 27 subkhnemux 2007 04 17 Unknown parameter month ignored help Svensmark Henrik 2000 Cosmic Rays and Earth s Climate PDF Space Science Reviews 93 1 2 175 185 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2003 12 29 subkhnemux 2007 09 17 Unknown parameter month ignored help Climate Change 2001 Working Group I The Scientific Basis Fig 2 12 2001 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2016 06 02 subkhnemux 2007 05 08 http www nas nasa gov About Education Ozone history html Foukal Peter 2006 09 14 Variations in solar luminosity and their effect on the Earth s climate Nature subkhnemux 2007 04 16 Lockwood Mike Claus Frohlich Recent oppositely directed trends in solar climate forcings and the global mean surface air temperature PDF Proceedings of the Royal Society A doi 10 1098 rspa 2007 1880 subkhnemux 2007 07 21 Our results show that the observed rapid rise in global mean temperatures seen after 1985 cannot be ascribed to solar variability whichever of the mechanisms is invoked and no matter how much the solar variation is amplified http www spacecenter dk publications scientific report series Scient No 3 pdf view Working group I section 3 2 2 2 of the 2007 IPPC page 243 Smith Thomas M Reynolds Richard W 2005 05 15 A Global Merged Land Air Sea Surface Temperature Reconstruction Based on Historical Observations 1880 1997 PDF Journal of Climate 18 12 2021 2036 ISSN 0894 8755 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2008 12 21 subkhnemux 2007 03 14 Rowan T Sutton Buwen Dong Jonathan M Gregory 2007 Land sea warming ratio in response to climate change IPCC AR4 model results and comparison with observations Geophysical Research Letters 34 doi 10 1029 2006GL028164 subkhnemux 2007 09 19 CS1 maint multiple names authors list link Hansen James E 2006 01 12 Goddard Institute for Space Studies GISS Surface Temperature Analysis NASA Goddard Institute for Space Studies subkhnemux 2007 01 17 Check date values in date help Global Temperature for 2005 second warmest year on record PDF Climatic Research Unit School of Environmental Sciences University of East Anglia 2005 12 15 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2009 03 25 subkhnemux 2007 04 13 Check date values in date help WMO STATEMENT ON THE STATUS OF THE GLOBAL CLIMATE IN 2005 PDF World Meteorological Organization 2005 12 15 subkhnemux 2007 04 13 Mitchell J F B 2001 01 20 12 4 3 3 Space time studies Climate Change 2001 The Scientific Basis Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2007 07 11 subkhnemux 2007 01 04 Ruddiman William F March 2005 How Did Humans First Alter Global Climate PDF Scientific American 292 3 46 53 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2007 03 04 subkhnemux 2007 03 05 Schmidt Gavin 2004 12 10 A note on the relationship between ice core methane concentrations and insolation Geophysical Research Letters 31 23 doi 10 1029 2004GL021083 L23206 subkhnemux 2007 03 05 Hansen James 2006 09 26 Global temperature change PDF PNAS 103 39 14288 14293 subkhnemux 2007 04 20 Text doi 10 1073 pnas 060291103 ignored help The Open University Provides Answers on Global Warming PDF Press release Open University 2004 01 30 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2009 03 16 subkhnemux 2007 03 04 Cohen Anthony S 2004 Osmium isotope evidence for the regulation of atmospheric CO2 by continental weathering PDF Geology 32 2 157 160 doi 10 1130 G20158 1 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2007 06 04 subkhnemux 2007 03 04 Unknown parameter month ignored help Hansen James 2000 Climatic Change Understanding Global Warming One World The Health amp Survival of the Human Species in the 21st Century Health Press subkhnemux 2007 08 18 Summary for Policymakers Climate Change 2001 The Scientific Basis Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change 2001 01 20 subkhnemux 2007 04 28 Torn Margaret Harte John 2006 05 26 Missing feedbacks asymmetric uncertainties and the underestimation of future warming Geophysical Research Letters 33 10 L10703 subkhnemux 2007 03 04 Harte John 2006 10 30 Shifts in plant dominance control carbon cycle responses to experimental warming and widespread drought Environmental Research Letters 1 1 014001 subkhnemux 2007 05 02 Scheffer Marten 2006 05 26 2 GRL in press pdf Positive feedback between global warming and atmospheric CO2 concentration inferred from past climate change PDF Geophysical Research Letters 33 doi 10 1029 2005gl025044 subkhnemux 2007 05 04 Stocker Thomas F 2001 01 20 7 2 2 Cloud Processes and Feedbacks Climate Change 2001 The Scientific Basis Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change subkhnemux 2007 03 04 Macey Jennifer September 19 2007 Global warming opens up Northwest Passage ABC News subkhnemux 2007 12 11 60 0 60 1 Climate Change 2001 Impacts Adaptation and Vulnerability Contribution of Working Group II to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change 2001 02 16 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2007 03 03 subkhnemux 2007 03 14 McMichael AJ Woodruff RE Hales S 2006 Climate change and human health present and future risks Lancet 367 9513 859 69 doi 10 1016 S0140 6736 06 68079 3 Check doi value help PMID 16530580 CS1 maint multiple names authors list link 62 0 62 1 Summary for Policymakers PDF Climate Change 2007 Impacts Adaptation and Vulnerability Working Group II Contribution to the Intergovernmental Panel on Climate Change Fourth Assessment Report Intergovernmental Panel on Climate Change 2007 04 13 subkhnemux 2007 04 28 Church John A 2001 01 20 Executive Summary of Chapter 11 Climate Change 2001 The Scientific Basis Contribution of Working Group I to the Third Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2008 09 25 subkhnemux 2005 12 19 Thomas Chris D 2004 01 08 Extinction risk from climate change PDF Nature 427 6970 145 138 doi 10 1038 nature02121 subkhnemux 2007 03 18 Check date values in date help McLaughlin John F 2002 04 30 Climate change hastens population extinctions PDF PNAS 99 9 6070 6074 doi 10 1073 pnas 052131199 subkhnemux 2007 03 29 Check date values in date help Botkin Daniel B 2007 Forecasting the Effects of Global Warming on Biodiversity PDF BioScience 57 3 227 236 doi 10 1641 B570306 subkhnemux 2007 11 30 Unknown parameter month ignored help At a glance The Stern Review BBC 2006 10 30 subkhnemux 2007 04 29 Tol and Yohe 2006 A Review of the Stern Review World Economics 7 4 233 50 See also other critiques inWorld Economics 7 4 Brad DeLong Do unto others John Quiggin Stern and the critics on discounting Dlugolecki Andrew 2002 Climate Risk to Global Economy PDF CEO Briefing UNEP FI Climate Change Working Group United Nations Environment Programme subkhnemux 2007 04 29 Kurt M Campbell Jay Gulledge J R McNeill John Podesta Peter Ogden Leon Fuerth R James Woolsey Alexander T J Lennon Julianne Smith Richard Weitz Derek Mix Oktober 2007 The Age of Consequences The Foreign Policy and National Security Implications of Global Climate Change PDF subkhnemux 2007 11 06 Check date values in date help CS1 maint multiple names authors list link Climate Control a proposal for controlling global greenhouse gas emissions PDF Sustento Institute khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2016 01 30 subkhnemux 2007 12 10 Monbiot George Rigged The climate talks are a stitch up as no one is talking about supply HTML subkhnemux 2007 12 22 Kyoto Protocol Status of Ratification PDF United Nations Framework Convention on Climate Change 2006 07 10 subkhnemux 2007 04 27 Climate talks face international hurdles by Arthur Max Associated press 5 14 07 George W Bush March 13 2001 Text of a Letter from the President to Senators Hagel Helms Craig and Roberts Office of the Press Secretary subkhnemux 2007 11 21 Regional Greenhouse Gas Initiative subkhnemux 2006 11 07 www planetark com dailynewsstory cfm newsid 43027 story htm subkhnemux 2007 07 27 Summary for Policymakers PDF Climate Change 2007 The Physical Science Basis Contribution of Working Group III to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change Intergovernmental Panel on Climate Change 2007 05 04 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2008 12 30 subkhnemux 2007 12 09 Weart Spencer 2006 The Public and Climate Change in Weart Spencer b k The Discovery of Global Warming American Institute of Physics subkhnemux 2007 04 14 Revkin Andrew 2007 04 01 Poor Nations to Bear Brunt as World Warms The New York Times subkhnemux 2007 05 02 Brahic Catherine 2006 04 25 China s emissions may surpass the US in 2007 New Scientist subkhnemux 2007 05 02 Crampton Thomas 2007 01 04 More in Europe worry about climate than in U S poll shows International Herald Tribune subkhnemux 2007 04 14 Summary of Findings Little Consensus on Global Warming Partisanship Drives Opinion sankwicyphiw 2006 07 12 subkhnemux 2007 04 14 EU agrees on carbon dioxide cuts BCC 2007 03 09 subkhnemux 2007 05 04 Check date values in date help Begley Sharon 2007 08 13 The Truth About Denial Newsweek subkhnemux 2007 08 13 Adams David 2006 09 20 Royal Society tells Exxon stop funding climate change denial The Guardian subkhnemux 2007 08 09 Exxon cuts ties to global warming skeptics MSNBC 2007 01 12 subkhnemux 2007 05 02 Check date values in date help Sandell Clayton 2007 01 03 Report Big Money Confusing Public on Global Warming ABC subkhnemux 2007 04 27 Check date values in date help Greenpeace Exxon still funding climate skeptics USA TODAY 2007 05 18 subkhnemux 2007 07 09 Global Warming Resolutions at U S Oil Companies Bring Policy Commitments from Leaders and Record High Votes at Laggards Press release Ceres April 28 2004 subkhnemux 2007 07 27 Group China tops world in CO2 emissions Associated Press 2007 06 20 subkhnemux 2007 10 16 Group China surpassed US in carbon emissions in 2006 Dutch report Reuters 2007 06 20 subkhnemux 2007 10 16 China US should take lead on climate by Michael Casey Associated Press 12 7 07 India s glaciers give grim message on warming by Somni Sengupta 7 17 07 New York Times via oregonlive com Chinese object to climate draft BBC 5 1 07 In Battle for U S Carbon Caps Eyes and Efforts Focus on China by Steven Mufson Washington Post 6 6 07 The Ocean and the Carbon Cycle NASA 2005 06 21 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2007 02 11 subkhnemux 2007 03 04 Check date values in date help Jacobson Mark Z 2005 04 02 Studying ocean acidification with conservative stable numerical schemes for nonequilibrium air ocean exchange and ocean equilibrium chemistry PDF Journal of Geophysical Research 110 D7 doi 10 1029 2004JD005220 D07302 subkhnemux 2007 04 28 Check date values in date help Caldeira Ken Wickett Michael E 2005 09 21 Ocean model predictions of chemistry changes from carbon dioxide emissions to the atmosphere and ocean Journal of Geophysical Research 110 C09S04 1 12 subkhnemux 2006 02 14 Text doi 10 1029 2004JC002671 ignored help Raven John A 2005 06 30 Ocean acidification due to increasing atmospheric carbon dioxide ASP Royal Society subkhnemux 2007 05 04 Cite journal requires journal help Check date values in date help hnngsuxxanephimetim aekikhAssociation of British Insurers 2005 06 Financial Risks of Climate Change PDF Check date values in year help Barnett Tim P J C Adam D P Lettenmaier 2005 11 17 Potential impacts of a warming climate on water availability in snow dominated regions Nature 438 7066 303 309 doi 10 1038 nature04141 Check date values in date help Behrenfeld Michael J Robert T O Malley David A Siegel Charles R McClain Jorge L Sarmiento Gene C Feldman Allen G Milligan Paul G Falkowski Ricardo M Letelier Emanuel S Boss 2006 12 07 Climate driven trends in contemporary ocean productivity PDF Nature 444 7120 752 755 doi 10 1038 nature05317 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2016 04 15 subkhnemux 2008 01 20 Check date values in date help Choi Onelack Ann Fisher May 2005 The Impacts of Socioeconomic Development and Climate Change on Severe Weather Catastrophe Losses Mid Atlantic Region MAR and the U S Climate Change 58 1 2 149 170 doi 10 1023 A 1023459216609 lingkesiy Dyurgerov Mark B Mark F Meier 2005 Glaciers and the Changing Earth System a 2004 Snapshot PDF Institute of Arctic and Alpine Research Occasional Paper 58 ISSN 0069 6145 Emanuel Kerry A 2005 08 04 Increasing destructiveness of tropical cyclones over the past 30 years PDF Nature 436 7051 686 688 doi 10 1038 nature03906 Hansen James Larissa Nazarenko Reto Ruedy Makiko Sato Josh Willis Anthony Del Genio Dorothy Koch Andrew Lacis Ken Lo Surabi Menon Judith Perlwitz Gary Russell Gavin A Schmidt Nicholas Tausnev 2005 06 03 Earth s Energy Imbalance Confirmation and Implications PDF Science 308 5727 1431 1435 doi 10 1126 science 1110252 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2009 09 30 subkhnemux 2008 01 20 Hinrichs Kai Uwe Laura R Hmelo Sean P Sylva 2003 02 21 Molecular Fossil Record of Elevated Methane Levels in Late Pleistocene Coastal Waters Science 299 5610 1214 1217 doi 10 1126 science 1079601 Hirsch Tim 2006 01 11 Plants revealed as methane source BBC Hoyt Douglas V Kenneth H Schatten 1993 11 A discussion of plausible solar irradiance variations 1700 1992 Journal of Geophysical Research 98 A11 18 895 18 906 Check date values in year help Kenneth James P Kevin G Cannariato Ingrid L Hendy Richard J Behl 2003 02 14 Methane Hydrates in Quaternary Climate Change The Clathrate Gun Hypothesis American Geophysical Union Keppler Frank Marc Brass Jack Hamilton Thomas Rockmann 2006 01 18 Global Warming The Blame Is not with the Plants Max Planck Society Kurzweil Raymond 2006 07 Nanotech Could Give Global Warming a Big Chill PDF Forbes Wolfe Nanotech Report 5 7 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2011 07 15 subkhnemux 2008 01 20 Check date values in year help Lean Judith L Y M Wang N R Sheeley 2002 12 The effect of increasing solar activity on the Sun s total and open magnetic flux during multiple cycles Implications for solar forcing of climate Geophysical Research Letters 29 24 doi 10 1029 2002GL015880 Check date values in year help Lerner K Lee Brenda Wilmoth Lerner 2006 07 26 Environmental issues essential primary sources Thomson Gale ISBN 1414406258 McLaughlin Joseph B Angelo DePaola Cheryl A Bopp Karen A Martinek Nancy P Napolilli Christine G Allison Shelley L Murray Eric C Thompson Michele M Bird John P Middaugh 2005 10 06 Outbreak of Vibrio parahaemolyticus gastroenteritis associated with Alaskan oysters New England Journal of Medicine New England Medical Society 353 14 1463 1470 online version requires registration Muscheler Raimund Fortunat Joos Simon A Muller Ian Snowball 2005 07 28 Climate How unusual is today s solar activity PDF Nature 436 7012 1084 1087 doi 10 1038 nature04045 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2006 01 08 subkhnemux 2008 01 20 Oerlemans J 2005 04 29 Extracting a Climate Signal from 169 Glacier Records PDF Science 308 5722 675 677 doi 10 1126 science 1107046 Oreskes Naomi 2004 12 03 Beyond the Ivory Tower The Scientific Consensus on Climate Change PDF Science 306 5702 1686 doi 10 1126 science 1103618 Purse Bethan V Philip S Mellor David J Rogers Alan R Samuel Peter P C Mertens Matthew Baylis February 2005 Climate change and the recent emergence of bluetongue in Europe Nature Reviews Microbiology 3 2 171 181 doi 10 1038 nrmicro1090 Revkin Andrew C 2005 11 05 Rise in Gases Unmatched by a History in Ancient Ice The New York Times Ruddiman William F 2005 12 15 Earth s Climate Past and Future New York Princeton University Press ISBN 0 7167 3741 8 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2006 01 08 subkhnemux 2008 01 20 Ruddiman William F 2005 08 01 Plows Plagues and Petroleum How Humans Took Control of Climate New Jersey Princeton University Press ISBN 0 691 12164 8 Solanki Sami K I G Usoskin B Kromer M Schussler J Beer 2004 10 23 Unusual activity of the Sun during recent decades compared to the previous 11 000 years PDF Nature 431 1084 1087 doi 10 1038 nature02995 Solanki Sami K I G Usoskin B Kromer M Schussler J Beer 2005 07 28 Climate How unusual is today s solar activity Reply PDF Nature 436 E4 E5 doi 10 1038 nature04046 Sowers Todd 2006 02 10 Late Quaternary Atmospheric CH4 Isotope Record Suggests Marine Clathrates Are Stable Science 311 5762 838 840 doi 10 1126 science 1121235 Svensmark Henrik Jens Olaf P Pedersen Nigel D Marsh Martin B Enghoff Ulrik I Uuggerhoj 2007 02 08 Experimental evidence for the role of ions in particle nucleation under atmospheric conditions Proceedings of the Royal Society A FirstCite Early Online Publishing 463 2078 385 396 doi 10 1098 rspa 2006 1773 online version requires registration Walter K M S A Zimov Jeff P Chanton D Verbyla F S Chapin 2006 09 07 Methane bubbling from Siberian thaw lakes as a positive feedback to climate warming Nature 443 7107 71 75 doi 10 1038 nature05040 Wang Y M J L Lean N R Sheeley 2005 05 20 Modeling the sun s magnetic field and irradiance since 1713 PDF Astrophysical Journal 625 522 538 doi 10 1086 429689 aehlngkhxmulxun aekikhphasaithy aekikh hyudphawaolkrxn cak krinphispraethsithy suxprasmeruxngsphawaolkrxn caksunyklangkhwamruaehngchati phawaolkrxn cak krindiexirth xinof olkrxn khuxxair cak wichakar khxm sphawaolkrxn caksmakhmniwekhliyraehngpraethsithy ewbistephuxihkhxmulthangwichakarekiywkbkarepliynaeplngsphaphphumixakassahrbpraethsithy khnawithyasastr mhawithyalyramkhaaehng ewbistphawaolkrxn cak ithyhxtosn khxm ewbistprbtwtxkarepliynaeplngsphaphphumixakas cak krmsngesrimkhunphaphsingaewdlxmphasaxngkvs aekikh danwithyasastr aekikh Intergovernmental Panel on Climate Change ewbistkhnakrrmkarrahwangrthbalwadwykarepliynaeplngsphaphphumixakas UN Climate Panel Report s Key Findings rayngankhxngxngkhkrsingaewdlxmaehngshprachachati Nature Reports Climate Change khxmulphawaolkrxn cakenecxrriphxrts The UK Met Office Hadley Centre site khxmulphawaolkrxn cakemtxxffis NOAA s Global Warming FAQ khathamthithambxyekiywkbphawaolkrxn ody NOAA Outgoing Longwave Radiation pentad mean NOAA Climate Prediction Center phyakrnxakas ody NOAA Discovery of Global Warming karkhnphbphawaolkrxn ody sepnesxr xar ewirt Caution urged on climate risks khaetuxnerngdwnekiywkbkhwamesiyngkhxngsphaphxakasolk News in Science Night flights are worse for global warming khawwithyasastr ethiywbinklangkhunmiphltxphawaolkrxndankarsuksa aekikh What Is Global Warming xairkhuxphawaolkrxn odyenchnnxl cioxkrafik The EdGCM Educational Global Climate Modelling Project khxmulwicysahrbnkeriyn nksuksa nkwithyasastr Daily global temperatures and trends from satellites Archived 2007 05 27 thi ewyaebkaemchchin xunhphumikhxngolkpracawncakdawethiym ody nasa The Pew Center on global climate change khxmulphawaolkrxn odyphiwesnetxr widiox ody wxrern wxchingtn hwkhx wiwthnakarkhxngwithyasastrphawaolkrxn cakaenwkhwamkhidsukhwamcringthangwithyasastrphakhrth aekikh European Union Web site about global warming ewbistrwbrwmekiywkbphawaolkrxn inaetlapraethsinyuorp Newest reports on U S EPA Web site khxmullasudcak sanknganpkpxngsingaewdlxmshrthxun aekikh Science and Technology Sources on the Internet khxmulwithyasastraelaethkhonolyi Union of Concerned Scientists Global Warming page ewbistshphaphnkwithyasastrthimicitsanukthangsngkhm Watch and read Tipping Point sarkhdiwithyasastrcakxxsetreliyekiywkbphlkrathbcakphawaolkrxnthisngphlkrathbtxstwpa IPS Inter Press Service Archived 2006 11 29 thi ewyaebkaemchchin khawekiywkbphawaolkrxn cakixphiexs Gateway to the UN System s Work on Climate Change rabbkarthanganekiywkbphawaolkrxn odyshprachachatiekhathungcak https th wikipedia org w index php title phawaolkrxn amp oldid 9577666, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม