fbpx
วิกิพีเดีย

สมองมนุษย์

บทความนี้เกี่ยวกับสมองมนุษย์และลักษณะซึ่งจำเพาะต่อสมองมนุษย์ สำหรับเรื่องสมองทั่วไปหรือสารสนเทศพื้นฐานเกี่ยวกับสมอง ดูที่ สมอง

สมอง เป็นอวัยวะหลักของระบบประสาทมนุษย์ โดยจัดเป็นระบบประสาทกลางเมื่อรวมกับไขสันหลัง สมองประกอบด้วยสมองใหญ่ ก้านสมอง และสมองน้อย เป็นศูนย์ควบคุมการทำงานของร่างกาย, การแปลผล รวบรวม และประสานข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัส, และการตัดสินใจว่าจะสั่งให้ร่างกายทำการเช่นไร สมองอยู่ในกระดูกหุ้มสมองภายในศีรษะ ลอยอยู่ในน้ำหล่อสมองไขสันหลัง และแยกจากกระแสเลือดด้วยตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง ซึ่งช่วยป้องกันมันจากอันตราย

สมองมนุษย์
(Human brain)
สมองมนุษย์และกะโหลกศีรษะ
รายละเอียด
คัพภกรรมNeural tube
ระบบระบบประสาทกลาง
ระบบภูมิคุ้มกันของประสาท
หลอดเลือดแดงinternal carotid artery, vertebral artery
หลอดเลือดดำinternal jugular vein, internal cerebral veins
external veins: (superior cerebral vein, middle cerebral vein และ inferior cerebral vein), basal vein และ cerebellar veins
ตัวระบุ
ภาษาละตินCerebrum
ภาษากรีกἐγκέφαλος (enképhalos)
MeSHD001921
TA98A14.1.03.001
TA25415
FMA50801
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์
[แก้ไขบนวิกิสนเทศ]

สมองใหญ่ (cerebrum) เป็นส่วนใหญ่สุดในสมองมนุษย์ แบ่งออกเป็นสองซีก โดยมีเปลือกสมอง (cerebral cortex) เป็นเปลือกของเนื้อเทา (grey matter) ซึ่งปกคลุมแกนที่เป็นเนื้อขาว (white matter) อยู่ เป็นเนื้อเยื่อประสาทหนาที่คลุมสมองส่วนใหญ่ พับไปพับมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวแต่ยังจุในปริมาตรกะโหลกเท่าที่มีได้ รูปแบบการพับเหมือนกันในแต่ละบุคคลแม้จะต่างกันบ้างเล็กน้อย เปลือกสมองสามารถแบ่งตามจำนวนชั้นประสาทออกเป็นคอร์เทกซ์ใหม่ (neocortex) และอัลโลคอร์เทกซ์ (allocortex) ที่เล็กกว่ามาก คอร์เทกซ์ใหม่มีชั้น 6 ชั้น เทียบกับอัลโลคอร์เทกซ์ที่มีเพียง 3-4 ชั้น สมองใหญ่แต่ละซีกนิยมแบ่งออกเป็น 4 กลีบ คือ กลีบหน้า กลีบขมับ กลีบข้าง และกลีบท้ายทอย

สมองกลีบหน้า (frontal lobe) มีหน้าที่ทาง executive functions รวมทั้งการควบคุมตนเอง การวางแผน การหาเหตุผล และการเฟ้นหานัยทางนามธรรม ส่วนสมองกลีบท้ายทอย (occipital lobe) มีหน้าที่โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเห็น ภายในสมองแต่ละกลีบ บริเวณต่าง ๆ จะสัมพันธ์กับหน้าที่โดยเฉพาะ ๆ เช่น บริเวณของประสาทสัมผัส ประสาทสั่งการ และประสาทสัมพันธ์ แม้สมองซีกซ้ายขวาโดยรวมจะคล้ายกันทั้งโดยรูปร่างและหน้าที่ แต่หน้าที่บางอย่างก็อยู่ในซีกเดียวโดยมาก เช่น ภาษาในสมองซีกซ้าย และสมรรถภาพการแปรรูปในนานามิติ (visual-spatial ability) หรือมิติสัมพันธ์ในสมองซีกขวา ซีกสมองจะเชื่อมกันผ่านลำเส้นใยประสาทเชื่อม (commissural nerve tracts) โดยที่ใหญ่สุดคือ คอร์ปัสคาโลซัม

สมองใหญ่เชื่อมกับไขสันหลังด้วยก้านสมอง ซึ่งประกอบด้วยสมองส่วนกลาง พอนส์ และก้านสมองส่วนท้าย ส่วนสมองน้อยเชื่อมกับก้านสมองด้วยลำเส้นใยประสาท cerebellar peduncle ซึ่งเป็นโครงสร้างเนื้อขาวมีรูปเหมือนก้าน (peduncle) โดยประกอบกันเป็นคู่ ๆ ภายในสมองใหญ่มีระบบโพรงสมอง ประกอบด้วยโพรงสมองที่เชื่อมต่อกัน 4 โพรง ซึ่งผลิตน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) ที่ไหลเวียน ใต้เปลือกสมองมีโครงสร้างสำคัญหลายอย่างรวมทั้งทาลามัส, epithalamus, ต่อมไพเนียล, ไฮโปทาลามัส, ต่อมใต้สมอง, subthalamus, ระบบลิมบิกรวมทั้งอะมิกดะลาและฮิปโปแคมปัส, claustrum ซึ่งเป็นนิวเคลียสต่าง ๆ ของ basal ganglia, โครงสร้างต่าง ๆ ของ basal forebrain และ circumventricular organs 3 อัน เซลล์ที่อยู่ในสมองรวมเซลล์ประสาทและเซลล์สนับสนุนคือเซลล์เกลีย มีเซลล์ประสาทกว่า 86,000 ล้านตัวในสมอง เกือบเท่ากับเซลล์ประเภทอื่น ๆ สมองทำงานได้เพราะเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันและหลั่งสารสื่อประสาทเป็นการตอบสนองต่อกระแสประสาท เซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันเป็นวิถีประสาท วงจรประสาท (neural circuit) และระบบเครือข่ายประสาทขนาดใหญ่ (large scale brain networks) วงจรทั้งหมดทำงานผ่านกระบวนการสื่อประสาท/การส่งผ่านประสาท (neurotransmission)

กะโหลกศีรษะเป็นตัวป้องกันสมอง ซึ่งลอยอยู่ในน้ำหล่อสมองไขสันหลัง และแยกออกจากระบบเลือดด้วยตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (blood-brain barrier) แต่สมองก็ยังอาจเสียหาย เกิดโรค และติดเชื้อได้ ความเสียหายอาจมาจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือการขาดเลือดที่เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมอง สมองอาจเสื่อม เช่น เกิดโรคพาร์คินสัน เกิดภาวะสมองเสื่อมรวมทั้งโรคอัลไซเมอร์ และเกิดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคทางจิตเวชต่าง ๆ รวมทั้งโรคจิตเภทและโรคซึมเศร้าเชื่อว่า สัมพันธ์กับการทำงานผิดปกติของสมอง สมองยังอาจเกิดเนื้องอกทั้งที่ไม่ร้ายและร้าย ซึ่งมักจะแพร่กระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกาย

สาขาที่ศึกษากายวิภาคของสมองก็คือประสาทกายวิภาคศาสตร์ ที่ศึกษาหน้าที่ก็คือประสาทวิทยาศาสตร์ การศึกษาได้ใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น ตัวอย่างในสัตว์อื่น ๆ ที่ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้ให้ข้อมูลมากมาย เทคโนโลยีการสร้างภาพทางการแพทย์ เช่น functional neuroimaging (การสร้างภาพประสาทโดยกิจ) และการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) สำคัญในการศึกษาสมอง ประวัติคนไข้ที่สมองเสียหายได้ให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของสมองแต่ละส่วน การวิจัยสมองได้เปลี่ยนไปตามเวลาเป็นระยะ ๆ โดยมีหลักปรัชญา วิธีการทดลอง และทฤษฎีที่ต่าง ๆ กัน ระยะต่อไปได้พยากรณ์ว่า จะเป็นการจำลองการทำงานของสมอง

ทางด้านวัฒนธรรมตะวันตก จิตปรัชญา (philosophy of mind) ได้พยายามอธิบายธรรมชาติของความรู้สึกตัว/การรับรู้/พิชาน (consciousness) และปัญหาจิต-กาย (mind-body problem) วิทยาศาสตร์เทียมจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือ phrenology ได้พยายามระบุลักษณะบุคลิกภาพไปที่เปลือกสมองเขตต่าง ๆ นิยายวิทยาศาสตร์ปี 1942 คือ Donovan's Brain (สมองของนายดอนอวัน) ได้จินตนาการถึงสภาพที่เหมือนกับปลูกถ่ายสมอง คัมภีร์อรรถกถาของพุทธศาสนาเถรวาทได้กล่าวถึงสมองไว้ในเรื่องประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์และในเรื่องการปฏิบัติ

โครงสร้าง

กายวิภาคคร่าว ๆ

สมองของผู้ใหญ่หนักโดยเฉลี่ย 1.2-1.4 กก. นับเป็นเพียงแค่ 2% ของน้ำหนักร่างกาย มีปริมาตรราว ๆ 1,260 ซม3 ในชาย และ 1,130 ซม3 ในหญิงแต่ก็จะต่างกันมากในบุคคลต่าง ๆ ความแตกต่างทางประสาทระหว่างเพศไม่พบว่าสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับระดับเชาวน์ปัญญาหรือค่าวัดประสิทธิภาพทางประชานอื่น ๆ

สมองใหญ่ประกอบด้วยซีกสมองสองข้าง เป็นส่วนใหญ่สุดของสมองและอยู่ทับโครงสร้างสมองอื่น ๆ ส่วนนอกของซีกสมองคือ เปลือกสมอง เป็นเนื้อเทาซึ่งประกอบด้วยเซลล์ประสาทที่วางเป็นชั้น ๆ สมองแต่ละซีกจะแบ่งออกเป็น 4 กลีบ คือ กลีบหน้า กลีบข้าง กลีบขมับ และกลีบท้ายทอย นักวิชาการบางพวกจัดว่ามีกลีบสมองอีก 3 กลีบคือ กลีบกลาง (central lobe) กลีบลิมบิก (limbic lobe) และกลีบอินซูลา (insular lobe) สมองกลีบกลางประกอบด้วย precentral gyrus และ postcentral gyrus และจัดว่าเป็นกลีบสมองก็เพราะมีหน้าที่ต่างหาก

ก้านสมอง ซึ่งเหมือนกับก้านไม้ ต่อออกจากสมองใหญ่ทางข้างใต้โดยเริ่มต้นเป็นสมองส่วนกลาง ก้านสมองรวมสมองส่วนกลาง พอนส์ และก้านสมองส่วนท้าย หลังก้านสมองเป็นสมองน้อย สมองใหญ่ ก้านสมอง สมองน้อย และไขสันหลังจะปกคลุมด้วยเยื่อหุ้ม 3 ชั้นที่เรียกว่า เยื่อหุ้มสมอง (meninges) ชั้นบนสุดเป็นเยื่อดูราที่แข็งสุด ชั้นกลางเป็นเยื่ออะแร็กนอยด์ และชั้นบางสุดและในสุดเป็นเยื่อเพีย ระหว่างเยื่ออะแร็กนอยด์กับเยื่อเพียมีช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ (subarachnoid space) และ subarachnoid cistern ซึ่งมีน้ำหล่อสมองไขสันหลัง เยื่อชั้นนอกสุดของเปลือกสมองเป็นเยื่อฐาน (basement membrane) ของเยื่อเพีย ซึ่งเรียกว่า glia limitans เป็นส่วนสำคัญของตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง สมองที่ยังเป็นอยู่นิ่มมาก มีลักษณะคล้ายวุ้นคล้ายกับเต้าหู้อ่อน ชั้นเซลล์ประสาทต่าง ๆ ที่เปลือกสมองรวมกันเป็นเนื้อเทาของสมองใหญ่โดยมาก แม้จะเรียกว่าเนื้อเทา แต่ที่ยังเป็นอยู่ก็มีสีชมพูจนถึงสีเนื้อโดยหลอดเลือดฝอยและตัวเซลล์ประสาทเป็นเหตุ ส่วนเขตใต้เปลือกสมองซึ่งลึกกว่าเป็นแอกซอนหุ้มปลอกไมอีลินรวมกันเป็นเนื้อขาว เนื้อขาวมีปริมาตรประมาณครึ่งหนึ่งของสมอง

บริเวณต่าง ๆ ของสมอง แบ่งตามโครงสร้างและหน้าที่
สมองมนุษย์ผ่าในระนาบแบ่งซ้ายขวา (sagittal) แสดงเนื้อขาวของคอร์ปัสคาโลซัม
บริเวณสมองมนุษย์ที่มีหน้าที่ต่าง ๆ เส้นขาดแสดงบริเวณที่ปกติอยู่ในสมองซีกซ้าย

สมองใหญ่

ดูบทความหลักที่: สมองใหญ่ และ เปลือกสมอง
 
รอยนูน (gyrus) และร่อง (sulcus) หลัก ๆ ที่ผิวด้านข้าง (lateral) ของเปลือกสมอง
 
สมองกลีบต่าง ๆ

สมองใหญ่เป็นส่วนใหญ่สุดในสมอง แบ่งออกเป็นซีกซ้ายขวาโดยเกือบสมมาตรกัน แบ่งด้วยร่องลึกที่เรียกว่าร่องตามยาว (longitudinal fissure) ความไม่สมมาตรระหว่างซีกสมองเรียกว่า petalia ซีกสมองซ้ายขวาเชื่อมกันด้วยเส้นเชื่อมประสาท (commissure) ต่าง ๆ ที่ข้ามร่องตามยาวโดยมีคอร์ปัสคาโลซัมเป็นเส้นใหญ่สุด สมองแต่ละซีกนิยมแบ่งออกเป็น 4 กลีบ คือ กลีบหน้า กลีบข้าง กลีบขมับ และกลีบท้ายทอย โดยตั้งชื่อตามกระดูกกะโหลกศีรษะที่ปิดปกป้องสมองกลีบนั้น ๆ สมองแต่ละกลีบจะสัมพันธ์กับหน้าที่โดยเฉพาะ 1-2 อย่างแต่ก็มีหน้าที่ซึ่งคาบเกี่ยวกันด้วย ผิวสมองจะพับไปมาทำให้เกิดรอยนูน (gyrus) และร่อง (sulcus) ซึ่งบางส่วนอาจตั้งชื่อตามตำแหน่ง เช่น frontal gyrus ที่สมองกลีบหน้า และร่องกลางซึ่งแบ่งกลางซีกสมองแต่ละข้าง

ส่วนนอกสุดของสมองใหญ่เป็นเปลือกสมอง เป็นเนื้อเทาที่จัดเป็นชั้น ๆ หนา 2-4 มม. พับเข้าไปลึกทำให้เห็นเป็นหยัก ๆ ใต้เปลือกสมองเป็นเนื้อเทาของสมองใหญ่ เปลือกสมองส่วนใหญ่สุดก็คือคอร์เทกซ์ใหม่ (neocortex) ซึ่งมีเซลล์จัดเป็น 6 ชั้น เปลือกสมองส่วนที่เหลือเป็นอัลโลคอร์เทกซ์ (allocortex) ซึ่งมีชั้นเซลล์ประสาท 3-4 ชั้น

เปลือกสมองได้แบ่งตามการทำงานออกเป็นราว ๆ 50 ส่วนที่เรียกว่า บริเวณบรอดมันน์ (Brodmann's areas) ซึ่งเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เปลือกสมองสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ตามหน้าที่ได้ คือ คอร์เทกซ์สั่งการ (motor cortex) และคอร์เทกซ์รับความรู้สึก (sensory cortex)คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (primary motor cortex) ซึ่งส่งแอกซอนลงไปยังเซลล์ประสาทสั่งการในก้านสมองและไขสันหลัง อยู่ด้านหลังของสมองกลีบหน้า อยู่ด้านหน้าก่อนบริเวณรับรู้ความรู้สึกทางกาย (somatosensory area)

บริเวณรับรู้ความรู้สึกปฐมภูมิต่าง ๆ (primary sensory areas) รับข้อมูลจากประสาทรับความรู้สึก (sensory nerve) และลำเส้นใยประสาทอื่น ๆ โดยผ่านนิวเคลียสประสาทรีเลย์ภายในทาลามัส บริเวณรับรู้ความรู้สึกปฐมภูมิรวมคอร์เทกซ์ส่วนการเห็น (visual cortex) ในสมองกลีบท้ายทอย, คอร์เทกซ์ส่วนการได้ยิน (auditory cortex) ในส่วนต่าง ๆ ของสมองกลีบขมับและคอร์เทกซ์อินซูลา และคอร์เทกซ์รับรู้ความรู้สึกทางกาย (somatosensory cortex) ในสมองกลีบข้าง

เปลือกสมองที่เหลือจาก 2 ส่วนหลักนั้นเรียกว่าบริเวณประสาทสัมพันธ์ (association areas) ซึ่งได้รับกระแสประสาทจากศูนย์ประสาทรับความรู้สึกและสมองส่วนล่าง มีหน้าที่แปลผลทางประชานที่ซับซ้อนเพื่อให้เกิดการรับรู้ ความคิด และการตัดสินใจ

หน้าที่หลักของสมองกลีบหน้าจะเกี่ยวกับการใส่ใจ การเฟ้นหานัยทางนามธรรม พฤติกรรม การแก้ปัญหา การตอบสนองทางกาย และบุคลิกภาพ สมองกลีบท้ายทอยเป็นกลีบเล็กสุด มีหน้าที่แปลผลเพื่อการรับรู้ทางตา แปรรูปในนานามิติ แปลผลการเคลื่อนไหว และการรู้จำสี มีกลีบย่อยที่ยิ่งเล็กกว่าในกลีบท้ายทอยที่เรียกว่า cuneus ส่วนสมองกลีบขมับมีหน้าที่เกี่ยวกับความจำทางหูและทางตา ภาษา บางส่วนของการได้ยินและการพูด

 
รอยพับของเปลือกสมองและเนื้อขาวในศีรษะที่แบ่งครึ่งในแนวราบ

สมองใหญ่มีโพรงสมองต่าง ๆ ที่ผลิตน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) ที่ไหลเวียน ใต้คอร์ปัสคาโลซัมเป็น septum pellucidum คือเยื่อบาง ๆ รูปสามเหลี่ยมแนวตั้งที่แยกโพรงสมองข้างซีกซ้ายจากขวา ใต้โพรงสมองข้างเป็นทาลามัส และด้านหน้าข้างใต้ของมันก็เป็นไฮโปทาลามัส ใต้ไฮโปทาลามัสเป็นต่อมใต้สมอง หลังทาลามัสเป็นก้านสมอง

basal ganglia หรือเรียกด้วยว่า basal nuclei เป็นชุดโครงสร้างที่อยู่ลึกในสมอง มีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมและการเคลื่อนไหว โดยองค์ประกอบใหญ่สุดก็คือ striatum องค์ประกอบอื่น ๆ รวมทั้ง globus pallidus, substantia nigra และ subthalamic nucleus ด้านบน (dorsal) ส่วนหนึ่งของ striatum เป็น putamen และ globus pallidus ที่แยกต่างหากกับโพรงสมองข้างและทาลามัสด้วย internal capsule ส่วน caudate nucleus จะยืดตัวไปรอบ ๆ แล้วต่อชิดกับโพรงสมองข้างทางด้านนอก ส่วนลึกสุดของร่องข้าง (lateral sulcus) ระหว่างคอร์เทกซ์อินซูลากับ striatum เป็นแผ่นเซลล์ประสาทบาง ๆ ที่เรียกว่า claustrum

ใต้ striatum ด้านหน้าเป็นโครงสร้างของ basal forebrain จำนวนหนึ่ง รวมทั้ง nucleus accumbens, nucleus basalis, diagonal band of Broca, substantia innominata และ medial septal nucleus เป็นโครงสร้างสำคัญที่ผลิตสารสื่อประสาทคือ acetylcholine (ACh) ซึ่งแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในสมอง ดังนั้น basal forebrain โดยเฉพาะ nucleus basalis จึงจัดว่า เป็นโครงสร้างสื่อประสาทแบบ cholinergic (คือสื่อด้วย ACh) หลักของระบบประสาทกลางซึ่งส่งไปยัง striatum และคอร์เทกซ์ใหม่

สมองน้อย

ดูบทความหลักที่: สมองน้อย
 
สมองมนุษย์มองจากด้านล่าง แสดงสมองน้อยและก้านสมอง

สมองน้อยแบ่งออกเป็นกลีบหน้า (anterior lobe) กลีบหลัง (posterior lobe) และ flocculonodular lobe กลีบหน้าและหลังเชื่อมกันตรงกลางด้วย cerebellar vermis เปลือกสมองน้อยด้านนอกบางกว่าเปลือกสมองใหญ่มาก และมีรอยพับแคบ ๆ เป็นแนวตัดขวางจำนวนมาก ซึ่งทำให้ดูต่างกับสมองส่วนอื่น ๆ เมื่อมองจากด้านล่างระหว่างกลีบสองกลีบก็จะเห็นกลีบที่สามคือ flocculonodular lobe สมองน้อยอยู่ที่ด้านหลังของโพรงกะโหลกศีรษะ (posterior cranial fossa) อยู่ใต้สมองกลีบท้ายทอย โดยแยกจากมันด้วยแผ่นใยประสาท cerebellar tentorium

สมองน้อยเชื่อมกับสมองส่วนกลางของก้านสมองด้วยเนื้อขาว superior cerebellar peduncle, เชื่อมกับพอนส์ด้วย middle cerebellar peduncle และเชื่อมกับก้านสมองส่วนท้ายด้วย inferior cerebellar peduncle สมองน้อยประกอบด้วยแกนในที่เป็นเนื้อขาวและคอร์เทกซ์นอกที่เป็นเนื้อเทาซึ่งพับไว้เป็นอย่างดี กลีบหน้าหลังของสมองน้อยดูเหมือนจะมีหน้าที่ประสานและทำให้ราบรื่นซึ่งการเคลื่อนไหว (motor movement) ที่ซับซ้อน และ flocculonodular lobe มีหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว โดยอาจมีหน้าที่อย่างอื่นทางประชาน พฤติกรรม และการเคลื่อนไหวที่นักวิชาการยังไม่เห็นพ้องกัน

ก้านสมอง

ดูบทความหลักที่: ก้านสมอง

ก้านสมองอยู่ใต้สมองใหญ่ ประกอบด้วยสมองส่วนกลาง พอนส์ และก้านสมองส่วนท้าย อยู่ที่ด้านหลังของกะโหลกศีรษะ (posterior cranial fossa) ตั้งอยู่ที่ฐานกะโหลกซึ่งเรียกว่า clivus และเอียงลงไปยุติที่ฟอราเมนแมกนัม ซึ่งเป็นช่องใหญ่ในกระดูกท้ายทอย ส่วนที่ยื่นลงออกจากส่วนนี้เรียกว่า ไขสันหลัง ซึ่งป้องกันด้วยกระดูกสันหลัง

เส้นประสาทสมอง 10 คู่จาก 12 คู่ ออกมาจากก้านสมองโดยตรง ก้านสมองยังมีนิวเคลียสประสาทสมอง (cranial nerve nucleus) นิวเคลียสประสาทนอกส่วนกลาง (peripheral nerve nucleus) และนิวเคลียสประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมกระบวนการสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งการหายใจ การเคลื่อนไหวของตา และการทรงตัว ส่วน reticular formation ซึ่งเป็นเครือข่ายนิวเคลียสประสาทซึ่งไร้ขอบเขตที่ชัดเจน ทอดไปตามยาวของก้านสมองทั้งหมดลำเส้นใยประสาทหลายลำ ซึ่งส่งข้อมูลจากเปลือกสมองไปยังร่างกายที่เหลือและลำเส้นใยประสาทจากร่างกายที่ส่งไปยังเปลือกสมอง ล้วนผ่านก้านสมอง

จุลกายวิภาค (microanatomy)

สมองมนุษย์โดยหลักประกอบด้วยเซลล์ประสาท เซลล์เกลีย เซลล์ต้นกำเนิดประสาท (neural stem cell) และหลอดเลือด ประเภทเซลล์ประสาทรวมทั้งอินเตอร์นิวรอน, เซลล์พีระมิดรวมทั้งเซลล์เบ็ตซ์, เซลล์ประสาทสั่งการ (เซลล์สั่งการบนและล่าง) และเซลล์เพอร์คินจีในสมองน้อย เซลล์เบ็ตซ์ใหญ่สุดโดยขนาด โดยอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ถึง 100 ไมโครเมตร สมองมนุษย์ผู้ใหญ่ประเมินว่ามีเซลล์ประสาท 86,000±8,000 ล้านตัว โดยมีเซลล์อื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นประมาณเท่า ๆ กัน คือ 85,000±10,000 ล้านตัว โดยเซลล์ประสาท 16,000 ล้านตัว (19%) อยู่ในเปลือกสมอง และ 69,000 ล้านตัว (80%) อยู่ในสมองน้อย

ประเภทต่าง ๆ ของเซลล์เกลียคือแอสโทรไซต์ (รวม Bergmann glia ในสมองน้อย), โอลิโกเดนโดรไซต์, ependymal cell (รวม tanycyte), radial glial cell, microglia และประเภทย่อยของ oligodendrocyte progenitor cell ในบรรดาเซลล์เกลีย แอสโทรไซต์ใหญ่สุด เป็นเซลล์รูปดาว ที่มีส่วนยื่นจำนวนมากออกจากตัว ส่วนยื่นบางส่วนไปยุติติดกับผนังหลอดเลือดฝอย เยื่อ glia limitans ใต้เยื่อเพียเหนือเปลือกสมองทำมาจากปลายส่วนยื่นของแอสโทรไซต์ มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือบรรจุเซลล์สมองไว้

แมสต์เซลล์เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำการเป็นส่วนของระบบภูมิคุ้มกันทางประสาท (neuroimmune system) ในสมอง โดยอยู่ในโครงสร้างต่าง ๆ มีเยื่อหุ้มสมองเป็นต้น มันอำนวยการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในระบบประสาทต่อการอักเสบและช่วยบำรุงรักษาตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (BBB) โดยเฉพาะในบริเวณสมองที่ไม่มี BBB มันทำหน้าที่ทั่วไปที่คล้ายกันทั้งในร่างกายและในระบบประสาทกลาง เช่น ก่อและควบคุมการตอบสนองเป็นอาการแพ้ ตอบสนองทางภูมิคุ้มกันทั้งแบบโดยกำเนิดและแบบปรับตัว หน้าที่เกี่ยวกับภูมิต้านตนเองและการอักเสบ มันทำหน้าที่เป็นเซลล์ปฏิบัติงาน (effector cell) หลัก ที่ทำให้จุลชีพก่อโรคมีผลต่อการส่งสัญญาณทางเคมีชีวภาพระหว่างทางเดินอาหารกับระบบประสาทกลางได้

ยีนประมาณ 400 ยีนพบเฉพาะแต่ในสมอง เซลล์ประสาททั้งหมดแสดงออกยีน ELAVL3 เซลล์พีระมิดแสดงออกยีน NRGN และ REEP2 อินเตอร์นิวรอนแสดงออกยีน GAD1 ซึ่งจำเป็นในชีวสังเคราะห์ของสารสื่อประสาทกาบา โปรตีนที่เซลล์เกลียแสดงออกรวมโปรตีนที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้แอสโทรไซต์คือ GFAP และ S100B โอลิโกเดนโดรไซต์แสดงออกโปรตีน MBP และแสดงออก transcription factor คือ OLIG2

น้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid)

 
น้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) ไหลเวียนอยู่ในช่องรอบ ๆ และภายในสมอง

น้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid ตัวย่อ CSF) เป็นน้ำ transcellular fluid ที่ไหลเวียนรอบสมองในช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ (subarachnoid space) ในระบบโพรงสมอง และในช่องกลาง (central canal) ของไขสันหลัง และยังมีอยู่ในช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ (subarachnoid space) ที่เรียกว่า subarachnoid cisterns อีกด้วย โพรงสมองทั้งสี่ คือโพรงสมองข้างทั้งคู่ โพรงสมองที่สาม และโพรงสมองที่สี่ล้วนมีข่ายหลอดเลือดสมอง (choroid plexus) ที่ผลิตน้ำหล่อสมองไขสันหลัง

โพรงสมองที่สามอยู่ที่แนวกลาง (midline) และเชื่อมกับโพรงสมองข้างด้วยช่องระหว่างโพรงสมองคือ interventricular foramina ท่อเดี่ยวคือ cerebral aqueduct ที่อยู่ระหว่างพอนส์กับสมองน้อย เชื่อมโพรงสมองที่สามกับที่สี่ ช่องสามช่อง คือรูด้านใน (medial aperture) และรูด้านข้าง (lateral aperture) สองข้าง ระบาย CFS ออกจากโพรงสมองที่สี่เข้าไปใน cisterna magna ซึ่งเป็น cistern หลักอันหนึ่ง จากจุดนี้ CSF จะไหลเวียนรอบสมองและไขสันหลังในช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ซึ่งอยู่ระหว่างเยื่ออะแร็กนอยด์กับเยื่อเพีย ณ ขณะใดขณะหนึ่ง จะมี CSF ประมาณ 150 มล. โดยมากภายในช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ CSF จะสร้างใหม่และดูดคืนอยู่ตลอดเวลาโดยจะเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดทุก ๆ 5-6 ชม.

ระบบระบายน้ำเหลืองในสมองเรียกว่า glymphatic system (ระบบน้ำเหลืองในประสาท) ทางเดินของระบบน้ำเหลืองในประสาททั่วสมองรวมทางระบายน้ำของ CSF และหลอดน้ำเหลืองในเยื่อสมอง (meningeal lymphatic vessel) ซึ่งวิ่งขนานไปกับโพรงหลอดเลือดดำในเยื่อดูรา (dural sinus) กับหลอดเลือดสมอง ระบบนี้ระบายสารน้ำแทรกจากเนื้อเยื่อในสมอง

ระบบเลือด

 
หลอดเลือดสองหลอดมาบรรจบกันที่ circle of Willis
 
ผังแสดงรายละเอียดของเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ๆ กับหลอดเลือดที่ส่งไปเลี้ยง

หลอดเลือดแดง internal carotid arteries ส่งเลือดซึ่งมีออกซิเจนไปที่ด้านหน้าของสมอง ส่วนหลอดเลือดแดง vertebral arteries ส่งเลือดไปที่ด้านหลัง หลอดเลือดสองส่วนนี้มาบรรจบกันที่ circle of Willis อันเป็นวงแหวนเชื่อมหลอดเลือดแดงซึ่งอยู่ในช่อง interpeduncular cistern ระหว่างสมองส่วนกลางกับพอนส์

หลอดเลือดแดง internal carotid arteries เป็นสาขาของ common carotid arteries ซึ่งเข้าไปในกระดูกหุ้มสมองผ่านช่องแครอทิด (carotid canal) วิ่งผ่านโพรงหลอดเลือดดำใต้ฐานสมอง (cavernous sinus) แล้วเข้าไปในช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ ต่อจากนั้นเข้าไปใน circle of Willis แล้วแตกสาขาออกมาเป็น anterior cerebral arteries สองเส้น ทั้งสองเส้นวิ่งมาทางด้านหน้าแล้วขึ้นไปตามร่องตามยาว (longitudinal fissure) ซึ่งส่งเลือดไปที่ด้านหน้าและแนวกลาง (midline) ของสมอง เส้นเลือดเล็กคือ anterior communicating artery หนึ่งเส้นหรือมากกว่านั้นจะเป็นตัวเชื่อม anterior cerebral artery สองเส้นหลังจากที่แยกออกเป็นสาขาไม่นาน ส่วนเส้นเลือดหลักคือ internal carotid artery ก็จะมุ่งหน้าต่อไปโดยเรียกว่า middle cerebral artery และวิ่งไปทางด้านข้างตามกระดูกสฟีนอยด์ของเบ้าตา ขึ้นไปถึงคอร์เทกซ์อินซูลา แล้วแตกออกเป็นสาขาสุดท้าย ๆ โดยตลอดเส้นก็มีสาขาแตกออกไป ๆ ด้วย

เส้นเลือดแดง vertebral artery เป็นสาขาที่แตกออกจากเส้นเลือดแดง subclavian artery ทั้งทางกายซีกซ้ายและซีกขวา แล้วขึ้นผ่านช่องตามขวาง (transverse foramina) ของกระดูกคอ (cervical vertebrae) 6 ข้อ แล้วเข้าไปในโพรงกะโหลกผ่านช่องฟอราเมนแมกนัม แต่ละเส้นจะอยู่ทางข้างของตน ๆ ข้างก้านสมองส่วนท้าย (เมดัลลา) แต่ละข้างจะแตกสาขาเป็นเส้นเลือดสาขาหนึ่งใน 3 สาขาที่ส่งไปเลี้ยงสมองน้อย คือ posterior inferior cerebellar artery เส้นเลือด vertebral artery จากสองข้างจะเชื่อมกันทางด้านหน้าตรงกลางของเมดัลลากลายเป็นเส้นเลือด basilar artery ซึ่งส่งสาขาต่าง ๆ ไปเลี้ยงเมดัลลาและพอนส์ และส่งสาขาอีกสองสาขา คือ anterior inferior cerebellar artery และ superior cerebellar artery ไปเลี้ยงสมองน้อย ในที่สุด basilar artery จะแยกออกเป็น posterior cerebral artery สองเส้น ซึ่งวิ่งตัดออกไปทางด้านข้าง วนข้าง superior cerebellar peduncle ไปตามส่วนบนของ cerebellar tentorium แล้วแตกสาขาส่งเไปเลี้ยงสมองกลีบขมับและกลีบท้ายทอย posterior cerebral artery แต่ละเส้นจะส่งสาขา posterior communicating artery ไปเชื่อมกับ internal carotid artery

การระบายเลือด

เส้นเลือดดำ cerebral vein ระบายเลือดที่ไม่มีออกซิเจนออกจากสมอง สมองมีเครือข่ายเส้นเลือดดำหลัก ๆ สองเครือข่าย คือ superior cerebral veins ที่ผิวของสมองใหญ่ซึ่งมีสาขา 3 สาขา และ internal cerebral veins เครือข่ายทั้งสองมีเส้นเลือดดำที่เชื่อมกัน เส้นเลือดดำต่าง ๆ ในสมองระบายเลือดลงในโพรงหลอดเลือดดำในเยื่อดูรา ที่ใหญ่กว่า ซึ่งปกติอยู่ระหว่างชั้นของเยื่อดูราที่ปกคลุมกะโหลกอยู่ เลือดจากสมองน้อยและสมองส่วนกลางระบายลงใน great cerebral vein ส่วนเลือดจากก้านสมองส่วนท้ายและพอนส์ระบายลงในที่ต่าง ๆ กัน คืออาจลงที่ spinal vein หรือ ใน cerebral vein ที่อยู่ติดกัน

เลือดในส่วนลึกของสมองระบายผ่าน venous plexus ลงในโพรงหลอดเลือดดำใต้ฐานสมอง (cavernous sinus) ด้านหน้า, ลงในโพรง superior petrosal sinus กับ inferior petrosal sinus ด้านข้าง และลงในโพรง inferior sagittal sinus ด้านหลัง เลือดในส่วนนอกของสมองระบายลงในโพรงใหญ่คือ superior sagittal sinus ซึ่งอยู่ที่แนวกลาง (midline) เหนือสมอง เลือดจากโพรงนี้รวมเข้ากับเลือดในโพรง straight sinus ณ confluence of sinuses

เลือดจากจุดนี้ระบายลงในโพรง transverse sinus ทางซ้ายและขวา แล้วระบายลงในโพรง sigmoid sinus ซึ่งได้เลือดจากโพรงหลอดเลือดดำใต้ฐานสมอง, superior petrosal sinus และ inferior petrosal sinus โดย sigmoid sinus ก็ระบายลงในหลอดเลือดดำใหญ่ คือ internal jugular vein ต่อไป

ตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (BBB)

เส้นเลือดแดงที่ใหญ่กว่าในสมองล้วนส่งเลือดให้กับหลอดเลือดฝอยที่เล็กกว่า หลอดเลือดเล็กสุดในสมองเหล่านี้ บุด้วยเซลล์ที่ยึดติดกันด้วยไทต์จังก์ชัน ดังนั้น น้ำจึงไม่สามารถซึมหรือรั่วออกในระดับเดียวกับที่เกิดในหลอดเลือดฝอยที่อื่น ๆ นี่เรียกว่า ตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (BBB) เซลล์บุเส้นเลือดฝอยคือ pericyte มีบทบาทสำคัญในการสร้างไทต์จังก์ชัน แม้ BBB จะไม่ให้โมเลกุลขนาดใหญ่ซึมผ่าน แต่ก็ยังให้น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน และสารละลายในไขมัน (รวมทั้งยาระงับความรู้สึกและแอลกอฮอล์) ซึมผ่านได้โดยมาก BBB ไม่มีที่ circumventricular organs ซึ่งเป็นโครงสร้างต่าง ๆ ในสมองที่ต้องตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเคมีของน้ำในร่างกาย เช่น ต่อมไพเนียล, area postrema และบางส่วนของไฮโปทาลามัส มีตั้วกั้นระหว่างเลือดกับน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (blood-CSF barrier) ที่ทำหน้าที่คล้าย BBB แต่อำนวยการขนส่งสารที่ต่างกันเข้าไปในสมองได้เพราะมีลักษณะโครงสร้างที่ต่างกัน

พัฒนาการ

ข้อมูลเพิ่มเติม: พัฒนาการของสมองมนุษย์
 
กระบวนการพับตัว (neurulation) ของตัวอ่อนสัตว์มีกระดูกสันหลัง และ neural crest cell
 
ระยะต้น ๆ ของพัฒนาการในตัวอ่อนมนุษย์ ระยะ 3 ถุง (3-vesicle stage) และระยะ 5 ถุง (5-vesicle stage)
 
สมองของตัวอ่อนมนุษย์ในสัปดาห์ที่ 6

ในพัฒนาการต้นสัปดาห์ที่ 3 เอ็กโทเดิร์มของตัวอ่อนมนุษย์จะกลายเป็นแผ่นยาวหนาที่เรียกว่าแผ่นประสาท (neural plate) ในสัปดาห์ที่ 4 แผ่นประสาทจะขยายกว้างขึ้นให้มีปลายทางหัว (cephalic end) ที่กว้างสุด ตรงกลางที่กว้างน้อยลง และปลายทางหาง (caudal end) ที่แคบ ปุ่มเหล่านี้เรียกว่า primary brain vesicles เป็นจุดเริ่มต้นของสมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหลัง (hindbrain)

เซลล์สันประสาท (neural crest) ซึ่งแผลงมาจากเอ็กโทเดิร์ม จะอยู่ตามขอบข้าง (lateral) ของแผ่นประสาท ในสัปดาห์ที่ 4 ช่วงระยะการพับตัว (neurulation) ส่วนทบประสาท (neural fold) ซึ่งมีเซลล์สันประสาท จะทบปิดกลายเป็นท่อประสาท (neural tube) ซึ่งทำให้เซลล์สันประสาทมาบรรจบกันที่ยอด เซลล์สันประสาทจะวิ่งยาวตลอดท่อประสาทเป็นเซลล์ cranial neural crest cell ที่ปลายทางหัว และเป็นเซลล์ caudal neural crest cell ที่ปลายทางหาง ต่อมาเซลล์จะแยกออกจากสันแล้วย้ายที่ในกระบวนการ cell migration ในรูปแบบจากหัวไปถึงหาง (craniocaudal) ภายในท่อประสาท เซลล์ที่ปลายหัวจะกลายเป็นสมอง และเซลล์ที่ปลายหางจะกลายเป็นไขสันหลัง

ท่อประสาทจะงอเมื่อเจริญขึ้น กลายเป็นซีกสมองรูปพระจันทร์เสี้ยวทางหัว ซีกสมองจะปรากฏในวันที่ 32 ในต้นสัปดาห์ที่สี่ ปลายศีรษะจะงอไปข้างหน้ามาก เป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า cephalic flexure ส่วนที่งอไปด้านหน้าจะกลายเป็นสมองส่วนหน้า (prosencephalon) ส่วนโค้งจะกลายเป็นสมองส่วนกลาง (mesencephalon) และส่วนต่อจากส่วนโค้งจะกลายเป็นสมองส่วนหลัง (rhombencephalon) เป็นปุ่มสามปุ่มที่เรียกว่า three primitive vesicles ในสัปดาห์ที่ 5 นี่จะกลายเป็นปุ่ม 5 ปุ่ม (five brain vesicles) คือสมองส่วนหน้าจะแตกออกเป็นสองปุ่ม คือ telencephalon ข้างหน้าและ diencephalon ข้างหลัง โดย telencephalon จะกลายเป็นเปลือกสมอง, basal ganglia และโครงสร้างที่สัมพันธ์กันอื่น ๆ ส่วน diencephalon จะกลายเป็นทาลามัสและไฮโปทาลามัส สมองส่วนหลังก็แยกออกเป็นสองส่วนเช่นกัน คือ metencephalon และ myelencephalon โดย metencephalon จะกลายเป็นสมองน้อยและพอนส์ ส่วน myelencephalon จะกลายเป็นก้านสมองส่วนท้าย ในช่วงสัปดาห์ที่ 5 เช่นกัน สมองจะแบ่งออกเป็นปล้องซ้ำ ๆ (ในกระบวนการ segmentation) ที่เรียกว่า neuromere ในสมองส่วนหลัง นี่เรียกว่า rhombomere

ลักษณะเฉพาะของสมองอย่างหนึ่งก็คือการพับเปลือกที่เรียกว่า gyrification (การพับเปลือกกลายเป็นรอยนูน) ในพัฒนาการช่วงต้น ๆ เปลือกจะเรียบ แต่เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 24 สัณฐานย่น ๆ เป็นร่องต่าง ๆ ซึ่งแยกกลีบสมองก็ชัดแล้ว

กระบวนการ gyrification ทำให้สามารถมีผิวเปลือกสมองที่ใหญ่กว่า และดังนั้น จึงสามารถทำหน้าที่ทางประชานมากกว่าในสมองปริมาตรเดียวกัน ประโยชน์อื่น ๆ อาจรวมการสื่อสารที่เร็วระหว่างเซลล์ประสาท, การแปลผลทางประชานได้เร็ว, การมีความจำใช้งานทางภาษา (verbal working memory) ที่ดีกว่า และการคลอดลูกที่ง่ายกว่า กลไกการพับยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีทฤษฎีต่าง ๆ รวมทั้งการโก่งเพราะแรงกล (mechanical buckling) แรงตึงของแอกซอน (axonal tension) และการเจริญเติบโตที่ไม่เท่ากันของบริเวณต่าง ๆ (differential tangential expansion)

ร่องแรกที่ปรากฏในเดือนที่ 4 ก็คือร่อง lateral cerebral fossa แต่เพราะปลายทางหางของซีกสมองที่กำลังขยายตัวต้องโค้งเข้าไปทางข้างหน้าเพราะมีที่จำกัด จึงปิดร่องนี้กลายเป็นช่องที่ลึกกว่าซึ่งเรียกว่า lateral sulcus ซึ่งเป็นร่องแบ่งสมองกลีบขมับ ในเดือนที่ 6 ร่องอื่น ๆ ก็ได้เกิดแยกสมองกลีบหน้า กลีบข้าง และกลีบท้ายท้อยแล้วยีนในจีโนมมนุษย์ คือ ArhGAP11B อาจมีบทบาทสำคัญในกระบวนการ gyrification และ encephalization

สมองตัวอ่อนมนุษย์ที่ 4.5 สัปดาห์ แสดงด้านในของสมองส่วนหน้า 
สมองข้างในที่ 5 สัปดาห์ 
สมองมองจากแนวกลาง (midline) ที่ 3 เดือน 

หน้าที่

 
บริเวณ์ประสาทสั่งการและประสาทรับความรู้สึกในสมอง

ประสาทสั่งการ

ระบบประสาทสั่งการมีหน้าที่เริ่มและควบคุมการเคลื่อนไหว กระแสประสาทสั่งการจะส่งไปจากสมองผ่านประสาทไปยังเซลล์ประสาทสั่งการในร่างกาย ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ คือ ลำเส้นใยประสาท corticospinal tract จะส่งกระแสประสาทสั่งการไปจากสมอง ผ่านไขสันหลัง ไปยังลำตัวและแขนขา และประสาทสมองจะส่งกระแสประสาทเช่นเดียวกันไปยังตา ปาก และใบหน้า

การเคลื่อนไหวหยาบ ๆ เช่น การเคลื่อนที่ (locomotion) และการขยับแขนขา เริ่มจากคอร์เทกซ์สั่งการ (motor cortex) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (primary motor cortex) ซึ่งอยู่ใน prefrontal gyrus โดยมีส่วนต่าง ๆ ที่อุทิศให้กับการเคลื่อนไหวส่วนในร่างกายโดยเฉพาะ ๆ สมองอีกสองเขตด้านหน้า (anterior) ของคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ สนับสนุนและควบคุมการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน คือ premotor area และ supplementary motor area แขนและขามีเขตประสาทขนาดใหญ่กว่าร่างกายส่วนอื่น ๆ ทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างละเอียดกว่า โดยได้ทำภาพเป็นมนุษย์เล็กในเปลือกสมองเพื่อเทียบสัดส่วนเขตประสาทสำหรับอวัยวะต่าง ๆ ให้ดู กระแสประสาทที่เกิดจากคอร์เทกซ์สั่งการจะดำเนินไปตามลำเส้นใยประสาท corticospinal tract ผ่านด้านหน้าของเมดัลลาและข้ามไขว้ทแยงที่ medullary pyramid แล้วดำเนินต่อไปลงไปตามไขสันหลัง โดยมากจะยุติเชื่อมกับอินเตอร์นิวรอน ซึ่งก็จะเชื่อมกับเซลล์ประสาทสั่งการล่างภายในเนื้อเทา เซลล์ประสาทสั่งการจะส่งกระแสประสาทเพื่อให้กล้ามเนื้อหดเกร็งโดยตรง

สมองน้อยและ basal ganglia มีบทบาทในการเคลื่อนไหวที่ละเอียด ซับซ้อน และต้องทำอย่างประสาน การเชื่อมต่อกันระหว่างเปลือกสมองกับ basal ganglia จำเป็นในการควบคุมความตึงกล้ามเนื้อ ท่าทาง การเริ่มการเคลื่อนไหว เป็นส่วนที่เรียกว่า extrapyramidal system (ระบบประสาทสั่งการนอกพีระมิด)

ประสาทสัมผัส

 
บริเวณต่าง ๆ ในเปลือกสมอง
 
การส่งกระแสประสาทจากตาทั้งสองไปยังสมอง

ระบบประสาทรับความรู้สึกมีบทบาทรับและแปลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัส ข้อมูลได้มาจากประสาทสมอง จากลำเส้นใยประสาทในไขสันหลัง และโดยตรงจากศูนย์ในสมอง ที่ถูกกับระบบเลือดโดยตรง สมองยังได้รับและแปลผลข้อมูลจากประสาทสัมผัสพิเศษคือการเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน และการลิ้มรส การทำงานของประสาทสั่งการและประสาทรับความรู้สึกจะประสานกัน

สมองได้รับข้อมูลจากผิวหนังเกี่ยวกับสัมผัสละเอียด แรงดัน ความเจ็บปวด แรงสั่น และอุณหภูมิ ได้รับข้อมูลจากข้อต่อเกี่ยวกับตำแหน่งของข้อต่อคอร์เทกซ์รับความรู้สึกอยู่ใกล้ ๆ กับคอร์เทกซ์สั่งการ และเหมือนกับคอร์เทกซ์สั่งการ มันก็มีบริเวณต่าง ๆ ที่รับความรู้สึกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยเฉพาะ ๆ ความรู้สึกที่ตัวรับความรู้สึกได้รับที่ผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นกระแสประสาท แล้วส่งมาตามเซลล์ประสาทเป็นลำดับภายในลำเส้นใยประสาทของไขสันหลัง วิถีประสาท dorsal column-medial lemniscus pathway ส่งข้อมูลเกี่ยวกับสัมผัสละเอียด แรงสั่น และตำแหน่งข้อต่อ แอกซอนของเซลล์ประสาทจะดำเนินไปที่ด้านหลังของไขสันหลัง แล้วดำเนินต่อทางด้านหลังของก้านสมองส่วนท้าย เป็นที่ที่มันเชื่อมกับเซลล์ประสาทลำดับที่สองซึ่งส่งแอกซอนไปยังสมองซีกตรงข้าม โดยขึ้นไปสู่นิวเคลียสประสาทส่งต่อคือ ventrobasal complex ในทาลามัส เป็นที่ที่มันเชื่อมกับเซลล์ประสาทลำดับที่สาม ซึ่งส่งแอกซอนขึ้นไปยังคอร์เทกซ์รับความรู้สึก

ส่วนลำเส้นใยประสาท spinothalamic tract ส่งข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บปวด อุณหภูมิ และสัมผัสหยาบ แอกซอนของเซลล์ประสาทจะส่งเข้าไปสู่ไขสันหลัง แล้วดำเนินต่อขึ้นไปเชื่อมกับเซลล์ประสาทลำดับที่สองใน reticular formation ของก้านสมองสำหรับความเจ็บปวดและอุณหภูมิ โดยส่งข้อมูลสัมผัสหยาบไปยังนิวเคลียสประสาทส่งต่อคือ ventrobasal complex ในทาลามัสด้วย

การเห็นเกิดเริ่มจากแสงที่มากระทบจอตา เซลล์รับแสงในจอตาจะถ่ายโอนสิ่งเร้าทางตาคือแสงให้เป็นกระแสประสาทแล้วส่งไปยังเปลือกสมองส่วนการเห็นที่สมองกลีบท้ายทอย ข้อมูลทางตาออกจากจอตาผ่านประสาทตา (optic nerve) ใยประสาทตาจากครึ่งจอตาด้านจมูกจะข้ามไปยังด้านตรงข้ามผ่านส่วนไขว้ประสาทตา (optic chiasm) ไปรวมกับใยประสาทจากครึ่งจอตาด้านขมับซีกตรงข้ามกลายเป็นลำเส้นใยประสาทตา (optic tract) การจัดระเบียบทางแสงของตาและวิถีประสาทที่เป็นเช่นนี้จึงหมายความว่า สิ่งที่เห็นในลานสายตาด้ายซ้ายจะตกลงที่จอตาด้านขวาโดยเปลือกสมองส่วนการเห็นด้านขวาเป็นตัวแปลผล และนัยตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน ลำเส้นใยประสาทตาจะเข้าไปสุดที่นิวเคลียส lateral geniculate nucleus ในสมอง ซึ่งก็จะส่งใยประสาทผ่านส่วนแผ่ประสาทตา (optic radiation) ไปยังเปลือกสมองส่วนการเห็น

การได้ยินและการกำหนดรู้การทรงตัวเริ่มมาจากหูชั้นใน เสียงก่อแรงสั่นในกระดูกหู ซึ่งดำเนินต่อไปจนถึงอวัยวะการได้ยิน ส่วนการเปลี่ยนแปลงดุลในร่างกายทำให้น้ำในหูชั้นในเคลื่อน สิ่งเร้าทั้งสองอย่างนี้สร้างกระแสประสาทที่ส่งไปทางประสาทหู (vestibulocochlear nerve) แล้วผ่านไปถึง cochlear nuclei, superior olivary nucleus, medial geniculate nucleus และในที่สุดผ่านส่วนแผ่ประสาทหู (acoustic radiation) ไปยังคอร์เทกซ์ส่วนการได้ยิน (auditory cortex)

การได้กลิ่นเริ่มจากเซลล์รับกลิ่นในเยื่อบุผิวของเยื่อเมือกรับกลิ่น (olfactory mucosa) ในช่องจมูก ซึ่งส่งกระแสแประสาทผ่านประสาทรับกลิ่นที่วิ่งผ่านแผ่นกระดูกพรุน (cribiform plate) เหนือโพรงจมูก ประสาทรับกลิ่นส่งข้อมูลไปที่ป่องรู้กลิ่น (olfactory bulb) ซึ่งก็จะส่งข้อมูลไปสุดที่เปลือกสมองส่วนรู้กลิ่นในที่สุด

การรู้รสเริ่มมาจากหน่วยรับรสที่ลิ้นซึ่งส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทเฟเชียลและเส้นประสาทลิ้นคอหอย (glossopharyngeal nerve) เข้าไปที่นิวเคลียส solitary nucleus (NST) ในก้านสมอง ข้อมูลรสบางส่วนเช่นจากที่คอหอยก็ส่งไปยังที่เดียวกันผ่านเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) ด้วย ส่วน NST จะส่งข้อมูลรสผ่านทาลามัสต่อไปที่เปลือกสมองส่วนรู้รส (gustatory cortex)

การควบคุม

หน้าที่ของระบบประสาทอิสระรวมทั้งการควบคุมการทำงานของอัตราการเต้นของหัวใจกับอัตราการหายใจ และรักษาภาวะธำรงดุล

ศูนย์ปรับขนาดหลอดเลือดที่ก้านสมองส่วนท้าย (หรือเมดัลลา) มีอิทธิพลต่อความดันโลหิตและอัตราการเต้นหัวใจ โดยทำให้หลอดเลือดแดงและดำตีบเมื่อกำลังพักอยู่ ทำการโดยส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทเวกัสไปยังระบบประสาทซิมพาเทติกและซิมพาเทติก ตัวรับรับรู้ความดัน (baroreceptor) ที่ aortic body ในเอออร์ติกอาร์ช (aortic arch) รับรู้ความดันโลหิตแล้วส่งข้อมูลไปยังสมองผ่านใยประสาทนำเข้า general visceral afferent fibers ของเส้นประสาทเวกัส ส่วนข้อมูลความเปลี่ยนแปลงความดันในโพรงเลือดแครอทิด (carotid sinus) มาจากต่อมแครอทิด (carotid body) ที่อยู่ใกล้ ๆ หลอดเลือดแดงแครอทิด (carotid artery) โดยส่งผ่านประสาท Hering's nerve ที่รวมเข้ากับเส้นประสาทลิ้นคอหอย และส่งไปยังนิวเคลียส solitary nucleus (NST) ในก้านสมองส่วนท้าย กระแสประสาทจาก NST จะทำให้ศูนย์ปรับขนาดหลอดเลือดปรับขนาดเส้นเลือดแดงและดำตามสมควร

สมองควบคุมอัตราการหายใจโดยหลักด้วยศูนย์การหายใจในก้านสมองส่วนท้ายและพอนส์ ศูนย์ควบคุมการหายใจโดยส่งกระแสประสาทสั่งการลงไปที่ไขสันหลัง ผ่านเส้นประสาทกะบังลม (phrenic nerve) ไปยังกะบังลมและกล้ามเนื้อหายใจอื่น ๆ เส้นประสาทนี้เป็นแบบผสมเพราะส่งข้อมูลความรู้สึกกลับไปยังระบบประสาทกลางด้วย มีศูนย์การหายใจ 4 ศูนย์ 3 ศูนย์มีหน้าที่ที่ชัดเจน ศูนย์ "apneustic centre" มีหน้าที่ยังไม่ชัดเจน ในเมดัลลา ศูนย์ "dorsal respiratory group" ก่อความต้องการให้หายใจเข้าและได้รับข้อมูลความรู้สึกโดยตรงจากร่างกาย ในเมดัลลาอีกเช่นกัน ศูนย์ "ventral respiratory group" มีอิทธิพลในการหายใจออกเมื่อต้องออกแรง ในพอนส์ ศูนย์ "pneumotaxic centre" มีอิทธิพลต่อความยาวสั้นของลมหายใจ และศูนย์ apneustic centre ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อการหายใจเข้า

แม้ศูนย์การหายใจเหล่านี้สามารถรับรู้คาร์บอนไดออกไซด์และความเป็นกรดของเลือดได้โดยตรง แต่ตัวรับรู้สารเคมีนอกส่วนกลาง (peripheral chemoreceptor) ที่ผนังหลอดเลือดแดงใน aortic body และ carotid body ก็รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และความเป็นกรดของเลือดด้วย แล้วส่งข้อมูลผ่านเส้นประสาทเวกัสและเส้นประสาทลิ้นคอหอยไปยังศูนย์การหายใจ การมีคาร์บอนไดออกไซด์สูง มีความเป็นกรดสูง มีออกซิเจนน้อย จะกระตุ้นการทำงานของศูนย์การหายใจ ความต้องการจะหายใจเข้ายังได้รับอิทธิพลจากตัวรับแรงยืดในปอด (pulmonary stretch receptor) ซึ่งเมื่อทำงาน จะป้องกันไม่ให้ปอดหายใจเข้าเกินโดยส่งข้อมูลไปยังศูนย์การหายใจผ่านเส้นประสาทเวกัส

ไฮโปทาลามัสใน diencephalon มีหน้าที่ควบคุมการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งหน้าที่ทางประสาทร่วมต่อมไร้ท่อ (neuroendocrine) การทำงานตามจังหวะรอบวัน (circadian rhythm) ระบบประสาทอิสระ และควบคุมการทานอาหารและดื่มน้ำ กลุ่มเซลล์สองกลุ่มหลัก ๆ ในไฮโปทาลามัสส่วนหน้า (anterior) เป็นตัวควบคุมจังหวะรอบวัน รวมทั้งนิวเคลียส suprachiasmatic nucleus และ ventrolateral preoptic nucleus ซึ่งมีวัฏจักรการแสดงออกของยีนที่เป็นเหมือนกับนาฬิการอบ 24 ชม. รูปแบบการนอนหลับจะเป็นไปตามจังหวะอัลตราเดียน (ultradian rhythm) การนอนหลับเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับร่างกายและสมองเพื่อให้ระบบต่าง ๆ ได้หยุดพักทำงาน มีงานศึกษาที่พบว่า พิษที่สะสมในสมองแต่ละวันจะขจัดออกในช่วงนอนหลับ เมื่อตื่นอยู่ สมองใช้พลังงานประมาณ 20% ของร่างกาย การนอนหลับก็จะลดการใช้พลังงานเช่นนี้ ช่วยให้ฟื้นคืนสภาพเอทีพีที่ใช้เก็บพลังงาน ผลที่พบในภาวะขาดนอนได้แสดงความจำเป็นอย่างยิ่งของการนอนหลับ

ไฮโปทาลามัสด้านข้าง (lateral hypothalamus) มีเซลล์ประสาทที่ใช้ orexin เป็นสารสื่อประสาท ซึ่งควบคุมความอยากอาหารและความตื่นตัวด้วยกระแสประสาทที่ส่งไปยัง ascending reticular activating system (ARAS) ไฮโปทาลามัสควบคุมต่อมใต้สมองด้วยการหลั่งเพปไทด์ เช่น ออกซิโตซิน, vasopressin และโดพามีนไปยัง median eminence ที่ด้านล่างของไฮโปทาลามัส ไฮโปทาลามัสมีบทบาทควบคุมหน้าที่ทางระบบประสาทอิสระต่าง ๆ รวมทั้งความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ การขับเหงื่อ และกลไกของภาวะธำรงดุลอื่น ๆ มีบทบาทควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และเมื่อได้การกระตุ้นจากระบบภูมิคุ้มกันก็ก่อไข้ได้ ไตมีอิทธิพลต่อไฮโปทาลามัส คือเมื่อความดันโลหิตลดลง ไตก็จะหลั่งโปรตีนคือ renin ซึ่งกระตุ้นให้ไฮโปทาลามัสก่อรีเฟล็กซ์การดื่มน้ำ ไฮโปทาลามัสยังควบคุมการทานอาหารโดยส่งกระแสประสาทเป็นส่วนของระบบประสาทอิสระ และควบคุมการปล่อยฮอร์โมนของระบบย่อยอาหาร

ภาษา

 
เขตการพูดในสมองคือ Broca's area และ Wernicke's area เชื่อมกันด้วยมัดใยประสาท arcuate fasciculus
ดูบทความหลักที่: Language processing in the brain

แม้หน้าที่ทางภาษาดั้งเดิมเชื่อว่าจำกัดอยู่กับบริเวณสมองคือ Wernicke's area และ Broca's area แต่ปัจจุบันโดยมากเชื่อว่า มีเครือข่ายที่กว้างขวางกว่านั้นในเปลือกสมองซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษา

การศึกษาว่า สมองทำงานเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับภาษา แปลผล และเรียนรู้ภาษาแม่ได้อย่างไร เป็นสาขาที่เรียกว่า ภาษาศาสตร์ประสาทวิทยา (neurolinguistics) เป็นสาขาใหญ่อาศัยความรู้จากสาขาอื่น ๆ รวมทั้งประสาทวิทยาศาสตร์ปริชาน (cognitive neuroscience), ภาษาศาสตร์ปริชาน (cognitive linguistics) และภาษาศาสตร์จิตวิทยา (psycholinguistics)

การจำกัดหน้าที่ของซีกสมอง (lateralization)

สมองใหญ่ปกติทำงานแบบคู่กันสองข้าง แต่ละซีกสมองมีปฏิสัมพันธ์โดยหลักกับร่างกายครึ่งหนึ่ง สมองซีกซ้ายมีกับร่างกายซีกขวา และนัยกลับกันก็เช่นกัน เหตุที่ให้พัฒนาการเป็นแบบนี้ไม่ชัดเจน ใยประสาทสั่งการจากสมองไปยังไขสันหลัง และใยประสาทรับความรู้สึกจากไขสันหลังมายังสมอง ล้วนแต่ไขว้ทแยงข้ามซีกในก้านสมอง ส่วนข้อมูลทางตามีหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนกว่า คือประสาทตาจากตาทั้งสองส่งไปยังส่วนไขว้ประสาทตา (optic chiasm) ใยประสาทครึ่งหนึ่งจากซีกหนึ่งจะไขว้ทแยงข้ามซีกไปรวมกับใยประสาทครึ่งหนึ่งของอีกซีกหนึ่ง ผลก็คือเส้นประสาทจากครึ่งซ้ายของตาทั้งสองตา (ซึ่งได้ภาพลานสายตาขวา) จะส่งไปที่สมองทางซ้าย ส่วนเส้นประสาทจากครึ่งขวาของจอตา (ซึ่งได้ภาพลานสายตาซ้าย) จะส่งไปที่สมองซีกขวา เพราะจอตาแต่ละครึ่งได้รับแสงที่มาจากลานสายตาทางครึ่งตรงข้าม ผลก็คือข้อมูลการเห็นที่มาจากโลกกึ่งซ้ายจะส่งไปที่สมองกึ่งขวา โดยนัยตรงข้ามก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น สมองซีกขวาได้รับข้อมูลความรู้สึกจากร่างกายซีกซ้าย และก็ได้ข้อมูลสายตาจากลานสายตาซีกซ้ายด้วย

แม้สมองซีกซ้ายและขวาจะดูสมมาตรกัน แต่ก็ทำหน้าที่ไม่สมมาตรกัน หน้าที่บางอย่างอาจคล้ายกัน เช่น เขตประสาทสั่งการของสมองซีกซ้ายควบคุมมือขวา ในขณะที่เขตทางสมองซีกขวาก็ควบคุมมือซ้าย แต่หน้าที่สำคัญบางอย่างก็ต่างกัน รวมทั้งภาษาและการแปลผลทางปริภูมิ (spatial cognition) คือ สมองกลีบหน้าซ้ายเป็นหลักในการใช้ภาษา ถ้าเขตสำคัญทางภาษาในสมองซีกซ้ายเสียหาย อาจทำให้คนไข้ไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษา เทียบกับความเสียหายคล้าย ๆ กันในสมองซีกขวา ซึ่งก่อปัญหาทางทักษะภาษาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ความรู้ปัจจุบันส่วนสำคัญในเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างซีกสมองทั้งสองข้างมาจากคนไข้ที่สมองทั้งสอง "แยกจากกัน" (split-brain) เช่น คนไข้โรคลมชักที่ผ่าคอร์ปัสคาโลซัมออกเพื่อพยายามลดความรุนแรงของการชัก คนไข้เช่นนี้ไม่มีพฤติกรรมผิดปกติที่ปรากฏชัด แต่บางคนก็อาจจะทำอะไรเหมือนมีคนสองคนในกายเดียวกัน เช่น มือขวาทำการอย่างหนึ่ง แต่มือซ้ายก็กลับไปแก้มันออก เมื่อแสดงรูปที่อยู่ทางขวาของจุดตรึงตา ก็สามารถอธิบายมันด้วยคำพูด แต่เมื่อแสดงรูปทางด้านซ้าย กลับไม่สามารถอธิบายมัน แต่อาจระบุอะไรบางอย่างเกี่ยวกับรูปด้วยมือซ้าย

อารมณ์

ดูบทความหลักที่: อารมณ์

อารมณ์ทั่วไปนิยามว่าเป็นกระบวนการมีหลายองค์ประกอบ มีสองขั้นตอน คือ หาข้อมูล แล้วตามด้วยความรู้สึกในใจ การประเมิน การแสดงออก การตอบสนองของระบบประสาทอิสระ และการตอบสนองตามนิสัย ความพยายามระบุอารมณ์พื้นฐานว่าเกิดเฉพาะในสมองบางส่วนเป็นเรื่องสร้างความขัดแย้ง โดยมีงานวิจัยบางส่วนที่ไม่พบหลักฐานว่ามีตำแหน่งในสมองที่สัมพันธ์กับอารมณ์โดยเฉพาะ ๆ แต่ก็พบวงจรประสาทที่มีบทบาทในกระบวนการทางอารมณ์โดยทั่ว ๆ ไป อะมิกดะลา, orbitofrontal cortex, คอร์เทกซ์อินซูลาตรงกลาง (mid) และด้านหน้า (anterior) และ prefrontal cortex ด้านข้าง (lateral) ดูเหมือนจะมีบทบาทก่ออารมณ์ ส่วนอื่นต่าง ๆ รวมทั้ง ventral tegmental area, ventral pallidum และ nucleus accumbens มีส่วนในกระบวนการแรงจูงใจ (motivational salience) แต่โดยมีหลักฐานที่อ่อนกว่า แต่งานอื่น ๆ ก็พบหลักฐานว่ามีบริเวณสมองโดยเฉพาะสำหรับอารมณ์ต่าง ๆ เช่น basal ganglia สำหรับความสุข, cingulate cortex ใต้คอร์ปัสคาโลซัมสำหรับความเศร้า และอะมิกดะลาสำหรับความกลัว

ประชาน

ดูบทความหลักที่: ประชาน
ข้อมูลเพิ่มเติม: Executive functions

สมองมีหน้าที่ทางประชาน ซึ่งทำการผ่านกระบวนการทางประชานและ executive functions จำนวนมาก executive functions รวมสมรรถภาพในการกรองข้อมูล ในการไม่สนใจสิ่งเร้าที่ไม่สำคัญด้วยการควบคุมการใส่ใจ (attentional control) และการยับยั้งทางประชาน (cognitive inhibition), สมรรถภาพในการแปลผลและดำเนินการกับข้อมูลที่อยู่ในความจำใช้งาน (working memory), สมรรถภาพในการคิดถึงแนวคิดหลายอย่างพร้อม ๆ กัน และการเปลี่ยนการใส่ใจระหว่างงานต่าง ๆ โดยไม่ต้องตั้งใจ (task switching) โดยเป็นส่วนของความยืดหยุ่นได้ทางประชาน (cognitive flexibility), สมรรถภาพในการห้ามอารมณ์ชั่ววูบ (impulse) และการตอบสนองตามนิสัย (prepotent response) ด้วยการยับยั้งการตอบสนอง (response inihibition) และสมรรถภาพในการกำหนดข้อมูลที่สำคัญหรือการกระทำที่สมควร

หน้าที่ทาง executive functions ในระดับที่สูงกว่าต้องใช้กระบวนการทาง executive functions ในระดับที่ต่ำกว่าหลายกระบวนการ หน้าที่ที่สูงกว่ารวมทั้งการวางแผน การหาเหตุผล และการแก้ปัญหาprefrontal cortex มีบทบาทสำคัญในการอำนวยกระบวนการทาง executive functions ต่าง ๆ การวางแผนอาศัยการทำงานของส่วน dorsolateral prefrontal cortex (DLPFC), anterior cingulate cortex, angular prefrontal cortex, prefrontal cortex ข้างขวา และรอยนูนซูปรามาร์จินัล การดำเนินการกับข้อมูลในความจำใช้งานอาศัยการทำงานของ DLPFC, inferior frontal gyrus และบริเวณต่าง ๆ ในสมองกลีบข้าง ส่วนการยับยั้งการตอบสนอง (response inhibition) อาศัยบริเวณต่าง ๆ ของ prefrontal cortex, caudate nucleus และ subthalamic nucleus โดยสองอย่างหลังเป็นส่วนของ basal ganglia

สรีรภาพ

การส่งผ่านประสาท (neurotransmission)

สมองทำงานได้อาศัยการเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาทเพื่อให้ส่งกระแสประสาทไปหากันและกันได้ เซลล์ประสาทประกอบด้วยตัวเซลล์ แอกซอน และเดนไดรต์ เดนไดรต์บ่อยครั้งเป็นส่วนยื่นที่มีสาขาต่าง ๆ มากมาย ที่ได้รับสัญญาณ (คือสารสื่อประสาทเป็นต้น) จากปลายแอกซอนของเซลล์ประสาทอื่น ๆ สัญญาณที่ได้รับอาจทำให้เซลล์ประสาทส่งกระแสประสาทคือศักยะงาน (เป็นสัญญาณไฟฟ้าเคมี) ซึ่งส่งไปตามแอกซอนจนถึงปลาย ซึ่งก็จะเชื่อมกับเดนไดรต์หรือตัวเซลล์ของเซลล์ประสาทอื่น ๆ ศักยะงานเริ่มจากเซกเมนต์ต้น (initial segment) ของแอกซอน ซึ่งมีคอมเพล็กซ์โปรตีนพิเศษ เมื่อศักยะงานวิ่งไปถึงปลายแอกซอน ก็จะทำให้ปล่อยสารสื่อประสาทที่ไซแนปส์เป็นการส่งสัญญาณเพื่อสร้างผลที่เซลล์ประสาทเป้าหมาย สารสื่อประสาทเคมีเหล่านี้รวมทั้งโดพามีน เซโรโทนิน กาบา กลูตาเมต และ acetylcholine กาบาเป็นสารสื่อประสาทแบบยับยั้งหลักในสมอง ส่วนกลูตาเมตเป็นสารสื่อประสาทแบบเร้าหลัก เซลล์ประสาทที่เชื่อมกัน ๆ ผ่านไซแนปส์รวมกันเป็นวิถีประสาท วงจรประสาท (neural circuit) และเครือข่ายประสาทขนาดใหญ่ (large scale brain networks) เช่น ดังที่พบใน salience network และ default mode network โดยการทำงานประสานกันเกิดจากกระบวนการส่งผ่านประสาท (neurotransmission)

เมแทบอลิซึม

 
ภาพรังสีระนาบ (PET) ของการใช้พลังงานในสมองมนุษย์

สมองใช้พลังงานอาจถึง 20% ของที่ร่างกายใช้ ซึ่งมากกว่าอวัยวะอื่น ๆ ในมนุษย์ กลูโคสในเลือดเป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์โดยมากและจำเป็นในการทำงานของเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมทั้งสมอง ในบุคคลที่อดอาหารและอยู่เฉย ๆ สมองมนุษย์ใช้กลูโคสในเลือดราว ๆ 60%เมแทบอลิซึมในสมองปกติอาศัยกลูโคสในเลือดเป็นแหล่งพลังงาน แต่ในช่วงที่กลูโคสน้อย (เช่น อดอาหาร ออกกำลังกายแบบเพิ่มความอดทน หรือกินคาร์โบไฮเดรตน้อย) สมองจะใช้คีโตนบอดีส์เป็นพลังงานโดยจำเป็นต้องได้กลูโคสน้อยกว่า สมองยังสามารถใช้แล็กเตตเมื่อกำลังออกกำลังกาย สมองสะสมกลูโคสในรูปแบบของไกลโคเจน แม้จะในปริมาณน้อยกว่าที่พบในตับหรือกล้ามเนื้อโครงร่างกรดไขมันลูกโซ่ยาวไม่สามารถผ่านตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมองเข้าไปได้ แต่ตับสามารถสลายกรดไขมันเช่นนั้นให้เป็นคีโตนบอดีส์ แต่กรดไขมันลูกโซ่สั้น เช่น butyric acid, propionic acid และกรดน้ำส้ม และกรดไขมันลูกโซ่กลาง เช่น octanoic acid และ heptanoic acid ก็สามารถผ่านตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมองเข้าไปได้และเซลล์สมองก็สามารถย่อยสลายมันได้

แม้สมองมนุษย์จะหนักเพียง 2% ของน้ำหนักร่างกาย แต่ได้รับเลือดจากหัวใจ 15% ใช้ออกซิเจน 20% ของที่ใช้ทั้งหมดในร่างกาย และใช้กลูโคส 25% ของที่ใช้ทั้งหมดในร่างกาย สมองใช้กลูโคสเป็นพลังงานโดยมาก และการขาดกลูโคส เช่น ในภาวะเลือดมีน้ำตาลน้อย (hypoglycemia) อาจทำให้หมดสติ การใช้พลังงานของสมองไม่ต่างกันมากตามเวลา แต่เขตเปลือกสมองที่กำลังทำงานจะใช้พลังงานค่อนข้างมากกว่าเขตที่ไม่ทำ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นมูลฐานของการสร้างภาพของสมองตามการทำงาน เช่น PET และ fMRI เทคนิคการสร้างภาพสมองโดยกิจ (functional imaging) เช่นนี้สามารถแสดงระดับเมแทบอลิซึมเป็นภาพสามมิติ

การนอนหลับมีหน้าที่อะไรยังไม่ค่อยชัดเจน แต่มีหลักฐานว่า การนอนหลับเพิ่มการขจัดของเสียทางเมแทบอลิซึมจากสมองโดยของเสียบางอย่างอาจเป็นพิษต่อประสาท และอาจทำให้ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ หลักฐานแสดงนัยว่า การเพิ่มการขจัดของเสียทางเมแทบอลิซึมช่วงการนอนหลับเกิดผ่านการทำงานของระบบน้ำเหลืองในประสาท (glymphatic system) การนอนหลับอาจมีผลต่อการทำงานทางประชานโดยลดระดับการเชื่อมต่อกันทางประสาทที่ไม่จำเป็น

งานวิจัย

สมองยังไม่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ จึงมีงานวิจัยที่กำลังเป็นไปอยู่ นักประสาทวิทยาศาสตร์ บวกกับนักวิจัยในสาขาที่สัมพันธ์กันอื่น ๆ กำลังศึกษาว่าสมองทำงานอย่างไร ขอบเขตของสาขาโดยเฉพาะ ๆ เช่นของประสาทวิทยาศาสตร์ ประสาทวิทยา และสาขาอื่น ๆ รวมทั้งจิตเวชไม่ค่อยชัดเจน เพราะล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากการวิจัยขั้นพื้นฐานในประสาทวิทยาศาสตร์

ประสาทวิทยาศาสตร์ได้ขยายตัวอย่างมากในทศวรรษที่ผ่าน ๆ มา ทศวรรษแห่งสมอง (Decade of the Brain) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของรัฐบาลสหรัฐในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ถือว่าช่วยเพิ่มงานวิจัยเช่นนี้ ซึ่งต่อมาติดตามด้วยโครงการ BRAIN Initiative ในปี 2013 โปรเจ็กต์ Human Connectome Project เป็นโครงการศึกษา 5 ปีที่เริ่มในปี 2009 เพื่อวิเคราะห์การเชื่อมต่อกันทางกายวิภาคและทางหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ ในสมอง ซึ่งได้ให้ข้อมูลเป็นอย่างดี

วิธีการศึกษา

ความรู้เรื่องโครงสร้างและหน้าที่ของสมองมนุษย์มาจากวิธีการทดลองต่าง ๆ รวมทั้งที่ทำในสัตว์และมนุษย์ ข้อมูลในเรื่องการบาดเจ็บของสมองและโรคหลอดเลือดสมองได้ให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของสมองส่วนต่าง ๆ และผลของความเสียหายต่อสมอง การสร้างภาพสมอง (neuroimaging) สามารถใช้ตรวจสมองและบันทึกการทำงาน เทคนิคทางสรีรวิทยาไฟฟ้าสามารถใช้วัด บันทึก และเฝ้าตรวจการทำงานทางไฟฟ้าของเปลือกสมอง การวัดอาจเป็นศักย์สนามไฟฟ้าเฉพาะที่ (local field potential) ของบริเวณต่าง ๆ ในเปลือกสมอง หรือของการทำงานของเซลล์ประสาทเซลล์เดียว การบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองสามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าในเปลือกสมองโดยแปะอิเล็กโทรดที่หนังศีรษะโดยไม่ต้องผ่าไม่ต้องเจาะ วิธีที่ต้องผ่าต้องเจาะรวม electrocorticography ซึ่งแปะอิเล็กโทรดโดยตรงที่ผิวสมองโดยผ่าเปิดกะโหลกศีรษะ เช่น ใน cortical stimulation mapping ซึ่งใช้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบริเวณต่าง ๆ ของเปลือกสมองกับการทำงานเป็นระบบ ถ้าใช้ไมโครอิเล็กโทรดที่เล็กกว่ามาก ก็สามารถบันทึกการทำงานของเซลล์ประสาทเซลล์เดียว ที่ให้ทั้งรายละเอียดทั้งทางปริภูมิและทางเวลาได้ดี ซึ่งสามารถทำให้เชื่อมการทำงานของสมองกับพฤติกรรม แล้วสร้างแผนที่ประสาท

การพัฒนาอวัยวะเทียมคล้ายสมอง (cerebral organoid) ได้เปิดโอกาสให้ศึกษาการเจริญเติบโตของสมองกับเปลือกสมอง ให้เข้าใจการเกิดโรค ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อรักษาได้

การสร้างภาพ

เทคนิคการสร้างภาพประสาทโดยกิจ (functional neuroimaging) สามารแสดงการทำงานของสมองที่สัมพันธ์กับหน้าที่ของบริเวณสมองต่าง ๆ โดยเฉพาะ ๆ เทคนิคหนึ่งก็คือ fMRI ซึ่งดีกว่าเทคนิคก่อน ๆ คือ SPECT และ PET เพราะไม่จำเป็นต้องใช้สารกัมมันตภาพรังสีและให้รายละเอียดได้มากกว่า เทคนิคอีกอย่างหนึ่งก็คือ functional near-infrared spectroscopy (สเปกโทรสโกปีโดยกิจด้วยแสงใกล้รังสีอินฟราเรด) เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้อาศัยการตอบสนองทางการไหลเวียนของเลือด (haemodynamic response) ซึ่งแสดงการทำงานของสมองเทียบกับการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือด และใช้ประโยชน์เพื่อทำแผนที่การทำงานของสมอง ส่วน resting state fMRI (fMRI เมื่อขณะพัก) ตรวจดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองส่วนต่าง ๆ เมื่อไม่ได้ทำงานใด ๆ โดยเฉพาะ จึงสามารถแสดงส่วนของสมองที่เรียกว่า เครือข่ายภาวะโดยปริยาย (default mode network) ได้ด้วย

กระแสไฟฟ้าย่อมสร้างสนามแม่เหล็กตามกฎการเหนี่ยวนำของฟาราเดย์ ดังนั้น คลื่นสมองจึงก่อสนามแม่เหล็กอ่อน ๆ และจึงสามารถสร้างภาพการทำงานของสมองอย่างละเอียดด้วยเทคนิค functional magnetoencephalography ได้ ส่วน tractography ใช้ MRI บวกกับการวิเคราะห์ภาพเพื่อสร้างภาพสามมิติของลำเส้นใยประสาทในสมอง และ connectogram เป็นกราฟแสดงการเชื่อมต่อกันของส่วนต่าง ๆ ในสมอง

ความแตกต่างของโครงสร้างสมองสามารถวัดได้ในโรคบางโรค ที่เด่นสุดคือโรคจิตเภทและภาวะสมองเสื่อม การสร้างภาพโดยใช้คุณสมบัติทางชีวภาพต่าง ๆ ได้ให้ความรู้เพิ่ม เช่น โรคซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ แหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ ก็คือผลที่ได้เมื่อเกิดความเสียหาย

ความก้าวหน้าของการสร้างภาพทางประสาทได้สร้างความรู้แบบปรวิสัยในเรื่องจิตพิการต่าง ๆ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วกว่า พยากรณ์โรคได้แม่นยำกว่า และเฝ้าติดตามโรคได้ดีกว่า

การแสดงออกของยีนและโปรตีน

ดูบทความหลักที่: ชีวสารสนเทศศาสตร์

ชีวสารสนเทศศาสตร์เป็นสาขาการศึกษาซึ่งรวมการสร้างและพัฒนาฐานข้อมูล และเทคนิคทางการคำนวณและทางสถิติ เพื่อใช้ศึกษาสมองมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องการแสดงออกของยีนและโปรตีน ชีวสารสนเทศศาสตร์และการศึกษาทางจีโนมิกส์โดยกิจ (functional genomics) ทำให้จำเป็นต้องพัฒนาเทคนิค DNA annotation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชิง transcriptome คือการระบุยีน ตำแหน่งของยีน และหน้าที่ของยีน โดยมี GeneCards เป็นฐานข้อมูลสำคัญฐานหนึ่ง

จนถึงปี 2017 ได้ค้นพบยีนที่เข้ารหัสโปรตีนเกือบ 20,000 ยีนที่แสดงออกในมนุษย์ ประมาณ 400 ยีนมีเฉพาะในสมอง ข้อมูลการแสดงออกของยีนในสมองได้สนับสนุนให้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น การดื่มเหล้าเป็นเวลานานพบว่า เปลี่ยนการแสดงออกของยีนในสมอง และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ชนิดโดยเฉพาะ ๆ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการติดเหล้า ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้พบที่ transcriptome ของไซแนปส์ที่ prefrontal cortex ซึ่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ติดเหล้าและทำให้ติดสารเสพติดอื่น ๆ

งานศึกษาที่สัมพันธ์กันอื่น ๆ ได้แสดงหลักฐานว่าไซแนปส์ได้เปลี่ยนไปหรือเสียหายไปในคนชรา คือการแสดงออกของยีนได้เปลี่ยนระดับโปรตีนในวิถีประสาทต่าง ๆ ซึ่งปรากฏชัดว่า มีไซแนปส์ที่ผิดปกติหรือเสียหายไป การทำงานผิดปกตินี้พบว่า มีผลต่อโครงสร้างมากมายในสมอง และมีผลที่ชัดเจนต่อเซลล์ประสาทแบบยับยั้ง คือมีผลให้การสื่อประสาทลดลง ตามด้วยการทำงานทางประชานที่เสื่อมลงและเป็นโรค

ความสำคัญทางคลินิก

ความบาดเจ็บ

ความบาดเจ็บอาจปรากฏเป็นอาการต่าง ๆ การบาดเจ็บที่สมองเช่นจากกีฬาที่กระทบกระทั่ง จากตกหรือหกล้ม จากอุบัติเหตุรถยนต์หรือในที่ทำงาน อาจสัมพันธ์กับปัญหาทั้งระยะสั้นระยะยาว ปัญหาระยะสั้นอาจรวมเลือดออกในสมอง ซึ่งกดดันเนื้อเยื่อในสมองหรือทำหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมันให้เสียหาย สมองอาจจะช้ำซึ่งก่อความเสียหายต่อลำเส้นใยประสาทเป็นจำนวนมาก แล้วก่อภาวะที่เรียกว่า diffuse axonal injury (การบาดเจ็บที่แอกซอนอย่างกระจาย) กะโหลกศีรษะแตก, ความบาดเจ็บต่อเขตหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ, หูหนวก และสมองกระทบกระเทือน (concussion) ก็อาจเป็นอาการที่เกิดทันทีด้วย นอกจากบริเวณที่บาดเจ็บ สมองด้านตรงข้ามอาจเกิดปัญหาด้วย ซึ่งเรียกว่า contrecoup injury ปัญหาระยะยาวที่อาจเกิดรวมทั้งความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) และภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ส่วนโรคสมองบาดเจ็บเรื้อรัง (chronic traumatic encephalopathy) เป็นโรคสมองเสื่อมที่แย่ลง ๆ (degenerative disease) หลังจากรับบาดเจ็บที่ศีรษะหลายครั้ง เช่นในนักกีฬา

โรค

โรคประสาทเสื่อม (neurodegenerative disease) จะทำให้สมองส่วนที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ เสียหายขึ้นเรื่อย ๆ และจะแย่ลงตามอายุ ตัวอย่างสามัญรวมภาวะสมองเสื่อมแบบต่าง ๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมเหตุแอลกอฮอล์ ภาวะสมองเสื่อมเหตุหลอดเลือด เป็นต้น, รวมโรคพาร์คินสันกับโรคอื่น ๆ เหตุการติดเชื้อ เหตุกรรมพันธุ์ หรือเหตุเมแทบอลิซึม เช่น โรคฮันติงตัน, โรคเซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron disease), ภาวะสมองเสื่อมเหตุเอชไอวี, ภาวะสมองเสื่อมเหตุซิฟิลิส และ Wilson's disease โรคประสาทเสื่อมอาจมีผลต่อสมองส่วนต่าง ๆ ต่อการเคลื่อนไหว ความจำ และระบบประชาน แม้สมองจะป้องกันด้วยตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง แต่ก็ยังติดเชื้อต่าง ๆ ได้รวมทั้งไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา การติดเชื้ออาจเป็นที่เยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ที่เนื้อสมอง (สมองอักเสบ) หรือภายในเนื้อสมอง (เช่น ฝีในสมอง [cerebral abscess]) โรคที่เชื่อว่าเกิดจากพรีออน (prion disease) ซึ่งมีน้อยรวมทั้งโรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบและโรคที่เป็นรูปแบบย่อยต่าง ๆ หรือโรคคูรุ ก็อาจมีผลต่อสมองด้วย

เนื้องอก

เนื้องอกในสมองอาจเป็นแบบไม่ร้ายหรืออาจเป็นแบบร้าย เนื้องอกร้ายปกติจะกระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกาย มากที่สุดจากปอด จากเต้านม และจากผิวหนัง แต่มะเร็งที่เกิดในสมองก็มีเหมือนกัน โดยเกิดจากเนื้อเยื่อใดก็ได้รอบ ๆ สมอง meningioma เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มสมอง และสามัญกว่ามะเร็งเนื้อเยื่อสมองอื่น ๆ มะเร็งภายในสมองก่ออาการที่สัมพันธ์กับขนาดและตำแหน่ง อาการรวมทั้งปวดหัวคลื่นไส้ หรือก่ออาการโดยเฉพาะ ๆ เป็นปัญหาที่แย่ลงเรื่อย ๆ เช่นการเห็น การกลืน การพูด หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลง มะเร็งโดยทั่วไปจะตรวจด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์และ MRI วิธีการตรวจอื่น ๆ รวมทั้งตรวจเลือด การเจาะน้ำไขสันหลังอาจใช้เพื่อตรวจเหตุของมะเร็ง และประเมินชนิดและระยะของมะเร็ง ยาสเตอรอยด์ คือ เด็กซาเมทาโซนมักให้เพื่อลดอาการบวมของเนื้อเยื่อสมองรอบ ๆ เนื้องอก แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัด แต่เพราะความซับซ้อนของเนื้องอก เพราะระยะหรือชนิดของมะเร็ง แพทย์อาจรักษาด้วยรังสีบำบัด (radiotherapy) หรือเคมีบำบัด

จิตพิการ

จิตพิการ เช่น โรคซึมเศร้า, โรคจิตเภท, โรคอารมณ์สองขั้ว, ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ, โรคสมาธิสั้น, โรคย้ำคิดย้ำทำ, Tourette syndrome และการติด (addiction) รู้แล้วว่าสัมพันธ์กับการทำงานของสมอง การรักษาอาจรวมจิตบำบัด (psychotherapy) การรักษาทางจิตเวช การแก้ปัญหาทางสังคม และการทำงานที่มีความหมายสำหรับตน และ/หรือการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม แต่เหตุที่เป็นมูลฐานและพยากรณ์โรคที่สัมพันธ์กันก็จะต่าง ๆ กันมากในระหว่างบุคคล

โรคลมชัก

การชักเหตุโรคลมชัก (epileptic seizure) เชื่อว่าสัมพันธ์กับการทำงานทางไฟฟ้าของสมองที่ผิดปกติ การชักอาจปรากฏเป็นการหมดสติ เป็นอาการเฉพาะที่ ๆ เช่น การเคลื่อนไหวของแขนขาหรือปัญหาการพูด หรืออาจเป็นการชักแบบทั่ว ๆ ไป ส่วน status epilepticus หมายถึงการชักครั้งเดียวหรือการชักต่อ ๆ กันที่ไม่หยุดภายใน 5 นาที การชักมีเหตุหลายอย่างมาก และหลายอย่างก็ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุได้ ในคนไข้โรคลมชัก ปัจจัยเสี่ยงของการชักอาจรวมการนอนไม่หลับ การกินยาหรือแอลกอฮอล์ และความเครียด การชักอาจตรวจด้วยการตรวจเลือด, EEG และการสร้างภาพทางการแพทย์อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับประวัติคนไข้และสิ่งที่หมอตรวจพบ นอกจากรักษาเหตุที่เป็นมูลและลดการได้รับปัจจัยเสี่ยง ยากันชักอาจช่วยป้องกันการชักต่อ ๆ ไปได้

โรคแต่กำเนิด

โรสมองบางอย่าง เช่น Tay-Sachs disease เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด และเชื่อมกับการกลายพันธุ์ของยีนและโครโมโซม กลุ่มโรคประเภท cephalic disorder ซึ่งมีแต่กำเนิด มีน้อย และเรียกว่า lissencephaly มีอาการคือมีรอยพับในเปลือกสมองไม่พอ พัฒนการของสมองในครรภ์อาจผิดปกติเพราะขาดอาหาร, เพราะสารก่อวิรูป (teratogen), โรคติดต่อ และการใช้ยาเสพติดรวมทั้งแอลกอฮอล์ (ซึ่งอาจก่อ fetal alcohol spectrum disorders)

โรคหลอดเลือดสมอง

ดูบทความหลักที่: โรคหลอดเลือดสมอง
 
ภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของการตกเลือดในสมองแบบ intraparenchymal bleed (ตกเลือดใน parenchyma ดูลูกศรล่าง) กับการบวมน้ำ (edema) รอบ ๆ (ลูกศรบน)

โรคหลอดเลือดสมองมีเหตุจากการขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณสมอง ทำให้เซลล์ตายและทำให้สมองบาดเจ็บ ซึ่งก่ออาการต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งที่ย่อเป็นคำช่วยจำว่า FAST คือ หน้าห้อย (Facial droop), แขนไม่มีแรง (Arm weakness), ปัญหาการพูด (Speech difficulties) รวมทั้งอาการพูดไม่เป็นความ (dysarthria) และภาวะเสียการสื่อภาษา (dysphasia) คือหาคำพูดหรือสร้างประโยคไม่ได้ อาการจะสัมพันธ์กับหน้าที่ของบริเวณสมองที่เกิดปัญหา ดังนั้น จึงอาจบ่งบริเวณที่เป็นเหตุของโรค เช่น ปัญหาการเคลื่อนไหว การพูด หรือการเห็นปกติจะสัมพันธ์กับสมองใหญ่ ส่วนปัญหาเกี่ยวการทรงตัว การเห็นภาพซ้อน อาการรู้สึกหมุน และอาการที่มีผลต่อร่างกายทั้งสองซีก ปกติจะสัมพันธ์กับก้านสมองและสมองน้อย

โรคหลอดเลือดสมองโดยมากเกิดจากขาดเลือด/เส้นเลือดอุดตัน ปกติเพราะมีสิ่งหลุดอุดหลอดเลือด (embolus) ตะกรันท่อเลือดแดงหลุดออก (atheroma) แล้วอุดเส้นเลือด ณ ที่อื่น (เป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือด) หรือเส้นเลือดแดงเล็กตีบ แต่ก็อาจเกิดจากการตกเลือดในสมอง โรคที่อาการหายไปภายใน 24 ชม. เรียกว่า ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA)

วิธีการตรวจรวมทั้งการตรวจร่างกาย (รวมทั้งตรวจประสาท) การซักประวัติคนไข้โดยเน้นช่วงเวลาการเกิดอาการและปัจจัยเสี่ยง (รวมทั้งความดันโลหิตสูง) จังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ (atrial fibrillation) และการสูบบุหรี่ คนไข้ที่อายุน้อยกว่าอาจต้องตรวจมากกว่าการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และ biotelemetry อาจใช้ระบุจังหวะการเต้นหัวใจผิดปกติ (atrial fibrillation) อัลตราซาวนด์อาจใช้ตรวจการตีบของหลอดเลือดแดงแครอทิด การบันทึกภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงอาจใช้หาลิ่มเลือดในหัวใจ, โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หรือช่องหัวใจไม่ปิด (patent foramen ovale) การตรวจเลือดปกติจะทำโดยเป็นส่วนการเก็บประวัติคนไข้ รวมทั้งการตรวจเบาหวาน และการตรวจระดับไขมันในเลือด

วิธีการรักษาโรคบางอย่างต้องทำให้ทันเวลารวมทั้ง

  • การละลายลิ่มเลือด (thrombolysis) หรือการผ่าตัดเอาลิ่มเลือดออก (embolectomy) สำหรับโรคแบบหลอดเลือดอุดตัน (ischaemic stroke)
  • การผ่าตัดลดความกดดันสมอง (decompression) สำหรับโรคแบบตกเลือด (haemorrhagic stroke)

เนื่องจากเวลาเป็นเรื่องวิกฤติสำหรับโรคนี้ ทั้งโรงพยาบาลทั้งหน่วยพยาบาลอื่น ๆ จะตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

  • โดยปกติด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เพื่อตรวจโรคแบบตกเลือด
  • ด้วย computed tomography angiography (CTA) หรือ magnetic resonance angiography (MRA) เพื่อตรวจหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง

ภาพ MRI ซึ่งอาจมีใช้น้อยกว่า อาจแสดงบริเวณสมองที่มีปัญหาได้แม่นยำกว่า โดยเฉพาะโรคแบบหลอดเลือดอุดตัน

คนไข้ที่อาการของโรคเกิดขึ้นแล้ว รพ. อาจรับเข้าหน่วยโรคหลอดเลือดสมอง และการรักษาจะมุ่งการป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคอีกรวมทั้งให้ทานยากันลิ่มเลือด (anticoagulant) เช่น แอสไพรินหรือ clopidogrel, ยาลดความดัน และยาลดไขมันในเส้นเลือด ในบางที่ อาจใช้ทีมผู้รักษาเพื่อสนับสนุนคนไข้และการฟื้นตัว ทีมรวมทั้งผู้บำบัดการพูด นักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา ประวัติการมีโรคจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมราว ๆ 70% และการมีโรคเร็ว ๆ นี้เพิ่มความเสี่ยงราว ๆ 120%

สมองตาย

ดูบทความหลักที่: ภาวะสมองตาย

สมองตายหมายถึงสมองที่ไม่ทำงานโดย "สิ้นเชิง" และฟื้นสภาพไม่ได้ ซึ่งมีอาการเป็นโคม่า การไร้รีเฟล็กซ์ และการหยุดหายใจ (apnea) แต่การระบุว่าคนไข้สมองตายแล้วก็ต่างกันในประเทศต่าง ๆ และยังไม่ได้การยอมรับอย่างทั่วไป บางประเทศยังนิยามภาวะสมองน้อยตาย (brainstem death) ด้วย ถ้าแพทย์ระบุว่าสมองตายก็จะมีผลต่อการรักษาคนไข้โดยหลักการรักษาพยาบาลที่ไร้ประโยชน์ คือมักจะสัมพันธ์กับการเอาเครื่องช่วยให้คนไข้รอดชีวิตได้ออก และคนไข้ที่สมองตายบ่อยครั้งมีอวัยวะที่บริจาคได้ แต่บ่อยครั้งทำได้ยากเพราะสื่อสารกับครอบครัวของคนไข้ได้ไม่ดี

เมื่อหมอสงสัยว่าคนไข้สมองตายแล้ว ก็จะต้องแยกวินิจฉัยอาการหรือโรคที่ฟื้นสภาพได้ เช่น สมองหยุดทำงานเนื่องกับความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ หรือการหยุดการทำงานทางประชานเหตุประสาท (neurological cognitive suppression) หรือเหตุยา การตรวจรีเฟล็กซ์ สามารถช่วยให้ตัดสินได้ การไร้การตอบสนองของคนไข้หรือการหายใจก็เช่นกัน สังเกตการณ์ทางคลินิก รวมทั้งการไร้การตอบสนองโดยสิ้นเชิง วินิจฉัยโรคที่รู้อยู่แล้ว หลักฐานเป็นภาพประสาท ล้วนอาจมีบทบาทให้ตัดสินได้ว่า สมองตายแล้ว

สังคมและวัฒนธรรม

ประสาทมานุษยวิทยา (neuroanthropology) เป็นสาขาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับสมอง เป็นการศึกษาว่าสมองก่อวัฒนธรรมได้อย่างไร และวัฒนธรรมมีผลต่อพัฒนาการของสมองอย่างไร แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของสมองและโครงสร้างสมองก็มีการศึกษาวิจัยในสาขาอื่น ๆ ด้วย

จิตใจตามทัศนะตะวันตก

ดูบทความหลักที่: ประชาน และ จิต
 
กะโหลกศีรษะของชายอเมริกัน ฟิเนียส์ พี. เกจ ซึ่งกะโหลกศีรษะถูกทะลวงด้วยแท่งเหล็กโดยไม่ถึงตาย แต่เปลี่ยนการทำงานทางประชานของสมอง กรณีนี้ช่วยทำให้คนบางส่วนเชื่อว่า การทำงานของจิตใจหรือสภาพจิตใจขึ้นอยู่กับสมอง

จิตปรัชญา (philosophy of mind) ศึกษาประเด็นต่าง ๆ เช่น เรื่องความรู้สึกตัว (consciousness) และปัญหาจิต-กาย (mind-body problem) ความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับจิตใจเป็นเรื่องท้ายทายทั้งในหลักปรัชญาและหลักวิทยาศาสตร์ เพราะอธิบายได้ยากว่า การทำงานทางจิตใจ เช่นความคิดหรืออารมณ์ สามารถเกิดในโครงสร้างทางกายภาพเช่นเซลล์ประสาทและไซแนปส์ หรือแม้แต่กลไกทางกายภาพอื่น ๆ ได้อย่างไร นักปรัชญาชาวเยอรมันก็อทฟรีท ไลบ์นิซ (Gottfried Leibniz ค.ศ. 1646-1716) ได้กล่าวถึงปัญหานี้ในคำอุปมาที่เรียกว่า Leibniz's Mill (โรงสีของไลบ์นิซ)

ใคร ๆ ก็จะต้องยอมรับว่า การรับรู้และสิ่งที่อาศัยมันเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้อาศัยหลักกลศาสตร์ คือโดยรูปและการเคลื่อนไหว

เมื่อจินตนาการว่า มีเครื่องยนตร์ที่วิธีการสร้างมันสามารถทำให้มันคิดได้ รับรู้ทางสัมผัสได้ และเกิดการรับรู้ได้ ก็อาจจินตนาการให้มันใหญ่ขึ้นโดยมีสัดส่วนเหมือนเดิม เพื่อให้เดินเข้าไปดูได้ เหมือนกับเดินเข้าไปในโรงสีลม ถ้าคิดได้เช่นนี้ เมื่อเดินเข้าไปตรวจดูมัน ก็จะพบเพียงแค่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ขับกันและกัน แต่ก็จะไม่พบอะไร ๆ ที่สามารถอธิบายการรับรู้ [ว่าเกิดอย่างไร] ได้— ก็อทฟรีท ไลบ์นิซ - ในผลงาน Monadology (1714)

ความสงสัยว่าจะมีคำอธิบายเชิงกลศาสตร์เกี่ยวกับความคิดได้หรือไม่ ได้ผลักดันให้นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเรอเน เดการ์ต บวกกับนักปรัชญาอื่น ๆ ให้มีแนวคิดแบบทวินิยม (dualism) คือความเชื่อว่า จิตใจในเป็นอิสระจากสมองโดยระดับหนึ่ง แต่ก็มีเหตุผลที่ดีเป็นฝ่ายคัดค้านมาตลอด

มีหลักฐานเชิงประสบการณ์ที่ชัดเจนว่า การจัดแจงทางกายภาพ (เช่นด้วยยา) หรือการบาดเจ็บที่สมอง (เช่นมีรอยโรค) มีผลต่อจิตใจอย่างมีกำลังและลึกซึ้ง ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กรณีของนายฟิเนียส์ พี. เกจ ผู้เป็นคนงานทางรถไฟที่ได้รับบาดเจ็บจากแท่งเหล็กขนาดล่ำ ๆ ที่พุ่งทะลุสมองของเขา ได้ทำให้ทั้งนักวิจัยและคนทั่วไปเชื่อว่า การทำงานทางประชานนั้นเกิดเฉพาะในสมอง

ต่อมาโดยตามแนวคิดนี้ หลักฐานเชิงประสบการณ์จำนวนมากที่แสดงว่า การทำงานของสมองสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการทำงานทางใจ ทำให้นักประสาทวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาปัจจุบันโดยมากเป็นนักวัตถุนิยม คือเชื่อว่า ปรากฏการณ์ทางใจจริง ๆ แล้วเป็นผลของ หรือสามารถลดทอนจนเหลือเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางกายภาพ

ขนาดสมอง

ดูบทความหลักที่: ขนาดสมอง

ขนาดสมองกับระดับเชาวน์ปัญญาของบุคคลไม่สัมพันธ์กันอย่างมีกำลัง งานศึกษามักจะแสดงค่าสหสัมพันธ์ระหว่างปริมาตรสมองกับระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) ในระดับน้อยจนถึงปานกลาง (โดยเฉลี่ยประมาณ 0.3-0.4) ส่วนที่สัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอที่สุดก็คือสมองกลีบหน้า กลีบขมับ กลีบข้าง ฮิปโปแคมปัส และสมองน้อย ถึงกระนั้นก็ยังอธิบายความแปรปรวน (variance) ของระดับไอคิวได้ค่อนข้างน้อย ระดับไอคิวเองก็สัมพันธ์กับระดับเชาวน์ปัญญาทั่วไปและความชาญฉลาดในชีวิตประจำวันจริง ๆ แค่ส่วนหนึ่ง

สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งวาฬและช้างมีสมองใหญ่กว่ามนุษย์ แต่ถ้าคิดค่าตามสัดส่วนร่างกายแล้ว (คืออัตรามวลสมองต่อร่างกาย) สมองมนุษย์จะใหญ่เกือบเป็นสองเท่าเทียบกับโลมาปากขวด เป็นสามเท่าเทียบกับชิมแปนซีธรรมดา อย่างไรก็ดี ค่าที่สูงกว่าก็ไม่ใช่ว่าฉลาดกว่า เพราะสัตว์เล็กมากก็มีค่าที่สูงมาก โดยกระแตมีค่าสูงสุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ในวัฒนธรรมนิยม

 
ผังสรุปบุคลิกภาพตามวิทยาศาสตร์เทียมคือ phrenology (ปี 1883)

งานวิจัยได้พิสูจน์ว่า ความเชื่อความเข้าใจทั่วไปบางอย่างเกี่ยวกับสมองไม่จริง รวมทั้งตำนานที่มีมาตั้งแต่โบราณและที่เกิดในปัจจุบัน เช่น ไม่จริงว่า เซลล์ประสาทจะไม่เปลี่ยนใหม่หลังจากอายุถึงสองขวบ ไม่จริงว่า มนุษย์ใช้สมองเพียงแค่ 10% วัฒนธรรมนิยมยังพูดถึงการแบ่งการทำงานของสมองเป็นซีกซ้ายขวาอย่างง่าย ๆ เกินไป คือระบุว่า หน้าที่บางอย่างเฉพาะเจาะจงต่อสมองข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น นพ. ชาวญี่ปุ่นอากิโอะ มอริ (森 昭雄) ได้บัญญัติคำว่า สมองเกม (game brain) สำหรับทฤษฎีซึ่งไร้หลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า การเล่นเกมเป็นเวลานาน ๆ มีผลเสียหายต่อสมองส่วน prefrontal cortex และต่อการแสดงออกทางอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์

ในประวัติชาวตะวันตก สมองได้ปรากฏในวัฒนธรรมนิยมในเรื่อง phrenology ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์เทียมที่ระบุลักษณะทางบุคลิกภาพว่าจำกัดอยู่ที่ส่วนต่าง ๆ ของเปลือกสมอง เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเปลือกสมองก็ยังปรากฏอย่างสำคัญในวัฒนธรรมนิยมดังที่พบในหนังสือและวรรณกรรมเชิงเสียดสี สมองเป็นส่วนของบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ มีธีมเช่นการผ่าตัดเปลี่ยนสมอง ไซบอร์ก (คือ สัตว์/มนุษย์/หุ่นยนตร์ที่มีองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น สมองเทียม) นิยายวิทยาศาสตร์อเมริกันปี 1942 คือ Donovan's Brain (ซึ่งจัดทำเป็นภาพยนตร์ถึง 3 ครั้ง) เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมองที่เก็บไว้ในหลอดแก้ว ซึ่งค่อย ๆ เข้าไปครอบครองร่างของพระเอกในหนังสือ

พุทธศาสนาเถรวาท

คัมภีร์พุทธศาสนาได้กล่าวถึงสมองไว้หลายเรื่องรวมทั้ง

  • คัมภีร์สมันตปาสาทิกาซึ่งเป็นอรรถกถาของพระวินัยปิฎก กล่าวถึงความเป็นมาของหมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้เป็นแพทย์ประจำของพระพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารไว้ว่า ได้รักษาเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ผู้ป่วยปวดศีรษะอยู่ 7 ปีโดยแพทย์อื่น ๆ ไม่สามารถรักษาได้ และรักษาโดย "เปิดรอยประสานกะโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว" แล้วให้นอนพัก 3 สัปดาห์ ได้ทรัพย์จากเศรษฐี 100,000 กหาปณะ และให้เศรษฐีทูลถวายทรัพย์แด่พระเจ้าพิมพิสารอีก 100,000 กหาปณะ
  • คัมภีร์วิสุทธิมรรคซึ่งจัดเป็นคัมภีร์หลักในเรื่องการปฏิบัติในพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงสมองในส่วนสมาธินิเทศ (อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ) กายคตาสติ เพื่อการพิจารณาให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูลไว้ว่า "คำว่า มตฺถลุงฺคํ - มันในสมอง ได้แก่ เนื้อเยื่ออันตั้งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ มันในสมองนั้น โดยสี ขาวดังสีดอกเห็ด แม้จะกล่าวว่า สีดังนมสดที่ไม่สดแล้ว แต่ยังไม่ถึงเป็นนมส้ม ดังนี้ก็ควร โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส [ที่ตั้งอยู่] โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส อาศัยแนวประสาน ๔ แนว ตั้งรวมกันอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ เหมือนก้อนแป้ง ๔ ก้อน ที่คนวางรวมกันอยู่ โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยพื้นด้านในกะโหลกศีรษะและด้วยส่วนแห่งมันสมอง นี้เป็นสภาคปริจเฉท ส่วนวิสภาคปริจเฉท ก็เป็นเช่นเดียวกับผมนั่นแล"

ประวัติ

สมัยโบราณ

 
ไฮเออโรกลีฟอียิปต์สำหรับ "สมอง" (ราว 1,700 ปีก่อน คศ.)

แผ่นพาไพรัสของเอ็ดวินสมิธ (Edwin Smith Papyrus) เป็นบทความทางการแพทย์เขียนในศตวรรษที่ 17 ก่อน คศ. ซึ่งอ้างอิงสมอง เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบ โดยพบตัวไฮเออโรกลีฟอียิปต์ที่ระบุสมองถึง 8 ครั้ง และกล่าวถึงอาการ วินิจฉัยโรค และพยากรณ์โรคสำหรับการบาดเจ็บสองอย่างที่ศีรษะ แผ่นพาไพรัสกล่าวถึงผิวภายนอกของสมอง ผลของความบาดเจ็บ (รวมการชักและภาวะเสียการสื่อความ) เยื่อหุ้มสมอง และน้ำหล่อสมองไขสันหลัง

ในศตวรรษที่ 5 ก่อน คศ. (ราวพุทธกาล) นักปรัชญาแอลค์มีออนแห่งโครโทน (Alcmaeon of Croton) ในแม็กนากรีเซีย (Magna Grecia) เป็นบุคคลแรกที่พิจารณาสมองว่า เป็นมูลฐานของจิตใจ ในนครเอเธนส์สมัยเดียวกัน ผู้ประพันธ์นิรนามของผลงาน On the Sacred Disease (ในเรื่องโรคศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งเป็นบทความทางการแพทย์โดยเป็นส่วนของผลงาน Hippocratic Corpus และปกติยกเครดิตให้ฮิปพอคราทีส เชื่อว่าสมองเป็นมูลฐานของเชาวน์ปัญญา ส่วนแอริสตอเติล (384-322 ปีก่อน ค.ศ.) ดั้งเดิมเชื่อว่า หัวใจเป็นมูลฐานของเชาวน์ปัญญา และเห็นสมองว่า เป็นกลไกทำเลือดให้เย็นลง เขาให้เหตุผลหนึ่งในบรรดาเหตุผลต่าง ๆ ว่า มนุษย์มีเหตุผลมากกว่าสัตว์ดิรัจฉานเพราะมีสมองใหญ่กว่าเพื่อลดความร้อนแรงของเลือด แอริสตอเติลได้พรรณนาถึงเยื่อหุ้มสมอง และแยกแยะระหว่างสมองใหญ่กับสมองน้อย

แพทย์กรีกโบราณฮิรอฟิลัส (Herophilus) แห่งเมืองแคลซีดอน (Chalcedon) ในทศวรรษที่ 4-3 ก่อน คศ. ได้แยกแยกสมองใหญ่กับสมองน้อย และได้ให้คำพรรณนาของระบบโพรงสมองที่ชัดเจนเป็นคนแรก ส่วนเอเรซิสเทรทัส (Erasistratus 304-250 ปีก่อน ค.ศ.) แห่งเกาะคี (Kea) ได้ทดลองกับสมองที่ยังเป็นอยู่ แต่ผลงานของเขาก็ไม่เหลืออยู่ในปัจจุบัน มีแต่วรรณกรรมอื่น ๆ ที่กล่าวถึง สิ่งที่คนโบราณเหล่านี้ค้นพบ ต้องมาค้นพบใหม่อีกเป็นพันปีหลังจากพวกเขาเสียชีวิต แพทย์นักกายวิภาคชาวกรีกเกเลนในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ช่วงจักรวรรดิโรมันได้ผ่าตัดสมองของแกะ ลิง สุนัข และหมู แล้วสรุปว่า เพราะสมองน้อยหนาแน่นกว่าสมอง มันต้องควบคุมกล้ามเนื้อ และเพราะสมองใหญ่อ่อน จึงต้องเป็นส่วนที่แปลผลประสาทสัมผัส แล้วตั้งทฤษฎีเพิ่มว่า สมองทำงานอาศัยวิญญาณสัตว์ที่เคลื่อนที่ไปมาในโพรงสมอง

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

ในปี 1316 ผลงานของแพทย์ชาวอิตาลีมอนดีโน เดอ ลูซซี่ คือ Anathomia ได้เริ่มการศึกษาทางกายวิภาคปัจจุบันของสมอง นักกายวิภาคชาวอิตาลีนิคอลอ มาซซา (Niccolò Massa) พบในปี 1536 ว่า โพรงสมองมีน้ำเต็ม แพทย์นักกายวิภาคชาวอิตาลีอาคแอนเจโล พิคคอลอมินี (Archangelo Piccolomini) แห่งโรมเป็นบุคคลแรกที่แยกแยะสมองใหญ่กับเปลือกสมอง ในปี 1543 แพทย์นักกายวิภาคชาวเฟลมิชแอนเดรียส เวซาเลียส ได้พิมพ์ผลงาน 7 เล่มมีชื่อว่า De humani corporis fabrica (เรื่องโครงสร้างร่างกายมนุษย์) เล่มที่ 7 เป็นเรื่องสมองและตา มีภาพรายละเอียดของโพรงสมอง ประสาทสมอง ต่อมใต้สมอง เยื่อหุ้มสมอง โครงสร้างตา เส้นเลือดที่เลี้ยงสมองและไขสันหลัง และเส้นประสาทนอกส่วนกลาง เขาปฏิเสธความเชื่อทั่วไปว่า โพรงสมองทำหน้าที่ของสมอง โดยอ้างว่า สัตว์หลายอย่างมีระบบโพรงสมองคล้ายมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้มีปัญญาจริง ๆ

เรอเน เดการ์ตเสนอทฤษฏีทวินิยม (dualism) เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับจิตใจ และเสนอว่า ต่อมใต้สมองเป็นที่ที่จิตใจมีปฏิสัมพันธ์กับกาย ทฤษฎีนี้น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักกายวิภาคต่อ ๆ มาพยายามศึกษาความสัมพันธ์ทางกายวิภาคกับทางหน้าที่ของสมองส่วนต่าง ๆ

แพทย์ชาวอังกฤษโทมัส วิลลิส ถือว่า เป็นผู้บุกเบิกคนที่สองในงานศึกษาประสาทวิทยาและวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมอง ในงาน Cerebri Anatome (กายวิภาคของสมอง) ปี 1664 ตามด้วย Cerebral Pathology (พยาธิวิทยาในสมอง) ปี 1667 หมอได้พรรณนาถึงโครงสร้างของสมองน้อย โพรงสมอง ซีกสมองทั้งสอง ก้านสมอง ประสาทสมอง ได้กล่าวถึงเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง และได้เสนอหน้าที่ที่สัมพันธ์กับบริเวณต่าง ๆ ในสมอง โครงสร้างหลอดเลือดที่เรียกว่า circle of Willis ตั้งชื่อตามหมอหลังจากที่เขาตรวจสอบการส่งเลือดไปเลี้ยงในสมอง เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า neurology (ประสาทวิทยา) หมอเอาสมองออกจากร่างเพื่อตรวจสอบ และปฏิเสธทัศนคติที่ทั่วไปว่า เปลือกสมองมีแต่หลอดเลือด และทัศนคติที่สืบมาตั้งสองพันปีว่า เปลือกสมองไม่ค่อยสำคัญ

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820 แพทย์นักสรีรวิทยาชาวฝรั่งเศส Jean Pierre Flourens ได้บุกเบิกใช้วิธีการทดลองที่ทำลายสมองส่วนโดยเฉพาะ ๆ ของสัตว์แล้วระบุผลต่อการเคลื่อนไหวและพฤติกรรม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แพทย์นักสรีรวิทยาชาวเยอรมัน Emil du Bois-Reymond และแฮร์มัน ฟ็อน เฮ็ล์มฮ็อลทซ์ ดำเนินรอยตามครูของพวกเขาคือ Johannes Peter Müller และได้แสดงว่า กระแสประสาทวิ่งไปตามเส้นประสาท แต่ไม่ได้ถือตามว่า กระแสประสาทเช่นนี้สามารถมองเห็นได้ ในปี 1875 แพทย์ชาวอังกฤษริชาร์ด เคทอน (Richard Caton) ได้แสดงว่า มีกระแสประสาทในซีกสมองของกระต่ายและลิง

ภาพวาดของฐานสมอง จากผลงาน De humani corporis fabrica ปี 1543 ของแอนเดรียส เวซาเลียส
ภาพร่างกะโหลกมนุษย์ภาพหนึ่งของเลโอนาร์โด ดา วินชี

สมัยปัจจุบัน

ฮิปโปแคมปัสของกระต่ายเป็นภาพตัดในแนวตั้ง จากผลงาน Sulla fina anatomia degli organi centrali del sistema nervoso ปี 1885 ของคามีลโล กอลจี
ภาพเซลล์ในสมองน้อยของลูกไก่ จากผลงาน Estructura de los centros nerviosos de las aves ปี 1905 ของซานเตียโก รามอน อี กาฆัล

การศึกษาสมองได้ก้าวหน้าขึ้นโดยใช้กล้องจุลทรรศน์และการย้อมสีเงิน (silver stain) ที่พัฒนาขึ้นโดยแพทย์ชาวอิตาลีคามีลโล กอลจี (Camillo Golgi) ซึ่งสามารถแสดงโครงสร้างละเอียดของเซลล์ประสาทเซลล์เดียว ซึ่งต่อมาแพทย์นักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวสเปนซานเตียโก รามอน อี กาฆัล ได้ใช้แล้วตั้งหลักเซลล์ประสาท (neuron doctrine) ซึ่งสมัยนั้นเป็นสมมติฐานพลิกแผ่นดินว่า เซลล์ประสาทเป็นหน่วยปฏิบัติงานพื้นฐานของสมอง เขาใช้กล้องจุลทรรศน์แล้วค้นพบเซลล์ต่าง ๆ หลายอย่าง แล้วเสนอหน้าที่ของเซลล์ที่เห็น เพราะเหตุนี้ นพ. กอลจี และ นพ. รามอน อี กาฆัลจึงถือว่าเป็นบิดาแห่งประสาทวิทยาศาสตร์ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อมาทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันในปี 1906 สำหรับงานศึกษาและสิ่งที่ค้นพบในสาขานี้

ในปี 1906 แพทย์นักประสาทสรีรวิทยาชาวอังกฤษเซอร์ ชาลส์ เชอร์ริงตัน (Charles Scott Sherrington) ได้ตีพิมพ์ผลงานทรงอิทธิพลคือ The Integrative Action of the Nervous System (การทำงานประสานของระบบประสาท) ซึ่งตรวจสอบหน้าที่ของรีเฟล็กซ์, พัฒนาการทางวิวัฒนาการของระบบประสาท, การแยกทำหน้าที่ของสมอง, การจัดระเบียบและการทำหน้าที่ในระดับเซลล์ของระบบประสาทกลาง ส่วนนักประสาทสรีรวิทยาชาวอเมริกันจอนห์ ฟุลตัน (John Farquhar Fulton) ได้ตั้งวารสาร Journal of Neurophysiology (วารสารประสาทสรีรวิทยา) และได้ตีพิมพ์ตำราสรีรภาพของระบบประสาทที่ครอบคลุมเป็นเล่มแรกในปี 1938

ประสาทวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษนี้ก็ได้กลายเป็นสาขาการศึกษาต่างหากอาศัยบุคคลสำคัญหลายคน นักประสาทกายวิภาคชาวอเมริกันเดวิด รีอ็อก (David Rioch) ได้เริ่มรวมงานวิจัยทางกายวิภาคและสรีรภาพพื้นฐานกับการตรวจรักษาทางจิตเวช ณ สถาบันวิจัยทหารบกวอลเตอร์รีด (WRAIR) เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 ในสมัยเดียวกันนักชีววิทยาชาวอเมริกันฟรานซิส ชมิทต์ (Francis O. Schmitt) ได้ตั้งโปรแกรมวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience Research Program) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างมหาวิทยาลัยและระหว่างนานาชาติที่ศึกษาชีววิทยา เวชศาสตร์ จิตวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ร่วมกัน คำว่า ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) เริ่มมาจากโปรแกรมนี้

แพทย์นักกายวิภาคชาวฝรั่งเศสพอล โบรคา (Paul Broca) ได้สัมพันธ์บริเวณสมองกับหน้าที่จำเฉพาะ ๆ โดยเฉพาะที่บริเวณโบรคา (Broca's area) โดยอาศัยงานที่ทำกับคนไข้สมองเสียหาย นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษจอห์น แจ็กสัน (John Hughlings Jackson) ได้พรรณนาถึงหน้าที่ของเปลือกสมองส่วนสั่งการ (motor cortex) โดยเฝ้าดูการดำเนินของการชักเหตุโรคลมชักที่กระจายไปทั่วร่างกาย ส่วนแพทย์นักกายวิภาคชาวเยอรมันคาร์ล แวร์นิเก (Carl Wernicke) ได้พรรณนาบริเวณแวร์นิเก (Wernicke's area) ที่สัมพันธ์กับการเข้าใจภาษาและการก่อสร้างภาษาในสมอง นักประสาทวิทยาชาวเยอรมันคอร์บิเนียน บรอดมันน์ (Korbinian Brodmann) ได้แบ่งสมองออกเป็นส่วนต่าง ๆ อาศัยรูปปรากฏของเซลล์

ไม่เกินปี 1950 เชอร์ริงตัน, นักประสาทสรีรวิทยาชายอเมริกันเจมส์ เพเพซ (James Papez) และแพทย์นักประสาทวิทยาศาสตร์พอล แม็กลีน (Paul D. MacLean) ก็ได้ระบุหน้าที่ของก้านสมองและระบบลิมบิกหลายอย่าง ส่วนสมรรถภาพของสมองในการจัดระเบียบใหม่และการเปลี่ยนแปลงตามอายุ และการมีระยะพัฒนาการวิกฤติ (critical development period) มาจากการศึกษาประเด็นสภาพพลาสติกของประสาท (neuroplasticity) ซึ่งมีผู้บุกเบิกคือนักประสาทวิทยาชาวอมริกันมากาเร็ต เค็นนาร์ด (Margaret Kennard) ผู้ได้ทดลองกับลิงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930-40

แพทย์ชาวอเมริกันคือฮาร์วีย์ คุชชิง (1869-1939) ได้การยอมรับว่า เป็นประสาทศัลยแพทย์ที่ชำนาญเป็นคนแรกในโลก ในปี 1937 ประสาทศัลยแพทย์วอลเตอร์ แดนดี้ (Walter Dandy) ได้เริ่มทำประสาทศัลยกรรมที่เส้นเลือดโดยได้ตัดหลอดเลือดป่องโพงในกะโหลก (intracranial aneurysm) ออกเป็นรายแรก

กายวิภาคเปรียบเทียบ

สมองมนุษย์มีลักษณะหลายประการที่ทั่วไปกับสมองของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด และหลายอย่างก็ทั่วไปกับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วย ที่เด่นสุดก็คือเปลือกสมองที่มี 6 ชั้นและโครงสร้างที่สัมพันธ์กัน รวมทั้ง ฮิปโปแคมปัสและอะมิกดะลา แต่เปลือกสมองของมนุษย์โดยสัดส่วนก็จะใหญ่กว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นหลายอย่าง มนุษย์มีเปลือกสมองส่วนสัมพันธ์ โครงสร้างของประสาทสัมผัส และโครงสร้างของประสาทสั่งการ มากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยที่เล็กกว่า เช่นหนูและแมว

โดยเป็นสมองของไพรเมต สมองมนุษย์มีขนาดเปลือกสมอง เมื่อเทียบสัดส่วนกับขนาดร่างกาย ที่ใหญ่กว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ โดยมาก และมีระบบการเห็นที่พัฒนาขึ้นเป็นอย่างดี

โดยเป็นสมองของวงศ์ลิงใหญ่ สมองมนุษย์ใหญ่กว่ามากแม้เทียบกับสมองของลิงทั่วไป สมองมนุษย์ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับวิวัฒนาการของมนุษย์จาก Australopithecus (4 ล้านปีก่อน) จนมาเป็น Homo sapiens ในปัจจุบัน เมื่อสมองใหญ่ขึ้น ขนาดและรูปร่างของกะโหลกศีกษะก็เปลี่ยนไปด้วย จากการมีปริมาตรราว 600 ซีซีใน Homo habilis จนมากโดยเฉลี่ยราว 1,520 ซีซีใน Homo neanderthalensis ความแตกต่างกันของดีเอ็นเอ การแสดงออกของยีน และปฏิสัมพันธ์ระหว่ายีนกับสิ่งแวดล้อม อาจช่วยอธิบายความแตกต่างระหว่างหน้าที่ของสมองมนุษย์กับของไพรเมตอื่น ๆ

เปลือกสมองของนกและสัตว์เลื้อยคลานไม่มีรอยพับ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีระดับการพับ (วัดค่าเป็น Gyrification index) ในสมองไม่เท่ากัน สัตว์ที่ใหญ่กว่ามักจะมีระดับสูงกว่า โลมามหาสมุทรสกุล Globicephala (Pilot whale) และโลมาปากขวดมีระดับสูงสุด มนุษย์มีระดับเดียวกันกับม้าแม้สมองมนุษย์จะใหญ่กว่า สัตว์ฟันแทะ (เช่นหนู) โดยมากมีระดับต่ำสุด คือเปลือกสมองโดยมากเรียบ

เชิงอรรถ

  1. internal jugular vein เป็นเส้นหลอดเลือดดำคอ (jugular vein) เป็นคู่ที่รวบรวมเลือดจากสมองและส่วนผิว ๆ ของใบหน้าและคอ เส้นเลือดอยู่ใน carotid sheath (เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มหลอดเลือดที่คอ) โดยอยู่รวมกันกับ common carotid artery และเส้นประสาทเวกัส
  2. การควบคุมตนเอง (self-control) เป็นส่วนของการยับยั้งตนเอง (inhibitory control หรือการยับยั้งการตอบสนอง [response inhibition]) เป็นสมรรถภาพในการควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเมื่อเผชิญหน้ากับเครื่องล่อใจและอารมณ์ชั่ววูบ เป็นส่วนหนึ่งของ executive function เป็นกระบวนการทางประชานที่จำเป็นในการควบคุมตัวเองเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ
  3. การเฟ้นหานัยทางนามธรรม (abstraction) โดยหลักหมายถึงกระบวนการทางความคิดที่สกัดเอาหลักและแนวคิดแบบทั่วไป โดยอาศัยตัวอย่างหรือกลุ่มตัวอย่างโดยเฉพาะ ๆ หรืออาศัยวัตถุหรือบุคคลสำคัญ หรืออาศัยศัยหลักปฐมธาตุ (first principle) หรืออาศัยวิธีอื่น ๆ
  4. สมรรถภาพการแปรรูปนานามิติ (visual-spatial ability หรือ spatial visualization ability) เป็นสมรรถภาพในการแปรรูป 2-3-4 มิติ ในใจ ปกติวัดด้วยข้อทดสอบทางประชานง่าย ๆ ซึ่งใช้พยากรณ์ประสิทธิภาพของบุคคลในการใช้ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้บางอย่าง
  5. โครงสร้างของ basal forebrain อยู่ข้างหน้าด้านใต้ของ striatum รวมทั้ง nucleus accumbens, nucleus basalis, diagonal band of Broca, substantia innominata และ medial septal nucleus โครงสร้างเหล่านี้สำคัญเพราะผลิต acetylcholine (ACh) ซึ่งกระจายไปทั่วสมอง โดยจัดเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ผลิต ACh (คือเป็นระบบประสาทแบบ cholinergic) ของระบบประสาทกลาง
  6. circumventricular organs (CVOs) เป็นโครงสร้างต่าง ๆ ในสมองที่มีเส้นเลือดมากมายแต่ไม่มีตัวกั้นระหว่างเลือดกับสมอง (BBB) ตามปกติ CVO เชื่อมระบบประสาทกลางกับระบบไหลเวียนทั่วไป และยังเป็นส่วนสำคัญของระบบประสาทร่วมต่อมไร้ท่อ (neuroendocrine) ด้วย การไร้ BBB ทำให้ CVO สามารถเป็นทางผ่านของเพปไทด์และฮอร์โมนจากเนื้อเยื่อประสาทให้เข้าไปในระบบเลือดทั่วไป ในขณะที่ยังป้องกันสมองจากสารพิษต่าง ๆ
  7. ในระบบประสาทกลาง ช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ (subarachnoid space) เป็นช่องระหว่างเยื่ออะแร็กนอยด์กับเยื่อเพีย
  8. subarachnoid cistern เป็นช่องต่าง ๆ ที่เปิดกว้างขึ้นเนื่องกับการแยกจากกันของเยื่ออะแร็กนอยด์กับเยื่อเพียโดยสืบต่อกับช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์ (subarachnoid space) ภายในสมอง ช่องคือ cistern เหล่านี้มีน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid)
  9. ระดับความไม่สมมาตรกันระหว่างสมองซีกซ้ายขวาเป็นเรื่องน่าสนใจต่อนักประสาทชีววิทยาบรรพกาล เพราะมันเชื่อมกับการถนัดมือซ้ายขวา หรือกับพัฒนาการทางภาษาในบุคคลที่เป็นตัวอย่างนั้น ๆ (ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์โบราณหรือมนุษย์ปัจจุบัน) ความไม่สมมาตรเกิดเพราะการทำหน้าที่เฉพาะของสมองซีกนั้น ๆ และสามารถเห็นได้ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ความไม่เท่ากันของซีกสมองทั้งสอง ซึ่งเรียกว่า petalia เกิดเมื่อสมองซีกหนึ่งกว้างกว่าหรือยื่นออกมากกว่าซีกตรงข้าม เช่น คนถนัดมือขวาปกติจะมีสมองกลีบท้ายทอยซีกซ้ายและสมองกลีบหน้าซีกขวาที่ใหญ่กว่าซีกตรงข้าม petalia ยังเกิดเนื่องเพราะศูนย์ภาษาที่อยู่ในซีกสมองกลีบหน้าโดยเฉพาะ ๆ ของมนุษย์ปัจจุบัน petalia ในสมองกลีบท้ายทอยจะตรวจจับได้ง่ายกว่าสมองกลีบหน้า
  10. clivus (เป็นคำละตินแปลว่า พื้นลาดเอียง) เป็นกระดูกส่วนหนึ่งที่ฐานกะโหลกศีรษะ เป็นแอ่งตื้น ๆ หลัง dorsum sellæ ที่เอียงลงไปจาก dorsum sellæ ไปยังฟอราเมนแมกนัม
  11. คือ เส้นประสาทกล้ามเนื้อตา เส้นประสาททรอเคลียร์ (trochlear nerve) เส้นประสาทไทรเจมินัล เส้นประสาทแอบดิวเซนต์ (abducens nerve) เส้นประสาทเฟเชียล เส้นประสาทหู (vestibulocochlear nerve) เส้นประสาทลิ้นคอหอย (glossopharyngeal nerve) เส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) เส้นประสาทแอกเซสซอรี (accessory nerve) และเส้นประสาทกล้ามเนื้อลิ้น (hypoglossal nerve)
  12. Bergmann glia (หรือ epithelial cells, Golgi epithelial cells, radial astrocytes) เป็นแอสโทรไซต์มีขั้วเดียว เป็น radial glia แบบอนุพัทธ์ สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเซลล์เพอร์คินจีในสมองน้อย เพราะดูเหมือนจะคงยืนในสมองน้อยและมีหน้าที่คล้ายกับแอสโทรไซต์จึงยังได้เรียกได้ว่า แอสโทรไซต์พิเศษ เซลล์มีส่วนยื่นเป็นรัศมี (radial) ผ่านเยื่อของเปลือกสมองไปยุติที่ผิวเยื่อเพียเป็นปลายรูปกระเปาะ เซลล์ช่วยในการย้ายที่ของ granule cell คือนำทางเซลล์ประสาทเล็ก ๆ จากชั้นนอกคือ external granular layer ของเปลือกสมองน้อยไปยังชั้น internal granular layer ด้วยส่วนยื่นเป็นรัศมีที่มีอย่างมากมายของมัน นอกจากหน้าที่ในช่วงพัฒนาการของสมองน้อยในระยะต้น ๆ เซลล์ยังจำเป็นในกระบวนการ synaptic pruning ถ้าเซลล์เพอร์คินจีตายเพราะระบบประสาทกลางบาดเจ็บ เซลล์จะขยายจำนวนเพื่อทดแทนเนื้อเยื่อที่เสียหาย เป็นกระบวนการที่เรียกว่า gliosis
  13. ependymal cell เป็นเซลล์ที่ไม่ใช่เซลล์ประสาทในระบบประสาทกลางซึ่งประกอบกันเป็น ependyma และช่วยการไหลเวียนของน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid)
  14. tanycyte เป็น ependymal cell พิเศษที่พบในโพรงสมองที่สามในสมอง และที่พื้นของโพรงสมองที่สี่ มีส่วนยื่นเข้าไปลึกในไฮโปทาลามัส เป็นไปได้ว่าหน้าที่ของมันก็คือเพื่อส่งต่อสัญญาณเคมีจากน้ำหล่อสมองไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) เข้าไปยังระบบประสาทกลาง
  15. radial glial cell เป็นเซลล์มีสองขั้วที่กระจายไปตามกว้างของเปลือกสมองในระบบประสาทกลางของตัวอ่อนสัตว์มีกระดูกสันหลังที่กำลังพัฒนา ทำหน้าที่เป็น primary progenitor cell (เซลล์ต้นกำเนิด) ที่สามารถกลายเป็นเซลล์ประสาท แอสโทรไซต์ และโอลิโกเดนโดรไซต์
  16. microglia เป็นเซลล์เกลียชนิดหนึ่งที่พบทั่วสมองและไขสันหลัง เป็นเซลล์ 10-15% ที่พบในสมอง เพราะเป็นเซลล์มาโครฟาจ (macrophage) จึงมีหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในระบบประสาทกลาง
  17. เซลล์รูปดาว (stellate cell) เป็นเซลล์อะไรก็ได้ที่มีรูปคล้ายดาวเพราะเดนไดรต์ที่ยื่นออกจากตัวเซลล์ ซึ่งพบได้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  18. เซลล์ปฏิบัติงาน (effector cell) เป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ ที่ตอบสนองอย่างแอ๊กถีฟต่อสิ่งเร้าโดยทำให้เกิดผลอะไรบางอย่าง
  19. การส่งสัญญาณทางเคมีชีวภาพระหว่างทางเดินอาหารกับระบบประสาทกลางที่เรียกสั้น ๆ ว่า brain-gut axis
  20. ในบรรดาน้ำทั้งหมดในร่างกาย transcellular fluid (น้ำผ่านเซลล์) เป็นส่วนซึ่งอยู่ในช่องที่บุด้วยเนื้อเยื่อบุผิว เป็นส่วนน้อยสุดของน้ำนอกเซลล์ (extracellular fluid) ซึ่งรวมพลาสมาและสารน้ำแทรก มันมักจะไม่นับรวมเป็นส่วนของน้ำนอกเซลล์ แต่ก็อยู่ที่ประมาณ 2.5% ของน้ำร่างกายทั้งหมด หรือ 5% ของน้ำนอกเซลล์ น้ำประเภทนี้รวมน้ำหล่อสมองไขสันหลัง, ocular fluid และไขข้อ
  21. ช่องกลาง (central canal, ependymal canal) เป็นช่องมีน้ำหล่อสมองไขสันหลังที่วิ่งตามยาวตลอดไขสันหลังทั้งหมด โดยเชื่อมกับระบบโพรงสมอง
  22. ชื่อว่า glymphatic system บัญญัติขึ้นเพื่อให้รู้ว่ามันอาศัยเซลล์เกลียโดยมีหน้าที่คล้ายกับระบบน้ำเหลืองนอกประสาทส่วนกลาง
  23. หลอดน้ำเหลืองในเยื่อสมอง (meningeal lymphatic vessel หรือ meningeal lymphatic) เป็นเครือข่ายหลอดน้ำเหลืองธรรมดาที่ค้นพบในปี 2014 อยู่ขนานกับ dural sinus และหลอดเลือดในเยื่อสมอง (meningeal arteries) ในระบบประสาทกลาง (CNS) ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นส่วนของระบบน้ำเหลือง มีหน้าที่ระบายเซลล์ภูมิคุ้มกัน โมเลกุลเล็ก ๆ และน้ำที่มีมากเกินจาก CNS เข้าไปในปุ่มน้ำเหลืองลึกที่คอ
  24. โพรงหลอดเลือดดำในเยื่อดูรา (dural venous sinuse หรือ dural sinus หรือ cerebral sinus หรือ cranial sinus) เป็นโพรงหลอดเลือดดำ (venous channel) ที่พบในระหว่างชั้น endosteal layer กับชั้น meningeal layer ของเยื่อดูราในสมอง
  25. หลอดเลือดแดง internal carotid artery เป็นหลอดเลือดแดงหลักอย่างหนึ่ง มีเป็นคู่ แต่ละเส้นอยู่ที่ข้างคอและศีรษะมนุษย์ เกิดจากหลอดเลือดแดง common carotid artery ซึ่งแยกออกเป็นสองสาขาคือ internal carotid artery และ external carotid artery ที่ลำกระดูกไขสันหลังระดับ 3 หรือ 4 (ที่คอ) internal carotid artery ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง เทียบกับ external carotid artery ซึ่งส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ของศีรษะ เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ กะโหลกศีรษะ และเยื่อหุ้มสมอง
  26. ช่อง interpeduncular cistern โอบล้อม cerebral peduncle และโครงสร้างที่อยู่ใน interpeduncular fossa และมีโครงสร้างหลอดเลือดคือ circle of Willis และประสาทกล้ามเนื้อตา (CN3)
  27. ช่องแครอทิด (carotid canal) เป็นทางผ่านเข้าไปในกระดูกขมับ เป็นทางที่ internal carotid artery เข้าไปใน middle cranial fossa จากคอ ช่องเริ่มที่ผิวด้านล่างของกระดูกขมับเป็นทางเข้าจากด้านนอก
  28. กระดูกคอ (cervical vertebrae) มี ช่องตามขวาง (transverse foramina) เพื่อให้ vertebral artery ผ่านไปถึงช่องฟอราเมนแมกนัมแล้วเข้าไปสุดที่ circle of Willis ได้ นี่เป็นกระดูกคอที่เล็กสุด เบาสุด โดยช่องตามขวางมีรูปสามเหลี่ยม
  29. ในสมองมนุษย์ superior cerebellar peduncle (หรือ brachium conjunctivum) เป็นคู่โครงสร้างของเนื้อขาวที่เชื่อมสมองน้อยกับสมองส่วนกลาง
  30. cerebellar tentorium จากภาษาละตินว่า tentorium cerebelli ซึ่งแปลว่า เต็นท์ของสมองน้อย เป็นส่วนยืดของเยื่อดูราที่แยกสมองน้อยจากส่วนล่าง (inferior) ของสมองกลีบท้ายทอย
  31. superior cerebral vein หรือ exterior cerebral vein
  32. ที่เรียกว่า anastomosing veins
  33. confluence of sinuses หรือ torcular herophili หรือ torcula เป็นจุดรวมโพรงเลือดคือ superior sagittal sinus, straight sinus และ occipital sinus จุดนี้อยู่ที่ปุ่มของท้ายทอย (occipital protuberance)
  34. pericyte เป็นเซลล์หดเกร็งได้ (contractile cell) ซึ่งพันรอบเซลล์เอนโดทีเลียมที่บุหลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดดำเล็กทั่วร่างกาย
  35. area postrema เป็นโครงสร้างในก้านสมองส่วนท้ายซึ่งควบคุมการอาเจียน
  36. ตั้วกั้นระหว่างเลือดกับน้ำหล่อสมองไขสันหลัง ก็คือ ข่ายหลอดเลือดสมอง (choroid plexus)
  37. neural crest cell เป็นกลุ่มเซลล์ชั่วคราวที่มีเฉพาะสัตว์มีกระดูกสันหลัง เกิดจากชั้นเซลล์เอ็กโทเดิร์มในตัวอ่อน เป็นตัวก่อเซลล์ประเภทต่าง ๆ รวมทั้ง melanocyte, กระดูกอ่อนและกระดูกของกะโหลกและใบหน้า, กล้ามเนื้อเรียบ, เซลล์ประสาทนอกส่วนกลาง, เซลล์ประสาทในลำไส้ และเซลล์เกลีย
  38. encephalization เป็นกระบวนการทางวิวัฒนาการที่ทำให้สมองใหญ่กว่าที่คาดไว้สำหรับสัตว์สปีชีส์หนึ่ง ๆ (เช่น มนุษย์)
  39. medullary pyramid (พิระมิดของเมดัลลา) เป็นโครงสร้างเนื้อขาวเป็นคู่ของก้านสมองส่วนท้ายที่มีเส้นใยประสาทสั่งการของ corticospinal tract และ corticobulbar tract โดยรวมเรียกว่า pyramidal tract ขอบล่างของพิระมิดจะกำหนดด้วยเส้นใยประสาทที่ข้ามไขว้ทแยง (decussate)
  40. จังหวะอัลตราเดียน (ultradian rhythm) คือจังหวะการทำงานของร่างกายที่มีวัฏจักรน้อยกว่า 24 ชม.
  41. motivational salience (ความเด่นทางแรงจูงใจ) เป็นกระบวนการทางประชานและรูปแบบการใส่ใจอย่างหนึ่งที่ให้แรงจูงใจ หรือผลักดัน ให้บุคคลมีพฤติกรรมเข้าหาหรือหนีจากวัตถุ/บุคคล เหตุการณ์ หรือผลโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง motivational salience ควบคุมความรุนแรงของพฤติกรรมที่ช่วยให้ถึงเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างหนึ่ง ควบคุมเวลาและพลังงานที่บุคคลพร้อมจะอุทิศให้เพื่อให้ถึงเป้าหมาย และควบคุมความเสี่ยงที่บุคคลยอมรับเมื่อทำการให้ถึงเป้าหมาย
  42. การยับยั้งทางประชาน (cognitive inhibition) หมายถึงสมรรถภาพทางใจในการไม่ใส่ใจสิ่งเร้าที่ไม่สำคัญต่องานที่กำลังทำอยู่ หรือต่อสภาพทางจิตใจที่มีอยู่ ซึ่งทำได้แบบสิ้นเชิงหรือแบบเป็นบางส่วน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่
  43. task switching หรือ set-shifting เป็น executive function ในการเปลี่ยนการใส่ใจระหว่างงานต่าง ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ เทียบกับ cognitive shifting ที่ทำการคล้ายกันแต่ทำโดยตั้งใจ หน้าที่สองอย่างนี้เป็นประเภทย่อยของแนวคิดในเรื่องความยืดหยุ่นได้ทางประชาน (cognitive flexibility)
  44. การยับยั้งการตอบสนอง (response inihibition หรือ inhibitory control) เป็นกระบวนการทางประชานที่ทำให้บุคคลสามารถยับยั้งอารมณ์ชั่ววูบและการตอบสนองตามธรรมชาติหรือตามนิสัยต่อสิ่งเร้า (ที่เรียกว่า prepotent response) เพื่อเลือกพฤติกรรมที่สมควรกว่า และสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ เช่น การห้ามใจการตอบสนองตามธรรมชาติเพื่อจะกินขนมเค้กเมื่อกำลังอยากจำเป็นต้องใช้กระบวนการนี้
  45. เครือข่ายภาวะโดยปริยาย (default mode network) เป็นเครือข่ายเซลล์ประสาทในสมองที่ทำงานเมื่อบุคคลไม่ได้ใส่ใจในสิ่งเร้าภายนอกอื่น ๆ ซึ่งเห็นได้ดีที่สุดเมื่อบุคคลกำลังพักธรรมดา ๆ ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ และเห็นน้อยที่สุดเมื่อต้องตั้งสมาธิกับสิ่งเร้าภายนอก แต่เครือข่ายก็ยังทำงานด้วยเมื่อทำกิจในใจ (โดยเฉพาะเมื่อพินิจพิจารณาสิ่งที่อยู่ในใจ) รวมทั้งการระลึกถึงความจำอาศัยเหตุการณ์ นึกถึงอนาคต และการมองในแง่มุมของผู้อื่น แม้นักวิชาการจะยอมรับว่ามีเครือข่ายนี้ และเห็นพ้องด้วยกันว่า แกนเครือข่ายอยู่ที่ไหน (เช่น medial prefrontal cortex, posterior cingulate cortex, angular gyrus, precuneus และ middle frontal gyrus เป็นต้น) แต่หน้าที่และระบบย่อยของมันก็ยังศึกษาอยู่ โดยมีนักวิชาการที่เสนอว่า การพินิจพิจารณาเกี่ยวกับตนเองแบบไม่จำกัดอาจเป็นภาวะทางจิตใจโดยปริยายเมื่อบุคคลไม่ได้ทำอะไร
  46. อวัยวะเทียมคล้ายสมอง (cerebral organoid) เป็นอวัยวะรูปย่อคล้ายสมองที่เลี้ยงขึ้นในหลอดแก้ว โดยเลี้ยง pluripotent stem cell (เซลล์ต้นกำเนิดที่กลายเป็นเซลล์ได้หลายชนิด) เป็นเวลาหลายเดือนใน bioreactor ที่หมุนได้เชิงสามมิติ สมองมนุษย์เป็นระบบที่ซับซ้อนมากประกอบด้วยเนื้อเยื่อวิวิธพันธุ์ เป็นชุดเซลล์ประสาทที่ต่าง ๆ กันมากมาย ความซับซ้อนเช่นนี้ทำให้การศึกษาและเข้าใจสมองเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับโรคประสาทเสื่อม (neurodegenerative disease) ดังนั้น จุดหมายของการสร้างแบบจำลองประสาทในหลอดแก้วก็เพื่อศึกษาโรคเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมที่ง่าย ๆ กว่า โดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนกับสมองเป็น ๆ โดยเฉพาะเมื่อทำกับมนุษย์ สรีรภาพที่ต่างกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้เป็นตัวแบบอื่น ๆ มักจำกัดขอบเขตของงานศึกษาเกี่ยวกับโรคทางประสาท (neurological disorder) อวัยวะเทียมคล้ายสมองเป็นเนื้อเยื่อสังเคราะห์ที่มีเซลล์ประสาทหลายชนิดและมีลักษณะทางกายวิภาคหลายอย่างที่คล้ายกับสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีลักษณะคล้ายกับชั้นเซลล์ประสาทในเปลือกสมองและข่ายหลอดเลือดสมอง (choroid plexus) มากที่สุด ในบางกรณี จะทำเป็นโครงสร้างคล้ายกับจอตา เยื่อหุ้มสมอง และฮิปโปแคมปัส ซึ่งทำได้เพราะเซลล์ต้นกำเนิดมีศักยภาพในการกลายเป็นเนื้อเยื่อรูปแบบต่าง ๆ โดย "ชะตา" ของมันจะขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย จึงสามารถให้ปัจจัยกับเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อสร้างอวัยวะเทียมคล้ายสมองที่มีโครงสร้างแบบต่าง ๆ
  47. transcriptome เป็นเซตของโมเลกุลอาร์เอ็นเอทั้งหมดในเซลล์ตัวหนึ่งหรือในเซลล์กลุ่มหนึ่ง บางครั้งหมายถึงอาร์เอ็นเอทั้งหมด บางครั้งหมายถึง mRNA เท่านั้น ขึ้นอยู่กับการทดลอง มันต่างกับ exome เพราะรวมแต่โมเลกุลอาร์เอ็นเอที่พบในกลุ่มเซลล์ที่ระบุโดยเฉพาะ และปกติจะรวมจำนวนหรือความเข้มข้นของโมเลกุลอาร์เอ็นเอแต่ละอย่างนอกเหนือไปจากว่าเป็นโมเลกุลอะไร
  48. diffuse axonal injury (DAI) เป็นความบาดเจ็บในสมองที่ก่อรอยโรคอย่างกว้างขวางที่เนื้อเทาคือที่ลำเส้นใยประสาท เป็นการบาดเจ็บศีรษะ (traumatic brain injury) ที่สามัญที่สุดและก่อความเสียหายมากที่สุดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้หมดสติและก่อสภาพผักเรื้อรังหลังจากบาดเจ็บหนักที่ศีรษะ มันเกิดในครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่บาดเจ็บหนักที่ศีรษะ และอาจเป็นความเสียหายหลักในคนไข้มันสมองกระทบกระเทือน (concussion) ผลบ่อยครั้งคืออาการโคม่า โดยคนไข้ 90% ที่มี DAI ขั้นรุนแรงจะไม่ฟื้นคืนสติอีก ผู้ที่กลับคืนสติอีกบ่อยครั้งจะพิการอย่างสำคัญ
  49. โรคคูรุ (Kuru) เป็นการติดเชื้อไวรัสนอกแบบที่ระบบประสาทส่วนกลาง พบที่ประเทศปาปัวนิวกินี เป็นโรคประสาทเสื่อมที่แก้ไขไม่ได้ เกิดจากพรีออนหนึ่งที่มีในมนุษย์ โรคเกิดจากการแพร่โปรตีนพรีออนที่พับผิดปกติ ซึ่งก่ออาการต่าง ๆ เช่นสั่น กล้ามเนื้อเสียสหการ และประสาทเสื่อม
  50. ในคำว่า FAST อักษรสุดท้ายหมายถึง Time คือถ้ามีอาการเช่นนี้แล้ว มีเวลาเหลือน้อย ให้รีบไปโรงพยาบาล
  51. computed tomography angiography (CTA, CT angiography) เป็นเทคนิคการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ที่ใช้แสดงภาพหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำทั่วร่างกาย เริ่มตั้งแต่หลอดเลือดแดงที่ส่งไปเลี้ยงสมอง ที่ไปเลี้ยงปอด ไต และขา
  52. magnetic resonance angiography (MRA) เป็นกลุ่มเทคนิคที่ทำด้วย MRI เพื่อแสดงภาพหลอดเลือด (และหลอดเลือดดำแต่น้อยกว่า) และตรวจดูว่ามันตีบ อุดตัน ผนังบวม มีโอกาสแตก หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ บ่อยครั้งใช้ตรวจเส้นเลือดคอและสมอง อกและท้อง เส้นเลือดไต และเส้นเลือดขา
  53. ภาวะสมองน้อยตาย (brainstem death) เป็นอาการทางคลินิกของคนไข้โคม่าที่หายใจผ่านเครื่องช่วยหายใจ คือการไร้รีเฟล็กซ์ที่มีวิถีประสาทผ่านก้านสมอง ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมไขสันหลังกับสมองส่วนกลาง, กับสมองน้อย และกับเปลือกสมอง การระบุว่ามีภาวะนี้เท่ากับระบุว่าคนไข้มีพยากรณ์โรคคือโอกาสรอดชีวิตที่น้อยมาก หัวใจจะหยุดเต้นบ่อยครั้งภายในไม่กี่วัน แต่อาจดำเนินต่อไปได้เป็นอาทิตย์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ ถ้าใช้เครื่องช่วยให้มีชีวิตต่อไปได้
  54. futile medical care หรือ medical futility
  55. รวม vestibulo-ocular reflex, corneal reflex, gag reflex และการเปลี่ยนขนาดม่านตาเป็นการตอบสนองต่อแสง

อ้างอิง

  1. "Cerebrum Etymology". dictionary.com. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-24. สืบค้นเมื่อ 2015-10-24.
  2. "Encephalo- Etymology". Online Etymology Dictionary. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-02. สืบค้นเมื่อ 2015-10-24.
  3. DeLisi, Matt (2014). Low Self-Control Is a Brain-Based Disorder. pp. 172–183. doi:10.4135/9781483349114.n11.
  4.   Diamond A (2013). "Executive functions". Annu Rev Psychol. 64: 135–168. doi:10.1146/annurev-psych-113011-143750. PMID 23020641. Core EFs are inhibition [response inhibition (self-control—resisting temptations and resisting acting impulsively) and interference control (selective attention and cognitive inhibition)], working memory, and cognitive flexibility (including creatively thinking “outside the box,” seeing anything from different perspectives, and quickly and flexibly adapting to changed circumstances). ... Self-control is the aspect of inhibitory control that involves control over one’s behavior and control over one’s emotions in the service of controlling one’s behavior. Self-control is about resisting temptations and not acting impulsively. The temptation resisted might be to indulge in pleasures when one should not (e.g., to indulge in a romantic fling if you are married or to eat sweets if you are trying to lose weight), to overindulge, or to stray from the straight and narrow (e.g., to cheat or steal). Or the temptation might be to impulsively react (e.g., reflexively striking back at someone who has hurt your feelings) or to do or take what you want without regard for social norms (e.g., butting in line or grabbing another child’s toy). Another aspect of self-control is having the discipline to stay on task despite distractions and completing a task despite temptations to give up, to move on to more interesting work, or to have a good time instead. This involves making yourself do something or keep at something though you would rather be doing something else. It is related to the final aspect of self-control—delaying gratification (Mischel et al. 1989) —making yourself forgo an immediate pleasure for a greater reward later (often termed delay discounting by neuroscientists and learning theorists; Louie & Glimcher 2010, Rachlin et al. 1991). Without the discipline to complete what one started and delay gratification, no one would ever complete a long, time-consuming task such as writing a dissertation, running a marathon, or starting a new business. PMC 4084861.
  5. Timpano, K. R.; Schmidt, N. B. (2013). "The relationship between self control deficits and hoarding: A multimethod investigation across three samples". The Journal of Abnormal Psychology. 122 (1): 13–25. doi:10.1037/a0029760. Self-control is the capacity to exert control over one's behavior and is necessary for directing personal behavior toward achieving goals
  6. Fry, Mark; Ferguson, Alastair V (2007). "The sensory circumventricular organs: Brain targets for circulating signals controlling ingestive behavior". Physiology & Behavior. 91 (4): 413–423. doi:10.1016/j.physbeh.2007.04.003.
  7. Cottrell G. T.; Ferguson A. V. (2004). "Sensory circumventricular organs: Central roles in integrated autonomic regulation". Regulatory Peptides. 117 (1): 11–23. doi:10.1016/j.regpep.2003.09.004.
  8. Rodríguez Esteban M.; Blázquez Juan L.; Guerra Montserrat (2010). "The design of barriers in the hypothalamus allows the median eminence and the arcuate nucleus to enjoy private milieus: The former opens to the portal blood and the latter to the cerebrospinal fluid". Peptides. 31 (4): 757–76. doi:10.1016/j.peptides.2010.01.003. PMID 20093161.
  9. Morita S.; Miyata S. (2012). "Different vascular permeability between the sensory and secretory circumventricular organs of adult mouse brain". Cell and Tissue Research. 349 (2): 589–603. doi:10.1007/s00441-012-1421-9.
  10. Fan, X; Markram, H (2019). "A Brief History of Simulation Neuroscience". Front Neuroinform. 13: 32. doi:10.3389/fninf.2019.00032. PMC 6513977. PMID 31133838.
  11. Parent, A.; Carpenter, M.B. (1995). "Ch. 1". Carpenter's Human Neuroanatomy. Williams & Wilkins. ISBN 978-0-683-06752-1.
  12. Bigos, K.L.; Hariri, A.; Weinberger, D. (2015). Neuroimaging Genetics: Principles and Practices. Oxford University Press. p. 157. ISBN 978-0199920228.
  13. Cosgrove, K.P.; Mazure, C.M.; Staley, J.K. (2007). "Evolving knowledge of sex differences in brain structure, function, and chemistry". Biol Psychiatry. 62 (8): 847–855. doi:10.1016/j.biopsych.2007.03.001. PMC 2711771. PMID 17544382.
  14. Gur, R.C.; Turetsky, B.I.; Matsui, M.; Yan, M.; Bilker, W.; Hughett, P.; Gur, R.E. (1999). "Sex differences in brain gray and white matter in healthy young adults: correlations with cognitive performance". The Journal of Neuroscience. 19 (10): 4065–4072. doi:10.1523/JNEUROSCI.19-10-04065.1999. PMID 10234034.
  15. Gray's Anatomy 2008, p. 227-229.
  16. Gray's Anatomy 2008, p. 335-7.
  17. Ribas, G. C. (2010). "The cerebral sulci and gyri". Neurosurgical Focus. 28 (2): 7. doi:10.3171/2009.11.FOCUS09245. PMID 20121437.
  18. Frigeri, T.; Paglioli, E.; De Oliveira, E.; Rhoton Jr, A. L. (2015). "Microsurgical anatomy of the central lobe". Journal of Neurosurgery. 122 (3): 483–98. doi:10.3171/2014.11.JNS14315. PMID 25555079.
  19. "space, subarachnoid", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (แพทยศาสตร์) ช่องใต้เยื่ออะแร็กนอยด์
  20. Purves 2012, p. 724.
  21. Cipolla, M.J. (2009-01-01). Anatomy and Ultrastructure. Morgan & Claypool Life Sciences. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-01.
  22. "A Surgeon's-Eye View of the Brain". NPR.org. จากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-07.
  23. Kolb & Whishaw (2003). Fundamentals of Human Neuropsychology. p. 49.
  24. Sampaio-Baptista, C; Johansen-Berg, H (2017-12-20). "White Matter Plasticity in the Adult Brain". Neuron. 96 (6): 1239–1251. doi:10.1016/j.neuron.2017.11.026. PMC 5766826. PMID 29268094.
  25. Davey, G. (2011). Applied Psychology. John Wiley & Sons. p. 153. ISBN 978-1444331219.
  26. Holloway, Ralph L; Broadfield, Douglas C; Yuan, Michael S (2004). The Human Fossil Record. volume Three: Brain Endocasts--The Paleoneurological Evidence. Wiley-Liss. ISBN 0-471-41823-4.
  27. Arsava, E. Y.; Arsava, E. M.; Oguz, K. K.; Topcuoglu, M. A. (2019). "Occipital petalia as a predictive imaging sign for transverse sinus dominance". Neurological Research. 41 (4): 306–311. doi:10.1080/01616412.2018.1560643. PMID 30601110.
  28. Ackerman, S. (1992). Discovering the brain. Washington, D.C.: National Academy Press. pp. 22–25. ISBN 978-0-309-04529-2.
  29. Larsen 2001, pp. 455-456.
  30. Kandel, E.R.; Schwartz, J.H.; Jessel T.M. (2000). Principles of Neural Science. McGraw-Hill Professional. p. 324. ISBN 978-0-8385-7701-1.
  31. Guyton & Hall 2011, p. 574.
  32. Guyton & Hall 2011, p. 667.
  33. Tortora, Gerard J; Derrickson, Bryan (2011). Principles of anatomy and physiology (12th ed.). Hoboken, NJ: Wiley. p. 519. ISBN 9780470646083.
  34. Freberg, L. (2009). Discovering Biological Psychology. Cengage Learning. pp. 44–46. ISBN 978-0547177793.
  35. Kolb, B.; Whishaw, I. (2009). Fundamentals of Human Neuropsychology. Macmillan. pp. 73–75. ISBN 978-0716795865.
  36. Pocock 2006, p. 64.
  37. Purves 2012, p. 399.
  38. Gray's Anatomy 2008, p. 325-6.
  39. Goll, Y.; Atlan, G.; Citri, A. (August 2015). "Attention: the claustrum". Trends in Neurosciences. 38 (8): 486–95. doi:10.1016/j.tins.2015.05.006. PMID 26116988.
  40. Goard, M.; Dan, Y. (2009-10-04). "Basal forebrain activation enhances cortical coding of natural scenes". Nature Neuroscience. 12 (11): 1444–1449. doi:10.1038/nn.2402. PMC 3576925. PMID 19801988.
  41. Guyton & Hall 2011, p. 699.
  42. Gray's Anatomy 2008, p. 298.
  43. Netter, F. (2014). Atlas of Human Anatomy Including Student Consult Interactive Ancillaries and Guides (6th ed.). Philadelphia, Penn.: W B Saunders Co. p. 114. ISBN 978-1-4557-0418-7.
  44. Gray's Anatomy 2008, p. 297.
  45. Guyton & Hall 2011, pp. 698-9.
  46. Squire 2013, pp. 761-763.
  47. clivus. Dorland's Illustrated Medical Dictionary (32nd ed.). USA: Elsevier Saunders. 2012. p. 373. ISBN 978-1-4160-6257-8. [L.‘‘slope’’] [TA] a bony surface in the posterior cranial fossa, sloping superiorly from the foramen magnum to the dorsum sellae, the inferior part being formed by a portion of the basilar part of the occipital bone and the superior part by a surface of the body of the sphenoid bone. clival adj
  48. Gray's Anatomy 2008, p. 275.
  49. Guyton & Hall 2011, p. 691.
  50. Purves 2012, p. 377.
  51. Nolte, J (2002). The Human Brain (5th ed.). Missouri: Mosby. p. 527. ISBN 0-323-01320-1.
  52. Azevedo, F.; และคณะ (2009-04-10). "Equal numbers of neuronal and nonneuronal cells make the human brain an isometrically scaled-up primate brain". The Journal of Comparative Neurology. 513 (5): 532–541. doi:10.1002/cne.21974. PMID 19226510. despite the widespread quotes that the human brain contains 100 billion neurons and ten times more glial cells, the absolute number of neurons and glial cells in the human brain remains unknown. Here we determine these numbers by using the isotropic fractionator and compare them with the expected values for a human-sized primate. We find that the adult male human brain contains on average 86.1 ± 8.1 billion NeuN-positive cells (“neurons”) and 84.6 ± 9.8 billion NeuN-negative (“nonneuronal”) cells.
  53. Verkhratsky, Alexei; Butt, Arthur M. (2011). Glial Physiology and Pathophysiology. John Wiley and Sons. ISBN 9780470978535.
  54. Komine, O; Nagaoka, M; Watase, K; Gutmann, DH; Tanigaki, K; Honjo, T; Radtke, F; Saito, T; Chiba, S; Tanaka, K (November 2007), "The monolayer formation of Bergmann glial cells is regulated by Notch/RBP-J signaling", Developmental Biology, 311 (1): 238–50, PMID 17915208
  55. Rubenstein, John; Rakic, Pasko (2013). Cellular Migration and Formation of Neuronal Connections: Comprehensive Developmental Neuroscience. Elsevier Science and Technology. ISBN 9780123972668.
  56. Sanes, Dan H.; Reh, Thomas A.; Harris, William A. (2005). Development of the Nervous System. Elsevier Science and Technology. ISBN 9780126186215.
  57. Sofroniew, MV (November 2014). "Astrogliosis". Cold Spring Harbor Perspectives in Biology: a020420. PMID 25380660.
  58. Catherine, Haberland (2007). Clinical neuropathology: text and color atlas. New York: Demos. ISBN 9781934559529.
  59. APA dictionary of psychology 2015, ependymal cell, p. 375.
  60. Rakic, P (29 October 1971). "Guidance of neurons migrating to the fetal monkey neocortex". Brain Research. 33 (2): 471–6. doi:10.1016/0006-8993(71)90119-3. PMID 5002632.
  61. Rakic, P (October 2009). "Evolution of the neocortex: a perspective from developmental biology". Nature Reviews. Neuroscience. 10 (10): 724–35. doi:10.1038/nrn2719. PMID 19763105. PMC 2913577.
  62. Noctor SC, Flint AC, Weissman TA, Dammerman RS, Kriegstein AR (8 February 2001). "Neurons derived from radial glial cells establish radial units in neocortex". Nature. 409 (6821): 714–20. PMID 11217860.
  63. Ginhoux Florent; Lim Shawn; Hoeffel Guillaume; Low Donovan; Huber Tara (17 April 2013). "Origin and differentiation of microglia". Frontiers in Cellular Neuroscience (7): 45. doi:10.3389/fncel.2013.00045. eISSN 1662-5102.
  64. Lawson LJ, Perry VH, Gordon S (1992). "Turnover of resident microglia in the normal adult mouse brain". Neuroscience. 48 (2): 405–15. doi:10.1016/0306-4522(92)90500-2. PMID 1603325.
  65.  Filiano, Anthony J.; Gadani, Sachin P.; Kipnis, Jonathan (2015). "Interactions of innate and adaptive immunity in brain development and function". Brain Research (1617): 18–27. doi:10.1016/j.brainres.2014.07.050. PMID 25110235. PMC 4320678.
  66. Pavel, Fiala; Jiří, Valenta (2013-01-01). Central Nervous System. Karolinum Press. p. 79. ISBN 9788024620671.
  67. Polyzoidis, S.; Koletsa, T.; Panagiotidou, S.; Ashkan, K.; Theoharides, T.C. (2015). "Mast cells in meningiomas and brain inflammation". Journal of Neuroinflammation. 12 (1): 170. doi:10.1186/s12974-015-0388-3. PMC 4573939. PMID 26377554.
  68. Guyton & Hall 2011, pp. 748-749.
  69. Budzyński, J; Kłopocka, M. (2014). "Brain-gut axis in the pathogenesis of Helicobacter pylori infection" (PDF). World J. Gastroenterol. 20 (18): 5212–25. doi:10.3748/wjg.v20.i18.5212. PMC 4017036. PMID 24833851.
  70. Carabotti, M.; Scirocco, A.; Maselli, M.A.; Severi, C. (2015). "The gut-brain axis: interactions between enteric microbiota, central and enteric nervous systems" (PDF). Ann Gastroenterol. 28 (2): 203–209. PMC 4367209. PMID 25830558.
สมองมน, ษย, บทความน, เก, ยวก, บและล, กษณะซ, งจำเพาะต, สำหร, บเร, องสมองท, วไปหร, อสารสนเทศพ, นฐานเก, ยวก, บสมอง, สมอง, สมอง, เป, นอว, ยวะหล, กของระบบประสาทมน, ษย, โดยจ, ดเป, นระบบประสาทกลางเม, อรวมก, บไขส, นหล, สมองประกอบด, วยสมองใหญ, านสมอง, และสมองน, อย, เป,. bthkhwamniekiywkbsmxngmnusyaelalksnasungcaephaatxsmxngmnusy sahrberuxngsmxngthwiphruxsarsnethsphunthanekiywkbsmxng duthi smxng smxng epnxwywahlkkhxngrabbprasathmnusy odycdepnrabbprasathklangemuxrwmkbikhsnhlng smxngprakxbdwysmxngihy kansmxng aelasmxngnxy epnsunykhwbkhumkarthangankhxngrangkay karaeplphl rwbrwm aelaprasankhxmulthiidrbcakprasathsmphs aelakartdsinicwacasngihrangkaythakarechnir smxngxyuinkradukhumsmxngphayinsirsa lxyxyuinnahlxsmxngikhsnhlng aelaaeykcakkraaeseluxddwytwknrahwangeluxdkbsmxng sungchwypxngknmncakxntraysmxngmnusy Human brain smxngmnusyaelakaohlksirsaklibsmxngihy rwmklibhna sichmphu klibkhang siekhiyw aelaklibthaythxy sinaengin raylaexiydkhphphkrrmNeural tuberabbrabbprasathklangrabbphumikhumknkhxngprasathhlxdeluxdaednginternal carotid artery vertebral arteryhlxdeluxddainternal jugular vein A internal cerebral veinsexternal veins superior cerebral vein middle cerebral vein aela inferior cerebral vein basal vein aela cerebellar veinstwrabuphasalatinCerebrum 1 phasakrikἐgkefalos enkephalos 2 MeSHD001921TA98A14 1 03 001TA25415FMA50801xphithansphthkaywiphakhsastr aekikhbnwikisneths bthkhwamnixangxingkhristskrach khristthswrrs khriststwrrs sungepnsarasakhykhxngenuxha smxngihy cerebrum epnswnihysudinsmxngmnusy aebngxxkepnsxngsik odymiepluxksmxng cerebral cortex epnepluxkkhxngenuxetha grey matter sungpkkhlumaeknthiepnenuxkhaw white matter xyu epnenuxeyuxprasathhnathikhlumsmxngswnihy phbipphbmaephuxephimphunthiphiwaetyngcuinprimatrkaohlkethathimiid rupaebbkarphbehmuxnkninaetlabukhkhlaemcatangknbangelknxy epluxksmxngsamarthaebngtamcanwnchnprasathxxkepnkhxrethksihm neocortex aelaxlolkhxrethks allocortex thielkkwamak khxrethksihmmichn 6 chn ethiybkbxlolkhxrethksthimiephiyng 3 4 chn smxngihyaetlasikniymaebngxxkepn 4 klib khux klibhna klibkhmb klibkhang aelaklibthaythxysmxngklibhna frontal lobe mihnathithang executive functions rwmthngkarkhwbkhumtnexng B karwangaephn karhaehtuphl aelakarefnhanythangnamthrrm C swnsmxngklibthaythxy occipital lobe mihnathiodyechphaaekiywkbkarehn phayinsmxngaetlaklib briewntang casmphnthkbhnathiodyechphaa echn briewnkhxngprasathsmphs prasathsngkar aelaprasathsmphnth aemsmxngsiksaykhwaodyrwmcakhlayknthngodyruprangaelahnathi aethnathibangxyangkxyuinsikediywodymak echn phasainsmxngsiksay aelasmrrthphaphkaraeprrupinnanamiti visual spatial ability D hruxmitismphnthinsmxngsikkhwa siksmxngcaechuxmknphanlaesniyprasathechuxm commissural nerve tracts odythiihysudkhux khxrpskhaolsmsmxngihyechuxmkbikhsnhlngdwykansmxng sungprakxbdwysmxngswnklang phxns aelakansmxngswnthay swnsmxngnxyechuxmkbkansmxngdwylaesniyprasath cerebellar peduncle sungepnokhrngsrangenuxkhawmirupehmuxnkan peduncle odyprakxbknepnkhu phayinsmxngihymirabbophrngsmxng prakxbdwyophrngsmxngthiechuxmtxkn 4 ophrng sungphlitnahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid thiihlewiyn itepluxksmxngmiokhrngsrangsakhyhlayxyangrwmthngthalams epithalamus txmipheniyl ihopthalams txmitsmxng subthalamus rabblimbikrwmthngxamikdalaaelahipopaekhmps claustrum sungepnniwekhliystang khxng basal ganglia okhrngsrangtang khxng basal forebrain E aela circumventricular organs F 3 xn esllthixyuinsmxngrwmesllprasathaelaesllsnbsnunkhuxesllekliy miesllprasathkwa 86 000 lantw insmxng ekuxbethakbesllpraephthxun smxngthanganidephraaesllprasathechuxmtxknaelahlngsarsuxprasathepnkartxbsnxngtxkraaesprasath esllprasathechuxmtxknepnwithiprasath wngcrprasath neural circuit aelarabbekhruxkhayprasathkhnadihy large scale brain networks wngcrthnghmdthanganphankrabwnkarsuxprasath karsngphanprasath neurotransmission kaohlksirsaepntwpxngknsmxng sunglxyxyuinnahlxsmxngikhsnhlng aelaaeykxxkcakrabbeluxddwytwknrahwangeluxdkbsmxng blood brain barrier aetsmxngkyngxacesiyhay ekidorkh aelatidechuxid khwamesiyhayxacmacakkarbadecbthisirsa hruxkarkhadeluxdthieriykwaorkhhlxdeluxdsmxng smxngxacesuxm echn ekidorkhpharkhinsn ekidphawasmxngesuxmrwmthngorkhxlisemxr aelaekidorkhplxkprasathesuxmaekhng orkhthangcitewchtang rwmthngorkhcitephthaelaorkhsumesraechuxwa smphnthkbkarthanganphidpktikhxngsmxng smxngyngxacekidenuxngxkthngthiimrayaelaray sungmkcaaephrkracaymacakswnxunkhxngrangkaysakhathisuksakaywiphakhkhxngsmxngkkhuxprasathkaywiphakhsastr thisuksahnathikkhuxprasathwithyasastr karsuksaidichethkhnikhtang echn twxyanginstwxun thisxngdwyklxngculthrrsnidihkhxmulmakmay ethkhonolyikarsrangphaphthangkaraephthy echn functional neuroimaging karsrangphaphprasathodykic aelakarbnthukkhluniffasmxng EEG sakhyinkarsuksasmxng prawtikhnikhthismxngesiyhayidihkhwamruekiywkbhnathikhxngsmxngaetlaswn karwicysmxngidepliyniptamewlaepnraya odymihlkprchya withikarthdlxng aelathvsdithitang kn rayatxipidphyakrnwa caepnkarcalxngkarthangankhxngsmxng 10 thangdanwthnthrrmtawntk citprchya philosophy of mind idphyayamxthibaythrrmchatikhxngkhwamrusuktw karrbru phichan consciousness aelapyhacit kay mind body problem withyasastrethiymcakkhriststwrrsthi 19 khux phrenology idphyayamrabulksnabukhlikphaphipthiepluxksmxngekhttang niyaywithyasastrpi 1942 khux Donovan s Brain smxngkhxngnaydxnxwn idcintnakarthungsphaphthiehmuxnkbplukthaysmxng khmphirxrrthkthakhxngphuththsasnaethrwathidklawthungsmxngiwineruxngprawtikhxnghmxchiwkokmarphccaelaineruxngkarptibti enuxha 1 okhrngsrang 1 1 kaywiphakhkhraw 1 1 1 smxngihy 1 1 2 smxngnxy 1 1 3 kansmxng 1 2 culkaywiphakh microanatomy 1 3 nahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid 1 4 rabbeluxd 1 4 1 karrabayeluxd 1 4 2 twknrahwangeluxdkbsmxng BBB 2 phthnakar 3 hnathi 3 1 prasathsngkar 3 2 prasathsmphs 3 3 karkhwbkhum 3 4 phasa 3 5 karcakdhnathikhxngsiksmxng lateralization 3 6 xarmn 3 7 prachan 4 srirphaph 4 1 karsngphanprasath neurotransmission 4 2 emaethbxlisum 5 nganwicy 5 1 withikarsuksa 5 2 karsrangphaph 5 3 karaesdngxxkkhxngyinaelaoprtin 6 khwamsakhythangkhlinik 6 1 khwambadecb 6 2 orkh 6 3 enuxngxk 6 4 citphikar 6 5 orkhlmchk 6 6 orkhaetkaenid 6 7 orkhhlxdeluxdsmxng 6 8 smxngtay 7 sngkhmaelawthnthrrm 7 1 citictamthsnatawntk 7 2 khnadsmxng 7 3 inwthnthrrmniym 7 4 phuththsasnaethrwath 8 prawti 8 1 smyobran 8 2 smyfunfusilpwithya 8 3 smypccubn 9 kaywiphakhepriybethiyb 10 echingxrrth 11 xangxing 11 1 xangxingxun 12 aehlngkhxmulxunokhrngsrang aekikhkaywiphakhkhraw aekikh smxngkhxngphuihyhnkodyechliy 1 2 1 4 kk nbepnephiyngaekh 2 khxng nahnkrangkay 11 12 miprimatrraw 1 260 sm3 inchay aela 1 130 sm3 inhyingaetkcatangknmakinbukhkhltang 13 khwamaetktangthangprasathrahwangephsimphbwasmphnthxyangchdecnkbradbechawnpyyahruxkhawdprasiththiphaphthangprachanxun 14 smxngihyprakxbdwysiksmxngsxngkhang epnswnihysudkhxngsmxngaelaxyuthbokhrngsrangsmxngxun 15 swnnxkkhxngsiksmxngkhux epluxksmxng epnenuxethasungprakxbdwyesllprasaththiwangepnchn smxngaetlasikcaaebngxxkepn 4 klib khux klibhna klibkhang klibkhmb aelaklibthaythxy 16 nkwichakarbangphwkcdwamiklibsmxngxik 3 klibkhux klibklang central lobe kliblimbik limbic lobe aelaklibxinsula insular lobe 17 smxngklibklangprakxbdwy precentral gyrus aela postcentral gyrus aelacdwaepnklibsmxngkephraamihnathitanghak 17 18 kansmxng sungehmuxnkbkanim txxxkcaksmxngihythangkhangitodyerimtnepnsmxngswnklang kansmxngrwmsmxngswnklang phxns aelakansmxngswnthay hlngkansmxngepnsmxngnxy 15 smxngihy kansmxng smxngnxy aelaikhsnhlngcapkkhlumdwyeyuxhum 3 chnthieriykwa eyuxhumsmxng meninges chnbnsudepneyuxdurathiaekhngsud chnklangepneyuxxaaerknxyd aelachnbangsudaelainsudepneyuxephiy rahwangeyuxxaaerknxydkbeyuxephiymichxngiteyuxxaaerknxyd subarachnoid space G aela subarachnoid cistern H sungminahlxsmxngikhsnhlng 20 eyuxchnnxksudkhxngepluxksmxngepneyuxthan basement membrane khxngeyuxephiy sungeriykwa glia limitans epnswnsakhykhxngtwknrahwangeluxdkbsmxng 21 smxngthiyngepnxyunimmak milksnakhlaywunkhlaykbetahuxxn 22 chnesllprasathtang thiepluxksmxngrwmknepnenuxethakhxngsmxngihyodymak aemcaeriykwaenuxetha aetthiyngepnxyukmisichmphucnthungsienuxodyhlxdeluxdfxyaelatwesllprasathepnehtu 23 swnekhtitepluxksmxngsunglukkwaepnaexksxnhumplxkimxilinrwmknepnenuxkhaw 15 enuxkhawmiprimatrpramankhrunghnungkhxngsmxng 24 briewntang khxngsmxng aebngtamokhrngsrangaelahnathi smxngmnusyphainranabaebngsaykhwa sagittal aesdngenuxkhawkhxngkhxrpskhaolsm briewnsmxngmnusythimihnathitang esnkhadaesdngbriewnthipktixyuinsmxngsiksay smxngihy aekikh dubthkhwamhlkthi smxngihy aela epluxksmxng rxynun gyrus aelarxng sulcus hlk thiphiwdankhang lateral khxngepluxksmxng smxngklibtang smxngihyepnswnihysudinsmxng aebngxxkepnsiksaykhwaodyekuxbsmmatrkn aebngdwyrxnglukthieriykwarxngtamyaw longitudinal fissure 25 khwamimsmmatrrahwangsiksmxngeriykwa petalia I 27 siksmxngsaykhwaechuxmkndwyesnechuxmprasath commissure tang thikhamrxngtamyawodymikhxrpskhaolsmepnesnihysud 15 smxngaetlasikniymaebngxxkepn 4 klib khux klibhna klibkhang klibkhmb aelaklibthaythxy odytngchuxtamkradukkaohlksirsathipidpkpxngsmxngklibnn 16 smxngaetlaklibcasmphnthkbhnathiodyechphaa 1 2 xyang aetkmihnathisungkhabekiywkndwy 28 phiwsmxngcaphbipmathaihekidrxynun gyrus aelarxng sulcus sungbangswnxactngchuxtamtaaehnng echn frontal gyrus thismxngklibhna aelarxngklangsungaebngklangsiksmxngaetlakhang 29 swnnxksudkhxngsmxngihyepnepluxksmxng epnenuxethathicdepnchn hna 2 4 mm phbekhaiplukthaihehnepnhyk 30 itepluxksmxngepnenuxethakhxngsmxngihy epluxksmxngswnihysudkkhuxkhxrethksihm neocortex sungmiesllcdepn 6 chn epluxksmxngswnthiehluxepnxlolkhxrethks allocortex sungmichnesllprasath 3 4 chn 15 epluxksmxngidaebngtamkarthanganxxkepnraw 50 swnthieriykwa briewnbrxdmnn Brodmann s areas sungehniddwyklxngculthrrsn 31 epluxksmxngsamarthaebngxxkepn 2 swnhlk tamhnathiid khux khxrethkssngkar motor cortex aelakhxrethksrbkhwamrusuk sensory cortex 32 khxrethkssngkarpthmphumi primary motor cortex sungsngaexksxnlngipyngesllprasathsngkarinkansmxngaelaikhsnhlng xyudanhlngkhxngsmxngklibhna xyudanhnakxnbriewnrbrukhwamrusukthangkay somatosensory area briewnrbrukhwamrusukpthmphumitang primary sensory areas rbkhxmulcakprasathrbkhwamrusuk sensory nerve aelalaesniyprasathxun odyphanniwekhliysprasathrielyphayinthalams briewnrbrukhwamrusukpthmphumirwmkhxrethksswnkarehn visual cortex insmxngklibthaythxy khxrethksswnkaridyin auditory cortex inswntang khxngsmxngklibkhmbaelakhxrethksxinsula aelakhxrethksrbrukhwamrusukthangkay somatosensory cortex insmxngklibkhangepluxksmxngthiehluxcak 2 swnhlknneriykwabriewnprasathsmphnth association areas sungidrbkraaesprasathcaksunyprasathrbkhwamrusukaelasmxngswnlang mihnathiaeplphlthangprachanthisbsxnephuxihekidkarrbru khwamkhid aelakartdsinic 33 hnathihlkkhxngsmxngklibhnacaekiywkbkarisic karefnhanythangnamthrrm C phvtikrrm karaekpyha kartxbsnxngthangkay aelabukhlikphaph 34 35 smxngklibthaythxyepnklibelksud mihnathiaeplphlephuxkarrbruthangta aeprrupinnanamiti D aeplphlkarekhluxnihw aelakarrucasi 34 35 miklibyxythiyingelkkwainklibthaythxythieriykwa cuneus swnsmxngklibkhmbmihnathiekiywkbkhwamcathanghuaelathangta phasa bangswnkhxngkaridyinaelakarphud 34 rxyphbkhxngepluxksmxngaelaenuxkhawinsirsathiaebngkhrunginaenwrab smxngihymiophrngsmxngtang thiphlitnahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid thiihlewiyn itkhxrpskhaolsmepn septum pellucidum khuxeyuxbang rupsamehliymaenwtngthiaeykophrngsmxngkhangsiksaycakkhwa itophrngsmxngkhangepnthalams aeladanhnakhangitkhxngmnkepnihopthalams itihopthalamsepntxmitsmxng hlngthalamsepnkansmxng 36 basal ganglia hruxeriykdwywa basal nuclei epnchudokhrngsrangthixyulukinsmxng mihnathikhwbkhumphvtikrrmaelakarekhluxnihw 37 odyxngkhprakxbihysudkkhux striatum xngkhprakxbxun rwmthng globus pallidus substantia nigra aela subthalamic nucleus 37 danbn dorsal swnhnungkhxng striatum epn putamen aela globus pallidus thiaeyktanghakkbophrngsmxngkhangaelathalamsdwy internal capsule swn caudate nucleus cayudtwiprxb aelwtxchidkbophrngsmxngkhangthangdannxk 38 swnluksudkhxngrxngkhang lateral sulcus rahwangkhxrethksxinsulakb striatum epnaephnesllprasathbang thieriykwa claustrum 39 it striatum danhnaepnokhrngsrangkhxng basal forebrain canwnhnung rwmthng nucleus accumbens nucleus basalis diagonal band of Broca substantia innominata aela medial septal nucleus epnokhrngsrangsakhythiphlitsarsuxprasathkhux acetylcholine ACh sungaephrkracayipxyangkwangkhwanginsmxng dngnn basal forebrain odyechphaa nucleus basalis cungcdwa epnokhrngsrangsuxprasathaebb cholinergic khuxsuxdwy ACh hlkkhxngrabbprasathklangsungsngipyng striatum aelakhxrethksihm 40 smxngnxy aekikh dubthkhwamhlkthi smxngnxy smxngmnusymxngcakdanlang aesdngsmxngnxyaelakansmxng smxngnxyaebngxxkepnklibhna anterior lobe klibhlng posterior lobe aela flocculonodular lobe 41 klibhnaaelahlngechuxmkntrngklangdwy cerebellar vermis 42 epluxksmxngnxydannxkbangkwaepluxksmxngihymak aelamirxyphbaekhb epnaenwtdkhwangcanwnmak 42 sungthaihdutangkbsmxngswnxun emuxmxngcakdanlangrahwangklibsxngklibkcaehnklibthisamkhux flocculonodular lobe 43 smxngnxyxyuthidanhlngkhxngophrngkaohlksirsa posterior cranial fossa xyuitsmxngklibthaythxy odyaeykcakmndwyaephniyprasath cerebellar tentorium 44 smxngnxyechuxmkbsmxngswnklangkhxngkansmxngdwyenuxkhaw superior cerebellar peduncle echuxmkbphxnsdwy middle cerebellar peduncle aelaechuxmkbkansmxngswnthaydwy inferior cerebellar peduncle 42 smxngnxyprakxbdwyaekninthiepnenuxkhawaelakhxrethksnxkthiepnenuxethasungphbiwepnxyangdi 44 klibhnahlngkhxngsmxngnxyduehmuxncamihnathiprasanaelathaihrabrunsungkarekhluxnihw motor movement thisbsxn aela flocculonodular lobe mihnathiekiywkbkarthrngtw 45 odyxacmihnathixyangxunthangprachan phvtikrrm aelakarekhluxnihwthinkwichakaryngimehnphxngkn 46 kansmxng aekikh dubthkhwamhlkthi kansmxng kansmxngxyuitsmxngihy prakxbdwysmxngswnklang phxns aelakansmxngswnthay xyuthidanhlngkhxngkaohlksirsa posterior cranial fossa tngxyuthithankaohlksungeriykwa clivus J aelaexiynglngipyutithifxraemnaemknm sungepnchxngihyinkradukthaythxy swnthiyunlngxxkcakswnnieriykwa ikhsnhlng 48 sungpxngkndwykraduksnhlngesnprasathsmxng 10 khu cak 12 khu K xxkmacakkansmxngodytrng 48 kansmxngyngminiwekhliysprasathsmxng cranial nerve nucleus niwekhliysprasathnxkswnklang peripheral nerve nucleus aelaniwekhliysprasaththimihnathikhwbkhumkrabwnkarsakhytang rwmthngkarhayic karekhluxnihwkhxngta aelakarthrngtw 49 48 swn reticular formation sungepnekhruxkhayniwekhliysprasathsungirkhxbekhtthichdecn thxdiptamyawkhxngkansmxngthnghmd 48 laesniyprasathhlayla sungsngkhxmulcakepluxksmxngipyngrangkaythiehluxaelalaesniyprasathcakrangkaythisngipyngepluxksmxng lwnphankansmxng 48 culkaywiphakh microanatomy aekikh smxngmnusyodyhlkprakxbdwyesllprasath esllekliy eslltnkaenidprasath neural stem cell aelahlxdeluxd praephthesllprasathrwmthngxinetxrniwrxn esllphiramidrwmthngesllebts esllprasathsngkar esllsngkarbnaelalang aelaesllephxrkhinciinsmxngnxy esllebtsihysudodykhnad 50 odyxacmiesnphansunyklangihythung 100 imokhremtr 51 smxngmnusyphuihypraeminwamiesllprasath 86 000 8 000 lantw odymiesllxun nxkehnuxcaknnpramanetha kn khux 85 000 10 000 lantw 52 odyesllprasath 16 000 lantw 19 xyuinepluxksmxng aela 69 000 lantw 80 xyuinsmxngnxy 12 52 praephthtang khxngesllekliykhuxaexsothrist rwm Bergmann glia L insmxngnxy oxliokednodrist ependymal cell M rwm tanycyte N radial glial cell O microglia P aelapraephthyxykhxng oligodendrocyte progenitor cell inbrrdaesllekliy aexsothristihysud epnesllrupdaw Q thimiswnyuncanwnmakxxkcaktw swnyunbangswnipyutitidkbphnnghlxdeluxdfxy 66 eyux glia limitans iteyuxephiyehnuxepluxksmxngthamacakplayswnyunkhxngaexsothrist mihnathixyanghnungkhuxbrrcuesllsmxngiw 21 aemstesllepnesllemdeluxdkhawthithakarepnswnkhxngrabbphumikhumknthangprasath neuroimmune system insmxng 67 odyxyuinokhrngsrangtang mieyuxhumsmxngepntn 67 mnxanwykartxbsnxngkhxngphumikhumkninrabbprasathtxkarxkesbaelachwybarungrksatwknrahwangeluxdkbsmxng BBB odyechphaainbriewnsmxngthiimmi BBB 67 68 mnthahnathithwipthikhlayknthnginrangkayaelainrabbprasathklang echn kxaelakhwbkhumkartxbsnxngepnxakaraeph txbsnxngthangphumikhumknthngaebbodykaenidaelaaebbprbtw hnathiekiywkbphumitantnexngaelakarxkesb 67 mnthahnathiepnesllptibtingan effector cell hlk R thithaihculchiphkxorkhmiphltxkarsngsyyanthangekhmichiwphaphrahwangthangedinxaharkbrabbprasathklangid S 69 70 yinpraman 400 yinphbechphaaaetinsmxng esllprasaththnghmdaesdngxxkyin ELAVL3 esllphiramidaesdngxxkyin NRGN aela REEP2 xinetxrniwrxnaesdngxxkyin GAD1 sungcaepninchiwsngekhraahkhxngsarsuxprasathkaba oprtinthiesllekliyaesdngxxkrwmoprtinthiichepntwbngchiaexsothristkhux GFAP aela S100B oxliokednodristaesdngxxkoprtin MBP aelaaesdngxxk transcription factor khux OLIG2 71 nahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid aekikh nahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid ihlewiynxyuinchxngrxb aelaphayinsmxng nahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid twyx CSF epnna transcellular fluid T thiihlewiynrxbsmxnginchxngiteyuxxaaerknxyd subarachnoid space inrabbophrngsmxng aelainchxngklang central canal U khxngikhsnhlng aelayngmixyuinchxngiteyuxxaaerknxyd subarachnoid space thieriykwa subarachnoid cisterns H xikdwy 73 ophrngsmxngthngsi khuxophrngsmxngkhangthngkhu ophrngsmxngthisam aelaophrngsmxngthisilwnmikhayhlxdeluxdsmxng choroid plexus thiphlitnahlxsmxngikhsnhlng 74 ophrngsmxngthisamxyuthiaenwklang midline aelaechuxmkbophrngsmxngkhangdwychxngrahwangophrngsmxngkhux interventricular foramina 73 thxediywkhux cerebral aqueduct thixyurahwangphxnskbsmxngnxy echuxmophrngsmxngthisamkbthisi 75 chxngsamchxng khuxrudanin medial aperture aelarudankhang lateral aperture sxngkhang rabay CFS xxkcakophrngsmxngthisiekhaipin cisterna magna sungepn cistern hlkxnhnung cakcudni CSF caihlewiynrxbsmxngaelaikhsnhlnginchxngiteyuxxaaerknxydsungxyurahwangeyuxxaaerknxydkbeyuxephiy 73 n khnaidkhnahnung cami CSF praman 150 ml odymakphayinchxngiteyuxxaaerknxyd CSF casrangihmaeladudkhunxyutlxdewlaodycaepliynihmthnghmdthuk 5 6 chm 73 rabbrabaynaehluxnginsmxngeriykwa glymphatic system rabbnaehluxnginprasath V 77 78 79 thangedinkhxngrabbnaehluxnginprasaththwsmxngrwmthangrabaynakhxng CSF aelahlxdnaehluxngineyuxsmxng meningeal lymphatic vessel W sungwingkhnanipkbophrnghlxdeluxddaineyuxdura dural sinus X kbhlxdeluxdsmxng 83 84 rabbnirabaysarnaaethrkcakenuxeyuxinsmxng 84 rabbeluxd aekikh hlxdeluxdsxnghlxdmabrrcbknthi circle of Willis phngaesdngraylaexiydkhxngeyuxhumsmxngchnnxk kbhlxdeluxdthisngipeliyng hlxdeluxdaedng internal carotid arteries Y sngeluxdsungmixxksiecnipthidanhnakhxngsmxng swnhlxdeluxdaedng vertebral arteries sngeluxdipthidanhlng 85 hlxdeluxdsxngswnnimabrrcbknthi circle of Willis xnepnwngaehwnechuxmhlxdeluxdaedngsungxyuinchxng interpeduncular cistern Z rahwangsmxngswnklangkbphxns 86 hlxdeluxdaedng internal carotid arteries epnsakhakhxng common carotid arteries sungekhaipinkradukhumsmxngphanchxngaekhrxthid carotid canal AA wingphanophrnghlxdeluxddaitthansmxng cavernous sinus aelwekhaipinchxngiteyuxxaaerknxyd 87 txcaknnekhaipin circle of Willis aelwaetksakhaxxkmaepn anterior cerebral arteries sxngesn thngsxngesnwingmathangdanhnaaelwkhuniptamrxngtamyaw longitudinal fissure sungsngeluxdipthidanhnaaelaaenwklang midline khxngsmxng 88 esneluxdelkkhux anterior communicating artery hnungesnhruxmakkwanncaepntwechuxm anterior cerebral artery sxngesnhlngcakthiaeykxxkepnsakhaimnan 88 swnesneluxdhlkkhux internal carotid artery kcamunghnatxipodyeriykwa middle cerebral artery aelawingipthangdankhangtamkraduksfinxydkhxngebata khunipthungkhxrethksxinsula aelwaetkxxkepnsakhasudthay odytlxdesnkmisakhaaetkxxkip dwy 87 esneluxdaedng vertebral artery epnsakhathiaetkxxkcakesneluxdaedng subclavian artery thngthangkaysiksayaelasikkhwa aelwkhunphanchxngtamkhwang transverse foramina AB khxngkradukkhx cervical vertebrae 6 khx aelwekhaipinophrngkaohlkphanchxngfxraemnaemknm aetlaesncaxyuthangkhangkhxngtn khangkansmxngswnthay emdlla aetlakhangcaaetksakhaepnesneluxdsakhahnungin 3 sakhathisngipeliyngsmxngnxy khux posterior inferior cerebellar artery esneluxd vertebral artery caksxngkhangcaechuxmknthangdanhnatrngklangkhxngemdllaklayepnesneluxd basilar artery sungsngsakhatang ipeliyngemdllaaelaphxns aelasngsakhaxiksxngsakha khux anterior inferior cerebellar artery aela superior cerebellar artery ipeliyngsmxngnxy 89 inthisud basilar artery caaeykxxkepn posterior cerebral artery sxngesn sungwingtdxxkipthangdankhang wnkhang superior cerebellar peduncle AC iptamswnbnkhxng cerebellar tentorium AD aelwaetksakhasngeipeliyngsmxngklibkhmbaelaklibthaythxy 89 posterior cerebral artery aetlaesncasngsakha posterior communicating artery ipechuxmkb internal carotid artery karrabayeluxd aekikh esneluxdda cerebral vein rabayeluxdthiimmixxksiecnxxkcaksmxng smxngmiekhruxkhayesneluxddahlk sxngekhruxkhay khux superior cerebral veins AE thiphiwkhxngsmxngihysungmisakha 3 sakha aela internal cerebral veins ekhruxkhaythngsxngmiesneluxddathiechuxmkn AF 90 esneluxddatang insmxngrabayeluxdlnginophrnghlxdeluxddaineyuxdura X thiihykwa sungpktixyurahwangchnkhxngeyuxdurathipkkhlumkaohlkxyu 91 eluxdcaksmxngnxyaelasmxngswnklangrabaylngin great cerebral vein swneluxdcakkansmxngswnthayaelaphxnsrabaylnginthitang kn khuxxaclngthi spinal vein hrux in cerebral vein thixyutidkn 90 eluxdinswnlukkhxngsmxngrabayphan venous plexus lnginophrnghlxdeluxddaitthansmxng cavernous sinus danhna lnginophrng superior petrosal sinus kb inferior petrosal sinus dankhang aelalnginophrng inferior sagittal sinus danhlng 91 eluxdinswnnxkkhxngsmxngrabaylnginophrngihykhux superior sagittal sinus sungxyuthiaenwklang midline ehnuxsmxng eluxdcakophrngnirwmekhakbeluxdinophrng straight sinus n confluence of sinuses AG 91 eluxdcakcudnirabaylnginophrng transverse sinus thangsayaelakhwa 91 aelwrabaylnginophrng sigmoid sinus sungideluxdcakophrnghlxdeluxddaitthansmxng superior petrosal sinus aela inferior petrosal sinus ody sigmoid sinus krabaylnginhlxdeluxddaihy khux internal jugular vein A txip 91 90 twknrahwangeluxdkbsmxng BBB aekikh dubthkhwamhlkthi twknrahwangeluxdkbsmxng esneluxdaedngthiihykwainsmxnglwnsngeluxdihkbhlxdeluxdfxythielkkwa hlxdeluxdelksudinsmxngehlani budwyesllthiyudtidkndwyithtcngkchn dngnn nacungimsamarthsumhruxrwxxkinradbediywkbthiekidinhlxdeluxdfxythixun nieriykwa twknrahwangeluxdkbsmxng BBB 68 esllbuesneluxdfxykhux pericyte AH mibthbathsakhyinkarsrangithtcngkchn 93 aem BBB caimihomelkulkhnadihysumphan aetkyngihna kharbxnidxxkisd xxksiecn aelasarlalayinikhmn rwmthngyarangbkhwamrusukaelaaexlkxhxl sumphanidodymak 68 BBB immithi circumventricular organs F sungepnokhrngsrangtang insmxngthitxngtxbsnxngtxkhwamepliynaeplngthangekhmikhxngnainrangkay echn txmipheniyl area postrema AI aelabangswnkhxngihopthalams 68 mitwknrahwangeluxdkbnahlxsmxngikhsnhlng blood CSF barrier AJ thithahnathikhlay BBB aetxanwykarkhnsngsarthitangknekhaipinsmxngidephraamilksnaokhrngsrangthitangkn 68 94 phthnakar aekikhkhxmulephimetim phthnakarkhxngsmxngmnusy krabwnkarphbtw neurulation khxngtwxxnstwmikraduksnhlng aela neural crest cell AK rayatn khxngphthnakarintwxxnmnusy raya 3 thung 3 vesicle stage aelaraya 5 thung 5 vesicle stage smxngkhxngtwxxnmnusyinspdahthi 6 inphthnakartnspdahthi 3 exkothedirmkhxngtwxxnmnusycaklayepnaephnyawhnathieriykwaaephnprasath neural plate 96 inspdahthi 4 aephnprasathcakhyaykwangkhunihmiplaythanghw cephalic end thikwangsud trngklangthikwangnxylng aelaplaythanghang caudal end thiaekhb pumehlanieriykwa primary brain vesicles epncuderimtnkhxngsmxngswnhna smxngswnklang aelasmxngswnhlng hindbrain 97 esllsnprasath neural crest sungaephlngmacakexkothedirm caxyutamkhxbkhang lateral khxngaephnprasath inspdahthi 4 chwngrayakarphbtw neurulation swnthbprasath neural fold sungmiesllsnprasath cathbpidklayepnthxprasath neural tube sungthaihesllsnprasathmabrrcbknthiyxd 98 esllsnprasathcawingyawtlxdthxprasathepnesll cranial neural crest cell thiplaythanghw aelaepnesll caudal neural crest cell thiplaythanghang txmaesllcaaeykxxkcaksnaelwyaythiinkrabwnkar cell migration inrupaebbcakhwipthunghang craniocaudal phayinthxprasath 98 esllthiplayhwcaklayepnsmxng aelaesllthiplayhangcaklayepnikhsnhlng 99 thxprasathcangxemuxecriykhun klayepnsiksmxngrupphracnthresiywthanghw siksmxngcapraktinwnthi 32 100 intnspdahthisi playsirsacangxipkhanghnamak epnehtukarnthieriykwa cephalic flexure 98 swnthingxipdanhnacaklayepnsmxngswnhna prosencephalon swnokhngcaklayepnsmxngswnklang mesencephalon aelaswntxcakswnokhngcaklayepnsmxngswnhlng rhombencephalon epnpumsampumthieriykwa three primitive vesicles inspdahthi 5 nicaklayepnpum 5 pum five brain vesicles 101 khuxsmxngswnhnacaaetkxxkepnsxngpum khux telencephalon khanghnaaela diencephalon khanghlng ody telencephalon caklayepnepluxksmxng basal ganglia aelaokhrngsrangthismphnthknxun swn diencephalon caklayepnthalamsaelaihopthalams smxngswnhlngkaeykxxkepnsxngswnechnkn khux metencephalon aela myelencephalon ody metencephalon caklayepnsmxngnxyaelaphxns swn myelencephalon caklayepnkansmxngswnthay 102 inchwngspdahthi 5 echnkn smxngcaaebngxxkepnplxngsa inkrabwnkar segmentation thieriykwa neuromere 97 103 insmxngswnhlng nieriykwa rhombomere 104 lksnaechphaakhxngsmxngxyanghnungkkhuxkarphbepluxkthieriykwa gyrification karphbepluxkklayepnrxynun inphthnakarchwngtn epluxkcaeriyb aetemuxthungspdahthi 24 snthanyn epnrxngtang sungaeykklibsmxngkchdaelw 105 krabwnkar gyrification thaihsamarthmiphiwepluxksmxngthiihykwa aeladngnn cungsamarththahnathithangprachanmakkwainsmxngprimatrediywkn praoychnxun xacrwmkarsuxsarthierwrahwangesllprasath 106 karaeplphlthangprachaniderw 107 karmikhwamcaichnganthangphasa verbal working memory thidikwa 107 aelakarkhlxdlukthingaykwa 108 109 klikkarphbyngimchdecn aetkmithvsditang 105 rwmthngkarokngephraaaerngkl mechanical buckling 110 28 aerngtungkhxngaexksxn axonal tension 111 aelakarecriyetibotthiimethaknkhxngbriewntang differential tangential expansion 110 rxngaerkthipraktineduxnthi 4 kkhuxrxng lateral cerebral fossa 100 aetephraaplaythanghangkhxngsiksmxngthikalngkhyaytwtxngokhngekhaipthangkhanghnaephraamithicakd cungpidrxngniklayepnchxngthilukkwasungeriykwa lateral sulcus sungepnrxngaebngsmxngklibkhmb 100 ineduxnthi 6 rxngxun kidekidaeyksmxngklibhna klibkhang aelaklibthaythxyaelw 100 yinincionmmnusy khux ArhGAP11B xacmibthbathsakhyinkrabwnkar gyrification aela encephalization AL 113 smxngtwxxnmnusythi 4 5 spdah aesdngdaninkhxngsmxngswnhna smxngkhanginthi 5 spdah smxngmxngcakaenwklang midline thi 3 eduxn hnathi aekikh briewnprasathsngkaraelaprasathrbkhwamrusukinsmxng prasathsngkar aekikh rabbprasathsngkarmihnathierimaelakhwbkhumkarekhluxnihw 114 kraaesprasathsngkarcasngipcaksmxngphanprasathipyngesllprasathsngkarinrangkay sungkhwbkhumkarthangankhxngklamenux khux laesniyprasath corticospinal tract casngkraaesprasathsngkaripcaksmxng phanikhsnhlng ipynglatwaelaaekhnkha 115 aelaprasathsmxngcasngkraaesprasathechnediywknipyngta pak aelaibhnakarekhluxnihwhyab echn karekhluxnthi locomotion aelakarkhybaekhnkha erimcakkhxrethkssngkar motor cortex sungaebngepn 3 swnkhux khxrethkssngkarpthmphumi primary motor cortex sungxyuin prefrontal gyrus odymiswntang thixuthisihkbkarekhluxnihwswninrangkayodyechphaa smxngxiksxngekhtdanhna anterior khxngkhxrethkssngkarpthmphumi snbsnunaelakhwbkhumkarekhluxnihwechnediywkn khux premotor area aela supplementary motor area 116 aekhnaelakhamiekhtprasathkhnadihykwarangkayswnxun thaihekhluxnihwidxyanglaexiydkwa odyidthaphaphepnmnusyelkinepluxksmxngephuxethiybsdswnekhtprasathsahrbxwywatang ihdu 116 kraaesprasaththiekidcakkhxrethkssngkarcadaeniniptamlaesniyprasath corticospinal tract phandanhnakhxngemdllaaelakhamikhwthaeyngthi medullary pyramid AM aelwdaenintxiplngiptamikhsnhlng odymakcayutiechuxmkbxinetxrniwrxn sungkcaechuxmkbesllprasathsngkarlangphayinenuxetha esllprasathsngkarcasngkraaesprasathephuxihklamenuxhdekrngodytrng 115 smxngnxyaela basal ganglia mibthbathinkarekhluxnihwthilaexiyd sbsxn aelatxngthaxyangprasan 117 karechuxmtxknrahwangepluxksmxngkb basal ganglia caepninkarkhwbkhumkhwamtungklamenux thathang karerimkarekhluxnihw epnswnthieriykwa extrapyramidal system rabbprasathsngkarnxkphiramid 118 prasathsmphs aekikh briewntang inepluxksmxng karsngkraaesprasathcaktathngsxngipyngsmxng rabbprasathrbkhwamrusukmibthbathrbaelaaeplphlkhxmulthangprasathsmphs khxmulidmacakprasathsmxng caklaesniyprasathinikhsnhlng aelaodytrngcaksunyinsmxng F thithukkbrabbeluxdodytrng 119 smxngyngidrbaelaaeplphlkhxmulcakprasathsmphsphiesskhuxkarehn karidklin karidyin aelakarlimrs karthangankhxngprasathsngkaraelaprasathrbkhwamrusukcaprasankn 119 smxngidrbkhxmulcakphiwhnngekiywkbsmphslaexiyd aerngdn khwamecbpwd aerngsn aelaxunhphumi idrbkhxmulcakkhxtxekiywkbtaaehnngkhxngkhxtx 120 khxrethksrbkhwamrusukxyuikl kbkhxrethkssngkar aelaehmuxnkbkhxrethkssngkar mnkmibriewntang thirbkhwamrusukcakswntang khxngrangkayodyechphaa khwamrusukthitwrbkhwamrusukidrbthiphiwhnngcaepliynepnkraaesprasath aelwsngmatamesllprasathepnladbphayinlaesniyprasathkhxngikhsnhlng withiprasath dorsal column medial lemniscus pathway sngkhxmulekiywkbsmphslaexiyd aerngsn aelataaehnngkhxtx aexksxnkhxngesllprasathcadaeninipthidanhlngkhxngikhsnhlng aelwdaenintxthangdanhlngkhxngkansmxngswnthay epnthithimnechuxmkbesllprasathladbthisxngsungsngaexksxnipyngsmxngsiktrngkham odykhunipsuniwekhliysprasathsngtxkhux ventrobasal complex inthalams epnthithimnechuxmkbesllprasathladbthisam sungsngaexksxnkhunipyngkhxrethksrbkhwamrusuk 120 swnlaesniyprasath spinothalamic tract sngkhxmulekiywkbkhwamecbpwd xunhphumi aelasmphshyab aexksxnkhxngesllprasathcasngekhaipsuikhsnhlng aelwdaenintxkhunipechuxmkbesllprasathladbthisxngin reticular formation khxngkansmxngsahrbkhwamecbpwdaelaxunhphumi odysngkhxmulsmphshyabipyngniwekhliysprasathsngtxkhux ventrobasal complex inthalamsdwy 121 karehnekiderimcakaesngthimakrathbcxta esllrbaesngincxtacathayoxnsingerathangtakhuxaesngihepnkraaesprasathaelwsngipyngepluxksmxngswnkarehnthismxngklibthaythxy khxmulthangtaxxkcakcxtaphanprasathta optic nerve iyprasathtacakkhrungcxtadancmukcakhamipyngdantrngkhamphanswnikhwprasathta optic chiasm iprwmkbiyprasathcakkhrungcxtadankhmbsiktrngkhamklayepnlaesniyprasathta optic tract karcdraebiybthangaesngkhxngtaaelawithiprasaththiepnechnnicunghmaykhwamwa singthiehninlansaytadaysaycatklngthicxtadankhwaodyepluxksmxngswnkarehndankhwaepntwaeplphl aelanytrngkhamkechnediywkn laesniyprasathtacaekhaipsudthiniwekhliys lateral geniculate nucleus insmxng sungkcasngiyprasathphanswnaephprasathta optic radiation ipyngepluxksmxngswnkarehn 122 karidyinaelakarkahndrukarthrngtwerimmacakhuchnin esiyngkxaerngsninkradukhu sungdaenintxipcnthungxwywakaridyin swnkarepliynaeplngdulinrangkaythaihnainhuchninekhluxn singerathngsxngxyangnisrangkraaesprasaththisngipthangprasathhu vestibulocochlear nerve aelwphanipthung cochlear nuclei superior olivary nucleus medial geniculate nucleus aelainthisudphanswnaephprasathhu acoustic radiation ipyngkhxrethksswnkaridyin auditory cortex 123 karidklinerimcakesllrbklinineyuxbuphiwkhxngeyuxemuxkrbklin olfactory mucosa inchxngcmuk sungsngkraaesaeprasathphanprasathrbklinthiwingphanaephnkradukphrun cribiform plate ehnuxophrngcmuk prasathrbklinsngkhxmulipthipxngruklin olfactory bulb sungkcasngkhxmulipsudthiepluxksmxngswnruklininthisud 124 125 karrurserimmacakhnwyrbrsthilinsungsngkraaesprasathphanesnprasathefechiylaelaesnprasathlinkhxhxy glossopharyngeal nerve ekhaipthiniwekhliys solitary nucleus NST inkansmxng khxmulrsbangswnechncakthikhxhxyksngipyngthiediywknphanesnprasathewks vagus nerve dwy swn NST casngkhxmulrsphanthalamstxipthiepluxksmxngswnrurs gustatory cortex 126 karkhwbkhum aekikh hnathikhxngrabbprasathxisrarwmthngkarkhwbkhumkarthangankhxngxtrakaretnkhxnghwickbxtrakarhayic aelarksaphawatharngdulsunyprbkhnadhlxdeluxdthikansmxngswnthay hruxemdlla mixiththiphltxkhwamdnolhitaelaxtrakaretnhwic odythaihhlxdeluxdaedngaeladatibemuxkalngphkxyu thakarodysngkraaesprasathphanesnprasathewksipyngrabbprasathsimphaethtikaelasimphaethtik 127 twrbrbrukhwamdn baroreceptor thi aortic body inexxxrtikxarch aortic arch rbrukhwamdnolhitaelwsngkhxmulipyngsmxngphaniyprasathnaekha general visceral afferent fibers khxngesnprasathewks swnkhxmulkhwamepliynaeplngkhwamdninophrngeluxdaekhrxthid carotid sinus macaktxmaekhrxthid carotid body thixyuikl hlxdeluxdaedngaekhrxthid carotid artery odysngphanprasath Hering s nerve thirwmekhakbesnprasathlinkhxhxy aelasngipyngniwekhliys solitary nucleus NST inkansmxngswnthay kraaesprasathcak NST cathaihsunyprbkhnadhlxdeluxdprbkhnadesneluxdaedngaeladatamsmkhwr 128 smxngkhwbkhumxtrakarhayicodyhlkdwysunykarhayicinkansmxngswnthayaelaphxns 129 sunykhwbkhumkarhayicodysngkraaesprasathsngkarlngipthiikhsnhlng phanesnprasathkabnglm phrenic nerve ipyngkabnglmaelaklamenuxhayicxun esnprasathniepnaebbphsmephraasngkhxmulkhwamrusukklbipyngrabbprasathklangdwy misunykarhayic 4 suny 3 sunymihnathithichdecn suny apneustic centre mihnathiyngimchdecn inemdlla suny dorsal respiratory group kxkhwamtxngkarihhayicekhaaelaidrbkhxmulkhwamrusukodytrngcakrangkay inemdllaxikechnkn suny ventral respiratory group mixiththiphlinkarhayicxxkemuxtxngxxkaerng inphxns suny pneumotaxic centre mixiththiphltxkhwamyawsnkhxnglmhayic 129 aelasuny apneustic centre duehmuxncamixiththiphltxkarhayicekhaaemsunykarhayicehlanisamarthrbrukharbxnidxxkisdaelakhwamepnkrdkhxngeluxdidodytrng aettwrbrusarekhminxkswnklang peripheral chemoreceptor thiphnnghlxdeluxdaedngin aortic body aela carotid body krbrukhxmulekiywkbxxksiecn kharbxnidxxkisd aelakhwamepnkrdkhxngeluxddwy aelwsngkhxmulphanesnprasathewksaelaesnprasathlinkhxhxyipyngsunykarhayic karmikharbxnidxxkisdsung mikhwamepnkrdsung mixxksiecnnxy cakratunkarthangankhxngsunykarhayic 129 khwamtxngkarcahayicekhayngidrbxiththiphlcaktwrbaerngyudinpxd pulmonary stretch receptor sungemuxthangan capxngknimihpxdhayicekhaekinodysngkhxmulipyngsunykarhayicphanesnprasathewks 129 ihopthalamsin diencephalon mihnathikhwbkhumkarthanganinrabbtang khxngrangkay rwmthnghnathithangprasathrwmtxmirthx neuroendocrine karthangantamcnghwarxbwn circadian rhythm rabbprasathxisra aelakhwbkhumkarthanxaharaeladumna klumesllsxngklumhlk inihopthalamsswnhna anterior epntwkhwbkhumcnghwarxbwn rwmthngniwekhliys suprachiasmatic nucleus aela ventrolateral preoptic nucleus sungmiwtckrkaraesdngxxkkhxngyinthiepnehmuxnkbnalikarxb 24 chm rupaebbkarnxnhlbcaepniptamcnghwaxltraediyn ultradian rhythm AN karnxnhlbepneruxngcaepnsahrbrangkayaelasmxngephuxihrabbtang idhyudphkthangan mingansuksathiphbwa phisthisasminsmxngaetlawncakhcdxxkinchwngnxnhlb 130 emuxtunxyu smxngichphlngnganpraman 20 khxng rangkay karnxnhlbkcaldkarichphlngnganechnni chwyihfunkhunsphaphexthiphithiichekbphlngngan phlthiphbinphawakhadnxnidaesdngkhwamcaepnxyangyingkhxngkarnxnhlb 131 ihopthalamsdankhang lateral hypothalamus miesllprasaththiich orexin epnsarsuxprasath sungkhwbkhumkhwamxyakxaharaelakhwamtuntwdwykraaesprasaththisngipyng ascending reticular activating system ARAS 132 133 ihopthalamskhwbkhumtxmitsmxngdwykarhlngephpithd echn xxksiotsin vasopressin aelaodphaminipyng median eminence thidanlangkhxngihopthalams ihopthalamsmibthbathkhwbkhumhnathithangrabbprasathxisratang rwmthngkhwamdneluxd xtrakaretnkhxnghwic karhayic karkhbehngux aelaklikkhxngphawatharngdulxun 134 mibthbathkhwbkhumxunhphumirangkay aelaemuxidkarkratuncakrabbphumikhumknkkxikhid itmixiththiphltxihopthalams khuxemuxkhwamdnolhitldlng itkcahlngoprtinkhux renin sungkratunihihopthalamskxrieflkskardumna ihopthalamsyngkhwbkhumkarthanxaharodysngkraaesprasathepnswnkhxngrabbprasathxisra aelakhwbkhumkarplxyhxromnkhxngrabbyxyxahar 135 phasa aekikh ekhtkarphudinsmxngkhux Broca s area aela Wernicke s area echuxmkndwymdiyprasath arcuate fasciculus dubthkhwamhlkthi Language processing in the brain khxmulephimetim smmutithanthangsyyansxngthang Two auditory systems aemhnathithangphasadngedimechuxwacakdxyukbbriewnsmxngkhux Wernicke s area aela Broca s area 136 aetpccubnodymakechuxwa miekhruxkhaythikwangkhwangkwanninepluxksmxngsungmihnathiekiywkbphasa 137 138 139 karsuksawa smxngthanganekbraylaexiydekiywkbphasa aeplphl aelaeriynruphasaaemidxyangir epnsakhathieriykwa phasasastrprasathwithya neurolinguistics epnsakhaihyxasykhwamrucaksakhaxun rwmthngprasathwithyasastrprichan cognitive neuroscience phasasastrprichan cognitive linguistics aelaphasasastrcitwithya psycholinguistics 140 karcakdhnathikhxngsiksmxng lateralization aekikh smxngihypktithanganaebbkhuknsxngkhang aetlasiksmxngmiptismphnthodyhlkkbrangkaykhrunghnung smxngsiksaymikbrangkaysikkhwa aelanyklbknkechnkn ehtuthiihphthnakarepnaebbniimchdecn 141 iyprasathsngkarcaksmxngipyngikhsnhlng aelaiyprasathrbkhwamrusukcakikhsnhlngmayngsmxng lwnaetikhwthaeyngkhamsikinkansmxng swnkhxmulthangtamihlkeknththisbsxnkwa khuxprasathtacaktathngsxngsngipyngswnikhwprasathta optic chiasm iyprasathkhrunghnungcaksikhnungcaikhwthaeyngkhamsikiprwmkbiyprasathkhrunghnungkhxngxiksikhnung 142 phlkkhuxesnprasathcakkhrungsaykhxngtathngsxngta sungidphaphlansaytakhwa casngipthismxngthangsay swnesnprasathcakkhrungkhwakhxngcxta sungidphaphlansaytasay casngipthismxngsikkhwa 143 ephraacxtaaetlakhrungidrbaesngthimacaklansaytathangkhrungtrngkham phlkkhuxkhxmulkarehnthimacakolkkungsaycasngipthismxngkungkhwa odynytrngkhamkechnediywkn 141 dngnn smxngsikkhwaidrbkhxmulkhwamrusukcakrangkaysiksay aelakidkhxmulsaytacaklansaytasiksaydwy 144 145 aemsmxngsiksayaelakhwacadusmmatrkn aetkthahnathiimsmmatrkn 146 hnathibangxyangxackhlaykn echn ekhtprasathsngkarkhxngsmxngsiksaykhwbkhummuxkhwa inkhnathiekhtthangsmxngsikkhwakkhwbkhummuxsay aethnathisakhybangxyangktangkn rwmthngphasaaelakaraeplphlthangpriphumi spatial cognition khux smxngklibhnasayepnhlkinkarichphasa thaekhtsakhythangphasainsmxngsiksayesiyhay xacthaihkhnikhimsamarthphudhruxekhaicphasa 146 ethiybkbkhwamesiyhaykhlay kninsmxngsikkhwa sungkxpyhathangthksaphasaephiyngelknxyethannkhwamrupccubnswnsakhyineruxngptismphnthrahwangsiksmxngthngsxngkhangmacakkhnikhthismxngthngsxng aeykcakkn split brain echn khnikhorkhlmchkthiphakhxrpskhaolsmxxkephuxphyayamldkhwamrunaerngkhxngkarchk 147 khnikhechnniimmiphvtikrrmphidpktithipraktchd aetbangkhnkxaccathaxairehmuxnmikhnsxngkhninkayediywkn echn muxkhwathakarxyanghnung aetmuxsaykklbipaekmnxxk 147 148 emuxaesdngrupthixyuthangkhwakhxngcudtrungta ksamarthxthibaymndwykhaphud aetemuxaesdngrupthangdansay klbimsamarthxthibaymn aetxacrabuxairbangxyangekiywkbrupdwymuxsay 148 149 xarmn aekikh dubthkhwamhlkthi xarmn xarmnthwipniyamwaepnkrabwnkarmihlayxngkhprakxb misxngkhntxn khux hakhxmul aelwtamdwykhwamrusukinic karpraemin karaesdngxxk kartxbsnxngkhxngrabbprasathxisra aelakartxbsnxngtamnisy 150 khwamphyayamrabuxarmnphunthanwaekidechphaainsmxngbangswnepneruxngsrangkhwamkhdaeyng odyminganwicybangswnthiimphbhlkthanwamitaaehnnginsmxngthismphnthkbxarmnodyechphaa aetkphbwngcrprasaththimibthbathinkrabwnkarthangxarmnodythw ip xamikdala orbitofrontal cortex khxrethksxinsulatrngklang mid aeladanhna anterior aela prefrontal cortex dankhang lateral duehmuxncamibthbathkxxarmn swnxuntang rwmthng ventral tegmental area ventral pallidum aela nucleus accumbens miswninkrabwnkaraerngcungic motivational salience AO aetodymihlkthanthixxnkwa 152 aetnganxun kphbhlkthanwamibriewnsmxngodyechphaasahrbxarmntang echn basal ganglia sahrbkhwamsukh cingulate cortex itkhxrpskhaolsmsahrbkhwamesra aelaxamikdalasahrbkhwamklw 153 prachan aekikh dubthkhwamhlkthi prachan khxmulephimetim Executive functions smxngmihnathithangprachan 154 155 sungthakarphankrabwnkarthangprachanaela executive functions canwnmak 155 156 157 executive functions rwmsmrrthphaphinkarkrxngkhxmul inkarimsnicsingerathiimsakhydwykarkhwbkhumkarisic attentional control aelakarybyngthangprachan cognitive inhibition AP smrrthphaphinkaraeplphlaeladaeninkarkbkhxmulthixyuinkhwamcaichngan working memory smrrthphaphinkarkhidthungaenwkhidhlayxyangphrxm kn aelakarepliynkarisicrahwangngantang odyimtxngtngic task switching AQ odyepnswnkhxngkhwamyudhyunidthangprachan cognitive flexibility AQ smrrthphaphinkarhamxarmnchwwub impulse aelakartxbsnxngtamnisy prepotent response dwykarybyngkartxbsnxng response inihibition AR aelasmrrthphaphinkarkahndkhxmulthisakhyhruxkarkrathathismkhwr 156 157 hnathithang executive functions inradbthisungkwatxngichkrabwnkarthang executive functions inradbthitakwahlaykrabwnkar hnathithisungkwarwmthngkarwangaephn karhaehtuphl aelakaraekpyha 157 prefrontal cortex mibthbathsakhyinkarxanwykrabwnkarthang executive functions tang 155 157 161 karwangaephnxasykarthangankhxngswn dorsolateral prefrontal cortex DLPFC anterior cingulate cortex angular prefrontal cortex prefrontal cortex khangkhwa aelarxynunsupramarcinl 161 kardaeninkarkbkhxmulinkhwamcaichnganxasykarthangankhxng DLPFC inferior frontal gyrus aelabriewntang insmxngklibkhang 155 161 swnkarybyngkartxbsnxng response inhibition xasybriewntang khxng prefrontal cortex caudate nucleus aela subthalamic nucleus odysxngxyanghlngepnswnkhxng basal ganglia 157 161 162 srirphaph aekikhkarsngphanprasath neurotransmission aekikh smxngthanganidxasykarechuxmtxknkhxngesllprasathephuxihsngkraaesprasathiphaknaelaknid 163 esllprasathprakxbdwytwesll aexksxn aelaednidrt ednidrtbxykhrngepnswnyunthimisakhatang makmay thiidrbsyyan khuxsarsuxprasathepntn cakplayaexksxnkhxngesllprasathxun syyanthiidrbxacthaihesllprasathsngkraaesprasathkhuxskyangan epnsyyaniffaekhmi sungsngiptamaexksxncnthungplay sungkcaechuxmkbednidrthruxtwesllkhxngesllprasathxun skyanganerimcakeskemnttn initial segment khxngaexksxn sungmikhxmephlksoprtinphiess 164 emuxskyanganwingipthungplayaexksxn kcathaihplxysarsuxprasaththiisaenpsepnkarsngsyyanephuxsrangphlthiesllprasathepahmay 165 sarsuxprasathekhmiehlanirwmthngodphamin esorothnin kaba klutaemt aela acetylcholine 166 kabaepnsarsuxprasathaebbybynghlkinsmxng swnklutaemtepnsarsuxprasathaebberahlk 167 esllprasaththiechuxmkn phanisaenpsrwmknepnwithiprasath wngcrprasath neural circuit aelaekhruxkhayprasathkhnadihy large scale brain networks echn dngthiphbin salience network aela default mode network AS odykarthanganprasanknekidcakkrabwnkarsngphanprasath neurotransmission emaethbxlisum aekikh phaphrngsiranab PET khxngkarichphlngnganinsmxngmnusy smxngichphlngnganxacthung 20 khxng thirangkayich sungmakkwaxwywaxun 168 inmnusy kluokhsineluxdepnaehlngphlngnganhlkkhxngesllodymakaelacaepninkarthangankhxngenuxeyuxtang rwmthngsmxng 169 inbukhkhlthixdxaharaelaxyuechy smxngmnusyichkluokhsineluxdraw 60 169 emaethbxlisuminsmxngpktixasykluokhsineluxdepnaehlngphlngngan aetinchwngthikluokhsnxy echn xdxahar xxkkalngkayaebbephimkhwamxdthn hruxkinkharobihedrtnxy smxngcaichkhiotnbxdisepnphlngnganodycaepntxngidkluokhsnxykwa smxngyngsamarthichaelkettemuxkalngxxkkalngkay 170 smxngsasmkluokhsinrupaebbkhxngiklokhecn aemcainprimannxykwathiphbintbhruxklamenuxokhrngrang 171 krdikhmnlukosyawimsamarthphantwknrahwangeluxdkbsmxngekhaipid aettbsamarthslaykrdikhmnechnnnihepnkhiotnbxdis aetkrdikhmnlukossn echn butyric acid propionic acid aelakrdnasm aelakrdikhmnlukosklang echn octanoic acid aela heptanoic acid ksamarthphantwknrahwangeluxdkbsmxngekhaipidaelaesllsmxngksamarthyxyslaymnid 172 173 174 aemsmxngmnusycahnkephiyng 2 khxngnahnkrangkay aetidrbeluxdcakhwic 15 ichxxksiecn 20 khxng thiichthnghmdinrangkay aelaichkluokhs 25 khxng thiichthnghmdinrangkay 175 smxngichkluokhsepnphlngnganodymak aelakarkhadkluokhs echn inphawaeluxdminatalnxy hypoglycemia xacthaihhmdsti 176 karichphlngngankhxngsmxngimtangknmaktamewla aetekhtepluxksmxngthikalngthangancaichphlngngankhxnkhangmakkwaekhtthiimtha ehtukarnechnniepnmulthankhxngkarsrangphaphkhxngsmxngtamkarthangan echn PET aela fMRI 177 ethkhnikhkarsrangphaphsmxngodykic functional imaging echnnisamarthaesdngradbemaethbxlisumepnphaphsammiti 178 karnxnhlbmihnathixairyngimkhxychdecn aetmihlkthanwa karnxnhlbephimkarkhcdkhxngesiythangemaethbxlisumcaksmxngodykhxngesiybangxyangxacepnphistxprasath aelaxacthaihsxmaesmswnthiesiyhayid 79 179 180 hlkthanaesdngnywa karephimkarkhcdkhxngesiythangemaethbxlisumchwngkarnxnhlbekidphankarthangankhxngrabbnaehluxnginprasath glymphatic system V 79 karnxnhlbxacmiphltxkarthanganthangprachanodyldradbkarechuxmtxknthangprasaththiimcaepn 181 nganwicy aekikhsmxngyngimekhaicxyangsmburn cungminganwicythikalngepnipxyu 182 nkprasathwithyasastr bwkkbnkwicyinsakhathismphnthknxun kalngsuksawasmxngthanganxyangir khxbekhtkhxngsakhaodyechphaa echnkhxngprasathwithyasastr prasathwithya aelasakhaxun rwmthngcitewchimkhxychdecn ephraalwnaetidrbpraoychncakkarwicykhnphunthaninprasathwithyasastrprasathwithyasastridkhyaytwxyangmakinthswrrsthiphan ma thswrrsaehngsmxng Decade of the Brain sungepnokhrngkarrierimkhxngrthbalshrthinchwngkhristthswrrs 1990 thuxwachwyephimnganwicyechnni 183 sungtxmatidtamdwyokhrngkar BRAIN Initiative inpi 2013 184 opreckt Human Connectome Project epnokhrngkarsuksa 5 pithieriminpi 2009 ephuxwiekhraahkarechuxmtxknthangkaywiphakhaelathanghnathikhxngswntang insmxng sungidihkhxmulepnxyangdi 182 withikarsuksa aekikh khwamrueruxngokhrngsrangaelahnathikhxngsmxngmnusymacakwithikarthdlxngtang rwmthngthithainstwaelamnusy khxmulineruxngkarbadecbkhxngsmxngaelaorkhhlxdeluxdsmxngidihkhwamruekiywkbhnathikhxngsmxngswntang aelaphlkhxngkhwamesiyhaytxsmxng karsrangphaphsmxng neuroimaging samarthichtrwcsmxngaelabnthukkarthangan ethkhnikhthangsrirwithyaiffasamarthichwd bnthuk aelaefatrwckarthanganthangiffakhxngepluxksmxng karwdxacepnskysnamiffaechphaathi local field potential khxngbriewntang inepluxksmxng hruxkhxngkarthangankhxngesllprasathesllediyw karbnthukkhluniffasmxngsamarthbnthukkhluniffainepluxksmxngodyaepaxielkothrdthihnngsirsaodyimtxngphaimtxngecaa 185 186 withithitxngphatxngecaarwm electrocorticography sungaepaxielkothrdodytrngthiphiwsmxngodyphaepidkaohlksirsa echn in cortical stimulation mapping sungichsuksakhwamsmphnthrahwangbriewntang khxngepluxksmxngkbkarthanganepnrabb 187 thaichimokhrxielkothrdthielkkwamak ksamarthbnthukkarthangankhxngesllprasathesllediyw thiihthngraylaexiydthngthangpriphumiaelathangewlaiddi sungsamarththaihechuxmkarthangankhxngsmxngkbphvtikrrm aelwsrangaephnthiprasath 188 karphthnaxwywaethiymkhlaysmxng cerebral organoid AT idepidoxkasihsuksakarecriyetibotkhxngsmxngkbepluxksmxng ihekhaickarekidorkh sungsamarthnaipichephuxrksaid 191 192 karsrangphaph aekikh ethkhnikhkarsrangphaphprasathodykic functional neuroimaging samaraesdngkarthangankhxngsmxngthismphnthkbhnathikhxngbriewnsmxngtang odyechphaa ethkhnikhhnungkkhux fMRI sungdikwaethkhnikhkxn khux SPECT aela PET ephraaimcaepntxngichsarkmmntphaphrngsiaelaihraylaexiydidmakkwa 193 ethkhnikhxikxyanghnungkkhux functional near infrared spectroscopy sepkothrsokpiodykicdwyaesngiklrngsixinfraerd ethkhnikhtang ehlanixasykartxbsnxngthangkarihlewiynkhxngeluxd haemodynamic response sungaesdngkarthangankhxngsmxngethiybkbkarepliynaeplngkarihlewiynkhxngeluxd aelaichpraoychnephuxthaaephnthikarthangankhxngsmxng 194 swn resting state fMRI fMRI emuxkhnaphk trwcduptismphnthrahwangsmxngswntang emuximidthanganid odyechphaa 195 cungsamarthaesdngswnkhxngsmxngthieriykwa ekhruxkhayphawaodypriyay default mode network AS iddwykraaesiffayxmsrangsnamaemehlktamkdkarehniywnakhxngfaraedy dngnn khlunsmxngcungkxsnamaemehlkxxn aelacungsamarthsrangphaphkarthangankhxngsmxngxyanglaexiyddwyethkhnikh functional magnetoencephalography id 198 swn tractography ich MRI bwkkbkarwiekhraahphaphephuxsrangphaphsammitikhxnglaesniyprasathinsmxng aela connectogram epnkrafaesdngkarechuxmtxknkhxngswntang insmxng 199 khwamaetktangkhxngokhrngsrangsmxngsamarthwdidinorkhbangorkh thiednsudkhuxorkhcitephthaelaphawasmxngesuxm karsrangphaphodyichkhunsmbtithangchiwphaphtang idihkhwamruephim echn orkhsumesra aelaorkhyakhidyatha aehlngkhxmulsakhyekiywkbkarthangankhxngsmxngswntang kkhuxphlthiidemuxekidkhwamesiyhay 200 khwamkawhnakhxngkarsrangphaphthangprasathidsrangkhwamruaebbprwisyineruxngcitphikartang thaihsamarthwinicchyorkhiderwkwa phyakrnorkhidaemnyakwa aelaefatidtamorkhiddikwa 201 karaesdngxxkkhxngyinaelaoprtin aekikh dubthkhwamhlkthi chiwsarsnethssastr chiwsarsnethssastrepnsakhakarsuksasungrwmkarsrangaelaphthnathankhxmul aelaethkhnikhthangkarkhanwnaelathangsthiti ephuxichsuksasmxngmnusy odyechphaaineruxngkaraesdngxxkkhxngyinaelaoprtin chiwsarsnethssastraelakarsuksathangcionmiksodykic functional genomics thaihcaepntxngphthnaethkhnikh DNA annotation sungepnethkhonolyieching transcriptome AU khuxkarrabuyin taaehnngkhxngyin aelahnathikhxngyin 202 203 204 odymi GeneCards epnthankhxmulsakhythanhnungcnthungpi 2017 idkhnphbyinthiekharhsoprtinekuxb 20 000 yin thiaesdngxxkinmnusy 202 praman 400 yinmiechphaainsmxng 205 206 khxmulkaraesdngxxkkhxngyininsmxngidsnbsnunihthanganwicyekiywkborkhtang idmakkhun echn kardumehlaepnewlananphbwa epliynkaraesdngxxkkhxngyininsmxng aelakarepliynaeplngkhxngesllchnidodyechphaa sungxacsmphnthkbkartidehla 207 khwamepliynaeplngechnniidphbthi transcriptome AU khxngisaenpsthi prefrontal cortex sungechuxwaepnpccyxyanghnungthithaihtidehlaaelathaihtidsaresphtidxun 208 ngansuksathismphnthknxun idaesdnghlkthanwaisaenpsidepliyniphruxesiyhayipinkhnchra khuxkaraesdngxxkkhxngyinidepliynradboprtininwithiprasathtang sungpraktchdwa miisaenpsthiphidpktihruxesiyhayip karthanganphidpktiniphbwa miphltxokhrngsrangmakmayinsmxng aelamiphlthichdecntxesllprasathaebbybyng khuxmiphlihkarsuxprasathldlng tamdwykarthanganthangprachanthiesuxmlngaelaepnorkh 209 210 khwamsakhythangkhlinik aekikhkhwambadecb aekikh khwambadecbxacpraktepnxakartang karbadecbthismxngechncakkilathikrathbkrathng caktkhruxhklm cakxubtiehturthynthruxinthithangan xacsmphnthkbpyhathngrayasnrayayaw pyharayasnxacrwmeluxdxxkinsmxng sungkddnenuxeyuxinsmxnghruxthahlxdeluxdthiipeliyngmnihesiyhay smxngxaccachasungkxkhwamesiyhaytxlaesniyprasathepncanwnmak aelwkxphawathieriykwa diffuse axonal injury karbadecbthiaexksxnxyangkracay AV 214 kaohlksirsaaetk khwambadecbtxekhthnung odyechphaa huhnwk aelasmxngkrathbkraethuxn concussion kxacepnxakarthiekidthnthidwy nxkcakbriewnthibadecb smxngdantrngkhamxacekidpyhadwy sungeriykwa contrecoup injury pyharayayawthixacekidrwmthngkhwamphidpktithiekidhlngkhwamekhriydthisaethuxnic PTSD aelaphawaophrngsmxngkhngna swnorkhsmxngbadecberuxrng chronic traumatic encephalopathy epnorkhsmxngesuxmthiaeylng degenerative disease hlngcakrbbadecbthisirsahlaykhrng echninnkkila 215 orkh aekikh orkhprasathesuxm neurodegenerative disease cathaihsmxngswnthithahnathitang esiyhaykhuneruxy aelacaaeylngtamxayu twxyangsamyrwmphawasmxngesuxmaebbtang echn orkhxlisemxr phawasmxngesuxmehtuaexlkxhxl phawasmxngesuxmehtuhlxdeluxd epntn rwmorkhpharkhinsnkborkhxun ehtukartidechux ehtukrrmphnthu hruxehtuemaethbxlisum echn orkhhntingtn orkhesllprasathsngkar motor neuron disease phawasmxngesuxmehtuexchixwi phawasmxngesuxmehtusifilis aela Wilson s disease orkhprasathesuxmxacmiphltxsmxngswntang txkarekhluxnihw khwamca aelarabbprachan 216 aemsmxngcapxngkndwytwknrahwangeluxdkbsmxng aetkyngtidechuxtang idrwmthngiwrs aebkhthieriy aelaechuxra kartidechuxxacepnthieyuxhumsmxng eyuxhumsmxngxkesb thienuxsmxng smxngxkesb hruxphayinenuxsmxng echn fiinsmxng cerebral abscess 217 orkhthiechuxwaekidcakphrixxn prion disease sungminxyrwmthngorkhkhrxytsefldt cakhxbaelaorkhthiepnrupaebbyxytang hruxorkhkhuru AW kxacmiphltxsmxngdwy 217 enuxngxk aekikh enuxngxkinsmxngxacepnaebbimrayhruxxacepnaebbray enuxngxkraypkticakracaymacakswnxunkhxngrangkay makthisudcakpxd caketanm aelacakphiwhnng 219 aetmaerngthiekidinsmxngkmiehmuxnkn odyekidcakenuxeyuxidkidrxb smxng meningioma epnmaerngeyuxhumsmxng aelasamykwamaerngenuxeyuxsmxngxun 219 maerngphayinsmxngkxxakarthismphnthkbkhnadaelataaehnng xakarrwmthngpwdhwkhlunis hruxkxxakarodyechphaa epnpyhathiaeylngeruxy echnkarehn karklun karphud hruxxarmnepliynaeplng 219 maerngodythwipcatrwcdwyexkserykhxmphiwetxraela MRI withikartrwcxun rwmthngtrwceluxd karecaanaikhsnhlngxacichephuxtrwcehtukhxngmaerng aelapraeminchnidaelarayakhxngmaerng 219 yasetxrxyd khux edksaemthaosnmkihephuxldxakarbwmkhxngenuxeyuxsmxngrxb enuxngxk aephthyxacphicarnakarphatd aetephraakhwamsbsxnkhxngenuxngxk ephraarayahruxchnidkhxngmaerng aephthyxacrksadwyrngsibabd radiotherapy hruxekhmibabd 219 citphikar aekikh citphikar echn orkhsumesra orkhcitephth orkhxarmnsxngkhw khwamphidpktithiekidhlngkhwamekhriydthisaethuxnic orkhsmathisn orkhyakhidyatha Tourette syndrome aelakartid addiction ruaelwwasmphnthkbkarthangankhxngsmxng 162 166 220 karrksaxacrwmcitbabd psychotherapy karrksathangcitewch karaekpyhathangsngkhm aelakarthanganthimikhwamhmaysahrbtn aela hruxkarbabdthangkhwamkhidaelaphvtikrrm aetehtuthiepnmulthanaelaphyakrnorkhthismphnthknkcatang knmakinrahwangbukhkhl 221 orkhlmchk aekikh karchkehtuorkhlmchk epileptic seizure echuxwasmphnthkbkarthanganthangiffakhxngsmxngthiphidpkti 222 karchkxacpraktepnkarhmdsti epnxakarechphaathi echn karekhluxnihwkhxngaekhnkhahruxpyhakarphud hruxxacepnkarchkaebbthw ip 222 swn status epilepticus hmaythungkarchkkhrngediywhruxkarchktx knthiimhyudphayin 5 nathi 223 karchkmiehtuhlayxyangmak aelahlayxyangkimsamarthtrwcphbsaehtuid inkhnikhorkhlmchk pccyesiyngkhxngkarchkxacrwmkarnxnimhlb karkinyahruxaexlkxhxl aelakhwamekhriyd karchkxactrwcdwykartrwceluxd EEG aelakarsrangphaphthangkaraephthyxun khunxyukbprawtikhnikhaelasingthihmxtrwcphb 222 nxkcakrksaehtuthiepnmulaelaldkaridrbpccyesiyng yaknchkxacchwypxngknkarchktx ipid 222 orkhaetkaenid aekikh orsmxngbangxyang echn Tay Sachs disease 224 epnkhwamphidpktiaetkaenid 225 aelaechuxmkbkarklayphnthukhxngyinaelaokhromosm 225 klumorkhpraephth cephalic disorder sungmiaetkaenid minxy aelaeriykwa lissencephaly mixakarkhuxmirxyphbinepluxksmxngimphx 226 phthnkarkhxngsmxnginkhrrphxacphidpktiephraakhadxahar 227 ephraasarkxwirup teratogen 228 orkhtidtx 229 aelakarichyaesphtidrwmthngaexlkxhxl sungxackx fetal alcohol spectrum disorders 227 230 orkhhlxdeluxdsmxng aekikh dubthkhwamhlkthi orkhhlxdeluxdsmxng phaphexkserykhxmphiwetxrkhxngkartkeluxdinsmxngaebb intraparenchymal bleed tkeluxdin parenchyma duluksrlang kbkarbwmna edema rxb luksrbn orkhhlxdeluxdsmxngmiehtucakkarkhadeluxdipeliyngbriewnsmxng thaiheslltayaelathaihsmxngbadecb sungkxxakartang makmay rwmthngthiyxepnkhachwycawa FAST khux hnahxy Facial droop aekhnimmiaerng Arm weakness pyhakarphud Speech difficulties rwmthngxakarphudimepnkhwam dysarthria aelaphawaesiykarsuxphasa dysphasia khuxhakhaphudhruxsrangpraoykhimid AX 231 xakarcasmphnthkbhnathikhxngbriewnsmxngthiekidpyha dngnn cungxacbngbriewnthiepnehtukhxngorkh echn pyhakarekhluxnihw karphud hruxkarehnpkticasmphnthkbsmxngihy swnpyhaekiywkarthrngtw karehnphaphsxn xakarrusukhmun aelaxakarthimiphltxrangkaythngsxngsik pkticasmphnthkbkansmxngaelasmxngnxy 232 orkhhlxdeluxdsmxngodymakekidcakkhadeluxd esneluxdxudtn pktiephraamisinghludxudhlxdeluxd embolus takrnthxeluxdaednghludxxk atheroma aelwxudesneluxd n thixun epnlimeluxdinhlxdeluxd hruxesneluxdaedngelktib aetkxacekidcakkartkeluxdinsmxng 233 orkhthixakarhayipphayin 24 chm eriykwa phawasmxngkhadeluxdchwkhraw TIA 233 withikartrwcrwmthngkartrwcrangkay rwmthngtrwcprasath karskprawtikhnikhodyennchwngewlakarekidxakaraelapccyesiyng rwmthngkhwamdnolhitsung cnghwakaretnhwicphidpkti atrial fibrillation aelakarsubbuhri 234 235 khnikhthixayunxykwaxactxngtrwcmakkwa 234 karbnthukkhluniffahwic ECG aela biotelemetry xacichrabucnghwakaretnhwicphidpkti atrial fibrillation xltrasawndxacichtrwckartibkhxnghlxdeluxdaedngaekhrxthid karbnthukphaphhwicdwykhlunesiyngkhwamthisungxacichhalimeluxdinhwic orkhekiywkblinhwic hruxchxnghwicimpid patent foramen ovale 234 kartrwceluxdpkticathaodyepnswnkarekbprawtikhnikh rwmthngkartrwcebahwan aelakartrwcradbikhmnineluxd 234 withikarrksaorkhbangxyangtxngthaihthnewlarwmthng karlalaylimeluxd thrombolysis hruxkarphatdexalimeluxdxxk embolectomy sahrborkhaebbhlxdeluxdxudtn ischaemic stroke karphatdldkhwamkddnsmxng decompression sahrborkhaebbtkeluxd haemorrhagic stroke 236 237 enuxngcakewlaepneruxngwikvtisahrborkhni 238 thngorngphyabalthnghnwyphyabalxun catrwcsxbxyangerngdwn odypktidwyexkserykhxmphiwetxrephuxtrwcorkhaebbtkeluxd dwy computed tomography angiography CTA AY hrux magnetic resonance angiography MRA AZ ephuxtrwchlxdeluxdaedngthisngeluxdipeliyngsmxng 234 phaph MRI sungxacmiichnxykwa xacaesdngbriewnsmxngthimipyhaidaemnyakwa odyechphaaorkhaebbhlxdeluxdxudtn 234 khnikhthixakarkhxngorkhekidkhunaelw rph xacrbekhahnwyorkhhlxdeluxdsmxng aelakarrksacamungkarpxngknimihekidxakarkhxngorkhxikrwmthngihthanyaknlimeluxd anticoagulant echn aexsiphrinhrux clopidogrel yaldkhwamdn aelayaldikhmninesneluxd 236 inbangthi xacichthimphurksaephuxsnbsnunkhnikhaelakarfuntw thimrwmthngphubabdkarphud nkkayphaphbabd aelankcitwithya 239 234 prawtikarmiorkhcaephimkhwamesiyngkarekidphawasmxngesuxmraw 70 aelakarmiorkherw niephimkhwamesiyngraw 120 240 smxngtay aekikh dubthkhwamhlkthi phawasmxngtay smxngtayhmaythungsmxngthiimthanganody sineching aelafunsphaphimid 241 242 sungmixakarepnokhma karirrieflks aelakarhyudhayic apnea 241 aetkarrabuwakhnikhsmxngtayaelwktangkninpraethstang aelayngimidkaryxmrbxyangthwip 242 bangpraethsyngniyamphawasmxngnxytay brainstem death BA dwy 243 thaaephthyrabuwasmxngtaykcamiphltxkarrksakhnikhodyhlkkarrksaphyabalthiirpraoychn BB khuxmkcasmphnthkbkarexaekhruxngchwyihkhnikhrxdchiwitidxxk 244 aelakhnikhthismxngtaybxykhrngmixwywathibricakhid 242 245 aetbxykhrngthaidyakephraasuxsarkbkhrxbkhrwkhxngkhnikhidimdi 246 emuxhmxsngsywakhnikhsmxngtayaelw kcatxngaeykwinicchyxakarhruxorkhthifunsphaphid echn smxnghyudthanganenuxngkbkhwamimsmdulkhxngxielkothrilt hruxkarhyudkarthanganthangprachanehtuprasath neurological cognitive suppression hruxehtuya 241 244 kartrwcrieflks BC samarthchwyihtdsinid karirkartxbsnxngkhxngkhnikhhruxkarhayickechnkn 244 sngektkarnthangkhlinik rwmthngkarirkartxbsnxngodysineching winicchyorkhthiruxyuaelw hlkthanepnphaphprasath lwnxacmibthbathihtdsinidwa smxngtayaelw 241 sngkhmaelawthnthrrm aekikhprasathmanusywithya neuroanthropology epnsakhathisuksakhwamsmphnthrahwangwthnthrrmkbsmxng epnkarsuksawasmxngkxwthnthrrmidxyangir aelawthnthrrmmiphltxphthnakarkhxngsmxngxyangir 247 aetkhwamaetktangthangwthnthrrmthismphnthkbphthnakarkhxngsmxngaelaokhrngsrangsmxngkmikarsuksawicyinsakhaxun dwy 248 citictamthsnatawntk aekikh dubthkhwamhlkthi prachan aela cit kaohlksirsakhxngchayxemrikn fieniys phi ekc sungkaohlksirsathukthalwngdwyaethngehlkodyimthungtay aetepliynkarthanganthangprachankhxngsmxng krninichwythaihkhnbangswnechuxwa karthangankhxngcitichruxsphaphcitickhunxyukbsmxng 249 citprchya philosophy of mind suksapraedntang echn eruxngkhwamrusuktw consciousness aelapyhacit kay mind body problem khwamsmphnthrahwangsmxngkbciticepneruxngthaythaythnginhlkprchyaaelahlkwithyasastr ephraaxthibayidyakwa karthanganthangcitic echnkhwamkhidhruxxarmn samarthekidinokhrngsrangthangkayphaphechnesllprasathaelaisaenps hruxaemaetklikthangkayphaphxun idxyangir nkprchyachaweyxrmnkxthfrith ilbnis Gottfried Leibniz kh s 1646 1716 idklawthungpyhaniinkhaxupmathieriykwa Leibniz s Mill orngsikhxngilbnis ikhr kcatxngyxmrbwa karrbruaelasingthixasymnepneruxngthixthibayimidxasyhlkklsastr khuxodyrupaelakarekhluxnihwemuxcintnakarwa miekhruxngyntrthiwithikarsrangmnsamarththaihmnkhidid rbruthangsmphsid aelaekidkarrbruid kxaccintnakarihmnihykhunodymisdswnehmuxnedim ephuxihedinekhaipduid ehmuxnkbedinekhaipinorngsilm thakhididechnni emuxedinekhaiptrwcdumn kcaphbephiyngaekhchinswntang thikhbknaelakn aetkcaimphbxair thisamarthxthibaykarrbru waekidxyangir id kxthfrith ilbnis inphlngan Monadology 1714 250 khwamsngsywacamikhaxthibayechingklsastrekiywkbkhwamkhididhruxim idphlkdnihnkprchyachawfrngesserxen edkart bwkkbnkprchyaxun ihmiaenwkhidaebbthwiniym dualism khuxkhwamechuxwa citicinepnxisracaksmxngodyradbhnung 251 aetkmiehtuphlthidiepnfaykhdkhanmatlxdmihlkthanechingprasbkarnthichdecnwa karcdaecngthangkayphaph echndwyya hruxkarbadecbthismxng echnmirxyorkh miphltxciticxyangmikalngaelaluksung 252 253 inkhriststwrrsthi 19 krnikhxngnayfieniys phi ekc phuepnkhnnganthangrthifthiidrbbadecbcakaethngehlkkhnadla thiphungthalusmxngkhxngekha idthaihthngnkwicyaelakhnthwipechuxwa karthanganthangprachannnekidechphaainsmxng 249 txmaodytamaenwkhidni hlkthanechingprasbkarncanwnmakthiaesdngwa karthangankhxngsmxngsmphnthxyangiklchidkbkarthanganthangic thaihnkprasathwithyasastraelankprchyapccubnodymakepnnkwtthuniym khuxechuxwa praktkarnthangiccring aelwepnphlkhxng hruxsamarthldthxncnehluxepnephiyngpraktkarnthangkayphaph 254 khnadsmxng aekikh dubthkhwamhlkthi khnadsmxng khnadsmxngkbradbechawnpyyakhxngbukhkhlimsmphnthknxyangmikalng 255 ngansuksamkcaaesdngkhashsmphnthrahwangprimatrsmxngkbradbechawnpyya IQ inradbnxycnthungpanklang odyechliypraman 0 3 0 4 256 swnthismphnthxyangsmaesmxthisudkkhuxsmxngklibhna klibkhmb klibkhang hipopaekhmps aelasmxngnxy thungkrannkyngxthibaykhwamaeprprwn variance khxngradbixkhiwidkhxnkhangnxy radbixkhiwexngksmphnthkbradbechawnpyyathwipaelakhwamchaychladinchiwitpracawncring aekhswnhnung 257 258 stwxun rwmthngwalaelachangmismxngihykwamnusy aetthakhidkhatamsdswnrangkayaelw khuxxtramwlsmxngtxrangkay smxngmnusycaihyekuxbepnsxngethaethiybkbolmapakkhwd epnsamethaethiybkbchimaepnsithrrmda xyangirkdi khathisungkwakimichwachladkwa ephraastwelkmakkmikhathisungmak odykraaetmikhasungsudinbrrdastweliynglukdwynm 259 inwthnthrrmniym aekikh phngsrupbukhlikphaphtamwithyasastrethiymkhux phrenology pi 1883 nganwicyidphisucnwa khwamechuxkhwamekhaicthwipbangxyangekiywkbsmxngimcring rwmthngtananthimimatngaetobranaelathiekidinpccubn echn imcringwa esllprasathcaimepliynihmhlngcakxayuthungsxngkhwb imcringwa mnusyichsmxngephiyngaekh 10 260 wthnthrrmniymyngphudthungkaraebngkarthangankhxngsmxngepnsiksaykhwaxyangngay ekinip khuxrabuwa hnathibangxyangechphaaecaacngtxsmxngkhangidkhanghnungethann nph chawyipunxakioxa mxri 森 昭雄 idbyytikhawa smxngekm game brain sahrbthvsdisungirhlkthanthinaechuxthuxwa karelnekmepnewlanan miphlesiyhaytxsmxngswn prefrontal cortex aelatxkaraesdngxxkthangxarmnaelakhwamkhidsrangsrrkh 261 inprawtichawtawntk smxngidpraktinwthnthrrmniymineruxng phrenology sungepnwithyasastrethiymthirabulksnathangbukhlikphaphwacakdxyuthiswntang khxngepluxksmxng eruxngtang ekiywkbepluxksmxngkyngpraktxyangsakhyinwthnthrrmniymdngthiphbinhnngsuxaelawrrnkrrmechingesiydsi 262 263 smxngepnswnkhxngbnethingkhdiaenwwithyasastr mithimechnkarphatdepliynsmxng isbxrk khux stw mnusy hunyntrthimixngkhprakxbtang echn smxngethiym 264 niyaywithyasastrxemriknpi 1942 khux Donovan s Brain sungcdthaepnphaphyntrthung 3 khrng epneruxngekiywkbsmxngthiekbiwinhlxdaekw sungkhxy ekhaipkhrxbkhrxngrangkhxngphraexkinhnngsux 265 phuththsasnaethrwath aekikh khmphirphuththsasnaidklawthungsmxngiwhlayeruxngrwmthng khmphirsmntpasathikasungepnxrrthkthakhxngphrawinypidk klawthungkhwamepnmakhxnghmxchiwkokmarphccphuepnaephthypracakhxngphraphuththecaaelaphraecaphimphisariwwa idrksaesrsthichawphrankhrrachkhvhphupwypwdsirsaxyu 7 pi odyaephthyxun imsamarthrksaid aelarksaody epidrxyprasankaohlksirsa nastwmichiwitxxkmasxngtw aelwihnxnphk 3 spdah idthrphycakesrsthi 100 000 khapna aelaihesrsthithulthwaythrphyaedphraecaphimphisarxik 100 000 khapna 266 khmphirwisuththimrrkhsungcdepnkhmphirhlkineruxngkarptibtiinphuththsasna idklawthungsmxnginswnsmathinieths xnusstikmmtthannieths kaykhtasti ephuxkarphicarnaihehnepnsingptikuliwwa khawa mt thlung kh mninsmxng idaek enuxeyuxxntngxyuphayinkaohlksirsa mninsmxngnn odysi khawdngsidxkehd aemcaklawwa sidngnmsdthiimsdaelw aetyngimthungepnnmsm dngnikkhwr odysnthan misnthantamoxkas thitngxyu odythis ekidinthisebuxngbn odyoxkas xasyaenwprasan 4 aenw tngrwmknxyuphayinkaohlksirsa ehmuxnkxnaepng 4 kxn thikhnwangrwmknxyu odytdtxn kahndtddwyphundaninkaohlksirsaaeladwyswnaehngmnsmxng niepnsphakhpricechth swnwisphakhpricechth kepnechnediywkbphmnnael prawti aekikhsmyobran aekikh ihexxorklifxiyiptsahrb smxng raw 1 700 pikxn khs aephnphaiphrskhxngexdwinsmith Edwin Smith Papyrus epnbthkhwamthangkaraephthyekhiyninstwrrsthi 17 kxn khs sungxangxingsmxng ekaaekthisudethathiekhyphb odyphbtwihexxorklifxiyiptthirabusmxngthung 8 khrng aelaklawthungxakar winicchyorkh aelaphyakrnorkhsahrbkarbadecbsxngxyangthisirsa aephnphaiphrsklawthungphiwphaynxkkhxngsmxng phlkhxngkhwambadecb rwmkarchkaelaphawaesiykarsuxkhwam eyuxhumsmxng aelanahlxsmxngikhsnhlng 267 268 instwrrsthi 5 kxn khs rawphuththkal nkprchyaaexlkhmixxnaehngokhrothn Alcmaeon of Croton inaemknakriesiy Magna Grecia epnbukhkhlaerkthiphicarnasmxngwa epnmulthankhxngcitic 268 innkhrexethnssmyediywkn phupraphnthnirnamkhxngphlngan On the Sacred Disease ineruxngorkhskdisiththi sungepnbthkhwamthangkaraephthyodyepnswnkhxngphlngan Hippocratic Corpus aelapktiykekhrditihhipphxkhrathis echuxwasmxngepnmulthankhxngechawnpyya swnaexristxetil 384 322 pikxn kh s dngedimechuxwa hwicepnmulthankhxngechawnpyya aelaehnsmxngwa epnklikthaeluxdiheynlng ekhaihehtuphlhnunginbrrdaehtuphltang wa mnusymiehtuphlmakkwastwdircchanephraamismxngihykwaephuxldkhwamrxnaerngkhxngeluxd 269 aexristxetilidphrrnnathungeyuxhumsmxng aelaaeykaeyarahwangsmxngihykbsmxngnxy 270 aephthykrikobranhirxfils Herophilus aehngemuxngaekhlsidxn Chalcedon inthswrrsthi 4 3 kxn khs idaeykaeyksmxngihykbsmxngnxy aelaidihkhaphrrnnakhxngrabbophrngsmxngthichdecnepnkhnaerk swnexersisethrths Erasistratus 304 250 pikxn kh s aehngekaakhi Kea idthdlxngkbsmxngthiyngepnxyu aetphlngankhxngekhakimehluxxyuinpccubn miaetwrrnkrrmxun thiklawthung singthikhnobranehlanikhnphb txngmakhnphbihmxikepnphnpihlngcakphwkekhaesiychiwit 268 aephthynkkaywiphakhchawkrikekelninkhriststwrrsthi 2 chwngckrwrrdiormnidphatdsmxngkhxngaeka ling sunkh aelahmu aelwsrupwa ephraasmxngnxyhnaaennkwasmxng mntxngkhwbkhumklamenux aelaephraasmxngihyxxn cungtxngepnswnthiaeplphlprasathsmphs aelwtngthvsdiephimwa smxngthanganxasywiyyanstwthiekhluxnthiipmainophrngsmxng 268 269 smyfunfusilpwithya aekikh inpi 1316 phlngankhxngaephthychawxitalimxndion edx lussi khux Anathomia iderimkarsuksathangkaywiphakhpccubnkhxngsmxng 271 nkkaywiphakhchawxitalinikhxlx massa Niccolo Massa phbinpi 1536 wa ophrngsmxngminaetm 272 aephthynkkaywiphakhchawxitalixakhaexnecol phikhkhxlxmini Archangelo Piccolomini aehngormepnbukhkhlaerkthiaeykaeyasmxngihykbepluxksmxng 273 inpi 1543 aephthynkkaywiphakhchaweflmichaexnedriys ewsaeliys idphimphphlngan 7 elmmichuxwa De humani corporis fabrica eruxngokhrngsrangrangkaymnusy 273 274 275 elmthi 7 epneruxngsmxngaelata miphaphraylaexiydkhxngophrngsmxng prasathsmxng txmitsmxng eyuxhumsmxng okhrngsrangta esneluxdthieliyngsmxngaelaikhsnhlng aelaesnprasathnxkswnklang 276 ekhaptiesthkhwamechuxthwipwa ophrngsmxngthahnathikhxngsmxng odyxangwa stwhlayxyangmirabbophrngsmxngkhlaymnusy aetkimidmipyyacring 273 erxen edkartesnxthvstithwiniym dualism ephuxaesdngkhwamsmphnthrahwangsmxngkbcitic aelaesnxwa txmitsmxngepnthithiciticmiptismphnthkbkay 272 thvsdininacaepntwkratunihnkkaywiphakhtx maphyayamsuksakhwamsmphnththangkaywiphakhkbthanghnathikhxngsmxngswntang 277 aephthychawxngkvsothms willis thuxwa epnphubukebikkhnthisxnginngansuksaprasathwithyaaelawithyasastrekiywkbsmxng inngan Cerebri Anatome kaywiphakhkhxngsmxng pi 1664 tamdwy Cerebral Pathology phyathiwithyainsmxng pi 1667 hmxidphrrnnathungokhrngsrangkhxngsmxngnxy ophrngsmxng siksmxngthngsxng kansmxng prasathsmxng idklawthungeluxdthisngipeliyngsmxng aelaidesnxhnathithismphnthkbbriewntang insmxng 273 okhrngsranghlxdeluxdthieriykwa circle of Willis tngchuxtamhmxhlngcakthiekhatrwcsxbkarsngeluxdipeliynginsmxng epnkhnaerkthiichkhawa neurology prasathwithya 278 hmxexasmxngxxkcakrangephuxtrwcsxb aelaptiesththsnkhtithithwipwa epluxksmxngmiaethlxdeluxd aelathsnkhtithisubmatngsxngphnpiwa epluxksmxngimkhxysakhy 273 inchwngkhristthswrrs 1820 aephthynksrirwithyachawfrngess Jean Pierre Flourens idbukebikichwithikarthdlxngthithalaysmxngswnodyechphaa khxngstwaelwrabuphltxkarekhluxnihwaelaphvtikrrm 279 inplaykhriststwrrsthi 19 aephthynksrirwithyachaweyxrmn Emil du Bois Reymond aelaaehrmn fxn ehlmhxlths daeninrxytamkhrukhxngphwkekhakhux Johannes Peter Muller aelaidaesdngwa kraaesprasathwingiptamesnprasath aetimidthuxtamwa kraaesprasathechnnisamarthmxngehnid 280 inpi 1875 aephthychawxngkvsrichard ekhthxn Richard Caton idaesdngwa mikraaesprasathinsiksmxngkhxngkratayaelaling 281 phaphwadkhxngthansmxng cakphlngan De humani corporis fabrica pi 1543 khxngaexnedriys ewsaeliys phaphrangkaohlkmnusyphaphhnungkhxngeloxnarod da winchi smypccubn aekikh hipopaekhmpskhxngkratayepnphaphtdinaenwtng cakphlngan Sulla fina anatomia degli organi centrali del sistema nervoso pi 1885 khxngkhamilol kxlci phaphesllinsmxngnxykhxnglukik cakphlngan Estructura de los centros nerviosos de las aves pi 1905 khxngsanetiyok ramxn xi kakhl karsuksasmxngidkawhnakhunodyichklxngculthrrsnaelakaryxmsiengin silver stain thiphthnakhunodyaephthychawxitalikhamilol kxlci Camillo Golgi sungsamarthaesdngokhrngsranglaexiydkhxngesllprasathesllediyw 282 sungtxmaaephthynkprasathwithyasastrchawsepnsanetiyok ramxn xi kakhl idichaelwtnghlkesllprasath neuron doctrine sungsmynnepnsmmtithanphlikaephndinwa esllprasathepnhnwyptibtinganphunthankhxngsmxng ekhaichklxngculthrrsnaelwkhnphbeslltang hlayxyang aelwesnxhnathikhxngesllthiehn 282 ephraaehtuni nph kxlci aela nph ramxn xi kakhlcungthuxwaepnbidaaehngprasathwithyasastryukhkhriststwrrsthi 20 txmathngsxngidrbrangwloneblrwmkninpi 1906 sahrbngansuksaaelasingthikhnphbinsakhani 282 inpi 1906 aephthynkprasathsrirwithyachawxngkvsesxr chals echxrringtn Charles Scott Sherrington idtiphimphphlnganthrngxiththiphlkhux The Integrative Action of the Nervous System karthanganprasankhxngrabbprasath sungtrwcsxbhnathikhxngrieflks phthnakarthangwiwthnakarkhxngrabbprasath karaeykthahnathikhxngsmxng karcdraebiybaelakarthahnathiinradbesllkhxngrabbprasathklang 283 swnnkprasathsrirwithyachawxemrikncxnh fultn John Farquhar Fulton idtngwarsar Journal of Neurophysiology warsarprasathsrirwithya aelaidtiphimphtarasrirphaphkhxngrabbprasaththikhrxbkhlumepnelmaerkinpi 1938 284 prasathwithyasastrinkhriststwrrsnikidklayepnsakhakarsuksatanghakxasybukhkhlsakhyhlaykhn 285 nkprasathkaywiphakhchawxemriknedwid rixxk David Rioch iderimrwmnganwicythangkaywiphakhaelasrirphaphphunthan kbkartrwcrksathangcitewch n sthabnwicythharbkwxletxrrid WRAIR erimtngaetkhristthswrrs 1950 286 insmyediywknnkchiwwithyachawxemriknfransis chmitht Francis O Schmitt idtngopraekrmwicythangprasathwithyasastr Neuroscience Research Program sungepnxngkhkrrahwangmhawithyalyaelarahwangnanachatithisuksachiwwithya ewchsastr citwithya aelaphvtikrrmsastrrwmkn khawa prasathwithyasastr neuroscience erimmacakopraekrmni 287 aephthynkkaywiphakhchawfrngessphxl obrkha Paul Broca idsmphnthbriewnsmxngkbhnathicaechphaa odyechphaathibriewnobrkha Broca s area odyxasynganthithakbkhnikhsmxngesiyhay 288 nkprasathwithyachawxngkvscxhn aecksn John Hughlings Jackson idphrrnnathunghnathikhxngepluxksmxngswnsngkar motor cortex odyefadukardaeninkhxngkarchkehtuorkhlmchkthikracayipthwrangkay swnaephthynkkaywiphakhchaweyxrmnkharl aewrniek Carl Wernicke idphrrnnabriewnaewrniek Wernicke s area thismphnthkbkarekhaicphasaaelakarkxsrangphasainsmxng nkprasathwithyachaweyxrmnkhxrbieniyn brxdmnn Korbinian Brodmann idaebngsmxngxxkepnswntang xasyruppraktkhxngesll 288 imekinpi 1950 echxrringtn nkprasathsrirwithyachayxemriknecms ephephs James Papez aelaaephthynkprasathwithyasastrphxl aemklin Paul D MacLean kidrabuhnathikhxngkansmxngaelarabblimbikhlayxyang 289 290 291 swnsmrrthphaphkhxngsmxnginkarcdraebiybihmaelakarepliynaeplngtamxayu aelakarmirayaphthnakarwikvti critical development period macakkarsuksapraednsphaphphlastikkhxngprasath neuroplasticity sungmiphubukebikkhuxnkprasathwithyachawxmriknmakaert ekhnnard Margaret Kennard phuidthdlxngkblinginchwngkhristthswrrs 1930 40 292 aephthychawxemriknkhuxharwiy khuchching 1869 1939 idkaryxmrbwa epnprasathslyaephthythichanayepnkhnaerkinolk 293 inpi 1937 prasathslyaephthywxletxr aedndi Walter Dandy iderimthaprasathslykrrmthiesneluxdodyidtdhlxdeluxdpxngophnginkaohlk intracranial aneurysm xxkepnrayaerk 294 kaywiphakhepriybethiyb aekikhsmxngmnusymilksnahlayprakarthithwipkbsmxngkhxngstwmikraduksnhlngthnghmd 295 aelahlayxyangkthwipkbsmxngkhxngstweliynglukdwynmdwy 296 thiednsudkkhuxepluxksmxngthimi 6 chnaelaokhrngsrangthismphnthkn 297 rwmthng hipopaekhmpsaelaxamikdala 298 aetepluxksmxngkhxngmnusyodysdswnkcaihykwastweliynglukdwynmxunhlayxyang 299 mnusymiepluxksmxngswnsmphnth okhrngsrangkhxngprasathsmphs aelaokhrngsrangkhxngprasathsngkar makkwastweliynglukdwythielkkwa echnhnuaelaaemw 300 odyepnsmxngkhxngiphremt smxngmnusymikhnadepluxksmxng emuxethiybsdswnkbkhnadrangkay thiihykwastweliynglukdwynmxun odymak 298 aelamirabbkarehnthiphthnakhunepnxyangdi 301 302 odyepnsmxngkhxngwngslingihy smxngmnusyihykwamakaemethiybkbsmxngkhxnglingthwip smxngmnusyihykhuneruxy tamladbwiwthnakarkhxngmnusycak Australopithecus 4 lanpikxn cnmaepn Homo sapiens inpccubn 303 304 emuxsmxngihykhun khnadaelaruprangkhxngkaohlksiksakepliynipdwy 305 cakkarmiprimatrraw 600 sisi in Homo habilis cnmakodyechliyraw 1 520 sisi in Homo neanderthalensis 306 khwamaetktangknkhxngdiexnex karaesdngxxkkhxngyin aelaptismphnthrahwayinkbsingaewdlxm xacchwyxthibaykhwamaetktangrahwanghnathikhxngsmxngmnusykbkhxngiphremtxun 307 epluxksmxngkhxngnkaelastweluxykhlanimmirxyphb stweliynglukdwynmmiradbkarphb wdkhaepn Gyrification index insmxngimethakn stwthiihykwamkcamiradbsungkwa olmamhasmuthrskul Globicephala Pilot whale aelaolmapakkhwdmiradbsungsud mnusymiradbediywknkbmaaemsmxngmnusycaihykwa stwfnaetha echnhnu odymakmiradbtasud khuxepluxksmxngodymakeriyb 308 echingxrrth aekikh 1 0 1 1 internal jugular vein epnesnhlxdeluxddakhx jugular vein epnkhuthirwbrwmeluxdcaksmxngaelaswnphiw khxngibhnaaelakhx esneluxdxyuin carotid sheath epnenuxeyuxekiywphnthihumhlxdeluxdthikhx odyxyurwmknkb common carotid artery aelaesnprasathewks karkhwbkhumtnexng self control epnswnkhxngkarybyngtnexng inhibitory control hruxkarybyngkartxbsnxng response inhibition epnsmrrthphaphinkarkhwbkhumxarmn khwamkhid aelaphvtikrrmkhxngtnemuxephchiyhnakbekhruxnglxicaelaxarmnchwwub 3 4 epnswnhnungkhxng executive function epnkrabwnkarthangprachanthicaepninkarkhwbkhumtwexngephuxihthungepahmaythitxngkar 4 5 3 0 3 1 karefnhanythangnamthrrm abstraction odyhlkhmaythungkrabwnkarthangkhwamkhidthiskdexahlkaelaaenwkhidaebbthwip odyxasytwxyanghruxklumtwxyangodyechphaa hruxxasywtthuhruxbukhkhlsakhy hruxxasysyhlkpthmthatu first principle hruxxasywithixun 4 0 4 1 smrrthphaphkaraeprrupnanamiti visual spatial ability hrux spatial visualization ability epnsmrrthphaphinkaraeprrup 2 3 4 miti inic pktiwddwykhxthdsxbthangprachanngay sungichphyakrnprasiththiphaphkhxngbukhkhlinkarichswntxprasankbphuichbangxyang okhrngsrangkhxng basal forebrain xyukhanghnadanitkhxng striatum rwmthng nucleus accumbens nucleus basalis diagonal band of Broca substantia innominata aela medial septal nucleus okhrngsrangehlanisakhyephraaphlit acetylcholine ACh sungkracayipthwsmxng odycdepnswnsakhythisudthiphlit ACh khuxepnrabbprasathaebb cholinergic khxngrabbprasathklang 6 0 6 1 6 2 circumventricular organs CVOs epnokhrngsrangtang insmxngthimiesneluxdmakmayaetimmitwknrahwangeluxdkbsmxng BBB tampkti 6 CVO echuxmrabbprasathklangkbrabbihlewiynthwip aelayngepnswnsakhykhxngrabbprasathrwmtxmirthx neuroendocrine dwy 7 karir BBB thaih CVO samarthepnthangphankhxngephpithdaelahxromncakenuxeyuxprasathihekhaipinrabbeluxdthwip inkhnathiyngpxngknsmxngcaksarphistang 8 9 inrabbprasathklang chxngiteyuxxaaerknxyd 19 subarachnoid space epnchxngrahwangeyuxxaaerknxydkbeyuxephiy 8 0 8 1 subarachnoid cistern epnchxngtang thiepidkwangkhunenuxngkbkaraeykcakknkhxngeyuxxaaerknxydkbeyuxephiyodysubtxkbchxngiteyuxxaaerknxyd subarachnoid space phayinsmxng chxngkhux cistern ehlaniminahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid radbkhwamimsmmatrknrahwangsmxngsiksaykhwaepneruxngnasnictxnkprasathchiwwithyabrrphkal ephraamnechuxmkbkarthndmuxsaykhwa hruxkbphthnakarthangphasainbukhkhlthiepntwxyangnn imwacaepnmnusyobranhruxmnusypccubn khwamimsmmatrekidephraakarthahnathiechphaakhxngsmxngsiknn aelasamarthehnidthnginechingkhunphaphaelaechingpriman khwamimethaknkhxngsiksmxngthngsxng sungeriykwa petalia ekidemuxsmxngsikhnungkwangkwahruxyunxxkmakkwasiktrngkham echn khnthndmuxkhwapkticamismxngklibthaythxysiksayaelasmxngklibhnasikkhwathiihykwasiktrngkham petalia yngekidenuxngephraasunyphasathixyuinsiksmxngklibhnaodyechphaa khxngmnusypccubn petalia insmxngklibthaythxycatrwccbidngaykwasmxngklibhna 26 clivus epnkhalatinaeplwa phunladexiyng epnkradukswnhnungthithankaohlksirsa epnaexngtun hlng dorsum sellae thiexiynglngipcak dorsum sellae ipyngfxraemnaemknm 47 khux esnprasathklamenuxta esnprasaththrxekhliyr trochlear nerve esnprasathithrecminl esnprasathaexbdiwesnt abducens nerve esnprasathefechiyl esnprasathhu vestibulocochlear nerve esnprasathlinkhxhxy glossopharyngeal nerve esnprasathewks vagus nerve esnprasathaexkesssxri accessory nerve aelaesnprasathklamenuxlin hypoglossal nerve 48 Bergmann glia hrux epithelial cells Golgi epithelial cells radial astrocytes epnaexsothristmikhwediyw epn radial glia aebbxnuphthth smphnthxyangiklchidkbesllephxrkhinciinsmxngnxy 53 ephraaduehmuxncakhngyuninsmxngnxyaelamihnathikhlaykbaexsothrist cungyngideriykidwa aexsothristphiess esllmiswnyunepnrsmi radial phaneyuxkhxngepluxksmxngipyutithiphiweyuxephiyepnplayrupkraepaa 54 esllchwyinkaryaythikhxng granule cell khuxnathangesllprasathelk cakchnnxkkhux external granular layer khxngepluxksmxngnxyipyngchn internal granular layer dwyswnyunepnrsmithimixyangmakmaykhxngmn 55 56 nxkcakhnathiinchwngphthnakarkhxngsmxngnxyinrayatn esllyngcaepninkrabwnkar synaptic pruning thaesllephxrkhincitayephraarabbprasathklangbadecb esllcakhyaycanwnephuxthdaethnenuxeyuxthiesiyhay epnkrabwnkarthieriykwa gliosis 57 58 ependymal cell epnesllthiimichesllprasathinrabbprasathklangsungprakxbknepn ependyma aelachwykarihlewiynkhxngnahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid 59 tanycyte epn ependymal cell phiessthiphbinophrngsmxngthisaminsmxng aelathiphunkhxngophrngsmxngthisi miswnyunekhaiplukinihopthalams epnipidwahnathikhxngmnkkhuxephuxsngtxsyyanekhmicaknahlxsmxngikhsnhlng cerebrospinal fluid ekhaipyngrabbprasathklang radial glial cell epnesllmisxngkhwthikracayiptamkwangkhxngepluxksmxnginrabbprasathklangkhxngtwxxnstwmikraduksnhlngthikalngphthna 60 61 thahnathiepn primary progenitor cell eslltnkaenid thisamarthklayepnesllprasath aexsothrist aelaoxliokednodrist 62 microglia epnesllekliychnidhnungthiphbthwsmxngaelaikhsnhlng 63 epnesll 10 15 thiphbinsmxng 64 ephraaepnesllmaokhrfac macrophage cungmihnathiekiywkbphumikhumkninrabbprasathklang 65 esllrupdaw stellate cell epnesllxairkidthimirupkhlaydawephraaednidrtthiyunxxkcaktwesll sungphbidinswntang khxngrangkay esllptibtingan effector cell epnesllchnidtang thitxbsnxngxyangaexkthiftxsingeraodythaihekidphlxairbangxyang karsngsyyanthangekhmichiwphaphrahwangthangedinxaharkbrabbprasathklangthieriyksn wa brain gut axis inbrrdanathnghmdinrangkay transcellular fluid naphanesll epnswnsungxyuinchxngthibudwyenuxeyuxbuphiw epnswnnxysudkhxngnanxkesll extracellular fluid sungrwmphlasmaaelasarnaaethrk mnmkcaimnbrwmepnswnkhxngnanxkesll aetkxyuthipraman 2 5 khxng narangkaythnghmd hrux 5 khxng nanxkesll napraephthnirwmnahlxsmxngikhsnhlng ocular fluid aelaikhkhx 72 chxngklang central canal ependymal canal epnchxngminahlxsmxngikhsnhlngthiwingtamyawtlxdikhsnhlngthnghmd odyechuxmkbrabbophrngsmxng 22 0 22 1 chuxwa glymphatic system byytikhunephuxihruwamnxasyesllekliyodymihnathikhlaykbrabbnaehluxngnxkprasathswnklang 76 hlxdnaehluxngineyuxsmxng meningeal lymphatic vessel hrux meningeal lymphatic epnekhruxkhayhlxdnaehluxngthrrmdathikhnphbinpi 2014 xyukhnankb dural sinus aelahlxdeluxdineyuxsmxng meningeal arteries inrabbprasathklang CNS khxngstweliynglukdwynm epnswnkhxngrabbnaehluxng mihnathirabayesllphumikhumkn omelkulelk aelanathimimakekincak CNS ekhaipinpumnaehluxnglukthikhx 80 81 24 0 24 1 ophrnghlxdeluxddaineyuxdura dural venous sinuse hrux dural sinus hrux cerebral sinus hrux cranial sinus epnophrnghlxdeluxdda venous channel thiphbinrahwangchn endosteal layer kbchn meningeal layer khxngeyuxdurainsmxng 82 hlxdeluxdaedng internal carotid artery epnhlxdeluxdaednghlkxyanghnung miepnkhu aetlaesnxyuthikhangkhxaelasirsamnusy ekidcakhlxdeluxdaedng common carotid artery sungaeykxxkepnsxngsakhakhux internal carotid artery aela external carotid artery thilakradukikhsnhlngradb 3 hrux 4 thikhx internal carotid artery sngeluxdipeliyngsmxng ethiybkb external carotid artery sungsngeluxdipeliyngswnxun khxngsirsa echn ibhna hnngsirsa kaohlksirsa aelaeyuxhumsmxng chxng interpeduncular cistern oxblxm cerebral peduncle aelaokhrngsrangthixyuin interpeduncular fossa aelamiokhrngsranghlxdeluxdkhux circle of Willis aelaprasathklamenuxta CN3 chxngaekhrxthid carotid canal epnthangphanekhaipinkradukkhmb epnthangthi internal carotid artery ekhaipin middle cranial fossa cakkhx chxngerimthiphiwdanlangkhxngkradukkhmbepnthangekhacakdannxk kradukkhx cervical vertebrae mi chxngtamkhwang transverse foramina ephuxih vertebral artery phanipthungchxngfxraemnaemknmaelwekhaipsudthi circle of Willis id niepnkradukkhxthielksud ebasud odychxngtamkhwangmirupsamehliym insmxngmnusy superior cerebellar peduncle hrux brachium conjunctivum epnkhuokhrngsrangkhxngenuxkhawthiechuxmsmxngnxykbsmxngswnklang cerebellar tentorium cakphasalatinwa tentorium cerebelli sungaeplwa etnthkhxngsmxngnxy epnswnyudkhxngeyuxdurathiaeyksmxngnxycakswnlang inferior khxngsmxngklibthaythxy superior cerebral vein hrux exterior cerebral vein thieriykwa anastomosing veins confluence of sinuses hrux torcular herophili hrux torcula epncudrwmophrngeluxdkhux superior sagittal sinus straight sinus aela occipital sinus cudnixyuthipumkhxngthaythxy occipital protuberance pericyte epnesllhdekrngid contractile cell sungphnrxbesllexnodthieliymthibuhlxdeluxdfxyaelahlxdeluxddaelkthwrangkay 92 area postrema epnokhrngsranginkansmxngswnthaysungkhwbkhumkarxaeciyn twknrahwangeluxdkbnahlxsmxngikhsnhlng kkhux khayhlxdeluxdsmxng choroid plexus neural crest cell epnklumesllchwkhrawthimiechphaastwmikraduksnhlng ekidcakchnesllexkothedirmintwxxn epntwkxesllpraephthtang rwmthng melanocyte kradukxxnaelakradukkhxngkaohlkaelaibhna klamenuxeriyb esllprasathnxkswnklang esllprasathinlais aelaesllekliy 95 encephalization epnkrabwnkarthangwiwthnakarthithaihsmxngihykwathikhadiwsahrbstwspichishnung echn mnusy 112 medullary pyramid phiramidkhxngemdlla epnokhrngsrangenuxkhawepnkhukhxngkansmxngswnthaythimiesniyprasathsngkarkhxng corticospinal tract aela corticobulbar tract odyrwmeriykwa pyramidal tract khxblangkhxngphiramidcakahnddwyesniyprasaththikhamikhwthaeyng decussate cnghwaxltraediyn ultradian rhythm khuxcnghwakarthangankhxngrangkaythimiwtckrnxykwa 24 chm motivational salience khwamednthangaerngcungic epnkrabwnkarthangprachanaelarupaebbkarisicxyanghnungthiihaerngcungic hruxphlkdn ihbukhkhlmiphvtikrrmekhahahruxhnicakwtthu bukhkhl ehtukarn hruxphlodyechphaaxyangidxyanghnung 151 motivational salience khwbkhumkhwamrunaerngkhxngphvtikrrmthichwyihthungepahmayodyechphaaxyanghnung khwbkhumewlaaelaphlngnganthibukhkhlphrxmcaxuthisihephuxihthungepahmay aelakhwbkhumkhwamesiyngthibukhkhlyxmrbemuxthakarihthungepahmay 151 karybyngthangprachan cognitive inhibition hmaythungsmrrthphaphthangicinkarimisicsingerathiimsakhytxnganthikalngthaxyu hruxtxsphaphthangciticthimixyu sungthaidaebbsinechinghruxaebbepnbangswn imwacatngichruxim 158 43 0 43 1 task switching hrux set shifting epn executive function inkarepliynkarisicrahwangngantang odyimidtngic ethiybkb cognitive shifting thithakarkhlayknaetthaodytngic hnathisxngxyangniepnpraephthyxykhxngaenwkhidineruxngkhwamyudhyunidthangprachan cognitive flexibility karybyngkartxbsnxng response inihibition hrux inhibitory control epnkrabwnkarthangprachanthithaihbukhkhlsamarthybyngxarmnchwwubaelakartxbsnxngtamthrrmchatihruxtamnisytxsingera thieriykwa prepotent response ephuxeluxkphvtikrrmthismkhwrkwa aelasxdkhlxngkbepahmaythitxngkarthaihsaerc 159 160 echn karhamickartxbsnxngtamthrrmchatiephuxcakinkhnmekhkemuxkalngxyakcaepntxngichkrabwnkarni 45 0 45 1 ekhruxkhayphawaodypriyay default mode network epnekhruxkhayesllprasathinsmxngthithanganemuxbukhkhlimidisicinsingeraphaynxkxun sungehniddithisudemuxbukhkhlkalngphkthrrmda imidthaxairepnphiess aelaehnnxythisudemuxtxngtngsmathikbsingeraphaynxk aetekhruxkhaykyngthangandwyemuxthakicinic odyechphaaemuxphinicphicarnasingthixyuinic rwmthngkarralukthungkhwamcaxasyehtukarn nukthungxnakht aelakarmxnginaengmumkhxngphuxun aemnkwichakarcayxmrbwamiekhruxkhayni aelaehnphxngdwyknwa aeknekhruxkhayxyuthiihn echn medial prefrontal cortex posterior cingulate cortex angular gyrus precuneus aela middle frontal gyrus epntn aethnathiaelarabbyxykhxngmnkyngsuksaxyu odyminkwichakarthiesnxwa karphinicphicarnaekiywkbtnexngaebbimcakdxacepnphawathangciticodypriyayemuxbukhkhlimidthaxair 196 197 xwywaethiymkhlaysmxng cerebral organoid epnxwywarupyxkhlaysmxngthieliyngkhuninhlxdaekw odyeliyng pluripotent stem cell eslltnkaenidthiklayepnesllidhlaychnid epnewlahlayeduxnin bioreactor thihmunidechingsammiti 189 smxngmnusyepnrabbthisbsxnmakprakxbdwyenuxeyuxwiwithphnthu epnchudesllprasaththitang knmakmay khwamsbsxnechnnithaihkarsuksaaelaekhaicsmxngepneruxngyak odyechphaaemuxekiywkborkhprasathesuxm neurodegenerative disease dngnn cudhmaykhxngkarsrangaebbcalxngprasathinhlxdaekwkephuxsuksaorkhehlaniinsingaewdlxmthingay kwa odyimmikhxcakdehmuxnkbsmxngepn odyechphaaemuxthakbmnusy srirphaphthitangknrahwangmnusykbstweliynglukdwynmthiichepntwaebbxun mkcakdkhxbekhtkhxngngansuksaekiywkborkhthangprasath neurological disorder xwywaethiymkhlaysmxngepnenuxeyuxsngekhraahthimiesllprasathhlaychnidaelamilksnathangkaywiphakhhlayxyangthikhlaykbsmxngstweliynglukdwynm milksnakhlaykbchnesllprasathinepluxksmxngaelakhayhlxdeluxdsmxng choroid plexus makthisud inbangkrni cathaepnokhrngsrangkhlaykbcxta eyuxhumsmxng aelahipopaekhmps 189 190 sungthaidephraaeslltnkaenidmiskyphaphinkarklayepnenuxeyuxrupaebbtang ody chata khxngmncakhunxyukbpccymakmay cungsamarthihpccykbeslltnkaenidephuxsrangxwywaethiymkhlaysmxngthimiokhrngsrangaebbtang 47 0 47 1 transcriptome epnestkhxngomelkulxarexnexthnghmdineslltwhnunghruxinesllklumhnung bangkhrnghmaythungxarexnexthnghmd bangkhrnghmaythung mRNA ethann khunxyukbkarthdlxng mntangkb exome ephraarwmaetomelkulxarexnexthiphbinklumesllthirabuodyechphaa aelapkticarwmcanwnhruxkhwamekhmkhnkhxngomelkulxarexnexaetlaxyangnxkehnuxipcakwaepnomelkulxair diffuse axonal injury DAI epnkhwambadecbinsmxngthikxrxyorkhxyangkwangkhwangthienuxethakhuxthilaesniyprasath epnkarbadecbsirsa traumatic brain injury thisamythisudaelakxkhwamesiyhaymakthisudxyanghnung 211 epnehtuhlkxyanghnungthithaihhmdstiaelakxsphaphphkeruxrnghlngcakbadecbhnkthisirsa 212 mnekidinkhrunghnungkhxngkhnikhthibadecbhnkthisirsa aelaxacepnkhwamesiyhayhlkinkhnikhmnsmxngkrathbkraethuxn concussion phlbxykhrngkhuxxakarokhma odykhnikh 90 thimi DAI khnrunaerngcaimfunkhunstixik 212 phuthiklbkhunstixikbxykhrngcaphikarxyangsakhy 213 orkhkhuru Kuru epnkartidechuxiwrsnxkaebbthirabbprasathswnklang phbthipraethspapwniwkini epnorkhprasathesuxmthiaekikhimid ekidcakphrixxnhnungthimiinmnusy 218 orkhekidcakkaraephroprtinphrixxnthiphbphidpkti sungkxxakartang echnsn klamenuxesiyshkar aelaprasathesuxm inkhawa FAST xksrsudthayhmaythung Time khuxthamixakarechnniaelw miewlaehluxnxy ihribiporngphyabal computed tomography angiography CTA CT angiography epnethkhnikhkarthayphaphrngsiswntdxasykhxmphiwetxrthiichaesdngphaphhlxdeluxdaedngaelahlxdeluxddathwrangkay erimtngaethlxdeluxdaedngthisngipeliyngsmxng thiipeliyngpxd it aelakha magnetic resonance angiography MRA epnklumethkhnikhthithadwy MRI ephuxaesdngphaphhlxdeluxd aelahlxdeluxddaaetnxykwa aelatrwcduwamntib xudtn phnngbwm mioxkasaetk hruxmikhwamphidpktixun hruxim bxykhrngichtrwcesneluxdkhxaelasmxng xkaelathxng esneluxdit aelaesneluxdkha phawasmxngnxytay brainstem death epnxakarthangkhlinikkhxngkhnikhokhmathihayicphanekhruxngchwyhayic khuxkarirrieflksthimiwithiprasathphankansmxng sungepncudthiechuxmikhsnhlngkbsmxngswnklang kbsmxngnxy aelakbepluxksmxng karrabuwamiphawaniethakbrabuwakhnikhmiphyakrnorkhkhuxoxkasrxdchiwitthinxymak hwiccahyudetnbxykhrngphayinimkiwn aetxacdaenintxipidepnxathity hruxepneduxn thaichekhruxngchwyihmichiwittxipid futile medical care hrux medical futility rwm vestibulo ocular reflex corneal reflex gag reflex aelakarepliynkhnadmantaepnkartxbsnxngtxaesng 244 xangxing aekikh Cerebrum Etymology dictionary com ekb cakaehlngedimemux 2015 10 24 subkhnemux 2015 10 24 Encephalo Etymology Online Etymology Dictionary ekb cakaehlngedimemux 2017 10 02 subkhnemux 2015 10 24 DeLisi Matt 2014 Low Self Control Is a Brain Based Disorder pp 172 183 doi 10 4135 9781483349114 n11 4 0 4 1 Diamond A 2013 Executive functions Annu Rev Psychol 64 135 168 doi 10 1146 annurev psych 113011 143750 PMID 23020641 Core EFs are inhibition response inhibition self control resisting temptations and resisting acting impulsively and interference control selective attention and cognitive inhibition working memory and cognitive flexibility including creatively thinking outside the box seeing anything from different perspectives and quickly and flexibly adapting to changed circumstances Self control is the aspect of inhibitory control that involves control over one s behavior and control over one s emotions in the service of controlling one s behavior Self control is about resisting temptations and not acting impulsively The temptation resisted might be to indulge in pleasures when one should not e g to indulge in a romantic fling if you are married or to eat sweets if you are trying to lose weight to overindulge or to stray from the straight and narrow e g to cheat or steal Or the temptation might be to impulsively react e g reflexively striking back at someone who has hurt your feelings or to do or take what you want without regard for social norms e g butting in line or grabbing another child s toy Another aspect of self control is having the discipline to stay on task despite distractions and completing a task despite temptations to give up to move on to more interesting work or to have a good time instead This involves making yourself do something or keep at something though you would rather be doing something else It is related to the final aspect of self control delaying gratification Mischel et al 1989 making yourself forgo an immediate pleasure for a greater reward later often termed delay discounting by neuroscientists and learning theorists Louie amp Glimcher 2010 Rachlin et al 1991 Without the discipline to complete what one started and delay gratification no one would ever complete a long time consuming task such as writing a dissertation running a marathon or starting a new business PMC 4084861 Timpano K R Schmidt N B 2013 The relationship between self control deficits and hoarding A multimethod investigation across three samples The Journal of Abnormal Psychology 122 1 13 25 doi 10 1037 a0029760 Self control is the capacity to exert control over one s behavior and is necessary for directing personal behavior toward achieving goals Fry Mark Ferguson Alastair V 2007 The sensory circumventricular organs Brain targets for circulating signals controlling ingestive behavior Physiology amp Behavior 91 4 413 423 doi 10 1016 j physbeh 2007 04 003 Cottrell G T Ferguson A V 2004 Sensory circumventricular organs Central roles in integrated autonomic regulation Regulatory Peptides 117 1 11 23 doi 10 1016 j regpep 2003 09 004 Rodriguez Esteban M Blazquez Juan L Guerra Montserrat 2010 The design of barriers in the hypothalamus allows the median eminence and the arcuate nucleus to enjoy private milieus The former opens to the portal blood and the latter to the cerebrospinal fluid Peptides 31 4 757 76 doi 10 1016 j peptides 2010 01 003 PMID 20093161 Morita S Miyata S 2012 Different vascular permeability between the sensory and secretory circumventricular organs of adult mouse brain Cell and Tissue Research 349 2 589 603 doi 10 1007 s00441 012 1421 9 Fan X Markram H 2019 A Brief History of Simulation Neuroscience Front Neuroinform 13 32 doi 10 3389 fninf 2019 00032 PMC 6513977 PMID 31133838 Parent A Carpenter M B 1995 Ch 1 Carpenter s Human Neuroanatomy Williams amp Wilkins ISBN 978 0 683 06752 1 12 0 12 1 Bigos K L Hariri A Weinberger D 2015 Neuroimaging Genetics Principles and Practices Oxford University Press p 157 ISBN 978 0199920228 Cosgrove K P Mazure C M Staley J K 2007 Evolving knowledge of sex differences in brain structure function and chemistry Biol Psychiatry 62 8 847 855 doi 10 1016 j biopsych 2007 03 001 PMC 2711771 PMID 17544382 Gur R C Turetsky B I Matsui M Yan M Bilker W Hughett P Gur R E 1999 Sex differences in brain gray and white matter in healthy young adults correlations with cognitive performance The Journal of Neuroscience 19 10 4065 4072 doi 10 1523 JNEUROSCI 19 10 04065 1999 PMID 10234034 15 0 15 1 15 2 15 3 15 4 Gray s Anatomy 2008 p 227 229 16 0 16 1 Gray s Anatomy 2008 p 335 7 17 0 17 1 Ribas G C 2010 The cerebral sulci and gyri Neurosurgical Focus 28 2 7 doi 10 3171 2009 11 FOCUS09245 PMID 20121437 Frigeri T Paglioli E De Oliveira E Rhoton Jr A L 2015 Microsurgical anatomy of the central lobe Journal of Neurosurgery 122 3 483 98 doi 10 3171 2014 11 JNS14315 PMID 25555079 space subarachnoid sphthbyytixngkvs ithy ithy xngkvs chbbrachbnthitysthan khxmphiwetxr run 1 1 chbb 2545 aephthysastr chxngiteyuxxaaerknxyd Purves 2012 p 724 21 0 21 1 Cipolla M J 2009 01 01 Anatomy and Ultrastructure Morgan amp Claypool Life Sciences ekb cakaehlngedimemux 2017 10 01 A Surgeon s Eye View of the Brain NPR org ekb cakaehlngedimemux 2017 11 07 Kolb amp Whishaw 2003 Fundamentals of Human Neuropsychology p 49 Sampaio Baptista C Johansen Berg H 2017 12 20 White Matter Plasticity in the Adult Brain Neuron 96 6 1239 1251 doi 10 1016 j neuron 2017 11 026 PMC 5766826 PMID 29268094 Davey G 2011 Applied Psychology John Wiley amp Sons p 153 ISBN 978 1444331219 Holloway Ralph L Broadfield Douglas C Yuan Michael S 2004 The Human Fossil Record volume Three Brain Endocasts The Paleoneurological Evidence Wiley Liss ISBN 0 471 41823 4 Arsava E Y Arsava E M Oguz K K Topcuoglu M A 2019 Occipital petalia as a predictive imaging sign for transverse sinus dominance Neurological Research 41 4 306 311 doi 10 1080 01616412 2018 1560643 PMID 30601110 28 0 28 1 Ackerman S 1992 Discovering the brain Washington D C National Academy Press pp 22 25 ISBN 978 0 309 04529 2 Larsen 2001 pp 455 456 Kandel E R Schwartz J H Jessel T M 2000 Principles of Neural Science McGraw Hill Professional p 324 ISBN 978 0 8385 7701 1 Guyton amp Hall 2011 p 574 Guyton amp Hall 2011 p 667 Tortora Gerard J Derrickson Bryan 2011 Principles of anatomy and physiology 12th ed Hoboken NJ Wiley p 519 ISBN 9780470646083 34 0 34 1 34 2 Freberg L 2009 Discovering Biological Psychology Cengage Learning pp 44 46 ISBN 978 0547177793 35 0 35 1 Kolb B Whishaw I 2009 Fundamentals of Human Neuropsychology Macmillan pp 73 75 ISBN 978 0716795865 Pocock 2006 p 64 37 0 37 1 Purves 2012 p 399 Gray s Anatomy 2008 p 325 6 Goll Y Atlan G Citri A August 2015 Attention the claustrum Trends in Neurosciences 38 8 486 95 doi 10 1016 j tins 2015 05 006 PMID 26116988 Goard M Dan Y 2009 10 04 Basal forebrain activation enhances cortical coding of natural scenes Nature Neuroscience 12 11 1444 1449 doi 10 1038 nn 2402 PMC 3576925 PMID 19801988 Guyton amp Hall 2011 p 699 42 0 42 1 42 2 Gray s Anatomy 2008 p 298 Netter F 2014 Atlas of Human Anatomy Including Student Consult Interactive Ancillaries and Guides 6th ed Philadelphia Penn W B Saunders Co p 114 ISBN 978 1 4557 0418 7 44 0 44 1 Gray s Anatomy 2008 p 297 Guyton amp Hall 2011 pp 698 9 Squire 2013 pp 761 763 clivus Dorland s Illustrated Medical Dictionary 32nd ed USA Elsevier Saunders 2012 p 373 ISBN 978 1 4160 6257 8 L slope TA a bony surface in the posterior cranial fossa sloping superiorly from the foramen magnum to the dorsum sellae the inferior part being formed by a portion of the basilar part of the occipital bone and the superior part by a surface of the body of the sphenoid bone clival adj 48 0 48 1 48 2 48 3 48 4 48 5 Gray s Anatomy 2008 p 275 Guyton amp Hall 2011 p 691 Purves 2012 p 377 Nolte J 2002 The Human Brain 5th ed Missouri Mosby p 527 ISBN 0 323 01320 1 52 0 52 1 Azevedo F aelakhna 2009 04 10 Equal numbers of neuronal and nonneuronal cells make the human brain an isometrically scaled up primate brain The Journal of Comparative Neurology 513 5 532 541 doi 10 1002 cne 21974 PMID 19226510 despite the widespread quotes that the human brain contains 100 billion neurons and ten times more glial cells the absolute number of neurons and glial cells in the human brain remains unknown Here we determine these numbers by using the isotropic fractionator and compare them with the expected values for a human sized primate We find that the adult male human brain contains on average 86 1 8 1 billion NeuN positive cells neurons and 84 6 9 8 billion NeuN negative nonneuronal cells Verkhratsky Alexei Butt Arthur M 2011 Glial Physiology and Pathophysiology John Wiley and Sons ISBN 9780470978535 Komine O Nagaoka M Watase K Gutmann DH Tanigaki K Honjo T Radtke F Saito T Chiba S Tanaka K November 2007 The monolayer formation of Bergmann glial cells is regulated by Notch RBP J signaling Developmental Biology 311 1 238 50 PMID 17915208 Rubenstein John Rakic Pasko 2013 Cellular Migration and Formation of Neuronal Connections Comprehensive Developmental Neuroscience Elsevier Science and Technology ISBN 9780123972668 Sanes Dan H Reh Thomas A Harris William A 2005 Development of the Nervous System Elsevier Science and Technology ISBN 9780126186215 Sofroniew MV November 2014 Astrogliosis Cold Spring Harbor Perspectives in Biology a020420 PMID 25380660 Catherine Haberland 2007 Clinical neuropathology text and color atlas New York Demos ISBN 9781934559529 APA dictionary of psychology 2015 ependymal cell p 375 Rakic P 29 October 1971 Guidance of neurons migrating to the fetal monkey neocortex Brain Research 33 2 471 6 doi 10 1016 0006 8993 71 90119 3 PMID 5002632 Rakic P October 2009 Evolution of the neocortex a perspective from developmental biology Nature Reviews Neuroscience 10 10 724 35 doi 10 1038 nrn2719 PMID 19763105 PMC 2913577 Noctor SC Flint AC Weissman TA Dammerman RS Kriegstein AR 8 February 2001 Neurons derived from radial glial cells establish radial units in neocortex Nature 409 6821 714 20 PMID 11217860 Ginhoux Florent Lim Shawn Hoeffel Guillaume Low Donovan Huber Tara 17 April 2013 Origin and differentiation of microglia Frontiers in Cellular Neuroscience 7 45 doi 10 3389 fncel 2013 00045 eISSN 1662 5102 Lawson LJ Perry VH Gordon S 1992 Turnover of resident microglia in the normal adult mouse brain Neuroscience 48 2 405 15 doi 10 1016 0306 4522 92 90500 2 PMID 1603325 Filiano Anthony J Gadani Sachin P Kipnis Jonathan 2015 Interactions of innate and adaptive immunity in brain development and function Brain Research 1617 18 27 doi 10 1016 j brainres 2014 07 050 PMID 25110235 PMC 4320678 Pavel Fiala Jiri Valenta 2013 01 01 Central Nervous System Karolinum Press p 79 ISBN 9788024620671 67 0 67 1 67 2 67 3 Polyzoidis S Koletsa T Panagiotidou S Ashkan K Theoharides T C 2015 Mast cells in meningiomas and brain inflammation Journal of Neuroinflammation 12 1 170 doi 10 1186 s12974 015 0388 3 PMC 4573939 PMID 26377554 68 0 68 1 68 2 68 3 68 4 Guyton amp Hall 2011 pp 748 749 Budzynski J Klopocka M 2014 Brain gut axis in the pathogenesis of Helicobacter pylori infection PDF World J Gastroenterol 20 18 5212 25 doi 10 3748 wjg v20 i18 5212 PMC 4017036 PMID 24833851 Carabotti M Scirocco A Maselli M A Severi C 2015 The gut brain axis interactions between enteric microbiota central and enteric nervous systems PDF Ann Gastroenterol 28 2 203 209 PMC 4367209 PMID 25830558 span, wikipedia, วิกิ หนังสือ, หนังสือ, ห้องสมุด,

บทความ

, อ่าน, ดาวน์โหลด, ฟรี, ดาวน์โหลดฟรี, mp3, วิดีโอ, mp4, 3gp, jpg, jpeg, gif, png, รูปภาพ, เพลง, เพลง, หนัง, หนังสือ, เกม, เกม