fbpx
วิกิพีเดีย

ต้นสมัยกลาง

สำหรับความหมายอื่น ดูที่ สมัยกลาง

ต้นสมัยกลาง (อังกฤษ: Early Middle Ages) เป็นสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป เริ่มขึ้นหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันและดำเนินต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณห้าร้อยปีโดยเริ่มตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 500 จนกระทั่งมาถึงราวปี ค.ศ. 1000 ต้นสมัยกลางสิ้นสุดแล้วจึงต่อด้วยสมัยกลางยุครุ่งโรจน์

จักรพรรดินีธีโอโดรา พระอัครมเหสีในจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 ในงานโมเสกของคริสต์ศตวรรษที่ 6 ภายในมหาวิหารซันวีตาเล เมืองราเวนนา
หนังสือสำหรับพิธีศาสนาจากคริสต์ศตวรรษที่ 8 (หอสมุดวาติกัน, Reg. Lat. 316. foll. 131v/132r)

การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน (ค.ศ. 372-ค.ศ. 410)

 
Die Hunnen im Kampf mit den Alanen, (ชาวฮันในยุทธการกับชาวอาลัน) โดย โยฮันน์ เนโพมุค ไกเกอร์, ค.ศ. 1873 เป็นภาพของชาวอาลันซึ่งเป็นชนในกลุ่มชาวอิหร่านผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนือและทางตะวันออกของทะเลดำถูกรุกรานให้ต้องย้ายถิ่นฐานโดยชาวฮันในตอนต้นของสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานในยุโรปให้กระจัดกระจายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน
 
การโยกย้ายถิ่นฐานของชนเจอร์มานิคในคริสต์ศตวรรษที่ 5 เกิดจากการรุกรานและทำลายราชอาณาจักรกอธิคโดยชาวฮัน ระหว่าง ค.ศ. 372 จนถึงปี ค.ศ. 375 กรุงโรมเองก็ถูกยึดและปล้นสดมโดยชาววิซิกอท ในปี ค.ศ. 410 และโดยแวนดัล ในปี ค.ศ. 455

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 วัฒนธรรมของโรมันก็เริ่มแสดงสัญญาณของความเสื่อมโทรมในด้านต่าง ๆ ที่ทั้งสภาวะทางความเป็นอยู่ในเมืองต่าง ๆ การค้าขายทางทะเล และประชากร ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 จำนวนเรือแตกที่พบในทะเลเมดิเตอเรเนียนมีจำนวนเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของที่พบเมื่อเทียบกับในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ประชากรของจักรวรรดิโรมันลดลงจาก 65 ล้านคนในปี ค.ศ. 150 ลงเหลือเพียง 50 ล้านคนในปี ค.ศ. 400 เท่ากับลดลงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ บ้างก็ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสมัยอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงในยุโรป ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 300 ถึง ค.ศ. 700 เมื่ออุณหภูมโดยทั่วไปในโลกลดลงต่ำกว่าปกติซึ่งเป็นผลทำให้ผลิตผลทางการเกษตรกรรมลดลง

การโยกย้างถิ่นฐานลงมาทางใต้จากสแกนดิเนเวียของกลุ่มชนเจอร์มานิคไปจนถึงทะเลดำในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3 ก่อตัวกันเป็นสหพันธ์ที่มีอำนาจพอ ๆ กับกลุ่มชนซาร์มาเชียน (Sarmatians) จากเอเชียกลางที่โรมันต้องปราบปรามก่อนหน้านั้น ในโรมาเนียในบริเวณทุ่งหญ้าสเตปป์ตอนเหนือของทะเลดำ ชาวกอทซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งในกลุ่มเจอร์มานิคก็เข้าไปตั้งถิ่นฐานและก่อตั้งราชอาณาจักรขึ้นสองราชอาณาจักร–เธอร์วิง (Thervings) และ กรืทธัง (Greuthungs) แต่มาถูกทำลายชนฮั่นที่เข้ามารุกรานในบริเวณนั้นระหว่าง ค.ศ. 372 ถึงปี ค.ศ. 375 ชนฮั่นเป็นสหพันธ์ของชนเผ่าจากเอเชียกลางผู้ก่อตั้งจักรวรรดิร่วมกับชนชั้นผู้นำที่พูดภาษาเตอร์กิก ฮั่นมีความสามารถในการยิงธนูจากหลังม้าที่กำลังควบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำซึ่งเป็นความสามารถที่นำความสำเร็จมาสู้การโจมตีรุกรานดินแดนต่าง ๆ ชนกอธต้องหนีไปหลบภัยในดินแดนที่เป็นของของโรมัน (ค.ศ. 376) โดยยอมตกลงเข้าไปตั้งถิ่นฐานโดยไม่ถืออาวุธ แต่บางกลุ่มก็ติดสินบนเจ้าหน้าที่ชายแดนให้นำอาวุธติดตัวเข้าไปได้

เมื่อโรมันยังรุ่งเรืองความมีวินัยและความมีระเบียบในการจัดระบบของทหารโรมันทำให้เป็นกองทหารที่มีประสิทธิภาพ แต่โรมันถนัดที่จะเป็นทหารราบมากกว่าที่จะเป็นทหารม้า เพราะทหารราบสามารถฝึกให้อยู่รวมเป็นกองได้ในสนามรบ แต่ถ้าเป็นทหารม้าก็มักจะเป็นโอกาสให้หันหลังหนีเมื่อเผชิญหน้ากับอันตราย ทหารของจักรวรรดิโรมันไม่เหมือนทหารของอนารยชนตรงที่เป็นทหารที่ต้องได้รับการฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอและต้องมีค่าจ้างซึ่งเป็นรายจ่ายที่เป็นภาระต่อจักรวรรดิ เมื่อการเกษตรกรรมและการเศรษฐกิจตกต่ำการเก็บภาษีที่บางส่วนนำมาบำรุงกองทัพก็ทำได้ยากยิ่งขึ้น ระบบต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมันจึงตกอยู่ในสภาวะที่บีบคั้น

ในสงครามกอธิค (ค.ศ. 376–382) กอธลุกขึ้นปฏิวัติต่อต้านกองทัพโรมันในยุทธการอาเดรียโนเปิล (ค.ศ. 378) จักรพรรดิวาเลนส์แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออกชิงโจมตีกองทหารราบเธอร์วิงภายใต้การนำของฟริติเกิร์นโดยไม่รอกองหนุนของจักรพรรดิกราเชียนแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางมาสมทบ ขณะที่ฝ่ายโรมันและเธอร์วิงกำลังต่อสู้กันอยู่ทหารม้าของฝ่ายกรืทธังก็เดินทางมาสมทบกับเธอร์วิง ซึ่งทำให้ฝ่ายโรมันได้รับความเพลี่ยงพล้ำและมีทหารรอดไปได้จากการต่อสู้ไปได้เพียงหนึ่งในสาม ความเสียหายครั้งนี้เป็นความเสียหายอันใหญ่หลวงของกองทัพโรมันมาตั้งแต่ยุทธการที่กันไน (Cannae) ที่เกิดขึ้นเมื่อ 216 ปีก่อนคริสต์ศักราชตามหลักฐานจากการบันทึกของนักประวัติศาสตร์การทหารโรมันอัมมิอานัส มาร์เซลลินัส กองทหารหลักของจักรวรรดิโรมันตะวันออกถูกทำลายอย่างย่อยยับ จักรพรรดิวาเลนส์เองก็ทรงถูกสังหาร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กอธสามารถเข้าทำลายคาบสมุทรบอลข่านได้อย่างมีเสรี รวมทั้งการทำลายที่เก็บอาวุธต่าง ๆ ตามฝั่งแม่น้ำดานูป นักประวัติศาสตร์อังกฤษเอ็ดเวิร์ด กิบบอนให้ความเห็นว่า “ทหารโรมันผู้ซึ่งมักจะสงบสำรวมเมื่อกล่าวถึงการกระทำที่ “ยุติธรรม” เมื่อกล่าวพฤติกรรมของการกระทำของกองทหารของตนเองในการปราบปรามผู้อื่น มิได้ออกความเห็นแต่อย่างใดเมื่อกองทหารของตนเองมาถูกทำลายโดยอนารยชน”

จักรวรรดิโรมันที่ขาดกำลังทรัพย์หรืออาจจะขาดพลังใจในการที่จะก่อสร้างกองทหารอาชีพขึ้นใหม่แทนกองกำลังที่เสียไปที่อาเดรียโนเปิลก็เริ่มหันไปพึ่งกองทัพของอนารยชนในการต่อสู้แทนจักรวรรดิ จักรวรรดิโรมันตะวันออกสามารถติดสินบนกอธด้วยบรรณาการ แต่จักรวรรดิโรมันตะวันตกไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นเดียวกันได้ สติลิโค (Stilicho) แม่ทัพโรมันตะวันตกผู้เป็นลูกครึ่งแวนดัลดึงกองกำลังจากบริเวณเขตแดนลุ่มแม่น้ำไรน์มาป้องกันการรุกรานอิตาลีโดยชาววิซิกอท ในระหว่างปี ค.ศ. 402 ถึงปี ค.ศ. 403 และโดยชาวกอทอีกกลุ่มหนึ่งในระหว่างปี ค.ศ. 406 ถึงปี ค.ศ. 407

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 406 ทางพรมแดนก็พ่ายแพ้ เมื่อต้องถอยร่นจากการรุกรานอย่างรวดเร็วของฮั่น, แวนดัล, ซูบิ, และเมื่ออาลันข้ามแม่น้ำไรน์ที่แข็งตัวเข้ามาโจมตีไม่ไกลจากไมนทซ์ หลังจากนั้นกลุ่มชนเหล่านี้ก็บุกเข้าไปในกอล และตามด้วยชาวเบอร์กันดี และกลุ่มชนอลามานนิ ภายใต้บรรยากาศของความเสียหายที่ได้รับและความเกลียดชังอนารยชนที่ตามมาจักรพรรดิโฮโนเรียสก็เรียกตัวสติลิโคกลับมาสังหารในปี ค.ศ. 408 สติลิโคยอมเสียหัว “ด้วยความกล้าหาญอันควรค่าแก่การเป็นนายพลโรมันคนสุดท้าย” ตามที่บรรยายของเอ็ดเวิร์ด กิบบอน หลังจากนั้นจักรพรรดิโฮโนเรียสก็ทรงเหลือแต่เพียงที่ปรึกษาที่ขาดสมรรถภาพ สองปีหลังจากนั้นวิซิกอธนำโดยอลาริคที่ 1 ก็ตีกรุงโรมแตกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 410 ระหว่างสามวันหลังจากนั้นอลาริคก็เผาเมืองและไล่สังหารผู้คนไปเป็นจำนวนมากจนถนนหนทางก็นองไปด้วยเลือดและเต็มไปซากศพเป็นกองเพนิน วังและคฤหาสน์ต่างก็ถูกปล้นเอาของมีค่า ผู้ใดที่ต้องสงสัยว่าซ่อนของมีค่าก็ถูกทรมานให้บอกที่ซ่อน แต่กอธผู้เพิ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์มิได้ทำลายคริสต์ศาสนสถาน หลังจากการทำลายเมืองแล้วก็มีเพียงผู้คนจำนวนไม่มากนักที่รอดมาได้เพราะเข้าไปหลบหนีภัยอยู่ในวาติกัน

สมัยการโยกย้ายถิ่นฐานในยุโรป (ค.ศ. 400-700)

 
มอโซเลียมของจักรพรรดิธีโอดอริคในราเวนนาเป็นสถาปัตยกรรมแบบออสโตรกอธแห่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่

ชาวกอทและแวนดัลเป็นเพียงชนกลุ่มแรกที่เข้ามารุกรานจักรวรรดิโรมันที่ต่อมาตามมาด้วยชนกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายระลอกจากยุโรปตะวันตก บางกลุ่มก็ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำสงครามและการปล้นสดม และมีความชิงชังในวิถีชีวิตของชาวโรมัน แต่บางกลุ่มก็ชื่นชมและต้องการจะเอาแบบอย่างโดยการเป็นผู้สืบอำนาจและวัฒนธรรมต่อจากจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทำให้พระเจ้าธีโอดอริคมหาราชพระมหากษัตริย์ของออสโตรกอธทรงออกความเห็นว่า “โรมันตกยากทำตัวเป็นกอธ กอธได้ดีทำตัวเป็นโรมัน”

ประชาชนของจักรวรรดิที่เป็นโรมันคาทอลิกเป็นประชาชนที่คุ้นเคยกับสังคมที่มีระเบียบแบบแผนของอาณาจักรซึ่งเป็นสังคมที่มีระบบการปกครองและการบริหารมานาน แต่ชนเจอร์มานิคที่เข้ามาใหม่ไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตของการเป็นเมืองหรือระบบการเป็นเมืองที่ประกอบด้วยระบบการบริหาร ระบบเงินตรา ระบบการศึกษา และอื่น ๆ และเป็นผู้ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ลัทธิเอเรียสซึ่งผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกผู้เคร่งครัดในจักรวรรดิถือกันว่าเป็นลัทธิที่นอกรีต

สมัยการโยกย้ายถิ่นฐานในยุโรปมักจะเรียกกันผิด ๆ ว่าเป็น “ยุคมืด” โดยนักประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตก หรือ “Völkerwanderung” (สมัยชนเร่ร่อน) โดยนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน คำว่า “ยุคมืด” อาจจะมาหมดความนิยมใช้กันตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สาเหตุหนึ่งก็เพราะความหมายของคำทำให้เกิดความเข้าใจผิดถึงสภาวะโดยทั่วไปของยุค และจากการค้นคว้าทางโบราณคดีเมื่อไม่นานมานี้ก็พบว่าตรงกันข้ามกับความเชื่อโดยทั่วไปที่ว่าเป็นสมัยที่ล้าหลังทางด้านศิลปะ เทคโนโลยี การปกครอง และระบบสังคม[ต้องการอ้างอิง]

ผู้ตั้งถิ่นฐานก่อนหน้าที่จะมีการโยกย้ายไม่มีผลกระทบกระเทือนเท่าใดนัก ขณะที่พลเมืองในฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนยังคงพูดภาษาละตินท้องถิ่น ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นกลุ่มภาษาโรมานซ์ แต่ภาษากลุ่มนี้ก็แทบไม่เหลือร่องรอยในอาณาบริเวณที่ชาวแองโกล-แซกซันพิชิตได้ที่ในปัจจุบันคืออังกฤษ แต่ราชอาณาจักรบริตานิคทางตะวันตกยังคงพูดภาษากลุ่มบริธอนิค (Brythonic) นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษาแล้วชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานก็ยังเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบสังคม กฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา และ การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย

 
Around 500, the วิซิกอธปกครองดินแดนที่ปัจจุบันคือฝรั่งเศส สเปน และโปรตุเกส

Pax Romana” ของจักรวรรดิโรมันที่เป็นระบบที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความปลอดภัยในการค้าขายและการผลิตสินค้า และส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรม และ การศึกษาในดินแดนที่ไกลออกไปของจักรวรรดิ ระบบนี้ก็มาสลายตัวลงไปและมาแทนที่ด้วยการปกครองโดยผู้ครองระดับท้องถิ่นที่บางครั้งก็เป็นชนท้องถิ่นชั้นสูงที่รับระบบโรมันเข้ามาปฏิบัติ หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นลอร์ดของผู้ต่างวัฒนธรรม แต่วัฒนธรรมโรมันในบริเวณกาลเลียอควิทาเนีย, กาลเลียนาร์โบเนนซิส, อิตาลีตอนใต้และซิซิลี, ฮิสปาเนียเบติคา หรือสเปนตอนใต้ และฝั่งไอบีเรียนเมดิเตอเรเนียนก็ยังคงใช้ปฏิบัติกันต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 7

การแตกสลายของระบบเศรษฐกิจและระบบสังคมโดยทั่วไปที่จักรวรรดิโรมันได้วางรากฐานไว้เป็นผลทำให้การปกครองกลายเป็นระบบที่อำนาจการปกครองกระจายออกไปจากศูนย์กลางเป็นอำนาจของการปกครองระดับท้องถิ่นที่ไม่ขึ้นอยู่กับศูนย์กลางใหญ่เช่นโรม การล่มสลายโดยทั่วไปเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากการขาดความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งสินค้าเพื่อทำการค้าขาย ซึ่งเป็นผลให้การผลิตสินค้าสำหรับส่งออกและการค้าขายในดินแดนต่าง ๆ ในจักรวรรดิต้องมาหยุดชะงักลง อุตสาหกรรมสำคัญที่ขึ้นอยู่กับการค้าขายเช่นการทำเครื่องปั้นดินเผาก็หายไปแทบจะทันทีในสถานที่เช่นอังกฤษ แต่ศูนย์กลางเช่นทินทาเจลในคอร์นวอลล์และที่อื่น ๆ อีกหลายแห่งก็ยังคงสามารถทำการค้าขายสินค้าฟุ่มเฟือยได้มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 แต่ในที่สุดการติดต่อเหล่านี้ก็สลายตัวไป เช่นเดียวกับระบบการบริหาร การศึกษา และการทหาร การสูญเสีย “cursus honorum” หรือระดับตำแหน่งในการรับหน้าที่ราชการนำไปสู่การยุบระบบการศึกษาซึ่งทำให้มีประชากรที่ขาดการศึกษาเพิ่มขึ้นแม้แต่ในหมู่ผู้นำ

ในบริเวณที่เดิมเป็นบริเวณของโรมันก็สูญเสียประชากรไปประมาณ 20% ระหว่างปี ค.ศ. 400 ถึงปี ค.ศ. 600 หรือลดลงไปถึงหนึ่งในสามระหว่างปี ค.ศ. 150 ถึงปี ค.ศ. 600 ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ปริมาณการค้าขายก็ลดลงไปถึงจุดที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์ ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนเรือแตกที่พบตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ที่มีจำนวนน้อยลงเหลือเพียง 2% ของจำนวนที่พบในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ซึ่งประจวบกับการหดตัวของผลิตผลทางเกษตรกรรมราวปี ค.ศ. 500 และ ในช่วงเวลาเดียวกับที่อุณภูมิของโลกเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วที่ทราบได้จากการศึกษาวงแหวนของต้นไม้ การใช้ระบบเกษตรกรรมสองแปลงของโรมันซึ่งเป็นระบบที่ปลูกพืชแปลงหนึ่งและทิ้งอีกแปลงหนึ่งไว้และไถคราดเพื่อกำจัดวัชพืชก็หยุดชะงักลง เมื่อระบบสถาบันต่าง ๆ ค่อย ๆ ล่มสลายลงเจ้าของที่ดินก็ไม่สามารถหยุดยั้งทาสจากการหนีไปจากที่ดินทางเกษตรกรรมซึ่งก็เป็นผลทำให้ระบบเกษตรกรรมเสื่อมโทรมลง และการเกษตรกรรมอย่างมีระบบก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย ซึ่งมีผลทำให้จำนวนผลิตผลต่ำลงจนเหลือเพียงระดับที่ทำแต่เพียงพอกิน

กรุงโรมเดิมเป็นเมืองที่มีความสำคัญที่สุดทางการเมือง มีความมั่งคั่งที่สุด และ เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมาเกือบหนึ่งพันปี ที่ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 มีประชากรกว่าหนึ่งล้านคน แต่เมื่อมาถึงยุคกลางตอนต้นจำนวนประชากรของโรมก็ลดลงไปเหลือเพียง 20,000 คน เมืองที่เคยมีผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่นก็แทบจะกลายเป็นเมืองร้างที่มีเพียงผู้อยู่อาศัยอยู่กันเป็นหย่อม ๆ ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างที่ปรักหักพังและเป็นป่าเป็นพง

ปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชากรยุบตัวลงมากคือการระบาดของโรค ฝีดาษไม่ได้เข้ามาเผยแพร่ในยุโรปตะวันตกจนกระทั่งราว ค.ศ. 581 เมื่อนักบุญเกรกัวร์แห่งตูร์บรรยายลักษณะของผู้ป่วยที่เป็นลักษณะเดียวกับผู้ป่วยด้วยฝีดาษ โรคระบาดที่เข้ามาเป็นระลอก ๆ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนประชากรในชนบทลดจำนวนลงไปเป็นอันมาก แต่ก็ไม่มีรายละเอียดเท่าใดนักเพราะรายละเอียดส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับโรคระบาดสูญหายไปหมด แต่ประมาณกันว่าโรคระบาดจัสติเนียนคร่าชีวิตคนไปราว 100 ล้านคนทั่วโลก นักประวัติศาสตร์บางคนเช่นโจไซยาห์ ซี. รัสเซลล์ (ค.ศ. 1958) ตั้งข้อเสนอว่ายุโรปทั้งหมดสูญเสียประชากรไปราว 50 ถึง 60% ระหว่างปี ค.ศ. 541 ถึงปี ค.ศ. 700 หลังจากปี ค.ศ. 750 โรคระบาดใหญ่ก็มิได้เกิดขึ้นในยุโรปอีกจนกระทั่งมาถึงการระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 14

จักรวรรดิไบแซนไทน์

ดูบทความหลักที่: จักรวรรดิไบแซนไทน์

การเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 1 ในปี ค.ศ. 395 ตามมาด้วยการแบ่งแยกของจักรวรรดิโรมันระหว่างพระราชโอรสสองพระองค์เป็นจักรวรรดิโรมันตะวันตก และ จักรวรรดิโรมันตะวันออก จักรวรรดิโรมันตะวันตกสลายตัวออกไปเป็นอาณาจักรเยอรมันย่อย ๆ เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันออกในคอนสแตนติโนเปิลกลายมาเป็นจักรวรรดิที่สืบต่อจากจักรวรรดิโรมันโบราณ หลังจากจักรวรรดิโรมันตะวันออกเปลี่ยนมาใช้ภาษากรีกแทนภาษาละตินเป็นภาษาราชการ นักประวัติศาสตร์ก็เรียกจักรวรรดินี้ว่า “ไบแซนไทน์” ชาวตะวันตกก็ค่อย ๆ กล่าวถึงผู้อยู่ในจักรวรรดิไบแซนไทน์ว่า “กรีก” แทนที่จะเป็น “โรมัน” แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิไบแซนไทน์เองยังมักจะเรียกตนเองว่า “Romaioi” หรือ “โรมัน”

 
ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 (ปกครอง ค.ศ. 527-ค.ศ. 565) ไบแซนไทน์สามารถฟื้นฟูอำนาจของจักรวรรดิโรมันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นอีกครั้งในอิตาลีและแอฟริกาเหนือ

จักรวรรดิโรมันตะวันออกมีจุดประสงค์ที่จะรักษาสิทธิในการควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและตะวันออกที่ทำให้จักรวรรดิเป็นจักรวรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในบรรดารัฐต่าง ๆ ในยุโรป ไบแซนไทน์ใช้ความสามารถทั้งในทางการทหาร และในทางการทูตในการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการถูกรุกรานจากอนารยนที่โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามา ความหวังที่จะฟื้นฟูอำนาจทางตะวันตกมาเป็นความจริงอยู่ชั่วระยะหนึ่งในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 ผู้ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 527 จนถึงปี ค.ศ. 565 ไม่แต่เพียงแต่จะฟื้นฟูจักรวรรดิโรมันตะวันตกเท่านั้นแต่พระองค์ยังทรงวางรากฐานกฎหมายโรมันที่เป็นกฎหมายที่ใช้กันอย่างกว้างขวางต่อมา และในบางบริเวณใช้มาจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นอกจากนั้นก็ทรงสร้างสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดและมีวิธีการก่อสร้างที่ซับซ้อนที่สุดของยุคกลางตอนต้น--อะยาโซเฟียในคอนสแตนติโนเปิล แต่โรคระบาดจัสติเนียนก็มาทำให้สถานะการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อคอนสแตนติโนเปิลเองเสียประชากรไปถึง 40% ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ประชากรของยุโรปลดจำนวนลงไปเป็นอันมากในสมัยยุคกลางตอนต้น

จักรพรรดิมอริซและจักรพรรดิเฮราคลิอัสต้องประสบกับการรุกรานของยูเรเชียอาวาร์ และ ชนสลาฟ หลังจากการทำลายของอาวาร์และสลาฟแล้วบริเวณส่วนใหญ่ของคาบสมุทรบอลข่านก็สูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนมาก ในปี ค.ศ. 626 คอนสแตนติโนเปิลที่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสมัยยุคกลางตอนต้นก็สามารถต่อต้านการรุกรานของอาวาร์และเปอร์เชียได้ ภายในยี่สิบถึงสามสิบปีจักรพรรดิเฮราคลิอัสก็ทรงสามารถพิชิตเปอร์เชียได้โดยทรงยึดเมืองหลวงและทรงสั่งให้ประหารชีวิตสุลต่านซาสซานียะห์ (Sassanid) แต่พระองค์ก็มีพระชนมายุยืนพอที่ได้เห็นสิ่งที่ทรงได้มาเสียไป โดยการที่ฝ่ายอาหรับสามารถพิชิตซีเรีย, ปาเลสไตน์, อียิปต์ และ แอฟริกาเหนือได้ ที่เป็นผลมาจากความแตกแยกทางศาสนา และขบวนการนอกรีตที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม

แม้ว่าจักรพรรดิเฮราคลิอัสจะทรงสามารถต่อต้านการล้อมเมืองคอนสแตนติโนเปิลโดยฝ่ายอาหรับได้ถึงสองครั้ง (ในระหว่างปี ค.ศ. 674 ถึง ค.ศ. 677 และในปี ค.ศ. 717) ไบแซนไทน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ก็ต้องประสบกับปัญหาหลายอย่างที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของจักรวรรดิที่รวมทั้งลัทธิทำลายรูปเคารพ และ ความขัดแย้งกันของฝักฝ่ายต่าง ๆ ภายในราชสำนัก

บัลการ์และสลาฟถือโอกาสจากความแตกแยกในการเข้ารุกรานอิลิเรีย, เธรซ และ กรีซ หลังจากได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในยุทธการออนกัล (Battle of Ongal) ในปี ค.ศ. 680 แล้วกองทัพบัลการ์และสลาฟก็เดินทางไปทางใต้ของเทือกเขาบอลข่าน และได้รับชัยชนะต่อไบแซนไทน์อีกครั้ง จนไบแซนไทน์ต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกที่เป็นการหยามเกียรติ โดยที่ต้องยอมรับการก่อตั้งจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 ติดกับไบแซนไทน์เอง

เพื่อเป็นการเพิ่มความมั่นคงต่อภัยรอบด้าน ไบแซนไทน์ก็ทำการปฏิรูปทางการบริหารใหม่โดยการรวมการบริหารทั้งทางการเมืองและทางการทหารเข้าด้วยกันภายใต้อำนาจของขุนพล การปฏิรูประบบนี้ทำให้เกิดตระกูลที่เป็นเจ้าของที่ดินใหญ่ ๆ ขึ้นหลายตระกูลที่มีอำนาจปกครองเขตภูมิภาคต่าง ๆ ในจักรวรรดิ และเมื่อมีอำนาจมากขึ้นต่างตระกูลต่างก็จะอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์

เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 อาณาเขตของไบแซนไทน์ก็ลดน้อยลงแต่กระนั้นคอนแสตนติโนเปิลก็ยังคงเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและมั่งคั่งที่สุดในโลกจะเทียบได้ก็แต่ Ctesiphon ของซาสซานียะห์และแบกแดดของอับบาซียะห์ ที่จำนวนประชากรประมาณระหว่าง 300,000 ถึง 400,000 คนเพราะจักรพรรดิใช้วิธีต่าง ๆ ในการควบคุมจำนวนประชากรของเมืองหลวง ขณะนั้นเมืองคริสเตียนใหญ่อื่น ๆ ก็มีแต่โรม (ประชากร 50,000 คน) และ ซาโลนิคา (ประชากร 30,000 คน) ก่อนที่คริสต์ศตวรรษที่ 8 จะสิ้นสุดลง กฎหมายชาวนาก็เริ่มช่วยในการฟื้นฟูการเกษตรกรรมในไบแซนไทน์ เช่นทีสารานุกรมบริตานิคาฉบับ ค.ศ. 2006 กล่าวว่า “สังคมไบแซนไทน์ที่เป็นสังคมที่ใช้เท็คโนโลยีเป็นสังคมที่ก้าวหน้ากว่าสังคมร่วมสมัยในยุโรปตะวันตก การใช้เครื่องมือที่ทำด้วยเหล็กก็มีใช้กันในระดับหมู่บ้าน โรงสีที่ใช้พลังน้ำก็มีอยู่โดยทั่วไป และทุ่งนาที่ปลูกถั่วก็ผลิตธัญญาหารที่เต็มไปด้วยโปรตีน”[1]

 
แผ่นงาช้างเป็นภาพพระเยซูสวมมงกุฎให้จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 7 (ราว ค.ศ. 945)

การขึ้นครองราชย์ของราชวงศ์มาซิโดเนีย (Macedonian dynasty) ในปี ค.ศ. 867 เป็นการสิ้นสุดของสมัยของความวุ่นวายทางการเมือง และการเข้าสู่ยุคทองของจักรวรรดิ ขณะที่ขุนพลผู้มีความสามารถเช่นไนซิโฟรัส โฟคาส (Nicephorus Phocas) ทำการขยายดินแดนออกไป จักรพรรดิมาซิโดเนียเช่นลีโอเดอะไวส์ และ จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 7 ก็มีบทบาทในการส่งเสริมความเจริญทางวัฒนธรรมในคอนสแตนติโนเปิลในสมัยที่มารู้จักกันว่า “ยุคเรอเนสซองซ์มาซิโดเนีย” ประมุขผู้มีหัวก้าวหน้าของมาซิโดเนียเหยียดหยามประมุขของยุโรปตะวันตกว่าเป็นอนารยชนผู้ขาดการศึกษา และยังคงอ้างสิทธิในการปกครองของอาณาจักรตะวันตกอยู่บ้าง แม้ว่ายุโรปตะวันตกจะมีความเจริญขึ้นบ้างในรัชสมัยของชาร์เลอมาญในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อพระองค์ทรงได้รับการราชาภิเษกในกรุงโรมในปี ค.ศ. 800 แต่เหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้ทำให้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติของประมุขของไบแซนไทน์ต่อจักรวรรดิตะวันตกแต่อย่างได และโดยทั่วไปแล้วทางตะวันออกก็มิได้ให้ความสนใจในด้านการเมืองหรือการวิวัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของ “อนารยชนตะวันตก” เท่าใดนัก

แต่ผู้ที่มาสนใจในเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการปกครองของจักรวรรดิโรมันตะวันออกก็ได้แก่เพื่อนบ้านทางตอนเหนือของคอนสแตนติโนเปิลที่รวมทั้งสลาฟ, บัลการ์ และคาซาร์ ที่ต้องการที่จะปล้นสดมหรือแสวงหาความเจริญทางวัฒนธรรมของโรมัน การโยกย้ายของชนเจอร์มานิคลงทางใต้ก่อให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานกันอย่างขนานใหญ่ของชนสลาฟผู้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ถูกทิ้งร้างของจักรวรรดิโรมัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ชนสลาฟก็เคลื่อนย้ายไปทางตะวันตกทางแม่น้ำเอลเบ, ทางใต้ในบริเวณแม่น้ำดานูบ และทางตะวันออกในบริเวณแม่น้ำนีพเพอร์ เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชนสลาฟก็ขยายตัวไปยังบริเวณที่ไม่ค่อยมีผู้อยู่อาศัยทางใต้และตะวันออกของพรมแดนธรรมชาติและผสมกลมกลืนไปกับชนท้องถิ่นที่รวมทั้งอิลลิเรีย (Illyrian) and ฟินโน-อูกริค (Finno-Ugric)

ความรุ่งเรืองของศาสนาอิสลาม (ค.ศ. 632-ค.ศ. 750)

 
จักรวรรดิอาหรับขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่าง ค.ศ. 632 ถึง ค.ศ. 750
  การขยายดินแดนโดยมุฮัมมัดระหว่าง ค.ศ. 622-ค.ศ. 632
  การขยายดินแดนระหว่าง ค.ศ. 632-ค.ศ. 661
  การขยายดินแดนโดยจักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะห์ระหว่าง ค.ศ. 661-ค.ศ. 750

หลังจากการเสียชีวิตของมุฮัมมัดศาสดาของศาสนาอิสลามแล้ว อะบูบักรฺ (و بكر الصديق) (ปกครอง ค.ศ. 632-34) ก็กลายเป็น “คอลีฟะหฺ” หรือ “กาหลิป” คนแรกของอาณาจักรที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ภายใต้ร่มความศรัทธาของศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาหรับ กาหลิปรอชิดีน (Rashidun) สมัยแรกเป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของศาสนา ขณะที่กาหลิปสมัยต่อมาได้รับเลือกโดยสภา “shūrā” เช่นเดียวกับการเลือกประมุขของชนเผ่าอาหรับ อะบูบักรฺริเริ่มการรณรงค์ “Ridda wars” เพื่อรวบรวมดินแดนตอนกลางของคาบสมุทรอาหรับเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม (ค.ศ. 633) อุมัร (ปกครอง ค.ศ. 634-ค.ศ. 644) ผู้เป็นกาหลิปคนที่สองต่อจากอะบูบักรฺ ประกาศตนเป็น “ผู้นำแห่งศรัทธาชน” (amīr al-mu 'minīn) ในคริสต์ทศวรรษ 630 อุมัรก็สามารถนำซีเรีย, จอร์แดน, ปาเลสไตน์ และ อิรักเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม ส่วนอียิปต์ได้มาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ในสมัยของอุษมาน (Uthman ibn Affan- عثمان بن) กาหลิปคนที่สามในปี ค.ศ. 645 และกาหลิปคนที่สี่อะลีย์ก็ได้ชื่อว่าเป็นกาหลิป "ผู้ทรงธรรมและเป็นปราชญ์ผู้ประเสริฐ" ผู้เป็นกาหลิปของยุคทองของอิสลาม

กาหลิปอะลีย์เริ่มสมัยปกครองขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างที่สับสนวุ่นวายหลังจากการถูกฆาตกรรมของอุษมาน ที่ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองอิสลามครั้งที่หนึ่ง (First Fitna) ที่นำโดยมุอาวิยะห์ข้าหลวงแห่งซีเรีย เมื่อมุฮัมมัดลูกเขยของอะลีย์ถูกสังหารขณะที่กำลังสวดมนต์อยู่ที่คูฟาห์ (Kufah) ในอิรัก มุอาวิยะห์ก็ก่อตั้งจักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะห์ (ค.ศ. 661ค.ศ. 750) โดยมีดามัสกัสเป็นเมืองหลวง ผู้สนับสนุนอะลีย์ที่รวมทั้งบุตรชายฮุซัยน์ อิบน์ อะลี (Husayn-حسین) ก็นำกองทัพเข้าต่อต้านฝ่ายอุมัยยะห์แต่ได้รับความพ่ายแพ้ กลุ่มนี้และผู้สืบเชื้อสายก็กลายเป็นนิกายชีอะหฺ

ภายใต้การปกครองของอับดุลมาลิค (Abd al-Malik - عبد الملك بن مروان‎) แห่งราชวงศ์อุมัยยะห์ระหว่าง ค.ศ. 685 ถึง ค.ศ. 705 อุมัยยะห์ก็รุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด และสามารถพิชิตดินแดนได้ตั้งแต่เอเชียกลาง, ริมฝั่งแอฟริกาเหนือ ไปจนถึงสเปน อับดุลมาลิคเปลี่ยนระบบในดินแดนต่าง ๆ ที่ยึดได้ให้เป็นอาหรับโดยการกำจัดข้าราชการกรีกและเปอร์เชียและแทนที่ด้วยข้าราชการอาหรับ

 
The 10th-century สุเหร่าแห่งกอร์โดบา

การพิชิตคาบสมุทรไอบีเรีย (Moorish invasion of Iberia) เริ่มขึ้นเมื่อมัวร์ (ส่วนใหญ่คือชนเบอร์เบอร์และอาหรับบ้างบางส่วน) เข้ารุกรานคาบสมุทรไอบีเรียของวิซิกอธที่เป็นคริสเตียนในคาบสมุทรไอบีเรียในปี ค.ศ. 711 ภายใต้การนำของผู้นำเบอร์เบอร์ทาริค อิบนฺ ซิยาด (Tariq ibn Ziyad-طارق بن زياد‎) ทาริคเริ่มการรุกรานโดยการขึ้นฝั่งที่ยิบรอลตาร์เมื่อวันที่ 30 เมษายนและค่อย ๆ เดินทัพรุกขึ้นไปทางเหนือ ในปีต่อมากองทัพของทาริคได้รับการหนุนโดยกองทัพของผู้บัญชาการมูซา อิบุน นูแซร์ (موسى بن نصير‎) ระหว่างแปดปีของการรณรงค์คาบสมุทรไอบีเรียเกือบทั้งหมดก็ตกมาอยู่ในการครอบครองของมุสลิมนอกจากบริเวณเล็กทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของ (อัสตูเรียส) และบริเวณส่วนใหญ่ของชนบาสค์ในบริเวณเทือกเขาพิเรนีส บริเวณที่ยึดครองโดยเบอร์เบอร์และอาหรับได้ชื่อเป็นภาษาอาหรับว่า “อัล-อันดาลุส” และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการขยายตัวของจักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะห์

แต่ความพยายามที่ล้มเหลวในการยึดคอนสแตนติโนเปิลเป็นครั้งที่สองในปี ค.ศ. 717 เป็นการลดอำนาจและความเป็นผู้นำของอุมัยยะห์ลง เมื่อได้รับชัยชนะในไอบีเรียแล้วฝ่ายอาหรับก็เดินทัพขึ้นเหนือแต่ไปพ่ายแพ้ต่อชาร์ลส์ มาร์เตลผู้นำของจักรวรรดิแฟรงค์ในยุทธการปัวติเยร์ในปี ค.ศ. 732 เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 750 จักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะห์ถูกโค่นโดยจักรวรรดิกาหลิปอับบาซียะห์ ราชวงศ์อุมัยยะห์ก็ถูกสังหารไปจนแทบหมดสิ้น

อับดุลราห์มานที่ 1 (Abd-ar-rahman I) ผู้นำอุมัยยะห์ที่รอดมาได้ก็หนีไปสเปนและไปก่อตั้งราชวงศ์อุมัยยะห์ขึ้นใหม่เป็นอาณาจักรอิเมียร์แห่งกอร์โดบา ในปี ค.ศ. 756 เปแปงเดอะชอร์ทพระราชโอรสในชาร์ลส์ มาร์เตลก็ยึดนาร์บอนน์ (Narbonne) และพระนัดดาชาร์เลอมาญก็ทรงก่อตั้ง “ภูมิภาคชายแดนสเปน” (Marca Hispanica) ตลอดแนวaเทือกเขาพิเรนีสทางตอนเหนือของสเปนที่ปัจจุบันคือแคว้นคาเทโลเนีย และทรงยึดจิโรนาคืนในปี ค.ศ. 785 และ บาร์เซโลนาในปี ค.ศ. 801

การรวมตัวของจักรวรรดิกาหลิปสลายตัวลงในช่วงเวลาเก้าร้อยปีมาเป็น Idrisid และ Aghlabid ในแอฟริกาเหนือ และซามานิยะห์ (Samanid) ในเปอร์เชียก็ได้รับอิสรภาพ ต่อมาชีอะหฺฟาติมียะห์ก็ไปก่อตั้งจักรวรรดิกาหลิปฟาติมียะห์คู่แข่งขึ้นในตูนิเซียในปี ค.ศ. 920) ไม่นานนักอุมัยยะห์ในสเปนก็ประกาศตนเป็นกาหลิปในปี ค.ศ. 929 ราชวงศ์ Buwayhid (ชีอะหฺเปอร์เชีย) มีอำนาจขึ้นในการครอบครองแบกแดดในปี ค.ศ. 934 ในปี ค.ศ. 972 ฟาติมียะห์ก็ได้รับชัยชนะต่ออียิปต์

การฟื้นตัวของจักรวรรดิยุโรปตะวันตก (ค.ศ. 700-ค.ศ. 850)

 
จนกระทั่งการเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 814 ชาร์เลอมาญทรงปกครองจักรวรรดิที่รวมทั้งคาเทโลเนียในปัจจุบัน ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก

สถานะการณ์ในยุโรปตะวันตกเริ่มกระเตื้องขึ้นหลังจากปี ค.ศ. 700 เมื่อยุโรปเริ่มประสบกับความรุ่งเรืองทางผลผลิตทางเกษตรกรรมที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อยก็มาจนถึงปี ค.ศ. 1100 การศึกษาสิ่งที่ตกค้างอยู่ในหินปูนบนพื้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสรุปว่าระดับรังสีแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติมากระหว่าง ค.ศ. 600 จนถึง ค.ศ. 900 สัญญาณแรกที่แสดงถึงการฟื้นตัวของยุโรปเกิดขึ้นที่สมรภูมิในการป้องกันเมืองคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 717 และเมื่อชนแฟรงค์ได้รับชัยชนะต่ออาหรับในยุทธการปัวติเยร์ ในปี ค.ศ. 732

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ก็ได้มีการวิวัฒนาการระบบการบริหารและการสังคมขึ้นโดยทั่วไปในบริเวณที่เป็นอดีตจักรวรรดิโดยครอบครัวขุนนางผู้มีอำนาจในบริเวณต่าง ๆ และอาณาจักรใหม่ ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยออสโตรกอธในอิตาลี, วิซิกอธในสเปน และ โปรตุเกส, แฟรงค์และเบอร์กันดีในกอล และเยอรมนีตะวันตก ดินแดนเหล่านี้ยังคงเป็นดินแดนคริสเตียนและผู้พิชิต (วิซิกอธ และ ลอมบาร์ด) หรือ ผู้ถูกพิชิต (ออสโตรกอธ และ แวนดัล) ที่เคยนับถือลัทธิเอเรียนิสม์ก็เปลี่ยนมาเป็นโรมันคาทอลิก แต่ชนแฟรงค์เปลี่ยนโดยตรงจากการเป็นเพกันมานับถือโรมันคาทอลิกภายใต้การนำของโคลวิสที่ 1

การผสมผสานระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ที่รวมทั้งวัฒนธรรมของผู้ที่เข้ามาใหม่, ความจงรักภักดีในกลุ่มชนนักรบ, วัฒนธรรมคลาสสิกที่ยังหลงเหลืออยู่ และอิทธิพลคริสเตียนทำให้เกิดสังคมที่มีลักษณะใหม่ที่มีพื้นฐานมาจากระบบศักดินาดั้งเดิม แต่สิ่งที่หายไปคือระบบการบริหารจากส่วนกลาง และ การสนับสนุนการมีทาสของสถาบันของโรมัน แองโกล-แซ็กซอนในอังกฤษก็เริ่มเปลี่ยนจากการนับถือพหุเทวนิยมไปนับถือคริสต์ศาสนาโดยนักสอนศาสนาที่มาถึงเกาะราวปี ค.ศ. 600 แต่ไม่เหมือนกับฝรั่งเศสคริสต์ศาสนาในอังกฤษมีด้วยกันสองระบบ--โรมันคาทอลิกทางใต้ และ คริสต์ศาสนาแบบเคลติคทางตอนเหนือ ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสภาสงฆ์แห่งวิทบีย์ (Synod of Whitby) ในปี ค.ศ. 664 หลังจากการประชุมแล้วโรมันคาทอลิกก็กลายเป็นลัทธิที่มีอิทธิพลเหนือกว่า

อิตาลี

ลอมบาร์ดผู้เข้ามาในอิตาลีครั้งแรกในปี ค.ศ. 568 ภายใต้อัลบอยน์ (Alboin) ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นทางตอนเหนือโดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ปาเวีย ในตอนแรกลอมบาร์ดก็ไม่สามาระเอาชนะอาณาจักรเอ็กซาเคทแห่งราเวนนา (Exarchate of Ravenna), ดูคาทัส โรมานัส, และคาลาเบรีย และ อพูเลียได้ อีกสองร้อยปีต่อมาลอมบาร์ดก็มุ่งมั่นที่จะเอาชนะดินแดนเหล่านี้จากจักรวรรดิไบแซนไทน์

 
ถาดจากสมบัติแห่งกูร์ดอง (Treasure of Gourdon)

รัฐลอมบาร์ดเป็นรัฐอานารยชนทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริงเมื่อเทียบกับรัฐเจอร์มานิคในสมัยแรกของยุโรปตะวันตก ในสมัยแรกเป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจ โดยมีดยุกมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองดัชชีของตนเองโดยเฉพาะทางด้านใต้ในดัชชีแห่งสโปเลโต และ ดัชชีแห่งเบเนเวนโต สิบปีหลังจากการเสียชีวิตของเคล็ฟในปี ค.ศ. 575 ลอมบาร์ดก็มิได้เลือกพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ สมัยนี้เป็นสมัยที่เรียกว่า “สมัยการปกครองของดยุก” (Rule of the Dukes) กฎหมายฉบับแรกเขียนเป็นภาษาละตินที่ไม่ดีนักในปี ค.ศ. 643: “ประมวลกฎหมายโรธาริ” (Edictum Rothari) ซึ่งเป็นการบันทึกกฎหมายที่ถ่ายทอดกันมาโดยปากเปล่า

เมื่อมาถึงปลายสมัยอันยาวนานของลูทพรันด์ (Liutprand, King of the Lombards) (ค.ศ. 717-ค.ศ. 744) รัฐลอมบาร์ดก็กลายเป็นรัฐที่มีระบอบการปกครองที่มีระบบและมีความมั่นคง แต่ความเสื่อมโทรมก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กษัตริย์องค์ต่อมาเดซิเดเรียส (Desiderius) ผู้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากดยุกก็พ่ายแพ้และต้องยอมยกอาณาจักรให้แก่ชาร์เลอมาญในปี ค.ศ. 774 อาณาจักรลอมบาร์ดมาสิ้นสุดลงในสมัยการปกครองของแฟรงค์ เมื่อพระมหากษัตริย์ของแฟรงค์เปแปงเดอะชอร์ทถวายดินแดนทางตอนเหนือที่ส่วนใหญ่ปกครองโดยลอมบาร์ดและอาณาจักรที่ขึ้นต่อจักรวรรดิแฟรงค์ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ “อาณาจักรพระสันตะปาปา” จนกระทั่งถึงสมัยที่นครรัฐขึ้นมามีอำนาจในคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 บริเวณลอมบาร์ดจึงค่อยฟื้นตัว

ทางด้านใต้ของอิตาลีก็เริ่มเป็นสมัยอนาธิปไตยแต่ดัชชีแห่งเบเนเว็นโตสามารถดำรงตัวอยู่ได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซาราเซ็นก็พิชิตซิซิลีได้และเริ่มเข้ามตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทร เมืองตามริมฝั่งทะเลของทะเลติร์เรเนียน (Tyrrhenian Sea) แยกตัวจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ รัฐต่าง ๆ ต่างก็ต่อสู้กันเองเรื่อยมาจนกระทั่งมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 11 เมื่อนอร์มันเข้ามายึดบริเวณทางตอนใต้ของอิตาลีได้ทั้งหมดในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11

อังกฤษ

ดูบทความหลักที่: อังกฤษสมัยแองโกล-แซ็กซอน
 
หมวกเหล็กแองโกล-แซ็กซอนพบที่ซัททันฮู (คริสต์ศตวรรษที่ 7)

ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 ชนหลายกลุ่มในเยอรมนี, ฮอลแลนด์ และ เดนมาร์กเริ่มเข้ามารุกรานบริเตนซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกทิ้งหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ตามที่เชื่อกันมาหัวหน้าเผ่าจูทสองคน เฮนจิสต์และฮอร์ซา (Hengist and Horsa) ได้รับสัญญาจากพระเจ้าแผ่นดินบริเตนวอร์ติเกิร์น (Vortigern) ว่าจะมอบดินแดนให้ถ้าสามารถกำจัดผู้รุกรานชาวพิคท์ได้ ตาม “พงศาวดารแองโกล-แซ็กซอน” หลังจากที่ได้รับชัยชนะต่อพิคท์แล้วฝ่ายจูทก็ “สงข่าวไปยังแองเกลนและเรียกกองกำลังให้มาสมทบเพิ่มขึ้น และกล่าวถึงความไร้คุณค่าของชนบริเตน และคุณค่าของดินแดน” ซึ่งเท่ากับเป็นการเริ่มต้นการเข้ามารุกรานและการพิชิตางตอนกลางและตอนใต้ของบริเตนโดยกลุ่มชนต่าง ๆ ของกลุ่มชนเจอร์มานิคที่รวมทั้ง จูท แองเกิลส์ และ แซ็กซอน ชนเคลต์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนหน้าในบริเตนนั้นถูกสังหารไปราว 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลานี้ หลังจากนั้นแองโกล-แซ็กซอนก็สามารถก่อตั้งอาณาจักรขึ้นหลายอาณาจักรที่มีความสำคัญและความยั่งยืนต่าง ๆ กันจนกระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช (ค.ศ. 849-ค.ศ. 899) แห่งเวสเซ็กซ์ผู้ทรงนำกลุ่มแองโกล-แซ็กซอนต่าง ๆ ในการต่อต้านกองการรุกรานของเดนส์ และเริ่มการรวบรวมอังกฤษเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่มาสำเร็จเอาในปี ค.ศ. 926 เมื่อนอร์ทธัมเบรียถูกผนวกโดยพระเจ้าเอเธลสตันผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าอัลเฟรด

จักรวรรดิแฟรงค์

 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของชาร์เลอมาญในกรุงโรม

เมโรแว็งเชียงก่อตั้งตนเองในบริเวณที่เดิมเป็นจังหวัดโรมันในกอล หลังจากได้รับชัยชนะต่ออลามานนิในยุทธการโทลบิแยคแล้วโคลวิสที่ 1 ก็เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาและวางรากฐานของจักรวรรดิแฟรงค์ที่กลายมาเป็นรัฐมหาอำนาจในจักรวรรดิคริสเตียนตะวันตกในยุคกลาง

เริ่มต้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาร์เลอมาญรวบรวมอาณาบริเวณต่าง ๆ ในฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก และอิตาลีตอนเหนือปัจจุบันเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิคาโรแล็งเชียง สมัยการปกครองของชาร์เลอมาญเป็นสมัยที่มีความรุ่งเรืองทางการศึกษาและทางวัฒนธรรมที่นักประวัติศาสตร์ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เรียกว่า “ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียง

ในคริสต์ทศวรรษที่ 840 หลังจากจักรวรรดิแฟรงค์ถูกแบ่งแยกยุโรปก็เข้าสู่สมัยการรุกรานจากอนารยชนอีกครั้งหนึ่ง เริ่มด้วยไวกิงและตามด้วยมาจยาร์

ระบบมาเนอร์

ดูบทความหลักที่: ระบบมาเนอร์

ราวปี ค.ศ. 800 การทำการเกษตรกรรมอย่างมีระบบก็กลับมาแพร่หลายอีกครั้งในยุโรปในรูปของระบบแปลงเกษตรกรรมเปิด (Open field system) หรือระบบระบบมาเนอร์ (Manorialism) เป็นระบบการเกษตรกรรมที่มีลักษณะเป็นแปลงหลายแปลงแต่ละแปลงก็แบ่งออกเป็นแถบ ๆ ละครึ่งเอเคอร์หรือน้อยกว่านั้น ที่ตามทฤษฎีถือว่าเป็นขนาดที่วัวสามารถไถเสร็จได้ก่อนที่จะต้องหยุดพัก อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าที่แบ่งเป็นแถบเพราะเดิมเป็นที่ดินสี่เหลี่ยมแต่ต้องแบ่งเป็นแถบตามลักษณะของที่ดินที่ได้รับ[ต้องการอ้างอิง] ปกติแล้วแต่ละครอบครัวก็จะได้รับที่ดินครอบครัวละสามสิบแถบ

การเกษตรกรรมระบบมาเนอร์ใช้การปลูกพืชพันธุ์แบบระบบเกษตรกรรมสามแปลง (three-field system) ของระบบเกษตรกรรมแบบหมุนเวียน (crop rotation) ที่วิวัฒนาการขึ้นเป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยการปลูกข้าวสาลีและข้าวไรย์ในแปลงหนึ่ง ในแปลงที่สองเป็นพืชที่ช่วยสร้างไนโตรเจน (ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโอ๊ต และพืชตระกูลถั่ว) และแปลงสุดท้ายไถทิ้งไว้โดยไม่ปลูกพืช เมื่อเทียบกับระบบเกษตรกรรมสองแปลง (two-field system) ที่ทำกันมาก่อนหน้านั้น ระบบสามแปลงต้องใช้เนื้อที่ในการทำเกษตรกรรมมากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือทำให้ได้ผลิตผลเพิ่มขึ้นเป็นสองครั้งต่อปีซึ่งเป็นการลดอันตรายที่เกิดจากความล้มเหลวของการเกษตรกรรมที่นำไปสู่ความอดอยาก และเป็นระบบที่ทำให้มีข้าวโอ๊ตที่เป็นผลิตผลส่วนเกินที่ใช้ในการเลี้ยงม้าได้ ระบบสามแปลงทำให้ต้องมีการจัดระบบโครงสร้างทั้งทางการเกษตรกรรมและทางสังคมกันอย่างขนานใหญ่ ระบบนี้มิได้แพร่หลายมาจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 ก็มีการใช้คันไถล้อหนักซึ่งต้องใช้กำลังสัตว์มากขึ้นโดยการใช้วัวหลายตัว โรมันใช้คันไถล้อเบาที่ไม่เหมาะกับการใช้กับดินที่แน่นซึ่งไถยากกว่าทางตอนเหนือของยุโรป

การหันกลับมาทำการเกษตรกรรมอย่างมีระบบประจวบกับการระบบโครงสร้างใหม่ของสังคมที่เรียกว่าระบบศักดินา ระบบนี้เป็นระบบฐานันดรที่ผู้ที่อยู่ในระบบแต่ละระดับต่างก็มีความรับผิดชอบต่อกัน คนแต่ละคนมีหน้าที่ต่อผู้ที่เหนือกว่าและผู้ที่เหนือกว่าก็มีหน้าที่พิทักษ์ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง แต่บางครั้งระบบนี้เป็นระบบที่ค่อนข้างสับสนจากการเปลี่ยนแปลงการสวามิภักดิ์ของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบางครั้งก็เป็นการขัดแย้งกันเอง ระบบศักดินาเป็นระบบที่ทำให้รัฐต้องมีหน้าที่ในการพิทักษ์ความปลอดภัยของผู้อยู่ในการอารักขาด้วยมาตรการที่วางไว้แม้ว่าบางครั้งระบบการปกครองหรือการบันทึกเป็นตัวอักษรอาจจะหยุดยั้งไปแล้วก็ตาม แม้แต่ความขัดแย้งกันเรื่องที่ดินก็ยังตัดสินกันด้วยคำให้การแต่เพียงอย่างเดียว ดินแดนต่าง ๆ ก็ลดลงเหลือเพียงเครือข่ายของระบบการสวามิภักดิ์ของกลุ่มบุคคลย่อย ๆ แท่นที่จะเป็นระบบ “ชาติ” ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ยุคไวกิง (ค.ศ. 793-ค.ศ. 1066)

 
แผนที่แสดงบริเวณการตั้งถิ่นฐานของชนสแกนดิเนเวียในคริสต์ศตวรรษที่ 8 (แดงเข้ม), 9 (แดง), 10 (ส้ม) และ 11 (เหลือง) สีเขียวเป็นบริเวณที่ถูกรุกรานโดยไวกิงบ่อยครั้ง
ดูบทความหลักที่: ยุคไวกิง

ยุคไวกิงเป็นสมัยระหว่างปี ค.ศ. 793 ถึงปี ค.ศ. 1066 ในสแกนดิเนเวีย และ บริเตนที่เกิดขึ้นหลังจากยุคเหล็กเจอร์มานิค (และยุคเวนเดล (Vendel Age) ในสวีเดน) ในยุคนี้ไวกิงนักรบและนักการค้าสแกนดิเนเวียเข้ารุกราน/ปล้นสดม/ทำลายทรัพย์สิน และ ขยายดินแดนทั่วไปในยุโรป, ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้, ในแอฟริกาเหนือ และในอเมริกาเหนือ นอกจากนั้นก็ยังทำการสำรวจยุโรปโดยทางทะเลและตามลำน้ำด้วยความสามารถทางการเดินเรือและการขยายเส้นทางการค้า ไวกิงทำการรุกราน ปล้นสดม และจับคนเป็นทาสในชุมชนคริสเตียนของยุคกลางเป็นเวลาหลายร้อยปี ที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นต้นตอของการวิวัฒนาการของระบบศักดินาในยุโรป

ยุโรปตะวันออก 600-1000

จักรวรรดิเคียฟรุส

ดูบทความหลักที่: จักรวรรดิเคียฟรุส
 
เมื่อมีการรณรงค์ของแมกยาร์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชาติต่าง ๆ ในยุโรปต่างก็ภาวนาขอความปรานีจากการรุกรานของฮังการี (“Sagittis hungarorum libera nos Domine” - พระเจ้าช่วยให้เราพ้นภัยจากศรของฮังการีด้วยเถิด)

ก่อนที่จักรวรรดิเคียฟรุสจะก่อตั้งขึ้น พรมแดนทางตะวันออกของยุโรปปกครองโดยชนคาซาร์ซึ่งเป็นชนสาขาหนึ่งของกลุ่มชนเตอร์กิกที่ได้รับอิสรภาพจากสมาพันธ์รัฐเกิร์คเติร์ก (Göktürks) ภายในนคริสต์ศตวรรษที่ 7 รัฐของชนคาซาร์เป็นรัฐของชนหลายเชื้อชาติทางการค้าขายที่รุ่งเรืองขึ้นมาได้จากจากควบคุมเส้นทางการค้าทางน้ำระหว่างยุโรปและตะวันออก และบังคับเก็บบรรณาการจากชนอาลัน, ชนมาจยาร์, กลุ่มชนสลาฟ, กอธ และชนกรีกในไครเมีย การค้าข้ายทำโดยเครือพ่อค้าที่เดินทางเพื่อทำการค้าชาวยิว (หรือ ชนราดาไนท์ (Radhanites) ) ผู้มีการติดต่อกับศูนย์การค้าขายไปจนถึงอินเดียและสเปน

เมื่อต้องผจญกับการขยายดินแดนของมุสลิม (Muslim conquests) ชนคาซาร์ก็หันไปเป็นพันธมิตรกับคอนสแตนติโนเปิลและปะทะกับฝ่ายอาณาจักรกาหลิป แม้ว่าจะเสียทีในระยะแรกแต่ก็สามารถยึดเดอร์เบนท์ (Derbent) คืนได้และสามารถรุกเข้าไปทางใต้ได้จนถึงไอบีเรียคอเคเชีย (Caucasian Iberia), แอลเบเนียคอเคเชีย (Caucasian Albania) และ อาร์มีเนีย การกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการหยุดยั้งการขยายตัวของอิสลามขึ้นไปทางเหนือยังยุโรปตะวันออกอยู่หลายสิบปีก่อนที่ชาร์ลส์ มาร์เตลทำเช่นเดียวกันได้สำหรับยุโรปตะวันตก

ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ดินแดนทางตอนเหนือของทะเลดำก็ถูกรุกรานโดยชนเร่ร่อน (nomad) ที่นำโดยบัลการ์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรอันมีอำนาจเกรตบัลแกเรียภายใต้การนำของคูบรัต (Kubrat) แต่ชนคาซาร์สามารถกำจัดบัลการ์ได้จากทางตอนใต้ของยูเครนจนไปถึงกลางบริเวณแม่น้ำวอลกา (วอลกาบัลแกเรีย) และไปยังทางตอนใต้ในบริเวณแม่น้ำดานูบ (ดานูบบัลแกเรีย หรือ จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1) แม้ว่าจะมีการรณรงค์ต่อต้านคอนสแตนติโนเปิลอยู่กันเป็นระยะ ๆ แต่ชนดานูบบัลการ์ก็เปลี่ยนไปรับวัฒนธรรมของสลาฟอย่างรวดเร็วและรับภาษากรีกเข้ามาใช้จากคริสต์ศาสนา ความพยายามในการเผยแพร่คริสต์ศาสนาของนักสอนศาสนาสองคนนักบุญซิริลและนักบุญเมธอเดียสทำให้เกิดการประดิษฐ์อักขระสลาฟขึ้นเป็นครั้งแรก และภาษาท้องถิ่น (ที่ปัจจุบันเรียกว่าภาษาสลาวอนิกคริสตจักรเก่า (Old Church Slavonic) ก็กลายเป็นภาษาเขียนสำหรับหนังสือและบทสวดมนต์เกี่ยวกับคริสต์ศาสนา

 
การไล่โจมตีนักรบของ Svyatoslav I โดยกองทัพไบแซนไทน์ (จุลจิตรกรรมโดย John Skylitzes)

ทางด้านเหนือของเขตแดนของจักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ได้มีการก่อตั้งรัฐสลาฟขึ้นเป็นครั้งแรก--เกรตโมราเวียที่ก่อตั้งขึ้มาโดยการอารักขาของจักรวรรดิแฟรงก์ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 โมราเวียเป็นบริเวณที่นักสอนศาสนาจากคอนสแตนติโนเปิลและจากโรมมาเผชิญกัน แม้ว่าสลาฟตะวันตกจะมายอมรับอำนาจคริสตจักรของโรมัน แต่นักบวชของคอนสแตนติโนเปิลสามารถเปลี่ยนจักรวรรดิเคียฟรุสซึ่งเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปขณะนั้นมาเป็นนิกายกรีกในราวคริสต์ทศวรรษ 990 จักรวรรดิเคียฟรุสปกครองโดยราชวงศ์วารันเจียนควบคุมเส้นทางการค้าที่เชื่อมบริเวณบอลติกในยุโรปเหนือกับไบแซนไทน์และตะวันออกโดยผ่านรัสเซีย เกรตโมราเวียมาถูกย่ำยีโดยมาจยาร์ผู้เข้ามารุกรานบริเวณพานโนเนียน (Pannonian Basin) ราวปี ค.ศ. 896

ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาชนรุสก็เริ่มเข้ามารุกรานคอนสแตนติโนเปิล ที่บางครั้งก็มีผลให้เกิดการตกลงในสนธิสัญญาทางค้าที่ให้ประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจักรวรรดิไบแซนไทน์จะเห็นชัดได้จากการเสกสมรสระหว่างวลาดิเมียร์ที่ 1 แห่งคิเอฟกับเจ้าหญิงไบแซนไทน์แห่งราชวงศ์มาเซโดเนีย ซึ่งทรงเป็นเจ้าต่างประเทศองค์เดียวที่ได้ทำการสมรสกับเจ้าหญิงไบแซนไทน์ แม้ว่าเจ้าในยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ต่างก็พยายามแต่ไม่สำเร็จ การรณรงค์ของพระบิดาของวลาดิเมียร์ สวิยาโตสลาฟที่ 1 (Svyatoslav I) มีผลในการทำลายรัฐสองรัฐของบัลการ์และคาซาร์ซึ่งเป็นรัฐที่มีอิทธิพลที่สุดในยุโรปตะวันออกลงได้

จักรวรรดิบัลแกเรีย

ดูบทความหลักที่: จักรวรรดิบัลแกเรีย
 
รูปสัญลักษณ์เซเรามิกของนักบุญธีโอดอร์จากราวปีค.ศ. 900 ที่พบที่เพรสลาฟ

ในปี ค.ศ. 681 ชนบัลการ์ก็ก่อตั้งรัฐมหาอำนาจที่มามีบทบาทสำคัญในยุโรปและโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้จนกระทั่งไปตกอยู่ภายใต้การปกครองของตุรกีในปี ค.ศ. 1396 ในปี ค.ศ. 718 ชนบัลการ์ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อฝ่ายอาหรับไม่ไกลจากคอนสแตนติโนเปิลจนประมุขของบัลการ์ข่านเทอร์เวลได้รับสมญาว่าเป็น “ผู้ช่วยยุโรปให้รอดจากภัย” การได้รับชัยชนะของบัลแกเรียเป็นการหยุดยั้งอนารยชนเผ่าต่าง ๆ ที่รวมทั้งเพเชเนก (Pechenegs) และคาซาร์) จากการโยกย้ายลึกเข้ามาทางตะวันตก และในปี ค.ศ. 806 ก็ได้ทำลายอาณาจักรข่านของอาวาร์ยูเรเชียภายใต้การปกครองของซิเมียนที่ 1 (ค.ศ. 893-ค.ศ. 927) บัลแกเรียก็กลายเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่กลายมาเป็นอันตรายต่อการอยู่รอดของจักรวรรดิไบแซนไทน์

หลังจากการยอมรับคริสต์ศาสนา ในปี ค.ศ. 864 แล้วบัลแกเรียก็กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมและการศาสตาของอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ของชนสลาฟ อักษรซีริลลิกก็ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นโดยนักปราชญ์บัลแกเรียชื่อเคลเมนต์แห่งโอห์ริด ในปี ค.ศ. 885 วรรณคดี ศิลปะ และ สถาปัตยกรรมต่างก็รุ่งเรือง โดยการก่อตั้งสถานศึกษาหลายแห่งขึ้น ในปี ค.ศ. 927 บัลแกเรียออร์โธด็อกซ์ก็กลายเป็นนิกายศาสนาของรัฐของยุโรปนิกายแรกที่ได้รับอิสระมามีระบบการปกครองของตนเองโดยไม่ต้องขึ้นกับสถาบันศาสนาอื่น

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการศึกษา

เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกสิ้นสุดลง ศูนย์กลางของเมืองต่าง ๆ ก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมตามลงไปเป็นอันมาก สถิติของผู้มีการศึกษา และสถานศึกษาทางตะวันตกก็ลดจำนวนลง การศึกษากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอารามและอาสนวิหาร “ยุคทอง” ของการศึกษาคลาสสิกมาฟื้นตัวขึ้นอยู่ชั่วระยะหนึ่งในสมัยจักรวรรดิการอแล็งเฌียงในคริสต์ศตวรรษที่ 8 แต่ในจักรวรรดิโรมันตะวันออกการศึกษายังคงได้รับการรักษาไว้ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าทางตะวันตก ไกลออกไปทางตะวันออกอิสลามก็สามารถพิชิตเขตอัครบิดรต่าง ๆ ได้หลายเขต และมีความก้าวหน้ามากกว่าการศึกษาของคริสเตียนในด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และอื่น ๆ ในสมัยที่เรียกว่าเป็น “ยุคทอง” ของการศึกษา

การศึกษาคลาสสิก

ระบบการศึกษาคลาสสิกที่ทำกันต่อมาอีกหลายร้อยปีเน้นการเรียนไวยากรณ์ ละติน กรีก และ วาทศาสตร์ ผู้ศึกษาก็จะอ่านงานคลาสสิกซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเขียนบทเขียนที่เลียนแบบลักษณการเขียนแบบคลาสสิก เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ระบบการศึกษานี้ก็ถูกทำให้เป็นคริสเตียน (Christianized) ในบทเขียน De Doctrina Christiana หรือ ปรัชญาของคริสเตียน โดย นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป ที่เขียนระหว่างปี ค.ศ. 396 ถึงปี ค.ศ. 426 นักบุญออกัสตินให้คำอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาคลาสสิกกับปรัชญาของคริสเตียน ที่ว่าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาของตำราฉะนั้นผู้เป็นคริสต์ศาสนิกชนต้องเป็นผู้มีการศึกษา และการที่จะเทศนาได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องมาจากการศึกษาและความเข้าใจในรากฐานของวาทศาสตร์คลาสสิกเช่นในการใช้อุปมานิทัศน์ในการที่จะเพิ่มความเข้าใจในพระคัมภีร์มากขึ้น

แต่เทอร์ทุลเลียน นักประพันธ์และคริสต์ศาสนิกชนชาวเบอร์เบอร์ไม่มีความมั่นใจในคุณค่าระบบการศึกษาคลาสสิกและตั้งคำถามว่า “เอเธนส์จะมีเกี่ยวอะไรกับเยรูซาเลม?” แต่กระนั้นเทอร์ทุลเลียนก็มิได้หยุดยั้งคริสตชนที่เข้าศึกษาในสถานศึกษาคลาสสิก

ความเสื่อมโทรมทางตะวันตก

 
ในต้นสมัยกลางวัฒนธรรมจำกัดอยู่ในอาราม

การยุบเมืองต่าง ๆ ทำให้ระบบการศึกษามีจำนวนจำกัดลงและเมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 การสอนและการศึกษาก็ย้ายเข้าไปทำกันในอารามและอาสนวิหารโดยมีคัมภีร์ไบเบิลเป็นหัวใจและตำราหลักของการศึกษา การศึกษาของฆราวาสยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในอิตาลี สเปน และทางตอนใต้ของกอลที่อิทธิพลของโรมันยังคงมีอยู่นานกว่าในบริเวณอื่น เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ระบบการศึกษาก็เริ่มขึ้นในไอร์แลนด์และดินแดนของเค้ลท์ที่ภาษาละตินเป็นภาษาต่างประเทศ และการสอนและการศึกษาเล่าเรียนเป็นภาษาละตินก็เป็นที่นิยมกันทั่วไป

วิทยาศาสตร์

ดูบทความหลักที่: ประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ในสมัยกลาง

ในโลกยุคโบราณกรีกเป็นภาษาหลักของการศึกษาวิทยาศาสตร์ การสอนและการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทำกันในบริเวณกรีกของจักรวรรดิโรมันด้วยภาษากรีก ในตอนปลายโรมันพยายามแปลงานกรีกเป็นภาษาละตินแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เมื่อความรู้ภาษากรีกลดถอยลง จักรวรรดิละตินทางตะวันตกก็ถูกตัดออกจากความรู้ทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ของกรีก เมื่อผู้พูดภาษาละตินต้องการจะศึกษาวิทยาศาสตร์ก็จะมีหนังสือให้ศึกษาเพียงสองสามเล่มโดยโบเธียสที่สรุปตำรากรีกที่เขียนโดยนิโคมาคัสแห่งเจราซา (Nicomachus of Gerasa) และสารานุกรมละตินที่รวบรวมโดยนักบุญอีซีโดโรแห่งเซบิยาในปี ค.ศ. 630

นักการศึกษาผู้นำในต้นคริสต์ศตวรรษก็เป็นนักบวชผู้ไม่มีความสนใจในการศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาเท่าใดนัก การศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาเป็นการศึกษาเพราะความจำเป็นมากกว่าที่จะเป็นความต้องการในการแสวงหาความรู้อย่างบริสุทธิ์ เช่นในความจำเป็นที่จะต้องรักษาผู้เจ็บป่วยนำไปสู่การศึกษาทางแพทย์จากตำราโบราณที่เกี่ยวกับเภสัชศาสตร์ หรือความจำเป็นของนักบวชที่จะต้องกำหนดเวลาที่จะต้องสวดมนต์ที่ทำให้หันไปหาความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ หรือการที่จะต้องคำนวณวันอีสเตอร์ทำให้ต้องไปศึกษาและสอนการคำนวณพื้นฐานและการโคจรของพระอาทิตย์และพระจันทร์ นักอ่านสมัยใหม่อาจจะพบว่าตำราที่มาจากยุคนี้มีความแปลกตรงที่บางครั้งในงานชิ้นเดียวกันผู้เขียนอาจจะให้คำอธิบายถึงธรรมชาติที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงความสำคัญทางสัญลักษณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย

สมัยตั้งแต่จักรวรรดิโรมันล่มไปจนถึงราว ค.ศ. 800 ที่มักจะเรียกกันผิด ๆ ว่า “ยุคมืด” อันที่จริงแล้วเป็นสมัยที่มีการวางรากฐานของความก้าวหน้าที่จะมาเกิดขึ้นในสมัยกลางและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาต่อมา

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการอแล็งเฌียง

ราวปี ค.ศ. 800 ยุโรปตะวันตกก็เริ่มหันกลับมีความสนใจกับการศึกษาคลาสสิกที่เป็นส่วนหนึ่งของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียงขึ้น โดยชาร์เลอมาญทรงเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการปฏิรูปทางด้านการศึกษา ทางอังกฤษนักบวชอัลคิวอินแห่งยอร์ก (Alcuin) ก็เริ่มโครงการฟื้นฟูความรู้ด้านคลาสสิกโดยการก่อตั้งโครงการศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากศิลปศาสตร์เจ็ดสาขาที่รวมทั้ง “ไตรศาสตร์” (“trivium”) หรือการศึกษาวรรณศิลป์สามอย่างที่ประกอบด้วย ไวยากรณ์, วาทศาสตร์ และ ตรรกศาสตร์ และ “จตุรศิลปศาสตร์” (“quadrivium”) หรือการศึกษาวิทยาศาสตร์สี่อย่างที่ประกอบด้วย คณิตศาสตร์, เรขาคณิต, ดาราศาสตร์ และ คีตศาสตร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 787 เป็นต้นมาก็มีการเวียนประกาศไปทั่วจักรวรรดิให้มีการฟื้นฟูสถานศึกษาเดิมและก่อตั้งสถานศึกษาใหม่ ทางด้านสถาบันสถานศึกษาเหล่านี้บ้างก็อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักสงฆ์และมหาวิหาร บ้างก็อยู่ในความรับผิดชอบของราชสำนักหรือสำนักขุนนาง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาเห็นผลได้อย่างชัดเจนในหลายร้อยปีต่อมา การศึกษาในด้านตรรกศาสตร์มีส่วนทำให้เกิดการฟื้นฟูความสนใจในการตั้งปัญหาที่ประจวบกับธรรมเนียมการศึกษาด้านเทววิทยาศาสนาคริสต์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 สถานศึกษาหลายแห่งที่ก่อตั้งขึ้นก็กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยต่อมา

ไบแซนไทน์และยุคทอง

 
จุลจิตรกรรมจากหนังสือเพลงสวดสดุดีปารีสแสดงถึงการฟื้นฟูทางวัฒนธรรมของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 10

ความรุ่งเรืองทางความรู้และการศึกษาของจักรวรรดิไบแซนไทน์มาจาก “ประมวลกฎหมายแพ่ง” (“Corpus Juris Civilis”) ซึ่งเป็นงานประมวลกฎหมายชิ้นใหญ่ที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายโรมันที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนมหาราช (ปกครอง ค.ศ. 528-ค.ศ. 565) งานนี้รวมทั้งส่วนที่เรียกว่า “ประมวลกฎหมายฉบับย่อ” (Pandects) ห้าสิบสองเล่ม ซึ่งเป็นฉบับที่สรุปหลักการของกฎหมายโรมันที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสถานะการณ์โดยทั่วไป

ความสามารถในการอ่านและเขียนของฝ่ายไบแซนไทน์โดยทั่วไปมีระดับสูงกว่าทางโรมันตะวันตก ระบบการศึกษาเบื้องต้นมีอยู่โดยทั่วไปและบางครั้งแม้แต่ในชนบท ในระดับสูงขึ้นไปก็มีการสอน “อีเลียด” และตำราคลาสสิกต่าง ๆ แต่ระดับสูงกว่านั้นสถาบันเพลโตใหม่ (Neoplatonic Academy) ใน เอเธนส์ถูกปิดไปในปี ค.ศ. 526 โดยเพกัน แต่สถานศึกษาในอะเล็กซานเดรียในอียิปต์ยังคงเปิดสอนอยู่จนกระทั่งมาถูกปิดเมื่ออเล็กซานเดรียถูกพิชิตโดยอาหรับในปี ค.ศ. 640 มหาวิทยาลัยคอนสแตนติโนเปิลเดิมก่อตั้งโดยจักรพรรดิธีโอโดเซียสที่ 2 ในปี ค.ศ. 425 ก็อาจจะมาถูกยุบในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย แต่มาได้รับการก่อตั้งใหม่โดยจักรพรรดิมิคาเอลที่ 3 อีกครั้งในปี ค.ศ. 849 การศึกษาระดับสูงในยุคนี้เน้นการศึกษาทางวาทศาสตร์แต่ก็มีการศึกษาตรรกศาสตร์ของอริสโตเติลขั้นพื้นฐานอยู่บ้าง ระหว่างรัชสมัยของราชวงศ์มาเซโดเนียระหว่างปี ค.ศ. 867 ถึงปี ค.ศ. 1025) ไบแซนไทน์ก็อยู่ในสมัยยุคทองของการฟื้นฟูการศึกษาคลาสสิก งานค้นคว้าเดิมจากยุคนี้มีเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยแต่ที่มีคือศัพทานุกรม, ประชุมบทนิพนธ์, สารานุกรม และบทความเห็นที่เกี่ยวกับงานสมัยนี้

อิทธิพลของอิลสาม

ดูบทความหลักที่: อิทธิพลของอิลสามต่อยุโรปยุคกลาง และ ยุคทองของอิสลาม

ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ระหว่างปี ค.ศ. 661 ถึงปี ค.ศ. 750 ผู้คงแก่เรียนอิสลามเน้นการศึกษาที่เกี่ยวกับอัลกุรอาน แต่ราชวงศ์อับบาซียะฮ์ที่ตามมาสนับสนุนการศึกษาของกรีกและมนุษย์วิทยาตามแนวคิดของตระกูลปรัชญามุอ์ตะซีลี (Mu'tazili) ของอิสลาม ตระกูลความคิดนี้ก่อตั้งขึ้นในบาสราโดยวะศีล อิบุน อะฏอ (واصل بن عطاء‎ - Wasil ibn Ata) (ค.ศ. 700ค.ศ. 748) ที่อยู่บนพื้นฐานที่ว่าอัลกุรอานมาจากอัลลอฮ์และอัลลอฮฺมีพระประสงค์อย่างเดียวคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ ปรัชญานี้ไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยตระกูลปรัชญาอัชชาริยยะห์ (الأشاعرة - Ash'ariyyah) และ อาษาริยยะห์ (Athariyyah) ซึ่งเป็นตระกูลปรัชญาของซุนนีย์

ดังนั้น “ประตูแห่งอิญฏีหะ” (Gates of Ijtihad (اجتهاد) ) จึงเปิดขึ้นที่ทำให้เกิดการโต้แย้งกันภายในแวดวงระหว่างความคิดของปรัชญาตระกูลต่าง ๆ ของอิสลาม ที่เชื่อกันว่ามีด้วยกันถึง 135 ตระกูล ในปี ค.ศ. 800 แบกแดดเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก—และเป็นเมืองแรกที่มีประชากรถึงกว่าหนึ่งล้านคน แบกแดดเป็นที่ตั้งของ “บ้านแห่งมันตา” (بيت الحكمة‎ - House of Wisdom) หรือ “บัยต อัล หิกมะห์” ที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาการปรัชญาของโลกมุสลิม นักปรัชญาเช่นอัล กินดี (أبو يوسف يعقوب إبن إسحاق الكندي - al-Kindī) (ค.ศ. 801ค.ศ. 873) และ อัล ฟารอบี (أبو نصر محمد الفارابي - al-Fārābī) (ค.ศ. 870ค.ศ. 950) แปลงานของอริสโตเติลและประยุกต์ปรัชญาให้สอดคล้องกับปรัชญาของศาสนาอิสลาม อัลคอวาริซมีย์ (محمد بن موسی خوارزمی - Al-Khwārizmī) (ค.ศ. 780-ค.ศ. 850) เขียน “ประชุมบทนิพนธ์เกี่ยวกับการคำนวณโดย Completion and Balancing” (The Compendious Book on Calculation by Completion and Balancing) ซึ่งเป็นงานพีชคณิตชิ้นแรก (คำว่า “Algebra” มาจากชื่อหนังสือที่เป็นภาษาอาหรับ คำว่า “Algorithm” แผลงมาจากชื่อผู้ประพันธ์ “Al-Khwārizmī”) นอกจากนั้นอัลคอวาริซมีย์ก็ยังเขียน “ภาพของโลก” (The Image of the Earth) ซึ่งเป็นหนังสือฉบับปรับปรุงที่มีพื้นฐานมาจากหนังสือ “ภูมิศาสตร์” โดยทอเลมี และเข้าร่วมในโครงการวัดเส้นรอบวงองโลกโดยการวัดความยาวของดีกรีของเมอริเดียนบนที่ราบของอิรัก

 
จิตรกรรมหนังสือวิจิตรจากหนังสือสวดมนต์ชตุทการ์ท

แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความรุ่งเรืองทางความคิดทางปรัชญาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็เริ่มปิด “ประตูแห่งอิญฏีหะ” การโต้แย้งในเรื่องมนุษย์วิทยาและปรัชญาต่าง ๆ คงยังดำเนินอยู่ต่อไปแต่ก็จำกัดลงมากขึ้นทุกขณะ โดยทั่วไปแล้วระบบการศึกษาของมุสลิมที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความประสงค์ของผู้อุปถัมภ์และประมุขของอิสลาม ที่มิได้วิวัฒนาการขึ้นเป็นระบบมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่ถาวรเพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษานอกไปจากอัลกุรอาน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ชองอิสลามก็เผยแพร่เข้ามายังยุโรปตะวันตก อุปกรณ์ แอสโตรเลบ (astrolabe) ที่ใช้ในการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่ค้นพบในสมัยคลาสสิกก็ได้รับการนำกลับมาฟื้นฟูขึ้นใช้ในยุโรปอีกครั้งหนึ่ง งานของยุคลิด และ อาร์คิมิดีสที่หายไปจากทางตะวันตกได้รับการแปลจากภาษาอาหรับกลับมาเป็นภาษาละตินในสเปน ตัวเลขฮินดู-เลขอารบิกสมัยใหม่รวมทั้งเลข “ศูนย์” ก็ได้รับการวิวัฒนาการขึ้นโดยนักคณิตศาสตร์ฮินดูในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และ 6 นักคณิตศาสตร์อิสลามเรียนสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 และมาเพิ่มการใช้เศษส่วนทศนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10 ราวปี ค.ศ. 1000 แกร์แบร์ตแห่งออริลแยค (ต่อมาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 2) สร้างลูกคิดที่ตัวนับสลักเป็นเลขฮินดู-อาหรับ ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 วิทยานิพนธ์ที่เขียนโดยอัลคอวาริซมีย์เกี่ยวกับการคำนวณโดยใช้ตัวเลขเหล่านี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาละตินในสเปน

คริสต์ศาสนาตะวันออกและตะวันตก

ตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก คริสต์ศาสนิกชนตอนต้นสมัยกลางก็ได้สืบทอดคริสตจักรที่มีหลักความเชื่อ สารบบคัมภีร์ไบเบิล และปรัชญาร่วมกัน

ระหว่างต้นสมัยกลางความแตกแยกระหว่างศาสนาคริสต์ตะวันออกและศาสนาคริสต์ตะวันตกค่อย ๆ กว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จบลงด้วยศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ทางตะวันตกอำนาจของบิชอปแห่งโรมก็ขยายตัวขึ้น ในปี ค.ศ. 607 บอนิเฟซที่ 3 ทรงเป็นบิชอปแห่งโรมองค์แรกที่ใช้ตำแหน่งที่เรียกว่าพระสันตะปาปา ก่อนหน้านั้นเกรกอรีที่ 1 ก็ทรงใช้ตำแหน่งของพระองค์ในการขยายอำนาจการเผยแพร่ศาสนาของโรมไปยังบริติชไอลส์ และวางพื้นฐานในการขยายตัวของอารามคณะต่าง ๆ แม้แต่ศาสนาคริสต์แบบเคลติกซึ่งยังเป็นนิกายพื้นเมืองในบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์

ทางด้านตะวันออกการพิชิตดินแดนของมุสลิมก็ทำให้อำนาจของเขตอัครบิดรที่ใช้ภาษากรีกลดลง

การเผยแพร่คริสต์ศาสนาในยุโรปตะวันตก

ดูบทความหลักที่: การเผยแผ่ศาสนาคริสต์

โรมันคาทอลิกเป็นคริสตจักรเดียวที่รอดจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกโดยไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากผลสะท้อนของความเสื่อมโทรมของโรมันเท่าใดนัก และกลายมาเป็นปัจจัยเดียวที่เป็นศูนย์กลางของอิทธิพลทางวัฒนธรรมของยุโรปตะวันตกที่คงยังรักษาระบบการศึกษาของลาตินบางอย่างไว้, รักษาวัฒนธรรมด้านศิลปะและวรรณกรรม และ รักษาระบบการปกครองจากศูนย์กลางโดยการใช้ระบบเครือบิชอปที่ตั้งอยู่ทั่วไปในยุโรปผู้ได้รับแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งติดต่อกันมา ดินแดนอื่น ๆ ในยุโรปตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของดยุกและเคานต์ของรัฐย่อย ๆ ความเจริญของชุมชนในตัวเมืองเป็นจุดเริ่มต้นของกลางสมัยกลาง

การเผยแผ่คริสต์ศาสนาในกลุ่มชนเจอร์มานิกเริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 4 โดยชาวกอทที่เข้ามารับนับถือคริสต์ศาสนา และการเผยแพร่ก็ดำเนินต่อไปจนตลอดสมัยกลางตอนต้น ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 7 ผู้นำในการเผยแพร่ศาสนานำโดยคณะธรรมทูตฮีเบอร์โน-สกอตติช แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 ก็มาแทนที่ด้วยคณะธรรมทูตแองโกล-แซกซัน โดยมีชาวแองโกล-แซกซันคนสำคัญ ๆ เช่นอัลคิวอินที่มามีบทบาทสำคัญในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาคาโรแล็งเชียง เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1000 แม้แต่ไอซ์แลนด์ก็กลายเป็นคริสเตียน เหลืออยู่ก็แต่เพียงดินแดนที่ห่างไกลในยุโรปที่รวมทั้งบริเวณ (สแกนดิเนเวีย, บริเวณทะเลบอลติก และ ดินแดนฟินโน-อูกริค) เท่านั้นที่ยังไม่ยอมรับคริสต์ศาสนามาจนกระทั่งถึงกลางสมัยกลาง

ขนาดของเมือง

 
การบูรณะกำแพงเมืองคอนสแตนติโนเปิล

นักวางผังเมืองเทอร์เทียส แชนด์เลอร์ได้ทำการสำรวจขนาดของเมืองต่าง ๆ ตลอดมาในประวัติศาสตร์ ในสมัยที่กล่าวนี้เมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็รวมทั้ง: คอนสแตนติโนเปิล (ค.ศ. 340-ค.ศ. 570), เทซิฟอน (Ctesiphon) ของซาสซานิยะห์ (ค.ศ. 570-ค.ศ. 637), ซีอาน ในประเทศจีน (ค.ศ. 637-ค.ศ. 775), แบกแดด (ค.ศ. 775-ค.ศ. 935) และ กอร์โดบา ในประเทศสเปน (ค.ศ. 935-ค.ศ. 1013) [2]

รายชื่อข้างล่างที่แชนด์เลอร์จัดลำดับว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและตะวันออกกลางก็ได้แก่:

  • ค.ศ. 361 คอนสแตนติโนเปิล (300,000 คน), เทซิฟอน (250,000 คน), โรม (150,000 คน), อันติโอค (150,000 คน), อเล็กซานเดรีย (125,000 คน)
  • ค.ศ. 500 คอนสแตนติโนเปิล (400,000 คน), เทซิฟอน (400,000 คน), อันติโอค (150,000 คน), คาร์เธจ (100,000 คน), โรม (100,000 คน)
  • ค.ศ. 622 เทซิฟอน (500,000 คน), คอนสแตนติโนเปิล (350,000 คน), Alexandria (94,000 คน), อะเลปโป (72,000 คน), เรยย์ (68,000 คน)
  • ค.ศ. 800 แบกแดด (700,000 คน), คอนสแตนติโนเปิล (250,000 คน), กอร์โดบา (ค.ศ. 160,000 คน), บาสรา (ค.ศ. 100,000 คน), โฟสตัท (100,000 คน) — cf. โรม (50,000 คน), ปารีส (25,000 คน)
  • ค.ศ. 900 Baghdad (900,000 คน), คอนสแตนติโนเปิล (300,000 คน), กอร์โดบา (200,000 คน), อเล็กซานเดรีย (175,000 คน), โฟสตัท (150,000 คน) — cf. โรม (40,000 คน)
  • ค.ศ. 1000 กอร์โดบา (450,000 คน), คอนสแตนติโนเปิล (300,000 คน), ไคโร (135,000 คน), แบกแดด (125,000 คน), Nishapur (125,000 คน) — cf. โรม (35,000 คน), ปารีส (20,000 คน)

แชนด์เลอร์สรุปว่าประชากรโดยถัวเฉลี่ยตกประมาณ 10,000 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร และเชื่อว่าเมืองของมุสลิมมีความหนาแน่นของประชากรสูงกว่าในยุโรป คำจำกัดความของเมืองคือสถานที่มีผู้คนพำนักติดต่อกันอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

การก่อตั้งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (คริสต์ศตวรรษที่ 10)

 
ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิออทโทที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเยอรมนี ออสเตรีย ตอนเหนือของอิตาลี และเนเธอร์แลนด์

จักรพรรดิคาร์ลที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงก่อการปฏิวัติโดยการนำของพระราชนัดดาอาร์นุลฟแห่งคารินเธีย (Arnulf of Carinthia) ซึ่งเป็นผลทำให้จักรวรรดิถูกแบ่งออกเป็นราชอาณาจักรต่าง ๆ ในฝรั่งเศส, เยอรมนี และ ทางตอนเหนือของอิตาลี ในปี ค.ศ. 887 ชาวฮังการีฉวยโอกาสจากความอ่อนแอของรัฐบาลเยอรมนีในการก่อตั้งตนเองในทุ่งราบฮังการี (Great Hungarian Plain) หรือบริเวณทุ่งหญ้าฮังการี (Hungarian grasslands) และเริ่มการรุกรานเข้ามาในเยอรมนี อิตาลี และแม้แต่ฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 919 ขุนนางเยอรมันเลือกพระเจ้าไฮน์ริชที่ 1 แห่งเยอรมนี (Henry the Fowler) ดยุกแห่งแซกโซนีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์โดยสภาไรค์สตากที่ฟริทซลาร์ แต่เฮนรีก็มิได้มีอำนาจมากไปกว่าประมุขของดัชชีอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนมาจากการปกครองระบบชนเผ่าที่ดำเนินกันมา เมื่อมาถึงสมัยของจักรพรรดิออทโทที่ 1 พระราชโอรสของพระองค์ในปี ค.ศ. 939 พระองค์ก็สามารถปราบปรามการปฏิวัติที่นำโดยดยุกที่ได้รับการหนุนหลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 951 จักรพรรดิออตโตก็ทรงนำทัพลงไปยังอิตาลีและทรงไปเสกสมรสกับพระราชินีหม้ายอาเดลาอีดแห่งบูร์กอญ (Adelaide of Burgundy) และแต่งตั้งพระองค์เองเป็นพระมหากษัตริย์แห่งลอมบาร์ด พระองค์ทรงได้รับการสวามิภักดิ์จากเบเรนการ์แห่งอิฟริอา พระมหากษัตริย์แห่งอิตาลี (ปกครอง ค.ศ. 950-ค.ศ. 952) หลังจากนั้นออตโตก็ทรงแต่งตั้งพระญาติให้เป็นประมุขคนใหม่ของดัชชีต่าง ๆ ในอิตาลี แต่ก็มิได้ทรงสามารถแก้ปัญหาการขาดความสวามิภักดิ์ไปได้ทั้งหมด พระราชโอรสของพระองค์ลุยดอล์ฟ ดยุกแห่งชเวเบียก่อการปฏิวัติและยอมรับชาวฮังการีเข้ามาในเยอรมนีในปี ค.ศ. 953 จักรพรรดิออตโตติดตามมาจยาร์ไปถึง เลคเฟลด์ไม่ไกลจากออกสเบิร์กในบาวาเรียและทรงได้รับชัยชนะในปี ค.ศ. 955 หลังจากนั้นชาวฮังการีก็หยุดยั้งการเป็นชนชาติที่มีอาชีพรุกรานและปล้นสดมและถอยไปตั้งตัวเป็นราชอาณาจักรฮังการีในปี ค.ศ. 1000

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้เป็นการสร้างเสริมพระพระเกียรติคุณให้แก่จักรพรรดิออตโตเป็นอันมาก ในปี ค.ศ. 962 พระองค์ก็เสด็จลงไปยังอิตาลีอีกครั้งหนึ่งเพื่อไปทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระจักรพรรดิโดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 12 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องหมายของการก่อตั้งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แม้ว่าคำนี้จะไม่ได้ใช้กันจนต่อมาอีกนานหลังจากนั้น อาณาจักรของออตโตถือกันว่าเป็น “Reich” หรือ “จักรวรรดิเยอรมนี” แรก จักรพรรดิออตโตทรงใช้ตำแหน่งของพระองค์โดยไม่ผูกพันกับอาณาจักรใด ๆ อาณาจักรหนึ่งโดยเฉพาะ พระองค์และจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์องค์ต่อ ๆ มาทรงเห็นพระองค์ว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายการปกครองที่เริ่มมาตั้งแต่ชาร์เลอมาญ (แม้ว่าจักรพรรดิหลายพระองค์จะเป็นเพียงขุนนางท้องถิ่นในอิตาลีผู้ไปบังคับให้พระสันตะปาปาสวมมงกุฎให้เป็นจักรพรรดิ) เมื่อจักรพรรดิออตโตทรงมีอำนาจมากขึ้น พระสันตะปาปาจอห์นก็ทรงหันไปคบคิบกับเบเรนการ์แห่งอิฟริอา, มาจยาร์ และจักรวรรดิไบแซนไทน์ในการพยายามที่จะลิดรอนอำนาจของพระองค์ จักรพรรดิออตโตจึงทรงปลดจอห์นจากการเป็นพระสันตะปาปาและทรงแต่งตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 8 ขึ้นแทนที่ในปี ค.ศ. 963 เบเรนการ์ถูกจับได้และนำตัวกลับไปเยอรมนี แต่จอห์นสามารถรอดตัวไปได้หลังจากออตโตยกทัพกลับไปแล้วแต่มาเสียชีวิตในอ้อมกอดของเมียน้อยไม่นานหลังจากนั้น

นอกจากการก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมนีแล้วจักรพรรดิออตโตก็ยังทรงก่อตั้งระบบสถาบันศาสนาแบบออตโตที่นักบวช (ผู้เป็นผู้มีการศึกษากลุ่มเดียวในหมู่ประชากร) มีหน้าที่ราชการด้วย และทรงช่วยกู้ฐานะของพระสันตะปาปาจากการที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของการเมืองท้องถิ่น และสร้างเสริมให้เป็นตำแหน่งที่มีฐานะเป็นผู้นำระดับนานาชาติ

ยุโรปในปี ค.ศ. 1000

 
เรือยาวไวกิง (longship) จากคริสต์ศตวรรษที่ 9 ที่ขุดพบในปี ค.ศ. 1882

การทำนายว่าโลกจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1000 จำกัดอยู่เฉพาะนักบวชชาวฝรั่งเศสไม่กี่องค์ เสมียนในระบบราชการธรรมดาก็ใช้ปีครองราชย์ (regnal year) ของพระมหากษัตริย์เป็นหลักในการลำดับเดือนปีเช่น “ปีที่ 4 ของรัชสมัยของพระเจ้าโรแบร์ตที่ 2 แห่งฝรั่งเศส” เป็นต้น การใช้ระบบ “คริสต์ศักราช” (anno domini) จำกัดแต่เฉพาะบรรดานักบันทึกพงศาวดารผู้บันทึกประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับหลายดินแดนเช่นนักบุญบีด

ยุโรปเมื่อเทียบกับอิสลามแล้วก็ยังเป็นกลุ่มประเทศที่ยังคงล้าหลัง ขณะที่อิสลามมีระบบการค้าขาย และการขนส่งสินค้าด้วยระบบเครือข่ายของเส้นทางการค้าโดยคาราวานติดต่อกับดินแดนอันกว้างไกล หรือประเทศจีนซึ่งขณะนั้นเป็นจักรวรรดิที่มีประชากรมากที่สุดภายใต้ราชวงศ์ซ่ง คอนสแตนติโนเปิลมีประชากรราว 300,000 คนแต่โรมมีมากกว่าแต่ก็เพียง 35,000 คน และปารีสอีก 20,000 คน[3][4] แต่อิสลามมีเมืองสำคัญ ๆ กว่าสิบสองเมืองตั้งแต่กอร์โดบา ในสเปน ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประชากรถึง 450,000 คนไปจนถึงเอเชียกลาง ส่วนไวกิงก็มีระบบการควบคุมเครือเส้นทางการค้าในยุโรปเหนือที่รวมทั้งเส้นทางการค้าที่เชื่อมบริเวณบอลติกในยุโรปเหนือกับไบแซนไทน์และตะวันออกโดยผ่านรัสเซีย แต่ก็เล็กเมื่อเทียบกับเส้นทางคาราวานของอิสลามที่เชื่อมระหว่างเมืองสำคัญ ๆ ของมุสลิมเช่นกอร์โดบา, อเล็กซานเดรีย, ไคโร, แบกแดด, บาสรา และ มักกะหฺ

อังกฤษอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่หลังจากการถูกปล้นสดมและทำลายโดยไวกิง แต่เมื่อถูกรุกรานอยู่เป็นเวลานานอังกฤษก็ลุกฮือขึ้นสังหารผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานชาวเดนส์ในปี ค.ศ. 1002 ที่นำไปสู่การตอบโต้ระหว่างทั้งสองฝ่ายจนกระทั่งฝ่ายเดนส์ได้รับชัยชนะในปี ค.ศ. 1013 แต่การเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาอย่างรวดเร็วกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาระยะยาวของการรุกรานของอานารยชน สแกนดิเนเวียเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาไม่นานก่อนหน้านั้นและราชอาณาจักรของนอร์เวย์, สวีเดน, และ เดนมาร์ก ก็ได้รับการก่อตั้งขึ้น จักรวรรดิเคียฟรุสที่เพิ่งเข้ารับคริสเตียนออร์ธอด็อกซ์ก็รุ่งเรืองและกลายเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ไอซ์แลนด์ และฮังการีประกาศตนเป็นคริสเตียนราว ค.ศ. 1000

 
สถาปัตยกรรมออตโต: วัดเซนต์ไมเคิล, ฮิลเดสไฮม์ คริสต์ทศวรรษ 1010

ทางตอนเหนือของอิตาลีที่การก่อสร้างด้วยหินมิได้หยุดยั้งไปเช่นในบริเวณอื่น และในบริเวณเหล่านั้นก็เริ่มหันมาก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ ด้วยหินแทนไม้ นอกจากนั้นก็มีการเริ่มบุกเบิกใช้ป่าดิบ คริสต์ศตวรรษที่ 10 เป็นคริสต์ศตวรรษที่ประชาชนเริ่มกลับเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองโดยจะเห็นได้จากจำนวนประชากรที่เพิ่มเป็นสองเท่าในเมืองต่าง ๆ ในอิตาลี ลอนดอนที่ถูกทิ้งร้างไปหลายร้อยปีก็เริ่มกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขึ้นมาในช่วงนี้ เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1000 บรูจส์ และ เก้นท์ ก็มีงานแสดงสินค้าเป็นประจำหลังกำแพงปราสาทซึ่งเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุโรปตะวันตก

ในช่วงเวลานี้เช่นกันที่จักรวรรดิกาหลิบของมุสลิมเริ่มแสดงสัญญานของความเสื่อมโทรมลง ความแตกแยกของมุสลิมมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างชีอะหฺและซุนนีย์ และอาหรับในเปอร์เชีย ในช่วงนี้มีจักรวรรดิกาหลิปสำคัญ ๆ สามจักรวรรดิ: จักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะฮ์ในสเปน, จักรวรรดิกาหลิปอับบาซียะฮ์ในแบกแดด และ จักรวรรดิกาหลิปฟาติมียะห์ในอียิปต์ ประชากรของแบกแดดซึ่งเป็นเมืองหลวงของอับบาซียะฮ์ลดลงเหลือเพียงราว 125,000 คน (เมื่อเทียบกับ 900,000 คนในปี ค.ศ. 900) อุมัยยะฮ์ยังคงมีอำนาจอยู่ในปี ค.ศ. 1000 แต่ก็มาลดลงอย่างรวดเร็วเพียงอีกไม่กี่ปีต่อมาและสิ้นสุดอย่างหมดสิ้นในปี ค.ศ. 1031

ทางด้านวัฒนธรรมของยุโรปก็มีปัจจัยหลายอย่างที่เริ่มเกิดขึ้นหลังจาก ค.ศ. 1000 ที่เป็นการบ่งถึงจุดจบของยุคกลางตอนต้นที่รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนในยุคกลาง (medieval commune), การฟื้นฟูเมือง, การปรากฏตัวของชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า “burgher”, การก่อตั้งมหาวิทยาลัยในยุคกลางขึ้นเป็นครั้งแรก, การฟื้นฟูกฎหมายโรมัน และการเริ่มประพันธ์วรรณกรรมโดยใช้ภาษาพื้นบ้านแทนที่จะใช้ภาษาลาติน

ในปี ค.ศ. 1000 พระสันตะปาปาอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรพรรดิเยอรมันจักรพรรดิออตโตที่ 3 หรือ “จักรพรรดิโลก” ที่ทรงเรียกพระองค์เอง แต่ต่อมาการปฏิรูปของสถาบันศาสนาก็ส่งเสริมให้มีฐานะและความเป็นอิสระเพิ่มขึ้น โดยขบวนการคลูนี, การก่อสร้างมหาวิหารด้วยหินขนาดใหญ่ และการประมวลประกาศและกฎต่าง ๆ เข้าเป็นคริสต์ศาสนกฎบัตร

ลำดับเหตุการณ์

อ้างอิง

  1. Events used to mark the period's beginning include the sack of Rome by the Goths (410), the deposition of the last western Roman Emperor (476), the Battle of Tolbiac (496) and the Gothic War (535–552). Particular events taken to mark its end include the founding of the Holy Roman Empire by Otto I the Great (962), the Great Schism (1054) and the Norman conquest of England (1066).
  2. Hopkins, Keith Taxes and Trade in the Roman Empire (200 B.C.-A.D. 400)
  3. Berglund, B. E. (2003). "Human impact and climate changes—synchronous events and a causal link?" (PDF). Quaternary International. 105: 7–12. doi:10.1016/S1040-6182 (02) 00144-1 Check |doi= value (help).
  4. Heather, Peter, 1998, The Goths, pp. 51-93
  5. Gibbon, Edward, A History of the Decline and Fall of the Roman Empire, 1776.
  6. Excerpta Valesiana
  7. McEvedy 1992, op. cit.
  8. Berglund, ibid.
  9. Roman Empire Population
  10. Population crises and cycles in history
  11. Rome
  12. Hopkins DR (2002). The Greatest Killer: Smallpox in history. University of Chicago Press. ISBN 0-226-35168-8. Originally published as Princes and Peasants: Smallpox in History (1983), ISBN 0-226-35177-7
  13. How Smallpox Changed the World, By Heather Whipps, LiveScience, June 23, 2008
  14. Scientists Identify Genes Critical to Transmission of Bubonic Plague.
  15. The History of the Bubonic Plague.
  16. An Empire's Epidemic.
  17. City populations from Four Thousand Years of Urban Growth: An Historical Census (1987, Edwin Mellon Press) by Tertius Chandler
  18. Berglund, ibid.
  19. Cini Castagnoli, G.C., Bonino, G., Taricco, C. and Bernasconi, S.M. 2002. "Solar radiation variability in the last 1400 years recorded in the carbon isotope ratio of a Mediterranean sea core", Advances in Space Research 29: 1989-1994.
  20. "English and Welsh are races apart", BBC.
  21. The Maygars of Hungary
  22. No. 1318: Three-Field Rotation
  23. This surplus would allow the replacement of the ox by the horse after the introduction of the padded horse collar in the 12th century.
  24. Islam eventually penetrated into Eastern Europe in the 920s when Volga Bulgaria exploited the decline of Khazar power in the region to adopt Islam from the Baghdad missionaries. The state religion of Khazaria, Judaism, disappeared as a political force with the fall of Khazaria, while Islam of Volga Bulgaria has survived in the region up to the present.
  25. Exposition, Dedicated to Khan Tervel
  26. НИМ представя изложбата "Кан Тервел - спасителят на Европа"
  27. Bulgaria at Sleedh Look encyclopedia
  28. Кан Тервел - спасителят на Византия и ЕВРОПА
  29. Pierre Riché, Education and Culture in the Barbarian West: From the Sixth through the Eighth Century, (Columbia: Univ. of South Carolina Pr., 1976), pp. 100-129).
  30. Pierre Riché, Education and Culture in the Barbarian West: From the Sixth through the Eighth Century, (Columbia: Univ. of South Carolina Pr., 1976), pp. 307-323).
  31. William Stahl, Roman Science, (Madison: Univ. of Wisconsin Pr.) 1962, see esp. pp. 120-133.
  32. Linda E. Voigts, "Anglo-Saxon Plant Remedies and the Anglo-Saxons, " Isis, 70 (1979) :250-268; reprinted in M. H. Shank, ed., The Scientific Enterprise in Antiquity and the Middle Ages, (Chicago: Univ. of Chicago Pr., 2000).
  33. Stephen C. McCluskey, "Gregory of Tours, Monastic Timekeeping, and Early Christian Attitudes to Astronomy, " Isis, 81 (1990) :9-22; reprinted in M. H. Shank, ed., The Scientific Enterprise in Antiquity and the Middle Ages, (Chicago: Univ. of Chicago Pr., 2000).
  34. Stephen C. McCluskey, Astronomies and Cultures in Early Medieval Europe, (Cambridge: Cambridge Univ. Pr., 1998), pp. 149-57.
  35. Faith Wallis, "'Number Mystique' in Early Medieval Computus Texts, " pp. 179-99 in T. Koetsier and L. Bergmans, eds. Mathematics and the Divine: A Historical Study, (Amsterdam: Elsevier, 2005).
  36. "Science" (html). Encyclopædia Britannica. online. Encyclopædia Britannica, Inc. สืบค้นเมื่อ 2007-07-13.
  37. Hogendijk, Jan P. (1998). "al-Khwarzimi". Pythagoras. 38 (2): 4–5. ISSN 0033–4766.
  38. Berggren 1986
  39. Struik 1987, p. 93
  40. Chandler, Tertius, Four Thousand Years of Urban Growth: An Historical Census (1987, Edwin Mellon Press)
  41. Cantor, 1993 Europe in 1050 p 235.
  42. Chandler, Tertius, ibid.

ดูเพิ่ม

  • Cambridge Economic History of Europe, vol. I 1966. Michael M. Postan, et al., editors.
  • Norman Cantor, The Medieval World 300 to 1300
  • Georges Duby, 1974. The Early Growth of the European Economy: Warriors and Peasants from the Seventh to the Twelfth Centuries (New York: Cornell University Press) Howard B. Clark, translator.
  • Georges Duby, editor, 1988. A History of Private Life II: Revelations of the Medieval World (Harvard University Press)
  • Heinrich Fichtenau, (1957) 1978. The Carolingian Empire (University of Toronto) Peter Munz, translator.
  • Richard Hodges, 1982. Dark Age Economics: The Origins of Towns and Trade AD 600-1000 (New York: St Martin's Press)
  • David Knowles, (1962) 1988. The Evolution of Medieval Thought
  • Richard Krautheimer, 1980. Rome: Profile of a City 312-1308 (Princeton University Press)
  • Robin Lane Fox, 1986. Pagans and Christians (New York: Knopf)
  • John Marenbon (1983) 1988.Early Medieval Philosophy (480-1150) : An Introduction ( (London: Routledge)
  • Rosamond McKittrick, 1983 The Frankish Church Under the Carolingians (London: Longmans, Green)
  • Karl Frederick Morrison, 1969. Tradition and Authority in the Western Church, 300-1140 (Princeton University Press)
  • Pierre Riché, (1978) 1988. Daily Life in the Age of Charlesmagne
  • Richard Southern, 1953. The Making of the Middle Ages (Yale University Press)

ดูเพิ่ม

นสม, ยกลาง, สำหร, บความหมายอ, สม, ยกลาง, บทความน, างอ, งคร, สต, กราช, คร, สต, ทศวรรษ, คร, สต, ศตวรรษ, งเป, นสาระสำค, ญของเน, อหา, งกฤษ, early, middle, ages, เป, นสม, ยหน, งในประว, ศาสตร, โรป, เร, มข, นหล, งจากการล, มสลายของจ, กรวรรด, โรม, นและดำเน, นต, อเน, อง. sahrbkhwamhmayxun duthi smyklang bthkhwamnixangxingkhristskrach khristthswrrs khriststwrrs sungepnsarasakhykhxngenuxha tnsmyklang xngkvs Early Middle Ages epnsmyhnunginprawtisastryuorp erimkhunhlngcakkarlmslaykhxngckrwrrdiormnaeladaenintxenuxngknepnewlapramanharxypiodyerimtngaetrawpi kh s 500 cnkrathngmathungrawpi kh s 1000 1 tnsmyklangsinsudaelwcungtxdwysmyklangyukhrungorcnckrphrrdinithioxodra phraxkhrmehsiinckrphrrdicstieniynthi 1 innganomeskkhxngkhriststwrrsthi 6 phayinmhawiharsnwitael emuxngraewnna hnngsuxsahrbphithisasnacakkhriststwrrsthi 8 hxsmudwatikn Reg Lat 316 foll 131v 132r enuxha 1 karlmslaykhxngckrwrrdiormn kh s 372 kh s 410 2 smykaroykyaythinthaninyuorp kh s 400 700 3 ckrwrrdiibaesnithn 4 khwamrungeruxngkhxngsasnaxislam kh s 632 kh s 750 5 karfuntwkhxngckrwrrdiyuorptawntk kh s 700 kh s 850 5 1 xitali 5 2 xngkvs 5 3 ckrwrrdiaefrngkh 5 4 rabbmaenxr 6 yukhiwking kh s 793 kh s 1066 7 yuorptawnxxk 600 1000 7 1 ckrwrrdiekhiyfrus 7 2 ckrwrrdiblaekeriy 8 karepliynaeplngokhrngsrangkhxngkarsuksa 8 1 karsuksakhlassik 8 2 khwamesuxmothrmthangtawntk 8 2 1 withyasastr 8 2 2 smyfunfusilpwithyakarxaelngechiyng 8 3 ibaesnithnaelayukhthxng 8 4 xiththiphlkhxngxilsam 9 khristsasnatawnxxkaelatawntk 9 1 karephyaephrkhristsasnainyuorptawntk 10 khnadkhxngemuxng 11 karkxtngckrwrrdiormnxnskdisiththi khriststwrrsthi 10 12 yuorpinpi kh s 1000 13 ladbehtukarn 14 xangxing 15 duephim 16 duephimkarlmslaykhxngckrwrrdiormn kh s 372 kh s 410 aekikhdubthkhwamhlkthi karlmslaykhxngckrwrrdiormntawntk Die Hunnen im Kampf mit den Alanen chawhninyuththkarkbchawxaln ody oyhnn enophmukh ikekxr kh s 1873 epnphaphkhxngchawxalnsungepnchninklumchawxihranphutngthinthanxyuthangehnuxaelathangtawnxxkkhxngthaeldathukrukranihtxngyaythinthanodychawhnintxntnkhxngsmykaroykyaythinthaninyuorpihkracdkracayiptngthinthanxyuthwipinckrwrrdiormn karoykyaythinthankhxngchnecxrmanikhinkhriststwrrsthi 5 ekidcakkarrukranaelathalayrachxanackrkxthikhodychawhn rahwang kh s 372 cnthungpi kh s 375 krungormexngkthukyudaelaplnsdmodychawwisikxth inpi kh s 410 aelaodyaewndl inpi kh s 455 tngaetkhriststwrrsthi 2 wthnthrrmkhxngormnkerimaesdngsyyankhxngkhwamesuxmothrmindantang thithngsphawathangkhwamepnxyuinemuxngtang karkhakhaythangthael aelaprachakr inkhriststwrrsthi 3 canwneruxaetkthiphbinthaelemdietxereniynmicanwnephiyng 40 epxresntkhxngthiphbemuxethiybkbinkhriststwrrsthi 1 2 prachakrkhxngckrwrrdiormnldlngcak 65 lankhninpi kh s 150 lngehluxephiyng 50 lankhninpi kh s 400 ethakbldlngkwa 20 epxresnt bangkwamiswnekiywkhxngkbsmyxunhphumiepliynaeplnginyuorp thiekidkhunrahwang kh s 300 thung kh s 700 emuxxunhphumodythwipinolkldlngtakwapktisungepnphlthaihphlitphlthangkarekstrkrrmldlng 3 karoykyangthinthanlngmathangitcaksaekndienewiykhxngklumchnecxrmanikhipcnthungthaeldaintnkhriststwrrsthi 3 kxtwknepnshphnththimixanacphx kbklumchnsarmaechiyn Sarmatians cakexechiyklangthiormntxngprabpramkxnhnann inormaeniyinbriewnthunghyasetpptxnehnuxkhxngthaelda chawkxthsungepnchnklumhnunginklumecxrmanikhkekhaiptngthinthanaelakxtngrachxanackrkhunsxngrachxanackr ethxrwing Thervings aela kruththng Greuthungs 4 aetmathukthalaychnhnthiekhamarukraninbriewnnnrahwang kh s 372 thungpi kh s 375 chnhnepnshphnthkhxngchnephacakexechiyklangphukxtngckrwrrdirwmkbchnchnphunathiphudphasaetxrkik hnmikhwamsamarthinkaryingthnucakhlngmathikalngkhwbidxyangrwderwaelaaemnyasungepnkhwamsamarththinakhwamsaercmasukarocmtirukrandinaedntang chnkxthtxnghniiphlbphyindinaednthiepnkhxngkhxngormn kh s 376 odyyxmtklngekhaiptngthinthanodyimthuxxawuth aetbangklumktidsinbnecahnathichayaednihnaxawuthtidtwekhaipidemuxormnyngrungeruxngkhwammiwinyaelakhwammiraebiybinkarcdrabbkhxngthharormnthaihepnkxngthharthimiprasiththiphaph aetormnthndthicaepnthharrabmakkwathicaepnthharma ephraathharrabsamarthfukihxyurwmepnkxngidinsnamrb aetthaepnthharmakmkcaepnoxkasihhnhlnghniemuxephchiyhnakbxntray thharkhxngckrwrrdiormnimehmuxnthharkhxngxnarychntrngthiepnthharthitxngidrbkarfukhdxyangsmaesmxaelatxngmikhacangsungepnraycaythiepnpharatxckrwrrdi emuxkarekstrkrrmaelakaresrsthkictktakarekbphasithibangswnnamabarungkxngthphkthaidyakyingkhun rabbtang khxngckrwrrdiormncungtkxyuinsphawathibibkhninsngkhramkxthikh kh s 376 382 kxthlukkhunptiwtitxtankxngthphormninyuththkarxaedriyonepil kh s 378 ckrphrrdiwaelnsaehngckrwrrdiormntawnxxkchingocmtikxngthharrabethxrwingphayitkarnakhxngfritiekirnodyimrxkxnghnunkhxngckrphrrdikraechiynaehngckrwrrdiormntawntkthikalngxyuinrahwangkaredinthangmasmthb khnathifayormnaelaethxrwingkalngtxsuknxyuthharmakhxngfaykruththngkedinthangmasmthbkbethxrwing sungthaihfayormnidrbkhwamephliyngphlaaelamithharrxdipidcakkartxsuipidephiynghnunginsam khwamesiyhaykhrngniepnkhwamesiyhayxnihyhlwngkhxngkxngthphormnmatngaetyuththkarthiknin Cannae thiekidkhunemux 216 pikxnkhristskrachtamhlkthancakkarbnthukkhxngnkprawtisastrkarthharormnxmmixans maresllins kxngthharhlkkhxngckrwrrdiormntawnxxkthukthalayxyangyxyyb ckrphrrdiwaelnsexngkthrngthuksnghar sungepnkarepidoxkasihkxthsamarthekhathalaykhabsmuthrbxlkhanidxyangmiesri rwmthngkarthalaythiekbxawuthtang tamfngaemnadanup nkprawtisastrxngkvsexdewird kibbxnihkhwamehnwa thharormnphusungmkcasngbsarwmemuxklawthungkarkrathathi yutithrrm emuxklawphvtikrrmkhxngkarkrathakhxngkxngthharkhxngtnexnginkarprabpramphuxun miidxxkkhwamehnaetxyangidemuxkxngthharkhxngtnexngmathukthalayodyxnarychn 5 ckrwrrdiormnthikhadkalngthrphyhruxxaccakhadphlngicinkarthicakxsrangkxngthharxachiphkhunihmaethnkxngkalngthiesiyipthixaedriyonepilkerimhnipphungkxngthphkhxngxnarychninkartxsuaethnckrwrrdi ckrwrrdiormntawnxxksamarthtidsinbnkxthdwybrrnakar aetckrwrrdiormntawntkimxyuinthanathicathaechnediywknid stiliokh Stilicho aemthphormntawntkphuepnlukkhrungaewndldungkxngkalngcakbriewnekhtaednlumaemnairnmapxngknkarrukranxitaliodychawwisikxth inrahwangpi kh s 402 thungpi kh s 403 aelaodychawkxthxikklumhnunginrahwangpi kh s 406 thungpi kh s 407emuxwnthi 31 thnwakhm kh s 406 thangphrmaednkphayaeph emuxtxngthxyrncakkarrukranxyangrwderwkhxnghn aewndl subi aelaemuxxalnkhamaemnairnthiaekhngtwekhamaocmtiimiklcakimnths hlngcaknnklumchnehlanikbukekhaipinkxl aelatamdwychawebxrkndi aelaklumchnxlamanni phayitbrryakaskhxngkhwamesiyhaythiidrbaelakhwamekliydchngxnarychnthitammackrphrrdiohoneriyskeriyktwstiliokhklbmasngharinpi kh s 408 stiliokhyxmesiyhw dwykhwamklahayxnkhwrkhaaekkarepnnayphlormnkhnsudthay tamthibrryaykhxngexdewird kibbxn hlngcaknnckrphrrdiohoneriyskthrngehluxaetephiyngthipruksathikhadsmrrthphaph sxngpihlngcaknnwisikxthnaodyxlarikhthi 1 ktikrungormaetkemuxwnthi 24 singhakhm kh s 410 rahwangsamwnhlngcaknnxlarikhkephaemuxngaelailsngharphukhnipepncanwnmakcnthnnhnthangknxngipdwyeluxdaelaetmipsaksphepnkxngephnin wngaelakhvhasntangkthukplnexakhxngmikha phuidthitxngsngsywasxnkhxngmikhakthukthrmanihbxkthisxn aetkxthphuephingepliynmanbthuxsasnakhristmiidthalaykhristsasnsthan hlngcakkarthalayemuxngaelwkmiephiyngphukhncanwnimmaknkthirxdmaidephraaekhaiphlbhniphyxyuinwatiknsmykaroykyaythinthaninyuorp kh s 400 700 aekikhdubthkhwamhlkthi smykaroykyaythinthaninyuorp aela rayphranamphramhakstriyeyxrmni mxoseliymkhxngckrphrrdithioxdxrikhinraewnnaepnsthaptykrrmaebbxxsotrkxthaehngediywthiyngkhngehluxxyu chawkxthaelaaewndlepnephiyngchnklumaerkthiekhamarukranckrwrrdiormnthitxmatammadwychnklumxun xikhlayralxkcakyuorptawntk bangklumkdarngchiwitxyudwykarthasngkhramaelakarplnsdm aelamikhwamchingchnginwithichiwitkhxngchawormn aetbangklumkchunchmaelatxngkarcaexaaebbxyangodykarepnphusubxanacaelawthnthrrmtxcakckrwrrdiormn sungthaihphraecathioxdxrikhmharachphramhakstriykhxngxxsotrkxththrngxxkkhwamehnwa ormntkyakthatwepnkxth kxthiddithatwepnormn 6 prachachnkhxngckrwrrdithiepnormnkhathxlikepnprachachnthikhunekhykbsngkhmthimiraebiybaebbaephnkhxngxanackrsungepnsngkhmthimirabbkarpkkhrxngaelakarbriharmanan aetchnecxrmanikhthiekhamaihmimmikhwamkhunekhykbkarichchiwitkhxngkarepnemuxnghruxrabbkarepnemuxngthiprakxbdwyrabbkarbrihar rabbengintra rabbkarsuksa aelaxun aelaepnphuthiepliynmanbthuxsasnakhristlththiexeriyssungphunbthuxnikayormnkhathxlikphuekhrngkhrdinckrwrrdithuxknwaepnlththithinxkritsmykaroykyaythinthaninyuorpmkcaeriykknphid waepn yukhmud odynkprawtisastryuorptawntk hrux Volkerwanderung smychnerrxn odynkprawtisastrchaweyxrmn khawa yukhmud xaccamahmdkhwamniymichkntngaetsngkhramolkkhrngthisxng saehtuhnungkephraakhwamhmaykhxngkhathaihekidkhwamekhaicphidthungsphawaodythwipkhxngyukh aelacakkarkhnkhwathangobrankhdiemuximnanmanikphbwatrngknkhamkbkhwamechuxodythwipthiwaepnsmythilahlngthangdansilpa ethkhonolyi karpkkhrxng aelarabbsngkhm txngkarxangxing phutngthinthankxnhnathicamikaroykyayimmiphlkrathbkraethuxnethaidnk khnathiphlemuxnginfrngess xitali aelasepnyngkhngphudphasalatinthxngthin thipccubnthuxwaepnklumphasaormans aetphasaklumnikaethbimehluxrxngrxyinxanabriewnthichawaexngokl aesksnphichitidthiinpccubnkhuxxngkvs aetrachxanackrbritanikhthangtawntkyngkhngphudphasaklumbrithxnikh Brythonic nxkcakkarepliynaeplngthangdanphasaaelwchnklumihmthiekhamatngthinthankyngekhamaepliynaeplngrabbsngkhm kdhmay wthnthrrm sasna aela karepnecakhxngxsngharimthrphydwy Around 500 the wisikxthpkkhrxngdinaednthipccubnkhuxfrngess sepn aelaoprtueks Pax Romana khxngckrwrrdiormnthiepnrabbthikxtngkhunephuxsrangkhwamplxdphyinkarkhakhayaelakarphlitsinkha aelasngesrimkhwamepnxnhnungxnediywknkhxngwthnthrrm aela karsuksaindinaednthiiklxxkipkhxngckrwrrdi rabbnikmaslaytwlngipaelamaaethnthidwykarpkkhrxngodyphukhrxngradbthxngthinthibangkhrngkepnchnthxngthinchnsungthirbrabbormnekhamaptibti hruxbangkhrngkxaccaepnlxrdkhxngphutangwthnthrrm aetwthnthrrmormninbriewnkaleliyxkhwithaeniy kaleliynarobennsis xitalitxnitaelasisili hispaeniyebtikha hruxsepntxnit aelafngixbieriynemdietxereniynkyngkhngichptibtikntxmacnthungkhriststwrrsthi 6 thung 7karaetkslaykhxngrabbesrsthkicaelarabbsngkhmodythwipthickrwrrdiormnidwangrakthaniwepnphlthaihkarpkkhrxngklayepnrabbthixanackarpkkhrxngkracayxxkipcaksunyklangepnxanackhxngkarpkkhrxngradbthxngthinthiimkhunxyukbsunyklangihyechnorm karlmslayodythwipekidkhunxyangrwderw enuxngmacakkarkhadkhwamplxdphyinkaredinthangaelakarkhnsngsinkhaephuxthakarkhakhay sungepnphlihkarphlitsinkhasahrbsngxxkaelakarkhakhayindinaedntang inckrwrrditxngmahyudchangklng xutsahkrrmsakhythikhunxyukbkarkhakhayechnkarthaekhruxngpndinephakhayipaethbcathnthiinsthanthiechnxngkvs aetsunyklangechnthinthaeclinkhxrnwxllaelathixun xikhlayaehngkyngkhngsamarththakarkhakhaysinkhafumefuxyidmacnthungkhriststwrrsthi 6 aetinthisudkartidtxehlanikslaytwip echnediywkbrabbkarbrihar karsuksa aelakarthhar karsuyesiy cursus honorum hruxradbtaaehnnginkarrbhnathirachkarnaipsukaryubrabbkarsuksasungthaihmiprachakrthikhadkarsuksaephimkhunaemaetinhmuphunainbriewnthiedimepnbriewnkhxngormnksuyesiyprachakrippraman 20 rahwangpi kh s 400 thungpi kh s 600 hruxldlngipthunghnunginsamrahwangpi kh s 150 thungpi kh s 600 7 inkhriststwrrsthi 8 primankarkhakhaykldlngipthungcudthitathisudtngaetyukhsmvththi sungcaehnidcakcanwneruxaetkthiphbtngaetkhriststwrrsthi 8 thimicanwnnxylngehluxephiyng 2 khxngcanwnthiphbinkhriststwrrsthi 1 sungpracwbkbkarhdtwkhxngphlitphlthangekstrkrrmrawpi kh s 500 aela inchwngewlaediywkbthixunphumikhxngolkeyntwlngxyangrwderwthithrabidcakkarsuksawngaehwnkhxngtnim 8 karichrabbekstrkrrmsxngaeplngkhxngormnsungepnrabbthiplukphuchaeplnghnungaelathingxikaeplnghnungiwaelaithkhradephuxkacdwchphuchkhyudchangklng emuxrabbsthabntang khxy lmslaylngecakhxngthidinkimsamarthhyudyngthascakkarhniipcakthidinthangekstrkrrmsungkepnphlthaihrabbekstrkrrmesuxmothrmlng aelakarekstrkrrmxyangmirabbksinsudlngtamipdwy sungmiphlthaihcanwnphlitphltalngcnehluxephiyngradbthithaaetephiyngphxkinkrungormedimepnemuxngthimikhwamsakhythisudthangkaremuxng mikhwammngkhngthisud aela epnemuxngthimikhnadihythisudinolkmaekuxbhnungphnpi 9 thiinplaykhriststwrrsthi 1 miprachakrkwahnunglankhn 10 aetemuxmathungyukhklangtxntncanwnprachakrkhxngormkldlngipehluxephiyng 20 000 khn emuxngthiekhymiphukhnxyuknxyanghnaaennkaethbcaklayepnemuxngrangthimiephiyngphuxyuxasyxyuknepnhyxm thamklangsingkxsrangthiprkhkphngaelaepnpaepnphng 11 pccyxikpccyhnungthithaihprachakryubtwlngmakkhuxkarrabadkhxngorkh fidasimidekhamaephyaephrinyuorptawntkcnkrathngraw kh s 581 emuxnkbuyekrkwraehngturbrryaylksnakhxngphupwythiepnlksnaediywkbphupwydwyfidas 12 orkhrabadthiekhamaepnralxk cungepnxikpccyhnungthithaihcanwnprachakrinchnbthldcanwnlngipepnxnmak 13 aetkimmiraylaexiydethaidnkephraaraylaexiydswnihythiekiywkborkhrabadsuyhayiphmd aetpramanknwaorkhrabadcstieniynkhrachiwitkhnipraw 100 lankhnthwolk 14 15 nkprawtisastrbangkhnechnocisyah si rsesll kh s 1958 tngkhxesnxwayuorpthnghmdsuyesiyprachakripraw 50 thung 60 rahwangpi kh s 541 thungpi kh s 700 16 hlngcakpi kh s 750 orkhrabadihykmiidekidkhuninyuorpxikcnkrathngmathungkarrabadkhxngkalorkhkhrngihyinkhriststwrrsthi 14ckrwrrdiibaesnithn aekikhdubthkhwamhlkthi ckrwrrdiibaesnithn karesdcswrrkhtkhxngckrphrrdithioxodesiysthi 1 inpi kh s 395 tammadwykaraebngaeykkhxngckrwrrdiormnrahwangphrarachoxrssxngphraxngkhepnckrwrrdiormntawntk aela ckrwrrdiormntawnxxk ckrwrrdiormntawntkslaytwxxkipepnxanackreyxrmnyxy emuxmathungkhriststwrrsthi 5 sungthaihckrwrrdiormntawnxxkinkhxnsaetntionepilklaymaepnckrwrrdithisubtxcakckrwrrdiormnobran hlngcakckrwrrdiormntawnxxkepliynmaichphasakrikaethnphasalatinepnphasarachkar nkprawtisastrkeriykckrwrrdiniwa ibaesnithn chawtawntkkkhxy klawthungphuxyuinckrwrrdiibaesnithnwa krik aethnthicaepn ormn aetphuthixasyxyuinckrwrrdiibaesnithnexngyngmkcaeriyktnexngwa Romaioi hrux ormn phayitkarpkkhrxngkhxngckrphrrdicstieniynthi 1 pkkhrxng kh s 527 kh s 565 ibaesnithnsamarthfunfuxanackhxngckrwrrdiormnxyangepnxnhnungxnediywknkhunxikkhrnginxitaliaelaaexfrikaehnux ckrwrrdiormntawnxxkmicudprasngkhthicarksasiththiinkarkhwbkhumesnthangkarkharahwangyuorpaelatawnxxkthithaihckrwrrdiepnckrwrrdithimngkhngthisudinbrrdarthtang inyuorp ibaesnithnichkhwamsamarththnginthangkarthhar aelainthangkarthutinkarpxngknhruxhlikeliyngkarthukrukrancakxnarynthioykyaythinthanekhama khwamhwngthicafunfuxanacthangtawntkmaepnkhwamcringxyuchwrayahnunginrchsmykhxngckrphrrdicstieniynthi 1 phukhrxngrachyrahwang kh s 527 cnthungpi kh s 565 imaetephiyngaetcafunfuckrwrrdiormntawntkethannaetphraxngkhyngthrngwangrakthankdhmayormnthiepnkdhmaythiichknxyangkwangkhwangtxma aelainbangbriewnichmacnkrathngthungkhriststwrrsthi 19 nxkcaknnkthrngsrangsingkxsrangthiihythisudaelamiwithikarkxsrangthisbsxnthisudkhxngyukhklangtxntn xayaosefiyinkhxnsaetntionepil aetorkhrabadcstieniynkmathaihsthanakarnepliynaeplngipxyangsineching emuxkhxnsaetntionepilexngesiyprachakripthung 40 sungepncudthithaihprachakrkhxngyuorpldcanwnlngipepnxnmakinsmyyukhklangtxntnckrphrrdimxrisaelackrphrrdiehrakhlixstxngprasbkbkarrukrankhxngyuerechiyxawar aela chnslaf hlngcakkarthalaykhxngxawaraelaslafaelwbriewnswnihykhxngkhabsmuthrbxlkhanksuyesiyprachakripepncanwnmak inpi kh s 626 khxnsaetntionepilthiepnemuxngthiihythisudinsmyyukhklangtxntnksamarthtxtankarrukrankhxngxawaraelaepxrechiyid phayinyisibthungsamsibpickrphrrdiehrakhlixskthrngsamarthphichitepxrechiyidodythrngyudemuxnghlwngaelathrngsngihpraharchiwitsultansassaniyah Sassanid aetphraxngkhkmiphrachnmayuyunphxthiidehnsingthithrngidmaesiyip odykarthifayxahrbsamarthphichitsieriy paelsitn xiyipt aela aexfrikaehnuxid thiepnphlmacakkhwamaetkaeykthangsasna aelakhbwnkarnxkritthiepliynipnbthuxsasnaxislamaemwackrphrrdiehrakhlixscathrngsamarthtxtankarlxmemuxngkhxnsaetntionepilodyfayxahrbidthungsxngkhrng inrahwangpi kh s 674 thung kh s 677 aelainpi kh s 717 ibaesnithninkhriststwrrsthi 8 aelatnkhriststwrrsthi 9 ktxngprasbkbpyhahlayxyangthikrathbkraethuxntxkhwammnkhngkhxngckrwrrdithirwmthnglththithalayrupekharph aela khwamkhdaeyngknkhxngfkfaytang phayinrachsankblkaraelaslafthuxoxkascakkhwamaetkaeykinkarekharukranxilieriy ethrs aela kris hlngcakidrbchychnaxyangeddkhadinyuththkarxxnkl Battle of Ongal inpi kh s 680 aelwkxngthphblkaraelaslafkedinthangipthangitkhxngethuxkekhabxlkhan aelaidrbchychnatxibaesnithnxikkhrng cnibaesnithntxngyxmlngnaminsnthisyyasngbsukthiepnkarhyamekiyrti odythitxngyxmrbkarkxtngckrwrrdiblaekeriythi 1 tidkbibaesnithnexngephuxepnkarephimkhwammnkhngtxphyrxbdan ibaesnithnkthakarptirupthangkarbriharihmodykarrwmkarbriharthngthangkaremuxngaelathangkarthharekhadwyknphayitxanackhxngkhunphl karptiruprabbnithaihekidtrakulthiepnecakhxngthidinihy khunhlaytrakulthimixanacpkkhrxngekhtphumiphakhtang inckrwrrdi aelaemuxmixanacmakkhuntangtrakultangkcaxangsiththiinkarkhrxngrachbllngkemuxmathungkhriststwrrsthi 8 xanaekhtkhxngibaesnithnkldnxylngaetkrannkhxnaestntionepilkyngkhngepnemuxngthiihythisudaelamngkhngthisudinolkcaethiybidkaet Ctesiphon khxngsassaniyahaelaaebkaeddkhxngxbbasiyah thicanwnprachakrpramanrahwang 300 000 thung 400 000 khnephraackrphrrdiichwithitang inkarkhwbkhumcanwnprachakrkhxngemuxnghlwng khnannemuxngkhrisetiynihyxun kmiaetorm prachakr 50 000 khn aela saolnikha prachakr 30 000 khn 17 kxnthikhriststwrrsthi 8 casinsudlng kdhmaychawnakerimchwyinkarfunfukarekstrkrrminibaesnithn echnthisaranukrmbritanikhachbb kh s 2006 klawwa sngkhmibaesnithnthiepnsngkhmthiichethkhonolyiepnsngkhmthikawhnakwasngkhmrwmsmyinyuorptawntk karichekhruxngmuxthithadwyehlkkmiichkninradbhmuban orngsithiichphlngnakmixyuodythwip aelathungnathiplukthwkphlitthyyaharthietmipdwyoprtin 1 aephnngachangepnphaphphraeysuswmmngkudihckrphrrdikhxnsaetntinthi 7 raw kh s 945 karkhunkhrxngrachykhxngrachwngsmasiodeniy Macedonian dynasty inpi kh s 867 epnkarsinsudkhxngsmykhxngkhwamwunwaythangkaremuxng aelakarekhasuyukhthxngkhxngckrwrrdi khnathikhunphlphumikhwamsamarthechninsiofrs ofkhas Nicephorus Phocas thakarkhyaydinaednxxkip ckrphrrdimasiodeniyechnlioxedxaiws aela ckrphrrdikhxnsaetntinthi 7 kmibthbathinkarsngesrimkhwamecriythangwthnthrrminkhxnsaetntionepilinsmythimaruckknwa yukherxenssxngsmasiodeniy pramukhphumihwkawhnakhxngmasiodeniyehyiydhyampramukhkhxngyuorptawntkwaepnxnarychnphukhadkarsuksa aelayngkhngxangsiththiinkarpkkhrxngkhxngxanackrtawntkxyubang aemwayuorptawntkcamikhwamecriykhunbanginrchsmykhxngcharelxmayintnkhriststwrrsthi 9 emuxphraxngkhthrngidrbkarrachaphieskinkrungorminpi kh s 800 aetehtukarnnikimidthaihkxihekidkarepliynaeplngthangdanthsnkhtikhxngpramukhkhxngibaesnithntxckrwrrditawntkaetxyangid aelaodythwipaelwthangtawnxxkkmiidihkhwamsnicindankaremuxnghruxkarwiwthnakarthangdanesrsthkickhxng xnarychntawntk ethaidnkaetphuthimasnicinesrsthkic wthnthrrm aelakarpkkhrxngkhxngckrwrrdiormntawnxxkkidaekephuxnbanthangtxnehnuxkhxngkhxnsaetntionepilthirwmthngslaf blkar aelakhasar thitxngkarthicaplnsdmhruxaeswnghakhwamecriythangwthnthrrmkhxngormn karoykyaykhxngchnecxrmanikhlngthangitkxihekidkaroykyaythinthanknxyangkhnanihykhxngchnslafphuekhaiptngthinthaninbriewnthithukthingrangkhxngckrwrrdiormn inkhriststwrrsthi 7 chnslafkekhluxnyayipthangtawntkthangaemnaexleb thangitinbriewnaemnadanub aelathangtawnxxkinbriewnaemnaniphephxr emuxmathungkhriststwrrsthi 9 chnslafkkhyaytwipyngbriewnthiimkhxymiphuxyuxasythangitaelatawnxxkkhxngphrmaednthrrmchatiaelaphsmklmklunipkbchnthxngthinthirwmthngxillieriy Illyrian and finon xukrikh Finno Ugric khwamrungeruxngkhxngsasnaxislam kh s 632 kh s 750 aekikhdubthkhwamhlkthi karphichitdinaednodymuslim ckrwrrdixahrb aela yukhthxngkhxngxislam ckrwrrdixahrbkhyaytwxyangrwderwrahwang kh s 632 thung kh s 750 karkhyaydinaednodymuhmmdrahwang kh s 622 kh s 632 karkhyaydinaednrahwang kh s 632 kh s 661 karkhyaydinaednodyckrwrrdikahlipxumyyahrahwang kh s 661 kh s 750 hlngcakkaresiychiwitkhxngmuhmmdsasdakhxngsasnaxislamaelw xabubkr و بكر الصديق pkkhrxng kh s 632 34 kklayepn khxlifah hrux kahlip khnaerkkhxngxanackrthiephingkxtngihmphayitrmkhwamsrththakhxngsasnaxislaminkhabsmuthrxahrb kahliprxchidin Rashidun smyaerkepnthngpramukhkhxngrthaelapramukhkhxngsasna khnathikahlipsmytxmaidrbeluxkodyspha shura echnediywkbkareluxkpramukhkhxngchnephaxahrb xabubkr rierimkarrnrngkh Ridda wars ephuxrwbrwmdinaedntxnklangkhxngkhabsmuthrxahrbekhamaxyuphayitkarpkkhrxngkhxngmuslim kh s 633 xumr pkkhrxng kh s 634 kh s 644 phuepnkahlipkhnthisxngtxcakxabubkr prakastnepn phunaaehngsrththachn amir al mu minin inkhristthswrrs 630 xumrksamarthnasieriy cxraedn paelsitn aela xirkekhamaxyuphayitkarpkkhrxngkhxngmuslim swnxiyiptidmacakckrwrrdiibaesnithninsmykhxngxusman Uthman ibn Affan عثمان بن kahlipkhnthisaminpi kh s 645 aelakahlipkhnthisixaliykidchuxwaepnkahlip phuthrngthrrmaelaepnprachyphupraesrith phuepnkahlipkhxngyukhthxngkhxngxislamkahlipxaliyerimsmypkkhrxngkhnathibanemuxngkalngxyuinrahwangthisbsnwunwayhlngcakkarthukkhatkrrmkhxngxusman thithaihekidkaraeyngchingxanacthinaipsusngkhramklangemuxngxislamkhrngthihnung First Fitna thinaodymuxawiyahkhahlwngaehngsieriy emuxmuhmmdlukekhykhxngxaliythuksngharkhnathikalngswdmntxyuthikhufah Kufah inxirk muxawiyahkkxtngckrwrrdikahlipxumyyah kh s 661 kh s 750 odymidamsksepnemuxnghlwng phusnbsnunxaliythirwmthngbutrchayhusyn xibn xali Husayn حسین knakxngthphekhatxtanfayxumyyahaetidrbkhwamphayaeph klumniaelaphusubechuxsaykklayepnnikaychixah phayitkarpkkhrxngkhxngxbdulmalikh Abd al Malik عبد الملك بن مروان aehngrachwngsxumyyahrahwang kh s 685 thung kh s 705 xumyyahkrungeruxngthungcudsungsud aelasamarthphichitdinaednidtngaetexechiyklang rimfngaexfrikaehnux ipcnthungsepn xbdulmalikhepliynrabbindinaedntang thiyudidihepnxahrbodykarkacdkharachkarkrikaelaepxrechiyaelaaethnthidwykharachkarxahrb The 10th century suehraaehngkxrodba karphichitkhabsmuthrixbieriy Moorish invasion of Iberia erimkhunemuxmwr swnihykhuxchnebxrebxraelaxahrbbangbangswn ekharukrankhabsmuthrixbieriykhxngwisikxththiepnkhrisetiyninkhabsmuthrixbieriyinpi kh s 711 phayitkarnakhxngphunaebxrebxrtharikh xibn siyad Tariq ibn Ziyad طارق بن زياد tharikherimkarrukranodykarkhunfngthiyibrxltaremuxwnthi 30 emsaynaelakhxy edinthphrukkhunipthangehnux inpitxmakxngthphkhxngtharikhidrbkarhnunodykxngthphkhxngphubychakarmusa xibun nuaesr موسى بن نصير rahwangaepdpikhxngkarrnrngkhkhabsmuthrixbieriyekuxbthnghmdktkmaxyuinkarkhrxbkhrxngkhxngmuslimnxkcakbriewnelkthangtxntawntkechiyngehnuxkhxng xstueriys aelabriewnswnihykhxngchnbaskhinbriewnethuxkekhaphiernis briewnthiyudkhrxngodyebxrebxraelaxahrbidchuxepnphasaxahrbwa xl xndalus aelaklaymaepnswnhnungkhxngkarkhyaytwkhxngckrwrrdikahlipxumyyahaetkhwamphyayamthilmehlwinkaryudkhxnsaetntionepilepnkhrngthisxnginpi kh s 717 epnkarldxanacaelakhwamepnphunakhxngxumyyahlng emuxidrbchychnainixbieriyaelwfayxahrbkedinthphkhunehnuxaetipphayaephtxcharls maretlphunakhxngckrwrrdiaefrngkhinyuththkarpwtieyrinpi kh s 732 emuxmathungpi kh s 750 ckrwrrdikahlipxumyyahthukokhnodyckrwrrdikahlipxbbasiyah rachwngsxumyyahkthuksngharipcnaethbhmdsinxbdulrahmanthi 1 Abd ar rahman I phunaxumyyahthirxdmaidkhniipsepnaelaipkxtngrachwngsxumyyahkhunihmepnxanackrxiemiyraehngkxrodba inpi kh s 756 epaepngedxachxrthphrarachoxrsincharls maretlkyudnarbxnn Narbonne aelaphranddacharelxmaykthrngkxtng phumiphakhchayaednsepn Marca Hispanica tlxdaenwaethuxkekhaphiernisthangtxnehnuxkhxngsepnthipccubnkhuxaekhwnkhaetholeniy aelathrngyudciornakhuninpi kh s 785 aela baresolnainpi kh s 801karrwmtwkhxngckrwrrdikahlipslaytwlnginchwngewlaekarxypimaepn Idrisid aela Aghlabid inaexfrikaehnux aelasamaniyah Samanid inepxrechiykidrbxisrphaph txmachixah fatimiyahkipkxtngckrwrrdikahlipfatimiyahkhuaekhngkhunintuniesiyinpi kh s 920 imnannkxumyyahinsepnkprakastnepnkahlipinpi kh s 929 rachwngs Buwayhid chixah epxrechiy mixanackhuninkarkhrxbkhrxngaebkaeddinpi kh s 934 inpi kh s 972 fatimiyahkidrbchychnatxxiyiptkarfuntwkhxngckrwrrdiyuorptawntk kh s 700 kh s 850 aekikh cnkrathngkaresdcswrrkhtinpi kh s 814 charelxmaythrngpkkhrxngckrwrrdithirwmthngkhaetholeniyinpccubn frngess eyxrmnitawntk sthanakarninyuorptawntkerimkraetuxngkhunhlngcakpi kh s 700 emuxyuorperimprasbkbkhwamrungeruxngthangphlphlitthangekstrkrrmthitxenuxngknxyangnxykmacnthungpi kh s 1100 18 karsuksasingthitkkhangxyuinhinpunbnphunthaelemdietxrereniynsrupwaradbrngsiaesngxathityephimkhunmakkwapktimakrahwang kh s 600 cnthung kh s 900 19 syyanaerkthiaesdngthungkarfuntwkhxngyuorpekidkhunthismrphumiinkarpxngknemuxngkhxnsaetntionepilinpi kh s 717 aelaemuxchnaefrngkhidrbchychnatxxahrbinyuththkarpwtieyr inpi kh s 732rahwangkhriststwrrsthi 5 cnthungkhriststwrrsthi 8 kidmikarwiwthnakarrabbkarbriharaelakarsngkhmkhunodythwipinbriewnthiepnxditckrwrrdiodykhrxbkhrwkhunnangphumixanacinbriewntang aelaxanackrihm thikxtngkhunodyxxsotrkxthinxitali wisikxthinsepn aela oprtueks aefrngkhaelaebxrkndiinkxl aelaeyxrmnitawntk dinaednehlaniyngkhngepndinaednkhrisetiynaelaphuphichit wisikxth aela lxmbard hrux phuthukphichit xxsotrkxth aela aewndl thiekhynbthuxlththiexeriynismkepliynmaepnormnkhathxlik aetchnaefrngkhepliynodytrngcakkarepnephknmanbthuxormnkhathxlikphayitkarnakhxngokhlwisthi 1karphsmphsanrahwangpccytang thirwmthngwthnthrrmkhxngphuthiekhamaihm khwamcngrkphkdiinklumchnnkrb wthnthrrmkhlassikthiynghlngehluxxyu aelaxiththiphlkhrisetiynthaihekidsngkhmthimilksnaihmthimiphunthanmacakrabbskdinadngedim aetsingthihayipkhuxrabbkarbriharcakswnklang aela karsnbsnunkarmithaskhxngsthabnkhxngormn aexngokl aesksxninxngkvskerimepliyncakkarnbthuxphhuethwniymipnbthuxkhristsasnaodynksxnsasnathimathungekaarawpi kh s 600 aetimehmuxnkbfrngesskhristsasnainxngkvsmidwyknsxngrabb ormnkhathxlikthangit aela khristsasnaaebbekhltikhthangtxnehnux sungklayepnpraednsakhyinkarprachumsphasngkhaehngwithbiy Synod of Whitby inpi kh s 664 hlngcakkarprachumaelwormnkhathxlikkklayepnlththithimixiththiphlehnuxkwa xitali aekikh lxmbardphuekhamainxitalikhrngaerkinpi kh s 568 phayitxlbxyn Alboin kxtngxanackrkhunthangtxnehnuxodymiemuxnghlwngxyuthipaewiy intxnaerklxmbardkimsamaraexachnaxanackrexksaekhthaehngraewnna Exarchate of Ravenna dukhaths ormans aelakhalaebriy aela xphueliyid xiksxngrxypitxmalxmbardkmungmnthicaexachnadinaednehlanicakckrwrrdiibaesnithn thadcaksmbtiaehngkurdxng Treasure of Gourdon rthlxmbardepnrthxanarychnthangwthnthrrmxyangaethcringemuxethiybkbrthecxrmanikhinsmyaerkkhxngyuorptawntk insmyaerkepnkarpkkhrxngaebbkracayxanac odymidyukmixanaceddkhadinkarpkkhrxngdchchikhxngtnexngodyechphaathangdanitindchchiaehngsopelot aela dchchiaehngebenewnot sibpihlngcakkaresiychiwitkhxngekhlfinpi kh s 575 lxmbardkmiideluxkphraecaaephndinxngkhihm smyniepnsmythieriykwa smykarpkkhrxngkhxngdyuk Rule of the Dukes kdhmaychbbaerkekhiynepnphasalatinthiimdinkinpi kh s 643 pramwlkdhmayorthari Edictum Rothari sungepnkarbnthukkdhmaythithaythxdknmaodypakeplaemuxmathungplaysmyxnyawnankhxngluthphrnd Liutprand King of the Lombards kh s 717 kh s 744 rthlxmbardkklayepnrththimirabxbkarpkkhrxngthimirabbaelamikhwammnkhng aetkhwamesuxmothrmkekidkhunxyangrwderw kstriyxngkhtxmaedsiederiys Desiderius phuimidrbkarsnbsnuncakdyukkphayaephaelatxngyxmykxanackrihaekcharelxmayinpi kh s 774 xanackrlxmbardmasinsudlnginsmykarpkkhrxngkhxngaefrngkh emuxphramhakstriykhxngaefrngkhepaepngedxachxrththwaydinaednthangtxnehnuxthiswnihypkkhrxngodylxmbardaelaxanackrthikhuntxckrwrrdiaefrngkhinckrwrrdiormnxnskdisiththiihaek xanackrphrasntapapa cnkrathngthungsmythinkhrrthkhunmamixanacinkhriststwrrsthi 11 aela 12 briewnlxmbardcungkhxyfuntwthangdanitkhxngxitalikerimepnsmyxnathipityaetdchchiaehngebenewnotsamarthdarngtwxyuid inkhriststwrrsthi 9 saraesnkphichitsisiliidaelaerimekhamtngthinthaninkhabsmuthr emuxngtamrimfngthaelkhxngthaeltirereniyn Tyrrhenian Sea aeyktwcakckrwrrdiibaesnithn rthtang tangktxsuknexngeruxymacnkrathngmathungtnkhriststwrrsthi 11 emuxnxrmnekhamayudbriewnthangtxnitkhxngxitaliidthnghmdinplaykhriststwrrsthi 11 xngkvs aekikh dubthkhwamhlkthi xngkvssmyaexngokl aesksxn hmwkehlkaexngokl aesksxnphbthisththnhu khriststwrrsthi 7 inklangkhriststwrrsthi 5 chnhlayklumineyxrmni hxlaelnd aela ednmarkerimekhamarukranbrietnsungepndinaednthithukthinghlngcakkarlmslaykhxngckrwrrdiormn tamthiechuxknmahwhnaephacuthsxngkhn ehncistaelahxrsa Hengist and Horsa idrbsyyacakphraecaaephndinbrietnwxrtiekirn Vortigern wacamxbdinaednihthasamarthkacdphurukranchawphikhthid tam phngsawdaraexngokl aesksxn hlngcakthiidrbchychnatxphikhthaelwfaycuthk sngkhawipyngaexngeklnaelaeriykkxngkalngihmasmthbephimkhun aelaklawthungkhwamirkhunkhakhxngchnbrietn aelakhunkhakhxngdinaedn sungethakbepnkarerimtnkarekhamarukranaelakarphichitangtxnklangaelatxnitkhxngbrietnodyklumchntang khxngklumchnecxrmanikhthirwmthng cuth aexngekils aela aesksxn chnekhltthitngthinthanxyukxnhnainbrietnnnthuksngharipraw 50 epxresntinchwngewlani 20 hlngcaknnaexngokl aesksxnksamarthkxtngxanackrkhunhlayxanackrthimikhwamsakhyaelakhwamyngyuntang kncnkrathngmathungrchsmykhxngphraecaxlefrdmharach kh s 849 kh s 899 aehngewsesksphuthrngnaklumaexngokl aesksxntang inkartxtankxngkarrukrankhxngedns aelaerimkarrwbrwmxngkvsekhaepnxnhnungxnediywkn thimasaercexainpi kh s 926 emuxnxrththmebriythukphnwkodyphraecaexethlstnphuepnphrarachnddakhxngphraecaxlefrd ckrwrrdiaefrngkh aekikh dubthkhwamhlkthi ckrwrrdiaefrngkh ckrwrrdikhaoraelngechiyng aela yukhfunfusilpwithyakhaoraelngechiyng phrarachphithibrmrachaphieskkhxngcharelxmayinkrungorm emoraewngechiyngkxtngtnexnginbriewnthiedimepncnghwdormninkxl hlngcakidrbchychnatxxlamanniinyuththkarothlbiaeykhaelwokhlwisthi 1 kepliynipnbthuxkhristsasnaaelawangrakthankhxngckrwrrdiaefrngkhthiklaymaepnrthmhaxanacinckrwrrdikhrisetiyntawntkinyukhklangerimtnemuxtnkhriststwrrsthi 9 charelxmayrwbrwmxanabriewntang infrngess eyxrmnitawntk aelaxitalitxnehnuxpccubnekhadwyknepnckrwrrdikhaoraelngechiyng smykarpkkhrxngkhxngcharelxmayepnsmythimikhwamrungeruxngthangkarsuksaaelathangwthnthrrmthinkprawtisastrkhxngkhriststwrrsthi 20 eriykwa yukhfunfusilpwithyakhaoraelngechiyng inkhristthswrrsthi 840 hlngcakckrwrrdiaefrngkhthukaebngaeykyuorpkekhasusmykarrukrancakxnarychnxikkhrnghnung erimdwyiwkingaelatamdwymacyar 21 rabbmaenxr aekikh dubthkhwamhlkthi rabbmaenxrrawpi kh s 800 karthakarekstrkrrmxyangmirabbkklbmaaephrhlayxikkhrnginyuorpinrupkhxngrabbaeplngekstrkrrmepid Open field system hruxrabbrabbmaenxr Manorialism epnrabbkarekstrkrrmthimilksnaepnaeplnghlayaeplngaetlaaeplngkaebngxxkepnaethb lakhrungexekhxrhruxnxykwann thitamthvsdithuxwaepnkhnadthiwwsamarthithesrcidkxnthicatxnghyudphk xikthvsdihnungklawwathiaebngepnaethbephraaedimepnthidinsiehliymaettxngaebngepnaethbtamlksnakhxngthidinthiidrb txngkarxangxing pktiaelwaetlakhrxbkhrwkcaidrbthidinkhrxbkhrwlasamsibaethbkarekstrkrrmrabbmaenxrichkarplukphuchphnthuaebbrabbekstrkrrmsamaeplng three field system khxngrabbekstrkrrmaebbhmunewiyn crop rotation thiwiwthnakarkhunepnkhrngaerkinkhriststwrrsthi 9 odykarplukkhawsaliaelakhawiryinaeplnghnung inaeplngthisxngepnphuchthichwysranginotrecn khawbarely khawoxt aelaphuchtrakulthw aelaaeplngsudthayiththingiwodyimplukphuch 22 emuxethiybkbrabbekstrkrrmsxngaeplng two field system thithaknmakxnhnann rabbsamaeplngtxngichenuxthiinkarthaekstrkrrmmakkhun aetthisakhythisudkhuxthaihidphlitphlephimkhunepnsxngkhrngtxpisungepnkarldxntraythiekidcakkhwamlmehlwkhxngkarekstrkrrmthinaipsukhwamxdxyak aelaepnrabbthithaihmikhawoxtthiepnphlitphlswnekinthiichinkareliyngmaid 23 rabbsamaeplngthaihtxngmikarcdrabbokhrngsrangthngthangkarekstrkrrmaelathangsngkhmknxyangkhnanihy rabbnimiidaephrhlaymacnkrathngthungkhriststwrrsthi 11 inplaykhriststwrrsthi 10 kmikarichkhnithlxhnksungtxngichkalngstwmakkhunodykarichwwhlaytw ormnichkhnithlxebathiimehmaakbkarichkbdinthiaennsungithyakkwathangtxnehnuxkhxngyuorpkarhnklbmathakarekstrkrrmxyangmirabbpracwbkbkarrabbokhrngsrangihmkhxngsngkhmthieriykwarabbskdina rabbniepnrabbthanndrthiphuthixyuinrabbaetlaradbtangkmikhwamrbphidchxbtxkn khnaetlakhnmihnathitxphuthiehnuxkwaaelaphuthiehnuxkwakmihnathiphithksphuthixyuphayitkarpkkhrxng aetbangkhrngrabbniepnrabbthikhxnkhangsbsncakkarepliynaeplngkarswamiphkdikhxngfaytang thiekidkhunxyangsmaesmx aelakarepliynaeplngthiekidkhunbangkhrngkepnkarkhdaeyngknexng rabbskdinaepnrabbthithaihrthtxngmihnathiinkarphithkskhwamplxdphykhxngphuxyuinkarxarkkhadwymatrkarthiwangiwaemwabangkhrngrabbkarpkkhrxnghruxkarbnthukepntwxksrxaccahyudyngipaelwktam aemaetkhwamkhdaeyngkneruxngthidinkyngtdsinkndwykhaihkaraetephiyngxyangediyw dinaedntang kldlngehluxephiyngekhruxkhaykhxngrabbkarswamiphkdikhxngklumbukhkhlyxy aethnthicaepnrabb chati thiepnxnhnungxnediywknyukhiwking kh s 793 kh s 1066 aekikh aephnthiaesdngbriewnkartngthinthankhxngchnsaekndienewiyinkhriststwrrsthi 8 aedngekhm 9 aedng 10 sm aela 11 ehluxng siekhiywepnbriewnthithukrukranodyiwkingbxykhrng dubthkhwamhlkthi yukhiwking yukhiwkingepnsmyrahwangpi kh s 793 thungpi kh s 1066 insaekndienewiy aela brietnthiekidkhunhlngcakyukhehlkecxrmanikh aelayukhewnedl Vendel Age inswiedn inyukhniiwkingnkrbaelankkarkhasaekndienewiyekharukran plnsdm thalaythrphysin aela khyaydinaednthwipinyuorp inexechiytawntkechiyngit inaexfrikaehnux aelainxemrikaehnux nxkcaknnkyngthakarsarwcyuorpodythangthaelaelatamlanadwykhwamsamarththangkaredineruxaelakarkhyayesnthangkarkha iwkingthakarrukran plnsdm aelacbkhnepnthasinchumchnkhrisetiynkhxngyukhklangepnewlahlayrxypi thiepnpccyhnungthiepntntxkhxngkarwiwthnakarkhxngrabbskdinainyuorpyuorptawnxxk 600 1000 aekikhckrwrrdiekhiyfrus aekikh dubthkhwamhlkthi ckrwrrdiekhiyfrus emuxmikarrnrngkhkhxngaemkyar inkhriststwrrsthi 10 chatitang inyuorptangkphawnakhxkhwampranicakkarrukrankhxnghngkari Sagittis hungarorum libera nos Domine phraecachwyiheraphnphycaksrkhxnghngkaridwyethid kxnthickrwrrdiekhiyfruscakxtngkhun phrmaednthangtawnxxkkhxngyuorppkkhrxngodychnkhasarsungepnchnsakhahnungkhxngklumchnetxrkikthiidrbxisrphaphcaksmaphnthrthekirkhetirk Gokturks phayinnkhriststwrrsthi 7 rthkhxngchnkhasarepnrthkhxngchnhlayechuxchatithangkarkhakhaythirungeruxngkhunmaidcakcakkhwbkhumesnthangkarkhathangnarahwangyuorpaelatawnxxk aelabngkhbekbbrrnakarcakchnxaln chnmacyar klumchnslaf kxth aelachnkrikinikhremiy karkhakhaythaodyekhruxphxkhathiedinthangephuxthakarkhachawyiw hrux chnradainth Radhanites phumikartidtxkbsunykarkhakhayipcnthungxinediyaelasepnemuxtxngphcykbkarkhyaydinaednkhxngmuslim Muslim conquests chnkhasarkhnipepnphnthmitrkbkhxnsaetntionepilaelapathakbfayxanackrkahlip aemwacaesiythiinrayaaerkaetksamarthyudedxrebnth Derbent khunidaelasamarthrukekhaipthangitidcnthungixbieriykhxekhechiy Caucasian Iberia aexlebeniykhxekhechiy Caucasian Albania aela xarmieniy karkrathaechnnnkethakbepnkarhyudyngkarkhyaytwkhxngxislamkhunipthangehnuxyngyuorptawnxxkxyuhlaysibpikxnthicharls maretlthaechnediywknidsahrbyuorptawntk 24 inkhriststwrrsthi 7 dinaednthangtxnehnuxkhxngthaeldakthukrukranodychnerrxn nomad thinaodyblkarphukxtngxanackrxnmixanacekrtblaekeriyphayitkarnakhxngkhubrt Kubrat aetchnkhasarsamarthkacdblkaridcakthangtxnitkhxngyuekhrncnipthungklangbriewnaemnawxlka wxlkablaekeriy aelaipyngthangtxnitinbriewnaemnadanub danubblaekeriy hrux ckrwrrdiblaekeriythi 1 aemwacamikarrnrngkhtxtankhxnsaetntionepilxyuknepnraya aetchndanubblkarkepliyniprbwthnthrrmkhxngslafxyangrwderwaelarbphasakrikekhamaichcakkhristsasna khwamphyayaminkarephyaephrkhristsasnakhxngnksxnsasnasxngkhnnkbuysirilaelankbuyemthxediysthaihekidkarpradisthxkkhraslafkhunepnkhrngaerk aelaphasathxngthin thipccubneriykwaphasaslawxnikkhristckreka Old Church Slavonic kklayepnphasaekhiynsahrbhnngsuxaelabthswdmntekiywkbkhristsasna karilocmtinkrbkhxng Svyatoslav I odykxngthphibaesnithn culcitrkrrmody John Skylitzes thangdanehnuxkhxngekhtaednkhxngckrwrrdiibaesnithnkidmikarkxtngrthslafkhunepnkhrngaerk ekrtomraewiythikxtngkhumaodykarxarkkhakhxngckrwrrdiaefrngkintnkhriststwrrsthi 9 omraewiyepnbriewnthinksxnsasnacakkhxnsaetntionepilaelacakormmaephchiykn aemwaslaftawntkcamayxmrbxanackhristckrkhxngormn aetnkbwchkhxngkhxnsaetntionepilsamarthepliynckrwrrdiekhiyfrussungepnckrwrrdithiihythisudinyuorpkhnannmaepnnikaykrikinrawkhristthswrrs 990 ckrwrrdiekhiyfruspkkhrxngodyrachwngswarneciynkhwbkhumesnthangkarkhathiechuxmbriewnbxltikinyuorpehnuxkbibaesnithnaelatawnxxkodyphanrsesiy ekrtomraewiymathukyayiodymacyarphuekhamarukranbriewnphanoneniyn Pannonian Basin rawpi kh s 896thngkxnaelahlngkarepliynipnbthuxkhristsasnachnruskerimekhamarukrankhxnsaetntionepil thibangkhrngkmiphlihekidkartklnginsnthisyyathangkhathiihpraoychnaekthngsxngfay khwamsakhykhxngkhwamsmphnthrahwangrsesiyaelackrwrrdiibaesnithncaehnchdidcakkaresksmrsrahwangwladiemiyrthi 1 aehngkhiexfkbecahyingibaesnithnaehngrachwngsmaesodeniy sungthrngepnecatangpraethsxngkhediywthiidthakarsmrskbecahyingibaesnithn aemwaecainyuorptawntkxun tangkphyayamaetimsaerc karrnrngkhkhxngphrabidakhxngwladiemiyr swiyaotslafthi 1 Svyatoslav I miphlinkarthalayrthsxngrthkhxngblkaraelakhasarsungepnrththimixiththiphlthisudinyuorptawnxxklngid ckrwrrdiblaekeriy aekikh dubthkhwamhlkthi ckrwrrdiblaekeriy rupsylksneseramikkhxngnkbuythioxdxrcakrawpikh s 900 thiphbthiephrslaf inpi kh s 681 chnblkarkkxtngrthmhaxanacthimamibthbathsakhyinyuorpaelaodyechphaainyuorptawnxxkechiyngitcnkrathngiptkxyuphayitkarpkkhrxngkhxngturkiinpi kh s 1396 inpi kh s 718 chnblkaridrbchychnaxyangeddkhadtxfayxahrbimiklcakkhxnsaetntionepilcnpramukhkhxngblkarkhanethxrewlidrbsmyawaepn phuchwyyuorpihrxdcakphy 25 26 27 28 karidrbchychnakhxngblaekeriyepnkarhyudyngxnarychnephatang thirwmthngephechenk Pechenegs aelakhasar cakkaroykyaylukekhamathangtawntk aelainpi kh s 806 kidthalayxanackrkhankhxngxawaryuerechiyphayitkarpkkhrxngkhxngsiemiynthi 1 kh s 893 kh s 927 blaekeriykklayepnxanackrthiihythisudinyuorpthiklaymaepnxntraytxkarxyurxdkhxngckrwrrdiibaesnithnhlngcakkaryxmrbkhristsasna inpi kh s 864 aelwblaekeriykklayepnsunyklangthangdanwthnthrrmaelakarsastakhxngxisetirnxxrothdxkskhxngchnslaf xksrsirillikkidrbkarpradisthkhunodynkprachyblaekeriychuxekhlemntaehngoxhrid inpi kh s 885 wrrnkhdi silpa aela sthaptykrrmtangkrungeruxng odykarkxtngsthansuksahlayaehngkhun inpi kh s 927 blaekeriyxxrothdxkskklayepnnikaysasnakhxngrthkhxngyuorpnikayaerkthiidrbxisramamirabbkarpkkhrxngkhxngtnexngodyimtxngkhunkbsthabnsasnaxunkarepliynaeplngokhrngsrangkhxngkarsuksa aekikhemuxckrwrrdiormntawntksinsudlng sunyklangkhxngemuxngtang kxyuinsphaphthiesuxmothrmtamlngipepnxnmak sthitikhxngphumikarsuksa aelasthansuksathangtawntkkldcanwnlng karsuksaklaymaepnswnhnungkhxngxaramaelaxasnwihar yukhthxng khxngkarsuksakhlassikmafuntwkhunxyuchwrayahnunginsmyckrwrrdikarxaelngechiynginkhriststwrrsthi 8 aetinckrwrrdiormntawnxxkkarsuksayngkhngidrbkarrksaiwihxyuinradbthisungkwathangtawntk iklxxkipthangtawnxxkxislamksamarthphichitekhtxkhrbidrtang idhlayekht aelamikhwamkawhnamakkwakarsuksakhxngkhrisetiynindanwithyasastr prchya aelaxun insmythieriykwaepn yukhthxng khxngkarsuksa karsuksakhlassik aekikh rabbkarsuksakhlassikthithakntxmaxikhlayrxypiennkareriyniwyakrn latin krik aela wathsastr phusuksakcaxanngankhlassiksaaelwsaelaaelaekhiynbthekhiynthieliynaebblksnkarekhiynaebbkhlassik emuxmathungkhriststwrrsthi 4 rabbkarsuksanikthukthaihepnkhrisetiyn Christianized inbthekhiyn De Doctrina Christiana hrux prchyakhxngkhrisetiyn ody nkbuyxxkstinaehnghipop thiekhiynrahwangpi kh s 396 thungpi kh s 426 nkbuyxxkstinihkhaxthibaythungkhwamsmphnthrahwangkarsuksakhlassikkbprchyakhxngkhrisetiyn thiwakhristsasnaepnsasnakhxngtarachannphuepnkhristsasnikchntxngepnphumikarsuksa aelakarthicaethsnaidxyangmiprasiththiphaphktxngmacakkarsuksaaelakhwamekhaicinrakthankhxngwathsastrkhlassikechninkarichxupmanithsninkarthicaephimkhwamekhaicinphrakhmphirmakkhunaetethxrthuleliyn nkpraphnthaelakhristsasnikchnchawebxrebxrimmikhwammnicinkhunkharabbkarsuksakhlassikaelatngkhathamwa exethnscamiekiywxairkbeyrusaelm aetkrannethxrthuleliynkmiidhyudyngkhristchnthiekhasuksainsthansuksakhlassik khwamesuxmothrmthangtawntk aekikh intnsmyklangwthnthrrmcakdxyuinxaram karyubemuxngtang thaihrabbkarsuksamicanwncakdlngaelaemuxmathungkhriststwrrsthi 6 karsxnaelakarsuksakyayekhaipthakninxaramaelaxasnwiharodymikhmphiribebilepnhwicaelatarahlkkhxngkarsuksa 29 karsuksakhxngkhrawasyngkhnghlngehluxxyubanginxitali sepn aelathangtxnitkhxngkxlthixiththiphlkhxngormnyngkhngmixyunankwainbriewnxun emuxmathungkhriststwrrsthi 7 rabbkarsuksakerimkhuninixraelndaeladinaednkhxngekhlththiphasalatinepnphasatangpraeths aelakarsxnaelakarsuksaelaeriynepnphasalatinkepnthiniymknthwip 30 withyasastr aekikh dubthkhwamhlkthi prawtisastrkhxngwithyasastrinsmyklang inolkyukhobrankrikepnphasahlkkhxngkarsuksawithyasastr karsxnaelakarkhnkhwathangwithyasastrswnihythakninbriewnkrikkhxngckrwrrdiormndwyphasakrik intxnplayormnphyayamaeplngankrikepnphasalatinaetkimprasbkhwamsaercethaidnk 31 emuxkhwamruphasakrikldthxylng ckrwrrdilatinthangtawntkkthuktdxxkcakkhwamruthangprchyaaelawithyasastrkhxngkrik emuxphuphudphasalatintxngkarcasuksawithyasastrkcamihnngsuxihsuksaephiyngsxngsamelmodyobethiysthisruptarakrikthiekhiynodyniokhmakhsaehngecrasa Nicomachus of Gerasa aelasaranukrmlatinthirwbrwmodynkbuyxisiodoraehngesbiyainpi kh s 630nkkarsuksaphunaintnkhriststwrrskepnnkbwchphuimmikhwamsnicinkarsuksadanthrrmchatiwithyaethaidnk karsuksadanthrrmchatiwithyaepnkarsuksaephraakhwamcaepnmakkwathicaepnkhwamtxngkarinkaraeswnghakhwamruxyangbrisuththi echninkhwamcaepnthicatxngrksaphuecbpwynaipsukarsuksathangaephthycaktaraobranthiekiywkbephschsastr 32 hruxkhwamcaepnkhxngnkbwchthicatxngkahndewlathicatxngswdmntthithaihhniphakhwamruekiywkbdarasastr 33 hruxkarthicatxngkhanwnwnxisetxrthaihtxngipsuksaaelasxnkarkhanwnphunthanaelakarokhcrkhxngphraxathityaelaphracnthr 34 nkxansmyihmxaccaphbwatarathimacakyukhnimikhwamaeplktrngthibangkhrnginnganchinediywknphuekhiynxaccaihkhaxthibaythungthrrmchatithiekidkhun khnaediywknkklawthungkhwamsakhythangsylksnkhxngsingthiekidkhunipphrxmkndwy 35 smytngaetckrwrrdiormnlmipcnthungraw kh s 800 thimkcaeriykknphid wa yukhmud xnthicringaelwepnsmythimikarwangrakthankhxngkhwamkawhnathicamaekidkhuninsmyklangaelasmyfunfusilpwithyatxma 36 smyfunfusilpwithyakarxaelngechiyng aekikh rawpi kh s 800 yuorptawntkkerimhnklbmikhwamsnickbkarsuksakhlassikthiepnswnhnungkhxngyukhfunfusilpwithyakhaoraelngechiyngkhun odycharelxmaythrngepnphurierimdaeninkarptirupthangdankarsuksa thangxngkvsnkbwchxlkhiwxinaehngyxrk Alcuin kerimokhrngkarfunfukhwamrudankhlassikodykarkxtngokhrngkarsuksathimiphunthanmacaksilpsastrecdsakhathirwmthng itrsastr trivium hruxkarsuksawrrnsilpsamxyangthiprakxbdwy iwyakrn wathsastr aela trrksastr aela ctursilpsastr quadrivium hruxkarsuksawithyasastrsixyangthiprakxbdwy khnitsastr erkhakhnit darasastr aela khitsastr tngaetpi kh s 787 epntnmakmikarewiynprakasipthwckrwrrdiihmikarfunfusthansuksaedimaelakxtngsthansuksaihm thangdansthabnsthansuksaehlanibangkxyuinkhwamrbphidchxbkhxngsanksngkhaelamhawihar bangkxyuinkhwamrbphidchxbkhxngrachsankhruxsankkhunnang karepliynaeplngkhrngnimaehnphlidxyangchdecninhlayrxypitxma karsuksaindantrrksastrmiswnthaihekidkarfunfukhwamsnicinkartngpyhathipracwbkbthrrmeniymkarsuksadanethwwithyasasnakhrist inkhriststwrrsthi 12 aela 13 sthansuksahlayaehngthikxtngkhunkklaymaepnmhawithyalytxma ibaesnithnaelayukhthxng aekikh culcitrkrrmcakhnngsuxephlngswdsdudiparisaesdngthungkarfunfuthangwthnthrrmkhxngckrwrrdiibaesnithninkhriststwrrsthi 10 khwamrungeruxngthangkhwamruaelakarsuksakhxngckrwrrdiibaesnithnmacak pramwlkdhmayaephng Corpus Juris Civilis sungepnnganpramwlkdhmaychinihythimiphunthanmacakkdhmayormnthiekidkhuninrchsmykhxngckrphrrdicstieniynmharach pkkhrxng kh s 528 kh s 565 ngannirwmthngswnthieriykwa pramwlkdhmaychbbyx Pandects hasibsxngelm sungepnchbbthisruphlkkarkhxngkdhmayormnthisamarthnaipprbichidkbthuksthanakarnodythwipkhwamsamarthinkarxanaelaekhiynkhxngfayibaesnithnodythwipmiradbsungkwathangormntawntk rabbkarsuksaebuxngtnmixyuodythwipaelabangkhrngaemaetinchnbth inradbsungkhunipkmikarsxn xieliyd aelatarakhlassiktang aetradbsungkwannsthabnephlotihm Neoplatonic Academy in exethnsthukpidipinpi kh s 526 odyephkn aetsthansuksainxaelksanedriyinxiyiptyngkhngepidsxnxyucnkrathngmathukpidemuxxelksanedriythukphichitodyxahrbinpi kh s 640 mhawithyalykhxnsaetntionepiledimkxtngodyckrphrrdithioxodesiysthi 2 inpi kh s 425 kxaccamathukyubinchwngewlaediywknnidwy aetmaidrbkarkxtngihmodyckrphrrdimikhaexlthi 3 xikkhrnginpi kh s 849 karsuksaradbsunginyukhniennkarsuksathangwathsastraetkmikarsuksatrrksastrkhxngxrisotetilkhnphunthanxyubang rahwangrchsmykhxngrachwngsmaesodeniyrahwangpi kh s 867 thungpi kh s 1025 ibaesnithnkxyuinsmyyukhthxngkhxngkarfunfukarsuksakhlassik ngankhnkhwaedimcakyukhnimiehluxxyuephiyngelknxyaetthimikhuxsphthanukrm prachumbthniphnth saranukrm aelabthkhwamehnthiekiywkbngansmyni xiththiphlkhxngxilsam aekikh dubthkhwamhlkthi xiththiphlkhxngxilsamtxyuorpyukhklang aela yukhthxngkhxngxislam phayitkarpkkhrxngkhxngrachwngsxumyyahrahwangpi kh s 661 thungpi kh s 750 phukhngaekeriynxislamennkarsuksathiekiywkbxlkurxan aetrachwngsxbbasiyahthitammasnbsnunkarsuksakhxngkrikaelamnusywithyatamaenwkhidkhxngtrakulprchyamuxtasili Mu tazili khxngxislam trakulkhwamkhidnikxtngkhuninbasraodywasil xibun xatx واصل بن عطاء Wasil ibn Ata kh s 700 kh s 748 thixyubnphunthanthiwaxlkurxanmacakxllxhaelaxllxh miphraprasngkhxyangediywkhuxsingthidithisudsahrbmnusy prchyaniimepnthiyxmrbknodytrakulprchyaxchchariyyah الأشاعرة Ash ariyyah aela xasariyyah Athariyyah sungepntrakulprchyakhxngsunniydngnn pratuaehngxiytiha Gates of Ijtihad اجتهاد cungepidkhunthithaihekidkarotaeyngknphayinaewdwngrahwangkhwamkhidkhxngprchyatrakultang khxngxislam thiechuxknwamidwyknthung 135 trakul inpi kh s 800 aebkaeddepnemuxngthiihythisudinolk aelaepnemuxngaerkthimiprachakrthungkwahnunglankhn aebkaeddepnthitngkhxng banaehngmnta بيت الحكمة House of Wisdom hrux byt xl hikmah thiepnsunyklangkhxngkarsuksakarprchyakhxngolkmuslim nkprchyaechnxl kindi أبو يوسف يعقوب إبن إسحاق الكندي al Kindi kh s 801 kh s 873 aela xl farxbi أبو نصر محمد الفارابي al Farabi kh s 870 kh s 950 aeplngankhxngxrisotetilaelaprayuktprchyaihsxdkhlxngkbprchyakhxngsasnaxislam xlkhxwarismiy محمد بن موسی خوارزمی Al Khwarizmi kh s 780 37 38 39 kh s 850 ekhiyn prachumbthniphnthekiywkbkarkhanwnody Completion and Balancing The Compendious Book on Calculation by Completion and Balancing sungepnnganphichkhnitchinaerk khawa Algebra macakchuxhnngsuxthiepnphasaxahrb khawa Algorithm aephlngmacakchuxphupraphnth Al Khwarizmi nxkcaknnxlkhxwarismiykyngekhiyn phaphkhxngolk The Image of the Earth sungepnhnngsuxchbbprbprungthimiphunthanmacakhnngsux phumisastr odythxelmi aelaekharwminokhrngkarwdesnrxbwngxngolkodykarwdkhwamyawkhxngdikrikhxngemxriediynbnthirabkhxngxirk citrkrrmhnngsuxwicitrcakhnngsuxswdmntchtuthkarth aetemuxmathungkhriststwrrsthi 10 faythiepnptipkstxkhwamrungeruxngthangkhwamkhidthangprchyatang thiekidkhunkerimpid pratuaehngxiytiha karotaeyngineruxngmnusywithyaaelaprchyatang khngyngdaeninxyutxipaetkcakdlngmakkhunthukkhna odythwipaelwrabbkarsuksakhxngmuslimthikhunxyukbxarmnaelakhwamprasngkhkhxngphuxupthmphaelapramukhkhxngxislam thimiidwiwthnakarkhunepnrabbmhawithyalyhruxsthabnthithawrephuxepnkarsnbsnunkarsuksanxkipcakxlkurxaninkhriststwrrsthi 11 khwamruthangwithyasastrchxngxislamkephyaephrekhamayngyuorptawntk xupkrn aexsotrelb astrolabe thiichinkarkhanwnthangdarasastrthikhnphbinsmykhlassikkidrbkarnaklbmafunfukhunichinyuorpxikkhrnghnung ngankhxngyukhlid aela xarkhimidisthihayipcakthangtawntkidrbkaraeplcakphasaxahrbklbmaepnphasalatininsepn twelkhhindu elkhxarbiksmyihmrwmthngelkh suny kidrbkarwiwthnakarkhunodynkkhnitsastrhinduinkhriststwrrsthi 5 aela 6 nkkhnitsastrxislameriynsingtang ehlaniinkhriststwrrsthi 7 aelamaephimkarichessswnthsniyminkhriststwrrsthi 9 aela 10 rawpi kh s 1000 aekraebrtaehngxxrilaeykh txmaepnsmedcphrasntapapasilewsetxrthi 2 sranglukkhidthitwnbslkepnelkhhindu xahrb inkhriststwrrsthi 12 withyaniphnththiekhiynodyxlkhxwarismiyekiywkbkarkhanwnodyichtwelkhehlanikidrbkaraeplepnphasalatininsepnkhristsasnatawnxxkaelatawntk aekikhtngaetsasnakhristyukhaerk khristsasnikchntxntnsmyklangkidsubthxdkhristckrthimihlkkhwamechux sarbbkhmphiribebil aelaprchyarwmknrahwangtnsmyklangkhwamaetkaeykrahwangsasnakhristtawnxxkaelasasnakhristtawntkkhxy kwangkhuneruxy cninthisudkcblngdwysasnephthtawnxxk tawntkinkhriststwrrsthi 11 thangtawntkxanackhxngbichxpaehngormkkhyaytwkhun inpi kh s 607 bxniefsthi 3 thrngepnbichxpaehngormxngkhaerkthiichtaaehnngthieriykwaphrasntapapa kxnhnannekrkxrithi 1 kthrngichtaaehnngkhxngphraxngkhinkarkhyayxanackarephyaephrsasnakhxngormipyngbritichixls aelawangphunthaninkarkhyaytwkhxngxaramkhnatang aemaetsasnakhristaebbekhltiksungyngepnnikayphunemuxnginbrietnihyaelaixraelndthangdantawnxxkkarphichitdinaednkhxngmuslimkthaihxanackhxngekhtxkhrbidrthiichphasakrikldlng karephyaephrkhristsasnainyuorptawntk aekikh dubthkhwamhlkthi karephyaephsasnakhrist phrawrsarekhlls raw kh s 800 ormnkhathxlikepnkhristckrediywthirxdcakkarlmslaykhxngckrwrrdiormntawntkodyimidrbkhwamkrathbkraethuxncakphlsathxnkhxngkhwamesuxmothrmkhxngormnethaidnk aelaklaymaepnpccyediywthiepnsunyklangkhxngxiththiphlthangwthnthrrmkhxngyuorptawntkthikhngyngrksarabbkarsuksakhxnglatinbangxyangiw rksawthnthrrmdansilpaaelawrrnkrrm aela rksarabbkarpkkhrxngcaksunyklangodykarichrabbekhruxbichxpthitngxyuthwipinyuorpphuidrbaetngtngaeladarngtaaehnngtidtxknma dinaednxun inyuorptkipxyuphayitkarpkkhrxngkhxngdyukaelaekhantkhxngrthyxy khwamecriykhxngchumchnintwemuxngepncuderimtnkhxngklangsmyklangkarephyaephkhristsasnainklumchnecxrmanikerimkhuninkhriststwrrsthi 4 odychawkxththiekhamarbnbthuxkhristsasna aelakarephyaephrkdaenintxipcntlxdsmyklangtxntn rahwangkhriststwrrsthi 6 thung 7 phunainkarephyaephrsasnanaodykhnathrrmthuthiebxron skxttich aetinkhriststwrrsthi 8 aela 9 kmaaethnthidwykhnathrrmthutaexngokl aesksn odymichawaexngokl aesksnkhnsakhy echnxlkhiwxinthimamibthbathsakhyinyukhfunfusilpwithyakhaoraelngechiyng emuxmathungpi kh s 1000 aemaetixsaelndkklayepnkhrisetiyn ehluxxyukaetephiyngdinaednthihangiklinyuorpthirwmthngbriewn saekndienewiy briewnthaelbxltik aela dinaednfinon xukrikh ethannthiyngimyxmrbkhristsasnamacnkrathngthungklangsmyklangkhnadkhxngemuxng aekikh karburnakaaephngemuxngkhxnsaetntionepil nkwangphngemuxngethxrethiys aechndelxridthakarsarwckhnadkhxngemuxngtang tlxdmainprawtisastr 40 insmythiklawniemuxngthiihythisudinolkkrwmthng khxnsaetntionepil kh s 340 kh s 570 ethsifxn Ctesiphon khxngsassaniyah kh s 570 kh s 637 sixan inpraethscin kh s 637 kh s 775 aebkaedd kh s 775 kh s 935 aela kxrodba inpraethssepn kh s 935 kh s 1013 2 raychuxkhanglangthiaechndelxrcdladbwaepnemuxngthiihythisudinyuorpaelatawnxxkklangkidaek kh s 361 khxnsaetntionepil 300 000 khn ethsifxn 250 000 khn orm 150 000 khn xntioxkh 150 000 khn xelksanedriy 125 000 khn kh s 500 khxnsaetntionepil 400 000 khn ethsifxn 400 000 khn xntioxkh 150 000 khn kharethc 100 000 khn orm 100 000 khn kh s 622 ethsifxn 500 000 khn khxnsaetntionepil 350 000 khn Alexandria 94 000 khn xaelpop 72 000 khn eryy 68 000 khn kh s 800 aebkaedd 700 000 khn khxnsaetntionepil 250 000 khn kxrodba kh s 160 000 khn basra kh s 100 000 khn ofstth 100 000 khn cf orm 50 000 khn paris 25 000 khn kh s 900 Baghdad 900 000 khn khxnsaetntionepil 300 000 khn kxrodba 200 000 khn xelksanedriy 175 000 khn ofstth 150 000 khn cf orm 40 000 khn kh s 1000 kxrodba 450 000 khn khxnsaetntionepil 300 000 khn ikhor 135 000 khn aebkaedd 125 000 khn Nishapur 125 000 khn cf orm 35 000 khn paris 20 000 khn aechndelxrsrupwaprachakrodythwechliytkpraman 10 000 khntxhnungtarangkiolemtr aelaechuxwaemuxngkhxngmuslimmikhwamhnaaennkhxngprachakrsungkwainyuorp khacakdkhwamkhxngemuxngkhuxsthanthimiphukhnphanktidtxknxyuchwngrayaewlahnungkarkxtngckrwrrdiormnxnskdisiththi khriststwrrsthi 10 aekikhdubthkhwamhlkthi ckrwrrdiormnxnskdisiththi phayitkarpkkhrxngkhxngckrphrrdixxthoththi 1 aehngckrwrrdiormnxnskdisiththi rwmthngeyxrmni xxsetriy txnehnuxkhxngxitali aelaenethxraelnd ckrphrrdikharlthi 3 aehngckrwrrdiormnxnskdisiththithrngkxkarptiwtiodykarnakhxngphrarachnddaxarnulfaehngkharinethiy Arnulf of Carinthia sungepnphlthaihckrwrrdithukaebngxxkepnrachxanackrtang infrngess eyxrmni aela thangtxnehnuxkhxngxitali inpi kh s 887 chawhngkarichwyoxkascakkhwamxxnaexkhxngrthbaleyxrmniinkarkxtngtnexnginthungrabhngkari Great Hungarian Plain hruxbriewnthunghyahngkari Hungarian grasslands aelaerimkarrukranekhamaineyxrmni xitali aelaaemaetfrngessinpi kh s 919 khunnangeyxrmneluxkphraecaihnrichthi 1 aehngeyxrmni Henry the Fowler dyukaehngaeskosnikhunepnphramhakstriyodysphairkhstakthifrithslar aetehnrikmiidmixanacmakipkwapramukhkhxngdchchixun sungsathxnmacakkarpkkhrxngrabbchnephathidaeninknma emuxmathungsmykhxngckrphrrdixxthoththi 1 phrarachoxrskhxngphraxngkhinpi kh s 939 phraxngkhksamarthprabpramkarptiwtithinaodydyukthiidrbkarhnunhlngcakphraecahluysthi 4 aehngfrngess inpi kh s 951 ckrphrrdixxtotkthrngnathphlngipyngxitaliaelathrngipesksmrskbphrarachinihmayxaedlaxidaehngburkxy Adelaide of Burgundy aelaaetngtngphraxngkhexngepnphramhakstriyaehnglxmbard phraxngkhthrngidrbkarswamiphkdicakebernkaraehngxifrixa phramhakstriyaehngxitali pkkhrxng kh s 950 kh s 952 hlngcaknnxxtotkthrngaetngtngphrayatiihepnpramukhkhnihmkhxngdchchitang inxitali aetkmiidthrngsamarthaekpyhakarkhadkhwamswamiphkdiipidthnghmd phrarachoxrskhxngphraxngkhluydxlf dyukaehngchewebiykxkarptiwtiaelayxmrbchawhngkariekhamaineyxrmniinpi kh s 953 ckrphrrdixxtottidtammacyaripthung elkhefldimiklcakxxksebirkinbawaeriyaelathrngidrbchychnainpi kh s 955 hlngcaknnchawhngkarikhyudyngkarepnchnchatithimixachiphrukranaelaplnsdmaelathxyiptngtwepnrachxanackrhngkariinpi kh s 1000chychnakhrngnithaihepnkarsrangesrimphraphraekiyrtikhunihaekckrphrrdixxtotepnxnmak inpi kh s 962 phraxngkhkesdclngipyngxitalixikkhrnghnungephuxipthaphrarachphithibrmrachaphieskepnphrackrphrrdiodysmedcphrasntapapacxhnthi 12 emuxwnthi 2 kumphaphnth nkprawtisastrklawwaehtukarnkhrngniepnekhruxnghmaykhxngkarkxtngckrwrrdiormnxnskdisiththiaemwakhanicaimidichkncntxmaxiknanhlngcaknn xanackrkhxngxxtotthuxknwaepn Reich hrux ckrwrrdieyxrmni aerk ckrphrrdixxtotthrngichtaaehnngkhxngphraxngkhodyimphukphnkbxanackrid xanackrhnungodyechphaa phraxngkhaelackrphrrdiaehngckrwrrdiormnxnskdisiththixngkhtx mathrngehnphraxngkhwaepnphusubechuxsaykarpkkhrxngthierimmatngaetcharelxmay aemwackrphrrdihlayphraxngkhcaepnephiyngkhunnangthxngthininxitaliphuipbngkhbihphrasntapapaswmmngkudihepnckrphrrdi emuxckrphrrdixxtotthrngmixanacmakkhun phrasntapapacxhnkthrnghnipkhbkhibkbebernkaraehngxifrixa macyar aelackrwrrdiibaesnithninkarphyayamthicalidrxnxanackhxngphraxngkh ckrphrrdixxtotcungthrngpldcxhncakkarepnphrasntapapaaelathrngaetngtngsmedcphrasntapapalioxthi 8 khunaethnthiinpi kh s 963 ebernkarthukcbidaelanatwklbipeyxrmni aetcxhnsamarthrxdtwipidhlngcakxxtotykthphklbipaelwaetmaesiychiwitinxxmkxdkhxngemiynxyimnanhlngcaknnnxkcakkarkxtngckrwrrdieyxrmniaelwckrphrrdixxtotkyngthrngkxtngrabbsthabnsasnaaebbxxtotthinkbwch phuepnphumikarsuksaklumediywinhmuprachakr mihnathirachkardwy aelathrngchwykuthanakhxngphrasntapapacakkarthitkxyuitxiththiphlkhxngkaremuxngthxngthin aelasrangesrimihepntaaehnngthimithanaepnphunaradbnanachatiyuorpinpi kh s 1000 aekikh eruxyawiwking longship cakkhriststwrrsthi 9 thikhudphbinpi kh s 1882 karthanaywaolkcasinsudlnginpi kh s 1000 cakdxyuechphaankbwchchawfrngessimkixngkh 41 esmiyninrabbrachkarthrrmdakichpikhrxngrachy regnal year khxngphramhakstriyepnhlkinkarladbeduxnpiechn pithi 4 khxngrchsmykhxngphraecaoraebrtthi 2 aehngfrngess epntn karichrabb khristskrach anno domini cakdaetechphaabrrdankbnthukphngsawdarphubnthukprawtisastrthiekiywkbhlaydinaednechnnkbuybidyuorpemuxethiybkbxislamaelwkyngepnklumpraethsthiyngkhnglahlng khnathixislammirabbkarkhakhay aelakarkhnsngsinkhadwyrabbekhruxkhaykhxngesnthangkarkhaodykharawantidtxkbdinaednxnkwangikl hruxpraethscinsungkhnannepnckrwrrdithimiprachakrmakthisudphayitrachwngssng khxnsaetntionepilmiprachakrraw 300 000 khnaetormmimakkwaaetkephiyng 35 000 khn aelaparisxik 20 000 khn 3 4 aetxislammiemuxngsakhy kwasibsxngemuxngtngaetkxrodba insepn sungkhnannepnemuxngthiihythisudinolkthimiprachakrthung 450 000 khnipcnthungexechiyklang swniwkingkmirabbkarkhwbkhumekhruxesnthangkarkhainyuorpehnuxthirwmthngesnthangkarkhathiechuxmbriewnbxltikinyuorpehnuxkbibaesnithnaelatawnxxkodyphanrsesiy aetkelkemuxethiybkbesnthangkharawankhxngxislamthiechuxmrahwangemuxngsakhy khxngmuslimechnkxrodba xelksanedriy ikhor aebkaedd basra aela mkkah xngkvsxyuinsphaphthiyaaeyhlngcakkarthukplnsdmaelathalayodyiwking aetemuxthukrukranxyuepnewlananxngkvsklukhuxkhunsngharphuekhamatngthinthanchawednsinpi kh s 1002 thinaipsukartxbotrahwangthngsxngfaycnkrathngfayednsidrbchychnainpi kh s 1013 aetkarepliynipnbthuxkhristsasnaxyangrwderwklayepnswnhnungkhxngkaraekpyharayayawkhxngkarrukrankhxngxanarychn saekndienewiyepliynipnbthuxkhristsasnaimnankxnhnannaelarachxanackrkhxngnxrewy swiedn aela ednmark kidrbkarkxtngkhun ckrwrrdiekhiyfrusthiephingekharbkhrisetiynxxrthxdxkskrungeruxngaelaklayepnrththiihythisudinyuorp ixsaelnd aelahngkariprakastnepnkhrisetiynraw kh s 1000 sthaptykrrmxxtot wdesntimekhil hiledsihm khristthswrrs 1010 thangtxnehnuxkhxngxitalithikarkxsrangdwyhinmiidhyudyngipechninbriewnxun aelainbriewnehlannkerimhnmakxsrangsingkxsrangsakhy dwyhinaethnim nxkcaknnkmikarerimbukebikichpadib khriststwrrsthi 10 epnkhriststwrrsthiprachachnerimklbekhamaxyuxasyinemuxngodycaehnidcakcanwnprachakrthiephimepnsxngethainemuxngtang inxitali lxndxnthithukthingrangiphlayrxypikerimklayepnemuxngsunyklangthangesrsthkickhunmainchwngni emuxmathungpi kh s 1000 brucs aela eknth kminganaesdngsinkhaepnpracahlngkaaephngprasathsungepnsyyankhxngkarfunfuesrsthkicinyuorptawntkinchwngewlaniechnknthickrwrrdikahlibkhxngmuslimerimaesdngsyyankhxngkhwamesuxmothrmlng khwamaetkaeykkhxngmuslimmisaehtumacakkhwamkhdaeyngrahwangchixah aelasunniy aelaxahrbinepxrechiy inchwngnimickrwrrdikahlipsakhy samckrwrrdi ckrwrrdikahlipxumyyahinsepn ckrwrrdikahlipxbbasiyahinaebkaedd aela ckrwrrdikahlipfatimiyahinxiyipt prachakrkhxngaebkaeddsungepnemuxnghlwngkhxngxbbasiyahldlngehluxephiyngraw 125 000 khn emuxethiybkb 900 000 khninpi kh s 900 42 xumyyahyngkhngmixanacxyuinpi kh s 1000 aetkmaldlngxyangrwderwephiyngxikimkipitxmaaelasinsudxyanghmdsininpi kh s 1031thangdanwthnthrrmkhxngyuorpkmipccyhlayxyangthierimekidkhunhlngcak kh s 1000 thiepnkarbngthungcudcbkhxngyukhklangtxntnthirwmthngkarkhyaytwkhxngchumchninyukhklang medieval commune karfunfuemuxng karprakttwkhxngchnchnihmthieriykwa burgher karkxtngmhawithyalyinyukhklangkhunepnkhrngaerk karfunfukdhmayormn aelakarerimpraphnthwrrnkrrmodyichphasaphunbanaethnthicaichphasalatininpi kh s 1000 phrasntapapaxyuphayitxiththiphlkhxngckrphrrdieyxrmnckrphrrdixxtotthi 3 hrux ckrphrrdiolk thithrngeriykphraxngkhexng aettxmakarptirupkhxngsthabnsasnaksngesrimihmithanaaelakhwamepnxisraephimkhun odykhbwnkarkhluni karkxsrangmhawihardwyhinkhnadihy aelakarpramwlprakasaelakdtang ekhaepnkhristsasnkdbtrladbehtukarn aekikhkh s 496 yuththkarothlbiaeykh okhlwisthi 1 epliynipnbthuxormnkhathxlik kh s 507 yuththkarwuy Battle of Vouille rahwangaefrngkhaelawisikxth kh s 527 kh s 565 ckrphrrdicstieniynmharach kh s 535 kh s 552 sngkhramkxthikh kh s 541 kh s 542 orkhrabadcstieniyninkhxnsaetntionepil kh s 547 nkbuyebendiktaehngenxresiyesiychiwit raw kh s 570 muhmmdekid kh s 590 kh s 604 smedcphrasntapapaekrkxrithi 1 kh s 597 nkbuyokhlmbaesiychiwit kh s 602 kh s 629 sngkhramormn epxrechiykhrngihykhrngsudthay kh s 615 nkbuyokhlmbansesiychiwit kh s 626 epxrechiy xwar slafrwmknlxmkrungkhxnsaetntionepil kh s 627 ckrphrrdiehrakhlixsaehngckrwrrdiibaesnithnchwnihesirbekhamatngthinthaninkhabsmuthrbxlkhan kh s 632 muhmmdesiychiwit kh s 634 kh s 644 kahlipxumr kh s 636 nkbuyxisiodoraehngesbiya nkprachyaehngkhristckr esiychiwit kh s 644 kh s 656 kahlipxusman kh s 656 kh s 661 kahlipxaliy kh s 674 kh s 678 karlxmkrungkhxnsaetntionepilodyxahrbepnkhrngaerk kh s 681 ckrwrrdiblaekeriythi 1 kxtng khriststwrrsthi 7 ckrwrrdikhasarkxtng kh s 711 kh s 718 xumyyahphichithispaeniy Umayyad conquest of Hispania kh s 717 karlxmkrungkhxnsaetntionepilodyxahrbepnkhrngthisxng kh s 721 xarodkstriyxngkhsudthaykhxngwisikxthesdcswrrkht kh s 730 karthalayrupekharphinibaesnithn Iconoclasm in Byzantine kh s 732 yuththkarpwtieyrrahwangckrwrrdiaefrngkhaelackrwrrdikahlipxumyyah kh s 735 nkbuybidesiychiwit nkprawtisastrxngkvs kh s 746 karprachumeluxdthikhannchtth Blood court at Cannstatt kh s 751 epaepngedxachxrthkxtngrachwngskhaoraelngechiyng kh s 754 nkbuybxniefsesiychiwit kh s 768 kh s 814 charelxmay kh s 778 yuththkarchxngekharngesxows Battle of Roncevaux Pass rahwangckrwrrdiaefrngkhaelabaskh kh s 782 karsngharhmuthiaewredn Massacre of Verden ineyxrmniodycharelxmayrahwangsngkhramaesksxn kh s 793 iwkingerimrukran kh s 796 kh s 804 xlkhiwxinerimsmyfunfusilpwithyainckrwrrdikarxaelngechiyng kh s 815 karthalayrupekharphinibaesnithn kh s 843 snthisyyaaewreding Treaty of Verdun aebngckrwrrdiaefrngkrahwangphrarachnddasamphraxngkhkhxngcharelxmay kh s 871 kh s 899 phraecaxlefrdmharach kh s 872 kh s 930 haraldthi 1 aehngnxrewy kh s 880 ckrwrrdikhiwanruskxtng kh s 911 snthisyyaaesngt aekhlr esxr aext Treaty of Saint Clair sur Epte ihiwkingtngthinthaninnxrmngdiid kh s 955 ckrphrrdixxthoththi 1 aehngckrwrrdiormnxnskdisiththi idrbchychnatxchawhngkariinyuththkarthielkhefld kh s 962 xxthoth rbrachaphieskepnckrphrrdiaehngckrwrrdiormnxnskdisiththi kh s 969 ckrwrrdiekhiyfrusidrbchychnatxkhasar kh s 987 kh s 996 phraecaxuk kaaepkhrxngrachyepnkstriyaehngchnaefrkh kh s 991 yuththkarthimaldnthiiwkingidrbchychnatxchawaexngokl aesksn kh s 1003 smedcphrasntapapasilewsetxrthi 2 sinphrachnm kh s 1027 khxnradthi 2 khunkhrxngrachytxcakihnrichthi 2 ckrphrrdiphraxngkhsudthaykhxngrachwngsxxtoteniyn kh s 1054 sasnephthtawnxxk tawntkxangxing aekikh Events used to mark the period s beginning include the sack of Rome by the Goths 410 the deposition of the last western Roman Emperor 476 the Battle of Tolbiac 496 and the Gothic War 535 552 Particular events taken to mark its end include the founding of the Holy Roman Empire by Otto I the Great 962 the Great Schism 1054 and the Norman conquest of England 1066 Hopkins Keith Taxes and Trade in the Roman Empire 200 B C A D 400 Berglund B E 2003 Human impact and climate changes synchronous events and a causal link PDF Quaternary International 105 7 12 doi 10 1016 S1040 6182 02 00144 1 Check doi value help Heather Peter 1998 The Goths pp 51 93 Gibbon Edward A History of the Decline and Fall of the Roman Empire 1776 Excerpta Valesiana McEvedy 1992 op cit Berglund ibid Roman Empire Population Population crises and cycles in history Rome Hopkins DR 2002 The Greatest Killer Smallpox in history University of Chicago Press ISBN 0 226 35168 8 Originally published as Princes and Peasants Smallpox in History 1983 ISBN 0 226 35177 7 How Smallpox Changed the World By Heather Whipps LiveScience June 23 2008 Scientists Identify Genes Critical to Transmission of Bubonic Plague The History of the Bubonic Plague An Empire s Epidemic City populations from Four Thousand Years of Urban Growth An Historical Census 1987 Edwin Mellon Press by Tertius Chandler Berglund ibid Cini Castagnoli G C Bonino G Taricco C and Bernasconi S M 2002 Solar radiation variability in the last 1400 years recorded in the carbon isotope ratio of a Mediterranean sea core Advances in Space Research 29 1989 1994 English and Welsh are races apart BBC The Maygars of Hungary No 1318 Three Field Rotation This surplus would allow the replacement of the ox by the horse after the introduction of the padded horse collar in the 12th century Islam eventually penetrated into Eastern Europe in the 920s when Volga Bulgaria exploited the decline of Khazar power in the region to adopt Islam from the Baghdad missionaries The state religion of Khazaria Judaism disappeared as a political force with the fall of Khazaria while Islam of Volga Bulgaria has survived in the region up to the present Exposition Dedicated to Khan Tervel NIM predstavya izlozhbata Kan Tervel spasitelyat na Evropa Bulgaria at Sleedh Look encyclopedia Kan Tervel spasitelyat na Vizantiya i EVROPA Pierre Riche Education and Culture in the Barbarian West From the Sixth through the Eighth Century Columbia Univ of South Carolina Pr 1976 pp 100 129 Pierre Riche Education and Culture in the Barbarian West From the Sixth through the Eighth Century Columbia Univ of South Carolina Pr 1976 pp 307 323 William Stahl Roman Science Madison Univ of Wisconsin Pr 1962 see esp pp 120 133 Linda E Voigts Anglo Saxon Plant Remedies and the Anglo Saxons Isis 70 1979 250 268 reprinted in M H Shank ed The Scientific Enterprise in Antiquity and the Middle Ages Chicago Univ of Chicago Pr 2000 Stephen C McCluskey Gregory of Tours Monastic Timekeeping and Early Christian Attitudes to Astronomy Isis 81 1990 9 22 reprinted in M H Shank ed The Scientific Enterprise in Antiquity and the Middle Ages Chicago Univ of Chicago Pr 2000 Stephen C McCluskey Astronomies and Cultures in Early Medieval Europe Cambridge Cambridge Univ Pr 1998 pp 149 57 Faith Wallis Number Mystique in Early Medieval Computus Texts pp 179 99 in T Koetsier and L Bergmans eds Mathematics and the Divine A Historical Study Amsterdam Elsevier 2005 Science html Encyclopaedia Britannica online Encyclopaedia Britannica Inc subkhnemux 2007 07 13 Hogendijk Jan P 1998 al Khwarzimi Pythagoras 38 2 4 5 ISSN 0033 4766 Berggren 1986 Struik 1987 p 93 Chandler Tertius Four Thousand Years of Urban Growth An Historical Census 1987 Edwin Mellon Press Cantor 1993 Europe in 1050 p 235 Chandler Tertius ibid duephim aekikhCambridge Economic History of Europe vol I 1966 Michael M Postan et al editors Norman Cantor The Medieval World 300 to 1300 Georges Duby 1974 The Early Growth of the European Economy Warriors and Peasants from the Seventh to the Twelfth Centuries New York Cornell University Press Howard B Clark translator Georges Duby editor 1988 A History of Private Life II Revelations of the Medieval World Harvard University Press Heinrich Fichtenau 1957 1978 The Carolingian Empire University of Toronto Peter Munz translator Richard Hodges 1982 Dark Age Economics The Origins of Towns and Trade AD 600 1000 New York St Martin s Press David Knowles 1962 1988 The Evolution of Medieval Thought Richard Krautheimer 1980 Rome Profile of a City 312 1308 Princeton University Press Robin Lane Fox 1986 Pagans and Christians New York Knopf John Marenbon 1983 1988 Early Medieval Philosophy 480 1150 An Introduction London Routledge Rosamond McKittrick 1983 The Frankish Church Under the Carolingians London Longmans Green Karl Frederick Morrison 1969 Tradition and Authority in the Western Church 300 1140 Princeton University Press Pierre Riche 1978 1988 Daily Life in the Age of Charlesmagne Richard Southern 1953 The Making of the Middle Ages Yale University Press duephim aekikhyukhklang yukhmud ckrwrrdiormn ckrwrrdiormnxnskdisiththi ckrwrrdiibaesnithn ckrwrrdikhaoraelngechiyng ckrwrrdiaefrngkh khxnsaetntionepil lxmbard chnaefrngkh chnblkar chnmacyar yuorptawnxxk ckrwrrdikahlipxumyyah ckrwrrdikahlipfatimiyah ckrwrrdikahlipxbbasiyahekhathungcak https th wikipedia org w index php title tnsmyklang amp oldid 8837842, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม