fbpx
วิกิพีเดีย

ศาสนาฮินดูในประเทศไทย

ซ้าย: เทวสถานสำหรับพระนคร ศูนย์กลางศาสนาฮินดูในไทย
ขวา: เสาชิงช้า เดิมใช้ประกอบพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย
พราหมณ์หลวงขณะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ศาสนาฮินดูในประเทศไทย เป็นศาสนาชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย พ.ศ. 2558 มีศาสนิกชนราวร้อยละ 0.03 จากประชากรทั้งหมดในประเทศ กระนั้นศาสนาฮินดูยังคงมีบทบาทเด่นและแฝงตัวอยู่ในสังคมไทยมาตลอด แม้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูอย่างสูง หากมีเทศกาลเนื่องในศาสนาฮินดู ก็จะมีพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนเข้าร่วมในพิธี ทั้งนี้ศาสนาฮินดูในไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้อย่างชัดเจน ปัจจุบันยังสามารถพบอิทธิพลฮินดูได้ทั่วไป เช่น วรรณกรรม รามเกียรติ์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก รามายณะ ของฮินดู และสัญลักษณ์ของประเทศคือครุฑ เป็นพาหนะของพระวิษณุ เทพเจ้าฮินดูองค์หนึ่ง

อย่างไรก็ตามพราหมณ์ไทยเองได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากศาสนาผีและศาสนาพุทธ เช่นข้อปฏิบัติของพราหมณ์ การบวงสรวง และการบูชาผี ทำให้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง

ประวัติ

ยุคแรกเริ่ม

 
ปรางค์แขก เป็นเทวสถานฮินดูแบบขอมในไทย

ในอดีตดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูจากจักรวรรดิเขมรและอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเคยเรืองอำนาจมาก่อน ประชากรในแถบประเทศไทยรู้จักศาสนาฮินดูมานานกว่า 1,000–2,000 ปี เดิมเรียกว่าศาสนาไสย(ะ) ก่อนเปลี่ยนไปเรียกศาสนาพราหมณ์ในช่วงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ดังปรากฏการสร้างศาสนสถานอย่างปราสาทขอมแพร่หลายทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของภาคกลาง มีรูปเคารพเทพเจ้าต่าง ๆ เช่น พระวิษณุ พระศิวะ พระพรหม พระคเณศ และพระอินทร์ เป็นต้น และปรากฏชุมชนฮินดูกระจายทั่วไปในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย

ทั้งนี้ศาสนาฮินดูเข้าสู่ไทยหลายทาง โดยผ่านทางชาวเขมรจากอาณาจักรฟูนันช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 และยังผ่านนักเดินเรือชาวอินเดียใต้เป็นหลัก ดังจะพบหลักฐานเทวรูปพระวาสุเทพ ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 9 ถือเป็นหลักฐานของศาสนาฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน จารึกศาลสูง ภาษาเขมร หลักที่ 1 ระบุถึงการให้อิสระแก่ประชาชนชาวละโว้ในการนับถือศาสนาทั้งลัทธิไศวะ เถรวาท และมหายาน ส่วน จารึกศาลเจ้าเมืองลพบุรี กล่าวถึงการนับถือลัทธิไวษณพที่แพร่หลายจากเขมรสู่ละโว้ และ จารึกกัมรเตงอัญศรีชัยวรมัน ระบุถึงการนับถือพระวิษณุ (ในจารึกเรียก "ศรีบรมวาสุเทพ") เป็นเทพเจ้าประจำเมืองด้วย แต่กระนั้นชาวละโว้ส่วนใหญ่ยังคงนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทตามอย่างทวารวดีอย่างเหนียวแน่น ในยุคอาณาจักรสุโขทัย มีการสร้างเทวสถานอุทิศแก่เทวรูป แต่ผู้คนเริ่มหันไปนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทตั้งแต่รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นต้นมา และในอาณาจักรอยุธยา มีการอ้างถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกในกฎมนเทียรบาล และมีวรรณกรรมสำหรับพิธีกรรมสำคัญคือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ รวมทั้งคติเทวราชา ที่เชื่อว่ากษัตริย์สืบเชื้อสายจากเทพเจ้า ดังพบการเฉลิมพระปรมาภิไธยให้พ้องกับพระนามของพระเป็นเจ้า เช่น รามาธิบดี สุริเยนทราธิบดี นารายณ์ หรือราเมศวร เป็นต้น

ศาสนาฮินดูมีอิทธิพลเฉพาะชนชั้นสูง ขณะที่ชนชั้นล่างลงมานับถือศาสนาพุทธหรือผี จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2053 ระบุว่ามีความพยายามในการที่จะผสานความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธ ศาสนาไสย และศาสนาพระเทพกรรม ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทว่าในกาลต่อมา ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทกลายเป็นศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่ในแถบนี้หันไปนับถือ เพราะศาสนาพุทธนั้นเรียบง่าย ปรับตัวเข้ากับศาสนาผีและวัฒนธรรมไทยพื้นเมืองได้ จึงกลายเป็นที่นิยมและแพร่หลายในกลุ่มชนชั้นสูงและชาวบ้านทั่วไป อย่างไรก็ตามศาสนาฮินดูยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มชนชั้นสูง เพราะมีประโยชน์ต่อนโยบายการปกครอง แม้พระมหากษัตริย์นับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ยังคงพิธีกรรมฮินดูเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์และการแสดงตนว่ามีอารยะ ด้วยเหตุนี้พราหมณ์ในสังคมไทยจึงมีบทบาทเชิงพิธีกรรมเท่านั้น ศาสนสถานของพราหมณ์หลายแห่งจึงถูกเปลี่ยนเป็นพุทธสถานแทน

ส่วนดินแดนแถบปัตตานี ชาวฮินดูเริ่มหันไปนับถือศาสนาพุทธช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 แต่ยังคงธรรมเนียมฮินดูบางอย่างไว้ กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 19 ก็หันไปนับถือศาสนาอิสลาม และเริ่มทำลายศาสนสถานเดิม แต่ยังคงหลงเหลืออิทธิพลไว้บางประการเช่น กริชที่มีรูปเทพเจ้าฮินดู, พิธีตอเลาะบาลอ อันเป็นพิธีสวดขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากชุมชน, การแสดงวายัง, การทำบุหงาซีเระ พิธีปูยอปาตา เป็นพิธีบูชาทะเล และพิธีปูยอบือแน เป็นพิธีบูชาทุ่งนาหรือนางโพสพ รวมทั้งเรื่องเล่าปรัมปรา ที่ชาวบ้านเคยต้องส่งหญิงสาวไปบวงสรวงแก่พญาครุฑแถบเพิงผาเขายาลอ

ยุคหลัง

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ร่องรอยและเอกสารของศาสนาฮินดูในไทยถูกทำลายลงไปมาก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เคยประทับอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงพบชุมชนพราหมณ์ที่นั่น และมีพระราชดำริว่าพราหมณ์ที่กรุงเก่านั้นถูกพม่ากวาดต้อนสูญหายไปหมดสิ้นแล้ว จึงเชิญพราหมณ์เมืองนครกลับไปสร้างกรุงธนบุรีด้วยกัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูพระราชพิธีตลอดจนขนบธรรมเนียมตามโบราณราชประเพณีขึ้น ศาสนาฮินดูได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง ทรงสร้างเทวสถานสำหรับพระนครและเสาชิงช้าเมื่อ พ.ศ. 2327 (ส่วนเอกสารของนอร์มัน บาร์ตเลต์ระบุว่าโบสถ์พราหมณ์สร้างใน พ.ศ. 2323 ตรงกับยุคธนบุรี) ทำให้มีพราหมณ์ปฏิบัติหน้าที่ในราชสำนักสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยในยุครัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ความเชื่อในระบบจักรวาลวิทยาของฮินดูส่งผลต่อการรังสรรค์จิตรกรรม ศิลปกรรม และวรรณคดีของไทย เทพเจ้าฮินดูต่าง ๆ แปรสภาพเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนา ดังจะพบภาพเทพฮินดูที่บานประตูหน้าต่างของพุทธศาสนสถาน ทำหน้าที่เป็นทวารบาล

ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา พระราชพิธีพราหมณ์ที่ยังเหลืออยู่ถูกแทรกด้วยพิธีสงฆ์และการทำบุญของศาสนาพุทธตามพระราชนิยมอย่างชัดเจน กระนั้นพระราชพิธีพราหมณ์เองก็ถูกจำกัดแต่ในราชสำนัก และพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพราหมณ์บางพิธีถูกยกเลิกไปในยุครัตนโกสินทร์นี้ แต่ยังคงความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์ (คือพระวิษณุ) หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งมีการยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ สังกัดกระทรวงวัง ทำให้พระราชพิธีหยุดชะงัก และบางพระราชพิธีถูกยกเลิกไป ไม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีก

แต่เดิมคติพราหมณ์ไทย พระวิษณุไม่มีพุทธาวตารแต่มีสมณาวตาร และนับถือพระพุทธเจ้าไว้สูงสุด แต่หลังการอพยพของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูสู่ไทยช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ก็ได้นำคติพุทธาวตารเข้ามาด้วย โดยให้พระพุทธเจ้ามีสถานะเท่ากับเทพฮินดู ซึ่งผิดแผกไปจากระบบจักรวาลวิทยาของไทยที่มองว่าพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเทพเจ้าองค์ใด ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ ลิลิตนารายณ์สิบปาง มีการระบุ "พุทธาวตาร" เป็นครั้งแรก แต่พระองค์มิได้ระบุรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับอวตารนี้เลย หากแต่ทรงกล่าวยกย่องพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า

ปัจจุบันศาสนาฮินดูยังมีบทบาทในพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ความสวัสดิมงคล และเทศกาลต่าง ๆ อยู่ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย สงกรานต์ และลอยกระทง ชาวไทยทั่วไปรับรู้ศาสนาฮินดูผ่านวรรณกรรมและแนวคิดอย่างศาสนาพุทธ ทำให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามประเพณีฮินดูค่อนข้างน้อย

ความเชื่อ

 
ในคติความเชื่อไทยเทพเจ้าฮินดูเป็นผู้อารักษ์พุทธศาสนา ในภาพคือพระพรหม (ซ้าย) และพระอินทร์ (ขวา) กำลังช่วยนางสุชาดากวนมธุปายาสถวายสมณโคดม

คติพราหมณ์ไทยนับถือว่าพระอิศวร (คือพระศิวะ) เป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด มักมีเทวโองการให้พระนารายณ์ (คือพระวิษณุ) ลงไปปราบเภทภัยอยู่บ่อยครั้ง ในเทวสถานประจำพระนครมีการตั้งศิวลึงค์สององค์คู่กัน คาดว่ากระทำตามธรรมเนียมอินเดียตอนใต้ พราหมณ์ไทยนับถือพระอิศวรและพระนารายณ์เป็นหลัก คือพราหมณ์พิธีนับถือพระอิศวร และพราหมณ์พฤฒิบาศนับถือผีปะกำ (ภายหลังถูกเกณฑ์ไปนับถือพระนารายณ์) และมองว่าพระพรหมเป็นเทพในศาสนาพุทธ ทั้งได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากศาสนาผีและพุทธ ซึ่งอย่างแรกเป็นศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิม และอย่างหลังเป็นศาสนาที่ชนส่วนใหญ่นับถือ เช่นข้อปฏิบัติของพราหมณ์ การบวงสรวง และการบูชาผี ทำให้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง นอกจากนี้ใน โลกบัญญัติ, โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี และ ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ซึ่งคัมภีร์ศาสนาของไทย มีเรื่องราวของพระอิศวรได้รับการเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนพระอิศวรยอมรับพระพุทธศาสนา และมีรูปพระพุทธเจ้าประดับอยู่บนพระเศียรของพระอิศวร และปัจจุบันชุมชนพราหมณ์บางแห่งมีการสักการะรูปพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ของศาสนาพุทธ ด้วยสำคัญว่าเป็นเทวรูปพระอิศวร

ใน คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง ระบุว่า พระวิษณุไม่มีพุทธาวตาร หากแต่เป็นสมณาวตารผู้แย่งศิวลึงค์จากอสูรตรีบุรำ (คือบุตรสามคนของตารกาสูร ใน ปุราณะ) สอดคล้องกับระบบจักรวาลวิทยาของไทยเชื่อว่าพระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธอยู่เหนือเทพเจ้าองค์ใด ๆ ส่วน คัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ระบุว่า มเหศวรเทวราชเป็นวิญญาณของผู้ทำกุศลแล้วไปจุติเป็นเทวดา และอนาคตจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มีสถานภาพต่ำกว่าพระศากยมุนี และมีการจัดชั้นให้เทพเจ้าฮินดูมีฐานะเป็นผู้อารักขาพุทธสถาน โดยอิงตามคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ในบางครั้งอาหารหรือเครื่องเซ่นสรวงในการสังเวยเทพเจ้าหรือแม้แต่วรรณกรรมฮินดูอย่าง รามเกียรติ์ ยังแฝงไปด้วยหลักธรรมในพุทธศาสนา

เทพเจ้าฮินดูในไทยจะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากประเทศต้นทาง เช่น พระวิศวกรรมตามตำราอินเดียจะมีพระกายสีขาว มีสามพระเนตร ทรงชฎา สวมชุดสีทอง และถือคทา แต่ในคติไทย พระวิศวกรรมจะมีพระกายสีเขียว โพกผ้าขาว ถือหางนกยูง ส่วนพระคเณศแบบไทย ก็จะทรงเครื่องอย่างไทย ร่างแบบบางพุงไม่พลุ้ย บ้างก็มีงาครบทั้งสองข้าง ต่างจากแบบอินเดียที่พุงพลุ้ยและมีงาข้างเดียว นอกจากนี้ยังมีการสร้างเทพพื้นเมืองที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์ฮินดูอินเดียใด ๆ โดยหยิบยืมรูปลักษณ์ของเทพฮินดูมาใช้ เช่น พระวิษณุ ถูกสร้างเป็น พระนารายณ์เทวกรรม เป็นเทพแห่งช้าง มีหกกร ประทับนั่ง ถือบ่วงบาศนาคราช และเทพอีกองค์หนึ่งคือพระคเณศ ถูกสร้างเป็นพระเทวกรรม เป็นเทพเกี่ยวกับช้าง และพระโกญจนาเนศวร์ เป็นเทพผู้ให้กำเนิดช้าง ซึ่งพัฒนาจากผีพื้นเมืองคือผีปะกำ ทั้งยังสับสนด้านเทววิทยาที่ระบุว่าพระขันทกุมารเป็นเทพองค์เดียวกับพระคเณศ กล่าวคือเป็นพระขันทกุมารเมื่อมีเศียรเป็นคน และเป็นพระคเณศเมื่อมีเศียรเป็นช้าง พราหมณ์ในไทยมีการใช้ขนมต้มขาว, ขนมหม้อแกง, ขนมคันหลาว และขนมหูช้าง ส่วนแถบปัตตานีในอดีตจะใช้ตือปงนอแน ในการเซ่นสรวงบูชาพระคเณศหรือพระภูมิแทนขนมโมทกะ และนับถือพระคเณศเป็นเทพแห่งศิลปะและเทพแห่งช้าง แต่แท้จริงแล้วพระองค์เป็นเทพแห่งการเริ่มต้นใหม่และความสำเร็จ

พราหมณ์ในไทย มีการรวมความเชื่อระหว่างพระภูมิกับผีเจ้าที่รวมกัน โดยจัดให้พระภูมิเป็นเทพ หากดูแลศาลดีจะให้คุณ แต่ถ้าดูแลไม่ดีก็จะถูกลงโทษ โปรดเครื่องเซ่นเป็นอาหารคาวหวาน เนื้อสัตว์ และเหล้าอยู่ ต่างจากเทพฮินดูทั่วไปที่เกือบทั้งหมดเป็นมังสวิรัติ ส่วนหมู่ศาลเทพเจ้าฮินดูบริเวณแยกราชประสงค์ไม่ใช่เทวาลัยอย่างฮินดู แต่เป็นสิ่งที่ทำหน้าที่แทนศาลเจ้าที่ของศาสนาผีโดยหยิบยืมรูปลักษณ์ของเทพฮินดูมาใช้ เพราะเป็นแหล่งธุรกิจใหญ่ ศาลจึงต้องมีขนาดที่ใหญ่เช่นกัน และถือว่าเทพฮินดูสูงชั้นกว่าผีของศาสนาดั้งเดิม

ร่างทรงในไทยมักกล่าวอ้างว่ามีเทพเจ้าฮินดูเข้าทรงตนเอง แต่โดยมากมีความรู้เกี่ยวกับฮินดูกระท่อนกระแท่น ทราบเพียงชื่อเทพเจ้า แต่นอกนั้นแทบไม่มีอะไรเป็นฮินดูเลย บางรายตั้งสำนักของตนทำนองเทวาลัย หรือไปเรียนภาษาและพิธีกรรมอย่างฮินดูก็มี บางคนที่พูดภาษาสันสกฤตไม่ได้ ก็จะสร้างภาษาของตนเองแล้วอนุมานว่าคือ "ภาษาเทพ" นอกนั้นก็มีการเต้นระบำรำฟ้อนของเหล่าร่างทรง

ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนเข้าถึงการบูชาเทพเจ้าฮินดูมากขึ้น โดยมากจะเชื่อถือด้านทรงเจ้าเข้าผี การเซ่นสรวงบูชา และไสยศาสตร์เร้นลับ จนยากที่จะควบคุม

พิธีกรรม

 
ภาพพระเป็นเจ้าคติพราหมณ์บนเครื่องประกอบพระเมรุมาศในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ

เดิมพิธีกรรมมีมาจากความเชื่อเรื่องผีและเจ้า ที่มีพื้นเพจากสังคมกสิกรรม เพราะธรรมชาติส่งผลจากการทำมาหากินของผู้คนในอดีต ดังนั้นจึงเกิดพิธีกรรมเซ่นสรวง ไหว้ หรือบูชาสิ่งเร้นลับ เมื่อรับศาสนาฮินดูเข้ามาในหมู่ชนชั้นปกครอง ประเพณีต่าง ๆ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงให้ดูยิ่งใหญ่น่าเลื่อมใส โดยมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ยกระดับเจ้านายให้สูงส่งกว่าคนชนชั้นล่างลงไป หลังการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา วัฒนธรรมและประเพณีพราหมณ์หลายอย่างสูญหายไป ครั้นเมืองพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จึงมีการฟื้นฟูธรรมเนียมพราหมณ์ขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ บางอย่างก็รับมาจากอินเดียเหนือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปรับปรุงประเพณีบางประการให้เหมาะสมกับกาลสมัย แต่จากการละเลยของพราหมณ์ ทำให้พระราชพิธีแบบพราหมณ์เริ่มสาบสูญไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่า "... เมื่อพราหมณ์ประพฤติศาสนาของตัวเสื่อมคลายลง จนไปตรงกับคำนุ่งคำกู การพิธีซึ่งไม่มีประโยชน์ และไม่มีใครบังคับให้ทำจึงได้ละเลยเสีย [...] จะป่วยกล่าวไปไยในพิธีพราหมณ์ ซึ่งหลวมโพรกมาแต่เดิมแล้ว..." และ "...การพิธีที่เป็นส่วนของผู้ถือศาสนาทำเอง เมื่อความศรัทธาเสื่อมคลายลง ก็ทำให้ย่อ ๆ ลงไปจนเลยหายไปได้..." สุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการยกเลิกกรมพิธีพราหมณ์ สังกัดกระทรวงวัง ทำให้พระราชพิธีหยุดชะงัก และบางพระราชพิธีถูกยกเลิกไป ไม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีก

ปัจจุบันพิธีกรรมของพราหมณ์ไทยส่วนใหญ่เป็นพระราชพิธีในราชสำนักเพื่อเสริมความศักดิ์สิทธิ์ในแผ่นดิน พิธีกรรมบูชายัญถูกยกเลิกไปจนสิ้น คงเหลือแต่การสาธยายพระเวท พิธีมงคลต่าง ๆ ควบคู่ไปกับศาสนาพุทธ

พระราชพิธี

พระราชพิธี หมายถึง งานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดไว้ตามพระราชประเพณี ซึ่งจะเสด็จไปประกอบพิธี บางพระราชพิธีจะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจจึงจะมีหมายกำหนดการ และมีผู้เข้าเฝ้า เว้นแต่เป็นการส่วนพระองค์หรือการภายใน พระราชพิธีพัฒนามาจากพิธีกรรมการบูชาธรรมชาติและผี เมื่อรับศาสนาฮินดูและพุทธเข้ามาจึงพัฒนาพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ดูยิ่งใหญ่สมกับเป็นงานของพระเจ้าแผ่นดิน พระราชพิธีที่เป็นพิธีอย่างฮินดูใน พระราชพิธีสิบสองเดือน ส่วนใหญ่ถูกยกเลิกไปแล้ว งานที่ยังมีอยู่ก็ถูกรวมเข้ากับพระราชพิธีของศาสนาพุทธ ซึ่งมีดังนี้

เดือน พระราชพิธี พิธีกรรม หมายเหตุ
เดือนอ้าย พระราชพิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยง เป็นพระราชพิธีเลี้ยงพระโคอุสุภราช เดิมกระทำในเดือนยี่ ในพิธีจะนำพระโคอุสุภราชมาแต่งด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ ให้พระราชกุมารป้อนหญ้าพระโค พระเจ้าแผ่นดินถือดอกบัวทอง พระอัครมเหสีถือดอกบัวเงิน แห่ประทักษิณพระโคเก้ารอบ ยกเลิกแล้ว
เดือนยี่ พระราชพิธีบุษยรัตน์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องอย่างสรงมุรธาภิเษกประทับบนกองดอกไม้เจ็ดสีหรือมณฑปดอกไม้สด แล้วจำเริญพระนขา มีพราหมณ์แปดคนถวายพระพร ยกเลิกแล้ว
พระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย เป็นปีใหม่พราหมณ์ของพวกพราหมณ์โหรดาจารย์ เดิมกระทำในเดือนอ้าย ในพระราชพิธีตรียัมพวายเป็นของพระอิศวร ส่วนพิธีตรีพวายเป็นของพระนารายณ์ จะมีข้าราชการผู้ใหญ่เป็นพระยายืนชิงช้า สมมติตัวว่าเป็นพระอิศวรมาเยี่ยมโลก โล้ชิงช้าพร้อมกับพราหมณ์นาลิวัน ยกเลิกแล้ว
เดือนสาม พระราชพิธีธานยเทาะห์ เป็นพิธีเผาข้าว ทำพิธีที่ทุ่งนา ในพิธีมีคนแต่งกายสวมเทริด แบ่งเป็นชุดแดงกลุ่มหนึ่ง ชุดเขียวกลุ่มหนึ่ง สมมติว่าเป็นพระอินทร์กลุ่มหนึ่งพระพรหมกลุ่มหนึ่งแย่งรวงข้าวกัน ข้างไหนแย่งได้จะมีคำทำนาย ยกเลิกแล้ว
พระราชพิธีศิวาราตรี เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ มีการผูกเชือกที่คอหม้อและโยงกับเสาสี่เสา ก้นหม้อเจาะรูไว้ให้น้ำในหม้อหยดลงศิวลึงค์ไหลไปตามรางโยนีและเติมน้ำในหม้อไปเรื่อยจนเช้า ครั้นรุ่งสางจะนำน้ำนี้ไปสระผมอาบน้ำ และเก็บผมที่ร่วงไปลอยน้ำ ยกเลิกแล้ว
เดือนสี่ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ มีการสวดอาฎานาฏิยสูตรหรือภาณยักษ์ขับไล่ผีตลอดทั้งคืน ถูกยุบรวม
เดือนห้า การสังเวยเทวดา มีการเซ่นสังเวยเครื่องและละครหลวงแก่เทวดา ในพระราชพิธีจะอัญเชิญพระสยามเทวาธิราช เจว็ด และเทวรูปมาตั้งในพิธี ยกเลิกแล้ว
พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เป็นพิธีระงับทุกข์เข็ญของบ้านเมือง มีการอ่านคำสัตย์สาบานและให้ผู้ร่วมพิธีดื่มน้ำชำระพระแสง ถูกยุบรวม
พระราชพิธีคเชนทรัศสนาน เป็นพระราชพิธีทอดเชือกคชกรรมของพราหมณ์พฤฒิบาศ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ช้างและผู้ทำงานเกี่ยวกับช้าง โดยพราหมณ์จะคอยประพรมน้ำมนต์แก่ช้างม้า ยกเลิกแล้ว
พระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก เป็นพระราชพิธีตรวจเชือกบาศหกเดือนก่อนไปทำงานของพราหมณ์พฤฒิบาศที่โรงเชือก มีการตั้งโต๊ะบูชาเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศวร ยกเลิกแล้ว
เดือนหก พระราชพิธีจรดพระนังคัล เป็นพระราชพิธีในการเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าวที่ทุ่งส้มป่อย มีการตั้งเทวรูป มีพราหมณ์กระทำพิธี พระยาแรกนาเทียมโคอุศุภราช และนางเทพีหว่านพันธุ์ข้าว เมื่อทำพระราชพิธีนี้แล้ว ราษฎรจึงลงมือทำนาได้ ปัจจุบันถูกยุบรวมเข้ากับวันพืชมงคลของศาสนาพุทธ ถูกยุบรวม
เดือนเจ็ด พระราชพิธีเคณฑะ (ทิ้งข่าง) เป็นพระราชพิธีทิ้งข่างเสี่ยงทาย นำโลหะใหญ่กลมเท่าผลแตงโมเป็นลูกข่างสมมติว่าเป็นพระสยม ต้องให้ผู้ชายสามคนชักสายทิ้งข่างให้หมุน ยกเลิกแล้ว
พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท เดิมเรียกพระราชพิธีนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นพระราชพิธีถวายน้ำชำระล้างพระบาทของพระมหากษัตริย์ แล้วนำน้ำนั้นมาใส่กะละออมเอาผ้าพันแล้วทูนบนหัวของขุนนาง ส่วนเอกสารสมัยอยุธยาระบุว่ากษัตริย์สรงน้ำมุรธาภิเษก แล้วเปลื้องเครื่องทรงเมื่อสรงสนานส่งแก่พราหมณ์ ยกเลิกแล้ว
เดือนเก้า พระราชพิธีตุลาภาร เป็นพระราชพิธีสะเดาะเคราะห์ของพระมหากษัตริย์และพระมเหสี ด้วยการบริจาคพระราชทรัพย์แก่พราหมณ์ ยกเลิกแล้ว
พระราชพิธีพรุณศาสตร์มหาเมฆบูชา เป็นพระราชพิธีเรียกฝนเพื่อประโยชน์ด้านกสิกรรม โดยมีพราหมณ์สวดร่ายเวท ต่อมามีพิธีสงฆ์ของศาสนาพุทธร่วมด้วย ยกเลิกแล้ว
เดือนสิบ พระราชพิธีภัทรบท เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์ บูชาพระไพสพ จากนั้นตั้งน้ำอบดอกไม้ นำไปรดสรงเทวรูปสิบหกองค์ พราหมณ์กระทำพิธีลอยบาป แล้วจึงบริโภคมธุปายาสและยาคู ยกเลิกแล้ว
พระราชพิธีสารท เป็นพิธีกวนมธุปายาสหรือข้าวทิพย์และยาคูแก่พราหมณ์ ต่อมาถวายแก่พระสงฆ์ ยกเลิกแล้ว
เดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม เป็นพิธีลอยเคราะห์ วันยกโคมจะมีการกล่าวบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม มีพราหมณ์กระทำพิธีในโรงพิธีถวายน้ำมหาสังข์จนถึงวันลดโคม เทียนจุดโคมจะทาเปรียง (น้ำมันไขข้อพระโค) ยกเลิกแล้ว
พระราชพิธีกะดิเกยา เป็นพระราชพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าเสด็จลงมา จัดที่เทวสถาน เดิมกระทำในเดือนอ้าย ใช้ระยะเวลาเพียงสามวัน ใช้น้ำสังข์รดดับเพลิง เป็นอันเสร็จพิธี ยกเลิกแล้ว

มีพระราชพิธีที่สำคัญที่ยังดำรงอยู่คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือพิธีสถาปนาพระมหากษัตริย์ว่ามีพระราชอำนาจเหนือแผ่นดินอย่างเป็นทางการ ตามความเชื่อของพุทธและฮินดู เช่น การสรงน้ำมุรธาภิเษก และการเปิดประตูศิวาลัยอัญเชิญพระอิศวรเพื่อประทานพร ถวายสังวาลพราหมณ์เพื่อแสดงพระองค์ว่าเป็นพราหมณ์ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎเพื่อเป็นการประกาศปกครองประเทศ โดยมีพราหมณ์หลวงเป็นผู้ประกอบพระราชพิธี

พระราชพิธีฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงประจำรัชกาล ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติตามราชประเพณี ในพระราชพิธี พราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุดเครื่องบูชาเทพยดาประจำนพปฏลมหาเศวตฉัตร โดยมีพราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนและเจิมนพปฏลมหาเศวตฉัตร

พระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย มีการก่อสร้างพระเมรุมาศสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศหรือพระโกศเจ้านาย ซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุของฮินดู และความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นการแบ่งภาคของพระเป็นเจ้าลงมาบำรุงโลก เมื่อสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์จะถือว่าขึ้นไปจุติเป็นเทวดาบนชั้นฟ้า ในอดีตข้าราชบริพารและราษฎรต้องโกนศีรษะไว้อาลัย ซึ่งเป็นธรรมเนียมการปลงศพของชาวอินเดียฮินดู

นอกจากนี้ยังมีพิธีบวงสรวงพระบรมรูปของพระราชบุพการี ตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวยตามคติพราหมณ์ โดยมีพระมหาราชครูพิธี ประธานพระครูพราหมณ์อ่านโองการบวงสรวงหน้าพระบรมรูป โดยมีโหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ และพิธีในอดีตอีกอย่างคือ พิธีกลบบัตรสุมเพลิง เป็นพิธีที่ทำให้พื้นดินบริสุทธิ์ หากมีใครเลือดตกยางออกหรือตายในพระราชฐานชั้นในนับว่าเป็นเสนียดจัญไร ต้องแก้ไขด้วยการให้พราหมณ์พฤฒิบาศปลูกศาลเพียงตา ขุดดินบริเวณที่มีเลือดหรือคนตายกว้างสองศอก ยาวสองศอก และลึกศอกเศษ จากนั้นนำแกลบกลบลงในหลุมสูงหนึ่งศอกแล้วก่อไฟ หยิบเครื่องสังเวยใส่ในกองเพลิงแล้วอ่านโองการ เสร็จแล้วเกลี่ยดินกลบหลุม

ประเพณีราษฎร์

ศาสนิกชนจะประกอบพิธีกรรมในศาสนสถาน เพราะเชื่อว่าเทวสถานเป็นที่สิงสถิตของพระเป็นเจ้า มีการประกอบพิธีประจำวันเรียกว่า ยัชญะ เช่น การบูชาตามคำสอนพระเวทหรือการศึกษาพระเวท และการบูชาไฟด้วยการเผาสิ่งต่าง ๆ ลงไป เป็นต้นว่า เนย งาดำ กำยาน ผงไม้จันทน์ เพื่อบูชาเทวดา หรือปรากฏพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำขวัญ การไหว้ครู และการบวงสรวงสังเวย จะมีการทำบายศรี หากเป็นการบวงสรวงสังเวยจะมีเครื่องมัจฉมังสาหาร คืออาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ปรุงสุก หรือกระยาบวช คืออาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ บางพิธีจะต้องมีพราหมณ์มาประกอบพิธีให้ โดยการอ่านชุมนุมเทวดาและคำประกาศบวงสรวง ส่วนการไหว้ครูจะมีการตั้งเครื่องบูชา เครื่องมือช่างหรือหัวโขน บายศรี และกระยาบวช ในพิธีจะมีบูชาและสรงน้ำเทวรูป อัญเชิญเทพเจ้าและครูผู้ล่วงลับมารับเครื่องสังเวย โดยหัวโขนในการไหว้ครูจะมีการตั้งหัวโขนเทพฮินดูจำนวนมาก แต่ในโองการถวายเครื่องสังเวยจะกล่าวถึงพระปรคนธรรพ (คือรูปพ่อแก่) และพระพิราพ ส่วนบทไหว้ครูมีเพลงหน้าพาทย์สำหรับพระนารายณ์และพระอิศวรเท่านั้น

ธรรมเนียมเรื่องการไว้จุกของเด็กไทย หลังผ่านพิธีโกนผมไฟ จะเว้นผมบริเวณส่วนกระหม่อม เพราะถือเป็นส่วนกะโหลกที่บางที่สุด จะปล่อยให้ยาวแล้วขมวดมุ่นไว้กลางศีรษะเหมือนผมของเทพเจ้า เพราะคติพราหมณ์เชื่อว่าเด็กจะได้รับการคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้า เมื่ออายุได้ 11-13 ปี จึงเข้าพิธีโกนจุก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวข้ามสู่วัยผู้ใหญ่ ในราชสำนักจะเรียกพระราชพิธีโสกันต์ (สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป) และพิธีเกศากันต์ (สำหรับพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า) โดยจะมีพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์พร้อมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว คงเหลือแต่การโกนจุกของชาวบ้านที่เทวสถานสำหรับพระนคร

ในคติพราหมณ์ไทย พราหมณ์เป็นผู้ตั้งศาลพระภูมิ อิงจากแนวคิดที่พระอิศวรประทับอยู่ในวิมานบนเขาพระสุเมรุดุจมณฑลจักรวาล ซึ่งพระภูมิเป็นเทวดาเหมือนกัน จึงตั้งด้วยเสาเดียว ผิดกับศาลเจ้าที่ของศาสนาผีซึ่งมีสี่เสา

การแบ่งกลุ่ม

พราหมณ์ไทย

 
พราหมณ์ในจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง รามเกียรติ์

ในอดีตมีการแบ่งพราหมณ์ไว้สี่ตระกูล คือ พราหมณ์รามราช พราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์มหันต์ และพราหมณ์นาฬีวรรณ อพยพมาจากอินเดียมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรสุโขทัย ตั้งถิ่นฐานที่เมืองละโว้, เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช ซึ่งพราหมณ์มีลักษณะที่ต่างไปจากพราหมณ์อินเดีย อย่างเช่น พราหมณ์พฤฒิบาศ มีต้นสายมาจากเมืองเขมร ซึ่งจะทำพิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง ส่วนพราหมณ์นาฬีวรรณ หรือนาลิวัน จะทำพิธีกรรมโล้ชิงช้า รำเขนง หรือเป็นพราหมณ์สยายผมในกระบวนแห่พระบรมศพ และพราหมณ์รามราช คือพราหมณ์ในแถบเมืองนครศรีธรรมราชและเพชรบุรี มีบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองราเมศวรัม รัฐทมิฬนาฑู

ในหนังสือ เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เมื่อ พ.ศ. 2457 ระบุชาติภาษาต่าง ๆ โดยมีพราหมณ์กลุ่มต่าง ๆ ปรากฏในนั้นด้วย ได้แก่ พราหมณ์วัยธึก พราหมณ์เวรำมะเหศร พราหมณ์อะวะตาร พราหมณ์บรมเทสันตรี พราหมณ์พญารี พราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์พาราณสี และพราหมณ์อรรคีศะณเวศ

ในพระนิพนธ์ สาส์นสมเด็จ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกคำกราบทูลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า "...พราหมณ์ (ในเมืองเรา) แต่ก่อนนี้มี ๓ ชั้น ชั้นสูงเรียก "ไวยทึก" เกล้ามวยบนกระหม่อม ชั้นกลางเรียก "เทสันกรี" เกล้าผมท้ายผมตก ชั้นต่ำเรียก "นาลิวัน" เปลือยผม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าตรัสติการเกล้าผมบนกระหม่อมว่าเหมือนเด็ก ๆ ดูน่าเกลียด ตรัสสั่งว่าเลิกเสียเถิด แต่นั้นมาก็เลิกเกล้าเมาลี คงเหลือแต่สองอย่าง..." และ "...สันนิษฐานว่า "ไวยทึก" เห็นจะเป็น "ไวทิก" คือผู้ทรงเวท เห็นจะเป็นพราหมณ์ครูมาแต่นอก "เทสันกรี" เห็นจะเป็น "เทศนฺตฺริก" คือพราหมณ์ในประเทศ ลูกพราหมณ์เกิดเมืองนี้ "นาลิวัน" ยังคิดไม่เห็นว่าคืออะไร"

และในพระนิพนธ์ นิราศนครวัด ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า ในกรุงเทพมหานครมีพราหมณ์อยู่สามจำพวกคือ พราหมณ์พิธีเมืองนคร พราหมณ์โหรดาจารย์เมืองพัทลุง และพราหมณ์พฤฒิบาศจากกรุงกัมพูชา ทรงกล่าวอีกว่าพราหมณ์พิธีเมืองนครมีบรรพบุรุษจากเมืองรามนคร พราหมณ์โหรดาจารย์เมืองพัทลุงมาจากเมืองพาราณสี แต่พระองค์ไม่ทราบที่มาของพราหมณ์พฤฒิบาศจึงตรัสถามพระครูพราหมณ์กรุงกัมพูชา ท่านตอบกลับมาว่า "มาแต่พนมไกลาส" พระองค์จึงไม่ทราบที่มาที่ไปของพราหมณ์พฤฒิบาศ

แม้พราหมณ์ไทยจะมีบรรพบุรุษมาจากอินเดีย แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปพวกเขาก็มีรูปพรรณและวิถีชีวิตเช่นชาวไทยทั่ว ๆ ไป ดังพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า "...เมื่อมาพิเคราะห์ดูพราหมณ์ทุกวันนี้ และสังเกตความนับถือของไทยเราทุกวันนี้ พราหมณ์เลวกว่าพระมากหลายเท่า [...] การซึ่งเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด เพราะเราเห็นว่าพราหมณ์นั้นไม่ผิดกับคน ๆ ธรรมดาเลย เวลาจะไปไหนหรืออยู่บ้านเรือน ไม่ได้เข้าวังหรือไปในการมงคล ก็นุ่งผ้าสีต่าง ๆ อย่างคนเราธรรมดา แปลกแต่ไว้ผมยาวเกล้ามวยที่ท้ายทอย การที่เป็นเช่นนี้เพราะความเรียวของพราหมณ์ ซึ่งมาอยู่ในประเทศอื่นไม่มีตระกูลพราหมณ์มาก ก็เสื่อมทรามลงไป ตระกูลก็เจือปนกับคนในพื้นเมือง ความประพฤติก็หันเหียนไปตามคนในพื้นเมือง..."

ปัจจุบันพราหมณ์ไทยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือพราหมณ์หลวงกับพราหมณ์พื้นเมือง แต่หลังการปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา อิทธิพลพราหมณ์ตามหัวเมืองเริ่มเสื่อมลง แต่เหล่าพราหมณ์เองรับศาสนาพุทธเข้ามา เพราะมองว่าสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ ทั้ง ๆ ที่ทั้งศาสนาฮินดูและพุทธมีความเชื่อที่ต่างกันมาก คือฮินดูเป็นพหุเทวนิยม ขณะที่ศาสนาพุทธเป็นแบบอเทวนิยม และพลวัตทางสังคมที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้บวชเป็นพราหมณ์น้อยลงตามลำดับ บ้างก็ว่าพราหมณ์ใช้ชีวิตไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไป ผิดกับพระสงฆ์ที่ได้รับความนิยมมากกว่า ดูเคร่งครัดน่าเลื่อมใสกว่า

พราหมณ์พื้นเมือง

 
เสาชิงช้าบริเวณวัดเพชรพลี ซึ่งเดิมเป็นชุมชนพราหมณ์แหล่งใหญ่ในเพชรบุรี

พราหมณ์พื้นเมืองมีการสืบทอดทางสายเลือด และมีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมไม่มากนัก ปัจจุบันเหลือพราหมณ์เพชรบุรี พราหมณ์สุราษฎร์ธานี พราหมณ์นครศรีธรรมราช พราหมณ์ตรัง และพราหมณ์พัทลุง ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมากหรือบางแห่งอาจสูญไปแล้ว เช่นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี

โดยพราหมณ์ที่ยังคงมีอยู่ เช่น พราหมณ์นครศรีธรรมราช มีประวัติความเป็นมายาวนาน สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจากอินเดียใต้ไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 10 มีร่องรอยการนับถือลัทธิไศวะ และลัทธิไวษณพ พบศาสนสถานที่ยังหลงเหลืออยู่ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและสิชล ได้แก่ หอพระอิศวร, ฐานพระสยม, โบสถ์พราหมณ์ และโบราณสถานเขาคาของลัทธิไศวะ และหอพระนารายณ์ของลัทธิไวษณพ ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนได้รับการบูรณะใหม่ในชั้นหลัง แต่ก็พบว่าศาสนสถานหลายแห่งถูกแปรเป็นวัดพุทธ

พราหมณ์เพชรบุรีถือเป็นชุมชนพราหมณ์เก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยมีบรรพบุรุษอพยพขึ้นไปจากนครศรีธรรมราช มีอัตลักษณ์คล้ายกับพราหมณ์ในกรุงเทพฯ และนครศรีธรรมราชคือไว้ผมมุ่นตรงท้ายทอย นุ่งผ้าขาว นับถือพระอิศวรเป็นหลัก รวมทั้งมีเสาชิงช้าประกอบพิธี กรมหลวงอภัยนุชิต และกรมหลวงพิพิธมนตรี (ภายหลังเป็นกรมพระเทพามาตุ) พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็มีพระราชชนนีเป็นหญิงเชื้อพราหมณ์บ้านสมอปรือ เมืองเพชรบุรี ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช พราหมณ์ที่นี่มีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี พูดจาพาทีไพเราะ นิยมรับประทานเนื้อปู ปลา และหอย แม้จะเป็นชุมชนพราหมณ์ขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันเหลือสกุลทียังบวชพราหมณ์เพียงสกุลเดียวคือภวังคนันท์

พราหมณ์พัทลุง บรรพบุรุษอพยพมาจากอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 ปัจจุบันมีพราหมณ์ราว 3-4 คน มีขนบธรรมเนียมต่างจากพราหมณ์แหล่งอื่นในประเทศไทย พวกเขายังประกอบพิธีกรรมปีใหม่พราหมณ์ (หนึ่งค่ำเดือนสี่) มีธรรมเนียมการฝังศพพราหมณ์ด้วยการนั่งตายที่ป่าช้าแขกชี มีการโกนศีรษะและไว้ปอยผมขนาดน้อยที่ท้ายทอย และสวมหมวกสีขาวแทนการโพกศีรษะ สวมโจงกระเบน สวมเสื้อตัวยาว สวมสายยัชโญปวีต ห้อยประคำที่ทำจากเขาวัว และสวมแหวนโคนนทิ หากจะบวชเป็นพราหมณ์ต้องมีพระภิกษุเชื้อสายพราหมณ์มาประกอบพิธี และบวชในช่วงปีใหม่พราหมณ์เท่านั้น โดยพราหมณ์พัทลุงจะไม่บริโภคเนื้อวัว และปลาไหล

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเรียกปราชญ์ประจำชุมชนว่าหมอพราหมณ์ ซึ่งต้องเป็นผู้รักษาศีล เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและพิธีกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความสิริมงคล เป็นกลุ่มคนพื้นเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากชนชั้นพราหมณ์ของศาสนาฮินดู ซึ่งต่างไปจากพราหมณ์ในภาคอื่น ๆ ชาวอีสานมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าฮินดูบ้าง เช่น พระอินทร์ พระพรหม และพระยม แต่มีอิทธิพลน้อยมากหากเทียบกับศาสนาพุทธหรือศาสนาผี

พราหมณ์หลวง

ส่วนพราหมณ์หลวงจะกระทำพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่ โดยมากบรรพบุรุษมีเชื้อสายอินเดียภาคใต้ เรียกว่า พราหมณ์รามเหศร์ แต่การตัดขาดจากแผ่นดินแม่ ทำให้รับวัฒนธรรมไทยอย่างสูง และมีวัตรปฏิบัติต่างจากพราหมณ์อินเดีย มีการสืบสายเลือด ถ่ายทอดองค์ความรู้กันในตระกูล และต้องผ่านการบวชที่เทวสถานสำหรับพระนครที่กรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว และบวชปีละครั้งในช่วงตรียัมพวาย ผู้จะเป็นพราหมณ์หลวงได้จะต้องได้รับการยอมรับจากหัวหน้าคณะพราหมณ์ราชสำนักจึงได้บวช เรียกว่า บวชสามสาย หากได้รับการพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะเป็นพราหมณ์ราชสำนัก จะถูกส่งชื่อไปยังกองพระราชพิธี บรรจุเป็นพราหมณ์ราชสำนัก เมื่อพระครูพราหมณ์เห็นชอบ จึงได้บวชเรียกว่า บวชหกสาย จากนั้นจึงเสนอชื่อต่อกองพระราชพิธี และส่งต่อสำนักพระราชวัง เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป ปัจจุบันมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) เป็นประธานพระครูพราหมณ์ ศาสนิกชนจะเรียกว่า "หลวงพ่อ" หรือ "คุณพระ"

การบวชของพราหมณ์หลวงต่างจากอินเดีย เพราะทำอย่างการอุปสมบทของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ กล่าวคือผู้ที่จะขอบวชพราหมณ์ต้องเอาบริขารไปกราบขอบวชกับพระครูพราหมณ์ เปรียบพระอุปัชฌาย์ แล้วพระครูพราหมณ์จะมอบสายธุรำหรือธุหร่ำ (คือสายยัชโญปวีต) คล้องอย่างอังสะ ศึกษาษัฎศาสตร์หรือเวทางคศาสตร์ 6 ประการ ได้แก่ ศึกษาศาสตร์, ฉันทศาสตร์, ไวยากรณศาสตร์, นิรุกติศาสตร์, โชยติษศาสตร์ และกัลปศาสตร์ และเมื่อเป็นพราหมณ์หลวงแล้ว ก็ต้องไว้ผมมวย ไม่ตัดหรือเล็มผมออก หากทำก็จะถือว่าขาดจากการเป็นพราหมณ์ และจะต้องมัดผมไว้ตลอด ไม่ปล่อยผมในที่สาธารณะนอกเสียจากพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพเท่านั้น พราหมณ์หลวงยังคงธรรมเนียมกราบพระอย่างโบราณมาตั้งแต่กรุงเก่า เช่นการนุ่งห่มผ้า การใช้ผ้ากราบ และการนั่งกระหย่งไหว้ ใน พ.ศ. 2560 มีพราหมณ์หลวงจำนวน 16 คน พราหมณ์หลวงจะเกษียณออกจากราชการเมื่ออายุ 60 ปี สามารถต่ออายุราชการได้ หรือขอลาออกจากราชการก็ได้ หากประกอบความดีความชอบก็จะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และบรรดาศักดิ์ชั้นต่าง ๆ

นอกจากภาษาไทย พราหมณ์หลวงจะต้องศึกษาภาษาทมิฬและสันสกฤตสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตำรับตำราทางศาสนาปรากฏทั้งอักษรไทย และอักษรคฤนถ์ บ้างเรียกอักษรเฉียงพราหมณ์ โดยอักษรอย่างหลังนี้ ถูกใช้เขียนภาษาไทย ทมิฬ และสันสกฤตตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันหลงเหลือในรูปแบบของสมุดไทยดำ โดยมากถูกคัดลอกขึ้นใหม่ในชั้นหลัง ในอดีตพราหมณ์มีหน้าที่ถวายพระอักษรแก่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งแต่งตำรา และวรรณคดี เช่น จินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยแบบแรกของไทย

พราหมณ์หลวงทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ หากแต่บูชาเทพเจ้าฮินดูไปด้วย รวมทั้งต้องแสดงความเคารพพระสงฆ์อย่างสูง ปฏิบัติบูชาตามลัทธิไศวะเป็นหลักเช่นเดียวกับพราหมณ์เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช ทั้งนี้พราหมณ์หลวงจะมีข้อห้ามในการรับประทานอาหารต่างจากพราหมณ์อินเดียซึ่งส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ แต่พราหมณ์ไทยสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ พราหมณ์หลวงมีอาหารเฉพาะกลุ่มเช่น ข้าวเวทย์ คือข้าวที่หุงด้วยน้ำอ้อยและนม หรือหุงด้วยกะทิ รับประทานเนื้อสัตว์อย่างปลา ไก่ หรือหมู และอาหารห้าธาตุ แต่ห้ามกินปลาไหล วัว หนู และสัตว์ต้องห้ามตามพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ในช่วงพระราชพิธีตรียัมพวาย พราหมณ์จะต้องถือพรตรับประทานอาหารมังสวิรัติตลอดพิธีนาน 15 วัน

ชาวอินเดียฮินดู

มีการปรากฏตัวของชาวอินเดียหรือที่เรียกรวม ๆ ว่าแขก มาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาดังปรากฏในเอกสารของชาวต่างประเทศ ส่วนชาวอินเดียร่วมสมัยอพยพเข้าประเทศไทยช่วง พ.ศ. 2463 และช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปรากฏในเอกสารช่วงรัตนโกสินทร์เรียกชนกลุ่มนี้ว่า พราหมณ์ฮินดู หรือ ฮินดู่ พราหมณ์แขกเหล่านี้อพยพมาจากรัฐอุตตรประเทศและทมิฬนาฑู ไม่มีบทบาทหรือยุ่งเกี่ยวกับพระราชพิธีในราชสำนัก เพราะถูกมองว่าเป็นคนต่างด้าว และคงประพฤติตามธรรมเนียมของตนโดยไม่เปลี่ยนไปตามกระแสวัฒนธรรมไทย มักทำพิธีแก่ชุมชนเชื้อสายอินเดียด้วยกัน และเป็นพราหมณ์ต่อกันไม่กี่รุ่น

มีศาสนสถานสำคัญคือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี, วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช ย่านเสาชิงช้า, วัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภา แถบยานนาวา, วัดเทพมณเฑียร สมาคมไทย-ฮินดู เชียงใหม่ และวัดอินเดีย มูลนิธิภูเก็ตตันดายูดาปานี สามารถจำแนกประเภทของกลุ่มศาสนิกได้จากศาสนสถาน คือ วัดพระศรีอุมาเทวีจะเป็นศูนย์รวมของชาวฮินดูเชื้อสายทมิฬ และเบงกอล, วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช เป็นศูนย์รวมของชาวสินธ์และปัญจาบ และวัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภา เป็นศูนย์รวมของชาวอุตตรประเทศ

อย่างไรก็ตามทั้งพราหมณ์ไทยและพราหมณ์อินเดียจะแยกอยู่กันคนละพวก แต่เมื่อประชาคมฮินดูอินเดียเพิ่มจำนวนขึ้นจึงมีการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ กับพราหมณ์ไทยในนามองค์กรศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแห่งประเทศไทย โดยให้พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) เป็นประธาน แต่พราหมณ์ทั้งสองกลุ่มจะปกครองศิษย์และศาสนิกชนของตนไม่ก้าวก่ายกัน

ประชากรศาสตร์

 
ปราสาทเมืองต่ำ เป็นเทวสถานสมัยขอมเรืองอำนาจ ยุคก่อนรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2542 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระบุจำนวนผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยว่ามีไม่ถึง 4,000 คน พ.ศ. 2548 มีผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยจำนวน 52,631 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.09 ของประชากรทั้งหมด พ.ศ. 2553 มีผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยจำนวน 41,808 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของประชากรทั้งหมด และ พ.ศ. 2558 มีผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยจำนวน 22,110 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.03 ของประชากรทั้งหมด

ส่วนสำนักวิจัยพิวประมาณการว่า พ.ศ. 2552 มีผู้นับถือศาสนาฮินดูในไทยราวร้อยละ 0.1 ถือเป็นศาสนาที่เติบโตเร็วที่สุดของไทย และคาดการณ์ไว้ว่า พ.ศ. 2593 จะมีผู้นับถือศาสนาฮินดูร้อยละ 0.2

ศาสนสถาน

ตามคติฮินดูจะมีการสร้างศาสนสถานสำหรับอุทิศแก่พระเป็นเจ้าเป็นจุดศูนย์กลาง มีวิหารล้อมรอบสี่ด้าน เปรียบเป็นศูนย์กลางจักรวาล ในอดีตส่วนใหญ่มักทำด้วยศิลา และโคปุระเป็นซุ้มประตูใหญ่อยู่ด้านล่างสุดสำหรับทำสมาธิ เมื่อเข้าสู่เทวสถานในชั้นถัดมาจะมีพระมหามนเทียรเป็นที่ประทับของกษัตริย์และเป็นที่พักของผู้แสวงบุญ และชั้นบนสุดเรียกว่ามหาปราสาท เป็นที่ประทับของพระเป็นเจ้า โดยมากจะประดิษฐานศิวลึงค์ ทั้งนี้สามารถจำแนกประเภทของศาสนสถานออกเป็นสองยุคใหญ่ ๆ คือ

  1. เทวสถานที่สร้างก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศาสนสถานที่สร้างตามหัวเมืองใหญ่ในอดีตสำหรับประกอบพิธีของพราหมณ์ โดยมากสร้างโดยศิลา มีการแกะสลักเรื่องราวเทพเจ้าต่าง ๆ และประดับด้วยประติมากรรมเทวรูปทั้งศิลปะขอม ทวารวดี และศรีวิชัย ส่วนใหญ่เป็นซากปรักหักพังไปแล้ว
  2. เทวสถานที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศาสนสถานตามหัวเมืองใหญ่ร่วมสมัย สำหรับประกอบพิธีพราหมณ์ โดยมากเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีหลายรูปแบบ เช่น เทวสถานสำหรับพระนครเป็นโครงสร้างแบบไทยประเพณีโดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยา ส่วนวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นศิลปะทราวิฑ และวัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของเมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย เป็นต้น

อิทธิพล

 
จิตรกรรมรูปเทวดาในเรื่อง รามเกียรติ์
 
บุหรงฆาเฆาะซูรอ (กากสุระ) ในพิธีแห่นกของปัตตานี

วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูอยู่หลายประการ ทั้งด้านขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และวรรณกรรม แต่ธรรมเนียมหลายประการก็สาบสูญไปแล้ว เช่น พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์, พระราชพิธีศิวาราตรี และการโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย บางธรรมเนียมก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู เช่น ประเพณีเจี๊ยะฉ่าย หรือประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต ในงานจะมีขบวนแห่ที่ประกอบไปด้วยม้าทรง มีการทรมานร่างกายตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น มีดกรีดลิ้น หรือนำวัสดุต่าง ๆ แทงบนใบหน้าหรือร่างกาย เพื่อให้ทราบว่าเทพเจ้าลงมาจุติแล้วจึงไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ ลักษณะใกล้เคียงกับประเพณีไทปูซัม ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองการประสูติของพระขันทกุมารของชาวทมิฬ ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีจะแบกกาวาดีและเจาะตามร่างกายด้วยห่วงแหลมอย่างเดียวกัน ส่วนดินแดนแถบปัตตานีก็ยังมีอิทธิพลฮินดูอยู่บ้าง คือ การทำบุหงาซีเระ และพิธีแห่นก เดิมใช้สำหรับต้อนรับอาคันตุกะของเจ้าผู้ครอง แต่ต่อมาถูกดัดแปลงไปใช้ในพิธีสำคัญ เช่น พิธีสุหนัต หรือประกวดแข่งขันความสวยงาม ถือเป็นธรรมเนียมฮินดูเพียงไม่กี่อย่างที่ยังหลงเหลืออยู่ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง

ก.ศ.ร. กุหลาบ เขียนไว้ในหนังสือ ต้นเหตุเสาชิงช้า ระบุว่า "พุทธ์กับไสยย่อมอาศรัยแก่กัน" และ "...จนทุกวันนี้ก็ยังมีขนบธรรมเนียมของไทยทำการมงคลอันใด ก็พอใจใช้พระสงฆ์แกมกับพราห์มณ์ปนกันอยู่หลายชนิด...บางทีไม่ใช้พราหมณ์ก็มีบ้าง แต่ยังคงสิ่งของเครื่องมงคลในมณฑลพิธีนั้น แต่ล้วนเปนสิ่งของตามแบบอย่างของพราหมณ์ทั้งสิ้น..."

ด้านประติมานวิทยา สังเกตจากตำราเทวรูปและเทวดานพเคราะห์ พบว่าไทยได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูตั้งแต่ยุคฟื้นฟูจักรวรรดิวิชัยนครในแถบอินเดียใต้เป็นต้นมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการหล่อเทวรูป 39 องค์สำหรับใช้ในพระราชพิธี และยังมีการดัดแปลงเทวรูปตามธรรมเนียมไทยคือมีการสร้างเทวรูปที่มีพระพุทธรูปประทับอยู่บนพระเศียร ส่วนวรรณกรรมก็ได้รับอิทธิพลจากอินเดียตอนใต้ เช่น รามเกียรติ์ และทศาวตารของพระวิษณุของไทยก็ตรงกับคติฮินดูของอินเดียใต้

โดยสรุปแล้วประเทศไทยมีการรับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูมานาน ต่อมาได้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อดั้งเดิม และศาสนาพุทธจนกลายเป็นเอกลักษณ์ในตนเอง

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. "Population by religion, region and area, 2015" (PDF). NSO. (PDF) จากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2017.
  2. พสิษฐ์ ไชยวัฒน์ (5 พฤศจิกายน 2561). "สัมภาษณ์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง: ฮินดู...อีกมุมที่คนไทยไม่รู้จัก". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  3. Erick White (5 พฤศจิกายน 2561). "นาฏกรรมของศาสนาฮินดูในมหานครกรุงเทพฯ: เทศกาลพิธีกรรมและพหุนิยมทางศาสนาในสภาพแวดล้อมทางสังคมไทยพุทธของเมืองใหญ่". Kyoto Review. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  4. บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2399
  5. "Ramakien". Royal Thai Embassy.
  6. "The concept of Garuda in Thai society".
  7. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 15
  8. จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ (26 กันยายน 2560). "สนทนาเรื่องศาสนาพราหมณ์ที่โบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า กับพราหมณ์ตรัณ บุรณศิริ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  9. "ความเป็นมาของศาสนาพราหมณ์และคณะพราหมณ์ในสยามประเทศ". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  10. "ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู" (PDF). กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  11. Sikhoraphum, Thailand, Arts & Archaeology Journal
  12. บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2402
  13. รศ. เสมอ บุญมา. "คตินิยมทางศาสนาในละโว้" ใน มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้, หน้า 150-151
  14. ดร. ตรงใจ หุตางกูร. "ประเด็นประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากจารึกเมืองละโว้" ใน มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้, หน้า 178, 189
  15. รศ. เสมอ บุญมา. "คตินิยมทางศาสนาในละโว้" ใน มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้, หน้า 156
  16. บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2400
  17. พระมหาธงชัย ฐิตโสภโน และคณะ (มกราคม–มิถุนายน 2560). "คุณค่าและอิทธิพลของกลุ่มปราสาทขอมที่มีต่อคนท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ". วารสารวนัมฎองแหรกพุทธศาสตรปริทรรศน์ (4:1), หน้า 55-62
  18. "จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  19. เทพพร มังธานี (มกราคม–มิถุนายน 2554). "ฮูปแต้มในสิมอีสาน : ภาพสะท้อนของความหลากหลายของลัทธิความเชื่อ". วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (3:1), หน้า 41-54
  20. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 13-14
  21. "วัดกำแพงแลง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  22. "วัดพระพายหลวง". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  23. "ความเป็นมาของวัดศรีสวาย เดิมทีคือ "เทวสถาน" ภายหลังดัดแปลงเป็นวัด". ศิลปวัฒนธรรม. 29 มีนาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  24. ภูมิหลังและวัฒนธรรมประเพณีของลังกาสุกะ (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. p. 52.
  25. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. "สายใยแห่งภราดรภาพ : บนสายรากวัฒนธรรมไทยทักษิณกับมลายูตอนบน". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 390
  26. ทักษะวัฒนธรรม, หน้า 108-109
  27. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "แผ่นดินภายใน". ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา, หน้า 40
  28. "บทบาทหน้าที่ของพราหมณ์ต่อราชสำนักสยาม". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  29. "ชุมชนโบสถ์พราหมณ์". หอสมุดท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  30. บำรุง คำเอก (พฤษภาคม–สิงหาคม 2558). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". Veridian E-Journal (8:2), หน้า 2404
  31. ทิพยประติมา, หน้า 110-111
  32. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (23 พฤศจิกายน 2560). "เมื่อเทพถูกไล่ที่ – กรณีเทพฮินดูในพุทธสถาน". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  33. "พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 6 มิถุนายน 2559. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  34. นิกรณ์ สมศรี (10 มกราคม 2563). "กทม. ร่วมงานพระราชพิธีตรียัมพวาย-ตรีปวาย ณ เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์". สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  35. "โบสถ์พราหมณ์". กทม. Now Connect. 11 มกราคม 2563. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  36. ดวงกมล การไทย. "ไทย - ศาสนาและความเชื่อ". ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. สืบค้นเมื่อ 27 ธันวาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  37. "ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่กระทำ ณ เทวสถานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด". มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  38. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1595
  39. แคทรียา อังทองกำเนิด (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559). "“พุทธาวตาร” กับ “ทศรถชาดก” : พุทธในพราหมณ์-ฮินดู พราหมณ์-ฮินดูในพุทธ" (PDF). ไทยศึกษา (12:2). p. 23. Check date values in: |year= (help)
  40. ราม วชิราวุธ. "ลิลิตนารายณ์สิบปาง ปางที่ ๙ พุทธาวตาร". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  41. Upendra Thakur (1986). Some Aspects of Asian History and Culture. Abhinav. pp. 27–28. ISBN 978-81-7017-207-9.
  42. Norman Cutler (1979). Consider Our Vow: Translation of Tiruppāvai and Tiruvempāvai Into English. Muttu Patippakam. p. 13.
  43. นิรมล มูนจินดา (มกราคม 2546). "โลกหลายใบของเด็กชายพราหมณ์". สารคดี. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  44. "นารายณ์สิบปาง Thailand Edition". Story Log. 29 กันยายน 2562. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  45. บำรุง คำเอก, ดร. (มกราคม-มิถุนายน 2549). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูต่อวัฒนธรรมประเพณี รูปแบบศิลปะ และวรรณกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". ดำรงวิชาการ (5:1). p. 192-194. Check date values in: |year= (help)
  46. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (16 พฤศจิกายน 2560). "ไม่มีพระพรหมและพระคเณศในพิธีไหว้ครูโขนละครและดนตรี". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  47. แคทรียา อังทองกำเนิด (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559). "“พุทธาวตาร” กับ “ทศรถชาดก” : พุทธในพราหมณ์-ฮินดู พราหมณ์-ฮินดูในพุทธ" (PDF). ไทยศึกษา (12:2). p. 24-26. Check date values in: |year= (help)
  48. บำรุง คำเอก, ดร. (มกราคม-มิถุนายน 2549). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูต่อวัฒนธรรมประเพณี รูปแบบศิลปะ และวรรณกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". ดำรงวิชาการ (5:1). p. 190. Check date values in: |year= (help)
  49. "ศาสนาพราหมณ์ในไทย" Check |url= value (help). พราหมณ์. 15 กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  50. "ประวัติความเป็นมา". โบราณสถานตุมปัง. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  51. "นารายณ์สิบปาง". นามานุกรมวรรณคดีไทย. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  52. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 19
  53. อมนุษย์นิยาย, หน้า 63
  54. "ทำไมต้องเรียก "ขนมต้ม" คู่แฝด "ขนมโมทกะ"". Matichon Academy. 26 กันยายน 2560. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  55. ประคอง นิมมานเหมินท์ (เมษายน-มิถุนายน 2548). นิทานพระรามในฐานะวรรณกรรมพุทธศาสนา (PDF). วารสารราชบัณฑิตยสถาน (30:2). p. 459-469. Check date values in: |year= (help)
  56. อมนุษย์นิยาย, หน้า 105
  57. เสถียรโกเศศ และ นาคะประทีป. "พระคเณศ" "วรรณคดี "พระคเณศ"". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  58. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (27 พฤษภาคม 2559). "'พระพิฆเนศวร์' ที่อินเดียไม่รู้จัก". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  59. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 119-120
  60. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1592
  61. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2561). "เทวนิยมอินเดีย : เส้นทางและปรากฏการณ์ในสังคมไทย". Veridian E-Journal (11:2), หน้า 1593
  62. อมนุษย์นิยาย, หน้า 60
  63. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (21 มิถุนายน 2561). "เล่าเรื่องเครื่องสังเวย ตอนที่ 2". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  64. "ขนมโค (ตือปง นอแน)". สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี. 25 กรกฎาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  65. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 101-107
  66. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 142-143
  67. "อดีตดาราดาวร้าย ส่งต่อศรัทธาจากความเชื่อ 3 วิมานเทพเสริมมงคล". ไทยรัฐออนไลน์. 14 มีนาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  68. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 8-9
  69. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 177
  70. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (15 มีนาคม 2561). "ภาษาเทพ รับขันธ์ และ สวดโซฮา : นวัตกรรมจากวัฒนธรรม "เจ้าทรง" ไทย". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  71. "พระราชพิธีที่เกี่ยวกับการทำ มาหากิน". มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  72. บำรุง คำเอก, ดร. (มกราคม-มิถุนายน 2549). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูต่อวัฒนธรรมประเพณี รูปแบบศิลปะ และวรรณกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". ดำรงวิชาการ (5:1). p. 188-191. Check date values in: |year= (help)
  73. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. "พระราชพิธีสิบสองเดือน - พระราชพิธีเดือน 10". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  74. "ความหมายของพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธี" (PDF). สำนักงานเลขานุการตำรวจ. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  75. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. "พระราชพิธีสิบสองเดือน". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  76. "คำที่ควรรู้เกี่ยวกับ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" (๒)". พีพีทีวี. 31 กรกฎาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  77. กรกมล ทิมแถวสุต. "ฉัตรมงคล วันมหามงคลสมัย". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  78. "สมเด็จพระบรมฯ เสด็จฯ ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล". ไทยพีบีเอส. 5 พฤษภาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  79. "พระเมรุมาศ พระเมรุ ในความเชื่อสังคมไทย". ศิลปวัฒนธรรม. 14 ตุลาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  80. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (28 ตุลาคม 2559). "พิธีเกี่ยวกับความตายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  81. "'ในหลวง-พระราชินี' ทรงประกอบพิธีบวงสรวงพระบรมรูป ร.9". กรุงเทพธุรกิจ. 6 เมษายน 2563. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  82. กิเลน ประลองเชิง (2 เมษายน 2562). "กลบบัตรสุมเพลิง". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  83. "ชนิดของบายศรีที่ใช้ในพิธี". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  84. "ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์". Art Bangkok. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  85. "ความเชื่อเรื่องการตั้งศาลพระภูมิ". กระทรวงวัฒนธรรม. 13 มกราคม 2559. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  86. นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม, 283-284
  87. อายัณโฆษณ์ (2558). "เรื่องพระคเณศที่เกี่ยวข้องกับช้าง". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  88. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (4 พฤศจิกายน 2559). ""นาลิวัน" คือใคร?". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  89. สุจิตต์ วงษ์เทศ (20 มีนาคม 2560). "เพชรบุรีมีเจ๊กกับแขก". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  90. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?, หน้า 192
  91. ราม วชิราวุธ. "สาส์นสมเด็จ". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  92. นิราศนครวัด, หน้า 48-49
  93. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (16 เมษายน 2563). "พราหมณ์พัทลุง และความหลากหลาย ของ "พราหมณ์พื้นเมือง" ในไทย". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  94. "ศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช" (PDF). พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  95. "วัดเก่าแก่บนสันทรายเมืองนครศรีธรรมราช (ตอนที่ 10)". วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. 29 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  96. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (8 ธันวาคม 2559). "เจดีย์พุทธ ยุคอยุธยา บ้านพราหมณ์ สมอพลือ จ.เพชรบุรี". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  97. คำให้การชาวกรุงเก่า. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559, หน้า 623
  98. กิเลน ประลองเชิง (22 มกราคม 2562). "พราหมณ์สมอพลือ". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  99. "พราหมณ์สายพัทลุงที่ยังมีชีวิตอยู่" Check |url= value (help). พราหมณ์. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  100. "ที่นี่บ้านเรา : หมอพราหมณ์". ไทยพีบีเอส. 6 พฤษภาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  101. "The new Brahmins". สืบค้นเมื่อ 4 March 2020.
  102. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?, หน้า 196-197
  103. "ตำแหน่งพระครูพราหมณ์". มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  104. "คณะพราหมณ์". เทวสถานโบสถ์พราหมณ์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  105. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 43-44
  106. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (9 พฤศจิกายน 2560). "นาลิวัน (พราหมณ์) สยายผมทำไม?". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  107. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (25 มกราคม 2561). "ช้าหงส์และพราหมณ์ "ยองๆ ไหว้" ในพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวาย". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  108. นิยะดา เหล่าสุนทร, ดร. (2535). พินิจวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง. p. 13-14. Check date values in: |year= (help)
  109. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (27 มกราคม 2560). ""ตรียัมปวาย – ตรีปวาย" คืออะไร ของสยามและอินเดีย เป็นไฉน". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  110. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (31 กรกฎาคม 2562). "อาหารกับศาสนา : ข้าว". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  111. Adcharawadee S. (31 กรกฎาคม 2562). "พราหมณ์กินอะไร ?". Urban Eat. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  112. "INDIAN COMMUNITY IN THAILAND". สืบค้นเมื่อ 3 March 2020.
  113. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?, หน้า 16-17
  114. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (4 กรกฎาคม 2562). "รู้จัก "เทพมณเฑียร" ห้าสิบปีผันผ่าน ของเทวสถานอินเดียใจกลางพระนคร". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  115. "ศาสนสถานฮินดู". ภูเก็ตสารสนเทศ. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  116. Sandhu & Mani 2006, p. 978.
  117. Kesavapany & Mani 2008, p. 673.
  118. Manguin, Mani & Wade 2011, p. 475.
  119. "วัดวิษณุ". ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาลัยเซนต์หลุยส์. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  120. "ศาสนาพราหมณ์". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  121. http://popcensus.nso.go.th/show_table.php?t=t5&yr=2543&a=1
  122. "Population by religion, region and area, 2010" (PDF). NSO. สืบค้นเมื่อ 2 March 2020.
  123. "Population by religion, region and area, 2015" (PDF). NSO. สืบค้นเมื่อ 2 March 2020.
  124. "Hinduism fastest growing religion in Pakistan and Saudi Arabia". สืบค้นเมื่อ 2 March 2020.
  125. "ลักษณะสถาปัตยกรรม และประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  126. "เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สำหรับเด็กระดับกลาง". มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  127. บำรุง คำเอก, ดร. (มกราคม-มิถุนายน 2549). "อิทธิพลศาสนาพราหมณ์-ฮินดูต่อวัฒนธรรมประเพณี รูปแบบศิลปะ และวรรณกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". ดำรงวิชาการ (5:1). p. 205-206. Check date values in: |year= (help)
  128. "สัมพัจฉรฉินท์ พิธีโบราณ งานสงกรานต์สนามหลวง". MGR Online. 8 เมษายน 2552. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  129. "เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย"". ศรีจินดา. 5 มกราคม 2553. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  130. ณัฐสิมา ตัณฑิกุล (17 ตุลาคม 2561). "ย้อนดูประวัติศาสตร์ ทำไม 'เทศกาลกินเจ' จึงเข้มข้นในภาคใต้". The Momentum. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  131. "เทศกาลไทปูซัม". เดลินิวส์. 27 มกราคม 2559. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  132. "บายศรีภาคใต้". มูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)
  133. "ประเพณีแห่นก". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 12 มีนาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate=, |date= (help)
  134. นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม, หน้า 285
บรรณานุกรม
  • คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 208 หน้า. ISBN 978-974-02-1564-6
  • ดร. วินัย ศรีพงศ์เพียร และ ดร. ตรงใจ หุตางกูร (บรรณาธิการ). มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ : ว่าด้วยโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2558. 330 หน้า. ISBN 978-616-7154-31-2
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยานิราศนครวัด. พระนคร : บรรณาคาร, 2515. 244 หน้า.
  • บุญพิสิฐ ศรีหงส์. นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 349 หน้า. ISBN 978-974-02-1566-0
  • มอนซาติโน, ไมเคิล เจ. ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย. นครศรีธรรมราช : ศูนย์หลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2560. 416 หน้า. ISBN 978-974-7557-60-2
  • แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง. ทักษะวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2559. 184 หน้า. ISBN 978-616-7154-41-1
  • วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และอื่น ๆ. ยาลอเป็นยะลา ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและคนรุ่นใหม่ในเมืองและปริมณฑลเมืองยะลา. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2553. 318 หน้า. ISBN 978-616-7070-28-5
  • ส. พลายน้อย. อมนุษย์นิยาย. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2561. 320 หน้า. ISBN 978-616-301-574-7
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงเทพฯ มาจากไหน ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548. 216 หน้า. ISBN 974-323-436-5
  • อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยประติมา. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2560. 248 หน้า. ISBN 978-616-7674-13-1

แหล่งข้อมูลอื่น

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศาสนาฮินดูในประเทศไทย
  • "ตำราเทวรูปพระไสยศาสตร์". เรือนไทย. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2563. Check date values in: |accessdate= (help)

ศาสนาฮ, นด, ในประเทศไทย, าย, เทวสถานสำหร, บพระนคร, นย, กลางศาสนาฮ, นด, ในไทยขวา, เสาช, งช, เด, มใช, ประกอบพระราชพ, ตร, มพวาย, ตร, ปวายพราหมณ, หลวงขณะประกอบพ, กรรมทางศาสนา, เป, นศาสนาชนกล, มน, อยในประเทศไทย, 2558, ศาสน, กชนราวร, อยละ, จากประชากรท, งหมดในประเทศ,. say ethwsthansahrbphrankhr sunyklangsasnahinduinithykhwa esachingcha edimichprakxbphrarachphithitriymphway tripwayphrahmnhlwngkhnaprakxbphithikrrmthangsasnasasnahinduinpraethsithy epnsasnachnklumnxyinpraethsithy ph s 2558 misasnikchnrawrxyla 0 03 cakprachakrthnghmdinpraeths 1 krannsasnahinduyngkhngmibthbathednaelaaefngtwxyuinsngkhmithymatlxd 2 aemprachakrswnihynbthuxsasnaphuthth aetkidrbxiththiphlcaksasnahinduxyangsung hakmiethskalenuxnginsasnahindu kcamiphuththsasnikchnodyechphaachawithyechuxsaycinekharwminphithi 3 thngnisasnahinduinithyidrbxiththiphlcakxinediyitxyangchdecn 4 pccubnyngsamarthphbxiththiphlhinduidthwip echn wrrnkrrm ramekiyrti sungmiphunthanmacak ramayna khxnghindu 5 aelasylksnkhxngpraethskhuxkhruth epnphahnakhxngphrawisnu ethphecahinduxngkhhnung 6 xyangirktamphrahmnithyexngidrbxiththiphlxyangsungcaksasnaphiaelasasnaphuthth echnkhxptibtikhxngphrahmn karbwngsrwng aelakarbuchaphi thaihmixtlksnepnkhxngtnexng 2 7 8 9 enuxha 1 prawti 1 1 yukhaerkerim 1 2 yukhhlng 2 khwamechux 3 phithikrrm 3 1 phrarachphithi 3 2 praephnirasdr 4 karaebngklum 4 1 phrahmnithy 4 1 1 phrahmnphunemuxng 4 1 2 phrahmnhlwng 4 2 chawxinediyhindu 5 prachakrsastr 6 sasnsthan 7 xiththiphl 8 xangxing 9 aehlngkhxmulxunprawti aekikhyukhaerkerim aekikh prangkhaekhk epnethwsthanhinduaebbkhxminithy inxditdinaednkhxngpraethsithyinpccubnidrbxiththiphlsasnahinducakckrwrrdiekhmraelaxanackrsriwichysungekhyeruxngxanacmakxn 8 prachakrinaethbpraethsithyrucksasnahindumanankwa 1 000 2 000 pi 10 edimeriykwasasnaisy a kxnepliyniperiyksasnaphrahmninchwngrtnoksinthrepntnma 2 dngpraktkarsrangsasnsthanxyangprasathkhxmaephrhlaythwipinphakhtawnxxkechiyngehnuxaelabangswnkhxngphakhklang mirupekharphethphecatang echn phrawisnu phrasiwa phraphrhm phrakhens aelaphraxinthr epntn 11 aelapraktchumchnhindukracaythwipinphakhklangaelaphakhitkhxngpraethsithy 10 thngnisasnahinduekhasuithyhlaythang odyphanthangchawekhmrcakxanackrfunnchwngphuththstwrrsthi 6 aelayngphannkedineruxchawxinediyitepnhlk dngcaphbhlkthanethwrupphrawasuethph thixaephxichya cnghwdsurasdrthani xayurawkhrunghlngphuththstwrrsthi 9 thuxepnhlkthankhxngsasnahinduthiekaaekthisudinpraethsithyaelaexechiytawnxxkechiyngit 12 in caruksalsung phasaekhmr hlkthi 1 rabuthungkarihxisraaekprachachnchawlaowinkarnbthuxsasnathnglththiiswa ethrwath aelamhayan swn caruksalecaemuxnglphburi klawthungkarnbthuxlththiiwsnphthiaephrhlaycakekhmrsulaow 13 aela carukkmretngxysrichywrmn rabuthungkarnbthuxphrawisnu incarukeriyk sribrmwasuethph epnethphecapracaemuxngdwy 14 aetkrannchawlaowswnihyyngkhngnbthuxsasnaphuththnikayethrwathtamxyangthwarwdixyangehniywaenn 13 inyukhxanackrsuokhthy mikarsrangethwsthanxuthisaekethwrup aetphukhnerimhnipnbthuxsasnaphuththnikayethrwathtngaetrchsmyphxkhunramkhaaehngmharachepntnma 15 aelainxanackrxyuthya mikarxangthungphrarachphithixinthraphieskinkdmnethiyrbal aelamiwrrnkrrmsahrbphithikrrmsakhykhux lilitoxngkaraechngna 16 rwmthngkhtiethwracha thiechuxwakstriysubechuxsaycakethpheca dngphbkarechlimphraprmaphiithyihphxngkbphranamkhxngphraepneca echn ramathibdi surieynthrathibdi narayn hruxraemswr epntn 9 sasnahindumixiththiphlechphaachnchnsung khnathichnchnlanglngmanbthuxsasnaphuththhruxphi 9 17 carukthanphraxiswremuxngkaaephngephchr emux ph s 2053 rabuwamikhwamphyayaminkarthicaphsankhwamechuxrahwangsasnaphuthth sasnaisy aelasasnaphraethphkrrm ihepnhnungediywkn 18 thwainkaltxma sasnaphuththnikayethrwathklayepnsasnathiprachakrswnihyinaethbnihnipnbthux ephraasasnaphuththnneriybngay prbtwekhakbsasnaphiaelawthnthrrmithyphunemuxngid cungklayepnthiniymaelaaephrhlayinklumchnchnsungaelachawbanthwip 19 xyangirktamsasnahinduyngkhngkracuktwxyukbklumchnchnsung ephraamipraoychntxnoybaykarpkkhrxng aemphramhakstriynbthuxsasnaphuthth aetkyngkhngphithikrrmhinduephuxephimkhwamskdisiththiaelakaraesdngtnwamixarya dwyehtuniphrahmninsngkhmithycungmibthbathechingphithikrrmethann 9 20 sasnsthankhxngphrahmnhlayaehngcungthukepliynepnphuththsthanaethn 21 22 23 swndinaednaethbpttani chawhinduerimhnipnbthuxsasnaphuththchwngphuththstwrrsthi 10 aetyngkhngthrrmeniymhindubangxyangiw krathngphuththstwrrsthi 19 khnipnbthuxsasnaxislam aelaerimthalaysasnsthanedim 24 aetyngkhnghlngehluxxiththiphliwbangprakarechn krichthimirupethphecahindu phithitxelaabalx xnepnphithiswdkhbilsingchwrayxxkcakchumchn karaesdngwayng karthabuhngasiera 25 phithipuyxpata epnphithibuchathael aelaphithipuyxbuxaen epnphithibuchathungnahruxnangophsph 26 rwmthngeruxngelaprmpra thichawbanekhytxngsnghyingsawipbwngsrwngaekphyakhruthaethbephingphaekhayalx 27 yukhhlng aekikh phrahmninphrarachphithibrmrachaphiesk hlngkaresiykrungsrixyuthyakhrngthisxng rxngrxyaelaexksarkhxngsasnahinduinithythukthalaylngipmak 16 28 inrchsmysmedcphraecakrungthnburi thiekhyprathbxyuemuxngnkhrsrithrrmrach thrngphbchumchnphrahmnthinn aelamiphrarachdariwaphrahmnthikrungekannthukphmakwadtxnsuyhayiphmdsinaelw cungechiyphrahmnemuxngnkhrklbipsrangkrungthnburidwykn 8 txmaphrabathsmedcphraphuththyxdfaculaolkmharachprabdaphieskaelasthapnakrungrtnoksinthr thrngmiphrarachprasngkhthicafunfuphrarachphithitlxdcnkhnbthrrmeniymtamobranrachpraephnikhun sasnahinduidrbkarfunfuxikkhrng 16 thrngsrangethwsthansahrbphrankhraelaesachingchaemux ph s 2327 29 swnexksarkhxngnxrmn barteltrabuwaobsthphrahmnsrangin ph s 2323 trngkbyukhthnburi 30 thaihmiphrahmnptibtihnathiinrachsanksubmacnthungpccubn odyinyukhrtnoksinthrepntnma khwamechuxinrabbckrwalwithyakhxnghindusngphltxkarrngsrrkhcitrkrrm silpkrrm aelawrrnkhdikhxngithy 16 ethphecahindutang aeprsphaphepnphuphithksphuththsasna dngcaphbphaphethphhinduthibanpratuhnatangkhxngphuththsasnsthan thahnathiepnthwarbal 31 tngaetrchsmyphrabathsmedcphracxmeklaecaxyuhwepntnma phrarachphithiphrahmnthiyngehluxxyuthukaethrkdwyphithisngkhaelakarthabuykhxngsasnaphuththtamphrarachniymxyangchdecn krannphrarachphithiphrahmnexngkthukcakdaetinrachsank 32 aelaphrarachphithithiekiywkhxngkbphrahmnbangphithithukykelikipinyukhrtnoksinthrni 33 34 35 aetyngkhngkhwamechuxwaphramhakstriyepnxwtarkhxngphranarayn khuxphrawisnu 36 hlngrchsmyphrabathsmedcphrapkeklaecaxyuhwepntnma mikarepliynrabxbkarpkkhrxngcaksmburnayasiththirachepnprachathipityodymiphramhakstriythrngepnpramukh thngmikarykelikkrmphithiphrahmn sngkdkrathrwngwng thaihphrarachphithihyudchangk aelabangphrarachphithithukykelikip imidrbkarfunfukhunmaxik 33 37 aetedimkhtiphrahmnithy phrawisnuimmiphuththawtaraetmismnawtar aelanbthuxphraphuththecaiwsungsud aethlngkarxphyphkhxngchawxinediythinbthuxsasnahindusuithychwngplayrchsmyphrabathsmedcphraculcxmeklaecaxyuhwepntnma kidnakhtiphuththawtarekhamadwy odyihphraphuththecamisthanaethakbethphhindu sungphidaephkipcakrabbckrwalwithyakhxngithythimxngwaphraphuththecaxyuehnuxethphecaxngkhid 38 inrchsmyphrabathsmedcphramngkudeklaecaxyuhwphrarachniphnth lilitnaraynsibpang mikarrabu phuththawtar epnkhrngaerk aetphraxngkhmiidraburaylaexiydid ekiywkbxwtarniely hakaetthrngklawykyxngphraekiyrtikhunkhxngphraphuththeca 39 40 pccubnsasnahinduyngmibthbathinphrarachphithithiekiywkhxngkbphramhakstriy khwamswsdimngkhl aelaethskaltang xyu 41 42 echn phrarachphithibrmrachaphiesk phrarachphithichtrmngkhl phrarachphithicrdphranngkhlaerknakhwy phrarachphithitriymphway tripway sngkrant aelalxykrathng 10 43 chawithythwiprbrusasnahinduphanwrrnkrrmaelaaenwkhidxyangsasnaphuthth thaihthrabthungwithikarptibtitnxyangthuktxngtampraephnihindukhxnkhangnxy 2 khwamechux aekikh inkhtikhwamechuxithyethphecahinduepnphuxarksphuththsasna inphaphkhuxphraphrhm say aelaphraxinthr khwa kalngchwynangsuchadakwnmthupayasthwaysmnokhdm khtiphrahmnithynbthuxwaphraxiswr khuxphrasiwa epnphraepnecasungsud mkmiethwoxngkarihphranarayn khuxphrawisnu lngipprabephthphyxyubxykhrng 44 inethwsthanpracaphrankhrmikartngsiwlungkhsxngxngkhkhukn khadwakrathatamthrrmeniymxinediytxnit 45 phrahmnithynbthuxphraxiswraelaphranaraynepnhlk khuxphrahmnphithinbthuxphraxiswr aelaphrahmnphvthibasnbthuxphipaka phayhlngthukeknthipnbthuxphranarayn aelamxngwaphraphrhmepnethphinsasnaphuthth 46 thngidrbxiththiphlxyangsungcaksasnaphiaelaphuthth sungxyangaerkepnsasnaphunemuxngdngedim aelaxyanghlngepnsasnathichnswnihynbthux echnkhxptibtikhxngphrahmn karbwngsrwng aelakarbuchaphi thaihmixtlksnepnkhxngtnexng 2 7 8 nxkcakniin olkbyyti olksnthanochtrtnkhnthi aela itrphumiolkwinicchyktha sungkhmphirsasnakhxngithy mieruxngrawkhxngphraxiswridrbkarethsnacakphrasmmasmphuththeca cnphraxiswryxmrbphraphuththsasna aelamirupphraphuththecapradbxyubnphraesiyrkhxngphraxiswr 47 48 aelapccubnchumchnphrahmnbangaehngmikarskkararupphramychusriophthistw sungepnphraophthistwkhxngsasnaphuthth dwysakhywaepnethwrupphraxiswr 49 50 in khmphirnaraynyisibpang rabuwa phrawisnuimmiphuththawtar hakaetepnsmnawtarphuaeyngsiwlungkhcakxsurtribura 51 52 khuxbutrsamkhnkhxngtarkasur in purana 53 sxdkhlxngkbrabbckrwalwithyakhxngithyechuxwaphraphuththeca sasdakhxngsasnaphuththxyuehnuxethphecaxngkhid 38 swn khmphiritrphumiolkwinicchyktha rabuwa mehswrethwrachepnwiyyankhxngphuthakuslaelwipcutiepnethwda aelaxnakhtcaidtrsruepnphrasmmasmphuththeca aetmisthanphaphtakwaphrasakymuni 52 aelamikarcdchnihethphecahindumithanaepnphuxarkkhaphuththsthan 38 odyxingtamkhmphirthangphuththsasna 2 inbangkhrngxaharhruxekhruxngesnsrwnginkarsngewyethphecahruxaemaetwrrnkrrmhinduxyang ramekiyrti yngaefngipdwyhlkthrrminphuththsasna 54 55 ethphecahinduinithycamiruplksnthiaetktangipcakpraethstnthang echn phrawiswkrrmtamtaraxinediycamiphrakaysikhaw misamphraentr thrngchda swmchudsithxng aelathuxkhtha aetinkhtiithy phrawiswkrrmcamiphrakaysiekhiyw ophkphakhaw thuxhangnkyung 56 swnphrakhensaebbithy kcathrngekhruxngxyangithy rangaebbbangphungimphluy bangkmingakhrbthngsxngkhang tangcakaebbxinediythiphungphluyaelamingakhangediyw 57 nxkcakniyngmikarsrangethphphunemuxngthiimpraktinkhmphirhinduxinediyid odyhyibyumruplksnkhxngethphhindumaich echn phrawisnu thuksrangepn phranaraynethwkrrm epnethphaehngchang mihkkr prathbnng thuxbwngbasnakhrach 58 aelaethphxikxngkhhnungkhuxphrakhens thuksrangepnphraethwkrrm epnethphekiywkbchang aelaphraokycnaenswr epnethphphuihkaenidchang sungphthnacakphiphunemuxngkhuxphipaka 2 59 60 thngyngsbsndanethwwithyathirabuwaphrakhnthkumarepnethphxngkhediywkbphrakhens 61 62 klawkhuxepnphrakhnthkumaremuxmiesiyrepnkhn aelaepnphrakhensemuxmiesiyrepnchang 57 phrahmninithymikarichkhnmtmkhaw khnmhmxaekng khnmkhnhlaw aelakhnmhuchang swnaethbpttaniinxditcaichtuxpngnxaen inkaresnsrwngbuchaphrakhenshruxphraphumiaethnkhnmomthka 54 63 64 aelanbthuxphrakhensepnethphaehngsilpaaelaethphaehngchang aetaethcringaelwphraxngkhepnethphaehngkarerimtnihmaelakhwamsaerc 65 karraaekbnthwaythisalthawmhaphrhm orngaermexrawn aeykrachprasngkh phrahmninithy mikarrwmkhwamechuxrahwangphraphumikbphiecathirwmkn odycdihphraphumiepnethph hakduaelsaldicaihkhun aetthaduaelimdikcathuklngoths oprdekhruxngesnepnxaharkhawhwan enuxstw aelaehlaxyu tangcakethphhinduthwipthiekuxbthnghmdepnmngswirti 66 swnhmusalethphecahindubriewnaeykrachprasngkhimichethwalyxyanghindu aetepnsingthithahnathiaethnsalecathikhxngsasnaphiodyhyibyumruplksnkhxngethphhindumaich ephraaepnaehlngthurkicihy salcungtxngmikhnadthiihyechnkn 67 aelathuxwaethphhindusungchnkwaphikhxngsasnadngedim 68 rangthrnginithymkklawxangwamiethphecahinduekhathrngtnexng aetodymakmikhwamruekiywkbhindukrathxnkraaethn thrabephiyngchuxethpheca aetnxknnaethbimmixairepnhinduely bangraytngsankkhxngtnthanxngethwaly hruxiperiynphasaaelaphithikrrmxyanghindukmi 69 bangkhnthiphudphasasnskvtimid kcasrangphasakhxngtnexngaelwxnumanwakhux phasaethph nxknnkmikaretnrabarafxnkhxngehlarangthrng 70 pccubnphuththsasnikchnekhathungkarbuchaethphecahindumakkhun odymakcaechuxthuxdanthrngecaekhaphi karesnsrwngbucha aelaisysastrernlb cnyakthicakhwbkhum 3 phithikrrm aekikh phaphphraepnecakhtiphrahmnbnekhruxngprakxbphraemrumasinphrarachphithiphrarachthanephlingphrabrmsph edimphithikrrmmimacakkhwamechuxeruxngphiaelaeca thimiphunephcaksngkhmksikrrm ephraathrrmchatisngphlcakkarthamahakinkhxngphukhninxdit dngnncungekidphithikrrmesnsrwng ihw hruxbuchasingernlb emuxrbsasnahinduekhamainhmuchnchnpkkhrxng praephnitang cungekidkarepliynaeplngihduyingihynaeluxmis odymiphrahmnepnphuprakxbphithiihekidkhwamskdisiththi ykradbecanayihsungsngkwakhnchnchnlanglngip 71 hlngkarlmslaykhxngxanackrxyuthya wthnthrrmaelapraephniphrahmnhlayxyangsuyhayip khrnemuxngphrabathsmedcphraphuththyxdfaculaolkmharachprabdaphieskkhunepnphramhakstriy cungmikarfunfuthrrmeniymphrahmnkhunmaihm 33 swnihyidrbxiththiphlcakxinediyit bangxyangkrbmacakxinediyehnux 72 inrchsmyphrabathsmedcphranngeklaecaxyuhw aelaphrabathsmedcphracxmeklaecaxyuhw mikarprbprungpraephnibangprakarihehmaasmkbkalsmy 33 37 aetcakkarlaelykhxngphrahmn thaihphrarachphithiaebbphrahmnerimsabsuyip phrabathsmedcphraculcxmeklaecaxyuhwthrngxthibayiwwa emuxphrahmnpraphvtisasnakhxngtwesuxmkhlaylng cniptrngkbkhanungkhaku karphithisungimmipraoychn aelaimmiikhrbngkhbihthacungidlaelyesiy capwyklawipiyinphithiphrahmn sunghlwmophrkmaaetedimaelw aela karphithithiepnswnkhxngphuthuxsasnathaexng emuxkhwamsrththaesuxmkhlaylng kthaihyx lngipcnelyhayipid 73 sudthayinrchsmyphrabathsmedcphrapkeklaecaxyuhw mikarepliynrabxbkarpkkhrxngcaksmburnayasiththirachepnprachathipityodymiphramhakstriythrngepnpramukh mikarykelikkrmphithiphrahmn sngkdkrathrwngwng thaihphrarachphithihyudchangk aelabangphrarachphithithukykelikip imidrbkarfunfukhunmaxik 33 37 pccubnphithikrrmkhxngphrahmnithyswnihyepnphrarachphithiinrachsankephuxesrimkhwamskdisiththiinaephndin 9 phithikrrmbuchayythukykelikipcnsin khngehluxaetkarsathyayphraewth phithimngkhltang khwbkhuipkbsasnaphuthth 37 phrarachphithi aekikh phrarachphithi hmaythung nganthiphrabathsmedcphraecaxyuhwthrngphrakrunaoprdekla kahndiwtamphrarachpraephni sungcaesdcipprakxbphithi bangphrarachphithicaesdcphrarachdaeninipprakxbphrarachkrniykiccungcamihmaykahndkar aelamiphuekhaefa ewnaetepnkarswnphraxngkhhruxkarphayin 74 phrarachphithiphthnamacakphithikrrmkarbuchathrrmchatiaelaphi emuxrbsasnahinduaelaphuththekhamacungphthnaphithikrrmtang ihduyingihysmkbepnngankhxngphraecaaephndin 71 phrarachphithithiepnphithixyanghinduin phrarachphithisibsxngeduxn swnihythukykelikipaelw nganthiyngmixyukthukrwmekhakbphrarachphithikhxngsasnaphuthth sungmidngni 33 37 75 eduxn phrarachphithi phithikrrm hmayehtueduxnxay phrarachphithiechwiynphraokhkineliyng epnphrarachphithieliyngphraokhxusuphrach edimkrathaineduxnyi inphithicanaphraokhxusuphrachmaaetngdwyekhruxngpradbtang ihphrarachkumarpxnhyaphraokh phraecaaephndinthuxdxkbwthxng phraxkhrmehsithuxdxkbwengin aehprathksinphraokhekarxb ykelikaelweduxnyi phrarachphithibusyrtn phraecaaephndinthrngekhruxngxyangsrngmurthaphieskprathbbnkxngdxkimecdsihruxmnthpdxkimsd aelwcaeriyphrankha miphrahmnaepdkhnthwayphraphr ykelikaelwphrarachphithitriymphway tripway epnpiihmphrahmnkhxngphwkphrahmnohrdacary edimkrathaineduxnxay inphrarachphithitriymphwayepnkhxngphraxiswr swnphithitriphwayepnkhxngphranarayn camikharachkarphuihyepnphrayayunchingcha smmtitwwaepnphraxiswrmaeyiymolk olchingchaphrxmkbphrahmnnaliwn ykelikaelweduxnsam phrarachphithithanyethaah epnphithiephakhaw thaphithithithungna inphithimikhnaetngkayswmethrid aebngepnchudaedngklumhnung chudekhiywklumhnung smmtiwaepnphraxinthrklumhnungphraphrhmklumhnungaeyngrwngkhawkn khangihnaeyngidcamikhathanay ykelikaelwphrarachphithisiwaratri epnphithilxybapkhxngphrahmn mikarphukechuxkthikhxhmxaelaoyngkbesasiesa knhmxecaaruiwihnainhmxhydlngsiwlungkhihliptamrangoyniaelaetimnainhmxiperuxycnecha khrnrungsangcanananiipsraphmxabna aelaekbphmthirwngiplxyna ykelikaelweduxnsi phrarachphithismphcchrchinth mikarswdxadanatiysutrhruxphanykskhbilphitlxdthngkhun thukyubrwmeduxnha karsngewyethwda mikaresnsngewyekhruxngaelalakhrhlwngaekethwda inphrarachphithicaxyechiyphrasyamethwathirach ecwd aelaethwrupmatnginphithi ykelikaelwphrarachphithisrisccpankal epnphithirangbthukkhekhykhxngbanemuxng mikarxankhastysabanaelaihphurwmphithidumnacharaphraaesng thukyubrwmphrarachphithikhechnthrssnan epnphrarachphithithxdechuxkkhchkrrmkhxngphrahmnphvthibas ephuxepnsirimngkhlaekchangaelaphuthanganekiywkbchang odyphrahmncakhxypraphrmnamntaekchangma ykelikaelwphrarachphithithxdechuxkdamechuxk epnphrarachphithitrwcechuxkbashkeduxnkxnipthangankhxngphrahmnphvthibasthiorngechuxk mikartngotabuchaethwrupphraxiswr phranarayn aelaphraphikhenswr ykelikaelweduxnhk phrarachphithicrdphranngkhl epnphrarachphithiinkarerimtnkarithnaephuxhwanemldkhawthithungsmpxy mikartngethwrup miphrahmnkrathaphithi phrayaaerknaethiymokhxusuphrach aelanangethphihwanphnthukhaw emuxthaphrarachphithiniaelw rasdrcunglngmuxthanaid pccubnthukyubrwmekhakbwnphuchmngkhlkhxngsasnaphuthth thukyubrwmeduxnecd phrarachphithiekhntha thingkhang epnphrarachphithithingkhangesiyngthay naolhaihyklmethaphlaetngomepnlukkhangsmmtiwaepnphrasym txngihphuchaysamkhnchksaythingkhangihhmun ykelikaelwphrarachphithithulnalangphrabath edimeriykphrarachphithinaraynbrrthmsinthu epnphrarachphithithwaynacharalangphrabathkhxngphramhakstriy aelwnanannmaiskalaxxmexaphaphnaelwthunbnhwkhxngkhunnang swnexksarsmyxyuthyarabuwakstriysrngnamurthaphiesk aelwepluxngekhruxngthrngemuxsrngsnansngaekphrahmn ykelikaelweduxneka phrarachphithitulaphar epnphrarachphithisaedaaekhraahkhxngphramhakstriyaelaphramehsi dwykarbricakhphrarachthrphyaekphrahmn ykelikaelwphrarachphithiphrunsastrmhaemkhbucha epnphrarachphithieriykfnephuxpraoychndanksikrrm odymiphrahmnswdrayewth txmamiphithisngkhkhxngsasnaphuththrwmdwy ykelikaelweduxnsib phrarachphithiphthrbth epnphithilxybapkhxngphrahmn buchaphraiphsph caknntngnaxbdxkim naiprdsrngethwrupsibhkxngkh phrahmnkrathaphithilxybap aelwcungbriophkhmthupayasaelayakhu ykelikaelwphrarachphithisarth epnphithikwnmthupayashruxkhawthiphyaelayakhuaekphrahmn txmathwayaekphrasngkh ykelikaelweduxnsibsxng phrarachphithicxngepriyngldchudlxyokhm epnphithilxyekhraah wnykokhmcamikarklawbuchaphraxiswr phranarayn aelaphraphrhm miphrahmnkrathaphithiinorngphithithwaynamhasngkhcnthungwnldokhm ethiyncudokhmcathaepriyng namnikhkhxphraokh ykelikaelwphrarachphithikadiekya epnphrarachphithitamephlingkhxyrbphraepnecaesdclngma cdthiethwsthan edimkrathaineduxnxay ichrayaewlaephiyngsamwn ichnasngkhrddbephling epnxnesrcphithi ykelikaelw karolchingchainphrarachphithitriymphway tripway miphrarachphithithisakhythiyngdarngxyukhux phrarachphithibrmrachaphiesk khuxphithisthapnaphramhakstriywamiphrarachxanacehnuxaephndinxyangepnthangkar tamkhwamechuxkhxngphuththaelahindu echn karsrngnamurthaphiesk aelakarepidpratusiwalyxyechiyphraxiswrephuxprathanphr thwaysngwalphrahmnephuxaesdngphraxngkhwaepnphrahmn thwayphramhaphichymngkudephuxepnkarprakaspkkhrxngpraeths odymiphrahmnhlwngepnphuprakxbphrarachphithi 37 76 phrarachphithichtrmngkhl hmaythung phrarachphithichlxngphraeswtchtrsirirachkkuthphnth phraaesngpracarchkal thainwnsungtrngkbwnbrmrachaphieskeswyrachsmbtitamrachpraephni inphrarachphithi phrahmnxanprakasphrarachphithichtrmngkhl phrabathsmedcphraecaxyuhwcudekhruxngbuchaethphydapracanphptlmhaeswtchtr odymiphrahmnebikaewnewiynethiynaelaecimnphptlmhaeswtchtr 77 78 phrarachphithiphrabrmsphhruxphrasphecanay mikarkxsrangphraemrumassahrbpradisthanphrabrmokshruxphraoksecanay sungekiywphnkbkhwamechuxeruxngekhaphrasuemrukhxnghindu aelakhwamechuxeruxngphramhakstriyepnkaraebngphakhkhxngphraepnecalngmabarungolk emuxswrrkhthruxsinphrachnmcathuxwakhunipcutiepnethwdabnchnfa 79 inxditkharachbripharaelarasdrtxngoknsirsaiwxaly sungepnthrrmeniymkarplngsphkhxngchawxinediyhindu 80 nxkcakniyngmiphithibwngsrwngphrabrmrupkhxngphrarachbuphkari tngotaekhruxngbwngsrwngsngewytamkhtiphrahmn odymiphramharachkhruphithi prathanphrakhruphrahmnxanoxngkarbwngsrwnghnaphrabrmrup odymiohrhlwnglnkhxngchy phrahmnepasngkh phusamalaaekwngbnethaaw 81 aelaphithiinxditxikxyangkhux phithiklbbtrsumephling epnphithithithaihphundinbrisuththi hakmiikhreluxdtkyangxxkhruxtayinphrarachthanchninnbwaepnesniydcyir txngaekikhdwykarihphrahmnphvthibaspluksalephiyngta khuddinbriewnthimieluxdhruxkhntaykwangsxngsxk yawsxngsxk aelaluksxkess caknnnaaeklbklblnginhlumsunghnungsxkaelwkxif hyibekhruxngsngewyisinkxngephlingaelwxanoxngkar esrcaelwekliydinklbhlum 82 praephnirasdr aekikh sasnikchncaprakxbphithikrrminsasnsthan ephraaechuxwaethwsthanepnthisingsthitkhxngphraepneca mikarprakxbphithipracawneriykwa ychya echn karbuchatamkhasxnphraewthhruxkarsuksaphraewth aelakarbuchaifdwykarephasingtang lngip epntnwa eny ngada kayan phngimcnthn ephuxbuchaethwda 37 hruxpraktphithikrrmtang echn karthakhwy karihwkhru aelakarbwngsrwngsngewy camikarthabaysri hakepnkarbwngsrwngsngewycamiekhruxngmcchmngsahar khuxxaharthithacakenuxstwprungsuk hruxkrayabwch khuxxaharthiimprungdwyenuxstw bangphithicatxngmiphrahmnmaprakxbphithiih odykarxanchumnumethwdaaelakhaprakasbwngsrwng swnkarihwkhrucamikartngekhruxngbucha ekhruxngmuxchanghruxhwokhn baysri aelakrayabwch inphithicamibuchaaelasrngnaethwrup xyechiyethphecaaelakhruphulwnglbmarbekhruxngsngewy 83 odyhwokhninkarihwkhrucamikartnghwokhnethphhinducanwnmak aetinoxngkarthwayekhruxngsngewycaklawthungphraprkhnthrrph khuxrupphxaek aelaphraphiraph swnbthihwkhrumiephlnghnaphathysahrbphranaraynaelaphraxiswrethann 46 thrrmeniymeruxngkariwcukkhxngedkithy hlngphanphithioknphmif caewnphmbriewnswnkrahmxm ephraathuxepnswnkaohlkthibangthisud caplxyihyawaelwkhmwdmuniwklangsirsaehmuxnphmkhxngethpheca ephraakhtiphrahmnechuxwaedkcaidrbkarkhumkhrxngcakphraphuepneca emuxxayuid 11 13 pi cungekhaphithiokncuk ephuxepnsylksnkhxngkarkawkhamsuwyphuihy inrachsankcaeriykphrarachphithiosknt sahrbphrabrmwngsanuwngschnphraxngkhecakhunip aelaphithieksaknt sahrbphraxnuwngschnhmxmeca odycamiphithiphrahmnaelaphithisngkhphrxmknephuxkhwamepnsirimngkhl aetpccubnimmiaelw khngehluxaetkarokncukkhxngchawbanthiethwsthansahrbphrankhr 84 inkhtiphrahmnithy phrahmnepnphutngsalphraphumi xingcakaenwkhidthiphraxiswrprathbxyuinwimanbnekhaphrasuemruducmnthlckrwal sungphraphumiepnethwdaehmuxnkn cungtngdwyesaediyw phidkbsalecathikhxngsasnaphisungmisiesa 85 karaebngklum aekikhphrahmnithy aekikh phrahmnincitrkrrmfaphnngeruxng ramekiyrti inxditmikaraebngphrahmniwsitrakul khux phrahmnramrach phrahmnphvthibas phrahmnmhnt aelaphrahmnnaliwrrn xphyphmacakxinediymatngaetyukhxanackrsuokhthy tngthinthanthiemuxnglaow ephchrburi aelankhrsrithrrmrach 86 sungphrahmnmilksnathitangipcakphrahmnxinediy xyangechn phrahmnphvthibas mitnsaymacakemuxngekhmr sungcathaphithikrrmekiywkbchang 87 swnphrahmnnaliwrrn hruxnaliwn cathaphithikrrmolchingcha raekhnng hruxepnphrahmnsyayphminkrabwnaehphrabrmsph 88 aelaphrahmnramrach khuxphrahmninaethbemuxngnkhrsrithrrmrachaelaephchrburi mibrrphburusxphyphmacakemuxngraemswrm rththmilnathu 89 inhnngsux eruxngnangnphmas hrux tarbthawsriculalksn emux ph s 2457 rabuchatiphasatang odymiphrahmnklumtang praktinnndwy idaek phrahmnwythuk phrahmnewramaehsr phrahmnxawatar phrahmnbrmethsntri phrahmnphyari phrahmnphvthibas phrahmnpharansi aelaphrahmnxrrkhisanews 90 inphraniphnth sasnsmedc khxngsmedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaph thrngbnthukkhakrabthulkhxngsmedcphraecabrmwngsethx ecafakrmphrayanrisranuwdtiwngs khwamwa phrahmn inemuxngera aetkxnnimi 3 chn chnsungeriyk iwythuk eklamwybnkrahmxm chnklangeriyk ethsnkri eklaphmthayphmtk chntaeriyk naliwn epluxyphm phrabathsmedcphranngeklatrstikareklaphmbnkrahmxmwaehmuxnedk dunaekliyd trssngwaelikesiyethid aetnnmakelikeklaemali khngehluxaetsxngxyang aela snnisthanwa iwythuk ehncaepn iwthik khuxphuthrngewth ehncaepnphrahmnkhrumaaetnxk ethsnkri ehncaepn ethsn t rik khuxphrahmninpraeths lukphrahmnekidemuxngni naliwn yngkhidimehnwakhuxxair 91 aelainphraniphnth nirasnkhrwd khxngsmedcphraecabrmwngsethx krmphrayadarngrachanuphaph rabuwa inkrungethphmhankhrmiphrahmnxyusamcaphwkkhux phrahmnphithiemuxngnkhr phrahmnohrdacaryemuxngphthlung aelaphrahmnphvthibascakkrungkmphucha thrngklawxikwaphrahmnphithiemuxngnkhrmibrrphburuscakemuxngramnkhr phrahmnohrdacaryemuxngphthlungmacakemuxngpharansi aetphraxngkhimthrabthimakhxngphrahmnphvthibascungtrsthamphrakhruphrahmnkrungkmphucha thantxbklbmawa maaetphnmiklas phraxngkhcungimthrabthimathiipkhxngphrahmnphvthibas 92 aemphrahmnithycamibrrphburusmacakxinediy aetemuxrayaewlaphanipphwkekhakmirupphrrnaelawithichiwitechnchawithythw ip 93 dngphrabrmrachwinicchykhxngphrabathsmedcphraculcxmeklaecaxyuhw khwamwa emuxmaphiekhraahduphrahmnthukwnni aelasngektkhwamnbthuxkhxngithyerathukwnni phrahmnelwkwaphramakhlayetha karsungepnechnniephraaehtuid ephraaeraehnwaphrahmnnnimphidkbkhn thrrmdaely ewlacaipihnhruxxyubaneruxn imidekhawnghruxipinkarmngkhl knungphasitang xyangkhnerathrrmda aeplkaetiwphmyaweklamwythithaythxy karthiepnechnniephraakhwameriywkhxngphrahmn sungmaxyuinpraethsxunimmitrakulphrahmnmak kesuxmthramlngip trakulkecuxpnkbkhninphunemuxng khwampraphvtikhnehiyniptamkhninphunemuxng 73 pccubnphrahmnithyaebngepnsxngklumihy khuxphrahmnhlwngkbphrahmnphunemuxng aethlngkarptirupkarpkkhrxngemux ph s 2437 epntnma xiththiphlphrahmntamhwemuxngerimesuxmlng aetehlaphrahmnexngrbsasnaphuththekhama ephraamxngwasamarthptibtirwmknid 49 thng thithngsasnahinduaelaphuththmikhwamechuxthitangknmak khuxhinduepnphhuethwniym khnathisasnaphuththepnaebbxethwniym 19 aelaphlwtthangsngkhmthiekidkhunthaihmiphubwchepnphrahmnnxylngtamladb 49 bangkwaphrahmnichchiwitimtangcakchawbanthwip phidkbphrasngkhthiidrbkhwamniymmakkwa duekhrngkhrdnaeluxmiskwa 73 phrahmnphunemuxng aekikh esachingchabriewnwdephchrphli sungedimepnchumchnphrahmnaehlngihyinephchrburi phrahmnphunemuxngmikarsubthxdthangsayeluxd aelamikhwamruekiywkbphithikrrmimmaknk pccubnehluxphrahmnephchrburi phrahmnsurasdrthani phrahmnnkhrsrithrrmrach phrahmntrng aelaphrahmnphthlung sungpccubnehluxxyunxymakhruxbangaehngxacsuyipaelw echnthicnghwdrayxngaelacnthburi 93 odyphrahmnthiyngkhngmixyu echn phrahmnnkhrsrithrrmrach miprawtikhwamepnmayawnan subthxdmacakbrrphburuscakxinediyitimtakwaphuththstwrrsthi 10 mirxngrxykarnbthuxlththiiswa aelalththiiwsnph phbsasnsthanthiynghlngehluxxyuinxaephxemuxngnkhrsrithrrmrachaelasichl idaek hxphraxiswr thanphrasym obsthphrahmn aelaobransthanekhakhakhxnglththiiswa aelahxphranaraynkhxnglththiiwsnph sungekuxbthnghmdlwnidrbkarburnaihminchnhlng 94 aetkphbwasasnsthanhlayaehngthukaeprepnwdphuthth 95 phrahmnephchrburithuxepnchumchnphrahmnekaaektngaetsmykrungsrixyuthyasubenuxngmacnthungyukhpccubn 96 odymibrrphburusxphyphkhunipcaknkhrsrithrrmrach 9 mixtlksnkhlaykbphrahmninkrungethph aelankhrsrithrrmrachkhuxiwphmmuntrngthaythxy nungphakhaw nbthuxphraxiswrepnhlk rwmthngmiesachingchaprakxbphithi 93 krmhlwngxphynuchit aelakrmhlwngphiphithmntri phayhlngepnkrmphraethphamatu phramehsiinsmedcphraecaxyuhwbrmoks kmiphrarachchnniepnhyingechuxphrahmnbansmxprux emuxngephchrburi 97 inyukhsmburnayasiththirach phrahmnthinimikhwamepnxyukhxnkhangdi phudcaphathiipheraa niymrbprathanenuxpu pla aelahxy 98 aemcaepnchumchnphrahmnkhnadihy aetpccubnehluxskulthiyngbwchphrahmnephiyngskulediywkhuxphwngkhnnth 93 phrahmnphthlung brrphburusxphyphmacakxinediytngaetphuththstwrrsthi 11 99 pccubnmiphrahmnraw 3 4 khn mikhnbthrrmeniymtangcakphrahmnaehlngxuninpraethsithy phwkekhayngprakxbphithikrrmpiihmphrahmn hnungkhaeduxnsi mithrrmeniymkarfngsphphrahmndwykarnngtaythipachaaekhkchi mikaroknsirsaaelaiwpxyphmkhnadnxythithaythxy aelaswmhmwksikhawaethnkarophksirsa swmocngkraebn swmesuxtwyaw swmsayychoypwit hxyprakhathithacakekhaww aelaswmaehwnokhnnthi hakcabwchepnphrahmntxngmiphraphiksuechuxsayphrahmnmaprakxbphithi aelabwchinchwngpiihmphrahmnethann 93 odyphrahmnphthlungcaimbriophkhenuxww aelaplaihl 49 swnphakhtawnxxkechiyngehnux caeriykprachypracachumchnwahmxphrahmn sungtxngepnphurksasil epnphunathangcitwiyyanaelaphithikrrmxnekiywenuxngkbkhwamsirimngkhl 100 epnklumkhnphunemuxngthiidrbxiththiphlcakchnchnphrahmnkhxngsasnahindu sungtangipcakphrahmninphakhxun chawxisanmikhwamechuxeruxngethphecahindubang echn phraxinthr phraphrhm aelaphraym aetmixiththiphlnxymakhakethiybkbsasnaphuththhruxsasnaphi 17 phrahmnhlwng aekikh phrahmninphrarachphithiphuchmngkhlcrdphranngkhlaerknakhwy swnphrahmnhlwngcakrathaphithikrrmthangsasnathiekiywkhxngkbphramhakstriyepnswnihy odymakbrrphburusmiechuxsayxinediyphakhit 2 101 eriykwa phrahmnramehsr 102 aetkartdkhadcakaephndinaem thaihrbwthnthrrmithyxyangsung aelamiwtrptibtitangcakphrahmnxinediy 61 mikarsubsayeluxd thaythxdxngkhkhwamruknintrakul aelatxngphankarbwchthiethwsthansahrbphrankhrthikrungethphmhankhrephiyngaehngediyw aelabwchpilakhrnginchwngtriymphway 8 phucaepnphrahmnhlwngidcatxngidrbkaryxmrbcakhwhnakhnaphrahmnrachsankcungidbwch eriykwa bwchsamsay hakidrbkarphicarnawaehmaasmthicaepnphrahmnrachsank cathuksngchuxipyngkxngphrarachphithi brrcuepnphrahmnrachsank emuxphrakhruphrahmnehnchxb cungidbwcheriykwa bwchhksay caknncungesnxchuxtxkxngphrarachphithi aelasngtxsankphrarachwng ephuxnakhwamkrabbngkhmthulphrabathsmedcphraecaxyuhw oprdekla aetngtngtxip 103 pccubnmiphramharachkhruphithisriwisuththikhun chwin rngsiphrahmnkul epnprathanphrakhruphrahmn 104 sasnikchncaeriykwa hlwngphx hrux khunphra 43 karbwchkhxngphrahmnhlwngtangcakxinediy ephraathaxyangkarxupsmbthkhxngphrasngkhinsasnaphuthth klawkhuxphuthicakhxbwchphrahmntxngexabrikharipkrabkhxbwchkbphrakhruphrahmn epriybphraxupchchay aelwphrakhruphrahmncamxbsaythurahruxthuhra khuxsayychoypwit khlxngxyangxngsa 105 suksasdsastrhruxewthangkhsastr 6 prakar idaek suksasastr chnthsastr iwyakrnsastr niruktisastr ochytissastr aelaklpsastr 43 aelaemuxepnphrahmnhlwngaelw ktxngiwphmmwy imtdhruxelmphmxxk hakthakcathuxwakhadcakkarepnphrahmn aelacatxngmdphmiwtlxd implxyphminthisatharnanxkesiycakphrarachphithiphrabrmsphhruxphrasphethann 106 phrahmnhlwngyngkhngthrrmeniymkrabphraxyangobranmatngaetkrungeka echnkarnunghmpha karichphakrab aelakarnngkrahyngihw 107 in ph s 2560 miphrahmnhlwngcanwn 16 khn 8 104 phrahmnhlwngcaeksiynxxkcakrachkaremuxxayu 60 pi samarthtxxayurachkarid hruxkhxlaxxkcakrachkarkid hakprakxbkhwamdikhwamchxbkcaidrbekhruxngrachxisriyaphrn aelabrrdaskdichntang 43 nxkcakphasaithy phrahmnhlwngcatxngsuksaphasathmilaelasnskvtsahrbprakxbphithikrrmthangsasna tarbtarathangsasnapraktthngxksrithy aelaxksrkhvnth bangeriykxksrechiyngphrahmn 28 odyxksrxyanghlngni thukichekhiynphasaithy thmil aelasnskvttngaetsmyxyuthya pccubnhlngehluxinrupaebbkhxngsmudithyda odymakthukkhdlxkkhunihminchnhlng 108 inxditphrahmnmihnathithwayphraxksraekphrabrmwngsanuwngs rwmthngaetngtara aelawrrnkhdi echn cindamni sungepntaraeriynphasaithyaebbaerkkhxngithy 28 phrahmnhlwngthnghmdnbthuxsasnaphuthth hakaetbuchaethphecahinduipdwy 38 rwmthngtxngaesdngkhwamekharphphrasngkhxyangsung 7 ptibtibuchatamlththiiswaepnhlkechnediywkbphrahmnephchrburiaelankhrsrithrrmrach 93 thngniphrahmnhlwngcamikhxhaminkarrbprathanxahartangcakphrahmnxinediysungswnihyepnmngswirti aetphrahmnithysamarthrbprathanenuxstwid 109 phrahmnhlwngmixaharechphaaklumechn khawewthy khuxkhawthihungdwynaxxyaelanm hruxhungdwykathi 110 rbprathanenuxstwxyangpla ik hruxhmu aelaxaharhathatu 111 aethamkinplaihl ww hnu aelastwtxnghamtamphrathrrmwinykhxngphrasngkhinphuththsasna 7 inchwngphrarachphithitriymphway phrahmncatxngthuxphrtrbprathanxaharmngswirtitlxdphithinan 15 wn 43 chawxinediyhindu aekikh wdphrasrimhaxumaethwi mikarprakttwkhxngchawxinediyhruxthieriykrwm waaekhk matngaetxanackrsuokhthyaelaxyuthyadngpraktinexksarkhxngchawtangpraeths swnchawxinediyrwmsmyxphyphekhapraethsithychwng ph s 2463 aelachwngkhrungaerkkhxngkhriststwrrsthi 19 112 praktinexksarchwngrtnoksinthreriykchnklumniwa phrahmnhindu hrux hindu 102 phrahmnaekhkehlanixphyphmacakrthxuttrpraethsaelathmilnathu 93 immibthbathhruxyungekiywkbphrarachphithiinrachsank ephraathukmxngwaepnkhntangdaw aelakhngpraphvtitamthrrmeniymkhxngtnodyimepliyniptamkraaeswthnthrrmithy 113 mkthaphithiaekchumchnechuxsayxinediydwykn aelaepnphrahmntxknimkirun 93 misasnsthansakhykhuxwdphrasrimhaxumaethwi wdethphmnethiyr smakhmhindusmach yanesachingcha wdwisnu smakhmhinduthrrmspha aethbyannawa 114 wdethphmnethiyr smakhmithy hindu echiyngihm aelawdxinediy mulnithiphuekttndayudapani 115 samarthcaaenkpraephthkhxngklumsasnikidcaksasnsthan khux wdphrasrixumaethwicaepnsunyrwmkhxngchawhinduechuxsaythmil 116 117 118 aelaebngkxl wdethphmnethiyr smakhmhindusmach epnsunyrwmkhxngchawsinthaelapycab aelawdwisnu smakhmhinduthrrmspha epnsunyrwmkhxngchawxuttrpraeths 119 xyangirktamthngphrahmnithyaelaphrahmnxinediycaaeykxyuknkhnlaphwk aetemuxprachakhmhinduxinediyephimcanwnkhuncungmikarrwmtwknxyanghlwm kbphrahmnithyinnamxngkhkrsasnaphrahmn hinduaehngpraethsithy odyihphramharachkhruphithisriwisuththikhun chwin rngsiphrahmnkul epnprathan aetphrahmnthngsxngklumcapkkhrxngsisyaelasasnikchnkhxngtnimkawkaykn 102 prachakrsastr aekikh prasathemuxngta epnethwsthansmykhxmeruxngxanac yukhkxnrtnoksinthr ph s 2542 saranukrmithysahrbeyawchn rabucanwnphunbthuxsasnahinduinithywamiimthung 4 000 khn 120 ph s 2548 miphunbthuxsasnahinduinithycanwn 52 631 khn hruxkhidepnrxyla 0 09 khxngprachakrthnghmd 121 ph s 2553 miphunbthuxsasnahinduinithycanwn 41 808 khn hruxkhidepnrxyla 0 06 khxngprachakrthnghmd 122 aela ph s 2558 miphunbthuxsasnahinduinithycanwn 22 110 khn hruxkhidepnrxyla 0 03 khxngprachakrthnghmd 123 swnsankwicyphiwpramankarwa ph s 2552 miphunbthuxsasnahinduinithyrawrxyla 0 1 thuxepnsasnathietiboterwthisudkhxngithy aelakhadkarniwwa ph s 2593 camiphunbthuxsasnahindurxyla 0 2 124 sasnsthan aekikhtamkhtihinducamikarsrangsasnsthansahrbxuthisaekphraepnecaepncudsunyklang miwiharlxmrxbsidan epriybepnsunyklangckrwal inxditswnihymkthadwysila aelaokhpuraepnsumpratuihyxyudanlangsudsahrbthasmathi emuxekhasuethwsthaninchnthdmacamiphramhamnethiyrepnthiprathbkhxngkstriyaelaepnthiphkkhxngphuaeswngbuy aelachnbnsuderiykwamhaprasath epnthiprathbkhxngphraepneca odymakcapradisthansiwlungkh 125 thngnisamarthcaaenkpraephthkhxngsasnsthanxxkepnsxngyukhihy khux 126 ethwsthanthisrangkxnsmykrungrtnoksinthr epnsasnsthanthisrangtamhwemuxngihyinxditsahrbprakxbphithikhxngphrahmn odymaksrangodysila mikaraekaslkeruxngrawethphecatang aelapradbdwypratimakrrmethwrupthngsilpakhxm thwarwdi aelasriwichy swnihyepnsakprkhkphngipaelw 126 ethwsthanthisranginsmykrungrtnoksinthr epnsasnsthantamhwemuxngihyrwmsmy sahrbprakxbphithiphrahmn odymakepnxakharkxxiththuxpun mihlayrupaebb echn ethwsthansahrbphrankhrepnokhrngsrangaebbithypraephniodyidrbxiththiphlcaksilpaxyuthya 125 swnwdphrasrimhaxumaethwi epnsilpathrawith aelawdethphmnethiyr smakhmhindusmach idrbxiththiphlcaksthaptykrrmkhxngemuxngchypura praethsxinediy epntn 125 xiththiphl aekikh citrkrrmrupethwdaineruxng ramekiyrti buhrngkhaekhaasurx kaksura inphithiaehnkkhxngpttani wthnthrrmithyidrbxiththiphlcaksasnahinduxyuhlayprakar thngdankhnbthrrmeniympraephni phithikrrm pratimakrrm citrkrrm aelawrrnkrrm aetthrrmeniymhlayprakarksabsuyipaelw 127 echn phrarachphithismphcchrchinth phrarachphithisiwaratri 128 aelakarolchingchainphrarachphithitriymphway tripway 127 129 bangthrrmeniymkidrbxiththiphlcaksasnahindu echn praephnieciyachay hruxpraephnithuxsilkinphkkhxngcnghwdphuekt inngancamikhbwnaehthiprakxbipdwymathrng mikarthrmanrangkaytnexngdwywithikartang echn midkridlin hruxnawsdutang aethngbnibhnahruxrangkay ephuxihthrabwaethphecalngmacutiaelwcungimmixakarecbpwdid 130 lksnaiklekhiyngkbpraephniithpusm sungepnwnechlimchlxngkarprasutikhxngphrakhnthkumarkhxngchawthmil sungphuekharwmphithicaaebkkawadiaelaecaatamrangkaydwyhwngaehlmxyangediywkn 131 swndinaednaethbpttanikyngmixiththiphlhinduxyubang khux karthabuhngasiera aelaphithiaehnk edimichsahrbtxnrbxakhntukakhxngecaphukhrxng aettxmathukddaeplngipichinphithisakhy echn phithisuhnt hruxprakwdaekhngkhnkhwamswyngam thuxepnthrrmeniymhinduephiyngimkixyangthiynghlngehluxxyu ephraaimekiywkhxngkbsasnaodytrng 132 133 k s r kuhlab ekhiyniwinhnngsux tnehtuesachingcha rabuwa phuththkbisyyxmxasryaekkn aela cnthukwnnikyngmikhnbthrrmeniymkhxngithythakarmngkhlxnid kphxicichphrasngkhaekmkbphrahmnpnknxyuhlaychnid bangthiimichphrahmnkmibang aetyngkhngsingkhxngekhruxngmngkhlinmnthlphithinn aetlwnepnsingkhxngtamaebbxyangkhxngphrahmnthngsin 134 danpratimanwithya sngektcaktaraethwrupaelaethwdanphekhraah phbwaithyidrbxiththiphlsasnahindutngaetyukhfunfuckrwrrdiwichynkhrinaethbxinediyitepntnma 127 insmyrtnoksinthrtxntn mikarhlxethwrup 39 xngkhsahrbichinphrarachphithi aelayngmikarddaeplngethwruptamthrrmeniymithykhuxmikarsrangethwrupthimiphraphuththrupprathbxyubnphraesiyr 72 swnwrrnkrrmkidrbxiththiphlcakxinediytxnit echn ramekiyrti aelathsawtarkhxngphrawisnukhxngithyktrngkbkhtihindukhxngxinediyit 127 odysrupaelwpraethsithymikarrbxiththiphlcaksasnahindumanan txmaidnamaprayuktihekhakbkhnbthrrmeniympraephni khwamechuxdngedim aelasasnaphuththcnklayepnexklksnintnexng 127 xangxing aekikhechingxrrth Population by religion region and area 2015 PDF NSO ekb PDF cakaehlngedimemux 4 minakhm 2020 subkhnemux 12 tulakhm 2017 2 0 2 1 2 2 2 3 2 4 2 5 2 6 2 7 phsisth ichywthn 5 phvscikayn 2561 smphasn khmkvch xuyetkekhng hindu xikmumthikhnithyimruck prachaith subkhnemux 11 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help 3 0 3 1 Erick White 5 phvscikayn 2561 natkrrmkhxngsasnahinduinmhankhrkrungethph ethskalphithikrrmaelaphhuniymthangsasnainsphaphaewdlxmthangsngkhmithyphuththkhxngemuxngihy Kyoto Review subkhnemux 11 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help barung khaexk phvsphakhm singhakhm 2558 xiththiphlsasnaphrahmn hinduinsmyrtnoksinthrtxntn Veridian E Journal 8 2 hna 2399 Ramakien Royal Thai Embassy The concept of Garuda in Thai society 7 0 7 1 7 2 7 3 pharta syam phi phrahmn phuthth hna 15 8 0 8 1 8 2 8 3 8 4 8 5 caruwrrn dwngkhacnthr 26 knyayn 2560 snthnaeruxngsasnaphrahmnthiobsthphrahmnesachingcha kbphrahmntrn burnsiri mulnithielk praiph wiriyaphnthu subkhnemux 11 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help 9 0 9 1 9 2 9 3 9 4 9 5 khwamepnmakhxngsasnaphrahmnaelakhnaphrahmninsyampraeths mulnithiokhrngkarsaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 12 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help 10 0 10 1 10 2 sasnaphrahmn hindu PDF krathrwngwthnthrrm subkhnemux 11 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate help Sikhoraphum Thailand Arts amp Archaeology Journal barung khaexk phvsphakhm singhakhm 2558 xiththiphlsasnaphrahmn hinduinsmyrtnoksinthrtxntn Veridian E Journal 8 2 hna 2402 13 0 13 1 rs esmx buyma khtiniymthangsasnainlaow in mrdkkhwamthrngcaaehngnphburisrilowthypura wadwyokhlngechlimphraekiyrtismedcphranarayn aelacarukobranaehngemuxnglaow hna 150 151 dr trngic hutangkur praednprawtisastraelaobrankhdicakcarukemuxnglaow in mrdkkhwamthrngcaaehngnphburisrilowthypura wadwyokhlngechlimphraekiyrtismedcphranarayn aelacarukobranaehngemuxnglaow hna 178 189 rs esmx buyma khtiniymthangsasnainlaow in mrdkkhwamthrngcaaehngnphburisrilowthypura wadwyokhlngechlimphraekiyrtismedcphranarayn aelacarukobranaehngemuxnglaow hna 156 16 0 16 1 16 2 16 3 barung khaexk phvsphakhm singhakhm 2558 xiththiphlsasnaphrahmn hinduinsmyrtnoksinthrtxntn Veridian E Journal 8 2 hna 2400 17 0 17 1 phramhathngchy thitosphon aelakhna mkrakhm mithunayn 2560 khunkhaaelaxiththiphlkhxngklumprasathkhxmthimitxkhnthxngthincnghwdsrisaeks warsarwnmdxngaehrkphuththsastrprithrrsn 4 1 hna 55 62 carukthanphraxiswremuxngkaaephngephchr thankhxmulcarukinpraethsithy sunymanusywithyasirinthr xngkhkarmhachn subkhnemux 27 thnwakhm 2563 Check date values in accessdate help 19 0 19 1 ethphphr mngthani mkrakhm mithunayn 2554 hupaetminsimxisan phaphsathxnkhxngkhwamhlakhlaykhxnglththikhwamechux warsarsilpkrrmsastr mhawithyalykhxnaekn 3 1 hna 41 54 pharta syam phi phrahmn phuthth hna 13 14 wdkaaephngaelng karthxngethiywaehngpraethsithy subkhnemux 13 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help wdphraphayhlwng krathrwngkarthxngethiywaelakila subkhnemux 13 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help khwamepnmakhxngwdsrisway edimthikhux ethwsthan phayhlngddaeplngepnwd silpwthnthrrm 29 minakhm 2562 subkhnemux 13 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help phumihlngaelawthnthrrmpraephnikhxnglngkasuka PDF mhawithyalysngkhlankhrinthr p 52 suthiwngs phngsiphbuly sayiyaehngphradrphaph bnsayrakwthnthrrmithythksinkbmlayutxnbn ithyit mlayuehnux ptismphnththangchatiphnthubnkhabsmuthraehngkhwamhlakhlay hna 390 thksawthnthrrm hna 108 109 wlylksn thrngsiri aephndinphayin yalxepnyala khwamepliynaeplngkhxngbanemuxngaelakhnrunihminemuxngaelaprimnthlemuxngyala hna 40 28 0 28 1 28 2 bthbathhnathikhxngphrahmntxrachsanksyam mulnithiokhrngkarsaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 12 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help chumchnobsthphrahmn hxsmudthaphra mhawithyalysilpakr subkhnemux 12 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate help barung khaexk phvsphakhm singhakhm 2558 xiththiphlsasnaphrahmn hinduinsmyrtnoksinthrtxntn Veridian E Journal 8 2 hna 2404 thiphypratima hna 110 111 khmkvch xuyetkekhng 23 phvscikayn 2560 emuxethphthukilthi krniethphhinduinphuththsthan mtichnsudspdah subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help 33 0 33 1 33 2 33 3 33 4 33 5 phrarachphithisibsxngeduxninsmykrungrtnoksinthr mulnithielk praiph wiriyaphnthu 6 mithunayn 2559 subkhnemux 17 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help nikrn smsri 10 mkrakhm 2563 kthm rwmnganphrarachphithitriymphway tripway n ethwsthan obsthphrahmn sanknganprachasmphnth krungethphmhankhr subkhnemux 17 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help obsthphrahmn kthm Now Connect 11 mkrakhm 2563 subkhnemux 17 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help dwngkml karithy ithy sasnaaelakhwamechux thankhxmulsngkhm wthnthrrmexechiytawnxxkechiyngit subkhnemux 27 thnwakhm 2563 Check date values in accessdate help 37 0 37 1 37 2 37 3 37 4 37 5 37 6 praephni phithikrrm khwamechuxthikratha n ethwsthanthnginkrungethph aelatangcnghwd mulnithisaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 19 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help 38 0 38 1 38 2 38 3 khmkvch xuyetkekhng phvsphakhm singhakhm 2561 ethwniymxinediy esnthangaelapraktkarninsngkhmithy Veridian E Journal 11 2 hna 1595 aekhthriya xngthxngkaenid krkdakhm thnwakhm 2559 phuththawtar kb thsrthchadk phuththinphrahmn hindu phrahmn hinduinphuthth PDF ithysuksa 12 2 p 23 Check date values in year help ram wchirawuth lilitnaraynsibpang pangthi 9 phuththawtar wchiryan subkhnemux 8 emsayn 2563 Check date values in accessdate help Upendra Thakur 1986 Some Aspects of Asian History and Culture Abhinav pp 27 28 ISBN 978 81 7017 207 9 Norman Cutler 1979 Consider Our Vow Translation of Tiruppavai and Tiruvempavai Into English Muttu Patippakam p 13 43 0 43 1 43 2 43 3 43 4 nirml muncinda mkrakhm 2546 olkhlayibkhxngedkchayphrahmn sarkhdi subkhnemux 13 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help naraynsibpang Thailand Edition Story Log 29 knyayn 2562 subkhnemux 19 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help barung khaexk dr mkrakhm mithunayn 2549 xiththiphlsasnaphrahmn hindutxwthnthrrmpraephni rupaebbsilpa aelawrrnkrrmithysmyrtnoksinthrtxntn darngwichakar 5 1 p 192 194 Check date values in year help 46 0 46 1 khmkvch xuyetkekhng 16 phvscikayn 2560 immiphraphrhmaelaphrakhensinphithiihwkhruokhnlakhraeladntri mtichnsudspdah subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help aekhthriya xngthxngkaenid krkdakhm thnwakhm 2559 phuththawtar kb thsrthchadk phuththinphrahmn hindu phrahmn hinduinphuthth PDF ithysuksa 12 2 p 24 26 Check date values in year help barung khaexk dr mkrakhm mithunayn 2549 xiththiphlsasnaphrahmn hindutxwthnthrrmpraephni rupaebbsilpa aelawrrnkrrmithysmyrtnoksinthrtxntn darngwichakar 5 1 p 190 Check date values in year help 49 0 49 1 49 2 49 3 sasnaphrahmninithy Check url value help phrahmn 15 knyayn 2561 subkhnemux 9 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help prawtikhwamepnma obransthantumpng subkhnemux 11 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help naraynsibpang namanukrmwrrnkhdiithy subkhnemux 1 phvscikayn 2563 Check date values in accessdate help 52 0 52 1 pharta syam phi phrahmn phuthth hna 19 xmnusyniyay hna 63 54 0 54 1 thaimtxngeriyk khnmtm khuaefd khnmomthka Matichon Academy 26 knyayn 2560 subkhnemux 18 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help prakhxng nimmanehminth emsayn mithunayn 2548 nithanphraraminthanawrrnkrrmphuththsasna PDF warsarrachbnthitysthan 30 2 p 459 469 Check date values in year help xmnusyniyay hna 105 57 0 57 1 esthiyrokess aela nakhaprathip phrakhens wrrnkhdi phrakhens wchiryan subkhnemux 25 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help khmkvch xuyetkekhng 27 phvsphakhm 2559 phraphikhenswr thixinediyimruck mtichnsudspdah subkhnemux 24 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help pharta syam phi phrahmn phuthth hna 119 120 khmkvch xuyetkekhng phvsphakhm singhakhm 2561 ethwniymxinediy esnthangaelapraktkarninsngkhmithy Veridian E Journal 11 2 hna 1592 61 0 61 1 khmkvch xuyetkekhng phvsphakhm singhakhm 2561 ethwniymxinediy esnthangaelapraktkarninsngkhmithy Veridian E Journal 11 2 hna 1593 xmnusyniyay hna 60 khmkvch xuyetkekhng 21 mithunayn 2561 elaeruxngekhruxngsngewy txnthi 2 mtichnsudspdah subkhnemux 24 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help khnmokh tuxpng nxaen sankngansngesrimkarpkkhrxngthxngthincnghwdpttani 25 krkdakhm 2556 subkhnemux 13 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help pharta syam phi phrahmn phuthth hna 101 107 pharta syam phi phrahmn phuthth hna 142 143 xditdaradawray sngtxsrththacakkhwamechux 3 wimanethphesrimmngkhl ithyrthxxniln 14 minakhm 2563 subkhnemux 19 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help pharta syam phi phrahmn phuthth hna 8 9 pharta syam phi phrahmn phuthth hna 177 khmkvch xuyetkekhng 15 minakhm 2561 phasaethph rbkhnth aela swdosha nwtkrrmcakwthnthrrm ecathrng ithy mtichnsudspdah subkhnemux 12 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help 71 0 71 1 phrarachphithithiekiywkbkartha mahakin mulnithisaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 19 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help 72 0 72 1 barung khaexk dr mkrakhm mithunayn 2549 xiththiphlsasnaphrahmn hindutxwthnthrrmpraephni rupaebbsilpa aelawrrnkrrmithysmyrtnoksinthrtxntn darngwichakar 5 1 p 188 191 Check date values in year help 73 0 73 1 73 2 culcxmeklaecaxyuhw phrabathsmedcphra phrarachphithisibsxngeduxn phrarachphithieduxn 10 wchiryan subkhnemux 19 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help khwamhmaykhxngphrarachphithi rthphithi aelaphithi PDF sanknganelkhanukartarwc subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help culcxmeklaecaxyuhw phrabathsmedcphra phrarachphithisibsxngeduxn wchiryan subkhnemux 19 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help khathikhwrruekiywkb phrarachphithibrmrachaphiesk 2 phiphithiwi 31 krkdakhm 2563 subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help krkml thimaethwsut chtrmngkhl wnmhamngkhlsmy krmsngesrimwthnthrrm subkhnemux 21 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help smedcphrabrm esdc inkarphrarachphithichtrmngkhl ithyphibiexs 5 phvsphakhm 2559 subkhnemux 21 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help phraemrumas phraemru inkhwamechuxsngkhmithy silpwthnthrrm 14 tulakhm 2560 subkhnemux 21 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help khmkvch xuyetkekhng 28 tulakhm 2559 phithiekiywkbkhwamtayinsasnaphrahmn hindu mtichnsudspdah subkhnemux 24 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help inhlwng phrarachini thrngprakxbphithibwngsrwngphrabrmrup r 9 krungethphthurkic 6 emsayn 2563 subkhnemux 22 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help kieln pralxngeching 2 emsayn 2562 klbbtrsumephling ithyrthxxniln subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help chnidkhxngbaysrithiichinphithi mulnithiokhrngkarsaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 21 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help thrrmeniymkaraetngkayinphrarachphithiosknt Art Bangkok subkhnemux 22 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help khwamechuxeruxngkartngsalphraphumi krathrwngwthnthrrm 13 mkrakhm 2559 subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help nay k s r kuhlabaehngkrungsyam 283 284 xaynokhsn 2558 eruxngphrakhensthiekiywkhxngkbchang wchiryan subkhnemux 12 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help khmkvch xuyetkekhng 4 phvscikayn 2559 naliwn khuxikhr mtichnsudspdah subkhnemux 12 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help sucitt wngseths 20 minakhm 2560 ephchrburimieckkbaekhk mtichnxxniln subkhnemux 13 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help krungethph macakihn hna 192 ram wchirawuth sasnsmedc wchiryan subkhnemux 13 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate help nirasnkhrwd hna 48 49 93 0 93 1 93 2 93 3 93 4 93 5 93 6 93 7 khmkvch xuyetkekhng 16 emsayn 2563 phrahmnphthlung aelakhwamhlakhlay khxng phrahmnphunemuxng inithy mtichnsudspdah subkhnemux 13 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help sasnaphrahmninnkhrsrithrrmrach PDF phiphithphnthemuxngnkhrsrithrrmrach subkhnemux 11 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help wdekaaekbnsnthrayemuxngnkhrsrithrrmrach txnthi 10 wdphramhathatuwrmhawihar 29 minakhm 2560 subkhnemux 13 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help siriphcn ehlamanaecriy 8 thnwakhm 2559 ecdiyphuthth yukhxyuthya banphrahmn smxphlux c ephchrburi mtichnsudspdah subkhnemux 14 mithunayn 2563 Check date values in accessdate date help khaihkarchawkrungeka phrarachphngsawdarkrungsrixyuthya chbbphncnthnumas ecim aelaexksarxun nnthburi sripyya 2559 hna 623 kieln pralxngeching 22 mkrakhm 2562 phrahmnsmxphlux ithyrthxxniln subkhnemux 14 mithunayn 2563 Check date values in accessdate date help phrahmnsayphthlungthiyngmichiwitxyu Check url value help phrahmn subkhnemux 9 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help thinibanera hmxphrahmn ithyphibiexs 6 phvsphakhm 2558 subkhnemux 17 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help The new Brahmins subkhnemux 4 March 2020 102 0 102 1 102 2 krungethph macakihn hna 196 197 taaehnngphrakhruphrahmn mulnithisaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 19 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help 104 0 104 1 khnaphrahmn ethwsthanobsthphrahmn subkhnemux 13 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate help pharta syam phi phrahmn phuthth hna 43 44 khmkvch xuyetkekhng 9 phvscikayn 2560 naliwn phrahmn syayphmthaim mtichnsudspdah subkhnemux 12 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help khmkvch xuyetkekhng 25 mkrakhm 2561 chahngsaelaphrahmn yxng ihw inphrarachphithitripwaytriympway mtichnsudspdah subkhnemux 13 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help niyada ehlasunthr dr 2535 phinicwrrnkrrm krungethph aemkhaphang p 13 14 Check date values in year help khmkvch xuyetkekhng 27 mkrakhm 2560 triympway tripway khuxxair khxngsyamaelaxinediy epnichn ithyrthxxniln subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help khmkvch xuyetkekhng 31 krkdakhm 2562 xaharkbsasna khaw mtichnsudspdah subkhnemux 12 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help Adcharawadee S 31 krkdakhm 2562 phrahmnkinxair Urban Eat subkhnemux 12 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help INDIAN COMMUNITY IN THAILAND subkhnemux 3 March 2020 pharta syam phi phrahmn phuthth hna 16 17 khmkvch xuyetkekhng 4 krkdakhm 2562 ruck ethphmnethiyr hasibpiphnphan khxngethwsthanxinediyicklangphrankhr mtichnsudspdah subkhnemux 12 phvsphakhm 2563 Check date values in accessdate date help sasnsthanhindu phuektsarsneths subkhnemux 11 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help Sandhu amp Mani 2006 p 978 Kesavapany amp Mani 2008 p 673 Manguin Mani amp Wade 2011 p 475 wdwisnu sunywthnthrrm withyalyesnthluys subkhnemux 11 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help sasnaphrahmn mulnithiokhrngkarsaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 9 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help http popcensus nso go th show table php t t5 amp yr 2543 amp a 1 Population by religion region and area 2010 PDF NSO subkhnemux 2 March 2020 Population by religion region and area 2015 PDF NSO subkhnemux 2 March 2020 Hinduism fastest growing religion in Pakistan and Saudi Arabia subkhnemux 2 March 2020 125 0 125 1 125 2 lksnasthaptykrrm aelapratimakrrminethwsthanobsthphrahmn thnginkrungethph aelatangcnghwd mulnithiokhrngkarsaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help 126 0 126 1 ethwsthanobsthphrahmn sahrbedkradbklang mulnithiokhrngkarsaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 20 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help 127 0 127 1 127 2 127 3 127 4 barung khaexk dr mkrakhm mithunayn 2549 xiththiphlsasnaphrahmn hindutxwthnthrrmpraephni rupaebbsilpa aelawrrnkrrmithysmyrtnoksinthrtxntn darngwichakar 5 1 p 205 206 Check date values in year help smphcchrchinth phithiobran ngansngkrantsnamhlwng MGR Online 8 emsayn 2552 subkhnemux 18 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help eruxngnaruekiywkb phrarachphithitriympway tripway sricinda 5 mkrakhm 2553 subkhnemux 18 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help nthsima tnthikul 17 tulakhm 2561 yxnduprawtisastr thaim ethskalkinec cungekhmkhninphakhit The Momentum subkhnemux 18 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help ethskalithpusm edliniws 27 mkrakhm 2559 subkhnemux 18 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help baysriphakhit mulnithisaranukrmithysahrbeyawchn subkhnemux 18 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help praephniaehnk thankhxmulthxngthinphakhit mhawithyalysngkhlankhrinthr 12 minakhm 2561 subkhnemux 18 tulakhm 2563 Check date values in accessdate date help nay k s r kuhlabaehngkrungsyam hna 285 brrnanukrmkhmkvch xuyetkekhng pharta syam phi phrahmn phuthth krungethph mtichn 2560 208 hna ISBN 978 974 02 1564 6 dr winy sriphngsephiyr aela dr trngic hutangkur brrnathikar mrdkkhwamthrngcaaehngnphburisrilowthypura wadwyokhlngechlimphraekiyrtismedcphranarayn aelacarukobranaehngemuxnglaow krungethph sunymanusywithyasirinthr xngkhkarmhachn 2558 330 hna ISBN 978 616 7154 31 2 darngrachanuphaph smedckrmphraya nirasnkhrwd phrankhr brrnakhar 2515 244 hna buyphisith srihngs nay k s r kuhlabaehngkrungsyam krungethph mtichn 2560 349 hna ISBN 978 974 02 1566 0 mxnsation imekhil ec ithyit mlayuehnux ptismphnththangchatiphnthubnkhabsmuthraehngkhwamhlakhlay nkhrsrithrrmrach sunyhlksutrxaesiynsuksa sankwichasilpsastr mhawithyalywlylksn 2560 416 hna ISBN 978 974 7557 60 2 aephr siriskdidaeking thksawthnthrrm krungethph sunymanusywithyasirinthr 2559 184 hna ISBN 978 616 7154 41 1 wlylksn thrngsiri aelaxun yalxepnyala khwamepliynaeplngkhxngbanemuxngaelakhnrunihminemuxngaelaprimnthlemuxngyala krungethph sankngankxngthunsnbsnunkarwicy skw 2553 318 hna ISBN 978 616 7070 28 5 s phlaynxy xmnusyniyay krungethph yipsi krup 2561 320 hna ISBN 978 616 301 574 7 sucitt wngseths krungethph macakihn krungethph mtichn 2548 216 hna ISBN 974 323 436 5 xrunskdi kingmni thiphypratima krungethph miwesiymephrs 2560 248 hna ISBN 978 616 7674 13 1aehlngkhxmulxun aekikh wikimiediykhxmmxnsmisuxekiywkb sasnahinduinpraethsithy taraethwrupphraisysastr eruxnithy subkhnemux 25 tulakhm 2563 Check date values in accessdate help ekhathungcak https th wikipedia org w index php title sasnahinduinpraethsithy amp oldid 9419703, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม