fbpx
วิกิพีเดีย

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (อังกฤษ: personality disorders, ตัวย่อ PD) เป็นหมวดหมู่ของความผิดปกติทางจิตต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นรูปแบบพฤติกรรม รูปแบบทางประชาน และรูปแบบประสบการณ์ทางใจที่ปรับตัวอย่างไม่เหมาะสม (maladaptive) ที่ยั่งยืน โดยปรากฏในสถานการณ์ต่าง ๆ หลายอย่าง และออกนอกลู่นอกทางอย่างสำคัญจากที่ยอมรับได้ในสังคมและวัฒนธรรมของบุคคลนั้น รูปแบบเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นตั้งแต่เบื้องต้นของชีวิต ยืดหยุ่นไม่ได้ และสัมพันธ์กับความทุกข์กับความพิการในระดับสำคัญ แต่ว่านิยามที่จำเพาะอาจจะต่างกันได้แล้วแต่ที่มา:226

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
Personality disorders
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F60
ICD-9301.9
DiseasesDB9889
MedlinePlus000939
eMedicinearticle/294307
MeSHD010554

เกณฑ์วินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพอยู่ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM) ที่จัดพิมพ์โดยสมาคมจิตเวชอเมริกัน (American Psychiatric Association ตัวย่อ APA) และในหัวข้อ "ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม (mental and behavioral disorders)" ในบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (ตัวย่อ ICD) ที่เผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก DSM-5 รุ่นที่พิมพ์ในปี 2556 กำหนดความผิดปกติทางบุคลิกภาพเช่นเดียวกับความผิดปกติทางจิต (mental disorders) อื่น ๆ แทนที่จะอยู่ใน "axis" ที่ต่างกันตามที่เคยทำมาก่อน ๆ

บุคลิกภาพตามนิยามของจิตวิทยา เป็นเซตของลักษณะทางพฤติกรรมและทางจิตที่คงทน ที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนต่างกัน ดังนั้น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพจึงกำหนดโดยประสบการณ์ (ทางใจ) และพฤติกรรม ที่ต่างจากมาตรฐานและความคาดหวังของสังคม คนผิดปกติเช่นนี้ อาจประสบความยากลำบากทางประชาน (cognition) ความไวอารมณ์ (emotiveness) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal functioning) และการควบคุมความหุนหันพลันแล่น (impulse control) โดยทั่วไปแล้ว คนไข้จิตเวชร้อยละ 40-60 จะได้รับวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติเช่นนี้ จึงเป็นกลุ่มโรคที่วินิจฉัยบ่อยครั้งที่สุดในบรรดาโรคจิตเวช

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพกำหนดโดยรูปแบบพฤติกรรมที่คงทน บ่อยครั้งสัมพันธ์กับความขัดข้องในชีวิตส่วนตัว ชีวิตทางสังคม หรือทางอาชีพ นอกจากนั้นแล้ว ความผิดปกติเช่นนี้ยืดหยุ่นไม่ได้ และแพร่กระจายไปในสถานการณ์มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะมาจากเหตุที่ว่า พฤติกรรมเช่นนี้เข้ากับทัศนคติเกี่ยวกับตน (ego-syntonic) ของบุคคลนั้นได้ ดังนั้น บุคคลนั้นจึงพิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่เป็นพฤติกรรมที่อาจมีผลเป็นทักษะจัดการปัญหาและความเครียด (coping skill) ที่ปรับตัวได้อย่างไม่เหมาะสม และนำไปสู่ปัญหาส่วนตัวที่สร้างความวิตกกังวล ความทุกข์ และความเศร้าซึมอย่างรุนแรง รูปแบบพฤติกรรมเช่นนี้จะกำหนดได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและต้นวัยผู้ใหญ่ และในบางกรณีที่พิเศษ ในช่วงวัยเด็ก

มีประเด็นปัญหาหลายอย่างในการจัดหมวดหมู่ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ คือมีนิยามต่าง ๆ หลายแบบ[โปรดขยายความ] และเพราะว่าทฤษฎีและการวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดปกติจะต้องเกิดภายในความคาดหวังปกติของสังคม นักวิชาการบางท่านจึงคัดค้านความสมเหตุสมผลของทฤษฎีและการวินิจฉัย เพราะว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอาศัยมูลฐานบางอย่างที่เป็นอัตวิสัย (subjective) คือพวกเขาอ้างว่า ทฤษฎีและการวินิจฉัยมีมูลฐานอยู่ที่พิจารณาญาณทางสังคม หรือทางสังคม-การเมืองและทางเศรษฐกิจ (ดังนั้น จึงอาจจะไม่ใช่ปัญหาทางการแพทย์)

การจัดหมวดหมู่

ระบบการจัดหมวดหมู่หลัก 2 อย่างคือ ICD และ DSM ได้พยายามรวมการวินิจฉัยเข้าด้วยกันในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ICD-10 ไม่ได้กำหนดความผิดปกติแบบหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder) ต่างหาก ในขณะที่ DSM-5 ไม่ได้กำหนดความเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพที่คงทนหลังจากเกิดประสบการณ์หายนะ หรือหลังจากหายป่วยจากโรคทางจิตเวช ICD-10 จัดหมวดความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (schizotypal personality disorder) ที่ DSM-5 จัด โดยเป็นรูปแบบของโรคจิตเภทแทนที่จะเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ดังนั้น จึงมีทั้งประเด็นปัญหาทางการวินิจฉัยที่ยอมรับกันดีแล้ว และประเด็นที่ยังถกเถียงกันไม่จบสิ้น เกี่ยวกับการแยกแยะความผิดปกติทางบุคลิกภาพหมวดหมู่ต่าง ๆ ออกจากกัน ICD จัด transgenderism (คนข้ามเพศ) ว่าเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ในขณะที่ DSM-5 เลิกจัด transgenderism ว่าเป็นโรคทางจิต แต่สร้างหมวดหมู่ใหม่ที่ต่างกัน คือ gender dysphoria (อารมณ์ละเหี่ยเหตุเพศ)

องค์การอนามัยโลก

ICD-10 ได้รวมหมวดหมู่เกี่ยวกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และความเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพที่ยั่งยืน ในหัวข้อ "ความผิดปกติทางจิตและทางพฤติกรรม" โดยนิยามว่าเป็นรูปแบบ (ทางจิตและพฤติกรรม) ที่ฝังแน่น และแสดงออกโดยการตอบสนองที่ยืดหยุ่นไม่ได้และสร้างความพิการ ที่แตกต่างอย่างสำคัญจากวิธีการรับรู้ การคิด และความรู้สึกของบุคคลทั่วไปในวัฒนธรรมนั้น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่จำเพาะ (specific) ได้แก่ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบระแวง (Paranoid personality disorder) แบบ Schizoid แบบไม่แยแสสังคม (Dissocial) แบบอารมณ์ไม่คงที่ (Emotionally unstable) แบบ Histrionic แบบย้ำคิดย้ำทำ (Anankastic) แบบวิตกกังวลหรือหลีกเลี่ยง (anxious หรือ avoidant) และแบบพึ่งพา (Dependent)

นอกจากนั้นแล้วยังมีหมวด "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ระบุรายละเอียดแบบอื่น" (Others) ซึ่งรวมอาการที่กำหนดว่า วิปริต (eccentric), haltlose (มากจากคำ เยอรมันว่า haltlos แปลว่า "ล่องลอย ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการควบคุม"), ไม่สมวัย (immature), หลงตัวเอง (narcissistic), ดื้อเงียบ (passive-aggressive), และแบบประสาท (psychoneurotic) และก็ยังมีอีกหมวดหนึ่งสำหรับความผิดปกติทางบุคลิกภาพไม่ระบุรายละเอียด (unspecified) ซึ่งรวมอาการเช่น character neurosis และ pathological personality

ยังมีหมวด "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบอื่นและแบบผสม" (Mixed and other personality disorders) กำหนดเป็นอาการที่ทำให้ลำบาก แต่ไม่แสดงรูปแบบของอาการโดยเฉพาะเหมือนกับความผิดปกติที่จำเพาะ และที่สุดก็คือหมวด "การเปลี่ยนแปลงที่ติดต้วของบุคลิกภาพที่ไม่เกิดจากโรคของสมองหรือสมองถูกทำลาย" (Enduring personality changes, not attributable to brain damage and disease) ซึ่งมุ่งหมายเอาอาการที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ที่ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เป็นอาการที่ติดตามความเครียดรุนแรงและยาวนาน หรือติดตามโรคทางจิตเวชอื่น

สมาคมจิตเวชอเมริกัน

ส่วน DSM ซึ่งปัจจุบันเป็นรุ่น DSM-5 ได้ให้คำนิยามทั่วไปของหมวดความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่เน้นว่า เป็นรูปแบบที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นไม่ได้เป็นระยะเวลายาวที่ทำให้เกิดความทุกข์และความพิการอย่างสำคัญ ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้สารเสพติดหรืออาการทางแพทย์อย่างอื่น DSM-5 กำหนดความผิดปกติ 10 อย่าง จัดเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม (cluster) และยังมีวินิจฉัยอีก 3 อย่างเกี่ยวกับรูปแบบทางบุคลิกภาพที่ไม่ตรงกับความผิดปกติ 10 อย่างนั้น แต่ก็ยังแสดงลักษณะของความผิดปกติทางบุคลิกภาพ

กลุ่ม A (ความผิดปกติที่แปลกหรือวิปริต)

ความผิดปกติในกลุ่มนี้ บ่อยครั้งสัมพันธ์กับโรคจิตเภท (schizophrenia) อย่างหนึ่งโดยเฉพาะก็คือความผิดปกติแบบจิตเภท (Schizotypal) ที่คนไข้บ่อยครั้งรู้สึกอึดอัดอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้อื่น มีความบิดเบือนทางประชานหรือการรับรู้ และมีพฤติกรรมที่วิปริตหรือพิกล (eccentric) แต่ว่า บุคคลที่มีภาวะกลุ่มนี้ยังเข้าใจความเป็นจริงได้ดีกว่าคนไข้ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท โดยทั่วไปแล้ว คนไข้อาจจะขี้ระแวง เข้าใจได้ยากเนื่องจากมีการพูดที่แปลกหรือพิกล และปราศจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แม้ว่าการรับรู้ (perception) ของคนไข้อาจจะแปลก แต่ก็สำคัญที่จะแยกแยะการรับรู้เช่นนั้นจากอาการหลงผิด (delusion) และประสาทหลอน (hallucination) เพราะว่าบุคคลที่มีอาการสองอย่างนั้น จะได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง มีหลักฐานสำคัญที่แสดงนัยว่า บุคคลในอัตราน้อยที่มีความผิดปกติกลุ่มนี้ โดยเฉพาะแบบจิตเภท (schizotypal) มีโอกาสที่จะแย่ลงเป็นโรคจิตเภทหรือความผิดปกติทางจิตเวชอื่น ๆ ความผิดปกติกลุ่มนี้ มีโอกาสสูงขึ้นในบุคคลที่ญาติใกล้ชิด (first-degree) เป็นโรคจิตเภทหรือมีความผิดปกติกลุ่มนี้

  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบระแวง (Paranoid personality disorder) กำหนดโดยรูปแบบความสงสัยที่ไม่สมเหตุผลและไม่เชื่อใจผู้อื่น โดยระแวงว่ามุ่งร้าย
  • Schizoid personality disorder เป็นการปราศจากความสนใจและการวางเฉยจากความสัมพันธ์ทางสังคม ความไร้อารมณ์ (apathy) และการแสดงออกทางอารมณ์ที่จำกัด
  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (schizotypal personality disorder) เป็นรูปแบบของความอึดอัดอย่างรุนแรงในปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และความบิดเบือนทางประชานและการรับรู้

กลุ่ม B (ความผิดปกติแบบน่าทึ่งเหมือนละคร แบบอารมณ์แรง หรือเอาแน่ไม่ได้)

  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial personality disorder) เป็นรูปแบบที่แพร่ไปทั่วเนื่องกับการไม่สนใจหรือการละเมิดสิทธิของผู้อื่น การไม่เห็นใจผู้อื่น การมีภาพพจน์เกี่ยวกันตนเกินจริง การใช้เล่ห์เหลี่ยมเปลี่ยนพฤติกรรมผู้อื่น และการมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น
  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline personality disorder) เป็นรูปแบบความไม่เสถียรที่แพร่ไปทั่วในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งความสัมพันธ์กับคนอื่น ภาพพจน์ของตน เอกลักษณ์ของตน (identity) พฤติกรรม และอารมณ์ (affect) ที่บ่อยครั้งนำไปสู่การทำร้ายตัวเองและความหุนหันพลันแล่น
  • Histrionic personality disorder เป็นรูปแบบที่แพร่ไปทั่วของพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ (attention-seeking) และอารมณ์ที่เกินควร
  • ความผิดปกติแบบหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder) เป็นรูปแบบที่แพร่ไปทั่วของความเขื่อง (grandiosity) ความต้องการความชื่นชม และการไม่เห็นใจผู้อื่น

กลุ่ม C (ความผิดปกติแบบวิตกกังวลหรือกลัว)

  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง (Avoidant personality disorder) เป็นความรู้สึกที่แพร่ไปทั่วเกี่ยวกับความต้องการหลีกเลี่ยงสังคม (social inhibition) ความรู้สึกว่าตนบกพร่อง (social inadequacy) และความรู้สึกไวอย่างสุด ๆ เมื่อถูกประเมินในเชิงลบ
  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบพึ่งพา (Dependent personality disorder) เป็นความต้องการที่แพร่ไปทั่วที่จะให้คนอื่นดูแลตัวเอง
  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive personality disorder) กำหนดโดยความต้องทำตามกฎอย่างเคร่งครัด ทุกอย่างต้องเพอร์เฝ็กต์ (perfectionism) และการควบคุมสถานการณ์ให้ถึงจุดพอใจจนกระทั่งต้องเว้นกิจกรรมเวลาว่างหรือการใช้เวลากับเพื่อน (ซึ่งไม่เหมือนและแตกต่างจากโรคย้ำคิดย้ำทำมาก)

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่น ๆ

  • การเปลี่ยนบุคลิกภาพเนื่องจากภาวะทางแพทย์อีกอย่างหนึ่ง (Personality change due to another medical condition) เป็นผลโดยตรงต่อบุคลิกภาพของภาวะทางแพทย์อย่างหนึ่ง
  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่จำเพาะอย่างอื่น (Other specified personality disorder) มีอาการที่เป็นลักษณะของความผิดปกติทางบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ของความผิดปกติที่จำเพาะ โดยแพทย์จะกำหนดเหตุผล
  • ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ไม่กำหนด (Personality disorder not otherwise specified)

การจัดหมวดหมู่อื่น ๆ

คู่มือวินิจฉัยรุ่นก่อน ๆ มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพบางอย่างที่เอาออกแล้ว รวมทั้งความผิดปกติ 2 ประเภทที่อยู่ในภาคผนวกของ DSM-III-R ในหัวข้อ "หมวดหมู่วินิจฉัยที่เสนอที่ต้องมีงานศึกษาเพิ่มเติม" (Proposed diagnostic categories needing further study) โดยไม่ได้กำหนดเกณฑ์ที่จำเพาะ คือ sadistic personality disorder ซึ่งเป็นรูปแบบที่แพร่หลายของพฤติกรรมที่โหดร้าย ที่ลดค่าผู้อื่น และที่ดุร้าย และ self-defeating personality disorder หรือ masochistic personality disorder ซึ่งกำหนดโดยพฤติกรรมที่บั่นทอนความสุขหรือเป้าหมายของตน นักจิตวิทยาบางพวกรวมทั้ง ศ. ธีโอดอร์ มิลลอน พิจารณาการวินิจฉัยความผิดปกติบางอย่างที่เอาออกแล้วว่า สมเหตุสมผลเท่ากับความผิดปกติที่อยู่ในคู่มือปัจจุบัน และยังเสนอทั้งความผิดปกติอื่น ๆ และความผิดปกติแบบย่อย ๆ นอกเหนือจากที่มีเป็นทางการในคู่มืออีกด้วย

การวินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพของคู่มือวินิจฉัยของสมาคมจิตเวชอเมริกันในแต่ละฉบับ
DSM-I DSM-II DSM-III DSM-III-R DSM-IV(-TR) DSM-5
บุคลิกภาพ
Pattern disturbance:
Inadequate Inadequate
Schizoid Schizoid Schizoid Schizoid Schizoid Schizoid
Cyclothymic Cyclothymic
Paranoid Paranoid Paranoid Paranoid Paranoid Paranoid
Schizotypal Schizotypal Schizotypal Schizotypal*
Personality
Trait disturbance:
Emotionally unstable Hysterical Histrionic Histrionic Histrionic Histrionic
Borderline Borderline Borderline Borderline
Compulsive Obsessive-compulsive Compulsive Obsessive-compulsive Obsessive-compulsive Obsessive-compulsive
Passive-aggressive:
Passive-depressive subtype Dependent Dependent Dependent Dependent
Passive-aggressive subtype Passive-aggressive Passive-aggressive Passive-aggressive
Aggressive subtype
Explosive
Asthenic
Avoidant Avoidant Avoidant Avoidant
Narcissistic Narcissistic Narcissistic Narcissistic
Sociopathic personality
Disturbance:
Antisocial reaction Antisocial Antisocial Antisocial Antisocial Antisocial
Dyssocial reaction
Sexual deviation
Addiction
Appendix: Appendix: Appendix:
Self-defeating Negativistic Dependent
Sadistic Depressive Histrionic
Paranoid
Schizoid
Negativistic
Depressive

* - จัดเป็น schizophrenia-spectrum disorder ด้วยนอกเหนือจากความผิดปกติทางบุคลิกภาพ

คำพรรณนาของ ศ. มิลลอน

นักจิตวิทยา ศ. ธีโอดอร์ มิลลอน ผู้ได้เขียนวรรณกรรมยอดนิยมหลายงานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ เสนอคำพรรณนาเหล่านี้สำหรับความผิดปกติทางบุคลิกภาพต่าง ๆ คือ

คำพรรณนาความผิดปกติทางบุคลิกภาพสั้น ๆ ของ ศ. มิลลอน
ประเภท ลักษณะ
แบบระแวง (Paranoid) ระมัดระวัง ป้องกันตัว ไม่เชื่อใจ และสงสัย ระมัดระวังอย่างยิ่งต่อเจตนาของผู้อื่นที่อาจเป็นการบั่นทอนหรือทำอันตราย พยายามหาหลักฐานสนับสนุนว่าคนอื่นมีแผนลับเสมอ รู้สึกว่าตนถูกต้อง แต่ถูกแกล้ง คนผิดปกติชนิดนี้จะประสบความไม่เชื่อใจและความสงสัยต่อผู้อื่นที่แพร่ไปทั่วเป็นระยะเวลายาว เป็นคนที่ยากที่จะทำงานด้วยและยากที่จะสร้างความสัมพันธ์ด้วย และอาจจะเป็นคนโกรธง่าย
Schizoid ไร้อารมณ์ ไม่แยแส ห่างเหิน อยู่โดดเดี่ยว ไม่ทำตัวคุ้นเคย ไร้อารมณ์ขัน ไม่ต้องการหรือจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ ถอนตัวจากความสัมพันธ์กับคนอื่นและชอบอยู่คนเดียว ไม่ค่อยสนใจผู้อื่น มักมองว่าเป็นคนชอบอยู่คนเดียว มีความสำนึกน้อยที่สุดเกี่ยวกับความรู้สึกของตนหรือผู้อื่น มีแรงกระตุ้นและความทะเยอทะยานน้อยมาก ถ้ามีโดยประการทั้งปวง เป็นภาวะที่ไม่สามัญที่บุคคลจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคมและหลีกเลี่ยงการทำอะไรร่วมกับผู้อื่น ชายเป็นมากกว่าหญิง สำหรับคนอื่น บุคคลนี้อาจจะดูทึ่ม ๆ หรือไร้อารมณ์ขัน เพราะว่าไม่ค่อยแสดงอารมณ์ จึงอาจจะดูเหมือนว่าไม่เป็นห่วงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว
แบบจิตเภท (Schizotypal) พิกล เหินห่างจากตนเอง แปลก ๆ ใจลอย มีท่าทางและพฤติกรรมที่แปลก ๆ คิดว่าตนสามารถอ่านใจผู้อื่น หมุกหมุ่นอยู่กับฝันกลางวันและความเชื่อแปลก ๆ เส้นขีดระหว่างความเป็นจริงกับความเพ้อฝันไม่ชัดเจน มีความคิดเชิงไสยศาสตร์และความเชื่อที่แปลก ๆ คนผิดปกติชนิดนี้บ่อยครั้งกล่าวถึงว่า แปลกหรือพิกล และปกติมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดน้อย ถ้ามีโดยประการทั้งปวง เป็นคนที่โดยทั่วไปไม่เข้าใจการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น หรือผลกระทบที่พฤติกรรมของตนมีต่อผู้อื่น
แบบต่อต้านสังคม (Antisocial) หุนหันพลันแล่น ไม่รับผิดชอบ ผิดปกติ ควบคุมไม่ได้ ทำอะไรไม่คิดก่อน ทำหน้าที่ทางสังคมก็ต่อเมื่อมีประโยชน์ต่อตน ไม่เคารพประเพณี กฎ และมาตรฐานของสังคม มองตัวเองว่าเป็นไทและเป็นอิสระ คนผิดปกติเช่นนี้มีรูปแบบพฤติกรรมที่ไม่สนใจสิทธิของผู้อื่น และบ่อยครั้งจะข้ามเส้นโดยละเมิดสิทธิเหล่านั้น
แบบก้ำกึ่ง (Borderline) เอาแน่เอานอนไม่ได้ ใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อื่น ไม่เสถียร กลัวการถูกทิ้งและความโดดเดี่ยวอย่างบ้าคลั่ง อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างรวดเร็ว รักและเกลียดกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว เห็นตัวเองและบุคคลอื่นสลับไปมาว่าดีทั้งหมดหรือแย่ทั้งหมด อารมณ์ที่ไม่เสถียรและเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว คนผิดปกติชนิดนี้ มีรูปแบบของความไม่เสถียรเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่แพร่ไปทั่ว
แบบ Histrionic เหมือนตัวละคร เซ็กซี่/มีเสน่ห์ เป็นคนไม่ลึกซึ้ง ชอบหาสิ่งเร้า ถือตัว มีปฏิกิริยาต่อเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เกินเหตุ ชอบโชว์ตัวเพื่อที่จะได้ความสนใจและความช่วยเหลือจากผู้อื่น มองตัวเองว่า รูปงามและมีเสน่ห์ คอยหาความสนใจจากผู้อื่น ความผิดปกติกำหนดโดยการคอยหาความสนใจ ปฏิกิริยาทางอารมณ์เกินควร และถูกชักชวนได้ง่าย (suggestibility) ความโน้มเอียงที่จะทำเป็นตัวละครอาจจะขัดขวางความสัมพันธ์กับผู้อื่น และนำไปสู่ความซึมเศร้า แต่บุคคลนี้บ่อยครั้งจะดำเนินชีวิตไปได้โดยดี
แบบหลงตัวเอง (Narcissistic) สนใจแต่ตัวเอง หยิ่ง ขี้อวด ไม่สนใจ หมกหมุ่นกับความคิดเพ้อฝันเกี่ยวกับความสำเร็จ ความงาม หรือความสัมฤทธิ์ผล มองตัวเองว่าน่ายกย่องและเหนือกว่า ดังนั้น จึงควรจะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ เป็นความผิดปกติทางจิตที่บุคคลรู้สึกถึงความสำคัญของตนเกินจริงและต้องการความยกย่องอย่างยิ่ง คนผิดปกติชนิดนี้ เชื่อว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่นและไม่ค่อยสนใจความรู้สึกของคนอื่น
แบบหลีกเลี่ยง (Avoidant) ลังเลใจ สำนึกตนมากเกินไปทำให้ประหม่า เขิน วิตกกังวล เครียดในท่ามกลางสังคมเนื่องจากกลัวถูกปฏิเสธ วิตกกังวลในเรื่องความล้มเหลวตลอดเวลา มองตัวเองว่า งุ่มง่าม ไม่เก่ง หรือไม่น่าสนใจ ประสบกับความรู้สึกว่า ตนบกพร่อง เป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ไวความรู้สึกว่าคนอื่นคิดถึงตนอย่างไร
แบบพึ่งพา (Dependent) ช่วยตัวเองไม่ได้ ไร้ความสามารถ อ่อนน้อม ไม่โต ถอยจากความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ มองตัวเองว่าอ่อนแอและเปราะบาง คอยมองหาการปลอบให้อุ่นใจจากคนที่แกร่งกว่า ต้องการที่จะให้คนอื่นดูแล กลัวถูกทอดทิ้งหรือถูกแยกจากบุคคลสำคัญในชีวิต
แบบย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive) หักห้ามใจ พิถีพิถัน ให้ความเคารพยกย่อง เข้มงวด ธำรงชีวิตแบบมีกฎเกณฑ์ ทำตามประเพณีทางสังคมอย่างเคร่งครัด มองโลกว่ามีกฎเกณฑ์และมีลำดับชั้น มองตัวเองว่า เอาใจใส่ เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ และมีผลงานมาก
แบบเศร้าซึม (Depressive) สลด หมดกำลังใจ หมดอาลัย เศร้าสร้อย ปล่อยตามชะตากรรม แสดงตนเองว่าอ่อนแอและถูกทอดทิ้ง รู้สึกว่าไม่มีค่า รู้สึกผิด และไร้กำลังไม่สามารถทำอะไรได้ ตัดสินตนเองว่า ควรแต่จะตำหนิและดูถูก ไร้ความหวัง อยากจะตาย อยู่ไม่เป็นสุข ความผิดปกติเยี่ยงนี้สามารถนำไปสู่การกระทำที่ดุร้ายและประสาทหลอน
ดื้อเงียบ (Passive-aggressive หรือ Negativistic) ขุ่นเคืองใจ เป็นปฏิปักษ์ สงสัยไม่เชื่อ ไม่พอใจ ขัดขืนไม่ทำตามความคาดหวังของผู้อื่น ไร้ประสิทธิภาพอย่างจงใจ ระบายความโกรธโดยอ้อมด้วยการลอบบั่นทอนเป้าหมายของผู้อื่น สลับอารมณ์ระหว่างอารมณ์ไม่ดีและรำคาญ กับบึ้งตึงและไม่พูดไม่จา ไม่แสดงออกซึ่งอารมณ์ จะไม่คุยด้วยแม้ว่าจะมีปัญหาที่จะต้องคุยกัน
ซาดิสม์ (Sadistic) ดุฉุนเฉียว ถากถาง โหดร้าย หัวรั้น มักจะระเบิดอารมณ์แบบฉับพลัน ได้ความพอใจโดยบังคับ ข่มขู่ หรือดูหมิ่นทำให้ผู้อื่นอับอาย มีความคิดดื้อรั้นและมีใจปิด ชอบทำอะไรโหด ๆ ต่อผู้อื่น ได้ความพอใจโดยทารุณผู้อื่น อาจจะมีความสัมพันธ์แบบซาดิสม์และมาโซคิสม์ แต่จะไม่เป็นฝ่ายมาโซคิสม์คือให้ผู้อื่นทำร้าย
แบบทำลายตัวเองหรือแบบมาโซคิสม์ (Self-defeating หรือ Masochistic) เคารพนบนอบต่อผู้อื่น กลัวความสุข ยอมรับใช้ ยอมรับผิด ถ่อมตัว สนับสนุนให้คนอื่นเอาเปรียบตน จงใจทำลายจุดมุ่งหมายของตนเอง หาคู่ที่โทษตนหรือกระทำไม่ดีต่อตน สงสัยคนที่ทำดีกับตน อาจจะมีความสัมพันธ์แบบซาดิสม์และมาโซคิสม์

ปัจจัยการจัดหมวดหมู่อื่น ๆ

นอกจากจะจัดเป็นหมวดหมู่และเป็นกลุ่ม ก็ยังเป็นไปได้ที่จะจัดความผิดปกติทางบุคลิกภาพโดยใช้ปัจจัยอื่น ๆ เช่นความรุนแรง ผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสังคม และการแสดงเหตุ (attribution)

ความรุนแรง

การจัดหมวดหมู่เช่นนี้เกี่ยวข้องกับไอเดียว่า ความขัดข้องทางบุคลิกภาพ (personality difficulty) เป็นระดับความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ยังไม่ถึงขีดที่วัดโดยใช้การสัมภาษณ์มาตรฐาน และเกี่ยวกับหลักฐานว่า บุคคลที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหนักที่สุด มีการแพร่กระจายของความผิดปกติแบบกระเพื่อมน้ำ (ripple effect) ที่แสดงลักษณะความผิดปกติทางจิตต่าง ๆ เป็นแถว ๆ คือสามารถจัดหมวดหมู่เป็น subthreshold (ความขัดข้องทางบุคลิกภาพ), single cluster (ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบกลุ่มเดียว), ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบซับซ้อน/แพร่กระจาย (complex/diffuse personality disorder) ที่มีความผิดปกติจากมากกว่า 1 กลุ่ม และความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบรุนแรง (severe personality disorder) ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด

ระบบการจัดหมวดหมู่ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
ความรุนแรง ลักษณะ นิยาม
0 ปกติ ไม่ผ่านเกณฑ์ว่าเป็นความผิดปกติหรือความขัดข้องทางบุคลิกภาพ
1 ความขัดข้องทางบุคลิกภาพ (Personality Difficulty) ผ่านเกณฑ์ย่อย (subthreshold) ของความผิดปกติทางบุคลิกภาพอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง
2 ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบกลุ่มเดียว (Simple) ผ่านเกณฑ์ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหนึ่งหรือหลายแบบที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
3 ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบซับซ้อน/แพร่กระจาย (Complex/Diffuse) ผ่านเกณฑ์ความผิดปกติทางบุคลิกภาพหลายแบบข้ามกลุ่ม
4 ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบรุนแรง (Severe) ผ่านเกณฑ์ความผิดปกติที่เป็นความก่อกวนอย่างรุนแรงต่อทั้งคนไข้และต่อคนอื่น ๆ ในสังคม

มีประโยชน์หลายอย่างในการจัดหมวดหมู่ตามความรุนแรง คือ

  • เป็นการยอมรับความโน้มเอียงที่ความผิดปกติทางบุคลิกภาพจะเกิดขึ้นหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน (comorbid)
  • เป็นระบบที่แสดงอิทธิพลของความผิดปกต่อผลที่ได้ผ่านการรักษา ได้ดีกว่าระบบง่าย ๆ ที่จัดว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • เป็นระบบที่ยอมรับการวินิจฉัยใหม่ของความผิดปกติแบบรุนแรง โดยเฉพาะที่เรียกว่า "ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบอันตรายและรุนแรง" (dangerous and severe personality disorder)

ผลต่อชีวิตทางสังคม

การดำเนินชีวิตทางสังคม (social function) ได้รับอิทธิพลจากด้านต่าง ๆ ของการทำงานของจิตนอกเหนือไปจากบุคลิกภาพ แต่ว่า เมื่อเกิดความขัดข้องต่อการดำเนินชีวิตทางสังคมอย่างยืนกราน ในสถานการณ์ที่ปกติไม่ควรจะมี หลักฐานแสดงนัยว่า นี่มีโอกาสจะมีเหตุจากความผิดปกติทางบุคลิกภาพมากกว่าตัวแปรทางคลินิกอื่น ๆ การจัดหมวดหมู่แบบ Personality Assessment Schedule ให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตทางสังคมเมื่อสร้างลำดับชั้นของความผิดปกติทางบุคลิกภาพ คือ ความผิดปกติที่มีผลลบต่อชีวิตที่รุนแรงกว่า จะอยู่ในระดับเหนือกว่าความผิดปกติที่กล่าวถึงในลำดับต่อ ๆ มา

การแสดงเหตุ (Attribution)

คนเป็นจำนวนมากที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพไม่รู้ถึงความผิดปกติของตนเอง และจะแก้ต่างอย่างองอาจถึงการมีพฤติกรรมที่ผิดปกตินั้น ๆ ต่อ ๆ ไป (คือมีการแสดงเหตุของพฤติกรรมนั้นโดยไม่ใช่เป็นความผิดปกติ) กลุ่มนี้เรียกว่า แบบ R หรือ ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ไม่ยอมรักษา (treatment-resisting) เทียบกับ แบบ S หรือ ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่แสวงหาการรักษา (treatment-seeking) ผู้กระตือรือร้นที่จะแก้ความผิดปกติของตนและบางครั้งแม้กระทั่งยืนกรานเรียกร้องให้รักษา ทีมนักวิจัยที่จัดหมวดหมู่คนไข้โรคบุคลิกภาพ 68 คนโดยใช้สเกลแบบไม่ซับซ้อนแสดงว่า

  • คนไข้แบบ R (ไม่ยอมรักษา) และ S (ต้องการรักษา) มีอัตรา 3 ต่อ 1
  • คนไข้กลุ่ม C (ความผิดปกติแบบวิตกกังวลหรือกลัว) มีโอกาสสูงกว่าอย่างสำคัญที่จะเป็นแบบ S (ต้องการรักษา)
  • คนไข้แบบระแวง (paranoid) และแบบ schizoid ซึ่งอยู่ในกลุ่ม A (ความผิดปกติที่แปลกหรือวิปริต) มีโอกาสสูงกว่าอย่างสำคัญที่จะเป็นแบบ R (ไม่ยอมรักษา)

อาการ

ในที่ทำงาน

ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย ความรุนแรง คนไข้ และงานเอง ความผิดปกติทางบุคลิกภาพอาจจะสัมพันธ์กับความยากลำบากในการบริหารจัดการรับมืองานหรือที่ทำงาน ซึ่งอาจมีผลเป็นปัญหากับผู้อื่นโดยรบกวนความสัมพันธ์กับคนอื่น ผลโดยอ้อมก็มีบทบาทด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนไข้อาจจะมีปัญหาในการศึกษา หรือมีปัญหาอื่น ๆ นอกที่ทำงาน เช่น การติดสารเสพติด หรือโรคจิตที่เกิดร่วมอื่น ๆ (co-morbid) แต่ว่า ความผิดปกติทางบุคลิกภาพก็สามารถยังให้ทำงานได้ดีกว่าโดยเฉลี่ยอีกด้วย โดยเพิ่มแรงกระตุ้นในการแข่งขัน หรือเป็นเหตุให้คนไข้ฉวยประโยชน์จากเพื่อนร่วมงาน

ในปี 2005 และ 2009 นักจิตวิทยาคู่หนึ่งในสหราชอาณาจักรสัมภาษณ์และให้การทดสอบบุคลิกภาพต่อนักบริหารชั้นสูงชาวอังกฤษ และเปรียบเทียบข้อมูลเฉพาะที่ได้กับคนไข้ที่เป็นอาชญากรในโรงพยาบาลจิตเวชที่มีการรักษาความปลอดภัยสูง แล้วพบว่า ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ 3 อย่างจาก 11 อย่างจริง ๆ แล้ว สามัญกับผู้บริหารมากกว่าอาชญากรโรคจิต คือ

  • ความผิดปกติแบบ histrionic รวมทั้งความมีเสน่ห์อย่างผิวเผิน ความไม่จริงใจ ความสนใจแต่ตน (egocentricity) และการใช้เล่ห์เหลี่ยมเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อื่น (psychological manipulation)
  • ความผิดปกติแบบหลงตัวเอง (narcissistic) รวมทั้งความโอ้อวด การปราศจากความเห็นใจผู้อื่นเพราะมุ่งแต่ตัวเอง การฉวยประโยชน์จากผู้อื่น และความเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
  • ความผิดปกติแบบแบบย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive) รวมทั้งทุกอย่างต้องเพอร์เฝ็กต์ (perfectionism) การอุทิศตนให้งานเกินควร ความยืดหยุ่นไม่ได้ ความดื้อรั้น และความโน้มเอียงที่จะมีพฤติกรรมแบบเผด็จการ

ตามนักวิชาการเกี่ยวกับความเป็นผู้นำท่านหนึ่ง เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าผู้บริหารระดับสูงจะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพบ้าง

ความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ

ความผิดปกติต่าง ๆ ในกลุ่ม (cluster) ทั้ง 3 แต่ละกลุ่ม อาจจะมีปัจจัยเสี่ยงพื้นฐานที่สามัญเกี่ยวข้องกับระบบประชาน, การควบคุมอารมณ์ (affect) และความหุนหันพลันแล่น (impulse), และการธำรงหรือการยับยั้งพฤติกรรม ตามลำดับ และอาจมีความสัมพันธ์เป็นสเปกตรัมอย่างต่อเนื่องกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ คือ

  • ความผิดปกติแบบระแวง (paranoid) และจิตเภท (schizotypal) เห็นได้ในช่วงก่อนเกิดโรค (premorbid) ของคนไข้ความผิดปกติแบบหลงผิด (delusional disorder) และโรคจิตเภท
  • ความผิดปกติแบบก้ำกึ่ง (borderline) ปรากฏสัมพันธ์กับ
    • ความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) และโรควิตกกังวล (anxiety disorder)
    • ความผิดปกติในการควบคุมความหุนหันพลันแล่น (impulse control disorder) ความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorders) โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder)
    • ความผิดปกติในการใช้สารเสพติด (substance use disorder)
  • ความผิดปกติแบบหลีกเลี่ยง (avoidant) พบพร้อมกับโรคกลัวการเข้าสังคม (social anxiety disorder)

การวินิจฉัย

เกณฑ์วินิจฉัย

ฉบับล่าสุดของ DSM คือ DSM-V ได้ปรับปรุงเกณฑ์วินิจฉัยของความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เกณฑ์ทั่วไปกำหนดว่า บุคลิกของบุคคลจะต้องต่างไปจากที่เป็นปกติตามที่คาดหวังได้ในวัฒนธรรมนั้น ๆ อย่างสำคัญ นอกจากนั้นแล้ว ลักษณะทางบุคลิกภาพที่เป็นประเด็นจะต้องปรากฏโดยต้นวัยผู้ใหญ่ การวินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพต้องผ่านเกณฑ์ 3 อย่างคือ

  • มีความบกพร่อง (impairment) อย่างสำคัญต่อประสิทธิภาพ (functioning) เกี่ยวกับตน (self-identity หรือ self-direction) และต่อประสิทธิภาพระหว่างบุคคล (ความเห็นใจผู้อื่น หรือความใกล้ชิดกับผู้อื่น)
  • มีลักษณะทางบุคลิกภาพ (domain หรือ facet) ที่มีพยาธิสภาพ หนึ่งอย่างหรือมากกว่านั้น
  • ความบกพร่องในประสิทธิภาพของบุคลิกภาพ และการแสดงลักษณะบุคลิกภาพของบุคคล จะต้องค่อนข้างเสถียรข้ามเวลา และจะต้องสม่ำเสมอในสถานการณ์ต่าง ๆ
  • ความบกพร่องในประสิทธิภาพของบุคลิกภาพ และการแสดงลักษณะบุคลิกภาพของบุคคล จะต้องไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับระยะพัฒนาการหรือสำหรับสิ่งแวดล้อมทางสังคม-วัฒนธรรมของบุคคลนั้น ๆ
  • ความบกพร่องในประสิทธิภาพของบุคลิกภาพ และการแสดงลักษณะบุคลิกภาพของบุคคล ต้องไม่ใช่เกิดจากผลทางสรีรภาพโดยตรงของสาร (เช่นสารเสพติด ยา) หรือสภาวะทางแพทย์ทั่วไป (เช่น การบาดเจ็บที่หัวอย่างรุนแรง) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ส่วนคำพรรณนาทางคลินิกและแนวทางการวินิจฉัยของ ICD-10 มีเกณฑ์วินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่จำเพาะ ประกอบด้วยเกณฑ์ทั่วไปที่คล้าย ๆ กัน คือ

  • มีทัศนคติและพฤติกรรมที่ไม่กลมกลืนกันอย่างสำคัญ โดยทั่วไปเกี่ยวกับประสิทธิภาพในหลาย ๆ ด้าน เช่น ในเรื่องอารมณ์ ความตื่นตัว การควบคุมความหุนหันพลันแล่น วิธีการรับรู้และการคิด และสไตล์การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • มีรูปแบบพฤติกรรมผิดปกติที่ยั่งยืน เป็นเวลายาวนาน และไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่คราวเป็นโรคจิต
  • รูปแบบพฤติกรรมที่ผิดปกติแพร่ไปทั่ว และชัดเจนว่าเป็นการปรับตัวที่ผิดพลาดต่อสถานการณ์ทั้งในส่วนบุคคลและในส่วนสังคมมากมายหลายอย่าง
  • สิ่งทีกล่าวมาปรากฏในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น และดำเนินต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
  • ความผิดปกติทำให้เกิดความทุกข์เป็นส่วนตัวพอสมควร แต่อาจจะเพียงปรากฏชัดในระยะหลัง ๆ
  • ความผิดปกติมักจะ แต่ไม่ต้อง สัมพันธ์กับปัญหาทางอาชีพและทางสังคมอย่างสำคัญ

ICD ยังเพิ่มด้วยว่า "สำหรับวัฒนธรรมต่าง ๆ อาจจะต้องพัฒนาเซตกฎเกณฑ์โดยเฉพาะต่อความเป็นไป กฎ และหน้าที่ทางสังคม"

ในการรักษา โดยทั่วไปคนไข้จะได้รับการวินิจฉัยผ่านการสัมภาษณ์กับจิตแพทย์ โดยอาศัย mental status examination (การสอบสถานะจิต) ซึ่งอาจจะรวมสังเกตการณ์ที่ได้จากญาติหรือคนอื่น ๆ วิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้วินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพก็คือกระบวนการสัมภาษณ์ที่มีการให้คะแนน คือมีการให้คนไข้ตอบคำถาม และขึ้นอยู่กับคำตอบ ผู้สัมภาษณ์ที่ได้รับการฝึกมาแล้วจะพยายามเข้ารหัสคำตอบนั้น แต่นี่เป็นกระบวนการที่ใช้เวลามาก

บุคลิกภาพปกติ

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพปกติกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เป็นประเด็นที่สำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับบุคลิกภาพและจิตวิทยาคลินิก ระบบการจัดชั้นบุคลิกภาพ (DSM IV TR และ ICD-10) ใช้วิธีการจัดหมวดหมู่ที่มองความผิดปกติว่าเป็นโรคต่างหาก ๆ ที่ต่างจากกันและกัน และจากบุคลิกภาพปกติ โดยเปรียบเทียบกัน แนวคิดแบบมิติ (dimensional approach) เป็นแนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่แสดงความผิดปกติโดยเป็นส่วนเพิ่มของลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นส่วนของบุคลิกภาพปกติ แต่เป็นลักษณะที่ปรับตัวได้ไม่ดี

นักจิตวิทยาบุคลิกภาพท่านหนึ่งกับคณะ ได้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับการถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างสำคัญ เขาได้กล่าวถึงข้อจำกัดของแนวคิดแบบจัดหมวดหมู่แล้วสนับสนุนแนวคิดแบบมิติเพื่ออธิบายความผิดปกติทางบุคลิกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว เข้าได้เสนอแบบจำลองบุคลิกภาพมี 5 ปัจจัย (Five Factor Model ตัวย่อ FFM) โดยเป็นทางเลือกในการจัดหมวดหมู่ความผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดนี้กำหนดว่าความผิดปกติแบบก้ำกึ่ง สามารเข้าใจได้ว่า เป็นการผสมรวมกันของความอ่อนไหวทางอารมณ์ (คือ มี neuroticism ระดับสูง) ความหุนหันพลันแล่น (คือ มีความพิถีพิถัน [conscientiousness] ต่ำ) และมีความเป็นปฏิปักษ์สูง (คือ มีความยินยอมเห็นใจผู้อื่น [agreeableness] ต่ำ)

มีงานศึกษาข้ามวัฒนธรรมที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างความผิดปกติทางบุคลิกภาพกับ FFM และงานวิจัยเช่นนี้แสดงว่า ความผิดปกติทางบุคลิกภาพมีสหสัมพันธ์โดยองค์รวมในทิศทางตามที่คาดหวังกับค่าวัดต่าง ๆ ของ FFM ซึ่งได้เบิกทางการรวม FFM เข้าใน DSM-5

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพของ DSM-IV-TR จากมุมมองของ FFM เกี่ยวกับประสิทธิภาพของบุคลิกภาพทั่วไป
ปัจจัย PPD SzPD StPD ASPD BPD HPD NPD AvPD DPD OCPD PAPD DpPD
Neuroticism (vs. emotional stability)
Anxiousness (vs. unconcerned) n/a n/a High Low High n/a n/a High High High n/a n/a
Angry hostility (vs. dispassionate) High n/a n/a High High n/a High n/a n/a n/a High n/a
Depressiveness (vs. optimistic) n/a n/a n/a n/a High n/a n/a n/a n/a n/a n/a High
Self-consciousness (vs. shameless) n/a n/a High Low n/a Low Low High High n/a n/a High
Impulsivity (vs. restrained) n/a n/a n/a High High High n/a Low n/a Low n/a n/a
Vulnerability (vs. fearless) n/a n/a n/a Low High n/a n/a High High n/a n/a n/a
Extraversion (vs. introversion)
Warmth (vs. coldness) Low Low Low n/a n/a n/a Low n/a High n/a Low Low
Gregariousness (vs. withdrawal) Low Low Low n/a n/a High n/a Low n/a n/a n/a Low
Assertiveness (vs. submissiveness) n/a n/a n/a High n/a n/a High Low Low n/a Low n/a
Activity (vs. passivity) n/a Low n/a High n/a High n/a n/a n/a n/a Low n/a
Excitement seeking (vs. lifeless) n/a Low n/a High n/a High High Low n/a Low n/a Low
Positive emotionality (vs. anhedonia) n/a Low Low n/a n/a High n/a Low n/a n/a n/a n/a
Openness (vs. closedness)
Fantasy (vs. concrete) n/a n/a High n/a n/a High n/a n/a n/a n/a n/a n/a
Aesthetics (vs. disinterest) n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a
Feelings (vs. alexithymia) n/a Low n/a n/a High High Low n/a n/a Low n/a n/a
Actions (vs. predictable) Low Low n/a High High High High Low n/a Low Low n/a
Ideas (vs. closed-minded) Low n/a High n/a n/a n/a n/a n/a n/a Low Low Low
Values (vs. dogmatic) Low n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a Low n/a n/a
Agreeableness (vs. antagonism)
Trust (vs. mistrust) Low n/a n/a Low n/a High Low n/a High n/a n/a Low
Straightforwardness (vs. deception) Low n/a n/a Low n/a n/a Low n/a n/a n/a Low n/a
Altruism (vs. exploitative) Low n/a n/a Low n/a n/a Low n/a High n/a n/a n/a
Compliance (vs. aggression) Low n/a n/a Low n/a n/a Low n/a High n/a Low n/a
Modesty (vs. arrogance) n/a n/a n/a Low n/a n/a Low High High n/a n/a High
Tender-mindedness (vs. tough-minded) Low n/a n/a Low n/a n/a Low n/a High n/a n/a n/a
Conscientiousness (vs. disinhibition)
Competence (vs. laxness) n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a High Low n/a
Order (vs. disorderly) n/a n/a Low n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a High Low
Dutifulness (vs. irresponsibility) n/a n/a n/a Low n/a n/a n/a n/a n/a High Low High
Achievement striving (vs. lackadaisical) n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a n/a High n/a n/a
Self-discipline (vs. negligence) n/a n/a n/a Low n/a Low n/a n/a n/a High Low n/a
Deliberation (vs. rashness) n/a n/a n/a Low Low Low n/a n/a n/a High n/a High

ตัวย่อที่ใช้: PPD - Paranoid Personality Disorder, SzPD - Schizoid Personality Disorder, StPD - Schizotypal Personality Disorder, ASPD - Antisocial Personality Disorder, BPD - Borderline Personality Disorder, HPD - Histrionic Personality Disorder, NPD - Narcissistic Personality Disorder, AvPD - Avoidant Personality Disorder, DPD - Dependent Personality Disorder, OCPD - Obsessive-Compulsive Personality Disorder, PAPD - Passive-Aggressive Personality Disorder, DpPD - Depressive Personality Disorder, n/a - not available.

เหตุ

มีเหตุที่เป็นไปได้ของความผิดปกติทางจิตหลายอย่าง และอาจจะมีความต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับความผิดปกติ บุคคล และสถานการณ์ อาจจะเป็นลักษณะทางพันธุกรรมและประสบการณ์ในชีวิตบางอย่าง ซึ่งอาจจะรวมหรือไม่รวมเหตุการณ์บาดเจ็บหรือถูกทารุณกรรมโดยเฉพาะ ๆ

งานศึกษาในนักศึกษามหาวิทยาลัยชาย 600 คน ที่มีอายุเฉลี่ยเกือบ 30 ปี ผู้ที่ไม่ได้เป็นคนไข้ ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ทารุณกรรมทางกายและทางเพศในวัยเด็ก กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่รายงานในปัจจุบัน ประวัติทารุณณกรรมในวัยเด็กสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับระดับที่สูงขึ้นของอาการต่าง ๆ ส่วนความรุนแรงของทารุณกรรมก็มีความสำคัญทางสถิติด้วย แต่ว่า ไม่มีความสำคัญทางคลินิกต่อความแปรปรวน (variance) ของอาการของทุกกลุ่ม (คือกลุ่ม A, B และ C)

การกระทำทารุณต่อเด็ก (child abuse) และการละเลยเด็ก (neglect) มีหลักฐานที่สม่ำเสมอว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยหนึ่งจับคู่ทารุณกรรมย้อนหลังในอดีต กับกลุ่มคนไข้ที่แสดงจิตพยาธิสภาพเริ่มตั้งแต่วัยเด็กแล้วดำเนินมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ ที่ภายหลังพบว่าได้ถูกทารุณและละเลยในวัยเด็ก เป็นการศึกษาในมารดาและเด็ก 793 คน ที่นักวิจัยถามมารดาว่าเคยตะโกนใส่ลูก เคยกล่าวว่าตนไม่รักลูก หรือว่าเคยขู่ว่าจะส่งลูกไปอยู่ที่อื่นหรือไม่ เด็กที่ประสบทารุณกรรมทางวาจาเช่นนี้มีโอกาส 3 เท่าของเด็กอื่นที่จะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง แบบหลงตัวเอง แบบย้ำคิดย้ำทำ และแบบระแวงในวัยผู้ใหญ่ ส่วนกลุ่มที่ถูกทารุณกรรมทางเพศ แสดงรูปแบบจิตพยาธิในระดับที่สูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอที่สุด และทารุณกรรมทางกาย (physical abuse) ที่พิสูจน์อย่างเป็นทางการแล้ว แสดงค่าสหสัมพันธ์ที่สูงมากกับพัฒนาการเป็นพฤติกรรมต่อต้านสังคมและทำตามอารมณ์ชั่ววูบ แต่ว่า กรณีคนไข้ที่ถูกทารุณกรรมโดยละเลยในวัยเด็ก โรคอาจจะสงบทุเลาเป็นบางส่วน (partial remission) ในวัยผู้ใหญ่ได้

ความระบาดของโรค

ความชุกของโรค (prevalence) ของความผิดปกติเช่นนี้ในกลุ่มประชากรทั่วไปไม่ปรากฏ จนกระทั่งมีงานสำรวจเริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ในปี 2008 อัตรามัธยฐาน (median rate) ของ PD ที่วินิจฉัยได้ประเมินอยู่ที่ 10.6% อาศัยงานศึกษาขนาดใหญ่ 6 งานใน 3 ประเทศ เพราะมีอัตราที่ 1 ใน 10 และเพราะว่าสัมพันธ์กับการใช้บริการทางสุขภาพในระดับสูง จึงเรียกว่าเป็นประเด็นสาธารณสุขที่สำคัญ ที่ต้องการความใส่ใจทั้งจากนักวิจัยและแพทย์ผู้รักษา

ความชุกของ PD แต่ละอย่างมีพิสัยตั้งแต่ 2%-3% สำหรับแบบที่สามัญกว่า เช่น แบบจิตเภท (schizotypal) แบบต่อต้านสังคม แบบก้ำกึ่ง และแบบ histrionic ไปจนถึงที่ 0.5-1% สำหรับแบบที่มีน้อยที่สุด เช่น แบบหลงตัวเอง และแบบหลีกเลี่ยง

ส่วนงานสำรวจตรวจคัดโรคปี 2009 ใน 13 ประเทศโดยองค์การอนามัยโลก โดยใช้เกณฑ์ของ DSM-IV ประเมินความชุกของ PD ที่ 6% อัตราบางครั้งแปรไปตามปัจจัยทางประชากรและทางสังคม-เศรษฐกิจอื่น ๆ งานวิจัยยังพบด้วยว่า ประสิทธิภาพการดำเนินชีวิตที่บกพร่องบางส่วน เกิดจากความผิดปกติทางจิตที่เกิดร่วมอื่น ๆ

ในงานสำรวจ National Comorbidity Survey Replication ระหว่างปี 2001-2003 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เกณฑ์วินิจฉัยของ DSM-IV และรวมการสัมภาษณ์กับผู้ตอบคำถามกลุ่มย่อยด้วย แสดงความชุกของโรคที่ 9% รวมทั้งหมด แต่ความพิการในการดำเนินชีวิตที่สัมพันธ์กับโรคที่วินิจฉัย ดูเหมือนจะมีเหตุมาจากความผิดปกติทางจิตที่เกิดร่วมกัน (Axis I ของ DSM) โดยมาก

ส่วนงานวิทยาการระบาดระดับชาติปี 2010 ในสหราชอาณาจักรที่ใช้เกณฑ์ของ DSM-IV และจัดกลุ่มโดยระดับความรุนแรงด้วย รายงานว่า คนโดยมากมีความขัดข้องทางบุคลิกภาพ (personality difficulty) ไม่ประการใดก็ประการหนึ่ง ที่ยังไม่ถึงเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นโรค ในขณะที่ความชุกของกรณีที่ซับซ้อนที่สุดที่รุนแรงที่สุด (รวมทั้งที่ผ่านเกณฑ์วินิจฉัยความผิดปกติหลายแบบในกลุ่มต่าง ๆ กัน) มีค่าประเมินอยู่ที่ 1.3% แม้ว่าอาการที่อยู่ในระดับต่ำก็ยังสัมพันธ์กับปัญหาการดำเนินชีวิต แต่บุคคลที่จำเป็นจะได้รับบริการมากที่สุดอยู่ในกลุ่มที่เล็กกว่ามาก

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีความแตกต่างระหว่างเพศเกี่ยวกับความถี่ของ PD ซึ่งแสดงอยู่ในตารางต่อไป

ความแตกต่างระหว่างเพศของความถี่ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ
ประเภท เพศที่เป็นโดยมาก
แบบระแวง (Paranoid) ชาย
แบบ Schizoid ชาย
แบบจิตเภท (Schizotypal) ชาย
แบบต่อต้านสังคม (Antisocial) ชาย
แบบก้ำกึ่ง (Borderline) หญิง
แบบ Histrionic หญิง
แบบหลงตัวเอง (Narcissistic) ชาย
แบบหลีกเลี่ยง (Avoidant) เท่ากัน
แบบพึ่งพา (Dependent) หญิง
แบบย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive) ชาย

โรคร่วม

มีการเกิดร่วมกันของ PD ตามเกณฑ์วินิจฉัยพอสมควร คือ คนไข้ทีผ่านเกณฑ์วินิจฉัยของ DSM-IV-TR สำหรับ PD อย่างหนึ่ง มักจะผ่านเกณฑ์วินิจฉัยของ PD อีกอย่างหนึ่งด้วย แม้ว่า หมวดหมู่การวินิจฉัยจะให้คำพรรณนาที่สว่างชัดเจนเกี่ยวกับความผิดปกติแต่ละประเภท ๆ แต่โครงสร้างบุคลิกภาพของคนไข้จริง ๆ อาจจะอธิบายได้ดีกว่า โดยใช้กลุ่มลักษณะบุคลิกภาพที่ปรับตัวได้ไม่ดี (maladaptive)

การเกิดร่วมของความผิดปกติทางบุคลิกภาพตามเกณฑ์ DSM-III-R รวมจากศูนย์วิจัย 6 แห่ง
ประเภท PPD SzPD StPD ASPD BPD HPD NPD AvPD DPD OCPD PAPD
Paranoid (PPD) 8 19 15 41 28 26 44 23 21 30
Schizoid (SzPD) 38 39 8 22 8 22 55 11 20 9
Schizotypal (StPD) 43 32 19 4 17 26 68 34 19 18
Antisocial (ASPD) 30 8 15 59 39 40 25 19 9 29
Borderline (BPD) 31 6 16 23 30 19 39 36 12 21
Histrionic (HPD) 29 2 7 17 41 40 21 28 13 25
Narcissistic (NPD) 41 12 18 25 38 60 32 24 21 38
Avoidant (AvPD) 33 15 22 11 39 16 15 43 16 19
Dependent (DPD) 26 3 16 16 48 24 14 57 15 22
Obsessive-Compulsive (OCPD) 31 10 11 4 25 21 19 37 27 23
Passive-Aggressive (PAPD) 39 6 12 25 44 36 39 41 34 23
  • ทุกศูนย์ใช้เกณฑ์ของ DSM-III-R เป็นข้อมูลรวบรวมเพื่อการพัฒนาเกณฑ์วินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพสำหรับ DSM-IV-TR
  • ตัวย่อที่ใช้: PPD - Paranoid Personality Disorder, SzPD - Schizoid Personality Disorder, StPD - Schizotypal Personality Disorder, ASPD - Antisocial Personality Disorder, BPD - Borderline Personality Disorder, HPD - Histrionic Personality Disorder, NPD - Narcissistic Personality Disorder, AvPD - Avoidant Personality Disorder, DPD - Dependent Personality Disorder, OCPD - Obsessive-Compulsive Personality Disorder, PAPD - Passive-Aggressive Personality Disorder.

การบริหาร

แนวคิดจำเพาะ

มีรูปแบบ (modalities) การรักษาบำบัด PD ต่าง ๆ คือ

  • จิตบำบัดรายบุคคล (Individual psychotherapy) เป็นวิธีบำบัดหลัก มีทั้งแบบระยะยาวและระยะสั้น
  • จิตบำบัดครอบครัว (Family therapy) รวมทั้งการบำบัดสำหรับคู่ครอง
  • จิตบำบัดกลุ่ม (Group therapy) สำหรับการทำงานผิดปกติของบุคลิกภาพ ซึ่งใช้มากที่สุดเป็นอันดับสอง
  • การศึกษาทางจิตวิทยา (Psychoeducation) อาจใช้เป็นส่วนเสริม
  • กลุ่มที่ช่วยกันเอง (Self-help group) อาจใช้เป็นตัวช่วยในการรักษา
  • การให้ยา (Psychiatric medication) เพื่อบำบัดอาการและการทำหน้าที่ผิดปกติของบุคลิกภาพ หรือเพื่อสภาวะที่เกิดร่วมกัน
  • Milieu therapy เป็นการบำบัดแบบเป็นกลุ่มอยู่อาศัย ซึ่งมีประวัติใช้เพื่อบำบัด PD รวม therapeutic communities ด้วย

มีทฤษฎีที่จำเพาะเจาะจงมากมายหรือมีสำนักบำบัดหลายสำนักในแต่ละวิธีการรักษาเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น บางสำนักอาจจะเน้นจิดบำบัดแบบ psychodynamic หรือการบำบัดทางประชานและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) และในการรักษาจริง ๆ ผู้บำบัดอาจจะใช้แนวคิดแบบผสมผสาน (eclectic) นำเอาวิธีการต่าง ๆ มาจากหลาย ๆ สำนัก เพื่อให้เข้ากับคนไข้นั้น ๆ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการเน้นปัจจัยสามัญที่ดูเหมือนจะช่วยไม่ว่าจะใช้เทคนิคไหนรวมทั้งลักษณะของผู้บำบัด (เช่น เชื่อใจได้ เก่ง เป็นห่วงเอาใจใส่) สิ่งที่ให้คนไข้ทำได้ (เช่นสามารถแสดงและบอกถึงความยากลำบากและความรู้สึก) และการเข้ากันได้ระหว่างผู้บำบัด-คนไข้ (เช่น ตั้งเป้าเพื่อจะให้เกียรติกันและกัน ให้ความไว้เนื่อเชื่อใจ และการมีขอบเขต) ตารางต่อไปนี้เป็นผลที่ได้จากการบำบัดทางชีวภาพ (Biological) และทางจิต-สังคม (Psychosocial)

การตอบสนองของคนไข้ความผิดปกติทางบุคลิกภาพต่อการบำบัดทางชีวภาพและทางจิต-สังคม
Cluster หลักฐานการทำงานผิดปกติของสมอง การตอบสนองต่อการบำบัดทางชีวภาพ การตอบสนองต่อการบำบัดทางจิต-สังคม
A มีหลักฐานว่าความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (schizotypal) สัมพันธ์กับโรคจิตเภท นอกจากประเภทนี้แล้วไม่มี คนไข้ความผิดปกติแบบจิตเภทอาจจะดีขึ้นถ้าใช้ยาระงับอาการทางจิต ส่วนประเภทอื่นไม่บ่งใช้ ไม่ดี จิตบำบัดแบบ supportive อาจจะช่วย
B หลักฐานแสดงนัยสำหรับแบบต่อต้านสังคม และแบบก้ำกึ่ง นอกจากนั้นไม่มี ยาแก้ซึมเศร้า (antidepressant) ยาระงับอาการทางจิต ยารักษาอารมณ์ (mood stabilizer) อาจช่วยคนไข้แบบก้ำกึ่ง ส่วนประเภทอื่นไม่บ่งใช้ แย่สำหรับแบบต่อต้านสังคม ได้ผลต่าง ๆ กันสำหรับแบบก้ำกึ่ง แบบหลงตัวเอง และแบบ histrionic
C ยังไม่ปรากฏ ไม่มีการตอบสนองโดยตรง ยาอาจจะช่วยอาการที่เกิดร่วมด้วย (comorbid) คือความวิตกกังวลและความเศร้าซึม เป็นการบำบัดที่สามัญที่สุดในโรคกลุ่มนี้ การตอบสนองมีความต่าง ๆ กัน

เรื่องท้าทาย

การบริหารและการบำบัดความผิดปกติทางบุคลิกภาพเป็นเรื่องที่ท้าทายและก่อการโต้เถียง เพราะว่าโรคโดยนิยามแล้ว หมายถึงความยากลำบากที่คงทนและมีผลต่อการดำเนินชีวิตหลายอย่าง ซึ่งบ่อยครั้งรวมความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

คนไข้อาจจะมีปัญหาในการเสาะหาและการได้ความช่วยเหลือจากองค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น และในการริเริ่มและธำรงความสัมพันธ์เพื่อการบำบัดรักษากับแพทย์พยาบาลที่เกี่ยวข้อง (therapeutic relationship) หรือว่าหน่วยบริการสุขภาพจิตประจำชุมชนอาจจะมองบุคคลที่ผิดปกติเช่นนี้ว่า มีปัญหาที่ซับซ้อนหรือยากเกินไป และอาจจะกีดกันคนไข้เช่นนี้หรือที่มีพฤติกรรมสืบกัน โดยเป็นการกีดกันตรงหรือโดยอ้อม ปัญหาที่คนไข้โรคนี้สามารถสร้างในองค์กรต่าง ๆ ทำให้เป็นสภาวะที่ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งที่จะเข้าไปจัดการ

นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว บุคคลอาจจะไม่เห็นว่าบุคลิกภาพของตนผิดปกติหรือว่าก่อปัญหา ซึ่งเป็นมุมมองที่อาจจะมีเหตุจากความไม่รู้หรือไม่มีวิจารณญาณเกี่ยวกับสภาวะของตนเอง หรือจากการมองปัญหาแบบ ego-syntonic ที่เข้ากับบุคลิกภาพของตนเอง ซึ่งกันไม่ให้ตนเห็นลักษณะบุคลิกภาพของตนในรูปแบบที่ไม่เข้ากับจุดมุ่งหมายและภาพพจน์ของตน หรือจากความจริงพื้นฐานว่า ไม่มีเส้นขีดที่ชัดเจนหรือเป็นกลางระหว่างบุคลิกภาพที่ "ปกติ" และ "ผิดปกติ" นอกจากนั้นแล้ว อย่างน้อย ๆ ในสังคมชนตะวันตก ผู้ที่ได้รับวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิต จะมีรอยด่างทางสังคมและจะถูกเลือกปฏิบัติ

คำว่า "personality disorder" รวมเอาปัญหาต่าง ๆ มากมาย แต่ละประเภทมีระดับความรุนแรงและระดับความพิการที่ต่าง ๆ กัน และดังนั้น ความผิดปกติทางบุคลิกภาพอาจจะต้องใช้แนวคิดและความเข้าใจที่แตกต่างจากความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ โดยพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่น ความผิดปกติบางประเภทหรือคนไข้บางคน อาจจะมีลักษณะถอนตัวจากสังคมและหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์กับคนอื่นแบบต่อเนื่อง แต่บางพวกอาจจะมีระยะยกเว้นเป็นแบบกลับไปกลับมา อาการบางอย่างที่สุด ๆ ยังแย่ยิ่งกว่านั้น ส่วนสุดข้างหนึ่งอาจจะเป็นการทำร้ายและการละเลยตนเอง ในขณะที่ส่วนสุดอีกด้านหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมรุนแรงหรือสร้างอาชญากรรม อาจจะมีปัจจัยปัญหาอย่างอื่นเกิดขึ้นเกี่ยวข้องด้วย เช่น การติดสารเสพติด หรือการติดพฤติกรรมบางอย่าง (behavioral addiction) เช่นการเล่นการพนันหรือการชมสื่อลามกอนาจาร คนคนเดียวอาจจะผ่านเกณฑ์ความผิดปกติทางบุคลิกภาพหลายประเภทและความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ จะเป็นระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือจะเป็นแบบต่อเนื่องก็ดี ทำให้หน่วยงานหลายหน่วยต้องประสานงานกันเพื่อบำบัดรักษา

ผู้บำบัดในเรื่องนี้อาจจะหมดกำลังใจเพราะอาการไม่ดีขึ้นในตอนต้น หรือมีความก้าวหน้าแล้วก็เกิดการถอยหลัง อาจจะมองคนไข้ว่าไม่ร่วมมือ ไม่ยอมรับ เรียกร้องมากเกินไป ก้าวร้าว หรือมีเล่ห์เหลี่ยมหลอกล่อ ปัญหาเช่นนี้ได้มีการตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ ทั้งในผู้รักษาและคนไข้ รวมทั้งทักษะทางสังคม (social skill), การบริหารจัดการปัญหาและความเครียด (coping), กลไกป้องกันตัวใต้จิตสำนึก (defence mechanism) หรือกลยุทธ์ป้องกันตัวที่ทำอย่างจงใจ, การตัดสินตามศีลธรรม (moral judgment) และแรงจูงใจที่เป็นเหตุของพฤติกรรมบางอย่าง หรือเป็นเหตุของความขัดแย้งระหว่างบุคคลบางอย่าง

ความอ่อนแอของคนไข้และบางครั้งของผู้รักษา อาจจะมองไม่เห็นเพราะความแกร่งในด้านอื่น ๆ หรือความฟื้นตัวได้ มักจะมีการกล่าวว่า ผู้รักษาจำเป็นที่จะต้องรักษาขอบเขตทางอาชีพ (เช่นไม่ใกล้ชิดมากเกินไป) ในขณะที่ต้องสามารถให้แสดงอารมณ์ และรักษาความสัมพันธ์เพื่อบำบัดรักษา (therapeutic relationship) ถึงอย่างนั้น อาจจะมีความยากลำบากในการยอมรับโลกและมุมมองที่ต่างกันระหว่างหมอกับคนไข้ หมออาจจะคิดอย่างผิดพลาดว่า ความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ที่ทำให้ตนรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ จะมีผลเช่นเดียวกันต่อคนไข้ ตัวอย่างสุด ๆ อย่างหนึ่งก็คือ บุคคลที่เคยประสบกับความมุ่งร้าย ความหลอกลวง ความไม่ยอมรับ ความก้าวร้าว หรือความทารุณในชีวิต ในบางกรณีอาจจะสับสน กลัว หรือสงสัยการแสดงความเป็นกันเอง ความใกล้ชิด หรือปฏิสัมพันธ์เชิงบวกอื่น ๆ อย่างไรก็ดี การสร้างความอุ่นใจ การเปิดใจ และการสื่อสารที่ชัดเจนปกติเป็นเรื่องที่ทั้งช่วยและจำเป็น และอาจจะต้องมีการพบกันเป็นเวลาหลายเดือน เป็นแบบหยุด ๆ เริ่ม ๆ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นความเชื่อใจ แล้วสามารถแก้ปัญหาของคนไข้ในระดับสำคัญได้

ประวัติ

คำว่า "personality disorder" เป็นคำที่ใช้โดยมีความหมายปัจจุบันอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นคำที่ใช้ทางคลินิก และเพราะลักษณะความเป็นสถาบันของจิตเวชแผนปัจจุบัน (ซึ่งทำให้ใช้คำเหมือน ๆ กัน) แต่ความหมายที่ยอมรับกันในปัจจุบันจะต้องเข้าใจในบริบทของระบบหมวดหมู่ที่มีประวัติการเปลี่ยนแปลง เช่นของ คู่มือ DSM-IV และของคู่มือรุ่นก่อน ๆ มีนักวิชาการบางท่านเสนอว่า มีแนวคิดโบราณที่คล้าย ๆ กันสืบไปได้จนถึงสมัยกรีซโบราณ:35 ยกตัวอย่างเช่น นักปราชญ์กรีกโบราณ Theophrastus กล่าวถึงลักษณะนิสัย 29 อย่างที่เขาเห็นว่าผิดไปจากปกติ และก็มีมุมมองที่คล้ายกันในวัฒนธรรมเอเชีย อาหรับ และเคลติกอีกด้วย ส่วนแนวคิดทรงอิทธิพลที่ยั่งยืนมานานในโลกตะวันตกเป็นของแพทย์ชาวกรีกกาเลนในคริสต์ศตวรรษที่ 2 เกี่ยวกับลักษณะบุคลิกภาพ ซึ่งเขาเชื่อมกับธาตุน้ำที่เป็นเหตุของโรค 4 อย่าง (four humours) ที่เสนอโดยฮิปพอคราทีส

มุมมองเช่นนี้อยู่ทนมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อผลการทดลองเริ่มคัดค้านเรื่องธาตุน้ำและทฤษฎีเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่มีมาก่อน ๆ (เช่น four temperaments) และแนวคิดทางจิตวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัย (character) และอัตตา (self) เริ่มเป็นเรื่องที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า personality หมายถึงความสำนึกที่บุคคลมีต่อพฤติกรรมของตน โดยเป็นสภาวะผิดปกติที่เชื่อมกับภาวะสับเปลี่ยน (altered state) เช่น dissociation การใช้คำในความหมายนี้เป็นเหมือนกับการใช้คำในวลีว่า multiple personality disorder ในคู่มือ DSM รุ่นแรก

แพทย์ตะวันตกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มจะวินิจฉัยความวิกลจริต (insanity) รูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอารมณ์หรือพฤติกรรมวิปริต ที่ดูเหมือนจะไม่มีความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญา ความหลงผิด (delusion) หรือประสาทหลอน (hallucination) นายแพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของจิตเวชปัจจุบัน (Philippe Pinel) กล่าวถึงความผิดปกติเช่นนี้ว่า manie sans délire หมายถึง อาการฟุ้งพล่านที่ไม่ประกอบด้วยความหลงผิด แล้วอธิบายกรณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีความโกรธความเดือดดาลที่เกินเหตุหรือที่ไม่สามารถอธิบายได้ ต่อมานายแพทย์ชาวอังกฤษ (James Cowles Prichard) ได้เสนอแนวคิดคล้าย ๆ กันที่เรียกว่า moral insanity ซึ่งได้ใช้วินิจฉัยคนไข้เป็นทศวรรษ ๆ ต่อมา คำว่า moral ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ ไม่ใช่หมายถึงศีลธรรม แต่เป็นระบบวินิจฉัยที่มีมูลฐานบางส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อทางสังคมและทางศีลธรรม โดยมีการมองในเชิงสิ้นหวังในการใช้วิธีการทางแพทย์เพื่อรักษา และดังนั้น กฎบังคับทางสังคมจะเป็นตัวควบคุมที่ดีกว่า

การจัดหมวดหมู่เช่นนี้ต่างจากและครอบคลุมกว่านิยามของคำว่า personality disorder ที่ใช้ต่อ ๆ มา โดยมีนักวิชาการบางท่านที่พัฒนาการวินิจฉัยเยี่ยงนี้ให้จำเพาะกว่าโดยเกี่ยวกับความเสื่อมทรามทางศีลธรรม (moral degeneracy) ที่คล้ายกับแนวคิดเกี่ยวกับคำว่า psychopath (คนโรคจิตแบบอันธพาล) ที่ใช้ต่อมา นี้เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่นายแพทย์ชาวเยอรมัน (Richard von Krafft-Ebing) สร้างความนิยมให้กับคำว่าซาดิสม์และมาโซคิสม์ และคำว่า homosexuality (รักร่วมเพศ) โดยจัดเป็นปัญหาทางจิตเวช

ต่อมาจิตแพทย์ชายเยอรมัน (Julius Ludwig August Koch) พยายามปรับปรุงแนวคิดเกี่ยวกับ moral insanity ให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น และในปี 1891 เสนอการใช้คำว่า psychopathic inferiority โดยตั้งทฤษฎีว่าเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งหมายถึงรูปแบบที่สืบเนื่องและยืดหยุ่นไม่ได้ของการประพฤติผิดหรือผิดปกติที่ปราศจากความปัญญาอ่อนหรือความเจ็บป่วย ซึ่งเป็นคำที่ใช้แบบตั้งใจให้ไม่มีการตัดสินทางศีลธรรม แม้ว่าจะมีรากลึกในความเชื่อทางศาสนาคริสต์ งานของเขาได้กลายมาเป็นวรรณกรรมพื้นฐานเกี่ยวกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ยังใช้กันอยู่ทุกวันนี้

คริสต์ศตวรรษที่ 20

ในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 20 น.พ.จิตเวชชาวเยอรมันคนหนึ่ง (Emil Kraepelin) รวมบทหัวข้อว่า "psychopathic inferiority" ในวรรณกรรมทรงอิทธิพลของเขาสำหรับนักศึกษาและแพทย์ ซึ่งเขาแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ excitable (ตื่นง่าย) unstable (ไม่เสถียร) eccentric (พิกล) liar (นักโกหก) swindler (นักต้มฉ้อโกง) แล quarrelsome (ช่างทะเลาะ) หมวดหมู่เช่นนี้นิยามตามอาชญากรที่ผิดปกติที่สุดที่เขาเห็น โดยแยกเป็นอาชญากรตามอารมณ์ชั่ววูบ อาชญากรมืออาชีพ และคนจรจัดที่เป็นโรค เขายังกล่าวถึงความผิดปกติแบบ paranoid (ซึ่งสมัยนั้นหมายถึงว่า มีอาการหลงผิด คือ delusional) ซึ่งเหมือนกับแนวคิดของโรคจิตเภท ความผิดปกติแบบหลงผิด (delusional disorder) และความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบระแวงต่อมา และบทวินิจฉัยสำหรับแนวคิดหลังสุดนั้นก็เริ่มรวมเข้าใน DSM ตั้งแต่ปี 1952 แล้วต่อมาเริ่มตั้งแต่ปี 1980 DSM จึงรวมแบบ schizoid และแบบจิตเภทเพิ่มขึ้นด้วย การตีความทฤษฎีปี 1921 ของนายแพทย์ชาวเยอรมัน (Ernst Kretschmer) จึงทำให้แยกประเภทเหล่านี้จากอีกประเภทหนึ่งที่รวมเข้าใน DSM ในภายหลังคือ แบบหลีกเลี่ยง (avoidant)

ในปี 1933 จิตแพทย์ชาวรัสเซียคนหนึ่ง (Pyotr Gannushkin) พิมพ์หนังสือ (Manifestations of psychopathies: statics, dynamics, systematic aspects) เป็นงานแรก ๆ สุดที่พยายามสร้างแบบลักษณ์ของจิตพยาธิ (typology of psychopathies) โดยพิจารณาการปรับตัวผิด (maladaptation) การมีอยู่ทั่วไป และความเสถียรภาพว่าเป็นอาการหลัก 3 อย่างของโรคทางพฤติกรรม เขาแบ่งคนโรคจิตออกเป็น 9 กลุ่ม (cluster) คือ

  1. cycloids รวมทั้งพวกเศร้าซึมเหตุสภาพร่างกาย พวกตื่นง่ายเหตุสภาพร่างกาย พวก cyclothymics และพวกอารมณ์ไม่มั่นคง
  2. asthenics รวมพวก psychasthenics
  3. schizoids รวมพวกนักเพ้อฝัน
  4. paranoiacs รวมพวกคลั่งไคล้ (fanatics)
  5. epileptoids
  6. hysterical personalities (บุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย) รวมพวกนักโกหกแบบเป็นโรค (pathological liar)
  7. unstable psychopaths (โรคจิตแบบไม่เสถียร)
  8. antisocial psychopaths (โรคจิตต่อต้านสังคม)
  9. constitutionally stupid (ปัญญาอ่อนเหตุสภาพร่างกาย)

ต่อมา จิตแพทย์รักษาเด็กวัยรุ่นชาวรัสเซียอีกคนหนึ่ง (Andrey Yevgenyevich Lichko) ได้รวมแบบลักษณ์นั้นบางส่วนเขาในทฤษฎีของตนเอง จิตแพทย์ผู้นี้สนใจในเรื่องโรคจิต บวกกับรูปแบบอาการที่อ่อนกว่าที่เขาเรียกว่า accentuations of character

ในปี 1939 จิตแพทย์ชาวสกอตแลนด์ผู้หนึ่งตั้งทฤษฎี psychopathic states ที่ต่อมานิยมใช้เป็นคำหมายถึงพฤติกรรมต่อต้านสังคม แต่เป็นหนังสือปี 1941 (The Mask of Sanity) ของจิตแพทย์ชาวอเมริกันที่จัดหมวดหมู่ความคล้ายคลึงกันที่เขาพบในนักโทษ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดปัจจุบันทางคลินิกเกี่ยวกับคำว่า psychopathy (โรคจิต, โรคอันธพาล) โดยคำที่นิยมใช้ทั่วไปว่า "psychopath" หมายถึงคนที่แสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคมอย่างรุนแรงและปราศจากศีลธรรมหรือความเห็นใจผู้อื่น (เหมือนกับตัวร้ายในภาพยนตร์ ไซโค)

ในช่วงเกือบกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทฤษฎีจิตวิเคราะห์กำลังได้ความนิยมโดยเป็นผลงานช่วงเปลี่ยนศตวรรษของซิกมุนด์ ฟรอยด์และจิตแพทย์อื่น ๆ ซึ่งรวมแนวคิดเกี่ยวกับ "character disorders" (ความผิดปกติของอุปนิสัย) ซึ่งมองว่าเป็นปัญหายืนยงที่ไม่ได้เชื่อมกับอาการใดอาการหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เชื่อมกับความขัดแย้งภายในที่แพร่หลาย หรือกับการขัดข้องของพัฒนาการปกติในวัยเด็ก โดยเป็นปัญหาเกี่ยวกับความอ่อนแอทางอุปนิสัย หรือเป็นพฤติกรรมผิดปกติที่ทำโดยตั้งใจ แต่ต่างจากโรคประสาท (neurosis) และโรคจิต (psychosis) ส่วนคำว่า borderline (ก้ำกึ่ง) มาจากความเชื่อว่าบุคคลบางคนมีพฤติกรรมแบบคร่อมรั้วระหว่างโรคสองอย่างนั้น และดังนั้น การจัดหมวดหมู่ความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่น ๆ ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเช่นนี้เช่นกัน รวมทั้งแบบพึ่งพา แบบย้ำคิดย้ำทำ และแบบ histrionic โดยแบบหลังสุดเริ่มจัดโดยเป็นโรคคอนเวอร์ชันซึ่งมักเกิดในหญิง ต่อจากนั้นจึงเป็น hysterical personality และต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น histrionic personality disorder ในรุ่นหลัง ๆ ของ DSM ส่วนลักษณะนิสัยแบบดื้อเงียบ (passive aggressive) หมอทหารอเมริกันคนหนึ่ง (William Menninger) เป็นผู้นิยามทางคลินิกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในบริบทของปฏิกิริยาของทหารในการเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งต่อมากำหนดเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพใน DSM ส่วนศาสตราจารย์จิตเวชที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลคนหนึ่ง (Otto Kernberg) มีอิทธิพลต่อแนวคิดของความผิดปกติแบบก้ำกึ่ง และแบบหลงตัวเอง ซึ่งรวมเข้าใน DSM ในปี 1980

ในช่วงเวลาเดียวกัน สาขาจิตวิทยาบุคลิกภาพก็เริ่มพัฒนาขึ้นในหมู่นักวิชาการและในแพทย์ผู้รักษา ศ.กอร์ดอน ออลพอร์ตได้ตั้งทฤษฎีลักษณะบุคลิกภาพ (personality traits) เริ่มขึ้นตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1920 และ ศ.ดร.เฮ็นรี่ เมอร์รีย์ ตั้งทฤษฎีที่เรียกว่า personology ซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่อง PD หลักคือ ศ. ธีโอดอร์ มิลลอน มีการพัฒนาข้อทดสอบเพื่อประเมินบุคลิกภาพ รวมทั้งข้อทดสอบเชิงภาพฉาย (projective test) เช่น แบบทดสอบรอร์ชัค (Rorschach test) และข้อทดสอบเป็นแบบคำถามเช่น Minnesota Multiphasic Personality Inventory ราวกลางศตวรรษ ดร. ไอเซ็งก์ (Hans Eysenck) ได้เริ่มวิเคราะห์ลักษณะบุคลิกภาพ (trait) และบุคลิกภาพประเภทต่าง ๆ (type) และจิตแพทย์ชายเยอรมันคนหนึ่ง (Kurt Schneider) ได้สร้างความนิยมในการใช้คำว่า personality ในทางคลินิก แทนคำว่า "character" "temperament" หรือ "constitution" ที่เคยใช้กันมาก่อน

จิตแพทย์อเมริกันเริ่มยอมรับแนวคิดเกี่ยวกับความปั่นป่วนทางบุคลิกภาพ (personality disturbance) ใน DSM รุ่นแรกในช่วงคริต์ทศวรรษ 1950 ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้แนวคิดจากจิตวิเคราะห์โดยมากอยู่ ต่อมาภาษาที่เป็นกลาง ๆ มากขึ้นจึงเริ่มใช้ใน DSM-II ในปี 1968 แม้ว่าคำที่ใช้และคำอธิบายโดยมาก จะไม่เหมือนคำที่ใช้ในปัจจุบัน DSM-III ที่ตีพิมพ์ในปี 1980 มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งก็คือ การรวมความผิดปกติทางบุคลิกภาพทั้งหมดลงใน axis ที่สองต่างหากร่วมกับปัญญาอ่อน (mental retardation) โดยมุ่งหมายเพื่อแสดงรูปแบบที่ยั่งยืนกว่า ต่างจากความผิดปกติทางจิต (mental disorder) ใน axis ที่หนึ่ง ส่วนความผิดปกติแบบ inadequate และแบบ asthenic ถูกลบออก และแบบอื่น ๆ แตกออกเป็นแบบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนจากเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ไปเป็นความผิดปกติธรรมดาทั่วไป Sociopathic personality disorder ซึ่งใช้เป็นอีกชื่อหนึ่งของ psychopathy (โรคจิต) เปลี่ยนชื่อเป็น Antisocial Personality Disorder ประเภทต่าง ๆ โดยมากได้คำนิยามที่จำเพาะเจาะจงเพิ่มขึ้น โดยมีเกณฑ์ที่จิตแพทย์สามารถมีมติร่วมกันได้เพื่อที่จะทำงานวิจัยหรือวินิจฉัยคนไข้ DSM-III รุ่นปรับปรุง เพิ่มความผิดปกติแบบ self-defeating และแบบ sadistic โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีงานศึกษาเพิ่มขึ้นในแบบใหม่เหล่านี้ ซึ่งทั้งสองไม่ได้รวมใน DSM-IV แม้ว่าแบบ depressive ที่เสนอจะได้รวมเข้า นอกจากนั้นแล้ว มีการเปลี่ยนชื่อแบบ passive-aggressive (ดื้อเงียบ) ไปเป็นแบบ negativistic อย่างชั่วคราว แล้วจึงลบออกโดยสิ้นเชิงต่อมา

ในระดับสากล มีความแตกต่างทางทัศนคติเกี่ยวกับการวินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ยกตัวอย่างเช่นจิตแพทย์ชาวเยอรมันคนหนึ่ง (Kurt Schneider) อ้างว่า ความผิดปกติเป็นเพียงแค่ "ความต่าง ๆ กันที่ถึงขีดความผิดปกติของจิตใจ" และดังนั้น จึงอาจไม่ใช่ประเด็นทางจิตเวช ซึ่งเป็นมุมมองที่ยังมีอิทธิพลในประเทศเยอรมนีจนถึงทุกวันนี้ ส่วนจิตแพทย์ชาวอังกฤษไม่ได้ต้องการที่จะรักษาความผิดปกติเยี่ยงนี้ หรือที่จะพิจารณาว่าเป็นความผิดปกติเช่นเดียวกันกับความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ซึ่งมีการอธิบายว่า ส่วนหนึ่งมีเหตุมาจากการขาดทรัพยากรที่จะจัดการรักษาโรคของหน่วยสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) และทัศนติเชิงลบของแพทย์ต่อพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับความผิดปกติ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งระบบรักษาพยาบาลที่มีทั่วไป และประวัติการรักษาโรคโดยจิตวิเคราะห์ เป็นมูลเหตุที่แพทย์พยาบาลเอกชนจะวินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพให้กว้าง ๆ เพื่อที่จะมีโอกาสให้การรักษาพยาบาลกับคนไข้แบบต่อไปเรื่อย ๆ

ในเด็ก

คนไข้ในระยะเบื้องต้นและรูปแบบเบื้องต้นของความผิดปกติทางบุคลิกภาพ จำเป็นต้องมีการรักษาให้เร็วที่สุดและทำแบบมีหลายมิติ คือ ความผิดปกติในการพัฒนาบุคลิกภาพ (Personality development disorder) พิจารณาว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในวัยเด็ก หรือเป็นระยะเบื้องต้น ของความผิดปกติทางบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยแสดงว่าทั้งเด็กและวัยรุ่นมีอาการที่สำคัญทางคลินิกที่คล้ายกับของ PD ในวัยผู้ใหญ่ และอาการเหล่านี้มีสหสัมพันธ์กับอาการในวัยผู้ใหญ่ และเป็นเหตุให้เกิดผลที่ตามมา

แบบจำลองมี 5 ปัจจัย

โดยปี 2002 มีงานศีกษาที่ตีพิมพ์กว่า 50 งานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแบบจำลองมี 5 ปัจจัย (Five Factor Model ตัวย่อ FFM) กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และตั้งแต่นั้นมา ก็มีงานวิจัยต่อ ๆ มาที่ขยายประเด็นนี้ แล้วให้หลักฐานเชิงประสบการณ์เพื่อจะเข้าใจความผิดปกติทางบุคลิกภาพโดยใช้ FFM

ในงานปริทัศน์ปี 2007 ที่ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ นักจิตวิทยาผู้หนึ่งอ้างว่า "แบบจำลองบุคลิกภาพมีปัจจัย 5 อย่างได้การยอมรับอย่างกว้างขวางว่า แสดงโครงสร้างระดับสูงของลักษณะบุคลิกภาพทั้งที่ปกติและผิดปกติ" ส่วนงานปี 2008 พบว่าแบบจำลองนี้ สามารถพยากรณ์ความผิดปกติทางบุคลิกภาพทั้ง 10 อย่างได้อย่างสำคัญ และพยากรณ์ได้ดีกว่า Minnesota Multiphasic Personality Inventory (MMPI) ในเรื่องความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (borderline), แบบหลีกเลี่ยง (avoidant), และแบบพึ่งพา (dependent)

ผลงานวิจัยที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่าง FFM กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่จัดหมวดหมู่ใน DSM มีทั่วไปอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยปี 2003 ชื่อว่า "แบบจำลองมีปัจจัย 5 และวรรณกรรมเชิงประสบการณ์เกี่ยวกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ: งานวิเคราะห์อภิมาน (The five-factor model and personality disorder empirical literature: A meta-analytic review)" ผู้เขียนได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยอื่น 15 งานเพื่อกำหนดว่า ความผิดปกติทางบุคลิกภาพต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร โดยสัมพันธ์กับลักษณะบุคลิกภาพที่เป็นมูล เกี่ยวกับความต่าง ผลงานแสดงว่า ความผิดปกติแต่ละอย่างมีโพลไฟล์ทาง FFM โดยเฉพาะ ที่สามารถใช้อธิบายและใช้พยากรณ์ความผิดปกติได้ เพราะว่ามีรูปแบบเป็นกฎเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง เกี่ยวกับความเหมือนกัน ความสัมพันธ์ที่เด่นที่สุดและสม่ำเสมอของความผิดปกติทางบุคลิกภาพหลายอย่างกับลักษณะบุคลิกภาพ ก็คือ ความสัมพันธ์เชิงบวกกับ neuroticism และความสัมพันธ์เชิงลบกับความยินยอมเห็นใจ (agreeableness)

ความเปิดรับประสบการณ์

ในเรื่องลักษณะบุคลิกภาพคือความเปิดรับประสบการณ์ (Openness to experience) มีประเด็น 3 อย่างเกี่ยวกับลักษณะที่เข้าประเด็นกับ PD คือ ความบิดเบือนทางประชาน (cognitive distortions) ความปราศจากวิจารณญาณ (insight) และความหุนหันพลันแล่น (impulsivity) การมีความเปิดในระดับสูงสามารถสร้างปัญหาการดำเนินชีวิตทางสังคมหรือทางอาชีพ โดยเพ้อฝันมากเกินไป คิดแปลก ๆ มีเอกลักษณ์ที่พล่านไปทั่ว (diffuse identity) มีเป้าหมายที่ไม่เสถียร และการไม่ทำตามสิ่งที่สังคมคาดหวัง

การมีความเปิดระดับสูงเป็นลักษณะของความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบจิตเภท (คือความคิดที่แปลกและไม่สมบูรณ์) แบบหลงตัวเอง (คือ การประเมินตัวเองมากเกินไป) และแบบระแวง (คือไวต่อความเป็นปฏิปักษ์ของบุคคลอื่น) ส่วนการขาดวิจารณญาณ (ซึ่งแสดงความเปิดรับประสบการณ์ในระดับต่ำ) เป็นลักษณะของความผิดปกติทางบุคลิกภาพทั้งหมด ซึ่งก็จะสามารถอธิบายความคงทนของรูปแบบพฤติกรรมที่ปรับตัวได้ไม่ดีของคนผิดปกติ

ปัญหาที่สัมพันธ์กับความเปิดในระดับต่ำก็คือความลำบากในการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง การยอมรับมุมมองและสไตล์ชีวิตที่แตกต่างกันไม่ได้ ระดับอารมณ์ที่ลดลง (emotional flattening) ความไม่สามารถระบุและกล่าวอธิบายอารมณ์ของตน (alexithymia) และเรื่องสนใจที่จำกัด ความยืดหยุ่นไม่ได้ (rigidity) ซึ่งเป็นส่วนของการมีความเปิดรับประสบการณ์ต่ำ เป็นลักษณะที่ชัดเจนที่สุดที่พบใน PD โดยเฉพาะในความผิดปกติแบบย้ำคิดย้ำทำ ส่วนลักษณะตรงกันข้ามก็คือความหุนหันพลันแล่น (impulsivity) ซึ่งเป็นลักษณะของความผิดปกติแบบจิตเภทและแบบก้ำกึ่ง

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. American Psychiatric Association (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (Fifth ed.). Arlington, VA: American Psychiatric Publishing. pp. 646–649. ISBN 978-0-89042-555-8.
  2. Berrios, G E (1993). "European views on personality disorders: a conceptual history". Comprehensive Psychiatry. 34 (1): 14–30. doi:10.1016/0010-440X(93)90031-X. PMID 8425387.
  3. Millon, Theodore; Davis, Roger D (1996). Disorders of Personality: DSM-IV and Beyond. New York: John Wiley & Sons, Inc. ISBN 0-471-01186-X.
  4. Stetka, Bret S (MD) ; Correll, Christoph U (2013-05-21). "A Guide to DSM-5: Personality Disorders: Medscape Psychiatry". Medscape.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  5. Smelser, N. J.; Baltes, P. B. (บ.ก.). Personality Disorders. International encyclopedia of the social & behavioral sciences. Amsterdam: Elsevier. pp. 11301–11308. doi:10.1016/B0-08-043076-7/03763-3. ISBN 978-0-08-043076-8.CS1 maint: uses editors parameter (link)
  6. Kernberg, O (1984). Severe Personality Disorders. New Haven, CT: Yale University Press. ISBN 0300053495.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  7. Schacter, DL; Gilbert, DT; Wegner, DM (2011). Psychology (2nd ed.). p. 330. ISBN 1429237198.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  8. McWilliams, Nancy (2011-07-29). Psychoanalytic Diagnosis, Second Edition: Understanding Personality Structure in the Clinical Process. Guilford Press. pp. 196-. ISBN 978-1-60918-494-0. สืบค้นเมื่อ 2011-12-02.
  9. Hickey, Philip (2010-05-05). "Personality Disorders Are Not Illnesses". Behaviorismandmentalhealth.com. สืบค้นเมื่อ 2013-04-16.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  10. Ancowitz, Nancy (2010-08-06). "A Giant Step Backward for Introverts". Psychologytoday.com.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  11. Bradshaw, James (2006-11-01). "Glasser headlines psychotherapy conference". The National Psychologist.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  12. Widiger, TA (2003-10). "Personality disorder diagnosis". World Psychiatry. 2 (3): 131–5. PMC 1525106. PMID 16946918. Check date values in: |date= (help)
  13. "ICD-10: Disorders of adult personality and behaviour". WHO. 2010.
  14. American Psychiatric Association (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (Fifth ed.). Arlington, VA: American Psychiatric Publishing. pp. 451–459. ISBN 978-0-89042-555-8.
  15. "ICD-10: Specific Personality Disorders". WHO. 2010.
  16. . Apps.who.int. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2018-12-10. สืบค้นเมื่อ 2013-04-16.
  17. Langmaack, C. (2000). "'Haltlose' type personality disorder (ICD-10 F60.8)". The Psychiatrist. 24 (6): 235–236. doi:10.1192/pb.24.6.235-b.
  18. American Psychiatric Association (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (Fifth ed.). Arlington, VA: American Psychiatric Publishing. pp. 645–684, 761–781. ISBN 978-0-89042-555-8.
  19. Nolen-Hoeksema, Susan (2014). Abnormal Psychology (6th ed.). 2 Penn Plaza, New York, NY 10121: McGrawHill. pp. 254–256. ISBN 0077499735. |access-date= requires |url= (help)CS1 maint: location (link)
  20. Fuller, AK; Blashfield, RK; Miller, M; Hester, T (1992). "Sadistic and self-defeating personality disorder criteria in a rural clinic sample". Journal of Clinical Psychology. 48 (6): 827–31. doi:10.1002/1097-4679(199211)48:6<827::AID-JCLP2270480618>3.0.CO;2-1. PMID 1452772.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  21. Millon, Theodore (2004). Personality Disorders in Modern Life. John Wiley & Son.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  22. Widiger, Thomas (2012). The Oxford Handbook of Personality Disorders. Oxford University Press. ISBN 978-0199735013.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  23. American Psychiatric Association (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (Fifth ed.). Arlington, VA: American Psychiatric Publishing. pp. 645–684. ISBN 978-0-89042-555-8.
  24. "Paranoid Personality Disorder Symptoms". Psych Central. 2014. สืบค้นเมื่อ 2014-06-20.
  25. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/schizoid-personality-disorder/basics/definition/con-20029184
  26. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/schizotypal-personality-disorder/basics/definition/con-20027949
  27. "Antisocial Personality Disorder Symptoms". Psych Central. 2014. สืบค้นเมื่อ 2014-06-20.
  28. "Borderline Personality Disorder Symptoms". Psych Central. 2014. สืบค้นเมื่อ 2014-06-20.
  29. "Histrionic Personality Disorder". psychologytoday.com.
  30. "Avoidant Personality Disorder Symptoms". Psych Central. 2014. Missing or empty |url= (help); |access-date= requires |url= (help)
  31. "Dependent Personality Disorder Symptoms". Psych Central. 2014. สืบค้นเมื่อ 2014-06-20.
  32. Grohol, John. "Depression". Missing or empty |url= (help); |access-date= requires |url= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  33. Grohol, John. "8 Keys to Eliminating Passive-Aggressiveness". Missing or empty |url= (help); |access-date= requires |url= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  34. Randle, K (2008). . คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2019-04-06. สืบค้นเมื่อ 2014-06-20.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  35. Murray, Robin M. และคณะ (2008). Psychiatry (Fourth ed.). Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-60408-6. Explicit use of et al. in: |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  36. Tyrer, P (2000). Personality Disorders: Diagnosis, Management and Course (Second ed.). London: Arnold Publishers Ltd. pp. 126–32. ISBN 9780723607366.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  37. Nur, U; Tyrer, P; Merson, S; Johnson, T (2004). "Relationship between clinical symptoms, personality disturbance, and social function: a statistical enquiry". Irish Journal of Psychological Medicine. 21: 19–22.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  38. Tyrer, P; Alexander, J (1979). "Classification of Personality Disorder". British Journal of Psychiatry. 135 (2): 238–242. doi:10.1192/bjp.135.2.163. PMID 486849.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  39. Tyrer, P; Mitchard, S; Methuen, C; Ranger, M (2003). "Treatment-rejecting and treatment-seeking personality disorders: Type R and Type S". Journal of Personality Disorders. 17 (3): 263–268. doi:10.1521/pedi.17.3.263.22152. PMID 12839104.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  40. Ettner, Susan L (2011). "9". Personality Disorders and Work. Work Accommodation and Retention in Mental Health.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  41. Ettner, Susan L.; Maclean, Johanna Catherine; French, Michael T. (2011-01-01). "Does Having a Dysfunctional Personality Hurt Your Career? Axis II Personality Disorders and Labor Market Outcomes". Industrial Relations: A Journal of Economy and Society. 50 (1): 149–173. doi:10.1111/j.1468-232X.2010.00629.x.
  42. Board, Belinda Jane; Fritzon, Katarina (2005). "Disordered personalities at work". Psychology Crime and Law. 11: 17–32. doi:10.1080/10683160310001634304.
  43. de Vries, Manfred F. R. Kets (2003). "The Dark Side of Leadership". Business Strategy Review. 14 (3): 26. doi:10.1111/1467-8616.00269.
  44. Tasman, Allan และคณะ (2008). Psychiatry (Third ed.). John Wiley & Sons, Ltd. ISBN 978-0470-06571-6. Explicit use of et al. in: |authors= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  45. Nolen-Hoeksema, Susan. Abnormal Psychology (6th ed.). McGraw Hill. p. 258. ISBN 9781308211503.
  46. "DSM-IV and DSM-5 Criteria for the Personality Disorder". www.DSM5.org. American Psychiatric Association. Missing or empty |url= (help)
  47. "ICD-10: Clinical descriptions and diagnostic guidelines: Disorders of adult personality and behavior" (PDF). WHO.
  48. Widiger, T. A.; Shedler, J (1993). "The DSM-III-R categorical personality disorder diagnoses: A critique and an alternative". Psychological Inquiry. 4 (2): 75–90. doi:10.1207/s15327965pli0402_1. PMID 9989563.
  49. Costa, PT; Widiger, TA (2001). Personality disorders and the five-factor model of personality (2nd ed.). Washington, DC: American Psychological Association.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  50. Samuel, DB; Widiger, TA (2008). "A meta-analytic review of the relationships between the five-factor model and DSM personality disorders: A facet level analysis" (PDF). Clinical Psychology Review. 28 (8): 1326–1342. doi:10.1016/j.cpr.2008.07.002. PMC 2614445. PMID 18708274.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  51. Widiger, Thomas A; Costa, Paul T (2012). Personality Disorders and the Five-Factor Model of Personality (Third ed.). ISBN 978-1-4338-1166-1.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  52. Miller, PM; Lisak, D (1999). "Associations Between Childhood Abuse and Personality Disorder Symptoms in College Males". Journal of Interpersonal Violence. 14 (6): 642–656. doi:10.1177/088626099014006005. สืบค้นเมื่อ 2010-05-25.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  53. Cohen, Patricia; Brown, Jocelyn; Smailes, Elizabeth (2001). "Child Abuse and Neglect and the Development of Mental Disorders in the General Population". Development and Psychopathology. 13 (4): 981–999. PMID 11771917.CS1 maint: multiple names: authors list (link)
  54. . American Psychological Association. 2010. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม เมื่อ 2010-11-20.
  55. Lenzenweger, Mark F. (2008). "Epidemiology of Personality Disorders". Psychiatric Clinics of North America. 31 (3): 395–403. doi:10.1016/j.psc.2008.03.003. PMID 18638642.
  56. Huang, Y. (2009-06-30). "DSM-IV personality disorders in the WHO World Mental Health Surveys". The British Journal of Psychiatry. 195 (1): 46–53. doi:10.1192/bjp.bp.108.058552. PMC 2705873. PMID 19567896. Unknown parameter |coauthors= ignored (|author= suggested) (help)
  57. Lenzenweger, Mark F; Lane, Michael C; Loranger, Armand W; Kessler, Ronald C (2006). "DSM-IV Personality Disorders in the National Comorbidity Survey Replication". Biological Psychiatry. 62 (6): 553–564. doi:10.1016/j.biopsych.2006.09.019. PMC 2044500. PMID 17217923.
  58. Yang, M.; Coid, J.; Tyrer, P. (2010-08-31). "Personality pathology recorded by severity: national survey". The British Journal of Psychiatry. 197 (3): 193–199. doi:10.1192/bjp.bp.110.078956. PMID 20807963.
  59. Magnavita, Jeffrey J (2004). Handbook of personality disorders: theory and practice. John Wiley and Sons. ISBN 978-0-471-48234-5.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  60. Davison, S. E. (2002). "Principles of managing patients with personality disorder". Advances in Psychiatric Treatment. 8 (1): 1–9. doi:10.1192/apt.8.1.1.
  61. Treating Personality Disorder: Creating Robust Services for People with Complex Mental Health Needs. 2010. ISBN 0-203-84115-8.
  62. Suryanarayan, Geetha (2002). "The History of the Concept of Personality Disorder and its Classification" (PDF). The Medicine Publishing Company Ltd.[ลิงก์เสีย]
  63. Augstein, HF (1996). "J C Prichard's concept of moral insanity—a medical theory of the corruption of human nature". Medical History. 40 (3): 311–43. doi:10.1017/S0025727300061329. PMC 1037128. PMID 8757717.
  64. Gutmann, P (2008). "Julius Ludwig August Koch (1841-1908) : Christian, philosopher and psychiatrist". History of Psychiatry. 19 (74 Pt 2): 202–14. doi:10.1177/0957154X07080661. PMID 19127839.
  65. Ганнушкин П. Б. (2000). Клиника психопатий, их статика, динамика, систематика. Издательство Нижегородской государственной медицинской академии. ISBN 5-86093-015-1.
  66. Личко А. Е. (2010) Психопатии и акцентуации характера у подростков. Речь, ISBN 978-5-9268-0828-2.
  67. Arrigo, B. A. (2001-06-01). "The Confusion Over Psychopathy (I) : Historical Considerations" (PDF). International Journal of Offender Therapy and Comparative Criminology. 45 (3): 325–344. doi:10.1177/0306624X01453005.
  68. "psychopath", Babylon English-English, 5.1, Babylon Ltd, 2005, one one who demonstrates severely antisocial behavior and an absence of normal moral and emotional functioning
  69. Heim, Amy; Westen, Drew (2004). (PDF). psychsystems.net. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2012-01-11. สืบค้นเมื่อ 2016-03-28.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  70. Lane, C. (2009-02-01). "The Surprising History of Passive-Aggressive Personality Disorder" (PDF). Theory & Psychology. 19 (1): 55–70. doi:10.1177/0959354308101419.
  71. Hoermann, Simone; Zupanick, Corinne E; Dombeck, Mark (2011-01). "The History of the Psychiatric Diagnostic System Continued". mentalhelp.net. Check date values in: |date= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  72. Oldham, John M. (2005). "Personality Disorders". FOCUS. 3: 372–382.
  73. Kendell, RE (2002). "The distinction between personality disorder and mental illness". The British Journal of Psychiatry. 180 (2): 110–115. doi:10.1192/bjp.180.2.110.
  74. Krueger, R.; Carlson, Scott R. (2001). "Personality disorders in children and adolescents". Current Psychiatry Reports. 3 (1): 46–51. doi:10.1007/s11920-001-0072-4. PMID 11177759.
  75. Widiger, TA; Costa, PT Jr (2002). Widiger, TA; Costa, PT Jr (บ.ก.). Five-Factor model personality disorder research. Personality disorders and the five-factor model of personality (2nd ed.). Washington, DC, US: American Psychological Association. pp. 59–87.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  76. Mullins-Sweatt, SN; Widiger, TA (2006). Krueger, R; Tackett, J (บ.ก.). The five-factor model of personality disorder: A translation across science and practice. Personality and psychopathology: Building bridges. New York: Guilford. pp. 39–70.CS1 maint: uses authors parameter (link) CS1 maint: uses editors parameter (link)
  77. Clark, LA (2007). "Assessment and diagnosis of personality disorder: Perennial issues and an emerging reconceptualization". Annual Review of Psychology. 58: 227-257 (246). the five-factor model of personality is widely accepted as representing the higher-order structure of both normal and abnormal personality traitsCS1 maint: uses authors parameter (link)
  78. Bagby, R Michael; Sellbom, Martin; Costa, Paul T Jr; Widiger, Thomas A (2008-04). Personality and Mental Health. 2 (2): 55–69. Check date values in: |date= (help); Missing or empty |title= (help)CS1 maint: uses authors parameter (link)
  79. Saulsman, LM; Page, AC (2004). "The five-factor model and personality disorder empirical literature: A meta-analytic review". Clinical Psychology Review. Elsevier Science.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  80. Piedmont, RL; Sherman, MF; Sherman, NC (2012). "Maladaptively High and Low Openness: The Case for Experiential Permeability". Journal of Personality. 80: 1641–68. doi:10.1111/j.1467-6494.2012.00777.x. PMID 22320184.CS1 maint: uses authors parameter (link)
  81. Piedmont, RL; Sherman, MF; Sherman, NC; Dy-Liacco, GS; Williams, JEG (2009). "Using the Five-Factor Model to Identify a New Personality Disorder Domain: The Case for Experiential Permeability". Journal of Personality and Social Psychology. 96 (6): 1245–1258. doi:10.1037/a0015368. PMID 19469599.CS1 maint: uses authors parameter (link)

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Marshall, W. & Serin, R. (1997) Personality Disorders. In Sm.M. Turner & R. Hersen (Eds.) Adult Psychopathology and Diagnosis. New York: Wiley. 508-541
  • Murphy, N. & McVey, D. (2010) Treating Severe Personality Disorder: Creating Robust Services for Clients with Complex Mental Health Needs. London: Routledge
  • Millon, Theodore (and Roger D. Davis, contributor) - Disorders of Personality: DSM IV and Beyond - 2nd ed. - New York, John Wiley and Sons, 1995 ISBN 0-471-01186-X
  • Yudofsky, Stuart C. (2005). Fatal Flaws: Navigating Destructive Relationships With People With Disorders of Personality and Character (1st ed.). Washington: D.C. ISBN 1-58562-214-1.
  • Personality Disorders Foundation
  • National Mental Health Association personality disorder fact sheet
  • Personality Disorders information leaflet from The Royal College of Psychiatrists

ความผ, ดปกต, ทางบ, คล, กภาพ, งกฤษ, personality, disorders, วย, เป, นหมวดหม, ของความผ, ดปกต, ทางจ, ตต, าง, กษณะเป, นร, ปแบบพฤต, กรรม, ปแบบทางประชาน, และร, ปแบบประสบการณ, ทางใจท, ปร, บต, วอย, างไม, เหมาะสม, maladaptive, งย, โดยปรากฏในสถานการณ, าง, หลายอย, าง, แล. khwamphidpktithangbukhlikphaph xngkvs personality disorders twyx PD epnhmwdhmukhxngkhwamphidpktithangcittang thimilksnaepnrupaebbphvtikrrm rupaebbthangprachan aelarupaebbprasbkarnthangicthiprbtwxyangimehmaasm maladaptive thiyngyun odypraktinsthankarntang hlayxyang aelaxxknxklunxkthangxyangsakhycakthiyxmrbidinsngkhmaelawthnthrrmkhxngbukhkhlnn rupaebbehlanicaphthnakhuntngaetebuxngtnkhxngchiwit yudhyunimid aelasmphnthkbkhwamthukkhkbkhwamphikarinradbsakhy 1 aetwaniyamthicaephaaxaccatangknidaelwaetthima 2 3 226khwamphidpktithangbukhlikphaph Personality disordersbychicaaenkaelalingkipphaynxkICD 10F60ICD 9301 9DiseasesDB9889MedlinePlus000939eMedicinearticle 294307MeSHD010554eknthwinicchykhwamphidpktithangbukhlikphaphxyuinkhumuxkarwinicchyaelasthitisahrbkhwamphidpktithangcit DSM thicdphimphodysmakhmcitewchxemrikn American Psychiatric Association twyx APA aelainhwkhx khwamphidpktithangcitaelaphvtikrrm mental and behavioral disorders inbychicaaenkthangsthitirahwangpraethskhxngorkhaelapyhasukhphaphthiekiywkhxng twyx ICD thiephyaephrodyxngkhkarxnamyolk DSM 5 runthiphimphinpi 2556 kahndkhwamphidpktithangbukhlikphaphechnediywkbkhwamphidpktithangcit mental disorders xun aethnthicaxyuin axis thitangkntamthiekhythamakxn 4 bukhlikphaphtamniyamkhxngcitwithya epnestkhxnglksnathangphvtikrrmaelathangcitthikhngthn thithaihmnusyaetlakhntangkn dngnn khwamphidpktithangbukhlikphaphcungkahndodyprasbkarn thangic aelaphvtikrrm thitangcakmatrthanaelakhwamkhadhwngkhxngsngkhm khnphidpktiechnni xacprasbkhwamyaklabakthangprachan cognition khwamiwxarmn emotiveness khwamsmphnthrahwangbukhkhl interpersonal functioning aelakarkhwbkhumkhwamhunhnphlnaeln impulse control odythwipaelw khnikhcitewchrxyla 40 60 caidrbwinicchywamikhwamphidpktiechnni cungepnklumorkhthiwinicchybxykhrngthisudinbrrdaorkhcitewch 5 khwamphidpktithangbukhlikphaphkahndodyrupaebbphvtikrrmthikhngthn bxykhrngsmphnthkbkhwamkhdkhxnginchiwitswntw chiwitthangsngkhm hruxthangxachiph nxkcaknnaelw khwamphidpktiechnniyudhyunimid aelaaephrkracayipinsthankarnmakmay sungswnihyxaccamacakehtuthiwa phvtikrrmechnniekhakbthsnkhtiekiywkbtn ego syntonic khxngbukhkhlnnid dngnn bukhkhlnncungphicarnawaepnphvtikrrmthiehmaasm aetepnphvtikrrmthixacmiphlepnthksacdkarpyhaaelakhwamekhriyd coping skill thiprbtwidxyangimehmaasm aelanaipsupyhaswntwthisrangkhwamwitkkngwl khwamthukkh aelakhwamesrasumxyangrunaerng 6 rupaebbphvtikrrmechnnicakahndidtngaetchwngwyrunaelatnwyphuihy aelainbangkrnithiphiess inchwngwyedk 1 mipraednpyhahlayxyanginkarcdhmwdhmukhwamphidpktithangbukhlikphaph 7 khuxminiyamtang hlayaebb oprdkhyaykhwam 7 aelaephraawathvsdiaelakarwinicchyekiywkbkhwamphidpkticatxngekidphayinkhwamkhadhwngpktikhxngsngkhm nkwichakarbangthancungkhdkhankhwamsmehtusmphlkhxngthvsdiaelakarwinicchy ephraawaeliyngimidthicatxngxasymulthanbangxyangthiepnxtwisy subjective khuxphwkekhaxangwa thvsdiaelakarwinicchymimulthanxyuthiphicarnayanthangsngkhm hruxthangsngkhm karemuxngaelathangesrsthkic dngnn cungxaccaimichpyhathangkaraephthy 8 9 10 11 enuxha 1 karcdhmwdhmu 1 1 xngkhkarxnamyolk 1 2 smakhmcitewchxemrikn 1 2 1 klum A khwamphidpktithiaeplkhruxwiprit 1 2 2 klum B khwamphidpktiaebbnathungehmuxnlakhr aebbxarmnaerng hruxexaaenimid 1 2 3 klum C khwamphidpktiaebbwitkkngwlhruxklw 1 2 4 khwamphidpktithangbukhlikphaphxun 1 3 karcdhmwdhmuxun 1 4 khaphrrnnakhxng s millxn 1 5 pccykarcdhmwdhmuxun 1 5 1 khwamrunaerng 1 5 2 phltxchiwitthangsngkhm 1 5 3 karaesdngehtu Attribution 2 xakar 2 1 inthithangan 2 2 khwamsmphnthkbkhwamphidpktithangcitxun 3 karwinicchy 3 1 eknthwinicchy 3 2 bukhlikphaphpkti 4 ehtu 5 khwamrabadkhxngorkh 6 orkhrwm 7 karbrihar 7 1 aenwkhidcaephaa 7 2 eruxngthathay 8 prawti 8 1 khriststwrrsthi 20 9 inedk 10 aebbcalxngmi 5 pccy 10 1 khwamepidrbprasbkarn 11 echingxrrthaelaxangxing 12 aehlngkhxmulxunkarcdhmwdhmu aekikhrabbkarcdhmwdhmuhlk 2 xyangkhux ICD aela DSM idphyayamrwmkarwinicchyekhadwykninradbhnung aetkyngtangkn yktwxyangechn ICD 10 imidkahndkhwamphidpktiaebbhlngtwexng narcissistic personality disorder tanghak inkhnathi DSM 5 imidkahndkhwamepliynaeplngthangbukhlikphaphthikhngthnhlngcakekidprasbkarnhayna hruxhlngcakhaypwycakorkhthangcitewch ICD 10 cdhmwdkhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbcitephth schizotypal personality disorder thi DSM 5 cd odyepnrupaebbkhxngorkhcitephthaethnthicaepnkhwamphidpktithangbukhlikphaph dngnn cungmithngpraednpyhathangkarwinicchythiyxmrbkndiaelw aelapraednthiyngthkethiyngknimcbsin ekiywkbkaraeykaeyakhwamphidpktithangbukhlikphaphhmwdhmutang xxkcakkn 12 ICD cd transgenderism khnkhamephs waepnkhwamphidpktithangbukhlikphaph 13 inkhnathi DSM 5 elikcd transgenderism waepnorkhthangcit aetsranghmwdhmuihmthitangkn khux gender dysphoria xarmnlaehiyehtuephs 14 xngkhkarxnamyolk aekikh ICD 10 idrwmhmwdhmuekiywkbkhwamphidpktithangbukhlikphaph aelakhwamepliynaeplngthangbukhlikphaphthiyngyun inhwkhx khwamphidpktithangcitaelathangphvtikrrm odyniyamwaepnrupaebb thangcitaelaphvtikrrm thifngaenn aelaaesdngxxkodykartxbsnxngthiyudhyunimidaelasrangkhwamphikar thiaetktangxyangsakhycakwithikarrbru karkhid aelakhwamrusukkhxngbukhkhlthwipinwthnthrrmnn odyechphaaineruxngkhwamsmphnthkbkhnxun 15 khxmulephimetim F60 F69 khwamphidpktithangbukhlikphaphaelaphvtikrrmkhxngphuihy khwamphidpktithangbukhlikphaphthicaephaa specific idaekkhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbraaewng Paranoid personality disorder aebb Schizoid aebbimaeyaessngkhm Dissocial aebbxarmnimkhngthi Emotionally unstable aebb Histrionic aebbyakhidyatha Anankastic aebbwitkkngwlhruxhlikeliyng anxious hrux avoidant aelaaebbphungpha Dependent 16 nxkcaknnaelwyngmihmwd khwamphidpktithangbukhlikphaphthiraburaylaexiydaebbxun Others sungrwmxakarthikahndwa wiprit eccentric haltlose makcakkha eyxrmnwa haltlos aeplwa lxnglxy immiepahmay immikarkhwbkhum 17 imsmwy immature hlngtwexng narcissistic duxengiyb passive aggressive aelaaebbprasath psychoneurotic aelakyngmixikhmwdhnungsahrbkhwamphidpktithangbukhlikphaphimraburaylaexiyd unspecified sungrwmxakarechn character neurosis aela pathological personalityyngmihmwd khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbxunaelaaebbphsm Mixed and other personality disorders kahndepnxakarthithaihlabak aetimaesdngrupaebbkhxngxakarodyechphaaehmuxnkbkhwamphidpktithicaephaa aelathisudkkhuxhmwd karepliynaeplngthitidtwkhxngbukhlikphaphthiimekidcakorkhkhxngsmxnghruxsmxngthukthalay Enduring personality changes not attributable to brain damage and disease sungmunghmayexaxakarthiekidkhuninphuihy thiimidwinicchywaepnkhwamphidpktithangbukhlikphaph epnxakarthitidtamkhwamekhriydrunaerngaelayawnan hruxtidtamorkhthangcitewchxun smakhmcitewchxemrikn aekikh swn DSM sungpccubnepnrun DSM 5 idihkhaniyamthwipkhxnghmwdkhwamphidpktithangbukhlikphaphthiennwa epnrupaebbthiyngyunaelayudhyunimidepnrayaewlayawthithaihekidkhwamthukkhaelakhwamphikarxyangsakhy thiimidekidcakkarichsaresphtidhruxxakarthangaephthyxyangxun DSM 5 kahndkhwamphidpkti 10 xyang cdepnklum 3 klum cluster aelayngmiwinicchyxik 3 xyangekiywkbrupaebbthangbukhlikphaphthiimtrngkbkhwamphidpkti 10 xyangnn aetkyngaesdnglksnakhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaph 18 klum A khwamphidpktithiaeplkhruxwiprit aekikh khwamphidpktiinklumni bxykhrngsmphnthkborkhcitephth schizophrenia xyanghnungodyechphaakkhuxkhwamphidpktiaebbcitephth Schizotypal thikhnikhbxykhrngrusukxudxdxyangrunaerngtxkhwamsmphnththiiklchidkbphuxun mikhwambidebuxnthangprachanhruxkarrbru aelamiphvtikrrmthiwiprithruxphikl eccentric aetwa bukhkhlthimiphawaklumniyngekhaickhwamepncringiddikwakhnikhthiwinicchywaepnorkhcitephth odythwipaelw khnikhxaccakhiraaewng ekhaicidyakenuxngcakmikarphudthiaeplkhruxphikl aelaprascakkhwamsmphnththiiklchid aemwakarrbru perception khxngkhnikhxaccaaeplk aetksakhythicaaeykaeyakarrbruechnnncakxakarhlngphid delusion aelaprasathhlxn hallucination ephraawabukhkhlthimixakarsxngxyangnn caidwinicchywaepnkhwamphidpktithitangknxyangsineching mihlkthansakhythiaesdngnywa bukhkhlinxtranxythimikhwamphidpktiklumni odyechphaaaebbcitephth schizotypal mioxkasthicaaeylngepnorkhcitephthhruxkhwamphidpktithangcitewchxun khwamphidpktiklumni mioxkassungkhuninbukhkhlthiyatiiklchid first degree epnorkhcitephthhruxmikhwamphidpktiklumni 19 khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbraaewng Paranoid personality disorder kahndodyrupaebbkhwamsngsythiimsmehtuphlaelaimechuxicphuxun odyraaewngwamungray Schizoid personality disorder epnkarprascakkhwamsnicaelakarwangechycakkhwamsmphnththangsngkhm khwamirxarmn apathy aelakaraesdngxxkthangxarmnthicakd khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbcitephth schizotypal personality disorder epnrupaebbkhxngkhwamxudxdxyangrunaernginptismphnthkbphuxun aelakhwambidebuxnthangprachanaelakarrbruklum B khwamphidpktiaebbnathungehmuxnlakhr aebbxarmnaerng hruxexaaenimid aekikh khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbtxtansngkhm Antisocial personality disorder epnrupaebbthiaephripthwenuxngkbkarimsnichruxkarlaemidsiththikhxngphuxun karimehnicphuxun karmiphaphphcnekiywkntnekincring karichelhehliymepliynphvtikrrmphuxun aelakarmiphvtikrrmhunhnphlnaeln khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbkakung Borderline personality disorder epnrupaebbkhwamimesthiyrthiaephripthwineruxngtang rwmthngkhwamsmphnthkbkhnxun phaphphcnkhxngtn exklksnkhxngtn identity phvtikrrm aelaxarmn affect thibxykhrngnaipsukartharaytwexngaelakhwamhunhnphlnaeln Histrionic personality disorder epnrupaebbthiaephripthwkhxngphvtikrrmeriykrxngkhwamsnic attention seeking aelaxarmnthiekinkhwr khwamphidpktiaebbhlngtwexng narcissistic personality disorder epnrupaebbthiaephripthwkhxngkhwamekhuxng grandiosity khwamtxngkarkhwamchunchm aelakarimehnicphuxunklum C khwamphidpktiaebbwitkkngwlhruxklw aekikh khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbhlikeliyng Avoidant personality disorder epnkhwamrusukthiaephripthwekiywkbkhwamtxngkarhlikeliyngsngkhm social inhibition khwamrusukwatnbkphrxng social inadequacy aelakhwamrusukiwxyangsud emuxthukpraemininechinglb khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbphungpha Dependent personality disorder epnkhwamtxngkarthiaephripthwthicaihkhnxunduaeltwexng khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbyakhidyatha Obsessive compulsive personality disorder kahndodykhwamtxngthatamkdxyangekhrngkhrd thukxyangtxngephxrefkt perfectionism aelakarkhwbkhumsthankarnihthungcudphxiccnkrathngtxngewnkickrrmewlawanghruxkarichewlakbephuxn sungimehmuxnaelaaetktangcakorkhyakhidyathamak khwamphidpktithangbukhlikphaphxun aekikh karepliynbukhlikphaphenuxngcakphawathangaephthyxikxyanghnung Personality change due to another medical condition epnphlodytrngtxbukhlikphaphkhxngphawathangaephthyxyanghnung khwamphidpktithangbukhlikphaphthicaephaaxyangxun Other specified personality disorder mixakarthiepnlksnakhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaphxyanghnung aetyngimphaneknthkhxngkhwamphidpktithicaephaa odyaephthycakahndehtuphl khwamphidpktithangbukhlikphaphthiimkahnd Personality disorder not otherwise specified karcdhmwdhmuxun aekikh khumuxwinicchyrunkxn mikhwamphidpktithangbukhlikphaphbangxyangthiexaxxkaelw rwmthngkhwamphidpkti 2 praephththixyuinphakhphnwkkhxng DSM III R inhwkhx hmwdhmuwinicchythiesnxthitxngmingansuksaephimetim Proposed diagnostic categories needing further study odyimidkahndeknththicaephaa khux sadistic personality disorder sungepnrupaebbthiaephrhlaykhxngphvtikrrmthiohdray thildkhaphuxun aelathiduray aela self defeating personality disorder hrux masochistic personality disorder sungkahndodyphvtikrrmthibnthxnkhwamsukhhruxepahmaykhxngtn 20 nkcitwithyabangphwkrwmthng s thioxdxr millxn phicarnakarwinicchykhwamphidpktibangxyangthiexaxxkaelwwa smehtusmphlethakbkhwamphidpktithixyuinkhumuxpccubn aelayngesnxthngkhwamphidpktixun aelakhwamphidpktiaebbyxy nxkehnuxcakthimiepnthangkarinkhumuxxikdwy 21 karwinicchykhwamphidpktithangbukhlikphaphkhxngkhumuxwinicchykhxngsmakhmcitewchxemrikninaetlachbb 22 23 DSM I DSM II DSM III DSM III R DSM IV TR DSM 5bukhlikphaphPattern disturbance Inadequate InadequateSchizoid Schizoid Schizoid Schizoid Schizoid SchizoidCyclothymic CyclothymicParanoid Paranoid Paranoid Paranoid Paranoid ParanoidSchizotypal Schizotypal Schizotypal Schizotypal PersonalityTrait disturbance Emotionally unstable Hysterical Histrionic Histrionic Histrionic HistrionicBorderline Borderline Borderline BorderlineCompulsive Obsessive compulsive Compulsive Obsessive compulsive Obsessive compulsive Obsessive compulsivePassive aggressive Passive depressive subtype Dependent Dependent Dependent DependentPassive aggressive subtype Passive aggressive Passive aggressive Passive aggressiveAggressive subtypeExplosiveAsthenicAvoidant Avoidant Avoidant AvoidantNarcissistic Narcissistic Narcissistic NarcissisticSociopathic personalityDisturbance Antisocial reaction Antisocial Antisocial Antisocial Antisocial AntisocialDyssocial reactionSexual deviationAddictionAppendix Appendix Appendix Self defeating Negativistic DependentSadistic Depressive HistrionicParanoidSchizoidNegativisticDepressive cdepn schizophrenia spectrum disorder dwynxkehnuxcakkhwamphidpktithangbukhlikphaph khaphrrnnakhxng s millxn aekikh nkcitwithya s thioxdxr millxn phuidekhiynwrrnkrrmyxdniymhlaynganekiywkbbukhlikphaph esnxkhaphrrnnaehlanisahrbkhwamphidpktithangbukhlikphaphtang khux khaphrrnnakhwamphidpktithangbukhlikphaphsn khxng s millxn 3 praephth lksnaaebbraaewng Paranoid ramdrawng pxngkntw imechuxic aelasngsy ramdrawngxyangyingtxectnakhxngphuxunthixacepnkarbnthxnhruxthaxntray phyayamhahlkthansnbsnunwakhnxunmiaephnlbesmx rusukwatnthuktxng aetthukaeklng khnphidpktichnidnicaprasbkhwamimechuxicaelakhwamsngsytxphuxunthiaephripthwepnrayaewlayaw epnkhnthiyakthicathangandwyaelayakthicasrangkhwamsmphnthdwy aelaxaccaepnkhnokrthngay 24 Schizoid irxarmn imaeyaes hangehin xyuoddediyw imthatwkhunekhy irxarmnkhn imtxngkarhruxcaepntxngmikhwamsmphnthkbmnusy thxntwcakkhwamsmphnthkbkhnxunaelachxbxyukhnediyw imkhxysnicphuxun mkmxngwaepnkhnchxbxyukhnediyw mikhwamsanuknxythisudekiywkbkhwamrusukkhxngtnhruxphuxun miaerngkratunaelakhwamthaeyxthayannxymak thamiodyprakarthngpwng epnphawathiimsamythibukhkhlcahlikeliyngkickrrmthangsngkhmaelahlikeliyngkarthaxairrwmkbphuxun chayepnmakkwahying sahrbkhnxun bukhkhlnixaccaduthum hruxirxarmnkhn ephraawaimkhxyaesdngxarmn cungxaccaduehmuxnwaimepnhwngsingthikalngekidkhunrxb tw 25 aebbcitephth Schizotypal phikl ehinhangcaktnexng aeplk iclxy mithathangaelaphvtikrrmthiaeplk khidwatnsamarthxanicphuxun hmukhmunxyukbfnklangwnaelakhwamechuxaeplk esnkhidrahwangkhwamepncringkbkhwamephxfnimchdecn mikhwamkhidechingisysastraelakhwamechuxthiaeplk khnphidpktichnidnibxykhrngklawthungwa aeplkhruxphikl aelapktimikhwamsmphnththiiklchidnxy thamiodyprakarthngpwng epnkhnthiodythwipimekhaickarsrangkhwamsmphnthkbkhnxun hruxphlkrathbthiphvtikrrmkhxngtnmitxphuxun 26 aebbtxtansngkhm Antisocial hunhnphlnaeln imrbphidchxb phidpkti khwbkhumimid thaxairimkhidkxn thahnathithangsngkhmktxemuxmipraoychntxtn imekharphpraephni kd aelamatrthankhxngsngkhm mxngtwexngwaepnithaelaepnxisra khnphidpktiechnnimirupaebbphvtikrrmthiimsnicsiththikhxngphuxun aelabxykhrngcakhamesnodylaemidsiththiehlann 27 aebbkakung Borderline exaaenexanxnimid ichelhehliymephuxepliynphvtikrrmkhxngphuxun imesthiyr klwkarthukthingaelakhwamoddediywxyangbakhlng xarmnkhun lng xyangrwderw rkaelaekliydklbipklbmaxyangrwderw ehntwexngaelabukhkhlxunslbipmawadithnghmdhruxaeythnghmd xarmnthiimesthiyraelaepliynipmaxyangrwderw khnphidpktichnidni mirupaebbkhxngkhwamimesthiyrekiywkbkhwamsmphnthkbphuxunthiaephripthw 28 aebb Histrionic ehmuxntwlakhr esksi miesnh epnkhnimluksung chxbhasingera thuxtw miptikiriyatxeruxngelk nxy ekinehtu chxbochwtwephuxthicaidkhwamsnicaelakhwamchwyehluxcakphuxun mxngtwexngwa rupngamaelamiesnh khxyhakhwamsniccakphuxun khwamphidpktikahndodykarkhxyhakhwamsnic ptikiriyathangxarmnekinkhwr aelathukchkchwnidngay suggestibility khwamonmexiyngthicathaepntwlakhrxaccakhdkhwangkhwamsmphnthkbphuxun aelanaipsukhwamsumesra aetbukhkhlnibxykhrngcadaeninchiwitipidodydi 29 aebbhlngtwexng Narcissistic snicaettwexng hying khixwd imsnic hmkhmunkbkhwamkhidephxfnekiywkbkhwamsaerc khwamngam hruxkhwamsmvththiphl mxngtwexngwanaykyxngaelaehnuxkwa dngnn cungkhwrcaidrbkarptibtiepnphiess epnkhwamphidpktithangcitthibukhkhlrusukthungkhwamsakhykhxngtnekincringaelatxngkarkhwamykyxngxyangying khnphidpktichnidni echuxwatnexngehnuxkwakhnxunaelaimkhxysnickhwamrusukkhxngkhnxunaebbhlikeliyng Avoidant lngelic sanuktnmakekinipthaihprahma ekhin witkkngwl ekhriydinthamklangsngkhmenuxngcakklwthukptiesth witkkngwlineruxngkhwamlmehlwtlxdewla mxngtwexngwa ngumngam imekng hruximnasnic prasbkbkhwamrusukwa tnbkphrxng epnrayaewlayawnan thaihiwkhwamrusukwakhnxunkhidthungtnxyangir 30 aebbphungpha Dependent chwytwexngimid irkhwamsamarth xxnnxm imot thxycakkhwamrbphidchxbkhxngphuihy mxngtwexngwaxxnaexaelaepraabang khxymxnghakarplxbihxuniccakkhnthiaekrngkwa txngkarthicaihkhnxunduael klwthukthxdthinghruxthukaeykcakbukhkhlsakhyinchiwit 31 aebbyakhidyatha Obsessive compulsive hkhamic phithiphithn ihkhwamekharphykyxng ekhmngwd tharngchiwitaebbmikdeknth thatampraephnithangsngkhmxyangekhrngkhrd mxngolkwamikdeknthaelamiladbchn mxngtwexngwa exaicis echuxthuxid miprasiththiphaph aelamiphlnganmakaebbesrasum Depressive sld hmdkalngic hmdxaly esrasrxy plxytamchatakrrm aesdngtnexngwaxxnaexaelathukthxdthing rusukwaimmikha rusukphid aelairkalngimsamarththaxairid tdsintnexngwa khwraetcatahniaeladuthuk irkhwamhwng xyakcatay xyuimepnsukh khwamphidpktieyiyngnisamarthnaipsukarkrathathidurayaelaprasathhlxn 32 duxengiyb Passive aggressive hrux Negativistic khunekhuxngic epnptipks sngsyimechux imphxic khdkhunimthatamkhwamkhadhwngkhxngphuxun irprasiththiphaphxyangcngic rabaykhwamokrthodyxxmdwykarlxbbnthxnepahmaykhxngphuxun slbxarmnrahwangxarmnimdiaelarakhay kbbungtungaelaimphudimca imaesdngxxksungxarmn caimkhuydwyaemwacamipyhathicatxngkhuykn 33 sadism Sadistic duchunechiyw thakthang ohdray hwrn mkcaraebidxarmnaebbchbphln idkhwamphxicodybngkhb khmkhu hruxduhminthaihphuxunxbxay mikhwamkhidduxrnaelamiicpid chxbthaxairohd txphuxun idkhwamphxicodytharunphuxun xaccamikhwamsmphnthaebbsadismaelamaoskhism aetcaimepnfaymaoskhismkhuxihphuxuntharay 34 aebbthalaytwexnghruxaebbmaoskhism Self defeating hrux Masochistic ekharphnbnxbtxphuxun klwkhwamsukh yxmrbich yxmrbphid thxmtw snbsnunihkhnxunexaepriybtn cngicthalaycudmunghmaykhxngtnexng hakhuthiothstnhruxkrathaimditxtn sngsykhnthithadikbtn xaccamikhwamsmphnthaebbsadismaelamaoskhism 34 pccykarcdhmwdhmuxun aekikh nxkcakcacdepnhmwdhmuaelaepnklum kyngepnipidthicacdkhwamphidpktithangbukhlikphaphodyichpccyxun echnkhwamrunaerng phlkrathbtxphvtikrrmthangsngkhm aelakaraesdngehtu attribution 35 khwamrunaerng aekikh karcdhmwdhmuechnniekiywkhxngkbixediywa khwamkhdkhxngthangbukhlikphaph personality difficulty epnradbkhwamphidpktithangbukhlikphaphthiyngimthungkhidthiwdodyichkarsmphasnmatrthan aelaekiywkbhlkthanwa bukhkhlthimikhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbhnkthisud mikaraephrkracaykhxngkhwamphidpktiaebbkraephuxmna ripple effect thiaesdnglksnakhwamphidpktithangcittang epnaethw khuxsamarthcdhmwdhmuepn subthreshold khwamkhdkhxngthangbukhlikphaph single cluster khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbklumediyw khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbsbsxn aephrkracay complex diffuse personality disorder thimikhwamphidpkticakmakkwa 1 klum aelakhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbrunaerng severe personality disorder thimikhwamesiyngmakthisud rabbkarcdhmwdhmukhwamphidpktithangbukhlikphaph 36 khwamrunaerng lksna niyam0 pkti imphaneknthwaepnkhwamphidpktihruxkhwamkhdkhxngthangbukhlikphaph1 khwamkhdkhxngthangbukhlikphaph Personality Difficulty phaneknthyxy subthreshold khxngkhwamphidpktithangbukhlikphaphxyanghnunghruxhlayxyang2 khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbklumediyw Simple phaneknthkhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbhnunghruxhlayaebbthixyuinklumediywkn3 khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbsbsxn aephrkracay Complex Diffuse phaneknthkhwamphidpktithangbukhlikphaphhlayaebbkhamklum4 khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbrunaerng Severe phaneknthkhwamphidpktithiepnkhwamkxkwnxyangrunaerngtxthngkhnikhaelatxkhnxun insngkhmmipraoychnhlayxyanginkarcdhmwdhmutamkhwamrunaerng 35 khux epnkaryxmrbkhwamonmexiyngthikhwamphidpktithangbukhlikphaphcaekidkhunhlay xyangphrxm kn comorbid epnrabbthiaesdngxiththiphlkhxngkhwamphidpktxphlthiidphankarrksa iddikwarabbngay thicdwamikhwamphidpktihruxim epnrabbthiyxmrbkarwinicchyihmkhxngkhwamphidpktiaebbrunaerng odyechphaathieriykwa khwamphidpktithangbukhlikphaphaebbxntrayaelarunaerng dangerous and severe personality disorder phltxchiwitthangsngkhm aekikh kardaeninchiwitthangsngkhm social function idrbxiththiphlcakdantang khxngkarthangankhxngcitnxkehnuxipcakbukhlikphaph aetwa emuxekidkhwamkhdkhxngtxkardaeninchiwitthangsngkhmxyangyunkran insthankarnthipktiimkhwrcami hlkthanaesdngnywa nimioxkascamiehtucakkhwamphidpktithangbukhlikphaphmakkwatwaeprthangkhlinikxun 37 karcdhmwdhmuaebb Personality Assessment Schedule 38 ihkhwamsakhykbkardaeninchiwitthangsngkhmemuxsrangladbchnkhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaph khux khwamphidpktithimiphllbtxchiwitthirunaerngkwa caxyuinradbehnuxkwakhwamphidpktithiklawthunginladbtx ma karaesdngehtu Attribution aekikh khnepncanwnmakthimikhwamphidpktithangbukhlikphaphimruthungkhwamphidpktikhxngtnexng aelacaaektangxyangxngxacthungkarmiphvtikrrmthiphidpktinn tx ip khuxmikaraesdngehtukhxngphvtikrrmnnodyimichepnkhwamphidpkti klumnieriykwa aebb R hrux khwamphidpktithangbukhlikphaphthiimyxmrksa treatment resisting ethiybkb aebb S hrux khwamphidpktithangbukhlikphaphthiaeswnghakarrksa treatment seeking phukratuxruxrnthicaaekkhwamphidpktikhxngtnaelabangkhrngaemkrathngyunkraneriykrxngihrksa 35 thimnkwicythicdhmwdhmukhnikhorkhbukhlikphaph 68 khnodyichseklaebbimsbsxnaesdngwa 39 khnikhaebb R imyxmrksa aela S txngkarrksa mixtra 3 tx 1 khnikhklum C khwamphidpktiaebbwitkkngwlhruxklw mioxkassungkwaxyangsakhythicaepnaebb S txngkarrksa khnikhaebbraaewng paranoid aelaaebb schizoid sungxyuinklum A khwamphidpktithiaeplkhruxwiprit mioxkassungkwaxyangsakhythicaepnaebb R imyxmrksa xakar aekikhinthithangan aekikh khunxyukbkarwinicchy khwamrunaerng khnikh aelanganexng khwamphidpktithangbukhlikphaphxaccasmphnthkbkhwamyaklabakinkarbriharcdkarrbmuxnganhruxthithangan sungxacmiphlepnpyhakbphuxunodyrbkwnkhwamsmphnthkbkhnxun phlodyxxmkmibthbathdwy yktwxyangechn khnikhxaccamipyhainkarsuksa hruxmipyhaxun nxkthithangan echn kartidsaresphtid hruxorkhcitthiekidrwmxun co morbid aetwa khwamphidpktithangbukhlikphaphksamarthyngihthanganiddikwaodyechliyxikdwy odyephimaerngkratuninkaraekhngkhn hruxepnehtuihkhnikhchwypraoychncakephuxnrwmngan 40 41 inpi 2005 aela 2009 nkcitwithyakhuhnunginshrachxanackrsmphasnaelaihkarthdsxbbukhlikphaphtxnkbriharchnsungchawxngkvs aelaepriybethiybkhxmulechphaathiidkbkhnikhthiepnxachyakrinorngphyabalcitewchthimikarrksakhwamplxdphysung aelwphbwa khwamphidpktithangbukhlikphaph 3 xyangcak 11 xyangcring aelw samykbphubriharmakkwaxachyakrorkhcit khux khwamphidpktiaebb histrionic rwmthngkhwammiesnhxyangphiwephin khwamimcringic khwamsnicaettn egocentricity aelakarichelhehliymepliynphvtikrrmkhxngphuxun psychological manipulation khwamphidpktiaebbhlngtwexng narcissistic rwmthngkhwamoxxwd karprascakkhwamehnicphuxunephraamungaettwexng karchwypraoychncakphuxun aelakhwamepnxisraimtxngphungphuxun khwamphidpktiaebbaebbyakhidyatha Obsessive compulsive rwmthngthukxyangtxngephxrefkt perfectionism karxuthistnihnganekinkhwr khwamyudhyunimid khwamduxrn aelakhwamonmexiyngthicamiphvtikrrmaebbephdckar 42 tamnkwichakarekiywkbkhwamepnphunathanhnung epneruxngthihlikeliyngimidwaphubriharradbsungcamikhwamphidpktithangbukhlikphaphbang 43 khwamsmphnthkbkhwamphidpktithangcitxun aekikh khwamphidpktitang inklum cluster thng 3 aetlaklum xaccamipccyesiyngphunthanthisamyekiywkhxngkbrabbprachan karkhwbkhumxarmn affect aelakhwamhunhnphlnaeln impulse aelakartharnghruxkarybyngphvtikrrm tamladb aelaxacmikhwamsmphnthepnsepktrmxyangtxenuxngkbkhwamphidpktithangcitxun khux 44 khwamphidpktiaebbraaewng paranoid aelacitephth schizotypal ehnidinchwngkxnekidorkh premorbid khxngkhnikhkhwamphidpktiaebbhlngphid delusional disorder aelaorkhcitephth khwamphidpktiaebbkakung borderline praktsmphnthkb khwamphidpktithangxarmn mood disorder aelaorkhwitkkngwl anxiety disorder khwamphidpktiinkarkhwbkhumkhwamhunhnphlnaeln impulse control disorder khwamphidpktiinkarrbprathan eating disorders orkhsmathisn Attention deficit hyperactivity disorder khwamphidpktiinkarichsaresphtid substance use disorder khwamphidpktiaebbhlikeliyng avoidant phbphrxmkborkhklwkarekhasngkhm social anxiety disorder karwinicchy aekikheknthwinicchy aekikh chbblasudkhxng DSM khux DSM V idprbprungeknthwinicchykhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaph eknththwipkahndwa bukhlikkhxngbukhkhlcatxngtangipcakthiepnpktitamthikhadhwngidinwthnthrrmnn xyangsakhy 45 nxkcaknnaelw lksnathangbukhlikphaphthiepnpraedncatxngpraktodytnwyphuihy karwinicchykhwamphidpktithangbukhlikphaphtxngphaneknth 3 xyangkhux mikhwambkphrxng impairment xyangsakhytxprasiththiphaph functioning ekiywkbtn self identity hrux self direction aelatxprasiththiphaphrahwangbukhkhl khwamehnicphuxun hruxkhwamiklchidkbphuxun 46 milksnathangbukhlikphaph domain hrux facet thimiphyathisphaph hnungxyanghruxmakkwann 46 khwambkphrxnginprasiththiphaphkhxngbukhlikphaph aelakaraesdnglksnabukhlikphaphkhxngbukhkhl catxngkhxnkhangesthiyrkhamewla aelacatxngsmaesmxinsthankarntang 46 khwambkphrxnginprasiththiphaphkhxngbukhlikphaph aelakaraesdnglksnabukhlikphaphkhxngbukhkhl catxngimicheruxngpktisahrbrayaphthnakarhruxsahrbsingaewdlxmthangsngkhm wthnthrrmkhxngbukhkhlnn 46 khwambkphrxnginprasiththiphaphkhxngbukhlikphaph aelakaraesdnglksnabukhlikphaphkhxngbukhkhl txngimichekidcakphlthangsrirphaphodytrngkhxngsar echnsaresphtid ya hruxsphawathangaephthythwip echn karbadecbthihwxyangrunaerng ephiyngxyangediywethann 46 swnkhaphrrnnathangkhlinikaelaaenwthangkarwinicchykhxng ICD 10 mieknthwinicchykhwamphidpktithangbukhlikphaphthicaephaa prakxbdwyeknththwipthikhlay kn khux 47 mithsnkhtiaelaphvtikrrmthiimklmklunknxyangsakhy odythwipekiywkbprasiththiphaphinhlay dan echn ineruxngxarmn khwamtuntw karkhwbkhumkhwamhunhnphlnaeln withikarrbruaelakarkhid aelasitlkarmikhwamsmphnthkbphuxun mirupaebbphvtikrrmphidpktithiyngyun epnewlayawnan aelaimidcakdechphaaaetkhrawepnorkhcit rupaebbphvtikrrmthiphidpktiaephripthw aelachdecnwaepnkarprbtwthiphidphladtxsthankarnthnginswnbukhkhlaelainswnsngkhmmakmayhlayxyang singthiklawmapraktinchwngwyedkhruxwyrun aeladaenintxipcnthungwyphuihy khwamphidpktithaihekidkhwamthukkhepnswntwphxsmkhwr aetxaccaephiyngpraktchdinrayahlng khwamphidpktimkca aetimtxng smphnthkbpyhathangxachiphaelathangsngkhmxyangsakhyICD yngephimdwywa sahrbwthnthrrmtang xaccatxngphthnaestkdeknthodyechphaatxkhwamepnip kd aelahnathithangsngkhm inkarrksa odythwipkhnikhcaidrbkarwinicchyphankarsmphasnkbcitaephthy odyxasy mental status examination karsxbsthanacit sungxaccarwmsngektkarnthiidcakyatihruxkhnxun withikarxyanghnungthiichwinicchykhwamphidpktithangbukhlikphaphkkhuxkrabwnkarsmphasnthimikarihkhaaenn khuxmikarihkhnikhtxbkhatham aelakhunxyukbkhatxb phusmphasnthiidrbkarfukmaaelwcaphyayamekharhskhatxbnn aetniepnkrabwnkarthiichewlamak bukhlikphaphpkti aekikh khwamsmphnthrahwangbukhlikphaphpktikbkhwamphidpktithangbukhlikphaph epnpraednthisakhyinkarsuksaekiywkbbukhlikphaphaelacitwithyakhlinik rabbkarcdchnbukhlikphaph DSM IV TR aela ICD 10 ichwithikarcdhmwdhmuthimxngkhwamphidpktiwaepnorkhtanghak thitangcakknaelakn aelacakbukhlikphaphpkti odyepriybethiybkn aenwkhidaebbmiti dimensional approach epnaenwkhidxikxyanghnungthiaesdngkhwamphidpktiodyepnswnephimkhxnglksnatang thiepnswnkhxngbukhlikphaphpkti aetepnlksnathiprbtwidimdinkcitwithyabukhlikphaphthanhnungkbkhna 48 idephimkhxmulekiywkbkarthkethiyngknineruxngnixyangsakhy ekhaidklawthungkhxcakdkhxngaenwkhidaebbcdhmwdhmuaelwsnbsnunaenwkhidaebbmitiephuxxthibaykhwamphidpktithangbukhlikphaph odyechphaaxyangyingaelw ekhaidesnxaebbcalxngbukhlikphaphmi 5 pccy Five Factor Model twyx FFM odyepnthangeluxkinkarcdhmwdhmukhwamphidpkti yktwxyangechn aenwkhidnikahndwakhwamphidpktiaebbkakung samarekhaicidwa epnkarphsmrwmknkhxngkhwamxxnihwthangxarmn khux mi neuroticism radbsung khwamhunhnphlnaeln khux mikhwamphithiphithn conscientiousness ta aelamikhwamepnptipkssung khux mikhwamyinyxmehnicphuxun agreeableness ta mingansuksakhamwthnthrrmthitrwcsxbkhwamsmphnthrahwangkhwamphidpktithangbukhlikphaphkb FFM 49 aelanganwicyechnniaesdngwa khwamphidpktithangbukhlikphaphmishsmphnthodyxngkhrwminthisthangtamthikhadhwngkbkhawdtang khxng FFM 50 sungidebikthangkarrwm FFM ekhain DSM 5 51 khwamphidpktithangbukhlikphaphkhxng DSM IV TR cakmummxngkhxng FFM ekiywkbprasiththiphaphkhxngbukhlikphaphthwip 44 pccy PPD SzPD StPD ASPD BPD HPD NPD AvPD DPD OCPD PAPD DpPDNeuroticism vs emotional stability Anxiousness vs unconcerned n a n a High Low High n a n a High High High n a n aAngry hostility vs dispassionate High n a n a High High n a High n a n a n a High n aDepressiveness vs optimistic n a n a n a n a High n a n a n a n a n a n a HighSelf consciousness vs shameless n a n a High Low n a Low Low High High n a n a HighImpulsivity vs restrained n a n a n a High High High n a Low n a Low n a n aVulnerability vs fearless n a n a n a Low High n a n a High High n a n a n aExtraversion vs introversion Warmth vs coldness Low Low Low n a n a n a Low n a High n a Low LowGregariousness vs withdrawal Low Low Low n a n a High n a Low n a n a n a LowAssertiveness vs submissiveness n a n a n a High n a n a High Low Low n a Low n aActivity vs passivity n a Low n a High n a High n a n a n a n a Low n aExcitement seeking vs lifeless n a Low n a High n a High High Low n a Low n a LowPositive emotionality vs anhedonia n a Low Low n a n a High n a Low n a n a n a n aOpenness vs closedness Fantasy vs concrete n a n a High n a n a High n a n a n a n a n a n aAesthetics vs disinterest n a n a n a n a n a n a n a n a n a n a n a n aFeelings vs alexithymia n a Low n a n a High High Low n a n a Low n a n aActions vs predictable Low Low n a High High High High Low n a Low Low n aIdeas vs closed minded Low n a High n a n a n a n a n a n a Low Low LowValues vs dogmatic Low n a n a n a n a n a n a n a n a Low n a n aAgreeableness vs antagonism Trust vs mistrust Low n a n a Low n a High Low n a High n a n a LowStraightforwardness vs deception Low n a n a Low n a n a Low n a n a n a Low n aAltruism vs exploitative Low n a n a Low n a n a Low n a High n a n a n aCompliance vs aggression Low n a n a Low n a n a Low n a High n a Low n aModesty vs arrogance n a n a n a Low n a n a Low High High n a n a HighTender mindedness vs tough minded Low n a n a Low n a n a Low n a High n a n a n aConscientiousness vs disinhibition Competence vs laxness n a n a n a n a n a n a n a n a n a High Low n aOrder vs disorderly n a n a Low n a n a n a n a n a n a n a High LowDutifulness vs irresponsibility n a n a n a Low n a n a n a n a n a High Low HighAchievement striving vs lackadaisical n a n a n a n a n a n a n a n a n a High n a n aSelf discipline vs negligence n a n a n a Low n a Low n a n a n a High Low n aDeliberation vs rashness n a n a n a Low Low Low n a n a n a High n a Hightwyxthiich PPD Paranoid Personality Disorder SzPD Schizoid Personality Disorder StPD Schizotypal Personality Disorder ASPD Antisocial Personality Disorder BPD Borderline Personality Disorder HPD Histrionic Personality Disorder NPD Narcissistic Personality Disorder AvPD Avoidant Personality Disorder DPD Dependent Personality Disorder OCPD Obsessive Compulsive Personality Disorder PAPD Passive Aggressive Personality Disorder DpPD Depressive Personality Disorder n a not available ehtu aekikhmiehtuthiepnipidkhxngkhwamphidpktithangcithlayxyang aelaxaccamikhwamtang knkhunxyukbkhwamphidpkti bukhkhl aelasthankarn xaccaepnlksnathangphnthukrrmaelaprasbkarninchiwitbangxyang sungxaccarwmhruximrwmehtukarnbadecbhruxthuktharunkrrmodyechphaa ngansuksainnksuksamhawithyalychay 600 khn thimixayuechliyekuxb 30 pi phuthiimidepnkhnikh trwcsxbkhwamsmphnthrahwangprasbkarntharunkrrmthangkayaelathangephsinwyedk kbkhwamphidpktithangbukhlikphaphthiraynganinpccubn prawtitharunnkrrminwyedksmphnthxyangchdecnkbradbthisungkhunkhxngxakartang swnkhwamrunaerngkhxngtharunkrrmkmikhwamsakhythangsthitidwy aetwa immikhwamsakhythangkhliniktxkhwamaeprprwn variance khxngxakarkhxngthukklum khuxklum A B aela C 52 karkrathatharuntxedk child abuse aelakarlaelyedk neglect mihlkthanthismaesmxwaepnpccyesiyngtxkarphthnaepnkhwamphidpktithangbukhlikphaphinwyphuihy 53 nganwicyhnungcbkhutharunkrrmyxnhlnginxdit kbklumkhnikhthiaesdngcitphyathisphapherimtngaetwyedkaelwdaeninmacnthungwyphuihy thiphayhlngphbwaidthuktharunaelalaelyinwyedk epnkarsuksainmardaaelaedk 793 khn thinkwicythammardawaekhytaoknisluk ekhyklawwatnimrkluk hruxwaekhykhuwacasnglukipxyuthixunhruxim edkthiprasbtharunkrrmthangwacaechnnimioxkas 3 ethakhxngedkxunthicamikhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbkakung aebbhlngtwexng aebbyakhidyatha aelaaebbraaewnginwyphuihy 54 swnklumthithuktharunkrrmthangephs aesdngrupaebbcitphyathiinradbthisungkhunxyangsmaesmxthisud aelatharunkrrmthangkay physical abuse thiphisucnxyangepnthangkaraelw aesdngkhashsmphnththisungmakkbphthnakarepnphvtikrrmtxtansngkhmaelathatamxarmnchwwub aetwa krnikhnikhthithuktharunkrrmodylaelyinwyedk orkhxaccasngbthuelaepnbangswn partial remission inwyphuihyid 53 khwamrabadkhxngorkh aekikhkhwamchukkhxngorkh prevalence khxngkhwamphidpktiechnniinklumprachakrthwipimprakt cnkrathngmingansarwcerimtngaetkhristthswrrs 1990 inpi 2008 xtramthythan median rate khxng PD thiwinicchyidpraeminxyuthi 10 6 xasyngansuksakhnadihy 6 nganin 3 praeths ephraamixtrathi 1 in 10 aelaephraawasmphnthkbkarichbrikarthangsukhphaphinradbsung cungeriykwaepnpraednsatharnsukhthisakhy thitxngkarkhwamisicthngcaknkwicyaelaaephthyphurksa 55 khwamchukkhxng PD aetlaxyangmiphisytngaet 2 3 sahrbaebbthisamykwa echn aebbcitephth schizotypal aebbtxtansngkhm aebbkakung aelaaebb histrionic ipcnthungthi 0 5 1 sahrbaebbthiminxythisud echn aebbhlngtwexng aelaaebbhlikeliyng 44 swnngansarwctrwckhdorkhpi 2009 in 13 praethsodyxngkhkarxnamyolk odyicheknthkhxng DSM IV praeminkhwamchukkhxng PD thi 6 xtrabangkhrngaepriptampccythangprachakraelathangsngkhm esrsthkicxun nganwicyyngphbdwywa prasiththiphaphkardaeninchiwitthibkphrxngbangswn ekidcakkhwamphidpktithangcitthiekidrwmxun 56 inngansarwc National Comorbidity Survey Replication rahwangpi 2001 2003 inshrthxemrika sungicheknthwinicchykhxng DSM IV aelarwmkarsmphasnkbphutxbkhathamklumyxydwy aesdngkhwamchukkhxngorkhthi 9 rwmthnghmd aetkhwamphikarinkardaeninchiwitthismphnthkborkhthiwinicchy duehmuxncamiehtumacakkhwamphidpktithangcitthiekidrwmkn Axis I khxng DSM odymak 57 swnnganwithyakarrabadradbchatipi 2010 inshrachxanackrthiicheknthkhxng DSM IV aelacdklumodyradbkhwamrunaerngdwy raynganwa khnodymakmikhwamkhdkhxngthangbukhlikphaph personality difficulty imprakaridkprakarhnung thiyngimthungeknthwinicchywaepnorkh inkhnathikhwamchukkhxngkrnithisbsxnthisudthirunaerngthisud rwmthngthiphaneknthwinicchykhwamphidpktihlayaebbinklumtang kn mikhapraeminxyuthi 1 3 aemwaxakarthixyuinradbtakyngsmphnthkbpyhakardaeninchiwit aetbukhkhlthicaepncaidrbbrikarmakthisudxyuinklumthielkkwamak 58 nxkcaknnaelw yngmikhwamaetktangrahwangephsekiywkbkhwamthikhxng PD sungaesdngxyuintarangtxip khwamaetktangrahwangephskhxngkhwamthikhwamphidpktithangbukhlikphaph 44 praephth ephsthiepnodymakaebbraaewng Paranoid chayaebb Schizoid chayaebbcitephth Schizotypal chayaebbtxtansngkhm Antisocial chayaebbkakung Borderline hyingaebb Histrionic hyingaebbhlngtwexng Narcissistic chayaebbhlikeliyng Avoidant ethaknaebbphungpha Dependent hyingaebbyakhidyatha Obsessive compulsive chayorkhrwm aekikhmikarekidrwmknkhxng PD tameknthwinicchyphxsmkhwr khux khnikhthiphaneknthwinicchykhxng DSM IV TR sahrb PD xyanghnung mkcaphaneknthwinicchykhxng PD xikxyanghnungdwy 44 aemwa hmwdhmukarwinicchycaihkhaphrrnnathiswangchdecnekiywkbkhwamphidpktiaetlapraephth aetokhrngsrangbukhlikphaphkhxngkhnikhcring xaccaxthibayiddikwa odyichklumlksnabukhlikphaphthiprbtwidimdi maladaptive karekidrwmkhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaphtameknth DSM III R rwmcaksunywicy 6 aehng 44 praephth PPD SzPD StPD ASPD BPD HPD NPD AvPD DPD OCPD PAPDParanoid PPD 8 19 15 41 28 26 44 23 21 30Schizoid SzPD 38 39 8 22 8 22 55 11 20 9Schizotypal StPD 43 32 19 4 17 26 68 34 19 18Antisocial ASPD 30 8 15 59 39 40 25 19 9 29Borderline BPD 31 6 16 23 30 19 39 36 12 21Histrionic HPD 29 2 7 17 41 40 21 28 13 25Narcissistic NPD 41 12 18 25 38 60 32 24 21 38Avoidant AvPD 33 15 22 11 39 16 15 43 16 19Dependent DPD 26 3 16 16 48 24 14 57 15 22Obsessive Compulsive OCPD 31 10 11 4 25 21 19 37 27 23Passive Aggressive PAPD 39 6 12 25 44 36 39 41 34 23thuksunyicheknthkhxng DSM III R epnkhxmulrwbrwmephuxkarphthnaeknthwinicchykhwamphidpktithangbukhlikphaphsahrb DSM IV TR twyxthiich PPD Paranoid Personality Disorder SzPD Schizoid Personality Disorder StPD Schizotypal Personality Disorder ASPD Antisocial Personality Disorder BPD Borderline Personality Disorder HPD Histrionic Personality Disorder NPD Narcissistic Personality Disorder AvPD Avoidant Personality Disorder DPD Dependent Personality Disorder OCPD Obsessive Compulsive Personality Disorder PAPD Passive Aggressive Personality Disorder karbrihar aekikhaenwkhidcaephaa aekikh mirupaebb modalities karrksababd PD tang khux 59 citbabdraybukhkhl Individual psychotherapy epnwithibabdhlk mithngaebbrayayawaelarayasn citbabdkhrxbkhrw Family therapy rwmthngkarbabdsahrbkhukhrxng citbabdklum Group therapy sahrbkarthanganphidpktikhxngbukhlikphaph sungichmakthisudepnxndbsxng karsuksathangcitwithya Psychoeducation xacichepnswnesrim klumthichwyknexng Self help group xacichepntwchwyinkarrksa karihya Psychiatric medication ephuxbabdxakaraelakarthahnathiphidpktikhxngbukhlikphaph hruxephuxsphawathiekidrwmkn Milieu therapy epnkarbabdaebbepnklumxyuxasy sungmiprawtiichephuxbabd PD rwm therapeutic communities dwymithvsdithicaephaaecaacngmakmayhruxmisankbabdhlaysankinaetlawithikarrksaehlani yktwxyangechn bangsankxaccaenncidbabdaebb psychodynamic hruxkarbabdthangprachanaelaphvtikrrm Cognitive behavioral therapy aelainkarrksacring phubabdxaccaichaenwkhidaebbphsmphsan eclectic naexawithikartang macakhlay sank ephuxihekhakbkhnikhnn nxkcaknnaelw yngmikarennpccysamythiduehmuxncachwyimwacaichethkhnikhihnrwmthnglksnakhxngphubabd echn echuxicid ekng epnhwngexaicis singthiihkhnikhthaid echnsamarthaesdngaelabxkthungkhwamyaklabakaelakhwamrusuk aelakarekhaknidrahwangphubabd khnikh echn tngepaephuxcaihekiyrtiknaelakn ihkhwamiwenuxechuxic aelakarmikhxbekht tarangtxipniepnphlthiidcakkarbabdthangchiwphaph Biological aelathangcit sngkhm Psychosocial kartxbsnxngkhxngkhnikhkhwamphidpktithangbukhlikphaphtxkarbabdthangchiwphaphaelathangcit sngkhm 44 Cluster hlkthankarthanganphidpktikhxngsmxng kartxbsnxngtxkarbabdthangchiwphaph kartxbsnxngtxkarbabdthangcit sngkhmA mihlkthanwakhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbcitephth schizotypal smphnthkborkhcitephth nxkcakpraephthniaelwimmi khnikhkhwamphidpktiaebbcitephthxaccadikhunthaichyarangbxakarthangcit swnpraephthxunimbngich imdi citbabdaebb supportive xaccachwyB hlkthanaesdngnysahrbaebbtxtansngkhm aelaaebbkakung nxkcaknnimmi yaaeksumesra antidepressant yarangbxakarthangcit yarksaxarmn mood stabilizer xacchwykhnikhaebbkakung swnpraephthxunimbngich aeysahrbaebbtxtansngkhm idphltang knsahrbaebbkakung aebbhlngtwexng aelaaebb histrionicC yngimprakt immikartxbsnxngodytrng yaxaccachwyxakarthiekidrwmdwy comorbid khuxkhwamwitkkngwlaelakhwamesrasum epnkarbabdthisamythisudinorkhklumni kartxbsnxngmikhwamtang kneruxngthathay aekikh karbriharaelakarbabdkhwamphidpktithangbukhlikphaphepneruxngthithathayaelakxkarotethiyng ephraawaorkhodyniyamaelw hmaythungkhwamyaklabakthikhngthnaelamiphltxkardaeninchiwithlayxyang sungbxykhrngrwmkhwamsmphnthkbbukhkhlxunkhnikhxaccamipyhainkaresaahaaelakaridkhwamchwyehluxcakxngkhkrtang tngaettn aelainkarrierimaelatharngkhwamsmphnthephuxkarbabdrksakbaephthyphyabalthiekiywkhxng therapeutic relationship hruxwahnwybrikarsukhphaphcitpracachumchnxaccamxngbukhkhlthiphidpktiechnniwa mipyhathisbsxnhruxyakekinip aelaxaccakidknkhnikhechnnihruxthimiphvtikrrmsubkn odyepnkarkidkntrnghruxodyxxm 60 pyhathikhnikhorkhnisamarthsranginxngkhkrtang thaihepnsphawathithathaythisudxyanghnungthicaekhaipcdkarnxkcakpyhaehlaniaelw bukhkhlxaccaimehnwabukhlikphaphkhxngtnphidpktihruxwakxpyha sungepnmummxngthixaccamiehtucakkhwamimruhruximmiwicarnyanekiywkbsphawakhxngtnexng hruxcakkarmxngpyhaaebb ego syntonic thiekhakbbukhlikphaphkhxngtnexng sungknimihtnehnlksnabukhlikphaphkhxngtninrupaebbthiimekhakbcudmunghmayaelaphaphphcnkhxngtn hruxcakkhwamcringphunthanwa immiesnkhidthichdecnhruxepnklangrahwangbukhlikphaphthi pkti aela phidpkti nxkcaknnaelw xyangnxy insngkhmchntawntk phuthiidrbwinicchywamikhwamphidpktithangcit camirxydangthangsngkhmaelacathukeluxkptibtikhawa personality disorder rwmexapyhatang makmay aetlapraephthmiradbkhwamrunaerngaelaradbkhwamphikarthitang kn aeladngnn khwamphidpktithangbukhlikphaphxaccatxngichaenwkhidaelakhwamekhaicthiaetktangcakkhwamphidpktithangcitxun odyphunthan yktwxyangechn khwamphidpktibangpraephthhruxkhnikhbangkhn xaccamilksnathxntwcaksngkhmaelahlikeliyngkhwamsmphnthkbkhnxunaebbtxenuxng aetbangphwkxaccamirayaykewnepnaebbklbipklbma xakarbangxyangthisud yngaeyyingkwann swnsudkhanghnungxaccaepnkartharayaelakarlaelytnexng inkhnathiswnsudxikdanhnungxaccamiphvtikrrmrunaernghruxsrangxachyakrrm xaccamipccypyhaxyangxunekidkhunekiywkhxngdwy echn kartidsaresphtid hruxkartidphvtikrrmbangxyang behavioral addiction echnkarelnkarphnnhruxkarchmsuxlamkxnacar khnkhnediywxaccaphaneknthkhwamphidpktithangbukhlikphaphhlaypraephthaelakhwamphidpktithangcitxun caepnrayaewlaidewlahnung hruxcaepnaebbtxenuxngkdi thaihhnwynganhlayhnwytxngprasannganknephuxbabdrksaphubabdineruxngnixaccahmdkalngicephraaxakarimdikhunintxntn hruxmikhwamkawhnaaelwkekidkarthxyhlng xaccamxngkhnikhwaimrwmmux imyxmrb eriykrxngmakekinip kawraw hruxmielhehliymhlxklx pyhaechnniidmikartrwcsxbpraedntang thnginphurksaaelakhnikh rwmthngthksathangsngkhm social skill karbriharcdkarpyhaaelakhwamekhriyd coping klikpxngkntwitcitsanuk defence mechanism hruxklyuththpxngkntwthithaxyangcngic kartdsintamsilthrrm moral judgment aelaaerngcungicthiepnehtukhxngphvtikrrmbangxyang hruxepnehtukhxngkhwamkhdaeyngrahwangbukhkhlbangxyangkhwamxxnaexkhxngkhnikhaelabangkhrngkhxngphurksa xaccamxngimehnephraakhwamaekrngindanxun hruxkhwamfuntwid mkcamikarklawwa phurksacaepnthicatxngrksakhxbekhtthangxachiph echnimiklchidmakekinip inkhnathitxngsamarthihaesdngxarmn aelarksakhwamsmphnthephuxbabdrksa therapeutic relationship thungxyangnn xaccamikhwamyaklabakinkaryxmrbolkaelamummxngthitangknrahwanghmxkbkhnikh hmxxaccakhidxyangphidphladwa khwamsmphnthaelakarptismphnththithaihtnrusukplxdphyaelasbayic camiphlechnediywkntxkhnikh twxyangsud xyanghnungkkhux bukhkhlthiekhyprasbkbkhwammungray khwamhlxklwng khwamimyxmrb khwamkawraw hruxkhwamtharuninchiwit inbangkrnixaccasbsn klw hruxsngsykaraesdngkhwamepnknexng khwamiklchid hruxptismphnthechingbwkxun xyangirkdi karsrangkhwamxunic karepidic aelakarsuxsarthichdecnpktiepneruxngthithngchwyaelacaepn aelaxaccatxngmikarphbknepnewlahlayeduxn epnaebbhyud erim kxnthicaphthnaepnkhwamechuxic aelwsamarthaekpyhakhxngkhnikhinradbsakhyid 61 prawti aekikhkhawa personality disorder epnkhathiichodymikhwamhmaypccubnxyangchdecn enuxngcakepnkhathiichthangkhlinik aelaephraalksnakhwamepnsthabnkhxngcitewchaephnpccubn sungthaihichkhaehmuxn kn aetkhwamhmaythiyxmrbkninpccubncatxngekhaicinbribthkhxngrabbhmwdhmuthimiprawtikarepliynaeplng echnkhxng khumux DSM IV aelakhxngkhumuxrunkxn minkwichakarbangthanesnxwa miaenwkhidobranthikhlay knsubipidcnthungsmykrisobran 3 35 yktwxyangechn nkprachykrikobran Theophrastus klawthunglksnanisy 29 xyangthiekhaehnwaphidipcakpkti aelakmimummxngthikhlaykninwthnthrrmexechiy xahrb aelaekhltikxikdwy swnaenwkhidthrngxiththiphlthiyngyunmananinolktawntkepnkhxngaephthychawkrikkaelninkhriststwrrsthi 2 ekiywkblksnabukhlikphaph sungekhaechuxmkbthatunathiepnehtukhxngorkh 4 xyang four humours thiesnxodyhipphxkhrathismummxngechnnixyuthnmacnthungkhriststwrrsthi 18 emuxphlkarthdlxngerimkhdkhaneruxngthatunaaelathvsdiekiywkbbukhlikphaphthimimakxn echn four temperaments aelaaenwkhidthangcitwithyaekiywkblksnanisy character aelaxtta self erimepneruxngthiaephrkracayxyangkwangkhwang inkhriststwrrsthi 19 khawa personality hmaythungkhwamsanukthibukhkhlmitxphvtikrrmkhxngtn odyepnsphawaphidpktithiechuxmkbphawasbepliyn altered state echn dissociation karichkhainkhwamhmayniepnehmuxnkbkarichkhainwliwa multiple personality disorder inkhumux DSM runaerk 62 aephthytawntkintnkhriststwrrsthi 19 erimcawinicchykhwamwiklcrit insanity rupaebbtang thiekiywkbxarmnhruxphvtikrrmwiprit thiduehmuxncaimmikhwambkphrxngthangechawnpyya khwamhlngphid delusion hruxprasathhlxn hallucination nayaephthychawfrngessphuidrbkarykyxngwaepnbidakhxngcitewchpccubn Philippe Pinel klawthungkhwamphidpktiechnniwa manie sans delire hmaythung xakarfungphlanthiimprakxbdwykhwamhlngphid aelwxthibaykrnitang thiekiywkhxngkbkarmikhwamokrthkhwameduxddalthiekinehtuhruxthiimsamarthxthibayid txmanayaephthychawxngkvs James Cowles Prichard idesnxaenwkhidkhlay knthieriykwa moral insanity sungidichwinicchykhnikhepnthswrrs txma khawa moral inthinihmaythungxarmn imichhmaythungsilthrrm aetepnrabbwinicchythimimulthanbangswnekiywkhxngkbsasna khwamechuxthangsngkhmaelathangsilthrrm odymikarmxnginechingsinhwnginkarichwithikarthangaephthyephuxrksa aeladngnn kdbngkhbthangsngkhmcaepntwkhwbkhumthidikwa 63 karcdhmwdhmuechnnitangcakaelakhrxbkhlumkwaniyamkhxngkhawa personality disorder thiichtx ma odyminkwichakarbangthanthiphthnakarwinicchyeyiyngniihcaephaakwaodyekiywkbkhwamesuxmthramthangsilthrrm moral degeneracy thikhlaykbaenwkhidekiywkbkhawa psychopath khnorkhcitaebbxnthphal thiichtxma niepnchwngewlaediywknthinayaephthychaweyxrmn Richard von Krafft Ebing srangkhwamniymihkbkhawasadismaelamaoskhism aelakhawa homosexuality rkrwmephs odycdepnpyhathangcitewchtxmacitaephthychayeyxrmn Julius Ludwig August Koch phyayamprbprungaenwkhidekiywkb moral insanity ihepnwithyasastrmakkhun aelainpi 1891 esnxkarichkhawa psychopathic inferiority odytngthvsdiwaepnkhwamphidpktiaetkaenid sunghmaythungrupaebbthisubenuxngaelayudhyunimidkhxngkarpraphvtiphidhruxphidpktithiprascakkhwampyyaxxnhruxkhwamecbpwy sungepnkhathiichaebbtngicihimmikartdsinthangsilthrrm aemwacamiraklukinkhwamechuxthangsasnakhrist ngankhxngekhaidklaymaepnwrrnkrrmphunthanekiywkbkhwamphidpktithangbukhlikphaphthiyngichknxyuthukwnni 64 khriststwrrsthi 20 aekikh intnkhristthswrrsthi 20 n ph citewchchaweyxrmnkhnhnung Emil Kraepelin rwmbthhwkhxwa psychopathic inferiority inwrrnkrrmthrngxiththiphlkhxngekhasahrbnksuksaaelaaephthy sungekhaaebngxxkepn 6 praephth khux excitable tunngay unstable imesthiyr eccentric phikl liar nkokhk swindler nktmchxokng ael quarrelsome changthaelaa hmwdhmuechnniniyamtamxachyakrthiphidpktithisudthiekhaehn odyaeykepnxachyakrtamxarmnchwwub xachyakrmuxxachiph aelakhncrcdthiepnorkh ekhayngklawthungkhwamphidpktiaebb paranoid sungsmynnhmaythungwa mixakarhlngphid khux delusional sungehmuxnkbaenwkhidkhxngorkhcitephth khwamphidpktiaebbhlngphid delusional disorder aelakhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbraaewngtxma aelabthwinicchysahrbaenwkhidhlngsudnnkerimrwmekhain DSM tngaetpi 1952 aelwtxmaerimtngaetpi 1980 DSM cungrwmaebb schizoid aelaaebbcitephthephimkhundwy kartikhwamthvsdipi 1921 khxngnayaephthychaweyxrmn Ernst Kretschmer cungthaihaeykpraephthehlanicakxikpraephthhnungthirwmekhain DSM inphayhlngkhux aebbhlikeliyng avoidant inpi 1933 citaephthychawrsesiykhnhnung Pyotr Gannushkin phimphhnngsux Manifestations of psychopathies statics dynamics systematic aspects epnnganaerk sudthiphyayamsrangaebblksnkhxngcitphyathi typology of psychopathies odyphicarnakarprbtwphid maladaptation karmixyuthwip aelakhwamesthiyrphaphwaepnxakarhlk 3 xyangkhxngorkhthangphvtikrrm ekhaaebngkhnorkhcitxxkepn 9 klum cluster khux 65 cycloids rwmthngphwkesrasumehtusphaphrangkay phwktunngayehtusphaphrangkay phwk cyclothymics aelaphwkxarmnimmnkhng asthenics rwmphwk psychasthenics schizoids rwmphwknkephxfn paranoiacs rwmphwkkhlngikhl fanatics epileptoids hysterical personalities bukhlikphaphaebbhisthieriy rwmphwknkokhkaebbepnorkh pathological liar unstable psychopaths orkhcitaebbimesthiyr antisocial psychopaths orkhcittxtansngkhm constitutionally stupid pyyaxxnehtusphaphrangkay txma citaephthyrksaedkwyrunchawrsesiyxikkhnhnung Andrey Yevgenyevich Lichko idrwmaebblksnnnbangswnekhainthvsdikhxngtnexng citaephthyphunisnicineruxngorkhcit bwkkbrupaebbxakarthixxnkwathiekhaeriykwa accentuations of character 66 inpi 1939 citaephthychawskxtaelndphuhnungtngthvsdi psychopathic states thitxmaniymichepnkhahmaythungphvtikrrmtxtansngkhm aetepnhnngsuxpi 1941 The Mask of Sanity khxngcitaephthychawxemriknthicdhmwdhmukhwamkhlaykhlungknthiekhaphbinnkoths thiepncuderimtnkhxngaenwkhidpccubnthangkhlinikekiywkbkhawa psychopathy orkhcit orkhxnthphal 67 odykhathiniymichthwipwa psychopath hmaythungkhnthiaesdngphvtikrrmtxtansngkhmxyangrunaerngaelaprascaksilthrrmhruxkhwamehnicphuxun 68 ehmuxnkbtwrayinphaphyntr isokh inchwngekuxbklangkhriststwrrsthi 20 thvsdicitwiekhraahkalngidkhwamniymodyepnphlnganchwngepliynstwrrskhxngsikmund frxydaelacitaephthyxun sungrwmaenwkhidekiywkb character disorders khwamphidpktikhxngxupnisy sungmxngwaepnpyhayunyngthiimidechuxmkbxakaridxakarhnungodyechphaa aetechuxmkbkhwamkhdaeyngphayinthiaephrhlay hruxkbkarkhdkhxngkhxngphthnakarpktiinwyedk odyepnpyhaekiywkbkhwamxxnaexthangxupnisy hruxepnphvtikrrmphidpktithithaodytngic aettangcakorkhprasath neurosis aelaorkhcit psychosis swnkhawa borderline kakung macakkhwamechuxwabukhkhlbangkhnmiphvtikrrmaebbkhrxmrwrahwangorkhsxngxyangnn aeladngnn karcdhmwdhmukhwamphidpktithangbukhlikphaphxun kidrbxiththiphlcakaenwkhidechnniechnkn rwmthngaebbphungpha aebbyakhidyatha aelaaebb histrionic 69 odyaebbhlngsuderimcdodyepnorkhkhxnewxrchnsungmkekidinhying txcaknncungepn hysterical personality aelatxmacungepliynepn histrionic personality disorder inrunhlng khxng DSM swnlksnanisyaebbduxengiyb passive aggressive hmxthharxemriknkhnhnung William Menninger epnphuniyamthangkhlinikinchwngsngkhramolkkhrngthi 2 inbribthkhxngptikiriyakhxngthharinkarechuxfngkhasngkhxngphubngkhbbycha sungtxmakahndepnkhwamphidpktithangbukhlikphaphin DSM 70 swnsastracarycitewchthimhawithyalykhxrenlkhnhnung Otto Kernberg mixiththiphltxaenwkhidkhxngkhwamphidpktiaebbkakung aelaaebbhlngtwexng sungrwmekhain DSM inpi 1980inchwngewlaediywkn sakhacitwithyabukhlikphaphkerimphthnakhuninhmunkwichakaraelainaephthyphurksa s kxrdxn xxlphxrtidtngthvsdilksnabukhlikphaph personality traits erimkhuntngaetkhristthswrrs 1920 aela s dr ehnri emxrriy tngthvsdithieriykwa personology sungmixiththiphltxphusnbsnunaenwkhideruxng PD hlkkhux s thioxdxr millxn mikarphthnakhxthdsxbephuxpraeminbukhlikphaph rwmthngkhxthdsxbechingphaphchay projective test echn aebbthdsxbrxrchkh Rorschach test aelakhxthdsxbepnaebbkhathamechn Minnesota Multiphasic Personality Inventory rawklangstwrrs dr ixesngk Hans Eysenck iderimwiekhraahlksnabukhlikphaph trait aelabukhlikphaphpraephthtang type aelacitaephthychayeyxrmnkhnhnung Kurt Schneider idsrangkhwamniyminkarichkhawa personality inthangkhlinik aethnkhawa character temperament hrux constitution thiekhyichknmakxncitaephthyxemriknerimyxmrbaenwkhidekiywkbkhwampnpwnthangbukhlikphaph personality disturbance in DSM runaerkinchwngkhritthswrrs 1950 sunginsmynnyngichaenwkhidcakcitwiekhraahodymakxyu txmaphasathiepnklang makkhuncungerimichin DSM II inpi 1968 aemwakhathiichaelakhaxthibayodymak caimehmuxnkhathiichinpccubn DSM III thitiphimphinpi 1980 mikhwamepliynaeplngthisakhy sungkkhux karrwmkhwamphidpktithangbukhlikphaphthnghmdlngin axis thisxngtanghakrwmkbpyyaxxn mental retardation odymunghmayephuxaesdngrupaebbthiyngyunkwa tangcakkhwamphidpktithangcit mental disorder in axis thihnung swnkhwamphidpktiaebb inadequate aelaaebb asthenic thuklbxxk aelaaebbxun aetkxxkepnaebbtang ephimkhun hruxepliyncakepnkhwamphidpktithangbukhlikphaph ipepnkhwamphidpktithrrmdathwip Sociopathic personality disorder sungichepnxikchuxhnungkhxng psychopathy orkhcit epliynchuxepn Antisocial Personality Disorder praephthtang odymakidkhaniyamthicaephaaecaacngephimkhun odymieknththicitaephthysamarthmimtirwmknidephuxthicathanganwicyhruxwinicchykhnikh 71 DSM III runprbprung ephimkhwamphidpktiaebb self defeating aelaaebb sadistic odymienguxnikhwacatxngmingansuksaephimkhuninaebbihmehlani sungthngsxngimidrwmin DSM IV aemwaaebb depressive thiesnxcaidrwmekha nxkcaknnaelw mikarepliynchuxaebb passive aggressive duxengiyb ipepnaebb negativistic xyangchwkhraw aelwcunglbxxkodysinechingtxma 72 inradbsakl mikhwamaetktangthangthsnkhtiekiywkbkarwinicchykhwamphidpktithangbukhlikphaph yktwxyangechncitaephthychaweyxrmnkhnhnung Kurt Schneider xangwa khwamphidpktiepnephiyngaekh khwamtang knthithungkhidkhwamphidpktikhxngcitic aeladngnn cungxacimichpraednthangcitewch sungepnmummxngthiyngmixiththiphlinpraethseyxrmnicnthungthukwnni swncitaephthychawxngkvsimidtxngkarthicarksakhwamphidpktieyiyngni hruxthicaphicarnawaepnkhwamphidpktiechnediywknkbkhwamphidpktithangcitxun sungmikarxthibaywa swnhnungmiehtumacakkarkhadthrphyakrthicacdkarrksaorkhkhxnghnwysukhphaphaehngchati National Health Service aelathsntiechinglbkhxngaephthytxphvtikrrmthismphnthkbkhwamphidpkti swninpraethsshrthxemrika thngrabbrksaphyabalthimithwip aelaprawtikarrksaorkhodycitwiekhraah epnmulehtuthiaephthyphyabalexkchncawinicchykhwamphidpktithangbukhlikphaphihkwang ephuxthicamioxkasihkarrksaphyabalkbkhnikhaebbtxiperuxy 73 inedk aekikhswnnirxephimetimkhxmul khunsamarthchwyephimkhxmulswnniidkhnikhinrayaebuxngtnaelarupaebbebuxngtnkhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaph caepntxngmikarrksaiherwthisudaelathaaebbmihlaymiti khux khwamphidpktiinkarphthnabukhlikphaph Personality development disorder phicarnawaepnpccyesiynginwyedk hruxepnrayaebuxngtn khxngkhwamphidpktithangbukhlikphaphinwyphuihy 74 nganwicyaesdngwathngedkaelawyrunmixakarthisakhythangkhlinikthikhlaykbkhxng PD inwyphuihy aelaxakarehlanimishsmphnthkbxakarinwyphuihy aelaepnehtuihekidphlthitamma 74 aebbcalxngmi 5 pccy aekikhduephimetimthi lksnabukhlikphaphihy 5 xyang odypi 2002 mingansiksathitiphimphkwa 50 nganekiywkbkhwamsmphnthrahwangaebbcalxngmi 5 pccy Five Factor Model twyx FFM kbkhwamphidpktithangbukhlikphaph 75 aelatngaetnnma kminganwicytx mathikhyaypraednni aelwihhlkthanechingprasbkarnephuxcaekhaickhwamphidpktithangbukhlikphaphodyich FFM 76 innganprithsnpi 2007 thithbthwnwrrnkrrmekiywkbkhwamphidpktithangbukhlikphaph nkcitwithyaphuhnungxangwa aebbcalxngbukhlikphaphmipccy 5 xyangidkaryxmrbxyangkwangkhwangwa aesdngokhrngsrangradbsungkhxnglksnabukhlikphaphthngthipktiaelaphidpkti 77 swnnganpi 2008 phbwaaebbcalxngni samarthphyakrnkhwamphidpktithangbukhlikphaphthng 10 xyangidxyangsakhy aelaphyakrniddikwa Minnesota Multiphasic Personality Inventory MMPI ineruxngkhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbkakung borderline aebbhlikeliyng avoidant aelaaebbphungpha dependent 78 phlnganwicythitrwcsxbkhwamsmphnthrahwang FFM kbkhwamphidpktithangbukhlikphaphthicdhmwdhmuin DSM mithwipxyangkwangkhwang yktwxyangechn innganwicypi 2003 chuxwa aebbcalxngmipccy 5 aelawrrnkrrmechingprasbkarnekiywkbkhwamphidpktithangbukhlikphaph nganwiekhraahxphiman The five factor model and personality disorder empirical literature A meta analytic review 79 phuekhiynidwiekhraahkhxmulcaknganwicyxun 15 nganephuxkahndwa khwamphidpktithangbukhlikphaphtangknhruxehmuxnknxyangir odysmphnthkblksnabukhlikphaphthiepnmul ekiywkbkhwamtang phlnganaesdngwa khwamphidpktiaetlaxyangmiophliflthang FFM odyechphaa thisamarthichxthibayaelaichphyakrnkhwamphidpktiid ephraawamirupaebbepnkdeknththiechphaaecaacng ekiywkbkhwamehmuxnkn khwamsmphnththiednthisudaelasmaesmxkhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaphhlayxyangkblksnabukhlikphaph kkhux khwamsmphnthechingbwkkb neuroticism aelakhwamsmphnthechinglbkbkhwamyinyxmehnic agreeableness khwamepidrbprasbkarn aekikh ineruxnglksnabukhlikphaphkhuxkhwamepidrbprasbkarn Openness to experience mipraedn 3 xyangekiywkblksnathiekhapraednkb PD khux khwambidebuxnthangprachan cognitive distortions khwamprascakwicarnyan insight aelakhwamhunhnphlnaeln impulsivity karmikhwamepidinradbsungsamarthsrangpyhakardaeninchiwitthangsngkhmhruxthangxachiph odyephxfnmakekinip khidaeplk miexklksnthiphlanipthw diffuse identity miepahmaythiimesthiyr aelakarimthatamsingthisngkhmkhadhwng 80 karmikhwamepidradbsungepnlksnakhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaphaebbcitephth khuxkhwamkhidthiaeplkaelaimsmburn aebbhlngtwexng khux karpraemintwexngmakekinip aelaaebbraaewng khuxiwtxkhwamepnptipkskhxngbukhkhlxun swnkarkhadwicarnyan sungaesdngkhwamepidrbprasbkarninradbta epnlksnakhxngkhwamphidpktithangbukhlikphaphthnghmd sungkcasamarthxthibaykhwamkhngthnkhxngrupaebbphvtikrrmthiprbtwidimdikhxngkhnphidpkti 81 pyhathismphnthkbkhwamepidinradbtakkhuxkhwamlabakinkarprbtwihekhakbkhwamepliynaeplng karyxmrbmummxngaelasitlchiwitthiaetktangknimid radbxarmnthildlng emotional flattening khwamimsamarthrabuaelaklawxthibayxarmnkhxngtn alexithymia aelaeruxngsnicthicakd 80 khwamyudhyunimid rigidity sungepnswnkhxngkarmikhwamepidrbprasbkarnta epnlksnathichdecnthisudthiphbin PD odyechphaainkhwamphidpktiaebbyakhidyatha swnlksnatrngknkhamkkhuxkhwamhunhnphlnaeln impulsivity sungepnlksnakhxngkhwamphidpktiaebbcitephthaelaaebbkakung 81 echingxrrthaelaxangxing aekikh 1 0 1 1 American Psychiatric Association 2013 Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders Fifth ed Arlington VA American Psychiatric Publishing pp 646 649 ISBN 978 0 89042 555 8 Berrios G E 1993 European views on personality disorders a conceptual history Comprehensive Psychiatry 34 1 14 30 doi 10 1016 0010 440X 93 90031 X PMID 8425387 3 0 3 1 3 2 Millon Theodore Davis Roger D 1996 Disorders of Personality DSM IV and Beyond New York John Wiley amp Sons Inc ISBN 0 471 01186 X Stetka Bret S MD Correll Christoph U 2013 05 21 A Guide to DSM 5 Personality Disorders Medscape Psychiatry Medscape CS1 maint uses authors parameter link Smelser N J Baltes P B b k Personality Disorders International encyclopedia of the social amp behavioral sciences Amsterdam Elsevier pp 11301 11308 doi 10 1016 B0 08 043076 7 03763 3 ISBN 978 0 08 043076 8 CS1 maint uses editors parameter link Kernberg O 1984 Severe Personality Disorders New Haven CT Yale University Press ISBN 0300053495 CS1 maint uses authors parameter link 7 0 7 1 Schacter DL Gilbert DT Wegner DM 2011 Psychology 2nd ed p 330 ISBN 1429237198 CS1 maint uses authors parameter link McWilliams Nancy 2011 07 29 Psychoanalytic Diagnosis Second Edition Understanding Personality Structure in the Clinical Process Guilford Press pp 196 ISBN 978 1 60918 494 0 subkhnemux 2011 12 02 Hickey Philip 2010 05 05 Personality Disorders Are Not Illnesses Behaviorismandmentalhealth com subkhnemux 2013 04 16 CS1 maint uses authors parameter link Ancowitz Nancy 2010 08 06 A Giant Step Backward for Introverts Psychologytoday com CS1 maint uses authors parameter link Bradshaw James 2006 11 01 Glasser headlines psychotherapy conference The National Psychologist CS1 maint uses authors parameter link Widiger TA 2003 10 Personality disorder diagnosis World Psychiatry 2 3 131 5 PMC 1525106 PMID 16946918 Check date values in date help ICD 10 Disorders of adult personality and behaviour WHO 2010 American Psychiatric Association 2013 Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders Fifth ed Arlington VA American Psychiatric Publishing pp 451 459 ISBN 978 0 89042 555 8 ICD 10 Specific Personality Disorders WHO 2010 International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems 10th Revision ICD 10 Version for 2010 Online Version Apps who int khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2018 12 10 subkhnemux 2013 04 16 Langmaack C 2000 Haltlose type personality disorder ICD 10 F60 8 The Psychiatrist 24 6 235 236 doi 10 1192 pb 24 6 235 b American Psychiatric Association 2013 Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders Fifth ed Arlington VA American Psychiatric Publishing pp 645 684 761 781 ISBN 978 0 89042 555 8 Nolen Hoeksema Susan 2014 Abnormal Psychology 6th ed 2 Penn Plaza New York NY 10121 McGrawHill pp 254 256 ISBN 0077499735 access date requires url help CS1 maint location link Fuller AK Blashfield RK Miller M Hester T 1992 Sadistic and self defeating personality disorder criteria in a rural clinic sample Journal of Clinical Psychology 48 6 827 31 doi 10 1002 1097 4679 199211 48 6 lt 827 AID JCLP2270480618 gt 3 0 CO 2 1 PMID 1452772 CS1 maint multiple names authors list link Millon Theodore 2004 Personality Disorders in Modern Life John Wiley amp Son CS1 maint uses authors parameter link Widiger Thomas 2012 The Oxford Handbook of Personality Disorders Oxford University Press ISBN 978 0199735013 CS1 maint uses authors parameter link American Psychiatric Association 2013 Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders Fifth ed Arlington VA American Psychiatric Publishing pp 645 684 ISBN 978 0 89042 555 8 Paranoid Personality Disorder Symptoms Psych Central 2014 subkhnemux 2014 06 20 http www mayoclinic org diseases conditions schizoid personality disorder basics definition con 20029184 http www mayoclinic org diseases conditions schizotypal personality disorder basics definition con 20027949 Antisocial Personality Disorder Symptoms Psych Central 2014 subkhnemux 2014 06 20 Borderline Personality Disorder Symptoms Psych Central 2014 subkhnemux 2014 06 20 Histrionic Personality Disorder psychologytoday com Avoidant Personality Disorder Symptoms Psych Central 2014 Missing or empty url help access date requires url help Dependent Personality Disorder Symptoms Psych Central 2014 subkhnemux 2014 06 20 Grohol John Depression Missing or empty url help access date requires url help CS1 maint uses authors parameter link Grohol John 8 Keys to Eliminating Passive Aggressiveness Missing or empty url help access date requires url help CS1 maint uses authors parameter link 34 0 34 1 Randle K 2008 Masochism and Where it Comes From khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2019 04 06 subkhnemux 2014 06 20 CS1 maint uses authors parameter link 35 0 35 1 35 2 Murray Robin M aelakhna 2008 Psychiatry Fourth ed Cambridge University Press ISBN 978 0 521 60408 6 Explicit use of et al in authors help CS1 maint uses authors parameter link Tyrer P 2000 Personality Disorders Diagnosis Management and Course Second ed London Arnold Publishers Ltd pp 126 32 ISBN 9780723607366 CS1 maint uses authors parameter link Nur U Tyrer P Merson S Johnson T 2004 Relationship between clinical symptoms personality disturbance and social function a statistical enquiry Irish Journal of Psychological Medicine 21 19 22 CS1 maint multiple names authors list link Tyrer P Alexander J 1979 Classification of Personality Disorder British Journal of Psychiatry 135 2 238 242 doi 10 1192 bjp 135 2 163 PMID 486849 CS1 maint multiple names authors list link Tyrer P Mitchard S Methuen C Ranger M 2003 Treatment rejecting and treatment seeking personality disorders Type R and Type S Journal of Personality Disorders 17 3 263 268 doi 10 1521 pedi 17 3 263 22152 PMID 12839104 CS1 maint multiple names authors list link Ettner Susan L 2011 9 Personality Disorders and Work Work Accommodation and Retention in Mental Health CS1 maint uses authors parameter link Ettner Susan L Maclean Johanna Catherine French Michael T 2011 01 01 Does Having a Dysfunctional Personality Hurt Your Career Axis II Personality Disorders and Labor Market Outcomes Industrial Relations A Journal of Economy and Society 50 1 149 173 doi 10 1111 j 1468 232X 2010 00629 x Board Belinda Jane Fritzon Katarina 2005 Disordered personalities at work Psychology Crime and Law 11 17 32 doi 10 1080 10683160310001634304 de Vries Manfred F R Kets 2003 The Dark Side of Leadership Business Strategy Review 14 3 26 doi 10 1111 1467 8616 00269 44 0 44 1 44 2 44 3 44 4 44 5 44 6 Tasman Allan aelakhna 2008 Psychiatry Third ed John Wiley amp Sons Ltd ISBN 978 0470 06571 6 Explicit use of et al in authors help CS1 maint uses authors parameter link Nolen Hoeksema Susan Abnormal Psychology 6th ed McGraw Hill p 258 ISBN 9781308211503 46 0 46 1 46 2 46 3 46 4 DSM IV and DSM 5 Criteria for the Personality Disorder www DSM5 org American Psychiatric Association Missing or empty url help ICD 10 Clinical descriptions and diagnostic guidelines Disorders of adult personality and behavior PDF WHO Widiger T A Shedler J 1993 The DSM III R categorical personality disorder diagnoses A critique and an alternative Psychological Inquiry 4 2 75 90 doi 10 1207 s15327965pli0402 1 PMID 9989563 Costa PT Widiger TA 2001 Personality disorders and the five factor model of personality 2nd ed Washington DC American Psychological Association CS1 maint uses authors parameter link Samuel DB Widiger TA 2008 A meta analytic review of the relationships between the five factor model and DSM personality disorders A facet level analysis PDF Clinical Psychology Review 28 8 1326 1342 doi 10 1016 j cpr 2008 07 002 PMC 2614445 PMID 18708274 CS1 maint multiple names authors list link Widiger Thomas A Costa Paul T 2012 Personality Disorders and the Five Factor Model of Personality Third ed ISBN 978 1 4338 1166 1 CS1 maint uses authors parameter link Miller PM Lisak D 1999 Associations Between Childhood Abuse and Personality Disorder Symptoms in College Males Journal of Interpersonal Violence 14 6 642 656 doi 10 1177 088626099014006005 subkhnemux 2010 05 25 CS1 maint multiple names authors list link 53 0 53 1 Cohen Patricia Brown Jocelyn Smailes Elizabeth 2001 Child Abuse and Neglect and the Development of Mental Disorders in the General Population Development and Psychopathology 13 4 981 999 PMID 11771917 CS1 maint multiple names authors list link What Causes Psychological Disorders American Psychological Association 2010 khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim emux 2010 11 20 Lenzenweger Mark F 2008 Epidemiology of Personality Disorders Psychiatric Clinics of North America 31 3 395 403 doi 10 1016 j psc 2008 03 003 PMID 18638642 Huang Y 2009 06 30 DSM IV personality disorders in the WHO World Mental Health Surveys The British Journal of Psychiatry 195 1 46 53 doi 10 1192 bjp bp 108 058552 PMC 2705873 PMID 19567896 Unknown parameter coauthors ignored author suggested help Lenzenweger Mark F Lane Michael C Loranger Armand W Kessler Ronald C 2006 DSM IV Personality Disorders in the National Comorbidity Survey Replication Biological Psychiatry 62 6 553 564 doi 10 1016 j biopsych 2006 09 019 PMC 2044500 PMID 17217923 Yang M Coid J Tyrer P 2010 08 31 Personality pathology recorded by severity national survey The British Journal of Psychiatry 197 3 193 199 doi 10 1192 bjp bp 110 078956 PMID 20807963 Magnavita Jeffrey J 2004 Handbook of personality disorders theory and practice John Wiley and Sons ISBN 978 0 471 48234 5 CS1 maint uses authors parameter link Davison S E 2002 Principles of managing patients with personality disorder Advances in Psychiatric Treatment 8 1 1 9 doi 10 1192 apt 8 1 1 Treating Personality Disorder Creating Robust Services for People with Complex Mental Health Needs 2010 ISBN 0 203 84115 8 Suryanarayan Geetha 2002 The History of the Concept of Personality Disorder and its Classification PDF The Medicine Publishing Company Ltd lingkesiy Augstein HF 1996 J C Prichard s concept of moral insanity a medical theory of the corruption of human nature Medical History 40 3 311 43 doi 10 1017 S0025727300061329 PMC 1037128 PMID 8757717 Gutmann P 2008 Julius Ludwig August Koch 1841 1908 Christian philosopher and psychiatrist History of Psychiatry 19 74 Pt 2 202 14 doi 10 1177 0957154X07080661 PMID 19127839 Gannushkin P B 2000 Klinika psihopatij ih statika dinamika sistematika Izdatelstvo Nizhegorodskoj gosudarstvennoj medicinskoj akademii ISBN 5 86093 015 1 Lichko A E 2010 Psihopatii i akcentuacii haraktera u podrostkov Rech ISBN 978 5 9268 0828 2 Arrigo B A 2001 06 01 The Confusion Over Psychopathy I Historical Considerations PDF International Journal of Offender Therapy and Comparative Criminology 45 3 325 344 doi 10 1177 0306624X01453005 psychopath Babylon English English 5 1 Babylon Ltd 2005 one one who demonstrates severely antisocial behavior and an absence of normal moral and emotional functioning Heim Amy Westen Drew 2004 Theories of personality and personality disorders PDF psychsystems net khlngkhxmuleka ekbcak aehlngedim PDF emux 2012 01 11 subkhnemux 2016 03 28 CS1 maint uses authors parameter link Lane C 2009 02 01 The Surprising History of Passive Aggressive Personality Disorder PDF Theory amp Psychology 19 1 55 70 doi 10 1177 0959354308101419 Hoermann Simone Zupanick Corinne E Dombeck Mark 2011 01 The History of the Psychiatric Diagnostic System Continued mentalhelp net Check date values in date help CS1 maint uses authors parameter link Oldham John M 2005 Personality Disorders FOCUS 3 372 382 Kendell RE 2002 The distinction between personality disorder and mental illness The British Journal of Psychiatry 180 2 110 115 doi 10 1192 bjp 180 2 110 74 0 74 1 Krueger R Carlson Scott R 2001 Personality disorders in children and adolescents Current Psychiatry Reports 3 1 46 51 doi 10 1007 s11920 001 0072 4 PMID 11177759 Widiger TA Costa PT Jr 2002 Widiger TA Costa PT Jr b k Five Factor model personality disorder research Personality disorders and the five factor model of personality 2nd ed Washington DC US American Psychological Association pp 59 87 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Mullins Sweatt SN Widiger TA 2006 Krueger R Tackett J b k The five factor model of personality disorder A translation across science and practice Personality and psychopathology Building bridges New York Guilford pp 39 70 CS1 maint uses authors parameter link CS1 maint uses editors parameter link Clark LA 2007 Assessment and diagnosis of personality disorder Perennial issues and an emerging reconceptualization Annual Review of Psychology 58 227 257 246 the five factor model of personality is widely accepted as representing the higher order structure of both normal and abnormal personality traits CS1 maint uses authors parameter link Bagby R Michael Sellbom Martin Costa Paul T Jr Widiger Thomas A 2008 04 Personality and Mental Health 2 2 55 69 Check date values in date help Missing or empty title help CS1 maint uses authors parameter link Saulsman LM Page AC 2004 The five factor model and personality disorder empirical literature A meta analytic review Clinical Psychology Review Elsevier Science CS1 maint uses authors parameter link 80 0 80 1 Piedmont RL Sherman MF Sherman NC 2012 Maladaptively High and Low Openness The Case for Experiential Permeability Journal of Personality 80 1641 68 doi 10 1111 j 1467 6494 2012 00777 x PMID 22320184 CS1 maint uses authors parameter link 81 0 81 1 Piedmont RL Sherman MF Sherman NC Dy Liacco GS Williams JEG 2009 Using the Five Factor Model to Identify a New Personality Disorder Domain The Case for Experiential Permeability Journal of Personality and Social Psychology 96 6 1245 1258 doi 10 1037 a0015368 PMID 19469599 CS1 maint uses authors parameter link aehlngkhxmulxun aekikhMarshall W amp Serin R 1997 Personality Disorders In Sm M Turner amp R Hersen Eds Adult Psychopathology and Diagnosis New York Wiley 508 541 Murphy N amp McVey D 2010 Treating Severe Personality Disorder Creating Robust Services for Clients with Complex Mental Health Needs London Routledge Millon Theodore and Roger D Davis contributor Disorders of Personality DSM IV and Beyond 2nd ed New York John Wiley and Sons 1995 ISBN 0 471 01186 X Yudofsky Stuart C 2005 Fatal Flaws Navigating Destructive Relationships With People With Disorders of Personality and Character 1st ed Washington D C ISBN 1 58562 214 1 Personality Disorders Foundation National Mental Health Association personality disorder fact sheet Personality Disorders information leaflet from The Royal College of Psychiatristsekhathungcak https th wikipedia org w index php title khwamphidpktithangbukhlikphaph amp oldid 9561660, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม